RailServe.Com

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Ads Service

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311235
ทั่วไป:13181310
ทั้งหมด:13492545
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าวเกี่ยวกับ "ที่ดิน" ของ "รฟท."
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ข่าวเกี่ยวกับ "ที่ดิน" ของ "รฟท."
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 109, 110, 111 ... 197, 198, 199  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44332
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 02/02/2015 6:50 am    Post subject: Reply with quote

เปิดขุมทรัพย์ที่ดิน 1,000 ไร่ รฟท.เอามาพัฒนาล้างหนี้จะดีหรือ
เดลินิวส์ วันจันทร์ 2 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 06:00 น.

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2558 ที่เพิ่งผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้ประชุม “ซูเปอร์บอร์ด” เพื่อฟื้นฟูการรถไฟแก้ปัญหาขาดทุน

Click on the image for full size

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2558 ที่เพิ่งผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้ประชุม “ซูเปอร์บอร์ด” เพื่อฟื้นฟูการรถไฟแก้ปัญหาขาดทุน ปรากฏว่าที่ประชุมเสนอให้นำเอาที่ดินทำเลทองของการรถไฟ 3 แปลงประกอบด้วย ที่ดินย่านมักกะสัน ที่ดินบริเวณกิโลเมตรที่ 11 และที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ 800 กว่าไร่ มาให้กระทรวงการคลังบริหารจัดการเพื่อสร้างรายได้แลกกับหนี้สินประมาณ 80,000 ล้านบาท

ข้อนี้ผมไม่แน่ใจว่า “ซูเปอร์บอด” เอ๊ย “ซูเปอร์บอร์ด” คิดผิดหรือคิดถูก

1. การล้างหนี้นี้แล้วจะมีหลักประกันอะไรว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยจะไม่ก่อหนี้สินเพิ่มพูนอีก

2. ปัญหาหลักคงอยู่ที่การบริหารองค์กรการวางแผนพัฒนางานในอนาคตและการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตหรือไม่

3. การโอนที่รถไฟไปเป็นการ “เตะหมูเข้าปากหมา” หรือไม่กระทรวงการคลังมีความสามารถในการบริหารงานได้ดีกว่าจริงหรือไม่

4. ที่ดิน 800 กว่าไร่ สำหรับเงิน 80,000 ล้านบาทนั้น ก็เท่ากับการตีราคาที่ดินตารางวาละ 200,000 บาทเศษ คุ้มค่าหรือไม่ได้ประเมินค่าทรัพย์สินกันหรือยัง

อย่างไรก็ตามที่ดินใจกลางเมืองที่หน่วยงานต่าง ๆ ไม่ได้ใช้สมควรเอามาพัฒนาในเชิงพาณิชย์เพื่อเอาเงินเข้าหลวงมาพัฒนาประเทศจะปล่อยทิ้งไว้เฉย ๆ ไม่ได้

ราคาที่ดินเบื้องต้น

สำหรับราคาที่ดินที่ควรจะเป็นนั้นผมประเมินไว้เบื้องต้นตามนี้

1. กรณีมักกะสันคอมเพล็กซ์ 400 ไร่ ไร่ละ 134.4 ล้านบาท รวม 53,760 ล้านบาท

2. พื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ กม. 11 พื้นที่ 400 ไร่ไร่ละ 60 ล้านบาท รวม 24,000 ล้านบาท

3. สถานีแม่น้ำอีก 260 ไร่ ไร่ละ 100 ล้านบาท รวม 26,000 ล้านบาท

รวมทั้ง 3 แปลงรวมกว่า 1,000ไร่ ก็เป็นเงินประมาณ 103,760 ล้านบาทเข้าไปแล้ว การที่รัฐบาลจะเอาที่ดินไปเป็นเงินเพียง 80,000 ล้านบาท จึงอาจต่ำเกินไปก็ได้

อันที่จริงการแก้ปัญหาการขาดทุนของการรถไฟแห่งประเทศ ไทยไม่สมควรจะแก้ไขโดยการหากำไรจากทางอื่นมาโปะเพื่อตัดหรือลดการขาดทุน การขาดทุนเกิดขึ้นจากการทุจริตการบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพ การตัดการขาดทุนด้วยวิธีนี้ก็เท่ากับเป็นการรักษาไว้ซึ่งระบบการทุจริตหรือไม่ได้แก้ไขปัญหาทุจริต อย่างไรก็ตามก็สมควรนำรายได้ส่วนนี้มาพัฒนาคุณภาพบริการและขยายกิจการให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

กรณีมักกะสัน

อย่างกรณีที่ โรงซ่อมรถไฟมักกะสันนี้มีขนาดเกือบ 400 ไร่เป็นโรงซ่อมมานานและพื้นที่ส่วนมากถูกปล่อยรกร้างว่างเปล่ามานานจนครั้งหนึ่งเคยมีผู้พบเห็นและสามารถจับเสือที่แอบซ่อนอยู่ในพื้นที่นี้ได้ แสดงว่าพื้นที่นี้ไม่ได้ใช้ประโยชน์มากเท่าที่ควร จนต่อมาได้มีการก่อสร้างทางด่วนและถนนเข้าไปในพื้นที่บางส่วนทางด้านข้างอย่างไรก็ตามในปัจจุบันนับเป็นทำเลทองสำคัญเพราะด้านทิศเหนือติดกับทางด่วน ด้านทิศตะวันออกติดกับรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (รถไฟฟ้า MRT) และทางด้านทิศใต้ติดกับรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Suvarnabhumi Airport Rail Link,Airport Rail Link)

การรถไฟแห่งประเทศไทยมีแนวคิดที่จะนำที่ดินแปลงนี้มาจัดประโยชน์ในเชิงธุรกิจแต่ก็ถูกคัดค้านอย่างหนักจากกลุ่มนักอนุรักษ์นักรักพื้นที่สีเขียว ฯลฯ เป็นจำนวนมาก ในที่นี้ผมจึงเสนอทางออกให้นำที่ดินแปลงนี้มาพัฒนาในเชิงพาณิชย์ไม่ว่าจะเป็นอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า หอประชุม-สัมมนาโรงแรม ที่พักอาศัยให้เช่าระยะยาว ฯลฯ โดยใช้พื้นที่เพียง 60% ของที่ดินทั้งหมด (240 ไร่ จากประมาณ 400 ไร่)

พื้นที่ส่วนที่เหลือนอกจากเป็นถนนและสาธารณูปโภคต่าง ๆ แล้ว ยังอาจเป็นสวนสาธารณะรอบ ๆ พื้นที่ก่อสร้างอาคารเพื่อเพิ่มมูลค่าของที่ดินและควรประสานกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยและรถไฟฟ้าทั้งสองสายเพื่อเชื่อมสถานีตลอดจนการจัดทำรถไฟฟ้ามวลเบา (Light Rail/ Monorail) วิ่งอยู่ภายในโครงการเพื่อลดปัญหามลพิษอีกด้วย หากจัดการให้ดี ราคาที่ดินที่คาดว่าจะได้รับเป็นเงินไร่ละ 224 ล้านบาท หรือ 70% ของราคาตลาดก็อาจได้รับมูลค่าสูงกว่านี้ ทำให้โครงการมีความเป็นไปได้ทางการเงินมากกว่านี้เสียอีก

การรถไฟฯ เคยมีดำริหรือต่อไปอาจเป็นกระทรวงการคลังอาจมีดำริให้เอกชนรายเดียวประมูลที่ดินแปลงใหญ่ไปพัฒนา แต่ในความเป็นจริงไม่พึงให้เอกชนรายใดรายหนึ่งประมูลไปทำแบบเหมาเข่ง ควรจัดสรรแปลงที่ดินตามแผนแม่บทให้เรียบร้อยแล้วแยกประมูลเป็นแปลงย่อยไป และควรทำสัญญาให้รัดกุมหากเอกชนรายใดไม่สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จตามกำหนดก็สามารถเปลี่ยนรายใหม่ได้โดยไม่กลายเป็นปัญหาเช่นที่เคยเกิดขึ้นแล้วในกรณีโครงการโฮปเวลล์ เป็นต้น

และโดยที่การรถไฟแห่งประเทศไทยไม่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาที่ดินหรือแม้แต่หน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจอื่นใดที่ครอบครองที่ดินอยู่แล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ควรคืนหลวง ให้กรมธนารักษ์โดยบริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์เป็นผู้ดำเนินการ โดยยกระดับหน่วยงานนี้ให้เป็นหน่วยงานที่ชำนาญการพัฒนาที่ดินเช่นเดียวกับ Urban Redevelopment Authority ของประเทศสิงคโปร์ รัฐบาลพึงนำรายได้ที่ได้จากการนี้มาพัฒนาประเทศโดยรวมจึงจะเหมาะสมกับที่ดินแปลงนี้เป็นสมบัติของประชาชนทั้งประเทศ อย่างไรก็ตามบางท่านอาจเกรงว่ารัฐบาลที่ขึ้นมาบริหารประเทศ (ไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองใดก็ตาม) จะโกง กรณีการโกงหน่วยงานที่ตรวจสอบหรือคณะบุคคลที่อาสาตรวจสอบก็ต้องตรวจสอบเป็นเรื่อง ๆ ไป แบบ “กัดไม่ปล่อย” จะอ้างเอาการทุจริตขึ้นมาเพื่อจะได้ไม่ต้องทำอะไรประเทศก็ไม่พัฒนา แล้วปล่อยให้เกิดการ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” จากทรัพยากรของประเทศโดยรวมก็ย่อมไม่ได้

ที่ดินคลองเตย

ครั้งหนึ่งรัฐบาลไทยมีดำริที่จะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานเวิลด์เอ็กซ์โปในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) นั้นนับเป็นวิสัยทัศน์ที่ดีต่อประเทศไทยเพราะการจัดงานขนาดใหญ่จะสามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมได้เป็นอย่างดีแต่ก็ล้มเลิกไปแล้ว

ในเบื้องต้นทางราชการได้พยายามศึกษาที่ตั้งของงานเวิลด์เอ็กซ์โปเป็นในจังหวัดภูมิภาค เช่น พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี ภูเก็ตเพชรบุรี เชียงใหม่ และจันทบุรี ผมได้ไปดูสถานที่ทำเอ็กซ์โปในหลายประเทศจึงเสนอแนวคิดต่อที่ตั้งการจัดงานโดยเสนอให้จัดงานในเขตกรุงเทพมหานครแทนที่จะเป็นในจังหวัดภูมิภาคทั้งนี้เช่นเดียวกับนครเซี่ยงไฮ้ที่จัดงานในเขตใจกลางเมือง ไม่ใช่ในเขตชานเมืองหรือในจังหวัดห่างไกลเพราะเมื่อหมดงานแล้วพื้นที่เหล่านี้ก็คงปล่อยร้างไว้หรือใช้ประโยชน์ไม่ได้เต็มที่ นอกจากนี้ยังต้องลงทุนทางด้านสาธารณูปโภคภายนอกหรือ Off-siteinfrastructure เป็นการสิ้นเปลืองมหาศาล

อย่างใน พื้นที่คลองเตยนี้การรถไฟฯ ก็มีที่ดินอยู่รวมทั้งที่ดินของการท่าเรือด้วยก็ได้ซึ่งมีอยู่ขนาดใหญ่รวมกันเป็นพื้นที่ 4.72 ตารางกิโลเมตรหรือ 2,950 ไร่ พื้นที่ส่วนนี้สามารถนำมาสร้างศูนย์กลางธุรกิจใจกลางเมือง การจัดสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับคนที่ทำงานในใจกลางเมืองทั้งระดับผู้มีรายได้น้อย รายได้ปานกลางและรายได้สูง โดยดำเนินการพัฒนาเป็นอาคารสูงเพื่อการประหยัดการใช้ที่ดินให้กับลูกหลานในอนาคต และการพัฒนาที่ดินใจกลางเมืองยังจะช่วยในการประหยัดต้นทุนการเดินทางขนส่งต่าง ๆ ยิ่งหากจัดสภาพแวดล้อมที่ดีด้วยแล้ว

หากมีการวางแผนการใช้ที่ดินที่ดียิ่งจะทำให้รู้สึกโปร่งสบายในการอยู่อาศัยเช่นเดียวกับกรณีของสิงคโปร์ที่มีความหนาแน่นของประชากร 10,000 คนต่อตารางกิโลเมตร ยังรู้สึกไม่หนาแน่นเท่ากับกรุงเทพมหานครที่มีความหนาแน่นของประชากรเพียง 4,000 คนต่อตารางกิโลเมตร และการจัดระบบขนส่งมวลชนที่ดีด้วยก็จะทำให้กรุงเทพมหานครสามารถทำหน้าที่ของการเป็นเมืองศูนย์กลางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของทั่วประเทศอีกด้วย

คิดจะทำอะไรก็ต้องคิดเพื่อชาติและโปร่งใสตรวจสอบได้นะครับ ทองแท้ย่อมไม่กลัวไฟต้องกล้าคิดกล้าทำกล้ารับผิดชอบเพื่อชาตินะครับ.
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42625
Location: NECTEC

PostPosted: 03/02/2015 11:38 pm    Post subject: Reply with quote

ร.ฟ.ท.-ปตท.ได้ข้อยุติเช่าที่ดิน สนง.ใหญ่

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. กล่าวถึงความคืบหน้าการเจรจากับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ในการเช่าที่ดินรถไฟว่า ในการประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท.เมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบการเจรจาต่อรองกับบริษัท ปตท. กรณีเช่าที่ดินของ ร.ฟ.ท.บริเวณสำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดี-รังสิต โดย ร.ฟ.ท.ตกลงต่ออายุสัญญาเช่าที่ดินให้ ปตท.อีก 30 ปี ขณะที่ ปตท.จะจ่ายเป็นเงินสด 800 ล้านบาท พร้อมดำเนินการสร้างที่อยู่อาศัยแนวตั้ง 17 ชั้น ย่านตึกแดง บางซื่อ ให้พนักงาน ร.ฟ.ท.พักอาศัยโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย วงเงินประมาณ 400-500 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ ปตท.ได้ทำการปรับปรุงอาคารที่พักอาศัยให้พนักงาน ร.ฟ.ท. บริเวณนิคมการรถไฟฯ กม.11 วงเงิน 150 ล้านบาท รวมแล้ว ปตท. จ่ายค่าเช่าที่ดินให้ ร.ฟ.ท.เป็นมูลค่ากว่า 1,400 ล้านบาท จากที่ ร.ฟ.ท.เคยเรียกค่าเช่าตลอดอายุสัญญา 30 ปีที่ 1,792 ล้านบาท
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42625
Location: NECTEC

PostPosted: 04/02/2015 9:21 pm    Post subject: Reply with quote

เบื้องหลัง "คลัง" ฮุบที่ดินรถไฟ "1+2 แปลง" เช่ายาว 100 ปีแลกหนี้แสนล้าน
ประชาชาติธุรกิจ
4 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 19:01:01 น.


ภาระหนี้ก้อนมหึมาไม่ต่ำกว่า 1.1 แสนล้านบาท ทำให้ "ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย" องค์กรรัฐวิสาหกิจ 118 ปี ต้องเร่งทำแผนฟื้นฟูกิจการ ควบคู่เดินหน้าปฏิรูปองค์กรรองรับกับการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐบาลกำลังเร่งโหมอยู่ในขณะนี้

คลังขอที่ดิน 3 แปลงแลกหนี้

นาทีนี้การจะปลดหนี้ชนิดพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือภายในเวลาอันรวดเร็ว มีทางเลือกเดียวคือต้องนำที่ดินย่านทำเลทองของ ร.ฟ.ท. ยกให้ "กระทรวงการคลัง" บริหารระยะยาวเป็นการแลกหนี้

แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ "รัฐบาลเพื่อไทย" ต่อเนื่องมาถึงยุค "รัฐบาล คสช." มีแนวคิดนำที่ดินไพรมแอเรีย "ย่านมักกะสัน" 497 ไร่ ติดสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์มักกะสัน ข้อมูล ณ 30 กันยายน 2556 ตีมูลค่าอยู่ที่ 84,969 ล้านบาท โดยประมาณ

โดยยกให้กระทรวงคลังเช่าระยะยาว 99 ปี เพื่อล้างหนี้จากการขาดทุนสะสม 56,950 ล้านบาท หนี้จากการจัดซื้อรถจักรในอดีตเมื่อปี 2538 จำนวน 9,029 ล้านบาท และลงทุนแอร์พอร์ตลิงก์ 18,960 ล้านบาท แต่เป็นการประเมินราคาและข้อเสนอแนะของ "ร.ฟ.ท." ฝ่ายเดียว




ล่าสุด "ซูเปอร์บอร์ด-คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ" ประชุมกันเมื่อ 26 มกราคมที่ผ่านมา ต้องการให้ ร.ฟ.ท.นำที่ดินอีก 2 แปลงแลกหนี้เพิ่ม โดยประเมินว่าจะปลดหนี้ให้ ร.ฟ.ท.ได้เพิ่มอีกกว่า 8 หมื่นล้านบาท จากที่ดิน "บริเวณ กม.11" 359 ไร่ ใกล้สถานีกลางบางซื่อของรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) มูลค่า 18,370 ล้านบาท

อีกแปลงคือย่าน "สถานีแม่น้ำ" 277 ไร่ มูลค่า 10,413 ล้านบาท พร้อมสั่งให้ "คลัง+ร.ฟ.ท." เจรจานอกรอบหาข้อสรุปและนำเสนอที่ประชุมนัดต่อไป

มักกะสันติดรื้อย้ายโรงงาน

ว่ากันว่าเบื้องหลังทำให้ "คลัง" ยื่นข้อเสนอใหม่ให้ที่ประชุมซูเปอร์บอร์ดเคาะที่ดินเพิ่ม 2 แปลง เนื่องจากมองว่าที่ดินย่านมักกะสันยังมี "โรงงานรถไฟมักกะสัน" เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้การพัฒนาพื้นที่แปลงนี้อาจจะไม่ราบรื่นอย่างที่หวัง เพราะต้องใช้เวลานานกว่า 5 ปี ถึึงจะเคลียร์โยกย้ายโรงงานเสร็จตามแผน ทาง ร.ฟ.ท.เตรียมพื้นที่แก่งคอยประมาณ 1,000 ไร่ไว้รองรับแล้ว ทั้งส่วนโรงงานและที่พักอาศัยรองรับพนักงานรถไฟที่มีอยู่กว่า 2 หมื่นคน

สำหรับย่านมักกะสันมีทั้งหมด 745 ไร่ แต่พื้นที่นำมาพัฒนาได้จริง ๆ มี 497 ไร่เศษ ได้แก่ อาคารโรงงาน 65 ไร่ พื้นที่สับเปลี่ยนย่านโรงงาน 35 ไร่ ย่านโรงงานมักกะสัน 77 ไร่ อาคารแอร์พอร์ตลิงก์สถานีมักกะสัน 35 ไร่ นิคมรถไฟมักกะสัน โรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร ที่พักอาศัย บ้านเดี่ยว และแฟลตพนักงานรถไฟ อาคารพัสดุ

ภาระติดพันของที่ดินย่านมักกะสันยังรวมถึงมีผู้เรียกร้องให้ทำเป็น "สวนสาธารณะ" หรือพื้นที่สีเขียวเพิ่มเติม ขณะนี้ได้กำหนดไว้เป็นเงื่อนไขในการพัฒนาเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นไม่ว่าเอกชนรายไหนจะได้สิทธิจัดหาประโยชน์ จำเป็นต้องเสียสละพื้นที่บางส่วนเพื่อพัฒนาพื้นที่สีเขียวด้วย

รวบ "กม.11-สถานีแม่น้ำ"

ประกอบกับเริ่มเห็นศักยภาพที่ดิน "บริเวณ กม.11" ที่อนาคตจะกลายเป็นศูนย์กลางหรือฮับการเดินทางด้านระบบราง หลังจากรถไฟฟ้าสายสีแดงเสร็จเปิดใช้ในปี 2560-2561 ยิ่งล่าสุด "ปตท." ในฐานะผู้เช่ารายใหญ่บนพื้นที่ 22 ไร่เศษริมถนนวิภาวดีรังสิต ยอมควักเงินกว่า 500 ล้านบาท สร้างตึกสูง 17 ชั้นย่านตึกแดง เพื่อรองรับการย้ายบ้านพักพนักงานรถไฟด้านหลังสำนักงานใหญ่ ปตท. ยิ่งทำให้ที่ดิน กม.11 น่าจะนำพัฒนาได้เร็วยิ่งขึ้น

รวมถึงมองเห็นโอกาสต่อยอดโครงการได้ หลังจาก "ออมสิน ชีวะพฤกษ์" ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. กำลังจะปลุกปั้นพื้นที่รอบสถานีกลางบางซื่อ 208 ไร่ มาพัฒนาเป็นคอมเพล็กซ์ยักษ์ มูลค่าร่วม 1 แสนล้านบาท

โดยนำโมเดลต้นแบบจากต่างประเทศมาต่อยอดพัฒนาสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง ล่าสุด มติที่ประชุมบอร์ดเมื่อ 27 มกราคมที่ผ่านมา อนุมัติให้ ร.ฟ.ท.จ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือนนี้ เป็นการทำงานแข่งกับเวลาให้เสร็จทันยุค "รัฐบาล คสช." นั่งบริหารประเทศ

ขยายเวลาเช่า 50 ปี

"กำลังจะขอเจรจาคลังขยายเวลาการเช่าที่ดินมักกะสันให้ยาวขึ้น จากเดิม 30 ปี วงเงิน 65,056 ล้านบาทต่อสัญญาได้อีก 30 ปี อาจจะเป็นเริ่มต้น 50 ปี และต่อได้อีก 50 ปี เพราะเราคิดว่าแค่ที่ดินมักกะสันแปลงเดียวน่าจะเพียงพอแล้ว ส่วนบริเวณ กม.11 และสถานีแม่น้ำ ทาง ร.ฟ.ท.อยากพัฒนาเอง แต่มาถึงตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับนโยบาย" แหล่งข่าวจากการรถไฟฯกล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ"

แหล่งข่าวยังระบุอีกว่า นโยบาย ร.ฟ.ท.ที่ผ่านมาจะแลกหนี้เฉพาะที่ดินย่านมักกะสันให้เท่านั้น เนื่องจากประเมินว่าศักยภาพแปลงที่ดินน่าจะเพียงพอต่อการแก้ไขภาระหนี้การรถไฟฯได้อย่างน้อย 7-8 หมื่นล้านบาท

ส่วนภาระหนี้บำนาญที่ประเมินจากปัจจุบันไปถึงปี 2610 อยู่ที่ 65,860 ล้านบาท ร.ฟ.ท.เตรียมนำรายได้จากการนำที่ดินแปลงใหญ่คือ สถานีแม่น้ำและบริเวณ กม.11 รวมถึงที่ดินแปลงอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการเดินรถ เปิดให้เอกชนเช่าระยะยาว

ขณะที่ "ออมสิน" ย้ำชัดว่า...ที่ผ่านมาพูดกันแค่ที่ดินมักกะสัน จึงต้องดูก่อนว่ามติออกมายังไง และวาระประชุมบอร์ดก็มีแค่ที่ดินมักกะสันแปลงเดียวที่จะนำมาแลกหนี้กับคลัง แต่ทำไมและไม่รู้พูดกันยังไงถึงได้รวมถึงสถานีแม่น้ำและ กม.11 ด้วย

"เมื่อเป็นคำสั่งก็ต้องทำตาม แต่ที่จริงแปลงเดียวก็เกินพอ เพราะมูลค่าที่ดินสูงกว่า 6 หมื่นล้านบาทแล้ว ถ้าตกลงไม่ได้ กระทรวงการคลังไม่เอา การรถไฟฯจะพัฒนาเอง" คำกล่าวของประธานบอร์ด ร.ฟ.ท.

ประเมินจากความเห็นต่างทั้งฝ่ายคลัง-การรถไฟฯ ปฏิบัติการยกที่ดินแลกหนี้ครั้งนี้ยังต้องลุ้นกันอีกหลายยกกว่าจะได้ข้อยุติ
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42625
Location: NECTEC

PostPosted: 05/02/2015 8:50 pm    Post subject: Reply with quote

Wisarut wrote:
ร.ฟ.ท.-ปตท.ได้ข้อยุติเช่าที่ดิน สนง.ใหญ่


ร.ฟ.ท.จัดคิวต่อสัญญาเช่าที่ดิน"ปตท.-บุญรอด"ปั๊มรายได้
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
5 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 07:01:08 น.


การรถไฟฯลุยจัดระเบียบสัญญาเช่าที่ดินทั่วประเทศ พ่วงเร่งทำพิมพ์เขียวแผนพัฒนาที่ดินแนวรถไฟทางคู่และสายสีแดง หวังโกยรายได้โตปีละ 7% จากปัจจุบัน 1.6 พันล้าน เผยมีที่ดินทำเลทองเข้าคิวต่อสัญญาเพียบ ทั้งสนามกอล์ฟเบียร์สิงห์ โรงแรมเซ็นทรัล ตลาด อ.ต.ก. ไปรษณีย์ไทย โรงแรมทวินทาวเวอร์ ส่วน ปตท.ยอมจ่ายค่าเช่าสำนักงานใหญ่ 800 ล้าน แถมสร้างตึกสูง 17 ชั้น ให้ฟรี 1 อาคาร แลกสัญญาเช่า 30 ปี

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า แผนฟื้นฟูกิจการรถไฟในส่วนของการบริหารทรัพย์สิน นอกจากจะยกที่ดินบางส่วนให้กระทรวงการคลังเช่าระยะยาวพัฒนาเพื่อแลกหนี้แล้ว ทางการรถไฟฯเองจะต้องมีการจัดระเบียบพอร์ตที่ดินที่มีอยู่ทั่วประเทศให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อสร้างรายได้เพิ่มจากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 1,600 ล้านบาท



ทั้งนี้ สิ่งที่ทำได้ทันทีคือปรับปรุงระบบบริหารฝ่ายทรัพย์สินให้กระชับรวดเร็ว (One Stop) ด้วยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้งานบริหารสัญญาทั้งด้านการติดตามสถานะ กระจายค่าเช่า มีช่องทางชำระค่าเช่าที่หลากหลาย และจัดทำฐานข้อมูลระบบแผนที่ GIS และ MIS เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และวางแผนการพัฒนาพื้นที่

อีกทั้งเร่งรัดการต่อสัญญาเช่าที่ดินแปลงสำคัญที่กำลังจะหมดสัญญา เช่น สำนักงานใหญ่ ปตท. ติดถนนวิภาวดีรังสิต, บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ที่หัวหิน เป็นต้น เพื่อให้ได้ค่าเช่าที่ดินที่สมเหตุสมผลมากกว่าในอดีต

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะทำแผนแม่บทการพัฒนาที่ดินแนวรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 6 เส้นทาง และรถไฟฟ้าสายสีแดง ให้เสร็จใน 3 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2560 เพื่อรองรับการเปิดใช้บริการ หากเดินตามแผนนี้จะทำให้รายได้จากการบริหารทรัพย์สินของ ร.ฟ.ท.เติบโตปีละ 7%

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฯ เปิดเผยว่า การประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบผลการเจรจาระหว่าง ร.ฟ.ท.กับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จะต่อสัญญาเช่าที่ดินบริเวณนิคมรถไฟ กม.11 ติดกับถนนวิภาวดีรังสิต จำนวน 22 ไร่เศษ ให้กับ ปตท.ออกไปอีก 30 ปี โดยทาง ปตท.จะเป็นผู้จ่ายเงินค่าเช่าที่ดินให้กับ ร.ฟ.ท. เป็นเงินสดจำนวน 800 ล้านบาท และอยากให้รวม 154 ล้านบาท ที่ปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ด้านหลัง ปตท.ให้ด้วย

อีกทั้ง ปตท.ยินดีจะสร้างอาคารที่พักอาศัยสูง 17 ชั้น จำนวน 1 อาคาร มูลค่า 400-500 ล้านบาท ใกล้กับบ้านพักบางซื่อ (ตึกแดง) ให้พนักงานการรถไฟฯฟรี ที่จะต้องโยกย้ายออกหลัง ร.ฟ.ท.นำที่ดินย่าน กม.11 มาพัฒนาจัดหาประโยชน์ โดยให้ ร.ฟ.ท.เร่งจัดทำแผนเสนอเพื่อจะนำเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดของ ปตท.พิจารณาต่อไป เมื่อบอร์ดอนุมัติแล้ว ทาง ปตท.จะดำเนินการก่อสร้างให้ทันที ทั้งนี้เมื่อรวมเม็ดเงินทั้งหมดที่ ร.ฟ.ท.จะได้จาก ปตท.อยู่ที่ประมาณ 1,354 ล้านบาท
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42625
Location: NECTEC

PostPosted: 08/02/2015 10:17 pm    Post subject: Reply with quote

หมอชิต บางซื่อ ศูนย์กลางเศรษฐกิจ แห่งอนาคต

พื้นที่บริเวณหมอชิต-จุตจักร กำลังจะกลายเป็น hub ในการเดินทางที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ที่กำลังจะมี New Developments ได้แก่ พื้นที่ขนาดใหญ่ของรฟท.ประมาณ 2,325 ไร่ ครอบคลุม สถานีกลางบางซื่อ สวนจตุจักร เซ็นทรัลลาดพร้าว และพื้นที่โดยรอบ รวมถึงสวนสาธารณะ 3 แห่ง คือ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ สวนรถไฟ และสวนจตุจักร รวมเฉพาะสวนสาธารณะมีพื้นที่ 765 ไร่ โดยในส่วน Transportation Hub ที่รฟท.พัฒนาร่วมกับสนข. คาดว่าจะมีคนมาใช้บริการในปี 2560 ถึง 2.97แสนคน-เที่ยว/วัน และในปี 2562 จำนวน 3.83 แสนคน-เที่ยว/วัน

ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน 2,325 ไร่ แบ่งพื้นที่ตามโซน ดังนี้
1.พื้นที่ด้านระบบคมนาคมขนส่ง
1.1 สถานีกลางบางซื่อ (1,176 ไร่)
รฟท.ร่วมกับสนข.พัฒนาให้เป็นศูนย์กลางระบบรถไฟทางไกลและรถไฟชานเมืองแทนสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) อยู่ในพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย และเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่สำคัญอื่น ในอนาคต

สำหรับสถานีกลางบางซื่อ ตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟบางซื่อ ปัจจุบันมีพื้นที่ทั้งหมด 1,176 ไร่ ไม่รวมพื้นที่ขนส่งหมอชิต 2 ที่ประกอบด้วย พื้นที่กิจกรรมที่ ร.ฟ.ท.ใช้อยู่เดิม 685 ไร่ และนำมาใช้ก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อจำนวน 487 ไร่ ใช้งบประมาณ 2 หมื่นล้านบาท มีพื้นที่ใช้สอย 4 ชั้น และวางแผนให้เป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งมวลชนระบบราง และเชื่อมโยงกับขนส่งมวลชนต่างๆ ที่สำคัญและโดยรอบสถานีมีการใช้ประโยชน์พื้นที่หลากหลาย ซึ่งใช้เงินลงทุนไม่น้อยกว่า แสนล้านบาท วางแผนให้เอกชนร่วมลงทุนระยะยาว 30-40-50 ปี อยู่ที่ข้อตกลง


สถานีกลางบางซื่อจะมีรถไฟฟ้าเข้ามา ดังนี้
- สายสีแดง บางซื่อ-รังสิต, บางซื่อ-ตลิ่งชัน, Airport Link บางซื่อ-พญาไท
- สายสีน้ำเงิน บางซื่อ-ท่าพระ บางซื่อ-ราษฎร์บูรณะ
- และรถไฟฟ้าความเร็วสูง
นอกจากนั้นยังมีรถไฟจากต่างจังหวัดในทุกทิศ เป็นรถไฟฟ้าชานเมือง รถไฟทางไกล

1.2 ทางเชื่อม+พลาซ่าใต้ดิน+BRT (127.5 ไร่)
มีการออกแบบทางเชื่อมด้วยทางเท้าใต้ดิน ทั้งนี้ในระยะแรกได้ออกแบบการเชื่อมต่อ 3 สถานี คือ


- สถานีกลางบางซื่อ
- รถไฟฟ้าใต้ดินสถานีกำแพงเพชร
- รถไฟฟ้าใต้ดินสถานีจตุจักรซึ่งเป็นจุดเดียวกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิต
โดยระยะห่างระหว่างสถานีอยู่ที่ 50 เมตร – 1.5 กม. รวมพื้นที่127.5 ไร่ ทั้งนี้รูปแบบของศูนย์จะเป็นโครงสร้างใต้ดิน มีทั้งหมด 3 ชั้น
- ชั้นที่ 1 สร้างเป็นชอปปิ้งมอลล์
- ชั้นที่ 2 เป็นเอนเตอร์เทนเมนท์
- ชั้นที่ 3 เป็นที่จอดรถใต้ดิน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นลักษณะเดียวกับประเทศเปรูและญี่ปุ่น ที่ทำการเชื่อมโยงการเดินเท้าของประชาชนไว้ใต้ดิน และมีสิ่งอำนวยความสะดวกไว้บริการ สำหรับระยะแรกจะเป็นการสร้างทางเดินเท้าก่อน เนื่องจากลงทุนต่ำ และสร้างรายได้จากการเช่าพื้นที่ได้ ส่วนระยะต่อไปก็สร้างระบบขนส่งมวลชน ขนาดรองทั้งรถราง รถไฟฟ้ารางเดี่ยว โมโนเรล รถไฟฟ้าล้อยาง หรือรถด่วนบีอาร์ที ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาว่าจะเลือกรูปแบบใด โดยจะให้เอกชนมาลงทุน 30 ปี


ค่าก่อสร้างอุโมงค์ทางเดิน วงเงิน 55,000 ล้านบาท ล่าสุดกำลังจะส่งผลการศึกษาให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา และปีྲྀ สนข.จะออกแบบรายละเอียด คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ตั้งแต่ปี 2559 ใช้เวลา 3 ปี จะทันกับการเปิดใช้รถไฟฟ้าสายสีแดงพอดี

สำหรับพื้นที่ส่วนพลาซา มีพื้นที่ 127.5 ไร่ ประกอบด้วย
1.พื้นที่สวนสาธารณะและมีอาคารพาณิชยกรรมขนาดเล็กอยู่รอบนอก ขนาด 204,000 ตารางเมตร และ
2.พื้นที่พัฒนาใต้ดินเป็นทางเดินเชื่อมสถานีกลางบางซื่อ-สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินและบีทีเอสที่หมอชิต 63.6 ไร่ มีพื้นที่เช่า 118,102.5 ตารางเมตร จะแบ่งพื้นที่เชิงพาณิชย์เป็น 9 โซน โดยรายได้จะแบ่งบางส่วนให้ ร.ฟ.ท.ในฐานะเจ้าของที่ดิน คาดว่าจะมีรายได้ตลอดสัญญาเช่า 30 ปี และรายได้อื่น ๆ จำนวน 487,830 ล้านบาท


BRT (10.3 กม.)
สนข.ได้เลือก “ระบบบีอาร์ที” เป็นโครงข่ายเชื่อมการเดินทางภายในย่านพหลโยธิน ระยะทางรวม 10.3 กิโลเมตร เงินลงทุน 8,297 ล้านบาท


แนวเส้นทางวิ่งเป็นวงกลม จากสถานีกลางบางซื่อ ผ่านรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดินที่สถานีจตุจักร ห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว อาคารเอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ โครงการพัฒนาย่าน กม.11 มาสิ้นสุดที่สถานีจตุจักรของรถไฟสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต)


รูปแบบก่อสร้างจะเป็นโครงสร้างยกระดับ 3.14 กิโลเมตร วิ่งรอบสถานีกลางบางซื่อ จอดป้าย 2 สถานี คือ สถานีที่ 1-2 จากนั้นลัดเลาะมาตามแนวรถไฟสายสีแดง แล้วยกข้ามทางด่วนและสวนจตุจักร ไล่มาจนถึงรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีหมอชิต จะเป็นจุดที่ตั้งของสถานีที่ 3-4 และตั้งแต่สถานีที่ 5-13 จะวิ่งอยู่ระดับดิน ระยะทาง 7.16 กิโลเมตร


ขณะที่การพัฒนาแบ่งเป็น 2 เฟส ระยะแรกเริ่มต้นสถานีกลางบางซื่อ-ห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว มี 6 สถานี จะเริ่มปี 2560 มูลค่าลงทุน 3,793.6 ล้านบาท ส่วนสถานีที่ 7-13 เริ่มจากเซ็นทรัล ลาดพร้าว-สถานีกลางบางซื่อ ให้พัฒนาเป็นเฟสที่ 2 เริ่มปี 2565 เงินลงทุน 4,504.8 ล้านบาท
1.3 โครงการก่อสร้างทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอก
ด่านขึ้น-ลงกำแพงเพชรเป็นจุดที่เชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัชในปัจจุบัน ตอนนี้อยู่ในระหว่างหารือกับ ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) งบประมาณ 70 ลบ.


ในส่วนของทางด่วน คืบหน้าแล้ว 33% พร้อมเปิดปลายปี 2559 เป็นทางยกระดับ 6 จราจร เริ่มจากถนนกาญจนาภิเษก ขนานรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน ยาว 16.7 กม.

2.พื้นที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจ
2.1 ศูนย์พลังงานแห่งชาติ
อาทิ กระทรวงพลังงาน, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), Energy Complex - คณะกรรมการการรถไฟฯ มีมติเห็นชอบผลการเจรจาระหว่าง ร.ฟ.ท.กับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เมื่อ 27 มกราคม 2558 ว่าจะต่อสัญญาเช่าที่ดินบริเวณนิคมรถไฟ กม.11 ติดกับถนนวิภาวดีรังสิต จำนวน 22 ไร่เศษ ให้กับ ปตท.ออกไปอีก 30 ปี โดยทาง ปตท.จะเป็นผู้จ่ายเงินค่าเช่าที่ดินให้กับ ร.ฟ.ท. เป็นเงินสดจำนวน 800 ล้านบาท และอยากให้รวม 154 ล้านบาท ที่ปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ด้านหลัง ปตท.ให้ด้วย

อีกทั้ง ปตท.ยินดีจะสร้างอาคารที่พักอาศัยสูง 17 ชั้น จำนวน 1 อาคาร มูลค่า 400-500 ล้านบาท ใกล้กับบ้านพักบางซื่อ (ตึกแดง) ให้พนักงานการรถไฟฯฟรี ที่จะต้องโยกย้ายออกหลัง ร.ฟ.ท.นำที่ดินย่าน กม.11 มาพัฒนาจัดหาประโยชน์ โดยให้ ร.ฟ.ท.เร่งจัดทำแผนเสนอเพื่อจะนำเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดของ ปตท.พิจารณาต่อไป เมื่อบอร์ดอนุมัติแล้ว ทาง ปตท.จะดำเนินการก่อสร้างให้ทันที ทั้งนี้เมื่อรวมเม็ดเงินทั้งหมดที่ ร.ฟ.ท.จะได้จาก ปตท.อยู่ที่ประมาณ 1,354 ล้านบาท

2.2 เซ็นทรัลลาดพร้าว
ปี 2552 กลุ่มเซ็นทรัลต่ออายุสัญญาเช่าที่ดินจากร.ฟ.ทไปอีก 20 ปี ด้วยมูลค่า 20,000 ลบ.

2.3 ตลาดนัดสวนจตุจักร (68 ไร่), อ.ต.ก.
ปี 2525 ตลาดนัดจตุจักรย้ายมาจากสนามหลวง โดยใช้ชื่อว่าตลาดนัดย่านพหลโยธิน ต่อมาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ตลาดนัดจตุจักร” ในปี2530 ในปัจจุบันได้เปลี่ยนอำนาจการดูแลจากกรุงเทพมหานคร สู่การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2555 เพราะ ความดื้อดึงและดื้อรั้นของ กทม. ที่ไม่ยอมรับในอัตราใหม่ที่ รฟท. ต้องการ ส่วนกรณี อตก. นั้น ดูท่าจะยอมรับอัตราใหม่ เรื่องเลยจบลงโดยราบรื่น

2.4 พื้นที่ 3 โซน (218 ไร่) รอบสถานีกลางบางซื่อ
เปิดให้เอกชนพัฒนา เป็น Complex ครบวงจร ประกอบด้วย โรงแรม อาคารสำนักงาน พื้นที่เชิงพาณิชย์ ฯลฯ เพื่อปลดภาระหนี้สินการรถไฟ 1 แสนล้านบาท ซึ้งเบื้องต้นรองนายกฯ ปรีดียาธร เทวกุล เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ ที่ดิน 3 โซน แบ่งดังนี้


Zone A – 35 ไร่ ตั้งอยู่ด้านหลังศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง
Zone B – 78 ไร่ ตั้งอยู่ใกล้ตลาดนัดจตุจักร
Zone C – 105 ไร่ ที่ตั้งขนส่งหมอชิต



2.5 พื้นที่กม.11 (365 ไร่)
โครงการคอมเพล็กซ์ยักษ์ ร.ฟ.ท. มูลค่า 1.33 แสนล้าน ที่จะให้เอกชนเข้ามาพัฒนา เพื่อเป็นการปลดหนี้การรถไฟ


โดยมีพื้นที่บางส่วนโดนกทพ.เวนคืนที่ดินตัดด่วนใหม่ “ศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก” เฉือนที่ดินโครงการหายไปบางส่วนจากทั้งหมด 365 ไร่ ให้เช่าระยะยาว 30 ปี

2.6 พื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุง (ตึกแดง)
อยู่เหนือสถานีกลางบางซื่อ มีพื้นที่ 114 ไร่ อาจพัฒนาเป็นเชิงพาณิชย์ต่อไป

3. พื้นที่กิจกรรมทางสังคม + นันทนาการ
ประกอบด้วยสวนสาธารณะใหญ่ 3 แห่ง รวมพื้นที่ 765 ไร่ ได้แก่
- สวนวชิรเบญจทัศน์ (รถไฟ)
- สวนจตุจักร
- สวนสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ


พื้นที่รอบข้างศูนย์คมนาคมพหลโยธิน
อู่จอดรถไฟฟ้าสายสีเขียว + Park and Ride (63 ไร่)
เจ้าของที่ดิน คือ กรมธนารักษ์ ตอนนี้กำลังพัฒนาที่ดินให้เป็น Complex มูลค่า 2 หมื่นล้าน รวมถึง แบ่งพื้นที่ให้ บขส.กลับมาอยู่ที่เดิมด้วย


โดยผู้ที่ชนะประมูล ได้รับสัมปทาน 30 ปี คือ บริษัทBangkok Terminal (BKT) หรือ Sun Estate มีแผนจะพัฒนาเป็นพื้นที่พาณิชย์ พื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 712,350 ตร.ม. แบ่งเป็น
- พื้นที่ชดเชยให้ บขส.มาใช้เป็นสถานีขนส่ง 89,600 ตร.ม.
- พื้นที่พาณิชย์ 662,750 ตร.ม. แบ่งเป็น office, hotel, serviced apartment, ที่จอดรถ
- มีแผนสร้างทางยกระดับเชื่อมถนนกำแพงเพชรทะลุตัวอาคารไปยังถนนวิภาวดีฯ



ในส่วนของ Residential Development มีคอนโดมิเนียมบริเวณรอบ ๆ ที่เปิดตัวไปแล้วมีประมาณ 7 โครงการ ราคา/ตร.ม. ประมาณ 100k-155k บาท/ตร.ม.รวมถึงโครงการร่วมทุนกันรหว่าง BTS-SANSIRI ที่ตั้งอยู่ริมถนนพหลโยธิน ใกล้สถานี BTS หมอชิตและ MRT จตุจักร

*อ้างอิงจากแบบเดิมที่บีทีเอส กรุ๊ปได้พัฒนาไว้ ก่อนที่โปรเจค บีทีเอส-แสนสิริจะนำมาพัฒนาต่อ



มูลค่าที่ดิน รอบศูนย์คมนาคมพหลโยธิน ปัจจุบัน ตร.ว.ละ 5-6 แสนบาท ที่ผ่านมา กทม.เน้นให้เป็น ย่านพาณิชยกรรมสีแดง พ.4 1 ทำให้ใน 4-5 ปีข้างหน้าที่ศูนย์คมนาคมเปิดบริการเต็มรูปแบบ ราคาที่ดินจะขยับขึ้นสูงอยู่ที่ 1 ล้านบาท/ตร.ว.
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42625
Location: NECTEC

PostPosted: 11/02/2015 10:13 am    Post subject: Reply with quote

รถไฟฯจ้องโขก กทพ.1,500 ล.
โดยกอง บก.ฐานเศรษฐกิจ อสังหา
คอลัมน์ : REAL ESTATE - อสังหาฯ-คมนาคม
ออนไลน์เมื่อ วันศุกร์ที่ 06 กุมภาพันธ์ 2015 เวลา 10:14 น.
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,025 วันที่ 8 - 11 กุมถาพันธ์ พ.ศ. 2558
รถไฟฯหวั่นซ้ำรอย ปตท. เตรียมร่างสัญญาเรียก 1,500 ล้านค่าใช้พื้นที่เขตทางจากกทพ.กรณีสร้างทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก พร้อมขอเพิ่มพิเศษอีก 10% จากค่าผ่านทางที่กทพ.ให้บีอีซีแอลสัมปทาน 30 ปี โดยอยู่ระหว่างการจัดทำร่างสัญญา รอบอร์ดไฟเขียว ส่วนงบอีก 800 ล้านบาทเป็นค่าใช้สิทธิเหนือพื้นที่ดินย่านกม.11 ของปตท.ที่อยู่ระหว่างรอนำเสนอบอร์ดปตท.เห็นชอบตามข้อเสนอก่อนเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการ
altแหล่งข่าวระดับสูงของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างสัญญาเพื่อนำเสนอคณะกรรมการร.ฟ.ท.กรณีที่การชำระเงินตอบแทนการใช้ที่ดินของร.ฟ.ท.เพื่อก่อสร้างทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) วงเงินทั้งสิ้น 1,582 ล้านบาท พร้อมกับขอส่วนแบ่งจากค่าผ่านทางเป็นเงิน 10% ตลอดระยะเวลา 30 ปีเนื่องจากการทำข้อตกลงใช้พื้นที่เขตทางนั้นเป็นการกระทำรูปแบบรัฐต่อรัฐ แต่ภายหลังปรากฏว่ากทพ.เปิดให้สัมปทานการบริหารจัดการทางพิเศษดังกล่าวแก่บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือบีอีซีแอล ซึ่งเป็นเอกชนรับไปดำเนินการ
ทั้งนี้เตรียมนำเสนอร่างสัญญาดังกล่าวต่อนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.คนใหม่เพื่อบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของคณะกรรมการ(บอร์ด) ร.ฟ.ท. พิจารณาความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวนี้ต่อไป เนื่องจากการหารือร่วมกันระหว่าง ร.ฟ.ท.กับกทพ. 2-3 ครั้งยังไม่สามารถหาข้อสรุปลงตัวได้จึงต้องให้บอร์ดพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม
"ร.ฟ.ท. ร่างสัญญาโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ในช่วง 30 ปีในภายหน้าด้วย เนื่องจากเกรงว่าจะซ้ำรอยสัญญา กรณีเดียวกับบริษัท ปตท.ฯ เช่าพื้นที่บริเวณพื้นที่ย่านกม.11 พหลโยธิน ประการสำคัญข้อตกลงในเบื้องต้นเป็นการดำเนินการรูปแบบรัฐต่อรัฐ คือ กทพ.-ร.ฟ.ท. แต่ปรากฏว่ากทพ.กลับไปทำสัญญาสัมปทานกับบีอีซีแอลซึ่งเป็นเอกชนเพื่อหากำไร หากครบ 30 ปีแล้ว กทพ.กับบีอีซีแอลจะมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นอีก แต่ร.ฟ.ท.กลับไม่ได้รับส่วนแบ่งดังกล่าว ดังนั้นร.ฟ.ท.ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินจึงควรจะได้รับส่วนแบ่งดังกล่าวอย่างเป็นธรรมซึ่งขอเพียง 10% เท่านั้น อีกทั้งร.ฟ.ท.ยังไม่เห็นสัญญาสัมปทานระหว่างกทพ.กับบีอีซีแอล"
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่าทางด้านความคืบหน้าการเรียกจัดเก็บค่าเช่าที่ดินจากบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)บริเวณพื้นที่กม.11 ย่านพหลโยธินนั้นมติการประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา เห็นชอบผลการเจรจาระหว่าง ร.ฟ.ท.กับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในการต่อสัญญาเช่าที่ดินบริเวณนิคมรถไฟ กม.11 ติดกับถนนวิภาวดีรังสิต จำนวน 22 ไร่เศษ ให้กับ ปตท.ออกไปอีก 30 ปี โดยทาง ปตท.จะเป็นผู้จ่ายเงินค่าเช่าที่ดินให้กับ ร.ฟ.ท. เป็นเงินสดจำนวน 800 ล้านบาท และยังให้รวม 154 ล้านบาท กรณีใช้ปรับปรุงพื้นที่ด้านหลัง ปตท.ให้ด้วย
นอกจากนั้น ปตท.ยังจะสร้างอาคารที่พักอาศัยสูง 17 ชั้น จำนวน 1 อาคาร มูลค่า 400-500 ล้านบาท ใกล้กับบ้านพักบางซื่อ (ตึกแดง) ให้พนักงานการรถไฟฯที่จะต้องโยกย้ายออกหลัง ร.ฟ.ท.นำที่ดินย่าน กม.11 มาพัฒนาจัดหาประโยชน์ โดยให้ ร.ฟ.ท.เร่งจัดทำแผนเสนอเพื่อจะนำเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดของ ปตท.พิจารณาต่อไป เมื่อบอร์ดอนุมัติแล้ว ทาง ปตท.จะดำเนินการก่อสร้างให้ทันที ทั้งนี้เมื่อรวมเม็ดเงินทั้งหมดที่ ร.ฟ.ท.จะได้จาก ปตท.อยู่ที่ประมาณ 1,354 ล้านบาท
ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากกทพ.กล่าวถึงกรณี ร.ฟ.ท.ขอปรับแก้สัญญาว่าเกิน 30 ปีไปแล้วจะขอคิดเป็นค่าเช่านั้น กทพ.เห็นว่าเป็นไปไม่ได้เนื่องจากขัดกับมติครม.ที่อนุมัติให้กทพ.ใช้ ไม่ใช่การเช่า ซึ่งร.ฟ.ท.คงต้องไปดำเนินการยื่นเรื่องขอใช้สิทธิ์อุทธรณ์ต่อครม.เอง โดยร.ฟ.ท.ขอตัดคำว่า "ขอใช้พื้นที่ตลอดไป" ออกไป
"ร.ฟ.ท.ขอนำกลับไปให้บอร์ดพิจารณาอีกครั้ง และยังระบุอีกว่าหลังจากครบ 30 ปีไปแล้วขอคิดเป็นค่าเช่า ซึ่งกทพ.ยอมรับไม่ได้ โดยกทพ.จะจ่ายเป็นค่าใช้พื้นที่เป็นเงินประมาณ 1,561 ล้านบาท เป็นก้อนเดียว โดยคิดจากราคาประเมิน แต่เนื่องจากที่ดินร.ฟ.ท.นั้นโอนสิทธิ์ไม่ได้ จึงต้องคิดค่าประเมินต่ำสุด พร้อมกับบวกเข้าไปอีกประมาณ 30-40% กำหนดจ่ายเป็นค่าใช้พื้นที่ให้แก่ร.ฟ.ท. หากพื้นที่ใดมีตอม่ออยู่แล้วใช้พื้นที่ไม่ได้เลยจะจ่ายให้เต็ม 100% แต่หากด้านล่างยังใช้ประโยชน์ได้จะจ่ายให้ 55% รวมแล้วทั้งสิ้นประมาณ 1,561 ล้านบาท ส่วนปมกรณีรายได้จากค่าผ่านทางของบีอีซีแอลนั้นไม่แบ่งให้อย่างแน่นอนเนื่องจากบีอีซีแอลลงทุนในโครงการนี้กว่า 2 หมื่นล้านบาทไปแล้วนั่นเอง"
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42625
Location: NECTEC

PostPosted: 12/02/2015 9:28 pm    Post subject: Reply with quote

รฟท.-ธ.อิสลาม ส่อเอื้อเอกชน!ผู้ค้า"อินสแควร์"ร้อง"อิศรา"สอบเสียหาย1.5พันล.
โดยisranews สำนักข่าวอิศรา
เขียนวันที่ วันอังคาร ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 17:14 น.


ผู้ประกอบการศูนย์การค้า"อิน สแควร์" หลังจัตุจักร หอบหลักฐานเข้าร้องเรียน "อิศรา" ช่วยตรวจสอบปัญหาถูกเบี้ยวเงินค่าเช่าซื้อตึกกว่า 1.5 พันล้าน เผยยืดเยื้อยาวนานหลายปี ชี้ปมพิรุธ "รฟท.-ธ.อิสลาม"ส่อเอื้อเอกชน ล่าสุดทำหนังสือถึง "ประยุทธ์" แล้ว


ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ก.พ.58 ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการที่ทำสัญญาเช่าซื้อพื้นที่ศูนย์การค้า อิน สแควร์ บริเวณหลังตลาดนัดจัตุจักร ได้เดินทางเข้าร้องเรียนและยื่นหลักฐานให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีได้รับความเสียหายจากการไม่ได้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ศูนย์การค้าฯ เป็นระยะเวลายาวนานหลายปี ทั้งที่ จ่ายเงินค่าเช่าซื้อที่ให้กับโครงการไปจำนวนมากแล้ว

"กลุ่มประกอบการที่ทำสัญญาเช่าซื้อพื้นที่ค้าขายในศูนย์การค้าแห่งนี้ มีจำนวนมากกว่าหนึ่งร้อยราย ที่ประสบปัญหา ตัวเลขความเสียหายอยู่ที่ประมาณ 1,500 ล้านบาท พวกเราจ่ายเงินให้โครงการไปแล้ว แต่ไม่รับโอนพื้นที่มาให้ เนื่องจากโครงการนี้มีปัญหาหลายอย่าง ทั้งในเรื่องแบบแปลนการก่อสร้างที่ไม่ถูกต้อง ทำให้การรถไฟแห่งประเทศ (รฟท.) เจ้าของที่ยังไม่อนุมัติให้ ขณะที่การกู้ยืมเงินจากธนาคารอิสลามของโครงการ เพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้างอาคาร จำนวนกว่า 1,700 ล้านบาท ก็มีพิรุธที่ชี้ให้เห็นถึงการเอื้อประโยชน์เอกชนอย่างชัดเจน"

ผู้ประกอบการรายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันโครงการได้เปลี่ยนตัวผู้บริหารใหม่ หลังจากผู้บริหารกลุ่มเดิมไม่แสดงความรับผิดชอบอะไรกับปัญหาที่เกิดขึ้น ล่าสุดผู้บริหารชุดใหม่ ได้เริ่มเปิดเจรจาต่อรองกับผู้ประกอบ โดยยืนข้อเสนอว่า หากผู้ประกอบการรายใด ยืนยันจะเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ก็ให้เข้าไปทำสัญญาใหม่ พร้อมจ่ายเงินส่วนที่ค้างอยู่ และจะไม่เก็บค่าเช่าฟรี 1 ปี แต่หากใครต้องการเงินคืนทางโครงการจะยอมจ่ายคืนให้เพียงแค่ 50 %เท่านั้น

"ทางเลือกที่ผู้บริหารชุดใหม่เสนอมาให้ มันยากเกินกว่าที่เราจะรับได้ เพราะเท่าที่ทราบ รฟท.ก็ยังไม่เซ็นรับโครงการ เพราะการแก้ไขแบบไม่ถูกต้อง ส่วนใครจะเอาเงินคืน ก็คืนให้แค่ 50 % แบบนี้มันไม่ถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว ที่พวกเราตระเวณเดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วยเหลือแต่ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น ล่าสุดจึงได้มีการไปยื่นเรื่องต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เข้ามาช่วยสะสางปัญหานี้แล้ว"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อมูลแผนลงทุนและพัฒนาศูนย์การค้าอิน สแควร์ ที่มีการร้องเรียนในช่วงที่ผ่านมา ระบุว่า บริษัท อินสแควร์ฯ เป็นผู้ทำสัญญาเช่าพื้นที่กับร.ฟ.ท.จำนวน 7.93 ไร่ เพื่อสร้างโครงการมูลค่า 546 ล้านบาท มีสัญญาเช่า 30 ปี โดยจ่ายผลตอบแทนเป็นค่าเช่าที่ดินเพื่อสิ่งปลูกสร้างอาคารและค่าเช่าที่ดินเพื่อจัดหาผลประโยชน์ให้กับร.ฟ.ท.ประมาณ 300 ล้านบาท และเมื่อโครงการสิ้นสุดสัญญาจะตกเป็นทรัพย์สินของรัฐต่อไป

แต่จากการตรวจสอบพบว่า ผู้บริหาร อิน สแควร์ ได้มีการก่อสร้างโครงการผิดแบบ โดยได้ยื่นขออนุมัติแบบจาก ร.ฟ.ท. จะก่อสร้างเป็นอาคารพลาซ่า 2 ชั้น อาคารที่พักอาศัย(คอนโดฯ)สูง 16 ชั้น ขนาดพื้นที่ 17,000 ตร.ม. มูลค่า 546 ล้านบาท แต่ผู้ดำเนินโครงการกลับมีการแก้ไขแบบพลาซ่า หรือศูนย์การค้าเป็น 8 ชั้น และคอนโดฯสูง 16 ชั้น รวมขนาดพื้นที่กว่า 80,000 ตร.ม. ทำให้มูลค่าโครงการฯเพิ่มสูงขึ้นกว่า 3,000 ล้านบาท ก่อนที่จะทำเรื่องขออนุมัติการแก้ไขแบบย้อนหลังมาที่ร.ฟ.ท.ในภายหลัง ซึ่ง ร.ฟ.ท.ไม่สามารถอนุมัติแบบให้ได้ เพราะมีการเปลี่ยนโครงการจากพลาซ่าขนาดเล็กเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่เท่าศูนย์การค้าเซ็นทรัลฯ จะต้องดำเนินการพ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2535 ซึ่งไม่ได้อยู่ในอำนาจของร.ฟ.ท.ทำให้โครงการคาราคาซังอยู่ในขณะนี้

นอกจากนี้ ในช่วงที่มีการอนุมัติแบบจากร.ฟ.ท.นั้น ได้เกิดความขัดแย้งในกลุ่มผู้บริหารอิน สแควร์ โดยมีการเปลี่ยนผู้ร่วมทุนและผู้บริหารชุดใหม่หลายชุด จนกระทั่งล่าสุดได้นำกลุ่มบริษัท ดีดี มอลล์ จำกัด เข้ามาและอ้างว่า ได้เข้าซื้อโครงการนี้จากกลุ่มเดิมแล้ว ยิ่งทำให้ผิดเงื่อนไขการเช่าที่ของร.ฟ.ท.ที่ห้ามการเช่าซื้อหรือเซ้งต่อ ในส่วนของการเยียวยาผู้เช่าโครงการอิน สแควร์ นั้น ร.ฟ.ท.ไม่สามารถให้ความกระจ่างได้ว่า จะดำเนินการอย่างไร เพราะจนถึงขณะนี้ ยังไม่สามารถระบุสถานะที่แท้จริงได้ว่า โครงการนี้ใครเป็นเจ้าของที่แท้จริงและไม่สามารถบอกได้ว่า จะเปิดโครงการได้หรือไม่ เนื่องจากมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง มีกล่าวกล่าวหาว่า ผู้บริหารโครงการมีการเงินลงทุนที่กู้จากธนาคารอิสลาม จำนวน 1,700 ล้านบาท แบบผิดประเภท และที่สำคัญยังติดขัดข้อกฎหมายด้วย
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42625
Location: NECTEC

PostPosted: 13/02/2015 12:12 pm    Post subject: Reply with quote

ทุนจีนจ้องฮุบที่ดินรถไฟ บุกขอข้อมูลแผนพัฒนาที่ดินร.ฟ.ท./เล็งมักกะสัน-บางซื่อฯ

โดย กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ อสังหา REAL ESTATE -
คอลัมน์ : อสังหาฯ REAL ESTATE
ออนไลน์เมื่อ วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ 2015 เวลา 10:26 น.
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,026 วันที่ 12 - 14 กุมถาพันธ์ พ.ศ. 2558

ทุนจีน" ไชน่าเรลเวย์21" ผนึกค่าย"ซีอีเอ็มซี คอนสตรัคชั่นไทย" เล็งหยิบที่ดินแปลงงามของการรถไฟฯ มักกะสัน-บางซื่อ-สถานีแม่น้ำ บุกพบ นายกฯประยุทธ์ ขอข้อมูลแผนการพัฒนาที่ดินของร.ฟ.ท. ก่อนใช้วางแผนก่อสร้างโครงการต่างๆ ทั้งยังสนใจเมกะโปรเจ็กต์อื่นอีกเพียบ ด้านร.ฟ.ท.ตั้งเป้ากวาดรายได้กว่า 3 พันล้านจากแผนการพัฒนาที่ดินในพื้นที่กทม.-ตจว.ปี 58

แหล่งข่าวระดับสูงของกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าเมื่อเร็วๆนี้นางหลิว จุ้นอิง ซีอีโอ บริษัท ไชน่าเรลเวย์ 21 จำกัด(CRCC21) และนายจารุเกียรติ วังนัยกุลภักดี ประธานบริหาร บริษัท ซีอีเอ็มซี คอนสตรัคชั่น(ไทยแลนด์) จำกัด ได้เข้ายื่นหนังสือต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความสนใจที่จะพัฒนาที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)จำนวนหลายแปลง โดยเฉพาะแปลงมักกะสัน บางซื่อ ตลอดจนท่าเรือคลองเตยบริเวณสถานีแม่น้ำ พร้อมเสนอเงื่อนไขที่น่าสนใจคือพร้อมสนับสนุนแรงงานไทยรวมทั้งวัสดุก่อสร้างที่ผลิตในประเทศไทย และเงินทุนดอกเบี้ยต่ำผ่อนคืนระยะยาวให้แก่ไทยอีกด้วย

นอกจากนั้นผู้บริหารทั้ง 2 บริษัทยังได้หารือเกี่ยวกับแผนการดำเนินงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่
1.การก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ภูเก็ต และดอนเมือง
2.การก่อสร้างและซ่อมแซมรถไฟทางคู่และรถไฟฟ้า 10 สาย
3.การก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายอยุธยา-นครราชสีมา (ทางหลวงสาย 6) และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (ทางหลวงสาย 81)
4.การก่อสร้างระบบน้ำทั้งระบบ และ
5.การก่อสร้างรถไฟรางคู่ขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร

"นับเป็นภาคเอกชนที่ร่วมกับฝ่ายไทยในรูปแบบการจอยต์เวนเจอร์ต่อกันที่เน้นเรื่องงานก่อสร้าง ส่วนการเดินรถ การจัดซื้อขบวนรถและเรื่องระบบอาณัติสัญญาณคงจะเปิดโอกาสให้รายอื่นแสดงความสนใจกันบ้าง ซึ่งพบว่ามีหลายรายแสดงความสนใจเข้าร่วมแข่งขัน ส่วนเงื่อนไขจะเป็นอย่างไรบ้างนั้นภายหลังการหารือร่วมไทย-จีนของรัฐบาลและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยเฉพาะคณะกรรมการฝ่ายต่างๆเสร็จสมบูรณ์คงจะได้เห็นภาพชัดเจนในหลายเรื่อง"

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงร.ฟ.ท. กล่าวว่าฝ่ายบริหารทรัพย์สิน ร.ฟ.ท.ได้ส่งรายละเอียดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ดินของร.ฟ.ท.ให้กับบริษัท ซีอีเอ็มซี คอนสตรัคชั่น(ไทยแลนด์) จำกัด จำนวนหลายแปลง ซึ่งขณะนี้มีโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อดำเนินงานตามพ.ร.บ.การให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินการ พ.ศ. 2556 จำนวน 4 โครงการ มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท ประกอบไปด้วย พื้นที่แปลงมักกะสัน ขนาดพื้นที่ 297 ไร่ พื้นที่แปลงสถานีแม่น้ำ ย่านคลองเตย ขนาดพื้นที่ 260 ไร่ พื้นที่กม.11 ย่านพหลโยธิน ขนาดพื้นที่ 359 ไร่ และพื้นที่บริเวณสถานีกลางบางซื่อแห่งใหม่ ขนาดพื้นที่ 200 ไร่

นอกจากนั้นยังมีพื้นที่โครงการทางเชื่อมศูนย์คมนาคมพหลโยธิน ที่อยู่ระหว่างการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) และโครงการต่างๆที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ประกอบไปด้วย

พื้นที่บริเวณริมถนนรัชดาแปลง 4-5-6 ขนาดพื้นที่ 2.9 ไร่ (ทางสาย บาง ซื่อ - คลองตัน ในส่วนที่ไม่ได้ส่งมอบให้ รฟม.)

พื้นที่ริมถนนรัชดาแปลง 9 ขนาดพื้นที่ 1.09 ไร่ (ทางสาย บาง ซื่อ - คลองตัน ในส่วนที่ไม่ได้ส่งมอบให้ รฟม.)

พื้นที่บริเวณเทิดพระเกียรติ(แปลงถาวร 2) ขนาดพื้นที่ 5.8 ไร่ (ทางสาย บาง ซื่อ - คลองตัน ในส่วนที่ไม่ได้ส่งมอบให้ รฟม.)

พื้นที่สถานีศิลาอาสน์ จ.อุตรดิตถ์ ขนาดพื้นที่ 5.9 ไร่
พื้นที่สถานีภูเขาลาด ขนาด 12 ไร่
พื้นที่สถานีหนองคาย จำนวน 19 ไร่
พื้นที่สถานีทุ่งสง จำนวน 6.5 ไร่
พื้นที่สถานีสงขลา ขนาด 8.1 ไร่
พื้นที่ท่านุ่นแปลง 1 ขนาด 132 ไร่ (ทางรถไฟสาย สุราษฎร์ธานี - ท่านุ่น)
พื้นที่ท่านุ่นแปลง 2 ขนาด 228 ไร่ (ทางรถไฟสาย สุราษฎร์ธานี - ท่านุ่น)
พื้นที่ท่านุ่นแปลง 3 ขนาด 317 ไร่ (ทางรถไฟสาย สุราษฎร์ธานี - ท่านุ่น)

สำหรับปี 2558 นี้ฝ่ายบริหารทรัพย์สินกำหนดเป้าหารายได้ไว้ประมาณ 3,000 ล้านบาท ล่าสุดแปลงพหลโยธินด้านหน้าองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.) พื้นที่ประมาณ 7-8 ไร่ มูลค่าประมาณ 100 ล้านบาทดำเนินการโอนสิทธิ์เรียบร้อยแล้ว ส่วนแปลงปตท.สำนักงานใหญ่ มูลค่า 800 ล้านบาทอยู่ระหว่างเตรียมเสนอบอร์ดพิจารณาร่างสัญญา แปลงการทางพิเศษแห่งประเทศไทยที่นำไปสร้างทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก มูลค่า 1,500 ล้านบาท อยู่ระหว่างบอร์ดร.ฟ.ท.พิจารณาเงื่อนไขรายละเอียดประเด็นกำหนดระยะสัญญา โครงการแปลงโอเอ ย่านประตูน้ำ-ราชปรารภ ขนาดประมาณ 2 ไร่ มูลค่าประมาณ 300 ล้านบาท ส่วนที่เหลือคือจากแปลงอื่นๆที่จะทยอยสร้างรายได้เข้ามาเพิ่มเติมให้ครบ 3,000 ล้านบาทซึ่งจะทยอยดำเนินการในปี 2558 นี้ทั้งหมด

"แปลงใหญ่ที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท เรื่องได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ(บอร์ด)ร.ฟ.ท.เรียบร้อยแล้ว ส่วนแปลงสถานีกลางบางซื่ออยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง ซึ่งบอร์ดเห็นชอบให้เร่งดำเนินการปัจจุบันอยู่ระหว่างการจ้างที่ปรึกษาเพื่อทบทวนการศึกษาเดิมให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฉบับใหม่ปี 2556 ให้ครอบคลุมเนื่องจากผลการศึกษาเดิมให้สอดคล้องกับพ.ร.บ.ปี 2535 ซึ่งปฏิบัติควบคู่กันไปกับนโยบายของรัฐบาล"
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42625
Location: NECTEC

PostPosted: 17/02/2015 10:42 am    Post subject: Reply with quote

ภารกิจผู้ว่าฯ รถไฟคนใหม่ 6 เดือนแรกต้องมีผลงาน รื้อสัญญาเช่าที่ดินทั่วประเทศรับเมกะโปรเจ็กต์
สัมภาษณ์พิเศษ
ประชาชาติธุรกิจ
17 กุมภาพันธ์ 2015 เวลา 08:00:01 น.


เป็นภารกิจที่ท้ายไม่น้อย สำหรับ "วุฒิชาติ กัลยาณมิตร" ที่ข้ามห้วยจาก "บขส.-บริษัท ขนส่ง จำกัด" มานั่งเป็นใหญ่ "ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย" คุมองค์กรที่มีอายุเก่าแก่ 118 ปี และมีหนี้พ่วง 1.1 แสนล้านบาท

ท่ามกลางสถานการณ์การเปลี่ยนผ่าน ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการที่ "รัฐบาลบิ๊กตู่" กำลังร่อนตะแกรง เร่งกู้ภาพลักษณ์รถไฟไทย เพื่อแต่งตัวรอรับการลงทุนระบบราง ที่มูลค่ารวมกว่า 1 ล้านล้านบาท ที่กำลังเร่งผลักดัน ทั้งรถไฟฟ้าตระกูลสีแดง รถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยาย รถไฟทางคู่และรถไฟไทย-จีน ความเร็ว 160-180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

"ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์พิเศษ "ผู้ว่าการรถไฟ" คนใหม่ ถึงแผนงานต่าง ๆ ที่จะทำให้องค์กรม้าเหล็กขับเคลื่อนไปได้นับจากนี้



- ช่วง 3-6 เดือนมีแผนอะไรบ้าง

เรื่องแรกจะกู้ภาพลักษณ์การรถไฟกลับคืนมา ในเรื่องความสะอาด ความปลอดภัย จะทำได้โดยเร็ว เพราะคนจับตามอง กำลังรองบประมาณจากรัฐบาล ใน 6 เดือนนี้จะเห็นการเปลี่ยนแปลงแน่นอน เรื่องสุขาที่ถูกต่อว่าค่อนข้างเยอะว่าไม่สะอาด กลิ่นเหม็น ต่อไปจะไม่มีกลิ่น ด้านความปลอดภัย ผมไม่ได้บอกว่าผมเข้ามาแล้วรถไฟจะไม่ตกราง แต่จะให้เกิดน้อยลง จะทำการประชาสัมพันธ์เชิงรุกมากขึ้น

เรื่องที่ 2 เร่งปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลด้านพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ด้านพัฒนาระบบราง เร่งผลักดันโครงการต่าง ๆ ออกมาโดยเร็ว ขณะนี้กำลังปรับการทำงานใหม่ จะทำโครงการคู่ขนานไปกับการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ จะทำรายละเอียดเอกสารให้ครบสมบูรณ์ก่อนเสนอขออนุมัติ เพื่อจะได้ไม่ถูกตีกลับมาแก้ไขหลายรอบ จนทำให้โครงการล่าช้า

ปัจจุบันมีรถไฟทางคู่และรถไฟฟ้าหลายเส้นทางติดอยู่ที่อีไอเอ อยู่ระหว่างให้ผู้บริหารรวบรวมข้อมูลว่าแต่ละโครงการติดขัดอยู่ที่ไหนบ้าง ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้จะชัดเจนในหลาย ๆ เรื่อง

เรื่องที่ 3 จะเดินสายตรวจเยี่ยมพนักงานในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ เพื่อรับฟังปัญหาว่ามีอะไรที่อยากจะให้ปรับปรุงแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพชีวิตของพนักงานเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะต้องพลิกฟื้นให้กลับคืนมาโดยเร็ว ซึ่งการดำเนินการนี้จะอยู่ภายใต้ที่แยกภาระหนี้มีอยู่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาทถึง 1 แสนล้านบาทออกมาวางไว้ข้าง ๆ

จากนั้นจะไปทำตัวเลขรายได้และรายจ่ายใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และการดำเนินงานขององค์กร เช่น หารายได้เพิ่มได้ยังไงบ้าง การให้บริการผู้โดยสาร จะเน้นรถโดยสารปรับอากาศมากขึ้น ส่วนการขนส่งสินค้าที่ผ่านมาดูว่าทำได้มากพอแค่ไหน เช่น อาจจะเพิ่มเอเย่นต์ขายตั๋วให้มีตลาดมากขึ้น นำรถโดยสารเก่ามาดัดแปลงใหม่เป็นรถขนส่งสินค้าพัสดุภัณฑ์ โดยเราจะมากำหนดทิศทางใหม่ทั้งหมด ในเร็ว ๆ นี้จะสรุปและเริ่มเดินหน้าได้

ทั้งหมดก็เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของรถไฟกลับคืนมาสู่สายตาประชาชน ใน 6 เดือนนี้จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงแน่ ๆ ด้านความปลอดภัยและความสะอาด ส่วนเรื่องหนี้คงต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง เพราะเป็นเรื่องใหญ่ เช่น การนำที่ดินไปแลกหนี้ ต้องมาประเมินมูลค่าทรัพย์สินให้ดี

- การเพิ่มรายได้มีทางไหนบ้าง

อย่างแรกบริหารจัดการจากสิ่งที่รถไฟมีอยู่ในมือ คือ ที่ดินและทรัพย์สินต่าง ๆ ขณะนี้ให้รวบรวมสัญญาเช่าทั่วประเทศมีอยู่ประมาณ 14,000-15,000 สัญญา แปลงไหนที่ใกล้หมดสัญญาแล้ว และที่ให้เอกชนเช่าจัดหาประโยชน์มีความเหมาะสมหรือคุ้มค่าหรือไม่ และตอบโจทย์หรือยัง ต้องมาจัดระเบียบกันใหม่ เพื่อเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ให้มากกว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี เพราะต่อไปรถไฟจะมีทั้งรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วปานกลางที่จะสามารถนำที่ดินรอบสถานีมาต่อยอดในการพัฒนาสร้างรายได้ จะลดภาระเรื่องการขาดทุนของรถไฟในอนาคตได้

- การบริหารจัดการที่ดินในทำเลทอง

ที่รับทราบข้อมูลมี 3 แปลงจะนำมาพัฒนาสร้างได้ระยะยาวได้ คือ ย่านมักกะสัน จำนวน 497 ไร่ ย่าน กม.11 จำนวน 359 ไร่ และย่านสถานีแม่น้ำ จำนวน 277 ไร่ จะต้องมาพิจารณาเป็นรายแปลงว่าติดปัญหาตรงไหนบ้าง เช่น ย่านมักกะสันติดโรงซ่อมที่จะต้องโยกย้ายไปที่ใหม่ ต้องประเมินมูลค่าทรัพย์สินหากต้องยกให้กระทรวงการคลังบริหารจัดการ ก็ต้องดูด้วยว่าแผนพัฒนาโครงการ จะสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการรถไฟหรือไม่

- งานด่วนต้องเร่งให้เสร็จตอนนี้

เร่งรัดรถไฟไทย-จีน ให้เป็นไปตามนโยบายของทาง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่จะให้ก่อสร้างปีนี้ หากทำสำเร็จจะเปลี่ยนแปลงการรถไฟอีกโฉมหน้าหนึ่ง ซึ่งไม่หนักใจที่ได้รับมอบหมายเป็นเลขาฯคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการ

และผมก็มั่นใจว่าโครงการสามารถเดินหน้าได้ เพราะมาไกลถึงขั้นการเจรจาแล้ว และถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องมีรถไฟที่ทันสมัย เพื่อรองรับการเปิดการค้าในอาเซียน หากสำเร็จจะเป็นโมเดลนำร่องให้กลุ่มประเทศในอาเซียนนำไปพัฒนา
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42625
Location: NECTEC

PostPosted: 18/02/2015 11:31 pm    Post subject: Reply with quote

Wisarut wrote:
ทุนจีนจ้องฮุบที่ดินรถไฟ บุกขอข้อมูลแผนพัฒนาที่ดินร.ฟ.ท./เล็งมักกะสัน-บางซื่อฯ

โดย กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ อสังหา REAL ESTATE -
คอลัมน์ : อสังหาฯ REAL ESTATE
ออนไลน์เมื่อ วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ 2015 เวลา 10:26 น.
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,026 วันที่ 12 - 14 กุมถาพันธ์ พ.ศ. 2558



เปิดโรดแมปแผนพัฒนาที่ดินรถไฟ

โดย กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ อสังหา REAL ESTATE -
คอลัมน์ : อสังหาฯ REAL ESTATE
ออนไลน์เมื่อ วันศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2015 เวลา 10:29 น.
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,027 วันที่ 15 - 18 กุมถาพันธ์ พ.ศ. 2558

จากภาระหนี้ขาดทุนสะสม 7-8 หมื่นล้านบาท ถือเป็นโจทย์หินที่การรถไฟแห่งประเทศไทยพยายามหาหนทางปลดหนี้ก้อนนี้ให้หมดไป ด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ และแนวทางหนึ่งที่สำคัญก็คือการสร้างรายได้เพิ่ม ซึ่งนอกจากการเดินรถแล้ว ยังมีช่องทางหารายได้จากการให้เช่าที่ดิน โดยมีหลายแปลงเป็นทำเลที่มีศักยภาพ
altล่าสุด ฝ่ายบริหารทรัพย์สินการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จัดทำแผนพัฒนาที่ดินเพื่อหารายได้เสนอนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.คนใหม่ ในขณะที่แนวคิดยกที่ดินทำเลทอง 3 แปลง มักกะสัน, กม.11 และสถานีแม่น้ำ ให้กระทรวงการคลังนำไปพัฒนาเชิงพาณิชย์แลกล้างหนี้สะสม ก็เป็นแค่เพียงดำริเท่านั้น
**เปิดโรดแมป ร.ฟ.ท.
ในบรรดาที่ดิน ร.ฟ.ท.ซึ่งมีกว่า 2 แสนไร่ทั่วประเทศ ฝ่ายบริหารทรัพย์สิน ร.ฟ.ท.ได้คัดสรรมา 18 แปลงทำเลทอง จัดทำแผนพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์เพื่อสร้างรายได้สำหรับปี 2558 เริ่มด้วย


1. 4 โครงการที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านบาท โดยทั้ง 4 แปลงนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อดำเนินงานตามพ.ร.บ.การให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินการ พ.ศ. 2556 ประกอบไปด้วย
1.1 พื้นที่แปลงมักกะสัน ขนาดพื้นที่ 297 ไร่ => ระยะเวลาเช่า 34 ปี ราคาเช่ารวม 5.6 หมื่นล้านบาท
1.2 พื้นที่แปลงสถานีแม่น้ำ ย่านคลองเตย ขนาดพื้นที่ 260 ไร่ => ระยะเวลาเช่า 35 ปี ค่าเช่ารวม 1,248 ล้านบาท
1.3 พื้นที่กม.11 ย่านพหลโยธิน ขนาดพื้นที่ 359 ไร่ => ระยะเวลาเช่า 37 ปี ราคาเช่ารวม 1.6 หมื่นล้านบาท
1.4 พื้นที่บริเวณสถานีกลางบางซื่อแห่งใหม่ ขนาดพื้นที่ 200 ไร่

2. นอกจากนั้นยังมีพื้นที่โครงการทางเชื่อมศูนย์คมนาคมพหลโยธิน ที่อยู่ระหว่างการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) และโครงการต่างๆที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ประกอบไปด้วย

2.1 พื้นที่บริเวณริมถนนรัชดาแปลง 4-5-6 ขนาดพื้นที่ 2.9 ไร่ (ทางสาย บาง ซื่อ - คลองตัน ในส่วนที่ไม่ได้ส่งมอบให้ รฟม.) => สำนักงานอัยการสูงสุดเช่าพื้นที่โดยไม่มีค่าธรรมเนียม ระยะเวลาเช่า 15 ปี ราคาเช่า 90 ล้านบาท

2.2 พื้นที่ริมถนนรัชดาแปลง 9 ขนาดพื้นที่ 1.09 ไร่ (ทางสาย บาง ซื่อ - คลองตัน ในส่วนที่ไม่ได้ส่งมอบให้ รฟม.) => ระยะเวลาเช่า 15 ปี ค่าเช่า 39 ล้านบาท

2.3 พื้นที่บริเวณเทิดพระเกียรติ(แปลงถาวร 2) ขนาดพื้นที่ 5.8 ไร่ (ทางสาย บาง ซื่อ - คลองตัน ในส่วนที่ไม่ได้ส่งมอบให้ รฟม.) => ปรับราคาค่าเช่าลงไปน้อยกว่า 124 ล้านบาท ขณะนี้ อยู่ระหว่างการเจรจาราคาเช่าใหม่กับสำนักอัยการฯ

2.4 พื้นที่สถานีศิลาอาสน์ จ.อุตรดิตถ์ ขนาดพื้นที่ 5.9 ไร่ => ระยะเวลาเช่า 34 ปี ราคา 22 ล้านบาท
2.5 พื้นที่สถานีภูเขาลาด ขนาด 12 ไร่ => ระยะเวลาเช่า 34 ปี ราคา 25 ล้านบาท
2.6 พื้นที่บริเวณที่หยุดรถตลาดหนองคาย จำนวน 19 ไร่ => ระยะเวลาเช่า 34 ปี ราคา 32 ล้านบาท
2.7 พื้นที่สถานีทุ่งสง จำนวน 6.5 ไร่ => ระยะเวลาเช่า 34 ปี ราคา 27 ล้านบาท
2.8 พื้นที่สถานีสงขลา ขนาด 8.1 ไร่ => ระยะเวลาเช่า 34 ปี ราคา 41 ล้านบาท
2.9 พื้นที่ท่านุ่นแปลง 1 ขนาด 132 ไร่ (ทางรถไฟสาย สุราษฎร์ธานี - ท่านุ่น) => ระยะเวลาเช่า 34 ปี ราคา 198 ล้านบาท
2.10 พื้นที่ท่านุ่นแปลง 2 ขนาด 228 ไร่ (ทางรถไฟสาย สุราษฎร์ธานี - ท่านุ่น) => ระยะเวลาเช่า 34 ปี ราคา 191 ล้านบาท
พื้นที่ท่านุ่นแปลง 3 ขนาด 317 ไร่ (ทางรถไฟสาย สุราษฎร์ธานี - ท่านุ่น) => ระยะเวลาเช่า 34 ปี ราคา 175 ล้านบาท

**บอร์ดไฟเขียวที่ดินแปลงใหญ่
ขณะนี้ที่ดินแปลงใหญ่ที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านบาทเรื่องได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ(บอร์ด)ร.ฟ.ท.เรียบร้อยแล้ว ส่วนแปลงสถานีกลางบางซื่ออยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้างในขณะนี้บอร์ดร.ฟ.ท.เห็นชอบให้เร่งดำเนินการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจ้างที่ปรึกษาเพื่อทบทวนการศึกษาเดิมให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฉบับใหม่ปี พ.ศ.2556 ให้ครอบคลุมเนื่องจากผลการศึกษาเดิมจะสอดคล้องกับพ.ร.บ.ปี พ.ศ.2535 ซึ่งจะต้องปฏิบัติควบคู่กันไปกับนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน

**ตั้งเป้ารายได้ 3 พันล้านบาท
แหล่งข่าวระดับสูงฝ่ายบริหารทรัพย์สิน ร.ฟ.ท.เผยว่า ปี 2558 นี้ กำหนดเป้าหมายในการหารายได้ไว้ประมาณ 3,000 ล้านบาท ล่าสุดแปลงพหลโยธินด้านหน้าองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) พื้นที่ประมาณ 7-8 ไร่ มูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท ดำเนินการโอนสิทธิ์เรียบร้อยแล้ว ส่วนแปลงปตท.สำนักงานใหญ่มูลค่า 800 ล้านบาทอยู่ระหว่างเตรียมเสนอบอร์ดพิจารณาร่างสัญญา แปลงการทางพิเศษแห่งประเทศไทยที่นำไปสร้างทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก มูลค่า 1,500 ล้านบาท อยู่ระหว่างบอร์ดร.ฟ.ท.พิจารณาเงื่อนไขรายละเอียดประเด็นกำหนดระยะสัญญา โครงการแปลงโอเอ ย่านประตูน้ำ-ราชปรารภ ขนาดประมาณ 2 ไร่ มูลค่าประมาณ 300 ล้านบาท

ส่วนที่เหลือคือจากแปลงอื่นๆที่จะทยอยสร้างรายได้เข้ามาเพิ่มเติมให้ครบ 3,000 ล้านบาทจะทยอยดำเนินการในปี 2558 นี้

**นำที่ดินต่างจังหวัดสร้างรายได้
สำหรับที่ดินแปลงที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดพบว่า
แปลงภูเขาลาด จังหวัดนครราชสีมา เห็นว่าปัจจุบันที่ดินชานเมืองแถบนี้น่าจะเอามาสร้างประโยชน์ได้จึงเร่งจัดทำผังการเช่าและกำหนดเงื่อนไขก่อนยื่นขออนุมัติประกาศประกวดราคาต่อไป

สำหรับแปลงที่หยุดรถตลาดหนองคายจะปรับแผนใหม่ ส่วนใหญ่ที่ดินเป็นน้ำเพราะเป็นที่ดิน ที่ได้จากการถมบึง และภาวะตลาดยังไม่เอื้ออำนวย อาจจะต้องหาแปลงอื่นเข้าไปเสริมหรืออาจต้องทดแทนเป็นแผนใหม่

เช่นเดียวกับศิลาอาสน์ จ.อุตรดิตถ์ เนื่องจากผังเช่าบางส่วนอยู่ในเขต 40 เมตรที่สงวนเพื่อการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงในอนาคต คาดว่าประมาณ 4-5 เดือนนี้น่าจะออกประกาศเชิญชวนได้

แปลงสงขลา จะติดเรื่องการก่อสร้างอาคารชดเชยให้กับอาคารเพื่อการจำหน่ายตั๋วล่วงหน้า จึงต้องหาพื้นที่ใหม่ให้สามารถขายตั๋วได้ต่อเนื่องหากมีการก่อสร้างในพื้นที่ดังกล่าว

แปลงทุ่งสง ติดปัญหาเรื่องของอาคารที่กำหนดเงื่อนไขว่าสร้างอาคารสโมสรให้ผู้เช่า จึงต้องหาพื้นที่สร้างอาคารสโมสรให้ใหม่ทดแทน ขณะนี้อยู่ระหว่างคิดมูลค่าสโมสรว่าจะมีมูลค่าเท่าไร

โครงการท่านุ่นแปลง 1-2-3 ที่จัดว่าเป็นแปลงสวยที่สุดนั้นยังปรากฏว่ามีผู้ออกโฉนดทับซ้อนจำนวน 11 รายอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการแก้ไขด้วยการเพิกถอนออกจากพื้นที่ดังกล่าว จึงต้องมีการทบทวนแผนใหม่โดยจะเอาแปลงกาญจนบุรีซึ่งมีขนาดพื้นที่ประมาณ 131 ไร่เข้าไปหารายได้แทน
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 109, 110, 111 ... 197, 198, 199  Next
Page 110 of 199

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©