Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai.Com

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311238
ทั่วไป:13181417
ทั้งหมด:13492655
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - พบบทความเกี่ยวกับ รถไฟสายหาดเจ้าสำราญ (ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ)
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

พบบทความเกี่ยวกับ รถไฟสายหาดเจ้าสำราญ (ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ)

 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> สาระความรู้วิชาการรถไฟและประวัติศาสตร์รถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
ranmanaja
3rd Class Pass
3rd Class Pass


Joined: 08/04/2010
Posts: 121
Location: kao ta mon junction

PostPosted: 26/01/2013 1:03 am    Post subject: พบบทความเกี่ยวกับ รถไฟสายหาดเจ้าสำราญ (ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ) Reply with quote

บทความนี้เขียนโดย คุณสมบูรณ์ แก่นตะเคียน ผู้ซึ่งเคยตามเสด็จ ได้สาระความรู้ดีมากครับ ทำให้อยากตามหาร่องรอยของเส้นทางรถไฟสายนี้มากๆเลยทีเดียว Embarassed ผู้ใดเคยอ่านแล้ว หรือมีความคิดเห็นอย่างไร แสดงความคิดเห็นกันตามสบายเลยนะครับ Laughing

ตามลิ๊งไปเลยครับ
http://kantakian.blogspot.com/2010/07/blog-post.html
Back to top
View user's profile Send private message MSN Messenger
ranmanaja
3rd Class Pass
3rd Class Pass


Joined: 08/04/2010
Posts: 121
Location: kao ta mon junction

PostPosted: 26/01/2013 1:19 am    Post subject: Reply with quote

และไขปริศนา หอคอยเก็บน้ำที่ตั้งตะหง่านอยู่ภายในรั้วของพระรามราชนิเวศน์ วังบ้านปืน แท้จริงแล้วหาใช่หอเก็บน้ำที่ไว้ใช้สำหรับรถไฟแต่อย่างใด ตามลิ๊งไปเลยครับ http://www.oknation.net/blog/print.php?id=435800 Embarassed
Back to top
View user's profile Send private message MSN Messenger
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42628
Location: NECTEC

PostPosted: 26/01/2013 2:53 am    Post subject: Reply with quote

จะให้ผมเล่ารายละเอียดเลยหรือ ... กะ สายที่ เอารถ จักร ราง 2 ฟุตครึ่ง (75 ซม.) จาก รถไฟสายพระพุทธบาท ที่ พระยาวรพงษ์พิพัฒน์ (มรว. เย็น อิสรเสนา ณ อยุธยา) ผู้ก่อตัี้ง รถไฟสายบางบัวทองได้อำนวยนการสร้าง เปิดใช้งาน ก็ 16 เมษายน 2464 แต่ มาใช้งานครั้งสุดท้าย ก็ 31 พฤษภาคม 2466 เพราะ ภายหลังได้ถอนเสา เรือน ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ ไปปลูกและปรับปรุงแก้ไข เป็น พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ที่ บางควาย ที่ ต้องเปลี่ยนสถานี จากบางควายเป็นห้วยทรายเหนือ และ สถานีห้วยทรายเป็นห้วยทรายใต้
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44333
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 27/01/2013 11:28 am    Post subject: Reply with quote

ขอบคุณมากครับที่แนะนำบทความทั้ง 2 เรื่องมาให้อ่านกัน Very Happy

ร่องรอยของทางรถไฟสายเก่านั้น หากไม่ได้ทำคันทางถาวรไว้ หรือมีการสร้างถาวรวัตถุที่ทำจากวัสดุที่คงทน เช่น เหล็กหรือคอนกรีต ก็ยากแก่การตามหาครับ

แผนที่ในยุคก่อน ร.7 ส่วนมากก็ไม่ละเอียดหรือถูกต้องตรงตามมาตราส่วนหรือพิกัดภูมิศาสตร์ครับ ภาพถ่ายทางอากาศก็ยังไม่มี

อย่างที่คุณวิศรุตบอก ทางรถไฟสายนี้มีอายุการใช้งานที่สั้นมาก และคงไม่ได้มี"ถาวรวัตถุ"ใด ๆ หลงเหลือให้เห็น นอกจากคำบอกเล่าครับ
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42628
Location: NECTEC

PostPosted: 27/01/2013 5:10 pm    Post subject: Reply with quote

^^^
ที่เหลืออยู่ก็แปรสภาพเป็นทางหลวงท้องถิ่น ไปหาดเจ้าสำราญหนะ
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44333
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 22/03/2019 7:27 pm    Post subject: Reply with quote

ย้อนอดีต ร.ศ.137 ‘ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ’

ฟื้นประวัติศาสตร์โดย ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม

นสพ.เพชรภูมิ 22 มี.ค. 62

Arrow คลิก

Click on the image for full size
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42628
Location: NECTEC

PostPosted: 17/04/2019 11:17 am    Post subject: Reply with quote

เมื่อชนชั้นสูงฮิต “หาดเจ้าสำราญ” ทำไมรัชกาลที่ 6 ทรงไม่เสด็จฯไปเมืองชายทะเลสุดสวยในทีแรก
ประวัติศาสตร์
ที่มา วาทะเล่าประวัติศาสตร์: ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ธันวาคม 2553
ผู้เขียน ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย
เผยแพร่ วันจันทร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ.2562

พระตำหนักที่ชายทะเลหาดเจ้าสำราญเป็นเรือนไม้ยางหลังคามุงจาก พระบาทสม เด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างเป็นพระตำหนักพอเป็นที่ประทับสบายๆ เท่าที่ จำเป็น ไม่หรูหรา

“…ที่นั้นกำลังเป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไป ไม่อยากจะเข้าไปรบกวนความสนุกสบายของเขา…”

เป็นพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตอบผู้ที่ทูลแนะนำให้เสด็จฯ ไปประทับรักษาพระองค์ด้วยพระโรครูมาติซั่มที่เมืองชายทะเลหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นเมืองชายทะเลที่มีชื่อเสียงว่าสวยงาม ผู้คนนิยมไปพักผ่อนมากที่สุดในเวลานั้น โดยเฉพาะผู้คนในวงสังคมชั้นสูงนับแต่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนพ่อค้าคหบดี ต่างพากันไปจับจองซื้อหาที่ดินติดชายทะเลก่อสร้างตำหนักเรือนและบ้านเป็นจำนวนมาก ทุกฤดูร้อนจึงมีผู้คนจากกรุงเทพฯ หลั่งไหลไปพักผ่อนตากอากาศที่ชายทะเลหัวหินกันคับคั่ง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบเหตุการณ์นี้เป็นอย่างดี ดังนี้เมื่อมีผู้ถวายคำแนะนำให้เสด็จฯ ไปรักษาพระองค์ ณ ที่นั้น จึงทรงรู้สึกถึงความยุ่งยากลำบากใจและไม่สะดวกสบายของผู้คนเหล่านั้นจะต้องประสบหากพระองค์เสด็จฯ ไปประทับหรือโปรดให้สร้างวังที่ประทับอันจะทำให้เกิดเขตพระราชฐานซึ่งจะถูกกำหนดให้เป็นเขตหวงห้าม แม้จะมิได้มีพระราชประสงค์ให้เป็นเช่นนั้น แต่ตามพระราชประเพณีจำเป็นที่จะต้องมีการพิทักษ์รักษาให้พระองค์ประทับอยู่ในที่ปลอดภัยและสมพระเกียรติยศ ทรงตระหนักพระทัยถึงความยุ่งยากทั้งปวงที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างดี มีพระราชหฤทัยที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตาและพระอัธยาศัยที่ละเอียดอ่อนเห็นอกเห็นใจผู้คนที่ต่ำกว่า เข้าพระทัยถึงความรู้สึกของสามัญชนเป็นอย่างดีจึง “…ไม่อยากจะเข้าไปรบกวนความสนุกสบายของเขา…”

แต่ด้วยความจำเป็นที่จะต้องเสด็จฯ ไปประทับรักษาพระองค์ ณ สถานที่ที่มีภูมิอากาศเช่นนั้น จึงโปรดให้กระทรวงทหารเรือสำรวจหาที่ชายทะเลด้านตะวันตกที่มีหาดทรายยาวขาวและน้ำทะเลใสสะอาดพอที่จะเสด็จลงสรงได้ กระทรวงทหารเรือได้พบชายหาดลักษณะดังกล่าวที่ตำบลบางทะลุ ห่างจากตัวเมืองเพชรบุรีประมาณ ๑๕ กิโลเมตร ทรงพอพระราชหฤทัยสถานที่ดังกล่าว จึงโปรดให้สร้างพระตำหนักพอเป็นที่ประทับสบายๆ เท่าที่จำเป็น ไม่หรูหรา เพราะมีพระราชประสงค์จะทรงประหยัดพระราชทรัพย์ ตัวพระตำหนักและเรือนบริวารในครั้งนั้น จึงเป็นเพียงเรือนไม้ยางหลังคามุงจาก ในส่วนความสะดวกอื่นๆ เช่น ถนนซึ่งโปรดให้สร้างตั้งแต่ตัวเมืองเพชรบุรี ถึงพระตำหนักระยะทาง ๑๕ กิโลเมตร ก็โปรดให้เพียงขุดตอปรับหน้าดินให้เรียบและแน่นจะถมดินก็เฉพาะตอนที่เป็นลุ่มน้ำ สำหรับเป็นเส้นทางรถพระที่นั่ง และโปรดให้เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (เย็น อิศรเสนา) เป็นแม่กองจัดการวางรางรถไฟเล็กเพื่อใช้ขนส่งอุปกรณ์ในการดำรงชีวิตและเสบียงอาหาร ตลอดจนอำนวนความสะดวกแก่บรรดาข้าราชการที่ตามเสด็จ งานก่อสร้างทั้งสิ้นสำเร็จลงเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๑

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับแรมครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑ การเสด็จประพาสครั้งนั้นเป็นที่พอพระราชหฤทัยถึงกับพระราชทานนามสถานที่นั้นใหม่ว่า “หาดเจ้าสำราญ” และเสด็จฯ อีกครั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ ครั้งนี้นับเป็นครั้งสุดท้าย เพราะมีเหตุการณ์ที่ทำให้ทรงประจักษ์ถึงความยากลำบากของข้าราชบริพารในการตามเสด็จ

ความยากลำบากครั้งนั้นเกิดจากสาเหตุหลายประการ นับแต่เรื่องน้ำจืดซึ่งหายาก แม้จะได้มีการขุดบ่อน้ำจืดไว้ทางทิศใต้ของพระตำหนัก แต่บางทีเมื่อฝนตกน้อยบ่อน้ำก็แห้ง เช่นปีที่เสด็จฯ ทำให้มีน้ำจืดไม่เพียงพอแก่ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จ จึงต้องลำเลียงน้ำจืดมาจากเพชรบุรี ซึ่งเต็มไปด้วยความยากลำบาก เพราะรถไฟเล็กที่เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์สร้างขึ้นนั้น นอกจากจะมีขนาดเล็กบรรทุกของได้ไม่มากนัก ยังเป็นของเก่านำมาปรับปรุงใหม่ จึงมีกำลังลากจูงน้อย เสียบ่อย แม้จะมีระยะทางเพียง ๑๕ กิโลเมตร แต่ต้องใช้เวลาถึง ๕ ชั่วโมง เล่ากันว่าผู้โดยสารบางคนสามารถเดินขนาบติดไปกับรถก็ทันกัน หรือลงไปทำธุระบางอย่างและวิ่งตามมาขึ้นรถก็ยังทัน ถ้าหากนั่งในรถตลอดเวลาก็จะรู้สึกเมื่อยขบปวดหลังไหล่เพราะรถส่ายสะบัดไปมา บางครั้งเมื่อรถเสียกลางทางผู้โดยสารก็ต้องนั่งรอกลางแดดรอการแก้ไข ความลำบากสุดยอดอีกประการหนึ่งคือ การที่ต้องต่อสู้กับแมลงวันหัวเขียวซึ่งมีมากมายเหลือคณานับ อันเกิดจากการที่อยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านชาวประมงนัก มหาดเล็กต้องคอยปัดแมลงวันไม่ให้รบกวนพระเจ้าอยู่หัวทุกเวลา โดยเฉพาะเวลาเสวยต้องคอยปัดแมลงวันทั้งที่ตอมอาหารและตอมพระเจ้าอยู่หัว บางครั้งบางคนใช้ไม้ตบแมลงวันจนไส้ไหลออกมาเลอะเทอะบนผ้าปูโต๊ะเสวยที่มีสีขาวสะอาด ก่อให้เกิดความสกปรกน่าสะอิดสะเอียน บางคราวเมื่อใช้แส้ปัดแมลงวันปลายแส้ตวัดลงไปในอาหารกระเซ็นถูกพระองค์ก็เคยมี ล้วนเป็นความยากลำบากของข้าราชบริพารทั้งสิ้น

ความยากลำบากนานาประการนี้เองที่มีมหาดเล็กปากไม่อยู่สุขแอบกระซิบกระซาบนินทาต่อสร้อยนามสถานที่ว่า “หาดเจ้าสำราญ แต่ข้าราชบริพารเบื่อ” ซึ่งเป็นความจริงที่ตรงกับจิตใจของข้าราชบริพารส่วนมาก เสียงกระซิบกระซาบจึงดังขึ้น ถึงแม้จะเป็นเพียงเสียงกระซิบกระซาบแต่ด้วยน้ำพระทัยที่ทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา ทรงเห็นใจความยากลำบากของเหล่าข้าราชบริพาร ครั้งนั้นจึงโปรดเสด็จฯ กลับกรุงเทพฯ เร็วกว่ากำหนด และมิได้เสด็จประทับ ณ หาดเจ้าสำราญอีกเลย

ปัจจุบันบริเวณหาดเจ้าสำราญไม่ปรากฏร่องรอยของอดีตที่เคยเป็นสถานที่ประทับทรงพระสำราญในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นร่องรอยของถนนสำหรับรถยนต์พระที่นั่ง ร่องรอยเส้นทางรถไฟ หรือแม้แต่ร่องรอยของพระตำหนักก็ไม่เหลือให้เห็น คงเหลือเพียงชื่อสถานที่ที่โปรดพระราชทานนามว่า “หาดเจ้าสำราญ” เป็นพยานว่า ณ ที่นี้เคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งเท่านั้น

แต่ที่สำคัญ สถานที่นี้ยังคงเป็นพยานยืนยันถึงน้ำพระทัยที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตาของพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ที่ทรงมีต่อประชาชนของพระองค์ในการที่ไม่โปรดให้สร้างที่ประทับ ณ ตำบลหัวหิน อันเป็นสถานที่เจริญเหมาะสมแก่การสร้างพระตำหนักสำหรับพักรักษาพระโรครูมาติซั่ม เพียงเพราะ “ไม่อยากจะเข้าไปรบกวนความสนุกสบายของเขา”
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44333
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 16/07/2021 1:34 pm    Post subject: Reply with quote

รวมตำนานรถไฟสายเอกชน! พระเจ้าอยู่หัวเป็นเจ้าของเองก็มี อีกสายมีของแปลกหนึ่งเดียวในโลก!!
เผยแพร่: 16 ก.ค. 2564 09:58 ปรับปรุง: 16 ก.ค. 2564 09:58 โดย: โรม บุนนาค


ปัจจุบันรถไฟทุกสายอยุ่ในสังกัดของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ในสมัยรัชกาลที่ ๕-๖ ที่เริ่มมีรถไฟในประเทศไทย ไม่ได้มีแต่รถไฟหลวงเท่านั้น เอกชนก็สร้างทางรถไฟขึ้นด้วยหลายสาย สายหนึ่งสร้างก่อนมีรถไฟหลวงถึง ๓ ปี ถือได้ว่าเป็นรถไฟสายแรกของประเทศไทย สายหนึ่งพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นเจ้าของเอง อีกสายสร้างมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ปัจจุบันก็ยังได้รับความนิยมอยู่ แม้จะต้องเปลี่ยนเจ้าของ และมีของแปลกให้คนทั่วโลกมาชม

รถไฟสายแรกนั้นก็คือ “สายปากน้ำ” ออกจากกรุงเทพฯที่สถานีริมคลองตรงข้ามกับสถานีหัวลำโพงในปัจจุบัน เส้นทางขนานไปกับถนนพระราม ๔ ถึงสถานีปากน้ำในจังหวัดสมุทรปราการเป็นระยะทาง ๒๑.๓ กิโลเมตร มี ๑๒ สถานี โดยรัฐบาลได้ให้สัมปทาน ๕๐ ปีแก่บริษัทของชาวเดนมาร์ค คือนาย เอ.ดูเปล ริเดธิเชอเลียว หรือพระยาชลยุทธโยธิน ซึ่งรับราชการเป็นกัปตันเรือพระที่นั่งเวสาตรี กับพวก และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำพิธีเริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๔๓๔ ทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำพิธีเปิดเดินรถในวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๔๓๖ พระราชดำรัสในครั้งนั้นมีความตอนหนึ่งว่า

“...เรามีความยินดีที่ได้รับหน้าที่อันเป็นที่พึงใจ คือจะได้เป็นผู้เปิดรถไฟสายนี้ ซึ่งเป็นที่ชอบใจและปรารถนามาช้านานแล้วนั้น ได้สำเร็จสมดังประสงค์ลงในครั้งนี้ เพราะเหตุว่าเป็นรถไฟสายแรกที่จะได้เปิดในบ้านเมืองเรา แล้วยังจะมีสายอื่นต่อๆไปอีกเป็นจำนวนมากในเร็วๆนี้ เราหวังใจว่าจะเป็นการเจริญแก่ราชการและการค้าขายในบ้านเมืองเรายิ่งนัก...”

ทางรถไฟสายนี้ยังถือว่าเป็นสายยุทธศาสตร์ด้วย เพราะสมัยนั้นปากน้ำเจ้าพระยาถือเป็นจุดสำคัญ ข้าศึกจะใช้เรือปืนเข้ามาโจมตีพระนครได้ก็จะต้องผ่านจุดนี้ แต่ในด้านธุรกิจนั้นไม่ประสบความสำเร็จนัก เกิดการขาดทุนจนรัฐบาลต้องให้กู้เงินเพื่อพยุงกิจการเดินรถสายนี้ไว้

เมื่อแรกเดินรถนั้นใช้หัวรถจักรไอน้ำเหมือนรถไฟทั่วไป แต่เมื่อมีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ รถไฟสายนี้ก็หันไปใช้ไฟฟ้าเช่นเดียวกับรถราง

หลังสิ้นสุดสัมปทาน กรมรถไฟได้ดำเนินกิจการรถไฟสายปากน้ำต่อ จนกระทั่งเลิกไปเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๓ ในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และรื้อทางรถไฟพร้อมถมคลองขยายถนนพระราม ๔ ออกไป ร่องรอยของเส้นทางรถไฟสายนี้ที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน ก็คือเส้นทางรถยนต์ที่เรียกว่า “ถนนทางรถไฟสายเก่า”

ต่อมาในปี ๒๔๔๔ เราก็มีรถไฟเอกชนเกิดขึ้นอีกสาย และเป็นสายที่ยังวิ่งอยู่ในปัจจุบัน รถไฟสายนี้สถานีต้นทางไม่ได้อยู่ที่หัวลำโพงหรือบางกอกน้อย และมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่เหมือนรถไฟสายอื่นในวันนี้ เป็นบุคลิกพิเศษเพราะวิ่งอยู่โดดเดี่ยวเพียงสายเดียว ไม่ยอมเชื่อมต่อกับใคร

รถไฟพิเศษสายนี้ก็คือสายวงเวียนใหญ่-สมุทรสงคราม เดิมสถานีต้นทางอยู่ที่ปากคลองสาน ตรงที่เป็นท่าเรือข้ามไปสี่พระยาในปัจจุบัน วิ่งไปถึงมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร โดยบริษัทรถไฟท่าจีน ทุนจำกัดได้รับสัมปทานมาตั้งแต่วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๔๔๔ เป็นระยะทาง ๓๓.๑ กม. ต่อมาในวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๔๔๘ บริษัทแม่กลอง ทุนจำกัด ได้รับสัมปทานจากสถานีบ้านแหลม สมุทรสาคร ซึ่งอยู่ตรงข้ามฟากแม่น้ำท่าจีนกับสถานีมหาชัย ไปจนถึงสถานีแม่กลอง เมืองสมุทรสงคราม เป็นระยะทาง ๓๓.๘ กม. มีเรือข้ามฟากขนถ่ายผู้โดยสารไปมาระหว่างสถานีมหาชัยกับสถานีบ้านแหลม จนในปี ๒๔๕๑ ทั้ง ๒ บริษัทก็รวมเป็นบริษัทเดียวกัน ใช้ชื่อว่าบริษัทแม่กลอง ทุนจำกัด

เมื่อสัมปทานของรถไฟสายนี้หมดลง กรมรถไฟจึงขอซื้อทรัพย์สินมาทำเองในราคา ๒ ล้านบาท ตั้งเป็นองค์กรบริหารขึ้นใหม่ในชื่อ “องค์กรรถไฟสายแม่กลอง” ทำนองเป็นรัฐวิสาหกิจ จนกระทั่งอีก ๗ ปีต่อมากรมรถไฟได้เปลี่ยนฐานะเป็น “การรถไฟแห่งประเทศไทย”ในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๙๕ กระทรวงคมนาคมจึงรวมองค์การรถไฟสายแม่กลองเข้ากับการรถไฟแห่งประเทศไทย แต่ก็ยังมีฐานะเป็น “สำนักงานรถไฟสายแม่กลอง” ดำเนินงานเป็นเอกเทศเช่นเดิม จนกระทั่งถึงวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ สำนักงานรถไฟสายแม่กลองจึงถูกรวมกับการรถไฟแห่งประเทศไทยอย่างเต็มตัว มีฐานะเช่นเดียวกับรถไฟสายอื่นๆทั่วประเทศ

แต่ถึงกระนั้น รถไฟสายแม่กลองก็ยังรักษาบุคลิกพิเศษไม่เชื่อมทางกับใคร และไม่สามารถส่งหัวรถจักรหรือโบกี้เข้าซ่อมในโรงซ่อมของการรถไฟฯที่บางกอกน้อยหรือมักกะสันได้ การเปลี่ยนหัวรถจักรหรือโบกี้โดยสารจึงต้องขนใส่แพขนานยนต์มาขึ้นที่สถานีปากคลองสาน

จนถึงวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๐๒ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ได้เสนอต่อที่ประชุม ครม. ให้ยุบทางรถไฟสายนี้จากสถานีปากคลองสานไปเริ่มที่สถานีวงเวียนใหญ่ ทำให้ทางรถไฟช่วงที่ถูกยุบกลายเป็นถนนสายวงเวียนใหญ่-ปากคลองสาน การขนส่งหัวรถจักรและอุปกรณ์ล้อเลื่อนต่างๆที่ต้องส่งไปซ่อม ก็ต้องเปลี่ยนจากแพขนานยนต์ไปบรรทุกด้วยรถเทเลอร์ขึ้นลงที่สถานีบ้านขอม สมุทรสาคร

ประวัติศาสตร์ที่สำคัญของทางรถไฟสายนี้บันทึกไว้ว่า เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๔๔๘ เวลา ๒ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถพระที่นั่งจากพระราชวังสวนดุสิต ไปประทับเรือพระที่นั่งที่ท่าราชวรดิฐ ล่องไปเทียบท่าสเตชั่นรถไฟท่าจีน ใต้ปากคลองสาน เสด็จประทับรถไฟใช้จักรออกจากกรุงเทพฯไปหยุดรถพระที่นั่งที่สเตชั่นสมุทรสาคร เสด็จพระราชดำเนินประทับเรือไฟ ข้ามไปที่ตลาดท่าฉลอม เพื่อทรงทำพิธีเปิดถนนถวาย ตำบลท่าฉลอม เมืองสมุทรสาคร

ปัจจุบัน แม้สมุทรสาครและสมุทรสงครามจะมีถนนสายใหญ่ติดต่อกับกรุงเทพฯ มีรถเมล์โดยสารวิ่งวันละหลายเที่ยว แต่คนจำนวนไม่น้อยก็ยังอาศัยรถไฟสายแม่กลอง อีกทั้งยังเป็นสายท่องเที่ยว ทั้งไทยและเทศสนใจไปดูความมหัศจรรย์ไม่เหมือนใครในโลกของรถไฟสายนี้ คือ “ตลาดหุบร่ม” ที่ตั้งอยู่บนรางรถไฟก่อนถึงสถานีแม่กลอง แสดงออกถึงความเอื้ออารีที่มีต่อกันอันเป็นเอกลักษณ์ไทย

ในปี ๒๔๔๕ ได้เกิดรถไฟเอกชนขึ้นอีกสายหนึ่ง เป็นรถไฟขนาดเล็ก รางกว้างเพียง ๗๕ ซม. เดินรถในระยะทางสั้นๆ ๒๐ กม. จากอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี มี ๗ สถานี ได้เริ่มเดินรถในปี ๒๔๔๙ แต่ก็มีปัญหามาตลอด ทั้งด้านการเดินรถและด้านธุรกิจ จนต้องหยุดกิจชั่วคราวการมาครั้งหนึ่งเพราะการเงิน ส่วนการเดินรถก็มีขัดข้องกลางทางจนถึงตกราง แม้ในเที่ยวปฐมฤกษ์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทำพิธีเปิด ก็ต้องหยุดกลางทางถึง ๒-๓ ครั้ง แต่ก็ดำเนินกิจการอยู่ได้จนถึงปี ๒๔๘๓

จุดมุ่งหมายในการสร้างทางรถไฟสายนี้ดูจะไม่ใช่เรื่องธุรกิจ แต่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เจ้านายและประชาชนที่เดินทางไปนมัสการพระพุทธบาท ซึ่งมีเฉพาะในช่วงเทศกาลเท่านั้น นอกนั้นก็ได้ช่วยชาวบ้านลำเลียงผลผลิตทางการเกษตร เช่น พืชไร่ หน่อไม้ น้อยหน่า และขนุนไปสู่ตลาด ตารางการเดินรถจึงไม่มีกำหนดแน่นอน เต็มเมื่อไหร่ก็ออกเมื่อนั้น และวิ่งด้วยความเร็ว ๒๐-๓๐ กม.ต่อชั่วโมง ตลอดเส้นทางใช้เวลา ๑ ชั่วโมง

ผู้ก่อตั้งรถไฟสายนี้ ก็คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เจ้านายที่ทำธุรกิจหลายอย่าง รวมทั้งโรงละครที่แพร่งนรา ถนนตะนาว โดยร่วมหุ้นกับขุนนางอีก ๖ คน ตั้งบริษัท รถรางพระพุทธบาท ทุนจำกัด เรียกกันว่า “รถไฟกรมพระนรา”

ธุรกิจการเดินรถไฟสายนี้ไม่ประสบความสำเร็จ อยู่ในขั้นประคองตัวมาได้เท่านั้น เมื่อมีถนนพหลโยธินตัดผ่านอำเภอพระพุทธบาทไปถึงลพบุรีในปี ๒๔๘๓ ก็ประสบการขาดทุนหนัก จนต้องเลิกกิจการ ขายอุปกรณ์ให้แก่บริษัทส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย เจ้าของโรงงานน้ำตาลหลายแห่งไป

ร่องรอยที่ระลึกถึง “รถไฟสายกรมพระนรา” ในปัจจุบัน ก็คือทางหลวงหมายเลข ๓๐๒๒ สายอำเภอท่าเรือกับอำเภอพระพุทธบาท นั่นเอง

รถไฟในอดีตอีกสาย เรียกกันว่า “รถไฟสายเจ้าคุณวรพงศ์” แต่มีชื่อเป็นทางการว่า “รถไฟสายบางบัวทอง” สถานีต้นทางอยู่ริมฝั่งเจ้าพระยาที่ท่าน้ำวัดบวรมงคล หรือวัดลิงขบ ตรงข้ามกับท่าเรือเทเวศม์ ไปสุดทางที่บางบัวทอง ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นแหล่งธุรกิจคึกคัก เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตอิฐบางบัวทอง ซึ่งเป็นอิฐชั้นดีนิยมใช้ในการก่อสร้างวังและคฤหาสน์ในสมัยนั้น

ผู้ที่ก่อตั้งรถไฟสายนี้ก็คือ เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา) คนที่ชอบเรื่องเครื่องยนต์กลไกและงานช่าง ซึ่งไปสร้างเตาเผาอิฐที่บางบัวทองด้วย

การวางรางรถไฟสายนี้มีปัญหายุ่งยากมาก เพราะตอนนั้นยังไม่มีพระราชบัญญัติคุ้มครองการสร้างทางรถไฟ เส้นทางที่รถไฟจะผ่านก็ล้วนเป็นสวนผลไม้ บางรายไม่ยอมแบ่งขายให้ซื้อยกแปลง บางรายก็ไม่ยอมขาย เลยต้องย้ายแนวหลบ ทำให้ทางรถไฟสายนี้คดไปคดมา ผู้เขียนเคยนั่งรถไฟสายนี้ตอนเป็นเด็ก ข้ามเรือจากท่าเทเวศ์ไปท่าวัดลิงขบ แล้วขึ้นรถไฟไปลงที่สถานีวัดรวก บางบำหรุ เหมือนนั่งเรือฝ่าคลื่น นอกจากกระเทือนแล้วยังส่ายไปมา แต่บรรยากาศสองข้างทางก็ติดตรึงใจ ผ่านสวนทุเรียนที่มีลูกห้อยระย้าอยู่ข้างทางไปตลอด

กิจการรถไฟสายนี้คงจะดีพอควร ในปี ๒๔๗๓ จึงได้ขยายเส้นทางจากบางบัวทองต่อไปถึงทุ่งระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว ทั้งได้ย้ายรางที่แยกไปลงท่าน้ำวัดเฉลิมพระเกียรติ ตามศาลากลางจังหวัดนนทบุรีที่ย้ายจากตลาดขวัญตรงข้ามวัดเฉลิมพระเกียรติไปอยู่บางขวาง ไปลงที่ท่าน้ำซึ่งอยู่ตรงข้ามศาลากลางจังหวัดแห่งใหม่ ที่ปัจจุบันเรียกว่า “ท่าน้ำนนทบุรี”

ในตอนที่เริ่มเดินรถได้ใช้หัวรถจักรไอน้ำ แต่พอฟืนหายากก็หันไปใช้หัวรถจักรดีเซล ครั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดปัญหาน้ำมันขาดแคลน ทั้งยังมีเรือ “มอเตอร์โบ๊ต” ของบริษัทฝรั่งมาเปิดรับผู้โดยสารจากบางบัวทองกับท่าเขียวไข่กา บางกระบือ ทำให้รายได้ลดลงอีก จึงต้องเลิกกิจการในวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๔๘๕ ขายรางและหัวรถจักรให้บริษัทส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย จำกัดไปอีกราย

ร่องรอยของ “ทางรถไฟสายเจ้าคุณวรพงศ์” ที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน ก็คือ “ซอยจรัญสนิทวงศ์ ๔๖” และ “ถนนบางกรวย-ไทรน้อย”

ทางรถไฟทั้ง ๔ สายที่เล่ามานี้ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ ก็มีรถไฟของเอกชนเกิดขึ้นอีกสายหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯโปรดเกล้าฯให้สร้างพระตำหนักขึ้นที่ตำบลบางทะลุ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อเป็นที่พักผ่อนพระวรกายและรักษาพระพลานามัยจากโรครูมาติซัม โดยมีพระราชประสงค์ไม่ไปรบกวนคนไปตากอากาศที่ชะอำและหัวหิน พระราชทานนามว่า “หาดเจ้าสำราญ”

X

แม้หาดเจ้าสำราญจะสวยงามและมีน้ำใสเหมาะที่จะลงสรง แต่ก็เป็นสถานที่ทุรกันดาร การเดินทางลำบาก เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ เจ้าของรถไฟสายบางบัวทอง จึงขอพระราชทานเป็นแม่กองสร้างทางรถไฟจากเพชรบุรีมาถึงพระตำหนักบางทะลุ เป็นระยะทาง ๑๕ กม. เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ข้าราชบริพาร เป็นระบบรางกว้าง ๗๕ ซม. เริ่มเดินรถเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๔๖๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯก็เคยเสด็จด้วยรถไฟพระที่นั่งสายนี้หลายครั้ง

แต่เนื่องจากหาดเจ้าสำราญมีปัญหาเรื่องน้ำจืด ทั้งยังมีแมลงวันชุกชุม จนข้าราชบริพารแอบกระซิบกันว่า “เจ้าสำราญ แต่ข้าราชบริพารเบื่อ” เมื่อทรงทราบจึงมีพระราชดำริย้ายพระตำหนักไปที่ตำบลห้วยทรายเหนือ ซึ่งมีน้ำจืดพอเพียงและไปมาสะดวกกว่า จึงทรงสร้างพระตำหนักพระราชนิเวศน์มฤทายวัน ทางรถไฟสายหาดเจ้าสำราญจึงปิดลงในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๔๖๖
รถไฟสายหาดเจ้าสำราญนี้ มีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นเจ้าของ เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ เป็นแม่กองสร้าง

ร่องรอยของทางรถไฟสายนี้ ปัจจุบันก็คือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๑๗๗ เพชรบุรี-หาดเจ้าสำราญ
นี่ก็เป็นตำนานรถไฟของเอกชนที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ก็ได้ทิ้งร่องรอยให้เป็นประโยชน์ของรถยนต์ในวันนี้

Click on the image for full size
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44333
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 26/05/2022 3:47 pm    Post subject: Reply with quote

ประวัติทางรถไฟสายหาดเจ้าสำราญ
May 26, 2022
TUM Twenty-Four


https://www.youtube.com/watch?v=qcAqKpyMvug
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> สาระความรู้วิชาการรถไฟและประวัติศาสตร์รถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Page 1 of 1

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©