Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai Gallery in Facebook

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311235
ทั่วไป:13181347
ทั้งหมด:13492582
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าว รฟท จาก หนังสือพิมพ์
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ข่าว รฟท จาก หนังสือพิมพ์
Goto page Previous  1, 2, 3, 4, 5 ... 471, 472, 473  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42628
Location: NECTEC

PostPosted: 27/04/2007 11:33 am    Post subject: Reply with quote

คค.ชงงบ 51 รวม 1.16 แสนล. เน้นแผนพัฒนาลอจิสติกส์
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2212 26 เม.ย. - 28 เม.ย. 2550

คมนาคมสรุปแผนลงทุนปี 51 ชงขอใช้งบรวม 1.16 แสนล้าน เพิ่มขึ้นจากปี 50 ถึง 20% การรถไฟฯ เฮได้รับเงินเพิ่มมากที่สุด ยอดสูงกว่าปี 50 ถึง 86.40%หรือกว่า 1.3 หมื่นล้าน ขณะที่กรมทางหลวงยังครองแชมป์ของบมากสุดกว่า 5.3 หมื่นล้าน เผยยอดลงทุนโครงการใหม่ 5.6 หมื่นล้าน มุ่งเน้นงานซ่อมบำรุงถนน ปรับปรุงทางรถไฟ และโครงข่ายสนับสนุนลอจิสติกส์


พล.ร.อ.ธีระ ห้าวเจริญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงการจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 51 ของกระทรวงคมนาคมว่า ได้สรุปตัวเลขเสนอให้สำนักงบประมาณพิจารณาแล้วเมื่อวันที่ 1 เม.ย.50 ที่ผ่านมา โดยวงเงินที่ขอรับการจัดสรรทั้งสิ้นคือ 116,708.234 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวน 97,120.11 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 20% โดยแผนงานของปี 51 นี้ได้ให้ความสำคัญกับการซ่อมบำรุงถนน ทางรถไฟ และการพัฒนาโครงข่ายให้รองรับกับแนวทางการพัฒนาระบบลอจิสติสก์


โดยหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เนื่องจากมีแผนการลงทุนทั้งโครงการปรับปรุงราง (Track Rehabilitation) โครงการรถไฟทางคู่สายตะวันออก ช่วง ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง เป็นต้น ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรถไฟเพื่อสนับสนุนลอจิสติกส์ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น


ด้านนายไมตรี ศรีนราวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า งบประมาณปี 51 ที่เสนอนั้นจะมุ่งเน้นที่การพัฒนาจุดเชื่อมต่อของการขนส่งในแต่ละระบบ การพัฒนาเพื่อช่วยลดค่าขนส่งสินค้าบริการและการขนคน การเสริมสร้างศักยภาพด้านความปลอดภัยและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ประชาชนได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน ทั้งนี้จะอยู่ในส่วนของโครงการก่อสร้างและบำรุงถนน กรมทางหลวงชนบท ฯลฯ


ทั้งนี้ ได้วางกรอบยุทธศาสตร์การใช้งบประมาณของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจไว้ 4 เรื่องหลักๆ ได้แก่ ยุทธศาสตร์การวางรากฐานการพัฒนา และเสริมสร้างศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน, การใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด, การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมภายในประเทศเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเพื่อรองรับเส้นทางการค้าหลัก และการบริการท่องเที่ยว และ การปรับปรุงพัฒนาระบบบริหารจัดการขนส่ง อย่างบูรณาการ และเชื่อมโยงกันทางทั้งบก ทางน้ำ ทางราง


นอกจากนั้นแล้วก็จะให้ความสำคัญในการบูรณาการถนน ให้เชื่อมโยงเครือข่ายการจราจรในระบบต่างๆ อีกทั้งจะต้องพิจารณาการขนส่งสินค้าและคน ผ่านระบบการจราจรทางน้ำและทางราง ให้เป็นไปอย่างสอดคล้องกันด้วย นายไมตรีกล่าว


ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงรายหนึ่ง กล่าวถึงรายละเอียดการจัดทำงบประมาณว่า การเสนอกรอบวงเงินงบประมาณปี 51 เพิ่มจากปี 50 ประมาณ 20 % นั้น น่าจะเป็นที่ยอมรับและไม่ถูกตัดมากนัก

โดยได้เสนอกรอบวงเงินงบประมาณ ของ ร.ฟ.ท.ในปี 2551 อยู่ที่จำนวน 13,496.369 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 50 ที่ได้รับ 8,157.90 ล้านบาทประมาณ 86.40% ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่ได้รับการปรับเพิ่มงบประมาณสูงที่สุด

ส่วนกรมทางหลวง (ทล.) ยังเป็นหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงที่สุด คือ 53,942 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 49 ที่ได้รับจัดสรร 45,051.73 ล้านบาทประมาณ 19.73 ล้านบาท

โดยรายละเอียดกรอบวงเงินในภาพรวม จำแนกตามสัดส่วนเป็นงบรายจ่ายประจำ จำนวน 30,744.53 ล้านบาท หรือ 26.34 % ที่เหลืออีกจำนวน 85,963.71 ล้านบาท หรือ 73.66% จะเป็นงบลงทุน ซึ่งแบ่งเป็นโครงการลงทุนที่มีภาระผูกพันจำนวน 29,245.24 ล้านบาท และโครงการลงทุนใหม่ 56,718.47 ล้านบาท
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42628
Location: NECTEC

PostPosted: 01/05/2007 1:17 pm    Post subject: Reply with quote

จี้การรถไฟฯ ทำข้อมูลก่อนปรับแผนที่ดิน

โดย ผู้จัดการรายวัน 1 พฤษภาคม 2550 10:17 น.


“สรรเสริญ” สั่ง ร.ฟ.ท.เก็บข้อมูลที่ดินทั่วประเทศทำเป็นฐานข้อมูลรวมการใช้ประโยชน์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงทำเลทองกลางเมือง 3 แห่ง ที่ดินย่านบางซื่อ (พหลโยธิน),มักกะสัน และช่องนนทรี ที่สัญญาจะหมด ธ.ค.2550 ส่วนรถไฟทางคู่สายฉะชิงเทรา-ศรีราชา-แหลมฉบัง จ่อเข้า ครม.ขอเพิ่มค่าก่อสร้างหลังปรับเทคนิคแก้ปัญหาดินอ่อนพร้อมกับขอยกเลิกเอ็มโอยูกับจีนสมัย “ทักษิณ” คลายเงื่อนประมูลตามระเบียบพัสดุ

นายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่มีนายศิวะ แสงมณี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 27 เม.ย.2550 ที่ผ่านมาเพื่อติดตามเร่งรัดการดำเนินงานต่างๆ ของ ร.ฟ.ท. โดยได้สั่งให้ ร.ฟ.ท.รวบรวมเพื่อจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์และที่ดินทั่วประเทศ รวมถึงการใช้ประโยชน์เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการดำเนินงานต่อไป และให้สรุปแผนการใช้ประโยชน์ในที่ดินทำเลทอง 3 แห่ง ได้แก่ ที่ดินย่านบางซื่อ (พหลโยธิน) ย่านมักกะสัน และช่องนนทรี (สัญญาจะสิ้นสุดในเดือน ธ.ค.2550) เพื่อใช้เป็นกรอบและแผนในการบริหารจัดการต่อไปด้วย

โดยยอมรับว่า ร.ฟ.ท.ไม่ได้มีการจัดทำข้อมูลหรือรวบรวมรายละเอียดการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่มีอยู่ทั่วประเทศซึ่งการทำฐานข้อมูลจะช่วยให้สามารถนำมาใช้อ้างอิงในการพิจารณาหรือจัดทำแผนในการใช้ประโยชน์ได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหามานานกว่า 10 ปีแล้ว ตั้งแต่ที่ตนยังทำงานอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จึงเห็นถึงความจำเป็นในการจัดทำข้อมูล

“ที่ผ่านมา ร.ฟ.ท.ได้เคยมีการศึกษาและทำแผนการใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มรายได้ในที่ดินทำเลทอง 3 แห่งไว้แล้ว แต่ยังไม่เคยถูกนำมากำหนดเป็นแผนหรือแนวทางที่ชัดเจนจึงเห็นว่า ร.ฟ.ท.ควรจะต้องรวบรวมข้อมูลที่มีอยู่และจัดทำเป็นแผนปฏิบัติที่ชัดเจนแม้จะไม่สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นได้ในรัฐบาลนี้ แต่การกำหนดเป็นกรอบแนวทางอาจเกิดประโยชน์ในรัฐบาลชุดต่อไปที่สามารถนำมาพิจารณาหรือปรับใช้ให้เหมาะสมได้ง่ายขึ้นซึ่งจะดีกว่าการไม่ทำอะไร” นายสรรเสริญ กล่าว

นายบัญชา คงนคร รักษาการผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำฐานข้อมูลการใช้ประโยชน์ในที่ดินทั่วประเทศ โดยมีความคืบหน้าไปแล้วจำนวน 25 สถานียังเหลืออีกกว่า 100 สถานีซึ่งจะต้องเร่งรัดเพื่อสรุปเสนอกระทรวงคมนาคมส่วนแผนการใช้ประโยชน์ในที่ดินทำเลทองทั้ง 3 แห่งนั้น ร.ฟ.ท.มีแผนและผลการศึกษาอยู่แล้ว แต่นโยบายของ รมช.คมนาคมต้องการให้มีการรวบรวมจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนเพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงานต่อไปได้

**ชง ครม.ยกเลิกเอ็มโอยูจีนบล็อกประมูลทางคู่

นายสรรเสริญ กล่าวว่า นอกจากนี้ได้เร่งรัดการดำเนินงานโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-แหลมฉบัง ระยะทาง 78 กม.ซึ่งจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติในการขอยกเว้นการปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนและเศรษฐกิจที่มีความตกลงไว้เมื่อวันที่ 22 ก.ย.2548 สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อให้ ร.ฟ.ท.สามารถดำเนินการประกวดราคาตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ 2549 คาดว่าจะสามารประกวดราคาได้ภายใน ส.ค.นี้เพราะมีแบบก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว

และจะเสนอ ครม.เพื่อขอปรับวงเงินค่าก่อสร้างจาก 5,235 ล้านบาท เป็น 5,850 ล้านบาท เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนเทคนิคการก่อสร้างงานดินถมบริเวณดินอ่อนจากเดิมใช้วิธี PVD (Synthetic Drain) มาเป็นเสาเข็มคอนกรีตรองรับพื้นคอนกรีตเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของโครงสร้างทาง และลดค่าใช้จ่ายการบำรุงรักษาทางในระยะยาวอีกด้วย

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กม. นายสรรเสริญ กล่าวว่า บอร์ด ร.ฟ.ท.ได้เห็นชอบและเสนอมายังกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอ ครม.ขออนุมัติภายในเดือน พ.ค.นี้ และคาดว่าจะสามารถเปิดประกวดราคาก่อสร้างงานโยธาได้และจะพิจารณาคัดเลือกผู้รับเหมาได้ไม่เกินเดือน ส.ค.นี้ ตามกรอบเวลาที่ นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีกำหนดไว้อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ในส่วนของแผนฟื้นฟูกิจการของ ร.ฟ.ท.เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดทุนซึ่งผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด ร.ฟ.ท.แล้วก็ได้เสนอมายังกระทรวงคมนาคมแล้วเช่นกัน โดยขณะนี้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อพิจารณารายละเอียดและสรุปความชัดเจนก่อนเสนอ ครม.ตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งมีนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานร่วมกับตัวแทนกระทรวงการคลัง

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าวว่า แผนการฟื้นฟูกิจการ ร.ฟ.ท.ได้เสนอให้รัฐเข้ามาช่วยรับภาระหนี้สินและการลงทุนทั้งหมดในส่วนของหนี้ภาระเงินกู้ 37,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินชดเชยผลการขาดทุนค้างรับ 18,000 ล้านบาท หนี้จากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน 15,000 ล้านบาท แลกที่ดินส่วนราชการเช่าใช้กับภาระหนี้ประมาณ 4,000ล้านบาท โดยเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการ (Steering Committee) เพื่อติดตามการทำงานให้เป็นไปตามแผนและมีการจัดตั้งบริษัทลูก 3 แห่ง คือ บริษัทบริหารทรัพย์สิน บริษัท ขนส่งสินค้าภาคตะวันออก และบริษัท บริหารรถไฟฟ้า พร้อมกำหนดเป้าหมายการบริหารงานภายใน 1-2 ปีเพื่อแก้ปัญหาการขาดทุนได้
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42628
Location: NECTEC

PostPosted: 04/05/2007 11:58 pm    Post subject: Reply with quote

1มิ.ย.รฟท.เก็บค่าผ่านทางเข้าออกถนน
Dailynews - May 4, 2007

นางสาวมณฑกาญจน์ ศรีวิลาศ หัวหน้ากองประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า เนื่องจากมีบุคคลได้นำรถยนต์ขนาดใหญ่ (รถทัวร์) รถยนต์รับจ้างไม่ประจำทาง และรถอื่น ๆ ผ่านเข้า-ออก และเข้ามาจอดในพื้นที่บริเวณบ้านพักรถไฟ กม.11 เป็นจำนวนมาก จนทำให้สาธารณูปโภค ทั้งถนน ทางระบายน้ำ ท่อน้ำประปา สายไฟฟ้า สายโทรศัพท์ ที่ใช้งบประมาณของ รฟท.ในการก่อสร้างและจัดซื้อได้รับความเสียหายและชำรุดเป็นจำนวนมาก ซึ่ง รฟท.ต้องใช้งบประมาณในการซ่อมแซมบำรุงรักษาเป็นจำนวนเงิน ปีละหลายล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว รฟท.จึงได้กำหนดให้มีการจัดเก็บค่ารถยนต์ที่ผ่านเข้า-ออก บริเวณบ้านพักรถไฟ กม.11 (ซอยวิภาวดี 11) และผู้ที่นำรถยนต์เข้ามาจอดในพื้นที่ ตั้งแต่ วันที่ 1 มิ.ย.นี้ เป็นต้นไป โดยรถยนต์ที่ผ่านเข้า-ออก เก็บค่าผ่านทางคันละ 10 บาท รถยนต์ที่นำเข้ามาจอดในพื้นที่ที่กำหนดไม่เกิน 1 ชั่วโมง ไม่คิดค่าบริการ ชั่วโมงที่ 2 ถึงชั่วโมงที่ 5 เก็บชั่วโมงละ 10 บาท เกินกว่า 5 ชั่วโมงคิดบริการเหมา จ่ายวันละ 50 บาท (เศษของชั่วโมงคิดเป็น 1 ชั่วโมง)

นางสาวมณฑกาญจน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีผู้ค้าที่เข้ามาทำการค้าขายบริเวณบ้านพักรถไฟ กม.11 แล้ว ละเมิดพื้นที่ผ่อนปรนเข้าไปค้าขายบนท้องถนน ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการสัญจรไปมา รฟท.จึงกำหนดจัดเก็บค่าใช้พื้นที่เช่นเดียวกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้ ผู้ค้าขายจะต้องชำระค่าบริการในอัตราตารางเมตรละ 10 บาท โดยจะจัดเก็บตั้งแต่ 1 พ.ค.นี้เป็นต้นไป อย่างไรก็ตามการประกาศจัดเก็บอัตราค่าบริการดังกล่าวจะมีคณะทำงานฯ เข้าดำเนินการ โดยมีการออกใบเสร็จรับเงินอย่างถูกต้อง และมีป้ายชื่อพนักงานที่เข้าดำเนินการ สามารถตรวจสอบได้.
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42628
Location: NECTEC

PostPosted: 11/05/2007 12:55 pm    Post subject: Reply with quote

กทม.นับหนึ่งใหม่เจรจาการรถไฟฯปัญหาค่าเช่า-ต่อสัญญาตลาดจตุจักร
Dailynews - May 11, 2007

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายเฉลิมชัย เขียวประดิษฐ์ ผู้อำนวยการตลาดนัดกองอำนวยการตลาดนัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ประชุมร่วมกับผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เรื่องค่าเช่าและการต่อสัญญาตลาดนัดจตุจักร ซึ่ง กทม. ได้ปรับแผนในการเจรจาใหม่ โดยขอต่อสัญญาเช่าที่ดินจากการรถไฟฯ ที่จะหมดในปี 2555 ไปอีก 25-30 ปี โดยให้ปรับค่าเช่าตลาดนัดเป็นช่วง ๆ ในอัตราเดียวทุก 5 ปี ส่วนอัตราค่าเช่าที่กทม.ค้างชำระขอเจรจาเพื่อกำหนดอัตราเป็น 2 ช่วง

1. ตั้งแต่ 2 ม.ค. 2545-1 ม.ค. 2550 และ

2. ระหว่างวันที่ 2 ม.ค. 2550-1 ม.ค. 2555

จากเดิมที่การรถไฟฯ เสนอปรับราคาตั้งแต่ 2 ม.ค. 2545 ในอัตรา 400 บาท และ
จากปี 2549-2555 ปรับเป็น 600 บาทต่อตารางเมตร

ซึ่ง กทม. เห็นว่าสูงเกินไปจะกระทบต่อผู้ค้าในขณะที่ กทม. เสนอขอปรับอัตราจาก 32 บาทต่อตารางเมตร เป็น 50 บาทต่อตารางเมตร โดยนัดเจรจาเป็นระยะ ๆ ต่อไปจนกว่าจะได้ข้อสรุป

รายงานข่าวแจ้งว่า การเจรจาดังกล่าวเป็นการเจรจาครั้งใหม่หลังเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจากสมัยรัฐบาลชุดที่แล้วที่เคยผลักดันให้การรถไฟฯ เจรจากับ กทม. เพื่อเรียกร้องขอเข้าร่วมบริหารตลาดนัดจตุจักรพร้อมเข้ามาขอส่วนแบ่งรายได้จากตลาดนัดจตุจักรเพิ่ม.
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42628
Location: NECTEC

PostPosted: 11/05/2007 3:04 pm    Post subject: Reply with quote

นับหนึ่งใหม่ถกสัญญาจตุจักร กทม.เสนอต่อ 25 ปี จ่ายเงินค้าง 2 งวด-รฟท.สนรับเจรจา
[Thairath 11 พ.ค. 50 - 03:54]

ผู้สื่อข่าวประจำศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร รายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายเฉลิมชัย เขียวประดิษฐ์ ผู้อำนวยการตลาดนัด กองอำนวยการตลาดนัดกรุงเทพมหานคร (ผอ.ตลาดนัดจตุจักร) ได้ประชุมร่วมกับผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เรื่องค่าเช่าและการต่อสัญญาตลาดนัดจตุจักร ซึ่ง กทม.ได้ปรับแผนในการเจรจาใหม่ โดยขอต่อสัญญาเช่าจากที่จะหมดในปี 2555 ไปอีก 25-30 ปี และให้ปรับค่าเช่าตลาดนัดเป็นช่วงๆ ในอัตราเดียวทุก 5 ปี

ส่วนอัตราค่าเช่าที่ กทม.ค้างชำระขอเจรจาปรับค่าเช่าเป็น 2 ช่วง ตั้งแต่ 2 ม.ค. 2545-1 ม.ค. 2550 และระหว่างวันที่ 2 ม.ค. 2550-1 ม.ค. 2555 จากเดิมที่การรถไฟฯเสนอปรับขึ้นในอัตรา 400-600 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งเป็นราคาที่สูงเกินไป

ทั้งนี้ การรถไฟฯ พร้อมจะเจรจาด้วย โดยนัดเจรจากันเป็นระยะๆต่อไปจนกว่าจะได้ข้อสรุป ซึ่งในส่วนของ กทม.จะนำผลการเจรจาครั้งนี้รายงานนายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัด กทม. รวมทั้งเตรียมจัดทำรายละเอียดเรื่องอัตราค่าเช่าเพื่อนำไปเจรจากับการรถไฟฯต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเจรจาดังกล่าวเป็นการหารือกันใหม่หลังเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจากสมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว มีการผลักดันให้การรถไฟฯ เจรจากับ กทม. เพื่อเรียกร้องขอเข้าร่วมบริหารตลาดนัดจตุจักร พร้อมเข้ามาขอส่วนแบ่งรายได้จากตลาดนัดจตุจักร 30% จากเดิมที่ กทม.จ่ายเป็นค่าเช่าปีละประมาณ 3.4 ล้านบาท ในอัตราค่าเช่า 32 บาท ต่อตารางเมตร รวมทั้งเสนอขอปรับค่าเช่าที่ดินที่ กทม.เช่าอยู่ 68 ไร่ จากอัตรา 32 บาท/ตร.ม./เดือน เป็น 397 บาท/ตร.ม./เดือน ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. 2544-2 ม.ค. 2549 และจากปี 2549 จะปรับเพิ่มเป็น 600 บาท/ตร.ม./เดือน จนถึงสิ้นสุดสัญญาในปี 2555 แต่ กทม.เห็นว่าเป็นอัตราที่สูงเกินไป จะกระทบผู้ค้าและประชาชน จึงสรุปตัวเลขที่ 50 บาท/ตร.ม./เดือน ตั้งแต่ปี 2544-2549 ซึ่งตกประมาณ 27 ล้านบาท และเริ่มคิดอัตรา 397 บาท/ตร.ม./เดือนจากปี 2549

อย่างไรก็ตาม หาก รฟท.ไม่พอใจค่าเช่าต้องการส่วนแบ่งรายได้ จะให้ประมาณ 10% เท่านั้น คงให้ 30% ตามที่เรียกร้องไม่ได้ เนื่องจากขณะนี้ตลาดนัดจตุจักรทรุดโทรมเพราะก่อตั้งมา 24 ปีแล้ว ต้องใช้งบในการปรับปรุง ในขณะที่รายได้ 100 ล้านบาทต่อปี ใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายที่มีรายได้จากส่วนอื่นๆ เช่น ค่าให้เช่าพื้นที่ธนาคารมาหมุนเวียน ส่วนการให้ผู้แทนจาก รฟท.เข้ามาเป็นบอร์ดบริหารก็คงไม่ได้ เพราะไม่มีที่ใดทำกัน ผู้เช่าต้องมีอิสระในการบริหาร ซึ่งในที่สุดหลังเปลี่ยนรัฐบาลก็มีการนัดเจรจากันใหม่ ทั้งนี้ ปัจจุบัน กทม.เรียกเก็บค่าเช่าแผงจากผู้ค้าที่มีอยู่ราว 9,000 แผง เฉลี่ยรายละ 260 บาท ต่อแผงต่อเดือน ในขณะที่จ่ายให้การรถไฟฯตกแผงละ 32 บาทต่อแผงต่อเดือน.
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42628
Location: NECTEC

PostPosted: 14/05/2007 7:45 pm    Post subject: Reply with quote

รถไฟฟ้า บูมบางซื่อ ร.ฟ.ท.รับเนื้อๆ ชูโมเดล "สนง.ทรัพย์สิน" บริหารพอร์ตที่ดินล้างหนี้

ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3896 (3096)

วิเคราะห์

ถ้าหาก ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) อนุมัติเงินกู้สำหรับใช้ลงทุนก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า 5 สาย วงเงินรวม 9.2 หมื่นล้านบาท เหมือนกับที่หลายหน่วยงานกำลังกระพือข่าว ปลายปีนี้คงได้เห็นรถไฟฟ้า 2 สายแรกที่มีความพร้อมมากที่สุด คือสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และสายสีม่วง บางซื่อ-บางใหญ่ ออกสตาร์ตก่อสร้างจริงๆ เสียที

งานนี้นอกจากแลนด์ลอร์ดตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าจะได้แจ็กพอต เพราะมูลค่าที่ดินจะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวแล้ว การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะเจ้าของแลนด์แบงก์แปลงใหญ่หลายแปลง โดยเฉพาะย่านบางซื่อ-พหลโยธิน ที่มีที่ดินมากถึงกว่าพันไร่ก็น่าจะรับส้มหล่นไปด้วย

เพราะจะทำให้แผนรื้อการบริหารจัดการทรัพย์สินที่มีอยู่ในมือทั้งหมด ตามเป้าหมายที่จะเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างรายได้ให้กับ ร.ฟ.ท.ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อก็คงใกล้ความจริงขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง หลังจากหลายสิบปีที่ผ่านมา ร.ฟ.ท.มีรายได้จากการปล่อยเช่าที่ดินจำนวนมากแบบไม่คุ้มค่านัก ทั้งๆ ที่บางแปลงปัจจุบันอยู่ในทำเลไข่แดง เป็นแหล่งธุรกิจการค้า อย่างที่ดิน 47 ไร่ บริเวณสามเหลี่ยมพหลโยธินที่กลุ่มเซ็นทรัลเป็นผู้เช่า

เมื่อมีภาระหนักหนาสาหัสที่จะต้องเคลียร์หนี้ก้อนโตกว่า 4.8 หมื่นล้านบาท ร.ฟ.ท.ในยุคนี้จึงต้องรื้อโครงสร้างการบริหารจัดการพอร์ตที่ดินทั้งหมดเพื่อหาทางสร้างรายได้เพิ่ม นอกเหนือจากการปรับโครงสร้างตัวองค์กรที่ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำแผนฟื้นฟูเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา

นายนคร จันทรศร รองผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. ด้านบริหารโครงการระบบรถไฟฟ้าเปิดเผย "ประชา ชาติธุรกิจ" ว่า จากที่ ร.ฟ.ท.จะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาแผนฟื้นฟูที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ร.ฟ.ท.ช่วงก่อนหน้านี้ เพื่อแก้ไขปัญหาภาระหนี้สิน 4.8 หมื่นล้านบาท และปรับปรุงโครงสร้างการบริหารองค์กรใหม่ให้มีความชัดเจนมากขึ้นนั้น ในส่วนของการบริหารจัดการสินทรัพย์ซึ่งเป็น non-core business ได้แก่ ที่ดินบริเวณเขตทาง และบริเวณสถานีรถไฟทั่วประเทศที่มีอยู่ทั้งหมด 2.3 แสนไร่ ร.ฟ.ท.จะตั้งบริษัทลูกขึ้นมา บริหาร เพื่อรายได้เข้ามามากขึ้น

"สำหรับบริษัทลูกที่จะจัดตั้งขึ้น เราจะอิงโมเดลการบริหารจัดการที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินฯ เพราะมองว่าทำแล้วประสบความสำเร็จ และทำให้ตัวองค์กรมีรายได้มากขึ้น" นายนครกล่าว

แม้รองผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.จะไม่ขอขยายความถึงโมเดลดังกล่าว แต่พอเห็นได้เป็นนัยๆ ว่า ในอนาคตนอกจาก ร.ฟ.ท.ให้ความสำคัญกับการจัดสารบบที่ดิน และการบริหารจัดการที่ดินด้านต่างๆ แล้ว ในส่วนของอัตราค่าเช่าก็จะมีการปรับเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ และตัวผู้เช่า หรือผู้ที่ต้องการนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ เพราะภาครัฐให้นโยบายมาชัดเจนแล้วว่า จากนี้ไปคงต้องพิจารณาเรื่องผลตอบแทนเป็นสำคัญ ไม่ต่างไปจากการรื้อโครงสร้างอัตราค่าเช่าที่ดินในทำเลต่างๆ ของสำนักงานทรัพย์สินฯ ในฐานะเป็นแม่แบบ

แม้จะมีที่ดินในมือ 2.3 แสนไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่บริเวณเขตทาง 2 ข้างทางรถไฟ ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากนัก ส่วนที่น่าจะนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ได้จริงๆ มีอยู่ประมาณ 34,487 ไร่เท่านั้น ใน

จำนวนนี้มีพื้นที่ทำเลเด่นๆ และมีศักยภาพสูง อาทิ ที่ดินบริเวณถนนพหลโยธิน 1,070 ไร่ มักกะสัน 745 ไร่ พื้นที่ย่านสถานีแม่น้ำ ขนาด 260 ไร่ พื้นที่ย่านองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ขนาดพื้นที่ 40 ไร่ เป็นต้น

สำหรับที่ดินบริเวณสถานีรถไฟบางซื่อ-พหลโยธิน-จตุจักรนั้น เดิม ร.ฟ.ท.เคยร่างพิมพ์ เขียวจะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางบกของประเทศและภูมิภาคเอเชีย เป็นจุดเชื่อมต่อระบบการขนส่งทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า รวมทั้งระบบขนส่งมวลชนระบบอื่นๆ ในลักษณะเป็นคอมเพล็กซ์ครบวงจร มีศูนย์การค้า โรงแรม ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกสบายครบครัน มูลค่าลงทุนนับหมื่นล้านบาท ขณะที่สถานีมักกะสันที่จะพัฒนาให้เป็นจุดศูนย์กลางการคมนาคมด้านตะวันออก

ขณะเดียวกันเคยจับมือกับการเคหะแห่งชาติ (กคช.) วาดแผนพัฒนาเมืองใหม่ย่านบางซื่อ บนที่ดิน 105 ไร่ รูปแบบเป็นโครงการที่พักอาศัยแนวสูงขนาดใหญ่กว่า 1 หมื่นยูนิต เป็นชุมชนสมบูรณ์แบบ มูลค่าลงทุน 7 พันล้านบาท บังเอิญถูกสั่งเบรกหลังการเมืองผลัดใบ

ที่ผ่านมาหลายคนอาจมองว่าไอเดียของผู้บริหาร ร.ฟ.ท. ยุคก่อน ๆ อาจเป็นได้เพียงแค่โปรเจ็กต์ลมๆ แล้งๆ ที่ยากจะเป็นจริง แต่อย่าลืมว่า ถ้าโครงการรถไฟฟ้าแจ้งเกิด นอกจากจะจุดพลุความฝันครั้งใหม่ให้กับ ร.ฟ.ท.อีกครั้ง เพราะภายในระยะเวลาอันใกล้ทำเลบางซื่อ-พหลโยธิน-จตุจักร จะกลายเป็นจุดศูนย์รวมของสถานีต้นทางรถไฟฟ้าหลายสาย ทั้งสายสีน้ำเงินที่เปิดบริการอยู่ขณะนี้ สายสีแดง สายสีม่วงที่จะเกิดใหม่ เป็นแหล่งรวมที่มีคนผ่านไปมาวันละหลายแสนคนแล้ว ยังน่าจะทำให้ ร.ฟ.ท.สามารถพลิกสถานการณ์สร้างรายได้จากที่ดินที่อยู่ในมือ แบ่งเบาภาระหนี้ที่ต้องแบกไว้บนบ่าหนักอึ้งอย่างเวลานี้ได้อีกโข

ถ้าอานิสงส์รถไฟฟ้าที่จะเกิดใหม่สายสีแดง สายสีม่วง ทำให้แลนด์ลอร์ดได้รับส้มหล่น ร.ฟ.ท. ก็น่าจะถูกรางวัลแจ็กพอตเหมือนๆ กัน
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42628
Location: NECTEC

PostPosted: 16/05/2007 10:32 am    Post subject: Reply with quote

"โฆสิต"เร่งรัดการประมูลรถไฟฟ้า หวังใช้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

โดย ผู้จัดการรายวัน 15 พฤษภาคม 2550 22:20 น.


"โฆสิต" สั่งคมนาคมเร่งรัดการลงทุน 4 โครงการใหญ่ทั้งรถไฟฟ้าสายสีแดง รถไฟฟ้าสายสีม่วง รถไฟรางคู่ และโครงการถนนเชื่อมต่อสุวรรณภูมิ เพื่อใช้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเร่งรัดให้มีการจัดประมูลภายในส.ค.นี้ บอร์ดร.ฟ.ท.อนุมัติกรอบลงทุนรถไฟสีแดง(บางซื่อ-รังสิต) ทั้งโครงการ 52,220 ล้านบาท ก่อนชงครม.อนุมัติ 22 พ.ค.นี้ "ซิโน-ไทย" ต่อรองขยายเวลาก่อสร้างแอร์พอร์ตลิงค์ 463 วัน จากเดิมที่ปรึกษาให้แค่ 398 วัน หลังเจรจาร่วม 3 ฝ่าย ด้านร.ฟ.ท.หวั่นปัญหาซ้ำรอย เตรียมตั้งคนนอก (Third Party) ประเมินก่อน สรุป เสนอบอร์ด ด้าน”ศิวะ”ยังไม่สรุปพักงานคนร.ฟ.ท.ที่ถูกคตส.ชี้มูลความผิด ส่วนแผนฟื้นฟูกิจการร.ฟ.ท.ถูก"โฆสิต"ตีกลับ เหตุวงเงินสูงและขาดความชัดเจน

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนรวม (คศร.)กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วานนี้ (15 พ.ค.) ได้สั่งการให้ส่วนราชการปรับแผนการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลให้สามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมาย 93% โดยเฉพาะการเร่งรัด 4 โครงการที่มีความพร้อมในการลงทุนวงเงินรวม 74,331 ล้านบาท จึงมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดให้มีการประมูลแล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค.50 ประกอบด้วย1.โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน วงเงิน 13,133 ล้านบาท และช่วงรังสิต-บางซื่อ วงเงิน 53,000 ล้านบาท

2. สายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ วงเงิน 45,653 ล้านบาท โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงิน 2,348 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่เส้นทางฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-แหลมฉบัง วงเงิน 5,850 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ขณะที่การลงทุนในประเทศชะลอตัวลงมาก ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องเร่งการลงทุนเพื่อเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้จะส่งผลกระทบการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต ซึ่งในวันที่ 21 พ.ค.นี้ คณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะมีการประชุม เพื่อพิจารณาหามาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศให้มากขึ้นด้วย รวมถึงการพิจารณามาตรการทางภาษีซึ่งกำลังเร่งรัดให้กระทรวงการคลังศึกษารายละเอียด เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการกระตุ้นการบริโภค และการลงทุนทั้งภาครัฐ-เอกชนที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะโครงการรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล(อีโคคาร์) ที่คาดว่าจะสรุปแนวทางได้ภายในเดือนมิ.ย.นี้

**อนุมัติกรอบลงทุนรถไฟสีแดง 52,220 ล้านบาท

นายศิวะ แสงมณี ประธานคณะกรรมการ ร.ฟ.ท. กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ดร.ฟ.ท.วานนี้ (15 พ.ค.) ว่า ที่ประชุมฯมีมติเห็นชอบการดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (โครงการระบบรถไฟชานเมือง) สายสีแดง ช่วงบางซื่อ -รังสิต ซึ่งได้มีการปรับปรุงวงเงินค่าก่อสร้างช่วงบางซื่อ – รังสิต รวมก่อสร้างสถานี ศูนย์ซ่อมและระบบอาณัติสัญญาณ เป็นเงิน 52,220 ล้านบาท และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน วงเงิน 13,133 ล้านบาท ซึ่งจะเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเพื่อให้รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยมีผลการศึกษาผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 16.2 % ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี

โดยจะมีการเสนอขออนุมัติครม.ขอดำเนินโครงการ ช่วงบางซื่อ- รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชันเป็นแพคเกจเดียวกันโดยจะดำเนินการเฉพาะช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันซึ่งมีความพร้อมก่อน ส่วนช่วงบางซื่อ-รังสิตอยู่ระหว่างปรับแบบรายละเอียดเพิ่มเติมโดยสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) โดยจะอิงจากแบบเดิมที่ได้ออกแบบแยกชานชาลาขบวนรถชานเมือง(ชานชาลาสูง) ออกจากชานชาลาขบวนรถทางไกล (ชานชาลาต่ำ) แยกรางสำหรับงานเตรียมขบวนรถ (Stabling Tracks) ออกจากชานชาลาผู้โดยสารขึ้นลงออกแบบสถานีบางซื่อให้เป็นสถานีกลางใหม่ของระบบการเดินรถไฟทางไกลและรถไฟชานเมืองรวมทั้งมีการออกแบบย่านและองค์ประกอบการอื่นของสถานี เช่นโรงซ่อมบำรุงเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างเต็มที่

ส่วนกรณีที่ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) มีมติตั้งข้อกล่าวหาบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโครงการแอร์พอร์ตลิงค์นั้น บอร์ดได้รับแจกเอกสารการชี้มูลความผิดจากคตส.ว่ามีบุคคลใดอยู่ในข่าย ซึ่งก่อนหน้านี้ ร.ฟ.ท.ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงไว้แล้วและอยู่ระหว่างประมวลผล ส่วนคนร.ฟ.ท.ที่ถูกคตส.ชี้มูลความผิด หากพ้นหน้าที่ไปแล้ว ก็ต้องปฎิบัติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ส่วนที่ยังปฎิบัติหน้าที่อยู่ หรือยังไม่เกษียณอายุนั้น ขณะนี้ต้องดูว่าเมื่อชี้มูลมาแล้วต้องรอผลไต่สวนหรือไม่ หรือต้องพักงานหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้บอร์ดยังไม่ได้พิจารณา

**ขอข้อมูล กมธ.คมนาคมเพิ่มก่อนหารือกฤษฎีกาอีกรอบ

ส่วนความคืบหน้าสัญญาเช่าที่ดินบริเวณสามเหลี่ยมย่านพหลโยธิน (เซ็นทรัล)นั้น นายศิวะกล่าวว่า เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่รับหารือหลังจากร.ฟ.ท.ส่งหนังสือหารือไปล่าสุดเพราะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใหม่ ดังนั้น ร.ฟ.ท.ต้องรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม โดยขอรายงานการประชุมจากคณะกรรมาธิการคมนาคมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เสนอให้เปิดประมูลหาเอกชนรายใหม่เข้าดำเนินการและหลักฐานบางอย่างที่เป็นเอกสารใหม่ส่งไปหารือกับกฤษฎีกาอีกครั้ง เช่น กรณีที่บริษัท เซ็นทรัลอินเตอร์พัฒนา จำกัด ทำหนังสือถึงร.ฟ.ท.เมื่อปี 2544 ขอต่อสัญญาออกไปอีก 30 ปี ซึ่งบอร์ดร.ฟ.ท.ในขณะนี้มีมติไม่ต่อสัญญาให้ เป็นต้น เพราะถือเป็นเอกสารที่ยังไม่เคยส่งให้กฤษฎีกา และกรณีที่บอร์ดสมัยนั้นไม่อนุมัติการต่อสัญญาอาจเป็นหลักฐานในการวินิจฉัยของกฤษฎีกาได้

**ขยายเวลาสร้างแอร์พอร์ตลิงค์

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณาขยายเวลาก่อสร้างโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (แอร์พอร์ต เรล ลิ้งค์) ระยะทาง 28 กม.มูลค่า 25,907 ล้านบาทว่า วานนี้ (15 พ.ค.) คณะกรรมการตรวจการจ้าง บริษัทที่ปรึกษา (CSC) และบริษัท ซิโน-ไทยเอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้รับเหมาได้ประชุมและได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะเสนอต่อร.ฟ.ท.เพื่อขยายเวลาก่อสร้างโครงการออกไป 463 วัน หลังสิ้นสุด 990 วัน (5พ.ย.2550) จากที่ผู้รับเหมาเสนอมา 552 วัน ส่วน CSC ประเมินไว้ที่ 398 วัน ทั้งนี้เวลาที่เพิ่มขึ้นอีก 65 วัน เนื่องจากผู้รับเหมาขอบวกเพิ่มในส่วนที่เป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ และ วันหยุดประจำเดือน ทุกวันที่ 15 และ 30 ของเดือน

หากสามารถก่อสร้างเสร็จในเวลาที่ขยายใหม่ ผู้รับเหมาจะไม่ถูกปรับ และโครงการจะสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงเดือนมิ.ย. 2552 อย่างไรก็ตามเพื่อความรอบคอบ ร.ฟ.ท.จะตั้งคณะกรรมการกลางที่เป็นคนนอก (Third Party) ซึ่งมีผู้แทนจากกระทรวงการคลัง สภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ฯลฯ พิจารณาระยะเวลา 463 วันกับเนื้องานที่เหลือว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ เนื่องจากการตกลงขยายเวลาก่อสร้างไม่ว่าจะเป็นกี่วัน จะกระทบกับภาระด้านการเงินของร.ฟ.ท.ทั้งสิ้น

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมาคณะกรรมการกำกับและติดตามการดำเนินงานปรับปรุงโครงสร้างการบริการจัดการเพื่อฟื้นฟูฐานะการเงินของรฟท. ที่มีนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานได้ข้อยุติของแผนเพื่อนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม.สรุปว่าการแบ่งแยกบทบาทระหว่างภาครัฐและ รฟท.โดยให้ภาครัฐจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาเครือข่ายระบบรางส่วนร.ฟ.ท.มีภาระในการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานและจัดการเดินรถส่วนการเดินรถเชิงสังคมจะร่วมกำหนดกรอบวงเงินอุดหนุน

แหล่งข่าว กล่าวว่า เสนอให้ภาครัฐรับภาระหนี้เงินกู้ด้านโครงสร้างพื้นฐาน13,408.365 ล้านบาท และให้สำนักงบประมาณตั้งบชำระหนี้ชดเชยเงินขาดทุนคงค้าง22,040 ล้านบาท หรือกู้โดยให้คลังค้ำประกันเงินกู้ และร.ฟ.ท.จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน 113ไร่ในเขตกรุงเทพส่วนที่ราชการเช่าอยู่ให้กรมธนารักษ์แหละที่ดินที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการรถไฟบางส่วนเพื่อแลกกับภาระหนี้

ส่วนของการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่แบ่งเป็น 4 หน่วยธุรกิจได้แก่หน่วยโครงสร้างพื้นฐานและควบคุมการใช้ทางหน่วยงานเดินรถขนส่งสินค้า หน่วยงานเดินรถขนส่งผู้โดยสารและหน่วยงานบริการ และจัดตั้งบริษัทลูก 3 แห่งคือบริษัทบริหารการขนส่งสินค้าสายตะวันออก บริษัทบริหารรถ ไฟ ฟ้าและรถไฟชานเมือง และบริษัทบริหารทรัพย์สินของการรถไฟ

** ตีกลับแผนฟื้นฟูรถไฟฯ

ด้านพลเรือเอกธีระ ห้าวเจริญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมว่า ที่ประชุมฯเห็นชอบกับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง และโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-แหลงฉบัง ตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)เสนอ แต่ให้กลับไปทบทวนแผนฟื้นฟูกิจการรถไฟ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าใช้วงเงินกว่า 37,000 ล้านบาทนั้น มีมูลค่าสูงเกินไป และยังขาดแผนที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน โดยเสนอให้มีการจัดลำดับความสำคัญของโครงการ โดยเฉพาะโครงการที่ควรเร่ง ดำเนินการคือ การปรับปรุงขบวนรถไฟ การจัดซื้อหัวรถจักรและตู้รถไฟใหม่ เพราะที่ผ่านมารถไฟไม่เคยมีการปรับปรุงสิ่งเหล่านี้

นายโฆสิต กล่าวว่า ในส่วนของการปรับปรุงแผนฟื้นฟูของการรถไฟจะต้องหยิบยกเรื่องสำคัญมาดำเนินการก่อน โดยเฉพาะเรื่องยุทธศาสตร์การบริหารจัดการภายในการรถไฟที่สามารถลงมือปฎิบัติได้ภายใน 6-7 เดือน ซึ่งที่ประชุมได้เสนอแนะแนวทางให้บอร์ดร.ฟ.ท.ทบทวนแผนฟื้นฟูกิจการทั้งหมดว่าจะต้องเริ่มจากจุดใดก่อนจึงจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ในระยะยาว เพราะแผนฟื้นฟูฯที่เสนอมานั้นยังเบ็ดเสร็จมากเกินไป

นายศิวะ แสดงมณี ประธานบอร์ด รฟท. กล่าวว่า ที่ประชุมให้ปรับปรุงแผนฟื้นฟูการรถไฟใหม่เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม..ให้ทันภายในวันที่ 22 พ.ค.นี้ โดยแผนดังกล่าวจะต้องทำให้รัฐบาลมั่นใจว่าเมื่อรัฐให้เงินไปลงทุนดำเนินงานในโครงการต่างๆ แล้วจะต้องได้งานที่มีประสิทธิภาพกลับมาเช่นเดียวกับจำนวนเงินลงทุนซึ่งการรถไฟฯจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก

**ม็อบ สร.ร.ฟ.ท. ออกแถลงกาณ์ฉบับ 4

วานนี้(15 พ.ค.) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.ร.ฟ.ท.) ได้นัดชุมนุมประมาณ 50-60 คนที่ตึกบัญชาการ การรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมกับออกแถลงการณ์ฉบับที่ 4 เพื่อเรียกร้องให้ร.ฟ.ท.ทบทวนการตัดสัญญาจ้างหัวหน้าเจ้าหน้าที่การเงิน (CFO) ให้เพิ่มรายได้กรณีบริษัทเซ็นทรัลพัฒนาเช่าที่ดินการรถไฟฯ การทวนคืนที่ดินการรถไฟฯกรณีนักการเมืองจังหวัดบุรีรัมย์ออกโฉนดทับที่ดินการรถไฟฯ
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42628
Location: NECTEC

PostPosted: 17/05/2007 9:24 am    Post subject: Reply with quote

'ร.ฟ.ท.'หลุดจากหล่มไดโนเสาร์ เริ่มคิดเป็นแผน ขึ้นค่าเช่าที่ดิน โกยรายได้ปีละ 2 พันล้าน
Thairath 17 พ.ค. 50 - 04:42

นายอารักษ์ ราษฎร์บริหาร ผู้บริหารการเงิน การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า การจัดทำแผนฟื้นฟู ร.ฟ.ท.ที่จะเสร็จในเร็วๆนี้ นอกจากเน้นการปรับปรุงการให้บริการด้านขนส่งสินค้าและผู้โดยสารแล้ว จะเน้นการสร้างรายได้จากการให้เช่าทรัพย์สินในส่วนของที่ดินมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันทรัพย์สินของ ร.ฟ.ท.ในส่วนของที่ดิน จะตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสม และให้ค่าตอบแทนทางธุรกิจที่สูง แต่ยังขาดการบริหารจัดการที่ดี ทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการนำมาบริหารองค์กร จึงตั้งเป้าว่าจะเพิ่มรายได้ในส่วนของค่าเช่าให้ได้ 2,000 ล้านบาทต่อปี จากปัจจุบัน 800 ล้านบาทต่อปี

“อุปสรรคที่ทำให้การเช่าที่ดินไม่เป็นไปตามเป้า ทั้งๆที่มีที่ดินหลายแปลงอยู่ในทำเลที่เหมาะสม เนื่องจากมีขั้นตอนที่ยุ่งยากในการดำเนินการ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ร.ฟ.ท.และหน่วยงานอื่นๆรวมแล้วกว่า 70 ขั้นตอน ดังนั้น ร.ฟ.ท.จะปรับลดขั้นตอนในเรื่องดังกล่าว โดยจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันอำนวยความสะดวกให้กับเอกชน หรือหน่วยงานราชการที่จะเช่าหรือใช้ประโยชน์จากที่ดินให้อยู่ในรูปแบบการบริการเช่าแบบครบวงจร”

นายอารักษ์กล่าวว่า ร.ฟ.ท.จะปรับการคำนวณค่าเช่าใหม่ จากเดิมคิดค่าเช่าตามราคาตลาด และคิดในอัตราเบื้องต้น เหมือนกันหมดทุกประเภทกิจกรรม แต่วิธีใหม่จะปรับค่าเช่าให้แตกต่างกันไป โดยพิจารณาถึงผลตอบแทนทางธุรกิจที่ผู้เช่าจะได้รับในอนาคต เช่นการเช่าที่ดินไปทำห้างสรรพสินค้าก็จะคิดค่าเช่าในอีกอัตราหนึ่ง ซึ่งจะสูงกว่าการให้หน่วยงานราชการเช่า เพื่อนำรายได้ในแต่ละปีที่อาจมีถึง 2,000 ล้านบาท มาใช้เป็นเงินเดือนหรือเงินตอบแทนให้กับพนักงานที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.ต้องรับภาระจ่ายเงินเดือนหรือค่าตอบแทนปีละ 2,000 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้เพียง 8,000 ล้านบาท

นายอารักษ์กล่าวว่า ขณะนี้รายได้จากการเก็บค่าเช่าของ ร.ฟ.ท.สูงสุดอยู่ที่พื้นที่ของเอ็นเนยี่ คอมเพล็กซ์ ที่บริษัท ปตท.จำกัด ทำสัญญาเช่าไว้ ส่วนรายได้จากการเช่าพื้นที่ของบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา หากมีการต่อสัญญาหรือเปิดให้รายอื่นเข้ามาเช่าต่อ ก็จะปรับค่า เช่าใหม่ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และที่ดินดังกล่าวจะทำรายได้สูงสุดให้ ร.ฟ.ท.เพราะอยู่ในทำเลที่เหมาะสม สร้างรายได้ให้กับผู้เช่าต่อปีจำนวนมาก

“ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างการสำรวจจำนวนที่ดินของ ร.ฟ.ท.ที่ปล่อยให้เอกชนหรือหน่วยงานราชการเช่าว่ามีอยู่จำนวนเท่าใด รวมถึงติดตามเก็บค่าเช่าในส่วนที่หน่วยงานต่างๆยังค้างการจ่ายอยู่ ซึ่งคาดว่าจะมีอยู่เป็นจำนวนมากในแต่ละปี โดยเฉพาะหน่วยงานราชการบางแห่งอาจค้างค่าเช่านานกว่า 10 ปี”.
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42628
Location: NECTEC

PostPosted: 19/05/2007 4:49 pm    Post subject: Reply with quote

“สรรเสริญ” หนักใจเร่งประมูลรถไฟฟ้าให้ทัน ส.ค.นี้

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 18 พฤษภาคม 2550 16:42 น.


“สรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม” ยอมรับไม่หนักใจ “โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์” สั่งเร่งประมูลรถไฟฟ้าให้ทันภายในเดือนสิงหาคมนี้ พร้อมชง ครม.ขอปรับเพิ่มวงเงินก่อสร้างรถไฟรางคู่ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง เป็น 5,850 ล้านบาท และเปลี่ยนวิธีการก่อสร้างจากวิธีถมดินเป็นตอกเสาเข็มพิจารณา วันที่ 22 พฤษภาคมนี้ ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ไม่มั่นใจว่าจะเสนอพิจารณาทันด้วยหรือไม่ แต่หากไม่ทันก็จะเสนอในภายเดือนนี้

นายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้กระทรวงคมนาคม เร่งเปิดประมูลโครงการลงทุนรถไฟฟ้า 3 เส้นทาง มูลค่ารวม 111,786 ล้านบาท ให้ทันภายในเดือนสิงหาคมนี้ ประกอบด้วย รถไฟฟ้าสายสีแดง 2 ช่วง คือ บางซื่อ-ตลิ่งชัน มูลค่า 13,133 ล้านบาท และช่วงบางซื่อ-รังสิต มูลค่า 53,000 ล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ มูลค่า 45,653 ล้านบาท และเส้นทางรถไฟรางคู่ เส้นทางฉะเชิงเทรา-แหลงฉบัง จ.ชลบุรี มูลค่า 5,850 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยืนยันว่า แผนการดำเนินการต่างๆ ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ทุกอย่างยังเป็นไปตามที่วางแผนไว้ และจะประมูลได้ทันภายในเดือนสิงหาคม และในวันอังคารที่ 22 พฤษภาคมนี้ กระทรวงคมนาคม จะเสนอเส้นทางรถไฟรางคู่เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แน่นอน เพื่อเสนอขอปรับวงเงินก่อสร้าง จาก 5,200 ล้านบาท เป็น 5,850 ล้านบาท เนื่องจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ผู้รับผิดชอบโครงการ ได้เปลี่ยนวิธีการก่อสร้าง จากเดิมที่ใช้การถมดินมาเป็นวิธีตอกเสาเข็มแทน เพื่อให้โครงสร้างแข็งแรงขึ้น เนื่องจากพื้นดินบริเวณการก่อสร้างมีลักษณะดินอ่อนคล้ายกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยในปีงบประมาณ 2550 นี้ จะใช้งบร้อยละ 10 ก่อน หรือประมาณ 580 ล้านบาท

รมช.คมนาคม กล่าวด้วยว่า หาก ครม.ให้ความเห็นชอบ คาดว่า จะเปิดประมูลทั่วไปได้ภายในเดือนกรกฎาคม ก่อนจะลงนามสัญญาก่อสร้างในเดือนกันยายน โดยจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2553 สำหรับโครงการรถไฟรางคู่ หากก่อสร้างเสร็จเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ จะช่วยเพิ่มมูลค่าการขนส่งให้กับประเทศไทยได้เป็นจำนวนมาก

สำหรับเส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน มูลค่า 13,133 ล้านบาท และช่วงบางซื่อ-รังสิต มูลค่า 53,000 ล้านบาท นายสรรเสริญ กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าจะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ทันวันที่ 22 พฤษภาคมนี้หรือไม่ เนื่องจากเพิ่งจะส่งเรื่องออก อยากจะให้เข้า ครม.ให้ทัน แต่ไม่แน่ใจว่าจะทันหรือไม่ เพราะเพิ่งส่งเรื่องออกไปจากกระทรวง แต่หากไม่ทันก็ต้องเข้าให้ทันภายในเดือนพฤษภาคมนี้ และเปิดขายซองภายในเดือนมิถุนายน ส่วนสายสีม่วง และสายสีน้ำเงิน ยังคงเป็นไปตามแผนเดิมที่กำหนดไว้
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42628
Location: NECTEC

PostPosted: 23/05/2007 12:18 pm    Post subject: Reply with quote

10 ชุมชนอรัญประเทศ"ครวญ ร.ฟ.ท.ขูดค่าเช่าที่ริมทางรถไฟ
มติชน 23 พฤษภาคม 2550


เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม นายพรพล เอกอรรถพร ประธานชุมชนอรัญประเทศ จ.สระแก้ว พร้อมตัวแทน 10 ชุมชน เข้าร้องเรียนผู้สื่อข่าวกรณีนายมีชัย สายสุดใจ ปฏิบัติการแทนผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีหนังสือแจ้งให้ผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงเส้นทางเดินรถไฟสายอรัญประเทศ-คลองลึก ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร ไปทำสัญญาเช่าที่ดินกับ ร.ฟ.ท. โดยกำหนดค่าเช่าในอัตราตารางเมตรละ 62.74 บาทต่อปี

นายพรพลกล่าวว่า อัตราค่าเช่าดังกล่าวสูงเกินกว่าสภาพความเจริญที่แท้จริง นอกจากนั้น ร.ฟ.ท.ยังกำหนดอายุสัญญาเช่าไว้ 1 ปี เรียกค่าเช่าเต็มจำนวนในวันทำสัญญา พร้อมทั้งเรียกเก็บเงินค่าประกันสัญญาเท่ากับค่าเช่าอีก 1 ปี และเก็บเงินค่าเช่าย้อนหลังอีก 1 ปี รวมเป็นจำนวนเงินเท่ากับค่าเช่า 3 ปี ซึ่งเรื่องนี้สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้อยู่อาศัยบนที่ดินบริเวณดังกล่าวอย่างมาก

"ทางชุมชนอรัญประเทศได้เสนอข้อเรียกร้อง ให้ ร.ฟ.ท.แต่งตั้งตัวแทนเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาร่วมกัน บนพื้นฐานความคิดที่ว่าผู้อยู่อาศัยบนพื้นที่นี้เป็นผู้เดือดร้อนมิใช่ผู้บุกรุก" นายพรพลกล่าว และว่า พื้นที่ดังกล่าวไม่มีหลักแสดงแนวเขตที่ชัดเจน ดังนั้น เพื่อความถูกต้องและความเข้าใจที่ตรงกัน ขอให้ ร.ฟ.ท.แสดงผังขอบเขต พร้อมเอกสารรับรองสิทธิบนที่ดิน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ตรวจสอบความถูกต้อง และขอให้นำอัตราค่าเช่าที่ดินรถไฟในเขต อ.เมืองสระแก้ว อ.วัฒนานคร ที่มีความเจริญมากำหนดเป็นมาตรฐานเดียวกันด้วย
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3, 4, 5 ... 471, 472, 473  Next
Page 4 of 473

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©