Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai.Com

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311235
ทั่วไป:13181233
ทั้งหมด:13492468
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าว รฟท จาก หนังสือพิมพ์
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ข่าว รฟท จาก หนังสือพิมพ์
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 189, 190, 191 ... 471, 472, 473  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44331
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 07/01/2013 7:13 pm    Post subject: Reply with quote

ร.ฟ.ท.ดันมักกะสัน-แก่งคอย
วันศุกร์ที่ 04 มกราคม 2013 เวลา 17:07 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ

การรถไฟฯเร่งดันแผนพัฒนามักกะสันคอมเพล็กซ์ หลังรับมอบผลศึกษาดราฟต์ไฟนัลก่อนนำเสนอ "ประภัสร์ จงสงวน" ผู้ว่าการร.ฟ.ท. เดือนนี้ พร้อมเดินหน้าผุดเมืองใหม่รถไฟที่แก่งคอยรับพนักงานกว่า 1,200 ครัวเรือน ระบุเงินรื้อย้ายกว่า 8 พันล้านเก็บจากผู้ลงทุนก่อนไปบวกคืนค่าสัมปทานมักกะสันรูปแบบหลักการเงินยืม

แหล่งข่าวระดับสูงการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าได้รับมอบผลการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) กรณีการรื้อย้ายโรงงาน โรงรถจักรและบ้านพักพนักงานพื้นที่มักกะสันไปอยู่แก่งคอย จ.สระบุรี และตามสถานที่ต่างๆซึ่งเป็นร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ (Draft Final Report) เรียบร้อยแล้ว โดยเตรียมนำเสนอนายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟฯภายในเดือนมกราคม 2556 นี้ พร้อมมอบแบบเบื้องต้นให้อีกด้วย ก่อนที่จะออกแบบรายละเอียดอย่างเป็นทางการในระยะต่อไป

Click on the image for full size

"ร.ฟ.ท.ได้ว่าจ้างสจล. ทำการศึกษาเป็นระยะเวลา 6 เดือน ขณะนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งสจล.ถือว่ามีผู้เชี่ยวชาญด้านโรงงานคอยกำกับดูแล ดังนั้นหากรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมเอาจริงก็สามารถดำเนินการก่อสร้างโครงการได้ทันทีหากมีงบประมาณ ซึ่งจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปีครึ่ง สำหรับงบประมาณที่จะรื้อย้ายชุมชนและโรงงานในพื้นที่มักกะสันออกไปอยู่แก่งคอยนั้น เป็นงบประมาณจากผู้สนใจมาลงทุน คาดว่าจะใช้งบจำนวน 8,000 ล้านบาทในรูปแบบเงินยืมผู้ลงทุนมาใช้ก่อนแล้วจะบวกคืนเป็นค่าสัมปทาน ดังนั้นหากสามารถถมดินพร้อมรอนักลงทุนน่าจะมีผู้สนใจมาร่วมประมูลอย่างแน่นอนเพราะมีความชัดเจน"

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่ากรณีการย้ายนิคมมักกะสันของการรถไฟฯไปอยู่แก่งคอยนั้นจะเน้นให้คำนึงถึงสภาพความเป็นอยู่ ทันสมัย ยกระดับให้ดีขึ้น พร้อมกันนี้จะย้ายโรงงาน-โรงรถจักรออกไป ส่วนโรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากรจะย้ายไปอยู่กม. 11 รองรับการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ย่านพหลโยธิน ส่วนพนักงานทั้ง 1,200 ครัวเรือนนั้นหากจะย้ายจริงๆ คงมีจำนวนมากกว่านี้

ทั้งนี้นโยบายผู้บริหารระดับสูงร.ฟ.ท.ต้องการให้ทุกฝ่ายได้รับความสะดวกสบาย ไม่เดือดร้อนต่อการที่เจ้าหน้าที่กว่าพันคนจะย้ายไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ที่จัดไว้ให้ทั้งระบบสาธารณูปโภคและการเดินทาง ตลอดจนสถานศึกษาและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รองรับไว้ประมาณ 100 ไร่ ให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของเจ้าหน้าที่ซึ่งจะตั้งอยู่ที่เขาคอก ห่างจากแก่งคอยไปทางทิศเหนือประมาณ 8 กม. ส่วนพื้นที่โรงงานต้องการให้มีทั้งพื้นที่ซ่อมบำรุงรถเก่า และจัดสร้างรถใหม่ พื้นที่รองรับรถไฟความเร็วสูง

"ย่านแก่งคอยปัจจุบันยังมีพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่ประมาณ 4 พันไร่ ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)ได้เสนอให้ขอใช้พื้นที่ประมาณ 500 ไร่ มาก่อสร้างสถานีรองรับรถไฟความเร็วสูงที่กระทรวงคมนาคมมีแผนก่อสร้างไปถึงหนองคายเพื่อเชื่อมกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) โดยสิ่งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะได้รับคือการอำนวยความสะดวกด้วยระบบรางทันสมัยเชื่อมโยงเข้าสู่พื้นที่ให้การเดินทางเชื่อมโยงสะดวกสบายมากขึ้น"

อีกทั้งยังกระจายความเจริญสู่พื้นที่เขตชั้นนอกกรุงเทพฯได้อีกทางหนึ่งด้วย และสามารถเชื่อมโยงไปสู่จุดสถานีอยุธยาให้สามารถใช้เป็นเส้นทางรถไฟ รถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูงสู่ภาคเหนือได้อีก นอกเหนือจากการสร้างมูลค่าเพิ่มที่ดิน ประการสำคัญปัจจุบันพื้นที่ส่วนหนึ่งใช้เป็นศูนย์ปฏิบัติการด้านวิศวกรรมอยู่แล้ว จึงน่าจะเพิ่มหลักสูตรด้านรถไฟและรถไฟฟ้าเข้าไปได้ทันที

ทั้งนี้ผลการศึกษาโดยสังเขปของพื้นที่ดังกล่าวพบว่ามีความเหมาะสมที่จะสามารถรองรับโรงซ่อมบำรุงที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ ทั้งด้านกายภาพที่มีขนาดพื้นที่ประมาณ 400 ไร่ และการคมนาคมที่เข้าถึงสะดวก ซึ่งโรงงานแห่งใหม่นี้จะประกอบไปด้วย
1. กลุ่มอาคารสำนักงาน กองอำนวยการ งานอาคารสถานที่ และสวัสดิการพนักงาน (Admin Office, Building Service and Staff Facilities)
2.กลุ่มอาคารโรงงานและคลังพัสดุ (Workshops and Warehouses) โรงซ่อมตู้รถโดยสาร (Passenger Coach Workshops) โรงซ่อมหัวรถจักร (Locomotive and DMU Workshop) คลังพัสดุขนาดต่างๆ (Warehouses) โรงหล่อ (Foundry)
3. โรงจอดรถพระที่นั่ง (Royal Coach Stabling) และ
4.กลุ่มอาคารบริการ(Service Facilities) ลานจอดรถไฟ (Stabling) Traverser โรงบำบัดน้ำเสีย (Water Treatment Plant) ถังเก็บน้ำ (Water Storage Tank) ลานเก็บของกลางแจ้ง (Outdoor Storage)

ส่วนงบประมาณเบื้องต้นของโครงการย้ายจำนวน 8,219 ล้านบาท ประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ มูลค่าโรงงานแห่งใหม่ มูลค่าที่พักอาศัยพนักงานแห่งใหม่ และมูลค่าการย้ายโรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 32 ฉบับที่ 2,807 วันที่ 6 - 9 มกราคม พ.ศ. 2556
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
siriwadhna
3rd Class Pass
3rd Class Pass


Joined: 05/10/2009
Posts: 126

PostPosted: 08/01/2013 11:00 am    Post subject: Reply with quote

รายการ ตอบโจทย์ประเทศไทย
สถานีโทรทัศน์ ThaiPBS
ออกอากาศเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2556

สัมภาษณ์ รศ.ดร. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว. กระทรวงคมนาคม เรื่องอนาคตรถไฟไทย

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา พิธีกร



อัพโหลดโดย RuMiCBR954
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44331
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 09/01/2013 8:39 pm    Post subject: Reply with quote

จ.เพชรบูรณ์เสนอ 6 โครงการจำเป็นเร่งด่วนตอบสนองความต้องการประชาชนในพื้นที่ งบ 99 ล้านบาทเศษ และโครงการศึกษาความเหมาะสมเส้นทางรถไฟเข้าสู่จังหวัดเพชรบูรณ์ เข้า ครม.สัญจร ที่จ.อุตรดิตถ์
วันที่ 9 ม.ค. 2556
นางบุษรา สุขวิบูลย์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดเพชรบูรณ์

จ.เพชรบูรณ์เสนอ 6 โครงการจำเป็นเร่งด่วนตอบสนองความต้องการประชาชนในพื้นที่ งบ 99 ล้านบาทเศษ และโครงการศึกษาความเหมาะสมเส้นทางรถไฟเข้าสู่จังหวัดเพชรบูรณ์ เข้า ครม.สัญจร ที่จ.อุตรดิตถ์

นายสุชาติ ราษฎร์ดุษดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการจังหวัดเพชรบูรณ์ ครั้งที่ 1/2556 (เมื่อ 9 มค.56) ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ระหว่างวันที่ 20 – 21 มกราคม 2556ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และพิจารณาโครงการขอรับสนับสนุนงบประมาณในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ จำนวน 6 โครงการ ตามกรอบงบประมาณ 100 ล้าน

รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า โครงการที่จังหวัดเสนอขอรับการสนับสนุนรวมเป็นงบประมาณทั้งสิ้น 99 ล้านบาทเศษ เป็นโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ได้แก่ 1) โครงการศูนย์พัฒนาศักยภาพการศึกษาและพัฒนาอาชีพขั้นพื้นฐาน งบ 29 ล้านบาท 2) โครงการก่อสร้างถนน คสล. สายบ้านขอนหาด – บ้านเขาซำทอง ม. 1 – ม.10 ต.แคมป์สน อ.เขาค้อ งบ 11 ล้านบาทเศษ 3) โครงการก่อสร้างฝายคลองซับเจริญ ม.7 บ้านซับอีปุก ต.ซับพุทรา อ.ชนแดน งบ 15 ล้านบาทเศษ 4) โครงการก่อสร้างฝายคลองกลาง ม. 2 บ้านคลองกลาง ต.ซับพุทรา อ.ชนแดน งบ 15 ล้านบาท 5) โครงการก่อสร้าง คสล. สายแยกทางหลวงหมายเลข 113 – บ้านอ่างหิน ต.พระพุทธบาท อ.ชนแดน พร้อมสะพาน 2 แห่ง งบ 8.8 ล้านบาท และ 6) โครงการปรับปรุงถนนลาดยางสายบ้านวังกวาง ม. 1 ม.2 และ ม. 17 ต.วังกวาง อ.น้ำหนาว

พร้อมกันนี้จังหวัดได้เสนอโครงการนอกกรอบ 100 ล้านบาท ได้แก่ โครงการศึกษาความเหมาะสมเส้นทางรถไฟเข้าสู่จังหวัดเพชรบูรณ์ สายลำนารายณ์- เพชรบูรณ์ – เลย – หนองบัวลำภู หรือจัตุรัส – ชัยภูมิ – เลย – หนองบัวลำภู งบประมาณ 35 ล้าน และเสนอชุดโครงการ รวม 18 โครงการ งบประมาณ 1,700 ล้านบาทเศษ เพื่อขออนุมัติในหลักการ

ทั้งนี้ ในวันที่ 17 มกราคม 2556 เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะลงพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อตรวจสอบความพร้อมของโครงการล่วงหน้า และในระหว่างวันที่ 18 – 20 มกราคม 2556 รัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายจะลงพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อตรวจสอบความพร้อมของโครงการที่จังหวัดเพชรบูรณ์เสนอ.
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42625
Location: NECTEC

PostPosted: 10/01/2013 1:06 am    Post subject: Reply with quote

รถไฟเข้าเพชรบูณ์โดยไม่เชื่อมกะ สายไป หนองคายที่อุดรธานี และ สายไปเชียงใหม่ ที่ พิจิตร (แทนตะพานหินที่ คนอยู่กันแน่น จน สถานีอยู่ในเขตเทศบาล เห้นท่าจะเปล่าประโยชน์แท้ๆ
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44331
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 12/01/2013 1:29 pm    Post subject: Reply with quote

1 ศตวรรษ"รถไฟไทย" การพัฒนาที่ยังคงหยุดนิ่ง?
แนวหน้า วันศุกร์ ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556, 02.00 น.

เป็นเวลากว่า 1 ศตวรรษ ที่ประเทศไทยเริ่มรู้จักระบบคมนาคมขนส่งทางราง หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “รถไฟ” นับตั้งแต่ พ.ศ.2429 ที่รัฐบาลไทย (สยาม) สมัยนั้นได้ให้สัมปทานเดินรถไฟจากกรุงเทพฯ - สมุทรปราการ ระยะทาง 21 กิโลเมตร กับบริษัทสัญชาติเดนมาร์ก และเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย ซึ่งในขณะนั้น ประเทศในทวีปเอเชียที่ถูกมองว่าสามารถเติบโตเป็นมหาอำนาจของภูมิภาค มีเพียงสยามกับญี่ปุ่นเท่านั้น เนื่องจากประเทศอื่นๆ ล้วนถูกมหาอำนาจจากโลกตะวันตกเข้าแทรกแซงและยึดครองเป็นอาณานิคมเกือบหมด

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป ประเทศญี่ปุ่นกลายเป็นมหาอำนาจจริงตามที่หลายฝ่ายคาดไว้ ขณะที่สยามหรือประเทศไทยของเรา กลับค่อยๆ โดนประเทศอื่นๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยอ่อนแอ หรือเคยเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกแซงหน้าไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ จีน มาเลเซีย หรือแม้แต่เวียดนาม ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ประเทศเหล่านี้มี หรือกำลังจะมีในเร็วๆ นี้ คือการพัฒนาระบบการขนส่งทางราง หรือระบบรถไฟขนานใหญ่ ให้เป็นระบบหัวรถจักรความเร็วสูงที่วิ่งได้ความเร็วเป็นหลักร้อยกิโลเมตรต่อชั่วโมงหรือมากกว่า

ตรงกันข้าม รถไฟในประเทศไทย ราวกับถูกหยุดเวลาไว้ โดยแทบไม่มีการพัฒนาจากเมื่อร้อยปีก่อนเท่าที่ควร วันนี้สกู๊ปหน้า 5 จะพาไปรับฟังเสียงจากผู้ที่เกี่ยวข้องว่า ณ วันนี้ มีความคิดเห็นอย่างไร และจะทำอะไรต่อไป เพื่อให้รถไฟไทยกลับมาเชื่อถือได้อีกครั้งหนึ่ง

“รถไฟไทย” วัตถุโบราณที่ยังมีชีวิต

คงจะไม่ผิดนักหากใครมองว่า กิจการรถไฟของไทยนั้นมีสภาพไม่ต่างอะไรกับพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต กล่าวคือไม่ว่าจะเป็นสถานีหรือสภาพของขบวนรถ ล้วนอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างเก่า มิได้ต่างจากเมื่อหลายสิบปีก่อนแต่อย่างใด

“ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ในเอเชียที่มีรถไฟ คือมีพร้อมๆ กับญี่ปุ่น แต่การพัฒนามันเหมือนอยู่กับที่ คือเมื่อถึงจุดๆ หนึ่งแล้วมันหยุดอยู่กับที่ อย่างผมนี่ ผมนั่งรถไฟครั้งแรกตอนอยู่ มศ.3 ตอนนั้นนั่งไปเชียงใหม่ ประมาณ พ.ศ.2500 เศษๆ แล้วผมมานั่งอีกที ตอนที่กระทรวงเขาจัดไปประชุม ท่านเชื่อไหมครับว่าทุกอย่างเหมือนเดิมหมดเลย มันเป็นอะไรที่มันไม่น่าเชื่อ ล่าสุดไม่นานนี้ ผมเพิ่งนั่งรถไฟจากเชียงใหม่มากรุงเทพ ก็เหมือนเดิมครับ” เป็นเสียงสะท้อนจาก นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย ถึงสิ่งที่หลายคนคงจะเห็นจนชินเป็นอย่างดี นั่นคือแม้จะผ่านมานานแล้ว แต่รถไฟไทยมิได้มีความเจริญก้าวหน้าไปอย่างที่ควรจะเป็น

ในทางตรงกันข้าม นอกจากจะไม่มีการพัฒนาแล้ว บางสิ่งบางอย่างยังดูแย่ลงอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเวลาของการเดินรถ หรือสภาพของตัวรถและตัวราง โดยคุณประภัสร์เล่าว่า รถไฟไทยในปัจจุบัน ทำความเร็วเฉลี่ยได้ไม่ถึง 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กรณีที่เป็นขบวนรถโดยสาร และถ้าเป็นขบวนรถขนสินค้า จะทำความเร็วได้มากกว่า 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งที่การขนส่งทางรางนั้นถือเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเลยทีเดียว

“วันนี้รถไฟต้องทำหลายอย่าง ทุกคนพูดว่าขนส่งทางรางมันมีประโยชน์มาก มันลดค่าใช้จ่าย แต่ระบบขนส่งทางราง มันเป็นการลงทุนที่สูง พอพูดเรื่องลงทุนปุ๊บ ทุกรัฐบาลก็จะถอยทันที บอกขอทำถนนก่อน แต่วันนี้คนหันมามองระบบราง เพราะราคาน้ำมันและแก๊สที่สูงขึ้น วันนี้เรารอไม่ได้แล้ว เพราะอีกไม่กี่ปี เราจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทุกประเทศก็กำลังพัฒนา อย่างจีนกับลาวเขาตกลงกันได้แล้วว่าจะทำ High Speed ลงมา พม่าเองตอนนี้ก็เปิดประเทศแล้ว และเขาก็มีความตื่นตัว ต่อไปพม่าก็จะมีท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ที่ทวาย คือประเทศอื่นเขาตื่นตัวกันหมดแล้วนะครับ ประเทศไทยนี่ถือว่าได้เปรียบทางภูมิศาสตร์มากที่สุด แต่เรากลับเป็นประเทศที่นำเขาไปก่อน แล้วก็อยู่กับที่” คุณประภัสร์ กล่าว

ตกต่ำเพราะ “ขาดองค์ความรู้”

แม้ประเทศไทยจะมีรถไฟมานาน และมีมาก่อนหลายๆ ชาติในเอเชีย แต่สิ่งที่วงการรถไฟบ้านเราขาดการพัฒนา คือองค์ความรู้ในสาขาที่เกี่ยวข้อง โดยคุณประภัสร์ ได้ยกตัวอย่างอุบัติเหตุรถไฟฟ้าใต้ดินชนกัน ในช่วงที่เพิ่งจะเปิดให้บริการใหม่ๆ ในปี พ.ศ.2548 ครั้งเมื่อตนยังทำหน้าที่บริหารกิจการรถไฟฟ้าใต้ดิน (รฟม.) อยู่ในเวลาดังกล่าว

“พอมีปัญหา ก็ต้องไปตามผู้ขาย ผู้ผลิตมาซ่อมให้เรา คือเรื่องนี้มันอยู่ในใจมาตลอด หลายท่านคงจำได้ตอนที่เปิดให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินใหม่ๆ มันเกิดอุบัติเหตุ รถไฟฟ้าขบวนหนึ่งไหลจากจุดซ่อมรถไปขนกับรถอีกขบวนหนึ่งที่ศูนย์วัฒนธรรม คราวนั้นใช้เวลาซ่อมกัน 2 ปีกว่า คือบริษัทนั้นเขาส่งช่างของเขามาซ่อม ไม่ให้ช่างของเราเข้าไปยุ่งเลย ก็เลยใช้เวลานานในการซ่อม เราก็เลยมานั่งคิด มันคงไม่ถูกแล้วล่ะที่จะให้เป็นแบบนั้น” คุณประภัสร์ กล่าว

นอกจากนี้แล้ว คุณประภัสร์ยังเสริมอีกว่า สำหรับการรถไฟแห่งประเทศไทย ในอดีตนั้นก็ถือว่าเป็นหน่วยงานที่เชิดหน้าชูตาให้กับประเทศอย่างมาก ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นกรมรถไฟหลวง ในเวลานั้น ผู้ที่จะเข้ามาทำงานที่นี่ได้ จะต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถระดับหัวกะทิของประเทศเท่านั้น และกิจการรถไฟไทยนั้นก็มีครบวงจร ทั้งโรงเรียนที่มีหลักสูตรเฉพาะ รวมไปถึงสถานที่สำหรับหน่วยซ่อมบำรุงเป็นของตนเอง แต่ด้วยเหตุผลบางประการ วันนี้สิ่งดีๆ ทั้งหลาย ได้หายไปเกือบหมด แม้แต่การซ่อมสร้าง ก็แทบจะไม่เหลือเค้าเดิมที่ยิ่งใหญ่อย่างในอดีตแม้แต่น้อย

ต้อง “สร้างคน” อย่างเร่งด่วน

จากปัญหาดังกล่าว จึงมีความพยายามจากหลายฝ่ายในการเร่งสร้างองค์ความรู้ และสร้างบุคลากรทั้งในระดับบริหารงาน (วิศวกร) และระดับปฏิบัติการ (ช่างเทคนิค) โดยล่าสุดได้มีความร่วมมือระหว่าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ในการออกแบบหลักสูตรพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมระบบรางโดยเฉพาะ เพื่อเตรียมรองรับการขยายตัวของเครือข่ายขนส่งทางราง ไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้า BTS หรือรถไฟฟ้าใต้ดิน ที่วันนี้ก็กำลังเร่งขยายเส้นทางเดินรถอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คนปัจจุบัน อธิบายให้เห็นภาพการเติบโตของระบบขนส่งทางรางภายในเขต กทม. ไว้อย่างน่าสนใจ โดยปัจจุบันรถไฟฟ้าใต้ดินมีระยะทาง 20 กิโลเมตรกับ 18 สถานีย่อย มีขบวนรถทั้งสิ้น 57 ขบวน แต่แม้จะมีเพียงเท่านี้ กลับพบว่ามีผู้โดยสารเฉลี่ย 250,000 คนต่อวัน และในอนาคตคือปี ค.ศ.2019 (พ.ศ.2562) ตามแผนการที่วางไว้ รถไฟฟ้าใต้ดินจะถูกขยายให้มีเส้นทางเดินรถเพิ่มเป็น 200 กิโลเมตร มีสถานีย่อย 200 สถานี และมีขบวนรถทั้งสิ้น 800 ขบวน ซึ่งเมื่อถึงวันนั้น จำนวนผู้ใช้รถไฟฟ้าใต้ดินจะเพิ่มเป็นหลายล้านคนต่อวัน ทั้งนี้ยังไม่รวมนโยบาย “20 บาทตลอดสาย” ที่จะเริ่มใช้ในปี พ.ศ.2557 ซึ่งจะส่งผลให้ชาว กทม. หันมาใช้รถไฟฟ้าในการเดินทางแทนรถยนต์ชนิดต่างๆ มากขึ้น

ปิดท้ายที่คุณประภัสร์ ที่วันนี้มองไปไกลถึงขั้นที่เมืองไทยต้องประกอบหัวรถจักร-รถไฟฟ้าใช้เองให้ได้ เพื่อลดการสูญเสียค่าใช้จ่ายให้กับบริษัทต่างชาติอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงที่รัฐบาลนี้ให้ความสนใจ และกำลังเร่งผลักดันให้เพื่อเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด

“จริงๆ รถไฟความเร็วสูงถือเป็นอีกระบบหนึ่งเลย ซึ่งก็ต้องดูว่ารัฐบาลจะให้ใครไปดูแล แต่ผมคิดว่า ถ้าพนักงานของการรถไฟ พิสูจน์ให้รัฐบาลเห็นว่า เรามีความพร้อม คือยังมีไฟที่จะรับผิดชอบงานที่สำคัญนี้ ก็เชื่อว่ารัฐบาลจะยังคงมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเข้าไปดูแล อย่างไรก็ตาม ผมยังเชื่อว่าพนักงานส่วนใหญ่ของการรถไฟ ยังอยากเห็นรถไฟไทยกลับมาเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ เพียงแต่ที่ผ่านมาอาจจะยังมีปัญหาเรื่องความไม่ชัดเจนต่างๆ รวมถึงเรื่องของการที่ดูแล้วเหมือนรถไฟไม่มีอนาคต ซึ่งวันนี้ก็คงจะเปลี่ยน” ผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่างทิ้งท้าย

ระบบขนส่งทางรางถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดประการหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ดังจะได้เห็นจากประเทศชั้นนำของโลก ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา หรือกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ล้วนใช้รถไฟในการขนส่งทั้งผู้คนและสินค้าต่างๆ ระหว่างเมือง ทำให้ประชาชนไม่ต้องใช้รถยนต์มากนักเพราะข้อดีของรถไฟคือวิ่งอยู่บนราง ทำให้สามารถควบคุมเวลาเดินทางได้อย่างแม่นยำกว่าการเดินทางบนท้องถนนด้วยรถยนต์ รวมทั้งภาคธุรกิจก็สามารถวางแผน คำนวณเวลาในการสั่งซื้อวัตถุดิบ หรือส่งสินค้าไปขายได้เช่นกัน

สำหรับโครงสร้างพื้นฐานของรถไฟในบ้านเรา ก็ยังถือว่าพร้อมอยู่มาก ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่เราจะใช้ราง 1 เมตรที่ถือเป็นขนาดของรางแบบเก่า แต่ด้วยรางขนาดดังกล่าว หากทำรถไฟความเร็วสูง ก็จะวิ่งได้เร็วถึง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเบื้องต้นเหมาะกับประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากระบบผังเมืองยังไม่เป็นระเบียบเท่าที่ควร หากทำรถไฟที่วิ่งได้เร็วกว่านี้ อาจเป็นอันตรายต่อผู้สัญจรหรืออยู่อาศัยใกล้กับทางรถไฟได้ โดยปัจจุบันรถไฟความเร็วสูงของมาเลเซีย ก็วิ่งในความเร็วดังกล่าวเช่นกัน

ขึ้นอยู่กับว่า รถไฟไทยจะก้าวข้ามไปสู่ความทันสมัยเหมือนนานาประเทศ...ได้เมื่อไรเท่านั้น
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44331
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 14/01/2013 5:44 am    Post subject: Reply with quote

โอ่ปรับโฉมรถไฟ เพิ่มคุณภาพบริการ
ไทยโพสต์ อีโคโฟกัส 14 January 2556

นายประภัสร์ จงสงวน

หลังจากที่ได้มีการเปิดสรรหาผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ร.ฟ.ท.มาระยะหนึ่ง ปรากฏว่าผู้ที่ได้ผ่านการสรรหา คือ นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหา และผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการ ร.ฟ.ท. และต่อมาคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบอนุมัติให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย หลังจากได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ประกาศทันทีว่า

"ผมมีเวลาทำงาน 2 ปีครึ่ง อยากให้พนักงานร่วมกันทำงานเพื่อเปลี่ยนการรถไฟฯ ไปในทางที่ดีขึ้น ให้การรถไฟฯ กลับมาเป็นความภูมิใจของคนไทย ของพนักงาน และให้พูดถึงการรถไฟฯ ด้วยความภาคภูมิใจ ยืนยันว่าจะไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก หรือมีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายตำแหน่งสำคัญอะไร เพื่อให้การทำงานเป็นปึกแผ่น ยึดผลการทำงานเป็นหลัก หากมีปัญหาอะไรให้พนักงานพูดความจริงเพราะทุกอย่างแก้ไขได้"

0 เป้าหมายที่เข้ามาทำงานในการรถไฟต้องการดำเนินการอย่างไรบ้าง

โดยส่วนตัวพร้อมที่จะเข้ามาทำงาน โดยเฉพาะหากมีโอกาสเข้าไปบริหาร ร.ฟ.ท. ตั้งเป้าในช่วง 4 ปีข้างหน้าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของ ร.ฟ.ท.พลิกโฉมใหม่ เพราะจะมีผู้บริหารเป็นต้นแบบที่ดี ซึ่งพร้อมจะทุ่มเททำงานเพื่อ ร.ฟ.ท.อย่างเต็มที่ ไม่ทำงานวนไปวนมาหรือล่าช้าอย่างที่เป็นมาแน่นอน รวมทั้งจะสร้างขวัญและกำลังใจให้พนักงานรถไฟทุกคนสามารถยืดอกได้อย่างเต็มที่ว่าองค์กร ร.ฟ.ท.เป็นองค์กรที่เป็นหน้าตาของประเทศ คนทำงานมีศักดิ์ศรี และช่วยให้ประเทศมีความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจ และจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน
0 สิ่งเร่งด่วนที่จะต้องทำขณะนี้คือ

เรื่องเร่งด่วนที่จะต้องทำร่วมกับผู้บริหารและพนักงานการรถไฟฯ 4 เรื่อง คือ เร่งพัฒนาคุณภาพการให้บริการที่ถูกละเลยมานาน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชน และเรียกขวัญกำลังใจพนักงาน โดยจะเข้าไปพัฒนาที่อยู่อาศัย ทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด การหารายได้เพิ่ม โดยเฉพาะการเก็บค่าเช่าที่ของหน่วยงานภาคเอกชนและราชการที่ใช้ที่ดินของการรถไฟฯ ซึ่งจะเริ่มเก็บค่าเช่าที่กับ บมจ.ปตท.ก่อน แต่อาจจะใช้วิธีการหักหนี้ค่าน้ำมันที่การรถไฟฯ ยังค้างอยู่ ขณะเดียวกัน การเร่งขยายเส้นทางรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์มายังท่าอากาศยานดอนเมือง และการต่อแอร์พอร์ตลิงค์จากสุวรรณภูมิ ไปยัง จ.ระยองด้วย รวมทั้งเร่งเดินหน้ารถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูงที่อยู่ในความรับผิดชอบ

“สิ่งที่รถไฟแทบไม่ได้ทำเลยในช่วงที่ผ่านมา คือการซ่อมบำรุงขนาดใหญ่ ทำให้ระบบรางมีปัญหาหรือหัวรถจักรแทบจะไม่ได้ซื้อใหม่ ที่ใช้งานอยู่ก็มีอายุเยอะ บางหัว 30 ปี บางหัว 50 ปี และใช้งานหนักมากทำให้ต้องวิ่งไปซ่อมไปและเสียบ่อยครั้ง ส่งผลกระทบต่อการให้บริการที่ต้องล่าช้าเป็นประจำ และสิ่งที่ต้องมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง คือ การให้บริการที่มีประสิทธิภาพ”

นอกจากนี้ ยังต้องเร่งปรับปรุงการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว ทั้งการจัดหาหัวรถจักร ขบวนรถ แคร่บรรทุกสินค้าเพิ่ม รวมถึงการปรับการเดินรถให้เป็นระบบรางคู่เพื่อสะดวกในการสวนกัน เนื่องจากที่ผ่านมาต้องเสียเวลารอสับหลีกรางรถไฟ เรื่องความปลอดภัยเองก็สำคัญที่สุด หากรางไม่ดีก็ต้องใช้ความเร็วต่ำ ทำให้ปัจจุบันรถไฟใช้ความเร็วอยู่ที่ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในอนาคตก็อาจเห็นวิ่งได้ในความเร็ว 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็จะทำให้รถไฟวิ่งได้ตรงเวลา

0 ความคืบหน้าโครงสร้างพื้นฐาน 1.7 แสนล้านบาทเป็นอย่างไร

ส่วนความคืบหน้าโครงสร้างพื้นฐานในกรอบวงเงิน 1.7 แสนล้านบาท ระยะเวลา 7 ปี แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีความคืบหน้าในการเดินหน้าโครงการมากนัก แต่ปัจจุบันรัฐบาลได้มอบหมายให้รถไฟเร่งเดินหน้าโครงการลงทุนดังกล่าว หากเป็นไปได้ก็จะดำเนินการให้เสร็จภายใน 3 ปี เพราะรออีก 7 ปีคงไม่ทันการณ์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในปี 2558 ที่จะมีการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) หากไทยยังไม่เร่งพัฒนาระบบขนส่งทางรางอาจจะเสียโอกาสและเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านได้ หลังจากนี้จึงจะเร่งเปิดให้มีการประมูลและเซ็นสัญญาได้ภายในสิ้นเดือนธันวาคมนี้เพื่อลงมือก่อสร้างรางคู่ให้เร็วที่สุด ส่วนเรื่องเงินคงไม่มีปัญหา กระทรวงการคลังและรัฐบาลพร้อมจัดหามาให้อยู่แล้ว

“แต่ละโครงการจะใช้เวลาในการดำเนินการนาน เช่น การจัดซื้อหัวรถจักร โบกี้และแคร่รถสินค้า การปรับปรุงรางและระบบต่างๆ จึงกลายเป็นข้อเสียเปรียบของ ร.ฟ.ท. ซึ่งเห็นว่าหากไม่ได้เริ่มต้นก็จะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงแน่นอน สิ่งที่ต้องทำคู่ขนานไปกับการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่นการปรับปรุงบ้านพักพนักงานตามสถานีต่างๆ รวมถึงสถานีรถไฟทั่วประเทศมีสภาพทรุดโทรม ต้องปรับปรุงเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตพนักงานให้ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้พนักงานมีขัวญกำลังใจในการทำงานมากขึ้น” นายประภัสร์กล่าว

0 ในส่วนของงบลงทุนขณะนี้มีได้รับหรือยัง

“เราดูในส่วนของงบประมาณจะไปดูว่าอยู่ตรงไหน เงินทำไมไม่ออก ทั้งที่รัฐบาลอนุมัติแผนลงทุนกว่า 1.76 แสนล้านบาท แต่ละโครงการอยู่ในสถานะอะไร สัญญาก่อสร้างต่างๆ ถึงไหนแล้ว รวมถึงรถไฟทางคู่คืบหน้ามากน้อยยังไง สิ่งเหล่านี้จะต้องเข้าไปเร่งและสะสางแต่ที่ชัดๆ ที่จะทำคือ การให้บริการให้ตรงเวลา ไม่ตกราง ลดอุบัติเหตุ ถ้าทำตรงนี้ได้ทุกอย่างจะตามมาเอง ไม่ว่าจะเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้น เช่น ปรับปรุงรางรถไฟให้แข็งแรง มีหัวรถจักรและแคร่เพียงพอต่อการบริการ จะมีธุรกิจมาเป็นลูกค้าใช้บริการขนส่งทางรถไฟอีกมาก ปัจจุบันมีน้อยเพราะรางมีปัญหาตกรางบ่อย หัวรถจักรก็มีน้อย

ส่วนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตาม พ.ร.บ.เงินกู้ เพื่อการวางแผนอนาคตของประเทศวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ระยะ 7 ปีด้วย โดยในแผนงานดังกล่าวจะมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับขนส่งระบบรางประมาณ 65% โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง จากกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 3-4 แสนล้านบาท เส้นกรุงเทพฯ-หนองคาย ใช้เงินลงทุนประมาณ 2 แสนล้านบาท ยังมีเส้นกรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-หัวหินอีก รวม 4 เส้นทางน่าจะใช้เงินเกินครึ่ง หรือ 1 ล้านล้านบาทแล้ว ยังไม่รวมเส้นทางรถไฟรางคู่จากชุมพรไปถึงปาดังเบซาร์ของมาเลเซีย และจากเชียงใหม่ไปเชียงราย หรือเส้นทางอื่นๆ เพื่อขยายการให้บริการให้ครอบคลุมทุกจังหวัด

0 ปัญหาและอุปสรรคในการทำงานของการรถไฟมีอะไรบ้าง

การทำงานของรถไฟฯ มีปัญหาและอุปสรรคในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณพร้อม แต่งานไม่เดิน ก็ไม่อยากให้โทษที่คนหรือพนักงานของรถไฟ เพราะการทำงานขึ้นอยู่กับหลายส่วน โดยเฉพาะนโยบาย หากไม่มีความชัดเจนก็ทำให้งานไม่เดิน ก่อนหน้านี้ผมเองก็ไม่แน่ใจนโยบาย แต่มาตอนนี้มั่นใจว่ารัฐบาลผลักดันการพัฒนาและลงทุนระบบขนส่งทางราง 100% หลังจากนี้จึงน่าจะเป็นจุดเปลี่ยนของรถไฟและพลิกโฉมไปในทางที่ดีขึ้นเทียบกับก่อนหน้านี้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ไม่เคยพูดถึงการพัฒนาระบบขนส่งทางราง แต่เน้นการลงทุนสร้างถนนรองรับการลงทุนผลิตรถยนต์จากบริษัทญี่ปุ่นที่แห่เข้ามาลงทุนในไทยจำนวนมากแทน"

0 ในส่วนการก่อสร้างรถไฟฟ้ามีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง

สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ ร.ฟ.ท.ปรับกรอบวงเงินลงทุนด้านงานโยธาของโครงการฯ ของสัญญาที่ 2 เพิ่มเติมจากจำนวน 19,314 ล้านบาท เป็น 21,235.44 ล้านบาท หรือคิดเป็น 9% เนื่องจากวงเงินเดิมคำนวณราคาวัสดุตั้งแต่ปี 2552 นอกจากนี้ยังเห็นชอบให้ ร.ฟ.ท.เร่งดำเนินการโครงการดังกล่าวเพื่อนำไปสู่การก่อสร้างงานโยธาในสัญญาที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ส่วนการจัดหาวงเงินก่อสร้างนั้น ให้ ร.ฟ.ท.กู้เงินภายในประเทศ คาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาในเร็วๆ นี้

0 ด้านที่ดินของรถไฟจะมีการดำเนินการอย่างไร โดยเฉพาะการหารายในเชิงพาณิชย์

ส่วนการพัฒนาพื้นที่เพื่อหารายได้เชิงพาณิชย์ของ ร.ฟ.ท. ขณะนี้มีพื้นที่บริเวณมักกะสันกว่า 400 ไร่ โดยคาดว่าจะเปิดบริษัทเอกชนที่สนใจเข้าร่วมประมูลโครงการในรูปแบบของการนำเสนอแนวคิดว่าจะพัฒนาโครงการในรูปแบบไหน อย่างไร ซึ่งคล้ายกับที่สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ดำเนินการกับโครงการที่ดินบริเวณตลาดสามย่าน โดยจะเลือกบริษัทที่นำเสนอแนวคิดหรือรูปแบบที่ดีที่สุด คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ภายใน 1-2 เดือนนับจากนี้ ทั้งนี้การดำเนินการนั้นคาดว่าจะมีการพัฒนาพื้นที่ประมาณ 200 ไร่ ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องของระบบต่างๆ รวมทั้งพื้นที่สีเขียว แต่ในขณะเดียวกันก็จะเร่งดูในส่วนของพื้นที่อื่นๆ ที่เป็นของ ร.ฟ.ท.ด้วยเช่นกัน

“ก่อนหน้านี้ได้มีการศึกษาว่าจะพัฒนาเป็นคอมเพล็กซ์ มูลค่าประมาณ 100,000 ล้านบาท แบ่งพื้นที่การพัฒนาออกเป็น 4 โซน คือ
1.โครงการพื้นที่เชิงพาณิชย์
2.โครงการศูนย์จัดแสดงสินค้า
3.โครงการเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ และ
4.โครงการอาคารสำนักงานให้เช่า โรงแรม เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์
ส่วนรูปแบบการลงทุนในโครงการจะมีอยู่ 3 แนวทาง คือ
1.การเปิดพื้นที่ให้เอกชนรับสัมปทานเช่าเป็นระยะเวลา 34 ปี ซึ่งแนวทางนี้ อดีตผู้บริหาร ร.ฟ.ท.เห็นว่ามีข้อดี คือ ร.ฟ.ท.จะมีรายได้จากโครงการแน่นอน
2.เป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดย ร.ฟ.ท.เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งแนวทางนี้แม้จะให้ผลตอบแทนมากกว่าแนวทางแรก แต่ ร.ฟ.ท.ต้องมีความเสี่ยงร่วมกับผู้ลงทุน และแนวทางสุดท้าย คือ
3.การจัดตั้งบริษัทลูกของ ร.ฟ.ท.ขึ้นมาดำเนินการ”

ถือได้ว่าการเข้ามาบริหารองค์กรของการรถไฟฯ ที่ขณะนี้ต้องแบกรับภาระหนี้สินกว่า 7 หมื่นล้าน และยังมีโครงการที่ต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เดินหน้าได้เร็วขึ้น ก็ดูเหมือนว่า “ประภัสร์” ดูจะมุ่งมั่น จะเห็นได้เริ่มตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งก็เดินสายตรวจความพร้อมของการให้บริการตามภูมิภาคต่างๆ ล่าสุด นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ดูเหมือนจะไว้วางใจให้ทำงานอย่างเต็มที่ พร้อมกับพูดว่า “ผมไว้ใจพี่” แค่นี้ก็พอจะรู้แล้วว่าท่านผู้ว่าฯ เข้าตากรรมการแค่ไหน....
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42625
Location: NECTEC

PostPosted: 17/01/2013 8:27 pm    Post subject: Reply with quote

ชง พ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้าน รถไฟฯ ได้เค้กก้อนโต 8 แสนล้าน โยกส่วนต่อขยายสายสีเขียว-ส้ม ไปบัญชีสำรอง

เศรษฐกิจในประเทศ
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
17 มกราคม พ.ศ. 2556 เวลา 18:19:35 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากกรอบโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท เลื่อนการเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เนื่องจากกระทรวงคมนาคมยังพิจารณารายละเอียดไม่เรียบร้อย และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องการให้รับฟังความเห็นจากประชาชนด้วย แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะทำประชาพิจารณ์หรือไม่

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย ว่า เดิมนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว พร้อมด้วยรายละเอียดโครงการให้ ครม.เห็นชอบ วันที่ 15 ม.ค. แต่เกิดปัญหามีการรื้อโครงการใหม่จากคมนาคม จึงเปลี่ยนแผนจะเสนอเฉพาะร่างกฎหมายให้ ครม.เห็นชอบในหลักการก่อน จากนั้นส่งร่างให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบแล้วค่อยเสนอกลับเข้า ครม. พร้อมแนบรายละเอียดโครงการทั้งบัญชี 1 และบัญชี 2 วงเงินรวมกว่า 3 ล้านล้านบาทเข้าไปด้วย

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า กรอบวงเงินลงทุนตาม พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท แยกเป็น 2 บัญชี คือ

บัญชี 1 โครงการหลักที่มีความสำคัญสูงสุด เงินลงทุน 2 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดใหญ่ เพื่อรองรับกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)

บัญชีที่ 2 เป็นโครงการสำรองจะนำเงินส่วนที่เหลือจากบัญชีที่ 1 มาลงทุน หรือใช้เงินจากแหล่งเงินกู้อื่นลงทุนก่อสร้างแทน คาดว่าใช้เงินลงทุน 1.7 ล้านล้านบาท

ไฮสปีดเทรนถึงเชียงใหม่

เดิมคมนาคมกับคลังเห็นไม่ตรงกันเรื่องจัดสรรโครงการ เพราะบางโครงการเงินลงทุนเพิ่มขึ้นมาก และอยากให้บางโครงการเป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลหาเสียงไว้ เช่น รถไฟความเร็วสูง เดิมกระทรวงวางแผนโครงการไว้แค่ จ.พิษณุโลก แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ทำโครงการสร้างถึง จ.เชียงใหม่ โดยโยกเงินโครงการย้ายโรงงานมักกะสันของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มาใส่ในแผนลงทุนแทน

นอกจากนี้ได้ดึงรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต กลับเข้ามาใส่ใหม่ วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือใช้เงินกู้ขององค์การเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) จากเดิมตัดออก เนื่องจากได้เงินกู้เรียบร้อยแล้ว ส่วนทางอากาศตัดโครงการขยายสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 ให้ใช้เงินจากรายได้ของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) หรือเงินกู้อื่นแทน

ร.ฟ.ท.คว้าเค้กก้อนโต 8 แสน ล.

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับโครงการจัดอยู่ไว้ในบัญชี 1 วงเงินลงทุน 2 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย

1.แผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในระบบขนส่งของประเทศ วงเงินรวม 806,699 ล้านบาท เป็นแผนการลงทุนระยะเร่งด่วนของ ร.ฟ.ท. เช่น
1.1 งานเสริมความมั่นคงด้านโครงสร้าง 406 ล้านบาท
1.2 งานเปลี่ยนหรือเสริมความมั่นคงสะพานชำรุด 10,945 ล้านบาท
1.3 ติดตั้งเครื่องกั้นถนน 4,368 ล้านบาท
1.4 โครงการอาณัติสัญญาณไฟสี 11,358 ล้านบาท ฯลฯ

2. โครงการทางคู่ระยะแรก 4 สาย อาทิ
2.1 มาบกะเบา-นครราชสีมา 21,196 ล้านบาท ฯลฯ

3. ทางรถไฟสายใหม่ 3 สาย
3.1 เด่นชัย-เชียงของ 77,275 ล้านบาท
3.2 สายบ้านไผ่-นครพนม 42,106 ล้านบาท และ
3.3 สายบ้านภาชี-อ.นครหลวง 4,546 ล้านบาท (ท่าเรือซีพีแน่ๆ)

4. ทางคู่ระยะที่ 2 มี 2 สาย คือ
4.1 สายหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ 9,555 ล้านบาท และ
4.2 สายชุมพร-สุราษฎร์ธานี 17,640 ล้านบาท

5. ทางคู่ระยะที่ 3
5.1 สายสุราษฎร์ธานี-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 339 กิโลเมตร 35,700 ล้านบาท

6. โครงการรถไฟความเร็วสูง เฟสแรก 4 สาย วงเงินรวม 753,105 ล้านบาท และ

7. โครงการก่อสร้างโรงรถจักรแก่งคอย 1,000 ล้านบาท

โยกสายสีเขียว-สีส้มไปบัญชี 2

2.โครงการโครงสร้างพื้นฐานในกรุงเทพฯและปริมณฑล มีรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) วงเงินรวม 372,064 ล้านบาท แต่จะตัดส่วนต่อขยายสายสีเขียว (สมุทรปราการ-บางปู) 13,344 ล้านบาท สายสีเขียว (คูคต-ลำลูกกา) และสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม) สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ไปอยู่บัญชี 2

โครงการสายสีแดงของ ร.ฟ.ท. วงเงินรวม 145,538 ล้านบาท โครงการอู่จอดรถโดยสาร NGV ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 963 ล้านบาท ส่วนจัดซื้อรถเมล์ 3,183 คัน กว่า 10,000 ล้านบาท ใช้เงินกู้แหล่งอื่น
....


ลุยท่าเรือปากบารา-สงขลา-ชุมพร

กรมเจ้าท่า (จท.) วงเงิน 30,277 ล้านบาท มีก่อสร้างท่าเรือที่ จ.ชุมพร 1,713 ล้านบาท ท่าเรือน้ำลึกสงขลา แห่งที่ 2 วงเงิน 3,613 ล้านบาท เขื่อนป้องกันตลิ่งพังและขุดลอกร่องน้ำในแม่น้ำป่าสัก 11,837 ล้านบาท ท่าเรือน้ำลึกเพื่อการประหยัดพลังงาน จ.อ่างทอง 1,325 ล้านบาท และท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล ระยะที่ 1 วงเงิน 11,786 ล้านบาท และกรมการบินพลเรือนมีโครงการสร้างสนามบินที่ อ.แม่สอด จ.ตาก วงเงิน 862 ล้านบาท
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42625
Location: NECTEC

PostPosted: 18/01/2013 11:33 am    Post subject: Reply with quote

ฉึกฉัก.. หลงรักอีสาน


Life Style : ท่องเที่ยว
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่ 18 มกราคม 2556 09:00

นักเดินทางหลายคนหลงใหลไปกับการเดินทางโดยรถไฟมากกว่าการเดินทางแบบอื่นๆ ยิ่งไปพร้อมกับก๊วนเพื่อนๆ ด้วยแล้วความสนุกยิ่งเพิ่มทวีคูณ

นอกเหนือจากนั้นการที่ได้นั่งชมวิวข้างทางในโบกี้รถไฟแบบชิลชิล ก็ยังทำให้ได้สัมผัสเสน่ห์ของการท่องเที่ยวตั้งแต่ก้าวแรกที่เริ่มออกเดินทาง

ใครที่ยังไม่เคยไปเที่ยวโดยรถไฟมาก่อน แนะนำให้ลองสัมผัสประสบการณ์ความสนุกนี้ไปกับโครงการ ปู๊นๆ ฉึกฉัก หลงรักอีสาน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟม.) พันธมิตรภาคเอกชน และ สมาคมผู้ประกาอบการนำเที่ยวไทย (สนท.) ได้ร่วมกันนำเสนอเส้นทางการเดินทางท่องเที่ยวทางรถไฟ เพื่อนำนักท่องเที่ยวไปเที่ยวมุมมองใหม่ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในโครงการนี้ประกอบไปด้วยกิจกรรมสุดประทับใจที่จะทำให้นักท่องเที่ยวหลงรักอีสานไปอีกนาน อาทิ ชมงานวิวาห์โรแมนติกท่ามกลางบัวนับล้านดอก ชมความอลังการของธรรมชาติสามพันโบกกลางลำน้ำโขง ท่องเที่ยวเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านลุ่มแม่น้ำโขง เปิดเส้นทางสู่ AEC ในบรรยากาศหลากหลายฤดูกาลจากหนาวสู่ฝน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - สิงหาคม 2556 โดยจัดเส้นทางท่องเที่ยว 2 เส้นทางท่องเที่ยวพิเศษ ได้แก่

เส้นทางที่ 1 นุ่งซิ่น เยือนถิ่นริมโขง ใส่บาตรข้าวเหนียว พาเที่ยวเชียงคาน เป็นเส้นทางที่นักท่องเที่ยวจะได้มีโอกาสเข้าร่วมงานวิวาห์ล้านบัว ชมทะเลบัวแดง ยลแสงตะวันยามเย็นที่แก่งคุดคู้ ทอดน่องบนถนนคนเดินที่เชียงคาน ใส่บาตรข้าวเหนียว เที่ยววัดศรีคุณเมือง เลาะเลียบริมโขงสู่หนองคาย ไหว้พระใส ณ วัดโพธิ์ชัย แวะตลาดท่าเสด็จ ออกเดินทางวันที่ 7 - 11 กุมภาพันธ์ 2556 (กรุงเทพฯ เวียงจันทน์ อุดรธานี เลย หนองคาย)

ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวในแต่ละวันมีรายละเอียด ดังนี้ เริ่มจากวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556 จะได้แวะเที่ยวที่นครเวียงจันทน์ และเข้าชมงานเที่ยวไทย 5 ภาค (ค้างคืนอุดรธานี) ถัดมาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2556 เดินทางสู่ทะเลบัวแดง ร่วมงานวิวาห์ล้านบัว จากนั้นมุ่งสู่แก่งคุดคู้ และเดินเที่ยวบนถนนคนเดิน (ค้างคืนเชียงคาน) ส่วนวันสุดท้าย วันที่10 กุมภาพันธ์ 2556 นักท่องเที่ยวจะได้ใส่บาตรข้าวเหนียวในตอนเช้า จากนั้นเดินทางสู่วัดศรีคุณเมืองเพื่อไหว้พระเพื่อความเป็นสิริมงคล จากนั้นเดินทางเลาะเลียบริมโขงสู่หนองคายเพื่อไหว้พระใส ณ วัดโพธิ์ชัย และเดินเที่ยวชมและช้อป ณ ตลาดท่าเสด็จ หากสนใจเส้นทางนี้ สามารถซื้อแพ็คเกจท่องเที่ยวได้ในราคาเริ่มต้นที่ 7,390 บาท

เส้นทางที่ 2 เที่ยวอุบล ยลสามพันโบก นักท่องเที่ยวจะได้เดินทางสู่สามพันโบก อุทยานแห่งชาติผาแต้ม วัดถ้ำคูหาสวรรค์ โขงเจียม เยือนลาวใต้ จำปาสัก มหานทีสี่พันดอน (น้ำตกคอนพะเพ็ง) แวะตลาดช่องเม็ก นั่งสามล้อชมเมืองและไหว้พระประจำปีเกิด ณ วัดหนองบัว ออกเดินทางวันที่ 5 - 9 เมษายน 2556 (กรุงเทพฯ จำปาสัก อุบลราชธานี)

สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวในแต่ละวัน เริ่มจาก วันที่ 6 เมษายน 2556 ออกเดินทางสู่สามพันโบกเป็นจุดแรก จากนั้นมุ่งหน้าสู่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม แล้วแวะชมวัดถ้ำคูหาสวรรค์ (ค้างคืนโขงเจียม) ต่อมาในวันที่ 7 เมษายน 2556 มุ่งหน้าสู่จำปาสัก จากนั้นเดินทางต่อไปที่มหานทีสี่พันดอน (น้ำตกคอนพะเพ็ง) และชอปปิงที่ตลาดช่องเม็ก (ค้างคืนในตัวเมืองอุบลราชธานี) ส่วนวันสุดท้ายวันที่ 8 เมษายน 2556 นักท่องเที่ยวจะได้นั่งสามล้อชมเมือง เพื่อซอกแซกตรอกซอยชิมของอร่อยเมืองดอกบัว จากนั้นเดินทางไปไหว้พระประจำปีเกิด (ปีมะเส็ง) ณ วัดหนองบัว หากสนใจเส้นทางนี้ สามารถซื้อแพ็คเกจท่องเที่ยวได้ในราคาเริ่มต้นที่ 7,990 บาท

ทั้งหมดนี้คือเส้นทางที่จะทำให้คนรักการเดินทางได้เปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวใหม่ๆ ทั้งยังได้เพลิดเพลินกับแหล่งท่องเที่ยวในภาคอีสานที่มีสีสันและบรรยากาศของความสนุกสนาน ได้ลิ้มลองอาหารรสแซ่บ ได้รับความอิ่มเอมใจไปกับการนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในแต่ละเส้นทาง เพื่อความเป็นสิริมงคลของตนเองและครอบครัว

สนใจติดต่อซื้อแพ็คเกจทัวร์หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวไทย (สนท.) โทร 0 2919 0639 - 40, 08 1263 2919, TATCallCenter 1672 และสายด่วนรถไฟ 1690 หรือ www.go2isan.com
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44331
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 23/01/2013 1:51 pm    Post subject: Reply with quote

ครม.สัญจรทุ่ม 5.2 หมื่นล.-111โครงการ
วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 22 ฉบับที่ 8091 ข่าวสดรายวัน

การประชุมครม.สัญจร ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ 21 ม.ค. มีมติอนุมัติงบประมาณ 5.2 หมื่นล้านบาท เพื่อพัฒนา 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 รวม 111 โครงการ
...
...
3.โครงการศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างทางรถไฟสายจัตุรัส ชัยภูมิ-เลย-หนองบัวลำภู หรือลำนารายณ์-เพชรบูรณ์-เลย-หนองบัว ลำภู 35 ล้านบาท
...
...
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
suraphat
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 12/02/2007
Posts: 1117
Location: ดินแดง ห้วยขวาง

PostPosted: 29/01/2013 4:43 pm    Post subject: Reply with quote

ขอออกนอกเรื่องหน่อยนะครับ ข่าวชิ้นนี้เป็นการนำเสนอความเห็นเล็กๆของน้องเฟิร์ส ธนศักดิ์ หรือน้อง KENSHIRO ของพวกเรานะครับ

'เฟิร์ส'เด็กหนุ่มผู้หลงใหลรถไฟ กดชัตเตอร์บันทึกเรื่องราวผ่านมุมมอง

Click on the image for full size

Click on the image for full size

Click on the image for full size

Click on the image for full size

Click on the image for full size

จากหนังสือเรียนวิชาภาษาไทยฉบับประถมศึกษา สมัยที่เรายังเด็กๆ ใครหลายคนต้องเคยผ่านเรื่องราวของ2พี่น้อง "แก้วกับกล้า" ที่มีคุณตาพามาดูรถไฟ ทำให้เด็กๆจึงชอบการมาดูรถไฟที่แล่นขบวนผ่านหน้า มีลมแตะผิวแก้มเบาๆ ความไวของล้อรถไฟและเสียง "ฉึกฉัก" ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ว่าถ้าได้ยินเสียงนี้ต้องเป็นเขตที่อยู่ใกล้รถไฟอยางแน่นอน

นายธนศักดิ์ มาศประสิทธิ์ หรือ "เฟิร์ส" อีกหนึ่งเด็กหนุ่มที่หลงใหลรถไฟ ทำให้เขาชอบถ่ายภาพรถไฟในมุมต่างๆ และยังถือว่าเป็นผู้บันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่ใครหลายคนอาจจะไม่รู้เลยว่าต่อไปภาพที่เฟิร์สถ่ายจะกลายเป็นบันทึกอีกบันทึกของหลักฐานประวัติศาสตร์ของเมืองก็เป็นได้

"เฟิร์ส" เผยว่า ตอนนี้เรียนอยู่ปี 3 สาขาภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินท์ จุดเริ่มต้นของการชอบถ่ายภาพรถไฟ เนื่องมาจากตอนเด็กๆตั้งแต่ยังจำความไม่ได้ ป้าจะเป็นคนชอบพาไปดูรถไฟ เราก็วิ่งไปดูรถไฟตลอด ทำให้เราเป็นคนชอบรถไฟมาตั้งแต่นั้น จนพอโตขึ้นมานั้นยังมีความสนใจในเรื่องของรถไฟอยู่เหมือนเดิม จนได้เข้าไปดูเวบไซต์รถไฟไทยดอทคอม ทำให้มีพวกพี่ๆเขาได้ถ่ายภาพรถไฟจำนวนมากและสวย เราจึงเกิดความอยากถ่ายบ้าง โดยครั้งแรกเริ่มถ่ายด้วยกล้องคอมแพ็คดิจิตอลธรรมดา จนฝึกฝนการถ่ายภาพเทคนิคต่างๆมาเรื่อยๆ จนเราอยากได้กล้องดีเอสแอลอาร์(DSLR) จึงเก็บตังค์ซื้อ เพราะกล้องพวกนี้ประสิทธิภาพมันดีกว่ากล้องที่เราเคยถ่าย และกาจับภาพหรือโฟกัสภาพจะดีกว่ามาก จึงเปลี่ยนกล้องมาเล่นพวกดีเอสแอลอาร์(DSLR)

ในการฝึกฝนการถ่ายภาพนั้น โดยการฝึกหัดมองมุมของคนอื่นๆที่เขาถ่ายภาพ ซึ่งเราเริ่มฝึกเองทั้งหมด ตนเองก็ไม่ได้เรียนทางด้านถ่ายภาพมา จึงต้องฝึกฝนเอง ซึ่งการถ่ายภาพขนวบรถไฟนั้นเป็นการดักถ่ายภาพ รถไฟก็วิ่งของมันปกติ เราก็ไปดักถ่ายตามจุดต่างๆ

ในวันที่มีการเคลื่อนย้ายหัวรถจักรโบราณของหาดใหญ่ ก็ได้ไปถ่ายด้วยโดยมีพี่ๆเจ้าหน้าที่ของสถานีชุมทางรถไฟหาดใหญ่ได้โทรมาติดต่อเรา ทำให้ได้มีโอกาสไปบันทึกประวัติศาสตร์หัวรถจักรโบราณครั้งนี้ด้วย จากประวัติของหัวรถจักรโบราณนี้น่าสนใจมาก และลึกลับมาก มันไม่มีการบันทึกที่ไหนเลยว่ามันใช้ทำอะไร เป็นรถขนฟืนที่ไม่ได้มีการรับส่งคน เพราะขนาดรางยังไม่ถึง 1เมตร ซึ่งของไทยใช้ 1เมตร ทำให้เราเองก็เป็นผู้บันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยหนึ่งคน

"เทคนิคของการถ่ายภาพให้ได้สวยและให้ได้ดีนั้น มันขึ้นอยู่กับแสงเราอย่าถ่ายย้อนแสง เพื่อให้เห็นแสงที่กระทบหน้ารถทั้งด้านหน้าและด้านข้าง ทำให้เห็นรถไฟเต็มขบวน ก่อนถ่ายก็ต้องลองมุมต่างๆทำให้ค่อนข้างตัดสินใจมากพอสมควรในการถ่ายแต่ละครั้ง"

การถ่ายภาพแต่ละครั้งนั้นเป็นการที่เราเรียนรู้จากประสบการณ์คนอื่นๆ หรือรุ่นพี่ที่รู้จัก ซึ่งพี่ที่รู้จักเป็นพี่ๆที่เขาถ่ายภาพและพูดคุยคุยกันทางเวบไซต์หรือสมัยที่ยังคุยในช่องทางเอ็มเอสเอ็น(MSN) โดยการเริ่มต้นถ่ายภาพรถไฟนั้นเริ่มตั้งแต่สมัยม.5ปลายๆ จนตอนนี้เรียนปี3ถ่ายมา

4 - 5ปีแล้ว จึงถือว่าการถ่ายภาพรถไฟนั้นเป็นสไตล์ของเราไปแล้ว และมุมมองการถ่ายทอดที่เราอยากจะให้คนดูภาพนั้นเห็นอะไรจากภาพ เหตุผลที่ถ่ายรถไฟนั้นรถไฟมันมีมุมสวยๆจึงอยากถ่ายเก็บเอาไว้ โดยก่อนหน้านี้มีการออกทริปไปถ่ายรถไฟกันยังต่างจังหวัดเป็นหมู่คณะ มีหลายอาชีพที่เข้ามาอยู่ในกลุ่ม ผู้พิพากษายังมีเลย

"การที่ตนเองไม่ได้เรียนทางด้านถ่ายภาพมานั้น ทำให้ต้องเก็บประสบการณ์จากคนอื่นมา ดูภาพผลงาน ใส่ความเป็นตัวเอง จินตนาการ มุมมองของตัวเอง"

จุดด้อยของตัวเองในเรื่องของการถ่ายภาพนั้น จากที่กล่าวมาตนเองก็ไม่ได้เรียนถ่ายภาพโดยตรง ซึ่งเรียนทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ทำให้เราขาดมุมมองศิลปะไป เพราะตนเองเรียนในด้านที่เป็นกฎเกณฑ์ และในกรอบเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เรายังต้องพยายามหาสิ่งที่อยู่นอกกรอบให้มากกว่านี้ และตนเองก็ค่อนข้างเรียนหนักทำให้ไม่มีเวลาในการฝึกฝนมากว่านี้ ทำให้เราต้องขอความเห็นจากคนอื่นบ้าง เราสักแต่ถ่ายเดิมๆจึงไม่รู้ว่าการพัฒนาของเราต้องเป็นอย่างไร ในหาดใหญ่เองพอจะรู้จักกับกลุ่มถ่ายภาพบ้าง แต่จะมีน้อยในกลุ่มคนที่ถ่ายแต่ "รถไฟ"

ตอนนี้เราต้องหามุมมองใหม่ๆเรื่อยๆ แล้วแต่โอกาส และก่อนจะออกไปถ่ายก็ต้องเช็คอะไรหลายๆอย่าง สภาพอากาศต่างๆ ถ้าสภาพอากาศไม่ดี เมฆฝนมากก็ไม่ได้ออกไปถ่าย โดยการถ่ายจะอาทิตย์ละ1ครั้ง แต่ถ้าอยู่ในช่วงสอบก็จะไม่ไปเลย ตนเองก็เรียนหนักพอสมควร จึงไม่มีเวลาเยอะที่จะออกไปถ่าย หรือช่วงปิดเทอมก็จะเป็นการออกทริปไปถ่ายตามต่างจังหวัด

สิ่งที่เราได้จากการถ่ายภาพจากการถ่ายรถไฟนั้น ทำให้เราได้ถ่ายทอดจินตนาการของตนเอง มุมมองของเราให้คนอื่นได้ดู และไม่ได้คิดไปถึงว่าต่อไปจะเป็นช่างภาพ เพราะแค่อยากถ่ายเป็นงานอดิเรก และเก็บผลงานเอาไว้ และคิดว่าการที่ได้ถ่ายภาพรถไฟในมุมต่างๆนั้น หรือรถไฟแต่ละประเภท ต่อไปอาจจะไม่มีอีกแล้วก็ได้ แต่จำไว้ว่าเราเองเคยบันทึกมัน

สำหรับน้องๆที่เพิ่งเริ่มถ่ายภาพนั้น อยากให้เห็นว่าอุปกรณ์ที่แพงก็ไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญ มันขึ้นอยู่กับตัวเองเราเอง มุมมอง ประสบการณ์เรียนรู้จากผู้อื่น บางคนกล้องไม่ได้มีคุณภาพดีอะไรมาก แต่ทำให้เราต้องหยุดดูภาพของเขา ไม่ควรจะหาอุปกรณ์ที่เกินกำลังของตัวเอง

อนาคตต่อไปนั้นก็คงต้องเดินตามแนวทางที่ตนเองเรียนมา แต่หวังอยู่ลึกๆว่าจะได้ใกล้ชิดกับรถไฟบ้าง เพราะอยากทำงานที่เกี่ยวกับรถไฟ ซึ่งการถ่ายภาพรถไฟนั้นก็ต้องศึกษารุ่นของรถไฟแต่ละประเภท ศึกษาองค์ประกอบต่างๆของรถไฟ มันจึงทำให้เราอยากถ่ายรถไฟเก็บไว้มากยิ่งขึ้น ถ้าตนเองย้อนเวลาไปได้จะถ่ายพวกรถไฟดีเซลรุ่นเก่าๆ และพยายามติดตามข้อมูลรถไฟจากเวบไซต์ต่างๆ ศึกษาประวัติศาสตร์ของรถ เส้นทางของรถ


อยากฝากสำหรับน้องๆมือใหม่ที่อยากลองถ่ายภาพ ต้องเริ่มจากตัวเองก่อนว่าอยากถ่ายทอดอะไร มุมมองการถ่ายภาพ ศึกษาจากผู้อื่น อุปกรณ์ที่แพงไม่จำเป็น ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวเอง สนใจถ่ายอะไรก็ต้องรู้จักศึกษาข้อมูลสิ่งนั้นให้มากขึ้น
Back to top
View user's profile Send private message Send e-mail
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 189, 190, 191 ... 471, 472, 473  Next
Page 190 of 473

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©