RailServe.Com

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai Gallery in Facebook

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311234
ทั่วไป:13180352
ทั้งหมด:13491586
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - รวมข่าวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคตตามนโยบายรัฐบาล
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

รวมข่าวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคตตามนโยบายรัฐบาล
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 189, 190, 191 ... 277, 278, 279  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคต
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 19/12/2018 6:48 pm    Post subject: Reply with quote

กลุ่มทุนใหญ่ดิ้นแก้ผังเมืองกทม.รับรถไฟฟ้า “เจริญ-ซีพี-เซ็นทรัล-เดอะมอลล์”แข่งลงทุน
พร็อพเพอร์ตี้
วันพุธ ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2561- 08:02 น.

แลนด์ลอร์ด ทุนใหญ่ตระกูลดัง 130 ราย ยื่นปรับแก้สีผังเมือง กทม. รับรถไฟฟ้า “เซ็นทรัล” อัพไซซ์ห้างรามอินทราดักสายสีชมพู ใช้โมเดลเวสต์เกตบางขุนเทียน ชนเจ้าสัวเจริญ เตรียมขึ้นห้างยักษ์พระราม 2 ส้มหล่นผังใหม่ปลดล็อกเวิ้งนาครเขษม กลุ่ม ซี.พี.โหมโปรเจ็กต์ยักษ์สุขุมวิท 101 วิสซ์ดอม “เดอะมอลล์” ปลุกอาณาจักรย่านรามคำแหงรับสายสีส้ม

การลงทุนโครงการระบบขนส่งมวลชนโดยเฉพาะรถไฟฟ้าทั้งที่เปิดให้บริการแล้ว อยู่ระหว่างก่อสร้าง และกำลังจะเปิดประมูลเพิ่ม บวกกับรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน แบบไร้รอยต่อ เพื่อรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างต้นปี 2562 จะพลิกเศรษฐกิจไทย และพลิกโฉมหน้ากรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล เจริญเติบโตก้าวกระโดด เพราะนอกจากโครงข่ายเส้นทางคมนาคมจะเชื่อมการเดินทางสมบูรณ์แบบมากขึ้นแล้ว ยังกระจายความเจริญไปสู่พื้นที่รอบนอกและย่านชานเมือง เปิดทำเลใหม่ ๆ รองรับการพัฒนาโครงการหลากหลายรูปแบบมากขึ้น

ประกอบกับขณะนี้ กทม.อยู่ระหว่างปรับปรุงผังเมืองรวม กทม. ปี 2556 และจะประกาศบังคับใช้ผังเมืองรวม กทม.ฉบับใหม่ กลางปี 2562 ซึ่งในหลักการแม้จะปรับแก้การใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยเปิดให้มีการพัฒนาได้มากขึ้น แต่ภาคเอกชนหวั่นเกรงว่าเงื่อนไขหลักเกณฑ์บางอย่างยังเป็นข้อจำกัด ทำให้กลุ่มทุนธุรกิจขนาดใหญ่ แลนด์ลอร์ด ตระกูลดัง พากันยื่นขอปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินในมือให้สามารถพัฒนาได้เต็มศักยภาพมากยิ่งขึ้น
ยืดใช้ผังเมืองใหม่ กทม.ปี”63

แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธูรกิจ” ว่า มีแนวโน้มที่ร่างผังเมืองกรุงเทพมหานครฉบับปรับปรุงใหม่ ที่สำนักผังเมือง กทม. อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด จะประกาศใช้ไม่ทันภายในปี 2562 และคาดว่าอาจต้องขยับเป็นกลางปี 2563 แทน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดจากเดิมมาก หลังมีเจ้าของที่ดินทั้งประชาชนทั่วไป และนักลงทุนรายใหญ่ รวมทั้งหมดกว่า 130 ราย ยื่นหนังสือขอปรับเปลี่ยนสีการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่ เพื่อให้สามารถพัฒนาได้มากขึ้น สำหรับทำเลที่เจ้าของที่ดินยื่นขอในภาพรวมจะกระจายในทุกพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่เป็นที่ดินในทำเลมีรถไฟฟ้าพาดผ่าน
เซ็นทรัลขอปรับสีบางขุนเทียน

อย่างเช่น กลุ่มเซ็นทรัล ขอปรับพื้นที่ย่านฝั่งธนบุรี ในเขตบางขุนเทียน บริเวณจุดตัดถนนกาญจนาภิเษก กับถนนพระรามที่ 2 (มุ่งหน้าไปมหาชัย อยู่ด้านขวามือ) จากปัจจุบันเป็นสีส้ม (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง) ไม่สามารถสร้างอาคารขนาดใหญ่ได้ เนื่องจากติดขนาดความกว้างของถนน จะขอปรับเป็นพื้นที่สีแดง หรือพื้นที่พาณิชยกรรม ให้สร้างอาคารขนาดใหญ่ได้ เนื่องจากมีแผนจะลงทุนพัฒนาศูนย์การค้าแห่งใหม่ รูปแบบเดียวกับศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา เวสต์เกต ซึ่งสอดรับกับนโยบายของ กทม. ที่จะผลักดันให้พื้นที่บางขุนเทียนเป็นศูนย์ชุมชนแห่งใหม่ และในอนาคตจะมีรถไฟฟ้าสายสีแดง ต่อขยายจากหัวลำโพงไปถึงมหาชัย

นอกจากนี้ กลุ่มเซ็นทรัลยังขอปรับพื้นที่สีผังเมือง บริเวณที่ตั้งศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา รามอินทรา จากเดิมสีส้ม เป็นพื้นที่สีแดงพาณิชยกรรม ให้สร้างอาคารขนาดใหญ่ได้มากขึ้นด้วย เพื่อรองรับกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ที่กำลังก่อสร้าง และอยู่ใกล้กับสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ จะเป็นจุดตัดรถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-คูคต) กับสายสีชมพู

ขยายห้างรามอินทรารับสีชมพู

“ถือว่าเซ็นทรัล รามอินทรา ได้สองเด้ง เพราะนอกจากได้โบนัส FAR (อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน) ในรัศมี 500 เมตร รอบสถานีรถไฟฟ้า ที่พัฒนาได้เพิ่มขึ้น 20% แล้ว ยังได้ FAR เพิ่มขึ้นจากการปรับสีผังเมืองด้วย แต่หากต้องการได้โบนัส ทางเซ็นทรัลต้องมีการพัฒนาเพื่อสาธารณะ เช่น ทางเชื่อมจากห้างกับสถานีรถไฟฟ้า ให้มีระยะถอยร่นเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น”

แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากเซ็นทรัลแล้ว กลุ่มทีซีซีแลนด์ ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ก็ขอปรับสีผังเมืองบริเวณถนนเจริญกรุง เพื่อขยายโครงการเอเชียทีค ออกไปบริเวณด้านข้าง จากปัจจุบันเป็นพื้นที่สีน้ำตาล (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก) เป็นพื้นที่สีแดง เนื่องจากติดขนาดของถนนที่กว้างไม่ถึง 30 เมตร ทำให้ไม่สามารถสร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่ได้ ส่วนโครงการเอเชียทีค 2 ที่จะก่อสร้างฝั่งตรงข้าม ทางบริษัทยังไม่มีความเคลื่อนไหว ที่จะขอปรับสีผังเมืองแต่อย่างใด
“เจริญ” รับโบนัสสายสีน้ำเงิน

นอกจากนี้ กลุ่มทีซีซีแลนด์ของกลุ่มนายเจริญ ยังขอปรับสีผังเมืองพื้นที่ 300 ไร่ บริเวณถนนเกษตร-นวมินทร์ จากสีเหลือง (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย) เป็นพื้นที่สีแดง เนื่องจากมีแผนจะลงทุนพัฒนาศูนย์การประชุมและนิทรรศการ สำหรับทำเลนี้ในอนาคตจะมีรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (แคราย-ลำสาลี) พาดผ่าน รวมถึงขอปรับข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน 35 ไร่ บริเวณด้านข้างห้างโลตัส พระราม 2 (มุ่งหน้ามหาชัยอยู่ซ้ายมือ) ซึ่งในผังเมือง กทม.ฉบับปัจจุบันกำหนดเป็นพื้นที่สีส้ม ให้สร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่ได้ด้วย

“ส่วนที่ดินย่านเวิ้งนาครเขษม 14 ไร่ ไม่ได้ขอปรับแก้สีผังเมือง เพราะได้รับโบนัส FAR รอบสถานีรถไฟฟ้าที่ผังเมืองใหม่ จะขยายรัศมีจาก 500 เมตร เป็น 1 กม. รอบสถานีอยู่แล้ว ซึ่งเวิ้งนาครเขษมอยู่ใกล้กับสถานีวัดมังกร ของสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายที่จะเปิดบริการในปี 2562 ปัจจุบันกลุ่มเจ้าสัวเจริญยังไม่มีการพัฒนาโครงการใหม่แต่อย่างใด”
เดอะมอลล์-แมกโนเลียลงทุนเพิ่ม

ขณะที่กลุ่มเดอะมอลล์ ขอปรับสีผังเมืองบริเวณถนนรามคำแหง มีแผนจะลงทุนขยายศูนย์การค้าเดอะมอลล์ รามคำแหง ให้รับกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ที่กำลังก่อสร้าง

ส่วนกลุ่มแมกโนเลีย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในกลุ่มนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประมุขเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ได้ยื่นขอปรับสีผังเมืองบริเวณสถานีปุณณวิถีของรถไฟฟ้าบีทีเอส จากสีส้มเป็นสีแดง เพื่อก่อสร้างอาคารสำนักงาน และรองรับโครงการ 101 วิสซ์ดอม ที่จะพัฒนาเป็นย่านนวัตกรรมด้านไอที
รื้อสีผังอัพพื้นที่ทุกโซน

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ผังเมืองรวม กทม.ฉบับใหม่จะมีอัพโซนหลายพื้นที่ในแนวรถไฟฟ้าจำนวนมาก อย่างโซนตะวันออก เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง สีชมพู แคราย-มีนบุรี และสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี จะปรับพื้นที่เขตลาดพร้าว วังทองหลาง บางกะปิ บึงกุ่ม คันนายาว สวนหลวง ศรีนครินทร์ จากเดิมเป็นพื้นที่สีเหลืองเป็นสีส้ม ถนนรามคำแหงตลอดแนว ระยะ 500 เมตรจากริมถนน จะปรับจากพื้นที่สีเหลืองเป็นสีส้มเช่นเดียวกัน

โซนเหนือ มีสายสีเขียว ส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต สายสีชมพู และสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต จะขยายพื้นที่สีน้ำตาล (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก) ในแนวถนนพหลโยธิน ช่วงห้าแยกลาดพร้าวไปถึงแยกรัชโยธิน รวมถึงขยายพื้นที่สีส้ม บริเวณแยกหลักสี่ ถนนแจ้งวัฒนะ จะขยายพื้นที่สีส้มบริเวณแนวคลองประปา ปรับสีเหลืองริมถนนวิภาวดีรังสิต ฝั่งตรงข้ามนอร์ธปาร์ค เป็นสีส้ม รวมทั้งปรับตลอดแนวถนนรามอินทรา จากเดิมเป็นพื้นที่สีเหลืองเป็นสีส้ม

ขณะที่โซนตะวันตก จะยกเลิกพื้นที่สีฟลัดเวย์ เขตตลิ่งชัน และบางแค จากสีเขียวลายขาว (ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม) หรือฟลัดเวย์ เป็นพื้นที่สีเหลือง และพื้นที่สีแดง สีส้ม บางส่วน รับกับผังเมืองรวมจังหวัดนนทบุรี และรถไฟฟ้า 3 สาย ได้แก่ สายสีแดง (ตลิ่งชัน-ศิริราช-ศาลายา) สีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-ตลิ่งชัน) สายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย (บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค) ที่อนาคตจะมีส่วนต่อขยายไปถึงพุทธมณฑล สาย 4 มีพื้นที่ตลิ่งชันเป็นจุดเชื่อมต่อของการเดินทาง
“บางหว้า-ตลิ่งชัน” ขึ้นทำเลทอง

“ย่านราชพฤกษ์ บางหว้า ตลิ่งชัน ศักยภาพของทำเลเจริญมากแล้ว แต่ยังได้สิทธิ์ FAR ค่อนข้างต่ำ จึงต้องปรับให้สอดรับสภาพปัจจุบัน และอนาคตที่จะมีรถไฟฟ้า 3 สาย”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในส่วนอื่น ๆ จะขยายพื้นที่สีแดงพาณิชยกรรมจากศูนย์กลางเมืองปัจจุบันช่วงถนนสุขุมวิทต้น ๆ ไปยังพื้นที่ใหม่ เช่น สุขุมวิทตอนปลาย ซอยนานา คลองเตย ย่านเซ็นทรัล พระราม 9 ปรับพื้นที่เดิมสีน้ำตาลเป็นสีแดง พัฒนาให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ และส่งเสริมให้บางทำเลเป็นย่านพาณิชยกรรมพิเศษ ด้านนวัตกรรมสร้างสรรค์ สมาร์ทซิตี้ เช่น คลองสาน ไอคอนสยาม ถนนพระราม 1 ซอยจุฬาฯ 5
บูมรถไฟฟ้า 50 สถานี

นอกจากนี้ จะส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้าที่เป็นสถานีเชื่อมต่อ 2 สายทางขึ้นไป ซึ่งจากการสำรวจพบว่า แนวรถไฟฟ้าทั้ง 10 สายทางตามแผนแม่บท จะมีสถานีร่วมประมาณ 50 สถานี โดยจะขยายการพัฒนาจากเดิมรัศมี 500 เมตร เป็น 800 เมตร เพื่อให้ที่ดินในซอยสามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าเชิงพาณิชย์และที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ เช่น สถานีอโศก เป็นสถานีร่วมรถไฟฟ้าใต้ดินและบีทีเอส

พร้อมกับมีซับเซ็นเตอร์ หรือศูนย์ชุมชนเมือง 8 แห่ง รับการขยายตัวของเมือง ได้แก่ มีนบุรี ลาดกระบัง บางนา ศรีนครินทร์ บางขุนเทียน บางแค ตลิ่งชัน และสะพานใหม่ และกำหนดให้มีศูนย์คมนาคม 3 แห่ง ได้แก่ 1.ย่านบางซื่อ 2.ย่านมักกะสัน และ 3.ตากสิน-วงเวียนใหญ่
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 26/12/2018 12:12 pm    Post subject: Reply with quote

ผลวิจัยเผยคนกรุงควักค่ารถไฟฟ้าเฉลี่ย 2,500 บาทต่อเดือน
วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2561- เวลา 20:22 น.

ผลวิจัย (ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง) เผยคนกรุงควักค่ารถไฟฟ้าเฉลี่ย 2,500 บาทต่อเดือน
...ระบบรถไฟฟ้ามีอัตราค่าใช้จ่ายมากที่สุด คิดเป็นค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2,500 บาท/เดือน รองลงมาคือรถตู้สาธารณะ มีค่าเฉลี่ยที่ 2,100 บาท/เดือน ต่อมา คือเรือด่วนคลองแสนแสบ มีค่าเฉลี่ยที่ 1,700 บาท/เดือน ส่วนด้านรถเมล์ปรับอากาศอยู่ที 1,400 บาท/เดิอน และรถเมล์ไม่ปรับอากาศ 1,200 บาท/เดือน เช่นเดียวกันกับอัตราค่าโดยสารเรือด่วนเจ้าพระยาเฉลี่ยอยู่ที่ 1,200 บาท/เดือน
....ภาพรวมผู้โดยสารที่เดินทางด้วยรถเมล์ในกรุงเทพมหานครมีปริมาณเฉลี่ย 2.16 ล้านคน/วัน แบ่งเป็นผู้โดยสารรถเมล์ไม่ปรับอากาศ 65% คิดเป็น 1,404,000 คน/วัน และ รถเมล์ปรับอากาศ 35% คิดเป็น 756,000 คน/วัน

เผยคนกรุงจ่ายค่ารถไฟฟ้า 2,500 บาทต่อเดือน

อังคารที่ 25 ธันวาคม 2561 เวลา 19.02 น.

รศ.ดร.สุรินทร์ คำฝอย รองอธิการบดีฝ่ายแผนงาน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และผู้จัดการโครงการศึกษาจัดทำแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะด้วยเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า เปิดเผยว่า งานวิจัยข้อมูลการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ พบว่าระบบรถไฟฟ้ามีอัตราค่าใช้จ่ายมากที่สุด คิดเป็นค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2,500 บาทต่อเดือน รองลงมาคือรถตู้สาธารณะ มีค่าเฉลี่ยที่ 2,100 บาทต่อเดือน ต่อมาคือเรือโดยสารคลองแสนแสบ มีค่าเฉลี่ยที่ 1,700 บาทต่อเดือน ส่วนด้านรถเมล์ปรับอากาศ (รถเมล์แอร์) อยู่ที 1,400 บาทต่อเดือน และรถเมล์ธรรมดา (รถเมล์ร้อน) 1,200 บาทต่อเดือน เช่นเดียวกันกับอัตราค่าโดยสารเรือด่วนเจ้าพระยาเฉลี่ยอยู่ที่ 1,200 บาทต่อเดือน ดังนั้นจึงพบว่าอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าในปัจจุบันนั้นสูงกว่าค่ารถเมล์ร้อนมากกว่า 100% ขณะที่การใช้รถยนต์ส่วนบุคคลจะมีอัตราค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3,200 บาทต่อเดือน ซึ่งสูงกว่ากว่ารถเมล์ร้อนเฉลี่ยเดือนละมากกว่า 150%



รศ.ดร.สุรินทร์ กล่าวต่อว่า งานวิจัยดังกล่าวยังพบว่าจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ 5 อันดับที่ได้รับความนิยมจากประชากรเมืองหลวงจนเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางฟีดเดอร์รองรับการเดินทางของประชาชนและเชื่อมเส้นทางรถไฟฟ้า ประกอบด้วย 1.จตุจักร มีปริมาณ 66,900 คนต่อเที่ยววัน 2.อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีปริมาณ 48,500 คนต่อเที่ยววัน 3.วงเวียนบางเขน-สะพานใหม่ มีปริมาณ 38,200 คนต่อเที่ยววัน 4.เดอะมอลล์งามวงศ์วาน-พันธุ์ทิพย์งามวงศ์วาน มีปริมาณ 32,300 คนต่อเที่ยววัน และ 5.สนามหลวง มีปริมาณ 22,500 คนต่อเที่ยววัน อย่างไรก็ตามการศึกษาพบว่าภาพรวมผู้โดยสารที่เดินทางด้วยรถเมล์ในกรุงเทพฯ มีปริมาณเฉลี่ย 2.16 ล้านคนต่อวัน แบ่งเป็นผู้โดยสารรถเมล์ไม่ปรับอากาศ 65% คิดเป็น 1,404,000 คนต่อวัน และ รถเมล์ปรับอากาศ 35% คิดเป็น 756,000 คนต่อวัน
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 27/12/2018 9:55 pm    Post subject: Reply with quote

สนข. จัดประชุมหารือเพื่อบูรณาการแผนการดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) และโครงการทางด่วน สายเหนือ ตอน N2
Otpthailand
วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2561

นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อบูรณาการแผนการดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) และโครงการทางด่วน สายเหนือ ตอน N2 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม 2561 ณ ห้องประชุม 501 อาคาร สนข. โดยมีผู้แทนจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เข้าร่วมประชุม โดยการประชุมครั้งนี้ เป็นการหารือเพื่อพิจารณากรอบเวลาการดำเนินการเพื่อก่อสร้างโครงการทั้งสองให้สอดคล้องกัน รวมทั้งวิธีการจัดทำงบประมาณให้สอดคล้องกับการดำเนินการก่อสร้างต่อไป ซึ่งจากผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) บนช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ (เกษตร – นวมินทร์) มีรูปแบบของการพัฒนาโครงการที่มีทั้งรถไฟฟ้าและทางด่วนอยู่บนแนวเส้นทางร่วมกัน เพื่อให้กระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุดระหว่างช่วงการก่อสร้าง ทั้งนี้ ผลการศึกษาฯ ได้เสนอแนะให้ กทพ. ดำเนินการก่อสร้างฐานรากและเสาตอม่อของรถไฟฟ้าพร้อมกันกับการก่อสร้างฐานรากและเสาตอม่อของระบบทางด่วนเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดการปิดการจราจรครั้งเดียว
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 02/01/2019 1:15 pm    Post subject: Reply with quote

คนกรุงเตรียมรับชะตากรรม ค่ารถอัตราใหม่ ปรับขึ้น "เมล์-บัส-แท็กซี่" ส่วนขยาย "รถไฟฟ้า" ได้ใช้แน่!!
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เผยแพร่: อังคารที่ 1 มกราคม 2562 เวลา 21:37
ปรับปรุง: อังคารที่ 1 มกราคม 2562 เวลา 21:57

เปิดปี 62 นี้ แท็กซี่ - รถเมล์ เตรียมขึ้นราคาค่าโดยสาร หลังจากทนกับค่าใช้จ่ายกันไม่ไหว ผู้เชี่ยวชาญชี้ ทุกวันนี้มีแต่เสียกับเสีย บางรายเลิกขับรถโดยสารเพราะขาดทุน ด้านรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่เปิดใหม่ ชาวกรุงเตรียมเฮ เพราะปีนี้ได้ใช้แน่นอน!! ส่วนเมกะโปรเจกต์รถไฟฟ้าความเร็วสูงที่จับตามอง ต้องรอไปก่อนอีก 3 ปี ถึงได้ใช้!!




นี่หรือของขวัญปีใหม่ รถเมล์-รถบัส-แท็กซี่ ขึ้นราคา?

เรื่องของการใช้ชีวิต และไลฟ์สไตล์ของผู้คน กลายเป็นคำถามที่น่าสนใจขึ้นมาทันทีเลยว่า ในปีหมูนี้การใช้ชีวิตของคนในสังคมจะมีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน และนอกเหนือจากเศรษฐกิจที่คอยลุ้นว่าดี หรือไม่ดี ประชาชนยังต้องรับมือกับการเพิ่มราคาค่าโดยสารรถประจำทางที่สูงขึ้นเท่าตัว

อย่างไรก็ดี ทิศทางของคนกรุงในปีนี้ ต้องเจอกับค่าโดยสารที่มีอัตราสูงขึ้น และอาจทำให้หลายๆ คนได้รับผลกระทบ เพราะล่าสุดรถแท็กซี่ (Taxi) ประกาศเตรียมขึ้นค่าโดยสารปีใหม่นี้แน่นอน ซึ่งอัตราสูงสุดอาจเพิ่มถึง 10% เพราะข้อตกลงเดิมที่ให้ปรับ 5% คำนวณมาตั้งแต่ปี 57 ไม่สะท้อนต้นทุนแล้ว

ทั้งนี้ กมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้เรียกประชุมคณะทำงานศึกษาอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร และค่าเซอร์ชาร์จ สำหรับรถยนต์รถจ้าง หรือรถแท็กซี่มิเตอร์ ซึ่งมีตัวแทนจากกรมการขนส่งฯ , สถาบันงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และตัวแทนแท็กซี่ร่วมเข้าประชุมด้วย

หลังจากการประชุมเสร็จ วิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ ได้ออกมาเปิดเผยว่าที่ประชุมมีความคิดเห็นในทิศทางเดียวกัน ให้มีการขึ้นค่าโดยสารแท็กซี่ทั้งระบบหลังปีใหม่พ.ศ. 2562 เพื่อบรรเทาผลกระทบช่วงปีใหม่ของประชาชน โดยเบื้องต้นคาดการณ์ต้องปรับค่าโดยสารมากกว่า 5% ซึ่งไม่ได้สรุปเป็นแน่ชัดว่าจากราคาเริ่มต้น 35 บาท จะมีการปรับเปลี่ยนสูงถึงเท่าไหร่

"คงต้องปรับค่าโดยสารให้แท็กซี่มากกว่า 5% โดยเห็นชอบกันว่าอาจจะต้องปรับขึ้นค่าโดยสารประมาณ 10% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ทั้งกรมการขนส่งฯ สคบ. และผู้ขับขี่แท็กซี่ เพราะเป็นตัวเลขที่สะท้อนตันทุนที่แท้จริง โดยเฉพาะแท็กซี่ที่ใช้ก๊าซนั้นในช่วง 4 เดือนที่ผ่าน ค่าก๊าซมีอัตราที่สูงขึ้นถึงกิโลเมตรละ 4 บาท ทำให้แท็กซี่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นวันละ 100 บาทต่อวัน ขณะที่รายได้มีอัตราที่ต่ำลงด้วย"


ขณะที่ "รถเมล์" รถโดยสารประจำทางที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน เตรียมตัวขึ้นราคาหลังปีใหม่นี้เช่นกัน โดยคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง มีมติอนุมัติปรับขึ้นค่าโดยสารรถเมล์ และรถร่วมบริการ 1 บาท ส่วนรถปรับอากาศเพิ่มระยะละ 1 บาท มีผลช่วงกลางเดือน ม.ค. 2562

พีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่าที่ผ่านมาไม่ได้มีการปรับอัตราค่าโดยสารให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ต้นทุนสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการรถโดยสารได้รับผลกระทบถึงขั้นหยุดวิ่ง และเลิกกิจการ ซึ่งออกนอกระบบการให้บริการไปแล้ว 565 คัน จากทั้งหมด 3,712 คัน

ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ผลกระทบเกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่าย ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง จึงมีมติปรับขึ้นค่าโดยสารรถเมล์องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือขสมก. และรถร่วมบริการ ขสมก. เพิ่มขึ้นอีก 1 บาทโดยรถเมล์ร้อนจากเดิม 9 บาท เป็น 10 บาท และรถเมล์ ขสมก. จากเดิม 6.50 บาท เป็นไม่เกิน 10 บาท ขณะที่รถปรับอากาศเพิ่มระยะละ 1 บาท จากเดิม 11-23 บาทต่อเที่ยว เป็น 12-24 บาทต่อเที่ยว

ในส่วนของรถร่วมบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ปรับราคาขึ้นไม่เกินร้อยละ 10 แบ่งเป็น 4 ช่วง คือระยะทาง 40 กิโลเมตรแรก ปรับขึ้น 0.53 บาทต่อกิโลเมตร ระยะทาง 40 - 100 กิโลเมตร ปรับขึ้น 0.48 บาทต่อกิโลเมตร ระยะทาง 100 - 200 กิโลเมตร ปรับขึ้น 0.44 บาทต่อกิโลเมตร และเกิน 200 กิโลเมตร ปรับขึ้น 0.39 บาทต่อกิโลเมตร ทั้งนี้การปรับขึ้นราคาในอัตราใหม่ทั้งหมดนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค. 62 เป็นต้นไป


ปัดฝุ่นเตรียมใช้ “รถเมล์ - รถไฟฟ้า” ดีกว่าเดิม?


ถึงแม้ว่ารถโดยสารประจำทาง จะมีการปรับขึ้นราคาค่าโดยสาร แต่เรียกได้ว่าปีใหม่ปีนี้ก็มีเรื่องใหม่ๆ ให้ชาวไทยได้มีรอยยิ้มเช่นกัน เริ่มตั้งแต่ ประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ออกมาเปิดเผยว่า เตรียมพร้อมใช้รถเมล์ไฮบริด และรถเมล์ไฟฟ้าตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้ให้ไว้คือ จะเน้นประกอบในประเทศ เนื่องจากบางบริษัทได้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศมากกว่า 60% และมีการเตรียมพร้อมไว้แล้ว ดังนั้นจะกระจายงานตามโรงประกอบต่างๆ ซึ่งจะจัดหาภายในปี 62 - 63 ให้ได้ใช้งานกัน

ขณะที่ไม่นานมานี้ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ในช่วง 4 ปีระหว่าง พ.ศ. 2562 - 65 จะเร่งรัดขยายโครงข่ายรถไฟทางคู่ 9 เส้นทางที่เหลือ รวมระยะทาง 2,164 กม. เพื่อเพิ่มความเร็วเฉลี่ยในการขนส่งสินค้าทางรถไฟ จาก 39 กม/ชม. เป็น 60 กม./ชม. ส่วนการขนส่งคนโดยสารเพิ่มจาก 60 กม./ชม. เป็น 100 กม./ชม. และเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรางจาก 2.5% เป็น 5%

สำหรับ 9 เส้นทางที่จะดำเนินการคือ ช่วงปากน้ำโพ - เด่นชัย ระยะทาง 285 กม. ช่วงชุมทางจิระ - อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. ช่วงขอนแก่น - หนองคาย ระยะทาง 167 กม. ช่วงชุมพร - สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กม. ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่ - สงขลา ระยะทาง 321 กม. ช่วงหาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. ช่วงเด่นชัย - เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม. ช่วงเด่นชัย - เชียงราย - เชียงของ ระยะทาง 326 กม. และช่วงบ้านไผ่ - มุกดาหาร - นครพนม ระยะทาง 355 กม.

นอกจากนี้ จะมีเพิ่มโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงอีก 4 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,234 กม. คือช่วงกรุงเทพ - หัวหิน ระยะทาง 211 กม. , ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ระยะทาง 350 กม. , ช่วงกทม. - พิษณุโลก ระยะทาง 380 กม. และพิษณุโลก - เชียงใหม่ ระยะทาง 293 กม.

ส่วนในกรุงเทพฯ ยังมีโครงการรถสายสีน้ำเงิน ที่ทางBEM เร่งเปิดเดิน เพื่อเพิ่มผู้โดยสารรถไฟฟ้าเข้าระบบ MRT และให้ประชาชนทันใช้ภายในปี62 โดย ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม ได้ออกมาเปิดเผยภายหลังลงพื้นตรวจความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง - บางแค และบางซื่อ - ท่าพระ ระยะทาง 27 กิโลเมตร รวม 19 สถานี ขณะนี้งานโยธาดำเนินการเสร็จทั้งหมด เหลือเพียงแค่ระบบรถไฟฟ้า


ทั้งนี้ภายในต้นปี 62 จะเริ่มทยอยส่งมอบขบวนรถเข้ามาทดสอบระบบ เพื่อเปิดให้บริการในโซนด้านทิศใต้จากหัวลำโพงจนถึงบางแคในช่วงวันที่ 30 ก.ย. 62 แต่ในส่วนอีก 4 สถานีแรก คือ สถานีวัดมังกรถึงสถานีอิสรภาพที่เป็นโครงสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกของไทยจะเร่งรัดเปิดให้บริการได้ก่อน หากแก้ไขระบบการจ่ายไฟฟ้าสำเร็จ

ไม่เพียงแต่โครงการรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง - บางแค จะเปิดใช้ในปีนี้ โครงการทางด้านทิศเหนือช่วงบางซื่อ - ท่าพระ จะเปิดให้บริการได้ภายในเดือนมีนาคมปี 63 โดยในระยะแรกจะมีขบวนรถให้บริการจำนวน 12 ขบวนและจะครบทั้ง 35 ขบวนหากเปิดให้บริการได้ครบทั้งเส้นทาง เบื้องต้นคาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้บริการมากกว่า 5 แสนคนต่อวัน และลดการรถติดของจราจรมากยิ่งขึ้น
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44325
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 03/01/2019 1:39 pm    Post subject: Reply with quote

“สมคิด” นั่งหัวโต๊ะประชุม คจร.นัดแรกปีหมู เคาะพิมพ์เขียวรถไฟฟ้าระยะที่2-ไจก้าแนะลดค่าเดินทาง-เก็บค่าจอด-เพิ่มภาษีรถดึงคนใช้บริการ
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 3 January 2019 - 13:13 น.

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 1/2562 เปิดเผยว่า ผลการประชุม คจร. เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2562 ได้รับทราบผลการศึกษาการจัดทำทิศทางและนโยบายการพัฒนาแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 หรือ M-Map 2 และมอบ สนข.ประสานความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นผ่านองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ดำเนินการศึกษาแผนแม่บทปรับปรุงแบบจำลองการเดินทางเพื่อวิเคราะห์และคาดการณ์ปริมาณความต้องการเดินทางให้ครอบคลุมพื้นที่ จ.นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสงคราม จัดทำเป็นแผนงานระยะกลางและระยะยาว

โดยทิศทางและนโยบายการพัฒนาแผน M-MAP 2 ประกอบด้วย 5 นโยบายหลัก
1.บรรเทาการจราจรติดขัดในพื้นที่ศูนย์กลางเมืองกรุงเทพฯ
2.ส่งเสริมและพัฒนาโครงข่ายรถไฟในภาพรวมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลให้มีประสิทธิภาพ
3.เพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงสถานี
4.ส่งเสริมให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และ
5.เพิ่มการเข้าถึงสนามบิน
ส่วนแผนการดำเนินงานแบ่ง 3 ระยะ ระยะสั้น 2561 – 2565 ระยะกลาง 2566 – 2570 และระยะยาว 2571 – 2580

@ไจก้าแนะรัฐหนุนค่าเดินทาง-เก็บค่าจอด-เพิ่มภาษีรถ

ทั้งนี้ไจก้ามีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในการออกมาตรการจูงใจประชาชน ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้ระบบการขนส่งทางรางมากขึ้น โดยใช้ประเทศญี่ปุ่นเป็นต้นแบบ เช่น ส่งเสริมให้ประชาชนเห็นว่าระบบรางเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยให้ใบรับรองแก่บริษัทที่สนับสนุนให้พนักงานใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และให้ความรู้ในเรื่องการใช้ระบบขนส่งสาธารณะในโรงเรียน

สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้พนักงานแต่ละบริษัทเดินทางมาทำงานโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และห้ามขับรถยนต์มาทำงานสำหรับพนักงานที่อาศัยอยู่ในรัศมีไม่เกิน 2 กม.จากที่ทำงาน ลดค่าโดยสารช่วงเวลาไม่เร่งด่วน เมื่อใช้บัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะให้มีความปลอดภัยในการใช้บริการ เช่น การใช้บริการรถไฟฟ้าของเด็กนักเรียน ให้เกิดความมั่นใจในการใช้บริการ และกำหนดมาตรการจำกัดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล โดยเพิ่มค่าจอดรถในย่านใจกลางเมือง กำหนดวันปลอดรถยนต์หรือคาร์ฟรีเดย์ และเพิ่มอัตราภาษีรถยนต์

@สั่งผุดอุโมงค์ทางลอดแก้รถติด

นอกจากนี้ที่ประชุมยังรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีในการจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ครอบคลุมถึงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดผ่านถนนตามแยกต่างๆ ที่มีปัญหาการจราจรติดขัดและการจัดหาพื้นที่จอดรถของประชาชนที่มาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ โดยมอบกระทรวงคมนาคมเร่งนำเสนอร่างแผนแม่บทให้คจร.พิจารณาครั้งต่อไป ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในกำหนดเวลา

@ไฟเขียวทางด่วนพ่วงรถไฟฟ้าทะลวงเกษตร-นวมินทร์

ส่วนการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการของผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการและมอบ สนข. บรรจุโครงการในแผนแม่บทรถไฟฟ้าระยะที่ 2 จากผลการศึกษาฯ พบว่ามีความเหมาะสมที่จะพัฒนาทั้งระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอนทดแทน N1, ตอน N2 และ E – W Corridor และระบบขนส่งมวลชนบนแนวสายทางเดียวกัน เนื่องจากปัจจุบันขาดโครงข่ายทางที่จะรองรับการเดินทางในด้านทิศตะวันตกกับด้านทิศตะวันออก

โดยโครงข่ายระบบทางด่วนตามแนวสายทางนี้เป็นการเชื่อมต่อพื้นที่ระหว่างด้านตะวันตกกับด้านตะวันออกของถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ประกอบกับโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบขนส่งทางราง เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลมีการเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนทางรางถึง 7 เส้นทาง จะต่อเชื่อมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีชมพูที่แยกแคราย สายสีแดงที่แยกบางเขน สายสีเขียวที่แยกเกษตร สายสีเทาที่แยกทางต่างระดับศรีรัช และสายสีส้มและสีเหลืองที่แยกลำสาลี และให้สร้างฐานรากของรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลไปพร้อมกับการก่อสร้างทางด่วน เพื่อลดผลกระทบด้านค่าก่อสร้าง ปัญหาการจราจรในระหว่างการก่อสร้าง และช่วยให้สายสีน้ำตาลก่อสร้างได้เร็วขึ้น


@อนุมัติพิมพ์เขียวระบบขนส่งอัจฉริยะ

นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบแผนแม่บทการพัฒนาระบบการจราจรและขนส่งอัจฉริยะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล และให้กระทรวงคมนาคมขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ไปสู่การปฏิบัติต่อไป โดยมีกรอบแนวคิดเน้นให้ประเทศไทยพัฒนาการจราจรและขนส่งให้มีประสิทธิภาพโดยใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะต่างๆ มาผนวกเข้ากับโครงสร้างพื้นฐาน และยานพาหนะ

ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลควรพัฒนาให้เป็น Smart Metropolis หรือนครหลวงอัจฉริยะ ส่วนในระดับเมืองต่างๆ จะนำไปสู่การเป็น Smart City ประกอบด้วย 3 เป้าประสงค์หลัก คือ 1.ITS for Green Mobility การลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ส่งเสริมให้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ 2.ITS Integrated Center จัดตั้งหน่วยงานที่เข้ามาบูรณาการในการดำเนินงานภายในแต่ละพื้นที่ และ 3.ITS Assistive Solution เป็นการนำระบบ ITS มาแก้ไขปัญหาด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญในปัจจุบัน

@เล็งตั้งโรงงานประกอบรถไฟ

และยังเห็นชอบแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าประเทศไทยมีความเหมาะสมต่อการจัดตั้งโรงประกอบรถไฟขึ้นในประเทศ เนื่องจากมีความพร้อมในปัจจัยที่จะก่อให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญ คือ มีปริมาณความต้องการรถไฟฟ้ามากเพียงพอที่จะก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด มีเอกชนเจ้าของเทคโนโลยีสนใจลงทุน และมีผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศที่มีศักยภาพ การจัดตั้งโรงประกอบขึ้นในประเทศ จะทำให้รัฐบาลสามารถซื้อรถไฟได้ในราคาที่ถูกลงและก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และเกิดการจ้างงานในประเทศ โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมฯ ตามผลการศึกษาต่อไป
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 03/01/2019 2:03 pm    Post subject: Reply with quote

Mongwin wrote:
“สมคิด” นั่งหัวโต๊ะประชุม คจร.นัดแรกปีหมู เคาะพิมพ์เขียวรถไฟฟ้าระยะที่2-ไจก้าแนะลดค่าเดินทาง-เก็บค่าจอด-เพิ่มภาษีรถดึงคนใช้บริการ
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 3 January 2019 - 13:13 น.


ตามข่าวนี้สินะ
https://www.facebook.com/ake.bluechifamily/posts/2095655763814691

ก็บค่าจอดรถย่านกลางเมือง
https://www.thebangkokinsight.com/82718

คจร.เห็นชอบหลักการผลศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล เตรียมบรรจุในแผนแม่บททางราง
ข่าวเศรษฐกิจ สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- พฤหัสบดีที่ 3 มกราคม 2562 13:14:47 น.

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการของผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย - ลำสาลี (บึงกุ่ม) และมอบ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) บรรจุแผนการพัฒนาโครงการฯ ดังกล่าว ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

จากผลการศึกษาฯ พบว่า มีความเหมาะสมที่จะพัฒนาทั้งระบบทางด่วน และระบบขนส่งมวลชนบนแนวสายทางเดียวกัน เนื่องจากปัจจุบันขาดโครงข่ายทางที่จะรองรับการเดินทางในด้านทิศตะวันตกกับด้านทิศตะวันออก โดยโครงข่ายระบบทางด่วนตามแนวสายทางนี้เป็นการเชื่อมต่อพื้นที่ระหว่างด้านตะวันตกกับด้านตะวันออกของถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ประกอบกับโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบขนส่งทางราง เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลมีการเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนทางรางถึง 7 เส้นทางด้วยกัน โดยจะต่อเชื่อมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีชมพูที่แยกแคราย โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงที่แยกบางเขน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่แยกเกษตร โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทาที่แยกทางต่างระดับศรีรัช และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มและสีเหลืองที่แยกลำสาลี

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติมอบให้กระทรวงคมนาคมมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และกรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย - ลำสาลี (บึงกุ่ม) และโครงข่ายระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอนทดแทน N1, ตอน N2 และ E - W Corridor โดยให้พิจารณาวางแผนร่วมกันให้เกิดผลกระทบระหว่างก่อสร้างต่อประชาชนให้น้อยที่สุด รวมทั้งให้ทำการก่อสร้างฐานรากของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลไปพร้อมกับการก่อสร้างทางพิเศษ ซึ่งรูปแบบของโครงการจะมีช่วงที่มีทั้งโครงการรถไฟฟ้าและทางพิเศษ ใช้พื้นที่เกาะกลางร่วมกันในช่วงที่อยู่บนถนนประเสริฐมนูกิจ มีระยะทางประมาณ 5.7 กม. โดยทางพิเศษจะใช้เสาตอม่อเดิมที่ก่อสร้างไว้แล้วตั้งแต่ปี 2540 และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะมีการก่อสร้างโครงสร้างใหม่ระหว่างเสาตอม่อของทางพิเศษ เพื่อลดผลกระทบด้านค่าก่อสร้าง ปัญหาการจราจรในระหว่างการก่อสร้าง และช่วยให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลก่อสร้างได้เร็วขึ้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบรายงานการศึกษาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าประเทศไทยมีความเหมาะสมต่อการจัดตั้งโรงประกอบรถไฟขึ้นในประเทศ เนื่องจากมีความพร้อมในปัจจัยที่จะก่อให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญ คือ มีปริมาณความต้องการรถไฟฟ้ามากเพียงพอที่จะก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) มีเอกชนเจ้าของเทคโนโลยีสนใจลงทุน และมีผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศที่มีศักยภาพ การจัดตั้งโรงประกอบขึ้นในประเทศ จะทำให้รัฐบาลสามารถซื้อรถไฟได้ในราคาที่ถูกลง นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และเกิดการจ้างงานในประเทศ

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมฯ ตามผลการศึกษาต่อไป
--อินโฟเควสท์ โดย รัชดา คงขุนเทียน/วิลาวัลย์
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 03/01/2019 3:32 pm    Post subject: Reply with quote

ไจก้าแนะไทยสร้างแรงจูงใจใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ลดปัญหาจราจรในกทม.-ปริมณฑล ตามแผนแม่บทฯ ระยะที่ 2
ข่าวเศรษฐกิจ สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- พฤหัสบดีที่ 3 มกราคม 2562 13:31:26 น.

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ได้รับทราบผลการศึกษาการจัดทำทิศทางและนโยบายการพัฒนาแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (Proposed Blueprint for the Second Mass Rapid Transit Master Plan in Bangkok Metropolitan Region : M-Map 2 Blueprint) โดยกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ประสานความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น ผ่านองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ดำเนินการศึกษาแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (M-MAP 2)

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อกำหนดทิศทางและแนวทางการพัฒนาแผน M-MAP 2 รวมทั้งปรับปรุงแบบจำลองการเดินทางระดับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (extended Bangkok Urban Model : eBUM) สำหรับใช้วิเคราะห์และคาดการณ์ปริมาณความต้องการเดินทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตลอดจนเพื่อจัดทำแผนการดำเนินงานระยะกลางและระยะยาว โดยมีพื้นที่ศึกษาครอบคลุมพื้นที่จังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสงคราม มีวิสัยทัศน์ "มุ่งสร้างสังคมการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน"

ทั้งนี้ ทิศทางและนโยบายการพัฒนาแผน M-MAP 2 ประกอบด้วย 5 นโยบายหลัก ได้แก่ 1) เพื่อบรรเทาการจราจรติดขัดในพื้นที่ศูนย์กลางเมืองกรุงเทพมหานคร 2) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาโครงข่ายรถไฟในภาพรวมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้มีประสิทธิภาพ 3) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงสถานี 4) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และ 5) เพื่อเพิ่มการเข้าถึงสนามบิน (Global gateways) ซึ่งแผนการดำเนินงาน M-MAP 2 แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย แผนระยะสั้นดำเนินการปี 2561-2565 แผนระยะกลาง ดำเนินการปี 2566-2570 และแผนระยะยาว ดำเนินการปี 2571-2580

ทั้งนี้ JICA ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในการออกมาตรการจูงใจประชาชน เพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้ระบบการขนส่งทางรางมากขึ้น โดยอ้างอิงประสบการณ์จากที่มีการดำเนินการในประเทศญี่ปุ่น เช่น 1) ส่งเสริมให้ประชาชนเห็นว่าระบบรางเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยให้ใบรับรองแก่บริษัทที่สนับสนุนให้พนักงานใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และให้ความรู้ในเรื่องการใช้ระบบขนส่งสาธารณะในโรงเรียน 2) สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้พนักงานแต่ละบริษัทเดินทางมาทำงานโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และห้ามขับรถยนต์มาทำงานสำหรับพนักงานที่อาศัยอยู่ในรัศมีไม่เกิน 2 กิโลเมตร จากที่ทำงาน

3) ลดค่าโดยสารในช่วงเวลาไม่เร่งด่วน เมื่อใช้บัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ 4) ปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะให้มีความปลอดภัยในการใช้บริการ เช่น การใช้บริการรถไฟฟ้าของเด็กนักเรียน เมื่อเด็กนักเรียนเข้าใช้บริการรถไฟฟ้าด้วยบัตรรถไฟฟ้าระบบจะส่งข้อความผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่แจ้งให้ผู้ปกครองทราบ เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการใช้บริการ และ 5) กำหนดมาตรการจำกัดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล โดยเพิ่มค่าจอดรถในย่านใจกลางเมือง กำหนดวันปลอดรถยนต์ (Car free day) และเพิ่มอัตราภาษีรถยนต์

นอกจากนี้ ที่ประชุม คจร. ได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ในการจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยที่ประชุมได้รับทราบผลความก้าวหน้าการดำเนินงานฯ ดังกล่าว ตามข้อสั่งการที่ให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ครอบคลุมถึงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดผ่านถนนตามแยกต่างๆ ที่มีปัญหาการจราจรติดขัด และการจัดหาพื้นที่จอดรถของประชาชนที่มาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ

ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม โดย สนข. เร่งรัดดำเนินการนำเสนอร่างแผนแม่บทดังกล่าวในการประชุม คจร. ครั้งต่อไป ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในกำหนดเวลา

พร้อมกันนี้ ที่ประชุม คจร. มีมติเห็นชอบแผนแม่บทการพัฒนาระบบการจราจรและขนส่งอัจฉริยะ ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (Intelligent Transport System : ITS) โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ไปสู่การปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้ มีกรอบแนวคิดโดยมุ่งเน้นให้ประเทศไทยพัฒนาการจราจรและขนส่งให้มีประสิทธิภาพ โดยใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะต่างๆ มาผนวกเข้ากับโครงสร้างพื้นฐาน และยานพาหนะ

ดังนั้นเพื่อให้การพัฒนาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน การพัฒนาระบบ ITS ในเขตพื้นที่เมืองต่างๆ จึงควรนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาผนวกกับโครงสร้างพื้นฐานและยานพาหนะภายในเมือง ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลควรพัฒนาให้เป็น Smart Metropolis หรือ นครหลวงอัจฉริยะ ส่วนในระดับเมืองต่างๆ จะนำไปสู่การเป็น Smart City เช่นเดียวกัน ประกอบด้วย 3 เป้าประสงค์หลัก คือ 1) ITS for Green Mobility จากปัญหาการจราจรติดขัด ปัญหามลภาวะภายในเมือง รวมถึงปัญหาการขาดแคลนพื้นที่รองรับปริมาณจราจรเนื่องจากการก่อสร้าง ทำให้นำมาสู่แนวทางการแก้ไขปัญหา คือ การลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และการส่งเสริมให้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ

2) ITS Integrated Center จากปัญหาในการดำเนินการด้าน ITS ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จึงได้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยการจัดตั้งหน่วยงานที่เข้ามาบูรณาการในการดำเนินงานภายในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยจากกรอบแผนการพัฒนาระบบ ITS ของประเทศ จะมีการตั้งศูนย์บูรณาการ ITS ภายในแต่ละพื้นที่ เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการบูรณาการข้อมูลด้านจราจรและขนส่ง ควบคุมและจัดการจราจร และตรวจสอบการกระทำผิดกฎจราจร ซึ่งการดำเนินการของศูนย์ฯ จะเป็นหน่วยงานกลางการแก้ไขปัญหาภายในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้อย่างบูรณาการ

3) ITS Assistive Solution เป็นการนำระบบ ITS มาแก้ไขปัญหาด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญในปัจจุบัน ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/กษมาพร/รัชดา
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 03/01/2019 5:27 pm    Post subject: Reply with quote

คจร.ไฟเขียวผลศึกษารถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล เชื่อมรถไฟฟ้า 7 สาย
4 มกราคม 2562


คจร.ไฟเขียวผลศึกษารถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย-ลำสาลี เชื่อมรถไฟฟ้า 7 สาย วงเงิน 4.8 หมื่นล้าน มอบ รฟม.เป็นเจ้าของโครงการคาดเปิดพีพีพีได้ปี 2565

เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 62 นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมาว่าที่ประชุมมีมติรับทราบผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และมอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการโดยคาดว่าจะเริ่มเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการตาม พ.ร.บ.ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) ในปี 2565 โดยโครงการมีระยะเวลาในการก่อสร้าง 3 ปี 2565-2567

ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) มีระยะทาง 22 กิโลเมตร ประกอบไปด้วย 20 สถานี โดยเดินรถในระบบรถไฟฟ้าโมโนเรลวงเงินงบประมาณโครงการรวมทั้งสิ้น 48,386 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้างงานโยธา 34,600 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 7,200 ล้านบาท ที่เหลือเป็นค่าจัดจ้างที่ปรึกษาโครงการ

“รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะเป็นโครงการรถไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายหลักในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจำนวน 7 สาย ได้แก่รถไฟฟ้าสายสีม่วง สีชมพู สีแดง สีส้มตะวันออก สีเขียว สีเทา และสีเหลือง ซึ่งจะช่วยลดความแออัดในการเดินทางของรถไฟฟ้าในแต่ละสายและแต่ละพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่นได้มากขึ้น เนื่องจากมีการเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีชมพูที่แยกแคราย รถไฟฟ้าสายสีแดงที่แยกบางเขน รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่แยกเกษตร โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทาที่แยกทางต่างระดับศรีรัช และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มและสีเหลืองที่แยกลำสาลี”


คจร.ไฟเขียวรถไฟฟ้าสีน้ำตาล เร่งสร้างพร้อมทางด่วน N2 เปิดปี67
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เผยแพร่: พฤหัสบดีที่ 3 มกราคม 2562 เวลา 17:28

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 1/2562 ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย - ลำสาลี (บึงกุ่ม) ระยะทาง 22.1 กม. และให้บรรจุโครงการไว้ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งให้พัฒนารถไฟฟ้าและระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอนทดแทน N1, ตอน N2 และ E - W Corridor บนแนวสายทางเดียวกัน เพื่อเพิ่มโครงข่ายด้านตะวันตกกับตะวันออก ของกทม.

โดยมอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และกรมทางหลวง (ทล.) วางแผนในการดำเนินการร่วมกัน เพื่อลดผลกระทบในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลและระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ โดยก่อสร้างฐานรากพร้อมกัน และใช้พื้นที่เกาะกลางบนถนนประเสริฐมนูกิจ ช่วงระยะทาง 5.7 กม. ซึ่งทางด่วนใช้เสาตอม่อเดิมที่ก่อสร้างไว้แล้วตั้งแต่ปี 2540 ส่วนรถไฟฟ้าสีน้ำตาลจะก่อสร้างโครงสร้างใหม่ระหว่างเสาตอม่อของทางด่วนเพื่อลดค่าก่อสร้าง และปัญหาจราจรและเพื่อความรวดเร็ว

สำหรับรถไฟฟ้าสีน้ำตาล มอบหมายให้รฟม.ดำเนินการเป็นระบบรถไฟฟ้าแบบรางเดี่ยว (Monorail) วงเงินลงทุนก่อสร้าง 48,386 ล้านบาท มี 20 สถานี คาดว่าจะประมูลและเริ่มดำเนินการในปี 2564 เปิดให้บริการ ปี 2567 แนวเส้นทาง เริ่มจากแยกแครายไปตามถนนงามวงศ์วาน ผ่านแยกพงษ์เพชร แยกบางเขน แยกเกษตร ไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ผ่านแยกลาดปลาเค้า แยกเสนานิคม แยกสุคนธสวัสดิ์ แยกทางต่างระดับศรีรัช แยกนวลจันทร์ แยกนวมินทร์ แยกโพธิ์แก้ว แยกแฮปปี้แลนด์ ไปสิ้นสุดที่แยกสวนสน

ทั้งนี้ โครงข่ายระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบขนส่งทางราง เนื่องจาก มีการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าถึง 7 เส้นทา งซึ่งทำให้ภาพรวมของระบบขนส่งทางรางจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 3.36% ได้แก่ สายสีม่วงและสายสีชมพูที่แยกแคราย สายสีแดงที่แยกบางเขน สายสีเขียวที่แยกเกษตร สายสีเทาที่แยกทางต่างระดับศรีรัช และ สายสีส้มและสีเหลืองที่แยกลำสาลี

ส่วน ระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอนทดแทน N1 ตอน N2 และ E-W Corridor ระยะทางประมาณ 17.2 กม. วงเงินลงทุน 23,266 ล้านบาท มอบหมายให้ กทพ. คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี2564 เปิดให้บริการ ปี 2567

แนวเส้นทาง เริ่มต้นจากถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออกมาตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจผ่านแยกนวมินทร์ แยกนวลจันทร์ แยกทางด่วนศรีรัช แยกสุคนธสวัสดิ์ แยกเสนานิคม แยกลาดปลาเค้า แล้วเลี้ยวขึ้นเหนือเลียบคลองบางบัวไปตามแนวถนนผลาสินธุ์ จนถึงคลองบางเขนจึงเลี้ยวไปตามแนวคลองบางเขนจนถึงถนนวิภาวดี-รังสิต แล้ววิ่งขนานกับทางยกระดับอุตราภิมุข ผ่านแยกบางเขน ไปเชื่อมต่อกับโครงการเชื่อมต่อทางยกระดับระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุขกับทางพิเศษศรีรัช-วงแหวน รอบนอกฝั่งตะวันตกบริเวณทางต่างระดับรัชวิภา

//---------------------------

รถไฟฟ้า “สีน้ำตาล” มาแล้วนะเธอ ไฟเขียวแผนรุมสร้างเฟส 2 กระหึ่ม
โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์
ศุกร์ที่ 4 มกราคม 2562 เวลา 09:05 น.

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเห็นชอบผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ระยะทาง 22 กิโลเมตร (กม.) มูลค่าโครงการ 48,386 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าเวนคืน 7,254 ล้านบาท และค่าก่อสร้าง 34,675 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษา 1,255 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆอีก 5,202 ล้านบาท พร้อมทั้งมอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นเจ้าของโครงการ และให้ สนข. บรรจุแผนการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งจะทำให้มีรถไฟฟ้าครบ 10 สาย ตามแผนแม่บทภายในปี 2567

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังมอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และกรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการโครงการโครงข่ายระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอนทดแทน N1, ตอน N2 และ E-W Corridor โดยให้ก่อสร้างทางพิเศษควบคู่ไปกับการสร้างฐานรากหรือตอม่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ส่วนรูปแบบจะมีช่วงที่มีทั้งโครงการรถไฟฟ้าและทางพิเศษ โดยใช้พื้นที่เกาะกลางร่วมกันในช่วงที่อยู่บนถนนประเสริฐมนูกิจ มีระยะทาง 5.7 กม. โดยทางพิเศษจะใช้เสาตอม่อเดิมที่สร้างไว้ตั้งแต่ปี 40 และรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะสร้างโครงสร้างใหม่ระหว่างเสาตอม่อของทางพิเศษ

“ผลการศึกษาฯ พบว่า เหมาะสมที่จะพัฒนาทั้งระบบทางด่วน และระบบขนส่งมวลชนบนแนวสายทางเดียวกัน เนื่องจากปัจจุบันขาดโครงข่ายทางที่จะรองรับการเดินทางในด้านทิศตะวันตกกับด้านทิศตะวันออก ประกอบกับโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งทางราง เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลมีการเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนทางรางถึง 7 เส้นทางด้วยกัน โดยจะต่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีชมพู ที่แยกแคราย รถไฟฟ้าสายสีแดงที่แยกบางเขน รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่แยกเกษตร รถไฟฟ้าสายสีเทาที่แยกทางต่างระดับศรีรัช และรถไฟฟ้าสายสีส้มและสีเหลืองที่แยกลำสาลี

นอกจากนี้ ที่ประชุม คจร.ได้รับทราบผลการศึกษาการจัดทำทิศทางและนโยบายการพัฒนาแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 ด้วย”.


Last edited by Wisarut on 07/01/2019 12:29 pm; edited 1 time in total
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 07/01/2019 12:25 pm    Post subject: Reply with quote

อัปเดตรถไฟฟ้า "มหานครระบบราง" พลิกโฉมหน้าการจราจรกรุงเทพฯ
ทีมเศรษฐกิจ
โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์
จันทร์ที่ 7 มกราคม 2562 เวลา 05:01 น.

ถึงวันนี้ชาวกรุงเทพฯเมืองฟ้าอมรยังคงต้องกล้ำกลืนฝืนทนอยู่กับปัญหารถติด ที่ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายเส้นทาง ที่ไม่ว่าจะเดินทางไปไหนก็ไม่พ้นถูกปิดถนน ชนทางเบี่ยง เลี่ยงอย่างไรก็ไม่พ้น

แต่ความอดทนก็กำลังผลิดอกออกผล เมื่อการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายเส้นทางในปีนี้คืบคลานใกล้ความจริงขึ้นมาทุกขณะ การเดินทางด้วยระบบรางเชื่อมต่อเป็นใยแมงมุม จากใจกลางกรุงเทพมหานครสู่ปริมณฑล เริ่มเห็นภาพที่ชัดเจน สวยงามยิ่งขึ้น

เปิดศักราชใหม่ในสัปดาห์นี้ “ทีมข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” จึงขออาสาพาสำรวจเส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้าทั่วกรุงเทพมหานคร สายไหนผ่านหน้าบ้านใคร ก่อสร้างไปถึงไหน ใกล้เปิดบริการหรือยัง และสายไหนยังคงเป็นแค่แผนในกระดาษ เชิญติดตาม ณ บัดนี้

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง–บางแค และบางซื่อ–ท่าพระ

เริ่มต้นจากสายสีน้ำเงินซึ่งถือเป็นไฮไลต์ และคนไทยไม่น้อยกำลังรอคอยอยากสัมผัสกันไวๆ มีจุดเด่นอยู่ที่ 4 สถานี ได้แก่ วัดมังกร สามยอด สนามไชย และอิสรภาพ ที่ตกแต่งอย่างวิจิตรตระการตา จนคาดว่าจะกลายเป็นแลนด์มาร์ก
จุดเช็กอินสำคัญในกรุงเทพฯทันทีที่เปิดให้บริการ แถมยังใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย เจาะอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสายแรกของเมืองไทยอีกด้วย

รถไฟฟ้าเส้นทางนี้เป็น Heavy Rail หรือรางแบบคู่เหมือนรถไฟฟ้าบีทีเอส ประกอบด้วยทางยกระดับและใต้ดิน โดยช่วงหัวลำโพง-บางแค ระยะทาง 14 กม. 11 สถานี แบ่งเป็นทางยกระดับ 7 สถานี และสถานีใต้ดิน 4 สถานี ส่วนช่วงบางซื่อ-ท่าพระ เป็นทางลอยฟ้า 13 กม. ทั้ง 10 สถานี และในเส้นทางยังมีอาคารจอดรถ 1 แห่งที่สถานีหลักสอง รวมถึงศูนย์ซ่อมบำรุงที่สถานีเพชรเกษม 48

สำหรับจุดเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่น ช่วงหัวลำโพง-บางแค เชื่อมต่อยาวมาจากสถานีหัวลำโพงของรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินได้เลย ส่วนช่วงเตาปูน-ท่าพระ จะเชื่อมต่อจากสถานีเตาปูนของรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง อีกทั้งยังมี สถานีท่าพระเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายระบบ หรือสถานี Interchange อีกด้วย

ความคืบหน้าปัจจุบันถือว่าใกล้ความจริงทุกขณะ เพราะก่อสร้างงานทั้ง 5 สัญญาเสร็จแล้ว 100% เหลือเพียงแค่งานติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและการเดินรถ โดยจะเปิดใช้ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง ได้ก่อนเดือนสิงหาคม 2562 เร็วกว่ากำหนด 1 เดือน ส่วนช่วงเตาปูน-ท่าพระ จะเปิดต่อจากนั้นในเดือนมีนาคม 2563

รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง–สมุทรปราการ

ต่อมาเป็นรถไฟฟ้าสายสีเขียว ลักษณะเป็นรถไฟฟ้า Heavy Rail ยกระดับตลอดสาย ระยะทาง 13 กม. มี 9 สถานีรถไฟฟ้า ลานจอดรถ และศูนย์ซ่อมบำรุงบริเวณสถานีเคหะฯ โดยโครงการนี้มีจุดเริ่มต้นเชื่อมจากสถานีแบริ่งของรถไฟฟ้าสายสีเขียวเดิม และระหว่างทางยังเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่สถานีสำโรงได้อีกด้วย โดยปัจจุบันสามารถเปิดให้บริการตลอดสาย ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา

รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต–สะพานใหม่–คูคต

ต่อมาเป็นสายสีเขียวเหมือนกันแต่เป็นคนละช่วง คือช่วงกรุงเทพฯตอนเหนือ ลักษณะยังเป็นรถไฟฟ้า Heavy Rail แบบทางยกระดับตลอดสาย 19 กม. มีทั้งสิ้น 16 สถานี อาคารจอดรถ 2 แห่งที่สถานีแยก คปอ. และสถานีคูคต รวมถึงมีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่งที่สถานีคูคต

จุดเริ่มต้นโครงการมาจากสถานีห้าแยกลาดพร้าว เชื่อมจากรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีพหลโยธิน ระหว่างเส้นทางยังเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินได้ด้วย รวมถึงเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรีที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ บริเวณสถานีกรมทหารราบที่ 11 ยังอยู่ใกล้อู่รถโดยสารประจำทาง ขสมก. เขตการเดินรถที่ 1 บางเขน ปัจจุบันงานก่อสร้างโยธาเดินหน้าไปแล้ว 85.82% คาดว่าเปิดให้บริการก่อนในเดือนสิงหาคม 2562 เฉพาะสถานีลาดพร้าว และเปิดให้บริการทั้งเส้นทางภายในปี 2563

รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ–มีนบุรี

ลักษณะโครงการเป็นรถไฟฟ้า Heavy Rail มีทั้งทางยกระดับและใต้ดิน ระยะทาง 21.2 กม. 17 สถานี แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานีลอยฟ้าอีก 7 สถานี นอกจากนี้ยังมีอาคารจอดรถ 1 แห่ง ที่สถานีคลองบ้านม้า และศูนย์ซ่อมบำรุงอีก 1 แห่ง บริเวณพื้นที่ของ รฟม.

จุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อจากรถไฟฟ้ามหานคร (รถไฟฟ้าใต้ดิน) สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ขณะเดียวกันบริเวณสถานีมีนบุรียังเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วง
แคราย-มีนบุรี รวมถึงสถานีลำสาลี เชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ได้อีกด้วย ปัจจุบันงานโยธาคืบหน้าไปแล้ว 22.77% และจะเปิดให้บริการทั้งหมดได้ภายในปี 2566

รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย–มีนบุรี

สายสีชมพูเป็นรถไฟฟ้าไซส์เล็กแต่ยาว แบบ Monorail ยกระดับตลอดสาย ระยะทาง 34.5 กม. มี 30 สถานี อาคารจอดรถ และศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่งบริเวณสถานีมีนบุรี จุดเริ่มต้นของโครงการต่อมาจากรถไฟฟ้ามหานครสาย
ฉลองรัชธรรม หรือรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ขณะเดียวกันบริเวณสถานีหลักสี่ยังเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง, สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-คูคต, สถานีวัชรพลยังเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเทาที่จะเกิดในอนาคต และท้ายสุดที่สถานีมีนบุรี เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี โดยปัจจุบันก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 11.89% อดใจรออีก 3 ปี เพราะน่าจะเปิดให้บริการในปี 2564

รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว–สำโรง

สายสีเหลืองเป็นรถไฟฟ้า Monorail เช่นเดียวกับสายสีชมพู เป็นทางยกระดับตลอดสาย ระยะทาง 30.4 กม. จำนวน 23 สถานี อาคารจอดรถ 1 แห่งที่สถานีศรีเอี่ยม และศูนย์ซ่อมบำรุงอีก 1 แห่ง บริเวณจุดตัดของถนนศรีนครินทร์และถนนบางนา-ตราด

สำหรับจุดเริ่มต้นโครงการ ทำต่อจากรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ที่สถานีรัชดาภิเษก ระหว่างทางยังมีจุดเชื่อมต่อบริเวณสถานีลาดพร้าว 71 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเทา สถานีลำสาลีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์, สถานีพัฒนาการเชื่อมต่อกับสถานีหัวหมากของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ และสถานีสำโรงเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง โดยปัจจุบันมีความก้าวหน้ารวม 14.56% โดยคนลาดพร้าวยังต้องทนรถติดอีกสักพัก เพราะมีแผนเปิดให้บริการในปี 2564

รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน–ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก)

มาที่สายสีม่วง ลักษณะเป็นรถไฟฟ้า Heavy Rail มีทั้งทางใต้ดินและทางยกระดับลอยฟ้า ระยะทาง 23.6 กม. แบ่งเป็นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 10 สถานี และสถานีรถไฟฟ้ายกระดับ 7 สถานี นอกจากนี้ยังมีอาคารจอดรถ 2 แห่ง บริเวณสถานีบางปะกอกและสถานีราษฎร์บูรณะ โดยจุดเริ่มต้นโครงการต่อขยายมาจากสถานีเตาปูนของรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม หรือ MRT สายสีม่วง แต่ปัจจุบันโครงการยังเป็นวุ้นอยู่ เพราะกำลังอยู่ระหว่างจัดเตรียมการประกวดราคา ยังไม่เริ่มก่อสร้าง กว่าจะได้ใช้จริงก็ต้องรอยาวไปประมาณปี 2568

รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์–ศูนย์วัฒนธรรมฯ

เช่นเดียวกับสายสีส้มที่ตอนนี้ก็ยังเป็นวุ้นอยู่ ลักษณะเป็นรถไฟฟ้า Heavy Rail ใต้ดินตลอดสาย ยาว 13.4 กม. มี 11 สถานีรถไฟฟ้า จุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และยังเชื่อมต่อรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ร.พ.ศิริราช ที่สถานีบางขุนนนท์ รวมถึงสถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล หรือ MRT สายสีน้ำเงินได้ด้วย ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอขออนุมัติโครงการ คาดเปิดให้บริการได้ปี 2568

รถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ–รังสิต

ปิดท้ายที่สายสีแดง ซึ่งจริงๆแล้วเป็นรถไฟฟ้าเต็มตัว แต่ด้วยการที่มีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นเจ้าภาพ จึงต้องตั้งชื่อว่ารถไฟชานเมืองแทน มีระยะทางทั้งหมด 26.3 กม. 10 สถานี เป็นทางยกระดับจากบางซื่อไปยังดอนเมือง 19.2 กม. และลดลงอยู่ระดับพื้นดินจากดอนเมืองถึงรังสิตอีก 7.1 กม. จุดเด่นของโครงการนี้ มีการสร้างพร้อมกับสถานีกลางบางซื่อและเชื่อมต่อการเดินทางได้หลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นรถโดยสารที่ผ่านสนามบินดอนเมือง อีกทั้งยังเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าได้หลายสาย บริเวณสถานีกลาง ไม่ว่าจะเป็นสายสีน้ำเงิน สีม่วง สายสีชมพูบริเวณสถานีหลักสี่อีกด้วย

สำหรับปัจจุบัน งานก่อสร้าง ณ สถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุงคืบหน้าไปแล้ว 77.37% ขณะที่งานก่อสร้างทางรถไฟฟ้าเสร็จเกือบสมบูรณ์แล้ว 99.44% งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลเสร็จแล้ว 38.24% คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ปี 2563 แน่นอน.
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 08/01/2019 12:47 pm    Post subject: Reply with quote

4 บิ๊กรับเหมา ตุนงานเมกะโปรเจ็กต์ ประมูลส่งท้าย “รัฐบาล คสช.”
พร็อพเพอร์ตี้
วันอังคารที่ 8 มกราคม 2562 เวลา 11:38 น.


ปี 2562 นอกจากจะเป็นปีที่ประเทศไทยจะมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งนั่งบริหารประเทศ ว่ากันว่าจะเป็นปีทองของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง หลังเมกะโปรเจ็กต์ที่ตกค้างมาแรมปี กำลังถูกจัดแถว

กดปุ่มพรึ่บทะลุ 1 ล้านล้าน

ขณะที่ 4 ยักษ์รับเหมาแถวหน้าของประเทศ ต่างมองว่าจะเป็นอีกปีที่ดีของวงการ หากรัฐบาลสามารถผลักดันโครงการได้จริง ITD-CK รับอานิสงส์ไฮสปีด ด้านนักวิเคราะห์ต่างเชื่อมั่นว่าจะทำให้แบ็กล็อกหรืองานในมือของบริษัทรับเหมามหาชนโดยเฉพาะรายใหญ่เพิ่มขึ้น

โดยประเมินว่า “บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์” พี่ใหญ่ของวงการ ถึงปี 2561 จะมีข่าวไม่ค่อยดีเกี่ยวกับ เปรมชัย กรรณสูต นายใหญ่ของบริษัท แต่ก็ยังตุนงานในมือทั้งขนาดเล็กไปถึงขนาดใหญ่ เช่น มอเตอร์เวย์ รถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-คูคต) สีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) สุวรรณภูมิเฟส 2 โครงการวัน แบงค็อก

ล่าสุดร่วมกับกลุ่ม ซี.พี. คว้างานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท อภิโปรเจ็กต์รัฐบาล คสช. ทำให้อิตาเลียนไทยฯมีแบ็กล็อกเพิ่มขึ้น จาก 190,000 ล้านบาท เป็น 220,000 ล้านบาท สามารถรับรู้รายได้อีกกว่า 4 ปี เฉลี่ยปีละ 4-5 หมื่นล้านบาท จากผลประกอบการไตรมาส 3 ของปี 2561 มีรายได้รวมอยู่ที่ 44,739 ล้านบาท ยังไม่นับรวมงานใหม่ที่กำลังรอคิวประมูลอีกหลายโครงการ ทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าสารพัดสี ที่อิตาเลียนไทยฯตั้งเป้าจะเข้ามาเติมเต็มงานในอีก 20-25%

ด้านเบอร์ 2 ของวงการ “บมจ.ช.การช่าง” ของ ปลิว ตรีวิศวเวทย์ ก็ได้งานใหญ่ส่งท้ายปีไปครอง หลังตัดสินใจร่วมทุน 15% กับกลุ่ม ซี.พี.ลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หวังสร้างโปรเจ็กต์แลนด์มาร์ก


นอกจากรถไฟฟ้าใต้ดินและลอยฟ้าสารพัดสีที่บันทึกไว้ในบัญชี นักวิเคราะห์ประเมินงานในมือของ ช.การช่าง จะแตะที่ 115,000 ล้านบาท สามารถรับรู้ได้อีก 4 ปี เฉลี่ยปีละ 3-4 หมื่นล้านบาท ขณะที่งานใหม่ในปีนี้คาดว่าจะมีส่วนแบ่งจากงานที่ออกประมูลไม่น้อยกว่า 20-25%

ซิโนไทยฯงานล้น 1.2 แสนล้าน

ฝั่งบิ๊กทรีของวงการ “บมจ.ซิโนไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น” ถึงจะไม่ได้งานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และต้องควักเนื้อร่วม 3,000 ล้านบาท กัดฟันสร้างอาคารรัฐสภา

เกียกกายให้เสร็จในปี 2562 นี้ ยังมีงานล้นหน้าตัก ทั้งรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลืองที่นอกจากจะลงแรงยังร่วมลงขันกับ บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี รวมถึงสายสีเขียว รถไฟทางคู่ และสายสีส้มที่ผนึกกับ ช.การช่างคว้างานก่อสร้าง 3 สัญญา วงเงิน 46,971 ล้านบาท

นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทยฯ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ถึงสิ้นปี 2561 บริษัทมีงานในมือประมาณ 110,000-120,000 ล้านบาท เท่ากับปี 2560 จะสามารถรับรู้ไปได้อีก 3-4 ปีข้างหน้า โดยปี 2561 ที่ผ่านมา คาดว่ามีรายได้รวมอยู่ที่ประมาณ 28,000 ล้านบาท

หวังเมกะโปรเจ็กต์ปลุกลงทุน

“สถานการณ์ปี”62 เป็นปีที่ค่อนข้างจะคาดเดาได้ลำบาก เนื่องจากการเลือกตั้ง และรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นจะเป็นตัวแปรสำคัญของการลงทุนภาคเอกชน”

นายภาคภูมิกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ด้วยโมเมนตัมของการลงทุนภาครัฐที่ยังคงใช้นโยบายในการลงทุนโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคอย่างต่อเนื่อง น่าจะยังทำให้ปี 2562 ยังเป็นปีที่ดีสำหรับธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอยู่ ส่วนทางภาคเอกชน ก็เริ่มเห็นแนวโน้มการลงทุนในโครงการใหญ่ ๆ มากขึ้น และคงมีความต่อเนื่องไปในปี 2562 เช่นกัน

ยูนิคฯโดดชิงเค้กสนามใหญ่

มาดูพอร์ตของ “บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น” ที่ไต่ระดับจากรับเหมางานถนนมาถึงรถไฟฟ้าสารพัดสีจนขึ้นแท่นบิ๊กโฟร์ของวงการ จากการที่ได้งานใหญ่หลายโปรเจ็กต์ ที่ผ่านมาได้ลงทุนสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนคอนกรีตเองที่สระบุรี 2,000 ไร่ โรงประกอบเหล็กที่กบินทร์บุรี 120 ไร่ และศูนย์เครื่องจักร 200 ไร่ที่นวลฉวี และลงทุนซื้อหัวรถจักรเพื่อใช้ขนส่งเซ็กเมนต์ทางรถไฟจากสระบุรีมาที่บางซื่อ

ข้อมูลล่าสุดจากบอสใหญ่ “ประสงค์ สุวิวัฒน์ธนชัย” ระบุว่า ปี 2561 บริษัทมีรายได้ 12,000-13,000 ล้านบาท กำไร 6-7% มีงานในมือประมาณ 30,000 ล้านบาท เช่น งานสถานีกลางบางซื่อ สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย สายสีเขียว สายสีส้ม อุโมงค์ส่งน้ำแม่งัด-แม่กวง สามารถรับรู้รายได้อีก 2 ปี

“ปลายปีที่ผ่านมา ได้สร้างถนนต่อเชื่อมราชพฤกษ์-วงแหวนกาญจนาภิเษกแนวเหนือ-ใต้เสร็จแล้ว ปี”62 สถานีกลางบางซื่อจะเสร็จ ซึ่งเป็นงานของรถไฟที่ใหญ่ที่สุด ยังมีสายสีน้ำเงินช่วงเตาปูน-ท่าพระจะเสร็จ จะโยกคนมาที่ไซต์รถไฟทางคู่ลพบุรี-ปากน้ำโพ สีเขียว สีส้ม”

สำหรับงานใหม่ในปี 2562 นายประสงค์กล่าวว่า สนใจจะเข้าร่วมประมูลงานขนาดใหญ่หลายโครงการ เช่น สายสีม่วงใต้ สีส้มตะวันตก ทางคู่เฟส 2 ทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก ระบบเก็บเงินมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราชและบางใหญ่-กาญจนบุรี ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ท่าเรือมาบตาพุด สนามบินอู่ตะเภา มีทั้งยื่นประมูลเองและร่วมกับพันธมิตรไทยและต่างชาติ ทั้งจีน ญี่ปุ่น ยุโรป โดยตั้งเป้าจะได้งาน 25%

งานนี้ต้องลุ้นใครจะได้งานใหญ่ส่งท้ายรัฐบาล คสช.ไปตุนไว้ในมือมากที่สุด
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคต All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 189, 190, 191 ... 277, 278, 279  Next
Page 190 of 279

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©