RailServe.Com

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Ads Service

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311234
ทั่วไป:13180161
ทั้งหมด:13491395
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าวแผนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ 2558-65
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ข่าวแผนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ 2558-65
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 56, 57, 58 ... 121, 122, 123  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44325
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 21/11/2015 3:05 pm    Post subject: Reply with quote

"บิ๊กตู่" แจกแจงสถานการณ์โครงการก่อสร้างถนน-รถไฟ
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 20 พ.ย. 2558 เวลา 21:01:47 น.

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ออกอากาศวันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน ถึงความคืบหน้าประเด็นเศรษฐกิจว่า กระทรวงคมนาได้สรุปสถานะโครงการสำคัญต่างๆของรัฐบาล ดังนี้

1) ทางถนน สายพัทยา - มาบตาพุด ระยะทาง 32 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการประกวดราคา คาดว่าจะมีการลงนามในสัญญาภายในเดือนมกราคมปีหน้า และจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2562, สายบางปะอิน - นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการปรับปรุงรายงาน EIA เพื่อลดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน โดยจะสามารถเริ่มประกวดราคาได้ในเดือนธันวาคมปีนี้ โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง เดือนเมษายนปีหน้า และเปิดให้บริการได้ในปี 2562, สายบางใหญ่ - กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการปรับปรุงรายงาน EIA เช่นเดียวกัน โดยจะเริ่มประกวดราคาได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เริ่มดำเนินการก่อสร้างในเดือนมิถุนายนและเปิดให้บริการได้ในปี 2562สำหรับสายบางปะอิน กับสายบางใหญ่จะดำเนินโครงการผ่าน PPP Fast Track

2) โครงการพัฒนาระบบการขนส่งทางรถไฟระหว่างเมืองภายใต้ความร่วมมือกับต่างประเทศ 2 โครงการได้แก่
- โครงการก่อสร้างทางรถไฟขนาดทางมาตรฐานกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน
ในช่วงที่ 1 กรุงเทพ - แก่งคอย และ
ระยะที่ 3 แก่งคอย - นครราชสีมา
คาดว่าจะสามารถสรุปจำนวนสถานีสัดส่วนแนวเส้นทางเดิมและเส้นทางใหม่ เพื่อใช้ในการออกแบบได้แล้วเสร็จ และสามารถเริ่มก่อสร้างได้ภายในเดือนธันวาคมนี้
ส่วนช่วงที่ 2 แก่งคอย - มาบตาพุด อยู่ระหว่างการเร่งรัดดำเนินการ

สำหรับโครงภายใต้กรอบความร่วมมือในการพัฒนาระบบทางรถไฟของไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น เส้นทาง กาญจนบุรี- กรุงเทพ - อรัญประเทศ และกาญจนบุรี- กรุงเทพ-แหลมฉบัง จะมีกำหนดให้มีการลงนามใน MOC ในเร็วๆ นี้

ส่วนเส้นทางกรุงเทพ - เชียงใหม่ ฝ่ายญี่ปุ่นได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาทำการสำรวจและจัดทำรายงานความเหมาะสม คาดว่าจะสามารถนำเสนอ ครม. เพื่อเห็นชอบในโครงการได้ในเดือนมิถุนายน 2559

----

ถกญี่ปุ่น ดึงร่วมมือสร้างรถไฟ กาญจนบุรี-สระแก้ว
มติชนออนไลน์ วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 เวลา 10:15:06 น.

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังหารือนายชินโก ซาโตะ(Shingo Sato) ประธานบริษัท MITSUI & CO.(Thailand)Ltd. ถึงแนวทางเดินรถโครงการรถไฟแนว ระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ โดยระบุว่า บริษัท MITSUI สนใจเรื่องการทำ O&M คือการเดินรถ และการบำรุงรักษาในเส้นทางความ ร่วมมือโครงการรถไฟระหว่างไทยกับญี่ปุ่น สายกาญจนบุรี-กรุงเทพ-สระแก้ว-แหลมฉบัง ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทดังกล่าวได้เข้าพบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ขอให้ทางบริษัทเร่งศึกษาแผนการเดินรถในส่วนนี้ เพราะถือเป็นโอกาสในการขนส่งสินค้าไปสู่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทวาย บริษัทฯได้มาติดตามสอบถามขอทราบ รายละเอียด และรูปแบบการทำงานของ กระทรวงคมนาคมว่า จะมีการดำเนินการอย่างไร โดยทางกระทรวงฯ ได้ชี้แจงความคืบหน้า ที่อยู่ระหว่างเตรียมการเดินทางไปหารือ และลงนามสัญญาร่วมโครงการของรองนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 25-28 พ.ย.นี้ โดยจะมี การลงนามในเอกสารความร่วมมือเส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพ-แหลมฉบัง-สระแก้ว พร้อมกับการลงนามสัญญาความร่วมมือ 3 ขั้นตอน

ประกอบไปด้วย 1.จะพัฒนารางเดี่ยว ซึ่งขณะนี้ ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้มีการปรับปรุงรางที่ทรุดโทรมเป็นช่วงๆ และหากหารือกับญี่ปุ่นแล้ว น่าจะสามารถ เข้ามาดำเนินการให้บริการได้เลย แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการให้บริการในเส้นทางดังกล่าวแล้วก็ตามแต่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ขั้นตอนที่ 2 จะมีการลงนามเพื่อจัดตั้ง บริษัทเดินรถร่วมกันระหว่างไทย-ญี่ปุ่น เพื่อ ทำธุรกิจ ทำการตลาดในเส้นทางกาญจนบุรี- กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง-สระแก้ว และขั้นตอนที่ 3 จะพัฒนาไปสู่การทำทางคู่ และการปรับเปลี่ยนจากการใช้หัวรถจักรดีเซลเป็นรถไฟฟ้าในอนาคต ซึ่งในส่วนของขั้นตอนนี้จะต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาอีกระยะ

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันขั้นตอนพัฒนา โครงการในส่วนแรก จะมีการจัดทำรถไฟรางเดี่ยว ให้เชื่อมต่อกับโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งปัจจุบัน บริษัท อิตาเลียนไทย จำกัด(มหาชน) ได้ไปลงทุนที่เมียนมาแล้ว

"นอกจากจัดทำรถไฟรางเดี่ยวเข้าไปทวายแล้วตามแผนงาน หลังจากนั้นเราก็จะทำถนนเชื่อมโยงเข้าไป ซึ่งทางญี่ปุ่นได้มีการสำรวจออกแบบเบื้องต้นไปแล้ว และจะเชื่อมเส้นทางถนนกับเส้นทางรถไฟให้ไปด้วยกันได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ ครม.ได้อนุมัติงบประมาณ 4.5 พันล้านบาท เพื่อทำถนนเชื่อมจากน้ำพุร้อน ไปยังเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทวาย แต่ก็ยังพบว่า ขณะนี้เมียนมายังไม่สามารถนำแผนพัฒนาเข้าสู่รัฐสภาได้ ทำให้ในช่วงนี้ทางญี่ปุ่นก็จะศึกษาข้อมูลถนน และรถไฟจากพุน้ำร้อนไปทวายด้วยกันเลย" ส่วนของกรอบความร่วมมือโครงการรถไฟไทย-จีน ขณะนี้ได้ข้อสรุปถึงกำหนดการ ประชาหารือครั้งที่ 9 ที่จะมีการจัดขึ้นใน กรุงเทพฯ วันที่ 3 ธ.ค.นี้ พร้อมกับจะมีการลงนาม ในกรอบการดำเนินงานครั้งที่ 8 ที่ครม.เห็นชอบไปก่อนหน้านี้แล้ว นอกจากนี้ในวันเดียวกันจะมีการเดินทางลงพื้นที่ในการจัดทำพิธีเปิดโครงการและวางศิลาฤกษ์ ที่ศูนย์ควบคุมการเดินรถ และบริการเดินรถ(โอซีซี) ที่เชียงรากน้อย ซึ่งเตรียมจัดขึ้นในวันที่ 19 ธ.ค.นี้
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 23/11/2015 9:47 pm    Post subject: Reply with quote

"จีน-ญี่ปุ่น" ชิงไหวชิงพริบ ปักธงจอง "ระบบรถไฟไทย"
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
คลิกภาพเพื่อขยาย
23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 เวลา 19:00:54 น.


ยังคงเป็นที่จับตาความคืบหน้าโปรเจ็กต์รถไฟไทย-จีน-ญี่ปุ่นภายใต้การผลักดัน "รัฐบาล คสช."

ผ่านมาเกือบ 1 ปี "รถไฟไทย-จีน" เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคายและแก่งคอย-มาบตาพุด 873 กม.หลังลงนาม MOU เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2557

ถึงแม้เงินลงทุนยังไม่ชัด เพื่อจะนำไปสู่จุดคิกออฟการก่อสร้าง เนื่องจากต้องรอบทสรุปสุดท้ายรูปแบบการลงทุนจะร่วมกันลงขันในบริษัทเฉพาะกิจ (SPV) วงเงินกู้และอัตราดอกเบี้ย

ครบ 1 ปีรถไฟไทย-จีน

แต่ให้เห็นภาพก้าวหน้าโครงการตลอด 1 ปี ที่ผ่านการเจรจามาถึง 8 ครั้ง ในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ ทางรัฐบาลไทยกับจีนจะทำพิธีวางศิลาฤกษ์ มี "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" รมว.คมนาคมและรองเลขาธิการสภาพัฒน์ของจีนร่วมกันปักธงโครงการที่สถานีเชียงรากน้อย จะเป็นศูนย์ควบคุมการบริหารเดินรถ (OCC)

เป้าหมายเพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงจุดเริ่มต้นโครงการ และตีตราจองเส้นทางนี้ไว้ก่อน รวมถึงเป็นการฉลองครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน



ส่วนรายละเอียดเชิงลึกยังลุ้นกันต่อ ฝ่ายจีนจะใจอ่อนลดอัตราดอกเบี้ยให้ 2% หรือไม่ ในเมื่อล่าสุดจีนยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.5% (ไม่รวมความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน) ระยะเวลากู้ 20 ปี

ทั้งนี้ในการประชุม "ครม.-คณะรัฐมนตรี" วันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมรายงานความคืบหน้าให้ที่ประชุมรับทราบถึงความร่วมมือจะลงนามร่วมกันเร็ว ๆ นี้

"อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้รายงานความคืบหน้ารถไฟไทย-จีนเรื่องกรอบความร่วมมือ 5 เรื่อง 1.การพัฒนารางรถไฟให้เป็นมาตรฐาน 1.435 เมตร แบ่งเป็น4 ตอน คือ กรุงเทพฯ-แก่งคอย, แก่งคอย-มาบตาพุด, แก่งคอย-โคราช และโคราช-หนองคาย จะเริ่มสร้างกรุงเทพฯ-โคราชเดือนพ.ค. 2559 2.การเดินรถ จะจัดตั้ง SPV ลงทุนระบบตัวรถ การเดินรถและบำรุงรักษา สวนสัดส่วนลงทุนต้องหารือต่อไป ซึ่งไทยเสนอให้ลงทุนสัดส่วน 50:50

3.ขอบเขตของงาน จีนศึกษาความเหมาะสม สำรวจและออกแบบโครงการ ได้ส่งผลศึกษาระยะแรกแล้ว รอข้อมูลเพิ่ม เช่น ปริมาณผู้โดยสาร การขนส่งสินค้า อีกทั้งเห็นชอบหลักเกณฑ์เงินกู้จากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีน (ไชน่าเอ็กซิมแบงก์) ต้องให้กู้อัตราผ่อนปรนที่สุด เมื่อเทียบกับแหล่งเงินกู้อื่น 4.การเดินรถและซ่อมบำรุง จีนรับผิดชอบ 3 ปีแรก ช่วง 3-7 ปี ไทยและจีนรับผิดชอบ 50:50 หลังปีที่ 7 ไทยรับผิดชอบทั้งหมด และ 5.จะพัฒนาบุคลากรร่วมกัน

19 ธ.ค.ปักธงสัญลักษณ์โครงการ

"วันที่ 19 ธ.ค.จะมีพิธีแสดงถึงการเริ่มต้นโครงการที่สถานีเชียงรากน้อย หลังจีนส่งแบบรายละเอียดครบทั้งโครงการ จะเสนอครม.อนุมัติหาผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งจีนให้บริษัท CRCC และ CREC ดำเนินการร่วมกับผู้รับเหมาไทย แต่ขอย้ำว่าก่อนจะเริ่มสร้างต้องได้ข้อยุติแบบรายละเอียด การลงทุน เงินกู้ ดอกเบี้ย" นายอาคมกล่าวย้ำ

ทั้งนี้ มีการข้อสังเกตว่าการลงนามกรอบความร่วมมือระหว่างไทย-จีนพร้อมกันทั้งรถไฟและการซื้อสินค้าเกษตร น่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ทั้งที่ผ่านมาจีนรีรอจะลงนามซื้อข้าวและยางพารา แต่เมื่อโครงการรถไฟไทย-จีน ฝ่ายไทยตกลงจะทำพิธีวางศิลาฤกษ์ ฝ่ายจีนจึงตกลงลงนามกรอบความร่วมมือด้วย

"กรอบความร่วมมือรถไฟไทย-จีนจะลงนามเร็ว ๆ นี้ จะพร้อมกับกรอบความร่วมมืออีก 2 ฉบับ คือ สัญญาซื้อขายข้าวฤดูกาลผลิตใหม่กับบริษัท คอฟโก้ และสัญญาซื้อขายยางพารา 2 แสนตันกับบริษัท Sinochem" แหล่งข่าวกล่าว

ญี่ปุ่นเร่งสปีดรถไฟเชื่อมทวาย

ในส่วนของ "รถไฟไทย-ญี่ปุ่น" แม้จะลงนามบันทึกแสดงเจตจำนง (MOI) ระหว่างกระทรวงคมนาคมของไทยกับกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น เมื่อกลางปี 2558 แต่ดูเหมือนว่าญี่ปุ่นกำลังเร่งสปีดโครงการให้เกิดเร็วขึ้น โดยภาพความชัดเจนจะเกิดขึ้นช่วงวันที่ 25-28 พ.ย.นี้ หลัง "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เยือนประเทศญี่ปุ่น

นายอาคมกล่าวว่า รถไฟไทย-ญี่ปุ่น จะลงนาม MOU ระหว่างกระทรวงคมนาคมไทยกับญี่ปุ่นเส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจด้านตะวันออก-ตะวันตกด้านล่างก่อน เนื่องจากเป็นเส้นทางพาดผ่านกลุ่มคลัสเตอร์ทางเศรษฐกิจในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง

ประเดิมยกเครื่องรางเก่า

แบ่งเป็น 3 ส่วน จะเริ่มเส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-สระแก้ว-แหลมฉบังเป็นลำดับแรก โดยปรับปรุงทางและรางเก่าขนาด 1 เมตรให้แข็งแรง เพื่อแก้ปัญหาจุดตัดและรองรับการขนส่งสินค้าจากท่าเรือแหลมฉบังต่อไปยังทวาย จะเริ่มสร้างปีหน้า

ส่วนการเดินรถจะตั้ง SPV ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับเอกชนญี่ปุ่น ขณะที่การพัฒนาเป็นรถไฟทางคู่ จะดำเนินการหลังผลศึกษาเสร็จ

สำหรับรถไฟเส้นทางแม่สอด-มุกดาหาร 770 กม. จะปรับแนวใหม่ช่วงแม่สอด-ตาก ลงมากำแพงเพชร-นครสวรรค์ และให้ญี่ปุ่นศึกษาช่วงพิษณุโลก-ขอนแก่นเพิ่ม ส่วนช่วงานไผ่-นครพนม-มุกดาหาร ศึกษาแล้ว

ด้านรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 672 กม. ผลศึกษาจะเสร็จปีหน้า เริ่มสร้างต้นปี 2560 แต่จะเสนอ ครม.อนุมัติหลักการ มิ.ย. 2559

"อาคม" ย้ำว่า รถไฟไทย-ญี่ปุ่น เป็นโครงข่ายเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ที่รัฐบาลไทยกำลังเร่งรัด เตรียมพร้อมรับเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก มุกดาหาร สระแก้ว กาญจนบุรีและทวายที่รัฐบาลไทย พม่าและญี่ปุ่นจะร่วมกันพัฒนาโครงการ

เป็นความคืบหน้าของสองยักษ์ระบบรางที่กำลังรุกคืบมายังประเทศไทย ส่วนใครจะปักธงสำเร็จก่อนกัน ต้องติดตามกันต่อไปนับจากนี้
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 24/11/2015 5:19 pm    Post subject: Reply with quote

“บิ๊กตู่” ฉุน รถไฟไทยจีนล่าช้า
หมวด: เศรษฐกิจ
เดลินิวส์
วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน 2558 เวลา 15:42 น.

“บิ๊กตู่” ฉุน รถไฟไทยจีนล่าช้า แถมถูกจีนโก่งดอกเบี้ย 2.5% ตีโปร่งโครงการเป็น 5 แสนล้าน สั่ง “ประวิตร” ควง “สมคิด” ถกบิ๊กจีน หาข้อยุติด่วน ครม.ไฟเขียวร่างลงนามพัฒนารถไฟไทย-ญี่ปุ่น

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความกังวลในที่ประชุมครม.ถึงปัญหาความล่าช้าโครงการลงทุนก่อสร้างรถไฟไทย-จีน เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-มาบตาพุดและเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ รวมถึงต้องการผลักดันความร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่น 3 เส้นทางให้เกิดโดยเร็ว โดยเฉพาะโครงการรถไฟไทย-จีน ที่นายกฯ ได้กำชับว่าเหตุใดถึงไม่คืบหน้า ทั้งที่ตัวแทนรัฐบาลไทย-จีน มีการประชุมมาแล้ว 8-9 ครั้ง ตั้งแต่เดือนม.ค.58 แต่ยังไม่สามารถสรุปการก่อสร้างได้เสียที นอกจากนี้ ยังพบล่าสุดทางการจีน ได้เสนอมูลค่าโครงการลงทุนรถไฟไทย-จีน เพิ่มสูงขึ้นเป็น 5 แสนล้านบาท มากกว่าเดิมที่ไทยเคยประเมินไว้ไม่เกิน 4 แสนล้านบาท ที่สำคัญจีนยังเสนอดอกเบี้ยเงินกู้ให้ไทยใช้ก่อสร้าง 2.5% ซึ่งสูงกว่าที่ไทยต้องการ 2%

ดังนั้นในเร็ว ๆ นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จึงมอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางไปหารือกับตัวแทนระดับสูงของรัฐบาลจีน เพื่อหาข้อยุติแนวทางลงทุนโดยด่วนที่สุด ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมได้ชี้แจงนายกฯ ไปว่า ได้พยายามติดตามความคืบหน้ามาตลอด และแจ้งว่าจีนเพิ่งส่งผลรายงานการศึกษาความคุ้มค่าของโครงการ และประเมินมูลค่าเบื้องต้นของโครงการมาเมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งสาเหตุที่โครงการแพงขึ้นเนื่องจาก หลายเส้นทางเป็นทางยกระดับ และต้องขุดเจาะอุโมงค์ลอดภูเขา ทำให้ต้องใช้งบประมาณเพิ่ม แต่ของไทยต้องการเน้นก่อสร้างเส้นทางราบเป็นหลัก ขณะที่เรื่องดอกเบี้ย จีนแจ้งว่าได้ให้ดอกเบี้ยไทยอัตราที่ต่ำแล้ว เพราะลาวได้ดอกเบี้ย 3% แต่ได้ไทยเพียง 2.5% แต่เรื่องนี้รูปแบบการก่อสร้างโครงการแตกต่างกัน เพราะประเทศลาวจะให้ผู้รับเหมาจีนเข้ามาก่อสร้างเป็นหลัก แต่โครงการในไทยจะใช้ผู้รับเหมา วัสดุก่อสร้างในไทยเข้ามาก่อสร้างมากกว่าลาว ซึ่งท้ายที่สุดถ้าจีนยังให้ดอกเบี้ยเกิน 2% ไทยจะเลือกหาเงินกู้ในประเทศแทน เพราะในการหารือกับ รมว.คลัง ก็ยืนยันว่าหาแหล่งเงินกู้ในประเทศได้ และยังบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีกว่า เพราะกู้เป็นสกุลเงินบาท อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าโครงการรถไฟไทย-จีน ยังเดินหน้าต่อ และเปิดตัววางศิลาฤกษ์ตั้งศูนย์ควบคุมการเดินรถก่อน ที่เชียงรากน้อย จ.ปทุมธานี ในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ และคาดเริ่มตอกเสาเข็มสร้างทางเดือนพ.ค.นี้

นอกจากนี้นายกฯประยุทธ์ ยังได้ย้ำให้กระทรวงคมนาคมศึกษาเส้นทางรถไฟต่อเชื่อมไทย-มาเลเซีย ซึ่งขณะนี้มาเลเซียได้สร้างทางมารอเชื่อมต่อที่ชายแดนปาดังเบซาร์ จ.สงขลา โดยกระทรวงฯ ชี้แจงกลับว่าสำนักงานนโยบายและแผนขนส่งและจราจร (สนข.) ได้มีการศึกษาเช่นกัน เป็นส่วนเส้นทางภาคเหนือสู่ภาคใต้ เริ่มจากเชียงใหม่-กรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ นายออมสินกล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบ ร่างลงนามความร่วมมือพัฒนาระบบรางไทย-ญี่ปุ่น เชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกตอนล่าง (เอ็มโอซี) เส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ–แหลมฉบัง-สระแก้ว ซึ่งมอบหมายให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เดินทางไปร่วมลงนามกับกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น ในวันที่ 26-28 พ.ย.นี้ โดยสาระความร่วมมือประกอบด้วย 3 ระยะ ได้แก่ การปรับปรุงทางเดิมขนาด 1 เมตร ตั้งแต่กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ –แหลมฉบัง-สระแก้ว รวมถึงปรับปรุงจุดตัดทางรถไฟ เพื่อให้เดินรถได้เร็วขึ้น ช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าได้ ซึ่งคาดโครงการนี้จะเริ่มได้ก่อน และนำรถมินิคอนเทนเนอร์มาทดสอบได้เดือนม.ค.59 ส่วนระยะที่สอง จะร่วมทุนการเดินรถ พร้อมกับเสนอให้มีจัดตั้งบริษัทร่วมไทยระหว่างทั้ง 2 ประเทศเพื่อบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ และระยะสุดท้าย จะลงทุนขยายเส้นทางรถไฟทางเดี่ยว เชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านทั้งเมียนมา และกัมพูชา ได้แก่ เส้นทางกาญจนบุรี-พุน้ำร้อน ระยะทาง 36 กม.และ คลองลึก จ.สระแก้ว-ปอยเปต 6 กม.ขณะเดียวกันจะขยายบางช่วงให้เป็นรถไฟทางคู่ อำนวยความสะดวกในการเดินทางยิ่งขึ้น “ตอนนี้ยังไม่ได้ลงรายละเอียดว่าไทยหรือญี่ปุ่นจะต้องลงทุนใช้งบประมาณเท่าไร แต่คาดหวังความร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่น น่าจะอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าได้เร็วขึ้น โดยญี่ปุ่นก็ต้องการให้เกิดเร็ว เพราะเชื่อมการขนส่งจากเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายไปถึงท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง หรือเลือกส่งต่อไปกัมพูชา ผ่านปอยเปต และทะลุไปถึงเวียดนามได้ด้วย”“

//---------------

นายกฯสั่งพลเอกประวิตร-สมคิดไปเจรจาดอกเบี้ยเงินกู้รถไฟไทยจีน
กอง บก.ข่าวเศรษฐกิจ
สำนักข่าวไทย
วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน 2558 เวลา 4:08 PM


กรุงเทพฯ 24 พ.ย.-นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันนี้ พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สอบถามความคืบหน้าโครงการลงทุนระบบรางรถไฟไทย-จีน ที่มีการประชุมร่วมสองฝ่าย 8-9 ครั้งแต่โครงการยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร และขอให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดดำเนินโครงการให้เร็วขึ้น โดยนายออมสิน กล่าวว่า ได้ชี้แจงให้นายกรัฐมนตรีทราบว่า การดำเนินโครงการยังเป็นไปตามแผนที่กระทรวงคมนาคมวางไว้โดยจะมีการดำเนินโครงการอย่างรอบคอบ ที่ผ่านมายอมรับว่า มีประเด็นที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ เช่น ปัญหาอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่จีนจะให้กับไทยในโครงการนี้ จีนยืนยันจะคิดร้อยละ 2.5 ต่อปี แต่กระทรวงคมนาคมเห็นว่า ยังสูงเกินไปและกระทรวงคมนาคมยังยืนยันจุดยืนว่า หากจีนไม่ให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำกว่าร้อยละ 2 โครงการดังกล่าว สามารถใช้แหล่งเงินกู้ในประเทศได้ และหลังจากชี้แจงประเด็นให้นายกรัฐมนตรีทราบ นายกฯจึงสั่งการให้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เดินทางไปจีนเพื่อเจรจาให้ได้ข้อยุติในเรื่องดังกล่าว

นอกจากนี้ รมช.กระทรวงคมนาคม ยังกล่าวถึงปัญหามูลค่าโครงการที่จีนได้ลงไปสำรวจพื้นที่และออกแบบโครงการเบื้องต้นพร้อมกับเสนอข้อมูลมูลค่าโครงการให้ไทยพิจารณาพบว่า โครงการมีมูลค่าประมาณ 5 แสนล้านบาท สูงกว่าที่ไทยเคยประเมินไว้ที่ 4 แสนล้านบาท เรื่องนี้ ฝ่ายไทยจำเป็นต้องพิจารณารายละเอียดของโครงการลงทุนในแต่ละงานก่อสร้าง เพื่อไม่ให้มูลค่าโครงการสูงกว่าที่ฝ่ายไทยเคยประเมินไว้ ส่วนประเด็นที่มีข้อสงสัยว่า ทำไมไทยไม่รับอัตราดอกเบี้ยที่จีนเสนอ ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเช่น สปป.ลาว ยังสามารถรับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ของจีนได้นั้น ในที่ประชุมครม.วันนี้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงในที่ประชุมครม.ว่า การลงทุนระบบรางของจีนไปสปป.ลาวแตกต่างจากการลงทุนของไทย เนื่องจากการลงทุนในสปป.ลาวเป็นการลงทุนแบ่งกันสองฝ่ายในสัดส่วน 70 ต่อ 30 จึงเป็นประเด็นที่ทำให้มีอัตราดอกเบี้ยต่างกัน

นอกจากนี้ ที่ประชุมครม.วันนี้ ยังเห็นชอบร่างกรอบความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่น ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของไทยจะร่วมลงนามกับญี่ปุ่นในวันที่ 27-28 พ.ย.58 ในส่วนของโครงการเส้นทางรถไฟระเบียงเศรษฐกิจที่ญี่ปุ่นแสดงความสนใจเข้ามาลงทุนโครงการระบบรางขนาด 1 เมตรหรือมิเตอร์เกจ ในส่วนของเส้นทางรถไฟที่ยังขาดอยู่ในช่วงการญจนบุรี-พุน้ำร้อน และคลองลึก-ชายแดนกัมพูชา ซึ่งภายหลังลงนามความร่วมมือ ญี่ปุ่นก็จะเดินหน้าศึกษารายละเอียดของโครงการ เพื่อให้เกิดความร่วมและเกิดการสร้างโครงการในอนาคต-

//-----------------

"บิ๊กตู่" เกาะติดรถไฟไทย-จีน-ญี่ปุ่น ส่ง "ประวิตร-สมคิด" เจรจาจีนลดเงินลงทุน-ดอกเบี้ย
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน 2558 เวลา 16:40:51 น.


"บิ๊กตู่" เกาะติดรถไฟไทย-จีน-ญี่ปุ่น ส่ง "ประวิตร-สมคิด" เจรจาจีนลดเงินลงทุน-ดอกเบี้ย ดีเดย์ ม.ค.ญี่ปุ่นคิกออฟเดินรถสินค้า "กาญจน์-สระแก้ว"

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา อนุมัติการลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOC) ด้านระบบรางกับรัฐบาลญี่ปุ่น เส้นทางแนวตะวันออก-ตะวันตกด้านใต้ ช่วงบ้านพุน้ำร้อน-กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง-อรัญประเทศ ระยะทาง 574 กิโลเมตร เป็นรางรถไฟขนาด 1 เมตร ของเดิมซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะมีการปรับปรุงเส้นทางต่าง ๆ เหล่านั้น

อีกทั้งจะต่อขยายเส้นทางเพิ่มเติมเล็กน้อย ในช่วงกาญจนบุรี-ด่านพุน้ำร้อน ที่ยังขาดอีกประมาณ 30 กิโลเมตร และช่วงอรัญประเทศ-กัมพูชา อีก 6 กิโลเมตร รวมระยะทาง 42 กิโลเมตร

โดยระหว่างวันที่ 27-28 พ.ย.นี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นทำการลงนามบันทึกความร่วมมือ ณ โตเกียว หลังจากมีการลงนามเสร็จแล้วในช่วงเดือน ม.ค.2559 ทางประเทศญี่ปุ่นจะทดลองเดินรถขนสินค้าขนาด 12 ฟุต ตามเส้นทางดังกล่าวเพื่อเป็นการแสดงถึงจุดเริ่มต้นโครงการ

นายออมสินกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังเร่งรัดการพิจารณาโครงการรถไฟไทย-จีนและรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เตรียมการให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เดินทางไปที่ประเทศจีน

เพื่อเจรจาให้แจกแจงข้อมูลการก่อสร้าง เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงด้านมูลค่าโครงการจาก 4 แสนล้านบาทเป็น 5 แสนล้านบาท และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยังสูงและในวันนี้ได้หารือกับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังถึงอัตราดอกเบี้ย 2.5% เสนอมา หากไม่เกิน 2% ก็สามารถกู้ภายในประเทศ

//-----------------------
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 25/11/2015 10:39 am    Post subject: Reply with quote

ม.ค.ปีหน้าคิกออฟรถไฟไทย-ญี่ปุ่นวิ่งฉลุย "กาญจน์-สระแก้ว"
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
26 พฤศจิกายน 2558 เวลา 22:00:13 น.


คมนาคมเร่งสุดตัวรถไฟไทย-จีน-ญี่ปุ่น เตรียมฤกษ์คิกออฟโครงการ สร้างความเชื่อมั่น ดีเดย์ 19 ธ.ค.ปักธงสถานีเชียงรากน้อย เปิดทางจีนฮุบคุมระบบเดินรถทั่วประเทศ ปลาย พ.ย.เซ็น MOU กับญี่ปุ่นดัน "กาญจนบุรี-แหลมฉบัง" ม.ค.เปิดทดลองเดินรถขนสินค้า

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ความคืบหน้าของรถไฟไทย-จีนและไทย-ญี่ปุ่นก้าวหน้าต่อเนื่อง ขณะนี้คณะทำงานศึกษาโครงการทีมงานของญี่ปุ่นเส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-สระแก้ว-แหลมฉบัง 574 กม.นำโดยองค์การเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ได้รายงานผลการศึกษา 5 เดือนที่ผ่านมา หลังได้ลงนามบันทึกแสดงเจตจำนง (MOI) ระหว่างกระทรวงคมนาคมของไทยกับกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) พัฒนาระบบรถไฟราง 1 เมตร และ 1.435 เมตร

โดยเส้นทางรถไฟเชื่อมตะวันออก-ตะวันตกด้านใต้ จะมีการลงนาม MOC กับญี่ปุ่น วันที่ 25-28 พ.ย.นี้ ช่วงที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ได้ไปโรดโชว์นักลงทุนและเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ โดยญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-สระแก้ว-แหลมฉบัง เป็นลำดับแรก

แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ กรุงเทพฯ-กาญจนบุรี 180 กม., กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ 255 กม. และกรุงเทพฯ-แหลมฉบัง 139 กม. เริ่มพัฒนาเส้นทางเดิมที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กำลังปรับปรุงเป็นช่วง ๆ ให้แข็งแรง โดยจัดตั้งบริษัทร่วมทุน (SPV) เดินรถขนส่งสินค้า และผลศึกษาเสร็จจะก่อสร้างเป็นรถไฟทางคู่ขนาด 1 เมตร และนำหัวรถจักรไฟฟ้ามาวิ่งให้บริการ

"ม.ค.ปีหน้าทางญี่ปุ่นจะนำรถตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 12 เมตร (ขนาด 40 ฟุต - รถ BCF) เป็นรถขนาดมินิไซซ์ขนสินค้าได้ 15 ตู้ ของ JR Freight วิ่งทดสอบช่วงกาญจนบุรี-สระแก้ว เป็นการคิกออฟโครงการที่ร่วมมือกัน ส่วนการเดินรถร่วมกันรอผลศึกษาเสร็จปีหน้า"

นายกมล ตั้งกิจเจริญชัย รองผู้ว่าการร.ฟ.ท. เปิดเผยว่ากำลังปรับปรุงเส้นทางช่วงฉะเชิงเทรา-คลองลึก 176 กม. และแยกหนองปลาดุก-กาญจนบุรี กว่า 100 กม.รองรับการเดินรถโครงการรถไฟไทย-ญี่ปุ่น จะเริ่มทดลองเดือน ม.ค.-ก.พ.ปีหน้า

นายอาคมยังกล่าวถึงความคืบหน้ารถไฟไทย-จีนว่า จะประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างไทยกับจีน ครั้งที่ 9 และลงนามกรอบความร่วมมือ วันที่ 3 ธ.ค.จากนั้นวันที่ 19 ธ.ค.นี้ จะมีพิธีวางศิลาฤกษ์เพื่อเริ่มต้นโครงการที่สถานีรถไฟเชียงรากน้อย ศูนย์ควบคุมและบริหารรถ

ส่วนการก่อสร้างจะดำเนินการช่วงกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา เป็นลำดับแรก มีกำหนดเริ่มสร้างเดือน พ.ค. 2559 หลังได้ข้อยุติครบทุกด้านแล้ว

รวมถึงพื้นที่ทับซ้อนกันช่วงกรุงเทพฯ-บ้านภาชี ระหว่างรถไฟไทย-จีนและรถไฟไทย-ญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นต้องการแยกรางสร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ที่ใช้ระบบชินคันเซ็น ขณะที่พื้นที่มีจำกัด ต้องหารือร่วมกันต่อไป

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวเพิ่มเติมว่า มีการตกลงกับฝ่ายจีน เพื่อให้โครงการสร้างได้เร็ว ทางจีนยอมให้ปรับจุดเริ่มต้นโครงการจากเดิมสถานีบางซื่อ อยู่ที่สถานีเชียงรากน้อย เพราะปัจจุบันนอกจากจะทับซ้อนแนวรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ต้องรื้อย้ายท่อก๊าซของ ปตท.ด้วย จึงทำให้การวางศิลาฤกษ์โครงการถึงมาเริ่มที่สถานีเชียงรากน้อยเป็นจุดแรก

โดยเชียงรากน้อยในอนาคตจะเป็นจุดก่อสร้างศูนย์ควบคุมการเดินรถทั้งรถไฟความเร็วปานกลางของจีนที่วิ่งด้วยความเร็ว 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง และรองรับระบบรถไฟราง 1 เมตรที่มีอยู่ปัจจุบัน และที่จะสร้างเพิ่มในอนาคตทั่วประเทศ อีกทั้งยังรวมถึงระบบราง 1.435 เมตรจะสร้างในอนาคต รวมถึงรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-หัวหิน

//------------------

(เพิ่มเติม) ครม.อนุมัติ MOU รัฐบาลญี่ปุ่นพัฒนาเส้นทางขนส่งตามแนวเศรษฐกิจตอ.-ตต. 574 กม.
ข่าวเศรษฐกิจ สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) --
อังคารที่ 24 พฤศจิกายน 2558 16:42:10 น.
อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/รัชดา โทร.02-2535000 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--


กระทรวงคมนาคม ระบุว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้กระทรวงคมนาคมลงนาม MOU กับรัฐบาลญี่ปุ่นในความร่วมมือพัฒนาระบบรางโครงการตามแนวเส้นทางพัฒนาเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ตอนใต้ (Lower East – West Corridor) เส้นบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี-กทม.-แหลมฉบัง-อรัญประเทศ ระยะทาง 574 กม.

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า วันนี้ครม.อนุมัติให้กระทรวงคมนาคมลงนาม MOU กับรัฐบาลญี่ปุ่นในกรอบความร่วมมือเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ จากบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี - กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง - อรัญประเทศ ระยะทาง 574 กม. โดยจะไปลงนามกรอบความร่วมมือเส้นทางดังกล่าวที่ประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 27-28 พ.ย.นี้

โดยเส้นทางดังกล่าวจะใช้เส้นทางเดิมซึ่งเป็นรางขนาด 1 เมตร โดยจะมีการปรับปรุงทางให้มีความมั่นคงแข็งแรง และจะมีการก่อสร้างเพิ่มช่วงไปทางบ้านพุน้ำร้อน ระยะทางกว่า 30 กม. เพื่อเชื่อมเข้าเมียนมาร์ และทางฝั่งอรัญประเทศสร้างต่อไปอีก 6 กม.เพื่อเชื่อมเข้ากัมพูชา

"ญี่ปุ่นสนใจเส้นทางนี้ เพราะขนส่งสินค้าจากพม่าเข้าไปที่กรุงเทพฯและไปที่แหลมฉบังจนไปถึงอรัญประเทศเข้ากัมพูชา"นายออมสิน กล่าว

รมช.คมนาคม กล่าวว่า สำหรับมูลค่าโครงการดังกล่าว ยังไม่สามารถประเมินได้ แต่คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่มาก เพราะส่วนใหญ่ใช้เส้นทางเดิม และกรณีการทำใหม่ในเส้นทางขาดหาย (missing link) ก็คาดว่าใช้เงินลงทุนไม่มาก

ด้านนายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากเซ็นสัญญาแล้วจะเริ่มดำเนินการเฟสแรกที่เป็นการปรับปรุงเส้นทางเดิมให้มั่นคงแข็งแรง เฟสที่สองจะเดินรถโดยจะจัดตั้งบริษัทร่วมทุน และเฟสที่สามจะเป็นงานก่อสร้างส่วนที่ยังขาด หรือหากมีการขนส่งมากขึ้นจะทำเป็นทางคู่ต่อไป ทั้งนี้ทางญี่ปุ่นจะได้ศึกษาการปรับปรุงเส้นทางและการเดินรถต่อไป

//----------------

ครม.เห็นชอบบันทึกความร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ฉบับที่ 2 ใส่มือ "สมคิด" บินไปญี่ปุ่น
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
อังคารที่ 24 พฤศจิกายน 2558 เวลา 18:11:00 น.


พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือด้านระบบรางระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น เส้นทางเศรษฐกิจด้านใต้ ฉบับที่ 2 (กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-อรัญประเทศและกรุงเทพ ฯ-แหลมฉบัง) ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะลงนามเห็นชอบร่วมกันที่จะลงนามบันทึกความร่วมมือ ในช่วงการเยือนญี่ปุ่นของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมระหว่างวันที่ 25-28 พ.ย. 58

โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ ทั้งสองฝ่ายยินดีสำหรับการเริ่มต้นการดำเนินการสำรวจโดย JICA และยืนยันว่าวัตถุประสงค์และเนื้อหาของการสำรวจเพื่อเพิ่มศักยภาพและพัฒนาการให้บริการขนส่งทางราง โดยการพัฒนาเส้นทางรถไฟที่อยู่เดิม ระบบรางคู่ หรือระบบรถไฟฟ้า เพื่อให้สามารถทำรายงานการดำเนินงานขั้นกลางให้แล้วเสร็จได้ทันภายในไตรมาส 2 ของปี 2559

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจำสำรวจข้อเท็จจริงของการให้บริการขนส่งสินค้าทางรางรูปแบบใหม่ตามแนวเส้นทางเดิม และทั้งสองฝ่ายจะทดลองเดินรถเพี่อให้บริการขนส่งสินค้าทางรางรูปแบบใหม่ภายในต้นปี 2559 ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการจัดตั้ง SPV ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัทของญี่ปุ่น


Last edited by Wisarut on 26/11/2015 9:44 pm; edited 1 time in total
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44325
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 26/11/2015 5:58 pm    Post subject: Reply with quote

คมนาคม เผย รถไฟไทย-ญี่ปุ่น เริ่มทดลองเดินรถเปล่า ม.ค.59
โดย ไทยรัฐออนไลน์ 26 พ.ย. 2558 17:50

คมนาคม เผย เดือน ม.ค.59 เริ่มทดลองเดินรถเปล่า โครงการรถไฟไทย-ญี่ปุ่น เตรียมพร้อม ก่อนทดลองส่งสินค้าจริงกลางปี เผย ใช้ตู้คอนเทนเนอร์ 12 ฟุต เพื่อให้เอสเอ็มอีใช้ประโยชน์ จ่อ พัฒนารถไฟดีเซลรางเป็นรถไฟฟ้าในอนาคต...

เมื่อวันที่ 26 พ.ย.58 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลัง จากการลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอซี) เดินหน้าโครงการรถไฟไทย-ญี่ปุ่น เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกใต้ สายกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-สระแก้ว-แหลมฉบัง ร่วมกับ รมว.ที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง และโครงสร้างพื้นฐานญี่ปุ่น ระหว่างร่วมคณะ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางโรดโชว์ประเทศไทย วันที่ 25-28 พ.ย. ที่ประเทศญี่ปุ่น ว่า ภายหลังการลงนามแล้ว จะเกิดบริษัทที่เป็นความร่วมมือกับญี่ปุ่น และการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อบริหารจัดการเส้นทางเดิม โดยในเดือน ม.ค.59 จะเริ่มทดลองเดินรถเปล่า เพื่อเตรียมความพร้อม ก่อนทดลองขนส่งสินค้าจริงกลางปี โดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์ 12 ฟุต เพื่อให้เอสเอ็มอี ใช้ประโยชน์ได้ เพราะเป็นตู้เล็ก ซึ่งขณะนี้การรถไฟฯ กำลังปรับตัว เพื่อรองรับระบบใหม่ ส่วนรถไฟใหม่ขนาดราง 1 เมตร ความเร็ว 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะดำเนินการควบคู่ไป

"การรถไฟฯต้องปรับปรุงเส้นทางรางเดียว เพื่อให้การเดินรถรวดเร็วขึ้น จากนั้น บริษัทร่วมทุนกับญี่ปุ่น จะพัฒนาเส้นทางรางคู่ต่อไป รวมถึงพัฒนารถไฟดีเซลรางให้เป็นรถไฟฟ้าในอนาคต เพื่อเชื่อมต่อเส้นทางไปท่าเรือน้ำลึกทวาย ส่วนเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ขณะนี้ กำลังศึกษาเส้นทาง คาดจะแล้วเสร็จภายใน 1 ปี โดยในเดือนมิ.ย.59 น่าจะศึกษาขั้นกลางเสร็จ และเสนอ ครม.พิจารณาได้" รมว.คมนาคม กล่าว.
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 26/11/2015 9:50 pm    Post subject: Reply with quote

Mongwin wrote:
คมนาคม เผย รถไฟไทย-ญี่ปุ่น เริ่มทดลองเดินรถเปล่า ม.ค.59
โดย ไทยรัฐออนไลน์ 26 พ.ย. 2558 17:50

รถคอนเทนเนอร์ 12 ฟุตบ้าบออะไรกัน ตอนหลังมีคนเอาภาพ รถคอนเทนเนอร์ 12 ฟุต ของ JR Freight มาให้ดูค่อยเชื่อถือได้หน่อย - ก็ไม่เลวนะ สำหรับคนมีเบี้ยน้อยหอยน้อย ที่อยากขนของลงตู้คอนเทนเนอร์
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 26/11/2015 10:51 pm    Post subject: Reply with quote

2 อาจารย์วิศวะ จุฬาฯ ชำแหละ"รถไฟไทย-จีน"ถามทำไมรัฐบาลต้องรีบ ชี้แผนเร่งรัดเดิมก็มี
สัมภาษณ์พิเศษโดย วรวิทย์ ไชยทอง
มติชน
วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 เวลา 19:09:45 น.

ทุกคนในสังคมเห็นตรงกันว่าการพัฒนาระบบรางเป็นเรื่องจำเป็น เราได้เห็นแนวโน้มการพยายามผลักดันการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะรัฐบาลชุดก่อนที่บรรจุนโยบายการสร้างรถไฟความเร็วสูงไว้ตั้งแต่ช่วงหาเสียง กระทั่งรัฐบาลปัจจุบันที่แม้จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ล่าสุดก็พยายามเดินหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างไทย-จีน เพื่อก่อสร้างรถไฟทางคู่แบบรางมาตรฐาน ความกว้าง 1.435 เมตร (Standard Gauge) เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทาง 873 กิโลเมตร โดยปรับรถความเร็วตามแผนเหลือประมาณ 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตามมาด้วยชื่อเรียก “รถไฟฟ้าความเร็วปานกลาง” ที่ยังหาคำนิยามไม่ได้ในตำราวิศวกรรมระบบราง ซึ่งโดยภาพรวม ก็ดูเหมือนว่าทุกภาคส่วนของสังคมจะเห็นพ้อง ไร้เสียงคัดค้าน

หลายปีที่ผ่านมา คนไทยได้เห็นข่าวขบวนรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทยตกรางและชนกับรถยนต์ทั่วไปบ่อยมาก ทั้งวิ่งช้า และไม่ตรงต่อเวลา ซึ่งนำไปสู่การถกเถียงในวงกว้างว่ารางรถไฟขนาดความกว้างหนึ่งเมตรอย่างที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีขนาดแคบเกินไปควรจะต้องขยายขนาดความกว้างขึ้นใช้เป็นรางขนาดความกว้างมาตรฐานแบบยุโรปจึงเร่งผลักดันโครงการรถไฟโดยความร่วมมือระหว่างไทยกับจีนซึ่งแม้จะมีการเจรจากันแล้วหลายครั้งแต่ก็มีข่าวว่าทางการจีนเขี้ยวเรื่องดอกเบี้ยมากจนล่าสุดนายกฯต้องส่งรองนายกรัฐมนตรีไปเร่งรัด

เรื่องนี้ได้รับการตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลจะเร่งสร้างรถไฟขนาดราง1.435ไปทำไม?เพราะเรามีแผนเร่งรัดรถไฟทางคู่ขนาดหนึ่งเมตรอยู่แล้วที่จะทำพร้อมกันไปตามแนวเส้นทางที่แทบจะซ้อนทับกันนอกจากนี้คำถามทางวิศวกรรมที่ต้องตอบคือขนาดรางที่กว้างขึ้นจะดีกว่าและมีประสิทธิภาพสูงกว่าจริงหรือ ?

"มติชนออนไลน์"ขออนุญาตพาผู้อ่าน มาจับเข่าคุยกับ รศ.ดร.สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมขนส่ง ภาควิชาวิศวกรรมโยธา และอดีต ผอ.สถาบันการขนส่ง จุฬาฯ และ ผศ.ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ และเคยเป็น รอง ผอ.สถาบันการขนส่ง จุฬาฯ สองอาจารย์ด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่จะมาชวนตั้งคำถามว่า จริงๆแล้วรางเล็กทำให้รถไฟวิ่งช้าและตกรางบ่อยจริงหรือ รวมถึงอนาคตการพัฒนาระบบรางของไทยควรจะเป็นไปในแนวทางไหนดี

อาจารย์ประมวล เริ่มต้นการวิจารณ์ประเด็นการขนส่งสาธารณะของไทยในยุคปัจจุบัน โดยระบุว่า การอธิบายโครงการทางวิศวกรรมเรื่องใดๆต้องเริ่มด้วย หลักคิด 3 ประการ คือ หนึ่งจะทำไปเพื่ออะไร? สองจะทำอย่างไร ใช้เทคนิคใด? และสามจะทำอย่างไรให้ยั่งยืน ซึ่งคำถามทั้ง 3 ข้อนี้ จะใช้เป็นแนวทางในการหาคำอธิบายสำหรับทุกนโยบายสาธารณะเสมอ





ทั้งนี้ ประเทศไทยติดปัญหา “มายาคติ” เรื่องความกว้างของทางรถไฟ ซึ่งเราถูกเป่าหูกันมาว่า ปัญหารถไฟไทยที่จำเป็นต้องเปลี่ยนขนาดทาง เพราะปัจจุบันมันตกรางกันบ่อยมาก จึงควรเปลี่ยนขนาดความกว้างของทาง จากความกว้าง 1 เมตร (meter gauge) ไปเป็น ทางมาตรฐานขนาด 1.435 เมตร (standard gauge) ซึ่งควรจะต้องถูกขยายความว่า “ทางมาตรฐาน” ในที่นี้หมายความถึงทางมาตรฐานของยุโรป ซึ่งผู้อ่านควรทราบว่า ในโลกกลมๆ ใบนี้ มีการใช้ทางรถไฟความกว้างต่างๆ มากมาย และการตกรางของรถไฟก็ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับรถไฟที่วิ่งบนทางกว้าง 1 เมตรเท่านั้น อาทิ หากไปตามข่าวที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2557 เกิดเหตุรถไฟตกรางที่กรุงมอสโค ประเทศรัสเซีย ทั้งที่ทางรถไฟมีความกว้างถึง 1.520 เมตร ขณะที่เมื่อต้นปี 2558 ที่ผ่านมา ราวเดือนกุมภาพันธ์ รถไฟที่อินเดียก็ตกราง ทั้งๆ ที่ใช้ทางที่มีความกว้าง 1.676 เมตร!

“ปัญหาก็คือการตกรางของรถไฟ ไม่ได้สัมพันธ์โดยตรงกับความกว้างของเส้นทางแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ว่าคุณจะเลือกใช้ทางรถไฟกว้างแค่ไหน ถ้าดูแลกันไม่ดี รถไฟมันก็ตกรางได้ ประเด็นสำคัญมันเป็นเรื่องของวิธีการเดินรถ และการบำรุงรักษา หากดูแลไม่ดีรถไฟมันก็ตกราง” อ.ประมวลกล่าว

ด้าน อาจารย์สมพงษ์ กล่าวสนับสนุนเพิ่มเติมว่า เมืองไทยยังมีอีกมายาคติหนึ่งคือ รถไฟขนาดรางหนึ่งเมตรมันไม่ดี จริงๆแล้วมันสามารถทำให้ดีได้ ทำให้สวยได้ ทำให้สะดวกก็ทำได้ แม้จะเล็กกว่า แต่ยืนยันว่าสามารถทำให้สวยได้ ประเทศญี่ปุ่นเองที่ใช้รถไฟฟ้าอยู่รอบประเทศ เส้นทางส่วนใหญ่ของเขาเป็นทางขนาด 1.067 เมตร มีเป็นส่วนน้อยและเฉพาะรถไฟฟ้าความเร็วสูงเท่านั้นที่เป็นทางขนาด 1.435 เมตร

ในส่วนความเร็วที่ทุกคนกังวลนั้น ยอมรับว่าได้รถไฟวิ่งเร็วๆ ก็น่าจะดี แต่ก็ต้องถามให้คิดต่อไปว่า ทุกวันนี้ชีวิตของคนไทยเรา ได้ทำให้เกิดความจำเป็นขนาดนั้นไหม อย่าลืมว่าโครงการทุกอย่างต้องใช้เงิน ไม่มีของฟรีในโลก เราต้องจัดสรรงบประมาณที่มีจำกัดให้สอดคล้องกับสิ่งต่างๆ ที่เรากำลังวางแผนเพื่อการพัฒนาประเทศ เงิน 1 บาทที่ลงทุนไปกับรถไฟฟ้าความเร็วสูง ก็หมายถึงเงิน 1 บาทที่อาจนำไปพัฒนาระบบสาธารณสุข หรือระบบการศึกษาได้เช่นกัน ต้องตั้งคำถามว่าทุกวันนี้ชีวิตของคนไทยต้องการความเร็วขนาดนั้นหรือไม่ การพูดว่าคนไทยยังไม่พร้อมจะใช้รถไฟความเร็วสูง ไม่ได้หมายความว่าคนไทยไม่ควรใช้ หรือใช้ไม่ได้ แต่ควรตั้งข้อสังเกตว่า “คนไทยยังไม่เห็นและให้ความสำคัญกับเวลาขนาดนั้น”


จากเอกสารของรัฐบาล รถไฟตกรางคือสาเหตุหนึ่งของการเร่งรัดโครงการ

ดร.สมพงษ์ ยกตัวอย่างว่า เอาแค่การขับรถยนต์ เรายังไม่นิยมซื้อ Easy pass กันเลย คนขับรถเบนซ์ก็ยังไม่ซื้อ หมายความว่าคนไทยยังมองเวลาด้วยมูลค่าต่ำมาก ดังนั้นไทยจึงจำเป็นต้องประเมินสถานะเรื่องรายได้ วิถีชีวิต และความจำเป็นว่าไทยควรจะอยู่ตรงไหน

“การทำความเข้าใจเส้นทางรถไฟไทย-จีน ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า ในขณะที่รัฐบาลกำลังพยายามเร่งรัดโครงการไทย-จีน หรือไทย-ญี่ปุ่น ตามที่เป็นข่าว ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลก็มีแผนการปรับปรุงเส้นทางรถไฟของการรถไฟฯ เดิมที่เป็นทางเดี่ยว ให้เป็นรถไฟทางคู่ขนาดราง 1 เมตร มีแผนเร่งรัดอยู่ มีการศึกษาครบถ้วนแล้ว รอเพียงการผลักดันโครงการให้เป็นรูปธรรมเท่านั้น ประเด็นที่ไม่มีใครตั้งคำถาม ก็คือ ทำไมต้องรีบทำโครงการรถไฟไทย-จีน โดยมีแนวเส้นทางคู่ขนานไปกับแนวเส้นทางรถไฟขนาด 1 เมตรเดิม (ซึ่งในที่สุดจะเปลี่ยนจากทางเดี่ยวไปเป็นทางคู่) เรื่องนี้ไม่ได้รับการพูดถึงและไม่มีนักข่าวคนใดถาม ในเมื่อคุณมีทางคู่ 1 เมตรอยู่แล้ว และคุณก็พยายามทำทางคู่ขนาดความกว้าง 1.435 เมตร มีคู่กันไปทำไม? จะทำไปเพื่ออะไร? และความซ้ำซ้อนรวมถึงการใช้เงินล่ะ ยังไม่ต้องพูดถึงมูลค่าตัวรถไฟฟ้า ที่อาจจะต้องซื้อเพิ่มเติมในอนาคต" ดร.สมพงษ์กล่าว

โดยหากเทียบมาตรฐานการทำระบบกลางของยุโรปซึ่งจะมีการแบ่งแยกให้ชัดเจนว่าจะเป็นรถไฟขนส่งสินค้าและผู้โดยสารแต่ของไทยยังไม่มีความชัดเจนเพราะรถไฟขนาดราง1เมตรก็อยู่ในแผนเร่งรัดของรัฐบาลชุดนี้ขณะที่แผนรถไฟไทยจีนอยู่นอกงบประมาณ ซึ่งทางที่ถูกต้องควรจะทำรถไฟขนาดราง1 เมตรให้เสร็จและเปิดใช้ให้ดีเสียก่อน

ดร.สมพงษ์ย้ำว่าเมื่อเส้นทางมันซ้อนกันทำไมจึงต้องทำถึง 2 เส้น อันนึงเป็น 1 เมตรอีกอันนึงเป็น 1.435 เมตร เป็นทางคู่ทั้งคู่ และมันก็วิ่งขนานกันเลย

อาจารย์ทั้งสองท่านตั้งคำถามว่า ทำไมไม่ทำทางคู่ขนาด 1 เมตรให้เสร็จทั่วประเทศ และทำให้ดีเสียก่อน หากทางคู่ชุดแรกเสร็จแล้ว ถ้ายังอยากทำต่อจึงค่อยไปทำทางคู่ชุดที่ 2 จะดีกว่าการเดินหน้าสร้างทางคู่ทั้งสองเส้น คู่ขนานกัน จึงมีคำถามว่า ทำไปเพื่ออะไร ทั้งที่รัฐบาลชุดนี้ก็เป็นคนอนุมัติ

เมื่อถามว่าจากการศึกษาและติดตามข่าวสาร ทางรัฐบาลให้เหตุผลสำคัญในการก่อสร้างทั้งสองเส้นทางพร้อมกันหรือไม่ อาจารย์ทั้งสองท่านตอบตรงกันว่า "ผมไม่รู้สาเหตุและจากการติดตามก็ไม่เห็นมีใครพูดอะไรเลย"

ดร.ประมวลอธิบายเพิ่มเติมว่าทั้งนี้การผลักดันการสร้างรถไฟขนาดราง1.435เมตรมีมาโดยตลอดแล้วก็เงียบไปจนกระทั่งเปลี่ยนรัฐบาลแนวคิดดังกล่าวก็ขึ้นมาใหม่และก็อยู่ที่ว่าจะโดนสกัดหรือไม่หากโดนสกัดก็เงียบๆกันไป และไม่นานก็จะวนกลับขึ้นมาใหม่ ซึ่งตนเคยอธิบายเรื่องนี้มาหลายครั้งแล้วว่ามันไม่เกี่ยวกัน ฉะนั้นคนที่จะคุยเรื่องนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าเรื่องการตกราง สมรรถนะของรถไฟ มันไม่เกี่ยวกับขนาดของราง มันอยู่ที่การดูแล แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือข่าวที่ปรากฏ ก็จะบอกแค่ว่ารถไฟขนาดราง 1.435 เมตรดีกว่า เพราะมันกว้างกว่า คนทั่วไปที่ไม่รู้เรื่องก็จะมองว่ารถไฟขนาดราง 1.435 เมตรย่อมดีกว่า ประกอบกับข่าวรถไฟตกรางของ รฟท. ที่เกิดขึ้นบ่อยมาก ทั้งนี้ต้องแยกพิจารณาระหว่างการบริหารการใช้งาน กับตัวเทคโนโลยี หากหน่วยงานผู้บริหารทำไม่ดี ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเป็นอย่างไรมันก็เจ๊ง

ทั้งสองท่านยืนยันอีกว่าไทยยังไม่จำเป็นต้องการรถไฟขนาดใหญ่เช่นนั้น และหากทำคู่กัน ก็อาจจะเกิดการขาดทุนได้อีกเพราะรถไฟทั้งสองขนาด ก็แย่งลูกค้ากลุ่มเดียวกัน ทั้งนี้ปัญหาของรถไฟไทยที่มีกว่า 4,000 กิโลเมตร คือส่วนใหญ่มันเป็นทางเดี่ยว ถามว่าทางเดียวไม่ดีอย่างไร คือหากเป็น 100 ปีที่แล้วมันก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะปริมาณความต้องการใช้มันไม่สูงมาก แต่ในปัจจุบัน เราต้องการใช้รถไฟในการขนสินค้าและขนคน โดยการขนส่งสินค้าเราไม่ต้องการความรวดเร็วแต่เราต้องการความตรงต่อเวลา และขนของได้ตามที่เราต้องการ ขณะที่การขนส่งคนจะต้องการความรวดเร็ว ฉะนั้นการเพิ่มรถไฟจากทางเดียวเป็นทางคู่จะเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งคนและสินค้า ฉะนั้นหากทำทางคู่ได้ปัญหาพื้นฐานทุกอย่างก็ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม ในระยะแรกแล้ว ส่วนเรื่องตกรางนั้นเป็นปัญหาการบริหารจัดการ ของการรถไฟฯ

โดยที่พูดเช่นนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าในระยะยาวไม่ต้องการการพัฒนา แต่การประเมินศักยภาพในระยะนี้ก็ต้องดูความคุ้มค่าด้านงบประมาณด้วย เพราะที่อื่นก็ต้องการสร้างทางรถไฟเช่นกัน เงินและทุกอย่างของเรามีจำกัด จึงต้องใช้ทุกบาทให้คุ้มค่า


รศ.ดร.สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์

ด้าน ดร.สมพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นคนอนุมัติลงมาเอง คำถามคือว่ารัฐบาลไม่เห็นความซ้ำซ้อนหรือ เราควรที่จะเอาเงินไปใช้กับนโยบายสาธารณะอื่นๆที่จำเป็นมากกว่าหรือไม่ ดีกว่าที่จะมาสร้างรถไฟซ้ำซ้อนเส้นทางเดียวกันแบบนี้ ทำไมต้องมาสร้างในที่เดียวกัน พร้อมๆกัน ทั้งที่จังหวัดอื่นก็มีความต้องการเช่นกัน เคยสงสัยเช่นกันว่าทำไมสังคมและสื่อมวลชนไม่ตั้งคำถามเรื่องนี้ ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องตอบคำถามก่อนว่าจะทำแบบนี้ไปทำไม หากตอบคำถามได้แล้ว ยังไม่พูดถึงคำถามที่จะตามมาอีกคือ เราจะเลือกใช้เทคโนโลยีอะไร-อย่างไร ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ดร.ประมวลให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บางคนอาจจะไม่รู้ว่ารถไฟสาย เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ถูกอนุมัติให้สร้างตั้งแต่ปี 2503 จนป่านนี้ก็ยังไม่ได้สร้างเลย เรื่องนี้สำคัญกว่าเห็นได้ชัด ทำไมถึงไม่เร่งรัด เพราะทำการศึกษามาแล้วหลายครั้ง และสมควรจะต้องสร้างตั้งนานแล้ว กลับยังไม่สร้าง ซึ่งเส้นนี้ ตามแผนญี่ปุ่นจะเป็นคนทำ

"เชื่อว่ารัฐบาลหมดมุกในการพัฒนาเศรษฐกิจ ผมบอกให้เลย ยิ่งเราพูดเรื่องรถไฟมากยิ่งน่ากลัว คือรัฐบาลคิดเรื่องอื่นในทางเศรษฐกิจไม่ได้แล้ว ผมเปรียบเทียบเวลาเราเรียกข้าวกระเพราไก่ไข่ดาวว่าเมนูสิ้นคิด คิดอะไรไม่ออกก็สั่งอย่างนั้น ก็เหมือนกับกรณีของรถไฟ รัฐบาลทุกชุดเวลาเข้ามาใหม่ทุกคนเลย เมื่อคิดอะไรไม่ออกก็จะทำรถไฟความเร็วสูง ไปดูได้เลยทุกชุดเหมือนกันหมด " ดร.สมพงษ์ กล่าว

เมื่อถามว่า คนไทยเชื่อว่าหากมองดูประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศรวมถึงประเทศพัฒนาแล้วก็ล้วนมีรถไฟความเร็วสูงทั้งสิ้น ดร.สมพงษ์ตอบกลับทันทีว่า จนถึงทุกวันนี้แม้จะมีแผน แต่สหรัฐอเมริกาก็ยังไม่มีรถไฟความเร็วสูง ในอังกฤษก็มีแค่สายเดียวที่ข้ามไปฝรั่งเศสเท่านั้น ส่วนใหญ่ที่มีรถไฟความเร็วสูงก็เพราะประเทศนั้นเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเอง ส่วนที่บอกว่าในประเทศกำลังพัฒนาอาจจะจำเป็นนั้นก็ยืนยันว่าไม่จริง เพราะความเป็นจริงแล้วรถไฟความเร็วสูงเหมาะสำหรับประเทศที่เวลาเป็นสิ่งมีค่า คำถามคือประเทศไทยเวลามีค่าขนาดนั้นหรือยัง ขนาดอีซี่พาสคนยังไม่ซื้อกันเลย เวลาของคนไทยเวลาเดินถนนกับคนต่างประเทศเดินก็ไม่เท่ากันแล้ว เวลาของเราไม่มีค่ามากขนาดนั้น หลักของรถไฟความเร็วสูงคือทุกนาทีมีค่า


ผศ.ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน

ด้าน ดร.ประมวลกล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องรถไฟความเร็วสูงก็ต้องกลับมาถามว่าเราจะทำไปเพื่ออะไร ต้องตอบให้ได้ว่ารถไฟความเร็วสูงมีความจำเป็นกับเมืองไทยอย่างไร ผมไม่อยากไปเถียงหรือชูประเด็นกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่งโต้แย้งกับอาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เรื่องต้องให้ทางลูกรังหมดไปจากประเทศไทยก่อนทำรถไฟความเร็วสูง เพราะคนละประเด็นกัน แต่เราต้องทำความเข้าใจเรื่องข้อจำกัดของงบประมาณ จริงๆ ถ้าได้ทำทุกโครงการพร้อมๆ กันหมด ก็คงจะดี แต่เมื่อชีวิตจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น เราก็ต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่าเรามีความจำเป็นอย่างไรที่จะต้องทำรถไฟความเร็วสูงขนาดนั้น การนำเงิน 1 ก้อนไปสร้างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเราอาจจะไม่ได้ใช้บ่อยๆ กับการนำเอาเงินก้อนนั้นมาปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ที่คนส่วนใหญ่ของสังคมจะได้ใช้งาน เช่น รถเมล์ ซึ่งเราใช้กันทุกวันไม่ดีกว่าหรือ รถเมล์เราใช้ทุกวัน เด็กเล็กๆก็ใช้ทุกวัน รถไฟความเร็วสูงบางคนหลายปีกว่าจะได้ไปเชียงใหม่ด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูงสักครั้งนึง เราไม่รู้สึกอะไรเลยหรือ ในทุกๆ เช้า ที่ยังต้องเห็นเด็กนักเรียนโหนอยู่ตามท้ายรถสองแถว ซ้อนอยู่หลังมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เบียดแน่นกันอยู่บนรถเมล์ มันจะมีประโยชน์อะไรถ้าคนส่วนใหญ่ยังมีชีวิตด้วยคุณภาพแบบนั้น ในขณะที่มีคนอีกกลุ่มเล็กๆ ได้นั่งรถไฟฟ้าความเร็วสูง

ทั้งนี้ หากเราไม่ปรับปรุงรถเมล์หรือระบบคมนาคมในเมือง ดร.สมพงษ์ยกตัวอย่างว่า เราก็จะเจอกับภาพคนใส่สูทนั่งรถไฟฟ้าความเร็วสูงและมาต่อ วินมอเตอร์ไซค์นั่นเอง ประเทศที่จะสร้างรถไฟความเร็วสูงนั้น จริงๆแล้วระบบขนส่งสาธารณะพื้นฐานมันต้องดีมากๆ ยุโรปที่ทำได้นั้น เพราะระบบขนส่งสาธารณะดีมาก ไม่ได้บอกว่าความเร็วสูงไม่ดี แต่ต้องดูความพร้อมหลายอย่าง รวมถึงความจำเป็นด้วย

"ยกตัวอย่างว่ารถเบนซ์กับกระบะอะไรดีกว่ากัน ในแง่เทคโนโลยี แน่นอนทุกคนก็คงจะตอบว่ารถเบนซ์สิดีกว่า แต่ถ้าสมมติเราเป็นเกษตรกร อะไรจะมีประโยชน์กับเรามากกว่ากันล่ะ นี่คือคำถามที่เราจะถามต่อ" ดร.ประมวลกล่าวเพิ่มเติม

จึงเป็นเรื่องของสังคมไทยที่มีมายาคติผิดๆเยอะมาก เวลารัฐบาลพูดเรื่องการพัฒนาประเทศจะยกเรื่องโครงสร้างพื้นฐานว่าเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาและจะทำให้อันดับการพัฒนาของเราดีขึ้นแต่ในความเป็นจริงแล้วการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมอย่างเดียวไม่ได้ทำให้อันดับการพัฒนาเราดีขึ้นเลยเพราะการพัฒนาที่แท้จริงจะต้องมองอย่างองค์รวมกล่าวคือการจัดอันดับการพัฒนาเขามองการพัฒนาโครงสร้างเรื่องอื่นด้วยเช่นเรื่องการศึกษาการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยการพัฒนาระบบเศรษฐกิจเป็นต้นซึ่งเมื่อเรามีเงินเรากลับทุ่มไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเดียวที่พูดมาทั้งหมดอยู่บนสมมติฐานที่ว่าประเทศไทยไม่มีเงินเหลือเฟือ




ดร.สมพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่าประเด็นสำคัญอันหนึ่งซึ่งเป็นเบื้องหลังในการผักดันรถไฟสายดังกล่าวคือการพยายามสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการค้าขายกับจีนไม่มีใครตั้งคำถามว่าทำไมจีนจึงอยากทำที่อ้างว่าจะทำให้เราส่งสินค้าไปประเทศจีนง่ายขึ้น-รวดเร็วขึ้นนั้นในความเป็นจริงตรงกันข้ามเลยเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือรถส่งสินค้าของจีนนำสินค้าเข้ามาตีตลาดในประเทศไทยซึ่งต้องไม่ลืมว่าสินค้าของจีนมีราคาถูกและปริมาณมากกว่าไทยเยอะมากนอกจากนี้จีนยังซื้อที่หรือเช่าที่ในประเทศลาวเป็นระยะเวลาเกือบ 90 ปีในการทำการเกษตร เพื่อผลิต ปัญหาเรื่องนี้คือไทยไม่เตรียมความพร้อมเรื่องอื่นเลย ไม่รู้ว่าจะทำธุรกิจอย่างไร สนใจแต่การเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่จีนกับเตรียมความพร้อมทุกด้าน และคำถามสำคัญที่สุดคือหากทำเสร็จสินค้าไทยจะไปจีน หรือสินค้าจีนจะมาไทยมากกว่ากัน อย่าลืมว่าสินค้าจีนบางอย่างดีกว่า และสินค้าไทยจะอยู่ได้ไหม

ปัจจุบันเราเห็นข่าวแล้วว่ามีคนจีนมาเปิดร้านขายของเองที่สำเพ็ง-ตลาดไทแล้วเป็นต้นเรื่องนี้ไม่ใช่การใช้ความรู้สึกแต่เป็นการตั้งคำถามและไม่ได้ต้องการโทษจีนเพราะเข้าใจว่ามันจำเป็นต้องทำหากตนเป็นรัฐบาลจีนและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกผักก็จำเป็นต้องหาช่องทางในการส่งออกแต่ไทยจำเป็นต้องรู้ทันเพราะการเชื่อมโยงโดยไม่มียุทธศาสตร์เป็นเรื่องที่น่ากลัว

เมื่อถามถึงประเด็น การต้องเร่งทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคนั้น ดร.สมพงษ์ตอบคำถามเรื่องนี้ว่า ในความเป็นจริงแล้วความเป็นศูนย์กลางเป็นเรื่องสัมพัทธ์ หากฟังจากรัฐบาลไทยก็จะบอกว่าไทยเป็นศูนย์กลางได้ แต่ในความเป็นจริงทุกประเทศเป็นศูนย์กลางได้หมด หากใช้ตรรกะดังกล่าว เมียนม่ามีความเป็นศูนย์กลางที่ดีมากกว่าไทยเสียอีก เพราะด้านซ้ายของเมียนม่าก็เป็นอินเดีย มีประชากรกว่าพันล้านคน ด้านบนก็ติดกับจีนมีประชากร พันล้านคนเช่นกัน ขณะที่ด้านขวาติดกับอาเซียนซึ่งมีประชากร 600 ล้านคน คำถามคือใครเป็นศูนย์กลางมากกว่ากัน

อาจารย์วิศวะ จุฬาฯ ทั้งสองท่านยืนยันว่ารัฐบาลต้องตอบคำถามว่าทำไม รัฐบาลต้องเร่งสร้างรถไฟความร่วมมือไทย-จีน ทั้งที่มีการเร่งแผนพัฒนารถไฟทางคู่ขนาดราง1 เมตรโดย รฟท.แล้ว เพราะหากจะอ้างเรื่องความปลอดภัย และสมรรถนะนั้น ยืนยันว่ารถไฟขนาดราง 1 เมตรก็สามารถทำให้ดีได้ หากมีการดูแลรักษาระบบรางที่ดี อ.จุฬาฯทั้งสองท่าน กล่าวทิ้งท้ายว่า

ในฐานะนักวิชาการจึงรู้สึกเป็นห่วงและเห็นว่าหากจะตัดสินใจอะไรต้องคิด และเป็นห่วงลูกหลานในอนาคต แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ การจะตีปี๊บและรีบเร่งจะทำให้ได้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ยืนยันว่าการพัฒนาชาติเป็นเรื่องดี นักวิชาการไม่ได้ขวางการพัฒนา แต่จำเป็นต้องถามเรื่องวิธีการที่ทำ เป็นความยั่งยืนและนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าจริงหรือเปล่า เบื้องต้น น่าจะจำเป็นต้องมีการปฏิรูปด้านโครงสร้างการบริหารอย่างเร่งด่วน รวมถึงเห็นว่าสังคมทั้งสังคมจะต้องหยิบเรื่องนี้มาพูดคุยด้วยเหตุผลเสียที
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 27/11/2015 7:45 pm    Post subject: Reply with quote

ชูวิทย์เล่นประเด็นเรื่องรถไฟไทย - จีนไม่เลิกแฮะ
https://www.facebook.com/ChuvitOnline/photos/a.725057480874317.1073741828.193319037381500/902159833164080/?type=3
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 29/11/2015 5:07 am    Post subject: Reply with quote

คุณอรุณล้อ โครงการรถไฟไทยจีน โดยเก็คำจากแม่ลูกจันทน์ จากไทยรัฐเอามาจิกกัด
https://www.facebook.com/arun.watcharasawad/posts/1049060631826808

มีการเล่นข่าวเรื่องรถไฟ ไทย จีน กันไม่เลิกเลยนะ
https://www.facebook.com/PegasusMichael/posts/909537355832880

รถไฟไทย - จีนใหม่จะเสร็จใน 5 ปี
http://www.tudou.com/programs/view/VNNxvSxGrZk/?FR=LIAN
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 30/11/2015 10:50 am    Post subject: Reply with quote

ผู้บริหารด้านการรถไฟของไทยจำนวน 31 คนเยือนอู่ฮั่นดูงานรถไฟความเร็วสูงจีน
สำนักข่าวซินหัว
วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

สำนักข่าวซินหวารายงานว่า เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ศูนย์อบรมบุคลากรรถไฟความเร็วสูงเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นฐานฝึกอบรมบุคคลากรด้านรถไฟความเร็วสูงแห่งแรกของจีน ได้ต้อนรับผู้บริหารด้านการรถไฟจากประเทศไทยจำนวน 31 คน ที่มาศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการและทักษะที่เกี่ยวข้องเป็นเวลา 3 วัน นับเป็นการมาเยือนศูนย์อบรมบุคลากรรถไฟความเร็วสูงจีนกลุ่มแรก
ผู้รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกรมการรถไฟอู่ฮั่นเห็นว่า การที่เจ้าหน้าที่ด้านการรถไฟของไทยมาศึกษาดูงานที่ศูนย์ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า โครงการร่วมมือด้านการก่อสร้างและบริหารจัดการการรถไฟจีน-ไทย กำลังเดินหน้าอย่างราบรื่นในทุกด้าน

ข่าวแจ้งว่า เนื้อหาการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ไทยประกอบด้วยการบรรยาย การแยกกลุ่มอภิปราย การเยี่ยมชมสถานที่ การฝึกปฏิบัติ เป็นต้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไทยศึกษาเข้าใจผลสำเร็จ ประสบการณ์และเทคโนโลยีทันสมัยด้านการพัฒนาการรถไฟของจีนอย่างลึกซึ้งและถี่ถ้วน ความร่วมมือการรถไฟจีน-ไทย ไม่เพียงแต่จะสร้างคุณูปการต่อมิตรภาพ และการพัฒนาเศรษฐกิจของสองประเทศเท่านั้น หากยังจะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนบุคลากรและเทคโนโลยีการรถไฟระหว่างสองประเทศ

ศูนย์อบรมบุคลากรรถไฟความเร็วสูงเมืองอู่ฮั่น เป็นองค์กรอบรมบุคลากรก่อนเข้าทำงานด้านการบริหารจัดการรถไฟความเร็วสูงเพียงแห่งเดียวของจีน รับผิดชอบต่อการให้คุณวุฒิการทำงานแก่บุคลากรด้านเทคโนโลยีและเจ้าหน้าที่บริหารด้านการรถไฟความเร็วสูง และเป็นหน่วยงานที่จัดเรียบเรียงตำราเรียนทางอชีวศึกษาด้านการรถไฟความเร็วสูงของจีน

//--------------------

นายกฯสั่งเร่งเจรจารถไฟฟ้าไทย-จีน
by Wanee L.
Voice TV
29 พฤศจิกายน 2558 เวลา 12:04 น.


ความร่วมมือก่อสร้างรถไฟฟ้า ไทย-ญี่ปุ่น มีความคืบหน้าไปอีกขั้น หลังไทยและญี่ปุ่นลงนามความร่วมมือ และจะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในต้นปีหน้า ขณะที่โครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ยังคงไม่มีความ ชัดเจน ทำให้นายกรัฐมนตรีได้ออกมาเร่งรัดดำเนินโครงการโดยเร็ว

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เร่งรัดโครงการความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่น และความร่วมมือรถไฟไทย-จีนให้รวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะรถไฟไทย-จีน ในเส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-กรุงเทพฯ และแก่งคอย-มาบตาพุด หลังจากได้ประชุมร่วมกันมาแล้วถึง 8 ครั้ง แต่ยังไม่มีความคืบหน้า ขณะที่การสนับสนุนเงินกู้จากจีนเพื่อดำเนินโครงการ ยังหาข้อยุติไม่ได้ เนื่องจากทางจีน เสนออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ร้อยละ 2.5 ขณะที่ฝ่ายไทยต้องการดอกเบี้ยต่ำกว่าร้อยละ 2

ขณะที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ระหว่างนำทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ และภาคเอกชนไทย โรดโชว์พบปะนักลงทุนที่ประเทศญี่ปุ่น และได้หารือกับ รองนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ให้ช่วยเร่งรัดความร่วมมือในโครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟ โดยไทยและญี่ปุ่น ได้ลงนามความร่วมมือ โครงการพัฒนาเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก สู่ตะวันตกใต้ และ ต้นปี 2559 จะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนไทย – ญี่ปุ่น
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 56, 57, 58 ... 121, 122, 123  Next
Page 57 of 123

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©