Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai Gallery in Facebook

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311235
ทั่วไป:13181186
ทั้งหมด:13492421
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ปิยมหาราชรำลึก เรื่องเล่าจาก อ.นคร จันทศร
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ปิยมหาราชรำลึก เรื่องเล่าจาก อ.นคร จันทศร
Goto page Previous  1, 2, 3, 4  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> สาระความรู้วิชาการรถไฟและประวัติศาสตร์รถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
nathapong
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 3515
Location: Ayuthaya - Lamlukka - Navanakhon - Silom

PostPosted: 28/10/2009 12:53 pm    Post subject: Reply with quote

ปิยมหาราชรำลึก 46 (ตอนที่ 7)

เมื่อวันอาทิตย์สัปดาห์ก่อน ได้ไปส่งญาติขึ้นรถไฟที่หัวลำโพง มีผู้โดยสารรถไฟแน่นไปหมดก็ยังนึกไปถึงว่า พวกนักแก้ปัญหาจราจรที่คิดจะย้ายหัวลำโพงไปอยู่นอกเมือง เคยไปเห็นภาพแบบนั้นบ้างไหมหนอ อีกใจหนึ่งก็คิดไปถึงว่าที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มาลงหมุดสร้างทางรถไฟเพื่อจะเหนี่ยวรั้งแผ่นดินภาคอีสานไว้ไม่ให้ไปขึ้นกับฝรั่งเศส เมื่อ 107 ปี ก่อนนั้น บัดนี้ได้เป็นที่อาศัยของผู้คนจำนวนมากมายในการดำรงชีวิต

แต่ที่อดเป็นห่วงไม่ได้ คือเห็นหัวลำโพงที่เคยเป็น Showcase ในการเปลี่ยนแปลงการรถไฟฯ กำลังจะกลายสภาพเป็น โชว์ห่วย สกปรก รกรุงรัง ร้านขายแผ่นซีดีเปิดโฆษณาสินค้าเสียงดังราวกับคนทะเลาะกันในโรงงิ้ว

หัวลำโพงเป็นจุดเริ่มต้นของการมีรถไฟในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.2434 และเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงองค์กรการรถไฟฯ เมื่อ พ.ศ.2543 ก่อนหน้านั้นหัวลำโพง ภายใต้หลังคาโค้งแบบศิลปร่วมสมัยกับสถานีรถไฟโดยทั่วไปในโลก คือที่ซุกซ่อนของหนูและแมลงสาบซึ่งมากัดกินเศษอาหารที่ตกเรี่ยราดบนพื้น ร้านขายหนังสือ ร้านอาหารและร้านจำหน่ายสัมภาระในการเดินทางเบียดเสียดกันอยู่อย่างแออัด ไร้ระเบียบ

พ.ศ.2543 เมื่อตัดสินใจว่าจะทำหัวลำโพงเป็น Showcase ในการเปลี่ยนแปลงจึงปรากฎเป็นรั้วล้อมรอบ มีผ้าพลาสติคปิดกั้นไม่ให้เห็น รู้แต่ว่ามีการก่อสร้างอยู่ข้างใน เพราะมีเสียงดังและฝุ่นที่ปลิวออกมาข้างนอก 5 เดือนผ่านไป ผ้าพลาสติคถูกเปิดออก กลายเป็นหัวลำโพงโฉมหน้าใหม่ที่ไฉไลกว่าเดิม คนที่ดำริเรื่องการเปลี่ยนโฉมหน้าหัวลำโพงทำอยากให้เป็นอะไรที่มีระดับ “A Touch of Class” มีรูปลักษณ์ที่มีระดับ โอ่โถง มีสไตล์ เป็นที่ซึ่งดึงดูดคนไปทำกิจกรรมอื่น นอกเหนือจากอาศัยเป็นท่ารถขึ้น/ลงรถไฟ

หลังจากเนรมิตหัวลำโพงขึ้นใหม่เป็น Showcase ของการเปลี่ยนแปลงแล้ว ผู้บริหารยังผลักดันให้เกิดการปรับปรุงขบวนรถ เปลี่ยนเก้าอี้นั่ง เปลี่ยนรูปแบบรถเสบียง ทาสีรถเสียใหม่ เหล่านี้คือการสร้าง Quick Win ในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหากทำไปเรื่อยๆ และเพิ่มกรณีตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยแล้ว องค์กรก็จะส่งสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงออกมาให้คนทั้งในและนอกองค์กรได้เห็น แต่การทำ Showcase มาสะดุดหยุดลงเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล และที่ทำให้กลายเป็นข่าวฉาวโฉ่ คือการทำ Showcase เรื่องห้องน้ำราคาแพง ซึ่งเป็นการยุติลงของความพยายามที่จะสร้างสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงองค์กร

เมื่อกระแสของการเปลี่ยนแปลงสะดุดลง บรรยากาศเก่าๆ ก็หวนกลับมาอย่างรวดเร็ว อะไรที่ทำไว้เดิมก็ทรุดโทรมลง ผู้คนก็เงื่องหงอย ที่ไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ออกมากระดี้กระด้าว่าเป็นผู้ชนะ ที่เคยถูกผู้บริหารใช้ให้ทำ Showcase ก็ถูกสอบสวนบ้าง ถูกพักงานไปบ้าง ถูกมองเหมือนกับว่าเป็นกลุ่มกบฏที่จะล้มล้างองค์กรบ้าง คนเราก็มีสามัญสำนึกด้วยกันทุกคน ทำไปแล้วต้องทะเลาะเบาะแว้งกับคนอื่น ใครจะอยากทำ องค์กรจึงเข้าสู่ภาวะเงียบสงบจนน่ากลัว คือ ต่างก็นั่งมองหน้ามองตากันไปมาโดยไม่ปริปากพูดเพราะกลัวฝ่ายตรงข้ามรู้ว่าอยู่ข้างไหน ตำราการบริหารการเปลี่ยนแปลงของฝรั่งกล่าวว่า ถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงองค์กรก็จะต้องเริ่มต้นที่การเห็น Urgency Issue คือ เห็นว่าอะไรบ้างที่เป็นเหตุปัจจัยที่ต้องเปลี่ยนแปลง แล้วจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงด้วยการทำ Showcase เพื่อให้เห็นว่าสิ่งที่คิดจะเปลี่ยนนั้นเมื่อทำไปแล้วหน้าตาจะเป็นอย่างไร เสร็จแล้วก็จะต้องรักษามาตรฐานใหม่นั้นไว้ แล้วกลับไปค้นหา Urgency Issue อื่นกันใหม่พร้อมทั้งทำ Showcase ทำอย่างนี้ไปเรื่อย องค์กรก็จะส่งสัญญาณของการเปลี่ยนแปลง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเป็น Change Agent ในการเปลี่ยนทรงผมคนไทยไปแล้ว ก็ต้องรักษาทรงผมแบบใหม่นั้นไว้ไม่ให้คนหันกลับไปไว้ผมทรงมหาดไทยอย่างแต่ก่อน เสร็จแล้วจึงขยายผลในการสร้าง Showcase เพิ่ม ดังที่มีพระราชดำริจะเปลี่ยนแปลงทรงผมของผู้หญิงไทยเพิ่มขึ้นด้วย

...เมื่อพวกผู้ชายไว้ผมทรงยาวแบบฝรั่งกันหมด จึงเกิดปัญหาว่าแล้วพวกผู้หญิงเล่า...ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสชักชวนอย่างไรไม่ทราบ ปรากฎว่าเจ้าจอมมารดาแพ พระสนมเอกรับอาสาเอาตัวออกหน้า เลิกไว้ผมทรงปีก เมื่อแรกก็มีชาววังพากันค่อนขอด แต่ก็พักเดียว...พวกนางในพากันเอาคุณแพเป็นตัวอย่าง จนกระทั่งผมปีกหมดสิ้นสูญไปจากพวกนางใน...

เจ้าจอมมารดาแพจึงเป็น Change Agent ที่ทรงตรัสชักชวนมาช่วยกันทำเป็นตัวอย่างว่า ทรงผมผู้หญิงที่จะนำประเทศไทยไปสู่วิสัยทัศน์การได้ชื่อว่าเป็นประเทศมีอารยธรรมอย่างฝรั่งนั้น คืออย่างไร เหนือสิ่งอื่นใดคือ ที่จะทำเพิ่มขึ้นนี้ เป็นดำริของผู้นำสูงสุดในองค์กร (คือพระเจ้าอยู่หัวในที่นี้) ในการกำหนดประเด็นที่จะเปลี่ยนแปลงและหาคนมาทำเป็นตัวอย่าง และเมื่อเปลี่ยนแปลงไปแล้วก็ต้องรักษาไว้

ตัวอย่างเหล่านี้ เหมือนในตำราฝรั่งที่แต่งกันขึ้นในภายหลัง แต่เป็นที่น่าเสียดาย นอกจากเราจะไม่นำพระราชกรณียกิจมาเป็นแบบอย่างแล้ว เรายังไม่อยากอ่านตำราฝรั่งกันอีกด้วย ดังนั้น หัวลำโพงที่เคยทำเป็น Showcase ไว้ก็กำลังจะกลายเป็นโชว์ห่วย มีกระทะตั้งน้ำมันทอดไก่บนชานชาลา น้ำมันหกเรี่ยราดลงบนพื้นซึ่งปูหินแกรนิต พื้นที่เคยสะอาดหมดจดก็หมองลงไปด้วยคราบสิ่งสกปรกที่จับแน่น มีรถเข็นขายของบุโรทั่งล่ามโซ่ติดไว้ที่โคนเสาในวงซึ่งทาสีเหลืองบนชานชาลา (แสดงว่าตั้งใจทำให้เป็นอย่างนั้น) เหล่านี้คือการกลับไปสู่สภาพเดิมๆ เป็น “ A Touch of Class That’s Gone ”
_________________
ภารกิจเสร็จสมบรูณ์ บ้ายบาย ...RFT
Back to top
View user's profile Send private message Send e-mail
nathapong
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 3515
Location: Ayuthaya - Lamlukka - Navanakhon - Silom

PostPosted: 28/10/2009 12:54 pm    Post subject: Reply with quote

ปิยมหาราชรำลึก 46 (ตอนที่ 8)

ที่กล่าวถึงมาแล้วคือ การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ตำราฝรั่งเรียกการเปลี่ยนแปลงส่วนนี้ว่า Hardware Change ที่ต้องลงมือเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นกายภาพก่อน ก็เพราะสามารถมองเห็นได้โดยง่าย แค่ตาเนื้อสัมผัส ก็รู้แล้วว่าเปลี่ยน นอกจากนั้นก็ควรจะเริ่มต้นเปลี่ยนสิ่งที่ทำให้สำเร็จได้โดยง่ายก่อนเพื่อผลด้านจิตวิทยาที่จะเกิดขึ้นทั้งกับคนที่จะไปเปลี่ยนคนอื่น (ผู้กระทำ) และคนที่จะถูกเปลี่ยน (ผู้ถูกกระทำ) แต่ก็มีที่ปรึกษาจำนวนมากที่แนะนำให้ลูกค้าเปลี่ยนเรื่องใหญ่เลย เพราะกลัวลูกค้าจะหาว่าไม่เก่ง แล้วจะพาลไม่ได้รับค่าจ้าง ผลก็คือพัง ! การเปลี่ยนแปลงล้มเหลว แต่ถ้าลูกค้าเปลี่ยนแปลงแล้วล้มเหลว พวกที่ปรึกษาที่ขาดจรรยาบรรณก็จะชอบใจอีกนั่นแหละ เพราะมันหมายถึงว่าจะได้มีงานทำกันไปเรื่อยๆ

เมื่อผมบรรยายให้ Change Agent ของการรถไฟฯ ฟัง ได้ยกตัวอย่างกรณีพระพุทธเจ้าซึ่งทำการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ของชีวิตจนตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จึงทำการเผยแพร่หลักธรรม ซึ่งทางเลือกในการเผยแพร่หลักธรรมก็มีอยู่สองทาง ทางหนึ่งคือ ทำตัวเหมือนนักท่องสูตรคูณ จะแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจได้ต้องแปรรูป นั่นคือ เข้าเมืองแล้วไปโพนทะนาเรื่องตรัสรู้ (นิพพาน) แล้วชักชวนลูกหลานชาวบ้านโกนหัวบวช เอาผ้าเหลืองคลุมอุ้มบาตรออกภิกขาจารตอนเช้า ถ้าทำอย่างนี้โลกจะไม่มีพุทธศาสนาอย่างแน่นอน เพราะพ่อแม่ของเด็กผู้ชายจะต้องต่อต้าน ขว้างปา ขับไล่ จะกลายเป็นคนพูดอะไรเพ้อเจ้อที่คนฟังไม่รู้เรื่อง ดังนั้นจึงต้องเลือกอีกทางหนึ่ง คือการใช้อุบายในการเผยแพร่หลักธรรม

ฉันใดก็ฉันนั้น การจะเปลี่ยนแปลงองค์กรจึงต้องคิดอย่างมีอุบาย มียุทธศาสตร์ ตำราฝรั่ง (อีกนั่นแหละ) เรียกว่า Strategic Thinking คือคิดให้ไปถึงไหนสักที่ ไม่ใช่ว่า “ ตีหัวหมาด่าแม่...” ไปวันหนึ่งๆ ไม่เกิดเป็นอะไรขึ้นมาสักอย่าง

กรณี “ ตีหัวหมาด่าแม่...” นี้ ตำราฝรั่งก็เขียนไว้เหมือนกัน คือเรียกว่าเป็น “Activity-Centered Management” คิดทำอะไรให้มันวุ่นวาย “Looking Busy” ไปวันหนึ่งๆ เพื่อจะตบตานายที่คิดแบบ Activity-Centered ด้วยกัน จับพลัดจับผลูได้สองขั้น ได้เลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง ดีกว่าคนที่เอาแต่คิดเชิงยุทธศาสตร์เป็นไหนๆ เพราะชอบคิดขัดใจนายอยู่เรื่อย

อีกประการหนึ่ง คือที่เรียกว่า Project-Centered Management พวกนี้หลับตาลงครั้งใดเห็นแต่เลขหลักหมื่นล้านแสนล้าน ฝันเห็นแต่โครงการ แต่แปลกที่ยิ่งทำโครงการ ยิ่งทำให้บ้านเมืองมีปัญหา ที่มีปัญหาก็เพราะไม่ใช่การคิดเชิงยุทธศาสตร์ คือไม่เคยฝันเห็นบ้านเมืองในอุดมคติเป็นปลายทางในการคิดไว้ก่อนแล้วค่อยมาคิดทำโครงการ เล่นเอาแต่ฝันเข้าไปที่ตัวโครงการเลย มันก็เป็นเช่นนี้แหละ (โยม) !

พระพุทธเจ้าจึงคิดเรื่องการเผยแพร่คำสอนในเชิงยุทธศาสตร์โดยสร้าง Showcase ก่อน คือ ไปหาปัญจวัคคี ซึ่งพูดกันแค่ไม่กี่คำก็ตรัสรู้เพราะเป็นผู้ที่อยากจะเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว แต่ขาดองค์ความรู้ คือยังไม่มี Knowledge เท่านั้น ปัญจวัคคีจึงเป็น Change Agent รุ่นแรกในพระพุทธศาสนา

พอมีพวกแล้ว ก็เกิดเครือข่าย (Network) จะพูดจะทำอะไรต่อไปก็ง่าย จึงโชคดีที่พระพุทธเจ้าเลือกทำโดยอุบายดังนี้ โลกจึงเกิดวัฒนธรรมแบบพุทธศาสนาขึ้น

กลับมากรณีในหลวง รัชกาลที่ 5

เมื่อคิดอุบายในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยอย่างง่ายและมองเห็นการเปลี่ยนที่เป็นรูปธรรมขึ้นมาแล้ว ต่อไปจึงทรงดำริที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ยากเป็นลำดับยิ่งขึ้น สิ่งที่ว่ายากนี้คือการเปลี่ยน “วัฒนธรรม” หรือ Culture Change ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต้องใช้ตาจิต (Discerning Eyes) จึงจะมองเห็น ตำราฝรั่งเรียกว่าเป็น Software Change พระราชดำริในส่วนนี้คือ

...ยังขนบธรรมเนียมประเพณีอีกหลายอย่างที่เป็นที่ขายหน้าฝรั่ง...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชดำริแก้ไขด้วยกำหนดประเพณีเข้าเฝ้าเป็นสองอย่าง...คือ “เฝ้าอย่างเดิม” กับ “เฝ้าอย่างใหม่”…จึงโปรดให้เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ เป็นนายงาน รื้อพระตำหนักเดิม สร้างพระตำหนักใหม่ขึ้นอีกหมู่หนึ่ง ทำเป็นตึกสองชั้นอย่างฝรั่งที่มีเสด็จอยู่ เป็นที่พระราชทานเลี้ยงและรับแขก...

การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมเป็นเรื่องยากและละเอียดอ่อนที่ควรดำเนินการต่อเนื่อง หลังจากคนในองค์กรถูกกระตุ้นด้วยอุบายอื่นให้เริ่มเห็นดีเห็นงามกับการเปลี่ยนแปลงแล้ว และเมื่อคิดจะเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้ ก็ควรจะรีบทำ ดังที่ทรงสั่งรื้อพระตำหนักแล้วโปรดให้ทำที่เข้าเฝ้าอย่างใหม่ เพื่อจะสนับสนุนแนวคิดให้เกิดวัฒนธรรมอย่างใหม่ขึ้นโดยเร็ว ก่อนที่กระแสการเปลี่ยนแปลงที่กำลังขึ้นสูงจะฝ่อลงไปเสียก่อน

บทเรียนตรงนี้คือ อย่าเอาแต่คิดและเขียนรายงานไปเรื่อยเปื่อย เรียกที่ปรึกษาฝรั่งมาแก้ไขรายงานไปแล้ว 27 ครั้ง ยังไม่ได้เปลี่ยนอะไรที่เป็นรูปธรรมสักอย่าง ที่เป็นดังนั้น ก็เพราะที่ปรึกษายังเสนอทางเลือกในการเปลี่ยนแปลงองค์กรซึ่งไม่เป็นที่ถูกใจเสียที ถ้าเสนอทางเลือกที่ถูกใจเมื่อใดก็จะได้ลงมือเปลี่ยนแปลงองค์กร

ทางเลือกนั้นคือ “ขอให้องค์กรทำการเปลี่ยนแปลงโดยอยู่ต่อไปตามเดิม”
_________________
ภารกิจเสร็จสมบรูณ์ บ้ายบาย ...RFT
Back to top
View user's profile Send private message Send e-mail
nathapong
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 3515
Location: Ayuthaya - Lamlukka - Navanakhon - Silom

PostPosted: 28/10/2009 12:55 pm    Post subject: Reply with quote

ปิยมหาราชรำลึก 46 (ตอนที่ 9)

...ในปี พ.ศ. 2417...พระองค์ทรงจัดการปกครองบ้านเมืองด้วยวิธีการปกครองแบบใหม่ขึ้นหลายประการ ในบรรดาสิ่งเหล่านั้น ได้มีการตั้งและตรา “พระราชบัญญัติเคาน์ซิลออฟสเตท (Council of State) หรือสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน” ขึ้นอย่างหนึ่ง และจัดตั้งสถาบันและตรา “พระราชบัญญัติไปรเวซี่เคาน์ซิล (Privacy Council) หรือสภาที่ปรึกษาในพระองค์” ขึ้นด้วย เป็นสถาบันองค์กรคู่กัน...

การเปลี่ยนแปลงที่เริ่มต้นมาอย่างง่ายๆ เริ่มยากและลึกขึ้นเป็นลำดับ อันเป็นกุศโลบายที่ชาญฉลาดในการนำองค์กรไปสู่การเปลี่ยนแปลง โดยลงมือทำเรื่องง่ายก่อน แล้วจึงค่อยทำเรื่องที่ทำยากทีหลัง พวกร้อนวิชาที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงองค์กรต้องพังลงไป ก็เพราะขาดกุศโลบายที่แยบยลนี่เอง เรียกว่าจะทำให้เหมือนในตำราที่เพิ่งอ่านจบมาหมาดๆ

คำว่ากุศโลบาย น่าจะตรงกับภาษาฝรั่งว่า แทคติค (Tactic) ซึ่งภาษาในทางการกีฬา คือการเล่นโกงที่กรรมการจับไม่ได้ ถ้าเมื่อใดที่เล่นโกงแล้วกรรมการจับได้ ก็คือการเล่นฟาล์ว ซึ่งจะต้องถูกลงโทษ อย่างตอนที่ผมเป็นเด็กบ้านนอกมาเรียนหนังสือที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ แล้วถูกคัดเลือกเข้าไปอยู่ในทีมโปโลน้ำของคณะ วันที่ลงซ้อมวันแรกยังประทับในมาจนทุกวันนี้ คือว่าส่วนที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งกรรมการมองไม่เห็นนั้น มีสารพัดแทคติค ทั้งดึงกางเกง ดึงขา ดึงแขน จับกดน้ำ รวมทั้งใช้เท้าถีบเราเพื่อให้เป็นที่ค้ำยันเวลาจะโผไปหาลูกบอล แทคติคนี้จึงต้องฝึก จะลงไปลอยคอในสระ ทำเป็นซื่อจนเซ่อเหมือนเด็กบ้านนอกก็จะไม่ทันกิน

การเล่นฟุตบอลก็เหมือนกัน จะไปทำเป็นคนสุภาพ ทำตัวลีบเล็กเกรงใจคนอื่น แล้วไปแย่งลูกฟุตบอลกับคู่ต่อสู้อย่างนี้ไม่ได้ ต้องกางแขนขาทุกส่วนให้กว้าง ทำตัวให้โตที่สุด จะได้กันคนอื่นไม่ให้ถึงลูกฟุตบอล เรียกว่า Hand off ถ้าแทคติคสูงขึ้นอีกหน่อยก็คือ เรียนรู้เรื่องการทำลายจังหวะคู่ต่อสู้ เช่น ดึงเสื้อ ดึงกางเกง วิธีดึงไม่ให้ฟาล์วก็ต้องฝึกให้แยบยล คือ จับได้ต้องรีบดึงแล้วรีบปล่อยมือ อย่างนี้ไม่ฟาล์ว แต่ถ้าจับแล้วเอามือดึงคาไว้อย่างนั้น ถ้ากรรมการเห็นคือการเล่น ฟาล์ว ทั้งที่ก็เป็นเรื่องเดียวกัน คือดึงคู่ต่อสู้ ไม่ทราบว่าเวลาดูทีวีสังเกตกันบ้างหรือเปล่า

แทคติคนี้ถ้าฝึกฝนมาเท่าๆ กัน ก็อยู่ที่ใครจะชิงจังหวะลงมือทำก่อน การชิงจังหวะนี้คือ Timing เมื่อชิงจังหวะได้ก่อนก็เป็นผู้ได้เปรียบ นอกจากชิงจังหวะก่อนแล้ว ก็ต้องแนบเนียนไม่ให้กรรมการจับได้ ดังนั้น แทคติคจึงเป็นการเล่นโกงที่อยู่ในกติกาซึ่งกีฬาที่ใช้ร่างกายเบียดปะทะกันจะต้องมีการเรียนรู้และฝึกฝน

ที่เขียนมายืดยาวนี้ก็เพื่อจะเรียนว่า จะทำอะไรก็ตาม ต้องมีแทคติค ต้องมีกุศโลบาย ในโลกของความเป็นจริงนั้น การเรียนหนังสือ ท่องตำราถอดแบบมาทั้งดุ้นยังใช้อะไรไม่ได้มาก จะทำที่เรียนรู้มาให้สำเร็จได้จึงต้องรู้จักจังหวะเวลา (Timing) มีกุศโลบาย (Tactic) ที่แยบยล และต้องมีทักษะความชำนาญ (Skills) ทั้งหมดนี้นั่งเรียนในห้องไม่ได้ ต้องออกไปต่อสู้ ไปทำดูจริงๆ จึงจะเรียนรู้ได้

การจะเปลี่ยนแปลงองค์กรก็เช่นเดียวกัน ต้องคิดและลงมือทำ เมื่อทำไปแล้วก็จะเรียนรู้ เมื่อทำไปแล้วเห็นว่า จะไปไม่ถึงที่หมายก็ต้องปรับเปลี่ยน และการปรับเปลี่ยนก็ไม่ได้แปลว่าจะล้มเหลว ถ้าเรายังยึดมั่นว่าจะเดินไปสู่เป้าหมาย คือวิสัยทัศน์ที่วาดหวังเอาไว้

เหตุที่ทรงเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไปจึงเป็นกุศโลบายที่สำคัญและควรถือเป็นแบบอย่าง อย่าคิดว่ามีอำนาจแล้วจะสั่งให้เป็นไปอย่างที่เราต้องการได้เสียทั้งหมด อย่างนั้นจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ยั่งยืน เมื่อเราจากไปแล้ว ที่เคยฟูอยู่ก็จะแฟบกลับไปสู่สภาพเดิม เป็นการเดินหน้าอย่างรวดเร็วแล้วถอยหลังซึ่งดีกว่าซอยเท้าอยู่กับที่หน่อยหนึ่ง คือ อย่างน้อยได้เรียนรู้

การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนคือ ผู้คนในองค์กรมีความพรักพร้อม สามารถทำการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นถาวรวัตถุ (Hardware Change) ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมขององค์กร (Software Change) ซึ่งผู้คนในองค์กรขานรับและเต็มใจเดินไปด้วยกัน มีกระบวนการคิดซึ่งได้รับการปลูกฝัง เมื่อเราจากไปแล้วกระแสการเปลี่ยนแปลงก็ยังคงอยู่และมีแต่จะรุดไปข้างหน้า

ดังตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยที่คงอยู่ แม้พระองค์จะทรงจากไปนานแล้วก็ตาม
_________________
ภารกิจเสร็จสมบรูณ์ บ้ายบาย ...RFT
Back to top
View user's profile Send private message Send e-mail
nathapong
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 3515
Location: Ayuthaya - Lamlukka - Navanakhon - Silom

PostPosted: 28/10/2009 12:56 pm    Post subject: Reply with quote

ปิยมหาราชรำลึก 46 (ตอนที่ 10)

ตอนที่ 10 ก็จะเขียนถึงการเปลี่ยนแปลงในส่วนที่ว่าด้วยการจัดตั้ง Council of State หรือ สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และการจัดตั้ง Privy Council หรือ สภาที่ปรึกษาในพระองค์

...ทรงมีพระราชดำริเห็นว่า ราชการผลประโยชน์บ้านเมือง สิ่งใดที่จะเกิดขึ้นและการที่ยังรกร้างมาแต่เดิมนั้น ถ้าจะทรงจัดการแต่พระองค์เดียวก็จะไม่ใคร่สำเร็จไปได้ ถ้ามีผู้ช่วยกันคิดหลายปัญญาแล้ว การที่รกร้างมาแต่เดิมก็จะปลดเปลื้องไปทีละน้อยๆ ความดี ความเจริญก็จะยังคงเกิดแก่บ้านเมือง จึงได้ทรงจัดสรรข้าทูลละอองธุลีพระบาทซึ่งมีสติปัญญาโปรดเกล้าตั้งไว้เป็นที่ปรึกษาแห่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว...

นี่คือการเปลี่ยนแปลงในส่วนที่ว่าด้วยการกระจายอำนาจการบริหาร ซึ่งแต่เดิมกระจุกตัวอยู่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตำราบริหารฝรั่งเรียกว่า Delegation of Power เมื่อราชการบ้านเมืองมากขึ้น จะบริหารแบบรวบอำนาจไว้ก็คงไม่ได้ เพราะคนเรามีเวลากันอยู่แค่วันละ 24 ชม. ทุกคนหมดไปกับการนอนเสีย 8 ชม. ใช้เวลาทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่งานอีกประมาณ 8 ชม. เวลาที่ทำงานจริงๆ ของแต่ละคนจึงอยู่ที่ประมาณ 8–10 ชม. ไม่ว่าจะเป็นนักการภารโรงหรือเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กรต่างก็มีกันอยู่แค่ 8–10 ชม. เหมือนกันทุกคน ดังนั้น จึงต้องบริหารเวลาซึ่งมีอยู่เท่ากันนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

การบริหารเวลาให้เหมาะ คือ ทำให้เกิด Competency กับงาน พูดอย่างง่ายๆ คือ การเป็นผู้บริหารที่มี Competency นั้นก่อนจะลงมือทำอะไร ควรจะถามตัวเองว่างานนี้เราไม่ทำเองได้หรือไม่ มีใครทำงานนี้แทนเราได้บ้าง ถ้ามีก็ใช้คนอื่นทำ แล้วเอาเวลาไปทำในสิ่งที่เราควรทำซึ่งไม่สามารถใช้คนอื่นทำแทนได้ ถ้าเป็นผู้บริหารแล้วหมั่นถามคำถามนี้ก็จะทำให้เกิด Competency เสร็จแล้วยังไม่พอ เพราะยังจะต้องรู้จักดูคน รู้จักพัฒนาคน รู้จักใช้คน และรู้จักวิธีตรวจสอบผลงานที่ใช้ให้คนอื่นไปทำแทน หรือที่กล่าวว่า “ดูคนออก บอกคนได้ ใช้คนเป็น” ซึ่งเป็นหน้าที่ของนักบริหาร นั่นเอง

ก่อนที่พนักงานจะถูกเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นไปในองค์กร จึงต้องพัฒนาให้เขามี Competency กับตำแหน่งใหม่ ไม่ใช่เคยทำอย่างไร ก็ทำไปอย่างนั้น มีแต่ตำแหน่งใหญ่โตขึ้นแต่ทำงานเหมือนเดิม อย่างนี้เรียกว่า Incompetency หมายความว่า ไม่เหมาะจะมาเป็นตรงนั้น เพราะไม่ได้ถูกพัฒนาให้เหมาะที่จะมาดำรงตำแหน่งดังกล่าว

คนญี่ปุ่นขยันทำงานเหมือนเครื่องจักรกันทุกคน ดังนั้น เวลาจะเลื่อนให้ขึ้นเป็นนาย ก็จะต้องเอาไปฝึกให้ขี้เกียจ โดยต้องเข้าหลักสูตรนั่งจิบน้ำชาดูคนทำงาน แล้วให้วิจารณ์ว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร คือ เอาไปฝึกให้เป็นนายที่จะต้อง “Get the work done by the people” แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่ทำอะไรเสียเลย เพราะขณะที่มัวแต่หาว่าใครควรจะทำ งานอาจจะเสร็จไปตั้งนานแล้ว ถ้าเราลงมือทำเสียเอง ดังนั้น จะเลือกทำเองหรือใช้คนอื่นทำจึงอยู่ที่จังหวะ เวลา เป็นศิลปในการทำงานด้วยเหมือนกัน

เมื่อเราใช้คนอื่นทำงานแทนไปแล้ว เราก็จะมีเวลาทำในสิ่งที่เราควรจะต้องทำในตำแหน่งหน้าที่นั้น เช่น เราอาจจะมีเวลาศึกษาหาความรู้เพื่อจะคิดอ่านทำการงานในเชิงยุทธศาสตร์มากกว่าจะไปติดแหงกอยู่แต่ในห้องประชุมทั้งวัน อย่างไรก็ดีต้องอย่าวางใจเสียทีเดียวว่า การให้คนอื่นไปทำหน้าที่แทนจะได้ดั่งใจไปเสียทุกอย่าง ยังต้องมีกระบวนการตรวจสอบควบคู่กันไปด้วย ตำราบริหารของฝรั่งเรียกว่า มี Check and Balance คือต้องมีระบบตรวจสอบและถ่วงดุลกับอำนาจที่ได้มอบหมายไป

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้กระจายอำนาจการบริหารโดยการตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินไปแล้ว จึงทรงตั้งองค์กรที่มาคอยถ่วงดุลไว้ด้วย นั่นคือสภาที่ปรึกษาในพระองค์

...หนึ่ง จะตั้งพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการอีกพวกหนึ่งให้เป็นที่ปรึกษาในพระองค์ เพราะไม่ได้ทอดพระเนตรการใด ไม่ได้ทรงฟังการสิ่งไรทั่วไป ไม่มีสิ่งไรที่จะเป็นทางปัญญาซึ่งจะทรงพระราชดำริการบ้านเมืองและจะทรงตัดสินคำของที่ปรึกษาทั้งปวงให้เด็ดขาดไปได้ เพราะฉะนั้น จึงจะต้องตั้งไว้สำหรับทรงไต่ถามการงานให้กราบทูลได้ทุกอย่างไม่มีขัดขวาง...จึงโปรดเกล้าให้ตั้ง...รวม 12 นายก่อน ถ้าต่อไปทรงเห็นว่าผู้ใดควรจะยกมาเป็นที่ปรึกษาได้ก็จะตั้งเพิ่มเติม...

ดังนี้คือตัวอย่างของการกระจายอำนาจบริหารโดยมี Accountability ควบคู่กันไปด้วย อันแสดงให้เห็นถึงความห่วงใยในราชการบ้านเมือง แม้ว่าจะมอบอำนาจให้ผู้อื่นทำการงานแทนแล้วก็ยังทรงจัดให้มีระบบที่คอยติดตาม

การกระจายอำนาจบริหารโดยมี Accountability ควบคู่ไปด้วย จะทำให้เจ้าของอำนาจที่ประสงค์จะกระจายอำนาจไปให้ผู้อื่นกระทำแทน ต้องระมัดระวัง ไม่ปล่อยให้อำนาจของตนเองถูกคนอื่นนำไปใช้ในทางที่เสื่อมเสีย

การมี Accountability จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และคำคำนี้ ฝรั่งที่แตกฉานภาษาไทยบอกว่า ไม่มีคำแปลเป็นภาษาไทยที่ให้ความหมายได้เหมือนภาษาดั้งเดิม เหนือสิ่งอื่นใด ฝรั่งที่แตกฉานวัฒนธรรมบริหารของไทย ยังบอกอีกด้วยว่า “เป็นสิ่งซึ่งผู้บริหารองค์กรในประเทศไทยยังขาดอยู่อีกมาก !”
_________________
ภารกิจเสร็จสมบรูณ์ บ้ายบาย ...RFT
Back to top
View user's profile Send private message Send e-mail
nathapong
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 3515
Location: Ayuthaya - Lamlukka - Navanakhon - Silom

PostPosted: 28/10/2009 12:58 pm    Post subject: Reply with quote

ปิยมหาราชรำลึก 46 (ตอนที่ 11)

Change Communication

การเปลี่ยนแปลงองค์กรต้องอาศัยการสื่อสารที่ดีในทุกมิติ คือ การสื่อสารกับองค์กรอื่น สื่อสารกับคนที่อยู่นอกองค์กร สื่อสารกับคนในองค์กร สื่อสารในเชิงรุก คือ ชักชวนหรือชี้นำเพื่อขอรับการสนับสนุน และสื่อสารในเชิงรับเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในระหว่างทำการเปลี่ยนแปลง องค์กรที่ประสบความล้มเหลวในการเปลี่ยนแปลง มักจะเกิดจากผู้บริหารละเลยความสำคัญในการสื่อสาร ซึ่งตอนที่ 11 นี้ ก็จะนำเสนอตัวอย่างที่ทรงมีพระราชดำริในส่วนนี้ไว้ในระหว่างการปฏิรูปประเทศไทย

ในระหว่างทำการปรับเปลี่ยนองค์กรนั้น ใจคอผู้คนก็จะไม่ปรกติสุขนัก พวกเขาไม่รู้ว่าจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง นอกจากนั้นสิ่งที่เป็นยุทธศาสตร์ใหม่ซึ่งผู้นำริเริ่มขึ้นก็อาจจะก่อให้เกิดความฉงนสนเท่ห์ใจ เกิดข่าวลือ เกิดกลุ่มใหม่ที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อกระทำการในเชิงยุทธศาสตร์เรื่องการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจจะดูเหมือนเป็นกลุ่มที่นายรัก เป็นเด็กของนาย สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดระส่ำระสายและส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของผู้คนในองค์กรซึ่งหากละเลยไว้นานก็จะขยายวงออกไปอย่างรวดเร็ว

ผู้นำองค์กรที่บริหารการเปลี่ยนแปลงต้องรีบทำให้สิ่งที่เป็นข่าวลือ ค้างคาใจผู้คน ยุติลงโดยเร็ว ไม่ปล่อยให้คลุมเครือกันไป และถ้าจะให้ดีแล้ว ผู้บริหารสูงสุดจะต้องรีบออกมายุติข่าวลือนั้นเสียเอง ดังตัวอย่างที่ทรงมีพระราชดำริ หลังจากมีข่าวในทางไม่ดีเกี่ยวกับการตั้ง ไปรวี่ เคาน์ซิล ดังนี้.-

...เมื่อข่าวการตั้งสภาที่ปรึกษาในพระองค์ หรือ Privy Council แพร่กระจายออกไป ก็เป็นที่หวาดหวั่นสงสัย ไม่รู้ว่าเรื่องอะไรกันอีก คนที่ไม่ได้แต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาในพระองค์ก็เกรงว่า คนที่ได้รับการแต่งตั้งจะมีอำนาจและใช้อำนาจนั้นมาข่มเหงรังแกเอา เพื่อยุติข่าวลือที่จะเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย จึงทรงให้มีประกาศว่าด้วยการ ปรีวี เคาน์ซิล เพื่อให้เกิดความชัดเจนแก่คนทั่วไป (ความโดยสังเขป)...

“ที่หนึ่ง เป็นช่องทางในการรับฟังความคิดเห็นและเรื่องราวจากประชาชนและข้าราชการทั่วไป ที่สอง เป็นช่องทางในการสืบสวนและจัดการข้อราชการ เช่น ฎีการ้องเรียน ที่สาม เป็นที่สำหรับฝึกคนหนุ่มเพื่อกลั่นกรองมาใช้ในราชการ ที่สี่ คนที่อยู่ใน ปรีวี เคาน์ซิล จะต้องถือคำสาบานโดยซื่อสัตย์สุจริต”

...อนึ่ง การ ปรีวี เคาน์ซิล ซึ่งทรงตั้งไว้นี้ ใช่จะตั้งไว้สำหรับพูดพล่อยๆ ทูลเล็ก ทูลน้อยในการที่ใช่เหตุนั้นหามิได้...อนึ่ง...ก็จะเลือกเอาแต่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่มีสติปัญญาเฉียบแหลมตามสมควร มิได้เอาคนเลวๆ มาตั้ง ขออย่าให้ท่านทั้งปวงซึ่งมีความซื่อสัตย์สุจริต มีความหวาดหวั่นครั่นคร้ามด้วยการซึ่ง ปรีวี เคาน์ซิล จะกราบทูลยุยงเล็กๆ น้อยๆ ให้เป็นการขัดเคืองและเป็นการผิดไปเลย ให้ท่านทั้งหลายคอยฟังต่อไปเถิด...


จะเห็นว่าวิธีสยบข่าวลือก็คือ ทรงจัดการเสียเอง วิธีจัดการก็คือ ชี้แจงว่าที่ทำนี้มีวัตถุประสงค์อะไร จะทำอย่างไร รวมทั้งให้คำมั่นสัญญาว่าที่ทำนี้จะเป็นเรื่องดีซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อบ้านเมือง ขอให้เชื่อและช่วยกันเป็นสักขีพยาน

การเปลี่ยนแปลงในการรถไฟฯ ที่ผ่านมาแล้วออกจะขัดกับหลักวิชาการสมัยใหม่และไม่เหมือนที่ทรงทำเป็นตัวอย่างไว้อยู่พอสมควร กล่าวคือ

ประการแรก ผู้นำไม่ได้แสดงเจตนารมณ์ในการเปลี่ยนแปลงองค์กรให้ชัดเจน แต่ปล่อยให้เป็นไปตามแรงผลักจากภายนอก ได้แก่ ความต้องการทางการเมืองและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เมื่อการเมืองเปลี่ยนแปลง แรงที่เคยผลักดันให้เปลี่ยนแปลงหายไป ก็หยุดเปลี่ยนองค์กรตามไปด้วย

ประการที่สอง ไม่สามารถรักษาตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลง (Quick Win) ที่ทำไว้ ดังได้ยกตัวอย่างกรณีสถานีรถไฟหัวลำโพง

ประการที่สาม ไม่สามารถขยายผลของตัวอย่างการเปลี่ยนแปลง (การสร้างตัวอย่างในการเปลี่ยนแปลงไปจบลงตรงเรื่องสร้างส้วม) และ

ประการที่สี่ เมื่อเกิดข่าวลือเรื่อง Change Agent ว่าคือพวกที่จะเปลี่ยนองค์กรโดย ใช้ พ.ร.บ.ทุนวิสาหกิจ ซึ่งไม่เป็นที่พอใจของสหภาพแรงงานขึ้น ไม่รีบสยบข่าวลือ แต่ผสมผเสไปกับกระแสของข่าวลือ เพราะในใจก็ไม่ได้อยากจะเปลี่ยน

สุดท้าย เลยกลายเป็นว่าพวก Change Agent เท่านั้นที่อยากเปลี่ยนองค์กร ผู้บริหารไม่เกี่ยว

อย่างนี้ก็มีด้วย !
_________________
ภารกิจเสร็จสมบรูณ์ บ้ายบาย ...RFT
Back to top
View user's profile Send private message Send e-mail
nathapong
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 3515
Location: Ayuthaya - Lamlukka - Navanakhon - Silom

PostPosted: 28/10/2009 1:00 pm    Post subject: Reply with quote

ปิยมหาราชรำลึก 46 (ตอนที่ 12)

Crisis Management

เมื่อลงมือทำการบริหารการเปลี่ยนแปลงองค์กรไป เรื่องก็จะยากขึ้นเป็นลำดับ และในระหว่างทางก็มักจะเกิดวิกฤตขึ้น ผู้นำการเปลี่ยนแปลงจะแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้นนั้นอย่างไร ลองมาดูตัวอย่างที่ทรงมีพระราชดำริไว้

หลังจากตั้ง ไปรวี่ เคาน์ซิล ได้ไม่นาน ก็มีเหตุซึ่งจวนเจียนจะเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของชาติไทย นั่นก็คือการเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า วิกฤตวังหน้าในปี จ.ศ.1236 (พ.ศ.2417) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแก้ไขวิกฤตนั้นอย่างไร จึงมีประเทศไทยอย่างที่เราเห็นกันในวันนี้

เมื่อพระชนมายุครบที่จะว่าราชการด้วยพระองค์เองแล้ว จึงปรึกษากับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เรื่องการตั้งวังหน้าซึ่งทรงได้รับคำแนะนำให้ตั้ง กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ โอรสของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จะด้วยเหตุผลด้านการประนีประนอมในเครือญาติหรือจะเป็นหมากกลการเมืองของอดีตผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ก็ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ในทางประวัติศาสตร์

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ จึงได้รับพระราชทานอุปราชาภิเษกเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อ พ.ศ.2404 พระชนมายุ 27 พรรษา ทรงเป็นที่นิยมของต่างชาติว่ามีความทันสมัย เชี่ยวชาญในด้านวิทยาการสมัยใหม่ แต่จะด้วยข่าวลือที่สร้างกันขึ้นหรือจะอย่างไรก็ดี (โปรดหาประวัติศาสตร์อ่านกันเอาเอง) กรณีพิพาทระหว่างวังหน้ากับวังหลวงก็ขึ้นถึงจุดสูงสุด เมื่อวันศุกร์ แรม 9 ค่ำ เดือนอ้าย...กรมพระราชวังฯ หนีเพลา 8 ทุ่ม ออกจากวังไปอยู่กับนายห้างที่ 2 กงสุลอังกฤษ (เข้าใจว่าผู้ช่วยกงสุล)...

...มีจดหมายลับฉบับหนึ่งส่งไปถึงกรมพระราชวังฯ ใจความว่า “มีผู้คนคิดจะปลงพระชนม์กรมพระราชวังบวร” เพียงเพราะจดหมายลับฉบับนั้น กรมพระราชวังบวรฯ จึงระดมกำลังทหารพร้อมด้วยอาวุธเป็นจำนวนมากบนพื้นที่วังหน้า...

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง 22 พระชันษา แต่ทรงคิดอ่านที่จะแก้ไขปัญหาด้วยสติปัญญา กอปรไปด้วยปณิธานที่จะรักษาประเทศไทยไว้ ไม่ใช้พระราชอำนาจในการเป็นพระเจ้าแผ่นดินในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชเข้าแก้ไขเพียงเพื่อจะเป็นผู้ชนะในกรณีความขัดแย้ง แต่จะทำให้ผลประโยชน์ของชาติโดยส่วนรวมต้องเสียหายไป

ในจดหมายที่ทรงมีถึงพระประยูรญาติและขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในระยะแรกที่เกิดกรณีพิพาท รวมทั้งจดหมายที่ทรงมีถึงกรมพระราชวังบวรฯ แสดงถึงความสุภาพ ต้องการจะรักษามิตรไมตรีและปรารถนาจะแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี

จึงนับเป็นพระกรุณาธิคุณต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างหาที่สุดมิได้

วันจันทร์ เดือนอ้าย แรม 2 ค่ำ จ.ศ. 1236 ถึง ท่านเจ้าพระยามหินทรศักดิ์...ด้วยฉันได้ข่าวว่าวังน่าเรียกทหารประชุมในวันถึง 600-700 คน ฉันยังไม่เชื่อจึงแต่งคนให้ขึ้นไปสืบดู ได้ความเป็นแน่ เห็นแก่ตาว่าคนประชุมมากที่น่าพระที่นั่งสิวโมขจริง สมคำที่มีผู้มากล่าว แต่ได้ความว่าการที่เรียกทหารมาเตรียมไว้นี้เพราะมีผู้ทิ้งหนังสือ ตั้งแต่นั้นก็เตรียมมา...(พระบรมนามาภิไธย)

วันพุธ เดือนอ้าย แรม 7 ค่ำ ถึง ท่านเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง...ในว่าตั้งแต่นั้นจึงได้เตรียมการมา มีทหารปืนเล็ก 400 คนเศษ ปืนใหญ่ 80 คนเศษ รวม 500 คนเศษนี้อยู่ในวัง แต่ที่นอกวังนั้นมีอีกไม่ทราบจำนวน แต่ฟังการดูก็เห็นสมที่จะเป็นขบถแน่ได้ กับว่าวันนี้กงสุลอังกฤษ กงสุลฝรั่งเศส มาหาบอกว่า คนที่รักษาถนนไม่มี ได้ทราบข่าวว่าเข้าไปอยู่ในวัง เพราะวังหลวงกับวังน่าวิวาทกัน จะขอเรียกเรือมารักษาสับเยก...(พระบรมนามาภิไธย)


ฝรั่งเศสกับอังกฤษก็คอยจ้องอาศัยกรณีวิวาท หาเหตุเข้าแทรกแซงโดยอ้างว่าต้องการรักษาผลประโยชน์และประชาชนของตนซึ่งโดยข้อเท็จจริงคือมีเจตนาร้ายแอบแฝง

วันพฤหัสบดี เดือนอ้าย แรม 8 ค่ำ จ.ศ. 1236 ถึง สมเด็จกรมพระบำราบปรปักษ์...การที่ปรึกษานั้นว่าเป็นสามสถาน สถานหนึ่งว่าให้ทูลลาออกเสียจากที่ สถานหนึ่งนั้น เก็บเครื่องอาวุธและผู้คนเสียให้หมด สถานหนึ่งนั้น ร้าวแล้วก็ต้องเลย เหมือนงัวสันหลังหัก และก็พูดต่อไปเองว่า สถานกลางนั้นแลดี...(พระบรมนามาภิไธย) ทรงเลือกจะดำเนินการด้วยสันติวิธี

วันอังคาร เดือนอ้าย แรม 13 ค่ำ จ.ศ. 1236 ถึง กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (ซึ่งหนีไปอยู่ในสถานกงสุลอังกฤษ)...เธอก็รู้อยู่เองว่าในแผ่นดินเราทุกวันนี้ ผู้ใดไม่มีความผิดใหญ่ที่ควรจะต้องฆ่าแล้ว ก็ฆ่ากันไม่ได้ ด้วยอาศัยความยุติธรรมเป็นที่ตั้ง ที่เธอมีความสะดุ้งหวั่นหวาดถึงชีวิต คิดการเกินไปดอกกระมัง หรือมีความผิดใหญ่อยู่ในใจ จึงได้มีความร้อนระแวงกันนี่...(พระบรมนามาภิไธย)

วันเสาร์ เดือนยี่ แรมเก้าค่ำ จ.ศ. 1236 ถึง เจ้าคุณสมเด็จเจ้าพระยา ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน...ด้วยวันนี้ เจ้าพระยาภาณุวงศ์ลงไปหาวังน่า กลับมาบอกฉันว่า วังน่าพูดจาอ่อนโยนดี ดูเป็นจะยอมให้แล้วกัน...(พระบรมนามาภิไธย)

วันอาทิตย์ เดือนสาม แรมหนึ่งค่ำ ถึง เจ้าคุณสมเด็จเจ้าพระยา ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน...เซอร์แอนดรู คลาก มีหนังสือมาถึงค่ำวันนี้ฉบับหนึ่งว่า กรมพระราชวังฯ จดหมายมาถึงว่า จะขอพบกับเสนาบดีในเรือ อิดิแลนเวล พรุ่งนี้ 5 โมงเช้า จะปรึกษาด้วยข้อประนีประนอม...(พระบรมนามาภิไธย)


เมื่อเหตุการณ์คลี่คลายลงแล้ว จึงโปรดเกล้าให้จัดเรือเก๋งอันเป็นเรือพระที่นั่งไปรับเสด็จวังหน้ากลับอย่างสมพระเกียรติ พร้อมทั้งมีพระบรมราชโองการ เมื่อเดือน 3 แรม 5 ค่ำ ปีวอก จ.ศ. 1236 ...ประกาศตั้งพระบวรวงศ์เธอ เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีราชอิสริยะยศและเงินขึ้นตามธรรมเนียมแผ่นดินซึ่งเป็นธรรมเนียมรู้ทั่วกันมาแต่เดิมและสุพรรณบัตรคำประกาศที่เราได้ตั้งพระบวรวงศ์เธอกรมพระราชวังวบวรสถานมงคลแล้วนั้น คงอยู่ตามเดิม...(พระบรมนามาภิไธย)

กรมพระราชวังบวรสถานมงคล อยู่ในตำแหน่งวังหน้ามาอีก 11 ปี จนถึง พ.ศ. 2428 จึงสิ้นพระชนม์ลง รวมพระชนมายุได้ 48 พรรษา มิได้ทรงแต่งตั้งใครขึ้นครองตำแหน่งนั้นอีกเลย และต่อมาจึงทรงประกาศยุบเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตามประกาศเมื่อ วันศุกร์ เดือนเก้า แรมสิบค่ำ ปีระกา จ.ศ. 1247

ผมนำเหตุการณ์ตอนนี้ไปเล่าในโอกาสบรรยายเรื่องการเปลี่ยนแปลงว่า “Who we are is who we were” เราที่มานั่งรวมกันอยู่นี้ อาจจะไม่ได้มานั่งอยู่ด้วยกัน เพราะในระหว่างที่เกิดกรณีพิพาท ฝรั่งต่างชาติก็มีแผนว่า ถ้าสถานการณ์สุกงอมจนเป็นข้ออ้างในการยื่นมือเข้าไปไกล่เกลี่ยแล้ว ก็จะแบ่งประเทศไทยออกเป็นสามส่วน หนึ่ง คือฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปกครอง สอง คือระหว่างฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา กับฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลองให้ผู้สำเร็จราชการปกครอง และสาม คือฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลองลงไป ให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลปกครอง

ถ้าเรื่องเป็นอย่างนั้น คือผู้นำคิดแก้ไขปัญหาวิกฤตโดยไม่ยึดผลประโยชน์ใหญ่แล้ว เราหลายคนในห้องประชุมนี้ คงจะไปตกอยู่ในแผ่นดินซึ่งแยกออกเป็นคนละประเทศ เป็นชาวต่างชาติซึ่งกันและกันไม่สามารถไปมาหาสู่ได้อย่างเป็นปรกติ

หลายเรื่องที่เราคิดกันอยู่คงทำไม่ได้ เช่น คิดตัดถนนลัดอ่าวไทย หรือคิดใช้เรือขนสินค้าข้ามอ่าวไทย อย่างนี้คงทำไม่ได้ จะทำได้ก็คงไม่สะดวกเพราะเป็นเรื่องระหว่างประเทศไปแล้ว แต่การคิดจะทำรถไฟความเร็วสูงไปโคราชเพื่อจะนั่งให้สบายก้นนี้ คงจะพอทำได้เพราะอยู่ในประเทศเดียวกัน
_________________
ภารกิจเสร็จสมบรูณ์ บ้ายบาย ...RFT
Back to top
View user's profile Send private message Send e-mail
nathapong
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 3515
Location: Ayuthaya - Lamlukka - Navanakhon - Silom

PostPosted: 28/10/2009 1:02 pm    Post subject: Reply with quote

ปิยมหาราชรำลึก 46 (ตอนจบ)

พระราชดำรัสตอบในการเริ่มทำทางรถไฟสายนครราชสีมา พ.ศ.2434

…เรามีความยินดีไม่น้อยเลย ที่ได้มาอยู่ ณ ที่นี้ อันเป็นที่จะได้เริ่มลงมือ ทำการก่อสร้างทางรถไฟ ซึ่งเราได้คิดอ่าน จะทำให้สำเร็จมาช้านานแล้ว…เราได้รู้สำนึกแน่อยู่ว่า ธรรมดาความเจริญรุ่งเรืองของประชาชน ย่อมอาศัยถนนหนทาง ไปมาหากันเป็นใหญ่เป็นสำคัญ เมื่อมีหนทางคนจะได้ไปมาได้ง่ายได้ไกลได้เร็วขึ้นเพียงใด ก็เป็นการขยายประชุมชน ให้ไพศาลยิ่งขึ้นเพียงนั้น บรรดาการค้าขายอันเป็นสมบัติของบ้านเมือง ก็จะรุ่งเรืองวัฒนาขึ้นโดยส่วนหนทางนั้น เราจึงได้อุตสาหะ คิดจะทำทางรถไฟให้สมกับกำลังบ้านเมือง ก็ได้คิดทำทางรถไฟ ไปเมืองนครราชสีมานี้ก่อน…

พระราชดำรัสตอบในการเปิดรถไฟในระหว่างกรุงเทพฯ กับ กรุงเก่า พ.ศ.2439

....เรารู้สึกว่าการที่ได้ทำวันนี้เป็นเกียรติแก่ตัวเรา แลเป็นที่ยินดีด้วยที่จะได้ทำการให้รถไฟสายนี้สำเร็จได้ ถึงแม้แต่เป็นส่วนหนึ่งตอนหนึ่ง เพราะเหตุว่าได้ทำการเพื่อเป็นประโยชน์แก่พระราชอาณาจักร ไม่เฉพาะแต่คนในประเทศเรา แต่ได้เป็นประโยชน์ทั่วไปแก่ มนุษย์ทั้งปวงด้วย...

... คิดแต่ถึงการที่จะได้ทำบัดนี้ ก็เป็นเหตุให้เกิดความชื่นชมยินดีว่า ถึงแม้ว่าการที่จะได้ทำในวันนี้ ไม่ได้เต็มที่ดังความมุ่งหมายแต่เดิม ก็ยังเป็นที่พึงพอใจแลเห็นได้ว่า เป็นพยานแห่งความอุตสาหะของกรมรถไฟและเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการด้วย...


ในฐานะที่ทำงานอยู่กับการรถไฟฯ ก็คงจะจบเรื่องปิยมหาราชรำลึกปี 2546 ด้วยเรื่องรถไฟ และหวังว่าปีหน้า 2547 คงจะได้มีโอกาสอ่านหนังสือและนำเรื่องราวอื่นๆ มาเขียนเล่าสู่กันฟังอีกครั้ง

ทำไมต้องมีรถไฟในประเทศไทย ?

การสร้างรถไฟเป็นยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในสมัยการล่าอาณานิคม และทางรถไฟสายแรกก็คือจากกรุงเทพ ถึง โคราช ซึ่งก่อนลงมือศึกษาประวัติศาสตร์ ผมเข้าใจเรื่องนี้ผิดอยู่มากเพราะคิดว่าเชียงใหม่น่าจะมีความสำคัญมากกว่า สมัยเป็นเด็กนักเรียนก็เห็นมีแต่เรื่องเชียงใหม่ กับ ขุนตาน เพิ่งจะทราบภายหลังว่า โคราชคือจุดล่อแหลมที่สุดในขณะนั้นดังที่มีบันทึกไว้ว่า

...ในการที่ฝรั่งเศสได้ดำเนินการต่างๆ เพื่อขยายดินแดน (ในอารักขา)...ทำให้รัฐบาลไทยจำเป็นต้องรีบทำนุบำรุงเส้นทางคมนาคมให้ไปมาถึงกันได้สะดวก...ในขณะนั้นได้ปรากฏว่า กงสุลฝรั่งเศสที่นครราชสีมาได้ดำเนินการก่อกวน ยุยงอาณาราษฎร์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้กระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาลไทยหนักมือยิ่งขึ้น...ชักชวนชาวจีนให้โอนสัญชาติไปอยู่ในบังคับฝรั่งเศสและได้กล่าวยุยงพลเมืองไทยว่า มณฑลนครราชสีมาเป็นนครเก่าแก่ของเขมรที่เคยรุ่งเรืองมาก่อน เพิ่งจะทรุดโทรมลงเพราะรัฐบาลไทยไม่เอาใจใส่ทำนุบำรุง...

...ด้วยเหตุผลดังได้กล่าวมาแล้วนี้รัฐบาลไทยจึงเห็นว่า จุดแรกที่สมควรจะสร้างทางรถไฟเชื่อมกับเมืองหลวงของไทยก่อนอื่น เพื่อรักษาเอกราชของชาติและดินแดนส่วนหนึ่งไว้คือ เมืองนครราชสีมา...


จึงโปรดให้สร้างทางรถไฟไปยังจังหวัดนครราชสีมาโดยทรงเสด็จกระทำพิธีกระทำพระฤกษ์ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2434 ที่บริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพงในปัจจุบัน การก่อสร้างทางรถไฟช่วงแรก ถึงอยุธยา แล้วเสร็จ เปิดการเดินรถเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2439 เปิดการเดินรถตลอดไปถึงจังหวัดนครราชสีมา เมื่อ พ.ศ. 2443 รวมระยะทางยาว 264 กิโลเมตร สิ้นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง 17,585,000 บาท

หลังจากนั้นจึงมีการก่อสร้างทางรถไฟขยายออกไปทั่วราชอาณาจักร การขนส่งทางรถไฟกลายเป็นกระดูกสันหลังของประเทศ เพราะยังไม่มีถนนหนทาง และเทคโนโลยีด้านยานยนต์ยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างทุกวันนี้ รถไฟจึงเป็นของนำสมัย กลายเป็นที่เชิดหน้าชูตาของประเทศและข้าราชการกรมรถไฟ

แต่...ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง กระดูกสันหลังนี้ถูกทำลายด้วยระเบิดอย่างยับเยิน รัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนมากในการฟื้นฟูกิจการ ต้องไปกู้ยืมเงินจากธนาคารโลก ทำให้ต้องรับเงื่อนไขในการเปลี่ยนกรมรถไฟหลวง มาเป็นรัฐวิสาหกิจในชื่อ การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยการตราพระราชบัญญัติการรถไฟฯ พ.ศ.2494 ขึ้น ตั้งแต่นั้นมา ความล้าหลังจึงเกิดขึ้นเพราะองค์กรได้สูญเสียสิ่งที่สำคัญไป 2 ประการ

ประการแรก คือเสียเครือข่าย (Linkage) กับหน่วยงานราชการ พูดง่ายๆ คือ พูดกันไม่ค่อยจะรู้เรื่อง เพราะข้าราชการต่างก็เติบโตกันมาในกรมกองของตน ไม่รู้ว่ารถไฟเขาทำกันอย่างไร เห็นแต่เป็นขบวนรถยาวๆ มีรถจักรลาก ความที่พูดกันไม่ค่อยจะรู้เรื่อง นำไปสู่การสูญเสีย

ประการที่สอง คือสูญเสียการได้มาซึ่งเงินงบประมาณในการพัฒนากิจการ การเป็นรัฐวิสาหกิจ ถูกกระทำให้เป็นเสมือนบริษัทที่ต้องมีกำไร ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเป็นกิจการเพื่อความมั่นคงที่ใช้เงินงบประมาณของรัฐบาล แต่ตรงกันข้าม รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณจำนวนมากในการพัฒนาเครือข่ายถนน ดังนั้น นานวันไป ระดับการพัฒนายิ่งห่างกันมากขึ้น จนกระทั่งถึงวันนี้ รถไฟก็แทบจะกลายเป็นของเก่าที่มีไว้รกบ้านรกเมือง ไม่ได้รับการพัฒนา และถูกใช้งานตามศักยภาพเหมือนนานาอารยประเทศ

Meo-centrism การคิดแบบเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง รากเหง้าของปัญหาวัฒนธรรมองค์กรซึ่งหนังสือบริหารฝรั่งบอกว่า “Problem of the company is us” บทสรุปหลังจากนั่งประชุมกันมายืดยาว ก็คือ “ปัญหาทั้งหลายอยู่ที่พวกเรานี่เอง”

ปัญหาที่ยิ่งใหญ่ คือ วัฒนธรรม หนึ่งในนั้น คือ การคิดเข้าข้างตัวเอง คิดแต่เรื่องที่เราทำ คำว่าคิดแบบบูรณาการเพิ่งเกิดเมื่อเร็วๆ นี้ ถ้าเกิดขึ้นเสียก่อนหน้านี้ ก็คงไม่มีคำพูดจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบอนุมัติโครงการว่า “รถไฟขาดทุนแล้ว จะมาขอทำอะไรอีก” นี่คือคิดเข้าข้างตัวเองแบบคนข้างนอก เมื่อไม่รู้ว่าคืออะไร ก็เลยไม่เห็นด้วย ส่วนคิดเข้าข้างตัวเองแบบคนข้างใน ก็คือ “รถไฟเป็นของพระเจ้าอยู่หัว (ใคร) จะมาเปลี่ยนแปลงไม่ได้” คือ มีวัฒนธรรมแบบไม่อยากเปลี่ยนอะไร และหาที่เกาะ เที่ยวอ้างโน่นอ้างนี่ ส่วนพวก Change Survivors ก็คอยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์โดยไม่ใส่ใจว่า องค์กรทรุดโทรมลงไปถึงไหนแล้ว คือ คอยดูว่าข้างไหนทำท่าจะได้เปรียบ ก็จะไปด้วยกับข้างนั้น
Standard Gauge เป็นตัวอย่างหนึ่งของการคิดโดยใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลาง ที่เป็นวัฒนธรรมในการคิดแบบคิดไปตามอำเภอใจที่เป็นมาทุกรัฐบาล ซึ่งกว่าจะพูดกันรู้เรื่องพอดีหมดวาระ ต้องไปนับหนึ่งกันใหม่อยู่เรื่อย

อยากจะเขียนอีกครั้ง (เป็นครั้งที่เท่าไหร่ จำไม่ได้) ไว้ตรงนี้ว่า รถไฟสายแรกของประเทศไทย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรินั้น เป็น Standard Gauge (รางกว้าง 1,435 มม.) ครับ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงเล็งเห็นว่า รอบบ้านที่เป็นเมืองขึ้นฝรั่ง ได้แก่ พม่า มลายู เขมร และ เวียตนาม ล้วนแต่ใช้ราง Metre Gauge (รางกว้าง 1,000 มม.) กันทั้งนั้น ถ้าขืนวางรางรถไฟเหมือนประเทศเหล่านั้น พอทำเสร็จแล้ว พวกฝรั่งต่อทางรถไฟมาอีกหน่อยเดียวก็สามารถยึดประเทศไทยได้เลย ด้วยเหตุนั้น จึงโปรดให้สร้างทางรถไฟขนาดรางกว้าง 1,435 มม. ขึ้น เป็นการขวางหูขวางตาพวกฝรั่งไว้ และกลายเป็นมาตรฐานของทางรถไฟด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีการก่อสร้างตามมาในภายหลัง

ส่วนการสร้างทางรถไฟในภาคใต้เป็นรางกว้าง 1,000 มม. เพราะต้องไปกู้เงินอังกฤษมาสร้าง และภายหลังเมื่อมีการก่อสร้างสะพานพระรามหก (พ.ศ.2486) รัฐบาลจึงปรับลดขนาดความกว้างของทางรถไฟทั่วประเทศลงเหลือ 1,000 มม. เท่ากับเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกับประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีการเดินรถข้ามแดนกันอยู่

รถไฟรางกว้าง 1,000 มม. นี้ ถ้าให้เงินมาสักหน่อยก็จะพัฒนาได้วิ่งเร็ว 160-170 กม./ชม. ซึ่งน่าจะพอแล้วสำหรับเศรษฐกิจขนาดนี้ ทิ้งร้างมานานกว่า 50 ปี พอจะทำขึ้นมาจะให้กลายเป็น Standard Gauge ก็ออกจะดูเป็น Meo-centrism คือคิดอะไรไปตามอำเภอใจไปหน่อย

แต่อย่างไร ก็ขออย่าให้เป็นอย่างตัวแทนหน่วยราชการที่ผมเคยไปประชุมด้วยท่านหนึ่ง ซึ่งพูดแต่ Standard Gauge ทุกลมหายใจ ตอนหลัง จึงทราบว่า ท่านหมายถึง “Sa-tan-dard” ที่แปลว่า ของที่ได้มาตรฐาน ดังนั้นการที่ รฟท.ล้าหลังเพราะไม่ยอมใช้ของมาตรฐานนี่เอง ก็เลยถึงบางอ้อว่านอกจากจะเป็นพวก “Meo-centrism” แล้วยังเป็นพวก “Lacking of knowledge” อีกด้วย

นี่แหละคือปัญหาวัฒนธรรมองค์กร

-----------------------------------------------------------------------------------------
_________________
ภารกิจเสร็จสมบรูณ์ บ้ายบาย ...RFT


Last edited by nathapong on 28/10/2009 1:04 pm; edited 1 time in total
Back to top
View user's profile Send private message Send e-mail
nathapong
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 3515
Location: Ayuthaya - Lamlukka - Navanakhon - Silom

PostPosted: 28/10/2009 1:03 pm    Post subject: Reply with quote

ก็จบสำหรับของฝากวันปิยมหาราช จาก อ.นคร จันทศร....

ทั้งหมดนี้ คงสะท้อนอะไรได้หลายอย่างจากการเปลี่ยนแปลง ของ รฟท.
จากระบบแต่งตั้ง มาเป็นระบบสรรหา ซึ่ง ผวก.คนแรก คือ ดร.จิตต์สันติ ธนโสภณ (ถ้าพิมพ์ผิด ต้องขออภัย) และ คุณยุทธนา ในปัจจุบัน

คงได้แต่ฝากทีมงาน VIP และ สมาชิก เข้าใจบริบทถึงการเปลี่ยนแปลง คงต้องฝากถึงการเก่งคน กับเก่งงาน ถึงจะพาไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างสัมฤทธิ์ผล

ลองหันกลับไปดูกันว่า ใน รฟท.มีคนเก่งงานเยอะ โครงการดีๆ มีมากมาย แต่ทำไมถึงเป็นได้แต่ฝัน เพราะขาดคนที่เก่งคน ใช่หรือไม่ ?

ที่สำคัญ คนที่เก่งคน มักจะรู้จักกับคำว่า "อำนาจ" เป็นอย่างดีเสียด้วย มันจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบพิกลพิการอย่างที่เห็น

ส่งท้าย ท่าน อ.นคร ได้ฝากความหวังกับทีมงานทุกท่าน ขอให้นำพาเวปไซต์ "รถไฟไทยดอทคอม" เป็นแหล่งองค์ความรู้ให้สมกับวิสัยทัศน์ของเราคือ "To be leadership ........"

ขอบคุณครับ Idea
_________________
ภารกิจเสร็จสมบรูณ์ บ้ายบาย ...RFT
Back to top
View user's profile Send private message Send e-mail
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 29/10/2009 10:05 am    Post subject: Reply with quote

ขอขอบพระคุณ อ.นคร ที่เอื้อเฟื้อข้อเขียนซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจในเรื่องราวอิงประวัติศาสตร์ และศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงแนวคิดให้สัมฤทธิ์ผล โดยสรุปและไม่คิดมูลค่า ซึ่งหาอ่านจากไหนไม่ได้อีกแล้ว นอกจากกองหนังสือตำราเล่มโตๆ ในห้องสมุด มา ณ ที่นี้ครับ

และขอขอบคุณป๋าณัฐ ที่ได้ประสานงานกับ อ.นคร จนได้รับข้อเขียนมาเผยแพร่ให้สมาชิกได้ศึกษาหาความรู้เพื่อต่อยอดด้านต่างๆ ด้วยครับ
Back to top
View user's profile Send private message
nathapong
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 3515
Location: Ayuthaya - Lamlukka - Navanakhon - Silom

PostPosted: 29/10/2009 7:49 pm    Post subject: Reply with quote

ขอบคุณพี่ตึ๋ง ที่มาช่วยสร้างสีสรรค์ให้กับกระทู้ ครับ

นอกเหนือจากนี้ ท่านยังมีผลงานกับ สารานุกรม ฯ ฉบับปรับปรุง อีกด้วย คงต้องคอยติดตาม นะครับ

และ ขอขอบพระคุณ ท่าน อ.นคร ที่โทรมาให้กำลังใจ
ต่อสมาชิกทุกท่าน และทีมงานทุกคน ที่ยังรักและห่วงรถไฟ ที่ต้องการให้รถไฟไทยสามารถผ่านอุปสรรค ที่เกิดขึ้นไปได้ด้วยดี
และให้รถไฟไทยเป็นเสาหลักที่สำคัญ ของการคมนาคมกับบ้านเรา และพัฒนาระบบขนส่งทางราง อย่างยั่งยืน สืบไป

ขอขอบคุณอาจารย์ อีกครั้งครับ

ปล. รออ่านคอมเมนต์จาก สมาชิก ครับ
Back to top
View user's profile Send private message Send e-mail
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> สาระความรู้วิชาการรถไฟและประวัติศาสตร์รถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3, 4  Next
Page 2 of 4

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©