Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai Gallery in Facebook

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311280
ทั่วไป:13261525
ทั้งหมด:13572805
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าวแผนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ 2558-65
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ข่าวแผนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ 2558-65
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 83, 84, 85 ... 121, 122, 123  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44505
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 20/07/2017 1:37 pm    Post subject: Reply with quote

"คลัง" ย้ำภาครัฐเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ
โดย MGR Online 20 กรกฎาคม 2560 13:22 น.

รมว.คลังย้ำภาครัฐเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ดึงการลงทุนเอกชนตามในปีหน้า ยอมรับเงินลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ดึงภาระหนี้สาธารณะเพิ่มเป็นร้อยละ 49 ของจีดีพี ยืนยันอยู่ในกรอบความยั่งยืน พร้อมผลักดันร่างกฎหมาย PPP คาด 3 ปีข้างหน้าเงินลงทุนภาครัฐสัดส่วนร้อยละ 15 ของจีดีพี

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเปิดงานสัมมนา "Thailand Compettive 2017" โดยระบุว่า การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทเอกชน หากศักยภาพลดน้อยถอยลงจะอยู่ลำบากสู้กับคู่แข่งไม่ได้ ศักยภาพในการแข่งขันของประเทศจึงมีความสำคัญไม่ต่างกับบริษัทเอกชนด้วยเช่นกัน เพราะหากอันดับลดลงจะแข่งขันกับต่างประเทศไม่ได้ ยิ่งล้าหลังจะตามไม่ทันหลายประเทศที่มุ่งพัฒนา นายกรัฐมนตรีจึงสั่งหน่วยงานภาครัฐรายงานความคืบหน้าการแก้ปัญหาอุปสรรค เพื่ออำนวยความสะดวกในการแข่งขันทุก 3 เดือน เพื่อหวังเพิ่มอันดับการแข่งขันของประเทศ

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลจึงกำหนดในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แก้ไขปรับปรุบอุปสรรคด้านต่าง ๆ และเดินหน้าวางแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการ ขณะนี้เริ่มลงนามสัญญาจำนวนมาก เพื่อเดินหน้าทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี) รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง สนามบิน ท่าเรือ จึงคาดว่าอันดับด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจะดีกว่าอันดับ 40 อย่างแน่อน ยอมรับว่าช่วงแรกมีการเบิกจ่ายลงทุนน้อย แต่ปีหน้าภาครัฐจะลงทุนสูงขึ้นตามแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 1.7 ล้านล้านบาท ยอมรับทำให้ภาระหนี้สาธาณะต่อจีดีพีจากร้อยละ 42 เพิ่มเป็นร้อยละ 49 แต่จะควบคุมไม่ให้เกินร้อยละ 50 เพื่อรักษาความยั่งยืนทางการคลัง คาดว่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าการลงทุนภาครัฐจะมีสัดส่วนจากร้อยละ 7-8 ของจีดีพี เพิ่มเป็นร้อยละ 15 ของจีดีพีเท่ากับมาเลเซีย

รวมทั้งการดึงให้เอกชนลงทุนตามไปด้วย เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยเข้มแข็งมาก ทั้งทุนสำรองระหว่างประเทศ การเกินดุลการค้าต่อเนื่องหลายปี เงินบาทแข็งค่าทำให้การชำระหนี้ดีขึ้น เป็นปัจจัยบวกต่อการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขัน รวมทั้งต้องการส่งเสริมเน้นการวิจัยและพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนต้องแน่นแฟ้น ต้องดึงเอกชนมาร่วมพัฒนาในด้านต่าง ๆ นอกจากนี้รัฐบาลยังเดินหน้าปรับปรุงกฎหมายการร่วมลงทุนกับภาคเอกชนแบบ PPP เพื่อแบ่งการรับความเสี่ยงร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน นำระบบ PPP Fastrack มาเป็นต้นแบบปรับแก้ไขกฎหมาย และแยกกฎหมายออกเป็น 2 ฉบับ ทั้งด้านการร่วมลงทุนเชิงพาณิชย์ และการใช้ที่ราชพัสดุนำมาพัฒนาทั้งที่เชิงพาณิชย์และเพื่อสังคม เตรียมเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย หากได้ข้อสรุปคาดว่าเสนอ ครม.พิจารณาในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า

รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงิน ผ่านนโยบายโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็ กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) เพื่อส่งเสริมให้สังคมใช้เงินสดน้อยลง เพื่อให้ร้านค้าขนาดเล็กรับชำระเงินผ่านบัตรเดบิตด้วยเครื่อง EDC และ QR Coce ในการตัดวงเงินจากบัญชีเงินฝาก จะสร้างประสิทธิภาพการใช้เงินของประเทศ เมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนนับว่าไทยคืบหน้าไปมากแม้สิงคโปร์ยังเริ่มนโยบายดังกล่าวเหมือนกับไทย และเมื่อหลายหน่วยงานพัฒนาระบบข้อมูลบล็อกเซ็นเชื่อมโยงข้อมูล จะทำให้การพัฒนาโครงสร้างทางการเงินประสิทธิภาพมากขึ้น ที่สำคัญรัฐบาลต้องเดินหน้าพัฒนาบุคคลากรรองรับความต้องการของหลายหน่วยงานและภาคเอกชนที่ต้องการแรงงานคุณภาพจากไทยแลนด์ 4.0 เพื่อเล่าเรียน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ด้านไอที ซึ่งได้แทรกซึมไปในทุกวิชา

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธาน TMA Center For Competitiveness กล่าวว่า ไทยถูกจัดอันดับให้ดีขึ้นต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน และได้เลื่อนจากอันดับ 28 ขยับมาเป็นอันดับ 27 เมื่อหลายหน่วยงานเร่งรัดแก้ไขด้านต่าง ๆ น่าจะทำให้อันดับสูงขึ้นได้ในปีต่อไปและสร้างความเชื่อมั่นมากขึ้น
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44505
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 21/07/2017 8:24 am    Post subject: Reply with quote

เมกะโปรเจ็กต์ล้านล้านรัฐลงทุน-ประชาชนรับเสี่ยง
ฐานเศรษฐกิจ 19 July 2017

Click on the image for full size

2สัปดาห์ที่ผ่านมา เมกะโปรเจ็กต์ระดับยุทธศาสตร์ หรือโครงการ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ขึ้นมาเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ เริ่มขยับอย่างมีนัยสำคัญถึง 3 โครงการในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน 1.คือ คณะกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุมเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ที่ผ่านมา อนุมัติโครงการเอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี) 4 โครงการคือ 1.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินอู่ตะเภามูลค่าการลงทุน 3.10 แสนล้านบาท 2.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2.15 แสนล้านบาท 3.ท่าเรือแหลมฉบังระยะ 3 มูลค่า 1.55 แสนล้านบาท 4.ท่าเรือมาบตาพุดระยะ 3 มูลค่า 1.01 หมื่นล้านบาท รวมมูลค่าการลงทุน 6.91 แสนล้านบาท และหารือโครงการรถไฟทางคู่เชื่อมสามท่าเรือ (แหลมฉบัง-สัตหีบ-มาบตาพุด มูลค่าการลงทุนอีก 6.4 หมื่นล้านบาท

การขยับครั้งที่ 2 คือคณะกรรมการร่วมจีซีซี ซึ่งเป็นคณะกรรมการร่วมไทย-เมียนมา โครงการทวาย หรือระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันตกจัดประชุมครั้งแรกในรอบ 2 ปี (ครั้งที่ 8) ที่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา และที่ประชุมเห็นพ้องให้พัฒนาโครงการระยะแรกให้เห็นเป็นรูปธรรมออกมาโดยเร็ว และการขยับตัวครั้งที่ 3 คือ คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทาง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา (ระยะที่ 1) ระยะทาง 253 กิโลเมตร มูลค่าลงทุน 1.79 แสนล้านบาท หลัง พล.อ. ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปลดล็อกโครงการเมื่อเดือนที่ผ่านมา เพื่อหวังนับหนึ่งโครงสร้างพื้นฐานระบบรางให้ได้ภายในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้

++แผนฯลงทุน8ปี
การตั้งต้นพัฒนาเมกะโปรเจ็กต์ ยุทธศาสตร์ข้างต้น มาพร้อมกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขึ้นมา รองรับ ซึ่งการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ ขับเคลื่อนมาตั้งแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก่อนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มาปรับเป็นแผน 8 ปี (2558-2565) มูลค่าการลงทุนรวม 1.91 ล้านล้านบาท โดยแยกเป็น 5 โครง การย่อย ประกอบด้วย แผนการพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง โครงการรถไฟฟ้าเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล 3. เพิ่มขีดความสามารถทางหลวง 4.พัฒนาโครงข่ายขนส่งทางนํ้า และ 5.เพิ่มขีดความสามารถการขนส่งทางอากาศ โดยมีเป้าหมายหลัก อาทิ ลดต้นทุนโลจิสติกส์จาก 14.4% ต่อจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) ในปัจจุบัน ให้เหลือ 2% ภาย ในปี 2570 ลดการเดินทางด้วยรถโดยสารส่วนตัวจาก 59% เหลือ 40% ในปี 2570 เป็นต้น

Click on the image for full size

++หนี้...ไม่ใช่ปัญหา
แม้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมต่อเนื่องในช่วงเวลาพร้อมกัน ตลอดระยะเวลา 8 ปีข้างหน้า แต่นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ยืนยันกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า “ไม่มีผลกระทบกับหนี้สาธารณะ” เขาขยายความว่า เนื่อง จากการก่อหนี้ได้ยืนตามกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่วางไว้ ส่วนใหญ่ (หนี้) เป็นการทยอยกู้ 5-7 ปี สูงสุดไม่เกิน 50% ต่อจีดีพี (กรอบความยั่งยืนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีต้องไม่เกิน 60% )

เช่นเดียวกับนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่าการก่อหนี้เพื่อลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ จะไม่สร้างภาระการคลังในอนาคต แต่ประเด็นที่พวกเขากังวลคือ การลงทุนเมกะโปรเจ็กต์เหล่านั้น ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ คุ้มค่าหรือไม่ ?

++ผลตอบแทนทางศก. โจทย์ใหญ่
ก่อนหน้าคณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติเห็นชอบโครงการรถไฟไทย-จีนเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของโครงการเป็นโจทย์ที่ถูกนำมาถกกันอย่างกว้างขวาง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ออกมาแถลงในประเด็นนี้หลังครม.มีมติเห็นชอบโครงการโดยยอมรับว่า โครงการนี้ผลตอบแทนทางการเงินตํ่าแต่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ อาคม อธิบายว่า โครงการรถไฟไทย-จีนจะมีผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในเชิงกว้าง โดยการพัฒนาที่ดินของร.ฟ.ท.รอบสถานี นครราชสีมา-ปากช่อง-สระบุรี ทำให้ eirr ของโครงการอยู่ที่ 8.56% เมื่อมีการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรอบจากการเติบโตของเมืองอยู่ที่ 11.68%

อะไรคือผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ? ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้าเจ้าหน้าที่กลยุทธ์องค์กร ธนาคารทหารไทย ขยายความว่า การมองความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจจากการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ คือผลที่มีต่อเศรษฐกิจโดยรวม มีผลให้เกิดเป็นภาษีกลับมายังรัฐ ส่วนความคุ้มทุนนั้น อาจมองจากความคุ้มทุนช่วงลงทุน เช่นมีการจ้างงานในระยะยาวหรือไม่ และมีความคุ้มทุนในระยะยาวอย่างไร “ส่วนโครงการรถไฟไทย-จีนแผนขนส่งชัดแต่แผนเศรษฐกิจที่จะทำให้โครงการคุ้มค่าผมยังไม่เห็น”

วันนี้โครงการรถไฟไทย-จีน นับหนึ่งอย่างเป็นทางการแล้ว ด้วยฝันของรัฐบาลจะใช้เป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับเส้นทางสายไหมยุคใหม่ของจีน โยงไปสู่โลก และจะดันให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่การคาดการณ์ว่าการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์หลัก “มูลค่านับล้านล้านบาท” ในช่วง 8 ปีข้างหน้าจะเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้ประเทศ ยังต้องรอการพิสูจน์ และเมกะโปรเจ็กต์ที่จะทยอยตามโครงการรถไฟไทย-จีนออกมา คงถูกตั้งคำถามเดียวกันว่า คุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือไม่ และจะช่วยมูลค่าเพิ่มให้ประเทศได้อย่างไร? เป็นคำถามที่รัฐบาล มีหน้าที่ให้คำตอบ ไม่ใช่ผลักภาระให้ประชาชนไปเสี่ยงโชค ลุ้นคำตอบในอนาคตกันเอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,279 วันที่ 16 - 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44505
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 21/07/2017 8:32 am    Post subject: Reply with quote

"อภิศักดิ์" ย้ำชัด ให้มองกันยาวๆ เมกะโปรเจกต์ดันเศรษฐกิจพุ่ง
โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 21 ก.ค. 2560 05:15

รัฐลุ้นตัวโก่ง 2 ปีจีดีพีโต 16%

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยในงานสัมมนา Thailand Competitiveness Conference 2017 : Reinforcing the Foundation for Competitiveness ซึ่งจัดโดยสมาคมจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ TMA ว่า ขณะนี้ไทยยังได้รับการจัดอันดับเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ค่อยดีนัก โดยเฉพาะประสิทธิภาพของธุรกิจและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งรัฐบาลพยายามเร่งผลักดันให้มีการพัฒนาขึ้นเพราะตลอด 20-30 ปีที่ผ่านมาไทยมีภาคธุรกิจที่เข้มแข็งและเป็นผู้นำหลักในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศได้ แต่สถานการณ์ในปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเพราะปัญหาการเมืองในประเทศที่ทะเลาะกันมานานถึง 10 ปี ทำให้การลงทุนภาคเอกชนชะงักงัน สิ่งที่สำคัญตอนนี้ คือรัฐบาลพยายามผลักดันให้เอกชนเร่งปรับตัวเร่งลงทุน

"รัฐบาลจึงกำหนดในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แก้ไขปรับปรุงอุปสรรคด้านต่างๆ และเดินหน้าวางแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการ ซึ่งขณะนี้เริ่มลงนามในสัญญา ทั้งเดินหน้าโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง สนามบินและท่าเรือ เป็นต้น จึงคาดว่าอันดับด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอีก 2 ปีข้างหน้าจะดีกว่าอันดับ 40 โดยปีหน้าภาครัฐจะลงทุนสูงขึ้นตามแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งจะทำให้ภาระหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นจาก 42% เป็น 49% แต่ก็ไม่ให้เกิน 50%ของจีดีพี เพื่อรักษาความยั่งยืนทางการคลัง โดยคาดว่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าการลงทุนภาครัฐจะมีสัดส่วนจาก 7% ของจีดีพี เพิ่มเป็น 15% ของจีดีพีเท่ากับมาเลเซีย"

นายอภิศักดิ์กล่าวว่า เรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันถือเป็น 1 ใน agenda 20 ปีของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ล่าสุด World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development : IMD ได้จัดอันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยดีขึ้น 1 อันดับ ปีก่อนอยู่ที่อันดับ 28 ปีนี้ ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 27.
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44505
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 07/08/2017 3:04 pm    Post subject: Reply with quote

'พิชิต'แนะพัฒนาบุคลากรรับลงทุนระบบราง
INN News ข่าวเศรษฐกิจ วันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2560 13:59 น.

รมช.คมนาคม แนะเดินหน้าพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้าน รับโครงการลงทุนระบบรางในอนาคต
นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวปาถกฐาพิเศษ ในการประชุมผู้บริหารด้านการพัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้ที่สำคัญผ่านเครือข่ายสถาบันวิชาการขนส่งทางราง ว่า ในอนาคตการคมนาคมขนส่งทางรางจะมีความสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศไทย และคาดประเทศไทยจะมีความต้องการบุคลากรระบบขนส่งทางรางเป็นจำนวนมาก ทั้งวิศวกร ช่างเทคนิค และสาขาอื่นๆ เข้ามารองรับ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องเร่งผลิตและพัฒนาบุคลากรระบบรางให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะ ผู้เชี่ยวชาญและช่างเทคนิคด้านการบำรุงรักษาระบบรางและการจัดการระบบราง เพื่อรองรับโครงการรถไฟทางคู่ และรถไฟฟ้า 11 สายใน กทม. และปริมณฑล ที่ขณะนี้รัฐบาลได้ดำเนินการอยู่

อย่างไรก็ตาม จากแผนแม่บทการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบขนส่งทางรางของประเทศไทย ปี 2558 – 2565 ครอบคลุม โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานคร ในอนาคตไทยจะมีโครงการลงทุนที่เกี่ยวกับระบบรางมากขึ้น ดังนั้นควรจะพัฒนาให้มีความพร้อม
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44505
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 08/08/2017 8:29 am    Post subject: Reply with quote

กางแผนซื้อรถไฟดันรายได้
โพสต์ทูเดย์ 08 สิงหาคม 2560 เวลา 08:12 น.

รฟท.เคาะแผนจัดซื้อรถไฟรองรับ 16 เส้นทางใหม่ หวังเพิ่มรายได้ปีละ 5,400 ล้าน

นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม เปิดเผยในงานโครงการพัฒนาเครือข่ายสถาบันวิชาการระบบขนส่งทางราง (Thailand Rail Academy) ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เตรียมแผนการลงทุนระยะ 8 ปี (2561-2568) เพื่อรองรับเส้นทางรถไฟทางคู่รวม 16 เส้นทาง ระยะทางรวม 3,169 กิโลเมตร (กม.) โดยจะจัดซื้อรถไฟ 286 คัน ภายในปี 2563 ประกอบด้วย การจัดซื้อรถไฟดีเซลจำนวน 186 คัน การจัดซื้อรถจักรเพิ่มขึ้น 75% จำนวน 100 คัน จากเดิมที่มี 130 คัน ตลอดจนการเช่าและซ่อมบำรุงรถจักรอีก 50 คัน

ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายภายในปี 2568 จะสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับ รฟท.ไม่ต่ำกว่า 5,453 ล้านบาท จากความสามารถการขนส่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 6 ล้านคน/ปี และสินค้า 20.9 ล้านตัน/ปี ประกอบด้วย รายได้จากการขนส่งคอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้น 1,500 ล้านบาท รายได้จากการขนแร่เหล็กเพิ่มขึ้น 1,309 ล้านบาท รายได้จากการขนส่งถ่านหินเพิ่มขึ้น 1,325 ล้านบาท รายได้จากการขนสินค้าแร่โปแตสเพิ่มขึ้น 825 ล้านบาท รายได้การขนส่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 493 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมต้องการส่งเสริมให้เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งมาใช้ระบบรางมากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวจากปัจจุบันที่มีสัดส่วนเพียง 1.42% เป็นการแก้ปัญหาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ โดยตั้งเป้าลดต้นทุนขนส่ง 100% จากปัจจุบันมีอัตราเฉลี่ย 2.12 บาท/ตัน/กม. ในระบบถนน ให้เหลือเพียง 0.95 บาท/ตัน/กม. บนระบบราง เบื้องต้นคาดว่าภายในปี 2565 ระบบรางของไทยจะพร้อม

นายพิชิต กล่าวปาฐกถาเรื่อง "โอกาสของการยกระดับศักยภาพของบุคลากรไทยผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งทางราง" ว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมทางรางของชาติต้องเร่งผลิตบุคลากรขึ้นมา เพื่อรองรับทั้งโครงการรถไฟฟ้าเมืองหลวงและภูมิภาค โครงการรถไฟทางคู่ รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง ดังนั้น ในอีก 5 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะต้องการเพิ่มบุคลากรทางรางอีก 3 หมื่นคน จากปัจจุบันมีจำนวนอยู่ที่ 1 หมื่นคน ประกอบกับปัจจุบันสถาบันที่ผลิตบุคลากรกลุ่มนี้ มีไม่กี่แห่ง ได้แก่ โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยหอการค้า มหาวิทยาลัยรังสิต และสถาบันอาชีวศึกษา 12 แห่ง รวมแล้วผลิตบุคลากรได้ปีละประมาณ 1,000 คน

สำหรับแนวทางการถ่ายทอดเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมทางรางเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขในสัญญาโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย โดย เบื้องต้นรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนจะร่วมลงทุนจัดตั้งบริษัทเดินรถและซ่อมบำรุง การจะพัฒนาหรือสร้างบุคลากรทางระบบรางให้มีคุณภาพนั้น องค์ความรู้ต่างๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญ อาทิ การสร้างระบบราง ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบการควบคุมสถานี การควบคุมรถ เป็นต้น ดังนั้น จึงต้องร่วมกันคิดว่าจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบรางอย่างไรที่จะทำให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะการผลิตบุคลากรแต่ละประเภทต้องลงทุน ทั้งอุปกรณ์ และเครื่องมือในการเรียนรู้ วิจัย และพัฒนา ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูงดังนั้นสถาบันการศึกษาแห่งเดียวคงไม่สามารถทำได้ จึงต้องกำหนดว่าสถาบันใดจะรับผิดชอบผลิตบุคลากรในด้านใดบ้าง
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44505
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 21/08/2017 12:49 pm    Post subject: Reply with quote

เมกะโปรเจค '8แสนล้าน' ส่อหลุดเป้า
กรุงเทพธุรกิจ 21 สิงหาคม 2560

เมกะโปรเจค "คมนาคม" ระยะเร่งด่วน ส่อหลุดเป้าเดินหน้า 36 โครงการ ลงทุนรวม 8.95 แสนล้านปีนี้ หลัง 8 เดือน ทำได้เพียง 6 โครงการ มูลค่า 4.3 หมื่นล้าน

กระทรวงคมนาคมเปิดฉากปี 2560 ด้วยแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน (Action plan) ซึ่งบรรจุการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานไว้ 36 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 895,757.55 ล้านบาท

กรุงเทพธุรกิจ สำรวจพบผ่านมาร่วม 8 เดือน สามารถดำเนินการตามเป้าหมายเพียง 6 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 43,818.67 ล้านบาท ต้องลุ้นว่า กระทรวงคมนาคมจะผลักดันโครงการที่เหลือได้มากน้อยเพียงใดในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้
สำหรับ Action plan 2560 จำนวน "6 กลุ่มงาน" มีความคืบหน้าดังนี้

กลุ่มที่ 1 โครงการที่ตั้งเป้าหมายพร้อมเปิดให้บริการ มูลค่ารวม 219.66 ล้านบาท ขณะนี้เป็นไปตามแผน 1 โครงการจากทั้งหมด 2 โครงการ ได้แก่
1.โครงการพัฒนาท่าเรือเฟอรี่เชื่อมโยงอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออกและตะวันตก (พัทยา-หัวหิน) เปิดให้บริการแล้วตั้งแต่เดือน ม.ค. ที่ผ่านมา และ
2.โครงการบริหารจัดการตั๋วร่วม มูลค่า 219.66 ล้านบาท เลื่อนเวลาเปิดให้บริการจากเดือน มิ.ย. เป็นเดือน ต.ค. นี้

กลุ่มที่ 2 โครงการที่ตั้งเป้าหมายจะเริ่มก่อสร้าง มูลค่า54,798.5ล้านบาท ขณะนี้เป็นไปตามแผน 1 โครงการ จากทั้งหมด 5 โครงการ ได้แก่
1.ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงราย มูลค่า 2,365.81 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา
2.การพัฒนาท่าอากาศยานในภูมิภาคระยะแรก4แห่ง มูลค่า 7,685.50 ล้านบาท ปัจจุบันท่าอากาศยานแม่สอด จ.ตาก และท่าอากาศยานเบตง จ.ยะลา อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ท่าอากาศยานกระบี่คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปี 2561 ส่วนท่าอากาศยาน จ.สกลนคร มีผู้โดยสารไม่หนาแน่น จึงสามารถรอการพัฒนาได้

3.ทางพิเศษ (ทางด่วน) พระราม3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก มูลค่า 31,244 ล้านบาท ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา คาดเปิดประมูลภายในเดือน ต.ค. และเริ่มก่อสร้างเดือน ธ.ค.2560 แต่มีแนวโน้มว่าการก่อสร้างจะล่าช้าเป็นเดือน มี.ค.2561

4.รถไฟทางคู่หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ มูลค่า 10,239.58ล้านบาท เตรียมเสนอรายชื่อผู้ชนะการประมูลให้คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด ร.ฟ.ท.) เห็นชอบ คาดจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปีนี้ และ5.การปรับปรุงระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระอาคารผู้โดยสารหลักท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มูลค่า 3,263.61 ล้านบาท อยู่ระหว่างเปิดประมูลและจะทราบผลในเดือน ต.ค. นี้

กลุ่มที่ 3 โครงการที่เริ่มประกวดราคาได้ 15 โครงการ มูลค่า 468,564.48 ล้านบาท ขณะนี้ยังไม่มีโครงการใดเป็นไปตามเป้าหมาย ได้แก่
1.การจัดซื้อรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) ไฟฟ้า 200 คัน พร้อมก่อสร้างสถานีประจุไฟฟ้า มูลค่า 2,272.22 ล้านบาท ยังไม่เริ่มประกวดราคา
2.รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 มูลค่า 21,197 ล้านบาท อยู่ระหว่างทบทวนรายละเอียดและเตรียมเสนอโครงการให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา

ด้านการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 เส้นทางถูกชะลอไว้ เพื่อรอความชัดเจนเรื่องการโอนทรัพย์สินระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้แก่
3.รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ช่วงสมุทรปราการ-บางปู มูลค่า 12,146 ล้านบาท
4.รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ช่วงคูคต-ลำลูกกา มูลค่า9,803ล้านบาท
5.รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มูลค่า123,354ล้านบาท อยู่ระหว่างทบทวนรูปแบบการประมูล

6.รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ส่วนต่อขยายช่วงดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท มูลค่า 31,149.35 ล้านบาท อยู่ระหว่างทบทวนรูปแบบการประมูล คาดเปิดประมูลพร้อมรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 ท่าอากาศยานในเดือน พ.ย. นี้
7.รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มูลค่า 7,596.94 ล้านบาท อยู่ระหว่างขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ด้านรถไฟทางคู่ 6 โครงการผ่านความเห็นชอบจากบอร์ดการรถไฟฯ แล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงคมนาคม ได้แก่
8.โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย มูลค่า 56,066.25 ล้านบาท
9.โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี มูลค่า 35,839.74 ล้านบาท
10.โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย มูลค่า 26,065.75 ล้านบาท
11.รถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี มูลค่า 23,384.91 ล้านบาท
12.รถไฟทางคู่ ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา มูลค่า 51,823.28 ล้านบาท
13.รถไฟทางคู่ ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ มูลค่า 7,941.80 ล้านบาท

14.รถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ มูลค่า 59,924.24 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาของการรถไฟฯ และ 15.ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่สนามบินอู่ตะเภา อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ

กลุ่มที่ 4 โครงการที่มีเป้าหมายจะนำเสนอ ครม. หรือคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) 8 โครงการ มูลค่ารวม 298,004.67 ล้านบาท ขณะนี้ยังไม่มีโครงการใดเป็นไปตามเป้าหมาย ได้แก่
1.รถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มูลค่า 76,978.82 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดสภาพัฒน์)
2.รถไฟทางคู่ ช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม มูลค่า60,351.91ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงคมนาคม คาดเสนอให้ ครม. เห็นชอบได้เดือน ต.ค.

3.รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา มูลค่า 19,042.13 ล้านบาท อยู่ระหว่างขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
4.ท่าเรือแหลมฉบังเฟส3 มูลค่า 35,099.54 ล้านบาท อยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) 5.ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 และ East-West Corridor ด้านตะวันออก มูลค่า 14,382 ล้านบาท อยู่ระหว่างทบทวนรายงานความเหมาะสมและคาดว่าจะเสนอ ครม. ในเดือน พ.ย. นี้

6.ทางด่วน ช่วงกระทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต มูลค่า 10,496.65 ล้านบาท อยู่ระหว่างพิจารณารายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA)
7.ทางพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ช่วงนครปฐม-ชะอำ มูลค่า 80,600 ล้านบาท เตรียมเสนอรายงานพีพีพีให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา
8.โครงการศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม มูลค่า 1,053.62 ล้านบาท กระทรวงคมนาคมเห็นชอบรายงานพีพีพีและเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาแล้ว

กลุ่มที่ 5 โครงการที่ตั้งเป้าหมายให้เตรียมข้อเสนอโครงการแล้วเสร็จ มูลค่ารวม 48,985.56 ล้านบาท ขณะนี้เป็นไปตามแผน 2 โครงการ จากทั้งหมด 4 โครงการ ได้แก่
1.การพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่เชื่อมอ่าวไทยตอนบน ฝั่งตะวันออก-ตะวันตกในระยะยาว ของกรมเจ้าท่า (จท.) มูลค่า981.70ล้านบาท อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสม
2.มอเตอร์เวย์ ช่วงหาดใหญ่-ชายแดนไทย-มาเลเซีย มูลค่า 30,500 ล้านบาท อยู่ระหว่างจัดทำรายงานพีพีพีให้เสร็จภายในปีนี้

ด้านการศึกษาโครงการพัฒนาสถานีขนส่ง 2 โครงการเสร็จเรียบร้อยแล้ว เตรียมเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา ได้แก่ 3.โครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาคชายแดน 9 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย ตาก หนองคาย มุกดาหาร สระแก้ว ตราด กาญจนบุรี สงขลา และนราธิวาส มูลค่า 8,065.84 ล้านบาท และ4.โครงการพัฒนาสถานีขนส่งภูมิภาคเมืองหลัก 8 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี ปราจีนบุรี และสุราษฎร์ธานี มูลค่า 9,438.02 ล้านบาท

กลุ่มที่ 6 โครงการสำคัญที่ตั้งเป้าหมายจะผลักดัน วงเงิน 24,049 ล้านบาท ขณะนี้เป็นไปตามเป้าหมาย 2 โครงการ ได้แก่
1.การก่อสร้างจุดพักรถบรรทุก 3 แห่ง ที่บุรีรัมย์ อุบลราชธานี และกำแพงเพชร มูลค่า 450 ล้านบาท ซึ่งได้รับงบประมาณดำเนินการในปี 2561 แล้ว และ
2.โครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต มูลค่า 23,499ล้านบาท ซึ่ง รฟม. เตรียมว่าจ้างที่ปรึกษาจัดทำรายงานพีพีพี

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมเหลือโครงการสำคัญที่ตกค้างจาก Action Plan 2559 ซึ่งยังไม่คืบหน้ามากนัก ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-หัวหิน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สคร. เพื่อให้เปิดประมูลได้ภายในปีนี้

โครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-ญี่ปุ่น เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ซึ่งมีแผนจะสรุปผลการศึกษาภายในเดือน ส.ค. นี้ และขณะนี้ยังไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจน โครงการรถไฟไทย-จีน เฟส 1 เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว ตั้งเป้าจะตอกเสาเข็มภายในปีนี้ รวมถึงโครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ซึ่งต้องขออนุมัติงบประมาณก่อสร้างจาก ครม. เพิ่มเติม
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44505
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 22/08/2017 5:10 pm    Post subject: Reply with quote

ทิศทางการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564)
ข่าวการเมือง มติคณะรัฐมนตรี -- อังคารที่ 22 สิงหาคม 2560 16:22:50 น.

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ทิศทางการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) ดังนี้

1. ภาพรวม : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศ มีประชากร 1 ใน 3 ของ
ประเทศ แต่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เพียง 1 ใน 10 ของประเทศ เนื่องจากมีข้อจำกัดของปัจจัยพื้นฐานทั้งด้านน้ำและคุณภาพดิน ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งมีอาชีพและรายได้จากการทำการเกษตรต้องประสบปัญหาความยากจนจึงขาดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งด้านสุขภาพและการศึกษา ส่งผลทำให้ติดกับดักอยู่ในวงจรของความยากจนไม่สามารถหลุดพ้นได้

2. ปัญหาและประเด็นท้าทาย : ที่สำคัญได้แก่ การขาดแคลนน้ำทั่วทั้งภาคและประสบปัญหา
ภัยแล้งซ้ำซาก มีคนจนจำนวนมาก มีปัญหาไอคิวต่ำในเด็ก และมีปัญหาโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี เศรษฐกิจของภาคมีขนาดเล็กและมีอัตราการขยายตัวต่ำ ภาคการผลิตหลักด้านเกษตรยังพึ่งพาธรรมชาติจึงมีผลิตภาพต่ำ อุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นการแปรรูปเกษตรขั้นต้น มีมูลค่าเพิ่มต่ำ การลงทุนใหม่ ๆ มีน้อย การค้าชายแดนเป็นการส่งสินค้าออกที่ผลิตจากนอกภาค ทรัพยากรการท่องเที่ยวยังเข้าถึงได้ยากและขาดสิ่งอำนวยความสะดวก

3. ศักยภาพและโอกาส : การพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือในระยะต่อไป มีศักยภาพและ
โอกาสที่เด่นชัดจากการมีพื้นที่ทำการเกษตรขนาดใหญ่ มีประชากรวัยแรงงานมาก มีมหาวิทยาลัยวิจัยตั้งอยู่ในพื้นที่ 12 แห่ง ซึ่งมีความสามารถเฉพาะทางที่โดดเด่น อาทิ มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความเก่งด้านสาธารณสุขและเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเก่งด้านวิศวกรรมศาสตร์และแปรรูปอาหาร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสกลนครเก่งด้านเกษตรและประมง รวมทั้งการมีโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศสู่ภาค อาทิ โครงข่ายรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง มีพื้นที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม ที่มีการจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว

4. แนวคิดและทิศทาง : การพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไปสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

จำเป็นจะต้องแก้ไขปัญหาพื้นฐานควบคู่ไปกับการพัฒนาการวิจัยเพื่อใช้ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในภาคให้มีการเจริญเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมทั้งใช้โอกาสจากปัจจัยภายนอกมาช่วยขับเคลื่อนโดยเฉพาะโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับโครงข่ายระบบการคมนาคมขนส่งและพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงและข้อตกลงกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) ที่กำลังมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมาเสริมสร้างกิจกรรมการพัฒนาใหม่ ๆ ให้แก่ภาคเพื่อให้มีอัตราการเติบโตที่สูงเพียงพอต่อการลดความแตกต่างเหลื่อมล้ำกับพื้นที่ส่วนอื่น ๆ ของประเทศได้ในระยะยาว โดยมุ่งพัฒนาอีสานสู่มิติใหม่เป็น “ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” โดยมีวัตถุประสงค์ เป้าหมาย แนวทางการพัฒนา และข้อเสนอแผนงงาน/โครงการเบื้องต้น ดังนี้

4.1 วัตถุประสงค์
(1) เพื่อแก้ปัญหาปัจจัยพื้นฐานด้านน้ำและดิน ให้เอื้อต่อการประกอบอาชีพ การดำรงชีพ และการพัฒนาเศรษฐกิจของภาค

(2) เพื่อดูแลช่วยเหลือคนจน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี พึ่งพาตนเอง พึ่งพาครอบครัว และพึ่งพากันในชุมชนได้

(3) เพื่อยกระดับการผลิตและการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สนับสนุนให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคไม่ต่ำกว่าระดับประเทศ

(4) เพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าของระบบเศรษฐกิจภาคเข้ากับระบบเศรษฐกิจของประเทศ และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

(5) เพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และมีบทบาทสนับสนุนประเทศเป็นศูนย์กลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

4.2 เป้าหมายและตัวชี้วัด
(1) พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งลดลง พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น ปริมาณกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้น
(2) สัดส่วนคนจนลดลง
(3) อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่าระดับประเทศ
(4) มูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มขึ้น
(5) รายได้การท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น
4.3 แนวทางการพัฒนา 5 แนวทาง
(1) บริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ได้แก่ การพัฒนาประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำในแหล่งน้ำเดิมและแหล่งน้ำธรรมชาติ การสร้างอ่างเก็บน้ำฝาย และแหล่งน้ำขนาดเล็กระดับไร่นา พัฒนาระบบกระจายน้ำ เช่น อาคารบังคับน้ำ ระบบสูบน้ำ คลองส่งน้ำและพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ในลุ่มน้ำเลย ชี มูล

(2) แก้ปัญาความยากจนและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ได้แก่ พัฒนาอาชีพและรายได้ของคนยากจน พัฒนาคุณภาพชีวิตและจัดสวัสดิการให้แก่ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส แก้ปัญหาโรคพยาธิใบไม้ในตับและมะเร็งท่อน้ำดี พัฒนาโภชนาการแม่และเด็ก

(3) สร้างความเข้มแข็งของฐานเศรษฐกิจภายในควบคู่กับการแก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเร่งพัฒนาการศึกษาวิจัยเพื่อยกระดับสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ การเพิ่มศักยภาพ การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์และอาหารปลอดภัย พัฒนาพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพสูง ขยายการเลี้ยงโคเนื้อและโคนมคุณภาพสูง พัฒนา Food Velley เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารครบวงจรที่จังหวัดนครราชสีมา ยกระดับการผลิตผ้าไหมและผ้าฝ้ายย้อมครามสู่สินค้าแฟชั่น เสริมสร้างความเข้มแข็งธุรกิจ SMEs และวิสาหกิจชุมชน และพัฒนาการท่องเที่ยววัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงและการกีฬาสู่นานาชาติ

(4) ใช้โอกาสจากการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงกับพื้นที่เศรษฐกิจหลักในภาคกลางและพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ๆ ของภาค โดยเร่งพัฒนารถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ – หนองคาย รถไฟทางคู่บ้านไผ่ – นครพนม ทางหลวงพิเศษ ระหว่างเมืองบางปะอิน – นครราชสีมา และนครราชสีมา – ขอนแก่น พัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ๆ รอบสถานีขนส่งระบบรางที่ ขอนแก่น นครราชสีมา ปรับปรุงสนามบินอุดรธานี อุบลราชธานี บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด นครราชสีมา และขอนแก่น

(5) พัฒนาความร่วมมือและใช้ประโยชน์จากข้อตกลงกับประเทศเพื่อนบ้านในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจตามแนวชายแดนและแนวระเบียงเศรษฐกิจ ได้แก่ พัฒนาด่าน CIQ ให้ได้ มาตรฐานสากล ก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 บึงกาฬ – ปากซัน พัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ มุกดาหาร นครพนม หนองคาย ให้มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน และมีระบบบริการพิธีการผ่านแดนแบบ One – Stop Service

5. แผนงาน/โครงการ : กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอแผนงาน/โครงการเบื้องต้นในการขับเคลื่อนทิศทางการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) สรุปได้ ดังนี้

(1) การบริหารจัดการน้ำ โดยพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่นอกเขตชลประทาน เพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำในพื้นที่ชลประทาน ระบบการกระจายน้ำเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ พัฒนาระบบป้องกันน้ำท่วมและแก้ปัญหาภัยแล้ง พื้นที่เกษตรได้รับประโยชน์ จำนวน 543,948 ไร่ ประชาชน 542,057 ครัวเรือน เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำกักเกบอีก 3,763 ล้านลูกบาศก์เมตรและพื้นที่รับประโยชน์ 10.2 ล้านไร่

(2) การแก้ไขปัญหาความยากจน และพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยจัดหาที่ดินทำกินให้คนจนฝึกอาชีพสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตสำหรับคนจน จัดสวัสดิการผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาส พัฒนาที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อยตามโครงการบ้านมั่นคง

(3) การพัฒนาด้านการเกษตร โดยการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ เกษตรแปลงใหญ่ รวมทั้ง ปรับเปลี่ยนไปสู่สินค้าเกษตรชนิดใหม่ตามศักยภาพของพื้นที่ ยกระดับคุณภาพสินค้า พื้นที่ได้รับประโยชน์ 2,076,009 ไร่ เกษตรกร 171,472 ราย

(4) การขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสู่ชุมชนโดยติดตั้งบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบไร้สาย งบประมาณ 13,760 ล้านบาท ครอบคลุม 20 จังหวัด

(5) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ รถไฟความเร็วสูงไทยจีน กทม. – นครราชสีมา – หนองคาย โครงข่ายรถไฟทางคู่ ขนาด 1 เมตร จำนวน 6 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ ช่วงชุมทางถนนจิระ – อุบลราชานี ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ช่วงอุบลราชานี – มุกดาหาร และช่วงบ้านไผ่ – นครพนม ก่อสร้างขุดพักรถบรรทุกโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง บางปะอิน – สระบุรี – นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร และ นครราชสีมา – ขอนแก่น ระยะทาง 183 กิโลเมตร พัฒนาท่าอากาศยาน จำนวน 6 แห่ง อุดรธานี อุบลราชธานี บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด นครราชสีมา และขอนแก่น โดยปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร ขยายลานจอดและทางวิ่ง

ทั้งนี้แผนงาน/โครงการยังเป็นเพียงข้อเสนอเบื้องต้นที่จะนำไปจัดทำเป็นแผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือแบบบูรณาการที่สมบูรณ์ ภายใต้กระบวนการและกลไกการพัฒนาพื้นที่เชิงบูรณาการ ระดับภาค 6 ภาค ที่จะมีการจัดตั้งขึ้นต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 สิงหาคม 2560--
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44505
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 22/08/2017 6:23 pm    Post subject: Reply with quote

สภาพัฒน์ชงครม. 5 แผนยุทธศาสตร์หวังพัฒนาภาคอีสาน นายกฯย้ำการจัดทำเเก้มลิง
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 22 สิงหาคม 2560 - 18:11 น.

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รวบรวมข้อเสนอแนะจากผู้ว่าราชการจังหวัดและภาคเอกชนอีสาน ที่หารือร่วมกันนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 ส.ค. นำเสนอให้ที่ประชุมครม. พิจารณา ขณะที่ สศช. นำเสนอแผนการพัฒนาภาคอีสานเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ด้วย เพื่อเร่งพัฒนาเศรษฐกิจในภาคอีสาน เนื่องปัจจุบันภาคอีสานมีประชากร 1 ใน 3 ของประเทศ แต่มีจีดีพี คิดเป็น 1 ใน 10 ของประเทศเท่านั้น เพราะมีปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำ คนยากจน

สำหรับแผนยุทธศาสตร์พัฒนาภาคอีสาน ที่ สศช. นำเสนอแบ่งออกเป็น 5 ด้านที่สำคัญ
1. การบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ การจัดการแหล่งน้ำเก่า และใหม่
2. การแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนมีรายได้น้อย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยจะเร่งพัฒนาความรู้ในสายอาชีพ การเพิ่มรายได้ และจัดสวัสดิการให้คนอีสาน
3. การสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจอีสาน และดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การส่งเสริมการปลูกข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ การเลี้ยงโคเนื้อและโคนม การพัฒนาเอสเอ็มอีท้องถิ่น การพัฒนาการเกษตรแปรรูป

รวมไปถึงการพัฒนาการด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากอีสานเป็นพื้นที่ท่องที่ยวสำคัญของไทย ซึ่งสถานีโทรทัศน์ระดับโลกอย่าง ซีเอ็นเอ็น ยกย่องภาคอีสานเป็น 1 ใน 10 และ
4. การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเพื่อเชื่อมโยงภาคกลางและเชื่อมโยงกับเออีซี เช่น การพัฒนารถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-โคราช รถไฟทางคู่ กทม-ขอนแก่น เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภาคอีสานให้มีมาตรฐาน และ
5. การร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจตามแนวชายแดน เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามแนวชายแดน การพัฒนาด่านชายแดน และเขตเศรษฐกิจชายแดน


นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ของ สศช. สอดรับกับข้อเสนอที่ภาคเอกชนและผู้ว่าฯนครราชสีมา นำเสนอกับนายกฯ เมื่อวันที่ 21 ส.ค. โดย นายกฯ มีข้อสั่งการในครม. ให้ไปศึกษาแนวทางการบริการจัดการลำน้ำ โขง ชี มูล โดยให้เร่งรัดการดำเนินโครงการดังกล่าวให้เร็วขึ้นจากเดิมที่ตั้งเป้าจะใช้เวลาดำเนินการ 8 ปี

นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติ ให้เร่งรัดแก้ปัญหาอ่างเก็บน้ำวังสะพุง ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์พันธ์สัตว์ภูเขียว โดยขอให้มีการขยับการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำให้ต่ำลงมา เพื่อไม่ให้กระทบกับสัตว์

นอกจากนี้ นายกฯ ยังย้ำเรื่องการจัดทำแก้มลิง และการใช้น้ำนอกเขตชลประทาน โดยเห็นชอบข้อเสนอเรื่องการจัดทำแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็ก ซึ่งเป็นลักษณะแบบหลุมขนมครก โดยพื้นที่ขอสนับสนุนเรื่องเครื่องจักรที่ใช้ในการดำเนินการ ซึ่งนายกฯ สั่งการให้ไปดูว่าช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง รวมไปถึงการสนับสนุนการใช้โซลาร์เซลในการสูบน้ำ เพื่อลดภาระค่ากระแสไฟฟ้า

และยังเร่งรัดให้ดำเนินโครงการปลูกต้นไม้ล้างหนี้ หรือธนาคารต้นไม้ไปดูหลักเกณฑ์ว่าจะให้แรงจูงใจทางภาษีได้อย่างไรสำหรับการปลูกต้นไม้ แต่ขอให้เป็นการปลูกต้นไม้ยืนต้นเท่านั้น โดยจะต้องปลูกเป็นกลุ่มมีพื้นที่สีเขียว และต้องไปกำหนดพื้นที่ปลูกให้มีความเหมาะสมด้วย
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44505
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 24/08/2017 6:17 am    Post subject: Reply with quote

เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจฯ ชี้แจงโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)
รัฐบาลไทย 23 ส.ค. 60

เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจฯ ชี้แจงโครงการ EEC ยืนยันทุกโครงการภายใต้ EEC Track ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายฯ ต้องดำเนินการตามขั้นตอนครบถ้วนตาม พ.ร.บ. ร่วมลงทุนกับเอกชน หรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ. 2556
วันนี้ (23 ส.ค.60) นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวชี้แจงกรณีประเด็นข่าว นสพ.แนวหน้า (ประจำวันที่ 19 สิงหาคม 2560) คอลัมน์บ้านเกิดเมืองนอน ตั้งข้อสังเกตถึงโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ดังนี้

1) เหตุใด EEC จึงมีอำนาจกำหนดการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา กำหนดการทำกิจการรถไฟโดยสารความเร็วสูง สายสนามบินดอนเมือง-มักกะสัน-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา-ระยอง รวมทั้งบริหารจัดการทำรถไฟทางคู่รางกว้าง 1 เมตรเชื่อมสามท่าเรือในภาคตะวันออก และนำที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยไปใช้ประโยชน์ นั้น เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้กล่าวว่า รัฐบาล โดย นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้มีสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตามคำสั่ง คสช. ที่ 2/2560 วันที่ 17 มกราคม 2560 ที่กำหนดและกำหนดให้ มีคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำหน้าที่ในการพิจารณากำหนดและอนุมัติโครงการในพื้นที่ EEC ซึ่งหมายถึง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดย กรรมการนโยบายฯ ได้อนุมัติโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงสนามบิน 3 แห่ง อย่างไร้รอยต่อ มอบให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเป็นผู้ดำเนินการ สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) เป็นหน่วยงานประสานและร่วมกำกับการดำเนินโครงการ ให้มีประสิทธิภาพ

2) ส่วนมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการบริหารจัดการทั้งสนามบิน รถไฟ ที่ดิน อันเป็นผลประโยชน์จำนวนกว่า 2 ล้านล้านบาทหรือไม่ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้ชี้แจงว่า การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามที่คณะกรรมการนโยบายฯ พิจารณาเห็นชอบโครงการทุกโครงการ หน่วยงานเจ้าของโครงการ จะดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายฯ ซึ่งจะได้ว่าจ้างที่ปรึกษาจัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการ ตามเกณฑ์/ระเบียบที่ราชการกำหนดทุกประการ ตามมาตรฐานสากล และโปร่งใส

3) กรณีไม่มีการเปิดประมูลรายโครงการ ซึ่งหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบไม่ดำเนินการและกระทำโดยการเปิดเผยภายใต้กฎหมายการลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้กล่าวยืนยันว่า ทุกโครงการภายใต้ EEC Track ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายฯ ต้องดำเนินการตามขั้นตอนครบถ้วนตาม พ.ร.บ. ร่วมลงทุนกับเอกชน หรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ. 2556 โดยมีการปรับวิธีดำเนินการใหม่ให้กระชับขึ้น เรียกว่า. โดยประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ.... ซึ่งเป็นการปฏิรูประบบวิธีปฏิบัติติราชการให้สอดคล้องกับยุคสมัย และดำเนินการเพื่อประโยชน์สูงสุดของชาติ

4) มีการประเมินผลได้ ผลเสีย จากการใช้ทรัพย์สมบัติของชาติมูลค่า 2 ล้านล้านบาท ในเวลา 99 ปี ว่าคุ้มค่ากันหรือไม่เพียงใด เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้กล่าวว่า ทุกโครงการ (ข้อ 2) มีการประเมินการความคุ้มค่า ของโครงการ ตามหลักการสำรวจศึกษา feasibility study โดยผู้เชี่ยวชาญที่เป็นที่ยอมรับและมีการดำเนินการตาม พรบ...บริหารราชการแผ่นดิน และเป็นการพัฒนา ขีดความสามารถในการพัฒนาทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่า โดยไม่ได้ ใช้ ทรัพยากรของชาติโดยสิ้นเปลืองออกไปแต่อย่างใด การพัฒนาระบบ infrastructure ไม่ควรนำมาเปรียบเทียบกับ ทรัพยากรธรรมชาติในสาขาอื่น เพราะผลประโยชน์โดยรอบในเชิงสังคมโดยรวมมีมูลค่ามากกว่า

5) ส่วนรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ไม่ใช่รถไฟแอร์พอร์ตลิ้งค์ที่เชื่อมต่อสนามบินโดยไม่ต้องมีการ check in และ check out แต่เป็นระบบรถไฟโดยสารที่เป็นธุรกิจโดยสารปกตินั้น มีความจำเป็นใด โดยเฉพาะจะปล่อยแอร์พอร์ตลิ้งค์เดิมให้เสียหายต่อไปหรือไม่ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้กล่าวชี้แจงว่า รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วัตถุประสงค์หลักอย่างหนึ่งคือรองรับผู้โดยสารเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯกับสนามบินอู่ตะเภา จึงต้องการ check in check out ที่สถานีมักกะสัน การเชื่อมต่อ 3 สนามบินจะทำให้กิจการของแอร์พอร์ตลิงค์มีทางเลือกในการใช้บริการเพิ่มขึ้น เพราะผู้โดยสารจะสามารถเชื่อมการเดินทางโดยโครงข่ายที่เชื่อมต่อได้มากขึ้น

------------------------
ข้อมูล: สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกกระทรวงอุตสาหกรรม
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44505
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 24/08/2017 6:06 pm    Post subject: Reply with quote

เผยก่อสร้างระบบขนส่งช้าทำให้การใช้พลังงานไม่ลดลงตามเป้าหมาย
สำนักข่าวไทย เศรษฐกิจ 24 ส.ค. 2017 13:47:35

กรุงเทพฯ 24 ส.ค. - ก.พลังงานเผยโครงการก่อสร้างระบบขนส่งล่าช้าทำให้การใช้พลังงานไม่ลดลงตามเป้าหมาย

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) กล่าวว่า ผลจากการที่ โครงการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการลงทุนภาคขนส่ง ภายใต้การดูแลของกระทรวงคมนาคม มีความล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนเดิมที่กำหนดไว้ โดยล่าช้าทั้งโครงการรถไฟฟ้าโครงการรถไฟรางคู่ และระบบขนส่งอื่น ผลจากความล่าช้าของโครงการลงทุนภาคขนส่ง ทำให้การใช้น้ำมันในภาคขนส่งที่มีสัดส่วนการใช้พลังงานคิดเป็นร้อยละ 40 ของการใช้พลังงานในภาพรวมทั้งประเทศเฉพาะปีนี้ (2560) ไม่ลดลงตามเป้าหมายรายปี ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปีคือในช่วงพ. ศ. 2558-2579

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มการใช้พลังงานลดลงดีกว่าแผน ดังนั้น พพ. จึงเตรียมปรับตัวเลขการลดใช้พลังงานใหม่ตามสภาพความเป็นจริงรายปีตามสถานการณ์จริงต่อไป สำหรับการประหยัดพลังงานในช่วง 2 ปีตามแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปีนั้น ขณะสามารถลดการใช้พลังงานลงได้ ต่ำกว่าร้อยละ 10 ในขณะที่เป้าหมายรวมในช่วง 20 ปีคือปี 2579 มีเป้าหมายที่จะลดการใช้พลังงานลงให้ได้ร้อยละ 30 -สำนักข่าวไทย
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 83, 84, 85 ... 121, 122, 123  Next
Page 84 of 123

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©