RailServe.Com

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai Gallery in Facebook

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311238
ทั่วไป:13181692
ทั้งหมด:13492930
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าวรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน)
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ข่าวรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน)
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 309, 310, 311 ... 542, 543, 544  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42630
Location: NECTEC

PostPosted: 22/02/2019 9:53 am    Post subject: Reply with quote

'ซีพี' ยังกอดไฮสปีดเทรนไว้ได้! ชี้กรรมการลากยาวทุกฝ่ายWIN-WIN
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เผยแพร่: 22 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 08:13

ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน กลุ่มซีพียังมีโอกาสคว้างาน แม้จะมีเงื่อนไขเพิ่มเติม วงในระบุ เป็นช่วงรอยต่อทางการเมืองต้องลากยาวไปถึงรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ทุกฝ่ายWIN-WIN หากรีบร้อนมีโอกาสถูกเชือดเหมือน 'แอร์พอร์ตลิงก์' ที่อดีตผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.และข้าราชการหลายคนถูก ป.ป.ช.เชือด ทั้งที่คณะกรรมการฯ เชื่อปิดทุกจุดและรักษาผลประโยชน์ให้รัฐไว้ได้ แต่ ป.ป.ช.ยังงัดมาเล่นงานได้ ขณะที่ข้อมูลชี้ชัดผู้ลงทุนมีความเสี่ยงสูง หากแผนพัฒนาในEEC ไม่เกิด จะทำให้ไฮสปีดเทรนเจ๊งแน่ๆ จับตา 22ก.พ.นี้ คณะกรรมการฯ จะเดินหน้าอย่างไร!

ดูเหมือนว่าการเจรจาต่อรองเงื่อนไขร่างสัญญาโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระหว่างกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร กับคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินที่มี นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ร.ฟ.ท. เป็นประธานฯ จนถึงวันนี้ยังไม่สามารถเจรจาหาข้อยุติได้

แต่ใช่ว่ากลุ่มซีพี จะสิ้นโอกาส !

หรือจะทำให้โครงการไฮสปีดเทรนต้องตกไปอยู่ในมือของกลุ่ม กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ได้ง่ายๆ

โดยเฉพาะกระแสข่าวที่ปรากฏออกมาจะเห็นถึงความพยายามของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายใต้การดูแลของ รองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กระทรวงคมนาคม, คณะกรรมการคัดเลือกฯ ล้วนต้องการผลักดันให้โครงการนี้สำเร็จ ไม่ว่าเอกชนรายใดจะเป็นผู้คว้างานไปก็ตาม เพื่อให้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC บรรลุเป้าหมาย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

แต่การที่โครงการนี้ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 224,000 ล้านบาท และซีพี ซึ่งเป็นผู้ชนะตามเงื่อนไขในการเสนอตัวเลขให้รัฐลงทุนน้อยที่สุด ได้มีการเสนอเงื่อนไขเพิ่มเติมในซองที่ 4 อีกหลายประเด็น ทั้งในเรื่องของส่วนต่อขยายไปถึงจังหวัดระยอง การขอสิทธิขยายเส้นทางเชื่อมการขนส่งเพื่อให้ประชาชนมาใช้บริการ, การขอขยายสัมปทานการเดินรถและการใช้ที่ดิน จาก 50 ปีเป็น 99 ปี, มีการขอเปลี่ยนให้รัฐจ่ายเงินสนับสนุนจากเดิมชำระเมื่อสร้างเสร็จในปีที่ 6-10 เป็นจากตั้งแต่ปีแรกถึงปีที่ 6


อย่างไรก็ดี ประเด็นที่เสนอมานั้นได้สร้างความหนักใจที่สุดให้คณะกรรมการฯ ก็คือข้อเสนอทางด้านการเงินที่ต้องการให้รัฐค้ำประกันผลตอบแทนโครงการ 6.75 % และให้รัฐสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 4% เป็นต้น จึงทำให้การเจรจาแต่ละครั้งไม่สามารถหาข้อสรุปถึงขั้นเรียกมาเซ็นสัญญาได้ ซึ่งในที่สุด นางพฤฒิพร เนติโพธิ์ อธิบดีอัยการ ในฐานะประธานอนุกรรมการร่างสัญญาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการนี้ฯ จะได้นำผลการเจรจาสรุปรายละเอียดเพื่อนำเสนอคณะกรรมการคัดเลือกฯ ชุดที่มีนายวรวุฒิ มาลา พิจารณาในวันศุกร์ที่ 22ก.พ.นี้ต่อไป

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม บอกว่า โครงการนี้ต้องใช้เวลาในการเจรจาเพราะมีรายละเอียดต่างๆ ต้องพิจารณาอีกมาก และต้องเป็นไปตามกรอบ RFP (Request for Proposal) ซึ่งกำหนดไว้อยู่ที่ 6 เดือนนับตั้งแต่รู้ว่ากลุ่มใดเสนอราคาต่ำที่สุด ซึ่งเวลาเพิ่งผ่านมาเพียงเดือนเศษ จึงไม่ถือว่าล่าช้า และยิ่งเป็นการพิจารณาในช่วงที่เป็นรอยต่อทางการเมือง หรือกำลังจะเปลี่ยนรัฐบาลหลังการเลือกตั้งยิ่งต้องมีความระมัดระวัง จะรีบเร่งไม่ได้ เพราะหากเร่งรีบและเกิดความผิดพลาดขึ้นมาผู้ที่จะต้องรับผิดชอบก็คือคณะกรรมการคัดเลือกฯ และข้าราชการ เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นกับ ร.ฟ.ท.มาแล้ว ในการประมูลโครงการก่อสร้างแอร์พอร์ตลิงก์ ในสมัยรัฐบาลนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรัฐมนตรีคมนาคม

“ไฮสปีดเทรนคล้ายแอร์พอร์ตลิงก์มากที่มีคำสั่งให้เซ็นสัญญาภายใน 2-3 เดือน ทุกอย่างรวบรัดไปหมด กรรมการก็เชื่อว่าทำกันอย่างรัดกุมแล้ว แต่เมื่อเข้าสู่ ป.ป.ช. เขามีวิธีการคำนวณเรื่องของCase flow ที่ต่างกับเรา ผลปรากฏสิ่งที่กรรมการคิดว่าช่วยให้รัฐประหยัดเงินไป 4 ล้านบาทจากที่เอกชนคู่สัญญายอมจ่ายให้ กลับเป็นการทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ในเงินก้อนโตกว่าถึง 200-300 ล้านบาท"

โดยที่ประชุม ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดกรณีทุจริตโครงการก่อสร้างระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (โครงการแอร์พอร์ตลิงก์) มูลค่า 25,000 ล้านบาท ทั้งความผิดวินัยร้ายแรงและความผิดทางอาญา นายจิตต์สันติ ธนะโสภณ อดีตผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. นายไกรวิชญ์ หรือสุรางค์ ศรีมีทรัพย์ อดีตหัวหน้าสำนักงานกองกฎหมาย ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เนื่องจากไต่สวนพบว่า นายจิตต์สันติ มีการแก้ไขสัญญาในเอกสารประกวดราคาระหว่าง ร.ฟ.ท.กับบริษัทเอกชน เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน จึงทำให้ ร.ฟ.ท.ได้รับความเสียหาย

“2 คนนั้นถูกให้ออกจากราชการ และยังมีข้าราชการอีกประมาณ10 กว่าคนก็ถูกลงโทษทางวินัยแต่ไม่ร้ายแรง รวมทั้ง นายยุทธนา ทัพเจริญ รองผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.ที่ทำหน้าที่ประธานพิจารณาคัดเลือกโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ ก็โดนด้วย”

แหล่งข่าวบอกว่า กรณีของแอร์พอร์ตลิงก์เป็นประสบการณ์ให้กับคนของการรถไฟฯ และไม่กล้าที่จะตัดสินใจแบบรวบรัด เพราะไม่รู้ว่ารัฐบาลใหม่จะเป็นใคร หากเป็นพรรคพลังประชารัฐเข้ามาดูแลก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ถ้าเป็นพรรคเพื่อไทย ภูมิใจไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์ เข้ามาก็คงต้องมีการเรียกโครงการนี้ไปดู และอาจมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ ซึ่งถ้าคณะกรรมการฯ มีการเสนอเซ็นสัญญากับซีพีไปก่อน ก็ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมา

เพราะในอดีต รัฐบาลใหม่เข้ามาก็มักจะดึงโครงการต่างๆ ไปดู และก็พยายามหาจุดผิดพลาดเพื่อจะมีการแก้ไขหรือล้มโครงการได้ และสิ่งที่จะทำได้ง่ายที่สุดก็คือการตั้งคณะกรรมการสอบข้าราชการที่เกี่ยวข้องไว้ก่อน

“ต้องไม่ลืมว่ากรณีแอร์พอร์ตลิงก์ นายสุริยะ ก็รอด ป.ป.ช.ก็สอบไปไม่ถึง และถ้ารัฐบาลใหม่เป็นนายสมคิด และนายอาคม (รมว.คมนาคม) มาดูอีกครั้ง เราก็สามารถบอกเหตุผลได้ ก็อยากให้เข้าใจข้าราชการด้วย เพราะกฎหมายทุจริต การทำให้รัฐเสียหาย มีโทษรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต แม้จะเป็นโครงการแบบ PPP ถ้ามีคนร้อง ป.ป.ช ก็สอบได้เช่นกัน”


นอกจากนี้ประเด็นที่ซีพีเสนอเพิ่มเติมนั้น ก็มีข้อที่ตีความแตกต่างกัน เช่นในเรื่องของการขอขยายสัมปทานจาก 50 ปี เป็น 99 ปีนั้น เมื่อเรียกซีพีเข้ามาเจรจาก็ทำให้เข้าใจว่าไม่ได้เป็นการขอขยายเพียงแต่ว่าเมื่อครบอายุสัญญา 50 ปี ก็ขอให้ทาง ร.ฟ.ท.พิจารณากลุ่มซีพี เป็นรายแรก ซึ่งประเด็นนี้ก็เหมือนกับการต่อสัญญาของเซ็นทรัล ลาดพร้าว

อีกทั้งสิ่งที่ซีพีแสดงความกังวลต่อการลงทุนโครงการนี้ก็คือ การคาดการณ์ผู้ที่จะมาใช้บริการไฮสปีดเทรน ซึ่งเป็นตัวเลขผู้โดยสารที่เข้ามาลงทุนตามแผนพัฒนา EEC และยังมีโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา โครงการท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 และโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดขั้นที่ 3 เพราะถ้าโครงการเกิดได้จริงก็เป็นโอกาสให้ไฮสปีดเทรนประสบความสำเร็จได้เช่นกัน

“เรื่องนี้เป็นที่เข้าใจว่าเอกชนก็ต้องยอมแบกรับความเสี่ยงก่อน แต่ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น เขาก็ต้องการให้รัฐมีความชัดเจน อยากให้รัฐมองย้อนไปดูยังพื้นที่ EEC ว่ามีการลงทุนจริงหรือไม่ โครงการอื่นจะเกิดได้หรือไม่ และตรงนี้จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ซีพีก็อยากเสนอให้รัฐช่วยค้ำประกันความเสี่ยงที่มีการพูดกัน ว่ารัฐค้ำประกันผลตอบแทนโครงการที่ 6.75% หรือให้รัฐปรับการสนับสนุนจากหลังสร้างเสร็จ เป็นตั้งแต่เริ่มลงมือก่อสร้างหรือไม่”

ดังนั้น ทุกประเด็นที่มีการเสนอต่อคณะกรรมการฯ พิจารณานั้นจึงมีที่มาที่ไป โดยเฉพาะความเสี่ยงทางการเงิน เพราะกว่าที่ไฮสปีดเทรนจะเปิดให้บริการได้ต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จ จากปีที่ 6ถึงปีที่ 10 รัฐถึงจะจ่ายเงินสนับสนุน ส่วนรายได้ที่จะเกิดขึ้นจากค่าโดยสารจะเริ่มจากปีที่ 6 เป็นต้นไป ซึ่งช่วงระยะถึงปีที่ 6-10 จะมีผู้โดยสารจำนวนเพียงพอหรือไม่?

เพราะจากการคาดการณ์จะมีผู้โดยสารเพียงพอต้องลุ้นกันไปถึงปีที่ 10ซึ่งก็คือปีที่ 15 นั่นเอง!

“แต่หากทุกอย่างเป็นตามเป้าคือโครงการรัฐเกิดทั้งหมด ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 30 ปีถึงจะหมดภาระการขาดทุน แต่ถ้าโครงการรัฐไม่เกิดก็แปลว่าเจ๊ง ซึ่งซีพีและพันธมิตรเขาคิดว่าโอกาสเสี่ยงสูงมากสำหรับโครงการนี้ จึงเสนอให้รัฐร่วมพิจารณาความเสี่ยงไปด้วยกันตามรูปแบบ PPP”


แหล่งข่าวบอกว่า เงื่อนไขที่ซีพีเสนอมานั้นมีบางข้อเห็นชัดว่า มีความเป็นไปได้เพียงแค่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม แต่ทุกอย่างต้องไม่ขัดข้อเสนอการร่วมลงทุนใน RFP ที่กำหนดไว้ในทีโออาร์ และก็ใช้วิธีการเจรจาลากยาวไปถึงรัฐบาลใหม่ ซึ่งกลุ่มซีพีก็ยังมีโอกาสที่จะได้โครงการนี้อยู่ และกลุ่มบีทีเอส ก็ยังไม่สิ้นหวัง หากการเจรจาระหว่างคณะกรรมการฯ และกลุ่มซีพีไม่สามารถหาข้อยุติได้จนถึงขั้นยุติการเจรจาชัดเจน คณะกรรมการฯ ก็สามารถเรียกกลุ่มบีทีเอสมาเจรจาต่อไปได้เช่นกัน

“ไฮสปีดเทรนต้องเกิด เพราะถ้าไม่เกิดและคิดจะมาทำใหม่หลังจากนี้ไปอีกหลายปี ก็จะทำให้โครงการก่อสร้างต้องใช้งบประมาณลงทุนที่สูงขึ้นมาก ซึ่งหากย้อนไปดูโครงการนี้เคยมีการศึกษาไว้แล้ว”

โดยในปี 2537สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เคยทำการศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูง สาย กทม.-ชายฝั่งทะเลตะวันออก ไปสิ้นสุดที่มาบตาพุด ระยะทาง 191 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 1ชั่วโมง 4 นาที พร้อมเสนอให้รัฐเป็นผู้ลงทุนไฮสปีดเทรน ความเร็ว 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และใช้ขนาดรางมาตรฐานกว้าง 1.435 เมตร ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้

“สภาพัฒน์ ศึกษาทั้งความเร็ว 200 และ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ยังบอกอีกว่าที่เหมาะคือความเร็ว 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็เพียงพอ เป็นระบบไฟฟ้าขึงพาดอยู่เหนือขบวนรถไฟ ก็คือวิธีการรับไฟฟ้าจากด้านบนด้วยแพนโทกราฟ”

ซึ่งในแผนกำหนดแนวทางก่อสร้างไว้ 3 เส้นทาง และระบุผลตอบแทน IRR หากเป็นแนวเส้นทาง A ผลตอบแทนอยู่ที่ 10.4% ถ้าเป็นเส้นทาง Bอยู่ที่ 10.9% แต่ถ้าเป็นเส้นทาง C อยู่ที่ 8.0% เงินลงทุนโครงการอยู่ที่ 29,600ล้านบาท ไม่รวมค่าเวนคืนที่ดิน และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างอีกจำนวน 4,200 ล้านบาท และผลการศึกษาประมาณการไว้ว่าผู้โดยสารแต่ละวันในปี พ.ศ.2563 จะมีจำนวนมากถึง 130,000 คน ซึ่งจะมีรายได้จากค่าโดยสารในปีดังกล่าวถึง 7,000 ล้านบาท

ดังนั้น หากรัฐบาลมีการตัดสินใจลงทุนตั้งแต่ที่สภาพัฒน์ศึกษาไว้ ประเทศไทยจะมีไฮสปีดเทรนจาก กทม.ถึงมาบตาพุดไว้รองรับทั้งด้านการลงทุน การท่องเที่ยว และการเดินทางของประชาชนได้อย่างสะดวกสบาย

จากนี้ไปต้องดูว่าคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ที่มี นายวรวุฒิ มาลา เป็นประธาน จะดำเนินการอย่างไรต่อไป และโครงการนี้ซีพีหรือบีทีเอสจะเป็นผู้คว้างานนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม!


'วรวุฒิ มาลา' เปิดใจ
ทำอะไรนอกกรอบก็เสี่ยงเอาเอง!

นายวรวุฒิ มาลา ประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน บอกว่า การเจรจาโครงการไฮสปีดเทรนกับกลุ่มซีพี ต้องใช้เวลา เพราะมีเงื่อนไขในสัญญามาก ซึ่งการเจรจาจะจบลงอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับผลสรุปของทั้ง 2 ฝ่าย

โดยผลการเจรจาจะมีทางออกด้วยกัน 2 แบบ คือ ถ้าเจรจาตกลงกันได้ก็จะนำไปสู่การเซ็นสัญญา แต่หากตกลงกันไม่ได้ก็ยกเลิกการเจรจา และเรียกบีทีเอสเข้ามาเจรจาต่อไปได้ทันที

ส่วนที่มองกันว่าประเด็นปัญหาที่เป็นเงื่อนไขที่ยากที่สุดสำหรับการเจรจาก็คือ เงื่อนไขที่ไม่เป็นไปตาม RFP เกี่ยวกับเรื่องการเงิน แต่ถ้าทางซีพียังยืนยันจะต้องได้แบบนี้ ก็จะนำไปสู่จุดที่ทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถไปต่อกันได้

“เราก็จะต้องพูดกันให้ชัดทั้งซีพี และคณะกรรมการว่าเราไปต่อกันไม่ได้แล้ว”

ซึ่งในวันที่ 22 ก.พ. กรรมการชุดเล็ก ที่มีนางพฤฒิพร เนติโพธิ์ อธิบดีอัยการ ในฐานะประธานอนุกรรมการฯ ได้มีการสรุปข้อมูลการเจรจาไว้เรียบร้อยแล้ว จะส่งเข้ามาหารือกับคณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาว่าจะเดินหน้ากันอย่างไรต่อไป

“วันที่ 22 ก.พ.นี้ ถ้าเราเห็นว่ายังพอไปกันได้ จะคุยกันอีกสักรอบหรือไม่”

หรือถ้าเห็นว่าไปต่อกันไม่ได้แล้ว ก็ต้องเชิญทางซีพีมาคุยว่าจะเอาอย่างไรที่จะเป็นไปได้ แต่ก็ยังตกลงไม่สำเร็จอีก คณะกรรมการฯ ก็ต้องบอกกล่าวให้ซีพีได้รู้ไว้ว่าจะมีการเรียกรายที่ 2 ซึ่งหมายถึงบีทีเอสเข้ามาเจรจาต่อไป ก็ถือว่าเป็นการจบกันด้วยดีทั้ง 2 ฝ่าย

โดยในการเรียกบีทีเอสเข้ามาเจรจานั้น เป็นไปตามเงื่อนไขใน TOR ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางซีพีก็รับรู้มาตั้งแต่ต้นแล้ว และถ้าคุยแล้ว บีทีเอส ยอมลดราคาที่เสนอมาแม้เพียง 10% ก็มีสิทธิที่จะชนะโครงการไฮสปีดเทรนได้ทันที

ส่วนการจะยึดเงินค่าค้ำประกันซอง จำนวน 2 พันล้านบาทนั้น จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อ ตกลงกันจนสำเร็จแล้ว แต่ถ้าซีพีไม่ยอมมาเซ็นสัญญา คณะกรรมการฯ ก็จะสามารถกระทำได้ แต่ถ้าเจรจาแล้วล้มเหลว ก็จะไม่มีการยึดเงินค้ำประกันซองแน่นอน

นายวรวุฒิ ย้ำด้วยว่า ตลอดเวลาการดำเนินโครงการ และการเจรจา โดยเฉพาะเรื่องของการเงิน คณะกรรมการฯ เข้าใจซีพี และก็เชื่อว่าซีพีเข้าใจคณะกรรมการฯ และผู้ปฏิบัติงาานแน่นอน เพราะสิ่งที่คณะกรรมการฯ ยอมไม่ได้ เฉพาะส่วนไม่ถูกต้องตามTOR ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือมีรัฐบาลใหม่ เข้ามาบริหารงานก็ตาม ก็ยังเป็นหลักการเดียวกัน

“ก็ยอมรับว่าปัญหาแอร์พอร์ตลิงก์ ที่เกิดขึ้นต้องถือเป็นประสบการณ์ ที่ต้องทำงานด้วยความรัดกุมมาก”

ส่วนการที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้โครงการไฮสปีดเทรนต้องเจรจาสรุปให้ได้ภายใน ก.พ.นี้นั้น ถือว่าการทำงานทุกอย่างต้องมีเป้า แต่ถ้าไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จได้และจำเป็นต้องยืดเยื้อ ก็ต้องอธิบายถึงปัญหาต่างๆ ได้ด้วย

“หากเราจำเป็นจะต้องไปต่อ ก็ต้องไปขอผู้ใหญ่อย่างมีเหตุมีผล ว่าจำเป็นต้องยืดเยื้อเพราะอะไร บอกถึงความจำเป็นของการเจรจาต่อรอง ก็ไม่มีใครว่า ซึ่งจะทำให้ทุกฝ่ายปลอดภัย”

พร้อมกับย้ำว่า ในการทำงานต้องมีกรอบในการดำเนินงาน แต่ถ้าใครก็ตามที่ไปเดินนอกกรอบก็ต้องเสี่ยงกันเอาเอง!
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42630
Location: NECTEC

PostPosted: 22/02/2019 11:48 am    Post subject: Reply with quote

เร่งปิดดีลมหากาพย์”รถไฟไทย-จีน” ตั้งแท่นกู้ 25 ปี ดบ.3 % ลุยติดตั้งระบบ 3.8 หมื่นล้าน
พร็อพเพอร์ตี้
วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 08:04 น.

วงถกไทย-จีน วางไทม์ไลน์รถไฟความเร็วสูง กทม.-โคราช เคาะก่อสร้างทุกสัญญา มิ.ย. ออกประกาศทีโออาร์อีก 7 สัญญา ด้าน “อาคม” ลั่นปิดดีลลงนามสัญญางานระบบกว่า 3.8 หมื่นล้าน จีนปล่อยกู้ 25 ปี ดอกเบี้ย 3% ชงศึกษาเฟส 2 โคราช-หนองคาย เสนอ “ครม.บิ๊กตู่” อนุมัตินัดสั่งลา “อยุธยา-สระบุรี” ผุดโครงข่ายเชื่อมสถานี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ผลการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการรถไฟไทย-จีน เมื่อวันที่ 14 ก.พ. มีการหารือถึงความคืบหน้าในประเด็นต่าง ๆ ของการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ซึ่งมีความคืบหน้าในประเด็นต่าง ๆ

เซ็นสัญญา “ซีวิล” 6 มี.ค.นี้

การก่อสร้างช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 179,412 ล้านบาท ระยะทาง 253 กม. สัญญาที่ 1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. เงินลงทุน 425 ล้านบาท ยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง โดยกำชับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เร่งรัดการดำเนินการและปรับปรุงการเบิกจ่ายใหม่แล้ว

ส่วนงานสัญญาที่ 2.1 งานโยธา ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. ราคากลาง 3,350.475 ล้านบาท หลังจากที่ บจ.ซีวิล เอนจิเนียริ่ง เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดที่ 3,115 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าราคากลาง 7% จะมีการลงนามในสัญญาวันที่ 6 มี.ค.นี้

มี.ค.ยื่นซอง 5 สัญญารวด

อีก 5 สัญญา รวมระยะทาง 144 กม. เงินลงทุนรวม 58,425 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บ้านม้า ระยะทาง 30.21 กม. เงินลงทุน 11,386 ล้านบาท 2.ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. เงินลงทุน 11,659 ล้านบาท 3.ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กม. เงินลงทุน 10,917 ล้านบาท

4.ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. เงินลงทุน 13,293 ล้านบาท และ 5.ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.40 กม. เงินลงทุน 11,170 ล้านบาท ที่ ร.ฟ.ท.ออกประกาศทีโออาร์ไปแล้ว คาดว่าเดือน มี.ค.จะเปิดให้ยื่นซองได้ทั้ง 5 สัญญา ในรูปแบบ e-Bidding

เร่งกำหนดราคากลาง 7 สัญญา

อีก 7 สัญญาที่เหลือ ได้แก่ 1.อุโมงค์ช่วงมวกเหล็ก-ลำตะคอง 2.ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง 3.ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา 4. บางซื่อ-ดอนเมือง 5.งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย 6. ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว และช่วงสระบุรี-แก่งคอย จะสามารถทำราคากลางได้เสร็จภายในเดือน ก.พ.นี้ ก่อนที่จะออกประกาศทีโออาร์ในเดือน มี.ค. และจะใช้เวลาพิจารณาคัดเลือกเอกชนจนได้ตัวในเดือน เม.ย. คาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ทั้งหมดในเดือน พ.ค. เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนก่อสร้างในเดือน มิ.ย. ก็จะถือว่างานระยะที่ 1 ของโครงการนี้จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมด

มี.ค.ชง ครม.เซ็นสัญญางานระบบ

ด้านงานสัญญา 2.3 ระบบการวางราง การเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมขบวนรถ เงินลงทุน 38,558.35 ล้านบาท ยังอยู่ในกระบวนการพูดคุยกับประเทศจีน เพราะมีรายละเอียดค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเงื่อนไขด้านความรับผิดชอบของแต่ละฝ่าย จะพยายามพูดคุยให้จบในการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน (JC) ครั้งที่ 27 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 27 ก.พ.-1 มี.ค.นี้

“หากเจรจาสำเร็จแล้ว จะนำประเด็นที่ตกลงกันมาเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบภายในเดือน มี.ค.และตั้งเป้าไว้ว่าจะลงนามในสัญญาได้ภายในเดือนเดียวกัน”

จีนเกี่ยงไม่รับผิดชอบโครงการ เนื่องจากยังมีประเด็นที่ยังเห็นไม่ตรงกันหลายประเด็น ส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอมาจากของจีนเป็นหลัก ส่วนตัวมองว่า ทุกข้อเสนอเหมือนว่าจีนจะไม่รับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น เช่น การประกันผลงาน จีนจะประกันให้เพียง 1 ปี แต่ไทยขอ 2 ปี, การคิดค่าปรับเมื่อฝ่ายจีนทำงานล่าช้า จีนขอให้คิดอัตราค่าปรับที่ร้อยละ 0.0001 แต่ตามกฎหมายไทยให้ไม่ได้ เพราะขั้นต่ำที่กำหนดไว้อยู่ที่ร้อยละ 0.1 ส่วนกรณีที่ไทยทำงานล่าช้า จีนขอให้ไทยชดเชยในรูปแบบค่าปรับ แต่ไทยทำได้สูงสุดแค่ขยายเวลาให้ ไม่สามารถยอมจ่ายค่าปรับได้ เป็นต้น

เปลี่ยนใจรับเงินกู้ดอก 3%

ขณะที่การกู้เงิน หลัง ครม.มีมติเห็นชอบให้สามารถกู้เงินได้จากแหล่งเงินทุนทั้งในและต่างประเทศได้ ภายใต้กรอบวงเงิน 166,342.61 ล้านบาท ที่ประชุมไม่ได้หารือในเรื่องนี้ แต่ได้สอบถามไปยังกระทรวงการคลังแล้ว โดยข้อเสนอที่คุยไว้กับจีน ทางนั้นยังเสนอดอกเบี้ยเงินกู้ที่ 3% ต่อปี ปลอดดอกเบี้ย 5 ปีแรก ระยะเวลาสัญญา 25 ปี

โดยฝั่งไทยสามารถรับภาระดอกเบี้ยได้แล้ว จากเดิมที่เคยยืนยันว่าดอกเบี้ยต้อง 2.6% ต่อปี เพราะมีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ต้องพิจารณากันใหม่ แบ่งเป็นปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะแหล่งเงินที่ไปหามาได้ ซึ่งจีนอ้างว่ามีต้นทุนสูง เพราะเป็นการกู้เงินระหว่างประเทศ บวกกับภาวะตลาดทุนโลกที่ผันผวนด้วย

ส่วนปัจจัยภายใน ก็มาจากการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ปรับขึ้น 0.25% ต่อปีจาก 1.50% เป็นร้อยละ 1.75% ต่อปี เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา สรุปแล้วคือ ไทยรับเงินกู้จากจีนได้ ส่วนจะกู้เป็นสกุลเงินใด ต้องดูเนื้องานก่อน ซึ่งกระทรวงการคลังจะเป็นผู้ตัดสินใจ

นายอาคมกล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินการในเฟสที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทางประมาณ 350 กม. อยู่ระหว่างการของบประมาณเพื่อศึกษาออกแบบจำนวน 779 ล้านบาท เสนอให้สำนักงบประมาณพิจารณา โดยฝ่ายจีนจะเป็นที่ปรึกษาโครงการ คาดว่าจะเสนอ ครม.ทันเฉพาะในส่วนได้ศึกษาความเป็นไปได้ก่อน

อนุมัติอยุธา-สระบุรีเพิ่มโครงข่ายเชื่อม

นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณาผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่เป็นระบบสนับสนุนผู้โดยสารให้กับระบบรถไฟความเร็วสูง โดยเห็นชอบข้อเสนอพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ ขยายถนนงามเขตต์ ทางหลวง 3053 ทางหลวง 309 ทางหลวง 3477 ทางหลวง 356 ให้เป็นถนน 4 ช่องจราจร ก่อสร้างถนนจากถนนโรจนะเชื่อมเข้าไปด้านหลังสถานีรถไฟ ก่อสร้างสะพาน

คนเดินข้ามแม่น้ำป่าสักเชื่อมสถานีรถไฟกับตลาดเจ้าพรหม ก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งใหม่ พัฒนาท่าเทียบเรือให้มีความมั่นคงแข็งแรง และปรับปรุงรถโดยสารในเขตเมืองพร้อมปรับเส้นทางรถโดยสารให้มีความเหมาะสม และเห็นชอบข้อเสนอพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในจังหวัดสระบุรี ได้แก่ ก่อสร้างสะพานข้ามแยกแก่งคอย แยกตาลเดี่ยว และแยกเสาไห้ ก่อสร้างอุโมงค์ข้ามทางรถไฟ ขยายทางหลวง 362 ทางหลวง 3222 ทางหลวง 3034 ทางหลวง 3048 ทางหลวง 3188 ให้เป็นถนน 4 ช่องจราจร ก่อสร้างทางขนานทางหลวง 362 และก่อสร้างถนนเชื่อมศูนย์ราชการกับสถานีรถไฟสระบุรี
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44335
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 22/02/2019 7:19 pm    Post subject: Reply with quote

รฟท.ไม่รับเงื่อนไข 12 ข้อกลุ่มซีพี
เศรษฐกิจ 22 ก.พ. 2019 17:37:59

กรุงเทพฯ 22 ก.พ. - คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนลงทุนรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน มีมติไม่รับเงื่อนไข 12 ข้อของกลุ่มกิจการร่วมค้าซีพี ระบุเป็นเงื่อนไขที่ขัดต่อมติ ครม.และร่างเงื่อนไขประกวดราคา โดยจะส่งหนังสือแจ้งซีพีให้เข้ามาเจรจาขั้นตอนสุดท้าย 5 มีนาคมนี้

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ รฟท. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนเข้าลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา โดยระบุว่าการประชุมวันนี้คณะกรรมการฯ มีมติไม่รับเงื่อนไขการเจรจาที่ฝ่ายกลุ่มกิจการร่วมค้าเจริญโภคภัณฑ์และพันธมิตรเสนอ โดยเฉพาะประเด็น 12 ข้อ จากข้อเสนอทั้งหมดกว่า 100 ข้อ อย่างไรก็ตาม 12 ประเด็นดังกล่าว ถือเป็นหัวใจสำคัญ อาทิ การขยายอายุสัมปทานโครงการจาก 50 เป็น 99 ปี และการให้ภาครัฐรับความเสี่ยงตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ ซึ่งทั้ง 2 ข้อนี้ถือเป็นเงื่อนไขขัดต่อมติ ครม.และร่างเงื่อนไขประกวดราคา ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการฯ มีมติไม่รับเงื่อนไขแล้วจะทำหนังสือแจ้งกลุ่มซีพีทราบทันที

อย่างไรก็ตาม การแจ้งดังกล่าวจะเปิดเงื่อนไขให้กลุ่มซีพีเข้ามารับทราบวันที่ 5 มีนาคมนี้ ซึ่งในวันนั้นกลุ่มซีพีสามารถแจ้งให้คณะกรรมการฯ ทราบว่าจะยกเลิกเงื่อนไขที่เคยเสนอ 12 ข้อหรือไม่ หรือทั้ง 2 ฝ่ายจะเห็นร่วมกันที่จะยุติการเจรจา หากยุติการเจรจาคณะกรรมการฯ จะเชิญผู้เสนอราคาอันดับ 2 เข้ามาเจรจา โดยขณะนี้ยังยืนยันว่ากรอบการดำเนินการเจรจายังอยู่ในกรอบเวลาที่จะเสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้.-สำนักข่าวไทย
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42630
Location: NECTEC

PostPosted: 22/02/2019 7:48 pm    Post subject: Reply with quote

รฟท.ปฏิเสธ 12 ข้อเสนอกลุ่มซีพีขัดมติ ครม.-อาร์เอฟพี (ชมคลิป)
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 - 19:03 น.

22ก.พ.62"ไฮสปีดเทรน" ถึงทางแยก! 5มี.ค.62 เชิญกลุ่ม CP ให้คำตอบจะไปต่อหรือยกเลิก
https://www.thebangkokinsight.com/108127/

รฟท.ปิดประตูซีพี ปัด 12 ข้อเสนอขัดครม. ขีดเส้น 5 มี.ค.ถอนเงื่อนไขเพื่อไปต่อ
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เผยแพร่: วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 - 19:06



กก.คัดเลือกฯปิดประตู”ซีพี” ไม่รับข้อเสนอนอกกรอบ RFP และขัดครม.ทั้ง 12 ข้อ ขีดเส้น 5 มี.ค. ฟังคำตอบ “วรวุฒิ”เชื่อ ซีพี สู้จนนาทีสุดท้าย คาดสรุปมี.ค. เร่งก่อสร้างใน6เดือน

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า วันนี้ (22 ก.พ.) คณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. มูลค่า 224,544.36 ล้านบาท ได้รับทราบรายงานการเจรจาของคณะอนุกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ที่มีนางพฤฒิพร เนติโพธิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นประธาน กับ กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ซี.พี.) และพันธมิตร โดยคณะกรรมการได้พิจารณาแล้ว มีมติไม่รับข้อเสนอ ที่อยู่นอกเหนือจากข้อเสนอการร่วมลงทุน Request for Proposal (RFP)และขัดกับ มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยจะเร่งส่งหนังสือแจ้งไปให้ซีพี รับทราบผลการเจรจาในเบื้องต้นภายในวันนี้

ทั้งนี้ หากซีพี ยังประสงค์จะเจรจาต่อ ให้ ประชุมและเจรจากับคณะกรรมการคัดเลือกฯในวันที่ 5 มี.ค. เวลา 14.00น. โดยจะไม่นำประเด็นที่ปฎิเสธมาพิจารณาอีก

ซึ่งจากข้อเสนอทั้งหมด 108 ข้อ นั้น คณะกรรมการคัดเลือกฯ ปฎิเสธข้อเสนอในกลุ่มยากที่ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการเงิน เช่น ขอขยายอายุสัมปทาน จาก 50 ปี เป็น 99 ปี การขอให้ภาครัฐจ่ายเงินอุดหนุนโครงการตั้งแต่ปีแรก และการรับประกันผลตอบแทนโครงการกรณีต่ำกว่า 6.75% เป็นต้น ซึ่งมีทั้งหมด 12 ข้อ ซึ่งถือเป็นประเด็นหลักและเป็นหัวใจสำคัญ ส่วน ประเด็นที่เหลือ แม้จะมีหลายข้อ แต่ไม่ขัดต่อ RFP และ มติ ครม. ซึ่งหากซีพี ยอมรับมติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะสามารถเร่งเจรจาในส่วนที่เหลือ ได้จบในเดือนมี.ค. เพื่อให้เริ่มก่อสร้างได้ภายใน 6 เดือน

สำหรับประเด็นที่เหลือซึ่งไม่ขัดกับ RFP และมติครม.นั้น เป็นข้อเสนอเงื่อนไขทั่วไปของการทำสัญญา เช่น ค่าปรับในกรณีต่างๆ ,การเลิกสัญญา,กรณีเกิดเหตุสุดวิสัย อาทิ ภัยสงคราม ,จราจล ภัยธรรมชาติ ที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้า และความรับผิดชอบของภาครัฐ ซึ่งมีมาตรฐานการทำสัญญาทั่วไป

“ซีพีคงไม่น่าถอนตัวง่ายๆ เพราะเห็นว่ามีความตั้งใจสูง คิดว่าน่าจะสู้ต่อจนนาทีสุดท้าย และการเจรจาที่ผ่านมายังไม่มีท่าทีแบบนั้น ยกเว้นจะคุยกับพันธมิตรที่เป็นหุ้นส่วนไม่ได้ ซึ่งประเด็นที่ซึ่พี กลัวคือ การบริหารความเสี่ยง ซึ่งโอกาสที่จะไม่เกิดอย่างที่กังวลก็มี แต่โอกาสที่จะเกิดก็ยังสูง ซึ่ง ภาคธุรกิจจะมองตรงนี้ ทั้งนี้ ยืนยัน คณะกรรมการคัดเลือกฯไม่มีแรงกดดันจากฝ่ายนโยบาย มีแต่สอบถามและเร่งให้เจรจา”

อย่างไรก็ตาม กรณีวันที่5 มี.ค.หาก ทางซีพี ไม่ยอมรับมติคณะกรรมการคัดเลือกฯ และทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถจะเจรจาต่อไปได้ จะต้องยุติการเจรจา โดยตามเงื่อนไขการประมูล คณะกรรมการคัดเบือกฯ จะเชิญผู้ยื่นข้อเสนอรายต่อไปคือ กลุ่ม กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) มาเปิดข้อเสนอซองที่4 และเจรจาต่อรองต่อไป

ลุ้นไปต่อ! ปิดประตูข้อเสนอซี.พี.จับตา5มี.ค.เจรจาชี้ขาดถอน-ไม่ถอนเงื่อนไขพิเศษ-เร่งปลดล็อกเดินหน้าเซ็นสัญญา
พร็อพเพอร์ตี้
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 - 18:39 น.


นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงิลงทุน 224,544 ล้านบาท เปิดเผยว่า ที่ประชุมสรุปผลการเจรจารอบแรกกับกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัดและพันธมิตรแล้ว โดยมีมติไม่รับประเด็นเจรจาที่อยู่นอกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และประกาศเชิญชวน (RFP) จำนวน 12 ประเด็น จากข้อเสนอทั้งหมด 108 ประเด็น เช่น การขอต่ออายุสัญญาสัมปทาน 99 ปี , ให้รัฐจ่ายเงินอุดหนุนตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มก่อสร้าง เป็นต้น โดยเป็นข้อสรุปที่คณะอนุกรรมการที่มีผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นประธาน ได้ข้อสรุปและส่งข้อสรุปในประเด็นต่างๆให้คณะกรรมการคัดเลือกพิจาณา

สำหรับขั้นตอนต่อไป คณะกรรมการคัดเลือกจะทำหนังสือแจ้งผลการเจรจาเบื้องต้นไปทางกลุ่มซี.พี.ภายในวันนี้(22ก.พ.) จากนั้นถ้ากลุ่มซี.พี.ยังอยากเจรจาอีก จะนัดมาคุยกันในวันที่ 5 มี.ค. เวลา 14.00 น.

โดยมีการบังคับว่า ห้ามนำประเด็นที่ถูกคัดทิ้งมาคุยอีก และถ้าจะมีข้อเสนอเพิ่มเติมจะต้องไม่ขัดมติครม.และประกาศ RFP อีกแล้ว แต่ถ้าจะยังยืนยันข้อเสนอเดิม จะต้องคุยกันเพื่อยุติการเจรจากับกลุ่มซี.พี.ต่อไป ดังนั้นในวันนี้ จึงยังไม่ได้ตัดสิทธิ์กลุ่มซี.พี.ออกไป คาดว่าวันที่ 5 นี้จะรู้เลยว่ากลุ่มซี.พีงจะได้ไปต่อหรือไม่

“ถ้าซี.พี.มาคุยต่อ จะใช้เวลาไม่กี่วันก็จบ เพราะประเด็นเจรจาที่เหลือ เป็นข้อเสนอที่ง่ายทั้งหมด ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกสามารถควบคุมได้ เช่น การปรับกรณีที่ก่อสร้างล่าช้า หรือการรับประกันกรณีเกิดภัยสงคราม เป็นต้น ส่วนตัวคิด ซี.พี. ยังไม่ถอนตัว และน่าจะไปต่อจนนาทีสุดท้าย หากผู้ถือหุ้นของซี.พี.จะไม่ลงทุน เขาจะต้องไปกล่อมหุ้นส่วนเขา”

นายวรวุฒิ กล่าวต่อว่า ถ้ากลุ่มซี.พี.ไม่ได้ไปต่อ คณะกรรมการคัดเลือกจะเชิญกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Jont Venture) ที่มีกลุ่มบมจ.บีทีเอสเป็นแกนนำมาเปิดซอง 4 และเจรจาต่อ

ส่วนกรอบการเซ็นสัญญา ถ้าสามารถเซ็นได้ภายในเดือน มี.ค. หลังจากนั้นอีก 6 เดือนน่าจะเริ่มก่อสร้างได้ โดยรัฐบาลไม่ได้กดดันหรือเร่งรีบ มีเพียงเร่งรัดกระบวนการเจรจาเท่านั้น ยอมรับว่าโครงการนี้มีความยากเหมือนโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ข้อเสนอที่ให้ขยายเวลาก่อสร้าง 6 เดือนมีผลกับการเจรจาหรือไม่ นายวรวุฒิ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีเหตุ ส่วนข้อเสนอการปรับย้ายสถานี, สร้างสเปอไลน์, ส่วนต่อขยาย คณะกรรมการเพียงรับไว้ เป็นออฟชั่นหนึ่งไปใส่ไว้ในเงื่อนไขสัญญาเจรจาในอนาคต

ส่วนการขอเลื่อนจ่ายค่าเช่าการพัฒนา TOD สถานีมักกะสัน และศรีราชา คณะกรรมการได้รับข้อเสนอนี้ไว้ ส่วนเรื่องการขอปรับเพดานเงินกู้ ทางกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้ดูแลดูเรื่องนี้ โดยคณะกรรมการคัดเลือกไม่ได้รับไว้พิจารณา เพราะไม่อำนาจ

ขณะที่การพิจารณารายงานผลวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าน่าจะผ่านประมาณเดือน มี.ค.นี้ เพราะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการมาแล้ว
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42630
Location: NECTEC

PostPosted: 24/02/2019 2:41 am    Post subject: Reply with quote

รถไฟนัดถกชี้ชะตาอีกรอบ 5 มี.ค. ยันไม่รับเงื่อนไขนอกTOR
วันศุกร์ ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562, 19.50 น.

22 ก.พ.62 นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงิน 215,000 ล้านบาท ว่าในที่ประชุมได้มีการผลสรุปรายงานการประชุมของคณะอนุกรรมการคัดเลือกฯ ที่ได้เจรจาร่วมกับกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร โดยมีมติไม่รับข้อเสนอนอกเงื่อนไขร่างเอกสารขอบเขตการประกวดราคา (TOR)



เช่น การขยายสัมปทานและข้อเสนอสิทธิพิเศษทางการเงิน หรือการรับมอบพื้นที่ก่อนแล้วจ่ายเงินทีหลัง เป็นต้น รวมประมาณ 12 ข้อ เนื่องจากอยู่นอกเหนือร่าง TOR และกระทบกับกรอบข้อเสนอโครงการ (RFP) โดยเฉพาะขัดกับมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้อนุมัติ TOR มาให้เปิดประมูลแล้ว

สำหรับข้อเสนอเพิ่มเติมของทางกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งฯ จากทั้งหมดกว่า 100 ข้อนั้นส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการเงินเช่น การขอปรับเวลาจ่ายเงินอุดหนุนจากรัฐก่อนกำหนด ,เรื่องอายุสัมปทานที่ขอขยายเป็น 99 ปี เป็นต้น ซึ่งหลังจากนี้จะมีการส่งหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการไปยังเอกชนอีกครั้งเกี่ยวกับมติการสรุปผลดังกล่าว ซึ่งหากการเจรจากับกลุ่มแรกต้องจบลงก็จะส่งหนังสือชี้แจงฝ่ายนโยบายไปว่าการเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ด้วยเรื่องใด รวมถึงสรุปขั้นตอนการดำเนินการและปัญหาทั้งหมดกับคู่เจรจาเพื่อรวบรวมส่งต่อไปยังระดับบริหาร

ทั้งนี้ในวันที่ 5 มี.ค.นี้จะมีการเรียกทางกลุ่มบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งฯ อีกครั้งเพื่อหารือเกี่ยวกับผลสรุปดังกล่าวว่าทางเอกชนจะยอมรับหรือไม่หากมีการเจรจาต่อจะยอมรับการปฎิเสธดังกล่าวและไม่มีการนำในส่วนของข้อเสนอที่ถูกปฎิเสธกลับมาเจรจาอีก โดยหากรับได้ก็จะสามารถเจรจาในกลุ่ม 3 ข้อเสนอแบบง่ายและจะสามารถเร่งรัดการเจรจาแล้วเสร็จ เพื่อลงนามสัญญาภายในเดือน มี.ค.นี้ แต่ยังมั่นใจว่าจากที่ได้มีการเจรจามาถึงจุดนี้แล้วทางกลุ่มบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งฯคงไม่ถอนตัวง่ายๆ

อย่างไรก็ตามหากว่ามีการตกลงยุติการเจรจาก็จะเรียกกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) เข้ามาเจรจาเปิดซองที่ 4 ต่อไป ซึ่งทางกลุ่ม BSR ได้เสนอราคาสูงกว่ากลุ่มบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งฯประมาณ 50,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามเชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะยังสามารถลงนามสัญญาได้ภายในรัฐบาลชุดนี้และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ 6 เดือนหลังจากลงนามสัญญา
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44335
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 25/02/2019 8:44 am    Post subject: Reply with quote

‘รฟท.’เร่งเวนคืนที่ดินไฮสปีด
กรุงเทพธุรกิจ 25 ก.พ. 62

Click on the image for full size

“รฟท.”เดินหน้าเวนคืนที่ดิน 850 ไร่ พัฒนาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน “วรวุฒิ” มั่นใจไม่ติดปัญหา ส่งมอบพื้นที่ฉลุย ลั่นกางแผนเจรจาร่วมเอกชน ทำสัญญากำหนดทยอยส่งมอบพื้นที่พร้อมสุด สศช.จี้คุมงบเวนคืน 3.5 พันล้านบาท

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า รฟท.ดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) พร้อมกันหลายส่วนทั้งการเจรจาร่างสัญญาร่วมกับกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) ที่จะมีการเชิญกลุ่มซีพีมาหารือสรุปการเจรจาในวันที่ 5 มี.ค.นี้ และเตรียมการเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 850 ไร่ และสิ่งปลูกสร้าง 245 หลัง

นายวรวุฒิ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ร.ฟ.ท.ได้จัดทำประชาพิจารณ์ สอบถามความคิดเห็น พร้อมทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ที่จะต้องเวนคืนแล้ว พบว่าไม่มีปัญหาหนักใจ โดยทำให้ขณะนี้เหลือเพียงรอออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืน เพื่อดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน พ.ศ..... เพื่อดำเนินการเวนคืนที่ดินทันที

เร่งทำความเข้าใจชุมชน

"ตามแผนเราจะเวนคืนที่ดินเพื่อจัดทำสถานี แต่มีพื้นที่แปลงใหญ่ที่จะต้องเวนคืนมากสุด คือ จ.ฉะเชิงเทรา ส่วนนั้นจะเอามาทำโรงซ่อมบำรุง และสถานีใหญ่ ซึ่งการทำประชาพิจารณ์ช่วงที่ผ่านมาก็ไม่มีปัญหาใหญ่อะไร ยอมรับว่าการเวนคืนย่อมมีประชาชนบางกลุ่มไม่เห็นด้วยบ้าง แต่ก็ไม่ถือเป็นอุปสรรค และเชื่อว่าจะไม่กระทบกับโครงการ อย่างไรก็ตาม ในช่วงการทำสัญญาร่วมกับเอกชน รฟท.จะชี้แจงเรื่องการส่งมอบพื้นที่อีกครั้ง โดยจะทยอยส่งมอบในพื้นที่ที่มีความพร้อมก่อน แต่เชื่อว่าจะสามารถเวนคืนให้เสร็จทั้งหมดเพื่อส่งมอบให้เอกชนพัฒนาได้ไม่มีปัญหา"

ส่วนการจัดทำผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ และเมื่อครั้งการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม รฟท.ได้รายงานความคืบหน้าของการจัดทำอีไอเอแล้ว ซึ่งได้รับความเห็นชอบ ไม่ได้มีประเด็นคำถาม หรือสั่งการเพิ่มเติม

รายงานข่าวจาก ร.ฟ.ท.ระบุว่า ร.ฟ.ท.ส่งรายงานอีไอเอ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ให้กับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2561 โดยมีบริษัทเอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นผู้จัดทำ

ทั้งนี้ รายงานอีไอเอได้ระบุแผนการโยกย้ายและการเวนคืนที่ต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกาแบ่งเป็น 4 ช่วง คือ
1.ทางเชื่อมสนามบินดอนเมืองจุดนี้จะไม่มีการเวนคืน โดยมีมาตรการป้องกันช่วงเตรียมการก่อสร้างและระยะก่อสร้าง คือ สำรวจทรัพย์สินที่ต้องจ่ายค่าชดเชย และมีการประชาสัมพันธ์เพื่อทำความเข้าใจกับชุมชน
2.บริเวณทางเชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิ
3.บริเวณทางเชื่อมสนามบินอู่ตะเภาและสถานีอู่ตะเภา เวนคืนสิ่งปลูกสร้าง 5 หลัง
4.บริเวณที่ใช้แนวเส้นทางร่วมกับโครงการอื่น

เวนคืน 5 จังหวัด 850 ไร่

สำหรับมติ ครม.เรื่องการเวนคืนที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เมื่อวันที่ 2 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนแบ่งเป็น 5 จังหวัด 850 ไร่ คือ

1.กรุงเทพมหานคร ครอบคลุมแขวงคลองสามประเวศ แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง

2.จ.สมุทรปราการ คอบคลุมตำบลหนองปรือ อ.บางพลี

3.จ.ฉะเชิงเทรา ครอบคลุมต.บางเตย ต.วังตะเคียน ต.ท่าไข่ ต.บางขวัญ ต.บ้านใหม่ ต.บางไผ่ อ.เมืองฉะเชิงเทรา

4.จ.ชลบุรี ครอบคลุมต.บ้านสวน ต.หนองข้างคอก ต.ห้วยกะปิ อ.เมืองชลบุรี รวมถึงต.บางพระ ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา ต.นาเกลือ ต.หนองปรือ ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง และต.นาจอมเทียน ต.บางเสร่ ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ

5.จ.ระยอง ครอบคลุม ต.สำนักท้อน ต.พลา อ.บ้านฉาง

แนะคุมงบประมาณเวนคืน

สำหรับการเวนคืนดังกล่าวเพื่อก่อสร้างย่านสถานี ทางเข้าออกสถานี ทางรถไฟ และดำเนินกิจการที่เป็นประโยชน์แก่กิจการรถไฟ ตามโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หรืออยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง รฟท. โดยให้ รฟท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งขั้นตอนการเวนคืนที่ดิน เพื่อให้ รฟท.ส่งมอบที่ดินให้แก่เอกชนคู่สัญญาได้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในร่างสัญญาร่วมลงทุนของโครงการ ซึ่งการกำหนดแนวเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามความจำเป็นเท่านั้น เพื่อลดผลกระทบการเวนคืนที่ดินของประชาชน และช่วยควบคุมวงเงินค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน

ทั้งนี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้ความเห็นว่า ควรให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ในการเวนคืนที่ดินเพื่อดำเนินกิจการที่เป็นประโยชน์แก่กิจการรถไฟความเร็วสูง และให้ รฟท.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนตามความจำเป็นเท่านั้น เพื่อลดผลกระทบของประชาชนและช่วยให้ รฟท.ควบคุมค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินให้อยู่ในกรอบที่ ครม.อนุมัติ 3,570 ล้านบาท

สกพอ.จี้มอบที่ดินให้ทัน

ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ควาเห็นเพิ่มเติมประกอบการเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินว่า กระทรวงคมนาคมและ รฟท.ควรให้ความสำคัญกับผลกระทบที่เกี่ยวกับการระบายน้ำในพื้นที่ก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงในอนาคตเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับโครงการและการเดินรถในระยะต่อไป

ส่วนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) มีความเห็นว่า คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก(กพอ.) มีมติลงนามสัญญาร่วมลงทุนในต้นปี 2562 ดังนั้น รฟท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งดำเนินการขั้นตอนและกระบวนการในการดำเนินการเวนคืนที่ดินเพื่อใช้ในโครงการฯ เพื่อให้นำไปสู่การดำเนินการส่งมอบที่ดินให้กับบริษัทเอกชนที่จะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างได้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนดในร่างสัญญาร่วมลงทุน ซึ่งจะกำหนดการก่อสร้าง 5 ปี
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42630
Location: NECTEC

PostPosted: 25/02/2019 11:53 am    Post subject: Reply with quote

'ซีพี' บนทาง 2 แพร่ง!!

24 กุมภาพันธ์ 2562

การเจรจาระหว่างคณะกรรมการคัดเลือกโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่มี นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นประธาน กับกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือ กลุ่มซีพี ผู้เสนอราคาตํ่าสุดในการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เดินมาถึงจุดชี้ขาดว่า คณะกรรมการคัดเลือกจะเห็นชอบให้กลุ่มซีพีเป็นผู้ชนะการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินหรือไม่

อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า หากคณะกรรมการคัดเลือกเห็นชอบข้อเสนอของกลุ่มซีพีและประกาศให้ซีพีเป็นผู้ชนะการประมูลแล้ว ทางกลุ่มซีพีไม่ยอมรับผลการพิจารณาของคณะกรรมการได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการเจรจาไม่รับข้อเสนอของกลุ่มซีพีหลายข้อ ทำให้กลุ่มซีพีไม่ได้เห็นด้วยกับแนวทางของคณะอนุกรรมการคัดเลือกในหลายประเด็น ทางกลุ่มซีพีจึงต้องหารือกับพันธมิตรว่าจะเดินหน้าโครงการต่อไปหรือไม่ หลังจากนั้นกลุ่ม ซีพี และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะต้องกลับมาหารือกันอีกครั้ง ว่า จะเดินหน้าโครงการนี้ หรือ จะยกเลิกการเจรจา สอดคล้องกับนายวรวุฒิที่ระบุก่อนหน้านี้ ว่า หลังจากคณะกรรมการพิจารณาผลการเจรจาได้ข้อสรุปแล้ว ก็จะเชิญทางกลุ่มซีพีมาเจรจาอีกรอบ ว่า จะเดินหน้าต่อ หรือว่าจะจบกันแค่นี้ โดยทั้ง 2 ฝ่าย ต้องมีความเห็นตรงกันด้วย ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ ว่า การเจรจาจะได้ข้อสรุปอย่างไร

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากเงื่อนไขทีโออาร์ หมวดที่ 7 พบว่า การประมูลโครงการนี้ กำหนดให้ 1 ผู้ยื่นข้อเสนอต้องยื่นหลักประกันซอง พร้อมกับการยื่นซองเอกสารข้อเสนอ มูลค่า 2 พันล้านบาท พร้อมระบุในข้อ 56.3 ตอนหนึ่งว่า ผู้ที่ได้รับคัดเลือก ซึ่งไม่ไปทำสัญญาภายในเวลาที่กำหนด จะถูกริบหลักประกันซอง หรือ ถูกเรียกร้องจากผู้ออกหลักประกันซองทันที และอาจพิจารณาให้ชดใช้ความเสียหายอื่น (ถ้ามี) รวมทั้งอาจพิจารณาให้เป็นผู้ทิ้งงานตามระเบียบของทางราชการ ทั้งนี้ การคืนหลักประกันซองไม่ว่าในกรณีใด ๆ จะคืนให้โดยไม่มีดอกเบี้ย

นอกจากนี้ ในข้อ 56.5 ยังระบุเกี่ยวกับหลักประกันซองจะถูกริบได้ ในกรณีดังนี้ 1.ผู้ยื่นข้อเสนอขอถอนเอกสารข้อเสนอของตน ในช่วงเวลาที่เอกสารข้อเสนอยังไม่หมดอายุ หรือ 2.ผู้ยื่นข้อเสนอไม่ยอมรับการแก้ไขข้อมูลที่เสนอไปตามที่ระบุไว้ในข้อ 4.การแก้ไขข้อผิดพลาด หรือ 3.ในกรณีที่ผู้ยื่นข้อเสนอเป็นผู้ที่ได้รับคัดเลือก แต่ไม่ดำเนินการ ดังนี้ (ก) ลงนามสัญญาร่วมลงทุน หรือ (ข) ยื่นหลักประกันสัญญาในวันที่เข้าทำสัญญาร่วมลงทุนเป็นมูลค่าเท่ากับ 4,500 ล้านบาท เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาร่วมลงทุนของเอกชนคู่สัญญา

หาทางแก้ deadlock ก่อน 5 มีนาคม
https://www.thebangkokinsight.com/108739/
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42630
Location: NECTEC

PostPosted: 28/02/2019 1:20 pm    Post subject: Reply with quote

รฟท. เปิดประมูล "รถไฟไทย-จีน" 2 สัญญา ค่า 2.4 หมื่นล้าน
26 กุมภาพันธ์ 2562





รฟท. เปิดประมูลรถไฟไทย-จีนอีก 2 สัญญาในเฟสแรก รวมมูลค่ากว่า 2.4 หมื่นล้านบาท ส่วนอีก 3 สัญญาในล็อตแรก พร้อมกับอีก 7 สัญญาในล็อตที่ 2 เร่งปรับแก้ไขทีโออาร์ ก่อนเปิดรับฟังความเห็นและเปิดประมูลต่อเนื่องกันไป กลุ่มซีวิลฯ ยังเกาะติดต่อเนื่อง ยันพร้อมร่วมประมูล



แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า วันนี้ (26 ก.พ. 62) ได้เปิดประกาศเชิญชวนให้นักลงทุนเข้าร่วมประมูลงานโยธาโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 2 สัญญา ระยะทางรวม 44 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 2.4 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย

1. งานสัญญา 4-3 (งานโยธาช่วงนวนคร-บ้านโพ) ระยะทาง 23 กิโลเมตร วงเงินกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท และ
2. งานสัญญา 4-2 (งานโยธาช่วงดอนเมือง-นวนคร) ระยะทาง 21 กิโลเมตร วงเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท

โดย รฟท. เปิดให้เอกชนซื้อซองเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ทั้ง 2 สัญญาดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ. - 10 เม.ย. 2562 หลังจากนั้นจะเปิดให้ยื่นข้อเสนอและเสนอราคาทางระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ในวันที่ 11 เม.ย. 2562 ระหว่างเวลา 08.00-16.30 น.

อย่างไรก็ตาม รฟท. ยังไม่ได้เปิดประมูลงานโยธาโครงการก่อสร้างรถไฟไทย-จีนในเฟสแรกนี้ อีก 3 สัญญา เนื่องจากอยู่ระหว่างการปรับปรุงรายละเอียดในร่างทีโออาร์ โดยเฉพาะประเด็นราคากลางของทั้ง 3 สัญญา ก่อนที่จะนำขึ้นเปิดรับฟังความเห็นบนเว็บไซต์และเปิดประกวดราคาต่อเนื่องจาก 2 สัญญาข้างต้นต่อเนื่องกันไป

โดยทั้ง 3 สัญญาที่เหลือ ประกอบไปด้วย

1.สัญญาที่ 3-1 (งานโยธาช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า) ระยะทาง 30 กิโลเมตร โดยกำหนดราคากลางไว้ที่ 11,386 ล้านบาท
2.สัญญาที่ 3-4 (งานโยธาช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด) ระยะทาง 37 กิโลเมตร ราคากลางกำหนดไว้ที่ 11,659 ล้านบาท และ
3.งานสัญญาที่ 4-6 (งานโยธาช่วงพระแก้ว-สระบุรี) ระยะทาง 31 กิโลเมตร ราคากลางกำหนดไว้ที่ 11,170 ล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252 กิโลเมตร แบ่งงานโยธาออกเป็น 14 สัญญา โดยสัญญาแรกช่วงสถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร กรมทางหลวงรับผิดชอบดำเนินการก่อสร้างในขณะนี้ และสัญญาที่ 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตร กรอบวงเงิน 3,100 ล้านบาท จัดประกวดราคาแล้วเสร็จ โดย บริษัท ซีวิล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ชนะการประกวดราคาในช่วงดังกล่าวนี้ โดยกำหนดวันลงนามสัญญาในวันที่ 6 มี.ค. 2562 และในส่วนที่เหลืออีก 7 สัญญาในล็อตสุดท้ายนั้น รฟท. จะเร่งเปิดรับฟังความเห็นทีโออาร์และเสนอประกวดราคาในระยะต่อไป

ด้าน นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีวิคเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีความสนใจจะเข้าร่วมประมูลทั้ง 2 สัญญา แต่คงต้องดูกำลังที่เหมาะสมของบริษัท ซึ่งตอนซื้อแบบคงต้องซื้อใหม่ทั้งหมด เพื่อพิจารณาก่อน เช่นเดียวกับสัญญาอื่น ๆ ที่เหลือในโครงการนี้
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42630
Location: NECTEC

PostPosted: 28/02/2019 5:48 pm    Post subject: Reply with quote

วิจารณ์ข้างเวที...ง่ายกว่าลงสนามเยอะ อยู่หลังคอมพ์ แสนสบาย...แค่ปลายนิ้ว!
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เผยแพร่: 28 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 13:26



การเจราจาระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน นักวิจารณ์ออกมาให้ความเห็นหลากหลาย ซึ่งบางคนบอกต้องเห็นใจ ลงทุนสองแสนล้านจะบังคับให้คุยจบในเดือนกว่า ๆ ถ้าเป็นเงินเราเองจะรู้สึกอย่างไร ในขณะที่บางกลุ่มนักวิจารณ์ใจร้อน ออกโรงสุมไฟ ว่าซีพีเอาเปรียบเกินไปที่เสนอเงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งไม่เข้าใจว่า ช่วงเวลาของการเจรจา ต้องนำปัญหา ข้อเสนอทุกอย่างขึ้นมาคุยแบบโปร่งใส

หากดูกันให้ดี ๆ การประมูลรถไฟไฮสปีดครั้งนี้ ต้องบอกว่าเป็นต้นแบบการเจรจาที่โปร่งใสมาก ทุกเงื่อนไข ข้อเรียกร้องถูกนำมาวางบนโต๊ะ อันไหนทำได้ อันไหนทำไม่ได้ ต้องตกลงกันแต่แรก การที่เอกชนไทยชวนนักธุรกิจจากหลากหลายประเทศมาลงทุน จะเอาแต่ใจตนไม่ได้ ต้องเจรจาหาทางออกร่วมกัน เพราะอย่าลืมว่าเป็นการร่วมลงทุน หรือ แปลง่าย ๆ ว่าทำธุรกิจร่วมกัน

มือที่เป็นธรรม ต้องนำมาซึ่งการเขียนคำวิจารณ์ที่สร้างสรรค์ เอาแต่ใจเรามิได้ เพราะการเจรจาธุรกิจ ต้องชัดเจนก่อนเริ่ม และทำให้บรรยากาศการลงทุนเป็นไปในเชิงบวก มิใช่เหมือนอยู่ในสนามรบ การทำธุรกิจกับรัฐควรเป็นการเจรจาเพื่อหาทางออก ไม่ใช่การกดดันเพื่อรับไปก่อนวันนี้ แล้วมีปัญหาวันหน้า เหล่ากองเชียร์อย่างเรา ไม่ได้ลงสักบาท คงเดาความรู้สึกคนลงเงินสองแสนล้านไม่ออก แต่ลองนึกง่าย ๆ ว่า ถ้าเราต้องร่วมหุ้นกับเพื่อนซัก 10 ล้าน เราจะคุยรายละเอียดกันกี่ครั้ง เพราะเท่าที่รู้ ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน เริ่มเจรจาเป็นทางการ 18 มกราคม 2562 หรือ 27 วันที่ผ่านมาเท่านั้น เทียบกับไฮสปีดไทย-จีน ที่ใช้เวลา 2 ปีในการเจรจา ต้องถามว่ามาตรฐานในการตัดสินว่าเร็ว หรือช้า อยู่ที่อะไร เพราะเสียงแว่วมาว่า RFP บอกไว้ว่า ระยะเวลาการเจรจาคือ 180 วัน

คุยไป 27 วัน แต่คงไม่ทันใจคนดู หรือจะเร่งให้รายที่สอง ให้ได้มีโอกาส รีบอร์น ตายแล้วฟื้น กลับมามีลุ้นเจรจา อันนี้ก็ไม่มีใครทราบได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากคุยลงตัว กว่าจะสร้างเสร็จและได้ใช้รถไฟก็ใช้เวลาอีก 5 ปีอยู่ดี แต่ทำไมจะกำหนดการเจรจาให้จบแค่ 5 สัปดาห์ จะเพียงพอหรือ และหมู่เฮาเหล่าผู้ชม เข้าใจมากน้อยแค่ไหนว่า เงื่อนไขทางธุรกิจและทางการเงิน เค้ามีรายละเอียดอย่างไร เพราะที่ทุกคนวิจารณ์รายละเอียดเงื่อนไขการเจรจากันอยู่นี้ล้วนมาแต่ เขาเล่ามา...คนละนิด คนละหน่อย นี่แหละหนา ทำให้หลายคนขยาดไม่กล้ามาลงทุน เพียงเพราะปากกาจากมือที่ไม่เป็นธรรม
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42630
Location: NECTEC

PostPosted: 01/03/2019 11:54 am    Post subject: Reply with quote

ต่อจิ๊กซอร์ซีพี ลุยรถไฟ 3 สนามบิน
28 กุมภาพันธ์ 2562

http://www.thansettakij.com/infographic/7

เจอซอยตัน
โดย “แม่ลูกจันทร์”
ไทยรัฐฉบับพิมพ์
26 กุมภาพันธ์ 2562 05:01 น.

โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน อภิมหาเมกะโปรเจกต์ มูลค่า 2.2 แสนล้านบาทที่กลุ่มซีพีเป็นผู้ชนะประมูลสัมปทาน


หลังจากเจรจาต่อรองกันมาหลายยก

ปล้ำฟัดกันยืดเยื้อมาแล้วกว่า 2 เดือน

ทำท่าจะกลายเป็นรถไฟเหาะตีลังกาซะแล้วโยม??

สาเหตุเพราะกลุ่มซีพียื่นข้อเสนอเพิ่มมาอีก 12 ข้อ ซึ่งเกินกรอบทีโออาร์ที่กำหนดไว้ตอนเปิดประมูล

ดังนั้น เมื่อการเจรจาถึงทางตัน จึงต้องขีดเส้นตาย “วันที่ 5 มีนาคม” เพื่อขอฟังคำตอบสุดท้ายจากกลุ่มซีพีว่ายังพร้อมเดินหน้าเซ็นสัญญา??

หรือจะถอดใจยกเลิกเจรจาอย่างเป็นทางการ??

จะไปต่อ? หรือไม่ไปต่อ? วันที่ 5 มีนาคม จะมีคำตอบชัดเจน

“แม่ลูกจันทร์” เชื่อว่าใจจริงส่วนลึกกลุ่มซีพีอยากได้สัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแน่นอน

ไม่งั้นคงไม่ยื่นประมูลชิงสัมปทานให้ปวดเมื่อยไข่ดัน

แต่ปัญหาคือวงเงินที่กลุ่มซีพีชนะประมูล เมื่อนำไปคำนวณรายได้รายจ่ายตลอดอายุสัมปทาน 50 ปี มีแนวโน้มจะขาดทุนริดสีดวงบานเป็นกลีบมะไฟ

ดังนั้น เพื่อรับประกันซ่อมฟรีว่าโครงการนี้จะไม่มีโอกาสขาดทุน

กลุ่มซีพีจึงยื่นข้อเสนอเพิ่มอีก 12 ข้อให้รัฐบาลพิจารณา

ถ้ารัฐบาลยอมรับเงื่อนไขนี้ กลุ่มซีพีก็พร้อมเซ็นสัญญา

ปรากฏว่าเงื่อนไข 12 ข้อ ที่กลุ่มซีพีเสนอให้คณะกรรมการฝ่ายรัฐบาล ซึ่งมี นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ รฟท.เป็นหัวหน้าทีม

ไม่มีแม้แต่ 1 ข้อ ที่คณะกรรมการจะยอมรับได้เลย

รายละเอียดข้อเสนอ 12 ข้อของกลุ่มซีพีเป็นอย่างไร

“แม่ลูกจันทร์” ขอหยิบมาฉายเป็นแซมเปิลสักครึ่งเดียว

1,ขอให้รัฐบาลการันตีผลตอบแทนให้กลุ่มซีพีไม่ต่ำกว่า 6.75 เปอร์เซ็นต์

เพื่อให้รัฐบาลค้ำประกันว่าโครงการนี้จะไม่ขาดทุนและจะได้กำไรคุ้มการลงทุนทุกบาททุกสตางค์

2,ขอให้รัฐบาลขยายอายุสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจาก 50 เป็น 99 ปี

ขอขยายเวลาฟันกำไรยาวๆขึ้นอีกเท่าตัว

3,ขอให้รัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนตั้งแต่เริ่มการก่อสร้างแทนเงื่อนไขเดิมจะจ่ายเงินอุดหนุนเมื่อเริ่มเดินรถ

ให้รัฐบาลต้องจ่ายเงินลงขันเร็วขึ้นอีก 6 ปี

4,ให้รัฐบาลจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยตํ่า 4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตํ่ากว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทั่วไป

เพื่อให้กลุ่มซีพีกู้เงินดอกเบี้ยถูกกว่ากู้เอง

5,ถ้าโครงการสนามบินอู่ตะเภาเกิดความล่าช้า

รัฐบาลต้องจ่ายค่าชดเชยความเสียหายให้กลุ่มซีพี

6,ขอปรับแก้แบบการสร้างทางรถไฟยกระดับ เป็นการก่อสร้างในระดับพื้นดิน

เพื่อลดต้นทุนค่าก่อสร้างลงอีก 4 เท่าตัว ฯลฯ

“แม่ลูกจันทร์” คาดว่าข้อเสนอพิเศษ 12 ข้อของกลุ่มซีพี มีเป้าหมายชัดเจน 2 ประตู

ถ้ารัฐบาลยอมตกลงตามเงื่อนไขทั้ง 12 ข้อ

กลุ่มซีพีก็ฟันกำไรสะดือบวม

ถ้ารัฐบาลไม่ตกลง และยกเลิกการเซ็นสัญญา

แม้กลุ่มซีพีจะไม่ได้กำไร แต่ก็ไม่ต้องเสี่ยงขาดทุน

เขี้ยวขั้นเทพจริงๆ พับผ่าเถอะ.
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 309, 310, 311 ... 542, 543, 544  Next
Page 310 of 544

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©