RailServe.Com

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai Gallery in Facebook

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311235
ทั่วไป:13181337
ทั้งหมด:13492572
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าวแผนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ 2558-65
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ข่าวแผนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ 2558-65
Goto page 1, 2, 3 ... 121, 122, 123  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44332
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 28/08/2012 8:36 am    Post subject: ข่าวแผนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ 2558-65 Reply with quote

รัฐบาลสั่งหน่วยราชการเปิดจัดซื้อจัดจ้างก่อนงบปี 56 ผ่านวุฒิสภา
สำนักข่าวไทย วันพฤหัสบดี ที่ 23 ส.ค. 2555

กรุงเทพฯ 23 ส.ค.-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษ “โรดแมพสู่อนาคตประเทศไทย” ในงานสัมมนา “หนึ่งปียิ่งลักษณ์กับอนาคตเศรษฐกิจไทย” ว่า ช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกสูงมาก แต่ถือว่ามีความจำเป็น อย่างไรก็ตามรัฐบาลคงเน้นปัจจัยอื่นนอกจากการส่งออกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ตามเป้าหมาย ทั้งกระตุ้นการบริโภคในประเทศ การสร้างบรรยากาศการลงทุนของภาคเอกชนให้เกิดความเชื่อมั่นและเร่งรัดการลงทุนจากภาครัฐ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม ทำให้เอกชนตัดสินใจลงทุนง่ายขึ้น

สำหรับการลงทุนภาครัฐ แม้งบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2556 ยังเหลือขั้นตอนที่พิจารณาจากวุฒิสภา แต่ขณะนี้ได้ให้ส่วนราชการเร่งเปิดจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้โครงการลงทุนเดินหน้าอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องรอวันที่ 1 ตุลาคม 2555 เพราะเมื่อกฎหมายงบประมาณผ่านรัฐสภาก็สามารถเปิดลงนามจัดซื้อจัดจ้าง ถ้าหากรอวันที่ 1 ตุลาคมเหมือนเคยดำเนินการตามปกติจะเกิดความล่าช้า เพราะรัฐบาลต้องการให้การลงทุนของภาครัฐเป็นแกนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ส่วนผลสำรวจของหอการค้าไทยเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น ยังพบว่ามีจำนวนมาก และทำให้รัฐบาลสอบตกเรื่องดังกล่าว นั้น นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ถือเป็นสิ่งที่ดีที่มีการตรวจสอบในช่วงที่ผ่านมา แต่โครงการขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้

ด้านนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องเร่งพัฒนาระบบราง ระบบถนนเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้านรองรับเออีซี โดยเฉพาะการให้ความสำคัญพัฒนาระบบรางผ่านลาว กัมพูชา เวียดนาม โดยเฉพาะเส้นทางปอยเปตที่มีเส้นทางรถไฟเก่าทางกัมพูชาจะใช้งบประมาณปรับปรุงไม่สูงมาก โดยไทยพร้อมเชื่อมต่อระบบรางเพื่อให้การขนส่งจากไทยผ่านกัมพูชาไปยังเวียดนามมีความสะดวกมากขึ้น รวมถึงเส้นทางระบบรางต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งการพัฒนาระบบรางคู่เส้นทางฉะเชิงเทรา-แก่งคอย เด่นชัย-เชียงราย รวมถึงรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา กรุงเทพฯ-หัวหิน กรุงเทพฯ-เชียงใหม่

ส่วนมอเตอร์เวย์ ที่จะต้องเร่งดำเนินการเพื่อรองรับการขนส่งสินค้า คือ ช่วงบางใหญ่ - กาญจนบุรี และต่อจากบ้านโป่ง-ชะอำ เส้นทางบางปะอิน-นครราชสีมา บางปะอิน - นครสวรรค์ สิ่งเหล่านี้จะต้องเริ่มเกิดในปี 2555 ด้วยการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานระดมทุนจากประชาชนและการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน ส่วนท่าเทียบเรือ จะเร่งพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทั้งมาบตาพุด ท่าเทียบเรือปากบารา ด้านสนามบิน จะเร่งแผนพัฒนารันเวย์ที่ 3 และ 4 รองรับผู้โดยสารให้ได้ 100 ล้านคนในช่วง 6 ปีข้างหน้า เพื่อประหยัดค่าขนส่งและการเดินทางให้ได้ 500 ล้านบาทต่อปี ลดความสูญเสียในการใช้น้ำมัน เมื่อประชาชนเดินทางด้วยระบบสาธารณะ 150,000 ล้านบาทต่อปี ขนส่งตู้สินค้าให้ได้เพิ่มขึ้นจาก 700 ล้านตันต่อปี เป็น 900 ล้านตันต่อปี จะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 15.2 ลดลงให้เหลือร้อยละ 7 เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ. -สำนักข่าวไทย


Last edited by Mongwin on 03/07/2015 7:03 am; edited 6 times in total
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44332
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 28/08/2012 8:37 am    Post subject: Reply with quote

คมนาคมเร่งทำแผนโลจิสติกส์ เชื่อมชายแดน 8 แห่งรองรับเออีซี
ฐานเศรษฐกิจ วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม 2012 เวลา 21:56 น.

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังประชุมเพื่อวางแผนจัดเส้นทางคมนาคมรองรับประชาคมอาเซียน ว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างจัดทำแผนเส้นทางคมนาคมเชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรองรับประชาคมอาเซียน โดยเน้นเส้นทางเชื่อมระหว่างประตูการค้าชายแดนหลัก 8 แห่ง ไปยังประตูการค้าหลักของประเทศ คือ ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เบื้องต้นคาดว่า จะต้องดำเนินโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งถนน รถไฟ รวม 75 โครงการ วงเงินประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการปี 2556-2563 คาดแผนจะสรุปแล้วเสร็จภายในเดือนก.ย.นี้

สำหรับประตูการค้าชายแดน 8 แห่งประกอบด้วย
1.ด่านอรัญประเทศ ติดชายแดนกัมพูชา
2.ด่านมุกดาหาร ติดชายแดนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)
3.ด่านแม่สอด ติดชายแดนเมียนมาร์
4.ด่านสะเดา ติดชายแดนมาเลเซีย
5.ด่านปาดังเบซาร์ ติดชายแดนมาเลเซีย
6.ด่านหนองคาย ติดชายแดนสปป.ลาว
7.ด่านแม่สาย ติดชายแดนเมียนมาร์ และ
8.ด่านเชียงของ ติดชายแดนสปป.ลาว
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44332
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 28/08/2012 8:39 am    Post subject: Reply with quote

คมนาคมกางแผนลงทุนโครงสร้าง 1.16 ล้านล้านบ.รับ AEC
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 27 สิงหาคม 2555 19:10 น.

“คมนาคม”ชูสุวรรณภูมิ-ทลฉ.ประตูหลัก AEC วางแผนลงทุน 75 โครงการ วงเงิน 1.16 ล้านล้านบ.เชื่อมโครงข่ายอาเซียนผ่าน 8 ด่านชายแดน เตรียมหารือสรุปกรอบโลจิสติกส์ลดต้นทุนขนส่งในประเทศอีก 55 โครงการ เพื่อลดความซ้ำซ้อนการลงทุนระหว่างงบประมาณกับพ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบ.ตั้งเป้ายุติ ต.ค.นี้

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้เป็นประธานการประชุมเตรียมแผนรองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งอาเซียนจะเป็นตลาดเดียวกันทั้งสินค้าและบริการ โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเตรียมแผนการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งของไทย (Thailand’s Connectivity) เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางและฐานการผลิตของอาเซียน

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า จะต้องมีการพัฒนาประตูเข้าออกประเทศให้มีความสะดวก เชื่อมโยงทั้งถนนและทางรถไฟ ซึ่งไทยจะใช้ท่าเรือแหลมฉบัง(ทลฉ.) และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นประตูหลักในการเข้า-ออกเชื่อมกับประเทศในอาเซียนและใช้ 8 ด่านสำคัญเป็นประตูรองคือ ด่านเชียงของ,ด้านเชียงแสน,ด่านแม่สอด,ด่านสะเดา,ด่านปาดังเบซาร์,ด่านหนองคาย,ด่านมุกดาหาร,ด่านคลองลึก ซึ่งรองรับการขนส่งสินค้าผ่านแดนและรถของประเทศ ใน AEC ผ่านไทยไปประเทศที่ 3 ได้

ทั้งนี้จะมีการประชุมร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับ สินค้าการเกษตร ,อุตสาหกรรม,ท่องเที่ยว เพื่อรวบรวมข้อมูลว่าสินค้าอะไรที่จะเป็นตัวนำในตลาด AEC และนำมาเป็นฐานในการวางโครงข่ายคมนาคมรองรับได้อย่างถูกต้อง คาดว่าแผนดังกล่าวจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน โดยโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเชื่อมโครงข่ายคมนาคมขนส่งมี 75 โครงการ วงเงินลงทุนประมาณ 1.16 ล้านล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ ปี 56-63

นายจุฬากล่าวว่า นอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเปิด AEC แล้วกระทรวงคมนาคมมีแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดต้นทุนซึ่งเป็นการพัฒนาโครงข่ายโลจิสติกส์ภายในประเทศเป็นหลักมี 55 โครงการ วงเงินลงทุนประมาณ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เงินลงทุนจากพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เพราะเป็นโครงการที่ลงทุนเพื่อสร้างอนาคตประเทศ สามารถนำเงินในอนาคตมาลงทุนได้ ซึ่งมีโครงการประมาณครึ่งหนึ่งที่รองรับได้ทั้ง AEC และลดต้นทุนโลจิสติกส์ภายในประเทศ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งวางแผนใช้พ.ร.บ.เงินกู้มาลงทุน หรือเป็นโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ส่วนโครงการที่ต่อเนื่องหรือขยายจากของเดิมเช่นรถไฟทางคู่ คาดว่าจะใช้งบประมาณ

“ในวันที่ 30 สิงหาคมนี้จะประชุมเพื่อสรุปกรอบการลงทุน โดยคาดว่าจะได้ข้อยุติโครงการเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านรองรับ AEC จะได้ข้อยุติในเดือนกันยายนนี้ และโครงการโลจิสติกส์เพื่อลดต้นทุนการขนส่งของประเทศจะได้ข้อยุติในเดือนตุลาคม ซึ่งจะทำให้แผนรวมของคมนาคมจะชัดเจนและไม่มีความซ้ำซ้อนของการลงทุนอีกด้วย”นายจุฬากล่าว

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการดำเนินโครงการส่วนใหญ่จะแล้วเสร็จทันเปิด AEC ในปี 2558 เช่น รถไฟจากฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ-คลองลึก ขณะนี้ได้งบประมาณปี 2556 กว่า 300 ล้านบาทเพื่อศึกษาแล้ว ขณะที่ทางกัมพูชาได้ก่อสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมคลองลึกแล้วจะแล้วเสร็จในปี 2556 ทำให้เชื่อมกันได้สะดวกและเป็นประตูสำคัญของท่าเรือแหลมฉบัง
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44332
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 30/08/2012 5:08 pm    Post subject: Reply with quote

คมนาคมสรุปแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 55 โครงการ 1.9 ล้านลบ.คาดเริ่มปี 56
ข่าวการเมือง สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- พฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม 2555 16:43:55 น.

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้จัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคม เพื่อรองรับการพัฒนาอนาคตของประเทศในระยะยาวภายในปี 2563 รวมทั้งโครงการพัฒนาระบบคมนาคมรองรับการเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558 โดยจะใช้เงินลงทุนจาก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีทั้งหมด 55 โครงการ วงเงินประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท

สำหรับโครงการที่อยู่ในแผนเงินกู้จะพิจารณาจากโครงการที่มีความพร้อมในการออกแบบและสามารถประกวดราคาได้ทันที หรือไม่ก็เป็นโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจาก ครม.แล้วแต่ไม่มีเงินงบประมาณ เพื่อให้โครงการเหล่านี้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง โดยหาก พ.ร.บ.กู้เงินผ่านการพิจารณาของรัฐสภาโดยเร็วก็จะสามารถประกวดราคาเพื่อดำเนินโครงการได้ตั้งแต่ปี 2556

ส่วนรายละเอียดโครงการ ได้แก่
ทางหลวงวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ รอบที่ 3,

ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง
ช่วงชลบุรี-พัทยา-มาบตาพุด
ช่วงบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา
ช่วงบางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี
ช่วงนครปฐม-สมุทรสงคราม-ชะอำ และ
ช่วงบางปะอิน-นครสวรรค์,

รถไฟทางคู่
ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย
ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ,


รถไฟความเร็วสูง
เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่
เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา
เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน
เส้นทางสุวรรณภูมิ-ระยอง,

รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน
สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน
สายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่
สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี
สายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี

นอกจากนั้นเป็น
โครงการเขื่อนยกระดับในแม่น้ำเจ้าพระยาและน่าน
ท่าเรือน้ำลึกปากบารา
ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3
การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 การก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบบริการทางเดินอากาศ

-------------

คมนาคม วางแผนลงทุนขนส่งระยะยาว
INN News วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ.2555 14:42น.

กระทรวงคมนาคม วางแผนลงทุนโครงสร้างการขนส่งระยะยาว 55 โครงการ งบลงทุน 1.9 ล้านล้านบาท

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมการจัดทำกรอบแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งปีงบประมาณ พ.ศ. 2556-2563 ว่าแผนดังกล่าวจะเป็นแผนการลงทุนยุทธศาสตร์ในระยะยาว ซึ่งโครงการที่อยู่แผนดังกล่าว จะเป็นโครงการที่ต้องเริ่มการก่อสร้างภายใน 8 ปี และต้องไม่ใช่โครงการที่มีงบประมาณในการดำเนินงานอยู่แล้ว นอกจากนี้ บางโครงการในแผนดังกล่าว ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเห็นชอบแล้วด้วย

อย่างไรก็ตาม ดร.จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. เปิดเผยว่า ทางกระทรวงคมนาคม ได้ส่งแผนดังกล่าวไปที่กระทรวงการคลังแล้ว เพื่อเป็นแผนจัดทำพระราชบัญญัติเงินกู้ต่อไป โดยมีประมาณ 55 โครงการ และใช้งบประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44332
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 10/09/2012 7:17 am    Post subject: Reply with quote

แนะลำปางเร่งพัฒนารถไฟรางคู่
ฐานเศรษฐกิจ วันอาทิตย์ที่ 09 กันยายน 2012 เวลา 10:15 น.

อนาคตลำปางหลัง AEC กูรูฟันธงสภาพภูมิศาสตร์เป็นจุดแข็งเอื้อเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ภาคเหนือ แต่มีการบ้านต้องเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและภาคการศึกษารองรับ รวมทั้งคงอัตลักษณ์ความเป็นเมืองน่าอยู่ ส่วนภาครัฐต้องอัดงบสนับสนุน โดยเฉพาะรถไฟรางคู่ ขณะที่ภาคเอกชนในพื้นที่ต้องรวมใจเป็นหนึ่งเดียวและมีทิศทางที่ชัดเจน

ผู้สื่อข่าว"ฐานเศรษฐกิจ"ประจำจังหวัดลำปาง รายงานว่า เมื่อวันพุธที่ 5 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจได้ร่วมกับภาครัฐและเอกชนในจังหวัดลำปาง ประกอบด้วย จังหวัดลำปาง หอการค้าจังหวัดลำปาง สภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง ชมรมธนาคารจังหวัดลำปาง สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดลำปาง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย(ลำปาง) จำกัด และมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง จัดสัมมนาหัวข้อเรื่อง "อนาคตลำปาง หลัง AEC" ณ ห้องเวียงแก้ว โรงแรมลำปางเวียงทอง ได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจ ราชการ และนักศึกษาเข้าร่วมฟังจำนวนมากกว่า 350 คน โดยนักธุรกิจในจังหวัดลำปางมองว่า เป็นการสัมมนาที่มีผู้ให้ความสนใจมากที่สุดงานหนึ่งในจังหวัดลำปาง โดยผลสรุปจากการสัมมนาทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า จังหวัดลำปางมีศักยภาพและปัจจัยเอื้อที่จะส่งผลให้เป็นโลจิสติกส์แลนด์ฮับตามที่ภาคเอกชนต้องการ แต่ยังมีการบ้านที่ต้องทำเพื่อสานต่อให้เกิดเป็นรูปธรรม

นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง บรรยายพิเศษตอนหนึ่งว่า โอกาสความเป็นโลจิสติกส์แลนด์ฮับของจังหวัดลำปางเป็นไปได้ จะต้องมุ่งเน้นพัฒนาความพร้อมโดยเฉพาะปัจจัยขั้นพื้นฐานรองรับการเติบโตของอาเซียนที่อยู่ในกระแสขณะนี้ ที่สำคัญทุกภาคส่วนต้องร่วมมือและผนึกกำลัง ฝ่ายเอกชนและภาคการศึกษา ต้องไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างทำ จังหวัดลำปางมีความพร้อมเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว โดยศักยภาพทางภูมิศาสตร์ และมีในแผนพัฒนาจังหวัดระยะ 5 ปีที่วางกรอบการรับมืออาเซียนไว้แล้ว ภาครัฐก็มีส่วนสำคัญในการกำหนดบทบาทและเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเฉพาะด้านการจัดสรรงบประมาณ

ดร.จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและการขนส่งและการจราจร(สนข.) บรรยายพิเศษหัวข้อ "ยุทธศาสตร์เชื่อมโยงโลจิสติกส์ภาคเหนือสู่ AEC"ตอนหนึ่งว่า ต้องดูว่าถนนเส้น R3A ที่พาดผ่านจากจีน สปป.ลาว มายังเชียงของ จังหวัดเชียงรายและตรงดิ่งมายังลำปางโดยผ่านสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่เชียงของ แล้วลำปางจะได้รับผลประโยชน์โดยตรง หมายถึงลำปางในอนาคตเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของภาคเหนืออย่างเลี่ยงไม่ได้ ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง เฟสแรกกรุงเทพฯ-พิษณุโลกได้ศึกษาแล้ว ระยะต่อไปกำลังศึกษาต่อจากพิษณุโลกถึงเชียงใหม่ โครงการนี้มุ่งตอบสนองการพัฒนาภายในประเทศมากกว่าเชื่อมโยงกับจีน

"แผนเชื่อมทางรถไฟความเร็วสูงจากจีนเข้าไทย ในส่วนที่ผ่านสปป.ลาว นั้นต้องการให้แนวเส้นทางผ่านพื้นที่ส่วนใหญ่ของสปป.ลาว เพื่อลงไปเชื่อมกับภาคอีสานของไทยที่หนองคาย เป็นการบ้านอีกข้อที่ลำปางต้องพิจารณา เพราะการเหนี่ยวนำให้เกิดกิจกรรมในพื้นที่ส่วนใหญ่จะเกิดในจุดที่เป็นสถานี ถ้าวิ่งผ่านไปเฉย ๆ จะไม่ค่อยเกิดผลต่อเนื่องอะไร ซึ่งได้ให้ข้อมูลโครงข่ายแผนงานคมนาคมขนส่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้แล้ว แต่การเตรียมตัวรับและนำความเปลี่ยนแปลงให้เกิดประโยชน์กับพื้นที่มากที่สุดเป็นงานของทุกคนในพื้นที่ ที่จะต้องร่วมมือกันศึกษาหาข้อสรุปและริเริ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ได้"

ด้าน ดร.บุญทรัพย์ พานิชการ ผู้อำนวยการวิทยาลัยโลจิสติกส์ และห่วงโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก บรรยายเรื่อง อนาคตลำปางบนเส้นทางโลจิสติกส์ AEC โดยสรุปว่า ลำปางมีความเป็นไปได้ในตัวอยู่แล้วที่จะเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่ง คลังสินค้าขนาดใหญ่ ระบบขนส่งสินค้าที่ทันสมัยโดยเฉพาะรถไฟรางคู่ที่มีความจำเป็นอย่างมาก หากไม่มีระบบขนส่งที่ดีและธุรกิจเกี่ยวพันกัน ลำปางก็ได้แต่นั่งมองรถขนส่งสินค้าผ่านไปเฉยๆ ลำปางก็ไม่ได้อะไร

"ข้อเท็จจริง ก็คือ ลำปางต้องเตรียมความพร้อม ธุรกิจที่สามารถทำรายได้จากระบบขนส่ง เช่นมีคลังสินค้าขนาดใหญ่ ก็ต้องมีระบบบริการที่เกี่ยวเนื่องกัน ให้นึกถึงสิงคโปร์มีจุดเด่นและรายได้จากธุรกิจเดินเรือ และลำปางก็ต้องเป็นเมืองที่มีรายจากธุรกิจขนส่งทางบก คิดง่ายๆก็คือ ต้องเตรียมความพร้อม รับมือ และหารายได้จากอาเซียนที่จะมาลำปาง นั่นคืออนาคต คนลำปางต้องกล้าพอที่จะลงทุนเชิญชวนเพื่อนบ้านมาลงทุนด้วย โดยเฉพาะการขนถ่ายสินค้า ซึ่งอนาคตลำปางหนีไม่พ้นการเติบโตของอาเซียนนับจากนี้ ซึ่งลำปางเป็นศูนย์กลางของเหนือตอนบนอยู่แล้ว"

ส่วนการสัมมนาช่วงบ่าย ในหัวข้อ'ลำปางเป็นโลจิสติกส์แลนด์ฮับได้จริงหรือ' ดร.พจนา เอื้องไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคเหนือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวตอนหนึ่งว่า ลำปางเคยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของภาคเหนือในอดีตอยู่แล้ว การจะกลับมาเป็นฮับอีก ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ที่วิตก ก็คือ จะทำอย่างไรให้ลำปางเป็นเมืองน่าอยู่และคงอัตลักษณ์ของตัวเองให้ได้ การเตรียมความพร้อมด้านการบริการสาธารณะ ความน่าอยู่ ปลอดภัย และมีสิ่งแวดล้อมที่ดีจะเป็นตัวเร่งให้ลำปางเติบโตไปพร้อมกับอาเซียนได้ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและบริการ

ขณะที่รศ.ดร.อภิชาต โสภาแดง รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ และหัวหน้าหน่วยวิจัยการจัดการโซ่อุปทานและวิศวกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวย้ำว่า การเติบโตของลำปางที่จะไปพร้อมกับเออีซีนั้น ที่สำคัญ คือ การเตรียมความพร้อมของคน นั่นหมายถึงภาคการศึกษาต้องจริงจังกับเรื่องนี้ หากสื่อภาษาไม่รู้เรื่องการจะเป็นฮับก็ลำบากตั้งแต่ต้นแล้ว ภาคการศึกษาต้องปฏิวัติตัวเองครั้งใหญ่กับการเป็นฮับทางด้านภาษาด้วย ก่อนที่จะทำให้เศรษฐกิจด้านอื่นๆที่จะมาพร้อมกับอาเซียน ลำปางต้องเตรียมรับมือและให้เกิดเศรษฐกิจเกี่ยวพันกันในภาคการขนส่ง ซึ่งลำปางจะเติบโตได้ภาคเอกชนและภาครัฐ ต้องมีทิศทางเดียวกันในการกำหนดแผนพัฒนาที่สอดรับการมาของอาเซียนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ และให้ทุกภาคส่วนของลำปางคิดว่า จะทำอย่างไรให้มีรายได้จากอาเซียนให้ได้

ด้านตัวแทนภาคเอกชน นายอนุวัตร ภูวเศรษฐ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดลำปาง กล่าวว่า นับจากนี้ลำปางต้องคิดกันหนักว่าจะหารายได้จากอาเซียนให้มาเยือนได้อย่างไรนอกเหนือจากการเป็นเพียงแค่ระบบขนส่งมวลชนที่ลำปางเป็นได้ในตัวอยู่แล้ว แต่อยากจะฝากรัฐบาลว่า การเตรียมความพร้อมของภาคเหนือตอนบนและจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นศูนย์กลางของภาคเหนือ รัฐต้องทุมงบประมาณให้ถึงลำปาง โดยเฉพาะระบบขนส่งที่พูดกันมากและจะพูดต่อไป คือรถไฟรางคู่ที่ลำปางจะต้องมีให้ได้

"เนื่องจากการขนถ่ายสินค้าด้วยระบบรางจะลดต้นทุนอย่างมาก และจูงใจให้เกิดการลงทุนโลจิสติกส์ในลำปางมากขึ้น ซึ่งลำปางผลักดันมาตลอดและเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนรวมตัวกันอย่างจริงเพื่อเรื่องนี้ โดยเฉพาะกำหนดชะตากรรมของตัวเองได้ ไม่ว่าจะเปลี่ยนฝ่ายการเมืองหรือผู้ว่าราชการจังหวัดบ่อยครั้งเพียงใด ก็คงไม่มีผลหากแผนพัฒนาจังหวัดลำปางมีความเข้มแข็ง มีทิศทางชัดเจน ทุกอย่างเดินหน้าต่อไปได้ สำคัญที่ว่าคนลำปางคิดเรื่องอาเซียนอย่างไร และมีวิธีการรับมืออย่างไร"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,773 9-12 กันยายน พ.ศ. 2555
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44332
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 21/09/2012 4:39 pm    Post subject: Reply with quote

คมนาคม ขายฝันสร้างไฮสปรีดเทรนจ.อุบลฯ
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 21 กันยายน 2555 16:01

"คมนาคม"เดินหน้าขายฝันคนอุบลฯ สร้างรถไฟความเร็วสูง-มอเตอร์เวย์ ขณะที่ชาวบ้านขานรับหนุนโครงการ

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังงานเสวนาโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้และร่วมรับฟังความคิดเห็นของสาธารณชนต่อแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งพ.ศ.2556-2563 วานนี้ (21 ก.ย.) ว่า กระทรวงคมนาคมได้จัดรับฟังความคิดเห็นประชาชนที่จังหวัดอุบลราชธานี เกี่ยวกับแผนงานในอนาคตที่จะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 1.91 แสนแสนล้านบาท ซึ่งจากการสำรวจแผนงาน 5 โครงการหลักที่จะผ่านพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือประชาชนยังรับทราบโครงการไม่ถึง 55%

อย่างไรก็ตาม ประชาชชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการในระดับสูงประมาณ 3.5-4.49 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 ขณะเดียวกันประชาชนมีความต้องการมีส่วนร่วมในภาพรวมอยู่ในระดับมากประมาณ 3.79 คะแนน สำหรับ 5 โครงการที่สำรวจ ได้แก่ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองช่วงบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา การพัฒนาสถานีขนส่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางถนน การก่อสร้างรถไฟสายใหม่ ช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-อุบลราชธานี การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย และเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-อุบลราชธานี

นอกจากนั้น ยังได้รับข้อเสนอของหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี ที่ต้องการให้ขยายถนนเชื่อมช่องเม็กเป็น 4 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 200 กม. รวมทั้งการขยายรถไฟทางคู่ไปถึงชายแดน เพื่อกระตุ้นการค้าชายแดน นอกจากนั้นยังเสนอให้พัฒนาท่าอากาศยานอุบลราชธานีเป็นท่าอากาศยานนานาชาติ โดยกระทรวงคมนาคมจะนำความคิดเห็นต่างๆ ไปปรับแผนต่อไป

ส่วนงบประมาณที่จะนำมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 1.91 ล้านล้านบาทนั้น เบื้องต้นจะเป็นเงินจากการระดมทุนในกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งในอนาคตจะมีหลายกองทุน เช่น กองทุนรถไฟความเร็วสูง กองทุนมอเตอร์เวย์ กองทุนรถไฟฟ้า รวมทั้งการกู้เงิน ซึ่งกระทรวงการคลังจะเป็นผู้พิจารณาแนวทางหาแหล่งเงินที่เหมาะสม คาดว่าน่าจะเริ่มได้รับงบประมาณเพื่อนำมาดำเนินงานในปี 2556

ด้านนายนิมิต สิทธิไตรย์ ประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า เห็นด้วยกับโครงการของกระทรวงคมนาคม หากโครงการทั้งหมดแล้วเสร็จจะเปลี่ยนภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เจริญอีกมาก แต่ขอให้เร่งดำเนินงานในโครงการที่จำเป็นก่อน เช่น การขยายถนนเชื่อมช่องเม็ก เพราะถือเป็นเส้นทางการค้าขาย และขอให้จัดเที่ยวบินเส้นทางอุบลราชธานี-อุดรธานี เพื่อเชื่อมการเดินทางระหว่างภาคตะวันออกตอนเหนือและตอนใต้ และใช้ทั้ง 2 จังหวัดเชื่อมการเดินทางไปยังภูมิภาคเอเชียต่อไป

"ผมอยากให้มีสายการบินที่ใช้เครื่องบินขนาดเล็กประมาณ 30 ที่นั่ง มาให้บริการเส้นทางบินอุบลราชธานี-อุดรธานี เพื่อให้นักธุรกิจเดินทางไปมาได้สะดวก และสามารถเดินทางไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค ซึ่งจะทำให้จังหวัดอุบลราชธานีเป็นที่สนใจของนักลงทุน" นายนิมิต กล่าว
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44332
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 24/09/2012 3:26 pm    Post subject: Reply with quote

รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่พร้อมก่อสร้างปี 56
เนชั่นทันข่าว 24 ก.ย.55 15.11 น.

"จารุพงศ์" เดินสายเสวนาโครงการประชาสัมพันธ์แผนลงทุนระบบคมนาคมขนส่งฯ ปี 56-63 งบลงทุนกว่า 2.2 ล้านล้านบาท เร่งสำรวจความเห็นประชาชนประกอบการจัดทำร่างพ.ร.บ. ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ทำเอ็มโอยูกับจีนแล้วคาดเริ่มเซ็นสัญญา-ลงมือก่อสร้างปี 56

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในงานเสวนาโครงการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้และร่วมรับฟังความคิดเห็นของสาธารณชนต่อแผนการลงทุน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง พ.ศ.2556-2563 วันนี้ (24 กันยายน) ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่า วัตถุประสงค์วันนี้เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และ สำรวจความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนต่อแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ประชาชนได้ร่วมมือตามแผนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของประเทศ และจัดทำรายงานการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่มีต่อแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อประกอบการจัดทำร่างพระราชบัญญัติลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 616 กิโลเมตร ความเร็ว 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมงนั้น ปัจจุบันได้ลงนามบันทึก ความเข้าใจร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเริ่มเซ็นสัญญาและดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2556 ทั้งนี้ นโยบายของรัฐบาลที่ได้ แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 ได้ให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานต่างๆ ของกระทรวง ทั้งการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง เร่งรัดโครงการรถไฟฟ้า 10 สายทาง โดยเก็บค่าบริการ 20 บาทตลอดสาย พัฒนาการขนส่งทางน้ำและกิจการพาณิชย์นาวี และ พัฒนาท่าอากาศยานสากล ท่าอากาศยานภูมิภาคและอุตสาหกรรมการบินของไทย พร้อมทั้งรองรับการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 โดยรัฐบาลได้จัดทำแผนลงทุนพัฒนาโครง สร้างพื้นฐาน พ.ศ.2556-2563 วงเงินลงทุน 2 ล้านล้านบาท ครอบคลุมทั้งการขนส่งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอีก 10-15 ปีข้างหน้า

โดยแผนลงทุนพัฒนาโครงการพื้นฐานนี้ส่วนใหญ่เป็นโครงการด้านคมนาคมขนส่งซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ เป็นโครงการระยะยาวที่มีผล กระทบต่อประชาชนในทุกภาคส่วน ดังนั้น การดำเนินงานตามแผนการลงทุนจำเป็นต้องสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ การมีส่วนร่วม และสร้างความตื่นตัวของประชาชนในพื้นที่ เพื่อยกระดับความสนใจ ของประชาชน รวมทั้งสำรวจความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องที่จะเกิดขึ้นในแต่ละภูมิภาค

นายจารุพงศ์ กล่าวต่อว่า เชียงใหม่ เป็นจังหวัดเศรษฐกิจสำคัญของภาคเหนือ จำเป็นต้องเร่งดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่ง โดยมุ่งเน้นดำเนินงานระบบราง โดยการเชื่อม โยงเครือข่ายเส้นทางระบบรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย-เวียงจันทร์ ซึ่งได้ให้ญี่ปุ่นและจีนทำการศึกษาแล้ว คาดว่าจะดำเนินการ ประกวดราคาได้ในปี 2557

ในอนาคตจะมีการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงจาดประเทศลาวและจีน เพื่อผ่านต่อไปยังมาเลเซีย โดยจะเป็นการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟขนาดรางมาตรฐาน ซึ่งจะเป็นการเชื่อม โยงระหว่างกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง กับกลุ่มประเทศอาเซียน รวมทั้งการพัฒนาโลจิสติกส์และระบบขนส่งทางถนน ทางน้ำ และทางอากาศด้วย เช่น การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ท่า เรือเชียงแสนแห่งที่ 2
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44332
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 24/09/2012 4:37 pm    Post subject: Reply with quote

"คมนาคม"ขึ้นเชียงใหม่พีอาร์แผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ยันต้องรีบทำ-เพิ่มศักยภาพแข่งขัน
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 24 กันยายน 2555 16:07 น.

ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - กระทรวงคมนาคมจัดเสวนาแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งที่เชียงใหม่ นำเสนอกรอบการลงทุนพร้อมเป้าหมายให้ประชาชนทราบ เผยเน้นระบบราง-ถนน ส่วนภาคเหนือชูรถไฟความเร็วสูงเชียงใหม่-รถไฟสายเด่นชัย-ท่าเรือเชียงราย ชี้อนาคตประเทศจะเข้าเออีซีต้องเตรียมความพร้อมด้านคมนาคมให้มีประสิทธิภาพ-เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน

วันนี้ (24 ก.ย. 2555) ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กระทรวงคมนาคมได้จัดการเสวนา โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้และร่วมรับฟังความคิดเห็นของสาธารณชน ต่อแผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง พ.ศ. 2556-2563 ขึ้น โดยมีนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานในพิธี

การเสวนาซึ่งจัดขึ้นที่ จ.เชียงใหม่เป็นแห่งที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็น และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรับรู้และทำความเข้าใจต่อแผนการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ทางด้านคมนาคมของประเทศ ตามที่กระทรวงคมนาคมได้กำหนดแผนการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ว่าด้วยการลงทุนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งในทุกด้าน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ และเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

โครงการดังกล่าวได้เริ่มจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ที่ จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา และหลังจากการจัดงานที่ จ.เชียงใหม่แล้ว จะมีการจัดการเสวนาในอีก 4 จังหวัดใน 3 ภูมิภาค ประกอบด้วย จ.นครศรีธรรมราช จ.ภูเก็ต จ.ชลบุรี และ จ.นครราชสีมา

ในการเสวนาดังกล่าว กระทรวงคมนาคมได้นำเสนอแผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง พ.ศ. 2556-2563 ซึ่งเป็นการลงทุนพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์ ที่เห็นว่าประเทศไทยจำเป็นจะต้องเร่งพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ เพื่อประโยชน์ทั้งในแง่เศรษฐกิจจากการขนส่งสินค้าและการเดินทางระหว่างประเทศในภูมิภาค ที่มีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน รวมทั้งเพื่อความสะดวกในการเดินทางและคมนาคมขนส่งในประเทศอีกด้วย

ทั้งนี้ โครงการที่กระทรวงคมนาคมเตรียมที่จะดำเนินการนั้นประกอบด้วยกรอบแผนการลงทุนในสาขาต่างๆ ได้แก่สาขาการขนส่งทางถนน สาขาการขนส่งทางราง สาขาการขนส่งทางน้ำ และสาขาการขนส่งทางอากาศ ภายใต้วงเงินลงทุนรวม 1,,914,007.85 ล้านบาท

ในกรอบแผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งของกระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญกับการพัฒนาในสาขาการขนส่งทางถนนและสาขาการขนส่งทางรางเป็นพิเศษ โดยการลงทุนในสาขาการขนส่งทางบกกำหนดเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 648,995.69 ล้านบาท หรือร้อยละ 33.91 ของวงเงินลงทุนรวม ส่วนการลงทุนในสาขาการขนส่งทางรางกำหนดเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,164,477.55 ล้านบาท หรือร้อยละ 60.84

ขณะที่การลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือนั้น มีโครงการที่น่าสนใจได้แก่ โครงการก่อสร้างทางรถไฟช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือเชียงแสน แห่งที่ 2 จ.เชียงราย โครงการก่อสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย โครงการก่อสร้างเขื่อนยกระดับในแม่น้ำเจ้าพระยาและน่าเพื่อการเดินเรือ และโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เป็นต้น โดยโครงการต่างๆ เหล่านี้มีทั้งที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วและอยู่ในระหว่างการดำเนินการ

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า การจัดการเสวนาดังกล่าวขึ้นนั้นมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนได้ทราบว่า กระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะลงทุนและดำเนินการในเรื่องใดบ้าง เนื่องจากเรื่องโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณมหาศาล

จึงจำเป็นที่ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมรับทราบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะใช้งบประมาณเหล่านี้ไปดำเนินโครงการอะไรบ้าง เพราะหมดสมัยแล้วที่นักการเมืองหรือหน่วยงานจะนำงบประมาณไปใช้เฉพาะในพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใดเพื่อหวังผลประโยชน์อื่นๆ

ขณะเดียวกัน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบคมนาคมยังถือเป็นเรื่องจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศในปัจจุบัน ทั้งในแง่ของการสร้างโอกาสทางการแข่งขันของประเทศเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อไทยจะเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน อีกทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบคมนาคมยังจะช่วยกระตุ้นให้ภายในประเทศเกิดการพัฒนาในด้านอื่นๆ ตามมาอีกด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวต่อไปว่า จากกรอบการลงทุนดังกล่าวจะเน้นหนักไปที่การลงทุนในด้านระบบขนส่งทางถนนและระบบขนส่งทางราง เนื่องจากการพัฒนาระบบรางของไทยนั้นขาดการพัฒนามานาน และในอนาคตการเชื่อมโยงกันของประเทศต่างๆ ในอาเซียนจะทำให้เกิดการค้าและการขนส่งระหว่างกัน

ดังนั้น ระบบรางและระบบถนนที่มีประสิทธิภาพจะช่วยเชื่อมต่อเส้นทางและพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน 7 ประเทศที่มีพื้นที่ภาคพื้นดินติดต่อกัน รวมทั้งยังช่วยลดต้นทุนการขนส่ง ซึ่งจะทำให้ประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น

สำหรับเป้าหมายที่กระทรวงคมนาคมได้นำเสนอในการเสวนาดังกล่าว ประกอบด้วยการลดต้นทุนการขนส่งสินค้ารวมเฉลี่ยในปี 2563 ให้อยู่ที่ 1.8869 บาท/ตัน-กิโลเมตร แทนที่จะเป็น 1.9949 บาท/ตัน-กิโลเมตรหากไม่มีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคม ซึ่งจะทำให้สามารถลดต้นทุนการขนส่งสินค้าได้ไม่น้อยกว่า 52,843 ล้านบาทต่อปี พร้อมทั้งเพิ่มปริมาณผู้โดยสารในระบบขนส่งสาธารณะของประเทศเป็นร้อยละ 6

โดยเน้นการใช้ระบบรถไฟความเร็วสูงเป็นหลัก ในการขนส่งผู้โดยสารเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดใหญ่ๆ และประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงการเพิ่มสัดส่วนปริมาณการขนส่งในด้านต่างๆ นอกจากนี้ยังมุ่งหวังที่จะสร้างมูลค่าการประหยัดเวลาในการขนส่ง (VOT) ไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาทต่อปี ลดความสูญเสียจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 155,000 ล้านบาทต่อปี และเพิ่มขีดความสามารถการขนส่งสินค้าในภาพรวมเป็น 900 ล้านตันต่อปี
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44332
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 24/09/2012 5:23 pm    Post subject: Reply with quote

คมนาคมเปิดเวทีถกการพัฒนาโครงสร้างท้องถิ่น
เนชั่นทันข่าว 24 ก.ย. 55 15.29 น.

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในการเสวนาหัวข้อ "การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกับความเจริญของท้องถิ่น" ในงานเสวนาโครงการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้และร่วมรับฟังความคิดเห็นของสาธารณชนต่อแผนการลงทุน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง พ.ศ.2556-2563 วันที่ 24 กันยายน ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในอนาคตเพียง 21% ของงบบริหารประเทศ ที่เหลือเป็นงบประจำทั้งเงินเดือนและงบซ่อมแซมเท่านั้น จึงเกิดปัญหารถไฟมาไม่ตรงเวลา รถยนต์สัญจร ไปมาไม่สะดวก ดังนั้น ต้องคิดนอกกรอบ คิดระยะไกล 7-10 ปี และต้องรู้วิธีหาเงิน จะทำอย่างไรให้สำเร็จ

โครงสร้างพื้นฐานจะทำให้เกิดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมโดยมีต่างชาติและอาเซียนเข้ามาลงทุน เช่น ทำถนนผ่านชายแดน ถ่ายเทคนและทรัพยากรธรรมชาติ 10 ประเทศ โดยเฉพาะ 7 ประเทศที่มีผืนแผ่นดินเชื่อมต่อกับประเทศไทยให้เป็น 1 เดียว เช่น เอาทรัพยากรจากประเทศพม่ามารวมกับของไทยปรับรูปแบบ และส่งขายเพิ่มมูลค่า แต่การจะดำเนินการต้องสอบถามความเห็น ของประชาชนก่อน ไม่เช่นนั้นจะเป็นเหมือนอดีตไม่ได้ถามผู้ใช้บริการทำแล้วเกิดความล้มเหลว

"เรามีสนามบินในความดูแลของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย 6 แห่ง และที่อยู่ในความดูแลของกรมการบินพลเรือนอีก 31 แห่ง แต่พบว่าปิดไปแล้ว 6-10 สนามบิน แต่ละแห่งมีมูลค่า เป็นพันๆ ล้านบาท ตอนทำเราไม่เคยถามเลยว่าจะมีสายการบินมาลงหรือไม่ สร้างเพราะอยากทำ บ้านเมืองเกิดความเสียหาย ดังนั้น จะสร้างอะไรก็ต้องถามผู้ที่เกี่ยวข้องก่อน" นายจารุพงศ์ กล่าว

ด้านนายชาติชาย ทิพย์สุนาวี อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า สำหรับแผนการลงทุน 8 ปีนั้น กรมทางหลวงชนบทจะแบ่งการทำงานเป็น 3 ส่วน คือ 1.ส่งเสริมการค้าการลงทุน เชื่อม โยงแหล่งผลิตกับถนนสายหลักใช้เงินลงทุน 9 หมื่นล้านบาท เพื่อขนส่งพืชผลการเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม รวมถึงแก้ไขปัญหาจราจรจุดตัดต่างๆ ซึ่งจะมีทั้งการทำสะพานยกระดับและอุโมงค์ ลอดใต้ดิน 2.แผนหนุนการท่องเที่ยว ใช้งบประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท โดยจะบูรณาการร่วมกับแผนของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และส่วนสุดท้ายคือหนุนการขนส่งการเกษตร ทั้งข้าว ลำไย และมันสัมปะหลังจากชาวสวนสู่ถนนเชื่อมไปยังตลาด งบประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท

ขณะที่นายก้องเกียรติ จันทร์หิรัญ ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ 1 เชียงใหม่ กรมทางหลวง กล่าวว่า สำนักทางหลวงที่ 1 ดูแลพื้นที่ครอบคลุม 4 จังหวัด คือเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และ แม่ฮ่องสอน แผนที่จะดำเนินการแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ 1. ขยายทางหลวงหมายเลข 121 เส้นเลี่ยงเมืองเชียงใหม่รอบนอก หรือวงแหวนรอบ 3 ระยะทาง 59 กิโลเมตร 2. ขยายทางหลวงหมายเลข 11 ลำพูน-เชียงใหม่ ระยะทาง 25 กิโลเมตร 3. ขยายทางหลวงหมายเลข 106 เส้น ลำปาง-ลี้-บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ระยะทาง 89 กิโลเมตร

นายภากรณ์ ตั้งเจตสกาว รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศ (รฟท.) กล่าวว่า ปัจจุบันต้นทุนโลจิสติกของประเทศไทยอยู่ที่ 18% ของต้นทุนทั้งหมด คิดเป็นค่าขนส่งกว่า 9% ซึ่งรัฐบาลเอง ได้มีนโยบายที่จะลดต้นทุนโลจิสติกส์ลง 2% ในส่วนของแผนภาคเหนือนั้นได้รับงบประมาณ 1.7 แสนล้านบาท ในการปรับปรุงโครงสร้างทางรางรถไฟ โดยเฉพาะการเปลี่ยนเป็นหมอนคอนกรีตแทน หมอนไม้ รวมถึงขนาดรางเป็น 100 ปอนด์ จากเดิม 70-80 ปอด์น ในส่วนของการทำรางรถไฟนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงในเส้นทางพิษณุโลก-เชียงใหม่ คาดว่าอีก 3-4 ปีจะแล้วเสร็จ ซึ่งจะทำ ให้ความเร็วเพิ่มขึ้นเป็น 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากเดิม 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น

ส่วนเรื่องรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่ใช้ระยะเวลาเดินทาง 3-4 ชั่วโมงนั้น อยู่ระหว่างการออกแบบและศึกษาของสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ตามขั้น ตอนแล้วจะใช้เวลาในการศึกษาความเป็นไปได้ 18 เดือน หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ขึ้นอยู่กับว่าจะกำหนดเป็นรูปแบบใดและระยะเวลาก่อสร้างเท่าไหร่ แต่โดยปกติแล้วจะใช้เวลา ก่อสร้างเฉลี่ย 4-5 ปี
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44332
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 25/09/2012 6:57 am    Post subject: Reply with quote

ทุ่มพันล.พัฒนาระบบรางเชื่อมอาเซียน
คมชัดลึก 25 ก.ย. 55

ผอ.สนข. เผยกรอบแผนการลงทุน 8 ปี มูลค่ากว่า 1.9 ล้านล้านบาท ทุ่ม 1,164 ล้านบาท พัฒนาระบบรางเชื่อมต่อในประเทศ-อาเซียน ฟุ้งลดต้นทุนการขนส่งได้กว่า 52,843 ล้านบาทต่อปี

24 ก.ย. 55 ดร.จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม บรรยายหัวข้อการจัดทำแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง พ..ศ.2556-2563 ในโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้และร่วมรับฟังความคิดเห็นของสาธารณชนต่อแผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง พ.ศ.2556-2563 ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมางบรายจ่ายประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยปี 2555 งบรายจ่ายประเทศ 2.3 ล้านล้านบาท เปรียบเทียบกับปี 2545 งบประมาณรายจ่าย 1 ล้านล้านบาท ขณะที่งบที่ใช้ลงทุนปีนี้อยู่ที่ 2.6 แสนล้านบาท แต่เปรียบเทียบกับปี 2545 ใช้งบลงทุน 1.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 1 แสนล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก

ทั้งนี้ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดการใช้เงินใหม่ ซึ่งรัฐบาลเองก็มีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาและจะต้องให้แล้วเสร็จในปี 2563 ตามวิสัยทัศน์ของอาเซียน โดยแบ่งการลงทุนเป็น 5 ประเภท คือ
1. การลงทุนส่วนราชการ
2. การลงทุนรัฐวิสาหกิจ
3. การกู้เงิน
4. การลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชน และ
5. ใช้กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ระดมเงินจากตลาดทุน เช่น นำโครงการมอเตอร์เวย์เป็นหลักประกันในการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์

โดยแผน 8 ปี กระทรวงคมนาคมจะต้องใช้งบประมาณกว่า 1.9 ล้านล้านบาท หรือ 80% ของวงเงินในหน้าตักของรัฐบาล โดยจะจัดสรรในส่วนของขนส่งระบบราง 60% ขนส่งระบบถนน 33% ขนส่งทางน้ำ 3% และขนส่งทางอากาศ 1.9% ที่เน้นทางรางเป็นหลัก เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยทิ้งระบบรางไปนานและจำเป็นจะต้องเชื่อมต่อกับประเทศในอาเซียน และในอนาคตน้ำมันแพงขึ้นคนจะหันมาใช้รถไฟแทน

สำหรับสรุปวงเงินตามกรอบแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งปีงบประมาณ 2556-2563 รวม 1.9 ล้านล้านบาท จำนวน 72 โครงการ ประกอบด้วย สาขาขนส่ง ทางถนน จำนวน 31 โครงการวงเงินกู้โครงการ 648,995 ล้านบาท สาขาการขนส่งทางราง จำนวน 33 โครงการ วงเงินกู้โครงการ 1,164,477 ล้านบาท แบ่งเป็นระบบรถไฟทางคู่ 130,650 ล้านบาท ระบบรถไฟสายใหม่ วงเงินกู้โครงการ 152,189 ล้านบาท และระไฟความเร็วสูง 480,008 ล้านบาท รวมถึงสาขาการขนส่งทางน้ำ จำนวน 5 โครงการ วงเงินกู้โครงการ 63,606 ล้านบาท และสาขาขน ส่งทางอากาศ จำนวน 3 โครงการ วงเงินกู้โครงการ 36,927 ล้านบาท

ดร.จุฬา กล่าวต่อว่า ส่วนเป้าหมายหลักที่สำคัญของการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งนั้น ในปี 2563 ต้นทุนขนส่งเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1.8669 บาทต่อตัน ประมาณการณ์ ว่าจะสามารถลดต้นทุนการขนส่งสินค้าไม่น้อยกว่า 52,843 ล้านบาทต่อปี ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 6% ลดค่าใช้จ่ายสูญเสียจากการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล 80,000 ล้านบาท ประหยัดมูลค่าของเวลา ในการเดินทาง 108,000 ล้านบาท และลดต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม 3,600 ล้านบาท

นอกจากนี้ สัดส่วนปริมาณการขนส่งสินค้าในปี 2563 จะเพิ่มขึ้นจากปี 2554 โดยทางรางจะเพิ่มขึ้นเป็น 5% จากเดิม 2.5% สัดส่วนการขนส่งทางน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 10.5% จากเดิม 8.5% รวมถึงสัดส่วนปริมาณการขนส่งสินค้าทางชายฝั่งเพิ่มเป็น 7.5% จากเดิม 6% และปริมาณผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพิ่มเป็น 64 ล้านคนในปี 2560 จากปี 2554 มีจำนวน 47.4 ล้านคน ขณะเดียวกันยังลดการสูญเสียจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงกว่า 155,000 ล้านบาทต่อปี และเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าในภาพรวมเป็น 900 ล้านตันต่อปี จากเดิม 700 ล้านตันต่อปี

ด้านนายศุภกร ภัทรวิเชียร นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวในรายงานผลการลงพ้นที่เก็บข้อมูล ความคิดเห็นของประชาชนต่อ ได้แจกแบบสอบถามการรับทราบ 8 โครงการของกระทรวงคมนาคมจำนวน 960 ชุด ในพื้นที่ 4 จังหวัดคือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และลำปาง

โดยโครงการแรกคือ โครงการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครสวรรค์ ระยะทาง 206 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณารายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทราบเพียง 22% เท่านั้น

2. โครงการก่อสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย เพื่อเป็นจุดเชื่อมต่อและอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าผ่านแดน เพื่อรองรับการเป็นประตูการค้า ระหว่างไทย-ลาว-จีน ปัจจุบันอยู่ระหว่างของบกลางปี 2556 ดำนินโครงการ ซึ่งประชาชนรับทราบเพียง 38%

3. แผนพัฒนาสถานีขนส่งเพื่อเพิ่มประสิทภาพทางถนนในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ตาก และนครสวรรค์ ประชาชนรับทราบ 34%

4. โครงการถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ ประชาชนรับทราบกว่า 57% สูงสุดในทั้งหมด 8 โครงการ

5. โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ในพื้นที่ภาคเหนือช่วง เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 325 กิโลเมตร ก่อสร้างเป็นรถไฟรางคู่ งบประมาณ 63,090 ล้านบาท คืบหน้าล่าสุดศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการ จัดส่งรายงานอีไอเอ พร้อมเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2557 และจัดทำรายงานสรุปผลการศึกษา ออกแบบและประมาณค่าใช้จ่ายลงทุน ประชาชนรับทราบ 46%


6. โครงการก่อสร้างเขื่อนยกระดับในแม่น้ำเจ้าพระยาและน่านเพื่อการเดินเรือ วงเงินดำเนินการ 7,131.65 ล้านบาท ประชาชนรับทราบเพียง 23% เท่านั้น
7. โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือ เชียงแสนแห่งที่ 2 จ.เชียงราย วงเงิน 1,568.516 ล้านบาท ซึ่งเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 ใช้ชื่อว่าท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน ประชาชนรับทราบ 52%

และสุดท้าย โครงการพัฒนาพื้นฐานบริการเส้นทางเชียงใหม่-พิษณุโลก รับทราบเพียง 20% เท่านั้น ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าประชาชนจะรับทราบเฉพาะโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นในพื้นที่เท่านั้น
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page 1, 2, 3 ... 121, 122, 123  Next
Page 1 of 123

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©