View previous topic :: View next topic |
Author |
Message |
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
Posted: 25/07/2011 9:53 pm Post subject: เรื่องน่ารู้ : รถจักรดีเซลที่เคยใช้การใน รฟท. |
|
|
สวัสดีครับ...
จากเรื่องราวของรถจักรไอน้ำ ผมจะนำเข้าสู่เรื่องราวของรถจักรดีเซลซึ่งเป็นยุคต่อเนื่อง โดยมีทั้งรถจักรดีเซลไฟฟ้า และรถจักรดีเซลไฮดรอลิกส์ และบางรุ่นนั้น ยังมีใช้การอยู่จนทุกวันนี้ นับว่าเป็นรถจักรสร้างตำนานเลยทีเดียว
มาดูกันนะครับว่า ในยุคของรถจักรดีเซลนั้น ทางกรมรถไฟหลวง ได้ริเริ่มทำอะไรไปบ้าง จนทำให้เป็นผู้นำด้านกิจการรถไฟในเอเซียเลยทีเดียว
...........................
เรื่องน่ารู้ : รถจักรดีเซลที่เคยใช้การใน รฟท.
ฝ่ายการช่างกล การรถไฟแห่งประเทศไทย
ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งไม่กี่ปี ดร.รูดอล์ฟ ดีเซล ได้ประดิษฐ์เครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงหนัก (Heavy Oil) สำเร็จโดยเรียกว่าเครื่องยนต์ดีเซลตามชื่อของเขา ได้มีผู้นำเอาไปทดลองใช้เป็นเครื่องยนต์ต้นกำลังเพื่อการขับเคลื่อนและฉุดลากกับรถจักร เรียกกันว่า รถจักรดีเซล ซึ่งเป็นรถจักรอีกแบบหนึ่ง เพิ่มไปจากรถจักรไอน้ำและรถจักรไฟฟ้าที่ก่อกำเนิดมาก่อนตามลำดับ
การเริ่มแรกของการใช้เครื่องยนต์ดีเซลเพื่อการฉุดลากบนทางรถไฟ ก็น่าจะเป็นรถดีเซลรางแบบรถดีเซลไฟฟ้า คือ เป็นรถโดยสารใช้เครื่องยนต์ดีเซลต่อควบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ทำหน้าที่จ่ายกระแสไฟขับเคลื่อนเครื่องยนต์ไฟฟ้าฉุดลาก ทำการเคลื่อนตัวรถ ซึ่งออกใช้การทดลองในการรถไฟแห่งหนึ่งในประเทศสวีเดน เมื่อปี ค.ศ.1913
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง การทดลองใช้การรถจักรดีเซลนี้มิได้หยุดยั้ง ได้มีการพิจารณาปรับปรุงตรวจสอบความเหมาะสมทางเทคนิค ตลอดจนความเหมาะสมในการใช้การทางเศรษฐกิจ เพื่อเปรียบเทียบกับรถจักร 2 ชนิดเดิม เป็นผลให้การรถไฟหลายแห่งโดยเฉพาะในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือนำเอามาใช้การเป็นการทดลองในลักษณะเป็นรถจักรใช้ในการสับเปลี่ยน (Shunting locomotive) บ้าง ใช้เป็นรถดีเซลราง (Diesel railcar) บ้าง และบางแห่งก็ทดลองใช้เป็นรถจักรในทางประธาน (Main line locomotive) ซึ่งยังมีข้อเสียอยู่ที่ว่า ยังไม่อาจปรับปรุงให้ใช้เครื่องยนต์ที่มีกำลังม้าสูงกว่า 1,200 แรงม้าได้ แต่ต่อมาภายหลัง อุปสรรคนี้ก็ได้ขจัดไปด้วยดี จนปรากฎว่าในปัจจุบันนี้สามารถจะติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซลเครื่องเดียวมีกำลัง 5,000 แรงม้ากับรถจักร 1 คันได้
ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในทวีปเอเซียที่ให้ความสนใจในการใช้รถจักรดีเซล คือในปี พ.ศ.2464 กรมรถไฟหลวงได้ออกสอบราคารถจักรดีเซลมีกำลัง 1,000 แรงม้าไปยังบริษัทผู้ผลิตในยุโรป และได้รับการเสนอราคามาคันละประมาณ 60,000 ปอนด์สเตอลิง (มูลค่าในสมัยนั้น) แต่ก็ยังมิได้ตกลงใจซื้อมาใช้การแต่อย่างใด
จนกระทั่งในปี พ.ศ.2471 จึงได้สั่งซื้อรถจักรดีเซลมีกำลัง 180 แรงม้า ส่งผ่านกำลังด้วยการกล (Diesel-Mechanical) คือใช้เครื่องยนต์ดีเซลออกแรงไปขับล้อโดยใช้หีบเฟืองกลไกเป็นเครื่องถ่ายทอดกำลัง จำนวน 2 คัน มาใช้การเป็นรุ่นแรกในประเทศไทย และรายแรกในทวีปเอเซียด้วย เพื่อใช้เป็นรถจักรสับเปลี่ยน และลากจูงขบวนรถท้องถิ่นรอบบริเวณกรุงเทพฯ รถจักรรุ่นนี้สร้างโดยบริษัทสวิสโลโคโมตีฟ แอนด์ แมชีนเวอร์ค แห่งประเทศสวิสเซอร์แลนด์
การใช้รถจักรดีเซลทั้ง 2 คันนี้ ปรากฎให้ผลดีในสมรรถนะการใช้การและสงวนค่าใช้จ่ายทำการ กรมรถไฟจึงตกลงใจที่จะจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้ามาใช้ในกิจการรถไฟทุกลักษณะของการใช้การ ในระหว่างปี พ.ศ.2474 2475 สั่งซื้อรถจักรดีเซลไฟฟ้า มีกำลัง 450 แรงม้า จำนวน 6 คัน มาใช้ลากจูงขบวนรถรวมและรถเร็ว
รถจักรดีเซลไฟฟ้ามีกำลัง 1,400 แรงม้า ซึ่งนับได้ว่ามีกำลังมากที่สุดในโลกที่ใช้การในทางขนาด 1 เมตรในสมัยนั้น จำนวน 1 คัน มาใช้การลากจูงขบวนรถสินค้าหนัก
Last edited by black_express on 28/07/2011 12:24 pm; edited 2 times in total |
|
Back to top |
|
|
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
Posted: 25/07/2011 10:04 pm Post subject: |
|
|
รถจักรดีเซลไฟฟ้ามีกำลัง 900 แรงม้า จำนวน 6 คัน มาใช้ลากจูงขบวนรถด่วน และรถดีเซลรางแบบรถดีเซลไฟฟ้ามีกำลัง 150 แรงม้า จำนวน 6 ชุด แต่ละชุดประกอบด้วยรถกำลัง บรรทุกคนโดยสารและสัมภาระ 1 คัน และรถพ่วงบรรทุกคนโดยสาร 1 คัน มาใช้การเป็นขบวนรถชานเมืองบริเวณกรุงเทพฯ
รถจักรดีเซลเหล่านี้ได้กำหนดรายการจำเพาะเพื่อการสร้างโดย มร.ซากาเรีย เป็นวิศวกรใหญ่ฝ่ายการช่างกลของกรมรถไฟหลวงในขณะนั้น และสร้างโดยบริษัทซูลเซอร์ แห่งประเทศสวิสเซอร์แลนด์ สำหรับรถจักรดีเซลกำลัง 450 แรงม้า ส่วนรถจักรดีเซลนอกนั้น และรถดีเซลราง สร้างโดยบริษัทฟริคซ์ แห่งประเทศเดนมาร์ก รถจักรดีเซลเหล่านี้ ทางการได้ใช้การควบคู่ไปกับการใช้รถจักรไอน้ำตลอดมา
การที่กรมรถไฟหลวงได้นำเอารถจักรดีเซลมาใช้การเป็นประเทศแรกในเอเซียนี้ ก็ด้วยพระดำริริเริ่มของสมเด็จในกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง และทรงเป็นบูรพาจารย์และผู้ประสิทธิ์ประสาทรากฐานความเจริญพัฒนาของกิจการรถไฟแห่งชาติสืบมาจนทุกวันนี้
เป็นที่เห็นได้ว่า พระองค์ท่านนอกจากจะทรงเป็นวิศวกรโดยอาชีพแล้ว ยังทรงเป็นนักกำหนดนโยบาย เศรษฐกร และนักบริหารที่เล็งเห็นการณ์ไกล แม้ว่าจะได้รับการทักท้วงตำหนิจากวงการหลายแห่ง เมื่อกรมรถไฟหลวงได้นำเอารถจักรดีเซลดังกล่าวมาใช้การ ซึ่งก็เป็นสิ่งธรรมดาที่จะต้องประสบกันทั่วไป ในเมื่อมีการนำเอาสิ่งของใหม่ยังไม่เป็นที่รู้จักหรือเห็นคุณค่าโดยแพร่หลายมาก่อน แต่ก็หาได้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการและความริเริ่มของพระองค์ท่านไม่ ทั้งนี้กาลเวลาก็ได้พิสูจน์ให้แลเห็นอยู่ในปัจจุบันว่า ข้อดำริริเริ่มของพระองค์ท่านมิได้ผิดพลาดแต่อย่างใด เพื่อเป็นอนุสรณ์ถวายแด่พระองค์ท่าน บรรดารถจักรดีเซลไฟฟ้าที่มีใช้การอยู่ เริ่มแต่รถจักรที่กล่าวข้างต้น จึงได้รับการขนานนามว่า บุรฉัตร โดยรถจักรดีเซลไฟฟ้าทุกคัน ได้รับการติดแผ่นวงกลมจารึกนามบุรฉัตร ประกอบด้วยเครื่องหมายประจำพระองค์
ในระยะเวลาต่อมา รถจักรดีเซลโดยทั่วไปก็ได้รับการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพและสมรรถนะสูงขึ้นทั้งในด้านเครื่องยนต์ดีเซล เครื่องส่งผ่านกำลัง และกลไกต่างๆ ของตัวรถจักร ทำให้เพิ่มความสนใจแก่การรถไฟหลายแห่งในโลก โดยเฉพาะการรถไฟชั้นนำได้ขยายการใช้รถจักรดีเซลให้กว้างขวางขึ้น โดยใช้การควบคู่กันไปกับรถจักรไอน้ำและรถจักรไฟฟ้า (ซึ่งยังมีใช้การไม่มากนัก)
สำหรับการรถไฟของประเทศไทย จากผลดีที่ได้รับจากการใช้การรถจักรดีเซลข้างต้นมาเป็นเวลาประมาณ 9 ปี จึงในปี พ.ศ.2483 ทางการได้สั่งซื้อรถจักรดีเซลไฟฟ้า ขนาด 960 แรงม้า 3 คัน และขนาด 735 แรงม้า 4 คัน จากบริษัทซูลเซอร์แห่งประเทศสวิสเซอร์แลนด์ แต่ได้รับอุปสรรคจากสงครามโลกครั้งที่สองที่ไม่อาจนำส่งยังประเทศไทยได้ จนกระทั่งเสร็จสิ้นสงครามแล้ว ซึ่งได้นำออกใช้การในปี พ.ศ.2490 และเป็นรถจักรดีเซลรุ่นสุดท้ายที่ใช้การภายใน 50 ปี ที่กรมรถไฟเปิดการเดินรถมา
Last edited by black_express on 27/07/2011 11:39 am; edited 4 times in total |
|
Back to top |
|
|
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
Posted: 25/07/2011 10:09 pm Post subject: |
|
|
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การรถไฟฯ ได้จัดหารถจักรดีเซลมาใช้การเพื่อบรรเทาการขาดแคลนรถจักร ซึ่งประสบความเสียหายระหว่างสงครามและตามโครงการบูรณะกิจการรถไฟ ดังต่อไปนี้
รถจักรดีเซลไฟฟ้า มีกำลัง 500 แรงม้า จำนวน 30 คัน เพื่อมาใช้ลากจูงขบวนรถเร็ว และท้องถิ่น และเมื่อนำมาต่อพ่วงกัน 2 คัน มีกำลังรวมกัน 1,000 แรงม้า ได้นำไปใช้ในการลากจูงขบวนรถด่วน
รถจักรดีเซลไฟฟ้า มีกำลัง 1,000 แรงม้า จำนวน 15 คัน เพื่อนำมาใช้ลากจูงขบวนรถสินค้า รถจักรทั้ง 2 ขนาดนี้ ได้สั่งซื้อพร้อมกันเมื่อปี พ.ศ.2493 จากบริษัทดาเวนปอร์ทเบสเลอร์ แห่งสหรัฐอเมริกา
สำหรับรถจักรดีเซลที่มีใช้การอยู่เดิมนอกจาก 7 คัน ที่ได้รับมาใหม่แล้ว ก็อยู่ในสภาพที่ใช้งานตรากตรำมานานถึง 20 ปีเศษ ก็ยังคงให้ใช้การต่อไปก่อน และได้รับการปลดระวางเมื่ออีกประมาณ 10 ปีถัดมา |
|
Back to top |
|
|
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
Posted: 25/07/2011 10:14 pm Post subject: |
|
|
ในปี พ.ศ.2501 ได้สั่งซื้อรถจักรดีเซลไฟฟ้ามีกำลัง 950 แรงม้า จากบริษัทฮิตาชิ แห่งประเทศญี่ปุ่น จำนวน 5 คัน ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2506 ได้สั่งซื้อจากบริษัทเดียวกันอีก 25 คัน รวมรถจักรรุ่นนี้มีใช้การทั้งสิ้น 30 คัน
ในปี พ.ศ.2498 ได้สั่งซื้อรถจักรดีเซลเพื่อมาใช้การสับเปลี่ยนและลากจูงขบวนรถชานเมืองบริเวณกรุงเทพฯ จำนวน 5 คัน รถจักรดีเซลรุ่นนี้เป็นรถจักรดีเซลไฮดรอลิค กำลัง 440 แรงม้า กล่าวคือ เป็นรถจักรดีเซลที่มีอุปกรณ์ส่งผ่านกำลังของเครื่องยนต์ด้วยระบบไฮดรอลิค (น้ำมัน) เรียกว่า Hydraulic Transmission คือเป็นอุปกรณ์ที่แปลงหรือขยายแรงมุนของเครื่องยนต์แบบกังหัน (Torque converter) แล้วทำหน้าที่ส่งผ่านกำลังนั้นไปขับเพลาล้อรถจักร แทนที่จะเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและเครื่องยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อน เหมือนกับรุ่นก่อนๆ ที่มีใช้การ การนำเอารถจักรดีเซลแบบนี้มาใช้การ นับได้ว่าเป็นรุ่นแรกในการรถไฟ และก็อาจกล่าวได้ว่า เป็นการรถไฟแห่งแรกในเอเซียอาคเนย์ที่นำเอารถจักรดีเซลไฮดรอลิคมาใช้การ
เพื่อให้เป็นที่กระจ่างชัด ใคร่จะกล่าวว่า การใช้การเครื่องยนต์ดีเซลเพื่อการลากจูงรถไฟนั้น ได้มีการประดิษฐ์การถ่ายทอดกำลังจากครื่องยนต์อยู่หลายแบบ มีแบบที่นิยมใช้กันมาก คือ รถจักรดีเซลการกล (Diesel Mechanical) รถจักรดีเซลไฟฟ้า (Diesel Electric) และรถจักรดีเซลไฮดรอลิค (Diesel Hydraulic) ซึ่งทั้งสามแบบนี้ มีหลักการตรงกับที่ให้ประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจการใช้การเหมือนกัน และเหนือกว่าการใช้รถจักรไอน้ำ การนำเอาแบบดีเซลไฮดรอลิคมาใช้การนี้ ทางการมีความประสงค์เพื่อการทดลองและประเมินผลในด้านเทคนิคต่างๆ |
|
Back to top |
|
|
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
Posted: 25/07/2011 10:18 pm Post subject: |
|
|
จนถึงปัจจุบัน การรถไฟฯ ได้จัดหารถจักรดีเซลมาใช้การแทนรถจักรไอน้ำที่ได้ใช้การมานานมีสภาพเสื่อมโทรม ถึงวาระที่ต้องปลดจากระวาง และเพื่อการเสริมกำลังลากจูงขบวนรถต่างๆ ที่เดินเพิ่มขึ้น สนองต่อความเจริญของการขนส่งของประเทศไทยโดยได้ดำเนินตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติสมัยต่างๆ และสอดคล้องกับแผนการใช้รถจักรดีเซลลากจูงแทนรถจักรไอน้ำ (Dieselization) ที่การรถไฟฯ ได้วางไว้ดังต่อไปนี้
ในปี พ.ศ.2507 จัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า ใช้การในทางสายประธาน มีขนาด 1,320 แรงม้า จำนวน 40 คัน
รถจักรดีเซลไฮดรอลิค ใช้การในทางสายประธาน มีขนาด 1,200 แรงม้า จำนวน 27 คัน และรถจักรสับเปลี่ยนดีเซลไฮดรอลิค ขนาด 260 แรงม้า 5 คัน
ในปี พ.ศ.2511 จัดหารถจักรดีเซลไฮดรอลิคขนาด 1,500 แรงม้า จำนวน 30 คัน กำลังอยู่ในระหว่างจัดสร้าง ทั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของจำนวนที่จัดหาตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ พ.ศ.2510 2514[img][/img]
Last edited by black_express on 19/02/2021 10:46 pm; edited 1 time in total |
|
Back to top |
|
|
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
Posted: 25/07/2011 10:33 pm Post subject: |
|
|
รายการคุณลักษณะโดยย่อของรถจักรดีเซล ตั้งแต่เริ่มแรกใช้การจนถึงปัจจุบัน เป็นไปตามบัญชีดังต่อไปนี้
Last edited by black_express on 26/07/2011 9:45 pm; edited 1 time in total |
|
Back to top |
|
|
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
Posted: 25/07/2011 10:39 pm Post subject: |
|
|
การนำเอารถจักรดีเซลมาใช้ในการลากจูงขบวนรถแทนรถจักรไอน้ำ(Dieselization)
เป็นเวลาเกินกว่าครึ่งศตวรรษ ที่รถจักรไอน้ำมิได้มีคู่แข่งขันอย่างใด แต่ก็มีบทบาทใกล้จะถึงจุดจบอยู่แล้ว โดยที่ได้รับการพัฒนาปรับปรุงมาจนถึงขีดสุดดังที่มีปรากฎใช้การในปัจจุบัน สำหรับรถจักรดีเซลนั้น หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ได้มีบทบาทเข้าสู่แนวหน้าในการใช้ในการฉุดลากขบวนรถไฟ เคียงบ่าเคียงใหล่กับการใช้รถจักรไฟฟ้าซึ่งยังมีขีดจำกัดอยู่บ้างในด้านการลงทุนและจำนวนขบวนรถที่จะมีทำการ รถจักรไอน้ำเริ่มถูกแทนที่ด้วยรถจักรดีเซล (และรถจักรไฟฟ้าด้วย) ในอัตราที่สูงขึ้นเรื่อยมา ดังที่ปรากฎว่าการรถไฟต่างๆ ทั่วโลกต่างก็มีแผนการที่จะเลิกใช้การรถจักรไอน้ำ โดยใช้รถจักรดีเซลหรือรถจักรไฟฟ้าหรือรถจักรประเภทอื่นแทนที่ ตามกำลังความสามารถของแต่ละการรถไฟนั้นๆ
ในการนำเอารถจักรดีเซลมาใช้การนั้น ได้มีการพิจารณาและพิสูจน์ให้เห็นกันว่า มีข้อดีเหนือรถจักรไอน้ำประมวลได้ดังนี้
1. รถจักรไอน้ำใช้เชื้อเพลิง (ถ่านหิน หรือฟืน หรือน้ำมันเตา) สิ้นเปลืองมากกว่ากัน 2-3 เท่า เมื่อนำไปใช้ลากจูงขบวนรถที่มีภาระเท่ากัน น้ำมันหนักซึ่งใช้เป็นเชื้อเพลิงกับรถจักรดีเซล (เครื่องยนต์ดีเซล) ให้คุณค่าในทางความร้อนสูงกว่าถ่านหินหรือฟืนที่ใช้กับรถจักรไอน้ำ จึงในด้านการใช้การจะประหยัดค่าใช้จ่ายกว่า ตลอดจนรถจักรดีเซล ก็มีประสิทธิภาพและสมรรถนะสูงกว่าอีกด้วย
2. รถจักรดีเซลพร้อมที่จะทำงานได้ทันทีเมื่อเริ่มเดินเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งอำนวยพลังงาน แต่รถจักรไอน้ำมีกรรมวิธีต่างๆ อีกมาก ที่ทำให้ล่าช้ากว่า หมายความว่าทุกวันที่ทำการ รถจักรไอน้ำจะทำการได้น้อยชั่วโมงกว่า หรือมีระยะทางทำการน้อยกว่า จะเห็นได้ว่า ด้วยรถจักรดีเซลเพียง 2 คัน สามารถที่จะทำงานได้เท่ากับใช้รถจักรไอน้ำ 3 คันทำการ
3. รถจักรไอน้ำมีควัน เขม่าและลูกไฟ อันเกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญต่อประชาชนผู้ใช้รถไฟ และอาจก่อให้เกิดความเสียหาย เช่น เกิดอัคคีภัยต่อทรัพย์สินใกล้เคียงได้ง่าย แต่สำหรับรถจักรดีเซลแล้ว มีการระงับหรือไม่มีสิ่งบกพร่องเหล่านี้เกิดขึ้น
4. สภาวะการปฏิบัติงานพนักงานรถจักรดีเซล ดีกว่าในด้านความสะอาดและสะดวกสบาย นอกจากนี้ จำนวนพนักงานรถจักรดีเซลต่อคัน ก็น้อยกว่ารถจักรไอน้ำ
5. การใช้การเชื้อเพลิง รวมทั้งการขนส่ง การเก็บสำรอง สำหรับน้ำมันหนัก (ของเหลว) กับเครื่องยนต์ดีเซล ให้ความสะดวกต่างๆ กว่าการใช้ถ่านหินหรือฟืน (ของแข็ง) กับรถจักรไอน้ำซึ่งในกรณีหลังนี้ จะต้องจัดลำเลียงไปเก็บกองเพื่อจ่ายเติมกับรถจักร ณ ตำบลต่างๆ เป็นจำนวนมากแห่ง
6. นอกจากนี้มีข้อดีอื่นๆ อีก เป็นต้นว่า การใช้รถจักรดีเซลไม่ต้อมีอุปกรณ์ชำร่วยต่างๆ ที่ใช้กับรถจักรไอน้ำ เช่น สถานีเติมน้ำ สถานีรับเชื้อเพลิง บ่อสำหรับระบายมูลเถ้า วงเวียนสำหรับกลับรถจักร ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและลงทุน
7. ในด้านการประหยัดค่าใช้จ่ายทำการ ปรากฎว่า การใช้รถจักรดีเซลอำนวยประโยชน์ให้ดีกว่ารถจักรไอน้ำ ซึ่งไม่แต่เพียงอำนวยประโยชน์ให้ในการสับเปลี่ยนเท่านั้น แต่การนำไปใช้ในทางสายประธานก็ให้ประโยชน์ได้ดี
เพื่อเป็นการสนับสนุนหัวข้อต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น มีประจักษ์พยานเห็นได้จากการที่กรมรถไฟได้นำเอารถจักรดีเซลมาใช้การเมื่อ พ.ศ.2474 ดังนี้
เป็นที่ทราบกันว่า ระหว่างการใช้ถ่านหินหากดำริจะใช้แทนฟืนกับรถจักรไอน้ำ กับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงกับรถจักรดีเซล น้ำมันเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ดีเซลให้คุณค่าในทางความร้อนสูงกว่า และมีประสิทธิภาพสูงกว่าถ่านหิน ฉะนั้นเมื่อเชื้อเพลิงทั้ง 2 ชนิด ต้องจัดหาจากต่างประเทศเหมือนกัน แต่เมื่อคำนึงถึงข้อดีต่างๆ ในด้านคุณค่าของความร้อน ประสิทธิภาพการใช้การตลอดจนการประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว การนำเอารถจักรดีเซลมาใช้การก็จะให้ผลดีเท่ากัน
ในการที่กรมรถไฟนำเอารถจักรดีเซลไฟฟ้า มาลากจูงขบวนรถด่วนสายใต้ระหว่างประเทศจากกรุงเทพฯ ถึงปาดังเบซาร์ สถานีชายแดนทางใต้ ปรากฎว่าทั้งเที่ยวไปและกลับ ขบวนนี้เดิมใช้รถจักรไอน้ำแบบแปซิฟิคลากจูงถึง 4 คัน โดยรับช่วงกันทำการเป็นระยะ เริ่มจากกรุงเทพฯ 1 คัน ชุมพร 1 คัน ชุมทางทุ่งสง1 คัน และชุมทางหาดใหญ่ 1 คัน จนถึงปาดังเบซาร์ และต้องใช้พนักงานรถจักร 12 คน (คันละ 3 คน) เมื่อใช้รถจักรดีเซลทำการใช้เพียง 1 คัน ทำการจากต้นทางถึงปลายทางรวด โดยใช้พนักงานรถจักร 2 ผลัดๆ ละ 2 คน รวมเป็น 4 คน โดยผลัดที่ 2 เดินทางไปกับขบวนรถ และรับช่วงกันทำงานตลอดทาง
เวลาที่ใช้ในการเดินทางตามกำหนดเวลาในสมัยนั้น เมื่อใช้รถจักรไอน้ำลากจูง ใช้เวลา 26 ชั่วโมง 10 นาที ขาไป และ 26 ชั่วโมง 25 นาที ขากลับ ส่วนการใช้รถจักรดีเซลนั้นใช้เวลา 22 ชม.ทั้งเที่ยวไปและกลับเท่ากัน และยังลากจูงรถโดยสารมีจำนวนมากคันกว่าด้วย
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า การใช้รถจักรดีเซล สามารถลดจำนวนรถจักรและจำนวนพนักงานรถจักรลงได้ นอกจากนี้ การที่ทำเวลาได้เร็วกว่าก็เป็นเพราะรถจักรดีเซลมีอัตราเร่งสูงกว่ารถจักรไอน้ำ ตลอดจนมีกำลังมากกว่า ทำให้ลากจูงรถได้มาก และเมื่อขึ้นทางลาดชันก็มีความเร็วสูงกว่า ทั้งยังลดราคาหยุดตามสถานีรายทางลงได้ เพราะไม่ต้องเติมน้ำและเชื้อเพลิงซึ่งรถจักรไอน้ำต้องกระทำเป็นระยะไป โดยใช้เวลานาน
ในการเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการเดินขบวนรถตามค่าของเงินในขณะนั้นปรากฎว่า การใช้รถจักรไอน้ำมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารถจักรดีเซลประมาณ 1.85 เท่า และเมื่อคิดรวมค่าเสื่อมราคาของรถจักรและรถโดยสารและค่าดอกเบี้ยเงินลงทุนไว้ด้วย ค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นของรถจักรไอน้ำจะสูงกว่าประมาณ 1.25 เท่า
การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ตระหนักถึงข้อดีต่างๆ ตามข้างต้น ที่จะอำนวยประโยชน์ในทางเศรษฐกิจของการเดินรถไฟประการหนึ่ง ได้มีเจตจำนงที่จะระงับการใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงต่อไป เพื่อเป็นการสงวนป่าไม้อันเป็นทรัพยากรของชาติ กอรปด้วยได้สำนึกอยู่ว่าเป็นการรถไฟหนึ่ง ที่ริเริ่มนำเอารถจักรดีเซลมาใช้การก่อน มีประสบการณ์กับความจัดเจนในการใช้การซ่อมบำรุงอยู่แล้วไม่มากก็น้อย
อนึ่ง พึงทราบว่าในการนำเอารถจักรดีเซลมาใช้การเริ่มแรก ทางกรมรถไฟในสมัยนั้น (คือกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน) ก็ได้คำนึงถึงการบรรเทาการใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงรวมอยู่ด้วย จึงในปี พ.ศ.2505 ทางการได้กำหนดแผนการที่จะนำเอาการลากจูงโดยเครื่องยนต์ดีเซลมาใช้การแทนรถจักรไอน้ำทั้งสิ้นโดยสมบูรณ์ ซึ่งเป็นแผนการระยะยาวที่กำหนดให้การจัดหารถจักรดีเซลมาใช้การ สอดคล้องกับการทยอยเลิกใช้รถจักรไอน้ำรุ่นต่างๆ เมื่อครบอายุและเป็นไปตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติด้วย ก็คงใช้การต่อไปจนกว่าจะถึงวาระปลดระวางและรถจักรไอน้ำก็จะไม่จัดหามาใหม่
Last edited by black_express on 26/07/2011 9:58 pm; edited 5 times in total |
|
Back to top |
|
|
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
Posted: 25/07/2011 10:41 pm Post subject: |
|
|
การปฏิบัติตามแผนการเป็นไปดังนี้
พ.ศ.2504 2509 จัดหารถจักรดีเซลมีกำลังแรงม้า 1,200 และ 1,320 จำนวน 60 คัน และรถดีเซลราง (ชนิด 2 คันต่อชุด) 10 ชุด เพื่อนำมาใช้แทนรถจักรไอน้ำที่ใช้ลากจูงขบวนรถต่างๆ อยู่ในภาคกลาง และสายตะวันออกและเพื่อมาใช้การลากจูงขบวนรถที่เพิ่มขึ้นด้วย
ในการนี้ เลิกใช้รถจักรไอน้ำที่ครบอายุใช้การ (ประมาณ 40 ปี) 100 คัน จากจำนวนทั้งสิ้นที่มีอยู่ 336 คัน และในทางสายอื่นๆ ยังคงใช้รถจักรไอน้ำที่เหลืออยู่ควบคู่ไปกับรถจักรดีเซล
พ.ศ.2510 2514 เลิกใช้รถจักรไอน้ำในทางสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือทั้งสาย และสายใต้ถึงสถานีชุมพร ทั้งนี้จะปลดระวางรถจักรไอน้ำได้ 179 คัน โดยที่รถจักรเหล่านี้มีอายุใช้การถึงวาระที่จะปลดระวางได้ และจะยังคงเหลือใช้ในทางสายใต้จากชุมพรลงไป 57 คัน
ในการนี้ จัดหารถจักรดีเซลขนาดประมาณ 1,500 แรงม้าขึ้นไป จำนวน 84 คัน และรถดีเซลราง (ชนิด 2 คันต่อชุด) จำนวน 28 ชุด มาใช้การแทนรถจักรไอน้ำ และใช้ลากจูงขบวนรถที่เพิ่มขึ้นบ้าง
พ.ศ.2515 2518 เลิกใช้รถจักรไอน้ำที่เหลืออยู่ 57 คัน โดยจัดหารถจักรดีเซลและรถดีเซลรางมาใช้การแทนจำนวนหนึ่ง เมื่อรถจักรไอน้ำได้รับการเปลี่ยนหมดแล้ว ก็จะเก็บสำรองไว้เผื่อฉุกเฉินประมาณ 50 คัน ซึ่งรถเหล่านี้เป็นรถจักรที่มีอายุใกล้จะถึงวาระปลดระวางในวาระนั้น
แผนการย่อยที่จะดำเนินการตามวาระให้สอดคล้องกับการจัดหารถจักรดีเซลมาใช้การ สมทบกับรถจักรดีเซลที่มีใช้การอยู่เดิม คือ
1. การอบรมพนักงานรถจักรและช่างฝีมือ เพื่อให้พนักงานเหล่านี้ซึ่งคุ้นเคยกับการใช้และซ่อมบำรุงรถจักรไอน้ำมาก่อน พร้อมที่จะดำเนินการในการใช้รถจักรดีเซลเมื่อได้รับมาใหม่
2. ดำเนินการสร้างโรงรถจักรใหม่ และดัดแปลงบรรดาอาคารโรงรถจักรเดิม ตามศูนย์การรถไฟต่างๆ ทั่วไป ให้เหมาะสมกับการใช้บรการรถจักรดีเซล ทั้งนี้ได้รวมถึงการดัดแปลงและเพิ่มโรงงานซ่อมที่มักกะสัน พระนคร ตลอดจนโรงงานซ่อมบำรุงในท้องถิ่น
3. พิจารณายกเลิกสิ่งอำนวยความสะดวกในการเติมน้ำ จุดจ่ายฟืนแก่รถจักรไอน้ำ วงเวียนกลับรถที่ติดตั้งอยู่ตามสถานีรายทางต่างๆ
4. พิจารณาติดตั้งสถานีจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง อุปกรณ์ให้บริการรถจักรดีเซล ณ สถานีที่กำหนดไว้เป็นศูนย์การรถไฟทั่วไป
จัดหาอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ที่ใช้ในการซ่อมบำรุงรถจักรดีเซลซี่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
.....................................
ขอขอบคุณ
1. การรถไฟแห่งประเทศไทย
2. ฝ่ายการช่างกล การรถไฟแห่งประเทศไทย
3. หนังสือ "อนุสรณ์ครบรอบ 72 ปี การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2439 - 2512"
Last edited by black_express on 26/07/2011 9:46 pm; edited 2 times in total |
|
Back to top |
|
|
Wisarut
1st Class Pass (Air)
Joined: 27/03/2006 Posts: 43772
Location: NECTEC
|
Posted: 26/07/2011 1:03 am Post subject: |
|
|
^^^
บอกสั้นๆ ก็ได้ -ตามแผนการเปลี่ยนมาใช้รถจักรดีเซลนั้น ก็เริ่มกันตั้งแต่หลังจากซื้อรถจักรดาร์เวนปอร์ตเลยทีเดียว โดยเลือกเจ้าที่ดี ราคาถูก ... หลังจากได้ประสบการณ์มากจากรถจักรสวิส - กับรถจักรดาร์เวนปอร์ต ที่ตอนแรกกะจะสั่งแบบ 1,000 แรงม้า มา 30 หลัง แต่ต่อมาเกิดมีการเปลี่ยน TOR เป็นรถจักร แบบ 1,000 แรงม้า 15 หลังและ รถจักร 500 แรงม้า 30 หลัง รวมเป้น 45 หลัง นัยว่าส่งมอบได้เร็วกว่า โดยลงนาม ปี 2493 แต่ที่ไหนได้ สงครามเกาหลีทำพิษ และคนงานโรงงานผลิตเครื่องยนต์แคตเตอร์พิลลาร์เกิดนัดหยุดงาน เลยส่งมอบได้แค่รถจักร 500 แรงม้า จำนวน 18 หลัง ในปี 2495 ที่กำหนดว่าจะส่งมอบครบ 45 หลัง จนเกิดการเปิดกระทู้ในสภา(ตรายาง) - คู่กับกรณีตัดระยะสายตะวันออกเหลือแค่ที่ มักกะสัน - ตอนแรกจะฟ้องร้องเอาเงินคืน ฐานไม่สามารถส่งมอบได้ แต่ตอนหลัง หม่อมเสนีย์ ที่ได้รับมอบหมายให้ว่าความแนะนำว่า ถ้าสามารถทำข้อตกลงได้ว่า จะส่งมอบรถจักรได้ครบตามจำนวนแม้จะส่งมอบล่าช้าหน่อย ซึ่ง รฟท.ก็เห็นด้วย เพราะเนื่องจากตอนนั้นโลหะแพง จะฟ้องร้องเอาความท่าจะได้ไม่คุ้มเสีย ที่สุดก็ส่งมอบรถจักร 500 แรงม้า 12 หลัง และ 1,000 แรงม้าอีก 8 หลัง ในปี 2498 และ 1,000 แรงม้าอีก 7 หลัง ในปี 2499
ตอนแรกก็สั่งเจ้า ฮิตาชิ ขนาด 960 แรงม้า 30 หลัง เป็นรถจักรครู โดยเงินกู้ธนาคารโลก ตอนแรกธนาคารโลกก็สงสัยว่ารถจักรฮิตาชิจะดีจริง ราคาไม่แพงจริงหรือ แต่พอทดสอบแล้วเห็นว่าเป็นที่น่าพอใจ เลยซื้อมาใช้ เรื่มแต่ปี 2501 แต่กว่าจะทดสอบและส่งมอบได้หมดก็ ปี 2505
ต่อมาปี 2507 จึงส่ง รถจักร ยีอี เข้ามา 40 หลัง และ รถจักรเฮนสเชล ที่ให้เงินกู้ผ่าน KfW
ที่เหลือก็พอทราบเองได้ ... และโครงการสั่งรถดีเซลมาใช้ก็มาถึงจุดสุดท้ายเมื่อสั่งรถจักรอัลสตอม 54 หลัง โดยอิตาเลียนไทยเป็นเอเยนต์ ... ส่งมอบปี 2517 - 18 และโครงการนี้เสร็จก่อนเวลา 4 เดือน คือทำได้สมบูรณ์เมื่อ กรกฎาคม 2519 (ถ้าจำไม่ผิด) |
|
Back to top |
|
|
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
Posted: 26/07/2011 8:08 am Post subject: |
|
|
ขอบคุณเฮียวิศที่มาเพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับแผนการใช้รถจักรดีเซลลากจูงแทนรถจักรไอน้ำ(Dieselization) มา ณ โอกาสนี้ครับ
Last edited by black_express on 19/02/2021 10:49 pm; edited 2 times in total |
|
Back to top |
|
|
|