Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Ads Service

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311232
ทั่วไป:13179689
ทั้งหมด:13490921
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าวรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช)
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ข่าวรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช)
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 8, 9, 10 ... 12, 13, 14  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคต
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42623
Location: NECTEC

PostPosted: 27/10/2020 9:08 pm    Post subject: Reply with quote

ปั้น TOD ศาลายา เน้นเดินเช่ือมรถไฟฟ้าสายสีแดง
Thaimotnews
27 ตุลาคม 2563 เวลา 20:30 น.

ม.มหิดล ศาลายาเดินหน้าตามแผนสนับสนุนของทุนวิจัยจาก บพท.ผนึกภาคส่วนในพื้นที่เดินหน้าโครงการแนวทางการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่พัฒนารอบสถานีขนส่งมวลชนเพื่อเป็นเมืองอัจฉริยะน่าอยู่กรณีศึกษาสถานีศาลายา เน้นความสะดวกของการเดินเชื่อมต่อมายังสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง
ผศ.ดร.วศพร เตชะพีรพานิช หัวหน้าโครงการแนวทางการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่พัฒนารอบสถานีขนส่งมวลชน(TOD) เพื่อเป็นเมืองอัจฉริยะน่าอยู่กรณีศึกษาสถานีศาลายา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โครงการนี้คณะทำงานประกอบด้วยดร.สมศิริ เชียววัฒนกุล,ผศ.ดร.ลลิตา นฤปิยะกุล ,ดร.ศิรดล ศิริธร โดยได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่(บพท.) ภายใต้โปรแกรมที่ 13 นวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนนวัตกรรม แผนงานริเริ่มสำคัญ(Flagship) มหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ และเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่ Smart City โดยเป็นการต่อยอดในการออกแบบพื้นที่จากแผนงานวิจัยเดิมคือ การพัฒนาระบบขนส่งทางรางเพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลในปีพ.ศ.2558 - 2561 โดยครอบคลุมการศึกษาจุดเริ่มต้นและจุดปลายทางการเดินทาง ความสามารถในการบริการของระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่ รวมทั้งการกำหนดจุดเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนและเส้นทางการเดินเท้าเพื่อเสนอเป็นแผนการปรับปรุงให้รองรับการเกิดขึ้นของสถานีศาลายาเพื่อประชาชนได้มาใช้สถานีได้อย่างสะดวก เชื่อมได้กับระบบขนส่งมวลชนที่หลากหลาย เช่น รถเมล์ รถตู้ รถสองแถว
โครงการที่สนับสนุนโดย บพท นี้ เป็นแนวทางการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่พัฒนารอบสถานีขนส่งมวลชนเพื่อเป็นเมืองอัจฉริยะน่าอยู่กรณีศึกษาสถานีศาลายาจะเป็นการศึกษาที่ต่อยอดในมิติต่างๆ เช่น เชิงกายภาพ ที่ได้ออกแบบไปแล้วมาหาแนวทางการปฎิบัติจริงจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนมีความสนใจจะสามารถลงทุนได้อย่างไร จะมีปัญหาอุปสรรคดำเนินการอย่างไร
โดยการวางผังพื้นที่โครงการดังกล่าวไม่ได้เน้นเฉพาะพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายาเท่านั้น แต่รวมถึงพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟศาลายา ในรัศมีประมาณ 500 เมตรจากศูนย์กลางคือสถานีศาลายา ซึ่งจัดว่าเป็นศูนย์เศรษฐกิจสำคัญในโซนนี้ และมีชุมชุนอยู่อาศัยและอาคารหน่วยราชการหลายแห่ง ปัจจุบันพื้นที่โดยรอบสถานีศาลายามีเจ้าของพื้นที่ดินรายใหญ่ 3 ราย คือ มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และการรถไฟแห่งประเทศไทยจึงได้รับการผลักดันจากผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมืองและ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ให้ “ศาลายา” เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาโดยรอบสถานีขนส่งมวลชนตามหลักการ TOD ได้ง่ายกว่าพื้นที่อื่นๆ
ประการสำคัญพื้นที่ศาลายานี้จะแตกต่างกับพื้นที่อื่นคือ ไม่ใช่พื้นที่ใจกลางเมืองหลวง อย่าง กรุงเทพฯ แต่เป็นเมืองครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ นครปฐม กรุงเทพฯ และนนทบุรี เรียกได้ว่าเป็นโครงการนำร่องของ 3 เมือง นอกจากนั้นพื้นที่ศาลายากำลังเติบโตเป็นเมืองแห่งการเชื่อมโยงที่มีศักยภาพมากขึ้นตามแผนพัฒนาของกรุงเทพฯ เนื่องจากมีความพร้อมด้านที่ดิน ความหลากหลายของระบบขนส่งมวลชนรองในพื้นที่ และเศรษฐกิจท้องถิ่นที่เฉพาะตัวและเข้มแข็ง
ในส่วนของมหาวิทยาลัยมหิดลได้มีเตรียมการรองรับด้วยการปรับแก้แผนแม่บทของมหาวิทยาลัยมหิดลเตรียมพื้นที่ที่จะเปิดประตูให้เชื่อมต่อตรงไปยังสถานีศาลายา เป็นถนนกว้าง 12 เมตรเพื่อรอการบูรณาการเชื่อมต่อเป็นทางเดินหรือสกายวอล์คออกไปยังสถานีศาลายา และใช้ระบบรถแทรมที่วิ่งบริการภายในมหาวิทยาลัยให้มาจอดรับ-ส่งบริเวณประตูดังกล่าว
นอกจากนั้นภาคส่วนอื่นๆ ยังมีรับหน้าที่ไปดำเนินการจากโครงการแผนวิจัยที่ผ่านมาควบคู่กันไปด้วย เช่น เทศบาล กรมทางหลวงชนบท เป็นต้น เช่น เทศบาลได้พัฒนาพนังกันน้ำและพื้นที่ทางเดินตามแนวคลองมหาสวัสดิ์ไปบ้างบางส่วน ดังนั้นจึงพอจะเริ่มมองเห็นทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองหรือพื้นที่ศาลายาว่าจะไปในทิศทางใดให้พร้อมรองรับการเปิดรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนและการเติบโตของพื้นที่ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาโครงการวิจัยนี้ยังได้บูรณาการความร่วมมือกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่
โดยโครงการนี้จะแบ่งออกเป็น 3 โครงการย่อย คือ 1. กลไกการปรับตัวของเศรษฐกิจท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการหาแนวทางร่วมทุนในการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีศาลายา 2. ใช้แอพพิเคชั่น “ศาลายาเพื่อนเดินทาง” เป็นระบบบริการข้อมูลการเดินทางด้วยเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตเชื่อมทุกสรรพสิ่งเพื่อรองรับศาลายาเมืองอัจฉริยะ และ 3. ศึกษาความเต็มใจที่จะเดินในพื้นที่ศาลายา จากจุดสถานีศาลายาไปยังจุดต่างๆ เพื่อให้เป็นการสร้างโอกาสในการนำพื้นที่ไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
ผศ.ดร.วศพร กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการแรกจะเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจท้องถิ่น ว่ามีผลิตภัณฑ์อะไรบ้าง และมีกลไกในการผลักดันผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นอย่างไร ขณะเดียวกันศาลายายังจัดเป็นโซนพื้นถิ่นและเกษตรกรรม
ในส่วนโครงการที่ 2 เกี่ยวกับ “ศาลายาเพื่อนเดินทาง” จะเกี่ยวกับแอพพิเคชั่นอำนวยความสะดวกการเดินทางการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ โดยผศ.ดร.ลลิตา นฤปิยะกุล เป็นผู้ดำเนินโครงการดังกล่าวซึ่งเป็นผู้ผลิตจากแอพพิเคชั่น BKKRail ที่ใช้ในพื้นที่กรุงเทพฯ
ผศ.ดร.ลลิตา นฤปิยะกุล กล่าวเสริมว่า ระบบนี้จะแตกต่างจากแอพพิเคชั่น BKK Rail ไม่มากนัก ใช้รูปแบบเทคโนโลยีบลูทูธ ราคาไม่แพง ติดบลูทูธไว้ที่ป้ายรถเมล์เป็นการเฉพาะ หากรถคันไหนผ่านหรือเข้าจอดจะสามารถบอกเวลาตามจริงได้โดยไม่ต้องใช้จีพีเอส เบื้องต้นเน้นใช้พื้นที่ศาลายา ใช้เทคโนโลยีเฉพาะบำรุงรักษาต่ำ ใช้งานได้ในระยะยาวลองพัฒนาใช้งานไปก่อน
“แอพพิเคชั่นเพื่อนเดินทางต้องการให้ประชาชนผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงได้ง่าย สามารถนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปประยุกต์ใช้งานในมิติใดได้อีกบ้างนอกเหนือจากบ่งบอกว่ารถจะเข้ามาสู่สถานีในระยะเวลาเท่าใด”
ในส่วนของโครงการที่ 3 โจทย์สำคัญจึงจะเป็นการออกแบบเมืองที่ให้อยู่ร่วมกันอย่างน่าอยู่ ระหว่างชุมชนกับรถไฟฟ้าที่จะเปิดให้บริการได้อย่างไร อยากเห็นรถไฟฟ้าให้บริการแล้วเมืองเติบโตไปตามวิถีท้องถิ่น โจทย์แรกต้องมองเรื่องการเข้าถึงพื้นที่ ดูผลกระทบ การเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ ให้ได้รับความสะดวกสบายและรวดเร็ว
“มหาวิทยาลัยมหิดลถูกออกแบบให้เป็นเมืองแห่งการเดินที่ดี จัดว่าเป็นกรีนแคมปัส จึงอยากให้เกิดการเชื่อมต่อภายใต้คอนเซปต์นี้ขยายวงกว้างออกไป ให้น่าอยู่ เน้นคนเดิน เน้นใช้ระบบสาธารณะโดยใช้ระบบอัจฉริยะเข้าไปช่วยอำนวยความสะดวก ไม่เน้นชูความเป็นอัจฉริยะแต่เน้นความน่าอยู่ของเมือง” ผศ.ดร.ลลิตา กล่าวในตอนท้าย
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44318
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 16/12/2020 6:03 am    Post subject: Reply with quote

รัฐตีฆ้อง'สายสีแดง-สีทอง' ปลุกทำเลเชื่อมห้างกระตุ้นศก.
ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2563

"ประยุทธ์" นำทีมเปิดรถไฟฟ้าสายใหม่ ปลุกทำเลท่องเที่ยว สายสีทองฝั่งธนบุรีส่งท้ายปี เชื่อม "ไอคอนสยาม" เตรียมขยายเฟส 2 ถึงประชาธิปก รอกลางปีหน้า สายสีแดง "ตลิ่งชัน-รังสิต" เปิดทดลองใช้ พร้อมสถานีกลางบางซื่อ ฮับอาเซียน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่งท้ายปี 2563 รัฐบาลประกาศเปิดรถไฟฟ้าอีก 2 เส้นทาง เชื่อมชานเมืองสู่ใจกลางเมือง วันที่ 16 ธ.ค.นี้ โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกดปุ่มเดินรถ

สีเขียวไร้รอยต่อ

เริ่มที่สายสีเขียวส่วนต่อขยาย "หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต" 18.7 กม. ได้เปิดครบ 16 สถานี โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดฟรีถึง 1 ม.ค. 2564 สายนี้ เชื่อม 3 จังหวัด ปทุมธานี กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ใช้เวลา 1.30 ชม.

"สายสีทอง" จากกรุงธนบุรี-คลองสาน 1.7 กม. มี 3 สถานี ค่าโดยสาร 15 บาท ได้แก่ 1.สถานีกรุงธนบุรี สถานีร่วมบีทีเอส 2.สถานีเจริญนคร หน้าศูนย์การค้าไอคอนสยาม พร้อมทางเชื่อมเข้าห้าง และ 3.สถานีคลองสาน หน้าโรงพยาบาลตากสิน พร้อมสกายวอล์กในอนาคต เพื่อป้อนคนจากบีทีเอสมายังไอคอนสยาม และแหล่งท่องเที่ยวริมเจ้าพระยา

ปลุกทำเลห้างใหม่

จากการสำรวจทำเลใกล้สายสีทอง เป็นแหล่งคอนโดฯและโรงแรมหรู โดยมีศูนย์การค้าไอคอนสยามของกลุ่มสยามพิวรรธน์เป็นแม่เหล็ก พร้อมจัดโปรโมชั่น ลดราคากระตุ้นกำลังซื้อช่วงปลายปี

พร้อมเร่งสร้าง "ไอคอนสยามเฟส 2" ฝั่งตรงข้าม เนื้อที่ 5 ไร่ วงเงิน 4,000 ล้านบาท เป็นมิกซ์ยูส ประกอบด้วย โรงแรมฮิลตัน การ์เดน อินน์ กรุงเทพฯ ในเครือฮิลตัน มี 244 ห้องพัก รูฟท็อป, โคเวิร์กกิ้งสเปซ, ร้านค้า และซูเปอร์มาร์เก็ต เตรียมเปิดตัวต้นปี 2564

ส่วนอาคารเก่ารอบห้างได้ติดป้ายขาย-เช่า อาคารพาณิชย์ให้เช่าเดือนละ 120,000 บาท อีกตึกตั้งราคาขาย 45 ล้านบาท

การเปิดสายสีทองยังมีผลกระทบ ต่อมอเตอร์ไซค์รับจ้างเพราะการเดินทาง ไปสถานีกรุงธนบุรี หากมอเตอร์ไซค์ อยู่ที่ 30 บาท แต่รถไฟฟ้าสายนี้ราคา อยู่ที่ 15 บาท

กทม.ขยายสีทอง

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า การเปิดรถไฟฟ้าสายสีทองทำให้คนฝั่งธนบุรีมีทางเลือกมากขึ้น โดยเฉพาะสถานีคลองสาน จะเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการ อาทิ โรงพยาบาลตากสิน สำนักการศึกษา สำนักงานเขตคลองสาน และ สน.ปากคลองสาน และเชื่อมการเดินทางระบบล้อ ราง เรือ รองรับผู้โดยสารจากสายสีเขียวที่สถานีกรุงธนบุรี และเชื่อมสายสีม่วง (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) และสายสีแดงในอนาคต คาดมีผู้มาใช้บริการ 42,000 เที่ยวคน/วัน

"หลังเปิด 6 เดือนจะประเมินปริมาณผู้โดยสาร เพื่อสร้างส่วนต่อขยายอีก 1 สถานี คือ สถานีประชาธิปก ระยะทาง 950 เมตร ใช้เงินก่อสร้าง 1,333 ล้านบาท"

ต่อสีเขียวชะลอยาว

แหล่งข่าวจาก กทม.กล่าวว่า สายสีทองส่วนต่อขยายอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบ PPP เนื่องจากไอคอนสยามสนับสนุนเงินลงทุนเฉพาะเฟสแรกเท่านั้น ยังกำหนดไม่ได้จะได้สร้างปีหน้าหรือไม่ เช่นเดียวกับสายสีเขียวส่วน ต่อขยาย 2 เส้นทาง วงเงิน 25,333 ล้านบาท ช่วงคูคต-ลำลูกกา 7 กม. วงเงิน 11,989 ล้านบาท และสมุทรปราการบางปู 7 กม. วงเงิน 13,344 ล้านบาท ต้องรอประเมินปริมาณผู้โดยสาร หลังเปิดหมอชิต-คูคต ตั้งเป้า 330,000 เที่ยวคน/วัน และแบริ่ง-สมุทรปราการ 160,000 เที่ยวคน/วัน

นับถอยหลังเปิดสีแดง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากพลเอก ประยุทธ์จะเปิดรถไฟฟ้าสายใหม่แล้ว เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2563 ได้นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) ลงพื้นที่ดูความ คืบหน้าการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ และนั่งทดสอบรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ก่อนจะเปิดทดลองใช้เดือน ก.ค. และบริการเชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ย. 2564

โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ใช้เงินก่อสร้างสายสีแดงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต 1 แสนล้านบาท โดยมีสถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางการเดินทางระบบราง หากเปิดปี 2564 จะเป็นสถานีที่ใหญ่ที่สุดของไทยและอาเซียน มีพื้นที่ 274,192 ตร.ม. เป็นชุมทางรถไฟฟ้า รถไฟชานเมือง รถไฟทางไกลและรถไฟความเร็วสูง

พลเอกประยุทธ์กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ระบบคมนาคมขนส่งทางราง" เป็นรูปแบบการเดินทางขนส่งที่มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงทุกภูมิภาคทั่วประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ตั้งแต่รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อเชื่อมภูมิภาคในไทยและประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

"สถานีกลางบางซื่อจะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการขนส่งทางราง ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมโอกาสด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมถึงสนับสนุนการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจตลอดแนวเส้นทาง โดยเฉพาะย่านบางซื่อของการรถไฟฯได้มีแผนพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ควบคู่ไปกับสถานีกลางบางซื่อ"

บางซื่อฮับอาเซียน

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีแดงมี 13 สถานี รวมสถานีกลางบางซื่อ คงเหลืองานระบบและจัดเตรียมอบรมบุคลากรในการบริหารและซ่อมบำรุงมีความก้าวหน้า 89.10% คาดว่าจะทดสอบเดินรถเสมือนจริงเดือน มี.ค. จากนั้นเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการเดือน ก.ค. และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ย. 2564 คาดว่ามีผู้ใช้บริการ 86,000 เที่ยวคน/วัน

โดยให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริษัทลูกเป็นผู้เดินรถ ส่วนการบริหารสถานีกลางบางซื่อ ในระยะแรกทาง ร.ฟ.ท.จะเป็นผู้บริหาร

จ่อขยายสายสีแดง

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.เปิดเผยว่า ร.ฟ.ท.ชะลอการเปิดประมูลรถไฟชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยายที่ได้รับอนุมัติจาก ครม.เมื่อปี 2562 เนื่องจากมีนโยบาย จากกระทรวงคมนาคมจะนำงานก่อสร้างของส่วนต่อขยายไปรวมกับหนี้ของสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และบางซื่อรังสิต และให้เอกชนรับสัมปทานเดินรถและพัฒนาเชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ และสถานีในแนวเส้นทางของสายสีแดงทั้งโครงการ ในรูปแบบ PPP net cost ระยะเวลา 30-50 ปี วงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท จะศึกษาเสร็จใน ก.ค. เสนอ ครม.อนุมัติเดือน ส.ค.-พ.ย. และคัดเลือกเอกชนในเดือน ธ.ค. 2564-ม.ค. 2565 ได้เอกชนในเดือน ธ.ค. 2565

สำหรับส่วนต่อขยายที่รอประมูล วงเงินรวม 67,575.37 ล้านบาท ได้แก่ ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,570.40 ล้านบาท ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม.วงเงิน 10,202.18 ล้านบาท ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 4.3 กม. วงเงิน 6,645.03 ล้านบาท และสาย Missing Link ช่วงบางซื่อ-พญาไทมักกะสัน-หัวหมาก และบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท

ทำเลใหม่สายสีแดงจะมีอานิสงส์แก่คอนโดมิเนียมบิ๊กแบรนด์จำนวนมาก ที่ขึ้นโครงการไว้แล้วทั้งสองข้างทาง รวมถึงห้างเกตเวย์ ย่านเตาปูนของตระกูล "สิริวัฒนภักดี"
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44318
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 22/09/2021 10:24 am    Post subject: Reply with quote

ปีหน้าต่อขยายรถไฟฟ้าสีแดง
เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2564

PPP4เส้นทาง6.7หมื่นล้าน

ก่อสร้าง3ปีเปิดบริการปี68

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่า รฟท. อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(PPP)โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง 4 โครงการ ระยะทางรวม 53.84 กิโลเมตร (กม.) วงเงินรวมประมาณ 6.75 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย

1. โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต) ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6.57 พันล้านบาท
2.ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 1.02 หมื่นล้านบาท
3.ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 4.3 กม. วงเงิน 6.64 พันล้านบาท และ
4. ช่วงบางซื่อ- หัวลำโพง และช่วงบางซื่อ-หัวหมาก หรือที่เรียกว่า Missing Link ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 4.41 หมื่นล้านบาท

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า ภายในเดือน ก.ย. 64 จะรายงานความคืบหน้าผลการศึกษารูปแบบของการ PPP ในเบื้องต้น อาทิ รฟท. ลงทุนงานโยธา เอกชนลงทุนงานเดินรถ และซ่อมบำรุง หรือจะให้เอกชนลงทุนทั้งหมด ทั้งงานโยธา เดินรถ และซ่อมบำรุง รวมถึงต้องนำเรื่องบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์เข้ามารวมด้วยหรือไม่ เรื่องนี้ต้องพิจารณาอย่างละเอียด รอบคอบ และรัดกุม เพื่อให้มีความเหมาะสมที่สุด คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปไม่เกินเดือน พ.ย.นี้ ทั้งนี้ปัจจุบัน รฟท. เตรียมร่างรายละเอียดเงื่อนไขการประกวดราคา(ทีโออาร์) และราคากลางไว้แล้ว เมื่อได้ข้อสรุปรูปแบบ PPP จะต้องปรับปรุงทีโออาร์ และราคากลางใหม่อีกเล็กน้อย คงใช้เวลาไม่นาน คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในเดือน ม.ค.-ก.พ.65

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม มีนโยบายให้ รฟท. เร่งผลักดันการก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟสายสีแดงทั้ง 4 เส้นทาง เพื่อให้สอดรับกับการเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน รวมทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกการเดินทางแก่ประชาชน เบื้องต้นคาดว่ารถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยายจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี และเปิดบริการได้ประมาณปี 68 โดยสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิตม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในปีแรกของการเปิดบริการคาดการณ์ ผู้โดยสารไว้ 28,150 คนต่อวัน สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชันอยู่ที่ 47,570 คนต่อวัน สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 55,200 คนต่อวัน ส่วนสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง และช่วงบางซื่อ- หัวหมาก (Missing Link) นั้น ขณะนี้ได้ข้อสรุปเรื่องการลงทุนโครงสร้างทางร่วมกับเอกชนผู้รับสัมปทานรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) แล้ว โดยหากโครงการใดเริ่มลงมือก่อสร้างก่อน ก็ให้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเลย และมาหักค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างกันภายหลัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดงจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ- รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่รฟท. เปิดบริการแบบเสมือนจริง (Soft Opening) ตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมาโดยไม่คิดค่าโดยสารจนถึงเดือน พ.ย. 64 จะเปิดบริการแบบเชิงพาณิชย์ เก็บค่าโดยสารอัตรา 12-42 บาท.
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42623
Location: NECTEC

PostPosted: 22/09/2021 2:28 pm    Post subject: Reply with quote

Mongwin wrote:
ปีหน้าต่อขยายรถไฟฟ้าสีแดง
เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2564



ลิงก์มาแล้ว
https://www.facebook.com/TransportDailynews/posts/3005463729675125
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44318
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 06/10/2021 8:16 am    Post subject: Reply with quote

รายงานพิเศษ: เปิดขุมทรัพย์สุดขอบฟ้าการรถไฟ ตั้งแท่นประมูล 'รถไฟฟ้าศักดิ์สยาม' 4 เส้นทางต่อขยาย+สายสีแดง 2.3 แสนล้าน
Source - ประชาชาติธุรกิจ
Wednesday, October 06, 2021 05:25
กีรติ เอมมาโนชญ์

The last minute ปิดฉากปีงบประมาณ 2564 ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)มาจาก 2 แมตช์สำคัญ เริ่มจากการประชุมบอร์ด 29 กันยายน 2564 มีมติให้บริษัทลูก "SRT Asset" ศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาที่ดินจำนวน 3 แปลง ประกอบด้วย 1.ที่ดินบริเวณสถานีธนบุรี พื้นที่ 25,000 ตารางเมตร 2.ที่ดินบริเวณโรงแรมรถไฟหัวหิน และ 3.พื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางบางซื่อ 52,375 ตารางเมตร แพ็กเป็นก้อนเดียวกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงอีก 12 สถานี

อีกแมตช์คือ "การประชุมสัมมนาปฐมนิเทศ (Oriented Seminar) โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง" 30 กันยายน 2564 โดยกลุ่มที่ปรึกษา 6 บริษัท ได้แก่ บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง, บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ทีแอลที คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท พีเอสเค คอนซัลแทนส์ จำกัด และบริษัท เอ็มเอชพีเอ็ม จำกัด

PPP เลี่ยงภาระก่อหนี้รถไฟ

กระทรวงคมนาคมโควตาพรรคภูมิใจไทยที่มี "เสี่ยโอ๋-ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เจ้าของมอตโต้ "คมนาคมยูไนเต็ด" เปิดวิสัยทัศน์การบริหารราชการแผ่นดินตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งใหม่ ๆ ว่า "...คำว่ารัฐวิสาหกิจต่อจากนี้ไป ไม่ใช่เป็นเรื่องบริการประชาชนแล้วขาดทุน มันต้องอยู่รอดให้ได้"

จุดโฟกัส ร.ฟ.ท. รัฐวิสาหกิจที่มี หนี้สินท่วมตัวมากกว่า 1 แสนล้านบาท แต่มีสถานะเป็นแลนด์ลอร์ดภาครัฐ อีกหน่วยงานหนึ่งก็ว่าได้ เพราะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงสวยที่ไม่ได้ใช้งานเพื่อการเดินรถ (noncore business) อยู่ในมือถึง 38,469 ไร่ มูลค่ารวมเกิน 300,000 ล้านบาท

ทางหนึ่งก็คือเร่งหยิบที่ดินและ โปรเจ็กต์ไพรมแอเรียนำมาเปิดประมูลสร้างรายได้-กลบรายจ่าย

อีกทางหนึ่งส่งสัญญาณนับ 1 อย่างเป็นทางการสำหรับแผนลดภาระหนี้ในอนาคตให้กับ ร.ฟ.ท. ด้วยการพลิกโมเดลการลงทุนรถไฟฟ้าต่อขยาย 4 เส้นทางสายสีแดง จากกรอบเดิมวางให้ ร.ฟ.ท.จัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบและกฎหมายของร.ฟ.ท.เอง สวอปมาเป็นการชักชวนเอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP-private public partnership แทน

ตามแนวทางนี้จะตัดงานโยธามาเปิดประมูลก่อน วงเงินที่คาดว่าจะใช้ลงทุน 79,322.57 ล้านบาท ในเมื่อ ร.ฟ.ท.ไม่ต้อง ก่อหนี้เอง เท่ากับไม่ต้องแบกภาระหนี้เพิ่มอีกในจำนวนเท่ากันโดยอัตโนมัติ

โดยโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ผลศึกษา ณ 30 กันยายน 2564 ต้องการเม็ดเงินลงทุนรวม 340,273.32 ล้านบาท แต่มีการลงทุนก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วสำหรับช่วง "ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต" 108,833.01 ล้านบาท จึงเหลือเม็ดเงินที่กำลังจะลงทุนใหม่ 231,440.31 ล้านบาท (ดูตารางประกอบ)

เลียบเลาะ 4 เส้นทางต่อขยาย

ไทม์ไลน์การศึกษาประมูล PPP กลุ่มบริษัทที่ปรึกษามีเวลา 1 ปี (มิถุนายน 2564-พฤษภาคม 2565) วางตารางให้มีการสรุปผลศึกษาเดือนธันวาคม 2564 หลังจากนั้น ร่างเอกสารเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน (TOR) เดือนมีนาคม 2565 กำหนดได้ตัวผู้ชนะประมูลพฤษภาคม 2565 ก่อนเสนอให้มีการอนุมัติโครงการตามขั้นตอนราชการต่อไป

สำหรับ "โครงการกำลังจะลงทุน" ส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง ได้แก่

เส้นทางที่ 1 "สายสีแดงเข้ม รังสิตม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต" ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร วงเงิน 6,570.40 ล้านบาท จำนวน 4 สถานี "สถานีคลองหนึ่งม.กรุงเทพ-,เชียงราก-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต" รูปแบบโครงสร้างระดับดินทั้งหมด คาดการณ์ผู้โดยสารเริ่มต้น 29,900 เที่ยวคน/วัน

โดยมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเมื่อปี 2562 ความคืบหน้าการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนรายละเอียดรายงาน และนำเสนอ "สผ.-สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม" พิจารณาแล้ว

เส้นทางที่ 2 "สายสีแดงอ่อน ตลิ่งชันศาลายา" ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร วงเงิน 10,202.18 ล้านบาท กับเส้นทางที่ 3 "ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช" ระยะทาง 4.3 กิโลเมตร วงเงิน 6,645.03 ล้านบาท ทั้ง 2 เส้นทางนี้มีความเชื่อมต่อกัน

มี 8 สถานี "สถานีศาลายา-ศาลาธรรมสพน์ -กาญจนาภิเษก-บ้านฉิมพลี-ตลิ่งชัน (สถานีเปลี่ยนถ่าย)-ตลาดน้ำตลิ่งชันจรัญสนิทวงศ์-ศิริราช" รูปแบบโครงสร้างผสมผสานทั้งระดับดินและยกระดับในบางช่วง คาดการณ์ผู้โดยสารเริ่มต้น 38,700 เที่ยวคน/วัน และมีมติ ครม.อนุมัติปี 2562 รวมถึงได้รับอนุมัติอีไอเอ (EIA approve) ปี 2559

เส้นทางที่ 4 "ช่วง Missing Link บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก" กับ "สายสีแดงเข้ม บางซื่อ-หัวลำโพง" ระยะทางรวม 25.9 กิโลเมตร วงเงินรวม 44,157.76 ล้านบาท จำนวน 10 สถานี "สถานีหัวหมาก-รามคำแหงมักกะสัน-พญาไท-สถานีกลางบางซื่อสามเสน-ราชวิถี-ยมราช-หัวลำโพง"

รูปแบบโครงสร้างผสมผสานทั้งระดับดิน-ยกระดับ-ใต้ดิน คาดการณ์ ผู้โดยสารเริ่มต้น 69,100 เที่ยวคน/วัน ได้รับ EIA approve ปี 2555 และมีมติ ครม.อนุมัติปี 2559

ย้อนรอยทำไมต้องประมูล PPP

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ส่วนต่อขยายทั้ง 4 เส้นทางตามนโยบายเดิมในสมัยรัฐบาล คสช. ยุคนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เป็น รมว.คมนาคม มีนโยบายให้ ร.ฟ.ท.ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตาม ปกติ โดยให้ "รฟฟท.-บริษัท รถไฟ ร.ฟ.ท. จำกัด" เป็นผู้เดินรถและซ่อมบำรุง

ต่อมามีมติจาก "คนร.-คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ" เมื่อกลางปี 2562 เพิ่มภารกิจให้ รฟฟท. เดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟชานเมืองสายสีแดง และทยอยส่งมอบภารกิจในการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ช่วงพญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ ให้กับผู้รับสัมปทานรายใหม่ "บจ.รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน" นำโดยกลุ่ม ซี.พี. (เปลี่ยนชื่อเป็น บจ.เอเชีย เอราวัน)

ปัจจุบันจากเหตุผลภาระหนี้สินท่วมตัวของ ร.ฟ.ท. ประกอบกับส่วนต่อขยาย 4 เส้นทางใช้เงินลงทุนสูง 67,575 ล้านบาท ในขณะที่รถไฟชานเมืองสายสีแดงยังมีปัญหามี ค่าใช้จ่ายบานปลายจากงานปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม (variation order-VO) จำนวน 10,345 ล้านบาท ที่ยังเคลียร์ไม่จบ ดังนั้น "โครงการที่กำลังจะลงทุน" จึงเห็นควรให้เปิดประมูล PPP แทน

รถไฟศึกษา 2 เดือนได้ข้อยุติ

ข้อสั่งการของ "รมว.ศักดิ์สยาม) ทาง ร.ฟ.ท.ขานรับอย่างเข้มแข็ง มีการตั้งคณะทำงานศึกษาเปรียบเทียบการลงทุนแบบเดิมกับรูปแบบ PPP เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 โดยมี "จเร รุ่งฐานีย" รองผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. ด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นประธาน ใช้เวลาศึกษา 2 เดือน และมีมติบอร์ด ร.ฟ.ท. วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ให้ความเห็นชอบ

โดยให้เหตุผลว่า PPP มีข้อดีมากกว่าทั้งในแง่การลงทุน การบริหารจัดการ ลดความเสี่ยงภาครัฐ ลดภาระหนี้สิน ร.ฟ.ท. และไม่มีปัญหาด้านบุคลากร ส่วนประชาชนได้ประโยชน์จากบริการที่มีการบริหารจัดการที่ดีขึ้นกว่าเดิม

มีข้อสังเกตว่า วงเงินลงทุน 4 เส้นทางเดิม 67,575 ล้านบาท บวกค่า VO 10,342 ล้านบาท เท่ากับ 77,920 ล้านบาท ในขณะที่ผลศึกษาของ ร.ฟ.ท.ระบุวงเงินลงทุนรวม 79,322 ล้านบาท เท่ากับมีส่วนต่างวงเงินที่เพิ่มขึ้น 1,402 ล้านบาท

Rethink เร่งสร้าง-เร่งเปิดใช้

อย่างไรก็ตาม การประมูลรูปแบบ PPP ทั้งโครงการ 2.3 แสนกว่าล้านบาท จำเป็น ต้องใช้เวลา 3 ปี เพื่อลงลึกรายละเอียดก่อนจะเริ่มขั้นตอนประมูลได้ในปี 2567

นำไปสู่ข้อสั่งการของ "รมว.ศักดิ์สยาม" ให้นำงานโยธาทั้ง 4 เส้นทางมาเปิดประมูลก่อสร้างก่อนภายในปี 2564 โดยให้เหตุผลต้องการให้สอดคล้อง กับการเปิดเดินรถเส้นทางที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว "ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต" ภายในปี 2568 เพราะเป็นระบบเดียวกันทั้งเส้น

ส่วนไทม์ไลน์การประมูล PPP งานเดินรถและซ่อมบำรุง (operation & maintenance : O&M) ทั้งในเส้นทางช่วงแรกและส่วนต่อขยายนั้น คาดว่าจะสรรหาเอกชนผู้ชนะประมูลได้ในปี 2569

ดังนั้น หากเร่งก่อสร้างงานโยธาและให้บริการส่วนต่อขยายได้ก่อน ประชาชนจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากแมสทรานสิตภาครัฐโดยตรง

ที่มา: นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 7 - 10 ต.ค. 2564

Click on the image for full size
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42623
Location: NECTEC

PostPosted: 08/10/2021 10:19 am    Post subject: Reply with quote

Mongwin wrote:
รายงานพิเศษ: เปิดขุมทรัพย์สุดขอบฟ้าการรถไฟ ตั้งแท่นประมูล 'รถไฟฟ้าศักดิ์สยาม' 4 เส้นทางต่อขยาย+สายสีแดง 2.3 แสนล้าน
Source - ประชาชาติธุรกิจ
Wednesday, October 06, 2021 05:25
กีรติ เอมมาโนชญ์



ลิงก์มาแล้วครับ:

เปิดขุมทรัพย์สุดขอบฟ้าการรถไฟ 4 เส้นทางต่อขยาย+สายสีแดง 2.3 แสนล้าน
กีรติ เอมมาโนชญ์
อสังหาริมทรัพย์
วันที่ 8 ตุลาคม 2564 - 08:30 น.

เปิดขุมทรัพย์สุดขอบฟ้าการรถไฟ ตั้งแท่นประมูล ‘รถไฟฟ้าศักดิ์สยาม’ 4 เส้นทางต่อขยาย+สายสีแดง 2.3 แสนล้าน
https://www.prachachat.net/property/news-775422
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44318
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 14/10/2021 8:26 am    Post subject: Reply with quote

“รถไฟสีแดง”อภิมหาโปรเจ็กต์ 3 แสนล้าน จับตาเลือกโมเดล PPP “รัฐลงโยธาเอง/เอกชนสัมปทานเหมาเข่ง”
เผยแพร่: 14 ต.ค. 2564 07:58 ปรับปรุง: 14 ต.ค. 2564 07:58 โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ปลายเดือนกันยายน 2564 การรถไฟแห่งประเทศไทย
(รฟท.) ได้จัดสัมมนาปฐมนิเทศ โครงการศึกษาทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ จัดทำเอกสารประกวดราคาและการดำเนินงาน ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ซึ่งเป็นการนำเสนอผลศึกษาโครงการ รับฟังความคิดเห็น เปิดแผนลงทุนเมกะโปรเจ็กต์มูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท ให้เอกชนร่วมเข้ามาร่วมลงทุน(PPP) ตามนโยบาย”ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งปรับเปลี่ยนจากเดิมที่ มติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) กำหนดให้ รฟท.ตั้งบริษัทลูกขึ้นมาบริหารรถไฟสายสีแดง โดยการอัปเกรดบริษัท รถไฟฟ้าร.ฟ.ท.จำกัด (รฟฟท.) โดยเห็นว่าแนวทาง PPP จะสอดคล้องกับแผนฟื้นฟู และลดภาระการลงทุนด้านการเงินของรฟท.และ...หลุดพ้นจาก... ขาดทุน

เมื่อนโยบายปรับเปลี่ยนรฟท.จึงได้จ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษามี 6 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่งคอนซัลแต้นส์ จำกัด
บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอ็มเอชพีเอ็ม จำกัดบริษัท พีเอสเค คอนซัลแทนส์ จำกัด บริษัท เอ็ม เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ทีแอลที คอนซัลแตนส์ จำกัด

ไทม์ไลน์ การศึกษาร่วมลงทุน PPP รถไฟสายสีแดง จะใช้เวลา 12 เดือน (เดือน มิ.ย. 2564-พ.ค. 2565) ซึ่งในเดือน ต.ค. 2564 นี้จะมีการสัมมนาทบทวนสำรวจความสนใจของผู้ประกอบการเอกชน (Market Sounding)
ครั้งที่ 1 และทำMarket Sounding ครั้งที่ 2 ประมาณกลางเดือน เม.ย. 2565 เพื่อจัดทำสรุปรายงาน PPP ทำร่างประกาศ TOR และร่างสัญญาร่วมลงทุนฯ ในเดือนพ.ค. 2565

โดยคาดว่า กระบวนการสรรหาเอกชนร่วมลงทุน จะใช้เวลาประมาณ 14 เดือน (ประมาณเดือน มิ.ย. 2565-ก.ค. 2566)

@ปมงาน VO ทำค่าก่อสร้างสายสีแดงโป่ง 10,345 ล้านบาท จุดหักเห PPP ส่วนต่อขยาย

ปัญหากรณีสายสีแดง มีค่าก่อสร้างเพิ่ม(Variation Order : VO) ประมาณ 10,345 ล้านบาท โดยเฉพาะสัญญาที่ 1 (สถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง) จากการรื้อย้ายสาธารณูปโภค ท่อน้ำมัน ที่องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจป้า) ปฏิเสธที่จะให้เงินกู้เพิ่ม ขณะที่ การเสนอครม.เพื่อขอใช้เงินกู้ภายในประเทศ จะต้องประกวดราคาใหม่ตามระเบียบพัสดุการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ “เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาจุกอก ทั้งคมนาคม-รฟท. เพราะผู้รับเหมาได้ทำงานล่วงหน้าไปก่อนแล้ว...การนำค่างาน VO ไปรวมกับ PPP เพื่อหลีกเลี่ยงการของบเพิ่ม จึงน่าจะเป็นทางออก “

โดยแนวคิดแรกเริ่ม การให้เอกชนร่วมเข้ามาร่วมลงทุน (PPP) สายสีแดงนั้น จะเป็นการบริหารการเดินรถ และการก่อสร้างสายสีแดง ส่วนต่อขยายทั้งหมด 4 เส้นทาง วงเงินกว่า 6.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเอกชน ต้องชำระคืนค่าระบบและขบวนรถ ที่ภาครัฐได้ลงทุนไปก่อน เหมือนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

@ สายสีแดง สุดอภิมาหโปรเจ็กษ์มูลค่าลงทุนรวมกว่า 3.4 แสนล้าน

สำหรับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงนั้นมี 3 ส่วน ได้แก่

1 . ส่วนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ช่วงบางซื่อ-รังสิตระยะทาง 26.3 กม. มี 10 สถานี ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง15.3 กม. มี 3 สถานี เงินลงทุน 108,833.01 ล้านบาท ซึ่งมีการลงทุนไปแล้ว กำหนดเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ปลายเดือนพ.ย. 2564

2. ส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง วงเงินรวม 79,322.57 ล้านบาท คือ ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม.
มี 4 สถานี เงินลงทุน
6,570.40 ล้านบาท, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. มี 6 สถานี เงินลงทุน 10,202.18 ล้านบาท , ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. มี 3 สถานี 6,645.03 ล้านบาท ,ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กม. มี 9 สถานี เงินลงทุน 44,157.76 ล้านบาท ครม.อนุมัติโครงการแล้ว อยู่ระหว่างเตรียมประกวดราคาก่อสร้างงานโยธา

โดย ช่วงตลิ่งชัน-สาลายา จะมีงานก่อสร้างสถานเพิ่มเติม 3 สถานี (สถานีสะพานพระราม6 สถานีบางกรวบ -กฟผ. และสถานีบ้านฉิมพลี)

3. ค่าลงทุนงานระบบและจัดหาขบวนรถ วงเงิน 131,073.74 ล้านบาท และค่าลงทุนงานเพิ่มเติมในอนาคตวงเงิน 21,044 ล้านบาท

ที่ปรึกษาโครงการฯ ได้นำเสนอข้อมูล PPP ประกอบด้วย การบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุง รวมถึงการบริหารสถานีในโครงข่ายสายสีแดงตลอดแนวเส้นทาง

ซึ่งแนวทางการลงทุน PPP รัฐจะรับผิดชอบการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยรัฐและเอกชน แบ่งสัดส่วนการลงทุนในโครงสร้างพิ้นฐาน งานโยธา ( Civil Work) ระบบรถไฟฟ้า (M&E) และการจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า (Rollingstock) และเอกชน รับผิดชอบการเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M)

ขณะที่ PPP ยังจะสามารถแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบคือ

PPP -1 เอกชนลงทุน งานโยธา+งานระบบรถไฟฟ้า+จัดซื้อขบวนรถ+ดำเนินงานและบำรุงรักษา + ลงทุนเพิ่มเติม

PPP -2 รัฐลงทุนงานโยธา ส่วนเอกชนลงทุนงานระบบรถไฟฟ้า+จัดซื้อขบวนรถ+ดำเนินงานและบำรุงรักษา + ลงทุนเพิ่มเติม

PPP- 3 รัฐลงทุนงานโยธา +ระบบรถไฟฟ้า ส่วนเอกชนลงทุน จัดซื้อขบวนรถ+ดำเนินงานและบำรุงรักษา + ลงทุนเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ยังมีแนวทาง
PSC คือรัฐ จะรับผิดชอบการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานงานโยธา ( Civil Work) ระบบรถไฟฟ้า
(M&E) และการจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า (Rollingstock) ส่วนเอกชน รับผิดชอบการเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง

ส่วนผลประโยชน์จากโครงการ จะมาจากค่าโดยสารรายได้เชิงพาณิชย์ และรายได้อื่นๆ โดยมีสมมติฐานในการวิเคราะห์ ระยะเวลาสัมปทานโครงการ 30-50ปี อัตราคิดลดร้อยละ 5 อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 1.5ต่อปี (เฉลี่ยย้อนหลัง 10ปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553ถึง 2562) อัตราการปรับรายได้ (3% ปรับทุก 2ปี) การคำนวณค่าเสื่อมราคาพิจารณาแบบเส้นตรง และภาษีเงินได้ ร้อยละ 20ต่อปี

ซึ่งตัวแปรสำคัญของรายได้ คือปริมาณผู้โดยสารแต่ที่ผ่านมา ผลศึกษาตัวเลขคาดการณ์ผู้โดยสารรถไฟฟ้าทุกสาย กับปริมาณผู้โดยสารที่ใช้จริง เมื่อเปิดให้บริการ มักจะต่ำกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ 50%

โดยช่วงบางซื่อ-รังสิต คาดการณ์ผู้โดยสาร72,390 คน-เที่ยว/วัน แผนเปิดบริการปี 2564 ช่วงรังสิต-มธ.รังสิต คาดมีผู้โดยสาร
29,900 คน-เที่ยว/วัน แผนเปิดบริการปี 2569 ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน คาดมีผู้โดยสาร
26,670 คน-เที่ยว/วัน แผนเปิดบริการปี 2564 ช่วงตลิ่งชัน -ศาลายา, ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช คาดมีผู้โดยสาร
38,700 คน-เที่ยว/วัน แผนเปิดบริการปี 2569 ช่วง Missing Link คาดมีผู้โดยสาร
69,100 คน-เที่ยว/วัน แผนเปิดบริการปี 2571

@”ศักดิ์สยาม”กลับลำ สร้างส่วนต่อขยาย 4 เส้นทางเอง- PPP ระบบ O&M

ล่าสุด“ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”สั่งรฟท.นำ งานโยธาส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง วงเงินกว่า 6.7 หมื่นล้านบาท มาประมูลก่อน โดยมองว่า ช่วง รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ มีความพร้อมที่สุด และยังการเป็นศูนย์การเดินทางโซนด้านเหนือของกทม. มีชุมชุมที่อยู่อาศัย ละสถาบันการศึกษาหนาแน่น

“เส้นทางไหนพร้อม ให้รฟท. เปิดประมูลก่อสร้างโยธาไปก่อน หากก่อสร้างเสร็จ สามารถเดินรถได้ทันที เพราะมี บริษัทลูก รฟทท. ทำหน้าที่เดินรถสายสีแดงอยู่แล้วในปัจจุบัน ไม่มีปัญหา ซึ่งรถไฟสายสีแดงเป็นโครงข่ายหลักของระบบราง มีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าหลายสาย และสามารถจัดทำระบบฟีดเดอร์ร่วมกับขนส่งสาธารณะอื่น รวมถึงการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี จึงเป็นเส้นทางที่มีความสำคัญ ในการเดินทางของประชาชน ที่มีความสะดวก รวดเร็วและช่วยประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย“

ส่วนการให้เอกชนร่วมลงทุน สายสีแดงซึ่งรฟท.อยู่ระหว่างศึกษานั้น จะเป็นการร่วมลงทุนในส่วนของงานเดินรถ และซ่อมบำรุง
(Operation & Maintenance : O&M ) ทั้งช่วงแรกและส่วนต่อขยาย ไม่รวมงานโยธา

สำหรับเงินลงทุนก่อสร้าง สายสีแดงส่วนต่อขยายทั้ง 4 เส้นทางนั้น สามารถใช้เงินกู้ หรือ
กองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน) ซึ่งทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะเป็นผู้พิจารณาต่อไป

@ เร่งทบทวนแบบและร่างทีโออาร์คาดประมูลช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ปี65

แหล่งข่าวจากรฟท.กล่าวว่า สายสีแดงส่วนต่อขยายออกแบบไว้หลายปีแล้ว ปัจจุบันสภาพกายภาพเปลี่ยนไปมากและต้นทุนค่าวัสดุ ต่างๆ ก็เพิ่มสูงขึ้นมากเช่นกัน รฟท.จึงให้ที่ปรึกษาทบทวน อัพเดทแบบ วงเงินค่าก่อสร้าง และจัดทำร่างทีโออาร์ ซึ่งคาดว่า เส้นทางรังสิต -ม.ธรรมศาสตร์ จะมีความพร้อมและประมูลได้ก่อน โดยใช้เวลาศึกษาทบทวนประมาณ 6 เดือน จากนั้นจะ
สรุปและนำเสนอครม.อนุมัติอีกครั้ง เนื่องจากต้องประมูลตามระเบียบใหม่ E -Bidding และวงเงินโครงการอาจจะเปลี่ยน คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในปี2565

“สายตลิ่งชัน-ศาลายา -ศิริราช กายภาพตามแนวเส้นทางเปลี่ยนไม่มาก แต่มีจุดสำคัญคือ ช่วงเข้าสถานีศิริราชที่มีรถไฟฟ้าสายสีส้ม ต้องลงพื้นที่สำรวจโครงสร้างจะวางกันอย่างไรเพราะค่อนข้างยุ่งยาก ส่วนสายเหนือ อาจจะมีแนวท่อบ้าง ช่วงสามเสน มีเวนคืน และมีผู้บุกรุก ที่ต้องเคลียร์ ช่วงmissing link มีตอม่อฮปเวลล์เหลืออีกเล็กน้อย และมีผนังโครงสร้างอุโมงค์ร่วมกับ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จากสามเสน-บางซื่อ และต้องไม่ให้เกิดปัญหางานVO เหมือนช่วงบางซื่อ-รังสิต”แหล่งข่าวกล่าว

@ลงทุนสูงปรี๊ด!สัมปทาน 50 ปี พ่วงพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชน์ จูงใจเอกชน

จากการศึกษา รถไฟสายสีแดงมีวงเงินลงทุนรวมกว่า 3.4 แสนล้านบาท ถือว่าสูงมาก ขณะที่ โมเดล PPP มีแบบ Net Cost ซึ่งใช้ในรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน คือ เอกชนจัดเก็บรายได้ และเดินรถ ซ่อมบำรุง โดยจ่ายค่าสัมปทานให้รัฐ หรือใช้รูปแบบรับเงินสนับสนุน

แบบ Gross Cost ใช้ในรถไฟฟ้าสายสีม่วง คือรัฐจัดเก็บรายได้ ส่วนเอกชนเดินรถและซ่อมบำรุง โดยรัฐจ่ายค่าเดินรถอัตราคงที่

แบบ Modified Gross Cost คือ รัฐจัดเก็บรายได้ส่วนเอกชนเดินรถและซ่อมบำรุง โดยรัฐจ่ายค่าเดินรถอัตราคงที่ + โบนัส

โดยที่ปรึกษา ระบุว่า หลักการ PPP เอกชนจะต้องสามารถสร้างรายได้และมีกำไร จึงจะจูงใจในการเข้ามาลงทุน ซึ่งกรณีที่ การลงทุนมีมูลค่าสูง หากผลตอบแทนต่ำ รัฐต้องขยายแนวทางการสร้างรายได้

หรือสนับสนุนส่งเสริม เช่น ยกเว้นภาษี หรือเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เป็นกำไร หากยังไม่คุ้มค่า จะพิจารณาเรื่องขยายอายุสัมปทานจาก จาก 30 ปี เป็น 50 ปี หากยังไม่พอ ต้องมองไปที่ การพัฒนาพื้นที่รอบๆสถานี เพื่อเพิ่มรายได้เชิงพาณิชย์ เข้ามาเพื่อเพิ่มความคุ้มค่าในการลงทุน

ส่วนการที่รัฐจะอุดหนุนทางการเงินให้เอกชนจะเป็นทางเลือกสุดท้าย และค่อนข้างยากเพราะอาจจะไม่ตรงตามเป้าหมายที่รัฐต้องการลดภาระงบประมาณ

ดังนั้น การที่รฟท.แยกก่อสร้างงานโยธา ส่วนต่อขยาย 4 เส้นทางก่อน และให้เอกชนร่วมลงทุน ส่วนของงานระบบ เดินรถ และซ่อมบำรุง จะทำให้มูลค่าลงทุนของเอกชนอยู่ที่ประมาณ 1.52 แสนล้านบาท ถือเป็นแนวทางที่ดี... ซึ่งคาดว่า จะใช้เวลาก่อสร้างส่วนต่อขยาย ประมาณ 3-4 ปี และเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ รฟท.สามารถขยายการเดินรถไฟสายสีแดง เปิดให้บริการประชาชนได้ทันที...ตอบโจทย์ ตรงเป้ารถไฟสายสีแดง ศูนย์กลางระบบรางของประเทศ

Click on the image for full size

Click on the image for full size

Click on the image for full size

Click on the image for full size

Click on the image for full size

Click on the image for full size

Click on the image for full size
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44318
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 21/12/2021 3:35 pm    Post subject: Reply with quote

รถไฟ ชงครม.ไฟเขียวงบ 7.9 หมื่นล้าน สร้างส่วนต่อขยายสีแดง 4 เส้น
ข่าวสด เด่นออนไลน์ 21 ธ.ค. 2564 15:37 น.

รถไฟ ชงครม.ไฟเขียวงบ 7.9 หมื่นล้าน สร้างส่วนต่อขยายสีแดง 4 เส้น คาดว่าจะสามารถเปิดประมูล พร้อมกัน ทั้ง 4 เส้นทางได้ในช่วงปลายปี 2565

21 ธ.ค. 2564 – นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่ากระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดให้ รฟท. เปิดประมูลโครงการรถไฟสายสีแดง ส่วนต่อขยาย จำนวน 4 เส้นทาง วงเงินลงทุนรวม 7.9 หมื่นล้านบาท
ได้แก่ ช่วง
    รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วงเงินลงทุน 6.64 พันล้านบาท,
    ช่วง ตลิ่งชัน-ศาลายา 1.06 หมื่นล้านบาท,
    ช่วง ตลิ่งชัน-ศิริราช 4.73 พันล้านบาท และ
    Missing Link ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง และช่วงบางซื่อ-หัวหมาก 4.96 หมื่นล้านบาท
ขณะนี้จัดทำรายงานผลการศึกษาโครงการเอกชนร่วมลงทุนหรือ พีพีพี เสร็จเรียบร้อยแล้ว เตรียมเสนอผลการศึกษาเสนอให้ บอร์ด รฟท. และกระทรวงคมนาคม ก่อนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในเดือน พ.ค. 2565 คาดว่าจะสามารถเปิดประมูล พร้อมกัน ทั้ง 4 เส้นทางได้ในช่วงปลายปี 2565 ได้ผู้รับเหมาและเริ่มก่อสร้างปี 2566


เตรียมเสนอ ครม.สร้างส่วนต่อขยาย "สายสีแดง" 4 เส้นทาง
Dec 22, 2021
Thai PBS News

การรถไฟแห่งประเทศไทย เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาส่วนต่อขยายโครงการรถไฟชานเมือง สายสีแดง 4 เส้นทาง โดยคาดว่า จะประมูลได้ในปี 2565 และทยอยเปิดให้บริการในปี 2569-2571


https://www.youtube.com/watch?v=cKQLrn8CMh0


Last edited by Mongwin on 22/12/2021 1:36 pm; edited 1 time in total
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42623
Location: NECTEC

PostPosted: 21/12/2021 3:49 pm    Post subject: Reply with quote

Mongwin wrote:
รถไฟ ชงครม.ไฟเขียวงบ 7.9 หมื่นล้าน สร้างส่วนต่อขยายสีแดง 4 เส้น
ข่าวสด เด่นออนไลน์ 21 ธ.ค. 2564 15:37 น.


เปิดไทม์ไลน์(ใหม่) "ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีแดง"
*พ.ค.65ชงครม.4เส้น7.9หมื่นล้านประมูลPPP
*รัฐลงทุนสร้างปี 66+หารถ/จ้างเอกชนเดินรถ
*รังสิต-มธ./ตลิ่งชัน-ศาลายา-ศิริราชเปิดปี69
*ช่วง"มิสซิงค์ลิงก์" ได้ใช้บริการหลังสุด ปี 71
https://www.facebook.com/TransportDailynews/posts/3073039632917534

รฟท.รอสรุปรูปแบบ PPP สายสีแดงส่วนต่อขยายคาดเสนอ คนร.-ประมูลปี 66
ข่าวทั่วไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ธ.ค. 64)
21 ธันวาคม 2564 เวลา 17:04น.

นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง ผู้ช่วยผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ด้านปฏิบัติการ กล่าวว่า โครงการรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบดำเนินการ ได้แก่ ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา, ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช , ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก-หัวลำโพง (Missing Link) วงเงินกว่า 6.7 หมื่นล้านบาท ได้เตรียมดำเนินการก่อสร้างควบคู่กับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินที่มีแผนเข้าพื้นที่ในเดือน ต.ค.66 เพื่อให้การก่อสร้างมีความสอดคล้องกัน โดยเฉพาะช่วงสถานีจิตรลดาที่จะก่อสร้างเป็นคลองแห้ง

ทั้งนี้ รถไฟสายสีแดงที่มีการเปิดให้บริการในปัจจุบัน และสายสีแดงส่วนต่อขยายนั้น รฟท.ได้มีการศึกษารูปแบบการให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน (PPP) ขณะนี้รายงานการศึกษาเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างสรุปข้อมูล และเสนอกระทรวงคมนาคม ซึ่งต้องการให้ รฟท.เร่งรัดการก่อสร้างช่วง Missing Link โดยเร็ว คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และ ครม.ภายใน 6 เดือน คาดว่าอนุมัติโครงการและได้ตัวผู้รับจ้างก่อสร้างในปี 66



แนวทางในการดำเนินการรูปแบบ PPP-Net Cost เบื้องต้นมี 3 แนวทางคือ
1. ให้เอกชนลงทุน 100% แต่ผลตอบแทนค่า EIRR ต่ำมาก
2. รัฐลงทุนโยธา เอกชนลงทุนจัดหารถ เดินรถ ซ่อมบำรุง (O&M) และจัดเก็บรายได้ ซึ่งค่า EIRR ยังต่ำกว่า 12%
3. แนวทางที่ 3 รัฐลงทุนโยธาและจัดหารถ โดยให้เอกชนเดินรถ ซ่อมบำรุงทั้งตัวรถและโครงสร้างพื้นฐานไปด้วย ซึ่งเอกชนจัดเก็บรายได้ แบ่งค่าสัมปทานและจ่ายค่าตัวรถให้รฟท. พบว่ามีความเป็นไปได้ในการลงทุน มีค่า EIRR เหมาะสมที่สุด ภายใต้ระยะเวลา 50 ปี โดยหากได้รับความเห็นชอบ รฟท.จะเปิดประมูลก่อสร้างงานโยธาได้ทันที เนื่องจาก ครม.เห็นชอบไว้แล้ว
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44318
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 28/12/2021 8:08 am    Post subject: Reply with quote

เพิ่มความแรง ‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’ ปักธงสร้างส่วนขยายปี 66 เปิดปี 69
เดลินิวส์ 28 ธันวาคม 2564 8:00 น.
มุมคนเมือง

เปิดมาได้ 4 เดือน เเม้ตัวเลขจะยังไม่ตามเป้าเเต่ถือว่า "สัญญาณดีแรงต่อเนื่อง" สำหรับรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) จนต้องสร้างส่วนขยายจะเปิดใช้ในปี 69

เปิดให้บริการมากว่า 4 เดือนแล้ว สำหรับรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) หรือรถไฟฟ้าสายสีแดงของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26.30 กิโลเมตร(กม.) และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน 15.3 กม รวม 41.6 กม. นับตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค.64 ที่ให้ประชาชนทดลองใช้บริการแบบไม่เก็บค่าโดยสาร (ฟรี) และเริ่มเก็บค่าโดยสารตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. อัตรา 12-42 บาท

ตัวเลขผู้โดยสารปัจจุบันเฉลี่ยวันละ 10,267 คน ตลอดเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา มีผู้โดยสารรวม 265,038 คน เพิ่มขึ้น 31.96% จากเดือนต.ค. และเพิ่มขึ้นจากช่วงแรกที่ทดลองให้บริการฟรีอยู่ที่ประมาณ 2-3 พันคนต่อวัน ก่อนไต่ขึ้นเป็น 4-5 พันคนต่อวัน กระทั่งก่อนยกเลิกเคอร์ฟิวมีผู้โดยสาร 6-7 พัน แม้เริ่มเก็บเงินก็ยังเกิน 1 หมื่นคน แม้ตัวเลขจะยังไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ว่า จะมีผู้โดยสารประมาณ 8 หมื่นคนต่อวัน แต่สัญญาณดีแรงต่อเนื่อง

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง ระบุว่า ในปี 65 คาดว่าผู้โดยสารจะสูงขึ้นไปอีกเฉลี่ย 3 หมื่นคนต่อวันแน่นอน.

เมื่อรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนแรก สิ้นสุดการรอคอยที่มีมาอย่างยาวนานถึง 31 ปี หากนับตั้งแต่เป็นโครงการโฮปเวลล์ที่เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2533 เสียงเรียกร้องของประชาชนที่ต้องการให้เร่งก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีแดงกระหึ่มขึ้นอีกครั้ง ประชาชนจะได้เข้าถึงรถไฟฟ้าสายนี้มากขึ้น

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ รฟท. ให้ความกระจ่างเรื่องโครงการส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดงว่า ผลการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการจัดทำเอกสารประกวดราคา และการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) 4 โครงการ ระยะทางรวม 55.24 กม. วงเงิน 7.93 หมื่นล้านบาท เสร็จเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย
    1.ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) 25.9 กม.วงเงิน 4.96 หมื่นล้านบาท

    2.ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต 8.84 กม. วงเงิน 6.64 พันล้านบาท

    3.ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และก่อสร้างสถานีเพิ่มเติม ประกอบด้วย สถานีพระราม 6 สถานีบางกรวย-การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และสถานีบ้านฉิมพลี 14.8 กม. วงเงิน 1.06 หมื่นล้านบาท และ

    4.ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 5.7 กม. วงเงิน 4.73 พันล้านบาท

เส้นทางของส่วนต่อขยาย หลังจากนี้ที่ปรึกษาต้องสรุปผลการศึกษาเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. และกระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในเดือน พ.ค.65 หากเห็นชอบคาดว่าจะเปิดสรรหาเอกชนเพื่อเข้ามาร่วมลงทุนในรูปแบบเอกชนลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ทั้ง 4 เส้นทางได้ในช่วงปลายปี 65 และได้ผู้รับจ้าง พร้อมเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 66

สำหรับรูปแบบการลงทุนฯ จะเสนอ 3 แนวทางให้กระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และ ครม.พิจารณา โดยลงทุนเป็นรูปแบบ PPP Net Cost จัดจ้างเอกชนจัดเก็บค่าบริการจัดส่งให้รัฐ แบ่งออกเป็น 3 แนวทาง ประกอบด้วย

แนวทางที่ 1 คือรัฐบาล รับภาระเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานงานโยธา งานระบบควบคุมการเดินรถ และจัดหาขบวนรถไฟฟ้า ขณะที่เอกชนลงทุนระบบบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงระบบ แนวทางที่ 2 รัฐลงทุนงานโยธา และจัดหาขบวนรถไฟฟ้า ขณะที่เอกชนลงทุน งานระบบควบคุมการเดินรถ บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงระบบ และแนวทางที่ 3 เอกชนรับผิดชอบเองทั้งหมด ได้แก่ งานโยธา ระบบควบคุมการเดินรถ จัดหาขบวนรถไฟฟ้า บริหารการเดินรถ และซ่อมบำรุง
    “แนวโน้มที่คุ้มค่าการลงทุน และเหมาะสมที่สุด น่าจะเป็นรูปแบบ PPP Net Cost แนวทางที่ 1 โดยรัฐ เป็นผู้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ระบบรถไฟฟ้า และการจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า ส่วนเอกชน เป็นผู้รับผิดชอบการเดินรถและซ่อมบำรุง ตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง” ผู้ว่าการ รฟท. ส่งสัญญาณถึงแนวทางที่รฟท.จะเลือก

ลงรายละเอียดแผนการก่อสร้างเบื้องต้นช่วง รังสิต-มธ.ศูนย์รังสิต, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช จะเริ่มก่อสร้างเดือน ส.ค. 66- ก.ค. 69 และเปิดบริการปี 69 ส่วนช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง จะเริ่มก่อสร้างเดือน ส.ค.66-ม.ค.71 เปิดบริการปี 71 สำหรับอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 12 บาท และเพิ่มขึ้น 2.10 บาทต่อ กม. ค่าโดยสารสูงสุดแต่ละช่วงไม่เกิน 42 บาท จะปรับเพิ่มขึ้นทุก 2 ปี ครั้งละ 3%

คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารเมื่อเริ่มเปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยายในปี 69 ช่วงรังสิต-มธ.ศูนย์รังสิต, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช เพิ่มขึ้นเป็น 2.5แสนคนต่อวัน และเมื่อเปิดบริการเต็มรูปแบบในปี 71จะมีใช้บริการประมาณ 4 แสนคนต่อวัน และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายใน 50 ปี จะมีผู้โดยสารทะลุ 1.3 ล้านคนต่อวัน.

อดทนรอคอยรถไฟฟ้าสีแดงส่วนแรกมายาวนานกว่า 31 ปี ให้รอภาครัฐขยายแขนขาของรถไฟฟ้าสายนี้ไปชานเมืองให้ยาวขึ้นอีก 5 ปี คนกรุงเทพฯและปริมณฑลก็รอไหว เพราะรถไฟฟ้าตอบโจทย์ปัญหารถติด

……แต่จะเอื้อมถึงได้ใช้บริการหรือไม่?? อยู่ที่ค่าโดยสารต้องไม่แพงเกินไป

————————————
คอลัมน์ มุมคนเมือง
โดย ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง... สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/articles/609729/
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคต All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 8, 9, 10 ... 12, 13, 14  Next
Page 9 of 14

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©