Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai.Com

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311234
ทั่วไป:13180284
ทั้งหมด:13491518
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - รวมข่าวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคตตามนโยบายรัฐบาล
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

รวมข่าวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคตตามนโยบายรัฐบาล
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 155, 156, 157 ... 277, 278, 279  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคต
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 08/07/2017 12:42 pm    Post subject: Reply with quote

รถไฟฟ้า 5 ส่วนต่อขยายรฟม.วัดใจครม.ปลายปีนี้
ออนไลน์เมื่อ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2560
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,276 วันที่ 6 - 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2560





ลงนามสัญญาก่อสร้างกันไปเรียบร้อยแล้วสำหรับรถไฟฟ้าสายสีส้ม(ตะวันออก) สายสีชมพูและสายสีเหลืองโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคาดว่าจะมีการเปิดพื้นที่ก่อสร้างให้เห็นเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป โดยเฉพาะถนนแจ้งวัฒนะ ลาดพร้าว พระราม 9 และรามคำแหง ที่จะส่งผลกระทบด้านการจราจร

ล่าสุดรฟม.และกองบังคับการตำรวจจราจร(บก.จร.) ได้เริ่มประชาสัมพันธ์เนิ่นๆ เพื่อให้ประชาชนเตรียมรับมือวิกฤติจราจรบนถนนพระราม9-รามคำแหงที่จะมีการปิดทางยกระดับในช่วงก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 นี้เป็นต้นไป

รถไฟฟ้า5ส่วนต่อขยายรฟม.วัดใจครม.ปลายปีนี้
รถไฟฟ้า5ส่วนต่อขยายรฟม.วัดใจครม.ปลายปีนี้



นอกจากรถไฟฟ้า 3 สายที่ผ่านการเซ็นสัญญาไปแล้วก่อนที่จะเริ่มก่อสร้างในปลายปีนี้รฟม.ยังมีลุ้นเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) อีก 5 สายในโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายช่วงปลายปีนี้ ได้แก่ สายสีนํ้าเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 วงเงินกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท สายสีเขียวเข้ม(บีทีเอส) ช่วงสมุทรปราการ-บางปู วงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท, ช่วงคูคต-ลำลูกกา วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท สายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท และสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 1.3 แสนล้านบาท

โดยสถานะปัจจุบันสายสีนํ้าเงินยังอยู่ในการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) พร้อมกับรายละเอียดเรื่องพ.ร.บ.ร่วมทุนฯพ.ศ.2556 สายสีเขียวเข้ม ช่วงสมุทรปราการ-บางปู และช่วงคูคต-ลำลูกกา อยู่ระหว่างการหารือความชัดเจนกับกรุงเทพ มหานคร ที่จะก่อสร้างและบริหารจัดการเดินรถ เช่นเดียวกับสายสีส้มผลการพิจารณาผลกระทบประชาชนชาวชุมชนประชา สงเคราะห์-ห้วยขวางยังไม่ได้ข้อยุติ ส่วนสายสีม่วงใต้ เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ที่รฟม.หวังว่าเมื่อเปิดให้บริการจะนำผู้โดยสารมาป้อนเติมเต็มให้กับช่วงเตาปูน-บางใหญ่เพิ่มขึ้นนั้นก็ยังต้องลุ้นการพิจารณาร่วมทุนฯปี 2556 อีกเช่นกัน

ดังนั้นปี 2560-2561 ก็คงยังต้องลุ้นผลกระทบด้านการจราจรของการก่อสร้างรถไฟฟ้าในเส้นทางต่างๆโดยเฉพาะ 3 เส้นทางที่จะเริ่มก่อสร้างในปลายปีนี้ อีกทั้งปลายปี 2561 ยังมีก่อสร้างเพิ่มเข้ามาอีก 5 เส้นทางส่วนต่อขยายดังกล่าว โดยเฉพาะเส้นทางในโซนนอกเมืองและในเมืองบางส่วน ชาวกทม.คงต้องอดทนอีก 4-5 ปีสภาพการเดินทางของคนกทม.ก็จะดีขึ้นพร้อมกับการที่รัฐบาลเร่งปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนอื่นๆเพื่อป้อนให้กับรถไฟฟ้าในแต่ละเส้นทางให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 10/07/2017 2:56 am    Post subject: Reply with quote

เปิดแผน‘บีทีเอส กรุ๊ป’รวบธุรกิจรถไฟฟ้าหลากสี
ออนไลน์เมื่อ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2560
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,276 วันที่ 6 - 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2560






“....สายสีชมพูสามารถเชื่อมกับสายสีม่วง สายสีแดง สายสีเขียว(บีทีเอส) สายสีเทาและสายสีส้ม จึงจะมีผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการได้อย่างสะดวกกว่า....”

แม้ว่าล่าสุดกลุ่มบีทีเอสจะได้งานประมูลก่อสร้าง งานระบบและบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองป้อนรายได้ให้กับกลุ่มบีทีเอสระดับหลักหมื่นล้านบาทแล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าแผนการรุกธุรกิจรถไฟฟ้ายังไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ บีทีเอสกรุ๊ปยังคงเดินหน้าเตรียมความพร้อมแข่งประมูลรถไฟฟ้าสายอื่นๆอย่างต่อเนื่อง

ส่วนการรุกในครั้งนี้ของกลุ่มบีทีเอสมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน ทั้งด้านเงินทุนและปัจจัยอื่นจะได้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นโดยนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงแผนการรุกธุรกิจของบีทีเอสว่ายังเน้นด้านการเดินรถไฟฟ้าเป็นหลัก ส่วนเรื่องงานการก่อสร้างนั้นสามารถร่วมกับบริษัทต่างๆดังกรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองที่ร่วมกับบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) เข้าร่วมประมูล


**มองรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย?
การรุกในส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้านั้นสายสีส้ม(ตลิ่งชัน-มีนบุรี) ยังจัดว่าเป็นเส้นทางใหม่ เช่นเดียวกับสายสีเหลืองและชมพู ซึ่งกรณีที่มีผู้กล่าวว่าบีทีเอสได้เปรียบสายสีส้มนั้นยังมองว่าจะได้เปรียบตรงไหน เพราะต้องแข่งขันกัน เช่นเดียวกับส่วนที่ได้ประโยชน์จากส่วนการเชื่อมต่อต่างๆ แม้ว่าจะเชื่อมกับบางจุดของบีทีเอสที่พญาไทก็ตาม โดยเฉพาะสายสีส้มนับตั้งแต่ฝั่งธนบุรี ราชดำเนิน ประตูน้ำ พระราม 9 มีนบุรี โดยบีทีเอสเชื่อมสายสีส้มที่พญาไท-ราชเทวี ก่อนจะไปเชื่อมกับสายสีเหลืองที่แยกลำสาลีและสายสีชมพูที่มีนบุรี

“โอกาสที่จะป้อนผู้โดยสารให้บีทีเอสมีมากขึ้น ความสะดวกการใช้ตั๋วร่วมจะดีขึ้น ดังนั้นทุนต่างประเทศจึงคงจะเข้ามาแข่งขันได้ค่อนข้างยากยิ่งขึ้น เพราะบีทีเอสมีต้นทุนที่ถูกกว่าค่าใช้จ่ายหลายอย่างจึงสามารถร่วมแชร์ด้วยกันได้ เช่นเดียวกับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด(BEM) ที่บริหารรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ยังเห็นว่าการประมูลคงสูสีกันอยู่ ใครคิดต้นทุนได้แม่นกว่าจึงจะชนะซึ่งบีทีเอสสามารถแชร์ค่าใช้จ่ายบางอย่างร่วมกับสายสีเหลือง สีชมพูและสีเขียวจึงได้เปรียบกว่ารายอื่น อีกทั้งยังซื้ออุปกรณ์ได้ราคาต่ำกว่ารายอื่นได้ แต่ BEM น่าจะได้เปรียบเรื่องศูนย์ซ่อมได้เช่นกัน”

ประการสำคัญต้องอย่าลืมมองเรื่องรายได้ที่ใครจะคิดได้ชัดเจนกว่า เพราะหากมีตัวเลขชัดเจนก็สามารถที่จะยื่นข้อเสนอที่ดีให้กับภาครัฐได้ จึงดูได้เปรียบกว่ารายอื่น โดยเฉพาะสายสีส้มที่จะได้กลุ่มผู้โดยสารอีกหนึ่งโซนใหม่เข้ามาป้อนสู่ระบบรถไฟฟ้าหลังจากที่บีทีเอสเป็นเส้นทางหลักในอีกโซนหนึ่งของกรุงเทพฯมาแล้ว

เช่นเดียวกับสายสีชมพู เหลือง แม้จะมีผู้ไม่เห็นด้วยในการสร้างเส้นทางนี้ แต่บีทีเอสก็ได้หาแนวทางการแก้ไขปัญหาผู้โดยสารใช้บริการจำนวนน้อย อาจจะไม่คุ้มค่าเช่นเดียวกับสายสีม่วง โดยสายสีชมพูเมื่อเริ่มเปิดให้บริการคาดว่าจะมีผู้เข้ามาใช้บริการราว 1 แสนคนต่อวัน จากที่ได้ประมวลข้อมูลแต่ละสถานีรองรับไว้แล้ว

MP35-3276-A
**ชี้โอกาสทางธุรกิจในจุดเชื่อมต่อ
โดยการเชื่อมต่อเข้าไปยังพื้นที่เมืองทองก็มีแผนใช้รถชัตเติ้ลบัสให้บริการ แต่เนื่องจากสภาพการจราจรติดขัดจึงมีแผนจะสร้างรถไฟฟ้าเข้าไปแก้ไขปัญหาดังกล่าว ประกอบกับการสร้างโมโนเรลจะเกี่ยวข้องกับพื้นที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยซึ่งต้องประสานความร่วมมือต่อกันในการแก้ไขปัญหาจราจร อีกทั้งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยยังเป็นเจ้าของโครงการทรัพย์สินจะยกให้รฟม.ทั้งหมดโดยจะเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป

ทั้งนี้จุดเชื่อมโยงของสายสีส้มกับบีทีเอสจุดแรกอยู่ที่พญาไท ส่วนจุดต่อไปคงเป็นสถานีมีนบุรีที่จะเชื่อมกับสายสีชมพู แต่หากบีทีเอสได้รับประมูลเดินรถสายสีเทาก็จะเชื่อมสายสีเทา เส้นทางวัชรพล-พระราม9 ได้อีก 1 จุดที่จะสามารถป้อนผู้โดยสารให้กับสายสีส้มได้อีกด้วย

“บีทีเอสมองว่าพื้นที่ศักยภาพของสายสีชมพูมีเยอะมาก อนาคตระยะยาวมีโอกาสเติบโตได้ มีที่ดินแปลงใหญ่สามารถเกิดการพัฒนาได้ ขณะนี้บีทีเอสยังไม่ได้จัดหาที่ดินไว้รองรับเส้นทางนี้แต่อย่างใด พื้นที่โซนริมถนนจะเป็นศูนย์การค้าแต่ลึกเข้าไปในตรอกซอยจะเป็นบ้านเรือนประชาชน โดยเฉพาะโซนวัชรพลมีบ้านเรือนหนาแน่นที่จะใช้บริการสายสีชมพู ประการสำคัญสายสีชมพูสามารถเชื่อมกับสายสีม่วง สายสีแดง สายสีเขียวบีทีเอส สายสีเทาและสายสีส้มจึงจะมีผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการได้อย่างสะดวกกว่าสายสีม่วงที่น่าจะพัฒนาคอมเมอเชียลหรือออฟฟิศขึ้นในแนวเส้นทางถนนรัตนาธิเบศร์เพื่อสร้างจุดขายหรือดีมานด์ความต้องการเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้มีมากขึ้นตามไปด้วย”

ในส่วนสายสีเหลืองนั้นทุกวันนี้ล้วนทราบดีกว่าสภาพการจราจรถนนลาดพร้าวหนาแน่นมากเพียงใด สภาพบ้านเรือนในซอยจะพบว่ามีอาคารพาณิชย์ อพาร์ทเมนท์ บ้านเดี่ยว เกิดขึ้นจำนวนมากบีทีเอสจึงมั่นใจว่าจะมีผู้มาใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองจำนวนมาก บวกกับพื้นที่ในอนาคตมีศักยภาพในการพัฒนาโดยเฉพาะถนนศรีนครินทร์ที่ยังมีที่ดินแปลงใหญ่ไว้รองรับการพัฒนาอีกหลายแปลงที่จะเกิดการพัฒนาให้มีผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการรถไฟฟ้าตามมาได้
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44325
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 13/07/2017 8:39 am    Post subject: Reply with quote

คนกรุงตั้งตารอ 'มวลมหารถไฟฟ้า' คืบหน้า เสร็จสิ้น ใช้ได้เมื่อไร
โดย ไทยรัฐออนไลน์ 13 ก.ค. 2560 05:35

ความหวังของคนกรุง เริ่มเข้าใกล้ความจริงแล้ว หลังโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมระหว่างชานเมือง เข้ามาสู่กรุงเทพฯชั้นใน เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น หลายโครงการลงมือก่อสร้างแล้ว และอีกหลายโครงการก็จะได้ใช้บริการเร็วๆ นี้

'ไทยรัฐออนไลน์' เก็บข้อมูลการก่อสร้างรถไฟฟ้า มาอัพเดตให้กับผู้อ่านได้ทราบกัน จะได้คำนวณคร่าวๆ ได้ว่า รถไฟฟ้าจะวิ่งผ่านหน้าบ้านเราได้เมื่อไร เริ่มกันที่....

โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

วิธีการจำที่ง่ายที่สุด รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินนี้จะเชื่อมจุดต้นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สายเฉลิมรัชมงคล หรือ MRT ที่สถานีต้นทางและปลายทาง คือ บางซื่อ และหัวลำโพง นั้นเอง

ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ คืบหน้าแล้ว 93.17% เปิดใช้บริการปี 2563


โครงการดังกล่าว มีระยะทาง 11.08 กิโลเมตร เป็นเส้นทางยกระดับทั้งหมดมี 8 สถานี มีลักษณะเป็นทางวิ่งรางคู่บนเสาตอม่อบริเวณเกาะกลางถนน โครงการจะเริ่มต้นโดยการต่อเชื่อมกับ MRT สถานีบางซื่อ ผ่านสถานีเตาปูน ซึ่งเป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ - บางซื่อ

จากนั้น จะเข้าสู่ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ผ่านสี่แยกบางโพ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เลี้ยวซ้ายเข้าถนนจรัญสนิทวงศ์ บริเวณโรงเรียนเทคโนโลยีพระราม 6 ผ่านแยกบางพลัด แยกบรมราชชนนี แยกไฟฉาย และสิ้นสุดที่แยกท่าพระ โดยเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง - บางแค

ช่วงหัวลำโพง - บางแค
คืบหน้าแล้ว 93.17% เปิดใช้บริการปี 2562

โดยเส้นทางดังกล่าวมีระยะทาง 15.9 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดินช่วงหัวลำโพง - ท่าพระ ระยะทาง 5.4 กิโลเมตร มีสถานีใต้ดินจำนวน 4 สถานี ทางวิ่งยกระดับในช่วงท่าพระ - บางแค ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร โดยมีสถานียกระดับจำนวน 7 สถานี

สำหรับ โครงการจะเริ่มต้นที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินหัวลำโพง เป็นเส้นทางใต้ดินตามแนวถนนพระราม 4 ผ่านถนนเจริญกรุง วังบูรพา ถนนสนามไชย ลอดใต้แม้น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณปากคลองตลาด ลอดใต้คลองบางกอกใหญ่ ถนนอิสรภาพ

จากนั้น จะเปลี่ยนเป็นเส้นทางยกระดับเข้าสู่สี่แยกท่าพระ ซึ่งจะมีสถานีร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ - ท่าพระ ไปตามแนวถนนเพชรเกษม ผ่านบางไผ่ บางหว้า บางแค และสิ้นสุดสายทางที่บริเวณวงแหวนรอบนอกถนนกาญจนาภิเษก

ช่วงบางแค-พุทธมณฑล สาย 4 อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการ

โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม หรือ สายสีม่วง

ช่วงบางใหญ่ - บางซื่อ เปิดให้บริการไปแล้ว เมื่อวันที่ 6 ส.ค.59 โดยจุดเชื่อมต่อระหว่าง MRT บางซื่อ และสถานีเตาปูน ที่ทุกคนรอคอยสร้างเสร็จแล้ว และจะมีการเปิดให้ใช้บริการ 11 ส.ค. 60 นี้

ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) คาดว่าจะมีการก่อสร้าง ปี 2561

สำหรับโครงการนี้ มีระยะทางทั้งสิ้น 23.6 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 12.6 กิโลเมตร และโครงสร้างทางยกระดับ 11 กิโลเมตร และมีสถานีทั้งสิ้น 17 สถานี เป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี

แนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ เริ่มจากจุดเชื่อมต่อสถานีเตาปูน เปลี่ยนเป็นเส้นทางใต้ดินแล้วเบี่ยงเข้าสู่ ถนนสามเสน ผ่านรัฐสภาแห่งใหม่ หรือโรงเรียนโยธินบูรณะเดิม โรงเรียนราชินีบน กรมชลประทาน โรงพยาบาลวชิรพยาบาล หอสมุดแห่งชาติ คลองบางลำพู

จากนั้น เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพระสุเมรุ ผ่านวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร แยกผ่านฟ้า เข้าสู่ถนนมหาไชย ผ่านวัดราชนัดดารามวรวิหาร เข้าสู่ถนนจักรเพชร ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปกเกล้า เข้าสู่ถนนประชาธิปก ผ่านสี่แยกบ้านแขก ลอดใต้วงเวียนใหญ่ เข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ลอดแยกมไหสวรรย์

จากนั้น เปลี่ยนเส้นทางยกระดับผ่านแยกถนนจอมทองเข้าสู่ถนนสุขสวัสดิ์ ผ่านแยกถนนประชาอุทิศ ข้ามทางด่วนเฉลิมมหานคร เข้าสู่ราษฎร์บูรณะข้ามคลองแจงร้อน ผ่านสามแยกพระประแดง และสิ้นสุดเส้นทางบริเวณครุใน

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วง แบริ่ง - สมุทรปราการ

โครงการสร้างเสร็จสิ้น และเปิดให้ทดลองใช้บริการ 1 สถานคือ แบริ่ง-สำโรง บริการ เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ภายในปี 2561 จะเปิดให้บริการครบทุกเส้นทางดังนี้ สถานีสำโรง สถานีปู่เจ้าสมิงพราย สถานีพิพิธภัณฑ์เอราวัณ สถานีโรงเรียนนายเรือ สถานีสมุทรปราการ สถานีศรีนครินทร์ สถานีแพรกษา สถานีสายลวด และสถานีเคหะสมุทรปราการ

หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต คืบหน้า 33.7% เปิดใช้บริการปี 2563

โครงการมีระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร เป็นทางวิ่งยกระดับตลอด มีสถานีจำนวน 16 สถานี โดยจะเริ่มต้นที่สถานีหมอชิต ของระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร หรือ BTS

จากนั้น จะข้ามทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ห้าแยก ลาดพร้าว ผ่านแยกรัชโยธิน แยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปจนถึงบริเวณแยกหลักสี่ และเบี่ยงออกด้านขวาเลียบไปตามขอบอุโมงค์ลอกแยกหลักสี่ และเบี่ยงเข้าสู่เกาะกลางดังเดิม ไปจนถึงสะพานใหม่หน้าตลาดยิ่งเจริญ

เมื่อถึงกิโลเมตรที่ 25 ของถนนพหลโยธิน แนวเส้นทาง จะเบี่ยงไปทางด้านทิศตะวันออก หรือ ด้านเหนือของพื้นที่ประตูกรุงเทพฯ ข้ามคลองสอง ผ่านด้านข้างของสถานีตำรวจสภ.คูคต เข้าสู่บริเวณเกาะ กลางของถนนลำลูกกา และสิ้นสุดที่บริเวณคลองสอง หรือสถานีคูคต

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

ช่วงตลิ่งชัน - มีนบุรี คืบหน้า 0.29% เปิดใช้บริการปี 2566

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีระยะทางรวม 39.6 กิโลเมตร เป็นสถานีใต้ดิน 23 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี โดยจะเริ่มต้นจากสถานีรถไฟตลิ่งชัน จากนั้นใช้แนวเขตรถไฟสายบางกอกน้อย ผ่านโรงพยาบาลศิริราช ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ผ่านใต้ถนนราชดำเนินแล้วเบี่ยง ใช้แนวถนนหลานหลวง ผ่านยมราชแล้วเข้าสู่แนวถนนเพชรบุรี

จากนั้น เลี้ยวเข้าถนนราชปรารภ ถึงดินแดงแล้วเลี้ยวไปตามถนนวิภาวดีรังสิต ผ่านศาลาว่าการกทม. 2 (ดินแดง) ตัดตรงไปเชื่อมกับ MRT ที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ เบี่ยงเข้าแนวถนนพระรามเก้า ตัดผ่านถนนประดิษฐ์ธรรมนูญ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนรามคำแหง ผ่านแยกลำสาลี แยกถนนกาญจนาภิเษก ไปสิ้นสุดที่สถานีสุวินทวงศ์บริเวณมีนบุรี

ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการ


ช่วงตลิ่งชัน - ศูนย์วัฒนธรรม อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการ

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู

ช่วงแคราย-มีนบุรี อยู่ระหว่างดำเนินโครงการ

แนวเส้นทางเริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ บริเวณใกล้แยกแคราย วิ่งไปตามถนนติวานนท์จนถึงห้าแยกปากเกร็ด จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าถนนแจ้งวัฒนะผ่านเมืองทองธานี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่แยกหลักสี่บริเวณริมถนนวิภาวดีรังสิต

จากนั้น จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ บนถนนพหลโยธิน บริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ วิ่งไปบนถนนรามอินทราจนถึงแยกมีนบุรี แล้ววิ่งเข้าสู่เมืองมีนบุรี ตามแนวถนนสีหบุรานุกิจ จนถึงสะพานข้ามคลองสามวา จึงเลี้ยวขวาข้ามคลองแสนแสบ และข้ามถนนรามคำแหง หรือถนนสุขาภิบาล 3 สิ้นสุดสถานีปลายทางที่บริเวณใกล้แยกถนนรามคำแหง-ร่มเกล้า ซึ่งจะบรรจบกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางกะปิ-มีนบุรี รวม 30 สถานี ระยะทางทั้งสิ้น 34.5 กิโลเมตร

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง

ช่วงลาดพร้าว - สำโรง อยู่ระหว่างดำเนินโครงการ

เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ที่แยกรัชดา-ลาดพร้าว ไปตามแนวถนนลาดพร้าว โดยเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ของกทม.ที่กำลังอยู่ในช่วงศึกษาโครงการ

จากนั้น จะขึ้นยกระดับข้ามทางด่วนฉลองรัชจนถึงทางแยกบางกะปิ จากนั้นแนวเส้นทางจะเลี้ยวขวาไปทางทิศใต้ตามถนนศรีนครินทร์ เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ทางแยกลำสาลี ต่อจากนั้นแนวเส้นทางจะยกระดับข้ามทางแยกต่างระดับพระราม 9 โดยเชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ผ่านแยกพัฒนาการ แยกศรีนุช แยกศรีอุดมสุข แยกศรีเอี่ยม จนถึงแยกศรีเทพา

โดยจะเลี้ยวขวาอีกครั้ง ไปทางทิศตะวันตก ตามแนวถนนเทพารักษ์ ผ่านจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่สถานีสำโรง และสิ้นสุดแนวเส้นทางบริเวณถนนปู่เจ้าสมิงพราย รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 30.4 กิโลเมตร ประกอบด้วยสถานีทั้งหมด 23 แห่ง
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44325
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 16/07/2017 11:16 pm    Post subject: Reply with quote

เปิดโครงการ “รถไฟฟ้าสายสีทอง”
SpringNews Published on Jul 16, 2017

การจราจรที่หนาแน่นในพื้นที่เขตคลองสาน ทำให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องคิดค้นการเดินทางด้วยระบบรองมาแก้ไขปัญหา ดังนั้น โครงการ รถไฟฟ้า สายสีทอง จึงถือกำเนิดขึ้น และคาดว่า จะเริ่มก่อสร้างได้ตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป


https://www.youtube.com/watch?v=w1nSTB3ccwo
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44325
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 17/07/2017 5:49 pm    Post subject: Reply with quote

รัฐเร่งประมูล‘ระบบราง’ ดึงลงทุนปีนี้ 8 แสนล้าน
คมชัดลึก เศรษฐกิจ 17 ก.ค. 60

ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างเปิดประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 10 สัญญา 5 เส้นทาง ระยะทาง 702 กิโลเมตร มูลค่ารวม 79,161 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยได้ตัวผู้รับเหมาตั้งแต่ปลายเดือน ก.ค.-ก.ย. นี้ ได้แก่

1. โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์
2.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เส้นทางนครปฐม-หัวหิน
3. โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร
4. โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระและ
5. โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ

ร.ฟ.ท. ยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าอีกหลายช่วง คาดว่าทั้งหมดจะเปิดประมูลไม่ทันปีนี้ ได้แก่
1. รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท
2. รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง
3. รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อนส่วนต่อขยาย 2 ช่วง คือ ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา รวมถึงรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

เตรียมประมูลส่วนต่อขยาย4ช่วง

ด้านการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เหลือการประมูลรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายอีก 4 ช่วง ได้แก่
1. รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ
2. รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย4.
3. รถไฟฟ้าสายส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-ตลิ่งชัน และ
4. รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้มส่วนต่อขยายทางใต้ ช่วงสมุทรปราการ-บางปู

เบื้องต้นคาดว่าจะเปิดประมูลรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย 3 โครงการแรกได้ภายในปีนี้ คือ สีม่วงใต้ สีน้ำเงินส่วนต่อขยาย และสีส้มตะวันตก แต่จะไม่มีการเปิดประมูลรถไฟฟ้าสีเขียวส่วนต่อขยาย เพราะ รฟม. ได้โอนทรัพย์สินรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) แล้ว จึงต้องการให้ กทม. ตัดสินใจเรื่องการเปิดประมูลส่วนต่อขยายเอง

เมื่อต้นปีที่ผ่านมารฟม. ยังได้เปิดประมูลรถไฟฟ้าอีก 3 เส้นทางและจะเริ่มก่อสร้างในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีชมพู และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ซึ่งจะเริ่มตอกเสาเข็มไม่เกินเดือน ก.ย.นี้ รวมถึงโครงการสายสีส้มตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี(สุวินทวงศ์) ซึ่งเริ่มตอกเสาเข็มเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

กระทรวงคมนาคม อยู่ระหว่างการผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง ได้แก่ รถไฟไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.5 กิโลเมตร วงเงิน 179,413 ล้านบาท เตรียมลงนามสัญญากับฝ่ายจีน 2 ฉบับไม่เกินเดือน ก.ย. และคาดว่าอาจเริ่มเปิดประมูลงานโยธาได้ภายในปีนี้

ส่วนรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 673 กิโลเมตรวงเงินลงทุน 546,744 ล้านบาทนั้น ทางญี่ปุ่นจะส่งรายงานการศึกษาความเหมาะสมฉบับสมบูรณ์ให้ฝ่ายไทยในเดือน ส.ค.นี้ แต่จะเปิดประมูลไม่ทันปีนี้อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ยังมีรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร มูลค่า215,100 ล้านบาทและกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กิโลเมตร มูลค่า 94,673 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ทั้ง 2 เส้นทางต้องรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนเพิ่มเติม และเส้นทางกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ต้องรอผลการศึกษาการวิ่งรถเชื่อม 3 ท่าอากาศยานของ ร.ฟ.ท. ก่อน โดยเบื้องต้นคาดว่าอาจเปิดประมูลทั้ง 2 เส้นทางได้ภายในปีนี้

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ ครม. เพิ่งอนุมัติโดยมีมูลค่าโครงการ 1.79 แสนล้านบาท อาจยังไม่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้ เพราะเงินลงทุนที่จัดสรรในปีนี้ยังน้อยมาก แต่จะมีผลต่อเศรษฐกิจในปีถัดไป ส่วนความคุ้มค่าการลงทุน คงต้องขึ้นกับว่าโครงการนี้จะดึงดูดการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติได้มากน้อยแค่ไหน

“ผลต่อเศรษฐกิจระยะสั้นเราก็หวังว่า งบประมาณการก่อสร้างจะหนุนเศรษฐกิจไทยบ้าง แต่ระยะกลางถึงยาวหลังจากที่โครงการเสร็จสิ้น เราคาดหวังว่าจะดึงให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนสร้างฐานการผลิตในไทย พวกนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่รัฐบาลโรดโชว์ให้กับนักลงทุนต่างชาติ”

สำหรับการลงทุนของรัฐที่คาดหวังให้เอกชนลงทุนตาม เวลานี้นักลงทุนส่วนใหญ่โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติรอดูความชัดเจนของพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ซึ่งคาดว่าจะเสร็จในช่วงเดือนต.ค. ขณะเดียวกันนักลงทุนบางส่วนอาจมีคำถามในเรื่องของการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งประเด็นที่ห่วงกันค่อนข้างมาก คือ ความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายของภาครัฐ

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย(ทีเอ็มบี) กล่าวว่า การลงทุนของภาครัฐในขณะนี้ ส่วนใหญ่ยังเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานประเภทระบบขนส่ง เช่น ทางด่วน รถไฟฟ้า รวมทั้งรถไฟความเร็วสูงที่เตรียมจะลงทุนในเร็วๆ นี้ ซึ่งการลงทุนลักษณะนี้แม้จะดึงดูดให้เอกชนลงทุนตามได้ แต่ประสิทธิผลคงไม่มากนัก

“การลงทุนเหล่านี้จะผูกโยงกับภาคการก่อสร้าง ซึ่งการลงทุนเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างมีสัดส่วนเพียง 20% ของการลงทุนทั้งหมด ส่วนอีก 80% เป็นการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือ เครื่องจักร ดังนั้นการจะหวังให้การลงทุนเอกชนกลับมาได้ อาจต้องมุ่งไปที่โครงการในลักษณะอีอีซี(ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก)”

นายนริศ กล่าวว่า อีอีซี ถือเป็นความหวังของการลงทุนเอกชน และจะเป็นตัวที่ผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างมั่นคงในอนาคต ขณะเดียวกันก็เชื่อว่า จะเริ่มเห็นเอกชนบางส่วนเข้ามาลงทุนในโครงการนี้ช่วงครึ่งปีหลัง เพราะปัจจุบันเอกชนบางแห่งเริ่มที่จะลงทุนแล้ว

ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ครม.มีมติอนุมัติไปเมื่อเร็วๆ นี้ หากมองในเรื่องความคุ้มค่าคงต้องดูว่าโครงการนี้จะดึงให้ไทยเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของกลุ่มภูมิภาคได้อย่างไร หากเป็นเพียงแค่เส้นทางผ่านไปยังประเทศอื่น ไทยก็คงไม่ได้ประโยชน์จากโครงการเหล่านี้

“จีนเขามีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่คุนหมิง พม่าเองก็มีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่กำลังได้รับความนิยม เส้นทางนี้จะตัดผ่านเราไปพม่า ตรงนี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่ เพราะถ้าสร้างแล้วเขาแค่อาศัยวิ่งผ่านเราไป หรือแค่ขนคน แบบนี้ก็ไม่ได้อะไร จึงต้องดูว่าเส้นทางนี้จะทำให้เราเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่การผลิต และสอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจเราหรือไม่”
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44325
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 17/07/2017 9:21 pm    Post subject: Reply with quote

‘รฟม.-กทม.’ เคลียร์มาราธอน 10 จุดทับซ้อนขวางตอม่อรถไฟฟ้า
วันที่ 17 กรกฎาคม 2560 - 19:25 น.

เป็นปัญหาที่ต้องใช้เวลาถกกันยาวนานมาตลอด ระหว่าง “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” กับ “กทม.-กรุงเทพมหานคร” กับการขอใช้พื้นที่สร้างรถไฟฟ้าสารพัดสี ที่เป็นบทเรียนคือสายสีน้ำเงินต่อขยายบางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค มีจุดทับซ้อนกันจนทำให้ผู้รับเหมาต้องขอต่อเวลาและค่าชดเชยร่วม 1,000 ล้านบาท

ปัจจุบันมี 3 เส้นทาง “รฟม.” ต้องเร่งเคลียร์ปัญหาแบบด่วนจี๋ มีสีชมพูแคราย-มีนบุรี สีเหลืองลาดพร้าว-สำโรงและสีส้มศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี(สุวินทวงศ์)เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมาเปิดไซต์ภายในปีนี้

“ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ” รองผู้ว่าการ รฟม. ด้านวิศวกรรมและก่อสร้าง กล่าวว่า ได้ประชุมหารือแก้ปัญหาใช้พื้นที่ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้า หลังได้มีเซ็นสัญญาก่อสร้างไปแล้ว แต่ยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้ได้ทั้งโครงการ (ดูกราฟฟิก )

Click on the image for full size

“สายสีส้ม” 23 กม. จุดมีปัญหาที่ “สถานีรามคำแหง 12” ซึ่งกทม.มีแผนสร้างสะพานข้ามแยก มีพื้นที่บางส่วนทับซ้อน ทางกทม.ให้ รฟม.เป็นผู้สร้างเสาสะพาน 250 ล้านบาท ยังไม่ได้ข้อยุติ

และช่วง “สถานีลำสาลี-สถานีคลองบ้านม้า” จะทับซ้อนโครงการต่อขยายทางยกระดับรามคำแหงของ กทม.แยกลำสาลี-คลองบางชัน อยู่ระหว่างประสานรูปแบบก่อสร้าง

“ยังมีทางเชื่อมบนถนนราษฎร์พัฒนา กทม.ทำเป็นสะพานลอยเข้าถนนราษฎร์พัฒนาตรงบิ๊กซี แต่ รฟม.มีสถานีอยู่ตรงนั้นพอดี หากจะยกทางเชื่อมและสถานีสูง 8 เมตรจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม 140 ล้าน กทม.จะพิจารณาดูว่า จะทำสะพานเป็นใต้ดินหรือไม่”

“สายสีเหลือง” 30.5 กม. มีปัญหา 5 จุด “สะพานข้ามแยกบางกะปิ” ทาง รฟม.-กทม.หารือกันกลางปีที่แล้ว กทม.มีแนวคิดต่างจากเดิมจะแยกโครงสร้างสะพานออกแล้ววางเสาไว้ตรงกลาง

ล่าสุด กทม.เสนอให้ทำเป็นโครงสร้างร่วมกันระหว่างสะพานและรถไฟฟ้า โดยทุบสะพานเดิมและก่อสร้างสะพานใหม่ แบ่งเป็นชั้นสำหรับสะพานข้ามแยก และรถไฟฟ้า อยู่ระหว่างการหารืองบประมาณในการปรับแบบ

“เป็นข้อเสนอที่ยาก เพราะโครงการให้เอกชนลงทุนและรับสัมปทานทั้งหมด”

สาย “สายสีชมพู” 34.5 กม. มี 2 จุด คือบริเวณหน้าศาลปกครอง และกรมการกงสุลไม่ต้องการให้บดบังทัศนียภาพ รฟม.จะพิจารณาออกแบบต่อไป

ส่วนรถไฟฟ้าที่จะสร้างต่อไป “สายสีม่วง” ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ 23.6 กม. ต้องเจรจากรมศิลปากรเพื่อสร้างปล่องระบายอากาศของสถานีหอสมุดแห่งชาติ และ “สายสีส้ม” ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ 12.9 กม. ประสานกทม.ขอใช้พื้นที่สร้างปล่องระบายอากาศสถานีสนามหลวง และขอใช้พื้นที่บ้านมนังคศิลาสร้างทางขึ้น-ลงและใช้เป็นพื้นที่ก่อสร้างสถานียมราช
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 19/07/2017 11:54 am    Post subject: Reply with quote

รัฐทุ่ม 2.2 ล้านล้าน ผลักดัน “ 3 ระบบรางครบวงจร”
โดย MGR Online
19 กรกฎาคม 2560 06:26 น.


เปิดอภิมหาโครงการพัฒนาระบบรางครบวงจรของกระทรวงคมนาคม ด้วยงบประมาณ 2.2 ล้านล้าน ภายใต้ระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี โดยมีเป้าหมายว่าการพัฒนาระบบรางทั้ง 3 แบบ คือ รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ และโครงการรถไฟฟ้าที่เชื่อมต่อเส้นทางระบบรางในเมืองหลวงเป็นวงกลม แบบเดียวกับเมืองใหญ่ทั่วโลก ที่สำคัญจะส่งผลให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงอาเซียนเข้าหากัน สร้างอำนาจต่อรองทางการค้าและการลงทุน


“นายพิชิต อัคราทิตย์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงแผนการพัฒนาการคมนาคมระบบรางซึ่งถือเป็น “บิ๊กโปรเจกต์” ที่กระทรวงคมนาคมในยุครัฐบาล คสช.เร่งผลักดันอย่างสุดกำลัง ว่า กระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะพัฒนาการเดินทางระบบรางของประเทศไทยแบบครบวงจร ด้วยงบประมาณ 2.2 ล้านล้าน ภายใต้ระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี โดยมีการก่อสร้างและพัฒนาเส้นทางระบบรางทั้ง 3 รูปแบบไปพร้อมกัน ประกอบด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน, โครงการรถไฟทางคู่ และโครงการรถไฟฟ้า

ลงมือสร้าง ‘รถไฟไทย-จีน’ กันยานี้

โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน นั้นมีความคืบหน้าไปมาก โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะแรก(กรุงเทพฯ-โคราช) ระยะทาง 253 กิโลเมตร วงเงิน 179,413 ล้านบาท จากนี้จะมีการตกลงกันในรายละเอียดของสัญญาจำนวน 2 ฉบับ คือสัญญาก่อสร้างและโยธา และสัญญาที่เกี่ยวกับการออกแบบ ควบคุมการก่อสร้างและการวางระบบอาณัติสัญญาณ ซึ่งสัญญาทั้ง 2 ฉบับจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือนนี้ และมั่นใจว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในสิ้นเดือน ก.ย.2560 นี้

ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 (โคราช-หนองคาย) ระยะทาง 350 กิโลเมตร วงเงินประมาณ 271,000 ล้านบาทนั้น หลังจากที่โครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 เดินหน้าไปสักระยะ ก็สามารถเริ่มเดินหน้าโครงการระยะที่ 2 ได้ทันที

นอกจากเรื่องการดำเนินการก่อสร้างแล้วสิ่งหนึ่งที่ต้องเดินหน้าควบคู่กันไปก็คือการพัฒนาพื้นที่ 2 ข้างทาง ทั้งในส่วนของตัวสถานีและพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อสร้างรายได้และสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ที่ทางรถไฟแล่นผ่าน โดยแต่ละสถานีก็จะมีการพัฒนาพื้นที่และพัฒนาธุรกิจตามมา ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า และหากในอนาคตเมืองพัฒนามากขึ้นก็อาจจะมีศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า โรงเรียน มหาวิทยาลัย

การเชื่อมโยงภูมิภาคผ่านยุทธศาสตร์ “หนึ่งแนวเขต หนึ่งเส้นทาง” (One Belt, One Road) อันว่าด้วยการพัฒนาการคมนาคมขนส่งและโครงสร้างสาธารณูปโภคในเส้นทางที่วางไว้

เตรียมพัฒนาที่ดิน สร้างรายได้เข้ารัฐ

สำหรับการเตรียมความพร้อมในการบริหารการพัฒนาพื้นที่นั้น ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทยกำลังดำเนินการจัดตั้งบริษัทลูก ภายใต้ชื่อ “บริษัทรถไฟบริหารสินทรัพย์” เพื่อทำหน้าที่บริหารทรัพย์สินของการรถไฟซึ่งมีอยู่กว่า 40,000 ไร่ โดยเป็นที่ดินที่ไม่ได้ใช้เดินรถโดยตรง (ตัวสถานีและพื้นที่รอบ ๆ ทางรถไฟ) ในการบริหารจัดการบริษัทจะมีรูปแบบเหมือนเอกชน และอาจมีเอกชนเข้ามาร่วมบริหารด้วย ซึ่งจะทำให้มีความคล่องตัวสูง

แน่นอนการพัฒนาพื้นที่ 2 ข้างทางจะนำมาซึ่งผลตอบแทนที่มากขึ้น เพราะนอกจากรายได้จากค่าโดยสารแล้วการรถไฟจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการให้เช่าพื้นที่เพื่อประกอบธุรกิจการค้า ร้านอาหาร โรงแรม ซึ่งเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 (กรุงเทพฯ-โคราช) ซึ่งมี6 สถานีนั้นมีการประเมินว่าจะมีการลงทุนด้านการพัฒนาพื้นที่อยู่ประมาณ 1 แสนล้านบาท และการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวจะทำให้ผลตอบแทนของโครงการ ระยะแรก อยู่ที่ประมาณ 2.56% ของมูลค่าการลงทุน/ปี ซึ่งแม้ว่าจะเป็นตัวเลขที่ไม่มากนัก แต่ถ้ามองในแง่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ประชาชนจะได้รับ จะทำให้ผลตอบแทนของโครงการอยู่ที่ 11.56% ของมูลค่าโครงการ/ปี

รัฐทุ่ม 2.2 ล้านล้าน ผลักดัน “ 3 ระบบรางครบวงจร”
ภาพ: รอยเตอร์

อย่างไรก็ดี “บริษัทรถไฟบริหารสินทรัพย์” มีเป้าหมายที่จะสร้างผลตอบแทนให้ได้เท่ากับอัตราตลาด ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 5-6% ขณะที่การบริหารพื้นที่ของการรถไฟฯ ปัจจุบันได้ผลตอบแทนไม่ถึง 1%

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน นอกจากจะเชื่อมประเทศไทยกับจีนตอนใต้เข้าด้วยกัน โดยรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย ของไทย เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟความเร็วสูงของลาว ที่วิ่งจากชายแดนไทยไปเวียงจันทน์ และไปบรรจบกับทางรถไฟความเร็วสูงของจีนที่เมืองคุนหมิง แล้วโครงการนี้ยังทำให้อาเซียนทั้งภูมิภาค ซึ่งประกอบด้วย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ เชื่อมโยงเป็นภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลให้อำนาจต่อรองทางการค้าและการลงทุนของไทยและอาเซียนเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุทธศาสตร์วันเบลท์วันโรดของจีน ซึ่งเชื่อมต่อไปถึงยุโรป จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ไทยสามารถเชื่อมต่อเส้นทางการเดินทางในระบบรางกับสหภาพยุโรปได้ด้วย

ดังนั้นโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ซึ่งจะแล้วเสร็จในอีก 4 ปีข้างหน้า ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย

รัฐทุ่ม 2.2 ล้านล้าน ผลักดัน “ 3 ระบบรางครบวงจร”

เร่งพัฒนาทางคู่ 8 เส้นทาง

ส่วนโครงการรถไฟทางคู่นั้นรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการ ทั้งหมด 8 เส้นทาง ประกอบด้วย

• สีแดง : เส้นทางรถไฟทางคู่ใหม่ 6 เส้น (เดิมเป็นทางเดี่ยว อนุมัติให้สร้างเพิ่มอีกรางเป็นทางคู่) ประกอบด้วย

1) จิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กิโลเมตร วงเงิน 26,007 ล้านบาท

2) นครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร วงเงิน 20,038 ล้านบาท

3) ประจวบฯ-ชุมพร ระยะทาง 165 กิโลเมตร วงเงิน 17,293 ล้านบาท

4) มาบกะเบา-โคราช ระยะทาง 132 กิโลเมตร วงเงิน 29,842 ล้านบาท

5) ลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กิโลเมตร วงเงิน 24,842 ล้านบาท และ

6) หัวหิน-ประจวบฯ ระยะทาง 90 กิโลเมตร วงเงิน 9,437 ล้านบาท โดยจะเป็นระบบ Meter Gauge รางกว้าง 1 เมตร รองรับความเร็วประมาณ 90 กม./ชม. จะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2563

• สีน้ำเงิน : เส้นทางรถไฟทางคู่ใหม่ 2 เส้น ได้แก่ 1) หนองคาย-โคราช-แหลมฉบัง-มาบตาพุด ระยะทาง 737 กิโลเมตร วงเงิน 392,570 ล้านบาท และ

2) เชียงของ-เด่นชัย-บ้านภาชี ระยะทาง 655 กิโลเมตร วงเงิน 348,890 ล้านบาท โดยเป็นระบบ Standard Gauge รางกว้าง 1.435 เมตร รองรับความเร็วประมาณ 160-250 กม./ชม. รถไฟที่จะนำมาใช้งานมีความเร็วประมาณ 160 กม./ชม.ในขั้นแรก ซึ่งต่อไปสามารถเปลี่ยนรถไฟเป็นความเร็วสูงได้ (บางเส้นทางเดิมเป็นทางเดี่ยว บางเส้นทางเป็นทางใหม่ โดยอนุมัติให้สร้างทางคู่ใหม่เพิ่ม) จะแล้วเสร็จในปี 2564

ในการพัฒนารถไฟเป็นระบบทางคู่นั้นจะช่วยให้การเดินทางโดยรถไฟมีความสะดวกรวดเร็วและตรงเวลายิ่งขึ้น เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาสับเปลี่ยนรางในช่วงที่รถไฟสวนกัน และเมื่อผนวกกับเส้นทางสีดำ ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟเดิมของไทย มีทั้งระบบทางเดี่ยว ทางคู่ และทางสาม และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (โคราช-หนองคาย) จะทำให้การเดินทางระบบรางของไทยเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค นับเป็นการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของไทยอย่างเป็นรูปธรรมอย่างยิ่ง


รถไฟฟ้าใต้ดินเชื่อมวงกลมรอบกรุงเทพฯ

ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าใน กทม. และปริมณฑล ก็เป็นภารกิจหนึ่งที่กระทรวงคมนาคมเร่งขับเคลื่อนเช่นกัน โดยจะเน้นไปที่ “โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน” หรือ MRT (รถไฟฟ้าใต้ดิน) ซึ่งจะเชื่อมต่อการเดินทางระบบรางในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นวงกลม ซึ่งการสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าเป็นวงกลมรอบเมืองนี้ถือเป็นหลักในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าในเมืองใหญ่ทั่วโลก เนื่องจากการเชื่อมโยงการเดินทางระบบรางเป็นวงกลมจะช่วยให้การเดินทางในเขตเศรษฐกิจสะดวกคล่องตัว และนับเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ โดยเส้นทางนี้จะแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2564

ทั้งนี้ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่เปิดให้บริการแล้วได้แก่ เส้นทางหัวลำโพง-บางซื่อ ระยะทาง 20 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 18 สถานี เริ่มต้นจากบริเวณหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปทางทิศตะวันออกตามแนวถนนพระรามที่ 4 ผ่านสามย่าน สวนลุมพินี จนกระทั่งตัดกับถนนรัชดาภิเษก เลี้ยวซ้ายไปทางทิศเหนือตามแนวถนนรัชดาภิเษก ผ่านหน้าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แยกอโศก แยกพระรามที่ 9 แยกห้วยขวาง แยกรัชดา-ลาดพร้าว เลี้ยวซ้ายไปตามถนนลาดพร้าว จนถึงปากทางห้าแยกลาดพร้าว เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพหลโยธิน ผ่านหน้าสวนจตุจักร ตรงไปสิ้นสุดที่บริเวณสถานีรถไฟบางซื่อ เป็นสถานีใต้ดินทั้งหมด 18 สถานี ระยะห่างระหว่างสถานีโดยเฉลี่ย 1 กม.

จุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค ทั้งนี้ในจุดที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยานั้นจะมีการขุดเจาะอุโมงค์เพื่อลอดผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 200 เมตร เพื่อเชื่อมระหว่างฝั่งกรุงเทพมหานครและธนบุรี ซึ่งถือว่าเป็นการขุดเจาะลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาครั้งแรกของประเทศไทย

นอกจากนั้นกำลังดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยาย 2 ช่วง คือ ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ
โดยส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค มีระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน ช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร มีสถานีใต้ดิน 4 สถานี คือ สถานีวัดมังกรกมลาวาส สถานีวังบูรพา สถานีสนามไชย สถานีอิสรภาพ และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับในช่วงท่าพระบางแค ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร มีสถานีจำนวน 7 สถานี คือ สถานีท่าพระ บางไผ่ บางหว้า เพชรเกษม 48 ภาษีเจริญ บางแค และสถานีหลักสอง


ส่วนช่วงบางซื่อ-ท่าพระ มีระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับทั้งหมด มี 8 สถานี คือ สถานีบางโพ บางอ้อ บางพลัด สิรินธร บางยี่ขัน บางขุนนนท์ แยกไฟฉาย และสถานีจรัญสนิทวงศ์ เริ่มต้นจากสถานีรถไฟฟ้าบางซื่อของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ผ่านแยกเตาปูนซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ เข้าสู่ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ผ่านสี่แยกบางโพ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เลี้ยวซ้ายเข้าถนนจรัญสนิทวงศ์ บริเวณโรงเรียนเทคโนโลยีพระราม 6 ผ่านแยกบางพลัด แยกบรมราชชนนี แยกไฟฉาย และสิ้นสุดที่แยกท่าพระ โดยเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค ณ จุดดังกล่าวนี้ ทั้งนี้ในจุดที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยานั้นจะมีการขุดเจาะอุโมงค์เพื่อลอดผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 200 เมตร เพื่อเชื่อมระหว่างฝั่งกรุงเทพมหานครและธนบุรี ซึ่งถือว่าเป็นการขุดเจาะลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาครั้งแรกของประเทศไทย

รถไฟฟ้าช่วงบางซื่อ - ท่าพระ ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งแบบยกระดับทั้งหมดมีลักษณะเป็นทางวิ่งรางคู่บนเสาตอม่อบริเวณเกาะกลางถนน

ทั้งนี้ นอกจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (รถไฟฟ้าใต้ดิน) ดังกล่าวแล้ว ยังมีรถไฟฟ้าอีกหลายเส้นทางที่จะเชื่อมโยงการเดินทางในเขตกรุงเทพฯและชานเมืองเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น รถไฟฟ้าบีทีเอส (รถไฟลอยฟ้า) เส้นทางหมอชิต-สำโรง ซึ่งมีจุดเชื่อมต่อกับเส้นทางบางหว้า-สนามกีฬาแห่งชาติ ช่วยให้การเดินไปทำงานของมนุษย์เงินเดือนและการเดินทางไปยังจุดต่าง ๆ ของคนกรุงเทพฯ สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ (รถไฟลอยฟ้า) เส้นทางพญาไท-สุวรรณภูมิ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปยังสนามบิน, รถไฟฟ้าสายสีม่วง (รถไฟลอยฟ้า MRT) เส้นทางบางใหญ่-เตาปูน ซึ่งเปิดให้บริการแล้ว, รถไฟชานเมืองสายสีแดง เส้นทางตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต

ปัจจุบันช่วงตลิ่งชันบางซื่อก่อสร้างเสร็จแล้วแต่ยังไม่เปิดให้บริการ และกำลังดำเนินการก่อสร้างช่วงบางซื่อ-รังสิต ซึ่งมีแผนที่จะแล้วเสร็จในปี 2563 และรถไฟฟ้าอีกหลายสายที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยเชื่อมโยงการเดินทางระบบรางในพื้นที่กรุงเทพฯและชานเมืองเข้าด้วยกัน อันเป็นกลยุทธ์สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจในพื้นที่ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของประเทศ

กล่าวได้ว่าการพัฒนาการเดินทางระบบรางแบบครบวงจรของกระทรวงคมนาคมในครั้งนี้นับเป็นการพลิกโฉมระบบรางของไทยเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ชาติอย่างแท้จริง
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 20/07/2017 12:18 pm    Post subject: Reply with quote

สนข.เร่งขนส่งสาธารณะในเมืองผุดรถรางไฟฟ้ารางเบาเชื่อมหัวเมืองหลัก
ออนไลน์เมื่อ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,279 วันที่ 16 - 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560


สนข.เร่งขับเคลื่อนแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ในเมืองหลักภูมิภาคผุดรถรางไฟฟ้า (แทรม) และรถไฟฟ้าขนาดเบาเชื่อมโยงคาดลงทุนระดับหมื่นล้าน ขอนแก่นนำร่องภาครัฐ-เอกชนมีความพร้อมร่วมลงทุน แต่ยังมีลุ้นภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา อุดรธานี สงขลา

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อยู่ระหว่างการเร่งสรุปผลการศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองหลักภูมิภาคในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี พิษณุโลก สงขลา (หาดใหญ่) โดยจังหวัดภูเก็ตจะใช้ระบบรถไฟฟ้ารางเบาเส้นทางท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทางประมาณ 41 กิโลเมตร จำนวน 21 สถานี รูปแบบการร่วมลงทุนเบื้องต้นกระทรวงคมนาคมมอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รับผิดชอบดำเนินการขั้นตอนการลงทุนก่อสร้าง และรฟม.ศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐพิจารณาเห็นชอบเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ดำเนินการ

เส้นทางในจังหวัดขอนแก่น กำหนดไว้ 5 เส้นทาง ระยะทางรวม 122 กิโลเมตร จำนวนทั้งสิ้น 93 สถานี โดยจะก่อสร้างเส้นทางสำราญ-ท่าพระ เป็นเส้นทางนำร่อง ระยะทาง 22.8 กิโลเมตร จำนวน 16 สถานี ส่วนจังหวัดเชียงใหม่มีแผนแม่บทการพัฒนารองรับไว้แล้วใน 3 เส้นทางซึ่งอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความเห็นประชาชนเป็นครั้งสุดท้ายเนื่องจากบางเส้นทางประชาชนต้องการให้จัดทำเป็นอุโมงค์เนื่องจากหวั่นว่าจะกระทบโครงสร้างของเมืองแต่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากซึ่งอาจจะกระทบต่อการใช้งบประมาณของรัฐและอาจไม่ได้รับความสนใจด้านการร่วมลงทุนของภาคเอกชนซึ่งสนข.อยู่ระหว่างการเร่งสรุปรายละเอียดดังกล่าว

ส่วนพื้นที่จังหวัดนคร ราชสีมา กำหนดไว้จำนวน 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 54.87 กิโลเมตร จำนวน 64 สถานี ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด โดยเฉพาะความสนใจของภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ เช่นเดียวกับจังหวัดสงขลา(หาดใหญ่) ได้มีการศึกษาระยะทางรวม 12.54 กิโลเมตร จำนวน 12 สถานี คาดว่าจะใช้งบก่อสร้างกว่า 8,400 ล้านบาท ขณะนี้การออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการร่วมลงทุน

M-12-3279-1
“โดยนโยบายของนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญเรื่องที่รัฐต้องเร่งพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองหลัก ดังนั้นในเบื้องต้นได้เลือก ภูเก็ต เชียงใหม่ ที่ปัจจุบันได้ตั้งบริษัทเชียงใหม่พัฒนาเมืองเพื่อเตรียมความพร้อมดำเนินการรองรับไว้แล้ว ส่วนขอนแก่นจะเร่งสรุปผลการศึกษาเดือนสิงหาคมนี้ เช่นเดียวกับจังหวัดนครราชสีมาที่ได้งบปีนี้ไปดำเนินการ ขณะนี้ผลการศึกษาคืบหน้า 15% ส่วนจังหวัดอุดรธานีได้ยื่นของบปี 2561 ไปดำเนินการ และพิษณุโลกที่มีเส้นทางรถไฟรองรับไว้แล้ว ก็จะเร่งเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) กำหนดเป็นแผนแม่บทต่อไป”

นายชัยวัฒน์กล่าวอีกว่ายังได้เน้นให้สามารถเชื่อมโหนดการพัฒนาพื้นที่สำคัญไว้ได้ทั้งหมด ในส่วนจังหวัดเชียงใหม่ มี 3 สายคือสาย สีแดง เขียว นํ้าเงิน ระยะทาง 35 กม. ช่วงต้นเดือนหน้าจะเปิดรับฟังความเห็นประชาชนที่เชียงใหม่ก่อนเสนอครม.

“สำหรับจังหวัดขอนแก่น จะใช้เป็นโมเดลในการพัฒนารูปแบบในการใช้ระบบขนส่งสาธารณะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมือง โดยจะพัฒนาสายสีแดงนำร่อง แต่สนข.ให้ทุกจังหวัดกลับไปทบทวนด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน ประการหนึ่งนั้นหากให้ รฟม.ดำเนินการน่าจะสามารถดำเนินการได้ดีกว่าที่ท้องถิ่นจะนำไปดำเนินการเองและยังให้คิดถึงความยั่งยืนในอนาคตด้วย”
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 20/07/2017 2:52 pm    Post subject: Reply with quote

ชงรถไฟฟ้าสีน้ำตาล6หมื่นล. ผ่าตัดวิกฤตจราจรแคราย-ลำสาลี
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
20 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

คมนาคมทะลวงโซนเหนือ แก้รถติดวิภาวดีฯ-เกษตร-นวมินทร์ ดันโปรเจ็กต์ยักษ์ 6 หมื่นล้าน รถไฟฟ้าสายใหม่สีน้ำตาล "แคราย-ลำสาลี" ตัดผ่าน 6 รถไฟฟ้า 6 สี พ่วงตอม่อทางด่วนขั้นที่ 3 ประชาพิจารณ์นัดแรก 26 ก.ค.เคาะรูปแบบ พ.ย.ปีนี้ เผยเชื่อมโครงข่ายโทลล์เวย์-ด่วนศรีรัช-วงแหวนตะวันตก ชี้แลนด์ลอร์ดทุนใหญ่หน้าเดิมปักหมุดจอง เจ้าสัวเจริญมากสุด

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่ง และจราจร (สนข.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า วันที่ 26 ก.ค.นี้ จะรับฟังความคิดเห็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ซึ่งเป็นโครงการมีแนวคิดจะมาทดแทนระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N1, N2 และ N3 บางใหญ่-งามวงศ์วานเกษตร-นวมินทร์-วงแหวนตะวันออก หลังตอน N1 บางใหญ่-รัตนาธิเบศร์-งามวงศ์วาน-แยกเกษตร ได้รับการคัดค้านจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำให้โครงการหยุดชะงักเมื่อปี 2556 อีกทั้งเป็นการใช้ประโยชน์เสาตอม่อ 281 ต้นบนกึ่งกลางถนนเกษตร-นวมินทร์ที่สร้างค้างมานานหลาย 10 ปี

ล่าสุดการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ปรับแผนการสร้างใหม่ จะเริ่มจาก N2 เกษตร-วงแหวนตะวันออก ระยะทาง 11.9 กม. เงินลงทุน 14,382 ล้านบาท

พ.ย.เคาะแก้รถติด
แต่ สนข.ประเมินแล้วอาจจะเกิดปัญหาจราจรตรงแยกเกษตรศาสตร์ ทางคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ สนข.ศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลและระบบทางด่วนสายเหนือตอน N2-วงแหวนรอบนอกตะวันออก รูปแบบการลงทุนโครงการไหนจะตอบโจทย์การเดินทางเชื่อมกรุงเทพฯตะวันตกกับตะวันออก และแก้ปัญหาจราจรภาพรวมได้มากสุด ภายในเดือน พ.ย.นี้จะได้ข้อสรุป
"ต้องดูการแก้จราจรภาพรวมและความคุ้มค่าการลงทุน ระหว่างการทางพิเศษฯจะสร้างทางด่วนแล้วมาด้วนอยู่ตรงแยกเกษตรจะส่งผลต่อการจราจรแค่ไหนกับสร้างรถไฟฟ้าที่มีแนวซ้อนทับกับทางด่วนช่วงเกษตร-นวมินทร์ แต่สามารถจะเป็นฟีดเดอร์ให้กับรถไฟฟ้าอีกหลายสาย อยู่ที่การสนับสนุนของคนในพื้นที่ ผลการศึกษาที่จะออกมาอีก 5 เดือน และนโยบายรัฐบาล" นายชัยวัฒน์กล่าวและว่า
บริษัทที่ปรึกษาเสนอ 4 ทางเลือก คือ

1.สร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล
2.สร้างทางด่วนเกษตร-วงแหวนตะวันออก
3.สร้างทางด่วนจากบางใหญ่-วงแหวนตะวันออก และ
4.สร้างทั้งรถไฟฟ้าและทางด่วนบนเส้นทางเดียวกัน

ลงทุน 4.5 หมื่นล้านสายสีน้ำตาล
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อปี 2556 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลและผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. แล้ว เป็นระบบไรต์เรล มีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 6 สาย แนวเริ่มจากแยกแคราย เชื่อมสายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) และสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ไปตามแนวถนนงามวงศ์วาน เชื่อมกับสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ที่สถานีบางเขน ผ่านแยกเกษตร เชื่อมกับสายสีเขียว (หมอชิต-คูคต) ที่สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วไปตามแนวถนนเกษตร-นวมินทร์ (ประเสริฐมนูกิจ)
ถนนนวมินทร์และสิ้นสุดบริเวณถนนรามคำแหง เชื่อมกับสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) บริเวณแยกลำสาลี ระยะทางรวม 21.5 กม. เงินลงทุน 44,064 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้าง 24,379 ล้านบาท งานระบบ 13,073 ล้านบาท ค่าเวนคืน 5,780 ล้านบาท และที่ปรึกษาคุมงาน 832 ล้านบาท

เปิดโผที่ตั้ง 22 สถานี
มี 22 สถานี ได้แก่
1.ศูนย์ราชการนนทบุรี ตรงข้ามไทยคม
2.งามวงศ์วาน ใกล้ ซ.งามวงศ์วาน 3
3.บัวขวัญ ตรงชุมชนวัดบัวขวัญ
4.แยกพงษ์เพชร
5.ชินเขต หน้า ซ.งามวงศ์วาน 43
6.บางเขน หน้าเรือนจำคลองเปรม
7.คุณหญิงอิศรา หน้า ม.เกษตรฯ
8.เกษตร ทางแยก
9.กรมยุทธโยธาทหารบก
10.ลาดปลาเค้า 39
11.ประเสริฐมนูกิจ 25
12.เสนานิเวศน์
13.สตรีวิทยา 2
14.ประดิษฐ์มนูธรรม บริเวณจุดตัดทางด่วน
15.คลองลำเจียก จุดตัด ถ.ลำเจียก
16.รามอินทรา-นวมินทร์ จุดตัดนวมินทร์
17.นวลจันทร์ แยกซอยนวลจันทร์ 11
18.โพธิ์แก้ว บน ถ.นวมินทร์ตัด ถ.โพธิ์แก้ว
19.นวมินทร์ 73
20.แฮปปี้แลนด์ จุดตัดนวมินทร์กับแฮปปี้แลนด์
21.การเคหะแห่งชาติ และ
22.ลำสาลี บริเวณแยกลำสาลี

จะใช้เวลาสร้าง 3 ปี มีปริมาณผู้โดยสารวันเปิดบริการปี 2564 อยู่ที่ 32,000 เที่ยวคน/วัน

รายงานข่าวกล่าวว่า ส่วนทางด่วนตอน N2-วงแหวนรอบนอกตะวันออกปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้บรรจุไว้ในแผนลงทุนเร่งด่วนปี 2560 ใช้เงินจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) คาดว่าจะเปิดใช้ปี 2564 มีปริมาณการจราจร 150,000 เที่ยวคัน/วัน แนวเริ่มจากแยกลาดปลาเค้าวิ่งตรงไปเชื่อมกับทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา แล้วสร้างซ้อนทับบนเกาะกลางถนนเกษตร-นวมินทร์ถึงแยกนวมินทร์

จากนั้นวิ่งตรงไปบนเกาะกลางถนนของกรมทางหลวง (ทล.) จนบรรจบกับวงแหวนตะวันออก ออกแบบเป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร ส่วนการเวนคืนที่ดินมีจุดใหญ่ตรงจุดตัดทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา ซึ่ง กทพ.อยู่ระหว่างเคลียร์สัญญาเช่าพื้นที่

สร้างทั้งทางด่วน-รถไฟฟ้า
"มีแนวโน้มสูงจะสร้างทั้ง 2 ระบบ ดูตามความพร้อมของโครงการ อาจจะเริ่มจากสร้างทางด่วนก่อน เพราะการทางพิเศษฯยืนยันพร้อมจะเดินหน้าโครงการ ล่าสุดมีกระแสข่าวออกมาว่าผู้บริหารการทางพิเศษฯจะขอใช้มาตรา 44 เพื่อก่อสร้างทางด่วนสายนี้ด้วย ทั้งนี้ก็ต้องสร้างส่วนต่อขยายจากแยกลาดปลาเค้าออกไปอีกไม่ให้เกิดคอขวด และเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งการทางพิเศษฯกำลังศึกษาแนวเส้นทางไปเชื่อมกับโทลล์เวย์และทางด่วน"จะสร้างเป็นทางยกระดับโดยเบี่ยงแนวอ้อมไปทางคลองบางบัวด้านหลังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เชื่อมโทลล์เวย์ หรือสร้างต่อจากแยกเกษตรผ่านหน้าโรงพยาบาลวิภาวดีแล้วเลี้ยวซ้ายคู่ขนานไปกับถนนวิภาวดีจนถึงแยกรัชวิภาแล้วบรรจบกับทางเชื่อมที่กระทรวงคมนาคมจะให้เอกชนร่วม PPP วงเงิน 6,220 ล้านบาท สร้างทางยกระดับเชื่อมโทลล์เวย์กับทางด่วนศรีรัชวงแหวนตะวันตก ระยะทาง 2.6 กม.

"ส่วนสายสีน้ำตาลเมื่อศึกษาจบ สนข. จะบรรจุโครงการไว้ในแผนแม่บทรถไฟฟ้า จากนั้น รฟม.จะออกแบบรายละเอียดเพื่อก่อสร้างต่อไป"

ทั้งนี้พื้นที่โซนนี้จะต้องมีโครงข่ายการคมนาคมใหม่ ๆ มารองรับการเดินทาง เนื่องจากปัจจุบันเมืองมีการขยายตัวมีบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียมและคอมมิวนิตี้มอลล์เกิดขึ้นมาก ส่งผลทำให้ถนนเกษตร-นวมินทร์มีการจราจรหนาแน่น 100,000 เที่ยวคัน/วัน

ปลุกที่เจ้าสัวเจริญ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ย่านถนนเกษตร-นวมินทร์ มีโครงการนวมินทร์ เฟส 1 ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี กำลังล้อมรั้วเตรียมก่อสร้างโครงการ แบบมิกซ์ยูส บนที่ดินกว่า 300 ไร่ ทำเลตรงข้ามโครงการนวมินทร์ซิตี้ อเวนิว ด้านหน้าติดถนนประเสริฐมนูกิจ หน้ากว้าง 300-400 เมตร และด้านชนกับถนนเสนานิคม มีแผนจะพัฒนาเป็นอาคารศูนย์การประชุมและแสดงสินค้า อาคารสำนักงาน โรงแรม 200 ห้อง และ ที่จอดรถกว่า 2,000 คันจะพัฒนา 2-3 เฟส ใช้งบฯลงทุนรวม 7,000-8,000 ล้านบาท เฟสแรกจะก่อสร้างอาคารศูนย์การประชุมและแสดงสินค้า พื้นที่ 200,000 ตร.ม.

บจ.เค.อี.แลนด์ของตระกูลเอี่ยมสกุลรัตน์ ผู้พัฒนาโครงการบ้านจัดสรร "คริสตัล พาร์ค" และคอมมิวนิตี้มอลล์ "เดอะ คริสตัลและซีดีซี" มีที่ดินรอพัฒนาอยู่ติด ถ.เกษตร-นวมินทร์ 15 ไร่และบริเวณจุดตัด ทางด่วนกับถนนเกษตร- นวมินทร์อีกกว่า 100 ไร่ ขณะที่กระทรวงการคลังก่อนหน้านี้เคยมีแนวคิดจะนำที่ดินเรือนจำกลางคลองเปรม 500 ไร่ เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาโคงการ มิกซ์ยูสสร้างรายได้ระยะยาว

ล่าสุด บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ เข้าไปพัฒนาโครงการ "เดอะ ซีเล็คเต็ด เกษตร-งามวงศ์วาน" คอนโดฯ ไฮไรส์ 20 ชั้น บนที่ดิน 2 ไร่ 310 ยูนิต มูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท ราคาเริ่มต้น 120,000 บาท/ตร.ม. หรือเริ่มต้น ยูนิตละ 2.9 ล้านบาท
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44325
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 23/07/2017 9:58 pm    Post subject: Reply with quote

กฟน.มั่นใจรถไฟฟ้าผุดหลายสายไม่กระทบไฟบ้าน
เดลินิวส์ เสาร์ที่ 22 กรกฎาคม 2560 เวลา 17.45 น.

พัฒนาระบบไฟฟ้ารองรับเมืองเติบโตทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑล

นายเทพศักดิ์ ฐิตะรักษา ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) กล่าวว่า กฟน.ได้มีการวางแผนพัฒนาระบบการนำจ่ายไฟฟ้าทุกๆ 5 ปี ตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจและสั่งคมแห่งชาติ และผังเมืองเพื่อรองรับการเจริญเติบโตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการซึ่งเป็นพื้นที่ให้บริการของการไฟฟ้า โดยการวางแผนรองรับนั้นจะต้องพิจารณาว่าในพื้นที่มีการก่อสร้างอะไรเพิ่มเติมขึ้นมาอาทิเช่นคอนโดมิเนียม รถไฟฟ้า ห้างสรรพสินค้าเพื่อที่จะได้วางแผนในการเพิ่มประสิทธิภาพในระบบจ่ายไฟฟ้าในเขตนั้นๆ อย่างไรก็ตามแม้ว่าในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะมีรถไฟฟ้าหลายเส้นทางเพิ่มมากขึ้นแต่การใช้ไฟฟ้าของรถไฟฟ้านั้นจะไม่กระทบต่อบ้านเรือนของประชาชน เพราะรถไฟฟ้า จะใช้ระบบไฟฟ้าแบบแรงสูงซึ่งต่างจากบ้านที่มีการแปลงสัญญาณไฟฟ้าเป็นแรงต่ำ อีกทั้งรถไฟฟ้าแต่ละสายทางจะใช้ไฟฟ้าเพียงประมาณ 20 เมกกะวัตต์ต่อเส้นทางเท่านั้น ดังนั้นกฟน.จึงมั่นใจว่าการใช้ไฟฟ้าของรถไฟฟ้าจะไม่กระทบต่อบ้านเรือนของประชาชนในเขตพื้นที่การให้บริการ อีกทั้งระบบไฟฟ้าในอนาคตก็จะมีความมั่นคงเพิ่มมากขึ้นเพราะมีการเตรียมรองรับการเจริญเติบโตของเมือง.
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคต All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 155, 156, 157 ... 277, 278, 279  Next
Page 156 of 279

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©