View previous topic :: View next topic |
Author |
Message |
tuie
1st Class Pass (Air)
Joined: 09/07/2006 Posts: 12156
Location: สถานีบ้านตุ้ย
|
Posted: 02/08/2006 6:52 pm Post subject: เล่าถึงเหล่าเพื่อนผองของตั๋วแข็ง |
|
|
สวัสดีครับท่านผู้ชม พบกันใหม่อีกครั้งตามสัญญาที่ให้ไว้ตอนกระทู้เรื่องแรกของผม คือ เล่าเรื่องตั๋วแข็งหลากสีหลายชนิด ท่านใดที่เพิ่งจะเปิดชมกระทู้นี้ ขอแนะนำให้ชมกระทู้เรื่องดังกล่าวก่อนนะครับ เพราะ เล่าถึงเหล่าเพื่อนผองของตั๋วแข็ง เป็นเสมือนภาคต่อจากกระทู้เรื่อง เล่าเรื่องตั๋วแข็งหลากสีหลายชนิด ซึ่งเป็นเสมือนภาคแรก หากข้ามมาอ่านภาคนี้เลยอย่างเดียวอาจจะทำให้ขาดอรรถรสไปมากพอสมควร เนื่องจากท่านจะไม่ได้เห็นสีสันอันสวยงามของตั๋วแข็งชนิดต่างๆในอดีต พร้อมเรื่องเล่าประกอบการนำชมตั๋วแข็งเมื่อวันวาน (ถือโอกาสโฆษณาภาคแรกนะครับ) ซึ่งตั๋วประเภทอื่นที่ผมจะเล่าถึงในภาคนี้ แม้ว่าจะใช้เดินทางได้เหมือนๆกัน แถมตั๋วประเภทอื่นนี้บางอย่างก็สะดวกต่อการใช้งานยิ่งกว่าตั๋วแข็ง ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า ตั๋วหนา แต่ก็มีความงามด้านสีสัน สะท้อนถึงเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของรถไฟไทยสู้ตั๋วแข็งไม่ได้(ตามความเห็นของผมครับ)
ก่อนจะเริ่มเล่าเรื่องอยากจะกล่าวถึงที่มาของชื่อกระทู้ที่ว่า เล่าถึงเหล่าเพื่อนผองของตั๋วแข็ง เสียก่อน เพื่อให้ท่านผู้ชมเห็นขอบเขตของภาพตั๋วและเนื้อหาที่จะนำเสนอต่อไป เหตุที่ตั้งชื่อไว้อย่างนี้เนื่องจากผมเห็นว่าในยุคที่การรถไฟฯยังจำหน่ายตั๋วแข็ง(ขออนุญาตเรียกแบบเดิมตามความเคยชินโดยไม่เรียกว่า ตั๋วหนานะครับ)ให้แก่ผู้โดยสารตามปกตินั้น นอกจากตั๋วแข็งแล้วยังมีตั๋วประเภทอื่นอีกหลายประเภทที่มีจำหน่ายควบคู่กันไปด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ความสะดวก ความจำเป็น ความประหยัด ฯลฯ เพียงแต่ว่าตั๋วแข็งรับบทเด่นที่สุดในยุค เนื่องจากมีจำหน่ายแพร่หลายมากมายทั่วประเทศ ใครเคยโดยสารรถไฟในยุคนั้นถ้าซื้อตั๋วเองคงจะไม่มีใครไม่รู้จักตั๋วแข็งเป็นแน่
ผมจึงเห็นว่าทั้งตั๋วแข็งและตั๋วประเภทอื่น ไม่ว่าจะเป็นตั๋วบาง ตั๋วรถร่วมเอกชน ตั๋วร่วมระบบขนส่งแบบอื่น ฯลฯ ต่างมีความสำคัญต่อกิจการรถไฟ เสมือนเป็นเพื่อนร่วมงานกันในการช่วยให้บริการแก่ผู้โดยสารรถไฟทุกท่าน ทั้งยังมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพียงแต่ตั๋วประเภทอื่นนี้เป็นเสมือนดาราตัวประกอบ เพราะมีความโดดเด่น สวยงาม ดูมีคุณค่าน่าสะสมไม่เท่ากับตั๋วแข็ง เลยไม่ค่อยจะมีใครกล่าวขวัญถึงเท่ากับตั๋วแข็ง ซึ่งเป็นเสมือนดาราดังของพวกเรา อย่างไรก็อย่าเพิ่งละเลย จนหลงลืมตั๋วประเภทอื่นนี้นะครับ
การนำเสนอเรื่องราวเหล่าเพื่อนผองของตั๋วแข็งนี้ ผมขอเรียนว่าผมจะนำเสนอในลักษณะการเล่าเรื่องในมุมมอง ทัศนะของผู้เป็นแฟนรถไฟมาตั้งแต่จำความได้ แต่ผมมิใช่ผู้ได้รับการศึกษา หรือมีหน้าที่การงานในการรถไฟฯโดยตรง คงจะลงลึกในเรื่องทางเทคนิค นโยบายการพาณิชย์ การบริหารงานของการรถไฟฯไม่ได้มากนัก เอาเป็นว่าเหมือนพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันดีกว่านะครับ ในการดำเนินเรื่องผมคงไม่เอาแต่ภาพและคำอธิบายเรื่องตั๋วเพียงอย่างเดียว แต่จะเล่า(บ่นก็คงมีบ้าง)ถึงวันวานอันหวานชื่น หรือแม้กระทั่งความหลังอันค่อนไปทางขื่นขมไม่น่ารื่นรมย์ ซึ่งล้วนเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับรถไฟและตั๋วแต่ละประเภท เป็นเครื่องเคียงไปพร้อมๆกัน ข้อมูลภาพตั๋วและเรื่องราวของตั๋วบางประเภทอาจจะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นัก ขึ้นอยู่กับตั๋วแต่ละประเภทที่ยังอยู่ในกรุสมบัติของผม และความทรงจำที่ชักจะเอาแน่เอานอนไม่ได้มากขึ้นทุกที(เลยต้องรีบเล่าไงครับ) อย่างไรก็ดี หากท่านผู้ชมท่านใดมีข้อมูลภาพ เรื่องราวจะช่วยกันเล่าเสริมให้ครบถ้วนยิ่งขึ้น จะกรุณาส่งมาร่วมด้วยช่วยกันเล่าก็เชิญเลยนะครับ
ผมชักจะอารัมภบทยาวเกินไปแล้ว เข้าเรื่องกันดีกว่า จะเล่าเรื่องตั๋วประเภทอื่นที่มิใช่ตั๋วแข็งแบบไหนก่อนดีนะ ย้อนดูกระทู้เดิม เล่าเรื่องตั๋วแข็งฯ แล้ว รู้สึกว่าสมาชิกหลายท่านให้ความสนใจ ร่วมรำลึกถึงความหลังเกี่ยวกับรถด่วนพิเศษดีเซลรางปรับอากาศที่เอกชนรับสัมปทานไปให้บริการกันมาก ผมเลยขอนำเสนอเรื่องราวและภาพตั๋วรถร่วมเอกชนก่อนเป็นอันดับแรกนะครับ
๑ ตั๋วรถร่วมเอกชน
ในปี ๒๕๒๘ นอกจากการรถไฟฯจะสั่งซื้อรถดีเซลรางชั้นสองนั่งปรับอากาศ(คันหมายเลข ๒๑๐๑-๒๑๑๒) ซึ่งนับว่าเป็นรถดีเซลรางปรับอากาศรุ่นแรกของไทยแล้ว ยังเปิดมิติใหม่ในการนำรถดีเซลรางปรับอากาศมาให้บริการเป็นรถด่วนพิเศษดีเซลรางปรับอากาศ เน้นความรวดเร็ว สะดวก ปลอดภัยในการเดินทาง โดยให้สัมปทานบริษัทเอกชนเข้ามาจัดจำหน่ายตั๋ว และให้บริการผู้โดยสารบนขบวนรถเทียบชั้นกับการให้บริการบนเครื่องบิน ถ้าจำไม่ผิดรู้สึกว่าจะเริ่มเปิดบริการตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๒๘ ครับ ขบวนรถดังกล่าวมีให้บริการ ๓ สาย เรียงตามระยะทางจากมากไปหาน้อยดังนี้
๑.๑ สายกรุงเทพ-ขอนแก่น (ต่อมาขยายปลายทางไปถึงอุดรธานี)
บริษัทที่เข้ามารับสัมปทานให้บริการขบวนรถด่วนพิเศษดีเซลรางปรับอากาศสายนี้เป็นบริษัทแรก คือ บริษัทอาณาจักรการท่องเที่ยว จำกัด ตารางเดินรถในระยะแรกตามข้อมูลตารางเดินรถสายอีสานฉบับเริ่มใช้วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๒๘ (ที่ผมยังมีเก็บไว้ กำลังคิดว่าจะนำเสนอภาพสวยๆ และเรื่องราวที่น่าสนใจจากตารางเดินรถฉบับผู้โดยสารในอดีตในโอกาสต่อไปครับ) มีเดินเที่ยวไปจากกรุงเทพวันละสองเที่ยว ขบวนแรกขบวน ๙๔๕ ออกจากกรุงเทพ ๑๓.๓๐ น. ถึงขอนแก่น ๒๐.๑๐ น. (แค่ ๖ ชั่วโมง ๔๐ นาทีเองครับ) ขบวนที่สองขบวน ๙๔๗ ออกจากกรุงเทพ ๒๒.๓๐ น. ถึงขอนแก่น ๕.๕๐ น. เที่ยวกลับวันละสองขบวน ขบวนแรกขบวน ๙๔๖ ออกจากขอนแก่น ๘.๔๐ น. ถึงกรุงเทพ ๑๕.๔๒ น. ขบวนที่สองขบวน ๙๔๘ ออกจากขอนแก่น ๒๓.๐๐ น. ถึงกรุงเทพ ๖.๐๖ น. ทุกขบวนใช้เส้นทาง กรุงเทพ-นครราชสีมา-ขอนแก่น ระหว่างทางหยุดรับส่งผู้โดยสารสถานีสามเสน ดอนเมือง สระบุรี นครราชสีมา ชุมทางบัวใหญ่ เมืองพล บ้านไผ่ ส่วนตั๋วโดยสารขบวนรถสายนี้ในยุคแรกๆเป็นสีขาว-น้ำเงิน มีรูปแบบตามภาพนี้ครับ
ตั๋วโดยสารตามภาพมีขนาดกว้าง ๘ ซ.ม. ยาว ๑๙ ซ.ม. เย็บเป็นเล่ม เป็นปกหน้าตั๋ว ถ้าท่านสังเกตข้อความจะเห็นได้ว่า เขา(บริษัทผู้รับสัมปทาน)ไม่เรียกว่าตั๋วโดยสาร แต่เรียกว่าบัตรโดยสารรถไฟ (ดูฝืนๆกับที่ประชาชนนิยมเรียกไหมครับ) ในขณะที่ข้อความภาษาอังกฤษยังพิมพ์ว่า PASSENGER TICKET มีการระบุชื่อประเภทขบวนรถอย่างเป็นทางการว่า รถด่วนพิเศษดีเซลรางปรับอากาศ แต่ข้อความเป็นภาษาอังกฤษที่กำกับด้านล่างดูจะสื่อความหมายไม่ค่อยจะตรงกับภาษาไทยนะครับ ชื่อบริษัทผู้รับสัมปทานมีทั้งภาษาไทย อังกฤษและจีน ส่วนด้านหลังตั๋วเป็นโฆษณาเต็มพื้นที่ดังภาพนี้
ผมนึกๆดูแล้วตั๋วแบบนี้น่าจะเป็นตั๋วรถไฟแบบแรกที่มีโฆษณาพิมพ์ลงในตั๋ว บริษัททั้งหลายที่ปรากฏตามโฆษณาด้านหลังตั๋วนั้น เท่าที่ผมทราบรู้สึกว่าจะเป็นบริษัทในเครือของบริษัทผู้รับสัมปทานให้บริการขบวนรถสายนี้ และยังมีการให้ส่วนลดราคาที่พักโรงแรมแก่ผู้ถือตั๋วฉบับนี้ด้วยนะครับ โดยมีเงื่อนไขให้ใช้ได้ภายใน ๓๐ วัน นับจากวันเดินทาง _________________ นสน.าย./อ.ตุ้ย/อ.หลวงอัคคีเทพอาณัติ/
http//:www.facebook.com/VISIT-RAILWAY-MUSEUMS-1521959098131925/
Last edited by tuie on 20/11/2010 9:45 am; edited 1 time in total |
|
Back to top |
|
|
tuie
1st Class Pass (Air)
Joined: 09/07/2006 Posts: 12156
Location: สถานีบ้านตุ้ย
|
Posted: 02/08/2006 6:56 pm Post subject: |
|
|
การจำหน่ายตั๋ว(ผมขอเรียกว่าตั๋วดีกว่านะครับ เรียกตามบริษัทนี้ว่า บัตรโดยสาร มันดูขัดๆอย่างไรไม่ทราบ) จะมีบูธของบริษัทผู้รับสัมปทานตั้งอยู่ทุกสถานีที่ขบวนรถหยุดรับส่งผู้โดยสาร ถึงตรงนี้อดเล่า(บ่น)ไม่ได้ว่า การซื้อตั๋วล่วงหน้าเพื่อเดินทางขบวนรถสายนี้ แม้จะสะดวกซื้อสามารถจองทางโทรศัพท์แล้วมารับตั๋ว(พร้อมชำระเงิน)ได้ไม่น้อยกว่า ๖ ชั่วโมงก่อนขบวนรถออกซึ่งดูเหมือนเป็นวิธีที่ก้าวหน้ากว่าการซื้อตั๋วล่วงหน้าของการรถไฟฯ แต่ก็มีข้อด้อยกว่าระบบจำหน่ายตั๋วล่วงหน้าของการรถไฟฯยุคนั้นอยู่ประการหนึ่ง ตรงที่ไม่มีโควต้าที่นั่งขบวนรถเที่ยวกลับให้ผู้โดยสารสามารถซื้อตั๋วเที่ยวกลับเลยได้ที่กรุงเทพ เหมือนอย่างการเดินทางกลับด้วยขบวนรถด่วนขบวนอื่นๆของการรถไฟฯ ที่สามารถซื้อตั๋วเที่ยวกลับตามโควตาที่นั่งได้เลยที่สถานีกรุงเทพ(อย่างที่เคยเล่าแล้วในเรื่องตั๋วแข็งที่มีข้อความว่า จำหน่ายแทน น่ะครับ) ยุคนั้นยังไม่มีการนำระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์มาใช้ในการสำรองที่นั่ง-จำหน่ายตั๋วนะครับ
ผมเองเคยประสบกับปัญหานี้ตอนเปิดเดินรถใหม่ๆ(ประมาณเดือนกันยายน ๒๕๒๘) กำลังเห่อ รถดีเซลรางแอร์ (คนทั่วๆไปนิยมเรียกกันอย่างนี้)รุ่นแรกของประเทศ เลยอยากจะนั่งรถเที่ยวไปลงขอนแก่นแล้วกลับทันที ผมจะซื้อตั๋วเที่ยวกลับพร้อมๆกับการซื้อตั๋วเที่ยวไปที่บูธของบริษัทฯที่สถานีกรุงเทพเลย พนักงานก็บอกว่า ตอนจะกลับน้องไปซื้อที่ขอนแก่นก็ได้ ผมแย้งว่าก็ไปถึงแล้วจะกลับทันทีกลัวรถจะเต็ม เขาก็ทำหน้างงงงคล้ายกับว่า เด็ก(ตอนนั้นอายุ ๑๒ ปี)ประหลาด(บ้า)คนนี้มันจะนั่งรถไฟทั้งวันทั้งคืนไปกลับ ๙๐๐ ก.ม.เลยหรือไง เจรจาสักพักเขาก็โทรติดต่อไปที่ขอนแก่นสำรองที่นั่งเที่ยวกลับให้ผมจนได้ แต่ก็ติดระเบียบของบริษัทอีกว่า ต้องมารับตั๋วก่อนรถเที่ยวกลับออกจากขอนแก่นไม่น้อยกว่า ๖ ชั่วโมง ดูสิครับ ผมจะปฏิบัติตามได้อย่างไรในเมื่อตัวผมยังอยู่กรุงเทพ ญาติที่ขอนแก่นก็ไม่มี แถม ๖ ชั่วโมงก่อนขบวนรถเที่ยวกลับออกน่ะ ผมยังนั่งหลับ(นก)อยู่บนขบวนรถเที่ยวไปอยู่เลย อย่างมากก็คงถึงแถวๆบัวใหญ่จะถอดจิตแยกร่างไปรับตั๋วที่ขอนแก่นตามระเบียบของบริษัทได้อย่างไรล่ะครับ เลยต้องอธิบายชี้แจงอีกยกใหญ่ว่า พี่ไม่ต้องกลัวผมเบี้ยวแกล้งบอกให้โทรจองเที่ยวกลับแล้วไม่รับตั๋วหรอกครับ ตราบใดถ้ามีขบวน ๙๔๗ (ที่ผมนั่งไป)ทำขบวนไปถึงขอนแก่นโดยสวัสดิภาพ ตราบนั้นก็ต้องมีตัวผมติดตามไปเพื่อรับตั๋วแล้วกลับขบวน ๙๔๖ แน่นอน หากมีเหตุให้ขบวน ๙๔๗ ไปไม่ถึงขอนแก่น พี่ก็ไม่มีขบวนรถใช้ทำขบวนเที่ยวกลับอยู่แล้ว ถึงขายตั๋วได้เงินแค่ไหนก็ต้องคืนผู้โดยสารอยู่ดี ปรากฎว่าเขาเชื่อผม(หรือชักจะรำคาญเด็กเรื่องมาก เต็มไปด้วยข้อโต้แย้ง เหตุผลและคำอธิบายอันยืดยาวเหมือนการเล่าเรื่องนี้ก็ไม่รู้) เลยยอมให้ผมจองตั๋วเที่ยวกลับได้เลยที่กรุงเทพ โดยให้ผมสามารถรับตั๋วที่ขอนแก่นตอนที่ขบวนรถเที่ยวไปซึ่งผมนั่งไปถึงเวลา ๕.๕๐ น.ได้ครับ ยุ่งยากเยิ่นเย้อดีไหมครับ ไม่เหมือนสมัยนี้เคาะแป้นพิมพ์ไม่กี่ทีก็ซื้อตั๋วได้เลยทุกเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นเที่ยวไปหรือเที่ยวกลับ
ชักจะบ่นยาวอีกแล้ว ผมว่าเราได้ชมภาพภายนอกทั้งปกหน้าปกหลังของตั๋วขบวนรถสายนี้มาแล้ว ลองมาดูสภาพภายนอกของตัวรถดีเซลรางปรับอากาศสมัยยังใหม่เอี่ยมเป็นการสลับฉากกันดีกว่าครับ (สำเนาภาพมาจาก บทความแนะนำบริการรถไฟ ใน วารสารรถไฟสัมพันธ์ ฉบับเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ๒๕๒๘)
การจัดริ้วขบวนรถด่วนพิเศษดีเซลรางปรับอากาศในช่วงแรกๆประมาณสองสามวันแรกที่เปิดให้บริการทั้งสายนี้และสายอื่น เรียงลำดับอย่างนี้ครับ ส่วนหัวขบวนสองคันแรกเป็นรถดีเซลรางชั้นสาม(รุ่นหมายเลข ๑๑๐๑-๑๑๔๐)ซึ่งมีที่นั่งเป็นเบาะเท่านั้น ไม่นำรุ่นที่เป็นเก้าอี้ไฟเบอร์(รุ่นหมายเลข ๑๒๐๑-๑๒๖๔)มาทำขบวนให้ผู้โดยสารฝึกความอดทน(ของก้น)เป็นอันขาด ส่วนท้ายขบวนสองคันหลัง(หรือหนึ่งคันหลังสำหรับสายกรุงเทพ-สุรินทร์)เป็นรถดีเซลรางปรับอากาศดังภาพ จุดเด่นประการหนึ่งของขบวนรถที่สามารถสังเกตได้แต่ไกลก็คือ สัญญาณไฟวาบวับ(แบบสัญญาณที่ติดตั้งบนหลังคารถตำรวจ หรือรถดับเพลิงน่ะครับ)ซึ่งติดตั้งเหนือไฟหน้าขบวนรถ แต่ก็เป็นอย่างที่ผมเล่าอยู่ไม่นานนัก เห็นอีกทีไม่มีสัญญาณไฟวาบวับแล้ว การจัดริ้วขบวนก็เป็นอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน(ตามปกติ) คือ รถคันแรกกับรถคันสุดท้ายจะเป็นรถดีเซลรางชั้นสามซึ่งมีห้องขับเสมอ ส่วนรถดีเซลรางปรับอากาศรุ่นนี้จะไม่นำไปไว้เป็นคันสุดท้ายอีกต่อไป ถ้าจะให้เดาเหตุผลก็คงเพื่อความสะดวกในการทำขบวนไป-กลับนะครับ จะได้ไม่ต้องตัดตู้ปรับอากาศท้ายขบวนเที่ยวไป ไปต่อตู้เป็นท้ายขบวนเที่ยวกลับกันใหม่ทุกครั้ง แต่ก็ต้องแลกกับความพลุกพล่านที่มีมากขึ้นเมื่อรถปรับอากาศมาอยู่ช่วงกลางขบวน
หากดูสภาพภายนอกของรถดีเซลรางปรับอากาศแล้ว มีความเปลี่ยนแปลงที่คนทั่วๆไป(ไม่มีความรู้เชิงเทคนิค วิศวกรรม)ซึ่งเคยนั่งรถไฟปรับอากาศมาก่อน สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจน คือ กระจกหน้าต่างแบบใหม่ที่เป็นกระจกนิรภัยสองชั้นผนึกติดกันจนแทบดูไม่ออก ดูเผินๆจะนึกว่าเป็นกระจกชั้นเดียว แถมยังแบ่งส่วนบนให้สามารถเปิดออกได้ในกรณีแอร์เสีย มีเหตุจำเป็นอื่นๆ ซึ่งตรงกันข้ามกับกระจกรถปรับอากาศที่เคยมีมาก่อนไม่ว่าจะเป็นรถ บนอ.ป.รุ่นเก่า ๙ ห้อง,บนท.ป.๓๒ที่,บชท.ป. ที่เป็นกระจกบานใหญ่ทั้งบานไม่มีส่วนที่ออกแบบมาเปิดออกได้ในลักษณะดังกล่าว แถมยังเป็นกระจกสองชั้นแบบเว้นระยะห่างระหว่างบานนอกกับบานในตั้งเกือบ ๑๐ ซ.ม. มองแล้วเหมือนนั่งอยู่ในตู้ปลาของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ไม่งั้นก็เหมือนคนใส่แว่นหนาๆ ดูภาพกระจกรถปรับอากาศยุคเก่าดีกว่าครับ จะได้เข้าใจง่ายขึ้น ท่านมองไปทางด้านซ้ายของภาพนะครับ จะเห็นความหนาและเงาสะท้อนของกระจกหน้าต่างรถปรับอากาศยุคเก่าได้เป็นอย่างดี น้องคนที่นั่งเด๋ออยู่กลางภาพไม่ยอมถอยออกไปให้พ้นหน้ากล้องน่ะ(เพราะย้อนเวลากลับไปถอยไม่ได้แล้ว) ไม่เกี่ยวนะครับ
บางท่านอาจไม่ทันเห็นกระจกรถปรับอากาศแบบในภาพข้างต้น ซึ่งผมว่าดูแล้วไม่ค่อยจะปลอดโปร่งเลย พอมีรถดีเซลรางปรับอากาศรุ่นใหม่กระจกหน้าต่างดูไม่หนาเตอะอย่างกระจกหน้าต่างโบกี้ปรับอากาศรุ่นๆก่อนๆแล้ว ก็ดีใจนะครับจะได้ชมวิวได้ถนัดชัดเจนขึ้น ในระยะหลังมีการนำรถบชท.ป.,บนท.ป. ๓๒ ที่ บนอ.ป.๙ ห้อง(ช่วงสุดท้ายของชีวิตการเป็นรถนอนเอก ก่อนจะแปลงร่างเป็นรถเสบียงปรับอากาศ)ไปเปลี่ยนกระจกหน้าต่างเป็นแบบใหม่กันหมดแล้ว
โปรดติดตามชมตอนต่อไปนะครับ |
|
Back to top |
|
|
tuie
1st Class Pass (Air)
Joined: 09/07/2006 Posts: 12156
Location: สถานีบ้านตุ้ย
|
Posted: 03/08/2006 8:51 pm Post subject: |
|
|
เล่าต่อนะครับ
ผมว่าชักจะเล่าเรื่องตัวรถมากเกินไปแล้ว เดี๋ยวจะหลงเข้าป่า ลืมหัวข้อของเราเสียก่อน กลับเข้ามาที่ตั๋วกันอีกครั้งนะครับ ตั๋วรถด่วนพิเศษดีเซลรางปรับอากาศสายกรุงเทพ-ขอนแก่น นี้ ในปีถัดมา(ปี ๒๕๒๙) ยังคงมีรูปแบบและสีสันเหมือนเดิม แต่มีข้อความประทับด้วยหมึกสีแดงเด่นชัดที่หน้าตั๋วว่า ตั๋วนี้ซื้อแล้วไม่รับคืน ท่านผู้โดยสารตัดสินใจเดินทางกับเราแล้วโปรดอย่าทำตัวเป็นคนโลเล หลายใจ เปลี่ยนแปรผันกลับไปกลับมา(อันนี้ผมเดาใจบริษัทฯแล้วต่อข้อความให้เองครับ) เห็นเงื่อนไขอย่างนี้แล้วต้องบอกว่า การรถไฟฯใจดีกว่าเยอะ เพราะซื้อตั๋วไปแล้ว หากต่อมาจะคืนตั๋วก็ทำได้โดยมีการหักเงินค่าตั๋วเอาไว้เพียงเล็กน้อย ซึ่งย่อมดีกว่าวางเงื่อนไขตัดบทไม่รับคืนตั๋วเสียเลยใช่ไหมครับ (ในมุมมองของผู้โดยสาร)
ส่วนข้อความว่า รถธรรมดา บนด้านหน้าตั๋วข้างต้นนั้น หมายความว่าเป็นตั๋วโดยสารสำหรับรถดีเซลรางชั้นสามคันที่ ๑ (หัวขบวน)หรือคันที่ ๔ (ท้ายขบวน) ไม่ใช่การลดศักดิ์ขบวนรถที่บริษัทนี้เข้ารับสัมปทานลงจากขบวนรถด่วนพิเศษเหลือแค่เป็นขบวนรถธรรมดานะครับ พูดง่ายๆเป็นภาษาชาวบ้าน คำว่าธรรมดาในกรณีนี้ก็คือไม่มีแอร์เท่านั้นเอง ชมเปลือกนอกทั้งด้านหน้าและด้านหลังมาแล้ว ลองเปิดปกหน้าดูด้านในตั๋วกันบ้าง สิ่งแรกที่เห็นตรงปกในก็คือ เงื่อนไขการเดินทางมีทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ตามภาพนี้ครับ
แหม! ดูแล้วจะเห็นได้ว่าบริษัทเอกชนนี่เขาวางกฎเหล็ก(เงื่อนไขการเดินทาง)มัดผู้โดยสารไม่น้อยเหมือนกันนะครับ ลองมาดูเงื่อนไขเด็ดๆโหดๆที่น่าสนใจกันดีกว่า จะได้ช่วยไม่ให้ท่านหลับไปเสียก่อน ตัวอย่างเช่น ผู้ใช้บริการต้องมาถึงสถานีก่อนรถออกอย่างน้อย ๓๐ นาที เงื่อนไขนี้กำหนดไว้ลอยๆโดยไม่ระบุสภาพบังคับ หรือความเดือดร้อนที่ผู้ไม่ปฏิบัติตามจะพึงได้รับว่าจะเป็นฉันใด จะไม่ให้ขึ้นรถ หรือถือว่าสละสิทธิในการเดินทางก็ไม่บอกไว้ ผมเดาว่าคงเลียนแบบมาจากเงื่อนไขในการโดยสารเครื่องบิน ที่มีการกำหนดเวลาเรียกให้ผู้โดยสารขึ้นเครื่องไว้ล่วงหน้า ๓๐ นาทีก่อนเครื่องออกเดินทาง ซึ่งในทางปฏิบัติเท่าที่ผมโดยสารขบวนรถสายนี้ก็ไม่เห็นผู้โดยสารเคร่งครัดสักเท่าไร เห็นกระหืดกระหอบวิ่งมาขึ้นรถตอนนายสถานียกธงเขียวปล่อยขบวนรถก็มีบ่อยๆ ผมคิดว่าบริษัทฯคงมุ่งหวังให้มีเวลาบริการ เช่น การนำไปที่นั่ง ยกสัมภาระขึ้นเก็บให้ผู้โดยสารช่วงขึ้นรถมากกว่าครับ
กฎเหล็กที่น่าสนใจประการต่อมาก็คือ ของใช้ติดตัวระหว่างการเดินทางไม่เกิน ๒ ชิ้น หรือน้ำหนักรวมไม่เกิน ๑๕ กิโลกรัม แย่หน่อยนะครับ สำหรับคุณแม่ลูกอ่อนข้าวของพะรุงพะรัง รู้สึกว่าจะมีข้อจำกัดในเรื่องนี้มากกว่ากฎเกี่ยวกับการนำสัมภาระขึ้นขบวนรถของการรถไฟฯ แต่ไม่ใช่ว่าเงื่อนไขของเขาจะบีบผู้โดยสารทั้งหมดนะครับ ที่ดีๆก็มี เช่น ตั๋วนี้ได้ทำประกันอุบัติเหตุให้ผู้ใช้บริการทุกที่นั่งแล้ว ยิ่งอุ่นใจขึ้นไหมครับ ด้านล่างของปกในมีการระบุรายชื่อสถานีที่ขบวนรถหยุดรับส่งผู้โดยสารไว้ มีข้อสังเกตว่า บริษัทนี้ใช้ชื่อสถานีตามภาษาพูดที่ผู้โดยสาร หรือประชาชนทั่วไปนิยมเรียกกัน เช่น ชุมทางจิระ หัวลำโพง โดยไม่เรียกชื่อทางการแบบการรถไฟว่า สถานีชุมทางถนนจิระ สถานีกรุงเทพ ถ้าท่านยังจำข้อมูลจากตารางเดินรถที่ผมนำกล่าวถึงในช่วงแรกๆในหัวข้อนี้ จะเห็นได้ว่ามีการระบุข้อมูลสถานีที่หยุดรับส่งผู้โดยสารไม่ตรงกันหนึ่งสถานี คือ ชุมทางถนนจิระ กล่าวคือ ตามปกในตั๋วบอกว่าหยุดสถานีนี้ แต่ตามตารางเดินรถบอกว่าไม่จอดทั้งๆที่เป็นตั๋วและตารางเดินรถที่มีการนำออกใช้เดือนเดียวกันอีกด้วย ซึ่งตามความจริงตอนที่ผมนั่งรถขบวนนี้ก็เห็นจอดที่สถานีชุมทางถนนจิระ นะครับ
โปรดติดตามชมตอนต่อไปครับ |
|
Back to top |
|
|
tuie
1st Class Pass (Air)
Joined: 09/07/2006 Posts: 12156
Location: สถานีบ้านตุ้ย
|
Posted: 04/08/2006 9:35 pm Post subject: |
|
|
เล่าต่อนะครับ
ชมปกในของตั๋วแล้ว มาชมหน้าต่อไปของตั๋วกันดีกว่า
แบบฟอร์มตามภาพมีการจัดพิมพ์ไว้สามชุด เป็นกระดาษก๊อบปี้ในตัว เวลาพนักงานขายตั๋วเขียนข้อความตามแบบฟอร์มเสร็จก็จะฉีกแผ่นแรกที่กรอกด้วยปากกาเอาไว้ เหลือสำเนาสองแผ่นติดในตั๋วไว้ให้ผู้โดยสารใช้ในการเดินทาง ซึ่งเมื่อผู้โดยสารขึ้นรถเรียบร้อยแล้ว เทรนโฮสเตทสาวสวย(จะนำเสนอภาพในตอนต่อไปครับ)ก็จะฉีกสำเนาไปอีกแผ่นหนึ่ง(ไม่มีการเดินถือคีมหนีบตั๋วแก๊กๆคอยตัดตั๋วให้เสียมาดสาวงามนะครับ) คงเหลือให้ผู้โดยสารเพียงแผ่นเดียวดังที่เห็นในภาพครับ อยากให้ท่านผู้ชมสังเกตสีสันของแบบฟอร์มแผ่นนี้ไว้ว่า มีความสัมพันธ์กับสีปกหน้าและสันปกตั๋วนะครับ กล่าวคือ ตั๋วสีขาว-น้ำเงิน สันปกสีฟ้าตามภาพตั๋วขบวนรถสายนี้ที่นำเสนอไปแล้ว แบบฟอร์มฉบับผู้โดยสารถือในตั๋วก็จะเป็นสีฟ้าซึ่งอยู่ในโทนสีเดียวกันตามไปด้วย พอมีการเปลี่ยนสีปกตั๋วแบบฟอร์มภาพในก็จะเปลี่ยนสีให้สัมพันธ์กันตามไปด้วย (ส่วนจะเปลี่ยนเป็นสีอะไรบ้างนั้น โปรดติดตามชมนะครับ)
สำหรับรายละเอียดของแบบฟอร์มดังกล่าว มีการระบุวันที่ออกบัตร วันที่ใช้ได้ถึง วันเดินทาง ชื่อผู้โดยสาร เป็นมาตรฐานทำนองเดียวกันกับตั๋วเครื่องบิน ซึ่งการระบุชื่อผู้โดยสารไว้ อย่างน้อยก็น่าจะเป็นประโยชน์ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุแล้วมีการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย จะได้ทราบชื่อผู้โดยสารได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะโดยสารรถชั้นสามหรือชั้นสองนั่งปรับอากาศ หากไปกับขบวนนี้ผู้โดยสารก็จะได้รับตั๋วแบบเดียวกันนี้เหมือนกัน หากเดินทางหลายๆคนเป็นกลุ่มเดียวกันก็ถือตั๋วแบบนี้เพียงฉบับเดียวใช้ร่วมกันได้ครับ ซึ่งตามภาพเป็นตั๋วสำหรับผู้โดยสารหกคน ค่าโดยสารรถปรับอากาศกรุงเทพ-ขอนแก่นยุคนั้น คนละ ๑๕๐ บาท รวมหกคนเป็น ๙๐๐ บาท ส่วนการระบุเลขที่นั่ง/นอน ทั้งๆที่รถขบวนนี้มิได้มี รถนอน ผมเข้าใจว่าคงลอกแบบมาจากการรถไฟฯ โดยหารู้ไม่ว่าที่การรถไฟฯเขาเรียกเลขที่นั่ง/นอนนั้น ใช้ในกรณีที่โบกี้รุ่นนั้นๆมีที่นั่งซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนให้เป็นที่นอนได้อย่างแท้จริงสมบูรณ์แบบ คือ สำหรับรถนอน ส่วนรถนั่งไม่ว่าจะเป็นชั้นสอง ชั้นสาม ปรับหรือไม่ปรับอากาศ ซึ่งไม่มีที่นอนที่จัดบริการให้อย่างเป็นทางการจะเรียกว่าเลขที่นั่งเท่านั้น ไม่ใช้ว่าเลขที่นั่ง/นอน แต่ที่บริษัทเอกชนเขาเรียกต่างจากการรถไฟก็มีครับ อย่างที่เห็นตามแบบฟอร์มว่า รถตู้ที่.... นั้นช่างตรงกับภาษาพูดที่ผู้โดยสารนิยมใช้กันจริงๆ ไม่ค่อยจะมีใครใช้ถ้อยคำอย่างเป็นทางการว่า รถคันที่.... กันเท่าใดนัก
จากการศึกษารายละเอียดของตั๋วโดยสารขบวนรถสายนี้ สะท้อนให้เห็นว่ามีการผสมผสานกันระหว่างการใช้ภาษาในการสื่อสารขององค์การภาครัฐ องค์การภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายและตรงกัน เอ เล่าๆไปทำไมทำท่าเหมือนอาจารย์กำลังจะ บรรยาย แล้วล่ะครับ ชมภาพด้านในตั๋วพร้อมเรื่องเล่า(บ่น)มาพอสมควรแล้ว ตัดสลับมาชมสภาพภายในรถดีเซลรางนั่งปรับอากาศตอนยังใหม่แกะกล่องกันดีกว่าครับ (สำเนาภาพมาจาก บทความแนะนำบริการรถไฟ ใน วารสารรถไฟสัมพันธ์ ฉบับเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ๒๕๒๘)
โปรดติดตามชมตอนต่อไปนะครับ |
|
Back to top |
|
|
tuie
1st Class Pass (Air)
Joined: 09/07/2006 Posts: 12156
Location: สถานีบ้านตุ้ย
|
Posted: 05/08/2006 6:59 pm Post subject: |
|
|
เล่าต่อเลยนะครับ
ภายในรถดีเซลรางรุ่นนี้มีที่นั่งทั้งหมด ๖๒ ที่ เบาะนั่งแต่ละคู่มีทิศทางการหันหน้าเบาะแบบตายตัว ไม่สามารถหมุนเบาะที่นั่งกลับทิศทางได้เหมือนรถ บชท. หรือ บชท.ป. กล่าวคือ หากเบาะนั่งใดหากนับจากสถานีกรุงเทพเป็นหลักแล้วหันหน้าไปทางทิศเหนือ(ทิศสถานีสามเสน) เที่ยวไปรถออกจากกรุงเทพก็ยังนั่งชมวิวไปด้านหน้าได้สบายๆ แต่พอเที่ยวกลับเข้ากรุงเทพหากยังนั่งเบาะเดิมต่อไปก็จะกลายเป็นนั่งชมวิวถอยหลัง ซึ่งบางท่าน(ที่ไม่ใช่แฟนรถไฟแท้ๆ)มักจะบ่นว่านั่งแบบนี้แล้วเวียนหัวทำท่าจะเมารถเลยทีเดียว ภายในรถยังมีการแบ่งโซนออกเป็นโซนห้ามสูบบุหรี่ กับโซนที่อนุญาตให้สูบบุหรี่ได้เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่บนรถโดยสารสาธารณะอย่างเด็ดขาดแบบในปัจจุบัน เพื่อให้ทุกท่านมโนภาพการแบ่งโซนที่นั่งได้ง่ายขึ้น ลองชมภาพผังที่นั่งรถดีเซลรางปรับอากาศที่เด็กชอบ(บ้า)รถไฟคนหนึ่ง(ใครเอ่ย?)จดจำจากผังที่นั่งของจริงของเจ้าหน้าที่จำหน่ายตั๋ว แล้วนำมาวาดไว้เพื่อเล่นเป็นคนขายตั๋วรถไฟกับน้องๆที่บ้าน(แอบเดาเอาว่าน่าจะมีสมาชิกในเวบนี้บางท่าน เคยเล่นขายตั๋วรถไฟ หรือมีการเล่นอย่างอื่นที่เกี่ยวข้งกับรถไปแบบผมตอนเป็นเด็ก บ้างนะครับ)
ฝีมือวาดผังตามภาพดูไม่ค่อยโปรเฟสชันแนลเท่าไรนะครับ ต้องทำใจว่าเด็กอายุ ๑๒ ปีวาดไว้ แต่เรื่องเนื้อหาสาระรับรองว่าครบถ้วน ก่อนจะอธิบายการแบ่งโซนต้องบอกก่อนว่า สมัยนั้นรถดีเซลรางปรับอากาศจะหันทิศทางของตัวรถด้านที่นั่งหมายเลข ๑-๔ ไปทางทิศเหนือ(ทิศสถานีสามเสน) ส่วนด้านที่เป็นห้องสุขาและเครื่องปรับอากาศจะหันไปทางทิศใต้(ทิศสถานีกรุงเทพ) ในขณะที่ปัจจุบัน(เท่าที่ผมสังเกตเห็น)การหันทิศทางของตัวรถจะเป็นในทางกลับกันแล้ว การหันทิศทางของเบาะที่นั่งในยุคนั้นแบ่งเป็นกลุ่มดังนี้ครับ เลขที่๑-๒๐ เลขที่ ๓๗-๕๒ หันเบาะไปทางทิศใต้(ทิศสถานีกรุงเทพ) เลขที่ ๒๑-๓๖ เลขที่ ๕๓-๖๒ หันเบาะไปทางทิศเหนือ(ทิศสถานีสามเสน) การติดตั้งโทรทัศน์ภายในห้องโดยสารก็จะสัมพันธ์กับการหันหน้าของที่นั่งแต่ละกลุ่ม เช่น กลุ่มที่นั่งเลขที่ ๑-๒๐ ก็จะได้ชมโทรทัศน์ที่ติดตั้งเหนือประตูกลางระหว่างที่นั่งหมายเลข ๓๔-๓๕ เป็นต้น ทั้งนี้ตรงแนวประตูกลางดังกล่าวเป็นผนังกั้นแล้วมีประตูกลางแบ่งโซนห้ามสูบบุหรี่ คือ ที่นั่งหมายเลข ๑-๓๖ กับโซนอนุญาตให้สูบบุหรี่ได้ คือ ที่นั่งหมายเลข ๓๗-๖๒ แต่กลิ่นควันบุหรี่จะไม่เข้าไปรบกวนผู้โดยสารโซนห้ามสูบบุหรี่เลย ส่วนการเปิดโทรทัศน์ให้ชมนั้นเป็นภาพจากวิดิโอเทป เป็นรายการตลกก็มี หนังฝรั่งก็มี ที่จำได้แม่นเพราะครั้งหนึ่งเขาเปิดวิดิโอหนังเรื่อง The Fly ปีศาจแมลงวันครองโลกให้ชมระหว่างเสริฟอาหารกลางวันพอดี ผมก็เลยชมวิดิโอเรื่องนี้ไปพร้อมกับรับประทานมื้อนั้นไปด้วยความอร่อยมาก ทำให้ลืมไม่ลงจนถึงทุกวันนี้
สภาพภายในที่แตกต่างไปจากปัจจุบันอย่างเด่นชัดอีกประการหนึ่งก็คือ เมื่อก่อนมีการติดตั้งตู้เหล็กขวางประตูขึ้น-ลงตรงที่นั่งหมายเลข๕๑-๕๒ กับ๕๕-๕๖ เต็มพื้นที่ของประตู เท่ากับงดใช้ประตูบานนี้ไปโดยปริยาย เหลือประตูขึ้น-ลงให้ใช้งานตามผังแค่ ๓ ทาง ตู้เหล็กดังกล่าวไว้ใช้สำหรับเตรียมอาหาร ของว่างและเครื่องดื่มที่เทรนโฮสเตทจะเสริฟผู้โดยสาร ปัจจุบันมีการรื้อตู้เหล็กนี้ออกไปแล้วสามารถใช้ประตูขึ้น-ลงได้ครบสี่บาน เล่าความหลังถึงความเปลี่ยนแปลงสภาพภายในตัวรถมาพอสมควรแล้ว เดี๋ยวท่านผู้ชมจะสงสัยว่าตกลงจะเล่าเรื่องตั๋วหรือเรื่องตัวรถรุ่นนี่กันแน่ เลยรีบคัดภาพตั๋วมาให้ชมกันต่อดีกว่าครับ เป็นภาพปกหลังด้านในของตั๋ว ตามภาพมีการระบุข้อมูลสถานที่จำหน่ายตั๋ว(ทีอย่างนี้ไม่เห็นเรียกว่า บัตรโดยสารแทนคำว่าตั๋วเหมือนอย่างในปกหน้าตั๋วเลย ลองย้อนไปดูภาพปกหน้าตั๋วสิครับ จะเห็นความแตกต่างในเรื่องนี้ชัดเจน) พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ ตารางเดินรถฉบับย่อ มีข้อความทั้งภาษาไทย อังกฤษกำกับไว้ด้วย
โปรดติดตามชมตอนต่อไปนะครับ |
|
Back to top |
|
|
ExtendeD
1st Class Pass (Air)
Joined: 04/07/2006 Posts: 9054
Location: สังกัดหน่วยสำรวจสะพาน ตะลอนทั่วราชอาณาจักร
|
Posted: 05/08/2006 7:45 pm Post subject: |
|
|
เห็นรูป กซม.ป. ATR. แล้ว นึกถึงตอนเด็ก ๆ เลยครับ เวลาที่แม่ผมไปซื้อตั๋วรถไฟไปพิษณุโลกทีไร ก็จะบอกพนักงานที่ขายตั๋วว่าจะเลือกที่นั่งที่ติดกับประตู เพราะว่าตรงนั้นจะกว้างกว่า แล้วเอาฝั่งที่หันหน้าไปทางพิษณุโลก ( ขาไป ) หรือฝั่งกรุงเทพ ( ขากลับ )
เรื่องประตูนี่เป็นความหลังที่ผมจะไม่มีวันลืมเลยครับ วันนั้นรถจอดอยู่ที่พิษณุโลก ก็ประตูที่พี่ตุ้ยเล่าว่าจะมีตู้ขวางเอาไว้ วันนั้นผมก็ไปเดินเล่นที่สถานี ไปกับน้องชายผม แล้วก็น้องชายผมคนนึงที่อยู่ที่พิษณุโลก เจ้าคนหลังนี่มือบอนไปกดสวิทซ์เปิดประตู ของที่พิงประตูอยู่ก็หงายหล่นลงมาที่พื้นชานชาลาหมดเลยครับ ผมนี่เห็นแล้วทำตัวไม่ถูกเลย แต่รู้ว่าของเยอะมากครับ ทั้งตู้ ทั้งน้ำสารพัดที่เตรียมไว้เสิร์ฟผู้โดยสาร ตอนนี้มานึกดูสิ่งที่น้องชายผมทำลงไปวันนั้นคงทำให้พนักงานบนรถไม่พอใจมากแน่ ๆ เลย ขออภัยย้อนหลังครับ _________________ Life will knock us down . . . but we can choose to get back up.
|
|
Back to top |
|
|
tuie
1st Class Pass (Air)
Joined: 09/07/2006 Posts: 12156
Location: สถานีบ้านตุ้ย
|
Posted: 05/08/2006 9:10 pm Post subject: |
|
|
ที่คุณเต้ยเล่าว่า
Quote: | เรื่องประตูนี่เป็นความหลังที่ผมจะไม่มีวันลืมเลยครับ วันนั้นรถจอดอยู่ที่พิษณุโลก ก็ประตูที่พี่ตุ้ยเล่าว่าจะมีตู้ขวางเอาไว้ วันนั้นผมก็ไปเดินเล่นที่สถานี ไปกับน้องชายผม แล้วก็น้องชายผมคนนึงที่อยู่ที่พิษณุโลก เจ้าคนหลังนี่มือบอนไปกดสวิทซ์เปิดประตู ของที่พิงประตูอยู่ก็หงายหล่นลงมาที่พื้นชานชาลาหมดเลยครับ ผมนี่เห็นแล้วทำตัวไม่ถูกเลย แต่รู้ว่าของเยอะมากครับ ทั้งตู้ ทั้งน้ำสารพัดที่เตรียมไว้เสิร์ฟผู้โดยสาร ตอนนี้มานึกดูสิ่งที่น้องชายผมทำลงไปวันนั้นคงทำให้พนักงานบนรถไม่พอใจมากแน่ ๆ เลย ขออภัยย้อนหลังครับ |
ผมทราบจากที่คุณเล่าแล้วยังรู้สึกสยองแทนเลยครับ โชคดีที่ไม่มีข้าวของหล่นลงมาทับใครบาดเจ็บนะครับ ปกติเท่าที่ผมสังเกตประตูด้านที่เป็นตู้เหล็กนั้นจะปิดสวิตซ์ประตูไว้ไม่ให้กดปุ่มเปิดประตูได้ สงสัยกรณีของคุณกับน้องๆคงจะมีข้อผิดพลาดเกี่ยวกับการเปิดสวิตซ์ประตูเลยเกิดเหตุจนได้
เรื่องราวของรถด่วนพิเศษดีเซลรางปรับอากาศสายกรุงเทพ-พิษณุโลก นั้น ผมจะนำเสนอในลำดับต่อไป ถัดจากสายกรุงเทพ-สุรินทร์ นะครับ เพราะจะเรียงตามระยะทางจากไกลสุดมาใกล้สุด ตั๋วอาจจะไม่สวยเท่าไร อย่างไรก็ติดตามชมนะครับ ผมจะมีภาพแผ่นโฆษณาของบริษัทผู้รับสัมปทานสายนี้มาแถมให้ชมด้วย
ขอบคุณคุณเต้ย และทุกท่านที่ให้ความสนใจติดตามชมนะครับ |
|
Back to top |
|
|
nathapong
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 3515
Location: Ayuthaya - Lamlukka - Navanakhon - Silom
|
Posted: 05/08/2006 10:47 pm Post subject: |
|
|
ขอขอบคุณที่ คุณ tuie มาต่อเรื่องตั๋ว.. ครับ
ในส่วนตั๋วแปลกประหลาดเช่นของสายปากน้ำที่เป็นตัวเลข
อันนี้เฮียวิศรุตแกขุดมาได้แล้ว ส่วนผม ขอไปสรุปเป็นเกร็ดเล็กน้อยๆ
ที่มาที่ไปเกี่ยวกับกระดาษที่มาทำเป็นตั๋วที่ใช้อยู่ในปัจุจบัน ตอนท้ายๆ เรื่องเหมือนเดิมครับ
(คือรอเพื่อนๆ ที่อยู่ในวงการกระดาษส่งโผที่ผมลืมไว้สัก 6-7 ปีมาคืนเสียก่อน
เดี๋ยวเรียบเรียงผิดๆถูกๆ ไก่ จะหายหมดเล้า อะครับ)
ป.ล.ส่วนเรื่อง ฮาๆ ในรถด่วนดีเซลรางสาย กท พิษณุโลก สมัยโน้น
ที่เทรนโฮสเตส มีอิทธิพล อย่างไร
กับ ที่มาที่ไป ของสตูดิโอ 54 ที่เกี่ยวข้องกับกระทู้ของคุณ เต้ย ขอเล่า กับ อ.Cummins หนะครับ |
|
Back to top |
|
|
Cummins
2nd Class Pass
Joined: 28/03/2006 Posts: 719
Location: มหาวิทยาลัยราชมงคลอิสาน วิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา
|
Posted: 05/08/2006 11:52 pm Post subject: เทรนโฮสเตส |
|
|
ฮ่ะ ๆๆ นึกถึงทีไรฮาทุกทีแบบฝืด ๆ ถ้าจะเอารายละเอียดก็ แฮ่ ๆ แต่ไม่ขอเอ่ยนามนักแสดงแล้วกันยกเว้นผมเอ่ยได้แต่ขอบกเรื่องนี้หลังจากจบแล้ว (วงแตก) มีงอนครับ ลูกพี่งอน เดี๋ยวนี้เวลาไปพิษณุโลกทีไรแล้วผ่านโรงแรมไพลินทีไรจะต้องยิ้มคนเดียวทุกที _________________ อดีตโชเฟอร์ล้อเหล็ก |
|
Back to top |
|
|
Mahachai
3rd Class Pass (Air)
Joined: 05/07/2006 Posts: 407
Location: ชั.
|
Posted: 06/08/2006 10:40 am Post subject: |
|
|
สวัสดีครับพี่ตุ้ย ติดตามผลงานเช่นเดิมครับ |
|
Back to top |
|
|
|