Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai Gallery in Facebook

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311232
ทั่วไป:13179452
ทั้งหมด:13490684
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ขุดกรุ : จากสถานี HS 1 PJ ถึงโทรทัศน์สีสเตอริโอ
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ขุดกรุ : จากสถานี HS 1 PJ ถึงโทรทัศน์สีสเตอริโอ
Goto page 1, 2  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> สัพเพเหระ
View previous topic :: View next topic  
Author Message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 26/10/2006 11:26 am    Post subject: ขุดกรุ : จากสถานี HS 1 PJ ถึงโทรทัศน์สีสเตอริโอ Reply with quote

เมื่อวานนี้ ผมมีโอกาสได้ขุดค้นเรื่องเดิมๆ ที่เคยลงใน รถไฟไทยดอทคอม ( เวอร์ชั่นเดิม ) ซึ่งคุณบอมบ์ ได้เก็บเอาไว้ให้ ต้องขอขอบคุณคุณบอมบ์ที่ยังไม่ทิ้งเรื่องลงกรุ มา ณ โอกาสนี้

และ...พยายามหาโอกาสขุดเรื่องจากกรุมาขายกันเรื่อยๆ ตามแต่จังหวะอำนวยล่ะครับ Laughing

......................................

จากสถานี HS 1 PJ ถึงโทรทัศน์สีสเตอริโอ

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2548 ได้มีงานครบรอบ 72 ปี กรมประชาสัมพันธ์ ตรงหน้าที่ทำงานผมเอง

Click on the image for full size
ป้ายงานครบรอบ 72 ปี กรมประชาสัมพันธ์

นอกจากกิจกรรมด้านนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับกิจการของกรมเจ้าของงาน งานแสดง และงานออกร้านจำหน่ายสินค้าแล้ว ยังมีพิธีเปิดอาคารพิพิธภัณฑ์การกระจายเสียงของกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีสิ่งที่น่าสนใจให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติกิจการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ของไทยด้วยสิ และที่สำคัญคือ

กิจการวิทยุกระจายเสียงเริ่มมาจาก พระดำริของนายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงทดลองส่งกระจายเสียงในนามว่า HS 1 PJ ที่วังบ้านดอกไม้ และต่อเนื่องมาจนถึงกิจการวิทยุ -โทรทัศน์สีระบบสเตอริโอในทุกวันนี้...

ได้การแล้วล่ะ...หลังจากพิธีเปิดอาคารพิพิธภัณฑ์การกระจายเสียงผ่านพ้นไปแล้ว ตกบ่าย ก็คว้ากล้องลงจากตึกที่ทำงานลงไปดูกันสิว่า มีการตั้งแสดงอะไรไว้บ้าง

กลับขึ้นมาคิดดูแล้ว เรื่องนี้...ค่อนข้างยาวสักหน่อย ต้องทยอยลงไปเรื่อยๆครับ

Click on the image for full size
อาคารพิพิธภัณฑ์กระจายเสียง กรมประชาสัมพันธ์

สำหรับตัวอาคารพิพิธภัณฑ์การกระจายเสียง เป็นอาคารส่งกระจายเสียง (เดิม) ของกรมประชาสัมพันธ์ ในซอยอารีสัมพันธ์ ( พหลโยธิน 7 ) เข้าใจว่า สร้างครั้งสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

ตอนนั้นเป็นทุ่ง แต่ตอนนี้ กลายเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการหลายกระทรวง ข้าราชการพลุกพล่านมากครับ แถวนี้...

เดินข้ามถนนหน้าตึกที่ทำงาน ผ่านจุดแสดงนิทรรศการของหน่วยงานต่างๆ แล้ว ก็เจอข้าวของที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การกระจายเสียง ตั้งโชว์รอรับผู้เข้าชมล่ะครับ

Click on the image for full size
ห้องโถงด้านหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์

longinus wrote:
ลุงตึ๋ง ใจดี เอารูปเอาเรื่องราวความรู้สนุกๆ น่าสนใจ

มาให้หลานๆ ชมอีกแล้ว ดีครับผมชอบ( ความรู้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม) จะรอชมรูปอยู่นะครับ


Last edited by black_express on 05/10/2007 3:54 pm; edited 3 times in total
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 26/10/2006 11:43 am    Post subject: Reply with quote

แผ่นเสียงเพลงประจำสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เวลาจับ ต้องเบามือระวังกันหน่อยครับ เพราะเป็นแผ่นเสียงรุ่นเก่า ทำด้วยครั่ง ( แชลแลค )

หากหลุดมือตกลงพื้น แตกกระจายเชียวล่ะ

Click on the image for full size
แผ่นเสียงรุ่นเก่า ( แผ่นครั่ง )

มีวางในตู้โชว์ก็มีครับ

รับบริจาคจากผู้ครอบครองเดิมที่เสียสละเพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาความรู้ของคนรุ่นหลัง ตอนนี้ก็ยังรับบริจาคอยู่เรื่อยๆ ครับ

Click on the image for full size
อุปกรณ์เครื่องใช้ด้านวิทยุกระจายเสียง ตั้งแสดงในตู้โชว์

ไมโครโฟนรุ่นคุณตายังหนุ่ม ร้องเพลงที ต้องประคองกันเมื่อยมือ

Click on the image for full size
ไมโครโฟนสมัยเก่า

เครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงแบบเคลื่อนที่

สมัยเริ่มแรกครับ

Click on the image for full size
เครื่องส่งวิทยุแบบ Mobile Unit

มุมแสดงภายในอาคาร แบ่งออกเป็นคูหาย่อย

แต่เนื้อเรื่องติดต่อกันตามแต่ละยุคสมัยครับ

Click on the image for full size
มุมแสดงภาพในแต่ละคูหา

ภาพขยาย นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินฯ ผู้ริเริ่มกิจการวิทยุกระจายเสียงเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

ต้องขออภัยด้วยนะครับ ที่ภาพไม่ชัดเจนจากแสงไฟ

Click on the image for full size
นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้ริเริ่มกิจการวิทยุกระจายเสียงเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

บริเวณวังบ้านดอกไม้

สถานีที่ทดลองส่งวิทยุกระจายเสียงเป็นครั้งแรก ในนามสถานีวิทยุ HS 1 PJ

Click on the image for full size
วังบ้านดอกไม้ สถานที่ทดลองส่งวิทยุกระจายเสียงออกอากาศเป็นครั้งแรกไทย

มีบันทึกไว้ ณ พิพิธภัณฑ์ฯ นี้ว่า

" วังบ้านดอกไม้ " เป็นสถานที่แห่งแรกที่นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน " พระบิดาแห่งกิจการวิทยุกระจายเสียงไทย " ทรงทดลองการส่งกระจายเสียง โดยใช้เครื่องส่งโทรศัพท์ ติดตั้งเสาอากาศบนหลังคาวัง

ทรงใช้ตำหนักชั้นบนเป็นห้องส่ง ใช้ชื่อสถานีว่า HP 1 PJ ส่งเสียงพูดและเสียงดนตรี "

Click on the image for full size
พระตำหนักที่ทรงทดลองส่งกระจายเสียง

ภาพขณะทรงทดลองส่งกระจายเสียงบนพระตำหนัก

Click on the image for full size
ทรงทดลองส่งกระจายเสียงบนพระตำหนัก

Wisarut wrote:
ภาพวังบ้านดอกไม้ของสมเด็จในกรมฯ นั้น

เป็นภาพถ่ายทางอากาศปี 2489 ที่ตอนนี้อยู่ในความดูแลของหอจดหมายเหตุแห่งชาตินะครับ


Last edited by black_express on 05/10/2007 3:55 pm; edited 2 times in total
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 26/10/2006 11:56 am    Post subject: Reply with quote

" ใน พ.ศ.2471 กรมพระกำแพงเพ็ชรฯ ทรงสั่งให้กรมไปรษณีย์โทรเลข ที่ปากคลองโอ่งอ่าง หน้าวัดราชบูรณะ ( วัดเลียบ ) ศึกษาการส่งกระจายเสียง และทดลองใช้เครื่องโทรเลขที่มีอยู่ มาดัดแปลงเป็นเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียง "

Click on the image for full size
อาคารกรมไปรษณีย์โทรเลข ( เดิม ) ปัจจุบันถูกรื้อเพื่อใช้เป็นพื้นที่ก่อสร้างสะพานพระปกเกล้า

" หลังจากทดลอง จึงทรงสั่งเครื่องส่งจากบริษัท ฟิลิปราดิโอ ประเทศวิลันดา (เนเธอร์แลนด์) กำลังส่ง 2.5 กิโลวัตต์ ราคา 80,000 บาท และจ้างห้าง เกียสัน กรุงเทพฯ ตกแต่งห้องต่างๆ 5 ห้อง ประกอบด้วย ห้องส่งเสียงเล็ก ห้องส่งเสียงใหญ่ ห้องบังคับเสียง ห้องผู้ประกาศ ห้องรับแขก เป็นเงิน 5,000 บาท เพื่อจัดตั้ง " สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท " ณ พระที่นั่งไวกูรณ์เทพสถาน พระราชวังพญาไท ใช้สัญญาณเรียกขาน HS P 1 ความยาวคลื่น 363 เมตร ความถี่ 826.44 กิโลเฮิตซ์ เสาอากาศสูง 40 เมตร ส่งกระจายเสียงทุกคืนเว้นวันจันทร์

ต่อมา กรมไปรษณ๊ย์โทรเลขได้ย้ายกิจการทดลองวิทยุกระจายเสียงจากปากคลองโอ่งอ่าง ไปที่สถานีวิทยุโทรเลขที่ศาลาแดง "

Click on the image for full size
สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท HS P 1

" สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท เปิดทำการส่งกระจายเสียงเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2473 ซึ่งตรงกับวันฉัตรมงคลในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โดยถ่ายทอดกระแสพระราชดำรัสจากพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย ไปยังเครื่องส่งที่พญาไท ถือเป็นการเปิดสถานีและถ่ายทอดสดนอกสถานที่เป็นครั้งแรก "

กระแสพระราชดำรัสครั้งประวัติศาสตร์นี้มีความตอนหนึ่งว่า....

"...การวิทยุกระจายเสียงที่ได้เริ่มจัดขึ้น และทำการทดลองตลอดมานั้น ก็ด้วยความมุ่งหมายว่าจะส่งเสริมการศึกษา การค้าขาย การบันเทิงแก่พ่อค้าประชาชน เพื่อควบคุมการนี้ เราให้แก้ไขพระราชบัญญัติดังที่ประกาศใช้เมื่อเดือนกันยายนแล้ว

และบัดนี้ได้สั่งเครื่องกระจายเสียงอย่างดีเข้ามาตั้งที่สถานีวิทยุโทรเลขพญาไทเสร็จแล้ว เราจึงขอถือโอกาสสั่งให้เปิดใช้เป็นปฐมฤกษ์ ตั้งแต่บัดนี้ไป..."


( จากหนังสือ " บุรฉัตรรำลึก " จัดทำโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย )

Click on the image for full size
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

" ผู้ประกาศในยุคแรกเป็นผู้ประกาศชายล้วน

- ร้อยเอกเขียน ธีมากร
- นายเฉลิม เศวตนันทน์ ( เสวกโท จมื่นมานิตย์นเรศร์ )
- นายราศี ปัทมสังข์ ( ประกาศภาษาฝรั่ง )
- นายสมจิตต์ คุปตวาทิน
- นายจำรัส กล้ายประยงค์

ยุคต่อมา ผู้ประกาศชายและหญิง

- นายสวัสดิ์ คณะดิลก (แทน นายราศี ปัทมสังข์)
- นายแม่น ชลานุเคราะห์
- นายเกษม หวังในธรรม
- นายดนัย ศรียาภัย
- นายชวน เย็นแข
- นายอาคม มกรานนท์
- ชนอ นิลประสิทธิ์
- โชติ เวชเดิม
- มัณฑนา โมรากุล
- ชูลาภ วสุวัตร์
- ผะออง แพทย์คดี ( คชสังข์สีห์ )

ต่อมาจึงมีผู้ประกาศหญิงประจำภาษาต่างประเทศ

- สุวรีย์ บุนนาค
- หม่อมหลวงกมลา สุขุม "

Click on the image for full size
ผู้ประกาศชายยุคแรกของสถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท

Click on the image for full size
ผู้ประกาศชายขณะส่งกระจายเสียง

โหย...ขอพักยกครับ วันนี้กลับบ้านก่อนครับ Very Happy


Last edited by black_express on 13/12/2007 4:25 pm; edited 2 times in total
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 26/10/2006 12:08 pm    Post subject: Reply with quote

หายไปหลายวันครับ....

เพราะแม่ข่ายที่นี่ปิดเพื่อตรวจสอบ server เพิ่งมาจ้อได้เมื่อเย็นวันนี้เอง

ขอต่อเรื่องกิจการวิทยุกระจายเสียงกันไปเรื่อยๆ นะครับ

" ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎร์ ภายใต้การนำของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา พันเอกพระยาทรงสุรเดช และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ใช้วิทยุกระจายเสียงเผยแพร่ข่าวสารการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลวงประดิษฐ์มนูธรรมมีความคิดให้ก่อตั้งกองการโฆษณา

นายพลเรือโทพระยาราชวังสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ภายใต้การนำของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา มีบทบาทในการก่อตั้ง "

Click on the image for full size
กลุ่มผู้นำของคณะราษฎร์

" กองการโฆษณา ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 พ.ค.2476 จุดเริ่มต้นของการประชาสัมพันธ์ยุคใหม่และวิชาการแขนงใหม่ เพื่อโฆษณาประเทศให้เป็นที่รู้จักและเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ต่อมาพัฒนาเป็นสำนักงานโฆษณาการ กรมโฆษณาการ และกรมประชาสัมพันธ์ตามลำดับ

คณะผู้ก่อตั้ง 9 คน คือ นายตะเวทิกุล , นายสมประสงค์ ( ประสงค์ ) , นายบุญล้อม ( ปราโมทย์ ) พึ่งสุนทร , นายบุญช่วย ( ศุภชัย ) ศรีชุ่มสิน , นายตุ๊ แหลมหลวง , นายเปรื่อง ศิริภัทร , นายไพโรจน์ ชัยนาม และ พันตรีหลวงสารานุประพันธ์ ( นวล ปาจิณพยัคฆ์ ) โดยมีหม่อมเจ้าสกลวรรณกร วรวรรณ เป็นหัวหน้ากอง "

คงไม่ลืมกันนะครับ...พันตรีหลวงสารานุประพันธ์ เป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้องเพลงชาติไทยในทุกวันนี้

เพลงชาติไทยสมัยก่อน จะเริ่มว่า " แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง...."

ต่อจากนั้นไป คงต้องค้นเนื้อร้องเต็มๆ กันในหอสมุดกันล่ะครับ...

Click on the image for full size
คณะผู้ก่อตั้ง กองการโฆษณา

" การดำเนินงานช่วงแรกไม่มีอาคารเป็นเอกเทศ อาคารหลังนี้จึงเป็นที่ทำการหลังแรก ตั้งอยู่ที่สะพานผ่านพิภพลีลา ถนนราชดำเนิน เดิมเป็นห้างสรรพสินค้าชื่อ

ห้างแบดแมน แอนด์ โก คัมปนี

อยู่ระหว่าง พ.ศ.2478 - 2504 จึงได้รื้อและสร้างอาคารหลังใหม่

Click on the image for full size
อาคารที่ตั้งกองโฆษณาการ หลังแรก จนถึงปี พ.ศ.2504

ขอต่อเรื่องของอาคารกรมประชาสัมพันธ์ ไปอีกสักหน่อยครับ....

" อาคารหลังใหม่ สร้างเพื่อการประชาสัมพันธ์ ออกแบบโดยนายพิชัย วาสนาส่ง ทำพิธีเปิดอาคารโดย ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2506

อาคารนี้ถูกเผาในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2535 ผลงานที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมจึงถูกทำลาย "

Click on the image for full size
อาคารกรมประชาสัมพันธ์ หลังที่สอง

อาคารของกรมประชาสัมพันธ์ ที่ถูกไฟไหม้ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2535

Click on the image for full size
อาคารกรมประชาสัมพันธ์ที่ถูกไฟเผาทำลาย

ส่วนหนึ่งของเอกสารทางประวัติศาสตร์กระจายเสียง ที่ถูกเผาทำลาย

Click on the image for full size
เอกสารที่ถูกเผาทำลาย

" รัฐบาลได้อนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างอาคารกรมประชาสัมพันธ์หลังใหม่ที่ซอยอารีย์สัมพันธ์ ในวงเงิน 517 ล้านบาท บนพื้นที่ 27 ไร่ ออกแบบโดยกรมโยธาธิการ ในระหว่างที่ก่อสร้างนี้ ได้ไปเช่าอาคารฟอร์จูนทาวน์เป็นที่ทำการชั่วคราว จนกระทั่งเปิดอาคารที่ทำการถาวรเมื่อวันที่ 7 ส.ค.2540 "

ครับ...ตัวที่ตั้งกรมประชาสัมพันธ์ปัจจุบัน

Click on the image for full size
อาคารกรมประชาสัมพันธ์ ในปัจจุบัน

นอกจากจะมีอาคารสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเพื่อการศึกษา , อาคารพิพิธภัณฑ์การกระจายเสียง , ศูนย์พัฒนาข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์แล้ว ยังมีหอจดหมายเหตุ - ภาพข่าวที่เกี่ยวข้องทางประวัติศาสตร์ ให้ผู้สนใจได้ศึกษาค้นคว้า ตั้งอยู่ที่ชั้น 2 อาคารกรมประชาสัมพันธ์ อีกด้วย

( หมายเหตุ : รปภ.เฝ้ากรมฯ เยอะชมัดญาติ รถยนต์ที่ไม่ติดใบอนุญาตเข้า - ออก ผ่านไม่ได้เลย แถมที่ตั้งยังอยู่ในซอยอีก ม็อบเลยไปชุมนุมที่หน้าทำเนียบฯ แทน )


Last edited by black_express on 13/12/2007 4:26 pm; edited 3 times in total
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 26/10/2006 12:31 pm    Post subject: Reply with quote

กลับมาเรื่องวิทยุกระจายเสียงกันต่อไปครับ...

" เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2482 รัฐบาลโอนกองทะเบียนวิทยุและกระจายเสียง ซึ่งรับผิดชอบสถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท และงานจดทะเบียนเครื่องรับวิทยุกับเครื่องขยายเสียงจากกรมไปรษณีย์โทรเลข ไปขึ้นกับสำนักงานโฆษณาการ ส่วนวิทยุที่ศาลาแดง ได้ทดลองต่อไป "

สมัยก่อน ประชาชนที่ต้องการซื้อวิทยุกระจายเสียง จะต้องไปขอใบอนุญาตให้มีและจดทะเบียนวิทยุตามกฎหมายว่าด้วยการติดตั้งวิทยุโทรเลขที่มีบังคับใช้อยู่ในสมัยนั้นก่อน เนื่องจากกิจการวิทยุกระจายเสียงเป็นของใหม่ และยังไม่ได้แยกเป็นเอกเทศจากวิทยุโทรเลขของทางราชการและเอกชนผู้ได้รับอนุญาตครับ

ดังนั้น บรรดาวิทยุ "แปดหลอด หกหลอด" สมัยคุณปู่จึงมีเจ้าของตัวตนแน่นอน และหาซื้อไม่ได้ง่ายๆ เหมือนทุกวันนี้

Click on the image for full size
วิทยุใช้ไฟฟ้าสมัยคุณปู่ พร้อมใบอนุญาตให้มีวิทยุกระจายเสียง

ภาพใกล้ๆ...ใบอนุญาตให้มีวิทยุกระจายเสียงสมัยโน้น...
มืดไปนิดหนึ่ง อย่าได้ว่ากันครับ

Click on the image for full size
ใบอนุญาตให้มีเครื่องรับวิทยุสมัยก่อน

" ใน พ.ศ.2484 กรมโฆษณาการ เปลี่ยนชื่อ สถานีวิทยุกระจายเสียงกรุงเทพฯ ที่พญาไท ( Radio Bangkok at Phayathai ) มาเป็น สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ( Radio Thailand ) "

โดย ฯพณฯ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นประธานในพิธีเปิดสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ท่ามกลางบรรยากาศของสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มตั้งเค้าขึ้น ณ ทวีปยุโรป และประเทศไทยได้เข้าสู่สงครามอินโดจีนกับกองทัพฝรั่งเศสผู้ปกครองอาณานิคม

Click on the image for full size
พิธีเปิดสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ( Radio Thailand )

แล้วสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เริ่มขึ้น...

" วิทยุกระจายเสียงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ( พ.ศ.2484 - 2488 ) สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เกิดขึ้นในทวีปยุโรป และในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 กองทัพญี่ปุ่นบุกไทยเพื่อใช้เป็นเส้นทางผ่านไปมลายูและพม่า "

รัฐบาลไทยจำต้องร่วมมือเป็นพันธมิตรกับประเทศญี่ปุ่น

Click on the image for full size
ข่าวสารแสดงถึงบรรยากาศก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

และหลังจากรัฐบาลไทยได้ร่วมลงนามเป็นพันธมิตรกับประเทศญี่ปุ่นแล้ว...

" พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและที่ปรึกษากรมโฆษณาการ ได้ดำเนินการประกาศสงครามมหาเอเซียบูรพาต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกา ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย "

Click on the image for full size
พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ ประกาศสงครามมหาเอเซียบูรพาทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

ตลอดช่วงสงคราม...

" จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้นำประเทศใช้ประสิทธิภาพสื่อวิทยุกระจายเสียง เสนอบทความโฆษณาปลุกใจแทบทุกวัน เพื่อกระตุ้นให้คนไทยรักชาติ สร้างชาติ เสียสละ ต่อต้านและทำลายขวัญศัตรู โดยใช้นามปากกาว่า " สามัคคีชัย " หรือ " สามัคคีไทย " เช่นบทความ เราตาย ดีกว่าชาติตาย ทุกคนร่วมกันสร้างชาติด้วย

นอกจากนี้ยังใช้บทสนทนานายมั่น นายคง ซัก ถาม วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายตรงข้ามและสะท้อนความคิดของผู้นำ

ในอีกด้านหนึ่ง... กรมโฆษณาการ ทำงานแทนกระทรวงการต่างประเทศและเป็นหน่วยงานเดียวที่ติดตามรับฟังข่าวต่างประเทศจากสถานีวิทยุกระจายเสียงของประเทศต่างๆ อย่างใกล้ชิด ทั้งในยุโรป อเมริกา และเอเซีย โดยหาผู้มีความรู้ทางภาษา เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เยอรมัน ฮินดู เขมร มลายู พม่า ฯลฯ ทำหน้าที่จดบันทึกและแปลข่าวความเคลื่อนไหวของทั้งมิตรและศัตรู เพื่อออกอากาศและจัดส่งให้หัวหน้ารัฐบาล สามเหล่าทัพ รัฐมนตรี ฯลฯ โดยปฏิบัติหน้าที่ 24 ชั่วโมง ได้รับเบี้ยเลี้ยงเวรละ 3 บาท "

Click on the image for full size
บทความปลุกใจให้รักชาติของผู้นำรัฐบาล

มีการใช้สื่ออื่นๆ ให้เฝ้าระวังศัตรูและฝ่ายตรงข้าม

Click on the image for full size
สื่อโปสเตอร์เตือนใจประชาชน

ดูโปสเตอร์บางแบบ

นึกถึงบรรยากาศบ้านเราบางแห่งขึ้นมาตะหงิดๆ แฮะ Laughing

Click on the image for full size
อีกรูปแบบหนึ่ง

บางแบบ สื่อให้เห็นบรรยากาศในยุค " อักขระวิบัติ " ได้ชัดเจน

" เอ๊ะนั่น แต่งตัวจะไปไหนจ๊ะ "

" ฉันจะไปฟังวิทยุหน่อย จะได้รู้เรื่องราวติดต่อทางความคิดและการทำงานไห้พร้อมเพรียงกันทั้งชาติ "

ทุกท่านควนฟังวิทยุไว้เสมอ จะเปนคุนแก่ชาติของท่านหย่างมาก


ในช่วงนั้น รัฐบาลได้ดำเนินการกึ่งบังคับซื้อเครื่องรับวิทยุจากประชาชน ( ก็ลงทะเบียนไว้เป็นหลักฐานตรวจสอบแล้วนี่) และให้ทุกจังหวัดจัดซื้อเครื่องรับวิทยุไปติดตั้งเป็นเครื่องสาธารณะ ในที่ประชุมชน ได้รับฟังข่าวสารจากรัฐบาลให้ทั่วถึง

Click on the image for full size
โปสเตอร์ปลุกใจในยุค " อักขระวิบัติ"

" ช่วงสงคราม รัฐบาลใช้เพลงเป็นสื่อทั้งปลุก และปลอบใจประชาชนให้ปฏิบัติตามนโยบายสร้างชาติ วงดนตรีกรมโฆษณาการต้องทำงานหนัก เนื้อเพลงแต่งตอนเช้า ร้องออกอากาศสดช่วงบ่าย ออกแสดงตามโรงมหรสพและสถานที่ต่างๆ เพื่อกล่อมเกลาจิตใจประชาชนไม่ให้กลัวภัยสงคราม

บางครั้งใช้จังหวะจากท่วงทำนองเพลงการบรรเลงดนตรีวงนี้ เป็นรหัสแจ้งข่าวไปยังพันธมิตร

กรมโฆษณาการเป็นหน่วยหนึ่งของขบวนการเสรีไทย ในสมัย พ.ต.วิลาศ โอสถานนท์ ดำรงตำแหน่งอธิบดี "

Click on the image for full size
ภารกิจสร้างสื่อเพลงปลุกใจประชาชนไม่ให้กลัวภัยสงคราม

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สิ้นสุดลง...

" ใน พ.ศ.2496 กระทรวงกลาโหมขอใช้พระราชวังพญาไท เพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จึงย้ายเครื่องส่งและห้องส่งวิทยุกระจายเสียงมาฝากที่สถานีวิทยุศาลาแดง ต่อมา ได้ตั้งเครื่องส่งกระจายเสียงใหม่ที่ ซอยอารี ถนนพหลโยธิน และสร้างห้องส่งกระจายเสียงที่กรมโฆษณาการ ถนนราชดำเนิน
สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย มีอาคารทำการเป็นเอกเทศแห่งแรกที่ ถนนวิภาวดี รังสิต เปิดเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2529 "

( มีเกร็ดเล่าว่า อาคารที่ทำการถาวร สร้างเสร็จมานานแล้ว แต่ยังรีๆ รอๆ ไม่อยากย้ายห้องส่งไปสักที คงใช้วิธีถ่ายทอดสัญญาณไปออกอากาศที่เครื่องส่งวิทยุเช่นที่เป็น...
วันหนึ่งก็มาถึง... เครื่องถ่ายทอดขัดข้องกระทันหัน ออกอากาศช่วงข่าวเจ็ดโมงเช้าไม่ได้ จึงได้ฤกษ์ขนย้ายเอกสารอุปกรณ์ต่างๆ เข้าที่ตั้งใหม่ภายในวันนั้นเอง โดยความอนุเคราะห์ยานพาหนะจากป๋าเปรม บ้านสี่เสาฯ เพราะอยู่ฟังข่าวเจ็ดโมงเช้าวันนั้นด้วย )


Click on the image for full size
อาคารเครื่องส่งสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ที่ซอยอารี ปัจจุบันย้ายไปติดตั้งที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

อาคารเครื่องส่งสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
อีกมุมมอง...

Click on the image for full size
อาคารเรื่องส่งวิทยุกระจายเสียง ที่ซอยอารี

nathapong wrote:
เออ.... เห็นรูปผู้ประกาศท่านนึง

เวลามีการปฎิวัติครั้งใด
ถ้าผู้ประกาศท่านนี้ อ่านประกาศของฝ่ายใด
ฝ่ายนั้นๆ มักจะเป็นผู้ชนะเสมอ

ท่านผู้ประกาศท่านนั้นใครเอ่ย ?????


Nakhonlampang wrote:
nathapong บันทึก:
เห็นรูปผู้ประกาศท่านนึง

คุณ อาคม มกรานนท์ ครับ เป็นใครอื่นไปไม่ได้แน่นอน

ครั้งแรกกบฎเมษาฮาวายเมื่อปี 24 สมัยรัฐบาลพลเอกเปรมฯ จำได้ว่าตอนนั้นป๋าเปรมหลบไปตั้งกอง บก.ปราบกบฏที่โคราช

( เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นช่วงระหว่างเหตุการณ์กบฏครั้งนี้ ที่เกี่ยวกับกรมประชาสัมพันธ์ทางอ้อมก็คือ ครูเอื้อ สุนทรสนานเสียชีวิตในช่วงนี้พอดี )

อีกครั้งก็กบฏ 9 กันยายน เมื่อปี 28 สมัยรัฐบาลพลเอกเปรมฯ เหมือนเดิม

กบฏครั้งนี้ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ( เหตุการณ์จบภายในวันเดียว ) ก็คือ กองกำลังบางส่วนไม่มาตามนัด

แต่แม้ว่าเหตุการณ์จะจบเร็วแต่ก็น่าเสียใจที่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ โดยมีทหารบาดเจ็บ และผู้สื่อข่าว( รู้สึกจะเป็นสำนักข่าว NBC ) เสียชีวิต จำได้ว่าได้ดูภาพที่ถ่ายจากกล้องโทรทัศน์ของนักข่าวที่โดนยิงเสียชีวิตด้วย

ตอนปฏิวัติ 23 กุมภาพันธ์ 2534 สมัยรัฐบาลพลเอกชาติชายฯ นี่ก็ด้วยมั้ง ชักจะลืมๆแล้วละสิ


Last edited by black_express on 21/12/2011 11:01 pm; edited 6 times in total
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 26/10/2006 12:49 pm    Post subject: Reply with quote

ว่าจะ post ต่อ เครื่องแม่ข่ายในที่ทำงานดันเจ๊งเสียนี่... อึดอัดใจมาตั้งอาทิตย์หนึ่งแล้ว

ยังมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องด้านกิจการวิทยุกระจายเสียง กับกำเนิดโทรทัศน์ไทยที่รอนำลงไว้ด้วย คงต้องรออีกพักหนึ่งล่ะครับ

ไม่น่าเชื่อว่า แค่อาคารเล็กๆ หลังเดียว จะมีเรื่องให้เอามาคุยมากมายเพียงนี้...

Click on the image for full size

วันนี้ได้ฤกษ์...มาติดตามเรื่องกันต่อครับ...

ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ฯ มีตัวอย่างห้องส่งกระจายเสียงสาธิต ในวันเปิด มีเจ้าหน้าที่อยู่ประจำห้องส่งสาธิตนี้ด้วย

เห็นเด็กนักเรียนเข้าคิวเป็นโฆษกสมัครเล่นกันหลายราย

Click on the image for full size
เจ้าหน้าที่ประจำห้องส่ง ขณะสาธิตการกระจายเสียง

มีคำอธิบายเกี่ยวกับห้องส่งกระจายเสียงนี้โดยย่อครับ...

" ห้องส่งกระจายเสียงในอดีตเป็นระบบ Analoque แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

ส่วนของผู้ประกาศ กับ ส่วนการควบคุมเสียง

ส่วนผู้ประกาศ ประกอบด้วยโต๊ะ เก้าอี้ และไมโครโฟน สำหรับให้ผู้ประกาศปฏิบัติหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างสถานีกับผู้ฟัง ด้วยวิธีประกาศขานชื่อสถานี พูด อ่าน หรือดำเนินรายการ

ส่วนควบคุมเสียง ประกอบด้วย ชุดควบคุมเสียง เครื่องเล่นแผ่นเสียง เครื่องบันทึกเสียง ตลอดจนอุปกรณ์ด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการส่งกระจายเสียง โดยมีช่างเทคนิคประจำ "

Click on the image for full size
บรรยากาศหน้าห้องส่งกระจายเสียงสาธิต

ในบรรดาผู้ประกาศ มีอยู่ไม่กี่ราย ที่ผู้ฟังต้องเงี่ยหูรับฟังครับ โดยเฉพาะสมัยโน้น ยังไม่มีสื่อกระจายเสียงกันมากมายเกรียวกราวเหมือนทุกวันนี้

สมัย ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรีที่ครองตำแหน่งนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ผมยังไม่ทันฟังเสียงท่านปราศรัย เพราะตัวยังเล็กมาก

ถ้าต้องการจะฟังแล้ว คงต้องไปขอฟังเทป ที่หอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ ชั้น 2 ตึกกรมประชาสัมพันธ์ ซอย พหลโยธิน 5 ( อารีสัมพันธ์ ) ครับ

Click on the image for full size
ฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะปราศรัยทางวิทยุกระจายเสียง

เสียงนี้ ยังคุ้นหูผมอยู่ครับ ห้าว กังวาล เพราะยังทันฟังคำปราศรัยอยู่หลายปี

" พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักทั้งหลายของข้าพเจ้า...."

ไม่มีใครอื่น นอกจาก ฯพณฯ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรีคนดังของไทย โดยเฉพาะการใช้ มาตรา 17

Click on the image for full size
ฯพณฯ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะปราศรัย

เสียงนี้ ไม่ห้าวหาญ แต่ราบเรียบ นุ่มนวลกว่า...

" พี่น้องชาวไทยที่รักทั้งหลาย...."

ฯพณฯ จอมพล ถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรีคนสุดท้าย ก่อนเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยเต็มใบ

Click on the image for full size
ฯพณฯ จอมพล ถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะปราศรัย

เสียงของท่านสุดท้ายนี้ ยังหารับฟังได้ทุกเช้าวันเสาร์ หลังเทียบเวลา 8.00 น. โดยเฉพาะสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และอินเตอร์เน็ต คงไม่ต้องอธิบายคุณลักษณะของเสียงเพิ่มเติมนะครับ

ฯพณฯ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทยปัจจุบัน

พูดจัดรายการได้สบายๆ รอบรู้ทุกเรื่อง กระจายเสียงจากเครื่องบินข้ามทวีปก็มี จะเว้นจัดรายการก็ช่วงไปราชการต่างประเทศ และช่วงหาเสียงเลือกตั้งเท่านั้น

หายากนะครับ นายกรัฐมนตรีจัดรายการวิทยุเก่งขนาดนี้ Laughing

Click on the image for full size
ฯพณฯ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขณะจัดรายการวิทยุ " นายกฯ ทักษิณ พบประชาชน "


Last edited by black_express on 13/12/2007 4:31 pm; edited 2 times in total
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 26/10/2006 12:58 pm    Post subject: Reply with quote

" แต่..แร..แร้นนนน...

สวัสดีครับ...ท่านผู้ฟัง พบกับรายการข่าวหกโมงเช้าเช่นเคยครับ..."


เสียงทักทายเร็วปรื๋อ คุ้นหูชาวบ้านร้านตลาดทุกเช้าอยู่หลายปี

คงจำกันได้นะครับว่าเป็นเสียงของผู้จัดรายการคนดังของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย คุณปรีชา ทรัพย์โสภา มีข่าวสารทางราชการ ข่าวสัพเพเหระ และลงท้ายด้วยข่าวตลกขบขันแถมด้วยเสียงเพลงร้องกันสดๆ จากผู้จัดในบางครั้ง ทำให้ผู้ฟังอมยิ้มไปทั้งวัน

ผมเคยเห็นตัวจริงครั้งหนึ่งที่อาคารกรมประชาสัมพันธ์ ถนนราชดำเนิน เพราะนอกจากจะจัดรายการ " ข่าวหกโมงเช้า " แล้ว ยังจัดรายการเล่านิยายจีนและเรื่องอื่นๆ ในช่วงบ่ายด้วย

Click on the image for full size
คุณปรีชา ทรัพย์โสภา ขณะจัดรายการวิทยุ " ข่าวหกโมงเช้า "

ผมเคยเข้าคอร์สอบรม " เทคนิคการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ " ครั้งหนึ่ง ทางหน่วยงานฝึกอบรมพาไปดูงานที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ถ.วิภาวดี รังสิต

ท่านวิทยากรของสถานีฯ ได้เล่าความเป็นมาของรายการ " ข่าวหกโมงเช้า " ว่า เกิดจากแนวคิดของทางสถานีที่จัดรายการข่าวชาวบ้านที่เป็นลักษณะข่าวเบาๆ รับฟังได้ง่าย เพราะเวลาของรายการเดิมได้ว่างลง

ตอนนั้นช่วงเช้ามีรายการข่าวของคุณ ดุ่ย ณ บางน้อย , คุณวุฒิ เวณุจันทร์ กำลังดังอยู่ เรียกว่าจะแย่งเรตติ้งบ้างล่ะ เลยตั้งชื่อรายการว่า " ข่าวหกโมงเช้า " สำหรับแหล่งข่าวได้มาจาก กองข่าว , สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดต่างๆ นั่นเอง เป็นการเผยแพร่ข่าวในท้องถิ่นให้ผู้ฟังทั่วประเทศได้ทราบด้วย แต่เวลาค่อนข้างหิน คือ 06.00 น. ชาวบ้านเพิ่งตื่นนอน

ครั้นหันมามองตัวผู้จัดรายการแล้ว ก็ลงตัวอยู่ที่คุณปรีชา ทรัพย์โสภา เพราะมีน้ำเสียงค่อนข้างแหลม พูดเร็ว เหมาะสำหรับปลุกชาวบ้านที่กำลังงัวเงียยามเช้าตื่นขึ้นมารับฟังข่าวดีนัก

รายการ " ข่าวหกโมงเช้า" จึงได้ถือกำเนิด แล้วติดเรตติ้งอย่างรวดเร็ว

Click on the image for full size
รับข่าวไป พิมพ์ข่าวเพื่อนำบันทึกเสียงลงเทปด้วย

สำหรับกรรมวิธีจัดทำข่าว วิทยากรท่านเล่าว่า

จะเริ่มตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณ 16.30 น. โดยคุณปรีชา จะเริ่มรับข่าวจากแหล่งข่าวต่างๆ เพื่อจัดทำบทวิทยุ ข่าวนั้นจะเป็นลักษณะข่าวสั้น พิมพ์มาจากสำนักงาน ปสจ.ต่างๆ บางแห่งก็ส่งมาทางโทรสาร หรือแจ้งข่าวทางโทรศัพท์ ถ้าหากเป็นข่าวด่วน

ทำบทเสร็จแล้วก็จะทำเข้าห้องบันทึกเสียงลงเทป ทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ครบกำหนดก็จะพัก แล้วนำข่าวอื่นมาจัดบันทึกเทป จนครบเวลาที่จะออกอากาศ

บางครั้งมีข่าวด่วนแทรกเข้ามา ต้องรื้อมาอัดเทปใหม่ก็มี กว่าจะเสร็จงานประจำวัน กลับบ้านพักได้ก็ราวห้าทุ่มเศษไปแล้ว

ดังนั้น เสียงจากรายการ " ข่าวหกโมงเช้า " จะเป็นเสียงจากเทปอัดรายการเมื่อคืนวันก่อน

ถ้าพูดจัดรายการสดกันเต็มๆ ละก็....มีหวังผู้จัดเป็นลมโดยไม่ต้องสงสัย Very Happy

Click on the image for full size
รางวัลที่ได้รับของผู้จัดรายการ " ข่าวหกโมงเช้า " มีรางวัล " สังข์เงิน " รวมอยู่ด้วย

วิทยากรท่านเล่าต่อไปอีกว่า มีอยู่คืนหนึ่ง หลังจากเสร็จงานราวห้าทุ่มครึ่ง คุณปรีชา ลงมาจากอาคารกรมประชาสัมพันธ์ หาแท็กซี่กลับบ้านที่คลองจั่น พลันต้องผงะ เมื่อเห็นรถถังมาจอดซุ่มอยู่หน้ากรมประชาสัมพันธ์แล้ว

สัญชาติญาณบอกให้รีบเร้นกาย ลัดเลาะออกเดินมาห่างๆ รีบเรียกแท็กซี่กลับบ้าน ราคาเท่าไหร่ไม่ว่ากัน...

โชคดีที่ทหารมากับรถถังไม่ทราบว่า คนร่างเล็กๆ ใส่แว่นเดินก้มหน้าออกมาจากกรมฯ นั้นเป็นใคร ? ประกอบกับนายเบื้องบนยังไม่มีคำสั่งให้กักบริเวณ คงปล่อยให้เจ้าหน้าที่เดินเข้าออกตามสะดวก ไม่งั้นคงมีชื่อผู้อ่านแถลงการณ์คณะปฏิวัติแข่งกับ คุณอาคม มกรานนท์ แน่ ๆ

เกือบลืม...เหตุการณ์ครั้งนั้น เขาเรียกว่า " กบฎเมษาฮาวาย " ที่พ่าย เพราะสาเหตุไม่ตามนัดทำนองนั้น Laughing

Click on the image for full size
บอร์ดกำหนดนัดครั้งสุดท้าย เขียนโดยเจ้าของลายมือ คุณปรีชา ทรัพย์โสภา ครับ

ถึงแม้ว่าคุณปรีชา ทรัพย์โสภา จะล่วงลับไปแล้ว

แต่ทางกรมประชาสัมพันธ์ได้จัดพื้นที่ส่วนหนึ่งภายในพิพิธภัณฑ์กระจายเสียง ไว้เป็น " หอเกียรติภูมิ ปรีชา ทรัพย์โสภา " ไว้ด้วยครับ

Click on the image for full size
โต๊ะทำงานพร้อมอุปกรณ์สำนักงานของคุณปรีชา ทรัพย์โสภา ครั้งยังมีชีวิตอยู่


Last edited by black_express on 07/10/2007 1:51 pm; edited 1 time in total
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 26/10/2006 1:11 pm    Post subject: Reply with quote

นอกจากดำเนินกิจการด้านวิทยุกระจายเสียงแล้ว

กรมประชาสัมพันธ์ยังใช้สื่อด้านต่างๆ ประกอบการสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนอีกด้วยครับ ผ่านทางรถกระจายเสียงประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ อย่างเช่นรถแบบนี้

เก๋าดีจังครับ... Smile

Click on the image for full size
รถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่

รถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ ในยุคกรมโคสนาการ

เข้าใจว่าอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

Click on the image for full size
รถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ กรมโคสนาการ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า

รุ่นเก๋าสุด ยังใช้ชื่อสำนักงานโฆษณาการ ครับ

Click on the image for full size
รถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ รุ่นแรกๆ ลำโพงฮอร์นเป็นแบบเก่าสมชื่อจริงๆ

นอกจากจะมีรถกระจายเสียงแบบเคลื่อนที่แล้ว ยังมีภาพยนต์ติดมือไปฉายให้ชาวบ้านดูอีกด้วยครับ สมัยเด็ก เท่าที่เห็น จะไม่ได้รับความสนใจเท่าหนังขายยา

คิดว่าเด็กสมัยนี้ คงไม่รู้จักรถหนังขายยา เพราะตอนหลังๆ เจอแต่หนังล้อมวิกแล้ว

สมัยผมยังเล็ก วันไหนมีรถประเภทนี้วนประกาศไปทั่วบ้านทั่วเมืองว่าคืนนี้จะมีหนังมาฉาย เย็นวันนั้น ต้องรีบทานข้าวมื้อเย็นเร็วกว่าปกติ อาบน้ำแต่งตัวเป็นเด็กดีในโอวาท รอนัดเพื่อนซี้หอบเสื่อไปจองที่ดูหนังกัน

สักทุ่มเศษ ก็จะมีหนังสารคดีประเภทนี้มาฉายฆ่าเวลาก่อน ราวครึ่งชั่วโมง บางเรื่องน่าสนใจมากครับ ยืมมาจาก USIS ( สำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพฯ ) กรมประชาสัมพันธ์ กองทัพต่างๆ มาเห็นสารคดีรถไฟไทยก็จากนี่แหละ ไม่รู้ว่าหามาได้ยังไง ?

รอบสองก็ฉายหนังการ์ตูน โดยเฉพาะชุด Wood pecker ( นกหัวขวานเจ้าเล่ห์ ) หรือเรื่องสั้นๆ ถูกใจเด็กๆตอนนี้คนดูเริ่มหนาตา แต่หนุ่มสาวยังสงวนท่าที ยืนคุยกันนอกบริเวณโน้น

แล้วก็หนังตัวจริง ขึ้นอยู่กับบริษัทเจ้าของหน่วยโฆษณาเคลื่อนที่ว่าจะมีทุนหนาขนาดไหน ? ถ้าทุนหนาอย่างบริษัทดีทแฮล์ม จะเป็นหนังฝรั่งซีนีมาสโคป ใช้เครื่องอาร์คไฟฟ้า สี เสียงกระหึ่ม เชื่อไหมว่า " สปาร์ตาคัส " , " เบนเฮอร์ " , " ป้อมปืนนาวาโรน " , " สะพานข้ามแม่น้ำแคว " เคยฉายหนังกลางแปลงมาแล้ว

ถ้าเป็นส่วนราชการ อย่าง ธนาคารออมสิน จะไม่พูดมาก เพราะชาวบ้านรู้จักกันดีแล้ว มักฉายหนังไทย 16 ม.ม. หรือ 35 ม.ม. ตามแต่โอกาส ถ้าเป็นหนัง 16 ม.ม. ผู้พากษ์ มักจะนอกเรื่องพาดพิงชื่อคนที่ชาวบ้านรู้จัก , สถานที่ในตัวเมืองที่ไปฉาย เรียกเสียงฮาทั่วหน้า

ถ้าเป็นบริษัททุนหนา อย่างเครือสหพัฒน์ฯ จะพ่วงวงดนตรีไปแสดงโชว์ด้วย แยกกันต่างหาก หางเครื่องแต่งชุดไมโครสเกิร์ต หนุ่มๆ หายไปเฝ้าเวทีเพียบ

บริษัททุนน้อย อย่างห้างขายยาแก้ปวด แก้ไข้ ยาถ่ายพยาธิ เหล่านี้ ใช้จอแค่ 16 ม.ม. เครื่องฉายหลอด ใช้หนังอินเดีย ( ขาว - ดำ ถ้าเป็นฉากระบำจะเป็นหนังสี ) หนังไทย 16 ม.ม. เวลาฉายจะยืดยาดมาก เปลี่ยนม้วนหนัง โฆษณาสรรพคุณยาเกือบชั่วโมง แถมจัดชุดยาให้ผู้ชมซื้อไปสัก 50 ชุด ราคาไม่ใช่น้อย ถ้าไม่หมดก็ไม่ฉายหนังต่อ ชาวบ้านก็ซื้อแก้รำคาญ ทั้งๆ ที่รู้ว่าเอาไปใช้อะไรไม่ได้มาก เงินที่ซื้อยาเหล่านี้ จะเป็นค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าโรงแรม ค่ากิน ค่าน้ำมันรถ ทีมงานทั้งหมด

ถ้ายังโลภมาก ยาหมดชุดแล้ว แต่พูดไม่รู้จบ จะเสียงตะโกนให้ฉายหนังเร็วๆ ดังเป็นระยะ ๆ

ถ้ายังอึดอีก จะเริ่มมีก้อนหินลึกลับปาจอหนัง หรือในขั้นสุดท้าย จับแมวจรจัดโยนใส่จอ...

สัญชาตญาณสัตว์ เห็นไฟหน้าจอสว่างก็ตกใจ กางเล็บรูดลงมากับจอหนัง ก็..จอขาดสิขอรับ

หนังเลิกกลางคัน แต่ทีมงานฉายหนังหากินไม่ได้อีกหลายวัน กว่าจะซ่อมจอเสร็จ

นอกเรื่องไปโขครับ เดี๋ยวโดนปาจอ

แฮ่ม...

Click on the image for full size
กล้องถ่ายภาพและม้วนฟิล์มภาพยนต์ของกรมประชาสัมพันธ์

เอกสารเผยแพร่ สิ่งตีพิมพ์ เหล่านี้ มีทำตั้งแต่เริ่มตั้งหน่วยงานราชการแห่งนี้ล่ะครับ รวบรวมจากบทวิทยุที่ออกอากาศไปแล้วนั่นแหละ ทำแจกจ่ายให้หน่วยงานราชการต่างๆ เอาไปเผยแพร่กับชาวบ้านอีกครั้งหนึ่ง เอาแบบครบวงจรกันเลยล่ะ

หาได้ง่าย ตามก้นตู้หนังสือในห้องสมุดประชาชน เพราะไม่ใช่หนังสืออยู่ในความสนใจประเภทข่าวดารา ข่าวชาวบ้าน เป็นสิ่งที่ทีมงานจัดทำหนังสือประเภทนี้ต้องกุมขมับตลอดมาทุกยุคสมัย คิดแก้ปัญหาเพื่อให้อยู่ในความสนใจของผู้อ่านVery Happy

Click on the image for full size
เอกสารเผยแพร่ในยุคปลุกระดมให้ประชาชนปฏิบัติตามนโยบายรัฐนิยมสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม

อีกส่วนหนึ่งของเอกสารเผยแพร่ บางเล่มเป็นเรื่องเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ภาพ - ข่าวเกี่ยวกับประเทศไทยให้ชาวต่างประเทศได้รู้จัก ก่อนมีการต่อตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ( อสท.) ซึ่งกลายเป็น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในปัจจุบัน

เห็นเอกสารฉบับกำนัน - ผู้ใหญ่บ้าน คิดถึงเพลง " ผู้ใหญ่ลี " ครับ เพราะถ้อยคำที่ใช้จะเป็นภาษาทางราชการที่ชาวบ้านสมัยก่อน ได้รับการศึกษาน้อย เข้าใจยาก

เพลงนี้เขาเล่าว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านเพิ่มรายได้ทางเศรษฐกิจด้วยการเลี้ยงเป็ดและสุกร พอผู้ใหญ่บ้านไปประชุมชี้แจงลูกบ้านแล้ว มาข้องใจกับคำว่า " สุกร " ที่ประชุมเลยเงียบสงัด เพราะตัวผู้ใหญ่บ้านเองไม่กล้าถามกลางที่ประชุมอำเภอ กลัวนายอำเภอดุเอาว่าไม่รู้เรื่อง ก็อึ้งเหมือนกัน

แล้วมีลูกบ้านหัวดีคนหนึ่ง แปลเทียบเคียงเอา เคยได้ยินคำว่า " สุนัข " แปลว่า " หมา " สุนัข คงหมายถึง หมาตัวใหญ่ " สุกร " คงหมายถึง หมาตัวน้อย หรือ " หมาน่อย " ธรรมดาๆ ก็เลยตกลงเลี้ยงหมาน้อยกันทั้งหมู่บ้าน

จนวันหนึ่ง ทางอำเภอไปตรวจเยี่ยมหมู่บ้าน เห็นหมาน้อยมีมากมายทุกหลังคาเรือน เกิดสงสัยขึ้นมาเลยสอบถาม แถมเล่ากระฉ่อนมาจนกลายเป็นเพลง

จะเท็จจริงอย่างไร ผมเคยอ่านเรื่องนี้ในหนังสือที่ อาจารย์กาญจนา นาคนันท์ เล่าเอาไว้ครับ

แต่ที่แน่ๆ เพลงเนื้อร้องง่ายๆ นี้ โด่งดังจนถึงหู ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ จึงได้กำหนดในแผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเป็นแห่งแรกที่ขอนแก่น พร้อมทั้งสนับสนุนการศึกษาในท้องถิ่นเป็นการใหญ่

และมีเกร็ดเล่าว่า ทางมหาดไทยได้เปลี่ยนชื่อตำบลผู้ใหญ่ลี ในจังหวัดขอนแก่นเป็นชื่อใหม่ ผมจำไม่ได้แล้วว่าอยู่ในอำเภอใด ? Laughing

Click on the image for full size
เอกสารเผยแพร่ข่าวสารทางราชการไปยังกำนัน - ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อชี้แจงกับลูกบ้าน และเอกสารประชาสัมพันธ์ภาพ - ข่าวในประเทศไทยให้ชาวต่างประเทศได้รู้จักด้วย

อีกชุดหนึ่ง " ใจเขาใจเรา " จากบทวิทยุออกอากาศโดยคุณหมอประสพ รัตนากร จิตแพทย์ชื่อดัง ที่คงกระพันต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันครับ

แสดงว่าปัญหาทางด้านจิต ยังเป็นปัญหาคงกระพันเช่นเดียวกัน ? Very Happy

Click on the image for full size
ชุดเอกสารเผยแพร่ที่ยืนยาวจนถึงปัจจุบัน " ใจเขาใจเรา "


Last edited by black_express on 30/10/2009 10:15 am; edited 3 times in total
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 26/10/2006 1:16 pm    Post subject: Reply with quote

มีการจัดแสดงห้องประวัติศาสตร์ไว้มุมหนึ่งครับ มีสรุปคำบรรยายว่า

" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งดำรงพระยศสมเด็จพระอนุชาในรัชกาลที่ 8 เสด็จพระราชดำเนินมากรมประชาสัมพันธ์ ถนนราชดำเนิน ทรงปรึกษาด้านดนตรีกับ ครูเอื้อ สุนทรสนาน เมื่อ พ.ศ.2489 "

คงไม่แปลกใจนะครับว่า เพลงพระราชนิพนธ์ ในเวลาต่อมา ทำไมถึงไพเราะประทับใจผู้ฟังนัก ?

Click on the image for full size
ห้องประวัติศาสตร์ แสดงภาพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงปรึกษาด้านดนตรีกับครูเอื้อ สุนทรสนาน

อีกมุมหนึ่ง เป็นชุดรับแขกที่เคยจัดไว้ต้อนรับ นายพลเอก ฮิเดกิ โตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นซึ่งเดินทางมาเยือนประเทศไทย มหามิตรในสมัยสงครามเอเซียบูรพา

Click on the image for full size
ห้องประวัติศาสตร์ แสดงภาพเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น มาเยือนไทยในสมัยสงครามมหาเอเซียบูรพา


Last edited by black_express on 07/10/2007 3:06 pm; edited 2 times in total
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 26/10/2006 1:22 pm    Post subject: Reply with quote

ครับ...ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการวิทยุกระจายเสียง และสื่อที่เกี่ยวข้อง กับวิวัฒนาการของกรมประชาสัมพันธ์ มีจัดแสดงเพียงเท่านั้น คราวนี้เราจะไปมุมแสดงเกี่ยวกับกิจการวิทยุโทรทัศน์ในประเทศไทย...

จากบันทึกสรุปที่ติดตั้งไว้ให้ผู้เข้าชมได้ศึกษา ข้อความดังนี้ครับ

" โทรทัศน์ไทย เกิดขึ้นเป็นแห่งแรกในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อ พ.ศ.2498 สมัย ฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

จุดเริ่มต้นเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2493 ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม มอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์ เสนอ " โครงการจัดตั้งวิทยุโทรภาพ " ต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีลงมติให้จัดตั้งวิทยุโทรภาพ ใน พ.ศ.2494 ...."


Click on the image for full size
มุมจัดแสดงเกี่ยวกับกิจการด้านโทรทัศน์ในประเทศไทย

บันทึกประวัติศาสตร์ด้วยลายมือของ ฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ถึงอธิบดีกรมโฆษณาการ แสดงแนวคิดริเริ่มเพื่อจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2493

Click on the image for full size
บันทึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับแนวคิดริเริ่มเพื่อจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ในประเทศไทย

ตามเนื้อหาบันทึกย่อกันต่อไปครับ...

"...และ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ พลตรี สุรจิต จารุเศรณี ศึกษา จัดหาและจัดส่งโทรทัศน์ โดยในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2495 บริษัท RCA จำกัด ประมูลเครื่องส่ง และเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ จำนวน 9 เครื่อง และจัดส่งเจ้าหน้าที่กรมประชาสัมพันธ์ไปฝึกงาน และดูงาน 6 คน เป็นเวลา 6 เดือน คือ

- นายจำนง รังสิกุล
- นายอัมพล พจนพิสุทธิ์
- นายธำรง วรสูตร
- นายสมชาย มาลาเจริญ
- นายธนะ นาคพันธ์
- นายฟู ชมชื่น

ข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ล้วนเป็นผู้บุกเบิกโทรทัศน์ไทย

"จากหนังสือเรื่อง " กำเนิดโทรทัศน์ไทย ( 2493 - 2500 ) " โดยคุณ สินิทธ์ สิทธิรักษ์ ระบุว่า นอกจาก บริษัท RCA จำกัด แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา จะชนะการประมูลเครื่องส่งวิทยุโทรทัศน์แห่งใหม่ขนาดกำลังส่ง 10 กิโลวัตต์ พร้อมรถถ่ายทอด 1 คัน ได้ในราคา 10,020,336 บาทแล้ว ยังได้ส่งแบบแปลนอาคารสถานีโทรทัศน์ เสาอากาศความสูง 90 เมตร พร้อมระบบปรับอากาศมาเพื่อดำเนินการก่อสร้างโดยใช้เงินงบประมาณ12,007,150 บาทด้วย

ส่วนเครื่องส่งชุดเล็ก กล้องถ่ายโทรทัศน์ และเครื่องรับโทรทัศน์จำนวน 9 เครื่อง มาจากบริษัท มาร์โคนี แห่งประเทศอังกฤษ มอบให้เจ้าหน้าที่กรมประชาสัมพันธ์ใช้ฝึกหัดและสาธิตแสดงแก่ผู้มาเยี่ยมชม ในช่วงเวลาก่อนการประมูลเครื่องส่งโทรทัศน์

( เห็นไหม ? เรื่องการ lobby มีมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ) Very Happy

Click on the image for full size
ข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ ขณะฝึกงานด้นวิทยุโทรภาพที่บริษัท RCA จำกัด สหรัฐอเมริกา

เท่าที่ทราบจากหนังสือเล่มที่กล่าวมานี้

การจัดตั้งสถานีวิทยุโทรภาพแห่งแรกในประเทศไทย ไม่ได้ราบรื่นเท่าใดนัก เพราะเป็นของใหม่ ใช้เงินงบประมาณในการจัดตั้งมากกว่างบประมาณของหนึ่งกระทรวงในสมัยนั้นทีเดียว ( ใช้งบประมาณ 22,027,486 บาท ในขณะที่กระทรวงต่างๆ ได้รับจัดสรรงบประมาณเฉลี่ยเพียง 8,700,000 บาทเท่านั้น ) จนถึงขั้นเปิดอภิปรายในรัฐสภาถึงความฟุ่มเฟือยนี้ แต่รัฐบาลสามารถผ่านการอภิปรายไปได้

Click on the image for full size
เครื่องรับโทรทัศน์สมัยแรกของไทย ราคาเครื่องละ 8,000 บาท ซึ่ง ขุนวิจิตรมาตรา " กาญจนาคพันธุ์ " ท่านเปรียบเทียบว่าเป็น " สาวน้อยร้อยชั่ง " เพราะเทียบเท่ากับเงินร้อยช่างในสมัยโบราณพอดี

ปัญหาด้านอื่นที่ประสบ เป็นปัญหาด้านเทคนิคด้านคลื่นความถี่ โดยประเทศไทยอยู่ในโซนที่ 3 ( ทวีปเอเซีย ) ซึ่งสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศกำหนดให้ใช้ความถี่คลื่นโทรภาพ เป็นระบบ 625 เส้น แต่กลับส่งคลื่นสัญญาณโทรทัศน์ด้วยระบบ 525 เส้น และปัญหาด้านความถี่ของระบบกระแสไฟฟ้า ในประเทศไทยใช้ระบบ 220 โวลต์ 50 Hz. แต่เครื่องส่งของสหรัฐอเมริกาใช้ระบบ 110 โวลต์ 60 Hz. ต้องมีการสั่งซื้อเครื่องแปลงความถี่ระบบไฟฟ้า ( Converter ) มาใช้งานอีก เป็นมูลค่า 2,000,000 บาท ไม่นับเครื่องแปลงไฟที่ซื้อมาใช้กับเครื่องรับโทรทัศน์ตามบ้านด้วย

วันนี้ขอพักไว้ก่อนครับ....

Wisarut wrote:
พี่ด่วนดำ, คุณลุงถาวร ช่วยประสิทธิ์ ( ตายไปแล้วเมื่อปีกลายนี้เอง ) แห่งช่อง 5 บอกว่า ในยุค เครื่อง 60 Hz ตีกะไฟฟ้า 50 Hz นั้น ถ้าอยากจะดูทีวีให้ชัด ต้องผงกหัวขึ้นลง 10 รอบ ต่อวินาที ทำเอาจะเป็นสันนิบาตลูกนกกันทั้งเมืองหงะ


box_car wrote:
อ่ะอะอะ....แหม่ได้ความรู้เยอะทีเดียวครับ

ไม่รู้ว่าพี่ด่วนดำไปสืบเสาะข้อมูลจากไหน แต่นับถือครับ เข้าใจง่าย น้องๆคนไหนที่เรียนเกี่ยวกับโฆษณาอยู่อย่าพลาด เอาข้อมูลไปอ้างอิงทำรายงานได้เลยนะเนี่ย (เสียดายตอนผมเรียนผมไม่มีคอมพ์ และตอนนั้นผมก็คงยังไม่รู้จักลุงตึ๋ง ไม่งั้นนะ เกรดผมกระฉูดแน่ (อ่ะอะอะ)

ปล. ผมติดตามเรื่อยๆนะเนี่ย คิดว่าคงยังมีอีกเรื่อยๆ ใช่มะ


Last edited by black_express on 08/10/2007 12:00 am; edited 1 time in total
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> สัพเพเหระ All times are GMT + 7 Hours
Goto page 1, 2  Next
Page 1 of 2

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©