Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Ads Service

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311283
ทั่วไป:13263187
ทั้งหมด:13574470
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - รวมข่าวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคตตามนโยบายรัฐบาล
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

รวมข่าวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคตตามนโยบายรัฐบาล
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 187, 188, 189 ... 278, 279, 280  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคต
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42709
Location: NECTEC

PostPosted: 15/10/2018 11:46 pm    Post subject: Reply with quote

Mongwin wrote:
คมนาคมสั่งเพิ่มรถไฟฟ้าเมืองกรุง 5 สายใหม่
โพสต์ทูเดย์ วันที่ 15 ต.ค. 2561 เวลา 09:56 น.

คมนาคมสั่งเพิ่มรถไฟฟ้าเมืองกรุง 5 สายใหม่

รมว.คมนาคมให้ทำขนส่งทางรางด้วยไฟฟ้า 5 เส้นทาง รวม 131 กม.ใช้งบหลายแสนล้าน

นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างจัดทำทิศทางและนโยบายการพัฒนา พร้อมปรับปรุงแบบจำลอง รวมถึงลงพื้นที่เพื่อพิจารณาเส้นทางที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมพื้นที่เขตเมือง ภายใต้แผนแม่บทขนส่งมวลชนระบบรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระยะที่ 2 (M-MAP2)

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ได้สั่งการให้เพิ่มรถไฟฟ้าสายใหม่ประมาณ 5 เส้นทาง ระยะทางรวม 131 กม. คาดว่า จะใช้เม็ดเงินลงทุนรวมหลายแสนล้านบาท ซึ่งทั้งหมดจะเป็นระบบขนส่งทางรางด้วยระบบไฟฟ้า (Metro Rail Transit) สายยาวเป็นวงแหวนรถไฟลากตามแนว พื้นที่เขตชานเมืองช่วงบางหว้า-ตลิ่งชัน-นนทบุรี ซึ่งการออกแบบจะให้เป็นรถไฟฟ้าที่เชื่อมสถานีขนส่งหลักและเชื่อมกับรถไฟฟ้าสีต่างๆ เพื่อเป็นฟีดเดอร์กวาดคนชานเมืองเข้าสู่ระบบขนส่งรถไฟฟ้าระบบหลัก พร้อมกันนี้ยังมีแผนต่อขยายรถไฟฟ้าสายเดิมบางเส้นทางไปยังเขตชานเมืองให้มากขึ้นอีกด้วย

นายสราวุธ กล่าวว่า สำหรับแนวทางการพัฒนารถไฟฟ้าดังกล่าวนั้นมีเป้าหมายคือดึงประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลหันมาใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น หลังพบว่าปัจจุบันสัดส่วนการใช้ระบบรถไฟฟ้าอยู่ที่เพียง 4% ของการเดินทางทั้งหมดซึ่งถือว่าน้อยมาก ซึ่งเป้าหมายคือต้องการเพิ่มเป็น 8-10% เมื่อรถไฟฟ้าเฟส 1 รวม 10 เส้นทางเปิดบริการ และเมื่อรถไฟฟ้าเฟส 2 อีก 10 เส้นทางแล้วเสร็จจะเพิ่มสัดส่วน 15% หรือมากกว่าปัจจุบันกว่า 3 เท่า

นายสราวุธ กล่าวว่า ปัญหาการจราจรปัจจุบันเป็นผลจากมีการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลมากเกินไป ตามแผนของกระทรวงคมนาคมจึงต้องส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งสิ่งที่ประชาชนต้องการคือแตะบัตรใบเดียวเชื่อมต่อได้ และรถโดยสารมาตรงเวลาไม่รอนาน การเชื่อมต่อมีความต่อเนื่อง

สำหรับแผนการพัฒนาศูนย์กลางการขนส่งหลัก (Terminal Station) เพื่อเป็นจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งแบบไร้รอยต่อระหว่างรถไฟฟ้าและการขนส่งสาธารณะทุกรูปแบบนั้น เบื้องต้นได้กำหนดสถานีหลักไว้ 6 จุด ได้แก่ สถานีนนทบุรี สถานีมีนบุรี สถานีตลิ่งชัน สถานีบางหว้า สถานีบางนา และสถานีบางกะปิ ขณะที่สถานีรองอีก 7 จุดประกอบด้วย สถานีหัวหมาก สถานีหลักสี่ สถานีบางขุนนนท์ สถานีลาดพร้าว สถานีบางใหญ่ สถานีบางขุนเทียน และสถานีสมุทรปราการ


M-Map 2 วางแนวรถไฟฟ้าเพิ่ม 5 สาย 131 กม.เชื่อมพื้นที่ชั้นนอก กทม.

โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เผยแพร่: 14 ตุลาคม 2561 เวลา 17:10
ปรับปรุง: 14 ตุลาคม 2561 เวลา 17:42

ส่วนแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระยะที่ 2 (M-MAP 2) ซึ่งองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) เป็นผู้ศึกษานั้น ได้รายงานความคืบหน้า ซึ่งมีรถไฟฟ้า 5 เส้นทางใหม่ ระยะทางรวม 131 กม. ทำให้ครอบคลุมพื้นที่ชั้นนอก กทม.เพิ่มเติมเป็นแนวรถไฟฟ้าวงแหวนรอบนอกเพื่อรองรับผู้โดยสารรอบนอกมากขึ้น โดยจะมีการพัฒนาสถานีเชื่อมขนาดใหญ่ หรือ Terminal Station และมีจุดจอดแล้วจร (Park & Ride) ในพื้นที่รอบนอกอีกด้วย

คาดการณ์ว่าเมื่อก่อสร้างรถไฟฟ้า 10 สายใน M-MAP 1 เสร็จจะทำให้การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเพิ่มจากปัจจุบัน 4% ของการเดินทางทุกโหมด เป็น 10% และก่อสร้างเส้นทางใน M- Map 2 เสร็จจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 15% อย่างไรก็ตาม รัฐต้องหามาตรการที่เชิญชวนให้คนมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น รวมถึงทบทวนระบบขนส่งสาธารณะทั้งหมดใหม่เพื่อปรับให้ฟีดเดอร์เชื่อมกับระบบราง

Note: ดูรูปการแล้วได้ทำรถไฟฟ้าจากหัวลำโพงไปมหาชัย - รถไฟฟ้า จากบางหว้าไปตลิ่งชันซึ่งอาจเชื่อมสายม่วงได้ หรือแม้แต่สายจากบางใหญ่ เชื่อมหลักสอง ไปบางขุนเทียน ตามเส้นกาญจนาภิเษก - ดูแถนที่ใหม่น่าจะได้ไอเดียดีกว่านี้


แผนแม่บทรถไฟฟ้าเฟส2 "เลิกรถบ้าน" ดึง 6 ล้านคนใช้
จันทร์ที่ 15 ตุลาคม 2561 เวลา 07.30 น.

"อาคม" สั่งลงทุนรถวงแหวนไฟฟ้าแสนล้านช่วงบางหว้า-ตลิ่งชัน-นนทบุรี เป็นฟีดเดอร์กวาดคนเข้าระบบรถไฟฟ้า เดินหน้าแผนแม่บทรถไฟฟ้าเฟส 2 ตั้งเป้าเพิ่มยอดผู้โดยสารใช้รถไฟฟ้า 6 ล้านเที่ยวคนต่อวัน


นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยความคืบหน้าแผนแม่บทขนส่งมวลชนระบบรางในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลระยะที่ 2 (M-MAP2) ว่า อยู่ระหว่างพิจารณาเส้นทางที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมพื้นที่เขตเมืองมากยิ่งขึ้น โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งการให้เพิ่มรถไฟฟ้าสายใหม่ 5 เส้นทาง ระยะทางรวม 131 กม. คาดว่าจะใช้เม็ดเงินลงทุนหลายแสนล้านบาท เป็นโครงข่ายระบบรถไฟฟ้า (MetroRail Transit) วงแหวนลากตามแนวพื้นที่เขตชานเมืองช่วงบางหว้า-ตลิ่งชัน-นนทบุรี เชื่อมสถานีขนส่งหลักและรถไฟฟ้าหลากสีเพื่อเป็นฟีดเดอร์ป้อนคนชานเมืองเข้าระบบรถไฟฟ้า รวมทั้งต่อขยายรถไฟฟ้าสายเดิมบางเส้นทางไปเขตชานเมืองให้มากขึ้นด้วย

นายสราวุธ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลใช้รถไฟฟ้า 4% หรือ ประมาณ 1.2 ล้านเที่ยว-คนต่อวัน ของรูปแบบการเดินทางทั้งหมดถือว่าน้อยมาก จึงตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนให้ถึง 8-10% หรือ 4 ล้านเที่ยว-คนต่อวัน เมื่อรถไฟฟ้าเฟส 1 รวม 10 เส้นทางเปิดบริการทั้งหมด จากนั้นเมื่อรถไฟฟ้าเฟส 2 อีก 10 เส้นทางแล้วเสร็จเชื่อว่าจะเพิ่มสัดส่วนการใช้ได้15% หรือ 6 ล้านเที่ยว-คนต่อวัน  ขณะที่สัดส่วนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์ (จยย.) อยู่ที่ 40% และ 14% ตามลำดับ  ส่วนรถเมล์และระบบขนส่งรูปแบบอื่นอยู่ที่ 36% แท็กซี่ 5% ขณะที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ใช้รถไฟฟ้าถึง 35% รถบัสสาธารณะ 28% และรถส่วนบุคคลเพียง 26% ขณะที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และ สิงคโปร์ อยู่ที่ 45%, 30%และ 25% ตามลำดับ
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42709
Location: NECTEC

PostPosted: 17/10/2018 8:22 pm    Post subject: Reply with quote

คจร.เคาะต่อโมโนเรล”ชมพู-เหลือง” –ไฟเขียวจ.ขอนแก่นผุดรถไฟฟ้ารางเบา 2.6 หมื่นล.
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เผยแพร่: 17 ตุลาคม 2561 เวลา 18:33



คจร.เคาะ ส่วนต่อขยาย สายสีชมพู-เหลือง วงเงินรวมกว่า 7.1 พันล. รฟม.เตรียมเจรจาผลประโยชน์และส่วนแบ่งรายได้ กับกลุ่ม BTS ต่อไป ส่วนโอนหนี้สีเขียวให้กทม. ตั้งเป้าเซ็นMOU ใน 1 ธ.ค. 61 ขณะที่กทม.รับหนี้จริงได้ในมี.ค. 62 พร้อมไฟเขียว จ.ขอนแก่น ลงทุนรถไฟฟ้ารางเบา 2.6 หมื่นล. แก้จราจรในภูมิภาค

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ( คจร.) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันนี้(17 ต.ค.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้บรรจุโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย ช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึง แยกรัชโยธิน และรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี บรรจุในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งหลังจากนี้ จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเจรจาในรายละเอียด บริษัทนอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ NBM (กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ได้ตั้งขึ้นดำเนินโครงการ) ในผลประโยชน์และส่วนแบ่งรายได้สายสีชมพู ที่เพิ่มขึ้นจากการต่อเชื่อมเข้าไปยังเมืองทองธานี และ เจรจากับ กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ได้ตั้ง บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ EBM ดำเนินการ) ในการต่อขยายสายสีเหลือง

โดย สีเหลืองส่วนต่อขยาย ช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึง แยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กม. กรอบวงเงินลงทุน 3,779 ล้านบาท มีแนวเส้นทางจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง (สายหลัก) บริเวณสถานีรัชดา โดยแนวเส้นทางจะวิ่งไปตามแนวเกาะกลางถนนรัชดาภิเษก มีสถานีอยู่บริเวณหน้าอาคารจอดรถของสำนักงานศาลยุติธรรม และสถานีบริเวณสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน มีทางเดินเชื่อมยกระดับ (Skywalk) ไปยังสถานีพหลโยธิน 24 ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต

ส่วนสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานีมีแนวเส้นทางเริ่มต้นบนถนนแจ้งวัฒนะ เชื่อมต่อกับสถานีศรีรัช โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี (สายหลัก) ก่อนจะวิ่งเข้าสู่เมืองทองธานี ไปตามซอยแจ้งวัฒนะ – ปากเกร็ด 39 ขนานไปกับทางพิเศษอุดรรัถยา ผ่านวงเวียนเมืองทองธานี และวิ่งต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี ระยะทาง 3 กม.กรอบวงเงินลงทุน 3,379 ล้านบาท

นอกจากนี้ คจร.ยังรับทราบความคืบหน้า ผลการศึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย - ลำสาลี (บึงกุ่ม) และโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก ซึ่งขณะนี้สนข.อยู่ระหว่างพิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับโรงซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าและศูนย์ควบคุมและสั่งการ (Depot) ที่กระทบต่อการเวนคืนน้อยที่สุด รวมทั้งความชัดเจนของการอนุญาตให้ใช้พื้นที่บางส่วนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อวางเสาตอม่อของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล

ขณะที่การตรวจสอบฐานรากเดิมบนแนวกึ่งกลางถนนประเสริฐมนูกิจที่ กทพ. ก่อสร้างไว้แล้ว พบว่า สภาพการรับกำลังของโครงสร้าง รองรับได้เพียงระบบใดระบบหนึ่ง ซึ่งการก่อสร้างเดิมเพื่อระบบทางด่วนดังนั้น ให้ สนข. และ กทพ. หารือร่วมกันในการปรับรายละเอียดในการออกแบบให้ความสูงของโครงสร้างที่จะรองรับ ทั้งระบบทางด่วนและรถไฟฟ้าในแนวเดียวกัน และกำหนดการก่อสร้างทางด่วนและรถไฟฟ้าในช่วงใกล้เคียงกันเพื่อให้กระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาพบว่า ระบบทางด่วนมีความจำเป็นเร่งด่วนและความพร้อมที่จะดำเนินการได้ก่อนรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลที่เป็นระบบขนส่งมวลชนสายรอง (Feeder System) และ รฟม. จะต้องดำเนินการด้านการลงทุน โดยการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) เพื่อหาผู้ลงทุนให้ได้ก่อน

***ไฟเขียว จ.ขอนแก่น ลงทุนรถไฟฟ้ารางเบา 2.6 หมื่นล.

คจร.ยังได้รับทราบโครงการศึกษาออกแบบรายละเอียดระบบขนส่งสาธารณะ ในเขตจังหวัดขอนแก่น และผลกระทบสิ่งแวดล้อม และอนุญาตให้จังหวัดขอนแก่นเป็นผู้พัฒนาและบริหารจัดการโครงการ เฉพาะในเส้นทางนำร่องสายสีแดง สำราญ-ท่าพระ ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา ระยะทาง 22.8 กม. มูลค่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและงานโยธา 26,963 ล้านบาท

ส่วนโครงการรถไฟฟ้ารางเบาจังหวัดภูเก็ต นั้นรฟม. อยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบเบื้องต้น ส่วนโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สนข. ได้จัดทำแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองเชียงใหม่ และจัดทำแผนจัดการจราจร พร้อมแผนพัฒนาพื้นที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดย รฟม. รับผิดชอบดำเนินโครงการ

ขณะที่โครงการระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา อยู่ระหว่างกระบวนการออกพระราชกฤษฎีกาให้อำนาจ รฟม. ในการดำเนินโครงการในจังหวัดนครราชสีมา ส่วนโครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบระบบขนส่งสาธารณะเมืองพิษณุโลก รฟม. ได้รับไปดำเนินการตามขั้นตอนและสอดคล้องกับระยะเวลาที่เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ เทคโนโลยีระบบขนส่งสาธารณะที่มีความเหมาะสมกับแนวเส้นทาง ประกอบด้วย 3 รูปแบบ คือ รถโดยสารขนาดปกติ / รถโดยสารขนาดเล็ก (Micro Bus) และรถรางล้อยาง มีแผนการดำเนินงาน 2 ระยะ คาดว่าเปิดให้บริการในปี 2565 ในระยะแรก ส่วนระยะที่ 2 เปิดให้บริการในปี 2574

****พัฒนาถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา กว่า 70 กม.เริ่มก่อสร้าง ใน2-3 ปี

ที่ประชุมได้รับทราบผลการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ครอบคลุม 4 จังหวัด ประกอบด้วย กทม. กว่า 57 กิโลเมตร และเส้นทางปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมกว่า 70 กิโลเมตร และมอบหมายกระทรวงคมนาคม โดย สนข. กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร หารือแนวทางในการพัฒนาพื้นที่และทางสัญจรเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป โดยมีเป้าหมาย และกรอบแนวคิดหลักในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึง และใช้ประโยชน์ร่วมกันให้เกิดการพัฒนาเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน คาดว่าดำเนินการก่อสร้างประมาณ 2-3 ปี

***เซ็นMOU โอนหนี้สายสีเขียว 1 ธ.ค. 61 กทม.รับหนี้จริงได้ในมี.ค. 62

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง สมุทรปราการ ได้ข้อสรุปว่า ในเดือนตุลาคมนี้ ทาง กทม. รฟม. กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลังจะมาหารือกันเพื่อจัดทำร่างเอ็มโอยูในเรื่องของการโอนหนี้ และรับภาระหนี้ ดอกเบี้ย ซึ่งคาดว่า เรื่องของดอกเบี้ยจะพิจารณาตามความเป็นจริงได้ภายในเดือนมีนาคม และจะนำเสนอในที่ประชุม ครม.กลางเดือน พ.ย.นี้ หลังจากนั้นเมื่อผ่าน ครม.แล้ว จะมีการลงนามเอ็มโอยูในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ ระหว่าง รฟม.กับกทม. และในวันที่ 5 ธ.ค.61 จะมีการเปิดเดินรถต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบการแก้ไขปัญหาการเดินทางของประชาชนจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้ง 3 สาย คือ สายสีส้ม สายสีเหลือง และสายสีชมพู โดยกำหนดมาตรการเพื่อลดปริมาณการจราจรในเส้นทางการก่อสร้างรถไฟฟ้าและมีการปิดพื้นที่ผิวจราจร โดยมอบหมายให้จราจรกลาง เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ รวมกับ สน. และเร่งการก่อสร้างเพื่อคืนพื้นผิวจราจรให้ดีที่สุด รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือการเดินทางของประชาชนที่จำเป็นต้องสัญจรด้วยระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่โดยรอบเขตพื้นที่ดังกล่าว โดยให้ ขสมก. ได้เริ่มทดลองเดินรถโดยสารในเส้นทางปกติและทางด่วนควบคู่กัน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการเลี่ยงการจราจรติดขัดในช่วงการก่อสร้างรถไฟฟ้า
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42709
Location: NECTEC

PostPosted: 18/10/2018 9:51 am    Post subject: Reply with quote

ปี65 ลุยรถไฟฟ้า"สีน้ำตาล"สร้างเดปโป้ม.เกษตร
พุธที่ 17 ตุลาคม 2561 เวลา 17.06 น.

คาดปี65-66 ก่อสร้างรถไฟฟ้าสีน้ำตาล พ.ย.นี้ชัดเจนเรื่องใช้พื้นที่ม.เกษตรทำศูนย์เดปโป้ รวมทั้งใช้ฐานรากโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ระบุต้องสร้างทางด่วน



นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 2/2561 โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าผลการศึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) และโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 (แยกเกษตรศาสตร์-ถนนนวมินทร์ ระยะทาง  9.2 กม.) ขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พิจารณา เพื่อให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับโรงซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าและศูนย์ควบคุมและสั่งการ (เดปโป้) ที่กระทบต่อการเวนคืนน้อยที่สุด รวมทั้งความชัดเจนของการอนุญาตให้ใช้พื้นที่บางส่วนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เพื่อวางเสาตอม่อของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล รวมทั้งใช้ฐานรากโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 

นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า ผลการศึกษาพบว่า ทางด่วนมีความจำเป็นเร่งด่วนและความพร้อมที่จะดำเนินการได้ก่อนรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลที่ทำหน้าที่เป็นระบบขนส่งมวลชนสายรอง ซึ่งรฟม. ต้องลงทุน โดยการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) เพื่อหาผู้ลงทุนให้ได้ก่อน จึงจะมีความพร้อมที่จะดำเนินการได้ อย่างไรก็ตามการศึกษาได้เสนอแนะการออกแบบรายละเอียดระบบทางด่วน และการออกแบบ ขั้นตอนสุดท้ายDefinitive Design ของระบบรถไฟฟ้าควรดำเนินการไปด้วยกัน ทั้งนี้คาดว่าผลการศึกษาแล้วเสร็จต้นเดือน พ.ย.61 จากนั้น สนข. จะนำเสนอ คจร. เพื่อพิจารณาบรรจุในแผนแม่บทขนส่งมวลชนระบบรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระยะที่ 2 (M-MAP2) และส่งมอบรายงานการศึกษาให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการต่อไป คาดว่าจะก่อสร้างได้ปี 65-66

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า จากการการตรวจสอบฐานตอม่อดิมบนแนวกึ่งกลางถนนประเสริฐมนูกิจที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) พบว่ารับได้ระบบเดียว กทพ. ควรใช้ฐานรากเดิม ที่ ได้ก่อสร้างไว้แล้ว ในการสร้างทางด่วนดังกล่าว ทั้งนี้ สนข. และ กทพ. ได้หารือร่วมกันปรับรายละเอียดการออกแบบให้ความสูงของโครงสร้างที่จะรองรับ ทั้งระบบทางด่วนและรถไฟฟ้าในแนวสายทางเดียวกัน และศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลให้ก่อสร้างทางพิเศษและรถไฟฟ้าในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42709
Location: NECTEC

PostPosted: 19/10/2018 10:23 am    Post subject: Reply with quote

กรมเจ้าท่า จับมือ รฟม. เชื่อมเดินทางเรือ-รถไฟฟ้า นำร่อง 5 ท่า

วันที่ 18 ตุลาคม 2561 - 21:31 น.

กรมเจ้าท่า จับมือ รฟม. เชื่อมเดินทางเรือ-รถไฟฟ้า นำร่อง 5 ท่า เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคม “ล้อ ราง เรือ” แบบไร้รอยต่อ
เชื่อมเดินทางเรือ-รถไฟฟ้า – นายสมศักดิ์ ห่มม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า จท. เร่งพัฒนาพื้นที่หลังท่าเรือเพื่อเชื่อมโยงระบบโครงข่ายการคมนาคมทางน้ำ ให้สามารถเชื่อมต่อการขนส่ง “ล้อ ราง เรือ” แบบไร้รอยต่อ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน เบื้องต้นหารือร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อเร่งดำเนินการเชื่อมการเดินทางจากเรือไปยังรถไฟฟ้า นำร่อง 5 ท่า ได้แก่

1. ท่าเรือพระนั่งเกล้า (ฝั่งพระนคร) กับรถไฟฟ้าสายสีม่วง
2. ท่าเรือพระราม 7 (ฝั่งตะวันตก) กับรถไฟฟ้าสายสีแดง
3. ท่าเรือบางโพ กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
4. ท่าเรือราชินี กับรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงิน และ
5. ท่าเรือสาทร กับรถไฟฟ้าสายสีเขียว

ซึ่งขณะนี้ปรับปรุงโครงสร้างท่าเรือเสร็จแล้ว 3 ท่า เหลือแค่ท่าเรือพระนั่งเกล้า และท่าเรือบางโพ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563

นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ ปี 2562 ยังได้รับจัดสรรจำนวน 40 ล้านบาท เพื่อปรับปรุง และพัฒนาท่าเรือโดยสาร เช่น ติดตั้งป้ายสัญลักษณ์ อัตลักษณ์ พื้นที่ทางลาด เป็นต้น เพื่อยกระดับการให้บริการขนส่งทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา จํานวน 8 ท่า ประกอบด้วย ท่าเรือสาทร ท่าโอเรียลเต็ล ท่าสี่พระยา ท่าเรือราชวงศ์ ท่าเรือดินแดง ท่าเรือราชินี ท่าเรือเทเวศร์ และท่าเรือท่านํ้านนทบุรี คาดว่าจะแล้วเสร็จในต้นปี 2563


รวมทั้งโครงการยกระดับท่าเรือโดยสารให้เป็นสถานีเรือ และปรับปรุงรูปแบบโป๊ะเทียบเรือให้มีความปลอดภัย และทันสมัย เพื่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัยให้เป็นสากล อํานวยความสะดวกสบายให้ประชาชน พร้อมรองรับผู้พิการและผู้สูงอายุมากขึ้น จํานวน 19 ท่า ดังนี้
1. ท่าเรือปากเกร็ด
2. ท่าเรือพระนั่งเกล้า
3. ท่าเรือนนทบุรี
4. ท่าเรือพระรามห้า
5. ท่าเรือพระรามเจ็ด
6. ท่าเรือบางโพ
7. ท่าเรือเกียกกาย
8. ท่าเรือพายัพ
9. ท่าเรือสะพานกรุงธน
10. ท่าเรือเทเวศน์
11. ท่าพระอาทิตย์
12. ท่าเรือพระปิ่นเกล้า
13. ท่าเรือพรานนก
14. ท่าเรือท่าช้าง
15. ท่าเรือท่าเตียน
16. ท่าเรือราชินี
17. ท่าเรือราชวงศ์
18. ท่าเรือสี่พระยา และ
19. ท่าเรือสาทร

โดยจะพัฒนาตั้งแต่อาคารผู้โดยสาร นำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการบริการ เช่น เคาน์เตอร์ซื้อ-ขายตั๋ว ติดตั้งกล้องวงจรปิดในเรือ ติดตั้งเทคโนโลยีอํานวยความสะดวกให้ผู้โดยสารจัดช่องทางขึ้น-ลงท่าเรือ เตรียมพื้นที่พักคอยผู้โดยสาร ระบบเสียงประกาศ ระบบควบคุมความปลอดภัย ส่วนโป๊ะเทียบเรือจะปรับจากโครงสร้างเหล็กให้เป็นโครงสร้างโป๊ะ คอนกรีตกําลังอัดสูงที่สามารถรับแรงกระแทกจากเรือและลอยตัวด้วยโฟมชนิดพิเศษ พร้อมปรับระบบกันกระแทกจากเดิมแบบยางรถยนต์เป็นยางกันกระแทก (Rubber Fender)
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42709
Location: NECTEC

PostPosted: 19/10/2018 8:29 pm    Post subject: Reply with quote

"บัตรคนจน"ใช้โดยสารรถไฟฟ้าได้ปี2562
พุธที่ 17 ตุลาคม 2561 เวลา 17.53 น.

​​​​​​​ บัตรคนจนขึ้นรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้ในเดือนมี.ค.62 ขณะที่เรือด่วนเจ้าพระยาและรถแท็กซี่ จะรองรับการใช้งานระบบบัตรแมงมุมได้ในเดือนพ.ค.62




นายเผด็จ ประดิษฐเพชร ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรรมการบริหารจัดการตั๋วร่วม โดยมีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปเกี่ยวกับกำหนดระยะเวลาการนำบัตรแมงมุมหรือตั๋วร่วมของไทย และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปใช้ในระบบขนส่งสาธารณะ เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มความคล่องตัวในการเดินทางให้กับประชาชน จากปัจจุบันที่สามารถใช้ได้กับรถไฟฟ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) และสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) แล้ว จะขยายการใช้งานในยังขนส่งระบบอื่น ดังนี้ ระบบรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งขณะนี้ใช้ได้แล้วจำนวน 800 คัน จะครบทั้งหมด 2,600 คัน ภายในสิ้นปีนี้ ส่วนระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์จะสามารถใช้ได้ในเดือนพ.ค.62

นายเผด็จ กล่าวต่อว่า ขณะที่เรือด่วนเจ้าพระยาและรถแท็กซี่นั้นได้มอบหมายให้รฟม.ไปเจรจา เพื่อให้สามารถรองรับการใช้งานระบบบัตรแมงมุม และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ได้ในเดือนพ.ค.62 ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียว จะเปิดให้เฉพาะผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเท่านั้นสามารถนำมาใช้ขึ้นรถไฟฟ้าได้ในเดือนมี.ค.62 ส่วนผู้ถือบัตรแมงมุมยังไม่สามารถนำมาใช้ขึ้นรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้ แต่จะรอจนกว่าบัตรแมงมุมจะพัฒนาเป็นเทคโนโลยีดิจิทัล มาตรฐาน EMV (Europay Mastercard and Visa) Contactless Smart Card (Open Loop) สามารถใช้ได้ในช่วงเดือนธ.ค.62 และเมื่อถึงเวลานั้นผู้ถือบัตรEMVก็สามารถนำมาใช้ขึ้นรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้ทันที ทั้งนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับปากที่จะไปเร่งรัดการดำเนินงานพัฒนาระบบให้สามารถรองรับการใช้งานบัตรแมงมุมและบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด

นายสมประสงค์ สัตยมัลลี ผู้อำนวยการกองพัฒนาพื้นที่ และรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและบริหารพื้นที่ ฝ่ายพัฒนาและบริหารพื้นที่ รฟม. กล่าวว่า เมื่อขนส่งสาธารณะทุกระบบสามารถใช้กับบัตรแมงมุมได้ ทางรฟม.จะดูปริมาณการใช้งาน เพื่อจะผลิตบัตรเพิ่มให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน ก่อนที่ระบบเทคโนโลยีบัตรEMVจะสามารถใช้ได้กับระบบขนส่งสาธารณะทุกระบบ ส่วนจะผลิตจำนวนเท่าไหร่จะต้องพิจารณาถึงตัวเลขการใช้งานอีกครั้ง อย่างไรก็ตามขณะนี้บัตรแมงมุมยังมีเหลืออยู่ผู้ที่ต้องการใช้สามารถขอรับบัตรได้ที่ห้องจำหน่ายตั๋วรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสีม่วงในทุกสถานี
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42709
Location: NECTEC

PostPosted: 24/10/2018 11:03 am    Post subject: Reply with quote

รฟม.เร่งสร้างรถไฟฟ้า อีก 2 ปี เปิดเพิ่ม 4 สาย
ข่าวเศรษฐกิจ สำนักข่าวไทย
23 ตุลาคม 2561 เวลา 18:41:49

สำนักข่าวไทย 23 ต.ค. - รฟม.เร่งสร้างรถไฟฟ้า ลุ้นอีก 2 ปี เปิดอีก 4 สายคลี่ปมปัญหาการจราจรติดขัด

ปัจจุบันประเทศไทยมีการพัฒนาการคมนาคมขนส่ง มีโครงการการสร้างพื้นฐานจำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะเป็น รถไฟทางคู่, รถไฟฟ้า, รถไฟความเร็วสูง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีโครงการรถไฟฟ้าทั้งหมด 10 สายทาง รวมระยะทางทั้งหมด 464 กิโลเมตร ปัจจุบันเร่งก่อสร้างอยู่ 8 เส้นทาง ระยะทาง 186.1 กิโลเมตร ปกติรถติดมาก ยิ่งมีการก่อสร้างก็กระทบการจราจรอยู่ดี .- สำนักข่าวไทย
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42709
Location: NECTEC

PostPosted: 25/10/2018 1:34 pm    Post subject: Reply with quote

ปี72ดันคนใช้รถไฟฟ้า 5 ล้านคนต่อวัน
ข่าว เศรษฐกิจ-โลจิสติกส์
เดลินิวส์
พฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม 2561 เวลา 11.25 น.

คมนาคมตั้งเป้าดันยอดคนใช้รถไฟ้าแตะ5ล้านคนต่อวัน
พฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม 2561 เวลา 11:34 น.


คมนาคมตั้งเป้าดันยอดคนใช้รถไฟฟ้า แตะ 5 ล้านคนต่อวันภายใน 10 ปี เปลี่ยนพฤติกรรมจูงใจใช้รถไฟฟ้า เร่งเครื่องโปรเจ็กต์รถไฟฟ้า 2.6 แสนล้านเข้าครม.ปีนี้

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม(คค.) เปิดเผยว่า แผนแม่บทรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเฟส 1 จะเปิดบริการครบ 12 เส้นทางภายใน 10 ปีนับจากนี้หรือในปี 72 ตั้งเป้าว่าจะมีผู้ใช้บริการต่อวัน 5.13 ล้านคนเมื่อเทียบกับปัจจุบันที่ 1 ล้านคนต่อวัน รวมโครงข่ายรถไฟฟ้า 509 กม. 312 สถานี ในอนาคตต้องมีมาตรการจูงใจให้ประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้รถไฟฟ้าเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรอย่างยั่งยืนโดยมีแผนขยายทางเท้าให้เพิ่มขึ้นตามแนวรถไฟฟ้าและบริเวณสถานีใหญ่สนับสนุนให้คนเดินมากขึ้นควบคู่กับการอำนวยความสะดวกผู้สูงอายุและผู้พิการตลอดจนเด็กเล็กเพื่อปลูกฝังค่านิยมใช้ระบบขนส่งสาธารณะนอกจากนี้มีแผนลงทุนทำทางจักรยานให้ประชาชนขี่มาจอดแล้วใช้รถไฟฟ้าด้วย

นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าในการลงทุนนั้นภายใน2เดือนสุดท้ายของปีนี้จะเสนอโครงการรถไฟฟ้ามูลค่า2.65 แสนล้านบาทให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาพัฒน์และคณะรัฐมนตรี(ครม.)เริ่มจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ งบประมาณ 1.4แสนล้านบาทจะเสนอบอร์ดร่วมทุนกับเอกชน(พีพีพี) เดือนต.ค.นี้ก่อนเสนอครม.เดือนพ.ย. ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ1.1 แสนล้านบาทจะเสนอบอร์ดการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เดือนพ.ย.ก่อนเสนอบอร์ดพีพีพีและครม.ปลายปีนี้ นอกจากนี้ยังมีรถไฟฟ้าสายสีแดง(บางซื่อ-รังสิต)ส่วนต่อขยาย 2.42 หมื่นล้านบาทจะเสนอสภาพัฒน์ฯเดือนพ.ย. ก่อนเสนอครม.เห็นชอบต่อไปประกอบด้วย ส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา 1.02 หมื่นล้านบาท ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 7.46 พันล้านบาท และช่วงรังสิต-ธรรมศาสตร์ 6.57 พันล้านบาท

คมนาคมตั้งเป้าดันยอดคนใช้รถไฟฟ้าเพิ่ม 400%

25 ตุลาคม พ.ศ. 2561 เวลา 08:46 น.




คมนาคมตั้งเป้าดันยอดคนใช้รถไฟฟ้า 400% แตะ 5 ล้านคนต่อวันภายใน 10 ปี เล็งขยายฟุตบาต-ทางจักรยานเปลี่ยนพฤติกรรมจูงใจใช้รถไฟฟ้า เร่งเครื่องโปรเจ็กต์รถไฟฟ้า 2.6 แสนล้านเข้าครม.ปีนี้

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคมเปิดในงานสัมมนาผังเมืองใหม่ เมกะโปรเจ็กต์ : พลิกโฉม กทม.ว่าสำหรับโครงการลงทุนระบบรางในเมืองหลวงอย่างรถไฟฟ้านั้นเป็นอีกยุทธศาสตร์สำคัญในการแก้จราจรเมืองหลวงได้อย่างดี โดยตามแผนแม่บทรถไฟฟ้าระยะที่ 1 นั้นจะเปิดบริการครบ 12 เส้นทางภายในระยะเวลา 10 ปีนับจากนี้ หรือในปี 2572 ตั้งเป้าว่าจะมีผู้ใช้บริการต่อวัน 5.13 ล้านคน คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 400% เมื่อเทียบกับปัจจุบันที่ 1 ล้านคนต่อวัน รวมโครงข่ายรถไฟฟ้าในปีดังกล่าว 509 กม. 312 สถานี

อย่างไรก็ตามดังนั้นในอนาคตจะต้องมีมาตรการจูงใจให้ประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใช้รถไฟฟ้า โดยมีแผนจะขยายพื้นที่ทางเท้าให้เพิ่มขึ้นตามแนวรถไฟฟ้าและบริเวณสถานีใหญ่สนับสนุนให้คนเดินมากขึ้นเช่นควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุและผู้พิการตลอดจนเด็กเล็กเพื่อปลูกฝังค่านิยมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ นอกจากนี้มีแผนลงทุนทำทางจักรยานเพื่อให้ประชาชนขี่มาจอดแล้วเดินทางด้วยรถไฟฟ้าอีกด้วย

นายชัยวัฒน์กล่าวต่อว่าส่วนด้านความคืบหน้าด้านแผนพัฒนารถไฟฟ้านั้นภายในสองเดือนสุดท้ายของปีนี้จะมีการเสนอโครงการรถไฟฟ้ามูลค่า 2.65 แสนล้านบาทให้ฝ่ายนโยบายรัฐบาลพิจารณาทั้งสภาพัฒน์และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เริ่มจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ วงเงิน 1.4 แสนล้านบาทจะเสนอเข้าสู่บอร์ดพีพีพีได้ในเดือนต.ค.ก่อนเสนอเข้าสู่ครม.ในเดือนพ.ย.นี้ ส่วนด้านโครงการรถไฟฟ้าสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 1.1 แสนล้านบาทนั้นจะเสนอเข้าบอร์ดรฟม.ได้ในเดือนพ.ย.ก่อนเสนอเข้าสู่บอร์ดพีพีพีและครม.ต่อไปในปลายปีนี้

นอกจากนี้ยังมีรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย 2.42 หมื่นล้านบาทจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาพัฒน์ได้ในเดือนพ.ย. ก่อนเสนอเข้าสู่ครม.เห็นชอบต่อไป ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา วงเงิน 1.02 หมื่นล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช วงเงิน 7.46 พันล้านบาท และรถไฟฟ้าสีแดงส่วนต่อขยายช่วงรังสิต-ธรรมศาสตร์ วงเงิน 6.57 พันล้านบาท
นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่าประเทศไทยถูกจัดอันดับโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบรางอยู่ที่อันดับ 44 ของโลกถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น อีกทั้งยังส่งผลให้ต้นทุนโลจิสติกส์สูงถึง 14% ของผลผลิตมวลรวมประเทศ(GDP) ทำให้การส่งออกสินค้าไปขายยังประเทศที่สามต้องเสียศักยภาพการแข่งขันไปมาก สู้ราคาเพื่อนบ้านไม่ได้เพราะเรามีต้นทุนขนส่งที่สูงกว่า ดังนั้นกระทรวงคมนาคมจึงให้ความสำคัญในการลงทุนรถไฟทางคู่มูลค่ามากกว่า 4 แสนล้านบาทเพื่อเพิ่มระยะทางของระบบรางอีกมากว่า 3,000 กม.ทั้งระบบรถไฟทางคู่และระบบรถไฟความเร็วสูง
 
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42709
Location: NECTEC

PostPosted: 25/10/2018 2:53 pm    Post subject: Reply with quote

สร้างเมืองใหม่ที่มีนบุรีด้วยเครือข่ายรถไฟฟ้า
https://www.facebook.com/thansettakij/videos/983379271870611/
https://www.facebook.com/thansettakij/photos/a.483607434992150/2328769647142577/?type=3&theater
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42709
Location: NECTEC

PostPosted: 27/10/2018 12:53 am    Post subject: Reply with quote

รฟม. จับมือกสิกรไทย เปิดตัว “บัตรเดบิตแมงมุมกสิกรไทย”นั่งรถไฟฟ้าใต้ดิน-สายสีม่วง
พร็อพเพอร์ตี้
วันที่ 26 ตุลาคม 2561 เวลา - 15:57 น.

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และนายวัลลภ ว่องจิตต์วุฒิไกร รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย ร่วมมือเปิดตัว “บัตรเดบิตแมงมุม กสิกรไทย” บัตรใบพิเศษที่รวมคุณสมบัติของบัตรเดบิตกสิกรไทย และบัตรแมงมุมเข้าด้วยกันเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ยุคใหม่



โดยบัตรเดบิตแมงมุมกสิกรไทยสามารถใช้ได้กับรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ก่อนที่จะขยายให้ใช้ได้กับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ และรถประจำทาง ขสมก. ได้ในอนาคต โดย “บัตรเดบิตแมงมุมกสิกรไทย” พร้อมเปิดให้สมัครได้ปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ ผ่านแอป K PLUS หรือที่สาขาธนาคารใกล้เคียงเส้นทางรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงและ MRT สายสีน้ำเงิน 54 สาขา

ผู้สมัครบัตรจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้าจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ชำระเพียงค่าธรรมเนียมรายปี ปีละ 250 บาท
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42709
Location: NECTEC

PostPosted: 29/10/2018 10:56 am    Post subject: Reply with quote

ผังเมืองใหม่กทม.ปี63บูมพื้นที่"สีส้ม"
พฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม 2561 เวลา 12.05 น.
ปี63กทม.มีผังเมืองใหม่ฉบับใหม่ เพิ่มการพัฒนาพื้นที่ "สีส้ม"



เมื่อวันที่ 24 ต.ค.61 ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯมีการจัดสัมมนา"ผังเมืองใหม่-เมกะโปรเจ็กต์:พลิกโฉม กทม."

ทั้งนี้ได้มีการเสวนาพิเศษเรื่อง"ปรับปรุงผังเมือง เปลี่ยนโฉมกรุงเทพฯอย่างไร”โดยมีนายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ร่วมกล่าวเปิดงานพร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง
"ผังเมืองกรุงเทพฯ-ปริมณฑลไร้รอยต่อ ชี้ทิศทางการพัฒนาเมือง" ว่า กรุงเทพฯและปริมณฑล หากรวมกันจะถือว่าเป็นเมืองที่มีประชากรเกือบ1ใน3ของประเทศหรือ ประมาณ20 ล้านคน
เทียบเท่าเมืองใหญ่ๆทั่วโลกแต่ปัจจุบันระยะห่างระหว่างจังหวัดแค่500-1,000 เมตร
กลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงส่วนหนึ่งเพราะกฎหมายควบคุมผังเมืองนั้นต่างกันแยกกัน
การบังคับใช้จึงกลายเป็นต่างคนต่างอยู่ต่างคนต่างพัฒนา ไม่มีความสอดคล้อง

ดังนั้นการพัฒนาผังเมืองที่มีความเชื่อมโยงกัน ต้องทำผังเมืองรวมระหว่าง กรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อเป็นกรอบใหญ่ในการพัฒนา ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ปัจจุบันรัฐบาล รวมถึงกทม.ก็ให้ความสำคัญเช่น การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าออกไปยังพื้นที่ชั้นนอก โดยมี3ศูนย์คมนาคม เป็นจุดเชื่อมต่อ คือ ที่บางซื่อ มักกะสัน และตากสิน ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนพื้นที่ชั้นในที่ถูกควบคุมโดยผังเมือง
ก็จะมีมาตรการซื้อขายสิทธิ์พื้นที่พัฒนา เพื่อแลกเปลี่ยนสิทธิ์การพัฒนาในจุดที่ทำได้

นอกจากนี้ภายในงานนายแสนยากร อุ่นมีศรี รองผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กทม.และนายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคม การผังเมืองไทย ร่วมเสวนาพิเศษเรื่อง"ปรับปรุงผังเมือง เปลี่ยนโฉมกรุงเทพฯอย่างไร" นายอนวัช กล่าวว่า ประเทศไทยยังติดปัญหาในเรื่องผังเมืองเนื่องจากไม่มีนโยบายการวางกรอบพัฒนาทั้งระดับประเทศ ระดับภาคและระดับท้องถิ่น ทำให้ไม่มีกรอบการพัฒนาที่ชัดเจน ต่างคนต่างดำเนินการทำให้เกิดปัญหาการพัฒนา เช่นในส่วนของ กทม.คือวางผังแล้วแต่ไม่ค่อยได้พัฒนาตาม และนโยบายผังเมืองที่กำหนดขึ้นเพื่อสนับสนุนการพัฒนานั้น ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร การปรับปรุงผังเมืองใหม่จึงต้องเน้นการพัฒนาโดยจะดูแค่ กทม.ไม่ได้ จะต้องดูพื้นที่ต่อเนื่องไปยังจังหวัดรอบใกล้เคียงด้วย เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองที่หนาแน่นและต้องมีระบบขนส่งเชื่อมต่อเพื่อให้เมืองไม่ติดขัด

ด้านนายฐาปนา ได้เสนอแนะว่าตนยังมองว่าการพัฒนาตามศูนย์ทั้งที่กำหนดขึ้นหรือเกิดขึ้นตามธรรมชาตินั้นยังไม่ถูกต้อง เพราะผังเมืองควรจะต้องชี้นำการพัฒนา จึงจะเดินไปข้างหน้าและผังเมืองจะต้องสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ และภาครัฐต้องใช้ประโยชน์ที่ดินคุ้มค่าต้องจัดการระบบขนส่ง
หลักและรองลงในผังเมืองและพัฒนาตามเพื่อให้เข้าถึงกันที่สำคัญต้องออกแบบเมืองให้ใช้ประโยชน์คุ้มค่าเพื่อลดความจำเป็นในการเดินทางเพราะปัญหาการเดินทางเป็นปัญหาหลักในปัจจุบัน

ด้านนายแสนยากร กล่าวว่า ปัจจุบัน ระบบรางนั้นทำให้ทุกอย่างเปลี่ยน กทม.ต้องมาปรับพื้นที่ผังเมืองตามแนวระบบราง ซึ่งผังเมืองใหม่ ได้มีแนวคิดเพื่อเตรียมเพิ่มพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินมากขึ้น โดยในส่วนของที่อยู่อาศัยหรือพื้นที่สีส้มนั้น จะมีความถี่มากขึ้นจากเดิมมีระดับความหนาแน่น10 ระดับ แต่ฉบับใหม่จะกำหนดให้มีถึง15 ระดับจะทำให้ที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นและหลากหลายรวมถึงจะกำหนดให้มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าซึ่งผังเมืองฉบับใหม่ของ กทม.นั้นยังอยู่ในขั้นตอนที่จะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
ก่อนจะนำเสนอตามกระบวนการ ทั้งนี้การประกาศใช้ผังเมืองน่าจะล่าช้าออกไปเนื่องจากอาจจะติดกระบวนการเลือกตั้ง หรืออื่นๆ ซึ่งจากที่คาดการณ์ว่าจะบังคับใช้ปลายปี2562 อาจจะต้องเลื่อนออกไปเป็นต้นปี 2563.
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคต All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 187, 188, 189 ... 278, 279, 280  Next
Page 188 of 280

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©