Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าวเกี่ยวกับ "ที่ดิน" ของ "รฟท."
View previous topic :: View next topic
Author
Message
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 44161
Location: NECTEC
Posted: 18/11/2024 10:23 pm Post subject:
ย้อนคำพิพากษาศาลฯ รฟท.ทวงคืนที่ดินเขากระโดง บุรีรัมย์ 5,083ไร่
ฐานเศรษฐกิจ
เผยแพร่: วันศุกร์ ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เวลา 06:20 น.
อัปเดตล่าสุด : วันศุกร์ ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เวลา 16:18 น.
ย้อนคำพิพากษา ศาลฎีกา-ศาลปกครอง ปมที่ดินเขากระโดง บุรีรัมย์ 5,083 ไร่ 995 ฉบับ เป็นที่ดินรถไฟด้านกรมที่ดินแจ้งคำสั่ง ไม่เพิกถอน ย้ำ ระวางแนวเขตไม่ชัดเจน ผู้ว่ารถไฟเดินหน้าเต็มสูบ ทวงคืนเขากระโดง ด้านสหภาพฯย้ำต้องได้คืนที่ดิน
ปมขัดแย้งกรณีที่ดินเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ มหากาพย์ข้อพิพาทระหว่าง กรมที่ดินและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่มีปัญหามาอย่างยาวนาน เนื่องจากการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินรัฐ และที่เป็นประเด็นเกรียวกราวมีชื่อของบ้านใหญ่นักการเมืองดังบุรีรัมย์ อยู่ในพื้นที่ด้วยด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในสมัยนั้น
เลือกที่จะฟ้องกรมที่ดิน ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐด้วยกัน ต่อศาลปกครองกลาง ปี 2564 ที่วงเงินค่าเสียหาย 800 ล้านบาท ฐานออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนที่ดินรัฐ แทนที่จะฟ้องประชาชน ซึ่งหนึ่งในนั้นจะรวมถึงบ้านใหญ่ดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตามศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 ระบุว่า กรมที่ดินละเลยการตรวจสอบเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ โดยยืนคำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2560 -ปี 2561 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ปี 2563
โดยแบ่งออกเป็น3 กลุ่มเพิกถอนเอกสารสิทธิ์คืนรฟท.แล้ว ได้แก่
1.ที่ดิน 35 ราย 40 แปลง (ส.ค.1) ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2560 ตั้งอยู่อยู่บิรเวณ ต้นกิโลเมตรที่ 5-6 ใกล้สนามช้างอารีนา ประมาณ 56 ไร่
2.ที่ดินแปลงใหญ่ 2 ราย ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2561 บริเวณกิโลเมตรที่ 8 ทางรถไฟแยกบุรีรัมย์เข้าเขากระโดง เนื้อที่ 9 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา
และ 3.ที่ดิน น.ส.3. จำนวน 4 แปลง ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ปี 2563 (ยุติคดีชาวบ้านไม่อุทธรณ์ต่อ) ตั้งอยู่กลางแผนที่ บริเวณกิโลเมตรที่ 6-7 เนื้อที่ประมาณ 20 ไร่
ขณะที่ดินทั้งผืน 5,083 ไร่ เอกสารสิทธิ์ จำนวน 995 ฉบับ ล่าสุด กรมที่ดินมีคำสั่งไม่เพิกถอน ตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง 30 มีนาคม 2566 โดยให้เห็นผลว่า รฟท.ไม่สามารถชี้แจงระวางแผนที่ได้
อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้พิพากษาเฉพาะ แปลงที่ดินที่เป็นข้อพิพาท ไม่ได้รวมถึงแปลงอื่นทั้ง 5,083 ไร่ พออนุมานได้ว่า กรณีที่ดินที่ถูกคำสั่งศาล ให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ตั้งอยู่กลางแปลงที่ดินเขากระโดงทั้งผืน ควรเป็นของรฟท. ที่กำหนดกรอบอาณาเขตแนบท้ายไว้หรือไม่
ขณะคำพิพากษาศาลปกครองกลาง พิพากษาวันที่ 30 มีนาคม2566 นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน ในสนัยนั้น ไม่อุทธรณ์และสั่งตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 61 สำรวจแนวเขตและเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ เขากระโดงคืนรฟท. 5,083 ไร่ ยอมรับคำพิพากษา และตั้งคณะกรรมการตรวจสอบตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566
ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล นายอุทิน ชาญวีรกูล ปฎิบัติหน้าที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชยาวุธ ยื่นหนังสือลาออก นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดินคนใหม่ เดินหน้าตรวจสอบและมีคำสั่ง ไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ดังกล่าว โดยให้รฟท.เดินหน้าฟ้องเป็นรายแปลง และ นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าฯรฟท.มีหนังสือด่วนอุทธรณ์ คำสั่งกรมที่ดินและไปไปสู่การฟ้องร้องต่อไป
เปิดไทม์ไลน์ เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ เขากระโดง
รายงานข่าวจากรฟท. ระบุว่า สำหรับไทม์ไลน์ การเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ เขากระโดง พบว่าเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 ศาลปกครองกลางได้พิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 ให้อธิบดีกรมที่ดินแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา โดยให้การรถไฟฯร่วมกับคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดิน บริเวณเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของการรถไฟฯ
ต่อมาเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 อธิบดีกรมที่ดินได้ออกคำสั่งที่ 1195-1196/2566 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อดำเนินการกับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินในท้องที่ ต.เสม็ด และ ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ จำนวน 995 ฉบับ
โดยเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 คณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรคสอง เชิญการรถไฟฯ เข้าร่วมประชุมครั้งที่ 1/2567 ณ ห้องประชุมสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ โดยที่ประชุมให้การรถไฟฯ ดำเนินการยื่นคำขอรังวัดทำแผนที่ บริเวณทางแยกเขากระโดง และให้จัดส่งข้อมูลกรอบพื้นที่ซึ่งมีค่าพิกัดรายละเอียด การดำเนินการรังวัดทำแผนที่ ต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ทั้งนี้ กรมที่ดินต้องถือปฏิบัติตามระเบียบกรมที่ดินว่าด้วยการรับคำขอรังวัด การนัดรังวัด และการเรียกค่าใช้จ่ายในการรังวัดเฉพาะราย พ.ศ.2547
เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2567 การรถไฟฯ ได้ยื่นคำขอรังวัดที่ดินบริเวณทางแยกเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ โดยสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ได้มีหนังสือ ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 แจ้งประมาณการค่าใช้จ่ายในการรังวัด จำนวน 112 แปลง เป็นเงินทั้งสิ้น 1,296,320 บาท และเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567 การรถไฟฯ ได้นำเงินไปชำระค่าใช้จ่ายในการรังวัด ตามใบเสร็จรับเงินสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ เลขที่ 66-30979983 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2567
ทั้งนี้สำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ได้มีหนังสือลงวันที่ 25 มีนาคม 2567 แจ้งให้การรถไฟฯ จัดส่งเอกสารหลักฐานของทางราชการ ยืนยันที่ดินของการรถไฟฯตามกฎหมายพร้อมทั้งแต่งตั้งตัวแทนเจ้าหน้าที่ เพื่อนำรังวัดชี้แนวเขตที่ดิน และการรถไฟฯ มีหนังสือลงวันที่ 3 เมษายน 2567 ชี้แจงข้อเท็จจริงในการนำส่งการรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ เอกสารที่เกี่ยวข้อง และได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ผู้รับมอบอำนาจในการดำเนินการตรวจสอบแนวเขตที่ดินตามคำพิพากษาศาลปกครอง
รฟท.-กรมที่ดิน ถกกำหนดรังวัด
เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2567 สำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ แจ้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจของการรถไฟฯ เข้าร่วมประชุมหารือกำหนดนัดวันรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณเขากระโดง อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ โดยที่ประชุมมีมติ ให้กรมที่ดิน (สำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์) กำหนดแผนงานการรังวัดการตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณทางแยกเขากระโดง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ในเบื้องต้น ช่วงระหว่างเดือน มิถุนายน-กรกฎาคม 2567
ขณะเดียวกันในระหว่างวันที่ 2 - 26 กรกฎาคม 2567 ผู้แทนของการรถไฟฯ และเจ้าหน้าที่กรมที่ดินพร้อมด้วยสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ลงพื้นที่ดำเนินการจัดทำรังวัดที่ดิน และกำหนดแนวเขตที่ดินของ รฟท. บริเวณแยกเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ จนแล้วเสร็จ ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เมื่อได้เริ่มรังวัดที่ดินกฎหมายกำหนดให้ต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 50 วัน
ต่อมาเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้รับหนังสือจากสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2567 เรื่อง การรังวัดตรวจสอบเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยบริเวณแยกเขากระโดง ถึงผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ แจ้งว่าได้ทำการรังวัดที่ดินบริเวณแยกเขากระโดงเสร็จเรียบร้อยแล้ว
พร้อมแนบรายละเอียดรูปแผนที่ (ร.ว.9) บริเวณเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งระบุรายละเอียดแนวเขตที่ดินของการรถไฟฯบริเวณแยกเขากระโดงทั้งหมด โดยเฉพาะในบริเวณเส้นขอบเขตของที่ดินของการรถไฟฯ มีการระบุถึงเลขแปลงโฉนดที่ดิน และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3 และ น.ส.3 ก ที่อยู่ในแนวเขตที่ดินของการรถไฟฯ
ขั้นตอนหลังจากนี้ สำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์จะส่งข้อมูลพร้อมรายละเอียดรูปแผนที่ (ร.ว.9) บริเวณเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ให้กรมที่ดิน เพื่อเสนอให้คณะกรรมการสอบสวนมาตรา 61 เพื่อนำไปชี้แจงต่อศาลปกครอง พร้อมกับส่งข้อมูลการรังวัดและการลงระวางแผนที่ ซึ่งรวมถึงแบบสอบถามในใบไต่สวนผู้ที่ถือเอกสารสิทธิ์ว่ามีใครคัดค้านหรือไม่ และข้อมูลการรังวัด ส่งไปให้คณะกรรมการสอบสวนฯ มาตรา 61 พิจารณาว่าจะเพิกถอน (เอกสารสิทธิ์ที่ดิน) หรือไม่เพิกถอน
ทั้งนี้ การสอบสวนตามมาตรา 61 วรรคสอง ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จและส่งให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ได้มีคำสั่งให้ทำการสอบสวน ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกําหนดเวลา ให้คณะกรรมการสอบสวนรายงานเหตุที่ทำให้การสอบสวนไม่แล้วเสร็จต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย และขอขยายระยะเวลาดำเนินการได้ตามความจําเป็นแต่ไม่เกินหกสิบวัน
30 วัน รฟท.จ่อรวบรวมหลักฐานเพิ่มเติม
ล่าสุดทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ออกมาระบุว่า กรณีที่คณะกรรมการสอบสวนฯ มีมติเห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินรถไฟฯ บริเวณแยกเขากระโดง พื้นที่ 5,083 ไร่ เนื่องจาก รฟท.ไม่มีหลักฐานเป็นที่ข้อยุติว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นของ รฟท.นั้น ขณะนี้เพิ่งได้รับเอกสารดังกล่าว เบื้องต้นรฟท.จะพิจารณาร่วมกับกระทรวงคมนาคม เพื่อหาแนวทางที่ถูกต้องและเหมาะสม
อย่างไรก็ดีผู้ว่ารฟท.ยืนยันว่า ที่ผ่านมาจากหลักฐานของรฟท.เคยนำแผนที่ดินเขากระโดงส่งให้กับทางศาลยุติธรรมแล้ว ในระหว่างนั้นมีการสู้คดีถึงชั้นกฤษฎีกา ซึ่งชนะคดีมาแล้ว คาดว่ารฟท.จะใช้เวลาพิจารณาเรื่องนี้ไม่เกิน 30 วัน
สุริยะ สั่งรฟท.ตรวจสอบ-รักษาสิทธิ์
ฟากเจ้ากระทรวงคมนาคม โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เรื่องนี้มีความสำคัญหากเป็นที่ดินของ รฟท. แม้กระทั่งตารางวาก็จะเสียไปไม่ได้ จึงให้รฟท.ไปตรวจสอบ ซึ่งต้องดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมายเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าหรือทาง รฟท. เห็นว่าเรื่องนี้เป็นอย่างไร เมื่ออธิบดีกรมที่ดินชี้มาแบบนี้ ทาง รฟท.เห็นว่าไม่ใช่ ก็ต้องพยายามรักษาสิทธิ์ของ รฟท.ไว้
ทั้งนี้ได้รับรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ย. รฟท.ได้ยื่นขอต่อศาลปกครองกลาง แจ้งว่าอธิบดีกรมที่ดินปฏิบัติตามคำพิพากษาไม่ครบถ้วน ขอให้ศาลปกครองพิจารณา หรือไต่สวนกำหนดวิธีการดำเนินการ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ในการร่วมกันชี้แนวเขตที่ดินของ รฟท. และให้พิจารณามีคำสั่งในประเด็นต่างๆ ต่อไป
ขณะเดียวกันผู้ว่ารฟท.ได้ทำหนังสือถึงกรมที่ดิน ยื่นคัดค้านหนังสือของอธิบดีกรมที่ดิน ตามมาตรา 44 พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางการปกครอง ซึ่งในนั้นระบุว่า ต้องยื่นภายใน 15 วัน ซึ่งได้ครบกำหนดเมื่อวันที่ 12 พ.ย. ปัจจุบันได้ส่งไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา นายสุริยะ ยืนยันว่า รฟท.รู้กฎหมายอยู่ จะไปหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เพื่อฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกที่ดินกว่า 900 แปลง ซึ่งขั้นตอนตรงนี้ยังมีเวลาและต้องพิจารณาให้รอบคอบ
สหภาพฯ ย้ำผู้ว่าฯรฟท.ต้องสู้ถึงที่สุด
ด้านนายสราวุธ สราญวงศ์ ประธานสหภาพรฟท. ยืนยันว่า ต้องการให้ผู้ว่าฯรฟท.เดินหน้าต่อสู้ตามกฎหมายเพื่อทวงคืนที่ดินเขากระโดงกลับคืนมา เนื่องจากเป็นสมบัติของรฟท.ที่สำคัญกรมที่ดินควรรักษาผลประโยชน์ที่ดินรัฐด้วยกันมากกว่าผู้บุกรุก
Back to top
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 44161
Location: NECTEC
Posted: 18/11/2024 10:26 pm Post subject:
เจาะยุทธศาสตร์ เซ็นทรัลพัฒนา ปั้นอาณาจักร มิกซ์ยูส แสนล้าน
ฐานเศรษฐกิจ
เผยแพร่: วันศุกร์ ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เวลา 06:22 น.
ตีพิมพ์ใน หน้า 20
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
ฉบับที่ 4,045 วันที่ 17 - 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567
เปิดอาณาจักรมิกซ์ยูส แสนล้าน เซ็นทรัลพัฒนา บิ๊กโปรเจ็กต์เรือธง ดุสิต เซ็นทรัลพาร์ค-เซ็นทรัลสยามสแควร์-เซ็นทรัลพหลโยธิน รับเทรนด์ความต้องการในด้านที่อยู่อาศัย ช้อปปิ้ง สันทนาการ และท่องเที่ยวที่กำลังเติบโตจากความต้องการความสะดวกสบายที่ครบครัน
ในยุคที่โครงการอสังหาริมทรัพย์ให้ความนิยมการพัฒนารูปโครงการพัฒนาเชิงพาณิชย์รูปแบบผสม หรือมิกซ์ยูสที่รวบรวมสิ่งอำนวยความสะดวกไว้รองรับความต้องการหลากหลายไลฟ์สไตล์อย่างครบครันในที่เดียว บิ๊กดีเวลอปเปอร์หลายรายต่างเปิดตัวโครงการในรูปแบบดังกล่าวอย่างดุเดือด
หนึ่งในนั้นคือ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ยักษ์ใหญ่วงการค้าปลีกและบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รูปแบบมิกซ์ยูส ที่ประกาศแผนยุทธศาสตร์ 5-10 ปี เมื่อช่วงไตรมาส 2 ของปี 2567 ที่ผ่านมา ตอกยํ้าการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ จำนวน 5 โครงการ วงเงิน 1.21 แสนล้านบาท มีพื้นที่รวมกันมากถึง 2.2 ล้านตารางเมตร
โดยมีโครงการเรือธงที่อยู่ระหว่างก่อสร้างได้แก่ โครงการดุสิตเซ็นทรัลพาร์ค, เซ็นทรัลพหลโยธิน, เซ็นทรัลสยามสแควร์เป็นต้น และยังคงเดินหน้าขยายโครงการมิกซ์ยูสอย่างต่อเนื่อง
โดยมีหมุดหมายเจาะทำเลยุทธศาสตร์สำคัญ สร้างแลนด์มาร์กใหม่ทั้งในเขตกรุงเทพมหานครจังหวัดหัวเมืองใหญ่ เมืองท่องเที่ยวเช่น ภูเก็ต กระบี่ และเชียงใหม่ ยังไม่รวมการขยายคอมมูนิตี้มอลล์ ในทำเลศักยภาพ เนื่องจากที่ดินมีราคาสูงและนับวันจะหายากยิ่ง
อย่างไรก็ตามหนึ่งในโครงการมิกซ์ยูสที่สำคัญที่สุดของเซ็นทรัลพัฒนา คือ "เซ็นทรัลเวิลด์" แหล่งช้อปปิ้ง ใจกลางเมือง เป็นที่รู้จักทั้งในกลุ่มชาวไทยและชาวต่างชาติ บนทำเลสี่แยกราชประสงค์ใจกลางกรุงเทพมหานคร บนพื้นที่กว่า 830,000 ตารางเมตร
สถานที่แห่งนี้ไม่เพียงแต่เป็นแหล่งช้อปปิ้ง แต่ยังเป็นมิกซ์ยูสที่รวบรวมพื้นที่หลากหลายประเภท เช่น พื้นที่ช้อปปิ้ง, สำนักงาน เซ็นทรัลเวิลด์ออฟฟิศเศส, โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์, โรงภาพยนตร์, และสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ ไว้ในบริเวณเดียวกัน เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของทุกคน ทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
อีกหนึ่งในโครงการที่น่าจับตามอง นั่นคือ เมกะโปรเจ็กต์มิกซ์ยูสของ เซ็นทรัลพัฒนา อย่าง ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ที่ร่วมพัฒนากับกลุ่มโรงแรมดุสิตธานี เป็นโครงการแรกตั้งอยู่ใจกลางย่านหัวมุมสีลม-พระราม 4 เนื้อที่ 23 ไร่ บนที่ดินสำนักงานทรัพย์สินทรัพย์พระมหากษัตริย์
โดยเพิ่งเปิดตัวเฟสแรก โรงแรมดุสิตธานี เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โครงการนี้เน้นการผสมผสานพื้นที่ค้าปลีก โรงแรม ที่พักอาศัย และออฟฟิศเข้าไว้ด้วยกันบนพื้นที่ 440,000 ตารางเมตร มีมูลค่าโครงการรวมทั้งหมด 46,000 ล้านบาท ทั้งนี้มีกำหนดการเปิดตัวส่วนศูนย์การค้าและสำนักงานในปี 2568
และที่กำลังเปลี่ยนแปลงแยกปทุมวัน ที่เป็นของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บนเนื้อที่ 6 ไร่ จากโรงภาพยนตร์สกาลา เป็นโครงการมิกซ์ยูส "เซ็นทรัล สยามสแควร์" ที่มีทั้งศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน กำหนดเปิดเฟสแรก ปี 2569
เจาะยุทธศาสตร์ เซ็นทรัลพัฒนา ปั้นอาณาจักร มิกซ์ยูส แสนล้าน
อีกโครงการใหญ่ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท คือ เซ็นทรัล พหลโยธิน ที่หลายฝ่ายน่าจับตามองว่าจะมาแทนที่ "เซ็นทรัล ลาดพร้าว" ซึ่งกำลังจะหมดสัญญาเช่าที่ดินกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในปี 2571 และมีบิ๊กทุนรายใหญ่ต้องการเช่าที่ดินผืนนี้ต่อ
แต่ล่าสุดได้รับการยืนยันจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ว่า ทางเซ็นทรัลพัฒนา ได้ติดต่อเจรจา ต่อสัญญาเช่าเนื่องจากเป็นขุมทรัพย์สำคัญมีคนเข้าใช้สอยในพื้นที่จำนวนมากและสร้างรายได้ผลตอบแทนสูงที่สุดในกลุ่ม
นอกจากนี้ เซ็นทรัลพัฒนา ยังได้ประกาศทุ่มงบกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อรีโนเวท ศูนย์การค้าที่อยู่ในยุทธศาสตร์ Retail-Led Mixed-Use บนทำเลศักยภาพอีก 4 แห่ง โดยแห่งแรกคือ "เซ็นทรัล บางนา" โครงการมิกซ์ยูสใหญ่ของย่าน บนพื้นที่ 55 ไร่ ก็กำลังอยู่ระหว่างการปรับโฉมครั้งใหญ่เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง
โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงภายใต้คอนเซปต์ Urban Luxe & Lush Lifestyle ให้เป็นแหล่งช็อปปิ้งและไลฟ์สไตล์ครบครัน พร้อมดึงแบรนด์ลักชัวรีหลายแบรนด์เข้ามา และเพิ่มพื้นที่สำหรับกิจกรรมในครอบครัว รวมถึงพื้นที่สำหรับงานศิลปะและนิทรรศการอีกด้วย
ต่อมาคือ "เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า" แลนด์มาร์กสำคัญในย่านฝั่งธนบุรีที่มีฐานลูกค้ากลุ่มครอบครัวมีกำลังซื้อ "เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ" ที่รองรับการขยายเมือง เติบโตและเปลี่ยนผ่านจากย่านชานเมืองไปสู่ New CBD และ "เซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต" ที่ผสมผสานด้านวัฒนธรรมและไลฟ์สไตล์
เจาะยุทธศาสตร์ เซ็นทรัลพัฒนา ปั้นอาณาจักร มิกซ์ยูส แสนล้าน
นอกจากกรุงเทพฯ แล้ว เซ็นทรัลพัฒนายังมุ่งหน้าขยายมิกซ์ยูสในเมืองท่องเที่ยวอื่น เช่น "เซ็นทรัล กระบี่" ภายใต้คอนเซปต์ New Haven of Life บนพื้นที่ 114 ไร่ ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 4,500 ล้านบาท
โครงการนี้จะประกอบไปด้วยศูนย์การค้า โรงแรม คอนโดมิเนียม และบ้านพักอาศัยระดับพรีเมียม ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ในภาคใต้ โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2568
เจาะยุทธศาสตร์ เซ็นทรัลพัฒนา ปั้นอาณาจักร มิกซ์ยูส แสนล้าน
อย่างไรก็ตาม คาดว่าเซ็นทรัลพัฒนายังมีอีกหลายโปรเจ็กต์ที่ยังไม่ได้เปิดเผยอย่างเป็นการ แต่เป็นที่ทราบดีว่ายังมีที่ดินอีกหลายทำเลที่ยังอยู่ในช่วงศึกษาและพัฒนาโครงการใหม่ในมือของ เซ็นทรัลพัฒนา
อย่างที่ดินย่านพระราม 9 ที่เซ็นทรัลพัฒนา ถือหุ้นใหญ่ บริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLAND โครงการ "เดอะ แกรนด์ พระราม 9" (The Grand Rama 9) พื้นที่ใจกลางเมืองบนพื้นที่ประมาณ 73 ไร่ ตั้งอยู่บนหัวมุมถนนพระราม 9 ตัดถนนรัชดาภิเษก ซึ่งเป็นทำเลศักยภาพสูงในย่านธุรกิจแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร และแปลงที่ดินขนาดใหญ่ 761ไร่ ย่านรังสิต ปทุมธานี ที่มีแผนพัฒนาเป็นเมืองมิกซ์ยูส ในอนาคต เป็นต้น
ทั้งนี้ การขยายตัวของอาณาจักรมิกซ์ยูสในหลากหลายภูมิภาคสะท้อนถึงเทรนด์ในการพัฒนาอสังหาเริมทรัพย์ในยุคใหม่ที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตของหลากหลายไลฟ์สไตล์ที่ให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายสำหรับผู้บริโภค และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจเมืองท่องเที่ยวและเพิ่มความหลากหลายให้กับตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย
Back to top
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 44161
Location: NECTEC
Posted: 18/11/2024 10:32 pm Post subject:
เอสอาร์ที แอสเสท นำร่อง มอบสัญญาเช่าที่ดินตามเส้นแนวเขตทางรถไฟจ.กาญจนบุรี แก้ปัญหาให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิที่ดิน
เผยแพร่: วันจันทร์ ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เวลา 14.20 น.
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ พันตำรวจเอก ศุภกร ศุภศิณเจริญ กรรมการบริษัท รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด เป็นประธานในพิธีส่งมอบสัญญาเช่าที่ดินตามเส้นแนวเขตทางรถไฟจังหวัดกาญจนบุรี โดยมี นายมนตรี ตั้งเจริญถาวร ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นางสาวณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายมนตรี เดชาสกุลสม อธิบดีกรมทางหลวงชนบท ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมพิธี ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี อำเภอเมืองกาญจนบุรี และเทศบาลเมืองท่าเรือพระแท่น อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี
พันตำรวจเอก ศุภกร ศุภศิณเจริญ กล่าวว่า ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้ประชาชนตามแนวเส้นทางรถไฟให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ให้บริษัทฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารจัดการสัญญาเช่าพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เจรจาสัญญากับบุคคลที่สาม หรือการร่วมทุนกับเอกชน เพื่อให้พื้นที่เกิดประโยชน์สูงสุดในรูปแบบต่าง ๆ เร่งดำเนินการทำสัญญาเช่าให้ถูกต้อง สำหรับในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี มีประชาชนที่อยู่อาศัยตามแนวเส้นทางรถไฟจังหวัดกาญจนบุรี ยื่นขอเช่าและตกลงเข้าเซ็นสัญญาเช่ากับบริษัทฯ จึงได้ทำการส่งมอบสัญญาเช่าที่ดินตามเส้นแนวเขตทางรถไฟจังหวัดกาญจนบุรีให้กับประชาชนที่มีความพร้อมในการทำสัญญาเช่ากับบริษัทฯ ได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ในครั้งนี้ จำนวนทั้งสิ้น 150 สัญญา ในอัตราค่าเช่าที่ประชาชนเข้าถึงได้ และจะเร่งดำเนินการในพื้นที่ต่าง ๆ ให้เรียบร้อยต่อไป
เอสอาร์ที แอสเสท ลุยส่งมอบ 150 สัญญาเช่าที่ดิน เขตทางรถไฟจ.กาญจนบุรี
ฐานเศรษฐกิจ
เผยแพร่: วันจันทร์ ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เวลา 14:16 น.
อัปเดตล่าสุด : วันจันทร์ ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เวลา 14:23 น.
บจ.เอสอาร์ที แอสเสท นำร่องส่งมอบสัญญาเช่าที่ดิน 150 สัญญา ตามแนวเขตทางรถไฟ จ.กาญจนบุรี หวังแก้ปัญหาประชาชนเข้าถึงสิทธิที่ดิน-ที่อยู่อาศัย หนุนเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการที่ดินของรัฐ
พันตำรวจเอกศุภกร ศุภศิณเจริญ กรรมการบริษัทรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัดเปิดเผยว่า สำหรับการเป็นประธานในพิธีส่งมอบสัญญาเช่าที่ดินตามเส้นแนวเขตทางรถไฟจังหวัดกาญจนบุรี นั้น
ทั้งนี้บริษัทฯได้ทำการส่งมอบสัญญาเช่าที่ดินตามเส้นแนวเขตทางรถไฟจังหวัดกาญจนบุรีให้กับประชาชนที่มีความพร้อมในการทำสัญญาเช่ากับบริษัทฯ ได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัย จำนวนทั้งสิ้น 150 สัญญา ในอัตราค่าเช่าที่ประชาชนเข้าถึงได้
สำหรับในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี มีประชาชนที่อยู่อาศัยตามแนวเส้นทางรถไฟจังหวัดกาญจนบุรี ได้ยื่นขอเช่าและตกลงเข้าเซ็นสัญญาเช่ากับบริษัทฯ หลังจากนั้นจะเร่งดำเนินการในพื้นที่ต่าง ๆ ให้เรียบร้อยต่อไป
ทั้งนี้บริษัทฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารจัดการสัญญาเช่าพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เจรจาสัญญากับบุคคลที่สาม หรือการร่วมทุนกับเอกชน เพื่อให้พื้นที่เกิดประโยชน์สูงสุดในรูปแบบต่าง ๆ และเร่งดำเนินการทำสัญญาเช่าให้ถูกต้อง
อย่างไรก็ตามการส่งมอบสัญญาเช่าที่ดินในครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้ประชาชนตามแนวเส้นทางรถไฟให้ถูกต้องตามกฎหมาย
Back to top
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 44161
Location: NECTEC
Posted: 19/11/2024 12:49 am Post subject:
อย่าให้การเมืองคุกคามเขากระโดง
เผยแพร่: วันเสาร์ ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เวลา 06:30 น.
ตีพิมพ์ใน บทบรรณาธิการ หน้า 6
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
ฉบับที่ 4,045 วันที่ 17 - 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567
ที่ดินเขากระโดงลุกเป็นไฟอีกครั้ง เมื่อกรมที่ดินมีคำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดิน 5,083 ไร่ จำนวน 995 ฉบับ หลังตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ตามที่ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาโดยให้การรถไฟฯ (ผู้ฟ้องคดี) ร่วมกับ คณะกรรมการสอบสวนฯ ตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง เพื่อหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของการรถไฟฯ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 กรมที่ดิน สรุปผล การรังวัดตามการนำชี้ของผู้แทนการรถไฟฯ ไม่มีเอกสารหลักฐานทางกฎหมายอ้างอิง เพื่อประกอบการนำชี้ โดยมีราษฎรในพื้นที่และส่วนราชการคัดค้านไม่ยอมรับการนำชี้ของผู้แทนการรถไฟฯ
และยืนยันว่า ในการดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามความในมาตรา 61 ได้ดำเนินการครบถ้วนถูกต้องตามคำพิพากษาศาลปกครอง และทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง เพื่อหาแนวเขตที่ดิน ที่เป็นของการรถไฟฯ ตามกฎหมายทุกขั้นตอนแล้ว
เรื่องนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม ร้อนจนควันออกหู สั่งการให้ ผู้ว่าฯ รถไฟ ทำหนังสืออุทธรณ์คำสั่งกรมที่ดินทันควัน พร้อมทั้งเดินหน้าสู้ต่อ ในชั้นศาลปกครองกลาง และยํ้าว่าไม่ยอมให้ที่ดินรถไฟหายไปแม้แต่ตารางวาเดียว
ทั้งที่คำสั่งศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ปี 2566 พิพากษาชัดว่า ที่ดินเขากระโดงเป็นที่ดินของการรถไฟฯและสั่งให้กรมที่ดิน ตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 61 ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับการรถไฟ เพื่อเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ และคำพิพากษาของศาลฎีกา ปี 60 และปี 61 และศาลอุทธรณ์ภาค 3 ปี 63 คือเพิกถอนที่ดินเขากระโดง แต่กรมที่ดินกลับมีคำสั่งไม่เพิกถอน
และแวดวงสังคมมองว่า เขากระโดงปัจจุบันเป็นย่านเศรษฐกิจสำคัญของเมืองบุรีรัมย์ และมีธุรกิจต่างๆ เกิดขึ้น จำนวนมาก ทั้งสนามแข่งรถ สนามฟุตบอลขนาดใหญ่ โรงแรม ที่อยู่อาศัย ชุมชนขนาดใหญ่ และ เป็นที่ตั้งของบ้านใหญ่บุรีรัมย์ หากเพิกถอนแน่นอนการฟ้องร้องจะมาเป็นขบวน
งานนี้ทำให้สังคมเกิดเสียงอื้ออึงว่า กรมที่ดินถูกคลื่นแทรกจากกระทรวงมหาดไทยหรือไม่
ร้อนถึง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงมหาดไทย ออกมา ยืนยันไม่มีฟอกขาว คดีเขากระโดง ไม่มีแทรกแซง และ ยอมรับว่า "ตระกูลชิดชอบ" มีที่ดินในเขากระโดง 300 ไร่ ซึ่งขอให้เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย
แต่เท่าที่ฟังหลายเสียงทั้ง นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รมว.กระทรวงยุติธรรม มีความเห็นว่า ที่ดินเขากระโดง ต้องยึดคำพิพากษาของศาล และต้องการให้ทั้งกรมที่ดิน และ การรถไฟ หันหน้าเจรจาร่วมกัน
เพราะทั้งสองฝ่ายต่างเลือกหยิบเอกสารหลักฐานคนละใบมาสู้กัน!!
Back to top
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 44161
Location: NECTEC
Posted: 19/11/2024 9:50 am Post subject:
หนังสืออุทธรณ์ฉบับเต็ม รฟท. เปิดโปง ตั้งคก.สอบที่ดินเขากระโดง ไม่ชอบ(จบ)
ฐานเศรษฐกิจ
เผยแพร่: วันอังคาร ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เวลา 09:00 น.
อัปเดตล่าสุด : วันอังคาร ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เวลา 09:17 น.
การรถไฟฯ เปิดโปง คำสั่งกรมที่ดินไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังแต่งตั้งกรรมการเพียง 4 คน ขาดผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทำให้มติไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ทับซ้อนที่ดินรถไฟไม่มีผลบังคับใช้
ประเด็นร้อนที่ดินเขากระโดง หนังสืออุทธรณ์คำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่ออกทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟฯ บริเวณแยกเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ที่นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ส่งให้อธิบดีกรมที่ดิน ตอนหนึ่งระบุชัดเจนว่า กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดินไม่มีอำนาจวินิจฉัยแตกต่างจากคำพิพากษาศาล
ที่สำคัญระบุชัดว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนที่มีกรรมการเพียง 4 คน ขาดผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทำให้องค์ประกอบไม่ครบถ้วนตามกฎกระทรวง จึงขอให้เพิกถอนคำสั่งและมติคณะกรรมการสอบสวนที่ไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ดังกล่าว พร้อมดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลทุกชั้น
ต่อไปนี้คือรายละเอียดหนังสืออุทธรณ์คำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่นายวีริศ อัมระปาล ยื่นต่ออธิบดีกรมที่ดิน
การรถไฟแห่งประเทศไทยขอเรียนว่า ตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 ได้วินิจฉัยตอนหนึ่งว่า เมื่อกรมที่ดินเป็นหน่วยงานทางปกครองประเภทกรม ในสังกัดของ กระทรวงมหาดไทย และมีหน้าที่ตามที่ปรากฏในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2557 ซึ่งกำหนดไว้ในข้อ 2ว่า ให้กรมที่ดินมีภารกิจเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิที่ดินของบุคคลและจัดการ ที่ดินของรัฐ... และข้อ 18 กำหนดว่า สำนักจัดการที่ดินของรัฐมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (1)...
(2) ดำเนินการ เกี่ยวกับการคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ตาม ประมวลกฎหมายที่ดิน.....
จากข้อกำหนดในกฎกระทรวงดังกล่าว จึงเห็นได้ว่า กรมที่ดินมีภารกิจหน้าที่ในการ คุ้มครองดูแลและรักษาที่ดินของรัฐทุกประเภท และอธิบดีกรมที่ดิน ในฐานะผู้บังคับบัญชาก็ย่อมมีหน้าในการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ให้สำเร็จลุล่วงตามภารกิจที่ถูกกำหนดไว้ เมื่อคำพิพากษา ศาลฎีกาที่ 842-476/2560 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563
ได้วินิจฉัยไว้อย่างชัดแจ้งว่า ที่ดินตาม แผนที่แสดงเขตร์ที่ดินของกรมรถไฟ ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ตำบลเขากระโดง จังหวัดบุรีรำ กิโลเมตร์ 374+650 เป็นส่วนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟต่อจากนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ลง วันที่ 8 พฤศจิกายน 2462
เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียง หินบริเวณเขากระโดง จึงถือได้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ที่ดิน บริเวณทางแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ได้มาตามพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พระพุทธศักราช 2464 และถือ เป็นที่ดินของรัฐประเภทหนึ่ง กรมที่ดินจึงมีหน้าที่ในการคุ้มครองและป้องกันที่ดินบริเวณดังกล่าว
และศาลปกครองกลางยังวินิจฉัยต่อไปว่า ประกอบกับเมื่อมีข้อเท็จจริงที่มีผลเกี่ยวเนื่องจาก คำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองคดีดังกล่าวว่า อธิบดีกรมที่ดินได้มีคำสั่งกรมที่ดินที่ 2992/2564 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 แก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) เลขที่ 200 หมู่ที่ 4 (ปัจจุบันเป็นหมู่ที่ 13) ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ดำเนินการยกเลิกใบไต่สวน พร้อมจำหน่าย ส.ค.1 เลขที่ 209 หมู่ที่ 1 ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ออกจากทะเบียน การครอบครองที่ดิน และยกเลิกเรื่องการขอออกโฉนดที่ดิน จำนวน 40 ฉบับของประชาชนจำนวนสิบห้าราย ตามผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560
รวมทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็ได้มีคำพิพากษายืนตามคำ พิพากษาศาลจังหวัดบุรีรัมย์ และเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 206 ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งที่ดินทั้งหมดเกิดขึ้นในพื้นที่ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยกล่าวอ้างว่าเป็น การออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินทับซ้อนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย
แม้ในคำพิพากษาของศาลฎีกา ทั้งสองคดี และ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะไม่ได้วินิจฉัยให้เพิกถอนที่ดินแปลงอื่นๆ นอกเหนือจาก ที่ปรากฏเป็นข้อพิพาท ในคดีก็ตาม แต่คำพิพากษาดังกล่าวก็ได้วินิจฉัยอย่างชัดแจ้งถึงความเป็นเจ้าของ กรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย
การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงสามารถใช้ยันบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่ บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดังกล่าว อีกทั้งที่ดินตามที่ศาลมีคำพิพากษาดังกล่าวถึงมีฐานะเป็น ที่ดินของรัฐ ซึ่งสามารถใช้จัดทำบริการสาธารณะให้แก่ประชาชน โดยทั่วไปได้ หาใช่มีผลผูกพันเฉพาะคู่ความ ในคดีตามมาตรา 145 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามที่กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดินกล่าว อ้างแต่อย่างใดไม่
จากคำพิพากษาของศาลปกครองกลางข้างต้นเห็นได้ว่า ได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับสถานะของ ที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง ที่สอดคล้องกับคำพิพากษาศาลฎีกา และคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า ที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง เป็นที่ดินกรรมสิทธิของการรถไฟแห่งประเทศไทย
ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นที่ยุติ แล้วว่าที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิของการรถไฟแห่งประเทศไทย กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดิน ไม่มีอำนาจ หรือดุลพินิจไปวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นซึ่งต่างไปจากคำพิพากษาของศาลได้อีก
คงมีเพียงต้องปฏิบัติให้เป็นไปตาม คำพิพากษาศาลปกครองกลางที่กำหนดให้อธิบดีกรมที่ดินดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินเพื่อดำเนินการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับซ้อนที่ดินกรรมสิทธิ ของการรถไฟแห่งประเทศไทยเท่านั้น
แต่เมื่อกรมที่ดินโตยอธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิ ในที่ดินดังกล่าว ตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวน จึงถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ
เมื่อกรมที่ดินเป็นผู้ออกเอกสารแสดงในที่ดินทับซ้อนกรรมสิทธิของการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งถือเป็นความ บกพร่องของกรมที่ดินที่ไม่ตรวจสอบระมัดระวังในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ เมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้น และคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลจนศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด รวมถึงศาลปกครองกลางก็ได้มีคำพิพากษายืนยันสิทธิในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยแล้ว
กรมที่ดินโดยอธิบดี กรมที่ดินยังละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่เพื่อคุ้มครองรักษาที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อประโยชน์ของรัฐ และเมื่อศาลปกครองกลางได้กำหนดแนวทางและวิธีดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา
คณะกรรมการสอบสวนที่ตั้งขึ้นโดยอธิบดีกรมที่ดินกลับมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามรูปแบบ ขั้นตอน และวิธีการที่กำหนดไว้ กลับเสนอความเห็นให้อธิบดีกรมที่ดินไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินอีกทั้งยังสั่งให้ยุติเรื่องดังกล่าว
การกระทำและพฤติกรรมการปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจดังกล่าวของคณะกรรมการสอบสวนและอธิบดี กรมที่ดิน จึงเห็นได้โดยชัดเจนว่าเป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ และ อาจเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิที่มุ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่การรถไฟ แห่งประเทศไทย คำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินตามหนังสือกรมที่ดินที่ มท 0516.2(2)/22162 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2567 และมติของคณะกรรมการสอบสวนจึงเป็นคำสั่งและการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นอกจากนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติตามคำพิพากษาของศาลแล้วว่า ที่ดินบริเวณเขากระโดงที่มีการออกเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินเป็นกรรมสิทธิของการรถไฟแห่งประเทศไทย แต่กรมที่ดินกลับ เห็นว่า การออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในท้องที่ตำบลเสม็ด และตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนดนั้น
เมื่อที่ดินบริเวณ ดังกล่าว การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มาตามพระราชกฤษฎีกาจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงจัดการสร้างฉบับลง วันที่ 7 พฤศจิกายน 2464 ซึ่งหวงห้ามที่ดินไว้ใช้ประโยชน์แห่งการรถไฟและมีอยู่ก่อนประมวลกฎหมายที่ดิน
การที่กรมที่ดินออกเอกสารสิทธิในที่ดินบริเวณดังกล่าวจึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 10 แห่ง พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ซึ่งให้คงเป็นที่หวงห้ามต่อไป
ข้อ 3 ปัญหาความชอบด้วยกฎหมายของการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และการแจ้งคำสั่งทางปกครอง เมื่อพิจารณาตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนฯ พ.ศ. 2553 ข้อ 2 (1) (ข) กำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมาย ที่ดินกรณีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายสำหรับจังหวัดอื่น
ต้องประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ที่ดินจังหวัดหรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสาขา หรือข้าราชการ สังกัดกรมที่ดินที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ซึ่งดำรงตำแหน่งรองอธิบดี หรือผู้ตรวจราชการกรมที่ดิน เห็นสมควร เป็นประธานกรรมการ นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ ตัวแทนคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ และผู้แทนส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามที่เห็นสมควร เป็นกรรมการและให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ซึ่งดำรงตำแหน่งรองอธิบดี ผู้ตรวจ ราชการกรมที่ดินแต่งตั้งข้าราชการ ซึ่งดำรงตำแหน่งประเภททั่วไป ตั้งแต่ระดับชำนาญงานขึ้นไป หรือ ข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ตั้งแต่ระดับชำนาญการขึ้นไปในสำนักงานที่ดินจังหวัดหรือ สำนักงานที่ดินจังหวัดสาขาเป็นกรรมการและเลขานุการ
เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของคณะกรรมการสอบสวนตามข้อ 2(1) (ข) ของกฎกระทรวง ข้างต้นแล้ว จะเห็นได้ว่าคณะกรรมการสอบสวนอย่างน้อยต้องประกอบด้วยประธานกรรมการ และกรรมการ รวม 5 คน แต่ตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 1395 -1196/2566 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ได้แต่งตั้ง กรรมการเพียง 4 คนเท่านั้น โดยขาดกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
ทำให้องค์ประกอบของคณะกรรมการสอบสวนไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ เมื่อการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนไม่เป็นไปตามที่ กฎกระทรวงกำหนดไว้ ย่อมทำให้คณะกรรมการสอบสวนไม่อาจพิจารณาและมีมติใดๆ ได้ มติคณะกรรมการ สอบสวนที่เห็นควรไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินและสั่งให้ยุติเรื่อง จึงไม่มีผลผูกพันและไม่อาจใช้บังคับได้
อธิบดีกรมที่ดินจึงต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาดำเนินการใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาของ ศาลปกครองกลางต่อไป
นอกจากนี้ คำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินที่ไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินตามหนังสือ กรมที่ดินที่ มท.0516.2 (2)22162 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2567 เป็นคำสั่งทางปกครองที่อาจอุทธรณ์หรือ โต้แย้งต่อไปได้ แต่ในคำสั่งดังกล่าวไม่ได้ระบุกรณีที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้งได้
กลับระบุเพียง หากการรถไฟ แห่งประเทศไทยเห็นว่ามีสิทธิ์ในที่ดินดีกว่าก็เป็นเรื่องที่ผู้มีสิทธิในที่ดินจะต้องไปดำเนินการเพื่อพิสูจน์สิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรมทางศาลต่อไป ซึ่งเป็นเพียงการแจ้งสิทธิให้ไปฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่ถือเอกสารแสดงสิทธิ์ในที่ดินที่ออกทับซ้อนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยเท่านั้น ไม่ใช่การแจ้งสิทธิเพื่ออุทธรณ์หรือโต้แย้ง คำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน ตามความในมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
ดังนั้น คำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมิได้ปฏิบัติให้ ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน และวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้
การรถไฟแห่งประเทศไทยขอเรียนสรุปว่า การเวนคืนที่ดินตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยกรมรถไฟหลวงเริ่มลงมือตรวจแนวทางรถไฟเป็นไปตามพระราชโองการตั้งแต่ปี พ.ศ.2462 เพื่อเชื่อมต่อ กับทางรถไฟที่มีอยู่แล้วที่ จังหวัดนครราชสีมา
ต่อมาในปี พ.ศ.2463 กรมรถไฟหลวงได้ทำการสำรวจเส้นทาง รถไฟแน่นอนแล้วตั้งแต่สถานีรถไฟนครราชสีมาถึงตำบลท่าช้างจังหวัดนครราชสีมาเป็นช่วงแรก จึงได้มีการตรา พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสาย ตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ฉบับลงวันที่ 20 สิงหาคม 2463
โดยได้กำหนดให้กรม รถไฟหลวงทำแผนที่แสดงเขตร์ที่ดิน และคัดสำเนาเนาบัญชีรายชื่อท้ายพระราชกฤษฎีกาพร้อมด้วยแผนที่มอบ ไว้ ณ ที่ทำการกรมรถไฟหลวงในพระนคร ที่กระทรวงเกษตราธิการที่หอทะเบียนที่ดินทุก ๆ จังหวัด และที่ว่า การอำเภอ ซึ่งที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่
ต่อมาในปี พ.ศ. 2464 กรมรถไฟหลวงได้ทำการสำรวจ เส้นทางรถไฟแน่นอนแล้วตั้งแต่ตำบลท่าช้าง จังหวัดนครราชสีมา ถึงจังจังหวัดสุรินทร์ อีกตอนหนึ่ง และได้มี การทำแผนที่แสดงแนวแขตที่ดินของกรมรถไฟไว้โดยชัดแจ้งแล้ว จึงได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการ จัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรด เกล้าฯ ให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง ฉบับลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2464
กรมรถไฟหลวงจึงได้กรรมสิทธิ์ที่ดิน ในทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดจนทางรถไฟสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี รวมทั้งที่ดินสองข้าง ทางรถไฟในท้องที่จังหวัดบุรีรัมย์มาโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวง ต่อจากนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ฉบับลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2466
พระราชกฤษฎีกาจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงจัดการสร้าง ฉบับลงวันที่ 20 สิงหาคม 2463
พระราชกฤษฎีกาจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงจัดการสร้างฉบับลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2464 พร้อมแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา ซึ่งได้บัญญัติให้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน และ อสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมรถไฟหลวง
ดังนั้น เมื่อการถไฟแห่งประเทศไทยรับโอนทรัพย์สิน ทั้งหลายจากกรมรถไฟหลวง การถไฟแห่งประเทศไทยจึงได้กรรมสิทธิ์ ที่ดินในทางรถไฟสาย ตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดจนทางรถไฟสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี รวมทั้งที่ดินสองข้างทางรถไฟใน ท้องที่จังหวัดบุรีรัมย์มาตามกฎหมาย ทั้งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ย่อมมีผลผูกพันพลเมืองในราชอาณาจักรไทยเป็นการทั่วไป
กฎหมายดังกล่าว ยังเป็นพยานหลักฐานยืนยันการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ของ ที่ดินการถไฟแห่งประเทศไทยตลอดจนตำแหน่งที่ตั้งซึ่งมีความชัดเจนเป็นที่ยุติแล้ว และมีความแน่นอนในนิติ ฐานะยิ่งกว่าเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ประเภทใด ๆ ตามประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งบัญญัติขึ้นภายหลัง
การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงขอให้อธิบดีกรมที่ดินและผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจวินิจฉัย อุทธรณ์ ได้โปรดมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินตามหนังสือกรมที่ดินที่ มท 0516.2(2)/22162 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2567 เรื่อง การเพิกถอนหนังสือการแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับซ้อนกับที่ดินของ การรถไฟแห่งประเทศไทย และเพิกถอนมติของคณะกรรมการสอบสวนตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 1199-1196/2566 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ที่ได้มีความเห็นและมติไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินที่ ออกทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย
และมีคำสั่งให้กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดินปฏิบัติให้ เป็นไปตามคำพิพากษาของ ศาลฎีกาที่ 842-876/2560 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 หมายเลขแดงที่ 1112/2563 และ คำพิพากษาศาลปกครองกลางคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 โดยการมี คำสั่งเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินทุกแปลงที่ออกทับซ้อนที่ดินกรรมสิทธิของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยให้ปฏิบัติตามข้อสังเกตของศาลปกครองกลางในคดีดังกล่าวอย่างเคร่งครัดด้วย
ทั้งนี้ หากท่านพิจารณาแล้วไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิต่าง ๆ ในที่ดินที่ออกทับซ้อนกับที่ดินของ การรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่าที่ดินในบริเวณแยกเขากระโดงเป็นที่ดินรถไฟ ขอให้ แจ้งยืนยันผลการพิจารณาโดยชัดแจ้งให้การรถไฟแห่งประเทศไทยทราบด้วยจึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ
(นายวีริศ อัมระปาล)
ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย
Wisarut wrote: หนังสืออุทธรณ์ฉบับเต็ม รฟท.อัดกรมที่ดินใช้ดุลพินิจมิชอบคดีเขากระโดง (1)
ฐานเศรษฐกิจ
เผยแพร่: วันพฤหัสบดี ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เวลา 15:53 น.
อัปเดตล่าสุด : วันศุกร์ ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เวลา 16:19 น.
เปิดหนังสืออุทธรณ์ ผู้ว่าฯ รฟท. ยื่นคัดค้านกรมที่ดินกรณีไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ทับซ้อนบริเวณเขากระโดง ระบุอัดเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ พร้อมยกคำพิพากษาศาลฎีกายืนยันกรรมสิทธิ์ (1)
หนังสืออุทธรณ์ฉบับเต็ม รฟท. ยกคำพิพากษาศาลฎีกา ยืนยันสิทธิ์เขากระโดง(2)
เผยแพร่: วันศุกร์ ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เวลา 05:39 น.
อัปเดตล่าสุด : วันศุกร์ ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เวลา 16:18 น.
เปิดหนังสืออุทธรณ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ที่ยื่นคัดค้านกรมที่ดิน โดยตอนหนึ่ง ได้ยก คำพิพากษาศาลฎีกา พร้อมหลักฐานประวัติศาสตร์ย้อนหลัง 90 ปี ตั้งแต่ "การปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์" ยืนยันกรรมสิทธิ์ที่ดินเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์
อ่านต่อฉบับเต็ม(2) หนังสืออุทธรณ์ ที่ นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ส่งถึง อธิบดีกรมที่ดิน กรณีคดีที่ดินเขากระโดง เมื่อ 14 พ.ย. 2567 ซึ่งหนังสือมีทั้งหมดจำนวน 20 หน้า
หนังสืออุทธรณ์ฉบับเต็ม : คำพิพากษา 2 ศาล ที่ดินเขากระโดงเป็นสิทธิ์รฟท.(3)
เผยแพร่: วันศุกร์ ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เวลา 14:54 น.
อัปเดตล่าสุด : วันจันทร์ ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เวลา 18:48 น.
เปิดข้อเท็จจริงสำคัญในหนังสืออุทธรณ์ฉบับเต็ม ของ รฟท. ถึง กรมที่ดิน ยกคำพิพากษาอีก 2 ศาล คือ ศาลอุทธรณ์ภาค3 และ ศาลปกครองกลาง ชี้ชัดที่ดินบริเวณเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ เป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยบนที่ดินหลวงตาม พ.ร.บ. ปี 2464 (3)
หนังสืออุทธรณ์ฉบับเต็ม(3) ที่ วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)" ยื่นหนังสืออุทธรณ์ถึงอธิบดีกรมที่ดิน กรณีมีคำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณทางแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ หรือคดีที่ดินเขากระโดง
หนังสืออุทธรณ์ฉบับเต็ม : รฟท. ชี้ชัดกรมที่ดิน ใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ (4)
ฐานเศรษฐกิจ
เผยแพร่: วันจันทร์ ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เวลา 19:20 น.
อัปเดตล่าสุด : วันจันทร์ ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เวลา 19:58 น.
เปิดหนังสืออุทธรณ์ ผู้ว่าฯ รฟท. ยื่นคัดค้านกรมที่ดินกรณีไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ทับซ้อนบริเวณเขากระโดง รฟท. ชี้ชัดกรมที่ดิน ใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ (4)
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งกรมที่ดินที่ไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินบริเวณเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ชี้การใช้ดุลพินิจไม่ชอบ ขัดคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลปกครอง พร้อมยืนยันกรรมสิทธิ์ที่ดินตามกฎหมายและการใช้ประโยชน์มาแต่เดิม
Back to top
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 44161
Location: NECTEC
Posted: 19/11/2024 3:14 pm Post subject:
SRTA เตรียมจ้างประเมินมูลค่าที่ดินเซ็นทรัลลาดพร้าวสำรวจพื้นที่ร้านค้า-โรงแรมก่อนเจรจาต่อสัญญารอบใหม่
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เผยแพร่: วันอังคาร ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เวลา 07:04 น.
ปรับปรุง: วันอังคาร ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เวลา 07:04 น.
SRTA เตรียมจ้างที่ปรึกษาประเมินมูลค่าที่ดินและทรัพย์สิน บริเวณสามเหลี่ยมย่านพหลโยธิน (เซ็นทรัลลาดพร้าว) ตั้งงบกว่า 4 ล้านบาท สำรวจพื้นที่ค้าขายแบบละเอียดทั้งห้างฯและโรงแรม 47 ไร่ ก่อนเคาะผลตอบแทนและระยะเวลาสัญญารอบใหม่
พ.ต.อ.ศุภกร ศุภศิณเจริญ กรรมการบริษัท รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) เปิดเผยว่า หลังจากที่ SRTA ได้รับมอบแฟ้มสัญญาเช่า และการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Non Core) จากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อย่างเป็นทางการได้เดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพย์สินของการรถไฟฯที่เป็นที่ดินเชิงพาณิชย์ (Non Core) ทั้งหมด 38,469 ไร่ซึ่งมี จำนวน 12,233 สัญญา ทั้งที่สัญญายังไม่สิ้นสุด และสิ้นสุดให้เกิดรายได้ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)
สำหรับที่ดินแปลใหญ่ที่ใกล้จะหมดสัญญา เช่น ที่ดินบริเวณสามเหลี่ยมย่านพหลโยธิน ซึ่งสัญญาจะสิ้นสุดในเดือน ธันวาคม 2571 นั้น โดยเมื่อต้นปี 2567 บริษัท เซ็นทรัลอินเตอร์พัฒนา จำกัด ได้ทำหนังสือถึงรฟท.แจ้งความประสงค์ขอต่อสัญญามาที่รฟท.แล้วนั้น ในส่วนของ SRTA ในฐานะบริษัทลูกที่เข้ามารับหน้าที่บริหารที่ดินนั้น ได้เตรียมแผนในการจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อประเมินมูลค่าที่ดินและทรัพย์สิน บริเวณสามเหลี่ยมย่านพหลโยธิน โดยตั้งงบ จ้างที่ปรึกษาไว้กว่า 4 ล้านบาท
พ.ต.อ.ศุภกร กล่าวว่า การพิจารณา สัญญาเช่าใช้ประโยชน์ศูนย์การค้าบริเวณสามเหลี่ยมย่านพหลโยธิน (เซ็นทรัลลาดพร้าว) นั้น ยอมรับว่ามีความซับซ้อนมาก มีรายละเอียดมาก เพราะเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ และมีโรงแรมด้วย และทำเลเป็นพื้นที่มีมูลค่าสูง ดังนั้น บริษัทที่ปรึกษา จะต้องสำรวจพื้นที่ และประเมินทรัพย์สินว่า มีพื้นที่ขายแค่ไหน อย่างไร แต่ละพื้นที่มีการสร้างประโยชน์อย่างไร ต้องประเมินออกมาอย่างละเอียด
ปัจจุบันมูลค่าทรัพย์สินและที่ดินบริเวณดังกล่าวเพิ่มขึ้น ดังนั้นต้องรอให้ที่ปรึกษาประเมินตัวเลขรอบใหม่ออกมาก่อน ทั้งอัตราผลตอบแทน ระยะเวลาสัญญาที่เหมาะสม จากนั้นจะนำรายละเอียดเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) SRTA ที่มีพล.ต.อ.จารุวัฒน์ ไวศยะ เป็นประธาน เพื่อพิจารณา แล้วจึงจะมีการตั้งคณะกรรมการเจรจากับเซ็นทรัลฯต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า ปัจจุบัน สัญญาเช่าสิทธิใช้ประโยชน์ศูนย์การค้าบริเวณสามเหลี่ยมย่านพหลโยธินจำนวนพื้นที่ 47.22 ไร่ ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย กับ บริษัท เซ็นทรัลอินเตอร์พัฒนา จำกัด ประกอบด้วยห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว โซนพลาซ่า โรงแรม ศูนย์ประชุม และอาคารสำนักงาน สัญญากรอบระยะเวลาการใช้ประโยชน์ 20 ปี (วันที่ 19 ธันวาคม 2551 18 ธันวาคม 2571)
เนื่องจากเป็นสัญญาที่มีมูลค่าสูง กรณีที่มีความประสงค์จะต่อสัญญานั้น สามารถยื่นแจ้งความจำนงค์ ขอต่อสัญญา ได้ก่อนสัญญาเดิมจะหมดอายุ 3 ปี ซึ่ง ทางบริษัท เซ็นทรัลอินเตอร์พัฒนาฯได้มีหนังสือถึงรฟท.มาแล้วเมื่อต้นปี 2567 ที่ผ่านมา หลังจากนี้มีเวลา 3-4 ปี ที่ SRTA จะต้องมีการศึกษารายละเอียด ก่อนที่จะมีการเจรจากับ ทางเซ็นทรัลต่อไป
สำหรับสัญญาสัญญาเช่าสิทธิใช้ประโยชน์ศูนย์การค้าบริเวณสามเหลี่ยมย่านพหลโยธิน ของเซ็นทรัลฯ นั้น เริ่มต้น ครั้งแรกเมื่อปี 2521 ระยะเวลา 30 ปี โดยสิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2551 จากนั้นได้เจรจาต่อสัญญาอีก 20 ปี ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2551 18 ธันวาคม 2571 โดยรฟท.ได้ผลตอบแทนคิดเป็นวงเงินรวมตลอดอายุสัญญา 21,298 ล้านบาท
ปัจจุบันสัญญาเหลือเวลา 4 ปี ขณะที่ค่าเช่าที่เหลือ ซึ่งเซ็นทรัลต้องจ่ายตามสัญญานั้น ในปี 2567 จำนวน 1,387.603 ล้านบาท ปี 2568 จำนวน 1,470.859 ล้านบาท ปี 2569 จำนวน 1,559.111 ล้านบาท ปี 2570 จำนวน 1,652.658 ล้านบาท และปี 2571 จำนวน 1,751.817 ล้านบาท
Back to top
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 44161
Location: NECTEC
Posted: 19/11/2024 8:09 pm Post subject:
สุริยะ เล็งให้เช่าที่ดินเขากระโดง หากเคลียร์ชัดว่าที่ดินเป็นของ ร.ฟ.ท.
การเมือง
เผยแพร่: วันอังคาร ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เวลา 11:39 น.
สุริยะยันที่ดินของ ร.ฟ.ท. เป็นของการรถไฟฯ ยกหนังสือโต้แย้งกรมที่ดิน 20 หน้า มีรายละเอียดชัด เล็งเปิดเช่า หากพิสูจน์แล้วว่าเป็นที่ดินของ ร.ฟ.ท.
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าภายหลังการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดิน อุทธรณ์คำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิที่ดินเขากระโดง ว่าขอย้ำอีกครั้ง ร.ฟ.ท.ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ซึ่งที่ดินตรงนี้เป็นที่ดินของ ร.ฟ.ท. เมื่ออธิบดีกรมที่ดินวินิจฉัยต่างออกมา ร.ฟ.ท.ก็ทำหนังสือไปโต้แย้ง และดำเนินการเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบว่าเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร
เมื่อถามว่ามีกระแสข่าวจากกรมที่ดิน กรณีดังกล่าวให้ไปฟ้องกับศาลแพ่ง เพื่อดำเนินการกับผู้ครองครองหรือบุกรุก 900 แปลง นายสุริยะกล่าวว่า ร.ฟ.ท.ได้ประชุมบอร์ดเพื่อให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณา ใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือนน่าจะฟ้องร้อง ซึ่งเรื่องนี้เป็นอีกกรณีหนึ่ง
เมื่อถามว่า มีหลักฐานชัดเจนใช่หรือไม่ว่าที่ดินบริเวณเขากระโดงเป็นที่ของ ร.ฟ.ท. นายสุริยะกล่าวว่าที่ดินเป็นของการรถไฟฯ แน่นอน สื่อไปตรวจสอบดูได้ในหนังสือโต้แย้ง 20 กว่าหน้า มีการระบุรายละเอียดชัดเจน
เมื่อถามว่าสนามแข่งรถและสนามฟุตบอลอยู่ในพื้นที่ของการรถไฟฯ ใช่หรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าตรงนั้นครอบคลุมไปอย่างไร ซึ่งตนไม่ได้ดูในรายละเอียด
เมื่อถามว่า หากอธิบดีกรมที่ดินไม่เพิกถอนที่ดินเขากระโดงจะดำเนินการอย่างไร นายสุริยะกล่าวว่าขอรอดูคำตอบก่อน
เมื่อถามว่า หากอธิบดีกรมที่ดินยังไม่ดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลให้เพิกถอน กระทรวงคมนาคมจะดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีตาม ม.157 หรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า เมื่อเช้าเพิ่งได้คุยกับผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. แต่ตนไม่อยากขยายความ
เมื่อถามว่า มีทางออกรองรับหรือไม่ ว่าให้ผู้บุกรุกมาเช่าที่ดินกับ ร.ฟ.ท.แทน นายสุริยะกล่าวว่า ถือเป็นแนวทางที่กฤษฎีกานำเสนอ
เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้เลขาฯกฤษฎีกา และให้กรมที่ดินและการรถไฟฯ จับเข่าคุยกันเพื่อลดความขัดแย้ง นายสุริยะกล่าวว่าตอนนี้ต้องทำตามกฎหมายก่อน หากในเรื่องของกฎหมายชัดเจนแล้ว ว่าที่ดินเป็นของการรถไฟฯ จะไปให้เช่าหรือไม่อย่างไรก็ว่ากันต่อไป
เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ว่าเรื่องนี้จะถูกโยงเป็นเรื่องการเมือง แม้จะอ้างเป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายปฏิบัติ นายสุริยะกล่าวว่าไม่ได้กังวลเลย เพราะเป็นการทำแบบตรงไปตรงมา ถ้าไม่ทำตนและ ร.ฟ.ท.จะถูกดำเนินคดีตาม ม.157
เมื่อถามว่านายสมชาย แสวงการ อดีต สว.ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ให้เพิกถอนกรรมสิทธิ์ที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ เป็นการเอาคืนหรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า ตนคิดว่าเรื่องที่ดินอัลไพน์ถ้าผิดกฎหมายก็ว่ากันไป แต่เบื้องต้นตนคิดว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะใช่เรื่องผิดกฎหมาย. : https://www.prachachat.net/politics/news-1697952
Back to top
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 44161
Location: NECTEC
Posted: 22/11/2024 9:28 am Post subject:
กรมที่ดินยัน ผลสอบคณะกรรมการ ม.61 "เขากระโดง" เป็นไปตามคำพิพากษาศาล -กฎหมาย
ฐานเศรษฐกิจ
เผยแพร่: วันจันทร์ ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เวลา 10:34 น.
อัปเดตล่าสุด : วันจันทร์ ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เวลา 11:02 น.
กรมที่ดิน ชี้แจง ผลการสอบสวนคณะกรรมการฯมาตรา 61 "เขากระโดง" เป็นไปตามคำพิพากษาศาลยุติธรรม -ศาลปกครองกลาง -กฎหมายที่เกี่ยวข้องครบถ้วน
ตามที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนว่า คณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินบริเวณเขากระโดง นั้น กรมที่ดิน ขอเรียนชี้แจง ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1.การดำเนินการตามคำพิพากษาศาลยุติธรรม จำนวน 3 คดี
1.1 ประเด็นการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842 876/2560 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นกรณีที่ราษฎร จำนวน 35 ราย เป็นโจทก์ฟ้องการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื่องจากโจทก์ทั้ง 35 ราย ได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดิน ต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ การรถไฟฯ คัดค้านการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นที่ดินของการรถไฟฯ
ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่า พยานหลักฐานของโจทก์ทั้ง 35 ราย รับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้ง 35 ราย มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทในอันที่จะขอออกโฉนดที่ดินได้ กรมที่ดินได้แจ้งให้จังหวัดบุรีรัมย์ดำเนินการยกเลิกใบไต่สวนของราษฎร จำนวน 35 ราย ที่ฟ้องคดี พร้อมทั้งจำหน่าย ส.ค. 1 ออกจากทะเบียนการครอบครองที่ดินแล้ว
1.2 ประเด็นการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 เป็นกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื่องจากโจทก์ได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์
การรถไฟฯ คัดค้านการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นที่ดินของการรถไฟฯ โดยศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท อธิบดีกรมที่ดินได้มีคำสั่ง ที่ 2992/2564 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 ให้แก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ใน น.ส. 3 ข. เลขที่ 200 หมู่ที่ 9 ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ (บางส่วน) ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน แล้ว
1.3 ประเด็นการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 ลงวันที่ 22 เมษายน 2563 เป็นกรณีที่การรถไฟฯ เป็นโจทก์ฟ้องราษฎร เรื่อง ขับไล่ เพิกถอนโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3
ได้มีคำพิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 2971, 5272 และ น.ส. 3 เลขที่ 206 หมู่ที่ 9 ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ การรถไฟฯ ได้แจ้งให้กรมที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาของศาล ซึ่งกรมที่ดินได้แจ้งให้จังหวัดบุรีรัมย์ดำเนินการหมายเหตุการเพิกถอนโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 แล้ว
ทั้ง 3 คดี ตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรม กรมที่ดินได้ดำเนินการครบถ้วนแล้ว ซึ่งคำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ
ให้ถือว่าผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีของศาลที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ตามนัยมาตรา 145 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
โดยกรมที่ดินไม่ได้เข้าไปเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวแต่อย่างใด
2.การดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครอง
ประเด็นการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2566 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา โดยให้การรถไฟฯ (ผู้ฟ้องคดี) ร่วมกับคณะกรรมการสอบสวนฯ ทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง เพื่อหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของการรถไฟฯ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาและ
ศาลอุทธรณ์ ภาค ๓ ซึ่งอธิบดีกรมที่ดิน ได้มีคำสั่งที่ 1195 1196/2566 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางดังกล่าวแล้ว
และคณะกรรมการสอบสวนฯ ตาม ม.61 ได้กำหนดกรอบแนวทางในการรังวัดเพื่อตรวจสอบหาแนวทางเขตที่ดินของทางรถไฟแห่งประเทศไทยบริเวณเขากระโดง ในการประชุมครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 โดยที่ประชุมได้ข้อยุติว่า
การดำเนินการรังวัดทำแผนที่ดังกล่าว กรมที่ดินต้องถือปฏิบัติตามระเบียบกรมที่ดิน ว่าด้วยการรับคำขอรังวัด การรังวัดและการเรียกค่าใช้จ่ายในการรังวัดเฉพาะราย พ.ศ. 2547 ซึ่งในการนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการยื่นคำขอรังวัดทำแผนที่บริเวณเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ และจะส่งข้อมูลค่าพิกัดกรอบพื้นที่บริเวณเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ให้คณะกรรมการสอบสวนภายในกรอบระยะเวลาต่อไป ซึ่งต่อมาคณะทำงานร่วมในการรังวัดได้รายงานสรุปผลการรังวัดนำชี้แนวเขตร่วมระหว่างสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ และการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยเป็นการรังวัดเพื่อตรวจสอบตำแหน่งขอบเขตโดยรอบและจัดทำแผนที่
ทางกายภาพเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการสอบสวนฯ ม. 61
3.ประเด็นการรับฟังพยานหลักฐานของคณะกรรมการสอบสวนฯ และกรมที่ดินพิจารณายุติเรื่อง
การสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนฯ ซึ่งได้ดำเนินการสอบสวนแล้ว ปรากฏว่า แผนที่ที่การรถไฟฯ กล่าวอ้าง
ซึ่งได้จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2539 เป็นการจัดทำขึ้นตามมติที่ประชุม กบร. จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน
ของเกษตรกรกลุ่มสมัชชาคนจน เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2539 โดยผู้ฟ้องคดีนำแผนที่ดังกล่าว ไปใช้ในการต่อสู้คดี
ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842 876/2560 และ ที่ 8027/2561 จึงไม่ใช่แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาว่าด้วย
การจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ พระพุทธศักราช 2464 ประกอบกับ
ตำแหน่งที่ตั้งและขอบเขตของที่ดินการรถไฟซึ่งมีการกล่าวอ้างว่ามีระยะทาง ๘ กิโลเมตร แต่จากการตรวจสอบรายงานผล
การถ่ายทอดแนวเขตที่ดินการรถไฟฯ ของคณะทำงานดำเนินการถ่ายทอดแนวเขตที่ดิน ตามคำสั่งกรมที่ดิน ที่ 681/2566
ซึ่งคณะทำงานฯ ได้ตรวจสอบทางรถไฟโดยใช้วิธีการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ ปี พ.ศ. 2497, พ.ศ. 2511, พ.ศ. 2529 และ พ.ศ. 2557 ปรากฏว่าทางรถไฟมีระยะทางประมาณ 6.2 กิโลเมตร และได้ลงสำรวจเส้นทางรถไฟในพื้นที่จริงด้วยการรังวัดค่าพิกัด
ด้วยเครื่องรับสัญญาณดาวเทียมแบบจลน์ (RTK) สามารถยืนยันตำแหน่งทางรถไฟที่ปรากฏในภาพถ่ายทางอากาศว่า ตรงกับตำแหน่งรางรถไฟบนที่ดินจริง ประกอบกับการตรวจสอบจากแผนที่ภูมิประเทศ ลำดับชุดที่ L 708 ซึ่งเป็นแผนที่ภูมิประเทศชุดแรก
ในประเทศไทยจัดทำโดยกรมแผนที่ทหาร (ในช่วง ปี พ.ศ. 2495 2500) มีความยาวของทางรถไฟประมาณ 6.2 กิโลเมตร เช่นกัน โดยมีข้อสังเกตที่สำคัญจากการดำเนินการของคณะทำงานดังกล่าวคือ จุดสิ้นสุดรางรถไฟในแต่ละชั้นปีที่ดำเนินการถ่ายทอดมีระยะสิ้นสุดไม่เท่ากันและมีความแตกต่างกันในช่วงปลายตั้งแต่หลักกิโลเมตรที่ ๖ ถึงจุดสิ้นสุด มีทิศทางที่แตกต่างกัน โดยหากพิจารณาจากรางรถไฟจริง จุดสิ้นสุดของกิโลเมตรที่ ๘ จะเบี่ยงไปทางด้านทิศตะวันออก และความกว้างของแนวเขตทางรถไฟ จากการตรวจสอบข้อมูลของคณะทำงานศึกษา แสวงหาหลักฐานและบูรณาการข้อมูลประวัติที่ดิน ตามคำสั่งกรมที่ดิน ที่ 91/2567 ลงวันที่ 18 มกราคม 2567 ที่ได้ศึกษาค้นคว้าเทียบเคียงจากพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้อง และจากหนังสือกระทรวงโยธาธิการ ฉบับลงวันที่ 27 สิงหาคม รัตนโกสินทรศก 127 สันนิษฐานได้ว่าการกำหนดเขตสร้างทางรถไฟจะมีการกำหนดไว้เพียงระยะข้างละ
ไม่เกิน 40 เมตร หรือ 20 วา สำหรับกรณีที่ศาลปกครองกลางตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา โดยให้การรถไฟฯ (ผู้ฟ้องคดี) ร่วมกับคณะกรรมการสอบสวนฯ ทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง เพื่อหาแนวเขตที่ดิน
ที่เป็นของการรถไฟฯ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ภาค 3 คณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่สามารถร่วมกับการรถไฟฯ เพื่อตรวจสอบแนวเขตรถไฟตามข้อสังเกตของศาลปกครองกลางได้ เนื่องจากเป็นการร่วมกับคู่กรณีในการพิจารณาทางปกครอง
ทำให้สูญเสียความเป็นกลางและมีผลทำให้ความเห็นหรือมติของคณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้ง
เมื่อพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแล้วเห็นว่า เป็นการดำเนินการไปตามขั้นตอนและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ประกอบกับเมื่อพิจารณาประเด็นคำคัดค้านพยานหลักฐานของผู้มีส่วนได้เสียแล้วเห็นว่า รับฟังได้ คณะกรรมการสอบสวนฯ
จึงมีมติยืนยันความเห็นว่าไม่สมควรที่จะเพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินด้วยมติเป็นเอกฉันท์ จนกว่าจะได้มีพยานหลักฐานที่สามารถใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติได้ รวมถึงเอกสารหลักฐานทางกฎหมายที่สามารถพิสูจน์กรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟฯ
ดังนั้น การดำเนินการรับฟังพยานหลักฐานของคณะกรรมการสอบสวนฯ เป็นไปด้วยความรอบคอบ และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โดยรับฟังทั้งพยานหลักฐานที่ปรากฏในการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม พยานหลักฐานของการรถไฟฯ และพยานหลักฐานที่คณะกรรมการสอบสวนฯ แสวงหามาประกอบการพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนฯ เห็นว่า พยานหลักฐานที่รวบรวมได้
ยังมีความแตกต่างกันในสาระสำคัญอันจะนำมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติได้ การที่จะนำพยานหลักฐานที่ยังไม่เป็นที่ยุติไปใช้ให้เกิดผลกระทบในทางเสียหายต่อสถานภาพของสิทธิและหน้าที่ของประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง
โดยเฉพาะการนำไปใช้ในการจัดทำคำสั่งทางปกครอง อาจส่งผลกระทบให้คำสั่งทางปกครองนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อพิจารณาผลการสอบสวนและความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนฯ ซึ่งเห็นว่ายังไม่มีพยานหลักฐานปรากฏชัดแจ้งเพียงพอให้รับฟังได้ว่า ได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายจะพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไข ตามนัย
ข้อ 12 ของกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๕๓ อธิบดีจึงได้เห็นชอบตามที่คณะกรรมการฯ เสนอยุติเรื่องในกรณีนี้ ตามความเห็นของ
คณะกรรมการฯ ที่ได้เสนอมา ว่ายังไม่มีพยานหลักฐานปรากฏชัดแจ้งเพียงพอให้รับฟังได้ว่า ได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายจะพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไข ตามนัยข้อ 12 ของกฎกระทรวง
กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. 2553 พร้อมทั้งแจ้งให้การรถไฟทราบว่า หากการรถไฟฯ เห็นว่าตนมีสิทธิในที่ดินดีกว่าก็เป็นเรื่องที่ผู้มีสิทธิในที่ดินจะต้องไปดำเนินการเพื่อพิสูจน์สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางศาลต่อไป
ได้กลิ่น...ไม่กล้าเสี่ยง
https://mgronline.com/pjkkuan/detail/9670000112059
Back to top
Mongwin
1st Class Pass (Air) Joined: 24/09/2007 Posts: 47668
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
Posted: 25/11/2024 12:40 pm Post subject:
กรมที่ดินยัน ไม่เพิกถอนโฉนดเขากระโดง ยึดตาม คณะกรรมการสอบสวน ม. 61 พร้อมแจ้ง รฟท.พิสูจน์สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางศาล
ผู้จัดการออนไลน์ 25 พ.ย. 2567 12:21
วันนี้(25 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมที่ดิน ได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยระบุ ตามที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนว่า คณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินบริเวณเขากระโดง นั้น กรมที่ดิน ขอเรียนชี้แจง ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1.การดำเนินการตามคำพิพากษาศาศาลยุติธรรม จำนวน 3 คดี 1.1 ประเด็นการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นกรณีที่ราษฎร จำนวน 35 ราย เป็นโจทก์ฟ้องการถารถไฟแห่งประเทศไทยเนื่องจากโจทก์ทั้ง 35 ราย ได้ยื่นคำขอออออกโฉนดที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดปรีรัมย์ การรถไฟฯ คัดค้านการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นที่ดินของการรถไฟฯ ซึ่งศาลฎีกาออกโฉนดที่ดินได้ กรมที่ดินได้แจ้งให้จังหวัดปรีรัมย์ดำเนินการยกเลิกใบไต่สวนของราษฎร จำนวน 35 ราย ที่ฟ้องคดี พร้อมทั้ง จำหน่าย ส.ค. 1 ออกจากทะเบียนการครอบครองที่ดินแล้ว
1.2 ประเด็นการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 เป็นกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องการรถไฟแฟแห่งประเทศไทย เนื่องจากโจทก์ได้ยื่นคำขออออกโฉนตที่ดินต่อสำนักงานที่ดิน จังหวัดบุรีรัมย์ การรถไฟฯ คัดค้านการออกโฉนตที่ตินดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นที่ดินของการถไฟฯ โดยศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท อธิบดีกรมที่ดินได้มีคำสั่ง ที่ 2992/2564 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 ให้แก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ใน น.ส. 3 ข. เลขที่ 200 หมู่ที่ 9 ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ (บางส่วน) ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน แล้ว
1.3 ประเด็นการดำเนินการตามคำพิพากษาศาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 ลงวันที่ 22 เมษายน 2563 เป็นกรณีที่การรถไฟฯ เป็นโจทก์ฟ้องราษฎร เรื่อง ขับไล่ เพิกถอนโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้มีคำพิพากษาว่าว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 2971 , 5272 และ น.ส. 3 เลขที่ 206 หมู่ที่ 9 ตำบลเสม็ด อำเภอเมื่อเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ การรถไฟฯ ได้แจ้งให้กรมที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษา ของศาล ซึ่งกรมที่ตินได้แจ้งให้จังหวัดบุรีรัมย์ ดำเนินการหมายเหตุการเพิกถอนโฉนตที่ดิน และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามดำพิพาพิษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 แล้ว
ทั้ง 3 คดี ตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรม กรมที่ดินได้ดำเนินการครบถ้วนแล้ว ซึ่งคำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆให้ถือว่าผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีของศาลที่มีคำพิพาพากษาหรือคำสั่งนั้น ตามนัยมาตรา 145 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยกรมที่ดินไม่ได้เข้าไปเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวแต่อย่างใด
2.การดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครอง ประเด็นการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 ลงวันที่ 30 มีนาคม ๒๕๖๖ ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสอบสวนตามความในมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด พร้อมทั้งตั้งตั้งสังเกต เกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา โดยให้การรถไฟฯ (ผู้ฟ้องคดี) ร่วมกับคณะกรรมการสอบสวนฯ ทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง เพื่อหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของการรถไฟฯ ตามคำพิพากษาศาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ภาค 3 ซึ่งอธิบดีกรมที่ดิน ได้มีคำสั่งที่ 1195 - 1196/2566 ละวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางดังกล่าวแล้ว
และคณะกรรมการสอบสวนฯ ตาม ม.61 ได้กำหนดกรอบแนวทางในการรังวัดเพื่อตรวจสอบหาแนวทางเขตที่ดินที่ของทางรถไฟแห่งประเทศไทยบริเวณเขากระโดง ในการประชุมครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 โดยที่ประชุมได้ขัอยุติว่าการดำเนินการรังวัดทำแผนที่ดังกล่าว กรมที่ดินต้องถือปฏิบัติตามระเบียบกรมที่ดิน ว่าด้วยการรับคำขอรังวัด การรังวัด และการเรียกคำใช้จ่ายในการรังวัด เฉพาะราย พ.ศ. 2567 ซึ่งในการนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการยื่นคำขอรังวัดทำแผนที่บริเวณเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ และจะส่งข้อมูลค่าพิกัดกรอบพื้นที่บริเวณเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ให้คณะกรรมการสอบสวนภายในกรอบระยะเวลาต่อไป ซึ่งต่อมาคณะทำงานร่วมโนการรังวัดได้รายงานสรุปผลการรังวัด นำชี้แนวเขตร่วมระหว่างสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ และการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยเป็นการรังวัดเพื่อตรวจสอบตำแหน่งขอบเขตโดยรอบและจัดทำแผนที่ทางกายภาพเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการสอบสวนฯ ม. 61
3. ประเด็นการรับฟังพยานหลักฐานของคณะกรรมการสอบสวนฯ และกรมที่ดินพิจารณายุติเรื่องการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนฯ ซึ่งได้ดำเนินการสอบสวนแล้ว ปรากฏว่าแผนที่การรถไฟฯ กล่าวอ้างซึ่งได้จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2539 เป็นการจัดทำขึ้นตามมติที่ประชม กบร. จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรกลุ่มสมัชชาคนจน เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2539 โดยผู้ฟ้องคดีนำแผนที่ดังกล่าว ไปใช้ใช้ในการต่อสู้คดี ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842 - 876/2560 และ ที่ 8027/2561 จึงไม่ใช่แผนที่แบบท้ายพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ พระพุทธศักราช 2564 ประกอบกับตำแหน่งที่ตั้งและขอบเขตของที่ดินการรถไฟซึ่งมีการกล่าวอ้างว่ามีระยะทาง 8 กิโลเมตร แต่จากการตรวจสอบรายงานผลการถ่ายทอดแนวเขตที่ดินการถไฟฯ ของคณะทำงทำงานดำเนินการถ่ายทอดแนวเขตที่ดิน ตามคำสั่งกรมที่ดิน ที่ 681/2566 ซึ่งคณะทำงานฯ ได้ตรวจสอบทางรถไฟ โดยใช้วิธีการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ ปี พ.ศ. 2497 , พ.ศ. 2511 , พ.ศ. 2529 และพ.ศ. 2577 ปรากฏว่าทางรถไพมีระยะทางประมาณ ๖.๒ กิโลเมตร และได้ลงสำรวจเส้นทางรถไฟในพื้นที่จริงตัวยการรังวัดค่าพิกัดด้วยเครื่องรับสัญญาณดาวเทียมแบบจลน์ (RTR) สามารถยืนยันตำแหน่งทางรถไฟที่ปรากฏในภาพถ่ายทางอากาศว่า ตรงกับตำแหน่งรางรถไฟบนที่ดินจริง ประกอบกับการตรวจจสอบจากแผนที่ภูมิประเทศ ลำดับชุดที่ L708 ซึ่งเป็นแผนที่ภูมิประเทศชุดแรกในประเทศไทยจัดทำโดยกรมแผนที่ทหาร (ในช่วง ปี พ.ศ.2495-2500) มีความยาวของทางรถไฟประมาณ 6.2 กิโลเมตรเช่นกัน โดยมีข้อสังเกตที่สำคัญจากการดำเนินการของคณะทำงานดังกล่าวคือ จุดสิ้นสุดรางรถไฟในแต่ละชั้นปีที่ดำเนินการถ่ายทอด มีระยะสิ้นสุดไม่เท่ากันและมีความแตกต่างกันในช่วงปลาย ตั้งแต่หลักกิโลเมตรที่ 6 ถึงจุดสิ้นสุด มีทิศทางที่แตกต่างกัน โดยหากพิจารณาจากรางรถไฟจริง จุดสิ้นสุดของกิโลเมตรที่ 8 จะเบี่ยงไปทางด้านทิศตะวันออก และความกว้างของแนวเขตทางรถไฟ จากการตรวจสอบข้อมูลของคณะทำงานศึกษา แสวงหาหลักฐานและบรณาการข้อมูลประวัติที่ดิน ตามคำสั่งกรมที่ดิน ที่ 91/2567ลงวันที่ 18 มกราคม 2567 ที่ได้ศึกษาคันคว้าเทียบเคียงจากพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้อง และจากหนังสือกระทระทรวงโยธาธิการฉบับลงวันที่ 27 สิงหาคม รัตนโกสินทรศก 127 สันนิษฐานได้ว่าการกำหนดเขตสร้างทางรถไฟ จะมีการกำหนดไว้เพียงระยะข้างละไม่เกิน 40 เมตร หรือ 20 วา
สำหรับกรณีที่ศาลปกตรองกลางตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาโดยให้การรถไฟฯ (ผู้ฟ้องคดี) ร่วมกับคณะกรรมการสอบสวนฯ ทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง เพื่อหาแนวเขตที่ดิน ที่เป็นของการรถไฟฯ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ภาค 3 คณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่สามารถร่วมกับการรถไฟฯ เพื่อตรวจสอบแนวเขตรถไฟตามข้อสังเกตของศาลปกครองกลางได้ เนื่องจากเป็นการร่วมกับคู่กรณี ในการพิจารณาทางปกครองทำให้สูญเสียความเป็นกลางและมีผลทำให้ความเห็นหรือหรือมติ ของคณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งเมื่อพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแล้ว เห็นว่า เป็นการดำเนินการไปตามชั้นตอนและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ประกอบกับเมื่อพิจารณาประเด็นคำคัดค้านพยานหลักฐานของผู้มีส่วนได้เสียแล้วเห็นว่า รับฟังได้ คณะกรรมการสอบสวนฯ จึงมีมติยืนยันความเห็นว่าไม่สมควรที่จะเพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินด้วยมติเป็นเอกฉันท์ จนกว่าจะได้มีพยานหลักฐานที่สามารถใช้พิสูจน์ข้อเท็จริงให้เป็นที่ยุติได้ รวมถึงเอกสารหลักฐานทางกฎหมายที่สามารถพิสูจน์กรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟฯ
ดังนั้น การดำเนินการรับฟังพยานหลักฐานของคณะกรรมการสอบสวนฯ เป็นไปด้วยความรอบคอบ และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายโดยรับฟังทั้งพยานหลักฐานที่ปรากฏในการพิจารณาคดีของศาลยุติธธรรม พยานหลักฐานของการรถไฟฯ และพยานหลักฐานที่คณะกรรมการสอบสวนฯ แสวงหามาประกอบการพิจารพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนฯ เห็นว่า พยานหลักฐานที่รวบรวมได้ ยังมีความแตกต่างกันในสาระสำคัญอันจะนำมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติได้ การที่จะนำพยานหลักฐานที่ยังไม่เป็นที่ยุติใช้ให้เกิดผลกระทบในทางเสียหายต่อสถานภาพของสิทธิและหน้าที่ของประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการนำไปใช้ใช้ใช้ในการจัดทำคำสั่งทางปกครอง อาจส่งผลกระทบให้คำสั่งทางทางปกครองนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อพิจารณาผลการสอบสวนและความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนฯ ซึ่งเห็นว่ายังไม่มีพยานหลักฐานปรากฏชัดแจ้งเพียงพอให้รับฟังได้ว่า ได้มีการออกโฉมดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์โปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายจะพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไข ตามนัยข้อ 12 ของกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ ในการสอบสวน และการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดย คลาดเคลื่อน หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. 2553
อธิบดีจึงได้เห็นชอบตามที่คณะกรรมการฯ เสนอยุติเรื่องในกรณีนี้ ตามความความเห็นของคณะกรรมการฯ ที่ได้เสนอมา ว่ายังไม่มีพยานหลักฐานปรากฎชัดแจ้งเพียงพอให้รับฟังได้ว่า ได้มีการออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายจะพิจารณาเพิกอนหรือแก้ไขตามนัยข้อ 12 ของกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. 2553 พร้อมทั้งแจ้งให้การรถไฟทราบว่า หากการรถไฟฯ เห็นว่าตนมีสิทธิในที่ดินดีกว่า ก็เป็นเรื่องที่ผู้มีสิทธิในที่ดิน จะต้องไปดำเนินการเพื่อพิสูจน์สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางศาลต่อไป
Back to top
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 44161
Location: NECTEC
Posted: 26/11/2024 11:08 am Post subject:
เปิดเอกสาร ปี 2513 "ปู่ชัย" ยอมรับเป็นที่ดิน "การรถไฟ" | เนชั่นทันข่าวเย็น | NationTV22
NationTV
วันพุธ ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567
บันทึกข้อพิพาทเขากระโดง ปี 2513 ระหว่าง "การรถไฟ - ชัย ชิดชอบ" หลักฐานชัด "ชัย" ขออาศัยพื้นที่การรถไฟ
https://www.youtube.com/watch?v=tkYmvXMhFdo
Back to top
You cannot post new topics in this forum You cannot reply to topics in this forum You cannot edit your posts in this forum You cannot delete your posts in this forum You cannot vote in polls in this forum
Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group