RailServe.Com

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai.Com

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311232
ทั่วไป:13179697
ทั้งหมด:13490929
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าวรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน)
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ข่าวรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน)
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 212, 213, 214 ... 542, 543, 544  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42623
Location: NECTEC

PostPosted: 16/06/2017 12:49 pm    Post subject: Reply with quote

ราชรถยัน! ม.44 รถไฟจีนคุ้มครองคนทำงาน
ฐานเศรษฐกิจ
16 มิถุนายน 2560


ปลัดกระทรวงคมนาคม ระบุ การใช้มาตรา 44 ผ่าทางตันรถไฟฟ้าไทย-จีน เพื่อคุ้มครองผู้ปฏิบัติงาน เพราะเป็นโครงการที่ต้องจัดซื้อจัดจ้างจากจีน

วันที่ 16 มิ.ย. 60 -- นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ทาง “สปริงนิวส์” ถึงการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง เพื่อเร่งขับเคลื่อนโครงการลงทุนรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา หลังเกิดข้อติดขัดในข้อกฎหมาย ว่า เพื่อคุ้มครองผู้ปฏิบัติงาน เพราะแม้โครงการดังกล่าว ไทยจะเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด แต่ต้องจัดซื้อจัดจ้างจีนในการออกแบบรายละเอียดต่าง ๆ ของรถไฟความเร็วสูง การคุมงานก่อสร้าง ทั้งระบบฐานรากและระบบราง รวมทั้งการจัดซื้อราง-ตัวรถ และระบบอาณัติสัญญาณรถไฟ


ทั้งนี้ เมื่อร่างสัญญาจ้างเสร็จ จะส่งให้ รมว.คมนาคม พิจารณา ก่อนส่งให้กับสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา เมื่อสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาเสร็จ รมว.คมนาคม จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
https://www.youtube.com/watch?v=wTCmSwkFvDQ
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44318
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 16/06/2017 2:00 pm    Post subject: Reply with quote

แปลความง่ายๆ ม.44เร่งรถไฟ“กทม.-โคราช”เปิดทางอะไรให้“จีน”บ้าง
คมชัดลึก 16 มิ.ย. 60

คำสั่ง ม.44 เร่งโครงการรถไฟฟ้าไทยจีน เปิดทางจ้างรัฐวิสาหกิจ “จีน” เข้ารับงาน ไม่ต้องทำตามกฎหมาย-ระบบตรวจสอบ

16 มิ.ย. 2560 -การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. เรื่อง มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงช่วง กรุงเทพ- นครราชสีมา เราลองมาถอดความว่า คำสั่งดังกล่าวมีความหมายอย่างไร

ประการแรก จุดประสงค์ของการออกคำสั่งก็ออกมาเพื่อเร่งรัดโครงการ ก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงช่วง กทม. - นครราชสีมา ตามชื่อของคำสั่ง

โดยเนื้อหากกำหนดให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ ทำสัญญาจ้างรัฐสิสหากิจที่เป็นตัวแทนของประเทศจีน สำหรับโครงการนี้ในสามด้านด้วยกัน คือ

1.งานออกแบบรายละเอียด โครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา

2.งานที่ปรึกษาควบคุมคุมการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา

3.งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมถึงการจัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมทรัพยากร



โดยมีการกำหนดว่าหากทั้งนี้ ถ้ารัฐวิสาหกิจของจีนทีจะเข้ามารับงาน ไม่มีลักษณะที่ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมหรือวิชาขีพสถาปัตยกรรมของไทยก็ให้ยกเว้นกฎหมายเสีย และค่อให้สภาวิศวกรหรือสภาสถาปนิกจัดอบรมในภายหลัง

การกำหนดมูลค่าโครงการ ค่าจ้าง ค่าใช้จ่าย การทำสัญาจ้าง เงื่อนไขอื่นในการทำสัญญาจ้าง ให้ รฟท. ใช้ผลการเจรจาต่อรองของคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมทั้งมติ ครม. และผลปรชุมของคณะกรรมการร่วมมือด้านรถไฟฟ้าไทยจีน มาเป็นกรอบพิจารณา

ซึ่งการร่างสัญญาต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันนับแต่คำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ และให้ใช้วงเงินที่ ครม. อนุมัติเป็นราคากลาง (ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท) ตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. ซึ่งือเป็นการยกเว้น พ.ร.บ. ป.ป.ช. เรื่องการกำหนดราคากลาง



หากทำไม่เสร็จต้องแจ้งให้นายกฯพิจารณา ถ้านายกฯไม่ขยายเวลาให้ ก็ให้การรถไฟยุติการดำเนินการ และให้ ครม.พิจารณาต่อไป



ทั้งนี้ในการจัดซื้อจัดจ้างก็กำหนดให้ยกเว้นกฎหมายที่ไม่ต้องปฏิบัติตาม 7 ฉบับ ประกอบด้วย

1.กฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ เฉพาะในสวนที่เกี่ยวกับการจัดหาผู้ประกอบการและการเสนอราคา

2.กฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ

3.คำสั่ง คสช. ที่ 11/2560 เรื่องการกำกับการจัดซื้อจัดตจ้างของหน่วยงานรัฐ

4.ระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการพัสดุ 2535

5.ระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กโทนิกส์ 2549

6.ระเบียบการรถไฟแห่งประเทศไทยว่าด้วยการจ่างปี 2544

7.ระเบียบการรถไฟแห่งประเทศไทยว่าด้วยการพัสดุ 2544

ซึ่งหมายความว่ายกเว้นเรื่องการตรวจสอบในการจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงการต้องเปิดประมูลในการจ้างโครงการ

ทั้งนี้เมื่อร่างสัญญาจ้างเสร็จแล้ว ให้ส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณา และให้ตรวจให้เสร็จภายใน 30 วัน ก่อนส่งให้ ครม. เห็นชอบ ถ้า ครม. ไม่เห็นชอบ ให้ส่งเรื่องคืนไปเพื่อทำความเห็นเสนออีกครั้ง หากเห็นชอบแล้วให้ รฟท. เซ็นสัญญาจ้างได้
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42623
Location: NECTEC

PostPosted: 16/06/2017 5:49 pm    Post subject: Reply with quote

ม.44 ทะลวงอุปสรรครถไฟไทย-จีน"สมคิด"ดันลากยาวถึงหนองคายเชื่อมลาว เพื่อประโยชน์สูงสุด
โดย MGR Online

16 มิถุนายน 2560 17:30 น.

"สมคิด"ดันรถไฟไทย-จีน ลากถึงหนองคาย เชื่อมต่อลาว เพื่อเชื่อมอีกหลายประเทศ ย้ำให้มองที่ผลทางเศรษฐกิจ อย่ามองแค่ผลทางการเงิน มั่นใจ มาตรา 44 ปลดล็อคปัญหากฎหมาย เร่งกระบวนการ "อาคม"ยันชวครม.ขออนุมัติโครงการในมิ.ย. คาดบอร์ดสศช. ประชุมนัดพิเศษ พิจารณาให้ทันกรอบเวลา

จากที่มีคำสั่งมาตร 44 เรื่อง มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดําเนินการ โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ - นครราชสีมา และหัวหน้าคสช.จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทยทําสัญญาจ้างรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นตัวแทนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีประสบการณ์ตรงด้านการพัฒนารถไฟความเร็วสูง ดําเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ - นครราชสีมา เพื่อประโยชน์ ในการควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพ ให้กระทรวงคมนาคมประสานให้สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจัดให้ มีหลักสูตรฝึกอบรมและทดสอบแก่บุคลากรดังกล่าวตามความเหมาะสม โดยให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ใช้ผลการเจรจาต่อรองของคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมทั้งมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่เกี่ยวข้อง และผลประชุมของคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน มาเป็นกรอบ ในการพิจารณา โดยจะต้องดําเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน

ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการใช้ มาตรา44 ในจะสามารถปลดล็อกปัญหาต่างๆได้เช่นระเบียบที่ต่างกันทำให้เกิดความล่าช้าไปบ้าง ซึ่งการที่นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจดังกล่าวจะทำให้โครงการเดินหน้าได้เร็วมากขึ้น อุปสรรคต่างๆก็จะหมดไป อีกทั้งด้านงานก่อสร้างก็จะรวดเร็วมากขึ้นเพราะคนไทยมีความเชี่ยวชาญในด้านการก่อสร้างอยู่แล้ว

โดยหลังจากนี้จะต้องมีการเร่งดำเนินการให้เร็ว และตั้งเป้า รถไฟไทย-จีน ต้องสร้างไปให้ถึงหนองคาย เพราะจะเกิดประโยชน์ สามารถเชื่อมต่อโครงการรถไฟของประเทศลาว ซึ่งจะส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพในการเดินทางมากขึ้นมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่สูง อย่ามองที่ผลตอบแทนทางการเงินอย่างเดียว เนื่องจากเป็นโครงการที่ต่อเนื่องทุกประเทศ จะให้มาหยุดชะงักที่ประเทศไทย ไม่ได้ เพราะฉะนั้นทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทย ซึ่งคาดว่าในเดือนก.ย.จะสามามารถตอกเสาเข็มได้

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า คำสั่งมาตรา 44 ช่วยให้การดำเนินโครงการ รถไฟไทย-จีน เร็วขึ้น ซึ่งขณะนี้กำลังยกร่างสัญญา (EPC2 ) จำนวน 3 สัญญา โดยคาดว่าสัญญาจ้างออกแบบ (2.1) จะลงนามได้ในเดือนก.ค.นี้ จะทำให้การออกแบบตอนที่ 2 (ปากช่อง-คลองขนานจิตร) ระยะทาง 11 กม.ตอนที่3 (แก่งคอย-โคราช) ระยะทาง119 กม.ตอนที่4 (กรุงเทพฯ-แก่งคอย) ระยะทาง 119 กม.) ตามออกไปได้ และสำหรับการประมูลช่วงที่ 1 ระยะทาง 3.5 กม.จะเริ่มได้ทันที

โดยภายในเดือนมิ.ย.นี้ จะเสนอครม.ขออนุมัติ โครงการ เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา-หนองคาย โดยจะดำเนินการช่วง กรุงเทพ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.5 กม. มูลค่า 179,412.21 ล้านบาทเป็นเฟสแรก จากนั้นจะมีการลงนามระหว่าง ไทย-จีน โดยรัฐบาลมอบหมายตัวแทนของจีนมาลงนาม ซึ่งในมาตรา 44 มีการยกเว้นข้อกฎหมายต่างๆ ที่จะเป็นสิ่งที่ทำให้ล่าช้า เช่น กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ,กระบวนการประกวดราคา ,กระบวนการกำหนดราคากลางที่จะใช้เวลามาก จะปลดล็อคได้

รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้วิศวกรและผู้ออกแบบของจีน ซึ่งจะปลดล็อคให้ โดยให้กระทรวงคมสาคมประสานกับ สภาวิศวกรและสภาผู้ออกแบบ และจีนเพื่อให้มีการร่วมมือในการทำงาน

ทั้งนี้ ได้กำหนดกรอบเวลาให้แล้วเสร็จใน 120 วัน ซึ่งจะต้องตอกเข็มตอนที่ 1 ระยะทาง 3.5 กม.

รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ กระทรวงคมนาคมได้เสนอเรื่องไปยังครม.เพื่อขออนุมัติโครงการแล้ว โดยอยู่ระหว่างสอบถามความเห็นหน่วยงาน คือสภาพัฒน์ ,สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลัง โดย ในส่วนของสภาพัฒน์นั้น จะมีการเรียกประชุมบอร์ดนัดพิเศษเพื่อพิจารณาให้ความเห็นสำหรับโครงการรถไฟไทย-จีน เป็นกรณีพิเศษเพื่อให้สามารถเสนอครม.ได้ทันภายในเดือนมิ.ย.นี้
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42623
Location: NECTEC

PostPosted: 18/06/2017 8:05 am    Post subject: Reply with quote

โคราชฝันเป็นเมืองคู่แฝดกทม.หลังใช้ม.44เร่งรัดรถไฟความเร็วสูง
โพสต์ทูเดย์
17 มิถุนายน 2560 เวลา 14:19 น.

นครราชสีมา-หอการค้าโคราชชี้นายกฯใช้ม.44เดินหน้ารถไฟความเร็วสูงในอนาคตจะกลายเป็นเมืองคู่แฝดของกทม.เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในภูมิภาค

นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า หลังจากที่นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.ใช้ม.44เดินหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ถือเป็นความโชคดีช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการขนส่งมวลชน ผลของการได้รถไฟความเร็วสูง ก็จะทำให้จังหวัดนครราชสีมา กลายเป็นเมืองคู่แฝดของกรุงเทพมหานครในทันที และจะเป็นเมืองที่มีความเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะการเดินทางระหว่าง 2 เมือง มีความสะดวกรวดเร็ว ทำให้ประชาชนที่มีความแออัดอยู่ในกรุงเทพมหานคร พากันออกมาอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเพิ่มขึ้น นักธุรกิจ นักลงทุน ก็ต้องมองมาที่จังหวัดนครราชสีมา โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะต้องมาลงทุนก่อสร้างบ้าน และที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ต่อไปในอนาคตอะไรที่กรุงเทพมหานครมี ที่จังหวัดนครราชสีมาก็จะมีเหมือนกัน ดังนั้นหน่วยงานในระดับจังหวัด ต้องมาร่วมวางแผนเพื่อพัฒนาเมืองให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

หากมองภาพรวมของจังหวัดนครราชสีมา ขณะนี้มีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก เพราะพื้นที่แห่งนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สามารถเชื่อมต่อเส้นทางเศรษฐกิจได้หลายทาง ไม่ว่าจะเชื่อมต่อไปกรุงเทพมหานครฯ ไปสู่ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นประตูสู่ 20 จังหวัดภาคอีสาน และไปประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนามได้ด้วย ดังนั้น เมื่อมีการคมนาคมที่สะดวกรวดเร็ว มีระบบการขนส่งที่พร้อมสรรพ ก็จะกลายเป็นจุดสนใจของนักลงทุนทั่วโลก ถ้าสามารถดึงนักลงทุนมาตั้งโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อทำให้เป็นฮับด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ ก็เชื่อว่าจะทำให้กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของไทยได้เป็นอย่างดี
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42623
Location: NECTEC

PostPosted: 18/06/2017 10:43 am    Post subject: Reply with quote

"ดวงฤทธิ์" ฉะปม"ม.44" ลุยรถไฟไทย-จีน ชี้"คนไทยต้องสอบกันเเทบตาย ต่างชาติเข้าทำงานได้เลย"
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

updated: 17 มิถุนายน 2560 เวลา 15:16:05 น.

จากกรณีเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 30/2560 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. เรื่อง มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดําเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา (อ่านข่าว คลิกที่นี่)

ต่อมาเกิดการวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่ดิน ส.ป.ก.เเละการอนุญาตให้ สถาปนิกและวิศวกรของจีนไม่ต้องขอใบอนุญาตเพื่อผลักดันโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงให้เป็นไปอย่างรวดเร็วนั้น ทำให้แวดวงวิศวกรและสถาปนิกออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

โดย"ดวงฤทธิ์ บุนนาค" สถาปนิกชื่อดังเเละผู้ก่อตั้งบริษัท ดวงฤทธิ์ บุนนาค จำกัด โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Duangrit Bunnag" โดยตั้งค่าสาธารณะให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า เป็นการใช้อำนาจม.44 เพื่อละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศหลายข้อ เป็นสิ่งที่ควรกระทำหรือไม่ ข้อตกลงระหว่างประเทศที่คำสั่งหัวหน้าคสช. ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี สั่งไป ละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศดังต่อไปนี้ทันที


ไม่เคยคิดขวางเรื่องรถไฟ! "ดวงฤทธิ์" โพสต์ขอรัฐทำงานรอบคอบ-อย่าชุ่ย ยันไม่เคยเกลียดจีน
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
updated: 18 มิถุนายน 2560 เวลา 10:08:46 น.


สืบเนื่องกรณีการใช้มาตรา 44 เรื่องการพัฒนารถไฟความเร็วสูง ซึ่งเปิดช่องทางให้จีนเข้ามาดำเนินโครงการนั้น นายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกชื่อดัง ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กหลายครั้ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน เวลาประมาณ 09.30 น. นายดวงฤทธิ์ ได้โพสต์ข้อความอีกครั้ง โดยระบุว่าตนไม่เคยคิดขวางการสร้างรถไฟ แต่ขอให้ภาครัฐทำงานรอบคอบ อย่ามักง่าย ยืนยันไม่เคยเกลียดประเทศจีน อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าว คนไทยควรได้มีส่วนร่วม เนื้อหามีดังต่อไปนี้
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42623
Location: NECTEC

PostPosted: 19/06/2017 10:43 am    Post subject: Reply with quote

รถไฟ ไทยสร้าง จีนกำกับ อีกไกลกว่าจะถึงสถานีปลายทาง


18 มิถุนายน 2560 19:27 น.

คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 30/2560 เร่งรัดการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ออกมาหลังจากรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น ช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว ใกล้จะสรุปผลการศึกษา และเปิดประมูลหาผู้ลงทุนก่อสร้างในเร็ววันนี้

พร้อมกับข้อเสนอใหม่ของญี่ปุ่นที่บอกคณะรองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ไปโรดโชว์ที่ญี่ปุ่นว่า สนใจจะเชื่อมต่อระหว่างอยุธยากับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรืออีอีซีอีกเส้นทางหนึ่ง

ญี่ปุ่นมาทีหลังจีนเกือบปี แต่กลับแซงหน้ารถไฟไทยจีนแบบไม่เห็นท้ายขบวน ถือว่าเป็นเรื่องเสียศักดิ์ศรีพญามังกรที่เพิ่งจัดประชุมประกาศความยิ่งใหญ่ของโครงการ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางไปเมื่อไม่นานมานี้

ไม่รู้ว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.นี้ จะเป็นการรักษาหน้าเยียวยาแผลใจให้ฝ่ายจีนไม่ให้น้อยใจว่าไทยนั้นให้ความสำคัญกับรถไฟชินคันเซ็นของญี่ปุ่น ไม่สนใจโครงการของจีนเลยหรือไม่

คำสั่งหัวหน้า คสช.นี้ยกโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราชระยะทาง 250 กิโลเมตร ให้อยู่ในความดูแลของจีนไปหมดเลย ทั้งออกแบบควบคุมการก่อสร้าง วางระบบการเดินรถ และจัดซื้อรถไฟจากจีน โดยยกเว้นให้วิศวกร สถาปนิกจีนที่จะมาทำโครงการนี้ ไม่ต้องขึ้นทะเบียนวิชาชีพตามกฎหมายไทย

ฝ่ายไทยมีหน้าที่หาเงินค่าก่อสร้างมาจ่ายให้จีน มูลค่าที่ไทยเคยคำนวณคือ 170,000 ล้านบาท ในขณะที่ตัวเลขฝ่ายจีนคือ 190,000 ล้านบาท

คำสั่งหัวหน้า คสช.นี้ ยังมีผลยกเว้นการใช้คำสั่ง คสช.เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างมูลค่าเกิน 5 พันล้านบาท ไม่ต้องผ่านซูเปอร์บอร์ดกำกับการจัดซื้อที่ คสช.ตั้งเอง โดยมี ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นประธาน

โครงการรถไฟไทยจีน เดิมจะเชื่อมต่อกับรถไฟจีนลาวที่หนองคาย มาถึงกรุงเทพฯ และจะมีอีกเส้นทางหนึ่ง แยกจากแก่งคอยไปมาบตาพุด เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ที่จีนต้องการเชื่อมกับอาเซียน

แต่หลังจากเซ็นเอ็มโอยูกันเมื่อเดือนธันวาคมปี 2557 การเจรจาระดับคณะกรรมการผ่านไปหลายครั้งไม่มีความคืบหน้า ไทยต้องการให้จีนร่วมลงทุนตั้งแต่ต้น ในสัดส่วน จีน 60 ไทย 40 เพราะโครงการนี้จีนได้ประโยชน์ในการขนสินค้า และเป็นโครงการลงทุนสูง มีความเสี่ยงที่จะขาดทุน

จีนไม่ยอมร่วมลงทุนด้วย อยากจะขายเทคโนโลยี ขายเหล็ก ขายรถ รับจ้างบริหาร ขนแรงงานจีนมาทำงานในโครงการนี้ และให้ไทยกู้เงินมาก่อสร้าง โดยคิดดอกเบี้ยแพงกว่าราคาตลาด ไม่ยอมรับความเสี่ยงด้วย จะร่วมลงทุนก็ต่อเมื่อสร้างเสร็จแล้ว โดยตั้งบริษัทขึ้นมารับจ้างบริหารการเดินรถ

เมื่อเป็นเช่นนี้ ฝ่ายไทยก็ไม่อยากจะสร้างเพราะเราเองก็มีโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ที่ซ้ำซ้อนกับเส้นทางรถไฟจากหนองคายถึงกรุงเทพฯ แต่จะบอกเลิกก็ไม่ได้ เพราะเป็นข้อตกลงร่วมกันในระดับรัฐบาลทั้งสองฝ่าย

ในการประชุมกลุ่มผู้นำลุ่มน้ำโขง ล้านช้างครั้งที่ 1 ที่จีน เมื่อเดือนมีนาคมปี 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คุยนอกรอบกับนายหลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ว่า จีนไม่ต้องการลงทุนด้วยก็ไม่เป็นไร ไทยลงทุนเองก็ได้ แต่จะขอสร้างช่วงกรุงเทพฯ-โคราชก่อน เพราะใช้เงินแค่ 1.7 แสนล้านบาท โดยจะสร้างเป็นรถไฟความเร็วสูง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แทนที่จะเป็นรถไฟความเร็ว 120-160 ต่อชั่วโมงตามแผนเดิม

ไทยรับปากกับจีนว่าจะจ้างจีนก่อสร้าง ใช้เทคโนโลยีบางส่วนจากจีน ซื้อของ ซื้อระบบการเดินรถ ซื้อรถไฟจากจีน โดยจะเริ่มการก่อสร้างได้ในปี 2559

การเจรจาครั้งนั้น ถือว่าเป็นการยุติโครงการรถไฟไทยจีนแบบซอฟต์แลนด์ดิ้ง โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราช เป็นเพียงการรักษาหน้ากันแบบบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น

สำหรับฝ่ายจีนแล้ว การยุติโครงการรถไฟไทยจีนเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะไทยเป็นทางผ่านไปยังมาเลเซีย สิงคโปร์ รถไฟจีน ลาว ที่มาถึงเวียงจันทน์จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะเชื่อมต่อมายังฝั่งไทยไม่ได้

โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราช มีการประชุมคณะกรรมการทั้งสองฝ่ายอีกเกือบสิบครั้ง มีปัญหามากมายตั้งแต่เรื่องการออกแบบที่จีนจะใช้ของตน ส่งแบบมาเป็นภาษาจีน ไทยอ่านไม่ออก เรื่องวิศวกร ช่างเทคนิคที่ต้องขึ้นทะเบียนตามกฎหมายไทย

เส้นทางที่มีความยาว 250 กิโลเมตรถูกซอยออกเป็นช่วงๆ โดยช่วงแรกที่จะเริ่มก่อสร้างก่อนมีระยะทางแค่ 3.5 กิโลเมตรเท่านั้น คือ บริเวณสถานีกลางดง จังหวัดนครราชสีมา กำหนดเริ่มก่อสร้างในปี 2559 แต่ล่วงเข้ากลางปี 2560 แล้วก็ยังไม่ได้ทำอะไร

จึงเป็นที่มาของคำสั่งหัวหน้า คสช.มอบโครงการรถไฟความเร็วสูงนี้ให้จีนเอาไปทำทั้งหมด ซึ่งไม่รู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการให้มีความคืบหน้า โดยไม่สนใจว่า สร้างแล้วจะมีคนใช้หรือไม่ หรือว่าถูกจีนกดดัน หรือว่าต้องการแสดงให้จีนเห็นว่า ไทยนั้นไม่ได้สนใจแต่รถไฟญี่ปุ่น

คำสั่งหัวหน้า คสช.นี้ ให้เวลาการรถไฟแห่งประเทศไทย 120 วัน ในการทำตามคำสั่ง เมื่อครบกำหนด หากยังไม่เสร็จ นายกรัฐมนตรีสามารถขยายเวลาได้ ถ้านายกรัฐมนตรีไม่ขยายเวลา ก็ให้การรถไฟฯ ยุติการดำเนินการในเรื่องนี้ โดยให้กระทรวงคมนาคมรายงานผลการดำเนินงานให้ทราบ

คำสั่งหัวหน้า คสช.ไม่ได้บอกว่า เมื่อกระทรววงคมนาคมรายงานให้ทราบแล้ว จะทำอย่างไรต่อไป

รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราชยังต้องวิ่งฝ่าด่านอีกหลายด่าน กว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42623
Location: NECTEC

PostPosted: 19/06/2017 10:44 am    Post subject: Reply with quote

"วัฒนา"ชี้รถไฟความเร็วสูงคือตัวอย่างการละเมิดธรรมาภิบาลจากเจ้าของคำถาม 4 ข้อ
โดย MGR Online

18 มิถุนายน 2560 11:46 น.
นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Watana muangsook"ว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 30/2560 เรื่อง การดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา คือตัวอย่างของการละเมิดธรรมาภิบาลจากเจ้าของคำถาม 4 ข้อที่เพิ่งตั้งคำถามคนอื่น และยังไม่หมดเวลาตอบ เพราะการออกคำสั่งให้สถาปนิก และวิศวกรจีนทำงานโดยไม่ต้องมีใบอนุญาตคือการละเมิดกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพที่มีขึ้น เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนอันถือเป็นการละเมิดหลักนิติธรรม การออกคำสั่งให้สภาวิชาชีพทั้งสองจัดหลักสูตร และอบรมให้กับคนต่างชาติเท่ากับรัฐกำลังแทรกแซงและมีอำนาจเหนือสภาวิชาชีพ ส่วนการออกคำสั่งให้ยกเว้นการปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างคือ การขาดความโปร่งใส ขาดการมีส่วนร่วมและขัดต่อหลักความรับผิดชอบที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ คำสั่งดังกล่าวคือการไม่เคารพกฎหมายของตัวเองทั้งยังละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศตามนโยบายเปิดเสรีทางการค้าและบริการของ WTO

ผมเชื่อว่าคนไทยยอมรับได้ว่า บางโครงการที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีระดับสูง มีความจำเป็นที่จะต้องใช้สถาปนิกหรือวิศวกรต่างชาติ เพราะมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์โดยตรงมากกว่า แต่ทุกอย่างสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายโดยยึดหลักธรรมาภิบาลแบบที่ชอบอ้างได้ ตัวอย่างคือการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งออกแบบโดยนายเฮลมุต ยาห์น สถาปนิกชาวอเมริกัน-เยอรมัน และบริษัทเมอร์ฟี่/ยาห์น มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองชิคาโก โดยมีวิศวกรควบคุมงานเป็นต่างชาติเช่นกัน ก่อนดำเนินการรัฐบาลทักษิณได้นำเรื่องนี้ไปหารือสภาสถาปนิกและสภาวิศวกร ถ้าผมจำไม่ผิดทั้งสองสภาวิชาชีพได้ออกใบอนุญาตประเภท "ภาคีสถาปนิกพิเศษ" และ "ภาคีวิศวกรพิเศษ" ให้กับผู้ออกแบบและผู้ควบคุมงาน จึงทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย และไม่มีชาติใดในโลกถือเอาเหตุนี้มาอ้างได้ว่ารัฐบาลทักษิณเลือกปฏิบัติ เพราะผู้ออกใบอนุญาตดังกล่าวเป็นสภาวิชาชีพที่รัฐบาลแทรกแซงไม่ได้ ส่วนบริษัทที่ทำการก่อสร้างคือบริษัทของคนไทยที่ได้งานโดยชนะการประกวดราคา ทั้งหมดผมเรียกมันว่า มารยาท การให้เกียรติ และการใช้สติปัญญาในการบริหารประเทศอย่างโปร่งใสของรัฐบาลที่มาจากประชาชน
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42623
Location: NECTEC

PostPosted: 19/06/2017 10:55 am    Post subject: Reply with quote

วสท.ยันไม่ค้านใช้.ม.44 เร่งรถไฟไทย-จีน แนะให้คนไทยทำงานร่วม
โดย MGR Online

17 มิถุนายน 2560 16:31 น.
นายธเนศ วีระศิริ นายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)ยืนยันว่า ไม่ค้านใช้ ม.44 เร่งโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน แต่ควรให้คนไทยเข้าไปทำงานร่วมเพื่อให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยี ซึ่งขณะนี้มีข่าวลงคลาดเคลื่อนว่า ทาง วสท.คัดค้านการใช้ มาตรา 44 ในการเร่งรัดโครงการโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 กรุงเทพ-นครราชสีมา ซึ่งไม่เป็นความจริง การลงทุนอย่างรวดเร็วเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ แต่ที่แถลงข่าวออกมา คือ ขอโอกาสให้ภาครัฐกำหนดให้การทำงานให้วิศวกรคนไทย หรือช่างของคนไทยมีโอกาสเข้าร่วมงานกับการทำงานของคนจีนด้วย เพื่อให้เกิดการการโอนถ่ายเทคโนโลยีในทุกระดับ และเมื่องานก่อสร้างเสร็จสิ้น คนไทยจะได้ดูแลระบบโครงการได้เอง หรือมีความสามารถในการพัฒนาระบบรถไฟไดด้วยตัวเองบ้าง ซึ่งการก่อสร้างในอดีตทุกโครงการ หากมีต่างชาติเข้ามาก่อสร้าง คนไทยจะมีส่วนร่วมทั้งนั้น เช่น โครงการรถไฟฟ้าสีน้ำเงินโครงการขุดท่าเรือน้ำลึกสัตหีบที่สหรัฐฯ ดำเนินการ ในขณะที่โครงการถไฟฟ้าในจีนในเกาหลีใต้ ที่เริ่มแรกก็เป็นต่างชาติมาก่อสร้าง แต่ก็ต้องมีวิศวกรจีน เกาหลีใต้ทำงานประกบไปด้วย

นายธเนศ ระบุด้วยว่า สภาวิศวกร ซึ่งเป็นคนละหน่วยงาน กับ วสท.มีทำหน้าที่ดูแลวิศวกร ทั้งขึ้นทะเบียน และกำกับดูแล ส่วนวิศวกรรมสถานฯหรือ วสท.เป็นสมาคมวิชาชีพมีอายุ 74 ปีแล้ว ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมการพัฒนาวิชาชีพให้กับวิศวกรและบุคคลทั่วไป รวมถึงมีบทบาทให้ความช่วยเหลือประชาชน ทาง วสท.ได้ติดตาม โครงการนี้ และเห็นด้วยกับสภาวิศวกรที่ได้เสนอให้นิติบุคลวิศวกรรม และวิศวกร จีนที่จะเข้ามาปฏิบัติงานในโครงการนี้ต้องผ่านการจดทะเบียนรับรองการปฏิบัติวิชาชีพวิศวกรรมของ สภาวิศวกร เพราะการเข้าทํางานวิศวกรรมควบคุมในประเทศต่างๆ วิศวกรผู้นั้นจําเป็นต้องมีความรู้ ทั้งในด้านกฎหมายก่อสร้าง สภาพการรับน้ำหนักบรรทุกของดินฐานราก สภาวะ และการตอบสนอง ของน้ำหนักบรรทุกสําคัญ เช่น น้ำหนักบรรทุก แรงลม และแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว รวมทั้งมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง การใช้กฎหมายมาตราพิเศษเพื่อยกเว้นให้วิศวกรจีนเช่นนี้จะสร้างความ เหลื่อมล้ำในการทํางานวิศวกรรมของวิศวกรต่างชาติ

ทั้งนี้ วสท.เสนอว่า รัฐบาลควรกําหนดให้มีการถ่ายโอน เทคโนโลยี (technology transferring) โดยสามารถดําเนินการได้ตั้งแต่การคํานวณออกแบบ (design) การกําหนดรายการประกอบแบบ และวัสดุ (specifications) การก่อสร้าง และการติดตั้ง (construction and erection) รวมทั้งการซ่อม และบํารุงรักษา (repair and maintenance)
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42623
Location: NECTEC

PostPosted: 19/06/2017 7:00 pm    Post subject: Reply with quote

“ศรีสุวรรณ” ยื่นผู้ตรวจฯ ชงศาลสอบ ม.44 รถไฟความเร็วสูง กทม.-โคราช เอื้อประโยชน์จีน
โดย MGR Online

19 มิถุนายน 2560 11:47 น. (แก้ไขล่าสุด 19 มิถุนายน 2560 13:54 น.)



“ศรีสุวรรณ” ยื่นผู้ตรวจฯ ชงศาลสอบ ม.44 รถไฟความเร็วสูง กทม.-โคราช เอื้อประโยชน์จีน
เลขาฯ องค์การพิทักษ์ รธน.ยื่นผู้ตรวจฯ ส่งศาลรัฐธรรมนูญ-ศาลปกครองสอบคำสั่ง ม.44 ผุดรถไฟความเร็วสูง กทม.-โคราช ชี้เข้าข่ายเอื้อประโยชน์จีน ทำไทยสูญเสียอำนาจอธิปไตย ยันไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องออกใช้ ม.44 ลดขั้นตอน เล็งยื่น ป.ป.ช.-สตง.หากรัฐลงนาม




วันนี้ (19 มิ.ย.) สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นำโดยนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมฯเข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินผ่านนายฐนภณ ธนวชิรนนท์ เจ้าหน้าที่สืบสวนอาวุโสระดับสูง สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบและเสนอเรื่องความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองวินิจฉัยว่าคำสั่ง คสช.ที่ 30 /2560 กรณีเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงชาวกรุงเทพ-นครราชสีมา เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 60 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยนายศรีสุวรรณกล่าวว่า เห็นว่าการออกคำสั่งดังกล่าวมีผลต่อเอกราช อธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งน่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 52 ประกอบมาตรา 26 โดย 1. การก่อสร้างรถไฟฯดังกล่าวโดยให้การพัฒนาที่ดินด้านข้าง ๆละ150 เมตรตลอดเส้นทางเป็นของชาวจีน เข้าข่ายทำให้ไทยสูญเสียอธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิ

2. คำสั่ง คสช.ดังกล่าวยังได้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายปกติไม่น้อย 7 ฉบับในเรื่องเกี่ยวกับการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง ระเบียบว่าด้วยพัสดุ ทั้งที่ผ่านมารัฐบาลพยายามรณรงค์เรื่องการสร้างความโปร่งใส แต่การยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเท่ากับไม่เคารพกลไกการตรวจสอบ ถ่วงดุล 3. การคำสั่งดังกล่าวไม่สอดคล้องหลักการการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับ 2557 ที่กำหนดให้ คสช.ใช้อำนาจออกคำสั่งเฉพาะกับเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงเท่านั้น แต่กรณีรถไฟความเร็วสูงเป็นเรื่องเศรษฐกิจ นอกจากนี้การออกคำสั่งยังไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 265 อีกด้วย 4. เรื่องดังกล่าวน่าจะเข้าข่ายเป็นเรื่องการทำสนธิสัญญาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 178 ที่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา การมาใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งจึงน่าจะเป็นการกระทำที่ก้าวล่วง หาก สนช.ยกเว้นไม่ดำเนินการก็เท่ากับไม่รักชาติรักแผ่นดิน อย่างไรก็ตาม หากผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบแล้วพบว่ากรณีการดำเนินการดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ประเทศจีนก็ขอให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการตามมาตรา 221 ด้วย

“คิดว่า 4 ประเด็นน่าจะเพียงพอที่ผู้ตรวจฯจะใช้อำนาจหน้าที่ยื่นเรื่องดังกล่าวพร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง เพราะคำสั่ง คสช. มีศักดิ์เทียบเท่ากับพระราชบัญญัติเมื่อรัฐธรรมนูญปัจจุบันใช้บังคับ คสช.จะใช้อำนาจเหมือนปกติที่ผ่านมาไม่ได้แล้ว รวมทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนก็ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งจะมาคิดกัน แต่มีการเจรจากันมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว จึงไม่ถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องอกคำสั่งเพื่อมาลดขั้นตอนวิธีการในการดำเนินการหรือใช้อำนาจทุบโต๊ะซึ่งก็ไม่น่าจะเข้าหลักเกณฑ์ที่จะออกคำสั่งมาตรา 44 ด้วย”

นายศรีสุวรรณยังกล่าวด้วยว่า หากรัฐบาลดึงดันจนไปถึงขั้นของการลงนามสัญญากับประเทศไทย ตนก็จะยื่นเรื่องดังกล่าวต่อ ป.ป.ช.และ สตง. เพราะถือว่ามีอำนาจหน้าที่โดยตรง

https://www.youtube.com/watch?v=kPNvuyuXumE

//-------------
ศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรฯ ยื่นทบทวนใช้ ม.44
โดย MGR Online

19 มิถุนายน 2560 14:38 น. (แก้ไขล่าสุด 19 มิถุนายน 2560 14:45 น.)
ศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรฯ ยื่นทบทวนใช้ ม.44
ตามที่ ฯพณฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ใช้อำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 เพื่อแก้ปัญหาและอุปสรรคในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยไม่ได้ดำเนินการตามข้อเสนอต่อรัฐบาลของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ในหลายๆ ข้อ เช่น ให้นิติบุคคลวิศวกรรมและวิศวกรจากต่างประเทศต้องผ่านการจดทะเบียนรับรองการปฏิบัติวิชาชีพวิศวกรรมของสภาวิศวกร
เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อวิศวกรไทยและเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ที่อาจเกิดความเสียหายจากการที่วิศวกรจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจะมาเป็นหลักในการออกแบบ ควบคุมงาน และทำหน้าที่ที่ปรึกษาในงานก่อสร้างโครงการดังกล่าว ซึ่งอาจส่งผลกระทบตามมา เช่น 1. ขาดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและข้อมูลองค์ความรู้,
2. การจัดซื้อวัสดุและผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ และการจัดจ้างผู้รับเหมาจากต่างประเทศมาดำเนิการก่อสร้างโดยไม่จำเป็นในงานบางประเภท 3. การรับผิดชอบและความปลอดภัยในระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง และหลังการใช้งานระบบ ดังนั้น นิสิตเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รุ่นที่ 37 จึงใคร่ขอกราบวิงวอนท่านนายกรัฐมนตรี ได้โปรดทบทวนในประเด็นดังกล่าวด้วย

//---------

"กิตติรัตน์"โพสต์ FB ชี้ไทยควรปรับปรุงระบบรถไฟ แต่ค้านใช้ ม.44
โดย MGR Online

19 มิถุนายน 2560 15:07 น.
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Kittiratt Na-Ranong (กิตติรัตน์ ณ ระนอง)" ว่า ประเทศไทยควรปรับปรุงระบบรถไฟ ประเทศของเราควรมีรถไฟฟ้าความเร็วสูง โดยไม่ต้องรอให้ถนนลูกรังหมด แต่ไม่ควรใช้วิธี ม.44 เพื่อไม่ต้องมีการประมูลแข่งขันด้านราคา และคุณภาพ รวมทั้ง ยินยอมให้ปฏิบัติขัดกฏหมายสำคัญๆ มากมายหลายฉบับ แบบที่กำลังจะทำกัน
ทั้งนี้ 3 ปีผ่านไปเปล่าประโยชน์ โดยไม่ดำเนินการตามกระบวนการที่ควร บัดนี้กลับลุกลี้ลนลาน ทำงานแบบขาดธรรมาภิบาล ขอคัดค้านกระบวนการแบบนี้ และรังเกียจอำนาจ ม.44 ที่กำลังดูถูกประชาชน

//-------------


“เกียรติ” ห่วงใช้ ม.44 อนุมัติจีนสร้างรถไฟความเร็วสูง ไทยเสียประโยชน์เพียบ
โดย MGR Online

19 มิถุนายน 2560 16:44 น. (แก้ไขล่าสุด 19 มิถุนายน 2560 16:57 น.)

รองหัวหน้า ปชป.ห่วงใช้ ม.44 อนุมัติจีนสร้างรถไฟความเร็วสูง ทำไทยเสียประโยชน์หลายด้าน ชี้คนไทยควรมีส่วนร่วมด้วย ซัดหากใช้โครงการอื่นๆ ใช้ยกเว้นข้อบังคับแบบนี้ ประเทศคงไม่เหลืออะไร

วันนี้ (19 มิ.ย.) นายเกียรติ สิทธีอมร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้คำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อเอื้อให้รัฐวิสาหกิจจีนสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ว่าสำหรับตนเคยทำงานรับเหมาก่อสร้างในประเทศอื่นๆ มา รวมถึงประเทศในยุโรป พบว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่ประเทศอื่นๆ จะออกกฎหมายยกเว้นข้อบังคับให้กับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่แบบนี้ได้ในโครงการขนาดใหญ่นั้น ถ้ายึดตามหลักปฏิบัติทั่วไป ประเทศจีนสามารถออกแบบได้แค่แบบร่างเท่านั้น แต่รายละเอียดทั้งหมดนั้นผู้ที่จะออกแบบจะต้องเป็นวิศวกรสถาปนิกไทย เพราะว่าเขารู้ดีทั้งหมดว่ารายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยนั้นคืออะไรบ้าง อาทิ กฎกติกาด้านความปลอดภัยที่เหมาะสม ของที่หาซื้อได้นั้นคืออะไร อาทิเหล็กเส้น เหล็กที่อยู่ในประเทศไทย และเหล็กที่อยู่ในประเทศจีนนั้นก็มีมาตรฐานที่แตกต่างกัน ไม่เหมือนกันเลย

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวต่อว่า การออกมาตรา 44 ในครั้งนี้ถือว่านำไปสู่หลายคำถามมากมาย ตนไม่ได้คัดค้านการเร่งให้เกิดรถไฟความเร็วสูง แต่ถ้าเร่งมากเกินไปจนเสียผลประโยชน์ในบางกรณี อาทิ เรื่องความปลอดภัย เรื่องการจ้างงานหรือเรื่องราคากลาง เราก็ต้องระมัดระวังด้วย โครงการนี้เป็นโครงการใหญ่มาก ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก สามารถจ้างแรงงานไทยได้จำนวนหลายพันและสามารถช้วัสดุที่ผลิตในไทยได้เป็นจำนวนมาก ถ้าหากมีการยกเว้นก็หมายความว่าเขาจะสามารถใช้แรงงานเป็นคนจีนได้ทั้งหมดและใช้วัสดุที่มาจากจีนได้ ดังนั้น ประเทศไทยจะเสียผลประโยชน์มาก และหากเขาทำเป็นภาษาจีนแล้วเราจะทำอย่างไร เหตุผลที่เราต้องมีกฎกติกาก็เพื่อจะรับรองในแง่ของความปลอดภัยของโครงการเหล่านี้ โครงสร้างทุกระบบต้องมีผู้รับรอง ถ้าหากทำตามกติกาแล้วหน่วยงานต่างๆของประเทศไทย อาทิ กรมโยธาธิการ ก็จะสามารถเข้าไปดูได้ว่าโครงสร้างที่จีนออกแบบมานั้นมีความปลอดภัยหรือไม่ แต่เมื่อมีการใช้มาตรา 44 มายกเว้นตรงนี้แล้ว หน่วยงานไทยนั้นจะไม่ทราบมาตรฐานของประเทศจีนแล้วจะไม่สามารถดำเนินการอนุมัติการก่อสร้างในส่วนต่างๆ ได้เลย แล้วถ้าหากเขามาทำโครงการ ทำเสร็จแล้ว แล้วกลับบ้านไปเลย และต่อมาโครงการเกิดปัญหาถามว่าถ้าเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมาแล้วจะเอาผิดต่อใครได้

นายเกียรติกล่าวว่า นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาในเรื่องราคากลางมีการตั้งคำถามว่าราคาที่จีนตั้งขึ้นมานั้นเป็นราคาที่ดีที่สุดหรือไม่ เพราะว่าไม่มีการประมูลแข่งกันเลย กฎหมายระเบียบว่าด้วยพัสดุที่ต้องการให้มีการประมูลก็เพื่อจะให้แน่ใจว่าเราจะได้ราคาที่ต่ำที่สุดและได้คุณภาพที่ดีที่สุดที่ตามเราต้องการ แต่ตอนนี้ราคากลางเท่าที่ทราบก็คือราคาที่ทางจีนเสนอมา ถึงแม้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกมา แต่ถามว่าอะไรจะเป็นหลักประกันว่านี่คือราคาที่เหมาะสมและดีที่สุดแล้ว นอกจากนี้ยังมีประเด็นว่าโครงการนี้จะสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างทั้งไทยและจีนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างต่างๆ ด้วย อาทิ เรื่องโครงสร้างทางธรณีวิทยาของประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งการใช้มาตรา 44 มายกเว้นตรงนี้ก็จะทำให้เสียโอกาสในเรื่องการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ได้ ถ้าหากโครงการก่อสร้างต่างๆ ของประเทศไทยใช้วิธีนี้มาตั้งแต่แรก ประเทศไทยก็คงจะทำอะไรไม่เป็นเลย เมื่อก่อนเราก็สร้างโรงไฟฟ้าไม่เป็นแต่ทำไมตอนนี้เราถึงทำเป็นแล้ว ก็เพราะว่ามีการเรียนรู้ร่วมกัน

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวต่อว่า ตนจำได้ว่าเมื่อช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เคยพูดว่าโครงการรถไฟไทยจีนจะไม่ใช้มาตรา 44 แต่จะใช้กฎหมายปกติในการจัดการ ตนขอถามว่าทำไมอยู่ดีๆ ถึงเปลี่ยนใจ ก็อยากให้เขาช่วยชี้แจงตรงนี้ด้วย เพราะโครงการนี้ลงทุนไปเกือบ 2 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงควรจะสร้างประโยชน์ให้กับคนไทยในหลายๆ ด้านตั้งแต่เริ่มก่อสร้างไปจนถึงเมื่อมีรถไฟวิ่งไม่ใช่แค่มีรถไฟอย่างเดียว

“เหมือนกับสร้างบ้าน มันเป็นบ้านไฮเทคเหลือเกิน พอเป็นบ้านไฮเทค เจ้าของบ้านก็บอกว่าข้าพเจ้าไม่อยากรู้ ไม่อยากเห็นอะไร พี่เอาเลย สร้างบ้านเลยแล้วกัน ผมคิดว่ามันไม่ใช่ เจ้าของบ้านก็ต้องไปดูด้วยว่ามันใช่แบบที่เราต้องการหรือไม่” นายเกียรติกล่าว และว่าขณะนี้รัฐบาลกำลังสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่ถือว่าอันตรายมาก ในวันนี้เราให้กับจีนได้ แล้ววันข้างหน้าญี่ปุ่นขอบ้าง ฝรั่งเศสขอบ้างแล้วเราจะทำอย่างไร เราจะไปปฏิเสธอย่างไรเพราะเคยให้จีนแล้วครั้งแรก ถ้าเป็นแบบนั้นแล้วอนาคตประเทศไทยจะเหลืออะไร แล้วในอนาคตจะเกิดกรณีว่าโครงการทุกโครงการก็ทำให้ช้าลง แล้วพอมาถึงจุดหนึ่งผู้มีอำนาจก็บอกว่าอยากได้เร็วก็เลยออกระเบียบการเพื่อยกเว้นข้อบังคับอีกหรือไม่
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42623
Location: NECTEC

PostPosted: 19/06/2017 7:05 pm    Post subject: Reply with quote

“วิษณุ” ไฟเขียวส่งวิศวกรไทยร่วมสร้างรถไฟไทย-จีน ชี้ ม.44 เป็นกรอบนโยบาย
โดย MGR Online

19 มิถุนายน 2560 16:01 น. (แก้ไขล่าสุด 19 มิถุนายน 2560 17:01 น.)

รองนายกฯ ระบุส่งวิศวกรไทยร่วมสร้างรถไฟไทย-จีนได้ แจงออก ม.44 เป็นเพียงกรอบนโยบาย รอดูสัญญาเข้าสภาหรือไม่

วันนี้ (19 มิ.ย.) เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการใช้คำสั่งมาตรา 44 เพื่อแก้ข้อติดขัดโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน โดยเฉพาะข้อกังวลการยกเว้นใบประกอบวิชาชีพวิศวกรจีนที่จะเข้ามาดำเนินการว่า วันนี้เวลา 16.00 น.ตนได้เชิญสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกเข้าหารือ หากมีข้อกังวลใดๆ จะได้พูดคุยทำความเข้าใจกัน ถึงแม้ก่อนหน้านี้จะเคยประชุมกันมาแล้วก็ตาม ก่อนออกคำสั่งมาตรา 44 เรื่องดังกล่าวออกมา ส่วนข้อเสนอของวิศวกรฝั่งไทยเรื่องการถ่ายทอดความรู้ โดยเรียกร้องให้สามารถเข้าร่วมดำเนินการกับวิศวกรจีนได้ด้วยนั้น ถือเป็นข้อเสนอที่ดีและสามารถทำได้

ทั้งนี้ คำสั่งมาตรา 44 ที่ออกมาเป็นเพียงกรอบนโยบาย แต่รายละเอียดสัญญาจะมีการร่างหลังจากนี้ ข้อกังวลต่างๆ ที่มี คนร่างสัญญารับทราบแล้ว เพราะเจรจากัน 17-18 ครั้ง ข้อกังวลฝ่ายไทยเขารู้หมด ขณะนี้กำลังดูว่าสัญญาดังกล่าวต้องเข้าสภาหรือไม่ หากต้องเข้าก็ยินดี

“อาคม”เร่งทำความเข้าใจสภาวิศวกรฯ ร่วมมือให้วิศวกรจีนเข้ามาทำงานรถไฟไทย-จีน
โดย MGR Online

19 มิถุนายน 2560 18:07 น.

“อาคม”ยันทำความเข้าใจสภาวิศวกรฯ เพื่อเตรียมข้อมูลเร่งออกแบบรถไฟไทย-จีน พร้อมเร่งชงครม.อนุมัติโครงการ ในมิ.ย.นี้ โดยบอร์ดสศช.จะประชุมนัดพิเศษให้ แจงรถไฟไทย-จีน เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความร่วมมือรถไฟ ไทย-จีน ในประเด็นการออกแบบโดยวิศวกรจีนนั้น ขณะนี้ได้หารือภายในกับสภาสถาปนิกให้รับทราบคำสั่งมาตรา 44 แล้ว จะไปเตรียมทำข้อมูลสำหรับการอบรม โดยจะหารือเป็นทางการกับกระทรวงคมนาคมอีกรอบ อย่างไรก็ตามจะพยายามเสนอครม.ได้ทันภายในเดือนมิ.ย.นี้ ซึ่งยังเหลือเวลาอีก11 วัน โดยกระทรวงคมนาคมได้เสนอเรื่องไปครม.แล้ว อยู่ระหว่างสอบถาม หน่วยงานเกี่ยวข้อง ซึ่งทางคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะประชุมบอร์ดนัดพิเศษเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ให้ ส่วนสัญญาออกแบบ นั้นจะลงนามกับจีนได้ในเดือนก.ค. ซึ่งทาง จีน โดย NDRCจะมอบหมายรัฐวิสาหกิจจีนเป็นผู้มาลงนามร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)

สำหรับข้อท้วงติงของนายดิสพล ผดุงกุล นายกสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย (วศรท.) ระบุว่า การทำโครงการรถไฟความเร็วสูงไม่คุ้มกับการลงทุน คิดเฉลี่ยรัฐบาลจะมีรายได้ประมาณ 10 ล้านบาทต่อวัน จากการให้บริการประชาชนประมาณ 10,000 คนต่อวัน ในขณะที่มีการลงทุนในโครงการประมาณ 200,000-300,000 ล้านบาท ในส่วนของกระทรวงคมนาคมได้ชี้แจงว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง เป็นโครงการให้บริการด้านขนส่งมวลชนซึ่งไม่ได้มุ่งเน้นเพื่อการหารายได้จากค่าโดยสาร แต่การพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงพื้นที่ภูมิภาคจะส่งผลต่อการพัฒนาเมืองและการกระจายความเจริญ ซึ่งเป็นผลประโยชน์ในภาพรวมต่อเศรษฐกิจของประเทศ

ส่วนการใช้วิศวกรจีนทั้งหมดเข้ามาทำงาน โดยยกเว้นให้ไม่ต้องขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ. 2542 เป็น สิ่งไม่ถูกต้อง กระทรวงคมนาคมระบุว่า ในการยกเว้น พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ. 2542 มาตรา 45 47 และ 49 คำสั่งคณะหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ ได้ระบุให้มีการอบรมและทดสอบตามความเหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 212, 213, 214 ... 542, 543, 544  Next
Page 213 of 544

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©