รถไฟความเร็วสูง เป็นเหตุให้ผู้เขียน พาท่านผู้อ่านออกนอกประเทศญี่ปุ่น ไปจนเกือบทั่วโลก ดีที่ยังหาหนทางกลับมาถูก ไม่ลืมว่า กำลังเขียนเรื่องประเทศญี่ปุ่น อยากจะจบเรื่องรถไฟความเร็วสูงเสียที เพราะก่อนจะลงมือเขียนเรื่องญี่ปุ่น ยังคิดอยู่ในใจว่า คงไม่มีอะไรจะเขียนมาก แต่พอเขียนเข้าจริงแล้ว ก็มีเนื้อหาที่เขียนได้มากเอาการอยู่ ค่อยสมกับที่เขาออกค่าตั๋วเครื่องบิน พร้อมค่าที่พักให้ เรียกว่าทำงานคุ้มค่าแรงหน่อย
ทำงานที่ ร.ฟ.ท. แล้วเขียนเรื่องไฮเทค เช่นรถไฟความเร็วสูง หรือรถไฟแม่เหล็ก ใจก็นึกเปรียบเทียบกับคนเสพยาบ้า คือว่า (ฟังคนที่ลูกติดยาบ้าเขาเล่าให้ฟัง) ถ้าโลกที่เป็นอยู่ในชีวิตจริง มันน่าหดหู่เหลือเกิน การออกไปอยู่กับโลกในความฝัน ถึงจะเพียงชั่วครู่ชั่วยามก็ยังดี ลองดูภาพที่นำมาเปรียบเทียบ ก็จะเข้าใจว่า ทำไมจึงอยากออกไปอยู่ในโลกแห่งความฝันเสียบ้าง แต่ที่ผมทำอยู่ จะแตกต่างจากการเสพยาบ้า ตรงที่ไม่ผิดกฎหมายและไม่ได้เสพติด ตื่นจากฝันแล้วก็รู้ว่าความเป็นจริงคืออะไร
คนที่มาแอบดูผม เขียนเรื่องรถไฟความเร็วสูง และรถไฟแม่เหล็กแล้ว ชอบกระแหนะกระแหน กล่าวหาไปต่างๆ นานา ว่าผมเพ้อฝัน ก็โปรดหยุดได้แล้ว ต่อไปจะเขียนเรื่องที่มีสาระติดดินให้อ่านกัน
ทางรถไฟความเร็วสูงของเขา
ทางรถไฟความเร็วไม่สูงของผม
แต่เพื่อให้กลมกลืน กับการเขียนเรื่องประเทศจีน และเกาหลีที่เขียนให้ได้อ่านกันไป ก่อนหน้านี้ ก็จะขอจบเรื่องประเทศญี่ปุ่น ตรงประเด็นเศรษฐกิจและสังคม
อย่างไรก็ดี อยากจะเรียนท่านที่สนใจอ่านว่า ผมไม่มีโปรแกรมเดินทางไปไหนไกลๆ ในระยะนี้แล้ว ดังนั้น ก็คงจะไม่มีข้อมูลทำนองนี้ มาเขียนให้อ่านกันอีก จึงใคร่ขอความกรุณา บอกไปสักนิดว่า อยากทราบเรื่องอะไร ที่เกี่ยวกับรถไฟกันบ้าง จะได้เขียนให้ถูกใจท่าน คำถามเดียว ผมอาจจะนำไปขยายผลเขียนไปได้ตั้งหลายตอน เจ้าของหนังสือคงชอบเชียวแหละ แต่หลักการคือว่าเป็นแนววิชาการครับ ไปเขียนวิพากย์วิจารณ์อะไรมาก เกิดเรื่องแล้วผมรับไม่ไหว
กลับมาเข้าเรื่องประเทศญี่ปุ่น
ผู้เขียนเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นครั้งแรก เมื่อปี 198283 โดยไปฝึกอบรมในโครงการของ Asian Productivity Organization (APO) มีโอกาสไปนั่งฟังบรรยาย เรื่องวิธีบริหารทรัพยากรมนุษย์ ของประเทศญี่ปุ่น อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ทำให้ได้รับทราบว่า ญี่ปุ่นเขามีระบบสร้างคนของชาติ และหน่วยงานที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในเรื่องนี้ก็คือ ศูนย์เพิ่มผลผลิต ของประเทศญี่ปุ่น ที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Japan Productivity Organization (JPO) คำบรรยายที่ผ่านไปยี่สิบกว่าปีแล้ว แต่ยังก้องอยู่ในหู ผู้เขียนอยู่ก็คือ ในอนาคต ภาคบริการ (Service Sector) จะเป็นแหล่งสร้าง การจ้างงานขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ฉะนั้นรัฐบาลจะต้องเตรียมคน เพื่อเข้าสู่ภาคบริการ เหตุที่ต้องคิดอย่างนั้น ตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ก็เพราะผู้บริหารในขณะนั้นมีวิสัยทัศน์ เกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรม ว่าคงจะถึงจุดอิ่มตัวในอนาคต เมื่อถึงเวลาดังกล่าว การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมจะลดลง รัฐบาลจะต้องมองหา สื่อในการกระจายรายได้อย่างอื่น ซึ่งก็คือการจ้างงานในภาคบริการ
แนวคิดตรงนี้ ค่อนข้างแตกต่างจากเกาหลี ซึ่งเห็นว่างานบริการ ไม่ใช่อุดมคติ ในการกำหนดวิสัยทัศน์ ของประเทศในปัจจุบัน คงจำที่เคยเขียนไปแล้ว กันได้นะครับว่าคนเกาหลีจะไม่ทำ 3D (ถ้าสามารถหลีกเลี่ยงได้) นั่นคือ D Dangerous, D Difficult และ D Dirty
อีกเรื่องหนึ่ง ที่ยังจำได้แม้เวลาจะผ่านไปนานแล้ว คือคำบรรยายที่ว่า การบริหารบุคคลของประเทศญี่ปุ่น เน้นเรื่องระบบอาวุโส และการทำงานเป็นทีม ฉะนั้นการสร้างคน เข้าสู่ระบบ จะต้องมีแนวคิดนี้เป็นพื้นฐานด้วย ญี่ปุ่นไม่นิยม ระบบที่มี ดาวรุ่ง (Rising Star) ผู้บรรยายยกตัวอย่างว่า ถ้ามีไม้กระดานสองแผ่น ถูกยึดติดกันด้วย ตาปู 5 ตัว หากมีตาปูตัวหนึ่ง (ซึ่งผู้บรรยายหมายถึง Rising Star ที่แตกแถวออกมาจากกลุ่ม) ลอยขึ้นมา ก็จะทำให้ไม้กระดานสองแผ่น ถูกยึดด้วยตาปู 4 ตัว ซึ่งแน่นหนาน้อยกว่าเดิม ผู้บริหารต้องคอยใช้ฆ้อน เคาะตาปูที่ลอยขึ้นมาให้กลับที่เดิม ไม้สองแผ่นจึงจะยึดติด กันอย่างแน่นหนาเหมือนเดิม โดยมุมมองอย่างนั้น Rising Star ก็จะกลายเป็นความอ่อนแอขององค์กร แทนที่จะทำให้องค์การเข้มแข็ง
มีคำถามว่า ถ้าอย่างนั้น ความสามารถเฉพาะตัวที่เรียกว่า Individual Talent ก็ไม่มีประโยชน์ ผู้บรรยายตอบว่า เหมือนฟุตบอลทีมหนึ่ง ซึ่งจะประสบความสำเร็จได้ ต้องมีทั้ง Team Work และ Individual Talent ของผู้เล่น ถ้าขาดอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว ก็ไม่อาจจะประสบความสำเร็จสูงสุดได้ ผู้บริหารที่ดี จึงต้องมีความสามารถ ในการผสม ส่วนผสมสองอย่างนี้เข้าด้วยกัน ในอัตราส่วนที่พอเหมาะ
|