RailServe.Com

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai.Com

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311276
ทั่วไป:13257919
ทั้งหมด:13569195
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าวแผนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ 2558-65
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ข่าวแผนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ 2558-65
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 103, 104, 105 ... 121, 122, 123  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42686
Location: NECTEC

PostPosted: 16/09/2019 3:20 am    Post subject: Reply with quote

ทางรถไฟสายชุมพร-ระนอง ยุทธศาสตร์ เชื่อมจีน-ไทย-โลก (belt and road initiative)
โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure
19 กรกฎาคม 2562

วันนี้ ขอกลัามาทำ Content โครงการบ้างดีกว่า หลังจากไปติดตามโครงการ และ นำเสนอโครงการ ปรับปรุงมาหลายอัน

{ยาวหน่อยนะครับ แนะนำให้มือถืออ่านให้ฟังดีกว่า}

วันนี้ ผมขอพูดถึง โครงการ ทางรถไฟ สายชุมพร-ระนอง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสายยุทธศาสตร์ ที่ถูกหลายๆรัฐบาลหลงลืม แต่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ในการเชื่อมต่อระดับโลก ตามแผน (belt and road initiative)

ซึ่งตอนนี้ จีนเองก็ยังไม่ได้มาสนใจในจุดนี้มากนัก แต่ถ้าเราสร้างทางรถไฟสายนี้ ร่วมกับ พัฒนาท่าเรือระนองให้รองรับปริมาณ สินค้า และขนาดของเรือที่สามารถจอดที่ท่าเรือนี้ได้ใหญ่ขึ้น เราจะกลายเป็น Gate Way ที่สำคัญ ของจีนทางด้าน มหาสมุทรอินเดียไปโดยปริยาย

มันสำคัญยังไง มาดูกัน

จากที่เราทราบกันแล้ว ว่า ลาว-จีน กำลังทำ ทางรถไฟ จากจีนตอนใต้ มาถึง เวียงจันทน์ มาจบที่สถานีรถไฟ ท่านาแล้ง ตะวันออก ซึ่งเชื่อมกับสถานี ท่านาแล้ง เดิม ซึ่งเป็นศูนย์ขนถ่ายสินค้า (CY)

ปล. กำลังจะมีรถไฟขนสินค้าระหว่างประเทศ วิ่งจากสถานี หนองคาย-ท่านาแล้ง ร่วมกับขบวน เดิมซึ่งมีการขนส่งผู้โดยสารอยู่แล้ว เดินรถไป-กลับวันละ 4 เที่ยว

ดังนั้น เมื่อไหร่ที่ทางรถไฟ สายลาว-จีน เสร็จถึงท่านาแล้ง เราก็จะเชื่อมต่อกับระบบรถไฟของจีน ไปโดยปริยาย

ถ้าเราต่อกับระบบรถไฟจีนแล้ว สินค้าต่างๆ ที่ส่งมาจากจีนก็จะเชื่อมโยงเข้ากับระบบการขนส่งของเราต่อ ซึ่งตรงนี้แหละครับ เป็น ประเด็นสำคัญ ของทางรถไฟ สาย ชุมพร-ระนอง ซึ่งถ้าเสร็จ จะสามารถรับสินค้า จากท่านาแล้ง วิ่งยาวมาถึงท่าเรือ ระนอง และลงเรือที่ท่าเรือระนองได้

หลังจากสินค้า ลงที่ท่าเรือระนอง ก็สามารถ ขนสินค้า ไปที่ท่าเรือ Colombo หรือ ท่าเรือ มหินทรา ราชปักษา ของศรีลังกา ซึ่งเป็นท่าเรือสำคัญ ของโครงการ (belt and road initiative) ที่หลายๆ คนเคยได้ข่าวว่า โดนจีนบังคับเช่าท่าเรือ แทนการจ่ายหนี้ที่ไปกู้จีนมา

ดังนั้น น่าจะพอมองเห็นภาพ ความสำคัญ ของเส้นทางรถไฟ ชุมพร-ระนอง และ ท่าเรือ ระนองแล้วนะครับ

เอาล่ะ มาดูรายละเอียด ของทางรถไฟสาย ชุมพร-ระนอง ดีกว่า

ทางรถไฟมีหลายทางเลือกเส้นทาง แต่เส้นทางที่โครงการเลือกในการศึกษา คือเส้นทางที่ 1 ซึ่งเริ่มต้นจาก สถานีแสงแดด ซึ่ง จะอยู่เลยสถานีชุมพร มา 1 สถานี แล้วแนวเส้นทางจะตัดไปทางทิศตะวันตก ตามแนวทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านสถานีดังนี้
1.สถานีขุนกะทิง
2.สถานีบ้านนา
3.สถานีวังใหม่
4.สถานีปากจั่น
5.สถานีกระบุรี
6.สถานีบางใหญ่
7.สถานีละอุ่น
8.สถานีท่าเรือระนอง
9.สถานีระนอง (อยู่บนทางแยก)

ทางรถไฟสายนี้จะเป็นทางรถไฟ ทางเดี่ยว และเผื่ออนาคต เพื่อการพัฒนาเป็นทางคู่

เส้นทางมีระยะทางรวม 109 กิโลเมตร

เป็นทางระดับดิน 67 กิโลเมตร
เป็นทางยกระดับ 33 กิโลเมตร
เป็นอุโมงค์ 8 กิโลเมตร

รูปแบบสถานีในโครงการ มี 2 แบบ คือ

สถานีขนาดกลาง ซึ่งจะเป็นสถานีใหญ่ที่สุดในโครงการ คือ สถานีระนอง

สถานีขนาดเล็ก ซึ่งจะเป็นลักษณะ สถานีอื่นๆในโครงการทั้งหมด

ในโครงการจะใช้มาตรฐาน เดียวกับทางรถไฟสายอื่นๆ และทางคู่ ซึ่งจะไม่มีจุดตัดทางรถไฟ อยู่เลย เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ

ลักษณะการเดินรถ

ในปีแรกที่ให้บริการ เส้นทางจะมีรถไฟให้บริการ หลายรูปแบบ ได้แก่

1.รถไฟธรรมดา (ชุมพร-ระนอง) 4 ขบวน/วัน
2.รถไฟทางไกล (กรุงเทพ-ระนอง) 1 ขบวน/วัน
3.รถไฟสินค้า (ICDลาดกระบัง-ระนอง) 2 ขบวน/วัน

ซึ่งการคาดการณ์นี้ยังไม่รวมขบวนรถไฟสินค้าหนองคาย-ระนอง ที่พูดถึงด้วยนะครับ

มูลค่าการลงทุนทั้งหมด ของโครงการ แบ่ง เป็น 2 ก้อนคือ

ค่าการลงทุนเบื้องต้น 29,222 ล้านบาท

ค่าใช้จ่ายในช่วงให้บริการ 16,321 ล้านบาท

การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

EIRR 8.55%
NPV - 4,500 ล้านบาท
B/C 0.68

ประเมินความคุ้มค่าทางการเงิน

NPV - 20,000 ล้านบาท
FIRR 2%
B/C 0.39

ซึ่งตามนี้ยังไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน แต่การประเมินในคราวนั้น ยังไม่รวมผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการขนส่ง และเชื่อมโยง ไทย-ลาว-จีน ร่วมไปอยู่ในแผน (belt and road initiative) ซึ่งจะสร้างธุรกิจ และสร้างงานให้อีกมหาศาล เลยครับ

ซึ่งถ้ารวมประเด็นนี้เข้าไป ผมคาดว่า น่าจะคุ้มค่ากับการลงทุน และอาจจะชวนจีนมาร่วมลงทุน หรืออย่างน้อย ก็มาร่วมเดินรถไฟได้ครับ

ลักษณะการลงทุนมี 3 ลักษณะ คือ

1.รฟท. ลงทุนเองทั้งหมด ขาดทุนอย่างเดียว

2.รัฐลงทุนราง รฟท เดินรถ ลักษณะเดียวกับ ทางรถไฟทางคู่ที่พึ่งสร้าง และสายใหม่ที่จะเกิด ซึ่งค่าใช้จ่ายรัฐจะเป็นคนออก รฟท มีหน้าที่เดินรถ

รูปแบบนี้ FIRR สูงถึง 9.87% ซึ่งเหมาะสมในการเดินรถได้

3. รัฐลงทุนราง รฟท ซ่อมบำรุงทาง เอกชน เดินรถ

รูปแบบนี้ FIRR ต่ำกว่าแบบที่ 2

สรุป การก่อสร้างทางรถไฟสาย ชุมพร-ระนอง เป็นสายยุทธศาสตร์ ที่สำคัญในการเชื่อมโลก ด้านทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเรามีเพียง ท่าเรือระนอง เป็นท่าเรือเดินสมุทรเดียว ซึ่งสามารถเชื่อมโยงได้ ดังนั้น การก่อสร้างทางรถไฟสายนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ และจำเป็น ถ้าเร่งได้จะเป็นการดี ให้พร้อมๆ กับการเชื่อมต่อกับรถไฟ จีน-ลาว เพื่อขนสินค้าผ่านประเทศเราได้อีกมาก รวมถึงเป็นอนาคตของการพัฒนา เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) 4 จังหวัด คือ ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี และ นครศรีธรรมราช ดีด้วย

จำนวนผู้โดยสารที่คาดการณ์ ตามปี
2568 5,700 คน/วัน
2587 9,330 คน/วัน

จำนวนสินค้าที่คาดการณ์ (ยังไม่รวมสินค้าจากจีน)

2568 33,000 ตัน/ปี
2587 60,000 ตัน/ปี

รายละเอียดโครงการ SEC 2 ตอน
https://www.facebook.com/491766874595130/posts/606311813140635?s=1160002750&sfns=mo
https://www.facebook.com/491766874595130/posts/609285446176605?s=1160002750&sfns=mo

ลิ้งค์รายละเอียดการศึกษาโครงการตัวเต็ม
http://www.otp.go.th/index.php/edureport/view?id=142
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44454
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 17/09/2019 7:41 am    Post subject: Reply with quote

ต้นทุนโลจิสติกส์ประกอบด้วยอะไรบ้างแล้วเราจะลดต้นทุนนี้ได้อย่างไร?
ทรานสปอร์ต เจอร์นัล Tuesday, September 17, 2019 05:28

รศ.ดร.นาวี เจี่ยดำรง Chairperson of Master of Engineering in Logistics and Supply Chain Systems Engineering Curriculum

ในฉบับที่แล้ว ผมได้มีการเกริ่นถึงกิจกรรมทางโลจิสติกส์ว่าคืออะไรและมีอะไรบ้าง ในฉบับนี้เราจะมาคุยกันในเรื่องของต้นทุนโลจิสติกส์กัน จริงๆแล้วเรื่องนี้ได้มีการหยิบยกขึ้นมาคุยกันหลายครั้งในอดีตที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้ผมจะมาพูดถึงอีกแง่มุมหนึ่งในเรื่องของต้นทุนโลจิสติกส์ จากรายงานโลจิสติกส์ของประเทศไทยที่จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพิจารณาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ข้อมูลต้นทุนโลจิสติกส์ที่เก็บมาเป็นต้นทุนล่าสุดจนถึงปี2558 ซึ่งมีการรายงานมูลค่ารวมและมูลค่าที่เป็นสัดส่วนกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่าต้นทุนโลจิสติกส์นั้นมากน้อยเพียงใด เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในทางเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศจะเห็นได้ว่าถึงแม้จะมีการถกเถียงกันว่ากิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับ GDP ไม่ได้ส่งผลให้กิจกรรมด้านโลจิสติกส์มากขึ้นหรือลดลงหรือหากเกี่ยวข้องก็จะเป็นการเกี่ยวข้องทางอ้อมเท่านั้น แต่ถ้าไม่มีการนำมาเปรียบเทียบก็จะทำให้ไม่รู้ว่าต้นทุนนั้นสูงหรือต่ำ เพราะในแต่ละประเทศจะมีขนาดของเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นปริมาณมูลค่าที่เท่ากันแต่อยู่ในประเทศที่มีพื้นฐานค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันจึงไม่สามารถบอกได้ว่าที่ใดมากกว่าหรือน้อยกว่ากัน เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการเปรียบเทียบปริมาณมูลค่าที่เป็นแบบสัดส่วน

ในปี 2558 ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทยมีมูลค่ารวม 1,912.9 พันล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 จากปี 2557 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.0 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดยต้นทุนโลจิสติกส์นี้ประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ 1.ต้นทุนของค่าขนส่งสินค้า (50%) 2.ต้นทุนของการเก็บรักษาสินค้าคงคลัง และ 3.ต้นทุนของการบริหารจัดการ สิ่งที่น่าสนใจคือต้นทุนนี้จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาเนื่องจากปริมาณการค้าที่ขยายตัวขึ้น และต้นทุนนี้จะลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการขยายตัวของ GDP ซึ่งทำให้เห็นว่าหน่วยงานต่างๆมีความพยายามที่จะควบคุมค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ด้วยตัวเอง ถึงแม้ปริมาณการขนส่งสินค้าภายในประเทศจะเพิ่มขึ้นถึง 4.2% แต่ต้นทุนโลจิสติกส์กลับเพิ่มขึ้นเพียงแค่เล็กน้อย

ถ้าจะถามว่าต้นทุนโลจิสติกส์ของเราสูงหรือเปล่า เราคงต้องไปเปรียบเทียบกับประเทศชั้นนำในด้านการบริหารการจัดการการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงแม้ประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีพื้นที่ใหญ่โตที่มีต้นทุนการขนส่งสูง แต่ต้นทุนโลจิสติกส์ของเค้าอยู่ที่ประมาณร้อยละ 8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประเทศไทยมาก และมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกัน อย่างน้อยก็ทำให้เห็นว่าต้นทุนโลจิสติกส์ของเรายังสามารถลดได้อีกเยอะ เพื่อที่จะเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ มากกว่า 80% ของรูปแบบการขนส่งสินค้าเป็นการขนส่งสินค้าทางถนน ส่วนที่เหลือเป็นการขนส่งสินค้าทางน้ำและทางรางซึ่งมีต้นทุนในการขนส่งที่ต่ำกว่าและยังถูกกล่าวถึงกันเป็นอย่างมากเกี่ยวกับการขนส่งทางราง ไม่ว่าจะรางเดี่ยว รางคู่ หรือ รถไฟความเร็วสูง ซึ่งมีสัดส่วนในการขนส่งอยู่เพียง 1.9% เท่านั้น และยังต้องมีการพัฒนาในระบบโครงสร้างพื้นฐานหรือสาธารณูปโภคของประเทศอีกมากเพื่อให้เอื้อต่อการขนส่งด้านอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ และมีราคาถูกลงเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของตนเอง

ประเด็นสุดท้ายคือ เกือบครึ่งหนึ่งของต้นทุนโลจิสติกส์คือต้นทุนการบริหารและการเก็บรักษาสินค้าคงคลัง ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราสามารถจัดการได้ด้วยตนเองโดยที่ไม่ต้องไปพึ่งโครงสร้างพื้นฐานของประเทศใดๆทั้งสิ้น เพียงแค่เรามีการวางแผนและการจัดการกิจกรรมหรือกระบวนการทางด้านโลจิสติกส์ในโซ่อุปทาน (SUPPLY CHAIN) ของเราให้มีประสิทธิภาพ มีการวางแผนร่วมกันในบริษัทเครือข่ายเพื่อลดปัญหา BULLWHIP EFFECT ที่เกิดจากการตั้งกำแพงระหว่างเครือข่ายของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องใน SUPPLY CHAINของเรา แค่นี้ต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าคงคลังก็จะสามารถลดลงได้อย่างมหาศาลโดยที่ไม่ต้องไปรอว่าโครงสร้างพื้นฐานหรือนโยบายของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร จะเปลี่ยนไปอีกไหม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราสามารถทำเองและทำได้ในทันทีครับ

--ทรานสปอร์ต เจอร์นัล ฉบับวันที่ 16-30 ก.ย. 2562--
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42686
Location: NECTEC

PostPosted: 20/09/2019 8:20 pm    Post subject: Reply with quote

‘ศักดิ์สยาม’ ชง ครม.เคาะลงทุนโครงการใหม่คมนาคม 13 โครงการ รวม 5.5 แสนล้านบาท

วันที่ 20 กันยายน 2562 เวลา 18:45 น.

หนุนลงทุนเมกะโปรเจ็กส์ขนส่ง 1.94 ล้านล้านบาท ด้าน ครม.เศรษฐกิจบี้ "คมนาคม" เร่งรัดเบิกเงินกองทุน TFF ก่อสร้างทางด่วน พร้อมเร่งรัดลงนามรถไฟไฮสปีดอีอีซี

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ฝ่ายเศรษฐกิจ โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันนี้ (20 ก.ย. 2562) ว่า กระทรวงคมนาคมได้นำเสนอโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (Mega Projects) ของกระทรวงคมนาคม ตั้งแต่ก่อนปี 2561-2566 จำนวน 44 โครงการ วงเงินรวม 1.94 ล้านล้านบาท

แบ่งเป็น โครงการที่จะเสนอ ครม.ในรัฐบาลชุดนี้ รวม 13 โครงการ รวม 5.51 แสนล้านบาท อาทิ
รถไฟทางคู่เฟส 2 รวม 7 เส้นทาง วงเงิน 2.62 แสนล้านบาท
โครงการทางยกระดับถนนพระราม 2 ช่วง บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว วงเงิน 3.2 หมื่นล้านบาท โครงการจัดหาเครื่องบินใหม่ 38 ลำ ของการบินไทย วงเงิน 1.56 แสนล้านบาท
โครงการพัฒนาสนามบินดอนเมือง เฟส 3 วงเงิน 3.7 หมื่นล้านบาท

โครงการพัฒนาสนามบินเชียงใหม่ เฟส 1 วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท
โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วง บางซื่อ-หัวลำโพงและบางซื่อ-หัวหมาก วงเงิน 4.4 หมื่นล้านบาท และ
โครงการศูนย์ฝึกอบรมการบินอู่ตะเภา วงเงิน 2.7 พันล้านบาท

โครงการผ่าน PPP แล้วเตรียมเสนอ ครม. รวม 2 โครงการ มูลค่า 2 แสนล้านบาท อาทิ รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท
มอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ วงเงิน 8 หมื่นล้านบาท

โครงการที่ครม.อนุมัติแล้วอยู่ระหว่างดำเนินการ 12 โครงการ มูลค่า 4.12 แสนล้านบาท อาทิ ทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท
โครงการรถไฟทางคู่เฟส 2 รวม 2 เส้นทาง วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท
รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ วงเงิน 1.25 แสนล้านบาท
โครงการรันเวย์ที่ 3 สุวรรณภูมิ วงเงิน 2.2 หมื่นล้านบาท และ
โครงการในกลุ่มอีอีซี วงเงิน 5.04 แสนล้านบาท
โครงการเมืองการบินอู่ตะเภา วงเงิน 2 แสนล้านบาท
โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินอีอีซี วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท และ
โครงการท่าเรือแหลทฉบัง เฟส 3 วงเงิน 8.4 หมื่นล้านบาท

โครงการที่ ครม.อนุมัติแล้วอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 17 โครงการ มูลค่า 7.82 แสนล้านบาท เช่น มอเตอร์เวย์พัทยา-มาบตาพุด วงเงิน 1.67 หมื่นล้านบาท มอเตอร์เวย์บางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา วงเงิน 8.2 หมื่นล้านบาท มอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงิน 6.3 หมื่นล้านบาท

รถไฟทางคู่ เฟส 1 รวม 7 เส้นทาง วงเงิน 1.3 แสนล้านบาท
โครงการรถไฟไฮสปีดกรุงเทพ-นครราชสีมา วงเงิน 1.75 แสนล้านบาท
โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง วงเงิน 1 แสนล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู สายสีส้มและสายสีเหลือง วงเงินรวม 2 แสนล้านบาท

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่าที่ประชุม ครม. เศรษฐกิจได้เร่งรัดการลงนามในสัญญาโครงการ ในส่วนที่จะเงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (TFF) โดยเฉพาะโครงการทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กม. งานโยธา จำนวน 4 สัญญา วงเงินรวม 2.91 หมื่นล้านบาทของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามแผน และให้เกิดเป็นรูปธรรม

โดยในขณะนี้ ได้มีการดำเนินการประกวดราคาเรียบร้อยแล้วทั้ง 4 สัญญา แม้ว่าจะมี 2 สัญญาที่ยังติดปัญหาในเรื่องของการตรวจสอบคุณสมบัติ จึงได้สั่งการให้มีการเร่งรัดตรวจสอบให้เรียบร้อย หากตรวจสอบแล้วพบว่าผู้ชนะการประกวดราคาไม่ผ่านคุณสมบัติ จะเรียกผู้ที่เสนอราคาในลำดับที่ 2 มาพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม คาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์จะได้ข้อยุติในเรื่องดังกล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจได้สั่งเร่งดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท เนื่องจากมีเงื่อนไขของกรอบเวลากำหนดไว้ จากเดิมที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะต้องได้ข้อยุติกับกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 23 ก.ย.นี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี จะเชิญนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) พร้อมด้วยคณะกรรมการคัดเลือกโครงการฯ มาประชุมร่วมกัน เพื่อหารือข้อสรุปให้มีความชัดเจนในการส่งมอบพื้นที่ รวมถึงพิจารณาว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามที่ทีโออาร์กำหนดไว้หรือไม่ ก่อนจะเสนอให้คณะกรรมการอีอีซีต่อไป

"ต้องไปดูเรื่องทีโออาร์การส่งมอบพื้นที่ ว่าเขาเขียนยังไง ว่าตรงนี้ให้ใคร เป็นหน้าที่ของใคร แต่ละเรื่องที่เจรจายังมายุติในทีโออาร์เขียนว่ายังไง จะได้ให้เขามาอธิบายให้ฟัง เรื่องนี้เราไม่สามารถไปแก้ทีโออาร์ได้ จะไปทำนอกเหนือกรอบทีโออาร์ไม่ได้ เพราะเงื่อนเวลาเร่งจนเป็นเงื่อนไข ซึ่งจะสิ้นสุดภายในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งราคาที่ประมูลมายืนถึง พ.ย.นี้ เราปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไปไม่ได้ ถ้าไม่จบต้องถามคณะกรรมการคัดเลือกว่า แนวทางการดำเนินการที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศคืออะไร" นายศักดิ์สยาม กล่าว

อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคม ยังได้เสนอให้ที่ประชุม ครม. เศรษฐกิจช่วยปลดล็อคโครงการต่างๆ ของกระทรวงคมนาคมที่ยังติดขัดในข้อกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อดำเนินการแก้ไข และเดินหน้าโครงการต่อ อาทิ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ช่วงบางใหญ่-กาญจนบุรี ของกรมทางหลวง (ทล.) เพื่อเร่งเบิกค่าเวนคืน 12,000 ล้านบาทให้ชาวบ้าน


Last edited by Wisarut on 25/09/2019 11:02 pm; edited 1 time in total
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44454
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 23/09/2019 12:32 pm    Post subject: Reply with quote

44 โปรเจ็กต์ 2 ล้านล้านฉลุย “สมคิด-ศุภชัย” มั่นใจปักหมุดไฮสปีดEEC
ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 21 September 2019 - 21:10 น.

“บิ๊กตู่” รีวิว 44 เมกะโปรเจ็กต์ 1.9 ล้านล้านคมนาคม สั่งศักดิ์สยามเคลียร์เวนคืนมอเตอร์เวย์บางใหญ่ไฟเขียวรถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.22 แสนล้านรอ ครม.เคาะ “สมคิด-ศุภชัย” ประสานเสียงพร้อมเซ็นไฮสปีด

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมรับทราบผลดำเนินงานโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ กระทรวงคมนาคม 44 โครงการ วงเงิน 1,947,310 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ครม.อนุมัติแล้วอยู่ระหว่างก่อสร้าง 17 โครงการ 782,329 ล้านบาท ได้แก่ มอเตอร์เวย์พัทยา-มาบตาพุด เปิด ก.ค. 2563, บางปะอิน-นครราชสีมา เปิดปี 2565 และบางใหญ่-กาญจนบุรี คืบหน้า 22% ล่าช้ากว่าแผน 2 ปี รถไฟทางคู่เฟสแรก 7 สาย มีจิระ-ขอนแก่นเสร็จแล้ว อีก 6 โครงการกำลังก่อสร้าง, รถไฟความเร็วสูง กทม.-นครราชสีมา 14 สัญญา กำลังสร้าง 2 สัญญา รถไฟสายสีแดงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน เปิดปี 2564 สีส้มศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี เปิดปี 2566 สีชมพู แคราย-มีนบุรี และสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง เปิดปี 2564 ศูนย์เปลี่ยนถ่ายขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย กำลังก่อสร้าง

2.ครม.อนุมัติแล้วอยู่ระหว่างเตรียมประมูล 12 โครงการ 412,739 ล้านบาท อาทิ ทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตกรอเซ็นสัญญา สายสีม่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ รอออก พ.ร.ฎ.เวนคืนและเตรียมประมูล รถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม รองบฯปี 2563 จัดประมูลและเวนคืน ศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม กำลังจัดหาที่ดินและหาเอกชนร่วมลงทุนต้นปี 2563 สายสีแดง ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์, ตลิ่งชัน-ศาลายา และตลิ่งชัน-ศิริราช ประมูลปี 2563 เปิดปี 2566 ทางวิ่งเส้นที่ 3 สนามบินสุวรรณภูมิ รอ EHIA เสร็จปี 2565 ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 กำลังคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) การบินไทยกับแอร์บัส จะเซ็นธ.ค. นี้และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รอเซ็นสัญญา


3.คณะกรรมการ PPP เห็นชอบแล้ว เตรียมเสนอ ครม. 2 โครงการ 201,073 ล้านบาท ได้แก่ สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี อนุมัติงานโยธาช่วงตะวันตก และเดินรถตลอดสาย 2.มอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ อยู่ระหว่างออกกฎกระทรวงที่พักริมทาง และ 4.จะเสนอ ครม.13 โครงการ 551,170 ล้านบาท อาทิ สายสีแดง บางซื่อ-หัวลำโพง และบางซื่อ-หัวหมาก ทางคู่เฟส 2 มอเตอร์เวย์บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว จัดหาเครื่องบินใหม่ 38 ลำ ของการบินไทย พัฒนาสนามบินดอนเมือง เฟส 3 สนามบินเชียงใหม่ เฟส 1

“สีส้มตะวันตก บางขุนนนท์-มีนบุรี ติดกรอบวินัยการเงินการคลัง สำนักงบประมาณเสนอใช้งบฯปี”63 เสนอ ครม.ได้อีก 2 สัปดาห์”

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมเร่งให้แก้ปัญหาค่าเวนคืนมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ที่เพิ่ม 8,000 ล้านบาท รอคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า กรมทางหลวงดำเนินการตาม พ.ร.บ.เวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ 2562 และนำเงินกองทุน TFF สร้างทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก วงเงิน 29,154.230 ล้านบาท

ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน 224,544 ล้านบาท จะเชิญ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี และคณะกรรมการคัดเลือกหารือกับนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี วันที่ 23 ก.ย. หาแนวทางจะเซ็นสัญญา ยึดทีโออาร์เป็นหลัก มีแนวโน้มทั้ง 2 ฝ่ายจะเจรจาต่อไปอีก ซึ่ง ซี.พี.มีเวลาถึงพ.ย.ยืนกรอบวงเงิน 117,227 ล้านบาท สายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ รวมระบบเดินรถตลอดสายกว่า 122,000 ล้านบาท ที่ประชุมมอบให้นายอนุทินเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสรุป หลังกระทรวงการคลังมองว่า หากรัฐนำงานโยธา 96,000 ล้านบาท มาดำเนินการเอง ไม่ต้องเข้า PPP จะถูกกว่าหรือไม่ รถไฟไทย-จีน 179,413 ล้านบาท จะเซ็นสัญญา 2.3 งานระบบราง ไฟฟ้าและเครื่องกล 50,633 ล้านบาท ต.ค.-พ.ย.นี้

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟฯ กล่าวว่า ซี.พี.ส่งหนังสือตอบกลับมาแล้ว และแนบเอกสารเพิ่มเติมมาอีกมาก คณะกรรมการคัดเลือกโจะประชุมหารือ ในสัปดาห์หน้า

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือ ซี.พี.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้คงจะพูดรายละเอียดการเจรจามากไม่ได้ ทั้งนี้ กลุ่ม ซี.พี.ได้ตอบไปหมดแล้วว่า มีความตั้งใจที่จะเซ็นสัญญา เพราะมาถึงขั้นนี้แล้วกว่าจะประมูลเข้ามาได้ก็ใช้เวลาตั้งนาน อย่าเพิ่งถามว่าพร้อมเซ็นสัญญาเมื่อไหร่ ยังตอบไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถาม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ว่าจะเซ็นสัญญาได้ภายในปีนี้ได้หรือไม่ นายสมคิดตอบว่าได้
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42686
Location: NECTEC

PostPosted: 23/09/2019 4:19 pm    Post subject: Reply with quote

Mongwin wrote:
44 โปรเจ็กต์ 2 ล้านล้านฉลุย “สมคิด-ศุภชัย” มั่นใจปักหมุดไฮสปีดEEC
ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 21 September 2019 - 21:10 น.


เช็กชื่อฉลุย 44 เมกะโปรเจ็กต์ 1.9 ล้านล้าน ครม.เศรษฐกิจเร่งสปีดรถไฟฟ้าทุกสาย
การเมือง
วันที่ 20 กันยายน 2562 - 18:24 น.

วันที่ 20 กันยายน 2562 นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ หรือ ครม.เศรษฐกิจ แถลงผลการประชุมครม.เศรษฐกิจ ว่า ที่ประชุมครม.เศรษฐกิจรับทราบผลการดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (Mega Project) ของกระทรวงคมนาคม จำนวน 44 โครงการ วงเงินรวม 1,947,310 ล้านบาท

แบ่งออกเป็น งบประมาณแผ่นดิน 259,791 ล้านบาท เงินกู้ 1,201,056 ล้านล้านบาท เอกชนร่วมลงทุนรัฐ (PPP) 338,810 ล้านบาท และรายได้/กองทุน 147,654 ล้านบาท ส่วนความคืบหน้าในการเบิกจ่ายตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ-ปี 61 เบิกจ่ายแล้ว 210,788 ล้านบาท ปี 62 เบิกจ่ายแล้ว 90,254 ล้านบาท ปี 63 มีแผนเบิกจ่าย 206,040 ล้านบาท และปี 64 – ระยะต่อไป มีแผนเบิกจ่าย 1,392,972 ล้านบาท

44 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการที่ครม.อนุมัติแล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 17 โครงการ วงเงิน 782,329 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอร์เตอร์เวย์) 3 เส้นทาง ดังนี้ สายพัทยา-มาบตาพุด เปิดให้บริการ ก.ค.63 สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา เปิดให้บริการปี 65 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี คืบหน้าร้อยละ 22 ล้าช้ากว่าแผน 2 ปี ปัญหาค่ากรรมสิทธิ์ที่ดินสูงขึ้นต้องขออนุมัติปรับกรอบวงเงินเพิ่มเติมจากครม.

2.โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 จำนวน 7 สายทาง ระยะทางรวม 993 กิโลเมตร ดังนี้ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ก่อสร้างแล้วเสร็จ อีก 6 โครงการอยู่ระหว่างก่อสร้าง 3.โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา แบ่งงานโยธาออกเป็น 14 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 สัญญา เตรียมดำเนินการ 12 สัญญา

4.โครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง 2 สายทาง คือ ช่วงบางซื่อ-รังสิต และ ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน เปิดบริการปี 64 พร้อมสถานีกลางบางซื่อ 5.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี-สุวินทวงศ์ส่วนตะวันออก เปิดบริการปี 66 6.โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย – มีนบุรี เปิดบริการปี 64 7.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง เปิดบริการปี 64

8.โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายคลังขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย อยู่ระหว่างก่อสร้าง ส่วนการบริหารจัดการโครงการ ยังไม่สามารถเสนอขออนุมัติครม.เรื่องรูปแบบการลงทุน PPP ได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องค่าตอบแทนการใช้ที่ดินสปก.

แหล่งที่มาของงบประมาณ งบประมาณแผ่นดิน 169,176 ล้านบาท เงินกู้ 475,268 ล้านบาท PPP 126,037 ล้านบาท และรายได้/กองทุน 11,848 ล้านบาท

2.โครงการที่ครม.อนุมัติแล้วและอยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการ 12 โครงการ วงเงิน 412,739 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง ช่วงวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯด้านตะวันตก ใช้เงินกองทุน TFF ได้ผู้ชนะการประกวดราคาแล้ว 4 สัญญา แต่ยังลงนามสัญญาเพราะมีปัญหาข้อร้องเรียนของผู้เสนอราคา 3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษบูรณะ อยู่ระหว่างออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินและเตรียมการประกวดราคา

4.โครงการก่อสร้างเส้นทางสายใหม่ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ อยู่ระหว่างขอจัดสรรงบประมาณปี 63 เพื่อจ้างที่ปรึกษาจัดการประกวดราคาและเวนคืนที่ดิน 5.โครงการก่อสร้างเส้นทางสายใหม่ช่วงบางไผ่-มุกดาหาร-นครพนม อยู่ระหว่างขอรับจัดสรรงบประมาณปี 63 เพื่อจ้างที่ปรึกษาจัดการประกวดราคาและเวนคืนที่ดิน

6.โครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม อยู่ระหว่างจัดหาที่ดิน ส่วนการบริหารจัดการโครงการ คาดว่าจะประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนต้นปี 63 7.โครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง 3 สายทาง ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช เปิดบริการปี 66

8.โครงการก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) ช่วงที่ 3 สนามบินสุวรรณภูมิ อยู่ระหว่างทำ EHIA กำหนดเสร็จปี 65 9.โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 อยู่ระหว่างคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน 10.โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) คาดว่าจะลงนามในสัญญาร่วมลงทุนระหว่างบริษัทการบินไทยกับบริษัทแอร์บัส ภายใน ธ.ค.62 11.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อยู่ระหว่างเตรียมการลงนามในสัญญา

แหล่งที่มาของงบประมาณ งบประมาณแผ่นดิน 43,085 ล้านบาท เงินกู้ 286,432 ล้านบาท PPP 23,679 ล้านบาท รายได้/กองทุน 59,543 ล้านบาท

3.โครงการที่คณะกรรมการ PPP เห็นชอบแล้วและเสนอ สคร. เตรียมเสนอครม. 2 โครงการ วงเงิน 201,073 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี-สุวินทวงศ์ อยู่ระหว่างเสนอครม. อนุมัติงานโยธา 2.ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม ปรับรูปแบบการเดินรถตลอดสาย 2.มอร์เตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ อยู่ระหว่างออกกฎกระทรวงที่พักริมทาง และ สคร.จะเสนอครม.

แหล่งที่มาของงบประมาณ งบประมาณแผ่นดิน 32,960 ล้านบาท เงินกู้ 168,095 ล้านบาท รายได้/กองทุน 19 ล้านบาท

4.โครงการที่จะนำเสนอครม.ในระยะต่อไป 13 โครงการ วงเงิน 551,170 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง และ ช่วงบางซื่อ-หัวหมาก ระยะทาง 25.19 กิโลเมตร 2.โครงการก่อสร่างรถไฟทางคู่ ระยะที่สอง 7 สายทาง ระยะทางรวม 1,483 กิโลเมตร

3.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว 4.โครงการจัดหาเครื่องบิน ปี 62-69 จำนวน 38 ลำของบริษัทการบินไทย 5.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่สาม 6.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่หนึ่ง 7.โครงการศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา

แหล่งที่มาของงบประมาณ งบประมาณแผ่นดิน 14,569 ล้านบาท เงินกู้ 439,356 ล้านบาท รายได้/กองทุน 76,245 ล้านบาท
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44454
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 26/09/2019 8:58 am    Post subject: Reply with quote

บีโอไอหนุนระบบรางชูเป็นฮับภูมิภาค
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ -- พฤหัสบดีที่ 26 กันยายน 2562 00:00:37 น.

ไทยโพสต์ * บีโอไอจัดสัมมนาสร้างโอกาสผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยในอุตสาหกรรมระบบราง เผยแพร่สิทธิ์ส่งเสริม ตั้งเป้าเป็นศูนย์ กลางด้านโลจิสติกส์เชื่อมโยงกับ ภูมิภาค

นางสาวบงกช อนุโรจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง "อนาคตผู้ประกอบการไทยกับการผลิตชิ้น ส่วนในอุตสาหกรรมระบบราง" เมื่อวันที่ 25 ก.ย.2562 ว่า อุตสาห กรรมระบบรางและอุตสาหกรรม สนับสนุน เป็นหนึ่งในอุตสาห กรรมสำคัญที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาขึ้นใน ประเทศ ทั้งนี้ บีโอไอจึงได้จัดสัมมนาอุตสาหกรรมระบบรางครั้งนี้ขึ้น ซึ่งนับเป็นการจัดครั้ง แรก เพื่อเป็นเวทีกลางให้ทุกภาค ส่วนในอุตสาหกรรมได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมระบบ ราง รวมทั้งสิทธิประโยชน์ในการ ส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบราง เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับมาตรการส่งเสริม การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาห กรรมระบบรางนั้น บีโอไอได้เปิดให้การส่งเสริมใน 2 ส่วน คือ กิจการขนส่งทางราง และกิจการผลิตและ/หรือซ่อมรถไฟ ชิ้นส่วน หรืออุปกรณ์ระบบราง โดยมีสิทธิประโยชน์ดังนี้ กิจ การขนส่งทางรางจะได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี กิจการผลิตและ/ หรือซ่อมรถไฟ ชิ้นส่วน หรืออุปกรณ์ระบบราง จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติ บุคคล 5-8 ปี

โดยมี 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กิจ การผลิตขบวนรถและ/หรือตู้รถ เช่น ตู้รถโดยสาร ตู้สินค้า เป็นต้น จะได้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติ บุคคล 8 ปี 2.กิจการซ่อมรถไฟ หรือชิ้นส่วน หรืออุปกรณ์สำหรับ ระบบราง ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี และ 3.กิจการผลิตชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์สำหรับระบบราง ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี โดยต้องมีขั้นตอนการผลิตตามที่คณะ กรรมการเห็นชอบ

"การส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบราง จะช่วยพัฒนาระบบโล จิสติกส์ของไทย ช่วยพัฒนาขีดความสามารถของผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ และสร้างโอกาสให้กับ ผู้ประกอบการไทย ขณะเดียวกันจะช่วยให้มีการใช้ชิ้นส่วนในประ เทศเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ การพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางยังจะช่วย ผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การ เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในอาเซียน เชื่อมโยงการค้าและการลงทุนในภูมิภาคอีกด้วย" นางสาวบงกชกล่าว.
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44454
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 02/10/2019 6:56 am    Post subject: Reply with quote

เคลื่อน'ระเบียงศก.6' บูม'ใต้ตอนล่าง'
ฐานเศรษฐกิจ Wednesday, October 02, 2019 06:22

นอกจากเร่งขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (เอสอีซี) หรือเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแนวชายแดนแล้ว ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่างกำลังเร่งจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ ขับเคลื่อนแผนงานแนวระเบียงเศรษฐกิจที่ 6 (Economic Corridor 6 th-EC6) อย่างแข็งขัน

เมื่อเร็วๆ นี้ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับหน่วยงานภาควิชาการนำโดย ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) และตัวแทนนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) ได้จัดการประชุมระดมความคิดเห็นฝ่ายไทย เพื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์ ภายใต้โครงการสร้างความเข้าใจและความร่วมมือระดับอนุภูมิภาค หรือการพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย (Indonesia Malaysia Thai-Growth Triangle หรือ IMT-GT) โดยมีตัวแทนระดับหน่วยงานของรัฐ กลุ่มตัวแทนของภาคเอกชน และภาควิชาการ เข้าร่วมระดมความคิดเห็น จำนวน 30 คน

นางสาวศรีพร เกิดคง ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของโครงการสร้างความเข้าใจและความร่วมมือระดับอนุภูมิภาค IMT-GT เพื่อเตรียมพร้อมในการจัดทำแผนแม่บท ECC เพื่อสร้างความร่วมมือในระดับหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจในพื้นที่ กลุ่มตัวแทนของภาคเอกชน และภาคประชาชน

ผศ.ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ มอ. กล่าวว่า นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมการสำหรับการศึกษาสำรวจโครงการ PCP และโครงการสำคัญในแนว EC6 โดยมีกรอบดำเนินการระหว่างวันที่ 27 กันยายน-1 ตุลาคม 2562 จากนั้นจะได้มีการจัดประชุมร่วมกับภาครัฐ เอกชน และวิชาการ ของมาเลเซีย เพื่อจับคู่ความร่วมมือ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์และโกตาบารู และกับประเทศอินโดนีเซียอีก 2 ครั้งเช่นกัน ที่ปาเล็มบังและจาการ์ตา

วงหารือสรุปประเด็นที่จะนำไปประชุมร่วมกับประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ดังนี้

1.ประเด็นหารือกับทางมาเลเซีย ประกอบด้วย
1.1 การเชื่อมโยงทางการขนส่งและโลจิสติกส์โดยรถไฟทางคู่ เส้นทางจาก โคกโพธิ์-สุไห-โกลก-กัวลาลัมเปอร์ เพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยว

1.2 เรื่องจุดผ่อนปรนบริเวณด่านการค้าชายแดนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส) กับประเทศมาเลเซีย พื้นที่จังหวัดนราธิวาส 3 จุด

1.3 เรื่องการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร โดยนำเสนอจุดแข็งของฝั่งประเทศไทยทั้งในเรื่องของความพร้อมด้านทรัพยากรและเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อชักจูงนักลงทุนในมาเลเซียเข้ามาลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัด และร่วมแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศในเรื่องการเกษตร และอุตสาหกรรมการเกษตร

2.ประเด็นหารือกับอินโดนีเซีย ประกอบด้วย

2.1 ด้านการศึกษา ชักชวนให้อินโดนีเซียเข้ามาเรียนในประเทศไทยมากขึ้น และการศึกษาร่วมกันทั้ง 2 ประเทศ

2.2 เรื่องการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร โดยนำเสนอจุดแข็งและความพร้อมทางด้านเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรในพื้นที่ 3 จังหวัด เพื่อชักจูงให้เกิดการค้าการลงทุนร่วมกัน รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีร่วมกันในวงประชุมตั้งโจทย์ว่า การขับเคลื่อนแผนงาน EC6 ทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน เช่น ไทยผลิตวัตถุดิบแล้วให้มาเลเซียนำไปแปรรูป หรือชักจูงนักลงทุนมาเลเซียมาตั้งโรงงานแปรรูปยางพาราในไทยที่เป็นแหล่งผลิตใหญ่สุด เป็นต้น

ขณะที่ไทยต้องการเชื่อมโยงเพื่อนบ้านเพื่อให้เกิดการขนส่งสินค้าโลจิสติกส์ที่รวดเร็ว โดยมีแผนจะทบทวนการทำ Single Checkpoint การเจรจาการส่งออกเนื้อแพะสดและแปรรูปไปมาเลเซีย การยกระดับโรงงานในด้านการผลิตให้ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับร่วมกับกันมาเลเซียและอินโดนีเซีย และการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟ สุไหง-โกลก-ปาเสมัส-ตุมปัต เป็นต้น

พื้นที่การพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจที่ 6 ประกอบด้วย จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส ของไทย รัฐเปรัก กลันตัน ของมาเลเซีย และสุมาตราใต้ ของอินโดนีเซีย

ที่มา: นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 3 - 5 ต.ค. 2562
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44454
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 02/10/2019 6:59 am    Post subject: Reply with quote

รับเหมาชิงเค้กแสนล.อานิสงส์บิ๊กโปรเจ๊กต์รัฐ
ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 03 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ยักษ์รับเหมาชิงเค้กเมกะโปรเจ็กต์แสนล้าน นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ ดึงนวัตกรรมเสริมแก้เหล็ก-วัสดุ-แรงงานขาดแคลน ด้าน รมช.คมนาคม "ถาวร เสนเนียม" ยันเอกชนได้อานิสงส์โครมใหญ่ ทั้ง 10 สนามบิน -ไฮสปีด-ทางด่วน

นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ เผยว่า มูลค่าของอุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาทต่อปี ในฐานะสมาคมเราไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาวงการดังกล่าวด้วยการกระจายงานและสร้างการจ้างงานที่มีคุณภาพ พร้อมกับส่งเสริมการนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการก่อสร้าง อาทิ การนำเอาเทคโนโลยี BIM มาปรับใช้ ด้านทิศทางในปีนี้คาดว่าจะเติบโตโดยมีปัจจัยบวกมาจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมของภาครัฐและคอนโดมิเนียมตามแนวระนาบรถไฟฟ้า

ทั้งนี้ในส่วนของสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯยังเล็งเห็นถึงปัญหาต่างๆ ที่พร้อมจะเร่งดำเนินการ อาทิ การขาดแคลนแรงงาน จึงมีความจำเป็นที่จะเร่งหาเข้ามาเสริมพร้อมกับเพิ่มทักษะเพื่อสร้างศักยภาพให้กับแรงงาน ด้านวัสดุก่อสร้างส่วนที่สำคัญและน่าจับตามอง คือ เหล็กไทยที่กำลังมีปัญหาในขณะนี้ ขณะเดียวกันทางสมาคมได้ส่งเสริมให้ตัวแทนผู้ผลิตคิดค้นวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย

"ดูเหมือนว่าภาพรวมของการก่อสร้างในไทยยังมีสัญญาณที่ดี โดยเฉพาะการลงทุนภายในประเทศ คาดว่าจะเพิ่มโอกาสให้กับผู้รับเหมา ขณะเดียวกันด้านวัสดุก่อสร้างหลากหลายองค์กรมองหาโซลูชันและคิดค้นสินค้าใหม่ๆออกมาโดยเฉพาะเทรนด์รักษ์โลก อาทิ การวางเป้าจัดการของเสียในกระบวนการก่อสร้างจากทางเอสซีจี เป็นต้น และอีกมิติที่สำคัญและคาดว่าจะเข้มข้นโดยส่งผลให้อุตสาหกรรมก่อสร้างนี้เติบโตต่อไปอย่างแน่นอน คือ การลงทุนในพื้นที่ต่างๆของ EEC"

สำหรับทิศทางอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในปี 2562 แนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น 6.5% จากปี 2561 แบ่งเป็นแรงส่งจากภาครัฐ 9% และเอกชน 3.5% การก่อสร้างจากภาครัฐที่คาดว่าเติบโตราว 9% นั้นคิดเป็นมูลค่า 8.15 แสนล้านบาท โครงการที่มาจากทางภาครัฐ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ อาทิ รถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-คูคต) ทางด่วนพระราม 3 ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก และรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ -หนองคาย ขณะการก่อสร้างจากภาคเอกชนที่คาดว่าเติบโต 3.5% หรือคิดเป็น 5.6 แสนล้านบาท มีผลมาจากคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้า โครงการที่น่าสนใจจากภาคเอกชน โครงการ วันแบงค็อก, เดอะฟอเรสเทียร์ และ แบงค็อก มอลล์ เป็นต้น

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผยว่า เอกชนจะได้รับอานิสงส์ จากการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ เนื่องจากขณะนี้ ภาครัฐให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานเพราะจำเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศทั้งการเดินทางและการขนส่งสินค้า ฉะนั้นทางกระทรวงคมนาคมเราจึงมุ่งเน้น ในเรื่องการจัดงบประมาณ การก่อสร้างทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รถไฟฟ้าสายสีส้ม ค.ร.ม.ได้ลงมติเป็นที่เรียบร้อย นอกจากนี้ในอนาคตยังมีอีกหลากหลายโครงการ ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC, มอเตอร์เวย์สายต่างๆ รถไฟรางคู่

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น การขนส่งทางอากาศ จะก่อสร้างเฟส 2 สนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งการก่อสร้างเพื่อรองรับการขยายตัวทางอากาศที่มีความแออัด ทั้งดอนเมืองและสุวรรณภูมิ โดยอาจจะเป็นสนามบินแห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ นอกจากนั้น สนามบินเชียงใหม่มีความแออัดอาจจะสร้าง สนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 หรือแม้แต่ภูเก็ตขณะนี้ค่อนข้างแออัดเช่นกัน ส่วนการก่อสร้างในภูมิภาคที่จะเชื่อมโลกเชื่อมไทยสู่เมืองรอง บริการด้วยใจ และหรือได้มาตรฐานครอบคลุมทุกพื้นที่ จากนี้ปี 2561-2567 รัฐบาลได้มีโครงการที่จะขยายสนามบินในภูมิภาค โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ 10 สนามบิน ด้านทางน้ำมีการก่อสร้างท่าเรือแห่งที่ 2 โดยจะเน้นรการขนส่งทางน้ำเพื่อลดค่าใช้จ่าย ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นคาดว่าอุตสาหกรรมก่อสร้างยังเติบโตอย่างแน่นอน
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44454
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 02/10/2019 7:27 am    Post subject: Reply with quote

บิ๊กโปรเจ็กต์1.6ล้านล.สะดุด
ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 03 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ติดล็อกการเมือง-รัฐวิสาหกิจไร้บอร์ด

ฝันค้างเมกะโปรเจ็กต์ปลุกเศรษฐกิจ สารพัดปัญหา ปมเวนคืนติดล็อกกฎหมาย ป่วนลงทุนรัฐวิสาหกิจ 1.6 ล้านล้าน การเมืองรื้อบอร์ด ปลดผู้บริหาร ทำโครงการใหญ่สะดุด คมนาคมแป้กทั้งรถไฟฟ้า-ด่วนพระราม 3 -เทอร์มินอล 2 สุวรรณภูมิ เร่งอีอีซีสุดฤทธิ์ "มาบตาพุดเฟส 3-ไฮสปีด 3 สนามบิน อู่ตะเภา-เมืองการบิน" เซ็นสัญญา ต.ค.นี้

แผนลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐซึ่งถูกตั้งความหวังให้ช่วยปลุกเศรษฐกิจ เพิ่มความเชื่อมั่นในระยะยาว อาจไม่เป็นไปตามที่คาด

44 โปรเจ็กต์คมนาคมสะดุด

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคม จำนวน 44 โครงการ มูลค่ากว่า 1.94 ล้านล้านบาท เป็นอีก 1 ฟันเฟีอง ที่รัฐบาลจะใช้ในการขับเคลื่อนการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจยังไม่สามารถผลักดันลงทุนออกมาได้ เนื่องจากบางหน่วยงานยังไม่มีผู้บริหารสูงสุด และคณะกรรมการ (บอร์ด) มาช่วยผลักดัน ขณะที่บางโครงการติดระเบียบขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ และปมร้องเรียนการประมูล เมื่อคิดเป็นมูลค่าแล้วอยู่ที่กว่า 1.6 ล้านล้านบาท (ดูตารางประกอบ)

โครงการใหญ่ค้างเพียบ

โดยโครงการที่มีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถลงทุนได้ตามแผนหรือล่าช้า ประกอบด้วย โครงการของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (เตาปูนราษฎร์บูรณะ) มูลค่าลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท ต้องรออนุมัติเวนคืนและเปิดประมูล และสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม) กว่า 1.22 แสนล้านบาท ยังต้องหาข้อสรุปใหม่ จะ PPP ทั้งก่อสร้างและเดินรถ หรือจะแยกประมูลคนละสัญญาตามนโยบาย รมว.คมนาคม

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มีโครงการรออนุมัติ เช่น ผลประมูลทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนองวงแหวนตะวันตก จำนวน 4 สัญญา วงเงิน 29,154 ล้านบาท เนื่องจากมีข้อร้องเรียนขั้นตอนประมูล ล่าสุดบอร์ดอนุมัติแล้ว 2 สัญญา เหลือ 2 สัญญารอความชัดเจนจากกรมบัญชีกลาง ซึ่งต้องเร่งเซ็นสัญญาโดยเร็วเพราะใช้เงินกองทุน TFF หากล่าช้าจะมีต้นทุนดอกเบี้ย และทำให้การเบิกจ่ายงบฯลงทุนล่าช้าด้วย นอกจากนี้มีสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ที่จะขยายอายุให้ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) 30 ปี แลกกับการยุติข้อพาททั้งหมด ทางด่วนกะทู้-ป่าตอง และทางด่วน N2

เร่งดิวตี้ฟรีดอนเมือง-รื้อบินไทย

ขณะที่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) มีโครงการเทอร์มินอล 2 และรันเวย์ที่ 3 สนามบินสุวรรณภูมิ ขยายสนามบินดอนเมือง เฟส 3 และประมูล ดิวตี้ฟรีสนามบินดอนเมือง ซึ่งคิง เพาเวอร์ จะสิ้นสุดสัญญาในเดือน ก.ย. 2565 โดย ทอท.เตรียมขายทีโออาร์ประมูลเดือน ต.ค.นี้ สำหรับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) หลังการเมืองเปลี่ยนจะทบทวนแผนฟี้นฟูใหม่ เช่น การจัดหารถใหม่ 2,188 คัน วงเงิน 1.9 หมื่นล้าน ล่าสุดจะเปลี่ยนเป็นจ้างเอกชนเดินรถแทนเพื่อลดต้นทุน

ด้าน บมจ.การบินไทยที่กำลังเร่งรัด คือ แผนฟี้นฟูกิจการและจัดหาฝูงบินใหม่ 38 ลำ กว่า 1.56 แสนล้านบาท บอร์ดได้สั่งทบทวนใหม่ ทั้งในส่วนของสมมติฐานในโครงการจัดหาเครื่องบิน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของอุตสาหกรรมการบินที่เปลี่ยนแปลงเร็ว และทบทวนแหล่งเงินทุนให้สอดคล้องเหมาะสม

ขณะที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) มีโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 มูลค่ากว่า 8.4 หมื่นล้าน ที่กำลังเร่งผลักดัน เพราะเป็น 1 ใน 5 โครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมถึง การปรับปรุงท่าเรือคลองเตยด้วย

3 เมกะโปรเจ็กต์อีอีซีเซ็น ต.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในพื้นที่อีอีซี 5 โครงการ วงเงินลงทุน 652,559 ล้านบาท ที่เปิดให้เอกชนร่วม PPP ยังติดฟ้องอุทธรณ์บางโครงการ จาก 5 โครงการ คาดว่า จะเซ็นสัญญาได้ในเดือน ต.ค.นี้ 3 โครงการ มูลค่า 569,944 ล้านบาท

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยว่า จะมี การลงนามสัญญาท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 วงเงิน 55,400 ล้านบาท กับกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์ฯ และพีทีที แทงค์ วันที่ 1 ต.ค. เป็นโครงการแรกในอีอีซี

2.พัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก มูลค่า 290,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างพิจารณาซองคุณสมบัติที่ 2 เทคนิค ของ 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS และ 2.กลุ่มแกรนด์คอร์โซเตียม คาดว่าจะได้ตัวเอกชนเซ็นสัญญาเดือน ต.ค.นี้

3.รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท มีกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ผ่านการคัดเลือก จะเชิญเอกชนมาหารือส่งมอบพื้นที่ให้เสร็จก่อนลงนามวันที่ 15 ต.ค. เวลา 13.00-16.30 น.

สำหรับท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F มูลค่า 84,361 ล้านบาท ของการท่าเรือฯ หลังศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวกลุ่มกิจการร่วมค้า NPC ให้กลับเข้าร่วมประมูลโครงการได้ กพอ.และ กทท.กำลังพิจารณาจะอุทธรณ์คำสั่งภายใน 30 วัน โดยหยุดพิจารณาซองคุณสมบัติไว้ก่อน

"ศักดิ์สยาม" เร่งตั้งบอร์ด

ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ตนเข้าใจทุกภาคส่วนดีว่ามีความหวังจะให้โครงการลงทุนของคมนาคมช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจประเทศ ซึ่นพยายามแก้ปัญหาและเร่งรัดทุกโครงการให้ประมูลก่อสร้างได้ตามเป้า แต่เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่ใช้เงินลงทุนสูงจะติดปัญหาเรื่องงบประมาณ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และระเบียบขั้นตอนการประมูลที่มี การร้องเรียนเกิดขึ้น ทำให้บางโครงการล่าช้า

สำหรับปัญหาเรื่องบอร์ดรัฐวิสาหกิจได้เห็นชอบรายชื่อผู้ที่จะไปนั่งประธานบอร์ดรัฐวิสาหกิจที่ลาออกให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) อนุมัติแล้ว มีการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ส่วน บอร์ดการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ยังไม่ได้แต่งตั้ง เนื่องจากต้องการให้สางงานเก่าที่ค้างอยู่ให้เสร็จเรียบร้อย

"กทพ.ยังเจรจาสัมปทานทางด่วน ค้างกับ BEM ที่ผมให้พิจารณาทางเลือกเพิ่ม ส่วน ทอท.บอร์ดก็ทำผลกำไรดี แต่อยากให้เร่งเทอร์มินอล 2 สนามบินสุวรรณภูมิให้เสร็จก่อน ด้านบอร์ดการบินไทย ใครที่อายุเกินก็หมดวาระ และแต่งตั้งใหม่ ส่วนบอร์ดการรถไฟฯได้รับรายงานแล้วว่าลาออก จะรีบตั้งโดยเร็วที่สุด"

ลงทุนรัฐวิสาหกิจติดล็อก

ด้านแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า การเร่งรัดโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจเกิดปัญหาความล่าช้า เนื่องจากหลังเปลี่ยนแปลงผู้บริหารฝ่ายการเมือง แต่ละกระทรวงจะมีการปรับเปลี่ยนตัวผู้บริหารและกรรมการรัฐวิสาหกิจหน่วยงานในสังกัด มีทั้งปลดและการส่งสัญญาณให้ลาออก อย่างกระทรวงคมนาคม ก่อนหน้านี้มีการปลดผู้ว่าการ กทพ., บอร์ด รฟม. ส่วนบอร์ด กทท.ถูกให้ลาออกยกชุด และบอร์ด ร.ฟ.ท.ก็ลาออกยกชุดด้วย สำหรับบอร์ด บมจ.การบินไทย มีกระแสข่าวว่าฝ่ายการเมืองก็ต้องการปรับเปลี่ยน ส่วนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สังกัดกระทรวงพลังงาน ขณะนี้ ยังไม่มีประธานบอร์ด

รฟม.-กฟผ.ลุ้น ปธ.บอร์ดคนใหม่

ปัจจุบันการแต่งตั้งบอรด์ต้องมีการสรรหา ต้องแต่งตั้งบุคคลตามความเชี่ยวชาญเฉพาะ (skill matrix) และการแต่งตั้งกรรมการอื่นที่ไม่ใช่กรรมการโดยตำแหน่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ก็ต้องเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญการทำงานในภาคธุรกิจไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการอื่น ที่สำคัญ หากรัฐวิสาหกิจไหนกำหนดว่าต้องแต่งตั้งจากบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ (ไดเร็กเตอร์พูล) ก็ต้องเลือกจากบัญชีดังกล่าว ซึ่งต้องมีการเสนอรายชื่อ 2 เท่าของตำแหน่งที่ขาด ส่งให้อนุกรรมการกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจ ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯเป็นประธานคัดเลือก

"ตอนนี้โครงการลงทุนรัฐวิสาหกิจหลายแห่งเกิดการติดขัด บางส่วน ทำไม่ได้ เพราะจะมีปัญหาในการประชุมบอร์ด เช่น ถ้าไม่มีประธานบอร์ด ก็ไม่ครบองค์ประกอบ"

นายจุมพล ริมสาคร รองปลัดกระทรวงการคลัง กำกับดูแลภารกิจด้านทรัพย์สิน กล่าวว่า การตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ปัจจุบันต้องเลือกจากบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ หรือ ไดเร็กเตอร์พูล ที่จะมีผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ อยู่ โดยกระทรวงเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจต้องเลือกแต่งตั้งจาก รายชื่อที่มีอยู่ในบัญชี ขณะนี้ในบัญชี รายชื่อ บางสาขาก็ขาดคน ซึ่งจะ ประกาศรับสมัครผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาเข้ามาอยู่ในไดเร็กเตอร์พูลในต้นเดือน พ.ย.นี้

สภาพัฒน์แก้กฎหมายใหม่

แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะนี้งบฯ ลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณ 2563 ล่าช้าออกไปราว 1 เดือน เนื่องจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อยู่ในช่วงรอยต่อ ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายสภาพัฒน์ ทำให้ช่วงที่ผ่านมาไม่สามารถพิจารณาอนุมัติงบฯลงทุนรัฐวิสาหกิจปีงบฯ 2563 และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติได้ทันก่อนสิ้น ก.ย.
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44454
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 10/10/2019 7:52 am    Post subject: Reply with quote

"...สาเหตุหลักที่ทำให้อันดับของประเทศไทยด้านโครงสร้างพื้นฐานแย่ลงเกิดจากความหนาแน่นของระบบทางรถไฟ และความมีประสิทธิภาพของการให้บริการรถไฟ..."

ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) คะแนนของประเทศไทยลดลงจาก 69.7 เป็น 67.8 โดยอันดับตกจาก 60 เป็น 71 ซึ่งประเทศไทยทำได้ดีในเรื่องการเข้าถึงไฟฟ้าและการเชื่อมต่อของสนามบิน

กรุงเทพธุรกิจ 10 ต.ค. 62
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/850249

Click on the image for full size

-----

คะแนนโครงสร้างพื้นฐานร่วง กดอันดับขีดแข่งขันไทย
กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2562

World Economic Forum (WEF) รายงานดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index : GCI) ปี 2562 ประเทศไทยมีดัชนีความสามารถทางการแข่งขันอยู่ใน อันดับที่ 40 ลดลงจากปี 2561 ที่อยู่ใน อันดับที่ 38 จากทั้งหมด 141 ประเทศ ซึ่งการที่ไทยหล่นลงมาอยู่อันดับที่ 40 เป็นอันดับที่เท่ากับปี 2561

นายวิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การจัดอันดับของ WEF แบ่งตัวชี้วัดออกเป็น 4 มิติ โดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ได้เข้าไปวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของประเทศไทยในปีที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับปีก่อนรายมิติพบว่า

มิติที่ 1 สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย (Enabling Environment) ประเทศไทยได้คะแนน 273 คะแนน จากคะแนนเต็ม 400 คะแนน ซึ่งในด้านสภาพแวดล้อม หน่วยงาน (Institutions) ของไทยได้คะแนนลดลงจาก 55.1 เป็น 54.8 โดยอันดับด้านนี้ลดลงจาก 60 เป็น 67 แต่ก็ยังอยู่ในระดับกลาง เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) คะแนนของประเทศไทยลดลงจาก 69.7 เป็น 67.8 โดยอันดับตกจาก 60 เป็น 71 ซึ่งประเทศไทยทำได้ดีในเรื่องการเข้าถึงไฟฟ้าและการเชื่อมต่อของสนามบิน

ส่วนสาเหตุหลักที่ทำให้อันดับของประเทศไทยด้านโครงสร้างพื้นฐานแย่ลงเกิดจากความหนาแน่นของระบบทางรถไฟ และความมีประสิทธิภาพของการให้บริการรถไฟ

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้คะแนนดีขึ้นในส่วนของอัตราการเกิดอาชญากรรมและข้อกำหนดเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน ในส่วนของด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT Adoption) คะแนนดีขึ้นจาก 56.6 เป็น 60.1 อันดับขึ้นจาก 64 เป็น 62

ประเทศไทยได้คะแนนในระดับ "ดีมาก"ในด้านการใช้โทรศัพท์มือถือ ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic Stability) คะแนนดีขึ้นเล็กน้อยจาก 89.9 เป็น 90 โดยอันดับขึ้นจาก 48 เป็น 43 เนื่องจากเราควบคุมระดับเงินเฟ้อได้ดี

มิติที่ 2 ทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital) ไทยได้คะแนน 151 คะแนน จากคะแนนเต็ม 200 คะแนน มาจากตัวชี้วัดด้านสาธารณสุข (Health) ซึ่งได้คะแนนดีขึ้นจาก 87.3 เป็น 88.9 โดยอันดับขึ้นจาก 42 เป็น 38
ตัวชี้วัดด้านทักษะ (Skills) คะแนนลดลง จาก 63 เป็น 62.3 โดยอันดับลดลงจาก 66 เป็น 73 แต่ก็ยังอยู่ในระดับกลางเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน สาเหตุหลักที่ทำให้อันดับของประเทศไทยทางด้านทักษะลดลงเกิดจากทักษะของผู้สำเร็จการศึกษาแย่ลง และการสอนให้คิดเชิงวิพากษ์ที่ยังทำได้ไม่ดีนัก

มิติที่ 3 ตลาด (Markets) ไทยได้คะแนน 277 คะแนนจาก 400 คะแนน โดย
ด้านการแข่งขันภายในประเทศ (Product Market) ซึ่งใช้เป็นตัวชี้วัดว่า ในแต่ละประเทศมีการดำเนินนโยบายที่ทำให้การแข่งขันในตลาดมีความผิดเพี้ยนไปเพียงใดและเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนใดหรือไม่นั้น ประเทศไทยมีคะแนนใกล้เคียงเดิม คือ จาก 53.4 เป็น 53.5 แต่อันดับดีขึ้นมากจาก 92 เป็น 84
ด้านตลาดแรงงาน (Labor Market) มีคะแนนใกล้เคียงเดิมเช่นกัน คือ จาก 63.3 เป็น 63.4 และอันดับลดลงจาก 44 เป็น 46 แต่ในทางกลับกันกับประเทศเพื่อนบ้านที่กลายเป็นจุดเด่นของเวียดนาม ลาวและบรูไนที่มีการเติบโตสูงมากเมื่อเทียบกับปี 2561
ด้านระบบการเงิน (Financial System) มีคะแนนสูงขึ้น คือ จาก 84.2 เป็น 85.1 โดยอันดับตกลงเล็กน้อยจาก 14 เป็น 16 แต่อย่างไรก็ต้องถือว่า ระบบตลาดเงิน ตลาดทุนของเรามีความพร้อมค่อนข้างมาก มีการพัฒนาที่ดีมาโดยตลอด และเป็น อันดับต้นๆ ของโลก ด้านขนาดของตลาด (Market Size) มีคะแนนสูงขึ้น คือ จาก 74.9 เป็น 75.5 โดยเป็นอันดับที่ 18 คงที่จากปีที่แล้ว

มิติที่ 4 ระบบนิเวศของนวัตกรรม(Innovation Ecosystem) ไทยได้คะแนน 116 คะแนน จาก 200 คะแนน โดยด้าน การเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ (Business Dynamism) มีคะแนนสูงขึ้น คือ จาก 71 เป็น 72 อันดับสูงขึ้น จาก 23 เป็น 21 เนื่องจากความคล่องตัวของธุรกิจในประเทศไทยดีขึ้น จากทั้งเงื่อนไขต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจที่ดีขึ้น และแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการที่มากขึ้น
ส่วนด้านความสามารถทางนวัตกรรม (Innovation Capability) มีคะแนนสูงขึ้น คือ จาก 42.1 เป็น 43.9 อันดับสูงขึ้นจาก 51 เป็น 50 โดยความสามารถด้านนวัตกรรมดีขึ้น จากปัจจัยทุกด้าน ทั้งการสร้างความร่วมมือ ในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ การวิจัยและพัฒนา รวมถึงการนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์

ตัวเลขดัชนีชี้วัดดังกล่าวในปีนี้คงเป็นผลสะท้อนจากการพัฒนาประเทศไทยในปีที่ผ่านมา แต่บทสรุปของดัชนีต่างๆ คงไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขว่า เพิ่มขึ้นหรือน้อยลงเพียงเท่านั้น เนื่องจากความสามารถทางการแข่งขันในเวทีโลกที่เพิ่มขึ้นไม่ได้เกิดจากการพัฒนาประเทศตามลำพัง แต่เกิดจากความสามารถในเชิงเปรียบเทียบกับการพัฒนาของประเทศอื่นๆ อีกด้วย แม้ว่า ระดับความสามารถของประเทศเพิ่มขึ้น แต่บริบทของเศรษฐกิจโลกก้าวพัฒนาไปมากกว่า จึงต้องอาศัยกลยุทธ์การพัฒนาที่เหนือกว่าประเทศคู่แข่งขันเป็นสำคัญ

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการวิเคราะห์ตัวชี้วัดทั้งหมดจากผลข้อมูลจากองค์กร WEF พบว่า หากมีการเร่งพัฒนาในเรื่องของการลดการทุจริต ปรับปรุงคุณภาพของ โครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาทักษะของคน ในประเทศ และมีนโยบายที่ช่วยลดช่องว่างในการแข่งขันของตลาดภายในประเทศ ซึ่งเป็นดัชนีที่มีค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักมาก แต่ประเทศไทยเรายังทำได้ไม่ดีนัก และถ้าหากมี การปรับปรุงในส่วนนี้ได้ก็จะสามารถทำให้มีอันดับการแข่งขันที่ดีขึ้นมาได้

ในขณะที่ การพัฒนาในเรื่องการ ควบคุมอัตราเงินเฟ้อ การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และการมีสุขภาพดีอายุที่ยืนยาวของคนในประเทศ ซึ่งเป็นดัชนีที่มีค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักมาก และประเทศไทยทำได้ดีอยู่แล้ว รวมทั้งสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไปได้ง่าย ก็จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศไทยได้อย่างก้าวกระโดด และส่งผลต่อการพัฒนาประเทศให้อยู่ในอันดับที่สูงขึ้นต่อไปได้
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 103, 104, 105 ... 121, 122, 123  Next
Page 104 of 123

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©