Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai Gallery in Facebook

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311903
ทั่วไป:13575378
ทั้งหมด:13887281
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ขุดกรุ : ตามรอยเส้นทางรถไฟช่วงคลองสาน - วัดสิงห์
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ขุดกรุ : ตามรอยเส้นทางรถไฟช่วงคลองสาน - วัดสิงห์
Goto page 1, 2, 3, 4, 5  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> สำรวจทางรถไฟและมุมมอง Unseen รถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 29/11/2006 5:35 pm    Post subject: ขุดกรุ : ตามรอยเส้นทางรถไฟช่วงคลองสาน - วัดสิงห์ Reply with quote

ครับ ขุดกรุงวดนี้ ขอนำเรื่องใกล้ตัวสำหรับชาวกรุงเทพ มาเล่าสู่กันฟังดีกว่า เป็นเรื่องของการตามรอยเส้นทางรถไฟสายแม่กลอง ช่วงระหว่าง ( อดีต ) สถานีคลองสาน - สถานีวัดสิงห์ ครับ

เอ...แล้วสถานีคลองสาน อยู่ที่ไหนล่ะ ? ตามมาเลยครับ ผมจะชี้ให้ดู Laughing

Click on the image for full size

Click on the image for full size
พิธีเปิดทางรถไฟสายท่าจีน ณ สถานีรถไฟคลองสาน เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2447

ขอย้อนประวัติความเป็นมาของรถไฟสายแม่กลองกันนิดหน่อยครับ...

ทางรถไฟสายแม่กลอง เดิมเป็นทางรถไฟของบริษัทเอกชนสองบริษัท คือ ทางตอนระหว่างสถานีคลองสาน – มหาชัย ( อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ) เป็นของ บริษัท รถไฟท่าจีนทุนจำกัด ตามสัมปทานลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2444 ระยะทาง 33.1 กิโลเมตร หรือมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “ รถไฟสายท่าจีน ” และทางตอนระหว่างสถานีบ้านแหลม – แม่กลอง ( อ.เมืองฯ จ.สมุทรสงคราม ) เป็นของ บริษัท รถไฟแม่กลองทุนจำกัด ตามสัมปทานลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2448 ระยะทาง 33.8 กิโลเมตร โดยเรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “ รถไฟสายแม่กลอง ”

สำหรับเขตทางรถไฟทั้งสองตอน นับจากจุดศูนย์กลางทางออกไปทั้งสองข้าง กว้าง 14 เมตรเป็นส่วนใหญ่ มีเขตทางกว้าง 20 เมตรอยู่บ้าง ระหว่างช่วงบ้านแหลม – แม่กลอง

ต่อมา เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2450 บริษัทรถไฟทั้งสองแห่ง ได้รวมกิจการเข้าเป็นบริษัทเดียวกัน โดยได้รับพระบรมราชานุมัติเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2451 เรียกชื่อว่า “ บริษัท รถไฟแม่กลองทุนจำกัด ” รวมความยาวของทางรถไฟทั้งสองฝั่งแม่น้ำท่าจีนทั้งสิ้น 66.9 กิโลเมตร และบริษัทฯ ได้นำเรือยนต์มาเดินรับส่งผู้โดยสารและสินค้า ข้ามแม่น้ำท่าจีนเชื่อมทางรถไฟทั้งสองฝั่งในโอกาสนี้ด้วย

ต่อมา เมื่อมีประชาชนนิยมโดยสารรถไฟของบริษัทหนาแน่นขึ้น บริษัทฯ จึงได้จัดเดินรถรางไฟฟ้าบนทางรถไฟจากสถานีคลองสาน – วัดไทร ระยะทาง 7.6 กิโลเมตร ตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2468 เป็นต้นมา และในปี พ.ศ.2470 ได้ขยายการเดินรถรางไฟฟ้าต่อจากวัดไทร เป็นระยะทาง 1 กิโลเมตร ถึงสถานีวัดสิงห์

ในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2485 เวลาเที่ยงคืน สัมปทานทางรถไฟระหว่างสถานีคลองสาน – มหาชัย ได้หมดอายุลง และในวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2488 เวลาเที่ยงคืน สัมปทานทางรถไฟระหว่างสถานีบ้านแหลม – แม่กลอง ได้สิ้นสุดลงตามลำดับ ทางรัฐบาลได้รับซื้อกิจการทั้งหมดของบริษัทฯ มาดำเนินงานต่อไป ตามสัญญาซื้อขายทรัพย์สิน ลงวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2489 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,000,000 บาท และจัดตั้ง “ องค์กรรถไฟสายแม่กลอง ” ดำเนินกิจการเป็นเอกเทศ ภายใต้สังกัดกรมรถไฟ โดยมีคณะกรรมการควบคุมอำนวยการ ประกอบด้วยอธิบดีกรมรถไฟ เป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง มีผู้จัดการเป็นผู้รับผิดชอบบริหารงานแบบเดียวกับครั้งยังเป็นของบริษัท

เมื่อกรมรถไฟ ได้เปลี่ยนแปลงสถานะเป็น การรถไฟแห่งประเทศไทย แล้ว กระทรวงคมนาคมมีคำสั่งให้องค์การนี้มารวมกับการรถไฟฯ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2495 เป็นต้นมา โดยให้มีฐานะเป็น “ สำนักงานรถไฟสายแม่กลอง ” แต่ยังรวมเฉพาะหลักการเท่านั้น ส่วนการบริหารและวิธีดำเนินงานคงปฏิบัติตามเดิมต่อไป แล้วในที่สุด กระทรวงคมนาคม มีคำสั่งให้สำนักงานนี้มารวมกิจการกับการรถไฟฯ ทุกอย่าง ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2498 เป็นต้นไป

( ข้อมูล : อนุสรณ์ครบรอบ 72 ปี การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2439 – 2512 )

ครับ...ในส่วนของสัมปทานของบริษัทรถไฟท่าจีน ทุนจำกัด ได้มีพิธีเปิดเส้นทางช่วงคลองสาน - มหาชัย โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธี ณ สถานีคลองสาน เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2447

Click on the image for full size
ท่าน้ำคลองสาน ต้นทางรถไฟสายแม่กลอง

อีก 101 ปีต่อมาครับ.....

เป็นภาพท่าน้ำรถไฟที่ สถานีคลองสาน ( เดิม ) มีเรือบริการข้ามฟากระหว่างท่าน้ำคลองสาน กับท่าน้ำสี่พระยา ข้างโรงแรมรอยัลออคิด ค่าเรือ 1.50 บาท ครับ

สมัยเรียนหนังสือที่รามฯ ผมเป็นขาประจำของท่านี้ ต่อสาย 93 สี่พระยา - หมู่บ้านนักกีฬา ทุ่นเวลากว่าไปขึ้นสาย 60 ที่ปากคลองตลาด

ที่ท่าน้ำสี่พระยา เคยเป็นฉากสำคัญของหนังใหญ่เรื่องหนึ่ง " The Deer Hunter " อาศัยตึก ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ( เดิม ) เป็นโรงพยาบาลทหารผ่านศึก ฉาก ตัวแสดงประกอบครบครัน ละเอียดละออมากครับ เห็นตอนแรกยังนึกว่า เวียตนามอพยพ มาชุมนุมอะไรที่นี่กันหว่า ? พอหนังเรื่องนี้ถ่ายทำเสร็จไปไม่นาน ตึกธนาคารถูกรื้อ กลายเป็น โรงแรมรอยัล ออคิด ในปัจจุบัน

อ้อ...ตึกธนาคารที่ว่า เป็นที่ตั้งถาวรของธนาคารแห่งแรกในประเทศไทย ด้วยครับ แต่อย่าจำสับกับ ธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของคนไทย คือแบงค์สยามกัมมาจล หรือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ในปัจจุบัน นะครับ

คนละเรื่องธนาคารเชียวล่ะ Laughing

Click on the image for full size
บริเวณสถานีคลองสาน ( ปัจจุบัน )

บริเวณย่านสถานีรถไฟคลองสานในปัจจุบันนี้ เป็นศูนย์การค้าท่าน้ำคลองสานพลาซ่า ขายสินค้าราคาประหยัด โดยเฉพาะสำหรับคุณผู้หญิง

และก็ชุมนุมร้านอาหารของผู้มีรสนิยมประเภทอาหารจานเดียว

ไม่เหลือร่องรอยในอดีตอีกเลย.....

Click on the image for full size
หัวมุมถนนเจริญรัถ ด้านคลองสาน

มองจากสามแยกหน้าศูนย์การค้าท่าน้ำคลองสานพลาซ่า ไปยังฝั่งตรงข้าม เราจะเห็น ถนนเจริญรัถ ที่สร้างทับแนวเส้นทางรถไฟเดิมช่วงสถานีคลองสาน - วงเวียนใหญ่

หากต้องการสัมผัสบรรยากาศอย่างใกล้ชิดนะครับ มีรถเมล์สาย 57 วงกลมธนบุรี สายเก่งสายเดียว ผ่านถนนนี้ แต่ขอเตือนผู้โดยสารว่า อย่ายื่นแขน ขา หรือศรีษะออกนอกตัวรถโดยเด็ดขาด บางช่วงที่มีรถจอดสองข้างทาง รถเมล์สวนกันห่างแค่ คืบเศษ เท่านั้น

( ขอย้ำว่า " เท่านั้น " เพราะแนวทางรถไฟสายนี้ มีความกว้างเขตทาง ไม่เกิน 14 เมตรน่ะสิ ) Laughing


Last edited by black_express on 17/02/2012 2:10 pm; edited 18 times in total
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 30/11/2006 9:15 am    Post subject: Reply with quote

Click on the image for full size
แนวทางรถไฟเดิม กลางถนนเจริญรัถ

มีร่องรอยแนวทางรถไฟสายนี้เหลืออยู่ครับ ตรงช่องคอนกรีตกลางถนนเจริญรัถ สมัยก่อน ยังเป็นช่องลาดยางทับเฉยๆ ผมเคยนั่งรถเมล์สาย 57 ผ่านตรงนี้ รู้สึกเหมือนวิ่งบนลูกระนาดยังไงยังงั้น
เข้าใจว่า ตอนหลัง กทม.คงรื้อรางเก่าออกหมด แล้วเทคอนกรีตลงไปใหม่

Click on the image for full size
แนวทางรถไฟสายคลองสาน ( เดิม )

ดูกันใกล้ๆ อีกนิดหนึ่งครับ ถึงตอนนี้ สงสัยขึ้นมาหรือยังครับว่า ทำไม ? ถึงได้ยกเลิกเส้นทางรถไฟช่วงคลองสาน - วงเวียนใหญ่

อ่า...งานนี้ ต้องขอย้อนยุคกันอีกเล็กน้อยครับ เรื่องค่อนข้างยาว...

Click on the image for full size
บรรยากาศสมัยรถไฟสายคลองสาน ช่วงก่อนยกเลิกการเดินรถ ไปตั้งต้นทางที่วงเวียนใหญ่
(ภาพเมื่อ ผวก.รถไฟฯ พร้อคณะตรวจงานรถไฟสายแม่กลอง)


.....เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2502 ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เสนอต่อที่ประชุม ครม. พิจารณาย้ายสถานีคลองสาน ไปตั้งอยู่ที่สถานีวงเวียนใหญ่ หรือสถานีตลาดพลู ตามความเหมาะสม เพื่อแก้ปัญหาด้านการจราจร โดยมอบให้กระทรวงมหาดไทย รับไปพิจารณา และเทศบาลนครธนบุรี ได้เสนอต่อกระทรวงมหาดไทยว่า มีความประสงค์ใช้ต้นทางเดิมสร้างเป็นถนนรถยนต์ระหว่างสถานีคลองสาน – ตลาดพลู ให้แล้วเสร็จโดยด่วน

กระทรวงมหาดไทย จึงเสนอให้กระทรวงคมนาคมแจ้งการรถไฟแห่งประเทศไทย พิจารณาเรื่องดังกล่าว และนำเสนอเรื่องเข้า ครม. เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2503 และมีมติ ครม.ให้ย้ายต้นทางรถไฟช่วงคลองสาน – มหาชัย ไปอยู่ที่สถานีตลาดพลู โดยให้การรถไฟฯ เลิกการเดินรถ รื้อถอนราง และมอบให้เทศบาลนครธนบุรี สร้างเป็นถนนรถยนต์ช่วงคลองสาน – ตลาดพลู ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ

แต่ทว่า....ตัวแทนจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่มีโอกาสเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงต่อที่ประชุม ครม.ครั้งนั้นเลย ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟสายนี้ถึงปีละ 3 ล้านคน การขนส่งสินค้า อาหารทะเล พืชผักสดไปสู่ตลาดในพระนคร – ธนบุรี และปัญหาการลำเลียงรถจักร รถโดยสาร ที่ส่งเข้าซ่อมบำรุงที่โรงงานมักกะสัน ตลอดจนอุปกรณ์ล้อเลื่อนต่างๆ ซึ่งลำเลียงโดยแพขนานยนต์ระหว่างท่าสะพานพระราม 6 – สถานีคลองสาน อันเป็นเส้นทางเดียวในขณะนั้น

ต่อมา ในวันที่ 13 กันยายน 2503 เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 3 นาย ได้เข้าชี้แจงปัญหาอุปสรรคดังกล่าว โดยเฉพาะการลำเลียงรถจักร รถโดยสาร อุปกรณ์ล้อเลื่อนต่างๆ ต่อที่ประชุม ครม. อีกครั้งหนึ่ง และเสนอแนวทางแก้ไข 2 ทาง โดยแนวทางแรก ให้วางรางกลางถนนที่จะก่อสร้างระหว่างสถานีคลองสาน – ตลาดพลู โดยลาดยางแอสฟัลต์ปิดทับไว้ เมื่อใช้งานลำเลียง ให้เซาะเป็นร่องบังใบให้รถจักร และล้อเลื่อนผ่านไปได้ พอเสร็จใช้งาน ให้ลาดยางปิดทับตามเดิม และแนวทางที่สอง สร้างทางรถไฟเชื่อมกับเส้นทางสายใต้ ระหว่างสถานีวัดสิงห์ – ชุมทางตลิ่งชัน ซึ่ง ครม.ได้มีมติให้ใช้วิธีแรก เพราะวิธีที่สอง ใช้งบประมาณสูงมาก

จากมติ ครม. ตั้งสถานีตลาดพลูเป็นสถานีต้นทางของรถไฟสายแม่กลองนั้น ปรากฎว่า ทางเข้า – ออกสถานีดังกล่าว คับแคบมาก และมีถนนสู่ตัวสถานีเพียงสายเดียว ( ถนนเทอดไท ) ไม่สะดวกต่อการเดินทางต่อรถของผู้โดยสารรถไฟ ซึ่งมีจำนวนถึงวันละ 10,000 คน และมีเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ดังนั้น พล.อ.ไสว ไสวแสนยากร ผู้ว่าการรถไฟฯ ในขณะนั้น ได้หาโอกาสเข้าพบ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี เรียนชี้แจงปัญหาอุปสรรค ข้อยุ่งยากต่างๆ ที่ไม่สะดวกต่อผู้โดยสาร และของการรถไฟฯ เอง พร้อมเสนอขอเปลี่ยนที่ตั้งสถานีต้นทางอยู่ริมฝั่งตะวันตกของถนนตากสิน ที่วงเวียนใหญ่ ซึ่งมีรถรับจ้างสาธารณะพร้อมให้บริการ และมีรถประจำทางผ่านหลายสาย ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในข้อเท็จจริงที่ พล.อ.ไสว ไสวแสนยากร นำเรียนชี้แจงดังกล่าว

เพื่อให้ได้ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการพิจารณาตัดสินชี้ขาด การรถไฟฯ ได้มีหนังสือเฉพาะ ที่ 1 / 7804 / 2503 ลงวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2503 ถึงกระทรวงคมนาคม ขอให้นำเสนอต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2503 ผู้ว่าการรถไฟฯ ได้เข้าร่วมชี้แจงรายละเอียดและข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง ต่อที่ประชุม ครม. และได้ลงมติให้ย้ายสถานีคลองสาน ไปตั้งอยู่ที่วงเวียนใหญ่ ตามที่ผู้ว่าการรถไฟฯ เสนอ โดยให้เริ่มลงมือดำเนินการอย่างเร่งด่วน

เพียงไม่กี่วันหลังจากรับทราบมติ ครม. การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เร่งก่อสร้างชานชาลาชั่วคราวสถานีวงเวียนใหญ่ และใช้อาคารเดิมจำนวน 2 หลัง เป็นที่ทำการสถานีชั่วคราว รวมถึงการเลิกการเดินรถช่วงสถานีคลองสาน – วงเวียนใหญ่ โดยใช้สถานีวงเวียนใหญ่เป็นสถานีต้นทางของขบวนรถ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2504 เป็นต้นมา

( ที่มา : อนุสรณ์ครบรอบ 72 ปี การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2439 – 2512 )

เห็นไหมครับ ? กว่าจะได้อะไรมาสักสิ่งนั้น ไม่ใช่ของง่ายๆ เลย Cool คงไม่โทษใครย้อนหลังล่ะครับ หากมีรถไฟวิ่งอยู่ในวันนี้ ต้องฝ่าการจราจรที่หนาแน่นตรงถนนตากสิน ลำบากโข กว่าจะไปถึงสถานีคลองสาน

ขอได้แค่วงเวียนใหญ่ ก็ O.K. ล่ะครับ

Click on the image for full size
หัวถนนเจริญรัถ ด้านวงเวียนใหญ่

ถนนเจริญรัถ ในทุกวันนี้ แม้ว่าจะเป็นถนนสายแคบๆ ตามแนวทางรถไฟดั้งเดิม แต่ก็มีร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตามสั่งอยู่มากมายหลายร้าน รับหุ้มเบาะ เย็บกระเป๋า รองเท้า ตัดเสื้อผ้า เรียกว่าเป็นโรงงานห้องแถวก็คงได้ครับ ผลิตสินค้าติดตรายี่ห้อส่งห้างใหญ่ ขายเอาเงินลูกค้าเข้ากระเป๋ามานักต่อนักแล้ว

ที่ร้านค้าตรงท่าน้ำคลองสานพลาซ่า มีฝรั่งลงเรือข้ามฟากมาซื้อข้าวของกลับบ้านกันหนาตาทีเดียวล่ะ สินค้าข้าวของก็มาจากร้านแถวเจริญรัถนั่นแหละ

ถึงหัวถนนเจริญรัถแล้วครับ ที่วงเวียนใหญ่ Smile


Last edited by black_express on 29/02/2016 1:47 pm; edited 10 times in total
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 30/11/2006 9:36 am    Post subject: Reply with quote

Click on the image for full size
อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วงเวียนใหญ่

ขอแวะสักการะอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก่อนครับ ศูนย์รวมใจชาวฝั่งธนบุรี

เคยมี รมต.ท่านหนึ่ง เสนอความคิดอันบรรเจิดแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ( หากโครงการรถไฟฟ้า บ.ลาวาลิน ข้ามสะพานพระปกเกล้ามาฝั่งธนบุรี ไปถึงดาวคะนอง เกิดขึ้นจริงๆ ในสมัยนั้น ) ตั้งสถานีรถไฟฟ้าตรงวงเวียนใหญ่ โดยยกอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินไว้บนหลังคาสถานี พอข่าวแพร่ออกไป มีกระแสคัดค้านจากชาวธนบุรีดังกระหึ่มขึ้นทันที และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนยกเลิกความคิดนี้ในที่สุด

รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าสายนั้นด้วย Laughing

Click on the image for full size
วงเวียนใหญ่ มองจากด้านถนนตากสิน ลองเดาดูสิว่า ฝั่งด้านตรงข้ามนั้น จะไปที่ไหน ?

สำหรับคนที่ไม่เคยมาสถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ครับ.... Laughing

สิทธิการิยะ....

ถ้านั่งรถเมล์สายไหนก็ได้ที่บอกว่าผ่านวงเวียนใหญ่ เห็นอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแล้ว จะเข้าทางไหนถึงลงหน้าสถานีวงเวียนใหญ่ ให้สังเกตดังนี้ครับ....

ด้านหัวม้า จะเป็นถนนลาดหญ้า ไปเขตคลองสาน ลงเรือข้ามฟากไปท่าน้ำสี่พระยา เพราะถนนสายนี้กับถนนเจริญรัถ จะขนานกันตลอด และมีหลายซอยทะลุถึงกันได้

ด้านหางม้า จะเป็นถนนอินทรพิทักษ์ ไปออกสี่แยกท่าพระ เข้าถนนเพชรเกษม เส้นทางสู่ภาคใต้ และมีสามแยกบางยี่เรือ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนเทอดไท ไปตลาดพลู และบางขุนเทียน

ด้านซ้ายตัวม้า เป็นถนนประชาธิปก ไปสะพานพระพุทธยอดฟ้า และสะพานพระปกเกล้า ไปเขตพระนคร ปากคลองตลาด ถนนเจริญกรุง และสนามหลวง

ด้านขวาตัวม้า เป็นถนนตากสิน ไปสะพานตากสิน สะพานกรุงเทพ ดาวคะนอง ถนนพระรามที่ 2 พระประแดง จนถึงป้อมพระจุลฯ

เราต้องเข้าถนนสายนี้ ลงป้ายรถเมล์ป้ายแรก เดินข้ามสะพานลอย สถานีวงเวียนใหญ่อยู่ฝั่งตรงข้ามนั่นแหละครับ

( คำอธิบายนี้ มาจากคุณ ป. อินทรปาลิต บรรยายใส่ปากเจ้าแห้ว อธิบายให้เจ้านายฟังในหัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน ครับ )

Click on the image for full size
ทางเข้าสถานีวงเวียนใหญ่ มองจากสะพานลอย ข้ามถนนตากสิน

มองจากสะพานลอยข้ามถนนตากสิน เห็นรถตุ๊กๆ คันนั้นไหมครับ ? จอดตรงทางเข้าสถานีวงเวียนใหญ่พอดี ถ้ามารถเมล์ จะเห็นง่ายกว่าแท็กซี่ นับว่าเป็นสถานีขวัญใจมวลชนจริงๆ Very Happy

Click on the image for full size
ป้ายชื่อสถานีวงเวียนใหญ่ ช่วงวันที่เก็บภาพ

ป้ายชื่อสถานี ภูมิฐานไม่หยอก Very Happy

Click on the image for full size
ทางเข้าสถานี

ทางเข้าสถานี.....มีตู้ เอ.ที.เอ็ม ตั้งเป็นสง่าปลายเส้นทางพอดี
( ถ้ารถไฟลงเบรคไม่ทันละก็ แบบว่า ไม่อยากคิดง่ะ..) Razz


Last edited by black_express on 11/12/2007 4:45 pm; edited 3 times in total
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 30/11/2006 10:21 am    Post subject: Reply with quote

Click on the image for full size
สถานีวงเวียนใหญ่

เฮ้อ...ถึงเสียที Wink ตัวอาคาร สถานีวงเวียนใหญ่ ครับ ทุกวันนี้ หนาแน่นไปด้วยผู้โดยสาร และร้านค้าต่างๆ ในบริเวณสถานี

Click on the image for full size
ข.4343 วงเวียนใหญ่ - มหาชัย ที่สถานีวงเวียนใหญ่

ถึงตอนนี้ ยิ่งคึกคักกว่าปกติครับ เพราะใกล้กำหนดเวลา ข.ชานเมือง 4343 วงเวียนใหญ่ - มหาชัย ออกจากสถานีวงเวียนใหญ่ 12.15 น.

Click on the image for full size
ผังแสดงย่านสถานีวงเวียนใหญ่ เรียกมาจากความจำเมื่อปี 2513 โน่นแน่ะ

สถานีวงเวียนใหญ่ แต่เดิม เป็นที่หยุดรถ คร่อมคลองบางไส้ไก่ ชานชาลาอยู่ด้านซ้ายมือครับ พอย้ายสถานีจากคลองสานมาอยู่ที่นี่ เลยสร้างอาคารและชานชาลาด้านขวา มีย่านสถานีสำหรับสับเปลี่ยนหัวรถจักรกลับขบวนรถ เคยนับอยู่ว่ามี 7 หัวประแจ ( ใช้มือโยก )

Click on the image for full size
ข. 4343 ขณะรอเวลาออก ไปมหาชัย จะเห็นถนนซอยเชื่อมระหว่างวงเวียนใหญ่ - ตลาดพลู

หลังจากที่เปลี่ยนเป็นรถดีเซลรางทั้งหมด รางหลีกถูกรื้อออก ตรงที่เป็นถนนซอยเข้าชุมชนข้างสถานีนั่นแหละครับ เคยเป็นรางหลีกสับเปลี่ยนหัวรถจักรมาก่อน

ถนนซอยนี้ จะขนานทางรถไฟไปบรรจบถนนรัชดาภิเษกช่วงสี่แยกมไหสวรรค์ - สี่แยกท่าพระ ที่สถานีตลาดพลู

Click on the image for full size
ย่านสถานีวงเวียนใหญ่ ( เดิม )

สุดชานชาลา มองไปทางย่านสถานี ( เดิม ) ตอนนี้กลายเป็นสวนเศรษฐกิจชุมชนไปแล้ว ( ดีกว่าเป็นภูเขาขยะนะ )

ดูทางรถไฟสักนิด เป็นราง 70 ปอนด์ ลงหมอนคอนกรีต Duo block ด้วยสิ ทำให้อุ่นใจว่า สายนี้คงไม่ร้างแน่นอน

ตรงไปข้างหน้า ทางรถไฟจะผ่านสุเหร่าสวนพลู ซอยวัดโพธิ์นิมิตร คลองสำเหร่ และเข้าสถานีตลาดพลู ล่ะครับ

Click on the image for full size
สะพานข้ามคลองสำเหร่ มองไปทางสถานีวงเวียนใหญ่

ออกเดินย่ำต๊อก ( จริงๆ นะ ) สักหลายอึดใจ ถึงสะพานข้ามคลองสำเหร่

หากมองไปทางด้านขวามือ จะเห็นถนนเทอดไท ขนานทางรถไฟไปตลาดพลู มีซอยจากวัดโพธิ์นิมิตรข้ามทางรถไฟไปบรรจบตรงหน้าวัดอินทาราม เป็นวัดที่วิปัสนาของสมเด็จพระเจ้าตาก ในช่วงปลายรัชกาลครับ

Click on the image for full size
ผังแสดงที่หยุดรถวัดโพธิ์นิมิตร จากความทรงจำเช่นกันครับ

บริเวณปากซอยเข้าวัดโพธิ์นิมิตร เมื่อก่อน จะมีที่หยุดรถดีเซลราง ตั้งอยู่ตรงนี้ด้วย

Click on the image for full size
ป้ายที่หยุดรถยนต์ราง

แถมด้วยสัญญลักษณ์ที่หยุดรถ เป็นสามเหลี่ยมชายธง สีแดง คล้ายป้ายรถรางสมัยก่อน ไม่เหมือนใคร ตรงที่เขียนว่า " ที่หยุดรถยนต์ราง " ต้นคำเรียกรถดีเซลรางกระมัง ?

ตอนหลังสุด เหลือเพียงป้ายสีแดงเท่านั้น แล้วหายไปในที่สุด.... Rolling Eyes

ได้เวลา ข. 4343 ผ่านมาพอดี กะเก็บภาพมาโชว์เต็มเหนี่ยว Cool แต่เผอิญกรรมบัง ที่วัดแสงประจำกล้อง hang กระทันหัน เลยอดได้ shot นี้อย่างเสียดายที่สุด เก็บได้แค่ช่วงสะพานเท่านั้นเอง

เซ็งง่ะ....ขอแวะกินน้ำขวดร้านข้างทางก่อนล่ะครับ Confused


Last edited by black_express on 11/12/2007 4:50 pm; edited 4 times in total
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 30/11/2006 10:54 am    Post subject: Reply with quote

ขอนอกเรื่องนอกราวสักพักหนึ่งนะครับ ตามประสาชีพจรลงเท้าอย่างผม

Click on the image for full size
ย่านสถานีรถไฟตลาดพลู

สำหรับเส้นทางรถไฟสายวงเวียนใหญ่ - มหาชัย ผมมักใช้บริการช่วงตลาดพลู - วัดไทร เพราะเวลานั้นกำลังเรียนหนังสือ โหนรถไฟจากที่หยุดรถวัดไทร มาลงหน้าโรงเรียนย่านสถานีตลาดพลู รวดเร็วกว่ารถเมล์ด้วยสิ

รถไฟช่วงเช้า มีทั้งคนไปเรียน ไปทำงาน และแม่ค้าเอาของไปขายที่ตลาดแถววงเวียนใหญ่ ขี้เกียจไปยืนเบียดกับกระบุงกระจาด เลยโหนตรงบันไดนั่นแหละ ค่ารถจากวัดไทร มาตลาดพลู 25 สตางค์เท่านั้น ถ้าเป็นดีเซลรางสายคลองสาน - วัดสิงห์ ก็ 30 สตางค์ แต่ไม่ค่อยได้จ่ายค่ารถหรอก กว่า พหล.จะเก็บตั๋วมาถึง ก็ลงแล้ว เลยผูกพันกับรถไฟสายนี้อยู่ไม่น้อยครับ

สมัยปี 2513 นะครับ ยังมีเหรียญสิบสตางค์ ห้าสตางค์ใช้อยู่เลย ขนาดก็ไล่เลี่ยเหรียญ 25 สตางค์สมัยนี้ ขืนให้เด็ก มันโยนทิ้งหมด ขนาดเป็นเหรียญบาทด้วยนะ

Click on the image for full size
รถรางไฟฟ้าสายคลองสาน - วัดสิงห์ ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

เอารูปรถรางสายคลองสาน - วัดสิงห์ ไปดูก่อนก็แล้วกันครับ ขออนุญาตสูบมาจากกระทู้ของคุณวิศรุต คลังห้องสมุดของเวปไซด์เรา

จากแฟ้มข้อมูลครับ บริษัท รถไฟแม่กลองทุนจำกัด เคยจัดเดินรถรางไฟฟ้าบนทางรถไฟจากสถานีคลองสาน – วัดไทร ระยะทาง 7.6 กิโลเมตร ตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2468 เป็นต้นมา และในปี พ.ศ.2470 ได้ขยายการเดินรถรางไฟฟ้าต่อจากวัดไทร เป็นระยะทาง 1 กิโลเมตร ถึงสถานีวัดสิงห์ เส้นทางช่วงนี้ กลายเป็นเส้นทางรถดีเซลราง " Teikoku " ในปี 2502

Click on the image for full size
รถดีเซลราง " Teikoku " ในวันเปิดเดินครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2502 ที่สถานีวัดสิงห์ คาดว่าเป็นสีต้นแบบตู้โดยสารครีม - แดงด้วย
ภาพจากการรถไฟแห่งประเทศไทย

งั้น...ขอต่อด้วยเรื่องของรถดีเซลราง " Teikoku " Laughing

รถดีเซลรางชุดนี้ สั่งมาใช้งานในสายแม่กลองโดยเฉพาะ ผมได้ยินจากเพื่อนสมัยเรียนชั้นมัธยมด้วยกันเล่าว่า เคยมีใช้ดีเซลราง Frisch มาก่อน แล้วจอดทิ้งไว้ที่สถานีรางโพ ก่อนนำไปเก็บที่โรงงานมักกะสัน ( ข้อนี้ ผมไม่ขอยืนยัน )

จากข้อมูลของการรถไฟฯ ได้สั่งซื้อรถดีเซลราง Teikoku จำนวน 6 คัน ( หมายเลข D-3 , D-4 , D-5 , D-6 , D-7 , D-8 ) และรถพ่วงโดยสารชั้น 2 , 3 จำนวน 12 คัน เมื่อปี พ.ศ.2500 แล้วเปิดเดินเป็นขบวนรถดีเซลรางระหว่างสถานีคลองสาน - วัดสิงห์ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2502 และขยายเป็นรถด่วน ระหว่างสถานีคลองสาน – มหาชัย , สถานีบ้านแหลม – แม่กลอง และเดินขบวนรถธรรมดาดีเซลราง Teikoku ระหว่างสถานีคลองสาน - รางโพธิ์ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2502 ด้วย

แสดงว่ามีรถดีเซลราง Teikoku วิ่งบริการทั้งสองฝั่งแม่น้ำท่าจีนเลย ( ปกติ เส้นทางช่วง วงเวียนใหญ่ - มหาชัย ผมจะเห็น D-3 , D-4 , D-6 ประจำการอยู่ คาดว่าทางฝั่ง บ้านแหลม - แม่กลอง ต้องเป็น D-5 , D-7 , D-8 แน่ๆ )

รถดีเซลราง " Teikoku " จะไม่เหมือนดีเซลรางที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ เพราะมีเครื่องยนต์อยู่เพียงตู้เดียว ชุดล้อขับมี siding rod โยงด้วยกัน เหมือนหัวรถจักร " Sulzer " รุ่นแรกในสยาม มีสีโบกี้เป็นสีครีม - แดงน้ำหมาก คาดแถบสีขาว
คงเป็นสีต้นแบบโบกี้โดยสารของการรถไฟฯ จากเดิม สีแดงน้ำหมาก คาดแถบขาว มาเป็นสีครีม - แดง ด้วยกระมัง ? Laughing

ห้องขับอยู่ทางด้านหัวและท้ายตู้ เวลาต่อพ่วง ต้องใช้วิธีการเดียวกับหัวรถจักรทั่วไป คือเข้ารางหลีกแล้วไปต่อท้ายขบวน ชุดเบาะนั่ง ครึ่งหน้า จะเป็นสีเทา ครึ่งหลัง เป็นสีเขียว เหมือนที่นั่งโบกี้ชั้นสามสมัยนี้เปี๊ยบ ( ก็ไปเอาแบบเขามาทำนี่นา ) โบกี้โดยสารจะมีชั้นสอง ม้านั่งสีเขียว ชั้นสาม เป็นม้ายาวแบบรถชานเมือง รวมแล้ว ดีเซลรางชุดหนึ่งจะมีอยู่สามโบกี้ มีชั้น 2 ( รวมตัวรถดีเซลราง ) จำนวน 2 โบกี้ และชั้น 3 วางม้านั่งไม้ยาวไปตามตัวรถ แบบ " ตู้คอกหมู " นั่นเอง มีช่วงท้ายเป็นห้องสัมภาระ วางสินค้าของผู้โดยสาร จำนวน 1 โบกี้

แต่การใช้งานจริง จะมีแค่โบกี้ชั้น 3 พ่วงท้ายรถดีเซลรางจำนวน 1 โบกี้เท่านั้น โบกี้ชั้น 2 ที่เหลือ เลยรวมไปทำเป็นรถด่วนเพิ่มอีกขบวนหนึ่ง ชาวบ้านมักเรียกติดปากว่า " ด่วนขาว " คู่กับ " ด่วนแดง " ที่เป็นโบกี้โดยสารสีน้ำหมาก คาดขาวทั้งขบวน

ผมไม่แปลกใจนะครับ ที่เห็นรถชานเมืองสมัยนี้ พ่วงโบกี้ JR - West สายมหาชัยทำมาตั้งนานแล้ว Very Happy

Click on the image for full size
รถดีเซลราง " Tokyu " โบกี้สเตนเลสรุ่นแรกในประเทศไทย สั่งมาใช้งานในสายแม่กลองโดยเฉพาะ ( ตอนนี้กลายเป็นที่ตากผ้าชาวบ้านย่านสถานีไปแล้ว )
ภาพจากการรถไฟแห่งประเทศไทย

ต่อด้วยดีเซลรางสเตนเลส " Tokyu " ครับ

สั่งมาใช้งานโดยเฉพาะกับสายแม่กลองเช่นกัน และกลายเป็นต้นแบบของรุ่น THN ที่ติดตามมาใช้งานทุกวันนี้ ต่างกันตรงที่ THN มีเครื่องยนต์ทุกโบกี้ แต่ Tokyu ต้องพ่วง 2 โบกี้ โดยมีโบกี้เปล่า +โบกี้ติดเครื่องยนต์ = 1 ชุด ทำขบวนวิ่งทั้งสองฝั่ง

พอใช้งานรถดีเซลรางรุ่นนี้ได้ไม่กี่ปี ถนนธนบุรี - ปากท่อ ( พระรามที่ 2 ) เปิดใช้งาน กลายเป็นคู่แข่งขันที่เหนือกว่า ทำให้ทางรถไฟช่วง บ้านแหลม - แม่กลอง เริ่มตกต่ำไม่มีฟื้น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

คงเหลือแต่ช่วง วงเวียนใหญ่ - มหาชัย ที่ยังมีลูกค้าเหนียวแน่นอยู่เหมือนเดิมครับ โดยเฉพาะลูกค้าที่อยู่ในหมู่บ้านการเคหะ ฯ ย่านแสมดำ จะนิยมขึ้นรถไฟสายนี้ไปทำงาน ซึ่งรวดเร็วกว่าเส้นทางสายพระราม 2 ที่อ้อมกว่า...


Last edited by black_express on 29/02/2016 1:51 pm; edited 9 times in total
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 43714
Location: NECTEC

PostPosted: 30/11/2006 11:05 am    Post subject: Reply with quote

Click on the image for full size

Click on the image for full size

ภาพนี้ถ่ายโดย นาย เจ อันโตนิโอ ช่างภาพกรมรถไฟหลวง เมื่อ 29 ธันวาคม 2447 ก่อนจะเปิดให้ประชาชนใช้การได้ 4 มกราคม 2447 ปัจจุบันภาพนี้อยู่ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
Back to top
View user's profile Send private message
tongchit
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 28/03/2006
Posts: 1164
Location: ทับยาว เขต.ลาดกระบัง

PostPosted: 30/11/2006 12:09 pm    Post subject: Reply with quote

เมื่อสัก 20 ปีกว่าก่อนผมเคยนั่งรถผ่านแถววงเวียนใหญ่ ฝั่งตรงข้ามสถานีวงเวียนใหญ่ยังมองเห็นแนวรางอยู่เลยครับ Smile
_________________
ความผิดฅนอื่นเท่าขุนเขา ความผิดเราเท่าขุมขน
Click on the image for full size
Back to top
View user's profile Send private message
Anan124
3rd Class Pass
3rd Class Pass


Joined: 03/07/2006
Posts: 213
Location: สมุทรสาคร

PostPosted: 30/11/2006 12:56 pm    Post subject: Reply with quote

โอ้โห...เนื้อหาละเอียดสุดๆ เมื่อตอนที่เรียนอยู่ม. 2 - 6 ก็นั่งไปโรงเรียนเกือบทุกวัน นั่งจากป้ายหยุดรถบางบอน ถึง สถานีวงเวียนใหญ่ เพราะว่าทำเวลาได้ดีเยี่ยม
ส่วนแนวรางหลีกที่วงเวียนใหญ่ ตอนนี้ก็ยังหลงเหลืออยู่ แต่ว่าต้องเดินไปทางต้นชานนิดนึง ก็จะเจอ ตอนนี้เขาเทปูนกลบเอาไว้ โผล่ขึ้นมาแต่สันราง(เหมือนที่มหาชัยเลย)...แล้วซากรถดีเซลรางเก่าๆ(จำรุ่นไม่ได้)ก็จอดอยู่หน้าที่ทำการนายตรวจ ก่อนถึงสถานีมหาชัยประมาณ 300-500 เมตรอ่ะครับ... Wink
Back to top
View user's profile Send private message Send e-mail
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 30/11/2006 2:34 pm    Post subject: Reply with quote

เห็นไหมล่ะ ? แฟนขาประจำรถไฟสายนี้มีแยะ Laughing ล้วนแต่นักเรียน นักศึกษาทั้งนั้น ช่วยกันรักษาเส้นทางสายแม่กลอง ให้อยู่กันไปนานๆ ด้วยนะครับ

ไหนๆ พูดถึงรถดีเซลรางแล้ว ก็ว่าต่อด้วยเรื่องรถจักรในเส้นทางสายแม่กลอง กับการเดินรถในอดีต ให้ครบไปเลยน่อ... Very Happy

เส้นทางสายแม่กลองนี่ ถ้าดูกันให้ดีๆ เวลาสั่งรถจักร รถดีเซลราง จะมีของใหม่ๆ มาลองยาก่อนเพื่อน ลองดูสิว่า หลังจากรับช่วงกิจการจากบริษัทเอกชน มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ?

การดำเนินงาน

1 เปลี่ยนราง แขวงมหาชัย จากขนาด 40 ปอนด์/หลา เป็นขนาด 50 ปอนด์/หลา และแขวงแม่กลองจาก 35 ปอนด์/หลา เป็นขนาด 50 ปอนด์/หลา และปรับปรุงพื้นทางให้มั่นคงแข็งแรง รับน้ำหนักขบวนรถได้มากกว่าเดิม

2 เปลี่ยนแปลงสะพานไม้เดิม ซึ่งรับน้ำหนักได้เพลาละ 3 ตัน ให้เป็นสะพานเหล็กรับน้ำหนักได้เพลาละ 10.5 ตัน แล้วเสร็จทุกสะพาน เมื่อปี พ.ศ.2503

3 สั่งซื้อรถจักรไอน้ำและรถโดยสารจากต่างประเทศ และรับโอนรถจักร รถโบกี้โดยสาร รถสินค้า และรถดีเซลราง จากการรถไฟฯ มาใช้งานดังนี้

พ.ศ.2494 สั่งซื้อรถจักรไอน้ำ ยี่ห้อ Henschel จำนวน 2 คัน และรถโบกี้โดยสาร จำนวน 2 หลัง

Click on the image for full size

พ.ศ.2498 สั่งซื้อรถจักรดีเซลไฮดรอลิกส์ Henschel จำนวน 2 คัน ( หมายเลข D-1 , D-2 ) และรถโบกี้โดยสาร จำนวน 8 คัน

พ.ศ.2500 สั่งซื้อรถดีเซลราง Teikoku จำนวน 6 คัน ( หมายเลข D-3 , D-4 , D-5 , D-6 , D-7 , D-8 ) และรถพ่วงโดยสารชั้น 2 , 3 จำนวน 12 คัน

Click on the image for full size

พ.ศ.2501 รับโอนรถจักรดีเซลไฟฟ้า Sulzer จำนวน 2 คัน ( หมายเลข 505 , 50x ) รถโบกี้โดยสาร จำนวน 7 คัน และรถบรรทุกสินค้า จำนวน 20 คัน

Click on the image for full size

พ.ศ.2508 รับโอนรถจักรดีเซลไฟฟ้า Sulzer จำนวน 4 คัน ( หมายเลข 651 , 652 , 653 , 654 ) รถจักรไอน้ำจำนวน 4 คัน ( ? ) รถโดยสาร จำนวน 3 คัน รถสินค้า จำนวน 12 คัน ( รถ ตญ. 7 คัน , รถ ขต. 5 คัน )

Click on the image for full size

พ.ศ.2509 รับโอนรถดีเซลราง Niigata จำนวน 3 ชุด ( 6 คัน ) ( หมายเลข 1001 , 1002 , 1003 ) และรถจักร ดีเซลไฟฟ้า Sulzer จำนวน 1 คัน ( หมายเลข 561 )

Click on the image for full size

4 เปิดเดินขบวนรถที่สำคัญ ดังนี้

วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2496 เปิดเดินรถด่วนทำขบวนด้วยรถจักรไอน้ำ Henschel ระหว่างสถานีคลองสาน – มหาชัย เป็นครั้งแรก

วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2500 เปิดเดินรถด่วนทำขบวนด้วยรถจักรดีเซลไฮดรอลิกส์ Henschel ระหว่างสถานีคลองสาน - มหาชัย และเปลี่ยนขบวนรถด่วนเดิม เป็นขบวนรถธรรมดาในโอกาสเดียวกัน

วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2501 เปิดเดินรถด่วนทำขบวนด้วยรถจักรดีเซลไฟฟ้า Sulzer ระหว่างสถานีคลองสาน – มหาชัย และซ่อมแซมขบวนรถธรรมดาจนอยู่ในสภาพเรียบร้อย ก่อนลำเลียงข้ามแม่น้ำท่าจีน เพื่อไปใช้งานในเส้นทางช่วงบ้านแหลม – แม่กลอง

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2502 เปิดเดินรถธรรมดาทำขบวนด้วยรถจักรไอน้ำ Henschel ระหว่างสถานีบ้านแหลม – แม่กลอง

วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2502 เปิดเดินรถธรรมดาดีเซลราง Teikoku ระหว่างสถานีคลองสาน – วัดสิงห์

วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2502 เปิดเดินรถด่วน โดยรถดีเซลราง Teikoku ระหว่างสถานีคลองสาน – มหาชัย และสถานีบ้านแหลม – แม่กลอง และเดินขบวนรถธรรมดาดีเซลราง Teikoku ระหว่างสถานีคลองสาน - รางโพธิ์

วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2509 เปิดเดินรถด่วน โดยรถดีเซลราง Niigata ระหว่างสถานีบ้านแหลม – แม่กลอง

ทำให้ลดระยะเวลาการเดินทางระหว่างสถานีคลองสาน – มหาชัย เหลือเพียง 45 นาที เร็วกว่าสมัยที่บริษัทเดิมบริหารงาน ซึ่งใช้เวลาเดินทางถึง 80 นาที

( ที่มา : อนุสรณ์ครบรอบ 72 ปี การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2439 – 2512 )

...........................................

เราไปเยี่ยมสถานีตลาดพลู ที่สมัยหนึ่งเกือบจะได้เป็นต้นทางของสายแม่กลอง ดีกว่าครับ Very Happy


Last edited by black_express on 30/12/2011 9:15 am; edited 19 times in total
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 43714
Location: NECTEC

PostPosted: 30/11/2006 2:45 pm    Post subject: Reply with quote

แล้วการเอาราง 70 ปอนด์มาเปลี่ยนกับราง 50 ปอนด์ ช่วงวงเวียนใหญ่ - มหาชัยหละทำกันปีไหนหว่า Rolling Eyes
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> สำรวจทางรถไฟและมุมมอง Unseen รถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page 1, 2, 3, 4, 5  Next
Page 1 of 5

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©