Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Ads Service

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311238
ทั่วไป:13181771
ทั้งหมด:13493009
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - กรมพระยาดำรงราชานุภาพกับรถไฟหลวง
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

กรมพระยาดำรงราชานุภาพกับรถไฟหลวง
Goto page Previous  1, 2
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> สาระความรู้วิชาการรถไฟและประวัติศาสตร์รถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
rodfaithai
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 10/07/2006
Posts: 1346

PostPosted: 07/08/2009 2:38 pm    Post subject: Reply with quote

ในหนังสือ "สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น" ของมจ.พูนพิศมัย ก็กล่าวถึง กรมดำรงฯ กับรถไฟครับ
ท่านเล่าว่า (หลังการยึดอำนาจของเหล่าทหารบางกลุ่มในครั้งนั้น)เวลาไปไหนมาไหนทางรถไฟ เช่น จากหัวหิน เข้ากรุงเทพฯ กรมดำรงฯ ทรงเสด็จโดยชั้น ๑ ในขณะที่ลูกๆ นั่งชั้น ๓ เพื่อความประหยัด
ตอนพระองค์ท่านประทับอยู่ที่ปีนัง ก็ได้อาศัย ครฟ ใจดีแอบส่งของจากรุงเทพฯ ให้ถึงปีนัง (แสดงว่ารถ บัตเตอร์เวอร์ธ มีมานานมาแแล้ว)
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42631
Location: NECTEC

PostPosted: 22/02/2012 11:19 am    Post subject: Reply with quote

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จตรวจราชการมณฑลอีสาน เมื่อ ๑๐๖ ปีมาแล้ว
Posted by คนช่างเล่า
OK Nation
วันพุธ ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจอุดรธานี เมื่อ ๑๐๖ ปี มาแล้ว เป็นประวัติศาสตร์ ที่น่าศึกษา เรียนรู้ ผมขอนำเกล็ดเล็๋กๆน้อยๆ ในพระนิพนธ์ มาเล่าต่อ อาจจะมีประโยชน์บ้าง

ผมเคยเขียนเล่าเรื่องการตรวจราชการมณฑลปักษ์ใต้ ลงในโอเคเนชั่น หลายๆตอน เคยเขียน สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการมณฑลพายัพ มาแล้วเช่นกัน แม้กระทั้ง การห้ามเจ้านายไปเมืองสุพรรณบุรี

แต่การเสด็จตรวจมณฑลอีสาน ผมเคยอ่านพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ เคยคิดจะเขียน เช่นกัน หาจังหวะ หาโอกาสเขียนไม่ได้สักที วันนี้โอกาสดีดังว่า จึงอยากเขียน เล่าสู่กันฟังนะเล่า สู่กันฟังเพื่อเป็นเกล็ดความรู้ ถ้าสนใจหาอ่านได้นะครับ นิทานโบราณนั้นแหละ

ในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวง มหาดไทย ได้ไปตรวจราชการหัวเมืองมณฑลอุดร เดินทางออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๔๔๙ ไปด้วยรถไฟขบวนพิเศษ ถึงนครราชสีมา ออกจากเมืองนครราชสีมาไปมณฑลอุดร ขี่ม้าไป ๑๔ วัน ถึงหนองคาย ตรวจราชการอยู่ทางภาคอีสาน ๓ เดือน กับ ๔ วัน เดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ ในวัน

ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๙ (ตรงนี้ผู้อ่านอาจจะงงเรื่องปี พ.ศ. ยังเป็น ๒๔๔๙ อย่าลืมว่าสยามเวลานั้น เราขึ้นปีใหม่ ในเดือนเมษายน พ.ศ. จึงเปลี่ยนเป็น ๒๔๕๐)

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้พระนิพนธ์ กล่าวถึงบุญคุณ อธิบดีกรมไปรษณ๊ย์โทรเลข ที่ได้จัดทีมงาน จัดให้ข้าราชการกรมไปรษณีย์ ให้ไปในขบวนเสด็จตรวจราชการด้วย การไปตรวจราชการ ได้นานถึง ๓ เดือนเศษ นั้นเพราะการติดต่อสื่อสารกับทางกรุงเทพฯสดวกมาก สามารถใช้โทรเลขติดต่อ สื่อสารกันได้ตลอดทาง เมืองอุดรธานี เดิมเรียกว่า บ้านเดื่อหมากแข้งตั้งขึ้นเป็นเมือง เมื่อ ร.ศ. ๑๑๒ หรือ พ.ศ. ๒๔๓๖

เวลานั้นพระยาโพธิ(พระยาศรีสุริยราชนุวัติ) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร พระยาโพธิ เป็นชาวเมืองจันทบุรี เป็นมหาดเล็กกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น เพราะไปชุมนุม เอยไปรับราชการ

การเสด็จตรวจราชการคราวนี้ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ เรื่องลานนกกระเรียน น่าสนใจมาก [และ] กล่าวถึงบ้านขี้ทูด ที่ตำบลหนองหญ้าปล้อง บ้านขี้ทูด คือคนเป็นโรคกุฏฐัง ผมไม่ขอกล่าวลงราย ละเอียด แต่จะกล่าวถึง ลานนกกระเรียน ในท้องทุ่ง ไม่มีใครไปทำนามีกอหญ้าขึ้นเต็มไปหมด ถึงหน้าแล้งมีนก

กระเรียนมาทำรังวางไข่ เมื่อถึงฤดูฝนลูกๆบินได้ บินหนีหายไปหมด มีนับหมื่นๆตัว

เรื่องราวการตรวจราชการมณฑลอุดรนั้น น่าศึกษา ผมไม่อยากเขียนลงรายละเอียดดังพระนิพนธ์ไว้เพราะอาจกระทบความรู้สึกบางท่านได้
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42631
Location: NECTEC

PostPosted: 17/03/2016 7:59 pm    Post subject: Reply with quote

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สมัยยังเป็นที่กรมหลวง และ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เสด็จฯ โคราชโดยทางรถไฟ ก่อน จะเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทอดพระเนตรปราสาทหินพิมาย เมื่อ ราวๆ ปี 2446 https://www.facebook.com/174414032644298/photos/a.403447019740997.94767.174414032644298/998813126871047/?type=3&theater
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42631
Location: NECTEC

PostPosted: 16/10/2019 6:47 pm    Post subject: Reply with quote

Wisarut wrote:
15 ธันวาคม 2449 เวลาเช้า สมเด็จกรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสด็จขึ้นรถไฟที่ สถานีกรุงเทพ พร้อมด้วยพระยาจ่าแสนยาบดี ( เจ้ากรมพลัมภัง - กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น ) เจ้าหมื่นศรีสรลักษ์ ( ผอ. รร. มหาดเล็ก ) และ คนอื่นๆ

เวลาเช้า 3 โมง ( 0900 ) รถไฟขบวนพิเศษออกจาก สถานีกรุงเทพ
เวลาเช้า 4 โมง 45 นาที ( 1045 ) รถไฟขบวนพิเศษถึง สถานีกรุงเก่า
เวลาเที่ยง 8 นาที ( 1208 ) รถไฟขบวนพิเศษถึง สถานีแก่งคอย เปลี่ยนรถจักรแล้วเดินทางต่อไป
เวลาบ่ายโมง 43 นาที ( 1343 ) รถไฟขบวนพิเศษถึง สถานีปากช่อง รถไฟหยุดรับน้ำ ( และฟืน ) แล้วออกเดินทางต่อไป
เวลาบ่าย 2 โมง 59 นาที ( 1459 ) รถไฟขบวนพิเศษถึง สถานีสูงเนิน
เวลาบ่าย 3 โมง 45 นาที ( 1545 ) รถไฟขบวนพิเศษถึง สถานีโคราช ( สถานีเมิองนครราชสีมา )

จากนั้น เดินทางไปพัก ณ เรือนแสนสุข ที่ทำขึ้นใหม่ที่ ตำบลหนองบัว นอกเมืองนครราชสีมา และเตรียมการที่จะเดินทางตรวจราชการ ในอีก 2 วันต่อมา

บันทึกเรื่องราวคราวที่กรมหลวงดำรงราชานุภาพเสด็จตรวจราชการภาคอีสาน พ.ศ. 2449 ที่บันทึกลงในนิทานโบราณคดี ภาคที่ 16 ดูได้ที่นี่ครับ

๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ เสด็จฯประทับรถไฟพิเศษจากกรุงเทพ ตอนเช้า ถึงโคราชตอนเย็น
๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๙ เสด็จฯประทับรถไฟพิเศษจากโคราช ตอนเช้า ถึงกรุงเทพตอนเย็น


http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=rattanakosin225&month=21-03-2007&group=2&gblog=40



นิทานที่ ๑๖ เรื่องลานช้าง

เมื่อฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ไปตรวจราชการหัวเมืองในมณฑลอุดรกับมณฑลอีสาน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ และได้เขียนเล่าเรื่องที่ไปครั้งนั้นให้หอพระสมุดฯ พิมพ์แต่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ แล้ว ในนิทานนี้จะพรรณนาว่าแต่ด้วยลัทธิธรรมเนียมกับของแปลกประหลาด ที่ฉันได้พบเห็นเมื่อไปครั้งนั้น เป็นเรื่องยาวอยู่สักหน่อย จึงแบ่งเป็นนิทาน ๒ เรื่อง เรียกว่า “เรื่องลานช้าง” เรื่องหนึ่ง “เรื่องแม่น้ำโขง” เรื่องหนึ่ง ส่วนเรื่องราวที่ไปจะบอกเพียงให้รู้ว่าไปทางไหนบ้าง

ทางที่ไป

ฉันออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ไปด้วยรถไฟพิเศษจนถึงเมืองนครราชสีมา
ออกจากเมืองนครราชสีมาไปมณฑลอุดร ขี่ม้าไป ๑๔ วันถึงเมืองหนองคาย

ครั้งนั้นรัฐบาลฝรั่งเศสมีแก่ใจจัดเรือไฟชื่อ ลาแครนเดีย อันเป็นพาหนะสำหรับข้าหลวงลำหนึ่ง กับเรือไฟสำหรับบรรทุกของลำหนึ่งส่งมาให้ฉันใช้ทางลำแม่น้ำโขง จึงลงเรือไฟมาจากเมืองหนองคาย ระยะทาง ๔ วันถึงเมืองนครพนม

ขึ้นเดินบก ขี่ม้าจากเมืองนครพนมทาง ๓ วันถึงเมืองสกลนคร
จากเมืองสกลนครเดินบกวกกลับลงไป ๓ วันถึงพระธาตุพนมที่ริมแม่น้ำโขง ลงเรือยาวพายล่องจากพระธาตุพนมทาง ๒ วันถึงเมืองมุกดาหาร

ขึ้นเดินบกแต่เมืองมุกดาหารเข้ามณฑลอีสานทาง ๕ วันถึงเมืองยโสธร เวลานั้นข้าหลวงปันเขตแดนไทยกับฝรั่งเศสกำลังประชุมกันอยู่ที่เมืองอุบล ฉันจึงไม่ไปเฝ้ากรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เป็นแต่ได้สนทนากันด้วยโทรศัพท์

ออกจากเมืองยโสธรเดินบกไปเมืองเสลภูมิ เมืองร้อยเอ็ด แล้วผ่านเมืองมหาสารคามมาในเขตมณฑลอีสานทาง ๗ วัน ถึงเมืองผไทสง ปลายเขตมณฑลนครราชสีมา

แต่นั้นมาทาง ๓ วันถึงเมืองพิมาย ได้รับสารตรากระทรวงมหาดไทย ว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาตรัสห้ามมิให้เข้าไปพักที่เมืองนครราชสีมา ด้วยเป็นเวลามีกาฬโรค

ออกจากเมืองพิมาย เดินทาง ๒ วันมาถึงบ้านท่าช้างห่างเมืองนครราชสีมา ๔๕๐ เส้น จึงพักแรมอยู่ที่นั่น
แล้วออกเดินแต่ดึก มาถึงสถานีรถไฟ พอได้เวลาขึ้นรถไฟพิเศษกลับมาถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๙

นั้น รวมเวลาที่ไปตรวจหัวเมืองครั้งนั้น ๓ เดือนหย่อน ๔ วัน ซึ่งสามารถไปได้นานวันถึงเพียงนั้น เพราะทางที่ไปเลียบสายโทรเลขไปโดยมาก เป็นบุญคุณของอธิบดีกรมโทรเลขที่ให้พนักงานไปกับฉันด้วยพวกหนึ่ง ถึงที่พักแรมเขาเอาเครื่องต่อเข้ากับสายโทรเลข อาจจะพูดกับกรุงเทพฯ ได้ทุกวัน ที่ออกห่างทางโทรเลขจะพูดกับกรุงเทพฯ ไม่ได้มีไม่กี่วัน การคมนาคมกับกรุงเทพฯ เมื่อไปครั้งนั้นจึงสะดวกเสียยิ่งกว่ามณฑลที่ใกล้ๆ บางแห่งเช่นมณฑลเพชรบูรณ์เป็นต้น
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42631
Location: NECTEC

PostPosted: 16/10/2019 6:53 pm    Post subject: Reply with quote

วันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๖ ดร

​สำนักดิศกุล หัวหิน

วันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๖

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ

๒. วันที่ ๒๘ เมษายนเปนวันเสาร มีรถไฟเร็วลงมา รถไฟออกจากสถานีกรุงเทพฯ เวลาเช้า ๗ นาฬิกา ถึงเมืองเพ็ชรบุรีก่อน ๑๑ นาฬิกา ถ้ามีรถยนต์รับที่สถานีเมืองเพ็ชรบุรี ทางรถยนต์ไปหาดเจ้าสำราญอิกประมาณ ๕๐ นาที ถึงหาดเจ้าสำราญได้ราวเวลาเที่ยง ก่อนเวลาเสวยช้านาน รถยนต์นั้นหม่อมฉันจะว่าเจ้าเมืองให้เขาจัดไว้รับ หวังใจว่าจะสำเร็จได้

//--------------------------------------
วันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ดร
วังวรดิศ

วันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

ด้วยเมื่อหม่อมฉันเขามาช่วยงานทำบุญฉลองพระชนมายุแล้ว เมื่อจะกลับไปหัวหิน ในวันที่ ๒๙ มหาดเล็กได้นำห่อสมุดกับกรอบพระรูปซึ่งมีรับสั่งให้ถวายพระอรรคชายาเธอ ไปส่งหม่อมฉันที่สถานี ครั้นหม่อมฉันไปถึงหัวหิน ตรงไปเฝ้าพระอรรคชายาเธอ ก็ได้นำมาถวายในเวลานั้น ได้มีรับสั่งถามว่าสมุดนั้นเหตุใดจึงเกินจำนวนอยู่ ๔ เล่ม หม่อมฉันทูลว่าจะอย่างไรก็ไม่ทราบ ด้วยท่านมีรับสั่งวานให้นำของทั้งนี้มาถวายและมหาดเล็กได้นำมาส่งที่สถานีเท่านั้น จึงตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นเห็นจะประทานถึงพระองค์เจ้าหลานของท่านด้วย ทรงรับไว้

ครั้นต่อมาอีก ๒ วัน หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ของท่าน จึงทราบความว่า สมุดอีก ๔ เล่ม ทรงเจตนาให้ถวายกรมหลวงสมรรัตน์ฯ เล่ม ๑ ประทานพระองค์หญิงขาว เล่ม ๑ พระองค์หญิงแดง เล่ม ๑ และประทานแม่หม่อมฉันเล่ม ๑ เมื่อได้ทราบดังนี้นึกว่าจะไปเรียกคืนจากพระอรรคชายาก็อย่างไรอยู่ จึงได้นิ่งเสีย หมายว่าจะมาทูลให้ท่านทรงทราบเข้าใจว่าสมุดคงจะยังมีเหลืออยู่พอประทานแทนได้

หม่อมฉันได้อพยพกลับมากรุงเทพฯ แล้ว เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42631
Location: NECTEC

PostPosted: 22/04/2020 5:53 am    Post subject: Reply with quote

ขบวนรถไฟที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทับนั่งมาจากอุบลราชธานี สถานีรถไฟบุรีรัมย์หลังแรก ปี 2472
เครดิต : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=2912338545519758&set=a.239138236173149&type=3&theater
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42631
Location: NECTEC

PostPosted: 18/11/2020 9:40 pm    Post subject: Reply with quote

วันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ดร
ทูล สมเด็จกรมพระนริศรฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๔ ทรงหารือระยะทางที่จะเสด็จประพาสหัวเมืองมณฑลนครศรีธรรมราชนั้น ขอทูลสนองดังต่อไปนี้

๑. ทางที่จะเที่ยวเตร่จากเมืองสงขลาได้ภายในเวลา ๑๐ วันโดยไม่รีบร้อนให้ลำบากพระองค์นั้นมี ๔ ทาง คือ

ไปเที่ยวมณฑลปัตตานี เดี๋ยวนี้มีถนนไปได้ตลอดทั้งมณฑล มีพระนอนของโบราณครั้งศรีวิชัยอยู่ที่เมืองยะลา ไปไม่ห่างสถานีรถไฟนัก เที่ยวได้ ๓ วัน ๔ วัน

ทางที่ ๒ ไปเมืองปีนังโดยทางรถยนต์ เขาไปกัน ๒ อย่าง ถ้าลอบไปเขาไปค้างที่อำเภอสะเดา พอรุ่งเช้าขึ้นรถยนต์ไปทางราว ๔ ชั่วโมงเศษถึงปีนัง กินเข้ากลางวันที่ปีนังแล้วกลับมาอำเภอสะเดาในวันนั้น ถ้าไปตรงๆออกจากสงขลาไปทางราว ๖ ชั่วโมงเศษ ถึงปีนังไปพักที่บ้านพระยารัตนเศรษฐี (ซึ่งหม่อมฉันรับจะจัดการได้) อยู่เที่ยวปีนัง ๒ วัน ๓ วันแล้วจึงกลับมาสงขลา

ทางที่ ๓ เที่ยวเมืองพัทลุง ได้ดูทะเลสาบตอนใน (แต่ที่เกาะสี่เกาะห้า เดี๋ยวนี้น้ำตื้นไปยากเสียแล้ว) แต่มีทางรถยนต์อาจข้ามเขาบรรทัดทางช่องไปเที่ยวเมืองตรัง อาจไปมาได้ในวันเดียวกัน หรือถ้าไปค้างที่เมืองตรังอาจไปเที่ยวถ้ำเขาปีนา ซึ่งเปนที่น่าดูมาก แล้วจึงกลับมาเมืองพัทลุง

ทางที่ ๔ ไปเที่ยวเมืองนครศรีธรรมราช ไปรถไฟจากสงขลาได้จนถึงเมืองนครศรีธรรมราช มีที่เที่ยววัดพระมหาธาตุที่ในเมือง และไปดูทำเหมืองดีบุก-ด้วยวิธีใช้เรือขุด และวิธีใช้แรงน้ำเป่าที่ร่อนพิบูลย์แล้วจึงกลับไปสงขลา

ทางที่ ๕ ถ้ากลับทางรถไฟจากสงขลามาหัวหิน มาจับรถไฟเวลาเช้าที่ทุ่งสงมาลงที่เมืองไชยาเก่า พักแรมที่วัดมหาธาตุ มีที่เที่ยวคือวัดมหาธาตุและวัดแก้ว แล้วจับรถไฟด่วนวันจันทรหรือวันศุกรมาถึงหัวหินวันศุกรหรือวันจันทรเวลาเช้า ๗ นาฬิกา

๒. ถ้าเสด็จกลับทางเรือจากสงขลา มีเวลาเที่ยวได้ ๑๐ วัน คงจะต้องประทับที่สงขลาราว ๓ วัน เหลือเวลาที่มีสำหรับเที่ยว ๗ วัน อาจจะเที่ยวได้ทั้งเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองพัทลุง คือ วันที่ ๑ ออกจากสงขลาทางรถไฟถึงเมืองนครศรีธรรมราชในวันนั้น วันที่ ๒ อยู่เมืองนครศรีธรรมราช วันที่ ๓ กลับจากเมืองนครศรีธรรมราช ​ถึงเมืองพัทลุงในวันนั้น วันที่ ๔ ไปเมืองตรังทางรถยนต์ วันที่ ๕ เที่ยวเมืองตรัง วันที่ ๖ กลับจากเมืองตรังมาเมืองพัทลุง (หรือจะไปถ้ำเขาปีนาอีกวัน ๑ วันที่ ๗ ขึ้นรถยนต์แต่เข้ามาให้ทันเวลารถไฟก็ได้) วันที่ ๗ กลับไปถึงเมืองสงขลาดังนี้

๓. ในการที่เสด็จประพาสทางบก-ควรบอกให้เทศาทราบ เพราะต้องอาศัยพักในสถานของหลวง ที่เมืองสงขลาเขาทำคล้ายๆโฮเตลไว้ที่เขาน้อย อยู่สบายดี ที่เมืองพัทลุงก็มีที่พัก แต่จะอยู่ตรงไหนหม่อมฉันไม่ทราบ ที่เมืองนครศรีธรรมราชนั้นเคยไป อยู่ที่พลับพลาเก่าหน้าเมือง สบายดี ที่เมืองตรังก็มีที่พักหลายหลัง หม่อมฉันเคยไปอยู่แล้วสบายดี เรื่องการกินขอให้เขาช่วยซื้อหาของสด เราให้เงินและทำกินเอง รถยนต์ก็ขอให้เขาช่วยหาจ้างให้ และขออย่าให้เขาทำพิธีรับรองในทางราชการ เท่านี้ก็จะพอสดวก

๔. โดยถ้าวันมี ๑๐ วันที่บริษัทกะถวายไม่พอจะเที่ยวได้ จะขยายวันออกไปอีก หม่อมฉันก็เห็นว่าพอจะขยายได้ ด้วยเรือบริษัทเขาเดินทุกอาทิตย์ ที่เขาจัดเรือมาลินีถวายเพราะสบายและเดินเร็วกว่าลำอื่น ถ้าจะเสด็จกลับลำอื่นเขาก็คงจัดถวายได้

๕. ขอทูลความนอกเรื่องเพิ่มเติมในจดหมายฉะบับนี้ คือเรื่องที่บรรจุพระอัษฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกที่ทูลไปในจดหมายฉะบับก่อนนั้น ยังขาดวินิจฉัยไม่ได้ทูลอยู่ข้อ ๑ ว่าคงบรรจุพระอัษฐิไว้เบื้องต่ำในองค์พระมหาธาตุ และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้เบื้องสูง ให้สักการบูชาพระมหาธาตุเปนพุทธเจดีย์ด้วย อันนี้เปนประเพณีมีมาแต่โบราณ เห็นตัวอย่างได้เมื่อเร็วๆ นี้ที่พระมหาสถูปบรรจุพระบรมอัษฐิสมเด็จพระบรมไตรโลกนาทที่วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์

๖. เมื่อวานนี้ หม่อมฉันได้รับบัตรอำนวยพรปีใหม่มาจากราชบรรณาลัยกรุงกัมพูชา และดี ได้ส่งมาถวายทอดพระเนตร์พร้อมกับจดหมายฉะบับนี้ด้วย

๗. เมื่อวันเถลิงศก มีการเลี้ยงเข้าแช่พระราชทานเจ้านายที่มาอยู่หัวหิน รวมได้ถึง ๖๔ พระองค์ด้วยกัน น้อยกว่าจำนวนที่มารับพระราชทานน้ำสังข์เมื่อวันที่ ๑ เพียง ๔ พระองค์

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

//-----------------------------

นี่เป็นการเตรียมการท่องเที่ยวภาคใต้ให้ สมเด็จกรมพระนริศรฯ ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ เลยทีเดียว
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42631
Location: NECTEC

PostPosted: 18/11/2020 9:51 pm    Post subject: Reply with quote

คำบ่นเรื่องความล่าช้ารถด่วนสายใต้:
//----------------------


วันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร



บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๘๑

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๗ พฤษภาคม แล้ว จะทูลตอบเล่าเรื่องเบ็ดเตล็ดถวายในจดหมายฉบับนี้

หญิงสิบพันกลับจากแคมารอนฮิลเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคมนี้ มาพักแรมอยู่ที่ซินนามอนฮอลคืน ๑ รุ่งขึ้นวันจันทร์ที่ ๙ กลับไป​กรุงเทพฯ เธอบอกว่าชอบที่แคมารอนฮิล สังเกตดูผิวพรรณก็เปล่งปลั่งดีขึ้นกว่าเมื่อตอนไป เมื่อเธอกลับหม่อมฉันข้ามไปส่งถึงสถานีรถไฟไปได้รับความลำบากขึ้นใหม่อีก เมื่อแรกหม่อมฉันมาอยู่ปีนัง ข้ามส่งหญิงจงฯ ครั้ง ๑ พอรถออกโบกมือส่งแล้วจะมาลงเรือข้ามฟากกลับปีนัง เดินมายังไม่ทันถึงท่า เรือชิงออกเสียต่อหน้าต่อตา ทั้งหม่อมฉันได้ซื้อตั๋วโดยสารขากลับแล้ว ต้องลงเรือจ้างแจวข้ามฟากลำน้ำไปรมาขึ้นรถลากมาลงเรือที่สำหรับรถยนต์ข้ามฟากที่ท่าบัตเตอรเวิท หม่อมฉันขัดใจกลับมาร้องทุกข์กับพวกกรมการ จะเป็นด้วยเขาไปช่วยว่ากล่าวหรืออย่างไรต่อมาไม่ช้าเรือที่รับคนไปส่งรถไฟขยายเวลากลับออกไปสัก ๑๕ นาทีก็เป็นอันเรียบร้อยไปครั้ง ๑ ต่อมากรมรถไฟเปลี่ยนเวลาเรือออกจากปีนัง ไปรับคนมาจากเมืองไทย ซึ่งเดิมออกบ่าย ๕ โมงเลื่อนเข้ามาเป็นบ่าย ๔ โมง ถ้าจะไปรับใครต้องไปคอยที่สถานีไปรราว ๒ ชั่วโมง แต่นั้นหม่อมฉันไปรับใครก็รับแต่ปลายตะพานไม่ข้ามไปรับถึงสถานีไปร เมื่อไปส่งหญิงสิบพันคราวนี้ไปได้ความว่าเขาเปลี่ยนเวลาเรือกลับปีนังตอนเช้าเป็น ๕ โมง คิดว่าส่งแล้วจะต้องนั่งรออยู่ที่สถานีไปรชั่วโมง ๑ จึงจะได้กลับ หม่อมฉันก็ปฏิญาณเลิกไม่ส่งใครถึงรถไฟอีก แต่นี้ไปจะรับส่งแต่เพียงปลายตะพานเท่านั้น

วันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๒๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๙

ทูล สมเด็จกรมพระนริศร ฯ

​เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๐ พระองค์หญิงเหมวดีเสด็จออกมาถึงปีนังออกจะเปนการขลุกขลักประดักประเดิดกับหม่อมฉัน ด้วยเดิมหม่อมฉันตั้งใจว่าจะขึ้นรถไฟไปคอยรับเสด็จที่บูกิตมาตายัม ระยะทางห่างสถานีไปรที่จะลงเรือมาปีนังรถไฟเดินราว ๑๕ นาที พอถึงเวลาบ่าย ๔ นาฬิกาหม่อมฉันกับหญิงใหญ่แต่งตัวจะไปลงเรือข้ามฟาก ไปถึงท่าเรือเขาบอกว่ารถไฟกรุงเทพ ฯ วันนั้นช้าถึง ๕ ชั่วโมง แทนที่จะมาถึงสถานีไปรเวลา ๑๕ นาฬิกาจะมาถึงต่อ ๒๓ นาฬิกา ไม่ทันรถไฟที่จะไปสิงคโปร์ในค่ำวันนั้น ก็เกิดปัญหาว่าควรจะทำอย่างไร พิเคราะห์ดูพระองค์หญิงเหมวดีอาจจะเสด็จลงจากรถไฟที่หาดใหญ่ ประทับแรมที่นั้นเสียคืนหนึ่งแล้วจึงเสด็จด้วยรถยนต์มาจับรถไฟไปเมืองสิงคโปรก็ได้ หรือจะเสด็จเลยมาด้วยรถไฟแล้วประทับแรมอยู่ในรถไฟที่สถานีไปร จนเช้าจึงเสด็จเลยไปเมืองสิงคโปร์ก็เปนได้อีกอย่างหนึ่ง แต่อย่างไรก็ไม่เปนประโยชน์ที่หม่อมฉันจะไปถึงบูกิตมาตายัมดังคิดไว้ จึงกลับมาบ้าน แล้วแต่งคนให้ไปคอยสืบว่าเธอจะเสด็จมาอย่างไร หม่อมฉันคอยอยู่จนเที่ยงคืนคนก็ยังไม่กลับ เมื่อก่อนจะเข้านอนจึงวานหญิงใหญ่กับหญิงเหลือให้ไปสืบแต่เวลาเช้า ๗ นาฬิกาวันจันทร ว่าพระองค์หญิงเหมวดีเสด็จมาทางรถไฟหรืออย่างไร ตัวหม่อมฉันเองจะรอฟังยังไม่ทรมานกายข้ามไปที่สถานีไปร เจ้าหญิง ๒ คนกลับมาเมื่อเวลา ๙ นาฬิกา มาบอกว่าพระองค์หญิงเหมวดีเสด็จมาทางรถไฟ มาถึงสถานีไปรเวลา ๐.๒๒ นาฬิกาวันจันทรต้องขนของย้ายไปขึ้นรถที่จะไปเมืองสิงคโปร์แล้วประทับแรมในรถนั้น อาหารที่เสวยตอนเช้าก็ได้อาศัยแต่เสบียงที่ติดพระองค์มา อยู่ข้างลำบาก จนเวลา ๙.๐๕ นาฬิกา รถไฟจึงออกจากสถานีไปรไปเมืองสิงคโปร์ เปนอันหม่อมฉันไม่ได้พบ เปนแต่ได้รับลายพระหัตถ์เธอเขียนบอกเหตุมาให้ทราบ
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42631
Location: NECTEC

PostPosted: 15/11/2022 4:15 pm    Post subject: Reply with quote

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจโบราณสถาน มณฑลนครราชสีมา พ.ศ. 2472
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
วันอังคาร ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เวลา 15:54 น.

---------------------------------
เมื่อพุทธศักราช 2472 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตสภา ได้เสด็จไปทรงตรวจโบราณสถานและโบราณวัตถุ ณ มณฑลนครราชสีมา ขณะพระชนมายุ 67 พรรษา ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายที่เสด็จมณฑลนครราชสีมา โดยมีหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล หม่อมเจ้าหญิงพิลัยเลขา ดิศกุล หม่อมเจ้าหญิงพัฒนายุ ดิศกุล นายร้อยโท หม่อมเจ้าพิสิษฐดิศพงศ ดิศกุล พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) อุปนายกแผนกโบราณคดีแห่งราชบัณฑิตยสภา พระยาพจนปรีชา (หม่อมราชวงศ์สำเริง อิศรศักดิ์) พระยาอนุศาสตร์จิตรกร ขุนเทพบรรณาทร บรรณารักษ์หอพระสมุดวชิราวุธ ขุนบริบาลบุรีภัณฑ์ (ป่วน อินทุวงศ์) ภัณฑารักษ์พิพิธภํณฑสถานสำหรับพระนคร รองอำมาตย์โท สมบุญ โชติจิตร์ นายเวรวิเศษราชบัณฑิตยสภา และนายอี. กรุตเต (กรูเต) ช่างถ่ายรูปห้างฉายานรสิงห์ ตามเสด็จในขบวนส่วนพระองค์
ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทอดพระเนตรโบราณวัตถุสถานสำคัญของจังหวัดต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ปราสาทหินเขาพนมรุ้งและปราสาทเมืองต่ำ จังหวัดบุรีรัมย์ ปราสาทบ้านระแงง อำเภอศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ปราสาทบ้านกำแพงหรือปราสาทกำแพงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ปราสาทเขาพระวิหาร จังหวัดศรีสะเกษและโบราณสถานบ้านไผ่ใหญ่ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี การเสด็จครั้งนี้มีกำหนดเดินทางราว 18 วัน ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม ถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2472 ดังนี้
วันที่ 21 มกราคม เสด็จโดยรถไฟจากสถานีกรุงเทพฯ ถึงสถานีโคราช จังหวัดนครราชสีมา
วันที่ 22 มกราคม เสด็จสถานพระนารายณ์หลักเมือง โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลฯ โรงพยาบาลสุขาภิบาล ศาลารัฐบาลมณฑล วัดสุทธิจิดา ทำนบอนุสาวรีย์สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา และโรงเรียนฝึกหัดครูมูล
วันที่ 23 มกราคม เสด็จจากโคราชไปอำเภอเมืองพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ทรงตรวจโบราณวัตถุสถาน
วันที่ 24 มกราคม เวลาเช้า เสด็จปราสาทหินพิมาย เวลาเย็น เสด็จประพาสไทรงาม สระเพรง และกุฎิฤาษี
วันที่ 25 มกราคม เสด็จจากพิมายไปอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
วันที่ 26 มกราคม เสด็จจากอำเภอนางรองไปปราสาทหินเขาพนมรุ้งและปราสาทเมืองต่ำ จังหวัดบุรีรัมย์
วันที่ 27 มกราคม เสด็จจากอำเภอนางรองไปขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ระหว่างทางแวะทอดพระเนตรปราสาทกำแพงใหญ่ (บ้านกำแพง)
วันที่ 28 มกราคม เสด็จจากขุขันธ์ไปทอดพระเนตร ปราสาทบ้านระแงง อำเภอศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ แล้วกลับมาประทับที่ขุขันธ์
วันที่ 29 มกราคม เสด็จจากขุขันธ์ไปเขาพระวิหาร จังหวัดศรีสะเกษ
วันที่ 30 มกราคม ทอดพระเนตรโบราณวัตถุสถานเขาพระวิหาร และประทับแรม ณ เขาพระวิหาร
วันที่ 31 มกราคม เสด็จจากเขาพระวิหารกลับขุขันธ์
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ เสด็จจากขุขันธ์ไปอุบลราชธานี
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ เสด็จสถานีอนามัยที่ ๗ ประจำจังหวัดอุบลราชธานี โรงเรียนสตรีประจำจังหวัด และสถานกงสุลฝรั่งเศส เสด็จไปทอดพระเนตรโบราณวัตถุ วัดสุปัฏน์ เสด็จวัดโรมันคาธอลิก ตำหนักกรมหลวงสรรพสิทธิ์ฯ และเสด็จไปทอดพระเนตรสนามบินเก่า
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ เสด็จไปทอดพระเนตรโบราณวัตถุในอำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ เสด็จจากอุบลราชธานีกลับขุขันธ์
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ เสด็จจากขุขันธ์กลับโคราชโดยรถไฟ
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ เสด็จกลับกรุงเทพฯ
เรียบเรียงโดย นางสาวพุธิตา ขำบุญลือ นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ
คณะทำงานด้านการจัดการองค์ความรู้ของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
---------------------------------
อ้างอิง
มูลนิธิสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล พระธิดา. จดหมายเหตุ การเสด็จตรวจโบราณสถาน มณฑลนครราชสีมา ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พ.ศ. 2472. กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ จำกัด, 2531.
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารส่วนพระองค์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สบ 2.19/12 เรื่องสมเด็จฯ นายกราชบัณฑิตยสภาเสด็จตรวจโบราณสถานที่เขตต์มณฑลนครราชสีมา พ.ศ. 2472 (20 ธ.ค. - 27 ก.พ. 2472).
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42631
Location: NECTEC

PostPosted: 15/11/2022 4:17 pm    Post subject: Reply with quote

ตามรอยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสด็จตรวจราชการหัวเมืองมณฑลนครราชสีมา มณฑลอุดร และมณฑลอีสาน พุทธศักราช 2449
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
วันศุกร์ ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เวลา 14:46 น.

-------------------------------------
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จออกตรวจราชการตามหัวเมืองต่าง ๆ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ และดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ระหว่าง พ.ศ. 2435-2458 เพื่อจัดระบบการปกครองหัวเมืองให้เป็นแบบเดียวกันภายใต้กระทรวงมหาดไทยและสร้างความเข้าใจในการปกครองแก่หัวเมืองให้มีเอกภาพและบรรเทาทุกข์ของราษฎร อีกทั้งยังเป็นกลวิธีรับมือจากการรุกล้ำจากประเทศมหาอำนาจ
พุทธศักราช 2449 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตั้งพระทัยจะเสด็จไปตรวจราชการหัวเมืองมณฑลนครราชสีมา มณฑลอุดร มณฑลอีสาน และมณฑลบูรพา แต่เมื่อคำนวณระยะเวลาการเดินทางแล้ว ทรงกังวลว่าจะไม่ทันตามกำหนดการเสด็จประพาสยุโรปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงทรงงดเสด็จไปมณฑลบูรพา แล้วทรงปรับเส้นทางการเสด็จตรวจราชการหัวเมืองมณฑลนครราชสีมา มณฑลอุดร และมณฑลอีสาน ดังนี้
เสด็จออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2449 ด้วยขบวนรถไฟพิเศษ ถึงเมืองนครราชสีมา ทรงพักเตรียมการเดินทางอยู่ 2 วัน จากนั้น เสด็จออกจากเมืองนครราชสีมาไปมณฑลอุดร ผ่านเมืองชนบท เมืองขอนแก่น เมืองกุมภวาปี บ้านหมากแข้ง เมืองหนองคาย เมืองโพนพิสัย เมืองไชยบุรีและท่าอุเทน เมืองนครพนม เมืองกุสุมาลย์มณฑล เมืองสกลนคร เมืองเรณูนคร เมืองมุกดาหาร เข้ามณฑลอีสาน ผ่านเมืองยโสธร จากนั้นเสด็จผ่านเมืองเสลภูมิ เมืองร้อยเอ็ด เมืองสารคาม เมืองพยัคฆภูมิ แล้วเสด็จกลับมณฑลนครราชสีมา ผ่านเมืองไผทสงฆ์ เมืองพิมาย แล้วเสด็จไปสถานีรถไฟ โดยไม่ได้ทรงแวะพักค้างคืนที่เมืองนครราชสีมา เนื่องจากกำลังเกิดกาฬโรค เสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2449
การเสด็จออกตรวจราชการครั้งนี้ ได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในรายงานเสด็จตรวจราชการมณฑลนครราชสีมา มณฑลอุดร และมณฑลอีสาน ร.ศ. 125 (พุทธศักราช 2449) ทรงบรรยายถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ทำให้เห็นบรรยากาศของชาวบ้านที่พึ่งพาตนเอง โดยนิยมประกอบอาชีพเกษตรกรรม กสิกรรม อาทิ การทำนา การเลี้ยงไหม มีตลาดค้าขายอย่างอิสระและให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อีกทั้งยังเห็นถึงสภาพบ้านเมือง ประเพณี วัฒนธรรมในแต่ละเมือง อาทิ
วันที่ 1 มกราคม “เวลาบ่าย 4 โมงเศษ ทรงเสด็จถึงหนองนาเกลือ เป็นหนองใหญ่ เพราะปิดน้ำไว้คล้ายทุ่งสร้างที่เมืองขอนแก่น ได้ขนานนามว่า “หนองประจักษ์”...” ทำให้เห็นถึงแหล่งน้ำสำคัญขนาดใหญ่ในเมืองขอนแก่น
วันที่ 18 มกราคม “เวลาบ่าย 4 โมง ราษฎรแห่ปราสาทผึ้งและบ้องไฟเป็นกระบวนใหญ่ เข้าประตูชาลาพระเจดีย์ด้านตะวันตก แห่ประทักษิณองค์พระธาตุ สามรอบ กระบวนแห่นั้น คือ ผู้ชายและเด็กเดินข้างหน้าหมู่หนึ่งแล้ว มีพิณพาทย์ ต่อไปถึงบุษบกมีเทียนขี้ผึ้งใหญ่ 4 เล่มในบุษบก แล้วมีรถ บ้องไฟ ต่อมามีปราสาทผึ้ง คือแต่งหยวกกล้วยเป็นรูปปราสาท แล้วมีดอกไม้ทำด้วยขี้ผึ้งเป็นเครื่องประดับ มีพิณพาทย์ ฆ้อง กลองแวดล้อม แห่มา และมีชายหญิงเดินตามเป็นตอน ๆ กันหลายหมู่ และมีกระจาดประดับประดาอย่างกระจาดผ้าป่า ห้อยด้ายไส้เทียนและไหมเข็ด...” แสดงให้เห็นถึงประเพณีและวัฒนธรรมในการแห่ปราสาทผึ้งและบ้องไฟ อันเป็นประเพณีที่สืบทอดมาถึงปัจจุบันของชาวอีสาน
ดังนั้น รายงานเสด็จตรวจราชการของพระองค์ในครั้งนี้ ทรงบันทึกรายละเอียดที่แสดงให้เห็นถึงสภาพพื้นที่ ความเป็นอยู่ วิถีชีวิตของราษฎร ประเพณี วัฒนธรรม ที่สามารถนำมาเป็นแนวทางในการจัดระบบการปกครอง การพัฒนาเศรษฐกิจ ระบบคมนาคมและการชลประทานที่ช่วยยังชีพราษฎร ตลอดจนเห็นถึงความจงรักภักดีของประชาชนที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และการให้ความสำคัญต่อราชการในพระองค์ ด้วยการจัดการต้อนรับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และคณะอย่างสมพระเกียรติ
หมายเหตุ : การสะกดคำยึดตามอักขรวิธีปัจจุบัน ยกเว้นชื่อเรื่องรายการ คำศัพท์เฉพาะ หรือการคัดลอกข้อความจะคงสะกดตามที่ปรากฏในเอกสารจดหมายเหตุรายการนั้น ๆ
ผู้เรียบเรียง : นางสาวอาทิพรรษ์ ผาจันดา นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ
-------------------------------------
อ้างอิง
กรมศิลปากร. เอกสารตรวจราชการเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ร.ศ.119-131 (พ.ศ. 2443-2455). กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2564.
สถาบันดำรงราชานุภาพ. การเสด็จตรวจราชการหัวเมืองของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. กรุงเทพฯ : สถาบันดำรงราชานุภาพ, 2555.
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงมหาดไทย ร.5 ม.2.14/17 เรื่อง กรมหลวงดำรงราชานุภาพไปตรวจราชการมณฑลนครราชสีมา และมณฑลอุดรอิสาน (21 มกราคม ร.ศ.121 – 7 กุมภาพันธ์ ร.ศ.125).
#จดหมายเหตุ
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> สาระความรู้วิชาการรถไฟและประวัติศาสตร์รถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2
Page 2 of 2

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©