Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai Gallery in Facebook

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311234
ทั่วไป:13180475
ทั้งหมด:13491709
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าวรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน)
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ข่าวรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน)
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 214, 215, 216 ... 542, 543, 544  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44325
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 22/06/2017 7:00 am    Post subject: Reply with quote

Look Forward มองไปข้างหน้า : รัฐแจงไทยได้ประโยชน์โครงการรถไฟจีน 75%
TNN 24 Published on Jun 21, 2017


https://www.youtube.com/watch?v=D7e3oBJ3Bxg
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 22/06/2017 11:15 am    Post subject: Reply with quote

สนข.ชี้แจงปมรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ย้ำประเทศไทยลงทุน 100% และได้ประโยชน์
ประชาชาติธุรกิจ
21 มิถุนายน 2560 . 2560 เวลา 13:27:37 น.

ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีคำสั่งเรื่องมาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานพัฒนารถไฟความเร็วสูงภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-จีน ให้สามารถดำเนินโครงการเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด จึงทำให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นต่างๆ ในเชิงลบ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเรื่องดังกล่าวนั้น

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ขอเรียนชี้แจงในประเด็นต่างๆ ดังนี้

ประเด็นที่ 1 : จากการที่รัฐบาลพยายามทำให้มีการเริ่มต้นการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงโดยเร็วที่สุด ทำให้มีข้อกังวลในข้อกฏหมายกับหลายภาคส่วน โดยเฉพาะการทับซ้อนของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงระหว่างช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เส้นทางรถไฟความเร็วสูงของจีน และกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เส้นทางรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่น ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะใช้รางร่วมกันอย่างไร การที่มีเทคโนโลยีทั้งสองระบบในประเทศจะมีต้นทุนสูงกว่าการมีระบบเดียว รวมถึงการพัฒนาโครงข่ายในอนาคต

สนข.ขอชี้แจงว่า ในประเด็นการใช้รางร่วมกัน เมื่อพิจารณาปริมาณการเดินรถในระยะยาวพบว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงทั้งสองโครงการอาจจำเป็นต้องมีโครงสร้างทางวิ่งเป็นทางวิ่งเฉพาะในภายหลัง เพื่อให้สามารถเดินรถได้เพียงพอต่อความต้องการและมีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ซึ่งการดำเนินการภายหลัง จากที่เปิดเดินรถแล้วจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อความปลอดภัย

ดังนั้น เพื่อให้การเดินรถมีประสิทธิภาพ โดยสามารถรองรับปริมาณการเดินทางที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ในระยะยาว รวมทั้งมีมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินรถสูงสุด ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของระบบรถไฟความเร็วสูง

โครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ที่ดำเนินการภายใต้ความร่วมมือไทย-จีน และโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ภายใต้ความร่วมมือในการศึกษาความเหมาะสมระหว่างไทย-ญี่ปุ่น จึงออกแบบให้มีโครงสร้างทางวิ่งแยกออกจากกัน

ในประเด็นที่มีข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสองระบบและผลกระทบต่อความสามารถในการขยายโครงข่าย เนื่องจากแนวคิดการออกแบบสถานีกลางบางซื่อมุ่งเน้นให้สถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีศูนย์กลางของเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงพื้นที่ต่างๆในภูมิภาค โดยผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนเส้นทางเพื่อไปยังภูมิภาคต่างๆ ได้ที่สถานีกลางบางซื่อ

ดังนั้น โครงสร้างทางวิ่งของเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ (สายเหนือ) และเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา (สายตะวันออกเฉียงเหนือ) จึงไม่ได้มีการเชื่อมต่อทางโครงสร้างรางไปยังเส้นทางอื่นได้โดยตรง และในอนาคตหากมีการขยายโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง จะเป็นการขยายเส้นทางต่อเนื่องจากเส้นทางเดิมที่ได้มีการเดินรถด้วยระบบเดิมอยู่แล้วออกไป การใช้ระบบที่แตกต่างกันสำหรับเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และกรุงเทพฯ-ชียงใหม่ จึงไม่มีผลกระทบต่อการพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงในอนาคต

สำหรับประเด็นการที่มีเทคโนโลยีทั้งสองระบบในประเทศจะมีต้นทุนสูงกว่าการมีระบบเดียวนั้น เนื่องจากทั้งสองโครงการเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นของตนเอง การพัฒนาโครงการภายใต้ความร่วมมือจึงอยู่บนพื้นฐานของความช่วยเหลือด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมด้วย โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีถือเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทยต่อไปในระยะยาว

ดังนั้น หากพิจารณาข้อได้เปรียบในประเด็นนี้ ในระยะแรกที่มีปริมาณการเดินรถไม่สูง แม้ว่าต้นทุนการดำเนินการอาจมีสัดส่วนที่สูงกว่า แต่หากสามารถศึกษาและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตระบบรถไฟความเร็วสูงร่วมกับจีนหรือญี่ปุ่นจะเกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจประเทศในภาพรวมในอนาคต อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวที่มีการเดินรถในปริมาณที่สูงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไทยสามารถร่วมผลิตระบบรถไฟกับจีนและญี่ปุ่นได้จะทำให้ต้นทุนการดำเนินการมีสัดส่วนที่ลดลงอยู่ในระดับต่ำได้

ประเด็นที่ 2 : กระทรวงคมนาคม ไม่ให้ข้อมูลจริงกับรับบาลเพียงมุ่งหวังให้รัฐบาลใช้ ม.44 ในการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง ทั้งที่มีกฎหมายวิศวกร ปี 2542 ให้ดำเนินการได้

สนข.ขอชี้แจงว่า กระทรวงคมนาคมได้รายงานผลความคืบหน้าการประชุมร่วมคณะกรรมการบริหาร การพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งชี้แจงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ และรัฐบาลมีนโยบายที่จะเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพให้โครงการรถไฟไทย-จีน สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว

หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงได้มีคำสั่ง คสช. ที่ 30/2560 เรื่อง มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งได้ยกเว้น พระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 มาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 49 ที่เกี่ยวข้องกับการขอรับใบอนุญาต โดยมาตรา 49 เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตที่เป็นนิติบุคคล โดยในกรณีนี้รัฐวิสาหกิจของจีน ซึ่งจะมาเป็นคู่สัญญากับการรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่อยู่ในข่ายที่จะมีคุณสมบัติตามมาตรา 49 ได้

เนื่องจากไม่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย สำหรับกรณีมาตรา 45 และ 47 ได้มีการยกเว้นเนื่องจากเป็นโครงการเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาล การดำเนินการตามขั้นตอนจะทำให้โครงการล่าช้าและอาจเกิดผลกระทบต่อประเทศ ในภาพรวม ดังนั้นเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามแผนการดำเนินงาน จึงได้มีการยกเว้นมาตรา 45 และ 47 ด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ในคำสั่งดังกล่าวได้กำหนดให้วิศวกรจีน และสถาปนิกจีนต้องได้รับการอบรมและทดสอบจากสภาวิศวกร และสภาสถาปนิกตามความเหมาะสม

ประเด็นที่ 3 : การเผยแพร่ภาพอินโฟกราฟฟิคมีข้อความว่า จีนขอบริหาร 30 ปี ก่อนยกให้ไทย

สนข.ขอชี้แจงว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เป็นโครงการที่ลงทุนโดยฝ่ายไทยทั้งหมด 100% โดยภายหลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ ฝ่ายไทยจะเป็นผู้เดินรถและบริหารทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องเองทั้งหมด อย่างไรก็ตามเนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงซึ่งเป็นโครงการแรกในประเทศไทย ฝ่ายไทยจึงยังไม่มีประสบการณ์ในการเดินรถ

ดังนั้นในช่วงแรกของการเดินรถจึงกำหนดให้ฝ่ายจีน เป็นผู้ให้คำปรึกษาโดยต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีและฝึกอบรมให้กับฝ่ายไทยด้วย ดังนั้น ผลประโยชน์จากการเดินรถ และการบริหารทรัพย์สินทั้งหมดจึงเป็นของฝ่ายไทย

//--------------------------------------------------

สนข. แจงรถไฟไทยจีน ยันไทยเป็นผู้เดินรถและบริหารทรัพย์สินเองทั้งหมด
วันที่ 21 มิถุนายน 2560 - 18:35 น.

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงกรณีที่หลายฝ่ายกังวลว่า รถไฟไทยจีนเส้นทาง กทม.-โคราช และรถไฟไทยญี่ปุ่น เส้นทาง กทม.-เชียงใหม่ มีการทับซ้อนกัน และอาจทำให้ต้นทุนการบริหารงานการเดินรถสูง เนื่องจากมีเทคโนโลยี 2 ระบบ ว่า ประเด็นการใช้รางร่วมกันนั้นในระยะยาว ทั้งสองโครงการจะมีโครงสร้างทางวิ่งเฉพาะแยกออกจากกัน ตามเทคโนโลยีของแต่ละเส้นทางจึงไม่ทันซ้อน ส่วนประเด็นรถไฟ 2 เส้นทาง 2 ระบบนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีการออกแบบสถานีกลางบางซื่อไว้ใช้เป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายระบบการเดินทางอยู่แล้ว

ดังนั้น โครงสร้างทางวิ่งของ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ (สายเหนือ) และเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา (สายตะวันออกเฉียงเหนือ) ไม่ได้มีการเชื่อมต่อกันโดยตรง และในอนาคตหากมีการขยายโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง จะเป็นการขยายเส้นทางต่อเนื่องจากเส้นทางเดิมที่ได้ มีการเดินรถด้วยระบบเดิมอยู่แล้วออกไป ดังนั้นการใช้ระบบที่แตกต่างกันจึงไม่มีผลกระทบต่อการพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงในอนาคต สำหรับประเด็นมีมองว่ารถไฟ 2 ระบบทำให้ต้นทุนบริการจัดการสูงนั้น ทั้ง 2 โครงการ เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ และอยู่บนพื้นฐานของความช่วยเหลือด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทยต่อไป

นายชัยวัฒน์กล่าวถึงกรณีที่ระบุว่า กระทรวงคมนาคม ไม่ให้ข้อมูลจริงกับรัฐบาลเพราะต้องการให้รัฐบาลใช้ ม.44 ในการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง ว่ากระทรวงคมนาคมรายงานผลการประชุมร่วมคณะกรรมการบริหารและชี้แจงข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อเนื่อง ขณะที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะเร่งรัดให้โครงการเกิดได้เร็ว หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงมีคำสั่ง คสช. ที่ 30/2560 ซึ่งยกเว้นพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 มาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 49 ที่เกี่ยวข้องกับการขอรับใบอนุญาต

โดยมาตรา 49 เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตที่เป็นนิติบุคคล โดยในกรณีนี้รัฐวิสาหกิจของจีน ซึ่งจะมาเป็นคู่สัญญากับการรถไฟ ไม่อยู่ในข่ายที่จะมีคุณสมบัติตามมาตรา 49 เนื่องจากไม่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ส่วนกรณีมาตรา 45 และ 47 มีการยกเว้นเนื่องจากเป็นโครงการเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาล การดำเนินการตามขั้นตอนจะทำให้โครงการล่าช้าและอาจเกิดผลกระทบต่อประเทศ ในภาพรวมได้ แต่ในคำสั่งกำหนดให้วิศวกรจีน และสถาปนิกจีนต้องได้รับการอบรมและทดสอบ จากสภาวิศวกร และสภาสถาปนิกตามความเหมาะสมด้วย

ส่วนประเด็นกระแสข่าวที่ระบุว่าจีนขอบริหาร 30 ปี ก่อนยกให้ไทยนั้นจะเห็นว่าโครงการดังกล่าวฝ่ายไทยลงทุนเองทั้งหมด 100% ภายหลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ ฝ่ายไทยจะเป็นผู้เดินรถและบริหารทรัพย์สิน ที่เกี่ยวข้องเองทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นโครงการแรก ฝ่ายไทยยังไม่มีประสบการณ์ในการเดินรถ ดังนั้นในช่วงแรกของการเดินรถจึงกำหนดให้ฝ่ายจีน เป็นผู้ให้คำปรึกษา โดยต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีและฝึกอบรมให้กับฝ่ายไทยด้วย ดังนั้น ผลประโยชน์จากการเดินรถ และการบริหารทรัพย์สินทั้งหมดจึงเป็นของฝ่ายไทย
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 22/06/2017 11:56 am    Post subject: Reply with quote

“สภาวิศวะ-สภาสถาปนิก”เล็งถกร่างสัญญากับเจ้าหน้าที่เทคนิคจีน-ระบุอยากเห็นวิศวกรไทยมีส่วนร่วม 50%
มติชน
วันที่ 21 มิถุนายน 2560 - 15:35 น.
เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกร่วมกันแถลงข่าวกรณีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
(คสช.) ที่ 30/2560 เรื่องมาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา โดยมีนายกมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร นายเจตกำจร พรหมโยธี นายกสภาสถาปนิก นายอมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร นายประภากร วทานยกุล กรรมการสภาสถาปนิก และพล.อ.ต.ม.ล.ประกิตติ เกษมสันต์ กรรมการสภาสถาปนิก ร่วมแถลงข่าว

นายกมลเปิดเผยว่า จากในคำสั่งคสช.ที่ 30/2560 เรื่องการออกมาตรา 44 เพื่อเร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ทางสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกขอชี้แจงว่า
ได้มีความพยายามอย่างที่สุดในการแสดงหลักการและจุดยืน เพื่อให้มีการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิศวกรพ.ศ. 2542 และพ.ร.บ.สถาปนิกพ.ศ.2543 โดยไม่ย่อหย่อนต่อมาตรฐานการทดสอบความรู้ความชำนาญ โดยทั้ง 2 สภาฯ จะร่วมกันผลักดันให้เกิดความร่วมมือในโครงการดังกล่าว เพื่อให้วิศวกรและสถาปนิกไทยได้รับการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากจีนอย่างเป็นรูปธรรมและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาวิชาชีพภายในประเทศ โดยจะเร่งจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมและทดสอบแก่วิศวกรและสถาปนิกจีนที่จะเข้ามาประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมและประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมในโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ตามความเหมาะสม เพื่อประโยชน์ในการควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพของโครงการดังกล่าว โดยทางสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจะประสานกับกระทรวงคมนาคมเพื่อติดตามดูแลโครงการ

“เงื่อนไขต่างๆ ที่ได้หารือกับทางรัฐบาล 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ การที่จะให้วิศวกรและสถาปนิกไทยเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการและการถ่ายโอนเทคโนโลยี (เทคโนโลยีทรานเฟอร์) ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์และทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติในอนาคต โดยทั้ง 2 สภาฯได้ให้ข้อมูลที่จำเป็นต่อรัฐบาลมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตามมองว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงนี้เป็นลักษณะโครงการรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการยกเว้นเงื่อนไขบางประการ
เพื่อให้โครงการเกิดขึ้นและมีประสิทธิภาพ” นายกมลกล่าว


นายเจตกำจรกล่าวว่า ทั้ง 2
สภาก็อยากให้ทางวิศวกรและสถาปนิกจีนที่เข้ามาจะต้องมีใบประกอบวิชาชีพ
แต่เมื่อมีข้อขัดข้องบางประการที่ไม่สามารถดำเนินการได้
ทางสภาวิชาชีพก็คงจะต้องดำเนินการให้ความร่วมมือกับรัฐบาล

นายอมรกล่าวว่า สำหรับขั้นตอนที่ทางสภาวิชาชีพจะต้องดำเนินการหลังจากนี้คือ การจัดอบรม การทดสอบและการออกใบรับรองแทนการออกใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพ ก่อนที่วิศวกรและสถาปนิกจีนจะเริ่มเข้ามาทำงานในโครงการ โดยในรายละเอียดของการออกใบรับรอง หลักๆ จะมี 2 เรื่องสำคัญคือ

1.ทางเทคนิคที่จะต้องทราบ เช่น สภาพชั้นดิน สภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นพื้นฐานการออกแบบให้รองรับกับสภาพเหล่านี้ได้ และ
2.ด้านกฎหมาย จรรยาบรรณและความปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ในส่วนการเจรจาเรื่องการถ่ายโอนเทคโนโลยี

ทางสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกมีความเห็นว่าจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 5 ประการ ได้แก่
1.จัดตั้งคณะกรรมการถ่ายโอนเทคโนโลยี
2.จัดทำรายงานขั้นตอนการถ่ายโอนเทคโนโลยี
3.กำหนดสัดส่วนวิศวกรไทยที่จะเข้าไปร่วมทำงานในโครงการ
4. กำหนดให้มี counterpartในส่วนงานที่สำคัญ และ
5.กำหนดองค์กรวิจัยพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยี โดยจะต้องประกอบด้วย
3 หน่วยงานคือ วิศวกรและสถาปนิกไทย สมาคมวิชาชีพและสถาบันการศึกษา

“มั่นใจว่าจะต้องมีเทคโนโลยีทรานเฟอร์อย่างแน่นอน ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมก็ได้สนับสนุนสภาวิชาชีพมาโดยตลอด ในเรื่องสัดส่วนของวิศวกรไทย-จีนที่จะมาทำงานร่วมกันและเงื่อนไขอื่นๆ ขึ้นอยู่กับการเจรจาว่าเราจะมีการเจรจากันอย่างไรบ้าง ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสภาวิชาชีพ รัฐบาลไทย ตัวแทนรัฐบาลจีน ทั้งสภาพัฒน์ฯ จีนและสภาวิศวกรจีน

โดยในขณะนี้ทางสภาวิศวกรจะต้องเร่งส่งแผนอบรมให้กับทางกระทรวงคมนาคมภายในวันที่ 30
มิถุนายนนี้ โดยคาดว่ารายละเอียดทั้งหมดเกือบ 80% จะแล้วเสร็จ เช่น เรื่องที่จะมีการจัดอบรม สถานที่การอบรม เรื่องที่อบรม โดยภายในวันนี้ (21 มิถุนายน) ทางเจ้าหน้าที่เทคนิคของจีนจะมาคุยกับสภาวิศวกรและสภาสถาปนิก โดยมีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นหน่วยงานกลางที่จะร่วมคุยด้วย ในเรื่องร่างสัญญาแรกและข้อมูลในเชิงเทคนิคตามเงื่อนไขมาตรฐาน” นายอมรกล่าว

สภาคณบดีวิศวฯประเทศไทย แถลงแนะ6ข้อ ให้จีนต้องถ่ายโอนความรู้ไฮสปีดแก่ไทย
มติชน
วันที่ 21 มิถุนายน 2560 - 20:45 น.

สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย เผย 6
ข้อเสนอแนะรัฐบาลในการถ่ายโอนเทคโนโลยีในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ระยะที่ 1
กรุงเทพ – นครราชสีมา ให้สำเร็จ ยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ
เพื่อหลีกเลี่ยงจุดบอดของการลงทุนมูลค่า 1.79 แสนล้านบาท

จากการที่รัฐบาลได้ใช้ มาตรา 44 ในการเร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่
1 กรุงเทพ–นครราชสีมา เพื่อให้การลงทุนมูลค่า 1.79 แสนล้านบาท
เป็นไปอย่างรวดเร็วและเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศนั้น
ซึ่งต่อมาได้มีหลายองค์กร อาทิ วสท. สภาวิศวกรและสภาสถาปนิก
ขอโอกาสให้ภาครัฐกำหนดการทำงานให้วิศวกรคนไทย
หรือช่างเทคนิคชาวไทยมีโอกาสเข้าร่วมงานกับการทำงานของคนจีนด้วย
เพื่อให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยีในทุกระดับ และเมื่องานก่อสร้างเสร็จสิ้น
คนไทยจะได้ดูแลระบบโครงการได้เอง หรือมีความสามารถในการพัฒนาระบบรถไฟได้ด้วยตัวเอง

รศ.ดร.คมสัน มาลีสี ประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย
และคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)
กล่าวว่า หากมองย้อนไปในอดีต

แม้จะมีการให้วิศวกรไทยได้มีส่วนเรียนรู้จากการทำงานในโครงการใหญ่กับชาวต่างชาติที่เข้ามาก่อสร้างศ
แต่ก็ยังไม่เพียงพอและไม่ยั่งยืน ซึ่งทำให้ประเทศไทยขาดประสิทธิภาพในการถ่ายโอน
รวมถึงการพัฒนาถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาบุคลากรและประเทศตลอดมา
เนื่องจากการถ่ายโอนทำในวงจำกัดเพียงภาคเอกชนซึ่งยังขาดความพร้อมและความเชี่ยวชาญในการเรียนการสอน้
การศึกษาวิจัยและเผยแพร่อย่างเป็นระบบ สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย
ซึ่งเป็นองค์กรที่ประกอบด้วยสมาชิกมหาวิทยาลัย 61 แห่งที่ดำเนินการเปิดสอนหลักสูตรคณะวิศวกรรมศาสตร์ทั่วประเทศ มีความเห็นว่า การถ่ายโอนเทคโนโลยีจะต้องทำอย่างเป็นระบบ
มีประสิทธิภาพและความต่อเนื่องจึงจะนำไปสู่การเรียนรู้เผยแพร่อย่างยั่งยืน จึงขอเสนอให้รัฐบาลใช้มหาวิทยาลัยเป็นฐานหลักเพื่อให้เกิดการถ่ายโอนองค์ความรู้และเทคโนโลยีอย่างเป็นมาตรฐานและครบวงจรด้วยการเผยแพร่า
การศึกษา วิจัยพัฒนา

โดยมีหลักสูตรรองรับตามกระบวนการทางวิชาการที่ก้าวทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ของโลก
ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาพร้อมทั้งดำเนินการเผยแพร่ถ่ายทอดอย่างต่อเนื่องจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่งซึ่งเป็นการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องมิใช่จบโครงการแล้วความรู้ที่จำกัดอยู่ไม่กี่องค์กรและบุคคลก็อาจเลือนจางไป หรือหยุดนิ่งอยู่กับที่ อีกทั้งภาคการศึกษามีการพัฒนาหลักสูตรกิจกรรมการเรียนการสอน การศึกษาวิจัยพัฒนาต่อยอดไปสู่นวัตกรรมต่อไปได้ไม่สิ้นสุด
นับเป็นโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ
ซึ่งไทยมีพื้นฐานและเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนชั้นนำของภูมิภาคโลกอยู่แล้ว

กรณีศึกษาความสำเร็จที่ประเทศจีนและเกาหลีสามารถถ่ายโอนเทคโนโลยีจากบริษัทต่างชาติที่ได้ว่าจ้างก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงนั้นก็ได้นำมหาวิทยาลัยในประเทศของตนมาเป็นฐานในการถ่ายโอนเทคโนโลยีเพื่อถ่ายทอดเผยแพร่สู่บุคลากรจีนในวงกว้างร
จนปัจจุบันจีนและเกาหลีได้พัฒนาเทคโนโลยีรถไฟฟ้าความเร็วสูงเป็นของตนเองอย่างก้าวไกลและผงาดขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าความเร็วสูงของโลกในระยะเวลาอันสั้น

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยหลายสถาบันได้เปิดหลักสูตรปริญญาตรี วิศวกรรมขนส่งทางรางแล้ว
เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ซึ่งได้เปิดหลักสูตรนี้ขึ้น
เพื่อผลิตบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เป็นรายแรกของประเทศไทยและอาเซียน
นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นต้น
จึงนับเป็นโอกาสอันดีในการสร้างเสริมการถ่ายโอนความรู้รถไฟฟ้าความเร็วสูงของประเทศให้เข้มแข็งและยั่งยืนลงสู่ฐานหลักของภาคการศึกษาเพื่อให้สามารถพัฒนาบุคลากรไทยได้ทั่วประเทศ

สรุป 6 ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการถ่ายโอนความรู้โครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน
เพื่อหลีกเลี่ยงจุดบอดจากการลงทุนมูลค่า 1.79 แสนล้านบาท

1.ระบุในสัญญาที่จะลงนามกับรัฐบาลจีนในการถ่ายโอนความรู้ โดยใช้มหาวิทยาลัยเป็นฐานหลัก ซึ่งมีความพร้อมทั้งผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์ หลักสูตร กิจกรรมการเรียนการสอน ข้อมูลวิชาการและอุปกรณ์ ห้องปฏิบัติการ

2.กำหนดการถ่ายโอนความรู้ และวิธีการซ่อมบำรุงของระบบรางรถไฟฟ้า ตัวรถไฟฟ้า
ระบบส่งกำลังไฟฟ้า และระบบอาณัติสัญญาณ

3.สร้างศูนย์ทดสอบอุปกรณ์และเทคโนโลยีรถไฟฟ้าความเร็วสูง โดยตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัย
เพื่อให้เป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ด้านรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่คงทนยาวนานและพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งอาจารย์ นักวิจัยพัฒนา นักศึกษาและคนทำงาน

4.ส่งเสริมทุนวิจัยด้านเทคโนโลยีรถไฟฟ้าความเร็วสูงและจัดตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางราง

5.ในการก่อสร้างโครงการฯ ควรกำหนดสัดส่วนการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตภายในประเทศให้มากที่สุด ทั้งระบบรางรถไฟฟ้า ตัวรถไฟฟ้า ระบบส่งกำลังไฟฟ้า และระบบอาณัติสัญญาณ

6.กำหนดมาตรฐานความปลอดภัย ตั้งแต่งบประมาณ
การออกแบบเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้าง และหลังก่อสร้าง
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 22/06/2017 12:18 pm    Post subject: Reply with quote

คลังโร่แจงไม่ใช้ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์อุ้มรถไฟความเร็วสูง
ข่าวสด
วันที่ 21 มิถุนายน 2560 - 16:44 น.

นายสุธารักษ์ ธีร์จันทึก ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนรัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า การนำกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (TFF) มาดำเนินการผิดวัตถุประสงค์การจัดตั้งไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากกองทุน TFF ได้ถูกจัดตั้งขึ้นตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ซึ่งกองทุนจะถูกกำกับให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ต่างๆ เช่น การเปิดเผยข้อมูลและตรวจสอบได้ภายใต้หลักการการกำกับดูแลกิจการที่ดี ที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด

นอกจากนี้ ไม่ได้นำโครงการรถไฟความเร็วสูงมาระดมทุนผ่านกองทุน TFF เนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 พ.ค.2560 เห็นชอบให้นำโครงการโครงสร้างพื้นฐานของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) 2 โครงการมาระดมทุนผ่านกองทุน TFF ได้แก่ โครงการทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) และโครงการทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) ซึ่ง กทพ.จะนำเงินที่ได้รับจากการระดมทุนไปลงทุนในโครงการทางพิเศษพระราม 3-ดาวคะนอง – -วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก และโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 E-W Corridor ด้านตะวันออกเท่านั้น

นายสุธารักษ์ กล่าวว่า ประเด็นการให้ธนาคารรัฐ 3 แห่งปล่อยกู้ให้กับสหกรณ์ต่างๆ ที่เป็นเจ้าหนี้สหกรณ์คลองจั่น 30,000 ล้านบาท กระทรวงการคลังไม่ได้มีนโยบายให้ธนาคารรัฐทั้ง 3 แห่ง ปล่อยกู้ให้แก่สหกรณ์ต่างๆ เพื่อนำเงินมาซื้อหน่วยลงทุนของกองทุน TFF อย่างไรก็ดี หากสหกรณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนักลงทุนสถาบันจะพิจารณาลงทุนในกองทุน TFF จะต้องเป็นไปตามนโยบายการลงทุนของแต่ละแห่ง รวมทั้งจะต้องพิจารณาผลตอบแทนและความเสี่ยงของการลงทุนควบคู่กันไป ซึ่งเป็นอำนาจของสหกรณ์โดยแท้ในการส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิก

ก่อนหน้านี้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูป อดีตสมาชิกวุฒิสภา และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติเรียกร้องนายกรัฐมนตรีถึงการใช้วิธีเล่นแร่แปรธาตุกับ “กองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (กองทุน TFF)” ที่มีผลตอบแทนสูงประมาณ 6% ต่อปี เพื่อนำเงินกองทุนไปใช้ในโครงการรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น แต่กลับถูกกรมส่งเสริมสหกรณ์กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการคลัง นำมาดำเนินการผิดวัตถุประสงค์
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 22/06/2017 12:25 pm    Post subject: Reply with quote

อ.วิศวะ จุฬาฯโพสต์ฝาก10 ข้อคิด ไทยสร้างรถไฟความเร็วสูง
มติชน
วันที่ 21 มิถุนายน 2560 - 21:27 น.




Assistant Professor Pramual Suteecharuwat, Ph.D. wrote:
มิตรสหายท่านหนึ่ง ส่งข้อความมาถามว่า ในระหว่างที่อาจารย์ประมวลเดินทอดหุ่ย หมดอาลัยตายอย่างอยู่ที่ประเทศจีน มีอะไรอยากฝากไปพูดคุยให้ใครๆ ในประเทศไทยฟังบ้าง

อาจารย์ประมวลจึงพิมพ์ตอบไปแบบไวๆ ตามนี้

1. ไม่ได้ขัดขวางการทำโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง (แม้อาจจะไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ไม่เคยขัดขวางนะครับ)

2. การทำโครงการ ต้องพิจารณาผลประโยชน์ต่อประเทศชาติในหลายมิติ ไม่ใช่เฉพาะเพียงรายได้จากค่าโดยสาร การพัฒนาพื้นที่ หรือแม้แต่ความสะดวกสบายในการเดินทาง หรือใครบางท่านจะเรียกว่า Social Impact อะไรก็แล้วแต่ ....

สาระสำคัญอยู่ที่ "คนส่วนใหญ่" ต้องได้ประโยชน์จากโครงการ

3. คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ทำอย่างไร "คนส่วนใหญ่" จึงจะได้ประโยชน์จากโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง?

4. เมื่อพิจารณาถึงคนส่วนใหญ่ จึงต้องพิจารณา ทั้งประโยชน์ทางตรง และประโยชน์ทางอ้อม ต่อคนส่วนใหญ่

5. การพัฒนาโครงการ โดยโฟกัสเพียงรายได้จากค่าโดยสาร ความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง หรือการทำ TOD (Transit Oriented Deveopment) จะไม่สร้างประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ เพราะจะตกอยู่กับเพียงคนที่มีรายได้พอต่อการเดินทาง และนายทุนที่ลงทุนในพื้นที่ และกิจกรรมที่กล่าวถึงทั้งหมดนี้่ ไม่ได้เพิ่มความสามารถใดๆ ให้กับประเทศ

ตรงกันข้าม หากเรามองโลกในแง่ร้ายไว้ก่อน โครงการนี้จะเป็นอีกโครงการหนึ่งที่จะประสบภาวะขาดทุน จนรัฐต้องใช้เงินภาษีของทุกคนเข้าไปอุ้มชูอันเนื่องจากการประมาณการจำนวนผู้โดยสารที่ผิดพลาด การพัฒนา business model ที่ไม่สมเหตุผล (แบบเดียวกับโครงการรถไฟฟ้าสีๆ ที่เราเห็นๆ กันอยู่ มีโครงการไหนที่ demand forecast ตรงหรือใกล้เคียงบ้าง?) เงินของคนส่วนใหญ่ จะกลายเป็นถูกใช้ไปเพื่อการอุ้มชูโครงการเหล่านี้ โครงการละหลายๆ ล้าน รวมกันหลายๆ โครงการ จะเป็นเงินเท่าไรหนอ

6. การสร้างประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ จึงต้องพิจารณาไปที่ จะสร้างผลกระทบในระยะยาว + เสริมสร้างความสามารถให้กับประเทศได้อย่างไร

นานาชาติใช้เครื่องมืออะไรในการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ?

ถ้าท่านอื่นๆ คิดถึงเครื่องมืออื่นๆ ได้ ก็โปรดนำเสนอออกมา แต่อาจารย์ประมวลในฐานะที่สอนหนังสืออยู่ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คิดถึงการพัฒนาอุตสาหกรรม

7. นั่นคือการผูกโยงไปหาการพัฒนาอุตสาหกรรม เนื่องจากอุตสาหกรรมเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในทางเทคโนโลยีของประเทศ ของบุคคลากร เนื่องจากจะผูกโยงกับการศึกษา การวิจัยและพัฒนา

8. เน้นย้ำว่า อุตสาหกรรมที่พูดถึง ไม่ใช่เพียงอุตสาหกรรมการก่อสร้าง แต่ต้องหมายรวมไปถึงอุตสาหกรรมการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการประกอบ การผลิตชิ้นส่วน วัสดุศาสตร์ โลหวิทยา อิเลกทรอนิกส์ ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ การสื่อสาร ฯลฯ ซึ่งหลายอย่างอาจเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย

การฝากเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตรถไฟฟ้าไว้กับกลุ่มวิศวกรที่ไม่เข้าใจเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรม แต่อาจมีความชำนาญในด้านเทคโนโลยีการก่อสร้าง หรือวิศวกรรมโยธา จึงอาจกลายเป็นเครื่องหมายคำถาม มากกว่าจะเป็นคำตอบ

อุตสาหกรรมระบบราง ต้องการความร่วมมือจากวิศวกรหลากหลายสาขา ไม่จำเพาะเพียงวิศวกรรมโยธาครับ

9. การรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี จะต้องไม่จบแค่เพียงเทคนิคการก่อสร้าง การฝึกอบรม การส่งคนไปเรียนหนังสือ แต่จะต้องพัฒนาความสามารถในการผลิตให้กับประเทศด้วย

10. นี่คือโอกาสที่ประเทศไทย จะผูกรวมความต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เข้ากับอุตสาหกรรมการผลิตรถไฟฟ้า (ทั้งรถไฟดีเซล รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และรถไฟฟ้าความเร็วสูง) เข้ากับนโยบาย Thailand 4.0

หวังว่าจะเป็นประโยชน์นะครับ
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44325
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 23/06/2017 8:39 am    Post subject: Reply with quote

นักวิชาการจุฬาฯชี้โครงการรถไฟไทย-จีนขาดยุทธศาสตร์จนกลายเป็นปัญหา ชี้แผนงานเท่าที่ประกาศในปัจจุบัน มีเเต่เจ๊งกับเจ๊ง
โพสต์ทูเดย์ 22 มิถุนายน 2560 เวลา 18:49 น.

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะจัดเวทีจุฬาฯเสวนา ครั้งที่ 7 เรื่อง"รถไฟไทย-จีน : ใครได้ ใครเสีย" ที่ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนำเสนอความรู้จากนักวิชาการจุฬาฯผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆเกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา จากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้มาตรา 44 เพื่อเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดําเนินโครงการดังกล่าวให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างรวดเร็ว

รศ.ดร.สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาฯ บอกว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงมีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของโครงการตลอดเวลาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งเรื่องความเร็ว ระยะทาง งบประมาณในการลงทุน จนสร้างความสับสนให้กับสังคมเเละผู้ที่ติดตาม รวมถึงโครงการยังขาดการบูรณาการร่วมกับระบบโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีการเร่งรัดด้วยกฎหมายมาตรา 44 จนถูกตั้งคำถามในหลากหลายประเด็น

''เราขาดยุทธศาสตร์ในการเดินหน้าโครงการจนกลายเป็นปัญหา อนาคตเส้นทางกรุงเทพ-โคราช จะเกิดการทับซ้อนกันถึงสามระบบ เรียกว่าสำลักโครงการ ทั้งรถไฟความเร็วสูง รางคู่ เเละมอเตอร์เวย์ ''

รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า หากมองในด้านความเหลื่อมล้ำ รถไฟรางคู่ตอบโจทย์ปัญหาดังกล่าวได้มากกว่า เนื่องจากเป็นระบบที่เปิดโอกาสให้กับผู้ใช้งานหลากหลายชนชั้นเเละยังมีรูปเเบบการใช้งานที่มากกว่าด้วย ไม่จำกัดเพียงเเค่การโดยสารของคน

''อย่าไปติดภาพว่ารถไฟความเร็วสูงเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าเสมอไป เพราะหากพูดแบบนั้นประเทศลาวคงก้าวหน้ากว่าสหรัฐไปแล้ว''

รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ บอกว่า การพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงครั้งนี้ คำถามในเเง่เศรษฐศาสตร์ก็คือ คุ้มค่าทางการเงินเเละคุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจเเละสังคมหรือไม่ หากดูความล้มเหลวของการบริหารรถไฟฟ้าแอร์ พอร์ต เรล ลิงก์ ที่นำไปสู่การซ่อมบำรุงที่เป็นปัญหา เเละ สถานการณ์จำนวนผู้โดยสารที่ต่ำกว่าเป้าหมายที่รถไฟฟ้าสายสีม่วงกำลังประสบมาเป็นบทเรียนเเละมองในภาพใหญ่ จะพบว่า รถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ-โคราช เเทบไม่มีทางประสบความสำเร็จ

''จากแผนงานเท่าที่ประกาศในปัจจุบัน มีเเต่เจ๊งกับเจ๊ง ไปถึงโคราชยังไม่ได้คิดว่าจะไปที่อื่นต่อยังไง ไม่มีระบบสาธารณะภายในท้องถิ่นรองรับเพิ่มเติม''

รศ.ดร.นวลน้อย กล่าวว่า การดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ สิ่งที่ต้องตระหนักก็คือ เรากำลังทำอะไรเพื่ออนาคต เพิ่มศักยภาพเเละการเเข่งขันให้ดีขึ้นหรือไม่ หรือเป็นการเพิ่มภาระจากการผูกขาดระบบเเละไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจนเกิดปัญหาต่อเนื่องในอนาคต

ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ บอกว่า รถไฟความเร็วสูงเป็นโครงการที่จีนตั้งความหวังเเละเดินหน้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการพัฒนาในประเทศที่มีขนาดใหญ่อย่างจีนเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เนื่องจากก่อให้เกิดการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจเเละการเชื่อมต่อของผู้คนเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตในการเดินทาง เเต่สำหรับประเทศไทย ด้วยขนาดพื้นที่เเละพฤติกรรมการเดินทางที่ผ่านมา รถไฟความเร็วสูงไม่จำเป็นเร่งด่วนเท่ากับการเร่งพัฒนาระบบรางคู่ ขณะที่ในเเง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คิดว่าไทยมีสิทธิปฏิเสธเเละไม่จำเป็นต้องซื้อโครงการรถไฟจากจีน

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลเลือกที่จะเดินหน้าโครงการร่วมกับจีน จำเป็นต้องคำนึงเเละระมัดระวังในเรื่องการทำสัญญาต่างๆ ให้ละเอียดรอบคอบ เนื่องจากจีนมีประวัติการเปลี่ยนแปลงเเละไม่ปฏิบัติตามสัญญาบ่อยครั้ง

''สัญญาต้องเคลียร์ ชัดเจนลงลายละเอียดเเม่นยำ เเสดงถึงควมต้องการจริงๆ ถ้าชัดเจนเเล้วเกิดกรณีเบี้ยว ขอให้เปิดเผยเรื่องนี้ต่อประชาคมโลกด้วย นักกฎหมายต้องรู้เท่าทันจีน''

ผศ.วรศักดิ์ บอกด้วยว่า สิ่งที่กำลังเดินไป เป็นความสำเร็จอีกก้าวของจีนสำหรับเส้นทางรถไฟซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนมาอย่างยาวนาน เพราะหากไม่มีรถไฟในไทย ประเทศลาวที่กำลังก่อสร้างก็ไม่มีประโยชน์ เนื่องจากไม่สามารถเชื่อมต่ออาเซียนได้

รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ บอกว่า การใช้มาตรา 44 เป็นการทำให้การตรวจสอบทำได้ยากในทางปฏิบัติเพราะในคำสั่งมาตรา 44 นี้ได้ยกเว้นกฎหมายในหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับ การตรวจสอบ การฮั้วประมูล การหลอกลวงเเละการทุจริต นอกจากนั้น ยังพบว่าเนื้อหาในกฎหมายมีความคลุมเคลือเเละเปิดช่องให้เกิดปัญหามากมายตามมา

"โครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีนเป็นปัญหา ถึงเเม้จะทำด้วยเจตนารมณ์ที่ดี เเต่เขียนกฎหมาย สาระเเละรายละเอียดไม่ดีพอ คำถามคือ เป้าหมายดี เเต่วิธีการไม่ถูกต้อง เราจะเอาแบบนี้หรอ'' รศ.ดร.ณรงค์เดชกล่าว
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44325
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 23/06/2017 8:42 am    Post subject: Reply with quote

วสท.พร้อมเป็นตัวกลางถ่ายทอดเทคโนฯ รถไฟไทย-จีน
ไทยพีบีเอส 19:24 | 22 มิถุนายน 2560

สมาคมวิชาชีพด้านวิศวกรรมและหน่วยงานการศึกษา เตรียมตั้งคณะทำงานการถ่ายทอดเทคโนโลยีโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ก่อนยื่นข้อเสนอให้แก่รัฐบาลในสัปดาห์หน้า

วันนี้ (22 มิ..ย2560) รศ.เอนก ศิริพาณิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จะต้องให้วิศวกรไทยมีส่วนร่วมในการรับถ่ายโอนความรู้และเทคโนโลยีการขนส่งทางรางจากจีนเพื่อให้สามารถดำเนินการออกแบบการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงได้เองในอนาคต ซึ่งวิศวกรรมสถานฯ จะเป็นองค์กรกลางในการกำหนดกระบวนการถ่ายโอนเทคโนโลยี โดยมีรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยทำหน้าที่ประสานงานกับจีน เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ส่วนสถาบันการศึกษา สภาวิชาชีพ และสมาคมอุตสาหกรรมด้านการก่อสร้าง เป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยี และภาคเอกชน รวมถึงผู้รับเหมาก่อสร้าง จะเป็นผู้รับมอบเทคโนโลยี นำไปใช้ต่อยอดในการก่อสร้างโครงการอื่นๆ

แต่วิศวกรรมสถานฯและคณะทำงานฯ จะเข้าหารือ และยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล คาดว่าการดำเนินงานต่าง ๆ จะมีความชัดเจนในสัปดาห์หน้า ก่อนที่โครงการดังกล่าวจะเริ่มก่อสร้างในอีก 2 เดือน

นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ขอให้รัฐบาลกำหนดเงื่อนไข การใช้วัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างให้ชัดเจน โดยอาจให้จีนเป็นผู้กำหนดรูปแบบและส่วนผสมของสารเคมีที่ต้องใช้ในโครงการให้ชัดเจน และให้ผู้ประกอบการไทยเป็นผู้ผลิตเหล็ก เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการก่อสร้าง จะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ


https://www.youtube.com/watch?v=HP8GrIC4wFQ
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44325
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 23/06/2017 10:08 am    Post subject: Reply with quote

คมนาคมเตรียมชงโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะแรกเข้า ครม.พร้อมเริ่มดำเนินการ ก.ย.นี้
โดย MGR Online 23 มิถุนายน 2560 09:28 น. (แก้ไขล่าสุด 23 มิถุนายน 2560 09:31 น.)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (กรุงเทพ - หนองคาย) จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างเส้นทางระยะแรกภายในประเทศ คือ เส้นทางกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ล่าสุดได้สรุปมูลค่าโครงการเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในเดือนมิถุนายน จำนวนกว่า 170,000 ล้านบาท ความยาว 253 กิโลเมตร แบ่งร่างสัญญาเป็น 2 ส่วน คือ ใช้ผู้รับเหมาและอุปกรณ์ไทยในการก่อสร้าง และลงนามจ้างออกแบบ ผู้รับคุมงานและระบบรถไฟในเดือนกรกฎาคม มีกำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป โดยจีนได้ส่งคณะสำรวจพื้นที่ร่วมกับไทยโดยการก่อสร้างร้อยละ 80 จะเป็นเส้นทางแนวเดียวกับทางรถไฟ แต่ความกว้างของรางจะกว้างกว่ารางรถไฟปกติใช้เทคนิคการติดตั้งระบบไฟฟ้าจ่ายพลังงานเป็นระบบแขวน

ส่วนการถ่ายทอดเทคโนโลยีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปฝึกอบรมที่จีน และจะดำเนินการฝึกอบรมด้านศูนย์ซ่อมและการเดินรถ และการศึกษาระบบขับรถไฟ อีกทั้งจะร่วมสภาสถาปนิกของจีนศึกษาเทคโนโลยีร่วมกัน ยืนยันว่าการก่อสร้างจะเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยเนื่องจากใช้วัสดุภายในประเทศ เกิดการพัฒนาธุรกิจของสถานีรายทางถือเป็นสิทธิของไทย แต่ใช้เทคโนโลยีของจีน เพราะเป็นการเชื่อมต่อเส้นทางระหว่างประเทศ อีกทั้งจีนยังมีประสบการณ์การทำรถไฟความเร็วสูงนานกว่า 20 ปี มีเส้นทางรถไฟในประเทศมากถึง 20,000 กิโลเมตร
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 23/06/2017 4:05 pm    Post subject: Reply with quote

Mongwin wrote:
วสท.พร้อมเป็นตัวกลางถ่ายทอดเทคโนฯ รถไฟไทย-จีน
ไทยพีบีเอส 19:24 | 22 มิถุนายน 2560


วสท.แนะถ่ายโอนเทคโนโลยีไฮสปีดเทรนจากจีน ไม่ใช่แค่ซ่อมบำรุง อนาคตไทยต้องสร้างเองได้

วันที่ 22 มิถุนายน 2560 - 15:20 น.


เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)
ร่วมกับสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย
ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ทีซีเอ) สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย (วปท.)
และสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย เปิดแถลงข่าวในหัวข้อ
กระบวนการถ่ายโอนเทคโนโลยีเพื่อนำเสนอภาครัฐ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่
1 กรุงเทพฯ-นคราชสีมา ที่อาคาร วสท.

นายธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ(วสท.) เปิดเผยว่า
หากจะมีการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน
จะต้องมีการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากจีนมาให้กับคนไทย ไม่ว่าจะเป็นระดับช่าง
โดยจะต้องไม่ใช่เพื่อการซ่อมแซม หรือซ่อมบำรุง คือ ส่งคนไทยไปอบรมที่จีนเท่านั้น
เพราะสิ่งที่ต้องการเพื่อให้ในอนาคตประเทศไทยสามารถสร้างรถไฟความเร็วสูงได้เอง
ในลักษณะเดียวกันกับที่จีน และเกาหลีใต้ เคยดำเนินการมาแล้ว เพราะในอดีตทั้ง 2
ประเทศ ก็ไม่สามารถก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงได้
ดังนั้นจึงอยากถือโอกาสนี้เรียนรู้เพื่อให้ไทยสามารถก่อสร้างได้

“เรื่องนี้ได้หารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไปเมื่อวันที่ 19
มิถุนายนที่ผ่านมา เบื้องต้นนายวิษณุ เห็นด้วย และเห็นว่า
วสท.น่าจะเป็นองค์กรกลางในการรวบรวมพันธมิตรที่เป็นสมาคมต่างๆ
รวมทั้งหน่วยงานทางด้านวิชาการ ดังนั้น วสท.จึงถือว่าเป็นคำมั่นสัญญาที่นายวิษณุ
ให้ไว้ และเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ทาง วสท.จึงได้ดำเนินการต่อ”นายธเนศ กล่าว

นายคมสัน มาลีสี ประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องนี้คงจะไม่เกี่ยวข้องกับรถไฟไทย-จีนเพียงอย่างเดียว เพราะต่อไปก็จะมีรถไฟไทย-ญี่ปุ่น และอื่นๆอีก
ดังนั้นการลงทุนหลักแสนล้านจึงไม่ควรมีข้อผิดพลาดทำให้ไทยเสียโอกาสอีก โดยเฉพาะตอนนี้ ม.44 ต้องทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศสูงสุด โดยที่ผ่านมาประเทศจีนที่พัฒนาได้เร็ว เพราะจีนมีรัฐบาลที่มีอำนาจสูงสุด สามารถระบุกระบวนการขับเคลื่อนได้เลย ขณะที่ประเทศไทยเมื่อใช้ ม.44
ก็มีศักยภาพและเบ็ดเสร็จเหมือนกันแต่หากลงทุนแล้วทำให้ประเทศเสียโอกาส
ต้องย้อนกลับไปดูว่าคนที่ทำกระบวนการต่างๆ เหล่านี้มีความมุ่งมั่นขนาดไหน
แต่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลมีความตั้งใจ แต่ก็ต้องมีความรอบคอบ
และต้องมีองค์ประกอบในภาคส่วนต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะนี่ คือ ทิศทาง
และวิสัยทัศน์ที่จะวางประเทศในอนาคตต่อไป เพราะการที่จะไปไทยแลนด์ 4.0
จะไม่สามารถเป็นไปได้เลย หากเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตเท่านั้น
โดยจะต้องพัฒนาเทคโนโลยีเอง

“หากโปรเจ็กต์ต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้น ควรสร้างอากาศให้กับประเทศ และภาคส่วนต่างๆ ที่ผ่านมาการถ่ายโอนเทคโนโลยีไม่สำเร็จ โดยทุกคนทราบว่าประเทศไทยมีศักยภาพผลิตรถยนต์เก่งมาก แต่กลับไม่มีรถยนต์เป็นของตัวเอง และไม่สามารถผลิตรถยนต์ยี่ห้อของตัวเองได้
เพราะรับจ้างผลิตอย่างเดียว ดังนั้น ในส่วนของรถไฟความเร็วสูง ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการผลิตก็จะต้องมีภาคอุตสาหกรรมของไทยเข้าไปร่วม เพื่อทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี” นายคมสัน กล่าว
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 23/06/2017 4:07 pm    Post subject: Reply with quote

คอลัมน์ รายงานพิเศษ : “บิ๊กตู่”เปิดใจ 3ปีบนเก้าอี้นายกฯ และม.44 รถไฟไทย-จีน
ข่าวสด
วันที่ 22 มิถุนายน 2560 - 09:29 น.

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์เครือข่าวสด-มติชนถึงผลการทำงานของรัฐบาลในเรื่องต่างๆ “ข่าวสด-มติชน”เห็นว่าหลายเรื่องราวเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และสมควรเผยแพร่เพื่อให้ประชาชน รับทราบ จึงนำบทสัมภาษณ์บางส่วนมานำเสนอ

เรื่องรถไฟไทย-จีนติดปัญหาอะไร

ประเด็นคือเราไม่มีประสบการณ์เรื่องรถไฟความเร็วสูง ถึงแม้วิศวกรไทยจะบอกว่าเคยทำ จึงมีปัญหา แล้วเราจะเอาจีนเขามาสอบ เขาถามย้อนกลับมาว่าเราเคยมีทางรถไฟความเร็วสูงสักกิโลฯ ไหม แล้วจะมาสอบเขาอย่างไร พอโดนย้อน ทีนี้ก็ดึงกันไปดึงกันมา เราก็ดึงด้วยกฎหมายเรา เขาก็บอกเขาไม่เคยยุ่งยากขนาดนี้ เพราะฉะนั้นการทำจีทูจีของจีนไม่ใช่แบบที่เคยเห็นทั่วไป เราคือรัฐบาล แต่จีนเขาจะมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบและให้บริษัทเป็นคนดำเนินการ และจีนต้องให้การรับรองบริษัทนั้น ไม่ใช่จีทูจีแบบที่เคยมีปัญหา ผมไม่อยากไปกล่าวถึง

เขาไม่รับรองบริษัทนี้แล้วดันเอาบริษัทนี้มาขึ้นจีทูจี เขาก็ไม่ทำ ฉะนั้นปัญหามันอยู่ที่หนึ่งสมาคมวิศวกรเรา สองคือบริษัทก่อสร้างเรา ในเมื่อเราประมาณการไว้แล้ว เราก็มีส่วนต้องให้บริษัทของเราเป็น ผู้ประมูลหรือจะเอาบริษัทร่วมทุนก็แล้วแต่ ต้องประมูลแข่งกันใน เส้นทางทั้งหมด แต่นี่ราคาต่าง เราเคยกำหนดราคากลางรถไฟไว้ไหม ไม่มี มันก็ต้องใช้ราคาตกลงเจรจากัน

สุดท้ายแล้วก็แสนเจ็ดหมื่นกว่าล้าน แล้วมาแบ่งเป็นค่าอะไร ต่ออะไร

จะทำแค่ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย หรือทำต่อลงไปถึงภาคใต้

มีตังค์หรือเปล่าล่ะ ตามแผนผมทำยาวอยู่แล้ว แต่ไม่มีเงินก็ต้องทำช่วงแรกก่อน กรุงเทพฯ-หนองคาย ยังทำไม่ได้ เอากรุงเทพฯ-โคราชก่อนได้ไหม ในระหว่างนี้ก็ไปดูอีกว่าจะทำได้ตรงไหนอีก

วิศวกรเขาเก่ง เราเชื่อว่าเก่ง แต่วิศวกรมีวิธีการควบคุมมีหลายอย่าง พอจีนมาควบคุมงาน เราก็ไปร่วมกับเขา ตรวจสอบ รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเขา วันหน้าเราทำอย่างเขาทั้งหมดนั่นแหละ ยืนยันว่าเราต้องให้วิศวกรไทยได้ประโยชน์ วิ++ศวกรไทยต้องมีส่วนร่วม

ถ้าเราไปล็อกเขาไว้ทั้งหมด แล้วจะเรียกว่าอะไร ต้องใช้เทคโนโลยีของเขานะ ถ้าไม่ลงตรงนี้ ทั้งหมด 24 ประเทศ เขาจะมองเรายังไง ขาดไทยอยู่ประเทศเดียวหรือ

เรื่องไปประชุม “วันเบลต์ วันโรด” ไม่ใช่ว่าเขาไม่เชิญ เราส่งคนไปตั้งมากมายมีตั้ง 5 รัฐมนตรี เขาบอกยังไงเขาต้องร่วมมือกับเราอยู่แล้ว เขาจะเชิญผมไปงาน “บริกส์” เดือนกันยายน (ประชุมผู้นำเศรษฐกิจโลก) เป็นการประชุมที่มีประเทศมากกว่า อันนี้(วันเบลต์ วันโรด) มันรายทาง

เขาจะชวนเราไปประชุมในระดับประเทศใหญ่ๆ เป็นภาพกว้าง เขาบอกว่าเห็นนายกรัฐมนตรีกำลังยุ่งอยู่ปีนี้ เตรียมงานเรื่องถวายพระเกียรติ เรื่องแก้ปัญหาประเทศ เขาบอกเอาอย่างนี้ไปก่อน ไม่งั้นเขาต้องเชิญผม 2 งาน ก็เอาไปตีว่าเขาไม่เชิญผม

สุดท้ายเรื่องรถไฟไทย-จีนต้องจบยังไง

ต้องตกลงกันให้ได้ภายในเดือนกรกฎาคม ก่อนกันยายน เคลียร์ให้จบ เพราะตอนนี้มันเคลียร์กันเรื่องกฎหมาย

ผมคุยเรื่องรถไฟมา 3 ปีแล้ว เขาก็สงสัยว่ามันจะได้สร้างหรือเปล่า เขาถามว่าประเทศไทยเกิดอะไรขึ้น ไม่เคยเป็นขนาดนี้ เขาคิดอย่างเดียวว่ารัฐประหารมาทำได้ทุกอย่าง ผมบอกว่าผมทำไม่ได้ ผมบอกผมเจรจาเขามาแบบนี้ มันต้องหาข้อตกลงให้ได้ ว่าติดตรงไหน ปรากฏว่าข้าราชการไม่กล้า ทั้งที่ผมบอกว่าถ้าติดจริงๆ ผมอธิบายสังคมได้ แต่ก็เห็นใจเขานะ

นี่คือสิ่งที่ประเทศไทยเป็นปัญหา

คือข้าราชการยังไม่เปลี่ยนแปลงความคิด วันนี้มันต้องเปลี่ยนแปลงประเทศ ต้องช่วยผมตรงนี้ หลายอย่างต้องคิดใหม่ ไม่ใช่แก้ปัญหาเรื่องน้ำเรื่องเกษตรเหมือนเดิม ปลายเหตุก็แก้ไป แต่ต้นเหตุต้องแก้ยังไง วิธีการเป็นยังไง ต้องแก้กฎหมายทั้งชุด ทั้งขบวนการ บ้านเรามัน 150 ปัญหาต้องแก้วิธีการ แก้กฎหมาย แก้คน แก้ระบบข้าราชการ

ปัญหาเศรษฐกิจระดับล่างตอนนี้เขาต้องการอะไร มีเงินใส่กระเป๋าเขามากเท่าไหร่ ช่วยเขาตรงไหน ยังไงก็ไม่เหมือนเดิมน่ะ แต่เราก็ให้ ลงทะเบียนคนจนใช่ไหม พร้อมเพย์ก็ช่วย แต่ถามว่าเขาไม่มีเงิน ก็ต้องหาเงินเติม แต่จะเติมยังไง ต้องมีวิธีการ ซึ่งรัฐบาลนี้กล้า เพราะผมไม่กลัวเสียคะแนนเสียง

ล่าสุดนี้ที่ไปประชุมที่จีน(บริกส์)จะไปคุยอะไร

คุยเรื่องเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน ความมั่นคง ผมจะไปพูดกับเขา สิ่งใดก็ตามที่เป็นความร่วมมือระหว่างกัน เรามีความสัมพันธ์มา 180 กว่าปีมาแล้วเราต้องอยู่ต่อ

รถถังทำไมต้องซื้อจีน รถถังสหรัฐ คันหนึ่ง 400-500 ล้าน แต่จีน 200 ล้าน ถ้าคุณภาพเท่ากัน แต่ชื่อเสียงน้อยกว่าแต่ผ่านการทดสอบ ก็ต้องซื้อที่ถูกกว่า บวกกับที่เพิ่มมาให้เช่นการศึกษาเล่าเรียน การถ่ายทอด การตั้งโรงงานประกอบชิ้นส่วน

ถ้าซื้อสหรัฐได้รถถังมาคันหนึ่ง ถามว่ารถถังต้องมีไหม ต้องมี รอบบ้านมันโครมๆๆ กระทบกระทั่งเรื่องสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ มันต้องมี ต้องทยอยซื้อไปเรื่อย รถถังทั้งประเทศมี 50 กองพัน

นี่ซื้อกองพันเดียว โอ้ย..บ่นอยู่นั่นแหละ จะรอให้พังทั้งหมดแล้วไปซื้อทีเดียวหรือ เราก็ลดจำนวนลง ลดขนาดลง


เรื่องทะเบียนคนจน

ให้(คนจน) ขึ้นบัญชีมา ไม่ใช่ข้าราชการขึ้นบัญชีมาแล้วก็จบ เดี๋ยวจะให้นิสิตนักศึกษาไปตรวจข้อมูลในพื้นที่ จ้างไป 70,000 คนไปเดินสำรวจเอง แล้วมาดูสิว่าคนมีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นต่อปีจะทำยังไง สามหมื่นถึงแสนจะทำยังไง แสน สามแสนจะทำไง นี่คือคนที่รายได้ต่ำ ต้องมีมาตรการหลายมาตรการ อาจารย์สมคิด (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี) ต้องไปทำให้ดูว่าเราจะยกระดับรายได้สูงได้อย่างไร

4.0 คืออันนี้ นี่คือใหม่ทั้งหมด โรงงานแบบใหม่ เพื่ออะไร รองรับเมื่อเราไม่มีแรงงาน แล้วนี่เป็นกิจการผู้มีรายได้สูง เมื่อรายได้สูง เงินก็กลับเข้าประเทศ เป็นรายได้ของประเทศ เพื่อจะเอามาดึง 3.0 2.0 1.0

ตอนนี้ชาวไร่ชาวนา 1.0 ก็มีอยู่ ไม่ใช่ผมจะเอา 1 แล้วไป 4 หมด เป็นไปไม่ได้ ที่ต้องใช้แรงงานก็ยังมีอยู่ ที่ต้องใช้เครื่องจักรก็มี แต่ให้เขาสมาร์ต โดยให้ความรู้ ให้การเรียนรู้ ให้ปรับปรุง เกษตรกรก็ต้องปรับการลดต้นทุนการผลิต ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีปลูกพืช มีแผนที่เกษตร ต้องปลูกพืชอะไร ปลูกแบบนี้ถ้าขาดทุนจะทำไง

แต่ผมสั่งเขาไม่ได้ ผมได้แต่เอาศูนย์ ส.ป.ก.ทั้งหมด 812 ศูนย์มาขยับขยายไปเป็น 8 พันกว่าศูนย์แล้วตอนนี้ แต่ต้องมีหมื่นกว่าศูนย์ ต้องเดินไปหาชาวบ้าน เอาปราชญ์ชาวบ้านไป เอาเกษตรกรรุ่นใหม่ไป เดี๋ยวนี้ชาวไร่ชาวนามีหลายคนที่เป็นปริญญาตรี กลับไปทำนา ต้องให้เขาลดพื้นที่การปลูกพืชให้ได้ ปลูกพืชที่เหมาะสมให้ได้ ใช้น้ำให้น้อยลง ใช้ดินให้น้อยลง เพราะมีกันหลายร้อยไร่ 50 ไร่ มันทำแค่ 5 ไร่เท่านั้น ก็ต้องไปทำอย่างอื่นตรงนั้น จึงเริ่มมีปศุสัตว์เข้ามา เริ่มทำปศุสัตว์ ถ้าปลูกพืชไม่ได้ก็ไปเลี้ยงสัตว์ หรือถ้าปลูกได้ ก็ปลูกข้าวที่เหลือก็ปลูกอย่างอื่น เดี๋ยวเลี้ยงปลา ปลูกข้าวปลูกผลไม้ต่างๆ

วันนี้ราคาข้าวขึ้นเพราะอะไร เขาบอกว่ายินดีที่ประเทศไทยสำรองข้าวลดลง ถ้ามีกองกลางอยู่เหมือนเดิม วิธีการเดิม ล้มละลายทั้งหมด

ทุกประเทศรอบอาเซียนบอกว่าดีใจที่ไทยหยุดเสียก่อน ไม่อย่างนั้นเขาโดนด้วย เพราะฉะนั้นชาวนาเรียกร้องเขาเหมือนของเรา ไม่ได้เสียหาย นี่คือสิ่งที่ผมเจอมา ผมไม่ได้ไปไล่ล่าใคร ผมก็ทำงานเหมือนทุกคน ทุกรัฐบาล แต่เมื่อถึงเวลาแก้อะไรต้องยอมรับ แก้ไม่ได้ ถ้าไปตีกลับไปกลับมา มันก็กลับมาที่เดิมหมด แล้วสิ่งที่เราทำมามันได้อะไรขึ้นมา

พวกผมไม่เห็นอยากได้อะไรสักอย่าง อยากพักก็พักไม่ได้ อยากไปข้างหน้าก็ติดอยู่อย่างนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมอยากขอคือ “ขอความร่วมมือ”

สิ่งที่สำคัญวันนี้ คือ เศรษฐกิจระดับล่าง เรารู้ ยางจะให้ทำไง ก็ปลูกกันล้นตลาดไปหมดแล้ว กลไกตลาดแก้ได้ไหม ปลูกแล้วขายใครล่ะ ทั้งหมดขายเข้าตลาดกลางหมด แล้วมาเล่นหุ้นกัน เล่นหุ้นยาง

เพราะฉะนั้นคงต้องมาดู “ดีมานด์” กับ “ซัพพลาย” เท่ากันไหม

ในพื้นที่ภาคใต้ พื้นที่เศรษฐกิจ รัฐบาลยกเว้นภาษีให้ ยังไม่ค่อยจะมาเลย เพราะราคาวูบวาบ เราดันปลูกไว้เยอะ บนเขาก็เยอะ สินค้าเกษตรเกินราคา ข้าวโพด ยาง เยอะไปหมด ถามว่าไปจับเขาหมดแล้วทำไง คนจนรับจ้างทั้งนั้น ผมต้องไปจัดระเบียบที่ทำกินใหม่ ให้เขาอยู่ในพื้นที่ที่ป่าเสื่อมโทรมโดยให้ทำกินเฉยๆ ไม่ใช่จะต้องไปแจกตลอดเวลา ส.ป.ก.ทำได้ก็ทำไป แต่วันนี้บุกรุกซะเยอะ ก็ให้ทำกินได้ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดขอใช้พื้นที่ตามกฎหมาย ผมก็ให้ ที่ไปแจกๆ อยู่นี่ เขาก็มีความสุข แจกคนละ 5 ไร่ 10 ไร่ 15 ไร่ แล้วจะให้เขาปลูกอะไรต้องไปดูเขาอีกนะ

เรื่องเกษตรแปลงใหญ่ อะไรเราต้องทำใหม่ทั้งหมด เรื่องผังเมือง ถ้าเรายังกระจัดกระจายตามวัฒนธรรมเรามากไป วันหน้าจะมีปัญหาที่อยู่ที่อาศัย เพราะฉะนั้นการสร้างชุมชนเมืองสำคัญที่สุด ให้ชุมชนชนบทเป็นชุมชนเมือง แต่มันต้องอยู่ใกล้พื้นที่ที่ทำนา ไฟเดินทุกเส้น น้ำไปทุกส่วน

งบประมาณขาดดุลติดต่อกัน 3 ปีแล้ว

แต่ก่อนขาดไหม ก็ขาด เพราะอะไรขาด เพราะมีแต่ใช้ คุณไม่หาเงินไง แล้วผมหาได้ทันไหม 3 ปี ผมสร้างเศรษฐกิจใหม่ทันไหม ต้องคิดอย่างนี้ แล้วการตั้งงบประมาณขาดดุล ทำไมถึงเป็นงบประมาณขาดดุล เพราะประเทศไทยและประเทศอาเซียนยังต้องใช้การลงทุนภาครัฐเป็นหลัก

วันนี้ถ้าไม่ใช่การลงทุนภาครัฐแล้วจะเอาเงินที่ไหนออกมาล่ะ ถึงเร่งรถไฟไทย-จีน รถไฟฟ้า รถอะไรต่ออะไรเพื่อให้เงินมาข้างล่าง มีการจ้างงานต่างๆ แล้วเมื่อไหร่จะเกินดุล โน่นเลย เศรษฐกิจใหม่ ที่อาจารย์สมคิดคิดกัน โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เกิดโน่น เขตเศรษฐกิจพิเศษเกิด การสร้างห่วงโซ่อันนี้

จากที่พูดมาทั้งหมดงานที่รัฐบาลทำคิดว่ากี่เปอร์เซ็นต์

อย่าไปมองว่าจะเสร็จหรือไม่เสร็จ ผมถึงบอกการปฏิรูปมันตามปัจจัยภายในภายนอกมาตลอด สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลง คุณต้องเปลี่ยนวิธีการ ยุทธศาสตร์ก็เปลี่ยนได้ เพราะเห็นแต่รายละเอียดต้องไปทำที่โน่นในแผนสภาพัฒน์ ไปดูตรงโน้น

วันนี้ที่ผมบอกคือ อย่างน้อยเราได้เริ่มทุกกิจกรรมไว้ หลายคนบอกว่าไม่รู้ตรงไหนแน่ ฟังไม่ทันเพราะมันเยอะไปหมด เยอะสิ ผมเหนื่อยนะ ผมพูดปีละ 52 ชั่วโมง

พอใจอันไหนบ้าง

พอใจหมดแหละ ในเวลาแค่นี้คุณจะมาหวังผลกับผมได้ไง อีอีซีลงนามบริษัทใหญ่ๆ 11 กันยายน อีอีซีปีครึ่ง ถ้าเราลาก…ผมว่ามีใครทำได้บ้าง รถไฟฟ้าก็ 7 สายแล้ว สีส้ม แดง ทางคู่ก็เริ่มกรกฎาคม สิงหาคม ทั้งหมดจบภายใน 2 ปีนี้ นี่คือรูปธรรม

แต่ว่าที่ช้าคือความกลัวของราชการ เขายอมรับว่าเขากลัว ไม่เอาตามระเบียบ ผิดไหม สมัยก่อนไม่เกิดอย่างนี้ สมัยนี้ไม่เอาเหตุผลแล้ว มันเอาความปลอดภัย ทุกโครงการเป็นแบบนี้ ไม่ใช่โครงการเศรษฐกิจอย่างเดียว

จะประเมินผลงานรัฐมนตรีไหม

ผมใช้วิธีประเมินผลงาน เอางานมาจับ บางคนเก่งไม่เก่งไม่รู้ แต่ถามว่า 1.ทุจริตไหม 2.ทำตามนโยบายได้หรือเปล่า 3.ถ้าเขาขาดอะไรก็เติมให้เขา ผมลงไปทุกกระทรวง ผมสั่งทุกกระทรวง

ไม่ใช่เป็นนายกฯ แล้วมานั่งคอยกดไลก์อย่างเดียว



"สมคิด"ยันรถไฟไทย-จีน ไม่เสียประโยชน์ในแผ่นดินตัวเอง แจงแผนลงทุนสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
22 มิถุนายน 2560 เวลา 15:55:32 น.


นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีรถไฟฟ้าความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-โคราช ในงานจัดงานสัมมนาผู้ลงทุนในตลาดทุนระดับนานาชาติ “Thailand’s Big Strategic Move” ที่โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ จัดโดว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ-โคราชเท่านั้น แต่ต้องการเชื่อมต่อไปกับนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road หรือโอบีโออาร์ ) ของจีน ซึ่งจะมีการเชื่อมต่อการขนส่งด้วยรถไฟไปถึงมาเลเซีย และต้องเชื่อมต่อกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางการขนส่งของอนุภูมิภาคด้วย ทั้งนี้ในความคิดรัฐบาลไม่ใช่แต่เชื่อมจีนแต่เราต้องการเชื่อมโลก

"รัฐบาลไทยต้องตัดสินใจขับเคลื่อนโครงการนี้ให้ได้ เพราะอนาคตข้างหน้า การเชื่อมต่อในโครงการโอบีโออาร์ของจีนจะมีกว่า 30 ประเทศร่วม ถ้าไม่มีไทยเราจะพูดได้อย่างไรกว่าเป็นศูนย์กลางอาเซียน เป็นศูนย์กลางซีแอลเอ็มวีที ดังนั้น เราต้องชั่งระหว่างต้นทุนและกำไร" นายสมคิดกล่าว

นายสมคิดกล่าวยืนยันว่า ไทยไม่ได้ยกผลประโยชน์ให้กับจีนแต่อย่างใด โครงการที่เกิดขึ้นมูลค่า 1.8 แสนล้านบาท สัดส่วน 4 หมื่นล้านบาท ที่ให้วิศวกรจีนเข้ามากำเนินการได้ เป็นงานระบบราง รวมทั้งการจ้างที่ปรึกษาและการออกแบบ ขณะมูลค่า 1.4 แสนล้านบาทจะให้คนไทยทำ ทั้งนี้ ที่ดินทั้งสองข้างก็ยังเป็นแผ่นดินไทย เราจะทำอะไรบนแผ่นดินเราก็ได้ จะให้ใครเข้ามาร่วมลงทุนก็ได้เพื่อที่สามารถที่จะพัฒนาพื้นที่ได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม อยากให้มองเรื่องผลตอบแทนเศรษฐกิจจากการลงทุนดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะทำให้เกิดการพัฒนาเมืองในระยะต่อไปได้

นายสมคิดกล่าวว่า ที่ผ่านมาการเจรจาติดขัดและเกินเวลามาเล็กน้อยผ่านไปกว่า 3 ปี เพราะบางอย่าง เช่น การลงทุนโครงการลักษณะดังกล่าวรัฐบาลไทยให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการ ขณะที่จีน ให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการและรัฐบาลเป็นคนกำกับ หรือกรณีวิศวกรจีนหากจะเข้ามาทำงานในไทยต้องมาสอบใบอนุญาต ถามว่าจำเป็นมากน้อยแค่ไหน หากแปลโจทย์เป็นภาษาอังกฤษสอบตก 1 ข้อ เส้นทางรถไฟที่เขาสร้างมากว่าสองหมื่นกิโลเมตรคืออะไร ส่วนด้านราคากลาง โครงการนี้ไม่ได้เป็นการประกวดราคาแบบทั่วไป แต่เป็นการต่อระหว่างรัฐบาลไทยกับจีน ราคาที่ออกมาคือราคาที่ตกลงกันได้ การใช้กฎหมายมาแก้ไขเป็นการแก้เฉพาะจุดให้โครงการเดินไปได้

นายสมคิดกล่าวว่า ภายในงานสัมมนาในวันนี้ได้มีโอกาสพูดคุยกับนักลงทุนรายใหญ่ 19 ราย ที่มีมูลค่าลงทุน 6.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่ออธิบายให้นักลงทุนเข้าใจว่าที่ผ่านมารัฐบาลทำอะไรบ้าง ซึ่งเขาสะท้อนกลับมาว่าพอใจกับพัฒนาการของไทย แต่คำถามที่เขายังเป็นห่วงคือรัฐบาลจะทำอย่างไรต่อถ้ามีการเลือกตั้ง และอะไรเป็นเครื่องค้ำประกันว่าสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำจะสานต่อได้ในอนาคต ซึ่งได้บอกไปว่าเหตุการณ์เมืองไทยกำลังเปลี่ยนแปลง แต่รัฐบาลเชื่อว่าทุกสิ่งที่กำลังขับเคลื่อนจะไปข้างหน้าได้ โดยคาดว่าจะพยาพยามผลักดันโครงการใหญ่ๆ เช่น โครงการรถไฟฟ้า 5-6 เส้นทาง ให้ออกมาใน 2 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ได้ชี้แจงให้นักลงทุนทราบด้วยว่ามาตรการรัฐบาลจะต้องได้รับการสานต่อ ตัวเลขทางเศรษฐกิจก็เริ่มดีขึ้น แม้ว่าข้างล่างจะยังลำบาก แต่รัฐบาลก็พยามเร่งให้ความช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นมองว่าถ้าพยายามรักษาเสถียรภาพและความต่อเนื่องได้ จะทำให้ทุกอย่างค่อยๆ ดีขึ้น และเมื่อเทียบกับประเทศทั้งหลายในโลก จะเห็นว่าไทยเป็นประเทศที่น่าสนใจ
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 214, 215, 216 ... 542, 543, 544  Next
Page 215 of 544

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©