RailServe.Com

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Ads Service

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311238
ทั่วไป:13181679
ทั้งหมด:13492917
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าวรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน)
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ข่าวรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน)
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 283, 284, 285 ... 542, 543, 544  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44335
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 09/09/2018 9:10 am    Post subject: Reply with quote

เล็งถก 5 ประเด็น! รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-หนองคาย
กรุงเทพธุรกิจ 8 กันยายน 2561

กลุ่มมหาวิทยาลัยอีสาน เตรียมศึกษาวิจัยผลกระทบรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระบุ 5 ประเด็น ก่อนเสนอเชิงนโยบายแก่รัฐบาล หวังนำไปวางแผนใช้ประโยชน์ จัดเตรียมมาตรการรับรองในอนาคต

นายวิเชียร ฝอยพิกุล อธิการบดีมหาวิทยามหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.)นครราชสีมา เปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆ นี้ ทางมหาวิทยาลัยได้ร่วมกับมรภ.พระนครศรีอยุธยา มรภ.อุดรธานี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น จัดเวทีเสวนาโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งมีนายศักดิ์ฤทธิ์ สลักคา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน, พล.ท.อานุภาพ สมาชิกสภานิติบัณฑิตแห่งชาติ และประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)และการรถไฟแห่งประเทศไทย เข้าร่วมนั้น

ได้มีการศึกษาผลกระทบทางสังคมจากการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-หนองคาย ตามนโยบายรัฐบาลที่ทำความร่วมมือพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานทางรถไฟระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน เส้นทางกรุงเทพหนองคาย ระยะทาง 837 กิโลเมตร ที่เป็นการเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งโครงการดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบเชิงบวกและลบ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามเส้นทางที่รถไฟวิ่งผ่าน บริเวณสถานีรถไฟ จังหวัด และอำเภอที่สถานีรถไฟตั้งอยู่

ทั้งนี้ สำหรับ การศึกษาวิจัย ผลกระทบจากการดำเนินโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-หนองคาย ได้มีการกำหนดกรอบการวิจัยออกมา5 ประเด็นหลัก คือ
1.สถานภาพปัจจุบัน (Existing Condition) ของพื้นที่ที่รถไฟวิ่งผ่านและบริเวณโดยรอบสถานี
2. ผลกระทบด้านการก่อสร้างและบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
3. ผลกระทบด้านการค้าการลงทุน
4. ผลกระทบด้านการท่องเที่ยวและบริการ และ
5.ผลกระทบด้านการเคลื่อนย้ายประชากร
โดยจะมีการเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในจังหวัดและอำเภอตลอดเส้นทางที่รถไฟวิ่งผ่านและบริเวณที่สถานีรถไฟตั้งอยู่ ทั้งการสอบถาม สัมภาษณ์ จัดกิจกรรมสนทนากลุ่ม รวมทั้งจัดเวทีเสวนารับฟังความคิดเห็น เพื่อประมวลผลข้อมูลในภาพรวม พร้อมจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับรัฐบาล หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผน และจัดเตรียมมาตรการรับรองผลกระทบที่เกิดขึ้นในอนาคตต่อไป
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44335
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 09/09/2018 8:53 pm    Post subject: Reply with quote

ปั้น"จันทบุรี"โมเดลเมืองรอง เชื่อมชุมชน-รถไฟความเร็วสูง
โพสต์ทูเดย์ 9 ก.ย. 61

"วีระศักดิ์" เร่งบูมท่องเที่ยวเมืองรองภาคตะวันออกรับรถไฟความเร็วสูง ชี้ 5 ปีชุมชนขยายตัว

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า นโยบายเมืองรอง เป็นเครื่องมือกระจายความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยการยกระดับเส้นทางคมนาคม เป็นหัวใจสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตของเมืองรอง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพร้อมสนับสนุนบริการสาธารณะในเมืองรอง ภายใต้การเปิดสัมปทานเดินรถโดยสารระหว่างเมืองรองให้กับเอกชน โดยไม่ซ้ำซ้อนกับเส้นทางการเดินรถเดิม เริ่มที่ จ.จันทบุรี เป็นต้นแบบ

ขณะที่อีก 5 ปีข้างหน้า จะมีการเปิดใช้รถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งได้มีสถานีแวะเข้ามายัง จ.จันทบุรี ด้วย ดังนั้นการพัฒนาเส้นทางรถไฟ ชุมชนต้องได้ประโยชน์ จึงเร่งเตรียมความพร้อมในพื้นที่ รองรับการเติบโตด้านการท่องเที่ยว ที่มาพร้อมกับการพัฒนาเส้นทางรถไฟ

ทั้งนี้ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก จ.จันทบุรี เป็นเมืองที่มีศักยภาพพร้อมทั้งในส่วนของกิจกรรมการท่องเที่ยว และความสะดวกเรื่องการคมนาคม จึงได้ยกระดับสู่ต้นแบบจังหวัดเมืองรอง และได้สนับสนุนชุมชนริมน้ำจันทบูรเป็นชุมชนต้นแบบของจังหวัดด้วย
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42630
Location: NECTEC

PostPosted: 10/09/2018 10:29 am    Post subject: Reply with quote

“ซี.พี.” แบ่งเค้ก “ไฮสปีดอีอีซี”

วันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2561 เวลา 17:48 น.


น่าเร้าใจไม่น้อยหลัง “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ออกมาฉายภาพใหญ่การลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา เมกะโปรเจ็กต์รับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ที่จะดึงบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านระบบรถไฟระดับโลกจากอิตาลี ฝรั่งเศส อเมริกา จีน ญี่ปุ่น มาร่วมปลุกปั้นรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย

แถมยังเตรียมจะลงทุนอีกหลายแสนล้านบาท เนรมิตที่ดิน 10,000 ไร่ในแปดริ้ว สร้างเมืองใหม่ใกล้รัศมีสถานีรถไฟความเร็วสูงฉะเชิงเทรา


ประเมินจากท่าที “เจ้าสัว ซี.พี.” ดูแล้วเอาจริงที่จะช่วยรัฐบาล คสช.ลงทุนครั้งใหญ่เพื่อพลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศไทย

แม้การลงทุนครั้งนี้จะใช้เงินมหาศาลและมีความเสี่ยงสูงก็ตาม !

อย่างไรก็ตาม ด้วยเป็นโครงการมหึมา และไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย จึงต้องหาพันธมิตรทั้งไทยและเทศที่มีประสบการณ์มาช่วยปลุกปั้นโครงการให้แจ้งเกิด

ส่วนจะเป็นใคร มาลงทุนด้านไหน ตอนนี้ยังไม่ตกผลึก จนกว่าจะถึงวันยื่นซองประมูลวันที่ 12 พ.ย.นี้

แต่ก็เริ่มเห็นโฉมหน้าค่าตาพันธมิตรของกลุ่ม ซี.พี.จากชื่อเสียงเรียงนามที่ “เจ้าสัว ซี.พี.” เอื้อนเอ่ยออกมาผ่านสื่อ

ฝั่งยุโรปมี “อิตาลี-ฝรั่งเศส” ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ อาจจะเป็นเพราะไฟต์บังคับในทีโออาร์ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยกำหนดให้ใช้ระบบเป็นมาตรฐานของยุโรป จึงทำให้ ซี.พี.ต้องเลือกยักษ์รถไฟจากยุโรปมาร่วมขบวน

ล่าสุด “ซี.พี.” กำลังเจรจาต่อรองราคา จะเลือกใช้ระบบและประสบการณ์เดินรถ การบริหารจัดการ ระหว่าง “FS” บริษัททางรถไฟแห่งชาติอิตาลี หรือ Ferrovie dello Stato Itailane S.p.A.ที่มีประสบการณ์ 180 ปี ด้านระบบขนส่งครบโหมดทั้งรถไฟธรรมดา รถไฟความเร็วสูง ถนน ทางด่วน และเป็นรายเดียวในโลกที่มีผลกำไรจากการดำเนินการ

และ “SNCF” บริษัท ทางรถไฟแห่งชาติฝรั่งเศส มีประสบการณ์มากว่า 80 ปี ด้านบริหารจัดการรถไฟทุกระบบรวมถึงรถไฟความเร็วสูง แถมยังมี “ทรานส์เดฟ กรุ๊ป” บริษัทลูกที่มีความเชี่ยวชาญด้านรถไฟไม่แพ้กันมาร่วมด้วย

ทางฝั่งเอเชียที่เจ้าสัว ซี.พี.เนมชื่อมี “จีน-ญี่ปุ่น” แต่น่าจะมีลุ้นมากสุดคือประเทศจีน ซึ่งปัจจุบันมีการบริหารจัดการด้านรถไฟความเร็วสูงครบถ้วนตั้งแต่ออกแบบ ก่อสร้าง การผลิตระบบ ขบวนรถและบริหารจัดการโครงการ

แต่ว่ากันว่างานนี้ “ซี.พี.” อาจจะใช้บริการ 7 บริษัทจากจีนที่ซื้อซองประมูล ในการออกแบบก่อสร้างและวางราง ไม่ว่าจะเป็น บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น (CRCC) บจ.ไชน่า เรลเวย์ กรุ๊ป บจ.ไชน่า คอมมูนิเคชั่น คอนสตรัคชั่น บจ.ไชน่า รีเสอร์ซ โฮลดิ้งส์ บจ.ซิติก กรุ๊ป บจ.ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น และ บจ.ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น

ส่วนขบวนรถถึงจีนจะผลิตได้หลากหลายสเป็กและหลากราคา แต่ด้วยข้อจำกัดของขนาดตัวรถที่ต้องใช้ร่วมกับโครงสร้างแอร์พอร์ตเรลลิงก์ได้โดยที่ไม่ต้องควักเงินลงทุนโมดิฟายใหม่ ทำให้ ซี.พี.ต้องพึ่งระบบรถของยุโรปที่มีขนาดไม่ถึง 3 เมตร ขณะที่รถจีนจะใหญ่กว่าอยู่ที่ 3.20 เมตร

ขณะนี้ที่ “ญี่ปุ่น” แม้ว่าภาคตะวันออกจะเป็นฐานธุรกิจใหญ่ แต่ด้วยระบบรถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็นที่ยังเป็นระบบปิด จึงทำให้รัศมีไม่ค่อยโดดเด่นมากนักในสมรภูมินี้

มาดูเอกชนจากไทยแลนด์ได้งานแน่ ๆ คือบริษัทรับเหมาก่อสร้าง เพราะโครงการใหญ่ขนาดนี้ และระยะเวลาก่อสร้างค่อนข้างจำกัด ยังไงต้องใช้บริการรับเหมาหลายรายที่เป็นแถวหน้าของเมืองไทย

ส่วนผู้ประกอบการรถไฟฟ้า ทั้ง “BTS” ของ คีรี กาญจนพาสน์ และ “BEM” ของ ปลิว ตรีวิศวเวทย์ ก็มีลุ้นเป็นผู้โอเปอเรตโครงการเช่นกัน

เพราะถึงที่สุดแล้ว โครงการนี้อาจจะใช้บริการต่างชาติในการโอเปอเรตและบริหารจัดการโครงการแค่ช่วงระยะเริ่มต้น คงไม่ผูกขาดตลอดไป

นับเป็นโอกาสทองของประเทศไทย ที่ต้องอาศัยจังหวะนี้เรียนรู้เทคโนโลยี ซึมซับโนว์ฮาวจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก มาพัฒนาประเทศต่อไปในระยะยาว
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42630
Location: NECTEC

PostPosted: 12/09/2018 10:27 am    Post subject: Reply with quote

เอกอัครราชทูตจีนกระชับสัมพันธ์หนองคาย พร้อมผลักดันเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูง จีน-ลาว-ไทย
วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2561 เวลา 21:04 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (11 ก.ย. 61) ที่ห้องรับรองพลตรีกรมหลวงประจักษศิลปาคม ศาลากลางจังหวัดหนองคาย นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ให้การต้อนรับ นายหลู่ย์ เจี้ยน เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย และนายเหลี้ยว จุ้นหยุ่น กงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาชนจีน ณ จังหวัดขอนแก่น ในโอกาสเดินทางไปยังจังหวัดหนองคาย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ ไทย จีน ให้เกิดความแน่นแฟ้นกันมากขึ้น


นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า จ.หนองคาย แม้ว่าจะอยู่ห่างจากกรุงเทพ แต่อยู่ใกล้กับนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ซึ่งชาวจีนที่อยู่ใน สปป.ลาว ได้เดินทางมาทำธุรกิจ ซื้อสินค้า และท่องเที่ยว ที่ จ.หนองคาย และทราบว่ารัฐบาลจีนกับรัฐบาลลาวเห็นชอบร่วมกันในการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงจากจีนมายังลาว หากสามารถสร้างต่อมาเชื่อมถึงจังหวัดหนองคายได้จะเป็นโอกาสในการร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ระหว่างประเทศ

นายหลู่ย์ เจี้ยน เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย กล่าวว่า คนจีนกับคนไทยเป็นมิตรที่ดีต่อกันมายาวนาน ปัจจุบันคนจีนมาเที่ยวในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก แต่มาเที่ยวในภาคอีสานยังไม่มากเท่าใด อาจเพราะการคมนาคมถึงกันยังไม่สะดวก คนจีนนิยมรับประทานผลไม้ของไทย เช่น ทุเรียน มีการสั่งซื้อผลไม้เหล่านี้กลับประเทศ แต่การขนส่งยังต้องใช้เวลา ซึ่งความต้องการให้สร้างรถไฟความเร็วสูงจากจีนมายัง สปป.ลาว แล้วเชื่อมข้ามแม่น้ำโขงมายังจังหวัดหนองคายเป็นแนวทางที่ดี โดยจะช่วยพูดคุยถึงแนวทางความเป็นไปได้ ผลักดันให้เกิดการเชื่อมต่อเส้นทางระหว่างกันให้มากขึ้น หากสำเร็จจะทำให้การคมนาคมขนส่งสะดวกและรวดเร็ว นักท่องเที่ยวชาวจีนก็จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวใน สปป.ลาว และไทยมากขึ้นไปด้วย คนไทยก็สามารถไปเที่ยวยังมณฑลต่าง ๆ ของจีนได้สะดวกเช่นกัน
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42630
Location: NECTEC

PostPosted: 14/09/2018 2:14 pm    Post subject: Reply with quote

ทำไม! ไฮสปีดเทรน เชื่อม 3 สนามบินต้องเลือกจีน!?
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เผยแพร่: 14 กันยายน พ.ศ. 2561 เวลา 08:12

เกาะติดไฮสปีดเทรนของจีน เพียงแค่ 10 ปีสามารถก้าวกระโดด สร้างรถไฟความเร็วสูง China Railway High-Speed : CRH ได้ถึง 25,000 กิโลเมตร แซงหน้ายุโรปและญี่ปุ่น ขณะเดียวกันผลักดัน CRH 'มาตรฐานจีน' ไปยังทั่วโลกได้ ชี้อีกไม่นานจะประกาศความยิ่งใหญ่ Maglev สปีด 600 กม./ชม. พร้อมพัฒนา CRH รุ่น 'ฟู่ซิ่ง' ให้เป็นสัญลักษณ์ของประเทศจีน แนะสร้างCRH ต้องลบตรรกะหากำไรจากค่าโดยสารออกไป แต่สิ่งที่จะได้ตามมา คือเมืองใหม่ที่มีเศรษฐกิจเติบโต!

เพียงแค่ 10 ปี ประเทศจีนได้มีการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง : High-Speed Rail หรือ HSR ที่เรียกกันในยุโรป ส่วนในจีนจะเรียกระบบรถไฟความเร็วสูง China Railway High-Speed :CRH ถึงวันนี้ล้ำหน้าไปมาก นั่นเป็นเพราะจีนยึดกลยุทธ์หลักในการพัฒนา หากอุตสาหกรรมใดที่จีนมีอยู่ไม่สามารถพัฒนาด้วยตัวเองเพื่อให้ทันเทคโนโลยีก้าวล้ำของโลกได้ ก็จะร่วมมือกับทั่วโลกและพัฒนาตัวเองไปพร้อมๆ กัน



จีนได้มีการนำเข้าและถ่ายโอนเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงที่มีความก้าวหน้าและทันสมัยที่สุดในโลกในปี 2546 จากประเทศต่างๆ ทั้ง 'เตเจเว' (TGV) ของฝรั่งเศส 'ไอซีอี' (ICE) ของเยอรมนี ชิงกันเซ็งของญี่ปุ่น, ETR : Frecciarossa ของอิตาลี และของสเปน นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมรถไฟความเร็วสูง 'GB' ที่จีนเป็นเจ้าของเอง

จีนได้ศึกษาจุดแข็งและจุดอ่อนของเทคโนโลยีต่างๆ เช่น ชิงกังเซ็ง ที่มีการวางรางแบบไม่โรยหิน ทำให้การวิ่งดูนิ่มนวล รวมไปถึงศึกษาเรื่องRolling Stock ซึ่งจะเสียค่าบำรุงรักษาสูงกว่า ขณะที่ยุโรป การวางรางจะมีการโรยหิน จะสัมผัสได้ถึงความไม่นิ่ม ศึกษาRolling Stock, Signalling System, Operation Control System ต่างๆ จะพบว่าของยุโรปเสียค่าบำรุงรักษาถูกกว่า

ดังนั้นจีนจึงมีการพัฒนาจนเป็นเทคโนโลยีลูกผสมระหว่างญี่ปุ่นและยุโรป ประกาศออกมาเป็นมาตรฐานจีนที่ก้าวล้ำและมีเส้นทางวิ่งของรถไฟความเร็วสูงที่ยาวที่สุดถึง 25,000 กิโลเมตร (ดูตารางประกอบ)


โดยแบ่งเป็น 3 Generation ตามความเร็วสูงสุด คือ Gen 1 ความเร็ว 250 กม./ชม Gen 2 ความเร็ว 350 กม./ชม. และ Gen 3 มากกว่า 350 กม./ชม.

ในการเปิดตัวรถไฟความเร็วสูงหัวกระสุนรุ่น 'ฟู่ซิ่ง :Fuxing' สายปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ ความเร็วสูงสุดมากกว่า 400 กม./ ชม. ที่จีนได้ทำการวิจัย พัฒนา และผลิตเอง ด้วยเทคโนโลยี อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่อยู่บน 'มาตรฐานจีน : GB' ระยะทาง 1,318 กิโลเมตร ใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมงกว่าๆ ได้รับความสนใจไปทั่วโลก

และอีกไม่นานจีนจะประกาศความสำเร็จในการผลิตรถไฟความเร็วสูง Maglev ที่ความเร็วสูงสุด 600 กม./ ชม. ออกสู่สายตาชาวโลกต่อไป

แต่การที่จีนจะประสบความสำเร็จได้นั้น เป็นเพราะรัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการคมนาคม ขนส่งสาธารณะ ทั้งขนคนและสินค้าทุกรูปแบบ ที่มีทั้งรถไฟธรรมดา รถไฟความเร็วสูง ถนนมอเตอร์เวย์ ไฮเวย์ ทางเรือ ทางอากาศ เชื่อมต่อระหว่างเมือง

โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงที่วันนี้กลายเป็นสิ่งที่คนจีนต้องการเพราะจะทำให้เกิดความเจริญทุกๆ พื้นที่ที่มีโครงการ CRH เกิดขึ้น

นายเถียน เสี่ยหัว รองประธานcrcc Qingdoa Sifang Co., ltd. บอกว่า จีนได้มีการระดมนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ วิศวกร ทั่วโลก มาช่วยกันพัฒนาเทคโนโลยี จนกระทั่งวันนี้จีนได้พัฒนาไปอย่างก้าวไกล และอุปกรณ์ทุกประเภทที่ใช้ในโครงการรถไฟความเร็วสูงของจีนสามารถเชื่อมต่อและใช้กับทุกระบบรถไฟความเร็วสูงได้ทั่วโลก


“รัฐบาลจีนลงทุนสร้างรถไฟความเร็วสูง ไม่ได้คำนึงว่าลงไปแล้วจะมีรายได้จากการขายตั๋วรถไฟเท่าไหร่ คุ้มไม่คุ้ม เพราะหากคิดแบบนี้ เป็นตรรกะที่ผิดมากตัดทิ้งได้เลย เพราะความจริงสิ่งที่ได้ยิ่งใหญ่กว่า มีการเชื่อมระหว่างเมืองเกิดขึ้น เช่นCRH สายชิงเต่า-จีหนาน ที่เคยใช้เวลาเดินทาง 8 ชั่วโมง เมื่อมี CRHจะใช้เวลาเพียง 2ชั่วโมงกว่าๆ แต่วันนี้ได้มีการพัฒนา CRH เหลือเพียง 1 ชั่วโมง ทำให้ชิงเต่าและจีหนาน กลายเป็นเมืองเดียวกันได้”

นี่คือ IMPACT ที่จีนได้รับกลับมา เป็นผลให้เศรษฐกิจทั้ง 2 เมืองเติบโตแบบก้าวกระโดด

ดังนั้นรัฐบาลจีนจึงกำหนดในยุทธศาสตร์พัฒนาชาติจะต้องสร้าง CRHครอบคลุมพื้นที่ 9,600,000 ตารางกิโลเมตร

อย่างไรก็ดี การที่จีนสามารถสร้าง CRH ได้มากที่สุดในเวลานี้เป็นเพราะจีนมีความพร้อมไม่ใช่แค่เรื่องของบุคลากร ที่มีการเตรียมการไว้เท่านั้น แต่จีนยังมีหน่วยงานสำคัญในการสร้างอุตสาหกรรมรถไฟความเร็วสูงครบวงจร โดยเฉพาะบริษัท China Railway Construction Corporation (CRCC) เป็นรัฐวิสาหกิจด้านวิศวกรรมการก่อสร้างขนาดใหญ่ของจีน ที่เชี่ยวชาญในด้านการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคทุกประเภทถนน ทางด่วน อาคารขนาดใหญ่ และผลิตสายรถไฟกว่า 100,000 กิโลเมตรทั้งรถไฟใต้ดิน Maglev และโมโนเรล

CRCC ถูกจัดอันดับเป็นบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่และมีอิทธิพลมากที่สุดระดับโลก อันดับที่ 58 ของ Fortune Global 500 ประจำปี 2561 และยังเป็นบริษัทที่มีการลงทุนในต่างประเทศหลายประเทศในนาม CRCC International Co., ltd. : CRCCI

CRCCI กำลังรุกเข้าไปยังประเทศต่างๆ ครอบคลุม 117 ประเทศทั่วโลก เช่นโครงการรถไฟใต้ดิน ซาอุดีอาระเบียเมกกะ มูลค่า 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ โครงการรถไฟเอธิโอเปีย-จิบุดี มูลค่า 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ โครงการปากีสถานการาจี ไปยัง Lahore Highway Package III มูลค่า 1.42 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น โดยเฉพาะใน 19 ประเทศตามแนว 'Belt and Road' ในเส้นทางบก คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 30% ของประเทศในแถบเส้นทางสายไหมใหม่

อีกทั้งไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ CRCCI ได้เข้ามาสำรวจโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่บริษัทต่างชาติที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย จะต้องส่งทีมงานเข้ามาสำรวจก่อน เพราะหากได้รับการคัดเลือกหรือเป็นหนึ่งในพันธมิตรร่วมทุนทำโครงการเชื่อม 3 สนามบิน ก็จะทำให้ CRCCI สามารถดำเนินการได้ตามที่กำหนดไว้


นายโจ๋ เหล่ย ประธาน CRCC (International) บอกถึงความแข็งแกร่งของ CRCC กรุ๊ป ว่าประเทศจีนตั้งเป้าทำอุตสาหกรรมรถไฟความเร็วสูงแบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่ออกแบบ ก่อสร้าง ผลิตรถ เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในรถทุกชนิด รวมไปถึงเรื่องอาณัติสัญญาณ ระบบควบคุมการเดินรถและจะต้องเดินรถไฟความเร็วสูงด้วยตนเอง ซึ่งวันนี้จีนมีความพร้อมที่สุดจากระยะเวลาที่มีการพัฒนาด้วยการซื้อเทคโนโลยีจากยุโรป และญี่ปุ่น รวมทั้งการระดมผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกเข้ามาศึกษาและพัฒนา CRH จนสามารถสร้างมาตรฐานจีนให้เป็นที่ยอมรับได้ทั่วโลก

ในเรื่องของการออกแบบและก่อสร้าง จีนก็มีสำนักงานออกแบบและก่อสร้าง และมีหน่วยงานวิจัยและพัฒนาทำหน้าที่ศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับความเร็วสูงทุกรูปแบบให้มีความทันสมัย ซึ่งที่นี่มีวิศวกรถึง 800 กว่าคน จะสามารถออกแบบและทำงานก่อสร้างได้ในทุกสภาวการณ์ เป็นผลให้จีน สามารถผลิต CRH วิ่งในสภาวะอากาศที่หลากหลายได้ เช่น การสร้าง CRH ในพื้นที่หนาวเย็นมากสาย ฮาร์บิน-ต้าเหลียน รถไฟที่มีอุณหภูมิแตกต่างกัน 80 องศาเซลเซียส หรือ CRH ที่ยาวที่สุดสายปักกิ่ง-กว่างโจว ประมาณ 2,298 กม. หรือการก่อสร้างอุโมงค์ขนาด 16.3 กม. Qilianshan ที่มีความสูง 3607.4 เมตร จนได้รับฉายาว่าเป็น 'อุโมงค์ CRH ที่สูงที่สุดในโลก'



นอกจากนี้ ศูนย์บัญชาการควบคุมการเดินรถ (OCC) ครอบคลุม 3 มณฑล รับผิดชอบควบคุมขนส่งทางราง 12,000 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ CRH 4,000 กิโลเมตร จะแบ่งออกเป็น 4 โซน โซนแรกเป็นศูนย์ปฏิบัติการประจำวัน โซนที่ 2 ควบคุม CRH โซนที่ 3 ควบคุมระบบจ่ายไฟ ของรถไฟธรรมดา และCRH โซนที่ 4 การซ่อมบำรุง

สำหรับศูนย์ควบคุม จะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี Signalling System หรือ อาณัติสัญญาณ ซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะจะใช้ในการควบคุมและกำหนดทิศทางการเคลื่อนที่ ระยะเวลาในการเดินรถ การสับหลีกบริเวณสถานี โดยการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ จะออกแบบให้ทำงานสัมพันธ์กัน แม้ว่าจะมีแผนการเดินรถกำหนดไว้แล้วก็ตาม แต่ระหว่างทางไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ศูนย์นี้จะสั่งการไปยังคนขับให้ทำหน้าที่ได้ด้วยความปลอดภัย

นอกจากนี้ยังมีห้องCrisis Management ที่มีระบบป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับภัยธรรมชาติ หรือมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น ซึ่งบางครั้งผู้นำของหน่วยงานรัฐบาลก็จะมาบัญชาการและสั่งการผ่านห้องดังกล่าว

ที่สำคัญจีนยังมี บริษัท ซีอาร์อาร์ซี ชิงเต่า ซื่อฟาง ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัทCRCC อยู่ที่เมืองชิงเต่า มณฑลซานตง เป็นฐานการผลิตรถไฟความเร็วสูงและยังเป็นศูนย์ออกแบบและผลิตรถขนส่งระบบรางอื่นๆ ทั้งรถไฟใต้ดิน รถโมโนเรล โดยมีสัดส่วนผลิตที่ใช้ในจีนมากกว่าการส่งออกเพราะรัฐบาลจีนมีนโยบายใช้ระบบขนส่งทางรางทั้งคนขนและขนสินค้า เพื่อช่วยให้เกิดการพัฒนาทุกพื้นที่

ที่นี่จะมีหลากหลาย Platform เพื่อทดสอบสมรรถนะของรถไฟทุกๆ ขบวนที่ผลิตและประกอบที่ศูนย์แห่งนี้ ทั้งในเรื่องการเลี้ยวโค้งว่ามีการสั่น หรือการเสียดทานล้อกับรางได้นานหรือไม่ ทดสองสภาพแวดล้อม ทั้งแสง ความดันหูเวลาเข้าอุโมงค์ไม่ทำให้หูอื้อ เสียงที่จะเข้ามารบกวนในขณะรถวิ่ง เป็นต้น โดยศูนย์นี้จะมีทั้งส่วนที่ใช้หุ่นยนต์และคนดำเนินการ โดยมีหน่วยตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำ ก่อนที่จะนำมาทดลองวิ่งและส่งมอบต่อไป

นายเถียน เสี่ยหัว รองประธานcrcc Qingdoa Sifang Co.,ltd. ย้ำว่ากระบวนการผลิตรถไฟทุกขบวนมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้โดยสารนั่งสบายและมีความปลอดภัยสูง และในอนาคตกำลังจะพัฒนารุ่น “ฟู่ซิ่ง” ให้เป็นรถไฟความเร็วสูงที่มีความ SMART สะดวกสบาย และปลอดภัย มากยิ่งขึ้นเพื่อให้ผู้โดยสารเกิดความประทับใจในการใช้บริการรถไฟความเร็วสูงและถือเป็นสัญลักษณ์ของประเทศจีน


อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงไม่ว่าจะเป็นในประเทศจีน หรือยุโรป ต่างก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานี และบริเวณใกล้เคียง พร้อมทั้งมีระบบเชื่อมต่อของรถโดยสาร เช่นที่สถานีรถไฟหงเฉียว เซี่ยงไฮ้ เป็นสถานีที่มีความทันสมัยและยังเป็นสถานีที่มีผู้โดยสารรถไฟความเร็วสูงมากที่สุด ปัจจุบัน มีรถไฟให้บริการเฉลี่ย 257 ขบวนต่อวัน แบ่งเป็น CRH ความเร็ว 350 กม./ชม. 209 ขบวน ความเร็ว 250 กม./ชม. จำนวน 48 ขบวน สามารถรองรับผู้โดยสารเฉลี่ยกว่า 260,000 คนต่อวัน และช่วงหนาแน่นที่สุดมีผู้มาใช้บริการถึง 500,000 คน

สถานีรถไฟหงเฉียว ยังเชื่อมต่อกับสนามบินหงเฉียว ส่งผลให้สถานีนี้กลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่รวมการขนส่งทางรถไฟ CRH รถไฟใต้ดิน รถโดยสารประจำทาง แท็กซี่ ไว้ด้วยกัน และที่นี่ยังมีการวางผังเมืองไว้อย่างดีมีการพัฒนาเชิงพาณิชย์ สินค้าแบรนด์ดังๆ อยู่ที่นี่ เป็นแหล่งให้บริการความบันเทิงครบวงจร และการจัดพื้นที่จำนวนหนึ่งให้กับประชาชนที่ถูกรัฐบาลเวนคืนที่ดิน ให้สามารถเข้าอยู่อาศัยในแหล่งชุมชนใหม่ ได้อย่างสะดวกสบาย

ทั้งหมดนี้จึงเป็นความพร้อมของอุตสาหกรรมรถไฟความเร็วสูงของประเทศจีน ตั้งแต่การออกแบบ การก่อสร้าง ระบบอาณัติสัญญาณ (Signalling System) ศูนย์ควบคุมการเดินรถ (Control System) ตู้รถไฟความเร็วสูง (Rolling Stock) การบริหารจัดการการเดินรถและการพัฒนาสถานีเชิงพาณิชย์ ล้วนแต่มีความเชี่ยวชาญทั้งสิ้น และตรงนี้อาจไม่แตกต่างจากประเทศในยุโรปเช่นอิตาลีและฝรั่งเศสในเรื่องความพร้อมและครบวงจร

เมื่อจีนเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ จึงทำให้ต้นทุนการดำเนินการต่างๆ จึงต่ำกว่าประเทศในยุโรป อีกทั้งรัฐบาลจีนยังมีนโยบายเดินหน้าเจรจาพูดคุยก่อนที่ธุรกิจต่างๆ จะเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ

และตรงนี้อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้จีนสามารถชนะประเทศอื่นๆ ได้หรือไม่?
หากผู้เกี่ยวข้อง 'เชื่อมั่น' ในมาตรฐานของจีน!!
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42630
Location: NECTEC

PostPosted: 14/09/2018 3:23 pm    Post subject: Reply with quote

เทียบฟอร์มระบบ 2 ทวีป เปิดเกมชิง “รถไฟความเร็วสูง EEC”
พร็อพเพอร์ตี้
วันศุกร์ 14 กันยายน 2561 - 13:54 น.


หลังรัฐบาล คสช.ผูกมิตรกับรัฐบาลจีนร่วมกันพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงรูปแบบ G to G ประเดิมสายแรกกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม.

โดยไทยลงทุน 179,412 ล้านบาท ทั้งก่อสร้างและจัดหาระบบ โดยใช้เทคโนโลยีจากประเทศจีนที่ร่วมกันออกแบบ ซึ่งรถไฟความเร็วสูงของจีนมีชื่อเรียกย่อ ๆ ว่า “CRH” หรือ China Railwau High-speed และมีชื่อเรียกเป็นภาษาจีนว่า “เหอเซี๋ย ห้าว”

โครงการนี้จีนกำหนดเป็นประเภทรถโดยสาร EMU (electric multiple unit) CR series วิ่งความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. และเสนอใช้ระบบรถไฟรุ่น FUXINGHAO เป็นรถไฟความเร็วสูงรุ่นล่าสุดของจีน จะใช้เวลาเดินทางจาก กทม.-นครราชสีมา 1.30 ชั่วโมง

ความคืบหน้าโครงการล่าสุดอยู่ระหว่างถมคันดินระยะแรก 3.5 กม.จากสถานีกลางดง-ปางอโศก ระหว่างรองานส่วนอื่น ๆ ที่เหลือที่จะทยอยเปิดประมูลจนครบ 14 สัญญา คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จปี 2564 เปิดให้บริการในปี 2566

เมื่อโครงการแล้วเสร็จและมีการก่อสร้างส่วนต่อขยายจากนครราชสีมา-หนองคาย หากเป็นไปตามแผนรถไฟความเร็วสูงสายนี้จะเชื่อมกับรถไฟความเร็วสูงลาว-จีนที่กำลังก่อสร้างจากเวียงจันทน์-บ่อเต็น และรถไฟของจีนที่โมฮัน-คุนหมิง


ตามยุทธศาสตร์ One Belt One Road ของจีนที่มีเป้าหมายจะสร้าง “เส้นทางสายไหมยุคใหม่” เชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งทางรางของไทยสู่การค้ากับ 64 ประเทศ มีประชากรรวมกัน 4,400 ล้านคน มากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก และมีสัดส่วน GDP ประมาณ 40% ของโลก

อย่างไรก็ตาม เป็นที่จับตา “จีน” จะฝ่าด่านเปิดตลาดงานระบบในสนามประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท ได้สำเร็จหรือไม่

เนื่องจากรถไฟสายนี้ “รัฐบาล คสช.” เปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP net cost รับสัมปทาน 50 ปี ดังนั้น ผู้คุมเกมคือเอกชนที่จะเข้าไปลงทุน ล่าสุดมีทั้งบริษัทซัพพลายเออร์จากยุโรป และเอเชียก็กำลังรุกหนัก หวังจะปาดเค้กก้อนใหญ่จากไทยแลนด์

โดยเฉพาะ “กลุ่ม ซี.พี.” ที่ดูเนื้อหอม ใคร ๆ ก็อยากจะจับมือเป็นพันธมิตรทั้งร่วมลงทุนและซัพพลายงานระบบให้ แต่ด้วยเงื่อนไขในทีโออาร์กำหนดสเป็กต้องใช้ระบบมาตรฐานยุโรป จึงมีความเป็นไปได้สูงที่เจ้าสัว ซี.พี.จะเลือกระบบรถไฟความเร็วสูงจากยุโรปมี 2 บริษัท “FS” บริษัท ทางรถไฟแห่งชาติอิตาลี (Ferrovie dello Stato Italiane S.p.A.) และ SNCF ที่บริษัท ทางรถไฟแห่งชาติ ฝรั่งเศส เป็นคู่เทียบ อยู่ที่ว่าใครมีข้อเสนอราคาและการบริหารจัดการที่นำไปสู่การลดต้นทุนของโครงการในระยะยาว ก็มีสิทธิ์ได้เข้าป้าย

ในเมื่อหัวใจสำคัญของการพัฒนารถไฟความเร็วสูง นอกจากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่จะเป็นรายได้มาเสริมแล้ว ยังเป็นเรื่องการบริหารจัดการต้นทุนโครงการ ทั้งอิตาลี-ฝรั่งเศสมีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารโครงการเป็นอย่างดีจากประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนาน 80-180 ปี

ขณะที่การให้บริการรถไฟความเร็วสูงของ “FS” มีบริษัท เตรนิตาเลีย จำกัด (Trenitalia) เป็นผู้บริการเดินรถ ทั้งในประเทศอิตาลีและเชื่อมต่อไปยังประเทศออสเตรีย ฝรั่งเศส เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งรถไฟความเร็วสูงในอิตาลีมีโรงงานผลิตเอง แต่จะใช้ระบบอาณัติสัญญาณของบอมบาดิเอร์และอัลซาโด้ ปัจจุบันมีรถขบวนใหม่ล่าสุด “เฟรคซีอารอสสา1000” ที่สะดวกสบาย พร้อมบาร์เครื่องดื่มและอาหาร ปลอดภัยด้วยกล้อง CCTV ที่ติดทุกตู้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม



โดยออกแบบวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 400 กม./ชม. แต่ถูกควบคุมความเร็ววิ่งจริงอยู่ที่ 250 กม./ชม. จึงทำให้อิตาลีเป็นประเทศที่ไม่มีอุบัติเหตุจากรถไฟความเร็วสูงเลย นับตั้งแต่ก่อตั้งมา เพราะมีศูนย์ควบคุมแห่งชาติคอยมอนิเตอร์ตลอดเวลา ขับเคลื่อนด้วยระบบแมนวล โดยคนขับจะจำกัดขับไม่เกินวันละ 7 ชม. และมีเก็บ ID ของคนขับทุกคนเพื่อวัด KPI ให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน

ใน 1 ขบวน มี 8 ตู้ แบ่งเป็น 1 ตู้ สำหรับชั้นสุดหรู “เอ็กเซ็กคิวทีฟ” มีเพียง 10 ที่นั่ง ซึ่งเก้าอี้นั่งหมุนได้รอบทิศ 180 องศา มาพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เช่น ห้องประชุมที่สามารถใช้บริการได้ฟรี แต่ต้องจองล่วงหน้า หากผู้โดยสารคนอื่นจะใช้ต้องจ่าย 30 ยูโร

จากนั้นอีก 1 ขบวน เป็น “ชั้นพรีเมี่ยม” เป็นชั้นที่เหมาะสำหรับผู้โดยสารที่ต้องการความสงบเงียบ ต่อด้วย “ชั้นธุรกิจ” หรือ business จะมี 2 ตู้ มีบริการเครื่องดื่มและอาหารด้วย 3 เมนู ที่เหลือ 4 ตู้เป็น “ชั้นธรรมดา” หรือ standard จะถูกจัดสรรในตู้แรกถัดจากห้องคนขับ ส่วนราคาค่าโดยสารชั้นธรรมดาและเอ็กเซ็กคิวทีฟจะต่างกัน 100-200% แล้วแต่การทำโปรโมชั่น

มาดู “TGV” หรือเตเฌเว การบริการรถไฟความเร็วสูงของฝรั่งเศส ถึงอายุก่อตั้งจะห่างจากอิตาลี 100 ปี แต่มีโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงที่ใหญ่เชื่อมจากศูนย์กลางกรุงปารีส ไปยังจุดหมายปลายทาง 1,400 แห่งในฝรั่งเศส

ยังมีเส้นทางในภูมิภาคครอบคลุม 11 พื้นที่ ให้บริการรถไฟใน 8 เมืองของทวีปยุโรป ครอบคลุม 230 แห่งใน 15 ประเทศ มีรถไฟความเร็วสูงบริการ 52 ขบวน และมีผู้โดยสารเฉลี่ยกว่า 130 ล้านคน/ปี

โดย TGV ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อปี 1970 วิ่งความเร็วสูงสุด 320 กม./ชม. ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ใช้ระบบอาณัติสัญญาณ “TVM ERTAS 2” ที่ฝรั่งเศสพัฒนาขึ้นมาเอง ส่วนขบวนรถใช้ของอัลส์ตอมมีโรงงานผลิตกระจายตามหัวเมืองต่าง ๆ 10 แห่ง สามารถผลิตได้ทั้งรถไฟชั้นเดียวและ 2 ชั้น ปัจจุบันอัลส์ตอมได้รวมระบบรถไฟกับซีเมนส์ ส่วนระบบไฟฟ้ากำลังรวมกับ GE ประเทศอเมริกา

ด้านการบริหารจัดการจะมีศูนย์บริหารจัดการรถไฟระดับชาติควบคุมระบบการเดินรถที่มีอยู่ 20,000 ขบวน/วัน มี 800 ขบวนเป็นรถไฟความเร็วสูง เพื่อประเมินสถานการณ์และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ โดยแบ่งบริหารจัดการเป็น 4 ระดับ ไต่ระดับจากไม่มีเหตุการณ์ไปจนถึงความรุนแรงที่ซับซ้อน ซึ่งการแก้ปัญหาจะตามความเข้มข้นของเหตุการณ์มาจากระดับภูมิภาคมาสู่ระดับประเทศหากรถเสียหรือถึงคิวต้องเช็กสภาพ จะมีศูนย์ซ่อมบำรุงใหญ่บนพื้นที่ 24,000 ตร.ม. เพราะขบวนรถถึงจะมีอายุใช้งานนานนับ 10 ปี แต่ต้องมีวาระเช็กสภาพทุก 2-3 ปี

เป็นความเคลื่อนไหวของยักษ์ใหญ่ระดับโลก ที่กำลังจะมาเปิดตลาดในประเทศไทยฮับใหญ่แห่งภูมิภาค
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42630
Location: NECTEC

PostPosted: 16/09/2018 12:51 am    Post subject: Reply with quote

ทางออกนอกตำรา : รถไฟฟ้า 3 สนามบินข้า ‘ใครอย่าแตะ’ เจ้าถิ่นถอยไป-เจ้าสัวธนินท์จอง
คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา
โดย : บากบั่น บุญเลิศ
ออนไลน์เมื่อ วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2561
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
หน้า 6 ฉบับ 3401 ระหว่างวันที่ 16-19 กันยายน พ.ศ. 2561


ผมเชื่อว่าหลายคนตกตะลึงพรึงเพริดกับการที่เจ้าสัว “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ เศรษฐีอันดับ 1 ของไทย ผู้มีสินทรัพย์ในการครอบครองรวมกัน 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาท ประกาศยุทธศาสตร์กินรวบโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” มูลค่าลงทุน 2.3 แสนล้านบาท ซึ่งเป็น 1 ใน 6 โครงการที่เป็นหัวใจในการยกระดับการลงทุนของประเทศในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รังสรรค์ขึ้นให้เป็น “ประตูทองการลงทุนของไทย”

โครงการที่เป็นหัวใจในอีอีซีที่ต้องมีการลงทุนในระยะ 5 ปีข้างหน้าใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 1.7 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย

1. รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 2 แสนล้านบาท
2. โครงการรถไฟทางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ มาบตาพุด-แหลมฉบัง-สัตหีบ วงเงินลงทุน 6.43 หมื่นล้านบาท
3. โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเชิงพาณิชย์ ในพื้นที่ 6,500 ไร่ วงเงินลงทุนรวม 2 แสนล้านบาท
4. โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 วงเงิน 1.11 หมื่นล้านบาท
5. โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางเรือ วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท
6. โครงการพัฒนาถนนเชื่อมระหว่างเมืองมอเตอร์เวย์ วงเงิน 3.53 หมื่นล้านบาท

รัฐบาลนายกฯลุงตู่ ตั้งธงไว้ชัดว่า จะทำการประมูลลงนามสัญญากับเอกชนในปีนี้และต้นปี 2562 ไม่น้อยกว่า 7 แสนล้านบาท

แต่การประมูลโครงการแรกคือ รถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 2.3 แสนล้านบาท ที่รัฐจะเปิดให้สัมปทานการลงทุนยาวนานมากๆ และเปิดโอกาสในเรื่องการพัฒนาที่ดินแถมให้อีกชุดใหญ่ ที่มีผู้สนใจมากถึง 31 ราย ซึ่งจะประมูลกันจริงในวันที่ 12 พฤศจิกายน ยังไม่ทันมาถึง เจ้าสัวธนินท์ ประกาศลั่นว่า “รถไฟฟ้า 2.3 แสนล้านบาท เส้นนี้ของข้า ใครอย่าแตะ”

เจ้าสัวธนินท์ บอกอะไร? ทำไม ผมถึงว่า รถไฟฟ้าเส้นนี้ ใครอย่าแตะ ไปดูกันครับ...

คุณธนินท์ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ โกลเบิล ไทม์ส สื่อภาษาอังกฤษของจีนเมื่อเร็วๆนี้ว่า “กลุ่มซีพีต้องการจับมือนักลงทุนจีนและญี่ปุ่น เข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินของไทย ที่เป็นหัวใจของเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก”

“โครงการนี้มีสิ่งที่สำคัญ คือการได้สิทธิพัฒนาที่ดินในเชิงพาณิชย์ ซีพี จึงต้องการดึงพันธมิตรกับนักลงทุนจีนเป็นอันดับต้นๆ ร่วมกับกลุ่มอิโตชูของญี่ปุ่น พันธมิตรร้านเซเว่นอีเลฟเว่นมาร่วมทุนกัน...

การลงทุนโครงการนี้ไม่ใช่มีเพียงบริษัทเอกชนไทย แต่เราต้องการให้มีนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาร่วมด้วย อีอีซีจะเป็นโมเดลการพัฒนาร่วม ทั้งทุนท้องถิ่นและบริษัท” เจ้าสัวธนินท์บอกกล่าว

เป็นการบอกกล่าวผ่านสื่อของทางการจีน ท่ามกลางกลิ่นควันการประมูลเค้กก้อนโต 2.3 แสนล้านบาท ในโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน ที่จะเริ่มต้นประมูลจริงโน่น....12 พฤศจิกายน 2561

เจ้าสัวธนินท์ ทิ้งทุ่นให้คนไทยทั้งแผ่นดินได้ตระหนักว่า “ผมต้องการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงร่วมกับบริษัทจีนและญี่ปุ่น โดยซีพีเตรียมแผนลงทุนครั้งใหญ่ด้วยงบหลายแสนล้านบาท สร้างโครงการเมืองใหม่ที่แปดริ้ว (ฉะเชิงเทรา) บนพื้นที่ 10,000 ไร่ ให้เป็น สมาร์ทซิตี ด้วยการวางผังเมืองให้ระบบสาธารณูปโภครวมอยู่จุดเดียว เช่น โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ศูนย์การค้าในใจกลางเมือง และจะก่อสร้างรถไฟฟ้าเชื่อม
ต่อมายังสถานีมักกะสัน ให้เดินทางเข้าถึงกรุงเทพฯ ภายใน 20 นาที

ขณะนี้ให้สถาปนิกและที่ปรึกษาจากสหรัฐฯ-อังกฤษ ออกแบบและวางแผนโครงการอยู่” เจ้าสัวธนินท์ ให้สัมภาษณ์

เหตุผลที่เลือก แปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา เป็นแห่งแรก เพื่อเป็นการทดลองโครงการเชื่อมต่อกับเขตอีอีซี และแปดริ้วอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก ผู้คนสามารถเดินไปทำงานได้ จำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองจะต้องไม่ตํ่ากว่า 300,000 คน เพื่อให้ธุรกิจคุ้มทุน โดยเมืองยิ่งใหญ่ยิ่งดี ถึงจะคุ้มค่าในการลงทุนสาธารณูปโภค

เจ้าสัวธนินท์ เสนอความเห็นว่าเมืองใหม่ในอีอีซีควรจะมี 3 แห่ง คือ แปดริ้ว พัทยา และระยอง แต่ซีพีจะไม่ลงทุนคนเดียวจะชวนนักธุรกิจไทย และต่างประเทศมาร่วมลงทุน

ผมไม่ต้องแปลอะไร แต่ในทาง “เศรษฐกิจการเมือง” บอกได้ว่า การที่เจ้าสัวซีพี ตีตราจองโครงการรถไฟฟ้า 2.3 แสนล้านบาท และจะมีการสร้างเมืองใหม่ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีการเปิดประมูล และกล้าซื้อที่ดินในแปดริ้ว 1 หมื่นไร่มารองรับ การลงทุนแบบนี้ต้องมีอะไรในกอไผ่

แน่นอนว่า ต้องมีใครบางคนที่มีพลังมากๆ มาการันตีในการทำงานชิ้นนี้ให้ “บรรลุ” ไม่เช่นนั้น “เจ้าสัวธนินท์” ไม่ออกโรงแบบแรงๆ ก่อนการประมูลแน่นอน...แล้วคนคน นั้นคือใคร...ถึงกล้าโยนเค้กก้อนใหญ่ไปให้กลุ่มซีพี

แม้ขณะนี้จะมีกลุ่มเจ้าถิ่นที่ถือครองที่ดินใน 3 จังหวัดคือ ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง จะประกาศดึงทุนต่างชาติมาร่วมสร้างเมืองใหม่ แต่ผมเห็นว่า นั่นเป็นเพียงการออกแรงกดดันเพื่อขายที่ ขายทาง หรือเข้าไปขอแบ่งเค้กก้อนนี้เท่านั้น เพราะการดึงคนมาร่วมลงทุนตั้งเมืองใหม่เพียงพันล้านก็ยากแล้ว แต่นี่ต้องถึงเป็นหมื่นล้านบาท แสนล้านบาทยิ่งยากใหญ่

ที่สำคัญ ผมไม่เคยเชื่อเลยว่า “เจ้าถิ่น” จะมีพลังพอไปสู้ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์”

ท่านทั้งหลายโปรดใช้สติในการพิจารณาให้ดีว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้...

ประเทศไทยมีเนื้อที่ทั้งหมด 321 ล้านไร่ เป็นที่ดินของรัฐ 165 ล้านไร่เศษ ที่เหลือ 156 ล้านไร่ เป็นที่ดินของภาคเอกชน ที่ผ่านมากรมที่ดินออกเอกสารสิทธิโฉนดที่ดิน, นส.3 ก, นส.3, ใบจอง ไปแล้วทั้งสิ้น 32-33 ล้านโฉนด คิดเป็นเนื้อที่ 130-135 ล้านไร่

มูลนิธิสถาบันที่ดินแห่งประเทศไทย ระบุว่า “เอกสารสิทธิที่กรมที่ดินออกไปทั้งหมดกว่า 90% ไปกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มคนเพียง 10% ของประชากรทั้งประเทศ หรือแค่ 6 ล้านคน โดยเกษตรกร 5.8 ล้านครัวเรือนมีที่ดินเป็นของตัวเอง แต่มีเกษตรกรที่ไม่มีที่ทำกินอยู่ 1.09 ล้านครัวเรือน”

คนเหล่านั้นเป็นใครบ้าง...ข้อมูลที่มีการตรวจสอบพบแต่ไม่มีหน่วยงานไหนการันตีพบว่า ตระกูลสิริวัฒนภักดี 6.3 แสนไร่ ตระกูลเจียรวนนท์ 2 แสนไร่ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 3 หมื่นไร่ บริษัท สหอุตสาหกรรมนํ้ามันปาล์มฯ 4.4 หมื่นไร่บริษัท ไออาร์พีซีฯ เครือ ปตท. 1.7 หมื่นไร่ ตระกูลมาลีนนท์ 1 หมื่นไร่ วิชัย พูลวรลักษณ์ 7 พันไร่ ตระกูลจุฬางกูร 5,000 ไร่

และลองตอบคำถามผมสัก 2-3 ข้อ

1.ท่านรู้ได้อย่างไรก่อนหน้านี้ว่า โครงการรถไฟฟ้าจะวิ่งไปในเส้นทางนี้ จึงพยายามไล่ซื้อที่ดินไว้ในเส้นทางพอดี ยังกับจับมือให้คนเขียนโครงการลากเส้นไป แต่ทำไมคนอื่นไม่รู้ว่าวิ่งไปทางไหน

2. ถ้าเป็นท่านจะซื้อที่ดินก่อนโครงการจะได้รับการอนุมัติหรือไม่ หรือซื้อไป ลุยไป เพื่อมิให้มีต้นทุนจากการเก็งราคาที่ดินมาทำให้ต้นทุนสูง...แต่อะไรทำให้ท่านมั่นใจว่าตัวเองได้โครงการนี้แน่จึงกว้านซื้อที่ดิน

3. ท่านคิดว่าการไล่ซื้อที่ดินจากประชาชนชาวแปดริ้ว จนสามารถมีที่ดิน 10,000 ไร่ หรือ 400,000 ตารางวานั้น ง่ายดายดุจกล้วยเข้าปากเชียวหรือ...

4. ท่านคิดว่าการรวบรวมที่ดิน 1 หมื่นไร่ ทำได้ง่ายๆ โดยที่คนแปดริ้วไม่เคยรับรู้เลยหรือ ในเมื่อข้อมูลของกรมที่ดินบอกว่า ค่าเฉลี่ยของคนไทยมีที่ดินแค่คนละ 5-6 ไร่เท่านั้น การซื้อเป็นหมื่นไร่จะต้องรวบรวมที่ดินมาจากคนกี่คน...แต่ทำไมคนไม่รู้ ตลาดไม่แตก...

ผมกำลังรอดู “ผู้รับผิดชอบฝ่ายการเมือง-คสช.(คุณสมชาย)” จะเล่นเกมนี้อย่างไร ด้วยความระทึกในฤทัย เพราะผมไม่เชื่อว่า คุณสมชาย จะไปมีส่วนร่วมในการวางแผนโยนเค้กให้เจ้าสัวซีพี...แต่ทำทีเป็นมีการประมูล คุณละคิดอย่างไร....
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42630
Location: NECTEC

PostPosted: 17/09/2018 10:54 am    Post subject: Reply with quote

'ซีพี' ยึดที่รัฐ 4 พันไร่! ฮือต้านธนารักษ์ประเคนที่ดินบางน้ำเปรี้ยวขึ้นเมืองใหม่
ออนไลน์เมื่อ 16 กันยายน พ.ศ. 2561
ตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,401 วันที่ 16-19 กันยายน พ.ศ. 2561 หน้า 01-02



'ซีพี' ยึดที่ราชพัสดุ 4,000 ไร่ 'บางน้ำเปรี้ยว' เช่าที่ทหารเรือใช้ประโยชน์ ... ธนารักษ์แปดริ้วโยน สนง.อีอีซี ชี้แจงชาวบ้าน วอนนายกฯ เปิดข้อมูลให้รับรู้ ... อสังหาฯแปดริ้วปูดเซ็นสัญญาเรียบร้อยแล้ว แถมกว้านซื้อที่ไม่หยุด 3 อำเภอ นับหมื่นไร่ เร่งทยอยโอน สั่งรื้อเล้าไก่ขึ้นตึกสูง

ผืนที่นาราคาถูกใน 3 จังหวัดระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก กลายเป็นเป้าหมายของยักษ์ใหญ่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ไล่กว้านซื้อมาสร้างเมืองใหม่ รองรับรถไฟความเร็วสูง ล่าสุด ที่ดินราชพัสดุบางน้ำเปรี้ยวที่ให้ชาวบ้านเช่าทำนา 4,000 ไร่ ช่วงรอยต่อกรุงเทพฯ-มีนบุรี-หนองจอก


ไล่ชาวนายึดที่ 'บางน้ำเปรี้ยว'
แหล่งข่าวจากวงการอสังหาริมทรัพย์ จ.ฉะเชิงเทรา เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ กลุ่มซีพี ของนายธนินท์ เจียรวนนท์ เซ็นสัญญาเช่าที่ดินที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ ใน อ.บางน้ำเปรี้ยว จำนวน 4,000 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทหารเรือใช้ บริเวณ ต.โยธะกา ทำเลนี้ติดแม่น้ำบางปะกงและรอยต่อระหว่างกรุงเทพมหานครกับแปดริ้ว เพื่อเตรียมพัฒนาเมืองใหม่ ดึงคนเข้าพื้นที่ระหว่างอีอีซีกับมักกะสัน พุ่งเข้าใจกลางเมือง ทั้งรถไฟความเร็วสูง แอร์พอร์ตลิงค์ และโครงข่ายถนน

โดยกรมธนารักษ์ได้บอกเลิกสัญญาเช่ากับชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ทำนา อัตราค่าเช่าไร่ละ 75 บาทต่อปี รวม 275 หลังคาเรือน และล่าสุด ประชาชนในพื้นที่ได้รวมตัวกันคัดค้านกรณีกรมธนารักษ์ไม่ต่อสัญญาและนำที่ทำกินหลายชั่วอายุคนไปยกให้นายทุนทำเมืองใหม่ รวมถึงมีการส่งหนังสือไปยังกรมธนารักษ์และกรมโยธาธิการและผังเมือง

"ที่ดินแปลงดังกล่าวทหารเรือใช้พื้นที่ ต่อมามีนโยบายเฟ้นหาที่ตั้งเมืองใหม่ ทำให้กรมธนารักษ์ยกที่ดินเข้าโครงการอีอีซี"

กว้านซื้อดะ! ท้องนา 3 อำเภอ
ขณะที่ ความเคลื่อนไหวการซื้อที่ดินชาวบ้านยังมีต่อเนื่อง โดยกลุ่มซีพีจะกระทำในนามบริษัทลูก เน้นกว้านซื้อที่นาราคาถูกในแถบ อ.บางปะกง , อ.บ้านโพธิ์ และ อ.แปลงยาว พร้อมทยอยโอนที่สำนักงานที่ดินคราวละ 50-100 ไร่ ส่วนเขต อ.เมือง ทางกลุ่มซีพีไม่เข้าซื้อ เนื่องจากราคาแพง และเริ่มพัฒนาเต็มพื้นที่ เทียบกับโซนบางน้ำเปรี้ยว ราคาไร่ละหลักแสนบาท ขณะที่ เขต อ.เมือง ไร่ละ 20 ล้านบาทขึ้นไป


ดันเล้าไก่สู่ "สมาร์ทซิตี"
นายจอมพงษ์ ชูทับทิม เลขาธิการหอการค้าจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า นอกจากที่ดินที่ราชพัสดุแล้ว ซีพียังมีโรงเลี้ยงไก่ทำเลหนองจอก ในพื้นที่กรุงเทพฯ กว่า 100 ไร่ ที่คาดว่าจะถูกยกเลิกไป เข้าใจว่าน่าจะรวมพื้นที่ขึ้นสมาร์ทซิตี เนื่องจากอยู่รอยต่อแปดริ้วติดกับที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ 4,000 ไร่





ธนารักษ์รับ 'ซีพี' สนใจ
แหล่งข่าวจากกรมธนารักษ์ ยอมรับว่า บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ฯ หรือ ซีพี สนใจที่จะเช่าที่ราชพัสดุ จำนวน 4,000 ไร่ ในพื้นที่ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งปัจจุบัน มีกองทัพเรือขอใช้ประโยชน์อยู่ ใช้เป็นที่ตั้งศูนย์เกษตรกรรมทหารเรือโยธะการ รวมประมาณเกือบ 4,000 ไร่

จากการลงพื้นที่ของผู้สื่อข่าวพิเศษ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้สัมภาษณ์ นายภูริต กุศลผลบุญ นักประเมินราคาทรัพย์สินชำนาญการ สำนักงานธนารักษ์ พื้นที่ฉะเชิงเทรา ในฐานะรักษาการธนารักษ์พื้นที่ฉะเชิงเทรา ซึ่งแจงว่า ปัจจุบัน จ.ฉะเชิงเทรา มีพื้นที่ราชพัสดุ 25,000 ไร่ ส่วนใหญ่ใช้เป็นสถานที่ราชการ ทำไร่ ทำนา ส่วนโครงการจัดตั้งเมืองใหม่ตามนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ยังไม่มีการเสนอขอใช้ที่ราชพัสดุในฉะเชิงเทราแม้แต่โครงการเดียว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน การเช่าที่ราชพัสดุในฉะเชิงเทราต่างจากอดีต เพราะจะเป็นการขอเช่าที่ราชพัสดุผ่านสำนักงานอีอีซี ตาม พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 มาตรา 53 ที่ระบุว่า ถ้าคณะกรรมการนโยบายอีอีซีต้องการที่ราชพัสดุมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่อีอีซี ทั้งการเช่าหรือเช่าช่วง ให้อำนาจทั้งปวงของกรมธนารักษ์ในที่ราชพัสดุนั้น เป็นอำนาจของสำนักงานอีอีซีเลย แต่ถ้าที่ราชพัสดุนั้นอยู่ในการครอบครองของหน่วยงานรัฐอื่น ต้องได้รับความยินยอมจากหน่วยงานรัฐนั้นก่อน จึงจะนำมาเอามาใช้ได้

● พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก พ.ศ. 2561

"ดังนั้น ไม่ว่านักลงทุนหรือหน่วยงานที่จะใช้ประโยชน์ ต้องติดต่อผ่านอีอีซีตามมาตรา 53 ซึ่งจะรวดเร็วกว่าเดิม เพราะเขาจะให้อำนาจชัดเจน"

ส่วนกรณีพื้นที่ อ.บางน้ำเปรี้ยว มีการใช้ประโยชน์จากกองทัพเรือประมาณ 4,000 ไร่ ถ้าจะมีเอกชนไปขอใช้ สามารถติดต่อทางสำนักงานอีอีซีได้เลย และทางสำนักงานอีอีซีก็จะติดต่อไปยังหน่วยงานที่ใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงนั้น

เมื่อถามว่า มีข่าวว่ากลุ่มซีพีจะขอเช่าพื้นที่ 4,000 ไร่ ตรงนั้น ต้องยื่นขอมาที่ธนารักษ์ฉะเชิงเทรา หรือ กองทัพเรือ หรือ สำนักงานอีอีซี นายภูริต กล่าวย้ำว่า ต้องผ่านสำนักงานอีอีซีแน่นอน เพราะกฎหมายบอกว่า เขาไม่ต้องมาติดต่อธนารักษ์แล้ว ทุกอย่างต้องผ่านสำนักงานอีอีซีทั้งหมด ตามมาตรา 53




น.ส.ทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก



ส่งคืนที่ราชพัสดุ
ด้าน น.ส.ทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยว่า จากที่กรมธนารักษ์ได้มอบพื้นที่ราชพัสดุในพื้นที่อีอีซี ประมาณ 1 หมื่นไร่ เพื่อให้ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) นำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างเมืองใหม่นั้น ทางอีอีซีขอยืนยันว่า ได้ทำหนังสือกลับไปยังกรมธนารักษ์แล้วว่า ไม่มีความประสงค์ใช้ที่ดินแปลงดังกล่าว ซึ่งการจัดตั้งเมืองใหม่อัจฉริยะที่อีอีซีจะดำเนินการนั้น ขณะนี้ อยู่ระหว่างการศึกษาและจัดหาพื้นที่เพื่อมาดำเนินโครงการศูนย์กลางทางการเงินและธุรกิจ ราว 500 ไร่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก พื้นที่ราว 6,500 ไร่ บริเวณท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา


ชาวบ้านรวมตัวต้าน
นายสมหมาย บุญนิมิต ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 11 ต.โยธะการ อ.บางน้ำเปรี้ยว กล่าวว่า "อยากฝากถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า หากจะมีโครงการใหญ่อะไร ไม่ว่าจะเกี่ยวกับกองทัพเรือ หรือ ซีพีเข้ามาขอเช่าที่ราชพัสดุเพื่อทำโครงการอีอีซี ก็ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาพูดคุย หรือ ให้ข้อมูลกับชาวบ้านบ้าง เพราะเราอยู่ที่นี่กันมานานตั้งแต่ปู่ย่าตายาย อยู่มาก่อนที่กองทัพเรือจะมาตั้งหน่วย อยู่มาก่อนที่ธนารักษ์จะออกกฎหมายราชพัสดุเสียอีก"
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42630
Location: NECTEC

PostPosted: 17/09/2018 10:58 am    Post subject: Reply with quote

2กลุ่มลุ้นตัดเชือกไฮสปีด หวั่นติดหล่มเวนคืนที่ดิน
พร็อพเพอร์ตี้
วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2561 - 12:31 น.


โจทย์หินไฮสปีด EEC หวั่นเพิ่มภาระลงทุนปัญหาที่ดินมักกะสัน/ศรีราชา คาดเหลือ 2 กลุ่มชิงดำ “ซี.พี.” เต็งจ๋าผนึกฝรั่งเศส-อิตาลี ควง 7 บริษัทจีนซุ่มเจรจา “ITD-ช.การช่าง-BEM” ฟาก BTS ผนึกซิโน-ไทยฯ-ราชบุรีฯแน่น ปตท.รอเคาะพันธมิตร

แหล่งข่าวจากวงการรับเหมาก่อสร้างเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังพิจารณาร่างทีโออาร์ประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ที่รัฐจะให้เอกชนร่วมลงทุน PPP net cost ระยะเวลา 50 ปี วงเงิน 2.24 แสนล้านบาท โดยเปิดให้ยื่นซองประมูลวันที่ 12 พ.ย.นี้ นอกจากเวลาการทำข้อเสนอจะสั้น รายละเอียดเนื้องานก็ยุ่งยาก และโครงการก็มีความเสี่ยงสูง กว่าจะคุ้มทุนต้องใช้เวลา 10-20 ปี

ปัญหาส่งมอบที่ดินมักกะสัน

สิ่งที่เป็นข้อกังวลมีหลายประเด็น เช่น การพัฒนาเชิงพาณิชย์สถานีมักกะสัน 150 ไร่ อาจจะเป็นภาระเอกชน เพราะต้องใช้เงินลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ยังเคลียร์พื้นที่บางส่วนไม่ได้ จะส่งมอบให้ส่วนแรก 100 ไร่ ในวันที่เซ็นสัญญา อีก 50 ไร่ ทยอยใน 5 ปี ส่วนสถานีศรีราชา 25 ไร่ ไม่น่าจะมีปัญหา

“ขณะที่เอกชนจะต้องจ่ายเงินก้อนแรกเป็นค่าเปิดหน้าดินให้การรถไฟฯทันทีเป็นเงินหลาย 1,000 ล้านบาท รวมถึงลงทุนพัฒนาและสร้างระบบสาธารณูปโภคทั้งมักกะสันและศรีราชา อีก 45,000 ล้านบาท ไม่รวมค่าเช่าตลอดอายุสัญญาอีก 51,000 ล้านบาท”

ทั้งยังมีความไม่ชัดเจนการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา 6,500 ไร่ เช่น การพัฒนากิจกรรมต่าง ๆ การประมูลก่อสร้างและแล้วเสร็จ รวมถึงยอดผู้โดยสารมาใช้บริการ หากการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาไม่เป็นตามแผนจะกระทบต่อโครงการเช่นกัน ในส่วนของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ที่ผู้ชนะจะได้สิทธิ์การเดินรถและบริหารโครงการด้วย ก็เป็นเรื่องยากเช่นกันที่จะบริหารจัดการให้ผลประกอบการดีขึ้น เพื่อแลกกับเงินที่เอกชนต้องจ่ายให้ 10,671 ล้านบาท ทันทีที่เซ็นสัญญา และยังต้องลงทุนซื้อรถขบวนใหม่เพิ่มเติมอีก

ปมพื้นที่ทับซ้อน-เวนคืนที่ดิน



แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ มีพื้นที่ก่อสร้างที่ทับซ้อนกับรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง และบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก ที่เอกชนจะต้องออกค่าก่อสร้างอุโมงค์ช่วงจิตรลดาก่อน 7,200 ล้านบาท รวมถึงโครงสร้างที่ทับซ้อนกับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน และรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น ช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองอีก 10 กม. นอกจากนี้รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของโครงการที่ยังไม่ได้รับอนุมัติก็น่ากังวล รวมถึงการเวนคืนที่ดินตลอดเส้นทาง และจุดใหญ่ จ.ฉะเชิงเทรา 550 ไร่ ยังไม่รู้ว่าการรถไฟฯจะจัดการแล้วเสร็จตามกรอบเวลาหรือไม่

“งานระบบที่เอกชนต้องจัดหา ตามทีโออาร์ถึงจะไม่ปิดกั้นใช้ระบบของประเทศไหน แต่ก็กำหนดไว้ต้องเป็นระบบมาตรฐานของยุโรป เพราะมีข้อจำกัดขนาดรถต้องวิ่งเข้าสถานีมักกะสัน ต้องกว้างไม่เกิน 3 เมตร ซึ่งเข้าทางยุโรป ส่วนรถของเอเชียทั้งจีนและญี่ปุ่นจะมีขนาดกว้างเกิน 3 เมตรทำให้กลุ่ม ซี.พี.เจรจาบริษัทยุโรปเข้ามาร่วมด้วย เพราะจะได้ไม่ต้องลงทุนโมดิฟายสถานีใหม่” แหล่งข่าวกล่าว

คาดเหลือแค่ ซี.พี.-บีทีเอสชิงดำ

จากความยากของโครงการ คาดว่าจะมีเอกชนมายื่นประมูลจริง ๆ 2-3 ราย ได้แก่ 1.กลุ่มซี.พี.คาดว่าร่วมกับบริษัทรถไฟในประเทศยุโรปและเอเชีย ได้แก่ บริษัททางรถไฟแห่งชาติฝรั่งเศส (SNCF) และบริษัท ทรานส์เดฟ กรุ๊ป จากฝรั่งเศส บริษัททางรถไฟแห่งชาติอิตาลี (FS) ในส่วนของการจัดหาระบบ การเดินรถและบริหารจัดการโครงการ

ส่วนในเอเชียมี 7 บริษัทจากจีนจะร่วมกันออกแบบก่อสร้างและวางราง ประกอบด้วย บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น (CRCC), บจ.ไชน่า เรลเวย์ กรุ๊ป, บจ.ไชน่า คอมมูนิเคชั่น คอนสตรัคชั่น,

บจ.ไชน่า รีเสิร์ซ โฮลดิ้งส์, บจ.ซิติก กรุ๊ป, บจ.ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น และ บจ.ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ด้านบริษัทไทยจะเป็นงานก่อสร้าง มีกระแสว่ากลุ่ม ซี.พี.กำลังเจรจา บมจ.อิตาเลียนไทย และ บมจ.ช.การช่าง ซึ่งอาจรวมถึง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ด้วย

สำหรับกลุ่มที่ 2.กลุ่ม BSR ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง และกำลังเจรจากับ ปตท. และ 3.กรณีกลุ่ม ปตท.ที่กำลังเจรจากับทั้งบีทีเอส และ ซี.พี. หากสุดท้ายไม่ลงตัวทาง ปตท.อาจจะยื่นประมูลเอง

ซี.พี.พาทัวร์ลงพื้นที่จริง

นายอติรุฒม์ โตทวีแสนสุข หัวหน้าทีมประสานงานโครงการรถไฟความเร็วสูงเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) กล่าวว่า ความยากของโครงการนี้ ถ้ามองในแง่การก่อสร้าง ต้องตัดสินใจแต่ต้นว่าจะสร้างแบบไหน อย่างแรกดูข้อกำหนดของการรถไฟฯว่าทำได้หรือไม่ จากนั้นดูการบริหารจัดการที่ต้องก่อสร้างบางส่วนก่อนโครงการอื่นที่ยังไม่เกิด ต้องเตรียมการไว้ให้เพื่อเชื่อมต่อในอนาคต ทั้งโครงสร้างและเทคโนโลยี

“ยังไม่ขอพูดว่าเราจะร่วมกับใคร เพราะเป็นความลับทางธุรกิจ เราโอเพ่นหมดทั้งไทยและต่างชาติ เพราะรถไฟความเร็วสูงเป็นระบบที่ประเทศไทยไม่เคยมีมาก่อน ซึ่ง ซี.พี.ก็ร่วมลงทุนเกือบทุกด้าน เช่น อสังหาฯ ตอนนี้จ้างผู้เชี่ยวชาญมาวิเคราะห์แต่ละด้าน ก่อนที่จะตกผลึกและยื่นซองประมูล” นายอติรุฒม์กล่าวและว่า

วันที่ 14 ก.ย.นี้ ซี.พี.จะลงดูสภาพพื้นที่จริง เริ่มตั้งแต่แอร์พอร์ตลิงก์สถานีมักกะสันที่จะเป็นจุดศูนย์กลางสำคัญเชื่อมรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เช่น ดูระบบจุดเช็กอินและการบริการ รวมถึงตำแหน่งพื้นที่ 150 ไร่ ที่จะพัฒนาเชิงพาณิชย์ จากนั้นนั่งแอร์พอร์ตเรลลิงก์จากสถานีมักกะสัน-สุวรรณภูมิ ดูการเชื่อมต่อการเดินทาง แล้วนั่งรถไฟขบวนพิเศษจากลาดกระบังไปยังสถานีบ้านพลูตาหลวง สถานีฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา และพัทยา จากนั้นนั่งรถยนต์ไปสนามบินอู่ตะเภา เพื่อดูพื้นที่การพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การเปิดใช้อาคารผู้โดยสารที่ปรับปรุงใหม่

ปตท.จีบ 2 บิ๊กรถไฟฟ้าลงขัน

ด้านนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. กล่าวว่า ได้คัดเลือกพันธมิตรจาก 10 ราย เหลือ 2 ราย เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดิน เป็นสัญชาติไทย ร่วมลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แต่ยังไม่ตัดสินใจต้องรอสัญญาณบางอย่างก่อน หากได้ข้อสรุป ปตท.จะให้ บจ.เอ็นเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ (EnCo) บริษัทลูกเข้าไปยื่นประมูลวันที่ 12 พ.ย.นี้

“การลงทุนนี้ต้องศึกษาความเหมาะสมโครงการว่าลงทุนแล้วคุ้มหรือไม่ เพราะเราต้องดูแลผู้ถือหุ้นด้วย ทำแล้วมีความเสี่ยงทางด้านนโยบายหรือไม่ การลงทุนนี้จะเป็น New S-curve การลงทุนจะเห็นก็หลัง 5-7 ปีที่โครงการก่อสร้างไปแล้ว นอกจากนี้ ปตท.ยังมีที่ดินบริเวณมักกะสันที่สามารถจะพัฒนาต่อไปได้อีก”

นายชาญศิลป์กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญตามนโยบายของรัฐบาล ในการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดบนพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่ง ปตท.มีธุรกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ EEC มากกว่าครึ่งหนึ่ง โดยบอร์ดมองถึงโอกาสที่จะขยายการลงทุนจากโลจิสติกส์ ไปสู่ธุรกิจค้าปลีกบนสถานีต่าง ๆ รวมถึงการให้บริการที่เรียกว่าเป็น new energy ทั้งระบบแอร์ ระบบน้ำร้อน-น้ำเย็น ระบบไฟฟ้าต่าง ๆ เพื่อรองรับการทำงานของสถานี

รถไฟลั่นปีหน้าเวนคืนเสร็จ

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า เอกชนมีข้อกังวลเรื่องเวนคืนที่ดิน โครงสร้างที่ทับซ้อนกับสายสีแดง รถไฟความเร็วไทย-จีน และไทย-ญี่ปุ่น ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ตามหลักการแล้วโครงการใดที่พร้อมสุด จะต้องลงทุนโครงสร้างรองรับไว้ก่อน ตอนนี้รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินพร้อมสุด ต้องก่อสร้างก่อน ส่วนระบบเดินรถและอาณัติสัญญาณ หากจะใช้รางร่วมกันเจ้าของเทคโนโลยีก็สามารถคุยกันทั้งยุโรป จีน ญี่ปุ่น

กรณีเวนคืนที่ดินจะให้เสร็จในปี 2562 ขณะนี้เตรียมออก พ.ร.ฎ.เวนคืนตลอดแนวเส้นทาง มี 850 ไร่ วงเงิน 3,570 ล้านบาท มี จ.ฉะเชิงเทรา 550 ไร่ วงเงิน 3,000 ล้านบาท สร้างศูนย์ซ่อมบำรุง (depot) 300 ไร่ แนวทางวิ่ง 100 ไร่ และสถานีรถไฟ 70 ไร่ ที่เหลือเป็นค่าสิ่งปลูกสร้างทดแทนผู้อยู่อาศัยเดิม 254 ครัวเรือน ต้องย้ายออกจากแนวเขตทาง นอกจากนี้มีเวนคืนที่สถานีลาดกระบังเพิ่ม ทำทางวิ่งไปสนามบินอู่ตะเภา และบางส่วนบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ และอู่ตะเภาอีก 300 ไร่

ส่วนการส่งมอบพื้นที่สถานีมักกะสันและศรีราชาคิดว่าไม่มีปัญหา เช่นเดียวกับการขออนุมัติอีไอเอจะให้ได้รับอนุมัติภายในปีนี้ ล่าสุดกำลังส่งรายละเอียดให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาช่วงกรุงเทพฯ-อู่ตะเภาก่อน
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42630
Location: NECTEC

PostPosted: 17/09/2018 5:46 pm    Post subject: Reply with quote

พ.ย.นี้ประมูลรถไฟไทย-จีน ตอน 2 สีคิ้ว-กุดจิก 11 กิโล 4 พันล้าน
วันที่ 17 กันยายน 2561 - 16:52 น.

รฟท. ลั่น พ.ย.นี้ เปิดประมูลไฮสปีดเทรนไทย-จีน ตอน 2 สีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กิโล ลงทุน 4 พันล้าน – ฟุ้งรายได้เดินรถปีนี้แตะ 4 พันล้าน

พ.ย.นี้ประมูลรถไฟไทย-จีน รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. รับทราบความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ไทย-จีน เฟสที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทางรวม 252.5 กิโลเมตร วงเงินรวม 1.79 แสนล้านบาท ส่วนการดำเนินการตอน 2 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตร วงเงินลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท โดย รฟท. คาดว่าจะเผยแพร่ร่างเงื่อนไขการประมูล (TOR) เพื่อรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของรฟท. ได้ในช่วงเดือนต.ค. นี้ และเปิดประมูลได้ในเดือนพ.ย. 2561 ตั้งเป้าที่ลงนามสัญญาผู้ชนะการประมูลได้ในปลายเดือนม.ค. 2562

สำหรับงานโยธา ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ประกอบด้วย งานก่อสร้างทางยกระดับ 4.19 กิโลเมตร, งานก่อสร้างคันทาง 6.81 กิโลเมตร, งานก่อสร้างเสริมคันทาง, งานก่อสร้างทางลอดท่อเหลี่ยม, งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงทางย่านสถานีโคกสะอาด และงานก่อสร้างชานชาลาชั่วคราวที่สถานีโคกสะอาด โดยผู้เข้าประมูลจะต้องมีผลงานขั้นต่ำ 15% ของมูลค่าโครงการ ซึ่งได้ร่วมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว โดยผลงานต้องเป็นการก่อสร้างทางรถไฟหรืองานโยธาที่กำหนด



นายทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการเดินรถ รฟท. เปิดเผยว่า รายได้กลุ่มธุรกิจการเดินรถในปี 2561 โดยระบุว่า รายได้จากการเดินรถในขณะนี้มีมากกว่า 3.2 พันล้านบาท ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่ประมาณการณ์ไว้ ซึ่งเกิดจากปัจจัยบวกของการนำรถโดยสารคันใหม่ 115 คันเข้ามาเสริมบริการ ประกอบกับการเปิดเส้นทางโดยสารเพื่อการท่องเที่ยว สามารถเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เพิ่มมากขึ้น อาทิ เส้นทาง กรุงเทพฯ – พัทยา – สัตหีบ ซึ่งปัจจุบันมรอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (โหลดแฟกเตอร์) มากกว่า 90%

นายวรวุฒิ มาลา ผู้ว่า รฟท. กล่าว่า มั่นใจว่าปีนี้ภาพรวมรายได้ของ รฟท. จะมีใกล้เคียงปีก่อนอยู่ที่ 9 พันล้านบาท โดยเป็นรายได้จากการเดินรถโดยสารราว 4 พันล้านบาท ขนส่งสินค้า 2 พันล้านบาท และรายได้จากการบริหารทรัพย์สินอีก 3 พันล้านบาท และคาดว่าหลังการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟทางคู่ครบตามเป้าหมาย จะมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็นประมาณ 22 ล้านคนในปี 2570 จากปัจจุบันมีผู้โดยสารประมาณ 11 ล้านคน
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 283, 284, 285 ... 542, 543, 544  Next
Page 284 of 544

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©