RailServe.Com

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai.Com

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311287
ทั่วไป:13268815
ทั้งหมด:13580102
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าวเกี่ยวกับ "ที่ดิน" ของ "รฟท."
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ข่าวเกี่ยวกับ "ที่ดิน" ของ "รฟท."
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 34, 35, 36 ... 198, 199, 200  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42724
Location: NECTEC

PostPosted: 17/01/2011 11:28 am    Post subject: ผลพวงจากการปรับค่าเช่าตลาดนัดสวนจตุจักร Reply with quote

ให้เช่าแผง"จตุจักร"ถูกแสนถูก เดือนละ 120 บาทเท่านั้น!!!
มติชน วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2554 เวลา 14:00:37 น.

"ขายร้าน เซ้งร้าน หรือเช่าร้าน ในสวนจตุจักร โครงการ 5 ร้านติดริมรั้ว ลูกค้าสามารถเดินผ่านร้านได้ทั้งด้านหน้าและด้านหลังร้าน สนใจโทรมาคุย มาดูร้านได้ โทร xxx-xxxxxxx เจ้าของเองค่ะ ขายเซ้ง 1.5 ล้านคะ ถ้าเช่า เช่าเดือนละ 15,000 บาทค่ะ มัดจำ 2 เดือน ล่วงหน้า 1 เดือนค่ะ เข้าขายได้เลย"


"เซ้งห้องจตุจักร2ห้อง ห้องละ3.5แสน หรือแลกบ้าน ที่ดิน รถยนต์ก็ได้"


นี่เป็นประกาศเซ้งร้าน หรือเช่าร้าน ในสวนจตุจักร แหล่งช้อปปิ้งเสาร์-อาทิตย์ อันดับแรกที่ทุกคนนึกถึง ด้วยทำเลดีมีรถไฟฟ้าใต้ดินและรถไฟฟ้าบีทีเอส แทบจะเกยร้าน และรถเมล์อีกหลายสิบผ่าน ทำให้ทำเลแห่งนี้เป็นทำเลทองขึ้นมาอย่างไม่ต้องสงสัย


ถึงขนาดมีข้อเสนอ แลก "บ้าน ที่ดิน หรือรถยนต์" กับพื้นที่ขายของไม่กี่ตารางเมตร ถ้าไม่คุ้มขนาดนี้คงไม่ใครยอมเสี่ยงควักกระเป๋า


ผู้เช่าหลายคนเปิดเผยว่า นอกจากเซ้งที่ในราคาสูงแล้ว ยังต้องจ่ายค่าเช่าในราคาสูงอีก ร้านติดริมรั้วถนนกำแพงเพชรหรืออยู่ริมทางเท้าหลัก ค่าเช่าสูงถึงเลข 5 หลัก มีตั้งแต่ราคา 10,000-30,000 บาท ขณะที่แผงค้าพื้นที่ด้านในไกลปืนเที่ยง จ่ายค่าที่เป็นหลักพัน เริ่มต้นที่ 5,000 บาท


เพื่อแลกกับการได้ขายสินค้า เฉพาะเสาร์-อาทิตย์ เฉลี่ย 8 วันต่อเดือนเท่านั้น


แต่ความจริงแล้ว กทม.เก็บค่าที่จาก"ผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร" เพียงเดือนละ 120 บาทเท่านั้น!!


นายอรุณ ศรีจรูญ ผู้อำนวยการตลาดนัดกรุงเทพมหานคร (จตุจักร) เปิดเผยว่า ปกติเรียกเก็บค่าเช่าจากผู้ค้าแผงละ 120 บาท แต่ถ้าทำผิดกฎระเบียบ เช่น ไม่มาขายของเป็นประจำ ก็จะถูกปรับ กระทงความผิดละ 120 บาท เป็นค่าเช่า 240 บาท เดือนหน้าก็ถูกเรียกเก็บในอัตรานี้ ถ้าทำผิดอีกก็เสีย 360 บาท ซึ่งค่าเช่าราคา 120 240 และ 360 บาท ถือเป็นราคาส่วนใหญ่ 80% ที่ผู้เช่าเสียในตลาดนัดแห่งนี้ ส่วนผู้ค่าที่เสียค่าเช่าที่สูงสุด ราคา 3,000 กว่าบาท มีอยู่ 2 ราย เพราะทำผิดอยู่บ่อยครั้ง


นายอรุณ ยังยืนยันว่า ค่าเช่ากว่าหมื่นบาทนั้น ทางกองอำนวยการฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้ค้าให้เช่าช่วงต่อกันเองทั้งนั้น และยังมีการซิกแซกเลี่ยงจ่ายค่าธรรมเนียมการโอน 10,000 บาทให้กองอำนวยการอีกต่างหาก พอเรารู้ว่าเปลี่ยนเจ้าของก็ไปจับ จับมาก็บอกว่าญาติกัน ทั้งผู้ให้เช่าและผู้ให้เช่าก็ต่างสมยอมกัน เราก็ทำอะไรไม่ได้


นอกจากนี้ อายุของผู้ค้ารุ่นแรกตั้งแต่ย้ายมาจากสนามหลวงมายังจตุจักรยังเป็นปัจจัยสำคัญ ผอ.ตลาดนัดจตุจักรกล่าวว่า ตั้งแต่ทำสัญญาครั้งแรกเมื่อปี 2525 ผู้ค้าน่าจะอายุ 20-30 ปีขึ้นไป แล้วผ่านมา 30 ปี อายุ 60 ปี เป็นลุงกันแล้ว แล้วอยู่ๆ มีเด็กมาเสนอเช่าต่อเดือนละ 10,000 บาท มีหรือลุงจะไม่เอา


เสียดายที่พ่อค้าแม่ค้าต่างเสียค่าเช่าแพงไปนิด แทนที่จะเป็น 120 บาทตามเดิม ไม่งั้นเราคงเดินซื้อของถูกในสวนจตุจักรได้สนุกกว่านี้..
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42724
Location: NECTEC

PostPosted: 18/01/2011 6:40 pm    Post subject: Reply with quote

จี้ใจตลาดจตุจักรรีดผู้ค้า84ล้านฯ

สกู๊ปหน้า 1
โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์
17 มกราคม 2554, 10:49 น.

กองอำนวยการตลาดนัดกรุงเทพมหานคร ส่งจดหมายชี้แจงมายังสกู๊ปหน้า 1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ลงวันที่ 5 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา กรณีข่าว..."ปุจฉาตลาดนัดจตุจักร รีดผู้ค้า 84 ล้านบาท" เนื้อหาใจความข้อชี้แจง

ข้อ 1...กล่าวถึงสัญญาเช่าที่ดินการรถไฟฯ ลงวันที่ 24 กันยายน 2530 การรถไฟฯในฐานะผู้ให้เช่า มีสิทธิที่จะปรับอัตราค่าเช่าทุกๆ 5 ปี

เมื่อการรถไฟฯมีหนังสือลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2553 แจ้งเก็บค่าเช่าค้างชำระ ระหว่าง 2 มกราคม 2544 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2554...เป็นจำนวนเงิน 84,422,902 บาท...ชำระภายใน 30 วัน

กรุงเทพมหานครยอมรับว่า ได้เคยมีการเจรจาขอลดค่าเช่าจำนวนนี้มาแล้ว และในที่สุดคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย มีมติให้กรุงเทพมหานครชำระค่าเช่าในจำนวน 84,422,902 บาท

กองอำนวยการตลาดนัดมีมติยอมรับ จึงไม่มีข้อพิพาทอนุญาโตตุลาการ และได้กำหนดจัดสรรหนี้นี้ เป็นค่าใช้สถานที่เพิ่มเติม เฉลี่ยในสัดส่วนที่ถูกต้องเป็นธรรม ซึ่งที่ประชุมผู้แทนแผงค้ามีมติยอมรับเป็นเอกฉันท์ ในการจัดสรรเก็บเพิ่มแผงค้าละ 8,100 บาท

ประเด็นนี้...แม้ว่าผู้ค้าจะมีมติยอมรับ แต่ในคำร้องเรียนของผู้ค้าที่ส่งจดหมายร้องทุกข์มาถึงสกู๊ปหน้า 1 ก็บอกทำนองว่า... "ใครจะไม่ยอมรับ...ก็ต้องรับแบบถูกมัดมือชก เพราะถ้าไม่ยอมก็คงมีปัญหา เพราะทำมาค้าขายอยู่ในตลาดนัดจตุจักร"

เข้าใจง่ายๆ ไม่ว่าระเบียบจะออกมาอย่างไร หรือจะเสนอขอความร่วมมือมาแบบไหน ก็ต้องรับมาปฏิบัติ 100 เปอร์เซ็นต์

ต้องย้ำถึงข้อโต้แย้งที่กล่าวถึงไปแล้ว นั่นก็คือ...กองอำนวยการตลาดนัดกรุงเทพมหานคร มีอำนาจเก็บเงินผู้เช่าช่วงต่อให้ไปจ่ายหนี้ที่ตัวเองก่อเอาไว้ได้ด้วยหรือ?

"ผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร ไม่ใช่คู่สัญญาหรือบริวารของผู้เช่า...จึงไม่มีหน้าที่หรือความรับผิดชอบในหนี้สินใดๆของผู้เช่า อันได้แก่กรุงเทพมหานครที่มีต่อการแจ้งหนี้ของการรถไฟฯ"


ในวังวนการบริหารจัดการในตลาดนัดสวนจตุจักร...แดนสนธยาแห่งนี้ ประสาพ่อค้าแม่ขายผู้มีความรู้น้อย จึงทำให้เกิดปมใจตามมาว่า..."เราเป็นผู้เช่าบ้านเขาอยู่ จ่ายค่าเช่าครบทุกเดือน ไม่เคยตกหล่น แต่บังเอิญเจ้าบ้านไปก่อหนี้เอาไว้ ท้ายที่สุดก็จะให้คนเช่าใช้หนี้แทน..."

กฎ กติกา หรือระเบียบอะไร ที่ทำให้เป็นเช่นนี้?

กลุ่มพ่อค้าแม่ขายที่พอจะมีเวลาว่างจากค้าขาย ก็พยายามหาเวลาไปสืบค้นข้อระเบียบ...พลิกตำรา จนจับประเด็นสำคัญได้หลายประการ

จับตาไปที่ประเด็น...การเก็บค่าใช้สถานที่เพิ่มเติมโดยอาศัยอำนาจข้อ 9 แห่งระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการบริหารงานตลาดนัดกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2533 ทำได้หรือไม่?

อำนาจข้อที่ 9 ในระเบียบที่ว่านี้ เขียนเอาไว้ว่า... "ให้กองอำนวยการตลาดนัด มีอำนาจหน้าที่จัดการตลาดนัดให้ดำเนินกิจการตามระเบียบนี้ โดยมีผู้อำนวยการตลาดนัดเป็นผู้รับผิดชอบบริหารงานตลาดนัด"

ข้อนี้ตีความได้ค่อนข้างกว้าง ประหนึ่งว่า "กองอำนวยการตลาดนัด"... "ผู้อำนวยการตลาดนัด" มีอำนาจสูงสุดในการทำอย่างไรก็ได้กับตลาดนัด

หรือถ้าจะให้ใกล้เคียงกว่านี้ ก็เป็นระเบียบที่ว่าด้วยเรื่องการจัดแผงค้าในตลาดนัดกรุงเทพมหานคร ข้อที่ 9 ที่ระบุว่า... "ให้คณะกรรมการควบคุมการจัดตลาดนัดกรุงเทพมหานคร เป็นผู้กำหนดค่าธรรมเนียม ค่าตอบแทน หรือค่าใช้สถานที่ของตลาดนัดกรุงเทพมหานคร และประกาศให้ผู้ค้าทราบ"


แปลไทยเป็นไทยก็ไม่น่าจะตีความเป็นอื่น...เพราะอำนาจข้อนี้ ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเก็บค่าใช้สถานที่เพิ่ม เพื่อเอาไปใช้หนี้ให้กับเจ้าหนี้ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ตลาดจตุจักรตัวจริง

ซึ่งหมายถึงการรถไฟฯ

ประกาศในเรื่องนี้ ไล่เรียงมาตั้งแต่ข้อ 1 เป็นรายละเอียดการบริหารจัดการแผงค้า โดยที่ระเบียบข้อ 5 ระบุเอาไว้ว่า...ให้กองอำนวยการตลาดนัด จัดให้มีสัญญาให้สิทธินำสินค้ามาจำหน่ายในบริเวณตลาดนัดและทะเบียนผู้ค้า

โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ค้าในอัตราแผงละ 100 บาท (หนึ่งร้อยบาทถ้วน) และให้มีคู่มือทะเบียนผู้ค้า ให้ผู้ค้าถือไว้ด้วย

พลิกแฟ้มต่อไป...ระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินและการรักษาเงินตลาดนัด

ข้อ 4 ระบุถึงเงินรายรับอันเกิดจากการดำเนินงานตลาดนัด ให้นำส่งฝากกองการเงิน สำนักการคลังกรุงเทพมหานคร ไว้เป็นเงินฝากถอนคืนประเภท... "เงินตลาดนัด"

สำหรับใช้จ่ายในการดำเนินงานตลาดนัด ตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะพิจารณาเห็นสมควร

เงินรายได้เหลือจ่าย เมื่อสิ้นทุกงวดสี่เดือนของปีงบประมาณให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีอำนาจสั่งจ่าย เพื่อใช้ในกิจการอื่นที่เห็นสมควรกึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลือให้เก็บไว้เป็นทุนในการดำเนินการตลาดนัดต่อไป

ตีความกันตรงๆก็หมายความว่าเงินตลาดนัด ผู้ว่าฯ กทม.มีอำนาจสั่งจ่าย เอาไปใช้ในกิจการที่เห็นสมควร

เมื่อมีกรณีเรียกเก็บค่าใช้สถานที่ตลาดจตุจักรเพิ่มรายละ 8,100 บาท พ่อค้าแม่ค้าผู้มีความฉงนสงสัยในความเกี่ยวข้องที่ต้องเป็นผู้ใช้หนี้แทน กทม.ก็เพียรพยายามไปหาตัวเลขรายได้ก้อนนี้....

เพื่อที่จะดูว่า ตัวเลขเงินตลาดนัดก้อนนี้ติดลบ...จนใช้หนี้การรถไฟฯไม่ไหวหรือเปล่า?

เอกสารสรุปเพื่อประกอบการตรวจราชการปกติ ไตรมาสที่ 1 (1 ตุลาคม 2551-31 มกราคม 2552) ปีงบประมาณ 2552 ของกองอำนวยการตลาดนัดกรุงเทพมหานคร วันที่ 25 มกราคม 2552 โดยคณะผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร

งานรายได้ตลาดนัดจตุจักร แบ่งการจัดเก็บรายได้ออกเป็น 7 ประเภท ค่าใช้สถานที่แผงค้าอาคารกึ่งถาวร, ค่าใช้สถานที่ทำการค้าต้นไม้, ค่าใช้สถานที่ ทำการค้าแผงค้าพื้นที่สีเขียว, ค่าประมูลแผงค้าลานเร่, ค่าบริการจอดรถและสุขา, ค่าธรรมเนียมประเภทอื่นๆ, ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน

รวมรายได้ 3 เดือน...ตุลาคม-ธันวาคม 2551 ได้ทั้งสิ้น 17,597,271.69 บาท...พร้อมหมายเหตุไว้ว่า เดือนมกราคม 2552 ยังไม่ได้จัดทำรายงานเนื่องจากยังเก็บรายได้ไม่เต็มเดือน

รายงานฐานะการเงินตลาดนัด ณ วันที่ 30 กันยายน 2551...เงินทุนหมุนเวียน 180,783,627.13 บาท
และถ้าได้ไปเปิดหน้าบัญชีรายรับ-จ่าย ของตลาดจตุจักร มีคนเล่าให้ฟังว่า ตัวเลขเงินคงเหลือติดบัญชี ก็มีมากพอที่จะจ่ายหนี้ค่าเช่าที่ดินค้างการรถไฟฯ 84,422,902 บาท...ได้สบายๆ แล้วไฉนเลย...กลับมาเรียกเก็บค่าเช่าเพิ่มจากผู้ค้ารายย่อย

เงินก้อนนี้ฝากคลังเอาไว้ เป็นเงินนอกงบ ถ้าไม่ผิดพลาด...มีตัวเลขอยู่ที่ 204 ล้านบาท พ่อค้าแม่ขายผู้ร้องทุกข์ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า...การรถไฟแห่งประเทศไทย ออกระเบียบไปทั่วประเทศ เรื่องอัตราเช่าที่ดินการรถไฟฯ เหตุใด...ถึงจะลด ค่าเช่าให้ กทม.จากหนี้ค้างเก่ากว่า 600 ล้านบาท เหลือแค่ 80 ล้านบาทต้นๆ การรถไฟฯยอมจริงๆหรือเปล่า? (600 ล้านซื้อรถจักรได้ 5 หลัง 84 ล้านซื้อรถ บนทป. ได้ 2 หลัง)

จะว่าไปแล้ว หนี้ทุกก้อนที่พึงได้รับ มีผลต่อการดำเนินกิจการของการรถไฟไทย ที่มีหนี้สินพันตัวอยู่อีกกว่า 60,000 ล้านบาท

"เท่ากับว่า...การลดหนี้ อาจเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการบริหารกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่น่าเป็นห่วง"

ตอกย้ำประเด็นหลัก ตกลงว่า...เรื่องภาระหนี้สินที่ กทม.มีกับการรถไฟฯนั้น ไม่น่าจะเกี่ยวกับบุคคลภายนอก โดยเฉพาะผู้ที่เช่าแผงค้าขายในตลาดจตุจักร

ปมค่าเช่าตลาดนัดสวนจตุจักร จับต้นชนปลายให้ดีๆ เงื่อนแรก...ผู้เช่าช่วงต่อควรหรือไม่ที่ต้องรับภาระค่าเช่าค้างการรถไฟฯ...ควรหรือไม่ที่ตลาดจตุจักรจะเรียกเก็บ และควรหรือไม่ถ้าการรถไฟฯจะใจดีลดค่าเช่าจาก 600 ล้านบาท เหลือแค่ 84 ล้านบาทเท่านั้น

ความไม่ชอบมาพากลเหล่านี้จะคลี่คลายลงได้อย่างไร? ผู้ค้าที่ต้องจำใจยอมรับชะตากรรม...ถึงแม้ว่าทุกแผงจะจ่ายเงินส่วนเกินไปแล้ว แต่ก็ยังคงต้องการความกระจ่าง และถามหาความยุติธรรม.
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44606
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 20/01/2011 8:18 am    Post subject: Reply with quote

รายงานพิเศษ: 50 ชุมชนบนแนวรางคู่สายใต้ กับพัฒนาการต่อสู้บนที่ดินรถไฟ
Prachatai Thu, 2011-01-20 01:33

มูฮำหมัด ดือราแม และ ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ

สำรวจชุมชนบนที่ดินรถไฟสายใต้ 172 ชุมชนบุกรุกอาจต้องหลีกทางให้รถไฟรางคู่ และรถไฟความเร็วสูงต้นทางประเทศจีน สอช.จับมือ พอช.เร่งสำรวจ เสนอ รฟท.แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยบนที่ดินรถไฟ ทั้งขอเช่าและย้ายที่ เปิดข้อเสนอใหม่ตัวแทนชุมชน ขอหักจากโครงการ 1% เอามาแก้ปัญหากันเอง

Click on the image for full size
ชุมชนริมทางรถไฟในเขตอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาแห่งนี้ จะต้องรื้อย้ายออกไปเพื่อหลีกทางให้กับโครงการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ในอนาคต (ภาพจาก: รถไฟไทยดอทคอม)

Click on the image for full size
บ้านเรือนที่อยู่อาศัยบนเส้นทางรถไฟสายเก่าหาดใหญ่ – สงขลาในเขตอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาอย่างที่เห็นนี้ก็จะต้องถูกรื้อย้ายออกไปเช่นกัน เพื่อหลีกทางให้กับโครงการรื้อฟื้นที่ทางรถไฟสายนี้อีกครั้ง ซึ่งตลอดแนวทางรถไฟระยะประมาณ 30 กิโลเมตร เต็มไปด้วยชุมชนแออัดที่มีการสร้างบ้านเรือนคร่อมรางจำนวนมาก (ภาพจาก: รถไฟไทยดอทคอม)

คนที่เดินทางด้วยรถไฟตามต่างจังหวัด คงรู้สึกดีไม่น้อยที่ได้ชมบรรยากาศสองข้างทางที่เป็นธรรมชาติ แต่เมื่อขบวนรถแล่นเข้าสู่เขตเมือง ความรู้สึกคงเริ่มเปลี่ยนไป เพราะสองข้างทางกลายเป็นชุมชนแออัด เสื่อมโทรมและกลิ่นเหม็น

สภาพเช่นนี้อาจถูกขจัดออกไปในเร็ววัน เมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. มีแผนที่จะก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ทั่วประเทศ และอาจแถมด้วยทางรถไฟความเร็วสูงสายยาวต้นทางจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาขนาบข้าง

การมาของทั้งรางคู่และทางรถไฟความเร็วสูง ย่อมสร้างความวิตกกังวลให้กับชาวบ้านที่ยึดที่ดินริมทางรถไฟเป็นที่อยู่อาศัยหรือทำมาหากินไม่มากก็น้อย เพราะไม่รู้ว่าทางรถไฟจะพาดผ่านหลังคาบ้านใคร หากยังไม่มีที่ทางหลับนอนแห่งใหม่มารองรับ โดยเฉพาะคนที่มีรายได้น้อย

แม้ความพยายามแก้ปัญหาให้กับคนจนในเขตเมืองเหล่านี้ มีมาอย่างต่อเนื่องหลายปีแล้ว แต่เหมือนยิ่งแก้ ปัญหาก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นและสะสมมาเรื่อยๆ ในขณะที่มีผู้เข้าไปบุกรุกในเขตที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยจนกลายเป็นชุมชนก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

เมื่อมีมหาโครงการมูลค่าแสนล้านอย่างทางรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูงที่จะมาถึงในไม่ช้า ก็ย่อมสร้างความกังวลให้กับชุมชนบนที่ดินรถไฟมากขึ้น จึงเริ่มมีการรวมตัวเคลื่อนไหวเพื่อหาทางออกให้กับชุมชนเหล่านี้อีกครั้ง โดยเฉพาะในกลุ่มตัวแทนชุมชนในที่ดินรถไฟในภาคใต้ เมื่อไม่นานมานี้

3 องค์กรจับมือแก้ปัญหา
ความร่วมมือกันระหว่างตัวแทนชุมชนบนที่ดินรถไฟกับ 3 องค์กร ได้แก่ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.ที่จะให้ชุมชนเหล่านั้นเข้าร่วมโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามโครงการบ้านมั่นคง สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) ที่ต้องการให้แก้ปัญหาชุมชนบนที่ดินรถไฟทั่วประเทศ และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่มีนายประกิจ พลเดช ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน

ที่ผ่านมาตัวแทนชุมชนในภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปจนถึงนราธิวาส มีการจัดประชุมร่วมกับ พอช.และสอช.กันถึง 2 ครั้ง ที่ห้องประชุมเทศบาลเมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

การประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2553 มีตัวแทนของการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้าร่วมด้วยและมีการนำเสนอแผนพัฒนารถไฟรางคู่ทั่วประเทศและรถไฟความเร็วสูง

ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2553 เพื่อรวมรวมข้อมูลชุมชนบนที่ดินรถไฟทั่วทั้งภาคใต้จากสำรวจของแกนนำในแต่ละจังหวัด ตามที่ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมครั้งแรก ก่อนที่ตัวแทน แต่ข้อมูลที่ได้ก็ยังไม่สมบูรณ์ครบถ้วน แต่อย่างน้อยก็พอได้เห็นว่า มีกี่ชุมชนที่จะได้รับผลกระทบจากทางรถไฟรางคู่ ก่อนที่จะนำข้อสรุปที่ได้ ไปนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย

ทั้ง 2 ครั้งเป็นการประชุมในส่วนของแกนนำชุมชนในเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยในภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปจนถึงนราธิวาส ทั้งในพื้นที่ที่มีเส้นทางรถไฟผ่านและไม่มีทางรถไฟผ่านอย่างจังหวัดพังงาและภูเก็ต

แผนพัฒนารางคู่ของ รฟท.
สำหรับโครงการรถไฟรางคู่ การรถไฟแห่งประเทศไทยได้วางแผนการก่อสร้างรางคู่ทั่วประเทศออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก เริ่มตั้งแต่ปี 2553 – 2558 ระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี 2558 – 2563 และระยะที่ 3 ซึ่งจะทำให้มีทางรถไฟรางคู่ครอบคลุมทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2563 – 2568

โครงการก่อสร้างรางคู่ระยะแรก มี 5 เส้นทาง ภายในวงเงิน 66,110 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ลพบุรี – ปากน้ำโพ ระยะทาง 118 กิโลเมตร 2.สายมาบกระเบา – นครราชสีมา ระยะทาง 132 กิโลเมตร 3.สายชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น ระยะทาง 185 กิโลเมตร และ 4.สายนครปฐม – หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร และ 5.สายประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร

เมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทย มีแผนชัดเจนและได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลแล้ว นั่นก็หมายความว่า ชุมชนในที่ดินรถไฟทั่วประเทศ จำนวนกว่า 32,000 ครัวเรือน ตามที่นายประกิจเปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้ ก็ต้องหลีกทางให้แน่นอน

และอาจยิ่งเร็วขึ้นไปอีก เมื่อล่าสุดการรถไฟแห่งประเทศไทยจะปรับแผนการประกวดราคา โดยแบ่งย่อยสัญญาก่อสร้างในระยะแรกออกเป็นสัญญาละ 30 – 40 กิโลเมตร เพื่อให้ก่อสร้างเร็วขึ้น ภายใน 3 ปี คือระหว่างปี 2554 – 2556

ไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่ในที่ดินรถไฟที่รถไฟไม่วิ่งแล้ว อย่างเช่น ทางรถไฟสายเก่าสายหาดใหญ่ – สงขลา ซึ่งเต็มไปด้วยบ้านเรือนของผู้บุกรุก ถึงขนาดมีการสร้างบ้านคร่อมรางรถไฟ ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยก็มีแผนที่จะรื้อฟื้นขึ้นมาด้วยเช่นกัน

ที่ผ่านมาสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีข้อสรุปผลการศึกษา เรื่องแผนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเชื่อมโยงเมืองหาดใหญ่กับเมืองสงขลาแล้ว โดยพบว่าระบบรถไฟชานเมืองที่วิ่งบนทางรถไฟเดิมมีความเหมาะสมมากที่สุด ซึ่งตามแผนระบุว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2556

นางละออ ชาญกาญจน์ ประธานกลุ่มออมทรัพย์ดินรถไฟชุมชนกุโบร์ ในเขตเทศบาลเมืองสงขลา ในฐานะตัวแทนสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) และหนึ่งในกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ตอนนี้สำรวจทุกภาคแล้ว ซึ่งในภาคใต้มีหลายจังหวัดที่มีชุมชนบนที่ดินรถไฟ ถ้ารถไฟรางคู่เข้ามาถึงแล้วค่อยทำ จะไม่ทันการ

“เราต้องไปอยู่ที่ไหนรถไฟไม่รับผิดชอบ ทาง สอช.จึงทำเรื่องนี้ โดยรวบรวมข้อมูลส่งให้ พอช. เพื่อจะขอเช่าพื้นที่จากการรถไฟฯ” นางละออ กล่าว

50 ชุมชน บนแนวรางคู่สายใต้
จากการรวมรวบรวมข้อมูลในการประชุมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2553 พบว่า ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป จะมีชุมชนบนที่ดินรถไฟที่จะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ 50 ชุมชน จำนวน 5,354 ครัวเรือน โดยเป็นครัวเรือนที่อยู่ในระยะ 40 เมตรจากรางรถไฟ ตามเงื่อนไขเดิมของการรถไฟแห่งประเทศไทย แต่ก็ยังมีชุมชนอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้สำรวจ

ชุมชนเหล่านี้ แม้จะยังไม่ได้รับผลกระทบจากทางรถไฟรางคู่ในระยะแรกก็ตาม แต่ที่ประชุมก็ต้องการให้มีการแก้ปัญหาในภาพรวมทั้งหมดทั่วประเทศ โดยต้องการให้การรถไฟแห่งประเทศไทยรับรองชุมชนเหล่านั้นทั้งหมด จากเดิม 128 ชุมชน ตามที่ พอช.เคยสำรวจและเสนอขอเช่าต่อจากการรถไฟแห่งประเทศมาแล้ว เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการแก้ปัญหาต่อไป ในจำนวน 128 ชุมชน เป็นชุมชนที่อยู่ในภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป 32 ชุมชน

ที่ผ่านมา การแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินรถไฟของไทยมีมายาวนานกว่า 20 ปี โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมืองใหญ่ แม้มีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยมาแล้วหลายราย แต่นับวันการบุกรุกก็มีเพิ่มมากขึ้น บางแห่งมีสภาพเป็นชุมชนแออัด บางแห่งมีการก่อสร้างที่อยู่อาศัยเป็นอาคารคอนกรีตอย่างมั่นคงแข็งแรง บางแห่งเป็นพื้นที่เกษตร

เชื่อว่า ในเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยทั่วประเทศ มีชุมชนประมาณ 300 ถึง 400 ชุมชน เฉพาะข้อมูลที่รวบรวมโดย พอช.พบว่า ทั่วประเทศมี 346 ชุมชน

พัฒนาการต่อสู้ชุมชนบนที่ดินรถไฟ
การแก้ปัญหาชุมชนบนที่ดินรถไฟเริ่มจากการเคลื่อนไหวของเครือข่ายสลัม 4 ภาค เพื่อการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยเชิงนโยบายในช่วงปี พ.ศ.2545 โดยผลักดันนโยบายการใช้ที่ดินรัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจน เนื่องจากก่อนหน้านั้น กระทรวงคมนาคม มีนโยบายจะให้การรถไฟแห่งประเทศไทย นำที่ดินออกให้เอกชนเช่า เพื่อลดปัญหาการขาดทุน โดยเฉพาะที่ดินในเมืองซึ่งมีชุมชนส่วนใหญ่ตั้งอยู่

จากนั้นจึงเริ่มมีการประชุมชุมชนในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อผลักดันการขอเช่าที่ดินกับการรถไฟฯ 30 ปี เพื่อความมั่นคงในที่อยู่อาศัย มีการประชุมเจรจากันหลายครั้ง มีการชุมนุมกดดันรัฐบาลให้แก้ปัญหาเรื่องนี้กันหลายรอบ

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543 คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทยเห็นชอบข้อสรุปการสำรวจชุมชนบนที่ดินรถไฟขณะนั้นว่า มี 61 ชุมชนใน 13 จังหวัด และมีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดในที่ดินรถไฟ หลักๆ 2 ข้อ สรุปได้ดังนี้

1.ราษฎรที่อาศัยในที่ดินรถไฟห่างจากรางรถไฟเกิน 40 เมตร และยังไม่อยู่ในแผนแม่บทที่จะใช้ประโยชน์ ให้เช่าเป็นที่อยู่อาศัยได้ 30 ปี และ 2.ส่วนที่อาศัยในในรัศมี 40 เมตรให้เช่าเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ครั้งละ 3 ปี จนกว่าจะมีโครงการใช้พื้นที่เพื่อประโยชน์ในการเดินรถและการรถไฟจะหาที่รองรับที่อยู่ห่างจากเดิมภายในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร

ต่อมาเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้ยื่นเรื่องเสนอเช่าที่ดินการรถไฟฯ รวม 15 ชุมชน แต่มีเพียง 4 ชุมชนที่ผ่านอนุมัติจากคณะกรรมการรถไฟฯ โดยมีชุมชนทับแก้ว ซึ่งต้องรื้อย้ายจากโครงการตัดถนนของกรุงเทพมหานคร และผลักดันการรถไฟฯ ให้จัดที่ดินรองรับ ชาวชุมชน 126 ครอบครัว ได้เช่าที่ดินย่านสถานีรถไฟคลองตัน พื้นที่ 5 ไร่ 88 ตารางวา ราคาตารางเมตรละ 20 บาทต่อปี ถือเป็นชุมชนแออัดแห่งแรกที่ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินการรถไฟฯ เป็นเวลา 30 ปี

หลังจากนั้นการแก้ไขปัญหาก็หยุดชะงักลงตั้งแต่ช่วงที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทวงคมนาคม ซึ่งมีนโยบายที่จะฟื้นฟูกิจการรถไฟฯ

จนกระทั่งล่าสุดในรัฐบาลชุดปัจจุบัน กระทรวงคมนาคมได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยขึ้นมาอีกชุด เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2553 ที่มีนายประกิจ เป็นประธาน และมีตัวแทนของชุมชนบนที่ดินการรถไฟฯ เป็นกรรมการอยู่ด้วย 8 คน จากคณะกรรมการทั้งหมด 23 คน หนึ่งในนั้น คือ ป้าแต๋ว หรือ นางละออ ชาญกาญจน์ นั่นเอง

ชุมชนเดินหน้าขอเช่าเป็นที่อาศัย
ในการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการชุดนี้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 ที่กระทรวงคมนาคม ได้ข้อยุติที่เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาชุมชนผู้บุกรุกที่ดินของการรถไฟ โดยมีเงื่อนไขให้ พอช.ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐสังกัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้ยื่นคำขอเช่าและเป็นคู่สัญญาเช่ากับการรถไฟแห่งประเทศไทยแทนชุมชนที่อยู่ในเครือข่าย สอช.

ขณะเดียวกันคณะกรรมการชุดนี้ ยังให้ใช้เงื่อนไขรายละเอียดการเช่าที่ดินในกรณีเดียวกับชุมชนที่อยู่ในกลุ่มเครือข่ายสลัม 4 ภาค เช่น กำหนดพื้นที่ให้เช่าขนาดหลังละไม่เกิน 5 x 10 เมตร หรือ 4 x 8 เมตร ระยะเวลาเช่า 3 ปี ต่อสัญญาได้คราวละไม่เกิน 3 ปี

อัตราค่าเช่า 7 – 20 บาทต่อตารางเมตรต่อปี โดยไม่รวมค่าเช่าเชิงพาณิชย์ อัตราค่าเช่าเพิ่มคิดร้อยละ 5 ในทุก 5 ปี ถ้ามีการรื้อย้ายและสร้างชุมชนใหม่ การรถไฟแห่งประเทศไทยจะลดค่าเช่าช่วงใน 2 ปีแรกให้ร้อยละ 50 ให้พอช.เป็นคู่สัญญากับการรถไฟฯ และให้ พอช.ดำเนินการให้ชุมชนเช่าต่อ

พื้นที่ขอเช่าต้องอยู่ห่างจากศูนย์กลางทางประธานไม่น้อยกว่า 20 เมตร จะต้องยื่นแบบอาคารที่จะปลูกสร้างให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและการรถไฟแห่งประเทศไทยพิจารณาก่อน หากการรถไฟแห่งประเทศไทยมีโครงการ ชุมชนยินดีย้ายออกจากพื้นที่เช่า โดยให้การรถไฟแห่งประเทศไทยและชุมชนจัดหาพื้นที่รองรับร่วมกัน ในรัศมี 5 กิโลเมตรจากที่อยู่เดิมก่อน

นอกจากนี้ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ยังมีมติให้ชะลอการดำเนินคดีกับผู้บุกรุกที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ในชุมชนในเขตอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราชและชุมชนอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่ม 128 ชุมชน ตามที่ พอช.เคยสำรวจและเสนอขอเช่าต่อจากการรถไฟแห่งประเทศมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาของการรถไฟถูกมองว่า ล่าช้า ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย ต้องการรอดำเนินการจัดตั้งหน่วยธุรกิจ (Business Unit: BU) 3 หน่วย คือหน่วยการเดินรถ หน่วยบริหารทรัพย์สินและหน่วยอำนวยการ ตามแผนการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยก่อน ซึ่งหน่วยบริหารทรัพย์สิน จะเข้ามาดูแลที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยทั่วประเทศ

รถไฟตั้งสำนักงานลุยฟ้องผู้บุกรุก
ขณะเดียวกัน เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เสนอขอจัดตั้งสำนักงานกรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ต่อนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อเห็นชอบ ก่อนนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทยที่มีนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเพื่อพิจารณาอนุมัติการจัดตั้งได้

นายประกิจ พลเดช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวก่อนหน้านี้ว่า สำนักงานกรรมสิทธิ์ที่ดินจะช่วยให้การรถไฟแห่งประเทศไทยบริหารงานได้คล่องตัวมากขึ้น เพราะสำนักงานจะมีอำนาจฟ้องร้องผู้บุกรุกได้ทันที

"ตอนนี้ปัญหาการบุกรุกยังมีอยู่เรื่อยๆ การสำรวจข้อมูลพบว่า ตอนนี้มีผู้ที่บุกรุกที่ดินการรถไฟฯ กว่า 3.2 หมื่นครัวเรือนทั่วประเทศ ขณะแก้ไขไปแล้วกว่า 40 %" นายประกิจ กล่าว

แต่การแก้ปัญหาชุมชนในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยก็ไม่ใช่จะง่ายดาย อย่างที่นางลออ บอกไว้ว่า ในการขอเช่าที่ดินรถไฟมีข้อติดขัดอยู่ที่ทุกชุมชนไม่มีสมาชิกต้องการเช่าทุกคน เพราะบางคนอยู่มาหลายสิบปีแล้ว ไม่เคยจ่ายค่าเช่าซักบาท แล้วอยู่ๆ จะไปทำเรื่องเช่าได้อย่างไร จึงทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้น

นางลออ เล่าว่า เขาบอกว่า อยู่เฉยๆ มาตั้งนานแล้ว ไม่ต้องเสียเงิน ทำไมต้องมาเสียเงิน บ้านบางหลังต้องเสียค่าเช่า 3,000 บาทต่อปี เพราะบุกรุกพื้นที่หลายตารางเมตร แต่ถ้าเป็นคนจนก็สร้างบ้านหลังเล็กๆ แต่บางหลังมีเงินเยอะ มีกำลังซื้อที่ดินเป็นของตัวเองได้ แต่ไม่อยากไป เพราะที่ดินรถไฟเป็นทำเลดีที่ขายของได้

ส่วนในการแก้ปัญหาที่เป็นของเสนอของ สอช.ต่อการรถไฟแห่งประเทศไทยนั้น นางละออ บอกว่า มีอยู่ 4 ข้อ คือ 1.การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องจัดหาที่ดินแห่งใหม่ให้เพื่อหลีกทางให้กับโครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทย 2.การขนย้ายออกจากที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องออกค่าใช้จ่ายในการขนย้ายตั้งแต่ 3,000 บาท จนถึง 30,000 บาท แล้วแต่สภาพของแต่ละครัวเรือน 3.การไปอยู่ที่ใหม่หากประกอบอาชีพไม่ได้หรือเป็นทำเลที่หากินไม่ได้ การรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องช่วยเหลือเยียวยาแต่ละครอบครัวเบื้องต้น และ 4.ด้านสิ่งแวดล้อม การรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องดูแลสภาพแวดล้อมให้ชุมชนต่อเนื่องด้วย แต่ทุกข้อ ยังไม่ได้รับการยอมรับจากการรถไฟแห่งประเทศไทย

ข้อเสนอใหม่ สอช.หักโครงการ 1% ให้ชุมชน
ยังมีอีกแนวทางหนึ่ง ที่กำลังจะเป็นข้อเสนอของ สอช. คือ การหักจากมูลค่าโครงการ 1 % มาเป็นกองทุนให้กับชุมชนบนที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยบริหารจัดการเอาเอง เช่น การซื้อที่ดินแห่งใหม่หรือสร้างบ้านใหม่ให้สมาชิกที่ย้ายออกจากที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย

ส่วนข้อเสนอของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งมีขึ้นระหว่างการจัดเวทีประชุมกับเครือข่ายชุมชนในภาคอีสาน คือ ให้เฉพาะค่าขนย้าย เริ่มจาก 3,000 - 30,000 บาท แต่ตัวแทนภาคอีสานเสนอเป็นตัวเลขตายตัวคือ 30,000 บาทต่อครัวเรือน จากนั้นนำเงินที่ได้ตั้งเป็นกองทุนให้สมาชิกกู้ไปซื้อที่ดินโดยไม่คิดดอกเบี้ย ส่วนการสร้างบ้านให้เข้าโครงการบ้านมั่นคงของ พอช.

ข้อเสนอนี้ดูเสมือนว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยจะยอม แต่แกนนำหลักๆ ของ สอช.มาวิเคราะห์กันอีกครั้งว่า ถ้าในภาคใต้เงิน 30,000 บาทต่อครัวเรือน อาจจะไม่พอกับการขนย้าย เพราะในภาคใต้บ้านหลังใหญ่กว่า

นางละออ บอกว่า อย่างที่ชุมชนกุโกร์ ในเขตเทศบาลนครสงขลา บ้านแต่ละหลังที่อยู่ในเขตที่ต้องย้ายออกราคาสูงถึงหลังละ 500,000 – 700,000 บาท ถ้าให้แค่ 30,000 บาท เขาจะยอมรับไหมแน่นอน

“แต่ตอนนี้การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องการให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดประชุมโดยให้มีวาระการจัดตั้งคณะกรรมการดูแลกองทุน 30,000 บาทต่อครัวเรือน แล้ว ในขณะที่ไม่ชัดเจนว่า ชุมชนในภาคใต้จะยอมรับกติกานี้หรือไม่” นางละออ กล่าว

กว่าที่รถไฟรางคู่จะมาถึง เวทีการต่อสู้เพื่อแก้ปัญหาชุมชนบนที่ดินรถไฟ ก็คงยังมีอีกหลายยกแน่นอน
......
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44606
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 20/01/2011 8:21 am    Post subject: Reply with quote

ตรวจรายชื่อตามแนวราง 172ชุมชนบนที่ดินรถไฟสายใต้

ต่อไปนี้เป็นรายชื่อชุมชนบนที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยในพื้นที่ภาคใต้ที่จะต้องหลีกทางให้กับรถไฟรางคู่ในอนาคต และการรื้อฟื้นที่เส้นทางรถไฟสายเก่าหาดใหญ่ – สงขลา จากการรวบรวมของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช.และสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ(สอช.)พบว่า มีจำนวน 172 ชุมชน โดยบางแห่งมีการสำรวจจำนวนครัวเรือนแล้ว

จังหวัดชุมพร มี 9 ชุมชน ดังนี้
อำเภอเมืองชุมพร ได้แก่ ชุมชนดอนยาง (มาบอำมฤต) 40 ครัวเรือน ชุมชนสวี 50 ครัวเรือน ชุมชนทุ่งตะโก 30 ครัวเรือน ชุมชนห้าแยกธีระ 390 ครัวเรือน ชุมชนวัดประสานนิกร

อำเภอหลังสวน ได้แก่ ชุมชนเขาเสก 25 ครัวเรือน ชุมชนวัดประสาทนิกร 139 ครัวเรือน อำเภอละแม ได้แก่ ชุมชนบ้านดวด 50 ครัวเรือน

จังหวัดสุราษฎร์ธานี มี 35 ชุมชน ดังนี้
ในเขตเทศบาลตำบลเวียงสระ ได้แก่ ชุมชนหน้าสถานีรถไฟ 13 ครัวเรือน ชุมชนยุพราช 128 ครัวเรือน ชุมชนตลาดบ้านส้อง 200 ครัวเรือน ชุมชนตลาดใหม่ (ยังไม่ได้สำรวจ)

ในเขตเทศบาลตำบลนาสาร ได้แก่ ชุมชนหน้าสถานีรถไฟ 240 ครัวเรือน ชุมชนสะพานหนึ่ง 227 ครัวเรือน ชุมชนท่าพลา 162 ครัวเรือน ชุมชนคีรีรัตน์นิคม 200 ครัวเรือน ชุมชนนาสาร 250 ครัวเรือน ชุมชนห้วยมุด1 ชุมชนห้วยมุด2 ชุมชนห้วยมุด3 ชุมชนเหมืองแกะ ชุมชนคลองฉวาง ชุมชนประธาน1 ชุมชนพูนศิริ7 400 ครัวเรือน

ในเขตเทศบาลตำบลท่าข้าม ได้แก่ ชุมชนราษฎร์บำรุง 1-7 จำนวน 360 ครัวเรือน ชุมชนตลาดล่าง 30 ครัวเรือน ชุมชนท้ายควน1 จำนวน 197 ครัวเรือน ชุมชนท้ายควน2 จำนวน 197 ครัวเรือน ชุมชนธีรศรม 128 ครัวเรือน ชุมชนบ้านบน (ยังไม่ได้สำรวจ) 7.ชุมชนบนควน 191 ครัวเรือน

จังหวัดนครศรีธรรมราช มี 21 ชุมชน ดังนี้
ในอำเภอเมือง ได้แก่ ชุมชนสะพานยาว 250 ครัวเรือน ชุมชนริมทางรถไฟ 534 ครัวเรือน ชุมชนสะพานเหล็ก 16 ครัวเรือน อำเภอร่อนพิบูลย์ ได้แก่ ชุมชนโคกยาง 52 ครัวเรือน

อำเภอทุ่งสง ได้แก่ ชุมชนสะพานเหล็กเมืองใหม่ 45 ครัวเรือน ชุมชนหลังโรงพยาบาล 75 ครัวเรือน ชุมชนตะวันออกวัดชัยชุมพล 61 ครัวเรือน ชุมชนสะพานเหล็ก 14 ครัวเรือน ชุมชนประชาอุทิศ 54 ครัวเรือน ชุมชนหมู่บ้านพัฒนา ชุมชนบ้านพักรถไฟ ชุมชนบ้านนาเหนือ ชุมชนตลาดบนหมู่3-11 ชุมชนตลาดล่าง ชุมชนบ้านตก ชุมชนถนนรถไฟสาย 3 ชุมชนตลาดสด ชุมชนฟาร์มไก่ ชุมชนบ้านชายคลอง หมู่ 1 ชุมชนศรีอาชาพัฒนาและ ชุมชนบ้านตลาดใหม่

จังหวัดพัทลุง มีชุมชนเดียว คือ ชุมชนตลาดบางแก้ว

จังหวัดสงขลา มี 63 ชุมชน ดังนี้
ในเขตอำเภอหาดใหญ่ ได้แก่ ชุมชนนอกสวน ชุมชนเขต7 ชุมชนเขต9 ชุมชนทรายทอง ชุมชนเทศบาลน้ำน้อย หมู่ที่1 ชุมชนจันทร์วิโรจน์ ชุมชนถัดอุทิศ ชุมชนรัตนวิบูลย์ ชุมชนมัสยิด ชุมชนสำราญสุข ชุมชนบางม่วง ชุมชนคลองเปล ชุมชนสัจจกุล ชุมชนสะพานดำ ชุมชนเมืองใหม่ ชุมชนป่ายาง ชุมชนหลังสถานีรถไฟบ้านพรุ160 ครัวเรือน

ชุมชนหมู่ที่ 9 เขาไดนาง ชุมชนน้ำน้อยหมู่ 1 ชุมชนคู่ญี่ปุ่น ชุมชนทุ่งเสา ชุมชนมัสยิดบ้านโปะหมอ ชุมชนเขต 7 ชุมชนหลัก 19 พัฒนา ชุมชนเขต 9 ชุมชนแสนสุข ชุมชนต้นลุง ชุมชนริมทางรถไฟ ชุมชนซอยต้นข่อย ชุมชนประธานคีรีวัฒน์ 200 ครัวเรือน ชุมชนหลบมุม(โสสะ) 64 ครัวเรือน คลองแปล/คลองควาย 98 ครัวเรือน ชุมชนเกาะเสือ 38 ครัวเรือน

อำเภอเมือง ได้แก่ ชุมชนหน้าสถานีรถไฟ ชุมชนบ้านบน(สะพานเหล็ก) ชุมชนหน้าวัดอุทัย ชุมชนวังเขียว-วังขาว ชุมชนบ้านน้ำกระจาย ชุมชนวัดเกาะพะวง ชุมชนริมคลอง ชุมชนคลองขวัญ ชุมชนควนหิน ชุมชนหมู่ 1 บางดาน ชุมชนหมู่ 2 ศรีวรา ชุมชนสวนมะพร้าว

ชุมชนกุโบร์ (มิตรเมืองลุง) 300 ครัวเรือน ชุมชนร่วมใจพัฒนา ชุมชนบ่อนวัวเก่า ชุมชนกุโบร์ (ภราดร) 376 ครัวเรือน ชุมชนพาณิชย์สำโรง 100 ครัวเรือน ชุมชนร่วมใจพัฒนา 480 ครัวเรือน ชุมชนกุโบร์ (สมหวัง) 150 ครัวเรือน ชุมชนหลังอาชีวะ 65 ครัวเรือน ชุมชนศาลาหัวยาง 30 ครัวเรือน ชุมชนบ่อนวัวเก่า 550 ครัวเรือนชุมชนหัวป้อม (โซน1-5) 150 ครัวเรือน

ชุมชนเขารูปช้าง 1-5 จำนวน 820 ครัวเรือน ชุมชนเขารูปช้าง (การะเกด 1) 328 ครัวเรือน ชุมชนเขารูปช้าง (การะเกด 2) สวนสน 53 ครัวเรือน ชุมชนหัวป้อม (โซน 6) ชุมชนโซน3 การะเกด 73 ครัวเรือน ชุมชนโซน4ที่รองรับ 323 ครัวเรือน ชุมชนโซน5คลองบางดาน 43 ครัวเรือน

จังหวัดปัตตานี มี 4 ชุมชน ได้แก่ชุมชนโคกโพธิ์ 20 ครัวเรือน ชุมชนนาประดู่ 20 ครัวเรือน ชุมชนป่าไร่ 15 ครัวเรือน และชุมชนคลองทราย 30 ครัวเรือน

จังหวัดยะลา มี 4 ชุมชน ได้แก่ชุมชนสะเตงนอก 120 ครัวเรือน ชุมชนหมู่สี่ 130 ครัวเรือน ชุมชนอุตสาหกรรมสามหมอ และชุมชนไม้แก่น 50 ครัวเรือน

จังหวัดนราธิวาส มี 12 ชุมชน ดังนี้
ในอำเภอ สุไหงโก-ลก ได้แก่ ชุมชนโก-ลกวิลเลจ 330 ครัวเรือน ชุมชนซารายอ 100 ครัวเรือน ชุมชนดงงูเห่า 300 ครัวเรือน ในเขตเทศบาลตำบลปะลุรู อำเภอสุไหงปาดี ได้แก่ ชุมชนตลาดบน 100 ครัวเรือน ชุมชนตลาดล่าง 100 ครัวเรือน ชุมชนโต๊ะเดง 50 ครัวเรือน

ในเขตอำเภอระแงะ ได้แก่ ชุมชนตันหยงมัส 80 ครัวเรือน ชุมชนป่าไผ่ 40 ครัวเรือน ชุมชนมะรือโบ 15 ครัวเรือน ในอำเภอรือเสาะ ได้แก่ ชุมชนลาโล๊ะ 17 ครัวเรือน ชุมชนรือเสาะ 71 ครัวเรือน ชุมชนหลังรถไฟ 44 ครัวเรือน

จังหวัดตรัง มี 2 ชุมชน ได้แก่1.ชุมชนหนองยวน 250 ครัวเรือน 2.ชุมชนริมทางรถไฟ 150 ครัวเรือน

จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มี 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนสามแยก – บ้านสวน ชุมชนบ่อฝ้าย ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองหัวหิน

เพชรบุรี มี 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนริมทางรถไฟ อบต.หนองโสน ชุมชนริมถนนเพชรบุรี-เขาทโมน

ราชบุรี มี 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนริมทางรถไฟ ชุมชนโรงธูป ชุมชนหลังวัดดอนตูม

.......
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44606
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 20/01/2011 8:22 am    Post subject: Reply with quote

เปิดแผนรถไฟรางคู่ทั่วประเทศเร่งด่วน 5 เส้นทาง

กระทรวงคมนาคม มีแผนที่จะก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ให้ครบทั่วประเทศ ในระยะ 15 ปี ตั้งแต่ปี 2553 – 2568 โดยระยะแรกเริ่มตั้งแต่ ปี 2553 – 2558 ระยะที่ 2 ปี 2558 – 2563 และระยะที่ 3 ซึ่งจะทำให้มีทางรถไฟรางคู่ครบทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2563 – 2568

สำหรับระยะแรก เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 สำนักงานคณะกรรมการการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศสช.) มีมติให้กระทรวงคมนาคมศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นระบบรถไฟรางคู่เพื่อการขนส่งและการจัดการโลจิสติกส์ (ระยะที่ 1)

ต่อมาวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม จึงศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้น

จากนั้น วันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการพัฒนาระไฟรางคู่ระยะเร่งด่วน 767 กิโลเมตร ในเส้นทางสำคัญ 5 เส้นทาง คือ

1.รถไฟทางคู่สายลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 118 กิโลเมตร
2.สายมาบกระเบา-นครราชสีมา ระยะทาง 132 กิโลเมตร
3.สายชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กิโลเมตร
4.สายนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร
5.สายประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร

วันที่ 27 เมษายน 2553 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเป็นแผนงานการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2553 – 2558 มีวงเงิน 176,808 ล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นงานพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางดังกล่าว โดยมีวงเงินรวม 66,110 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.สายลพบุรี-ปากน้ำโพ วงเงิน 7,860 ล้านบาท 2.สายมาบกระเบา-นครราชสีมา 11,640 ล้านบาท 3.สายชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น 13,010 ล้านบาท 4.สายนครปฐม-หัวหิน 16,600 ล้านบาท และ5.สายประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร 17,000 ล้านบาท

ในโครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นระบบรถไฟรางคู่ดังกล่าว ระบุถึงการแก้ปัญหาชุมชนบนทีดินทางแนวโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ ประกอบด้วย

การอพยพโยกย้ายชุมชน โดยการประชาสัมพันธ์แนวทางในการให้ความช่วยเหลือด้านการอพยพโยกย้ายสำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน สำรวจทรัพย์สินที่จะต้องรื้อย้ายอย่างละเอียด จ่ายค่ารื้อย้ายและให้ความช่วยเหลือด้านการอพยพโยกย้ายตามกระบวนการที่เหมาะสมและเป็นธรรม

การแบ่งแยกชุมชน โดยการออกแบบรั้วกั้นตลอดแนวทางเพื่อป้องกันอันตรายและลดอุบัติเหตุ ส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกชุมชน ทำให้คนในบริเวณนั้นสัญจรลำบากขึ้น มาตรการคือจัดให้มีทางเชื่อมหรือทางลอดในระยะที่เหมาะสมเพื่ออำนวยความสะดวกในการสัญจรให้แก่คนในชุมชน

วันที่ 4 มกราคม 2554 นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยจะปรับแผนการประกวดราคา โดยแบ่งย่อยสัญญาก่อสร้างออกเป็นสัญญาละ 30 – 40 กิโลเมตร และแยกการประมูลก่อสร้าง และงานวางรางระบบอาณัติสัญญาณออกจากกัน เพื่อให้งานก่อสร้างเสร็จเร็วขึ้นภายในระยะเวลา 3 ปี (2554-2556)
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44606
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 20/01/2011 8:23 am    Post subject: Reply with quote

โครงการฟื้นรถไฟสายเก่าหาดใหญ่ – สงขลา

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ยกเลิกเดินรถไฟสายหาดใหญ่ – สงขลา เมื่อราวปี 2521 เมื่อไม่มีการเดินรถ ทำให้มีผู้เข้าบุกรุกตามแนวทางรถไฟสายนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบัน ถึงขนาดมีการสร้างที่อยู่อาศัยคร่อมราง จนไม่เหลือสภาพความเป็นทางรถไฟต่อไปอีกแล้ว

ปัจจุบันมกระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะรื้อฟื้นเส้นทางรถไฟสายนี้ขึ้นมาอีกครั้ง ตามความต้องการของประชาชนในจังหวัดสงขลา โดยเฉพาะจากผู้ที่ต้องเดินทางสัญจรไปมาระหว่างตัวเมืองสงขลากับตัวเมืองหาดใหญ่ เนื่องจากไม่อยากทนกับสภาพการจราจรที่แออัดบนถนนสายหลักที่เชื่อมสองเมืองใหญ่แห่งนี้

ในการรื้อฟื้นที่เส้นทางรถไฟสายนี้ เริ่มต้นเมื่อสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรงคมนาคม ได้จัดทำแผนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเชื่อมโยงเมืองหาดใหญ่กับเมืองสงขลาขึ้น ซึ่งผลจากการคัดเลือกของคณะที่ปรึกษา พบว่า ระบบรถไฟชานเมืองที่วิ่งบนทางรถไฟเดิมมีความเหมาะสมมากที่สุด

ที่ปรึกษาได้ออกแบบแนวคิดในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟใหม่ ตามเส้นทางรถไฟเดิม มีระยะทางทั้งสิ้น 29.087 กิโลเมตร เริ่มจาก สถานีหาดใหญ่ สิ้นสุดที่สถานีสงขลา โดยปรับปรุงเส้นทางรวมรางรถไฟและไม้หมอน ระยะ 30 กิโลเมตร

สร้างสถานี 12 แห่ง ได้แก่ สถานีหาดใหญ่ สถานีตลาดเทศบาล สถานีคลองแห สถานีคลองเปล สถานีเกาะหมี สถานีตลาดน้ำน้อย สถานีกลางนา สถานีพะวง สถานีน้ำกระจาย สถานีบางดาน สถานีวัดอุทัย และสถานีสงขลา

โดยระยะแรกสร้างก่อน 4 สถานี คือ สถานีหาดใหญ่ สถานีตลาดน้ำน้อย สถานีน้ำกระจายและสถานีสงขลา ทุกสถานีสามารถให้ขบวนรถไฟสับหลีกกันได้

นอกจากนี้ยังจะสร้างสะพานใหม่ 11 แห่ง ติดตั้งเครื่องกั้นถนน 9 แห่ง สร้างสะพานข้ามทางรถไฟ 5 แห่ง

อีกทั้งยังจะสร้างถนนคู่ขนานเลียบทางรถไฟทั้ง 2 ฝั่งใน 2 แห่ง แห่งแรก ตั้งแต่บริเวณถนนนิพัทธ์สงเคราะห์กับลพบุรีรามเมศวร์ หรือแยกโรงปูน อำเภอหาดใหญ่ ไปจนถึงถนนกาญจนวนิชใกล้กับเขาบันไดนาง ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร แห่งที่สองตั้งแต่จุดตัดถนนกาญจนวนิช อำเภอเมืองสงขลา ไปจนถึงที่ตั้งสถานีสงขลา ระยะทาง 8.1 กิโลเมตร

ปัจจุบันบริเวณที่จะสร้างถนนเลียบทางรถไฟทั้ง 2 แห่ง เป็นที่ตั้งของชุมชนบนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยอย่างหนาแน่น

สำหรับสถานีสงขลา ซึ่งยังมีอาคารสถานีเดิมอยู่ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอาคารอนุรักษ์ การออกแบบจึงเน้นการปรับปรุงตัวสถานีเดิม โดยปรับปรุงภายนอกของอาคารและจัดการพื้นที่ภายในให้เป็นสัดส่วน ส่วนสถานีหาดใหญ่ จะมีการออกแบบใหม่เป็นโครงสร้างเหล็ก หลังคาที่ผ้าใบ ตัวอาคารสถานีเป็นศูนย์กลางของพื้นที่และพัฒนาพื้นที่โดยรอบในเชิงพาณิชย์

รูปแบบและเทคโนโลยีของรถรถไฟ 2 ประเภทที่เหมาะสมสำหรับใช้เป็นขบวนรถไฟหาดใหญ่ - สงขลา ได้แก่ ระบบรถไฟดีเซลราง และรถไฟราง ซึ่งคณะที่ปรึกษาเห็นว่า ควรใช้ระบบรถไฟดีเซลราง เนื่องจากใช้งบประมาณการลงทุนไม่สูงมากนัก และเหมาะสมกับการเดินทางในพื้นที่

ในแผนฉบับนี้ ระบุว่า ได้กำหนดกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การสำรวจและออกแบบรายละเอียด ชดเชยสิ่งปลูกสร้างและดำเนินการก่อสร้าง หากเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ปี 2554 คาดว่าจะสามารถเปิดใช้งานได้ในปี 2559
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44606
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 20/01/2011 8:24 am    Post subject: Reply with quote

คณะกรรมการแก้ปัญหาชุมชนบนที่ดินรถไฟ

กลไกการแก้ปัญหาชุมชนบุกรุกบนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีมาหลายชุดแล้ว ในทุกรัฐบาล นับตั้งแต่การรถไฟแห่งประเทศไทยเริ่มมีนโยบายที่จะนำที่ดินให้เอกชนเช่า เมื่อประมาณ ปี 2541

คณะกรรมการชุดล่าสุดที่ตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาลชุดปัจจุบันเพื่อการแก้ปัญหาชุมชนบุกรุกบนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย คือคณะกรรมการที่มีนายประกิจ พลเดช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม (นายโสภณ ซารัมย์) เป็นประธานกรรมการ

คณะกรรมการชุดนี้ตั้งขึ้นตามคำสั่งกระทรวงคมนาคม ที่ 221/2552 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย สั่ง ณ วันที่ 17 มิถุนายน 2552

คำสั่งดังกล่าวระบุว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายให้หน่วยงานของรัฐให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร โดยพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรเป็นกรณีเร่งด่วนนั้น

เพื่อให้การแก้ไขปัญหาชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่เป็นปัญหามานาน เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม สร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความสมานฉันท์ เป็นผลดีต่อทุกภาคส่วน จึงแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยขึ้น

องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ มีดังนี้

คณะกรรมการ ประกอบด้วย
1. นายประกิจ พลเดช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม เป็นประธานกรรมการ
2. ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคมที่รับผิดชอบการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นรองประธานกรรมการ

ส่วนกรรมการ ประกอบด้วย
3. นายอิทธิพล ปภาวสิทธิ์ รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย
4. นายเสรี จิตต์โสภา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้คำปรึกษากฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม
5. หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี
6. ผู้อำนวยการสำนักตรวจราชการ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม
7. ผู้แทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
8. นางสาวฐิติรัตน์ น้อยอรุณ
9. นายสามารถ วีระกุล
10.นายสมชาย นาดเทียม
11.นางอังคณา ขาวเผือก
12.นางสมศรี สายทอง
13.นางละออ ชาญกาญจน์
14.นายปราโมทย์ ดำวงษ์
15.นายรุ่งโรจน์ เปรมจิราพงศ์
16.นายสุเทพ โตเจิม
17.นางมะลิอร คงแก่นท้าว
18.นายศิริศักดิ์ หล้ากาวิน
19.นางกาญจนา ศรีสำอาง
20.นายทวีศักดิ์ สุทธิเสริม รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพย์สิน การรถไฟแห่งประเทศไทย กรรมการและเลขานุการ
21.นายสมคิด ดีชัย หัวหน้างานตรวจสอบพื้นที่บริหารทรัพย์สิน กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการการรถไฟแห่งประเทศไทย
22.เจ้าหน้าที่สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงคมนาคม กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
23.เจ้าหน้าที่สำนักตรวจราชการ ปลัดกระทรวงคมนาคม กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

อำนาจหน้าที่
1.พิจารณา และเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่เป็นรูปธรรมต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย
2.รายงานผลการดำเนินการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทราบเป็นระยะ

ที่มา : http://www.prachatai.com/journal/2011/01/32714
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
dueramae
3rd Class Pass
3rd Class Pass


Joined: 03/02/2010
Posts: 18
Location: อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

PostPosted: 20/01/2011 10:01 am    Post subject: Reply with quote

ขอบคุณครับ ที่นำข่าวและรายงานที่ผมเขียนมาโพสต์แล้ว ผมกะว่า จะเอามาโพสต์ใน RFT วันนี้ แต่พอเปิดดูก็มีโพสต์อยู่แล้ว
เรื่องที่ผมเขียนยังมีอีกชิ้น ผมจะส่งไปลงเว็บคืนนี้ เป็นสัมภาษณ์พิเศษคนที่อยู่ในที่ดินรถไฟ ก็คือ นางละออ ชาญกาญจน์ พูดถึงการแก้ปัญหาชุมชนบนที่ดินรถไฟ
เท่าที่ผมทำข่าว เรื่องชุมชนบนที่ดินรถไฟ (สายใต้) น่าจะแก้ยากพอๆ กับในกรุงเทพฯ เพราะอะไรก็ลองติดตามอ่านดูแล้วกันน่ะครับ
เนื้อหาการเขียนเป็นอย่างไร ช่วยคอมเมนต์ด้วยนะขอรับ
Back to top
View user's profile Send private message Send e-mail Visit poster's website AIM Address Yahoo Messenger MSN Messenger
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44606
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 20/01/2011 10:01 am    Post subject: Reply with quote

ติดตามผลงานของคุณ dueramae อยู่เสมอครับ มีข่าวอะไรคืบหน้านำมาลงเรื่อย ๆ ครับ ชอบอ่านครับ Very Happy
-------------------------------------
ตลาดนัดเจเจเตรียมปรับโฉมใหม่ ยกระดับสู่สากล-คงคอนเซ็ปต์เปิดโล่งไม่ติดแอร์
ข่าวสดรายวัน วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7357 หน้า 29

นายอรุณ ศรีจรูญ ผอ.กองอำนวยการตลาดนัดกรุงเทพฯ หรือตลาดนัดจตุจักร เปิดเผยว่า แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่มีความชัดเจนในส่วนของการต่อสัญญาเช่าพื้นที่ตลาดนัดจตุจักรระหว่าง กทม.กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งคาดว่าทางคณะผู้บริหารกทม. ทั้งม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. และนายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม จะได้หารือถึงเรื่องดังกล่าวในช่วงเดือนก.พ.

ทั้งนี้ ในส่วนของทางตลาดนัดจตุจักรมีนโยบายที่จะปรับปรุงตลาดนัดจตุจักรในรูปโฉมใหม่ทั้งหมด แต่จะยังคงคอนเซ็ปต์เป็นตลาดนัดเปิดโล่ง ไม่มีการติดแอร์ เป็นตลาดที่มีความหลากหลายของสินค้า รวมทั้งต้องเป็นตลาดที่ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ติดใจและอยากกลับมาซื้อสินค้าอีกตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ และผู้ว่าฯ กทม.ดำริเอาไว้

อย่างไรก็ตาม อยู่ระหว่างร่างเงื่อนไขประกวดราคาหรือทีโออาร์ เพื่อว่าจ้างเอกชนหรือมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านสถาปัตย์ มาออกแบบด้านกายภาพของตลาดนัด เพื่อให้มีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น คาดว่าน่าจะสามารถประกวดราคาพร้อมทั้งได้ตัวเอกชนเข้ามาดำเนินการภายในเดือนก.พ.นี้

หลังจากนั้นเอกชนหรือมหาวิทยาลัยที่ประมูลงานได้ จะต้องออกแบบกายภาพของตลาดนัดจตุจักรให้เสร็จไม่เกินเดือน มิ.ย.นี้ ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการปรับปรุง และพร้อมเปิดให้บริการในรูปโฉมใหม่ช่วงต้นปีཱི อย่างไรก็ตาม ในส่วนของงบประมาณที่จะใช้ในการปรับปรุงตลาดใหม่ทั้งหมดนั้น ขึ้นอยู่ทางรฟท.เป็นหลักว่าจะต่อสัญญา ทั้งคิดค่าเช่าพื้นที่ในอัตราเท่าใด เพื่อให้บอร์ดของตลาดนัดสามารถประเมินว่าจะต้องลงทุนงบฯจำนวนเท่าใด ขณะที่ผู้ค้าตลาดนัดส่วนใหญ่รับได้ที่จะขึ้นค่าเช่า แต่ขอเพียงให้กทม.ได้เป็นผู้บริหารตลาดนัดจตุจักรเหมือนเดิม
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42724
Location: NECTEC

PostPosted: 20/01/2011 10:20 am    Post subject: Reply with quote

อ่านะ ถ้ารักจะฟื้นฟูเส้นทางหาดใหญ่ - สงขลา - งานนี้ ชุมชนต้องออกไป และ มีหวังโรงแรมต้องย้ายออกฐานสร้างอาคารคร่อมทางรถไฟเสียแล้ว Sad

เดินเป็นรถดีเซลราง ถ้าไม่มีทุนพอ พร้อม ตัดถนนกำแพงเพชร (หรือถนนรถไฟ) เลียบทางรถไฟกันคนมาสร้างสลัมทับที่รถไฟ และ ให้เชื่อมโยงกะสถานีได้โดยสะดวก หละสินะ Rolling Eyes
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 34, 35, 36 ... 198, 199, 200  Next
Page 35 of 200

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©