Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai Gallery in Facebook

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311234
ทั่วไป:13180204
ทั้งหมด:13491438
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าวรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน)
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ข่าวรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน)
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 220, 221, 222 ... 542, 543, 544  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 16/07/2017 2:46 am    Post subject: Reply with quote

การันตีรถไฟไทย-จีน1.7 แสนล. คุ้มค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง11%
ออนไลน์เมื่อ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2560
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,278 วันที่ 13 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ครม.ไฟเขียวโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมาวงเงิน 1.79 แสนล้าน รัฐลงทุนทั้งหมด เตรียมส่ง สนช.รับทราบ

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) พัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร มูลค่า 1.79 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลจะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายลงทุน 100% โดยจะเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อทราบต่อไป โดยให้ร.ฟ.ท.ดำเนินการพัฒนาโครงการรถไฟความ เร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 1 (กรุงเทพฯ-นคร ราชสีมา) วงเงิน 179,413 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินการทั้งหมด 4 ปี

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่าโครงการนี้ถือเป็นการปฏิรูประบบรถไฟครั้งสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ ภูมิเศรษฐศาสตร์ ซึ่งหากไม่ดำเนินการโครงการนี้จะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสสำคัญที่จะเชื่อมโยงเข้าสู่โครงข่ายการคมนาคมสายไหมของจีนที่เชื่อมโยงจากยุโรป-เอเชีย-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นทางรถไฟระยะทางรวม 53,700 กิโลเมตร โดยขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว 50% ซึ่งถ้าไทยไม่ก่อสร้างเส้นทางสายนี้ โอกาสที่ประเทศไทยจะเชื่อมโยงเข้ากับโครงข่ายดังกล่าวก็จะหายไป จะทำให้ประเทศไทยตกขบวนได้ ทำให้เราไม่ได้รับโอกาสทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม

นอกจากนี้ ยังมีความจำเป็นที่จะเชื่อมโยงพื้นที่พัฒนาทางเศรษฐกิจในประเทศ ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา และในอนาคตจะต่อไปถึงขอนแก่น หนองคาย และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะเปิดโอกาสทำการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวให้กับประชาชน และจะเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมกับอนุภูมิภาค ลุ่มนํ้าโขง ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้

นายกอบศักดิ์ กล่าว เส้นทางนี้จะเชื่อมต่อไปถึงจีนเป็นระยะทาง 1,800 กิโลเมตร โดยเป็นเส้นทางในประเทศไทย 647 กิโลเมตร เส้นทางใน สปป.ลาว 440 กิโลเมตร และเส้นทางในจีน 777 กิโลเมตร

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย แบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา, นครราชสีมา-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด โดยให้บริการครั้งแรกในปี 2564 จะมีรถ 6 ขบวน และในปี 2594 จะมีผู้โดยสารขั้นตํ่า 26,800 คน/วัน จะมีรถ 26 ขบวน วิ่งให้บริการทุก 35 นาที ค่าโดยสารเบื้องต้น 80+1.80 บาท/กิโลเมตร เช่น กรุงเทพ-สระบุรี จะคิด 278 บาท, กรุงเทพฯ-ปากช่อง 393 บาท, กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 535 บาท โดยจะส่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (EIRR) ที่จะเกิดขึ้นจากโครงการดังกล่าว 8.56% และหากคำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยกว้าง ได้แก่ การพัฒนาเมืองบริเวณรอบสถานีจะทำให้ EIRR อยู่ที่ 11.68%

//----------------


รฟท.อนุมัติสัญญาออกแบบรถไฟ ไทย-จีน
ออนไลน์เมื่อ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2560


ที่ประชุมคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย มีมติเห็นชอบร่างสัญญาออกแบบโครงการรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา

วันที่ 15 ก.ค.60 นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ร.ฟ.ท. เปิดเผยกับสปริงนิวส์ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ร.ฟ.ท. มีมติเห็นชอบร่างสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.5 กิโลเมตร ฉบับที่ 2.1 สัญญางานออกแบบรายละเอียดโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา มูลค่า 1,706 ล้านบาท โดย ร.ฟ.ท. จะต้องลงนามสัญญากับองค์การออกแบบรถไฟแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อจ้างฝ่ายจีนออกแบบรายละเอียดรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยจะเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาในสัปดาห์หน้า ก่อนส่งให้อัยการและคณะรัฐมนตรี พิจารณาตามลำดับ

นอกจากนี้ ได้รายงานความคืบหน้าของร่างสัญญารถไฟไทย-จีน ฉบับที่ 2.2 สัญญางานที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง ให้บอร์ดรับทราบ ซึ่งอยู่ระหว่างต่อรองค่าจ้าง คาดว่าจะสรุปตัวเลขและเสนอให้บอร์ด ร.ฟ.ท. เห็นชอบภายในไม่เกินต้นเดือนสิงหาคมนี้ และลงนามสัญญาภายในเดือนกันยายน เพื่อให้เริ่มก่อสร้างรถไฟ ไทย-จีน ช่วง 3.5 กิโลเมตรแรก สถานีกลางดง-ปางอโศกภายในเดือนตุลาคม ตามเป้าหมาย
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44325
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 17/07/2017 3:34 pm    Post subject: Reply with quote

“บิ๊กตู่” ประธานรัฐวิสาหกิจใหม่ เคลื่อนรถไฟไทยจีน-เชื่อมโลก
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 17 กรกฎาคม 2560 - 11:47 น.

โครงการรถไฟความเร็วสูง สายแรก ในประวัติศาสตร์ กำลังจะเริ่มปักหมุด ในเดือนตุลาคมปีนี้
หากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมือง คนไทยจะได้ขึ้นรถไฟความเร็วสูงจากรุงเทพฯ-นครราชสีมา ในปี 2564
หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ “โครงการรถไฟความเร็วสูง
เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-รัฐบาลจีน” ไปเมื่อ 11 กรกฎาคม 2560

โครงการนี้ผ่านการเจรจาระดับผู้นำรัฐบาลมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง ผ่านการประชุมระดับรัฐมนตรีกว่า 18 ครั้ง ในรอบ 3 ปี

รถไฟเชื่อมภูมิรัฐศาสตร์โลก

กระทรวงคมนาคม นำเสนอ ครม.ให้เห็นถึงความสำคัญของโครงการนี้ว่า เส้นทางช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟขนาดทางมาตรฐานช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา-หนองคาย มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน และสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ปัจจุบันมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และมีมูลค่าการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวกับไทยสูง

ในระดับภูมิภาคระหว่างประเทศ โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ One Belt One Road ที่จะสนับสนุนยุทธศาสตร์การสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้เชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)

เชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟด้านทิศเหนือ-ใต้ของอาเซียน กับจีนตอนใต้ตามแนวเส้นทางรถไฟสิงคโปร์-คุนหมิง เป็น Gateway ของการเป็นประตูกลุ่มประเทศศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งทางบกของประเทศไทย เชื่อมไปสู่กลุ่มประเทศที่สำคัญผ่านโครงข่ายทางรถไฟของจีนในอนาคต ซึ่งมีความสำคัญในด้านของภูมิรัฐศาสตร์โลก (Geopolitics) มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นลู่ทางการค้า-การลงทุน การท่องเที่ยวเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ไปสู่การเปิดตลาดใหม่ ๆ ได้อย่างยั่งยืน


ในระดับประเทศ จะเป็นโอกาสการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีระดับสัดส่วนมูลค่าร้อยละ 47 ของ GDP ไปสู่จังหวัดในโครงข่ายในการพัฒนา ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา และนำไปสู่เขตจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย กลุ่มจังหวัดใกล้เคียง

ในระยะที่ 2 สนับสนุนและเชื่อมโยงพื้นที่อีอีซี เปิดโอกาสการพัฒนาเมือง การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว สู่การกระจาย

ความเจริญไปสู่ภูมิภาค ลดการย้ายถิ่นฐาน สร้างงานให้คนทำงานอยู่กับครอบครัวในสังคมผู้สูงอายุในอีก 5 ปีข้างหน้า

สเป็กโครงการ 1.79 แสนล้าน

วงเงินลงทุน 179,413 ล้านบาท ซึ่งไทยจะเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ระยะทาง 253 กม. สถานียกระดับ 6 สถานี พร้อมศูนย์ซ่อมบำรุงและควบคุมการเดินรถ สถานีรถไฟเชียงรากน้อย

ใช้ระบบรถไฟฟ้า EME 6 ขบวน กำลังขับเคลื่อนสูงสุด 5,200 kW. ความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. ความจุขบวนรถ 600 ที่นั่ง/ขบวน ใช้เวลาเดินทาง กทม.-นครราชสีมา 1 ชม. 17 นาที เปิดให้บริการปีแรก (2564) คาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสาร ประมาณ 5,310 คน-เที่ยว/วัน และเพิ่มขึ้นเป็น 26,830 คน-เที่ยว/วัน ในปี 2594 รถออกทุก 90 นาที

รายละเอียดวงเงินลงทุน ประกอบด้วย 1.ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่ารื้อย้าย 13,069.60 ล้านบาท 2.ค่าก่อสร้างงานโยธา 122,593.92 ล้านบาท 3.งานระบบไฟฟ้า (M&E) 34,078.38 ล้านบาท 4.จัดหาตู้รถไฟ 4,480 ล้านบาท 5.ค่าจ้างที่ปรึกษา 5,461.34 ล้านบาท รวม 179,683.24 ล้านบาท
สำหรับอัตราค่าโดยสาร สถานีกลางบางซื่อ-นครราชสีมา 535 บาท, บางซื่อ-ปากช่อง 393 บาท, บางซื่อ-สระบุรี 278 บาท, บางซื่อ-พระนครศรีอยุธยา 195 บาท

ภาระของฝ่ายไทย คือหาเงินกู้ทั้งใน-ต่างประเทศ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข เพื่อลงทุนทั้งโครงการ 100% ทั้งนี้ ในสัญญาที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างด้านโยธา ใช้การประกวดราคาตามระเบียบไทย บริษัทผู้รับจ้างไทย

ภาระของฝ่ายจีน ประกอบด้วย 3 งานด้านการออกแบบ, การควบคุมงานโยธา, งานระบบรถไฟและการฝึกอบรม ทั้งนี้ วิศวกรไทยจะเข้ามามีส่วนร่วมด้วยเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี การเดินรถและซ่อมบำรุง จะมีการจัดตั้งบริษัทเฉพาะกิจ (SPV) ในฐานะรัฐวิสาหกิจของไทยเพื่อดำเนินงาน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า “จะไม่มีการให้สิทธิประโยชน์สองข้างทางกับจีน ไทยจะเป็นผู้พัฒนาพื้นที่และได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาทั้งหมด ร.ฟ.ท.จะเป็นผู้เดินรถ มุ่งเน้นการใช้วัสดุภายในประเทศเป็นหลัก โดยได้มีการหารือกับจีนเพื่อเปรียบเทียบคุณสมบัติวัสดุให้สามารถเทียบเคียงวัสดุที่มีการผลิตภายในประเทศ”

ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ

สำหรับปัจจัยสนับสนุนความสำเร็จของโครงการ ทั้งสภาพัฒน์ – สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ชงข้อวิเคราะห์ มาว่า ขึ้นอยู่กับการพัฒนาเมืองและการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit Oriented De-velopment :TOD) ตลอดแนวเส้นทาง เช่น บริเวณ สถานีสระบุรี 90 ไร่, สถานีปากช่อง 541 ไร่, สถานีนครราชสีมา 272 ไร่

เกิดการพัฒนาบุคลากรด้านการเดินรถและซ่อมบำรุงระบบราง, มีการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อรองรับการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟความเร็วสูง กับพื้นที่ที่รถไฟความเร็วสูงผ่าน มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูงที่เป็นธรรม และการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง

ผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในเชิงกว้าง (Wider Economic Benefit) จากผลการศึกษาของ ร.ฟ.ท. คาดว่าการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีจะมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ยประมาณ 8% แต่หากรวมกับผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนา 2 ข้างทาง ด้วยจะทำให้มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 12%

”บิ๊กตู่” นั่งประธานบอร์ดรัฐวิสาหกิจใหม่

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า ในการประชุม ครม.นั้นได้พิจารณาข้อเสนอจากกระทรวงคมนาคมที่ระบุถึงเหตุผลที่จะต้องมีบอร์ดและรัฐวิสาหกิจใหม่ ขึ้นมากำกับโครงการนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ/ระหว่างรัฐบาล (G2G) เป็นโครงการที่สำคัญ ซึ่งดำเนินการเป็นครั้งแรกในประเทศ ใช้เทคนิคชั้นสูง ต้องเจรจาการเดินรถร่วม 3 ประเทศในอนาคต จึงต้องมีหน่วยงานใหม่เทียบเท่ารัฐวิสาหกิจ ขึ้นมาดำเนินการแทนการรถไฟแห่งประเทศไทย

ดังนั้น เพื่อความคล่องตัวให้การพัฒนารถไฟความเร็วสูงตอบสนองการพัฒนาประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย มีเรื่องที่ต้องบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานในหลายกระทรวง จึงเห็นสมควรจัดตั้งกลไกการบริหารจัดการระดับชาติเพื่อการพัฒนารถไฟความเร็วสูง เหมือนกรณีการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

โดยให้มีคณะกรรมการระดับชาติ (บอร์ด) นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ให้มีคณะกรรมการบริหารโครงการ ควบคู่คณะกรรมการพัฒนาเมืองและการสร้างมูลค่าเพิ่มของรถไฟฟ้าความเร็วสูง และให้มีสำนักงานคณะกรรมการการพัฒนารถไฟความเร็วสูง อยู่ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 17/07/2017 6:11 pm    Post subject: Reply with quote

ลึกทันใจ : ตอบโจทย์ ไทยได้อะไรจากรถไฟความเร็วสูง
โดย MGR Online
14 กรกฎาคม 2560 17:40 น.
ทีมข่าวลึกทันใจ รายงาน


รายงานพิเศษ ลึกทันใจ ตอน ตอบโจทย์ ไทยได้อะไรจากรถไฟความเร็วสูง ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม NEWS1 วันศุกร์ที่ 14 กรกฎาคม 2560


หลังจากที่โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะแรก (กรุงเทพ-โคราช )ระยะทาง 253 กิโลเมตร วงเงิน 179,413 ล้านบาท ตั้งเป้าว่าจะเปิดใช้ได้ในปี2564 ผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สังคมก็เริ่มจับตาดูว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากโครงการนี้ โดยเฉพาะเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้ทีมวิศวกรของไทยว่าจะถึงขั้นผลิตรถไฟได้หรือไม่

นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้อธิบายไว้ว่า ขั้นตอนต่อไปจะต้องตกลงกันในรายละเอียดของสัญญา 2 ฉบับ คือสัญญาก่อสร้างและโยธา และสัญญาที่เกี่ยวกับการออกแบบ ควบคุมการก่อสร้าง และการวางระบบอาณัติสัญญาณ ซึงจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือนนี้ และจะเริ่มก่อสร้างได้ในภายในสิ้นเดือน ก.ย.2560 นี้ โดยสัญญาแรกการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. จะลงนามร่วมกับผู้รับเหมาซึ่งเป็นคนไทย ส่วนสัญญาฉบับที่ 2 จะลงนามร่วมกับจีน ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการในส่วนนี้ โดยสัญญาจะแบ่งเป็น 3 สัญญาย่อย คือ สัญญาการออกแบบ สัญญาการก่อสร้าง และสัญญาอาณัติสัญญาณของรถไฟ ซึ่งประกอบด้วย ตัวรถไฟ ตัวราง ตัวสถานี และระบบอาณัติสัญญาณ
สำหรับประเด็นที่เกรงกันว่าโครงการนี้ใช้เงินลงทุนสูง จะไม่คุ้มกับผลตอบแทนที่จะได้ นายพิชิต อธิบายว่า โครงการนี้จะทำให้เศรษฐกิจของไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจาก โครงการระยะที่ 2 โคราช-หนองคาย จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าของลาว ที่จะวิ่งไปคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนั้นจีนก็กำลังก่อสร้างเส้นทางรถไฟจากจีนไปยังสหภาพยุโรป ซึ่งเท่ากับในอนาคตจะมีเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟจากไทยไปถึงยุโรปด้วย แน่นอนว่าธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ การค้า การขนส่ง หรือการท่องเที่ยวของไทยและประเทศต่างๆ ในภูมิภาคแถบนี้ก็จะเติบโตตามไปด้วย

ส่วนเรื่องของการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากจีน ที่ผ่านมาจีนได้เริ่มมาระยะหนึ่งแล้ว โดยทีมวิศวกรไทยได้ไปดูงานและฝึกอบรมความรู้เกี่ยวกับระบบการเดินรถของรถไฟความเร็วสูง จากนั้นในช่วงของการก่อสร้างโดยวิศวกรจีนก็จะมีทีมวิศวกรของไทยเข้าไปดูงานภาคปฏิบัติด้วย ดังนั้นการเลือกให้จีนดำเนินโครงการและไทยศึกษาเทคโนโลยีจากจีนจึงช่วยให้ไทยไม่ต้องไปเสี่ยงลองผิดลองถูก ปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และยังช่วยประหยัดต้นทุนด้วย หากมองในอนาคตการเดินทางด้วยระบบรางของไทยจะขยายตัวขึ้นอีกมาก ทั้งรถไฟรางคู่ รถไฟวามเร็วสูง และรถไฟฟ้า ดังนั้นกระทรวงคมนาคมจึงมีแผนที่จะสร้างและพัฒนาบุคลากรในส่วนนี้ โดยเตรียมจัดตั้ง “มหาวิทยาลัยวิศวกรรมระบบราง” เพื่อผลิตบุคลากรด้านนี้มารองรับการเติบโตโดยเฉพาะอีกด้วย

จากนี้ไปหากไม่มีอะไรสะดุด อีก 4 ปี คือปี2564 คนไทยก็จะได้ใช้รถไฟความเร็วสูงเป็นครั้งแรก ก็หวังว่าทุกอย่างจะเดินไปตามแผนและคุ้มค่ากับเม็ดเงินจำนวนมหาศาลในการลงทุนโครงการนี้ ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชนด้วย

https://www.youtube.com/watch?v=UWBeIlpxTU4


แจ็คกับยักษ์จีน - ล้อเรื่องรถไฟความไวสูงไทยจีน
http://www.manager.co.th/Pjkkuan/ViewNews.aspx?NewsID=9600000072352
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 17/07/2017 6:18 pm    Post subject: Reply with quote

สบน. เตรียมแผนกู้เงินรองรับสร้างรถไฟไทย-จีน กรุงเทพ-โคราช
โดย MGR Online
17 กรกฎาคม 2560 12:03 น. (แก้ไขล่าสุด 17 กรกฎาคม 2560 12:30 น.)


สบน. เตรียมแผนกู้เงินรองรับสร้างรถไฟไทย-จีน กรุงเทพ-โคราช ย้ำภาระหนี้ ธปท.-อปท. ไม่เป็นภาระหนี้สาธารณะ ล่าสุด หนี้สาธารณะอยู่ที่ร้อยละ 42.90 ของจีดีพี

นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า สบน. เตรียมแผนการกู้เงินรองรับการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา วงเงินลงทุน 179,000 ล้านบาท รัฐบาลบรรจุแผนก่อหนี้สำหรับปี 2560 จำนวน 1,700 ล้านบาท สำหรับการจ้างที่ปรึกษาการลงทุนและออกแบบก่อสร้างรายละเอียด หลังจากนั้น จะทยอยกู้เงินตามแผนลงทุนระยะ 3-4 ปีข้างหน้า คาดว่าจะลงนามสัญญาได้ 1-2 เดือนข้างหน้า เมื่อรัฐบาลเป็นผู้ลงทุนระบบโยธาทั้งหมด ทั้งจัดหาผู้รับเหมา จัดซื้อจัดจ้าง และลงนามสัญญาได้แล้ว จะเริ่มเดินหน้าก่อสร้างปี 2561 ใช้เงินลงทุนด้านระบบขบวนรถไฟประมาณ 38,000-40,000 ล้านบาท หรืองานที่ไทยยังผลิตไม่ได้จะกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อลงทุน ขณะนี้กำลังหารือกับไชน่าเอ็กซิมแบงก์ และหารือกับธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) ของจีน โดยต้องเลือกเงื่อนไขดีที่สุด ส่วนค่าใช้จ่ายด้านระบบราง งานโยธา จะกู้เงินในประเทศเป็นหลัก

สำหรับการแก้ไขกฎหมายการบริหารหนี้สาธารณะ ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณา ย้ำชัดเจนว่า การแก้ไขนิยาม “หนี้สาธารณะ” ไม่นับรวมหนี้ของหน่วยงานภาคการเงิน (Financial Sector) ได้แก่ หนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจบริหารสินทรัพย์ และธุรกิจประกันสินเชื่อที่กระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกัน เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการของกฎหมาย เพราะ ธปท. มีกฎหมายที่มีความเป็นอิสระต่อรัฐบาล จึงไม่สามารถซื้อพันธบัตรรัฐบาล เพื่อนำเงินส่งให้รัฐบาลใช้จ่ายเหมือนในอดีต ไม่เหมือนกับธนาคารสหรัฐฯ อัดฉีดเงินแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้

ทั้งนี้ เมื่อ ธปท. มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจทำธุรกิจให้กู้ยืมเงินโดยกระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกัน โดยหลักการหนี้เงินกู้ของ ธปท. เกิดขึ้นจากการออกพันธบัตร และการดูดซับสภาพคล่องของระบบการเงิน เพื่อดำเนินนโยบายการเงินในฐานะธนาคารกลาง ซึ่งการไม่นับหนี้ของ ธปท. เป็นหนี้สาธารณะนั้น สอดคล้องกับหลักปฏิบัติของประเทศส่วนใหญ่ที่ไม่นับหนี้ของธนาคารกลางเป็นหนี้สาธารณะ (Public Debt) เช่นกัน ปัจจุบัน ธปท. มีหนี้เงินกู้ 4.26 ล้านล้านบาท (ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2560) ดังนั้น การแก้ไขกฎหมายการบริหารหนี้สาธารณะครั้งนี้จึงเป็นไปตามหลักสากล

รวมทั้งหนี้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหนี้ของหน่วยงานภาคการเงิน (Financial Sector) ที่กระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกัน ซึ่งไม่นับรวมเป็นหนี้สาธารณะตามกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ. ได้เพิ่มอำนาจให้ สบน. วิเคราะห์ติดตามสถานะหนี้ดังกล่าว เพื่อให้เห็นภาพรวมการก่อหนี้ของประเทศ ขณะนี้กำลังร่างระเบียบเสนอคณะกรรมการบริหารหนี้ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อติดตามแนะนำ และบังคับองค์กรท้องถิ่น เมื่อได้กู้เงินมาใช้ในการพัฒนาด้านต่าง ๆ อปท. กู้เงินรายใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร หรือจังหวัดต่าง ๆ ขณะนี้มีภาระหนี้เงินกู้ประมาณ 30,000 ล้านบาท และการแก้กฎหมายใหม่ไม่ทำให้ภาระหนี้สาธาณะเพิ่มขึ้น หรือลดลง ปัจจุบัน หนี้สาธารณะมีจำนวน 6.34 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.90 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44325
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 17/07/2017 10:29 pm    Post subject: Reply with quote

Wisarut wrote:
สบน. เตรียมแผนกู้เงินรองรับสร้างรถไฟไทย-จีน กรุงเทพ-โคราช
โดย MGR Online
17 กรกฎาคม 2560 12:03 น. (แก้ไขล่าสุด 17 กรกฎาคม 2560 12:30 น.)

คลังเคลียร์ทางกู้เงินรถไฟจีน พร้อมยกเครื่องพ.ร.บ.หนี้สาธารณะ
ไทยโพสต์ Tuesday, July 18, 2017 - 00:00

คลังพร้อมลุยกู้เงินอุ้มโครงการรถไฟไทย-จีน จ่อเซ็นสัญญากู้เงินล็อตแรก 1.7 พันล้านบาท ก.ค.-ส.ค.นี้ ยันไม่กระทบแผนกู้เงินในประเทศ แจงยกเครื่องกฎหมายบริหารหนี้สาธารณะ ขีดเส้นชัดครอบคลุมเฉพาะหนี้ที่เกิดจากภาคการคลัง พร้อมจัดการคุมการก่อหนี้ อปท.

นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังพร้อมกู้เงินเพื่อใช้ในโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 1 (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ที่ได้รับการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งการลงทุนโครงการนี้จะใช้เวลา 3-4 ปี โดยแผนการกู้เงินเบื้องต้นจะมีการกู้เงินตามการใช้เงินจริง ซึ่งสามารถกู้ได้ทั้งในและนอกประเทศ เพราะเม็ดเงินของโครงการประมาณ 70-80% เป็นการลงทุนด้านโยธา คาดว่าจะเป็นการใช้ภายในประเทศจากการก่อสร้างงานโยธาทั้งหมด

สำหรับที่เหลืออีก 20-30% จะเป็นการนำเข้าระบบและตัวรถที่ไม่สามารถผลิตในประเทศได้ ซึ่งการกู้เงินจากต่างประเทศก็ได้มีการหารือกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (ไชน่า เอ็กซิม) แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปเงื่อนไขการกู้เงิน เพราะยังมีเวลาในการพิจารณา

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2560 กระทรวงการคลังได้ตั้งกรอบการกู้เงินในโครงการดังกล่าวไว้ 1.7 พันล้านบาท สำหรับการว่าจ้างบริษัทจีนที่จะมาทำการสำรวจออกแบบรายละเอียดของโครงการทั้งหมด ซึ่งตอนนี้สำนักงานอัยการอยู่ระหว่างการตรวจรายละเอียดของสัญญา คาดว่าภายในเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ ก็จะสามารถลงนามในสัญญาเงินกู้

นายธีรัชย์กล่าวอีกว่า สบน.ได้เสนอแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บริหารหนี้สาธารณะ ซึ่ง ครม.อนุมัติไปเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่างกฎหมายเสร็จแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ 1.ได้แก้ไขขอบเขตและนิยามให้ชัดเจน แก้ไขคำนิยาม "หนี้สาธารณะ" โดยกำหนดให้ชัดเจนว่าไม่นับรวมหนี้ของหน่วยงานภาคการเงิน ซึ่งได้แก่หนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจบริหารสินทรัพย์และธุรกิจประกันสินเชื่อที่กระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกัน

นอกจากนี้ ยังได้แก้ไขนิยาม "รัฐวิสาหกิจ" โดยตัดรัฐวิสาหกิจประเภท (ค) ซึ่ง ได้แก่ บริษัท จำกัด และบริษัท มหาชน จำกัด ออกจาก

ส่วนประเด็นที่ 2 ปรับปรุงมาตรการกำกับดูแลหนี้สาธารณะให้มีความครอบคลุมมากขึ้น ในส่วนของหนี้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหนี้ของหน่วยงานภาคการเงิน ที่กระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกัน ได้เพิ่มอำนาจให้ สบน. ในการวิเคราะห์ติดตามสถานะหนี้ดังกล่าว เพื่อให้เห็นภาพรวมการก่อหนี้ของประเทศ

และประเด็นสุดท้ายปรับปรุงการดำเนินงานของกองทุนบริหารเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ ให้สามารถลงทุนในตราสารของ ธปท.และทำธุรกรรม Reverse Repo ซึ่งจะทำให้กองทุนมีทางเลือกมากขึ้น

พร้อมกันนี้ กระทรวงการคลังได้ทำร่างระเบียบการก่อหนี้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งกำหนดให้การก่อหนี้ของ อปท.ต้องเป็นการก่อหนี้เพื่อการลงทุนเท่านั้น ไม่ให้ก่อหนี้มาเพื่อใช้ในรายจ่ายประจำ นอกจากนี้การก่อหนี้ยังต้องสอดคล้องกับความสามารถในการหารายได้ของ อปท. เพื่อไม่ให้มีปัญหาการชำระหนี้ในภายหลัง.
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44325
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 18/07/2017 12:18 pm    Post subject: Reply with quote

สศช.หนุนรัฐลงทุนรถไฟความเร็วสูง100%
โพสต์ทูเดย์ 17 กรกฎาคม 2560 เวลา 06:48 น.

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ไทยไม่ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมาหลายสิบปี ดังนั้นการลงทุนรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) แทนนับว่าเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาว ซึ่งมองว่าการลงทุนก่อสร้างรถไฟไฮสปีดทั้ง 4 สายเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องลงทุนเอง 100% เนื่องจากความคุ้มค่าของโครงการทั้งก่อสร้างและบริหารนั้นเป็นไปได้น้อยมากจนเอกชนไม่น่าให้ความสนใจ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สศช.ได้เห็นชอบโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท และโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-ระยอง วงเงิน 2.15 แสนล้านบาทไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอกระทรวงคมนาคมส่งโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-หัวหิน วงเงิน 9.5 หมื่นล้านบาท และโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ วงเงิน 5.46 แสนล้านบาท มาให้พิจารณาต่อไป

สำหรับประเด็นด้านมูลค่าของโครงการไฮสปีดเทรนที่มีโอกาสรวมกันสูงกว่า 1 ล้านล้านบาท จนเสี่ยงว่าประเทศจะต้องเป็นหนี้ระยะยาวนั้นยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะปัจจุบันตัวเลขหนี้ภาครัฐถือว่ายังไม่สูงมากสามารถรับความเสี่ยงได้ ประกอบกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานประเภทอื่นภาครัฐไม่ต้องเข้าไปลงทุน 100% เหมือนไฮสปีดเทรนเพราะมีรูปแบบหลายด้าน

นอกจากนี้ โครงการไฮสปีดเทรนแม้ยังไม่ตอกเสาเข็ม แต่ขณะนี้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้แล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยภาพรวมคาดหวังการลงทุนภาคเอกชนจะกลับมาบวกได้ในไตรมาส 3-4
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44325
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 18/07/2017 12:27 pm    Post subject: Reply with quote

จุดพลุสระบุรี-ปากช่อง-โคราช เมืองใหม่ไฮสปีดสายอีสาน
ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 18 กรกฎาคม 2560 - 00:30 น.

การพัฒนาเมืองและการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนหรือ TOD เป็นหนึ่งในปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่จะทำให้โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ไปสู่ความสำเร็จมากขึ้น

กับการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ให้เป็นรายได้ที่ไม่ได้มาจากการเดินรถ ที่สามารถนำมาคืนทุนให้กับโครงการและทำให้มีผลตอบแทนทางการเงินดีขึ้น ที่จะดึงดูดความสนใจในการลงทุนในโครงการรถไฟ ชดเชยกับการที่รัฐบาลต้องใช้เม็ดเงิน 179,412.21 ล้านบาทลงทุนโครงการ


ในผลศึกษาระบุชัดเจนรถไฟความเร็วสูงสายอีสาน ที่ “บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ประกาศกร้าวจะเป็นสายแรกของประเทศไทย มีผลตอบแทนทางการเงิน หรือ FIRR ติดลบ แต่ในด้านเศรษฐกิจ หรือ EIRR จะอยู่ที่ 8.56%

หากเจาะลึกดูผลตอบแทน EIRR ในเชิงเศรษฐกิจทางกว้าง จากการขยายตัวเมือง พัฒนาเชิงพาณิชย์ จะอยู่ที่ 11.68% และ FIRR อยู่ที่ 2.5% ขณะที่จุดคุ้มทุนโครงการ ต้องใช้เวลามากกว่า 35 ปี

ตลอดเส้นทาง 253 กม. มีทั้งหมด 6 สถานี ได้แก่ บางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่องและนครราชสีมา โดยมี 2 สถานีสร้างบนพื้นที่ใหม่ มี “สระบุรี” อยู่ฝั่งตรงข้ามศูนย์การค้าโรบินสัน ถนนเลี่ยงเมือง ห่างจากสถานีเดิม 3 กม.และ “ปากช่อง” สร้างบนที่ราชพัสดุปัจจุบันเป็นกองการสัตว์และเกษตรกรรมที่ 2 ของกองทัพบก

จากการสำรวจมี 3 สถานีจะนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์เพื่อเพิ่มรายได้ ได้แก่ สระบุรี 90 ไร่ ปากช่อง 541 ไร่ และนครราชสีมา 272 ไร่ ขณะที่สถานีเชียงรากน้อย 1,000 ไร่ จะเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงและควบคุมการเดินรถ

ด้านรูปแบบการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานี มี 3 รูปแบบ คือ พื้นที่ในอาคารสถานี พื้นที่บริเวณส่วนต่อจากอาคารสถานีและพื้นที่อาคารนอกสถานีแต่อยู่ในเขตทาง โดยมีแนวคิดพัฒนาให้เป็นเมืองธุรกิจ หรือ CBD

โดยคาดว่าในระยะเวลา 30 ปี ทั้ง 3 สถานีจะสร้างรายได้ 31,695 ล้านบาท

นับเป็นโครงการใหญ่ สุดท้าทายยิ่งนัก
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44325
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 18/07/2017 4:57 pm    Post subject: Reply with quote

เริ่มทดสอบวิศวกรจีนสร้างรถไฟความเร็วสูง”กทม.-โคราช”ล็อตแรก 40 คน ส.ค.นี้
ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 18 กรกฎาคม 2560 - 16:15 น.

สภาวิศวกรเล็งประชุมสรุปอบรมทดสอบวิศวกรจีนปลายเดือนนี้ เริ่มสอบ 40-50 คนแรก จบ ส.ค. เน้นถ่ายทอดเทคโนโลยีตั้งแต่ออกแบบจนซ่อมบำรุง

ดร.กมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร เปิดเผยว่า รถไฟความเร็วสูงไทย-จีนช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร สภาวิศวกรได้ดำเนินการคือ 1.การเตรียมหลักสูตร อบรมทดสอบวิศวกรและสถาปนิกจีน ในการให้ความรู้เกี่ยวกับประเทศไทย ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ และความปลอดภัย รวมทั้งภัยพิบัติธรรมชาติ

2.การถ่ายโอนเทคโนโลยี ตั้งแต่การเริ่มดำเนินการ การออกแบบระบบต่างๆ การควบคุมการก่อสร้าง เดินเครื่องและบำรุงรักษา ซึ่งจะให้สถาบันการศึกษาช่วยวิจัยและพัฒนาต่อไป

นายเจตกำจร พรหมโยธี นายกสภาสถาปนิก กล่าวว่า ฝ่ายไทยรับผิดชอบโครงการในการออกแบบอาคาร สถานีรถไฟ จีนอาจจะมีการออกแบบที่ทันสมัยเพราะมีประสบการณ์มาก่อน อย่างไรก็ตามต้องอยู่ภายใต้กฎหมายควบคุมอาคาร และต้องเรียนรู้วัฒนธรรม ภูมิอากาศของประเทศไทยด้วย

ด้านศาสตราจารย์ ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวว่า การฝึกอบรมจะใช้เวลาทั้งหมด 3 วัน ทดสอบ 1 วัน โดยอบรมเรื่องกฎหมาย จรรยาบรรณและเทคนิค การถ่ายโอนเทคโนโลยี จะต้องเริ่มตั้งแต่การออกแบบ ระบุในสัญญามีการทำรายงานและเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบ

“ตามประกาศคำสั่ง ม.44 มีเวลาให้ดำเนินการ 120 วัน ซึ่งปลายเดือนนี้จะหารือกับจีนเพื่อให้ได้ข้อสรุปในการอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ในส่วนการออกแบบระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ใช้วิศวกรจีนประมาณ 40-50 คน จะต้องผ่านการอบรมและทดสอบจากสภาวิศวกรก่อนถึงจะเริ่มการก่อสร้างได้ คาดว่าจะฝึกอบรมเสร็จเดือน ส.ค.60 ข้อสอบคาดว่าจะเสร็จต้นสัปดาห์ในเดือนส.ค. 60 สภาวิศวกรมีเวลา 3 อาทิตย์ในการทำการอบรมและทดสอบให้เสร็จ โดยจะจัดฝึกอบที่สถานทูตไทยในประเทศจีน ส่วนวิศวกรที่เหลือจะทยอยเป็นรุ่น รุ่นละ 100 คน จัดอบรมทดสอบไทยบ้าง” ศาสตราจารย์ ดร.อมรกล่าวและว่า

ทั้งนี้หากไม่สามารถออกใบรับรองได้ทันก่อนลงนามสัญญา จะมีกฎหมายเขียนระบุไว้ในสัญญาการออกแบบว่า วิศวกรจีนต้องต้องผ่านการอบรมและทดสอบจากสภาวิศวกรก่อนถึงจะสามารถก่อสร้างได้ ในรูปแบบ ใบแจ้งให้ดำเนินการ (Notice to Proceed)
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44325
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 18/07/2017 11:10 pm    Post subject: Reply with quote

ระดมช่าง 100 คน เนรมิตรถไฟไทย-จีน กรมทางหลวงสั่งทำงาน 24ชม.สร้างเสร็จ 3 เดือน
ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 18 กรกฎาคม 2560 - 17:52 น.

กรมทางหลวงเนรมิตให้รถไฟไทย-จีนเฟสแรก 3.5 กม. ระดมทีมช่างระดับหัวกะทิ 4 ทีมกว่า 100 คน ลุยงาน 24 ชั่วโมง ถมคันดินสูง 4 เมตร กว้าง 12 เมตร ให้เสร็จ 3 เดือน ปั๊มผลงานชิ้นโบแดง “รัฐบาลบิ๊กตู่” ชูธงสัญลักษณ์ปักหมุดโปรเจ็กต์ ด้าน “อาคม” จัดคิวช่วงปากช่อง-คลองขนานจิตรอีก 11 กม. กดปุ่มประมูลให้จบปีนี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ดำเนินการโครงการรถไฟไทย-จีนหรือรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ในช่วงที่ 1 จากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. เงินลงทุน 179,412 ล้านบาท ขั้นตอนต่อไปกระทรวงคมนาคมจะเสนอโครงการให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา หลังจากนั้นจะดำเนินการไปตามขั้นตอนต่าง ๆ ต่อไป เพื่อจะเริ่มงานก่อสร้างในเฟสแรก 3.5 กม. จากสถานีกลางดง-ปางอโศกภายในเดือน ต.ค. 2560 นี้

“เนื่องจากเป็นโครงการที่รัฐบาลต้องการเร่งให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว จึงปรับแผนใหม่จะจ้างกรมทางหลวงเป็นผู้ก่อสร้างช่วงแรก 3.5 กม. โดยไม่ต้องเปิดประมูล วงเงิน 425 ล้านบาท ค่าก่อสร้างเฉลี่ย 121.42 ล้านบาทต่อกิโลเมตร เพราะเป็นงานไม่ยาก เป็นการถมคันดิน เพื่อให้โครงการได้เริ่มต้นในเชิงสัญลักษณ์ภายในปีนี้ ซึ่งหากให้การรถไฟฯดำเนินการเปิดประมูล อาจจะต้องใช้เวลานานอย่างน้อย 2-3 เดือน อาจจะไม่ทันที่ทั้ง 2 ประเทศตั้งเป้าหมายร่วมกันไว้ หากเริ่มสร้าง ต.ค.จะแล้วเสร็จประมาณ ธ.ค.นี้”

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า โครงการความร่วมมือรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จะดำเนินการเร่งรัดลงนามสัญญาที่ปรึกษาการออกแบบวงเงิน 1,706 ล้านบาท คาดว่าเสนอ ครม.ภายในเดือน ก.ค.นี้ และลงนามสัญญาระหว่างวันที่ 15-17 ส.ค. 2560 จะมีการประชุมรถไฟไทย-จีนครั้งที่ 20 ที่ประเทศไทย

ส่วนสัญญาที่ 2 สัญญาควบคุมงานโยธา คาดว่าจะลงนามสัญญาในช่วงต้นเดือน ก.ย. จากนั้นสามารถก่อสร้างเฟสแรก สถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม.ได้ โดยได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นผู้ประสานกรมทางหลวงในการก่อสร้างสำหรับช่วงที่เหลืออีก 3 ช่วง ได้แก่ ตอนที่ 2 ปากช่อง-คลองขนานจิตร ระยะทาง 11 กม. ตอนที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 119.5 กม. และตอนที่ 4 กรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 119.5 กม. จีนจะใช้เวลาในการออกแบบ 8 เดือน จากนั้นจะทยอยเปิดประมูลด้วยวิธีปกติต่อไป คาดว่าภายในปี 2560 จะสามารถเปิดประมูลตอนที่ 2 ได้ นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้จัดเตรียมทีมงานไว้ทั้งหมด 4 ทีม เพื่อจัดตั้งเป็นทีมพิเศษเฉพาะกิจดำเนินการก่อสร้างรถไฟไทย-จีนเฟสแรก 3.5 กม. จากสถานีกลางดง-ปางอโศก ตามที่กระทรวงคมนาคมมอบหมายให้ดำเนินการ โดยรวบรวมบุคลากรด้านวิศวกรรมระดับเกรดเอกว่า 100 คนมาก่อสร้าง อยู่ระหว่างรอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ส่งแบบรายละเอียดโครงการถึงจะเริ่มงานก่อสร้างได้

“4 ทีมแยกเป็นทีมตามสายงาน ทีมแรกดูข้อกำหนดการก่อสร้าง ซึ่งจะต้องถอดแบบรายละเอียดโครงการตามที่จีนออกแบบ ทีมที่ 2 สำรวจพื้นที่ ซึ่งได้เข้าไปสำรวจ 2-3 ครั้งแล้ว เพื่อดูเส้นทางการขนส่งวัสดุก่อสร้าง เช่น ดินลูกรัง ทีมที่ 3 เป็นชุดควบคุมการก่อสร้างทั้งหมด และทีมที่ 4 เป็นทีมการก่อสร้าง ซึ่งบุคลากรเราคัดมาจากนายช่างศูนย์ก่อสร้าง และเครื่องจักรกลมาดำเนินการ”

สำหรับรูปแบบการก่อสร้าง จะเป็นลักษณะเดียวกับงานก่อสร้างถนนที่กรมดำเนินการ เนื่องจากยังเป็นงานระยะแรก จะเป็นงานถมคันดินสูงประมาณ 4 เมตร กว้าง 12 เมตร หรือเท่ากับถนนขนาด 3 ช่องจราจร ตลอดระยะทาง 3.5 กม.

ซึ่งกรมจะเร่งงานก่อสร้างตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน “ถึงงานจะแค่ระยะสั้น ๆ แต่กรมจะทำให้เป็นมาตรฐาน ให้เป็นแบบอย่างสำหรับงานอีก 3 เฟสที่เหลือ” นายธานินทร์กล่าวย้ำ
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44325
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 20/07/2017 1:50 pm    Post subject: Reply with quote

อาคม แจงสนช.สร้างรถไฟความเร็วสูง
News Plus 20 กรกฎาคม 2560 13:31 121

เมื่อเวลา 10.00 น.ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อรับทราบรายงานของครม.ที่ลงมติเห็นชอบโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกทม.-หนองคาย (ระยะที่1 ช่วงกทม.-นครราชสีมา)ระยะทาง 253 กิโลเมตร วงเงิน179,412 ล้านบาท โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ชี้แจงที่ประชุมสนช.ว่า โครงการดังกล่าว คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ปี2564 ใช้เวลาเดินทางจากกทม.-โคราช 1 ชั่วโมง 17นาที ความเร็ว250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขนส่งผู้โดยสารได้5,310 คนต่อวัน ค่าโดยสารราคา 535 บาท เริ่มต้นที่ 80 บาท มีจำนวนรถไฟให้บริการ 11 ขบวนต่อวัน ผลประโยชน์ทางตรงที่เกิดขึ้นจากโครงการคือ การประหยัดเวลาเดินทาง การประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้รถยนต์ การลดความสูญเสียเนื่องจากอุบัติ เหตุ ขณะที่ผลประโยชน์ทางอ้อมช่วยให้เกิดการกระจายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไปยังภูมิภาคอย่างก้าวกระโดด เมื่อโครงข่ายสมบูรณ์ทั้งระบบจะเกิดการเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียนกับจีน ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค เป็นโครงการที่เหมาะสมทางเศรษฐกิจ คุ้มค่ากับการลงทุนเพื่อสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

จากนั้นเปิดให้สมชิกได้อภิปรายโดย สมาชิกสนช.ส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุนและชื่นชมรัฐบาลที่กล้าตัดสินใจดำเนินโครงการดังกล่าว อาทิ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร พล.ท.จเรศักดิ์ อานุภาพ นายยุทธนา ทัพเจริญ โดยเห็นว่า เป็นโครงการเหมาะสม ก่อให้เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจระยะยาวมหาศาล และเกิดการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค แต่ยังแสดงความเป็นห่วงเรื่องการเวนคืนพื้นที่ก่อสร้าง 2,800 ไร่ ที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นพื้นที่ใดบ้าง จะมีการประเมินราคาเวนคืนอย่างไร เรื่องการบำรุงรักษาอนาคตระยะยาว 30 ปี ที่มีตัวเลขการบำรุงรักษาสูงถึง150,000 ล้านบาท ที่ใครจะเป็นผู้จ่ายค่าบำรุงรักษา และรัฐบาลชุดนี้ต้องจ่ายเงินล่วงหน้าค่าบำรุงรักษาหรือไม่ รวมถึงเรื่องงบประมาณที่จะนำมาก่อสร้าง จะกู้มาจากแหล่งใด เรื่องแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยี เรื่องการเชื่อมเส้นทางไปยังประเทศจีน ซึ่งนายอาคมรับจะนำข้อห่วงใยต่างๆไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 220, 221, 222 ... 542, 543, 544  Next
Page 221 of 544

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©