Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai.Com

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311238
ทั่วไป:13181741
ทั้งหมด:13492979
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - [แก้หัวข้อ] ปัญหารถไฟฟ้า
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

[แก้หัวข้อ] ปัญหารถไฟฟ้า
Goto page 1, 2  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคต
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42631
Location: NECTEC

PostPosted: 04/04/2007 9:53 am    Post subject: [แก้หัวข้อ] ปัญหารถไฟฟ้า Reply with quote

ปัญหารถไฟฟ้า กรณีน่าศึกษาของอิหร่าน

โดย สมเกียรติ พงษ์กันทา ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัทรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด หมายเหตุ : อ้างอิง Public Transport International 4/2006
มติชน 4 เมษายน 2550


มีข่าวว่าท่านรัฐมนตรีคลังจะลดปริมาณของงานการก่อสร้างรถไฟฟ้าลง จาก 5 สายให้เหลือเพียง 2 สาย และยังไม่ชัดเจนว่า 2 สาย ที่เหลือนั้นคือสายใด

ข่าวนี้ได้สร้างความสับสนให้แก่วงการธุรกิจการก่อสร้าง ผู้ผลิตและจำหน่ายระบบและอุปกรณ์รถไฟฟ้าทั้งในและนอกประเทศเป็นอย่างยิ่ง

รถไฟฟ้าเป็นโครงการหนึ่งที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยใช้เป็นเครื่องมือสร้างคะแนนนิยม และรัฐบาลทุกคณะก็ประสบปัญหาคล้ายกัน คือ ขาดการวางแผนการเงินเพื่อรองรับงานก่อสร้างและการดำเนินงานต่อเนื่องที่มีคุณภาพแก่ประชาชน

รัฐบาลแต่ละชุดจะปรับเปลี่ยนนโยบายไปตามกระแสประชานิยม และเข้าใจเอาเองว่าตนไม่ควรตัดสินใจในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่เป็นระยะยาว

ความเข้าใจดังกล่าวนี้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาที่ต่อเนื่อง

รัฐบาลในอาณัติของ คมช.นี้ ก็เช่นกัน ด้วยจิตสำนึกในระบบเดียวกัน ไม่อยากสร้างภาระผูกพันในการสร้างรถไฟฟ้าระยะยาวให้กับคณะที่จะมารับภาระต่อไป จึงได้พยายามที่จะลดขนาดของโครงการให้น้อยลงกว่าเดิม จากที่รัฐบาลชุดที่แล้วได้วางแผนไว้ ปราศจากความเข้าใจในภาระความรับผิดชอบในการสานต่องานระบบขนส่งมวลชนของชาติที่จำเป็นต้องทำให้ต่อเนื่อง

โครงการนี้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นข้าราชการประจำได้ทำหน้าที่ในการพิจารณา กลั่นกรอง บริหารจัดการอยู่แล้ว หน้าที่ของคณะรัฐบาลจึงเพียงแต่ควบคุมนโยบาย ดูแลการปฏิบัติให้โปร่งใส มีคุณภาพและประสิทธิภาพเท่านั้น

เนื่องจากขาดความเข้าใจในปริมาณและคุณภาพของงานในทางลึก และมีเวลาจำกัดในการปฏิบัติหน้าที่ รัฐบาลชุดนี้จึงไม่อยากสร้างพันธะและภาระทางการเงินผูกพันกับโครงการงานรถไฟฟ้าให้มากเกินจำเป็น

ข้อดีของรัฐบาลชุดนี้ คือมีนโยบายและการปฏิบัติที่โปร่งใสปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อนต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นโอกาสเดียวที่ทำให้ประเทศชาติได้งานขนส่งมวลชนระบบรางที่มีคุณภาพ ด้วยราคาประหยัดที่สุด ก็ได้

วัตถุประสงค์ของการสร้างรถไฟฟ้าในทุกประเทศทั่วโลกนั้นคล้ายคลึงกัน คือ เพื่อขนคนจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งให้ได้มากที่สุด ปลอดภัย มีประสิทธิภาพโดยใช้เวลาและพลังงานให้น้อยที่สุด เพื่อลดปัญหาการจราจรบนท้องถนน ให้เป็นทางเลือกของผู้ใช้รถยนต์และผู้ด้อยโอกาส ลดมลพิษ ลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง

แม้กระทั่งประเทศที่ส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น อิหร่าน ก็กำลังสร้างรถไฟฟ้าเพิ่มอย่างเร่งรีบ

กรณีของอิหร่านนี้น่าศึกษามาก

เตห์รานเมโทร กรณีที่น่าศึกษา

งานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าของอิหร่าน ในเขตปริมณฑลนครเตห์ราน (เตหะราน) เริ่มตั้งแต่ ค.ศ.1977 แต่ต้องหยุดชะงักไป 7 ปี เพราะเกิดสงครามกับประเทศอิรัก เริ่มงานต่ออีกใน ค.ศ.1986 เป็นรถไฟฟ้าในกรุง (Urban Transit) 2 สาย และรถไฟฟ้าชานเมือง (Suburban Transit) 1 สาย เสร็จเปิดวิ่งรถช่วงแรก 31.5 กิโลเมตร ในเดือนมีนาคม ค.ศ.1999 การก่อสร้างได้ดำเนินการต่อเนื่องตลอดมา เปิดวิ่งรถเป็นระยะตามที่เสร็จ จนปัจจุบันมีระยทาง 90 กิโลเมตร

อิหร่านวางแผนระยะยาวที่จะสร้างรถไฟฟ้าให้ครบ 200 กิโลเมตร จากเส้นทางของแผนการก่อสร้างเดิม 170 กิโลเมตร ในเขตกรุงเตหะรานและปริมณฑล (Greater Tehran) ทุกสายจะเข้าผ่านใจกลางเมือง รับผู้โดยสารจากชุมชนที่หนาแน่น และขยายออกไปนอกเมือง

ปัจจุบันมีผู้โดยสารประมาณ 1 ล้านคนต่อวัน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ต้องต่อขยายสายที่มีอยู่และเพิ่มสายที่ 3 และ สายที่ 4 ออกไปอีก รวมแล้วอีกประมาณ 70 กิโลเมตร ในวงเงิน 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ เก้าหมื่นล้านบาท

ประเทศอิหร่าน (The Islamic Republic of Iran) นี้ มีพื้นที่ 1.6 ล้านตารางกิโลเมตร พลเมือง 70 ล้านคน มีชุมชนหนาแน่นที่เกินกว่า 1 ล้านคนอยู่ 7 เมือง รัฐบาลกลางตระหนักในปัญหาของการขนส่งมวลชนระหว่างชุมชนเหล่านั้น และวางแผนแก้ปัญหานี้แต่เนิ่นๆ

สำหรับกรุงเตหะรานเองมีพลเมืองในเขตเมืองประมาณ 8 ล้านคน รวมรอบเขตชานเมืองประมาณ 11 ล้านคน สถิติการเดินทางแต่ละวันประมาณ 12 ล้านเที่ยว (trips) ประมาณ 23 เปอร์เซ็นต์ ใช้รถยนต์ส่วนตัว รัฐได้ตั้งเป้าของระบบขนส่งมวลชนไว้ที่ 40 เปอร์เซ็นต์

อิหร่านจัดตั้งองค์กรเพื่อรับผิดชอบการวิ่งรถไฟฟ้า ตั้งแต่ ค.ศ.1975 โดยให้ ขึ้นตรงต่อนายกเทศมนตรีและกระทรวงมหาดไทย ชื่อบริษัทรถไฟในเมืองและชานเมืองของเตหะราน (The Tehran Urban and Suburban Raliway Company, TUSRC) เรียกกันสั้นๆ ว่า เตห์รานเมโทร (Tehran Metro) มีโครงการ การพัฒนาปริมณพลรอบๆ เส้นทางและ สถานีที่เรียกว่า ทีโอดี โดยใช้ระบบขนส่งมวลชนเป็นหลัก (Transit Oriented Development, TOD) แบ่งสัดส่วนการลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน เช่นรัฐลงทุนโครงสร้างใต้ดินและทางเชื่อมต่อต่างๆ เอกชนลงทุนงานสร้างสถานี เป็นต้น

มีสัดส่วนการลงทุนคร่าวๆ 50 เปอร์เซ็นต์ จากรัฐบาลกลาง 20 เปอร์เซ็นต์ จาก รัฐบาลท้องถิ่น (เทศบาล) และ 30 เปอร์เซ็นต์ จากเอกชน เป็นเงินกู้จากสถาบันการเงินต่างๆ

เฉลี่ยราคาของค่าก่อสร้างและอุปกรณ์ อยู่ในระยะ 40-50 ล้านเหรียญสหรัฐต่อกิโลเมตรของเส้นทางที่อยู่ในเมือง

และระหว่าง 7-10 ล้านเหรียญสหรัฐต่อกิโลเมตรของเส้นทางที่อยู่ชานเมือง (suburban lines)

งานทั้งหมดของที่ปรึกษา งานโยธา และงานก่อสร้าง ดำเนินการโดยชาวอิหร่าน ทั้งสิ้น ใช้วัสดุก่อสร้างในประเทศ โดยอาศัยการออกแบบพื้นฐานของฝรั่งเศส ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด รวมทั้งการเจาะอุโมงค์ใต้ดินที่เรียกว่า เอ็นเอทีเอ็ม (New Austrian Tunneling Method, NATM)

โครงการใหญ่ ระยะยาว 34 ปี ได้ถูกแบ่ง ให้เป็น 3 ระยะ (phases)

ระยะแรก ค.ศ.1986-2005 มีสายที่ 1 และสายที่ 2 ระยะทาง 90 กิโลเมตร ปัจจุบันเสร็จเรียบร้อยแล้ว รับผู้โดยสารได้ 10 เปอร์เซ็นต์ ของตลาด

ระยะที่สอง ค.ศ. 2006-2012 ขยายต่อสายเดิมและเพิ่มอีก 3 สาย รวมเป็นระยะทาง 200 กิโลเมตร คำนวณว่าจะมีผู้โดยสารเพิ่มเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ ของตลาด

ระยะที่สาม ค.ศ. 2012-2020 จะมีสายในเมือง 8 เส้นทาง 228 สถานี และ สายชานเมือง 5 เส้นทาง 170 กิโลเมตร 50 สถานี คำนวณว่าจะมีผู้โดยสาร 7 ล้านคน ต่อวัน

ทั้งสาย 1 และ สาย 2 ที่วิ่งในเมือง (Urban Transit) ใช้รถ 7 และ 8 ตู้ ต่อขบวน แต่ละตู้จุผู้โดยสายซึ่งส่วนใหญ่ยืน ประมาณ 200 คนต่อตู้ มีลักษณะแตกต่างกันนิดหน่อย คือเส้นทางวิ่งของสาย 1 มีความลาดชัน (slope) สูงถึง 5 เปอร์เซ็นต์ รถทุกตู้ในขบวนจึงจะต้องมีมอเตอร์ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง

แต่สำหรับสาย 2 ความลาดชันเป็นปกติ ต่ำกว่าสาย 1 จึงใช้รถพ่วง 2 ตู้ที่ปราศจากมอเตอร์ขับเคลื่อนร่วมวิ่งในขบวน

รถในเมืองมีความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขับเคลื่อนโดยไฟฟ้ารางที่สาม (third rail) กระแสตรง 750 โวลต์ (คล้ายกับรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดินของกรุงเทพเมโทร)

สำหรับชานเมืองใช้หัวรถจักรไฟฟ้าลากจูง 2 หัว มีความเร็ว 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ลากตู้โดยสายสองชั้น ขบวนละ 10 ตู้ จุผู้โดยสาร 2,400 ที่นั่ง

รถไฟฟ้าชานเมืองนี้รับกระแสไฟฟ้าจากสายไฟที่ขึงอยู่ในอากาศเหนือหลังคารถ เรียกว่าแคทเทนนารี่ (catenary) (คล้ายกันกับสายแอร์พอร์ทเรลลิ้งท์ จากมักกะสัน ไปสนามบินสุวรรณภูมิ ของ ร.ฟ.ท.) ใช้ระบบอาณัติสัญาณชนิดที่เป็นช่วงต่อเนื่องตามระยะทางที่ตายตัว (fixed block with micro computer interlocking and coded audio frequency track circuit) ที่สามารถปรับเปลี่ยนให้เป็นระบบวิ่งรถอัตโนมัติ และปราศจากพลขับ (driverless) ได้ในอนาคต

มีการวางแผนไว้สำหรับเชื่อมต่อผู้โดยสารแต่ละสายและระบบอื่น มีลิฟต์และบันไดเลื่อนที่สมบูรณ์

บทเรียนที่ได้จากอิหร่าน

เมืองใหญ่ๆ ในหลายประเทศรวมทั้งกรุงเทพฯต่างก็อยากที่จะสร้างรถไฟฟ้า เพื่อลดปัญหาการจราจรบนท้องถนน แต่ก็มีปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับการระดมทุนหาเงินเพื่อก่อสร้าง โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา

สำหรับประเทศไทยนั้น มีภาวะทางเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวย แต่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติ (implementation) จากนโยบายที่ไม่ต่อเนื่องของรัฐบาลที่ปรับเปลี่ยนบ่อยครั้ง

อย่างไรก็ตาม บทเรียนจากเตห์รานเมโทรก็พอจะสอนให้เราทราบว่า การวิเคราะห์ที่ละเอียดของบริษัทที่ปรึกษา ผู้คุมงาน และผู้รับเหมาก่อสร้างนั้น ก็อาจจะใช้ตรวจสอบราคาค่าก่อสร้างให้ละเอียดและแม่นยำเพื่อช่วยสร้างความมั่นใจในการตัดสินใจของรัฐได้

งานรถไฟฟ้าของเตห์รานเมโทรถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง เพราะอยู่ในราคาที่ควบคุมได้ และเมื่อเสร็จแล้ว ได้เปลี่ยนเพิ่มภาพลักษณ์ของเมือง เพิ่มการลงทุนพัฒนาอาคาร ร้านค้าของธุรกิจ รอบๆ เส้นทางและปริมณฑลของสถานีอย่างมากมายเห็นได้ชัด

รัฐบาลกลางเมืองจึงออกนโยบาย ส่งเสริมให้เมืองที่มีพลเมืองมากกว่า 1 ล้านคนขึ้นไปสร้างรถไฟฟ้าเมโทรและ หรือ รถไฟฟ้ารางเบา เช่น ไลต์เรล (Light Rail Vehicle, LRV, System) ได้

และได้อนุมัติงบฯ 16 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อศึกษา แก่โครงการการขนส่งมวลชนระบบราง แผนระยะยาว 20 ปี โดยแบ่งเป็นระยะละ 5 ปี โดยมีข้อมูลว่า ถ้าสร้างแต่ละสายประมาณ 25 กิโลเมตร 20 สถานี สามารถขน 45,000 คน ต่อชั่วโมงต่อทิศทาง โดยวิ่งทุก 2 นาทีต่อขบวนนั้นจะสามารถสร้างให้เสร็จได้ในเวลา 6 ถึง 8 ปี ในราคา 50 ล้านเหรียญสหรัฐต่อกิโลเมตร

และโครงการเช่นว่านี้อาจจะถูกแบ่งให้เป็นส่วนๆ ของงานก่อสร้างเพื่อสะดวกต่อการบริหารให้แล้วเสร็จได้ในเวลา 40 ถึง 48 เดือน

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของงานก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินของเมืองอื่นทั่วโลก ตัวเลขล่าสุดของบางแห่ง มีราคาต่อกิโลเมตรสูงกว่า 80 ล้านเหรียญสหรัฐ

มาตรการลดราคาค่าก่อสร้างของเตห์รานเมโทร

1.การวางแผน

เลือกเส้นทางที่เหมาะสมที่สุด ลดระยะทางใต้ดิน ประสบการณ์ในงานรถไฟฟ้าบอกไว้ว่าการวางแผนเป็นปัจจัยหลักที่กระทบกับราคาของโครงการประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ การวางแผนเส้นทาง ควรคำนึงถึงการพัฒนาและใช้อสังหาริมทรัพย์ ให้ได้รับประโยชน์ที่เหมาะสมเป็นสัดส่วนสูงสุด แผนเส้นทางที่ดีจะทำให้มีผู้โดยสารสม่ำเสมอ เป็นรายได้

การวางแผนเส้นทางตามถนนที่มีอยู่แล้ว (เช่น บีทีเอส และระบบใต้ดินของ รฟม. หรือสายสีแดงของ ร.ฟ.ท.) ทำให้ ลดค่าเวนคืนได้มาก ควรหลีกเลี่ยงอุปสรรคทางธรณีวิทยาและระบบสาธารณูปโภคใหญ่ๆ ที่จะต้องย้ายหรือเปลี่ยน

ราคาค่าก่อสร้างใต้ดินจะสูงกว่าระบบยกระดับและบนดิน ในสัดส่วนคิดเป็นระยะทาง 1 กิโลเมตรใต้ดินจะเท่ากับ 4 กิโลเมตรยกระดับ และ เท่ากับ 10 กิโลเมตร บนดินโดยประมาณ นอกจากนั้นแล้วระบบบนดินและยกระดับยังสามารถประหยัดได้จากราคาค่าอุปกรณ์ระบายอากาศ อุปกรณ์สูบน้ำดับเพลิงและน้ำเสีย ระบบป้องกันการผุกร่อน แสงสว่าง และอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยเพิ่มสำหรับใต้ดิน รวมทั้งลิฟต์และบันไดเลื่อนต่างๆ ได้อีกด้วย

2. การออกแบบ และ มาตรฐานต่างๆ

การออกแบบที่เหมาะสมเป็นปัจจัยหนึ่งในการลงทุนตลอดอายุขัยของโครงการและอุปกรณ์ การประดับประดาที่หรูหรา และใช้วัสดุที่ฟุ่มเฟือยเป็นราคาเพิ่มที่ไม่จำเป็น และการใช้อุปกรณ์ที่เป็นปัญหาต่อการบำรุงรักษา เป็นการเพิ่มราคาค่าใช้จ่ายในอนาคต ไม่ประหยัดสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา (มีหลายตัวอย่างของรถไฟฟ้าใต้ดินในกรุงเทพ เช่น การออกแบบติดตั้งโคมไฟฟ้าที่อยู่เหนือบันไดเลื่อนที่สูงเกินกว่าความสามารถที่จะบำรุงรักษาได้ เป็นต้น)

* การออกแบบอาจเผื่อไว้สำหรับการปรับปรุงเมื่อมีผู้โดยสารและมีรายได้เพิ่มในอนาคต

* การออกแบบที่บกพร่องจะต้องได้รับการแก้ไขให้ทันเวลาของการก่อสร้าง

* เพื่อจูงใจผู้รับเหมา ควรมีเงินรางวัลเป็นเปอร์เซ็นต์ของราคาค่าก่อสร้างที่ประหยัดได้ ในกรณีที่ผู้รับเหมาก่อสร้างแนะนำนวัตกรรมใหม่ๆ ในงานการก่อสร้างที่อาจประหยัดเงินและหรือเวลาได้ ตัวอย่าง เช่น การใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์การก่อสร้างที่ให้ประโยชน์สูงกว่าปกติ

* การจัดสัมมนา (workshop) ความเข้าใจในการปฏิบัติงานร่วมกัน นำมาซึ่งความเข้าใจ ลดข้อขัดแย้งและปรับปรุงการทำงานร่วมกันก่อนเริ่มงานการก่อสร้าง

* การวิ่งรถให้ถี่ขึ้น อาจทำให้ขนคนได้มากขึ้นมากกว่าที่จะวิ่งรถหลายตู้แต่นานๆ มาที

* วางแผนการใช้เนื้อที่ของสถานีและอาคารบริหารให้คุ้มค่า

* การใช้เทคนิคที่มีประสิทธิภาพสูงและทุ่นเวลา เช่นการเจาะอุโมงค์แบบของออสเตรีย เป็นต้น

มาตรฐานของงานการก่อสร้างเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ในราคาค่าก่อสร้าง งานก่อสร้างจะต้องปลอดภัยไม่มีปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน

3. การจัดซื้อ

โดยทั่วไป เครื่องกล ไฟฟ้า และอุปกรณ์เสริมต่างๆ รวมทั้งระบบราง และตัวรถจักรจะมีสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของราคาโครงการ การเลือกและจัดอุปกรณ์เครื่องกลไฟฟ้าทุกชนิดให้ทำงานประสานเข้าด้วยกันนั้นเป็นสิ่งละเอียดอ่อนมีปัจจัยที่ควรพิจารณา เช่น

* มีคุณภาพเชื่อถือได้ (reliability)

* เข้ากันได้ดี (functional compatibility)

* ประสบการณ์ที่เชื่อได้ (maturity and level of technology)

* ราคาคุ้มค่า (cost effectiveness)

* ทนทานและทุ่นค่าบำรุงรักษา (maintenance convenience and cost)

ในการพิจารณาระบบลูกผสม (hybrid system) และงานบูรณาการ (integration) ของอุปกรณ์ต่างๆ เตห์รานเมโทรต้องประเมิน ประนีประนอมระหว่างเทคโนโลยีที่นำสมัยกับวงเงินงบประมาณที่มีอยู่ ความสามารถของช่าง วิศวกรท้องถิ่น ในการเรียนรู้และซ่อมแซมอุปกรณ์ และระดับความสามารถของภาคอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ในประเทศด้วย มีระบบและอุปกรณ์บางชนิดที่อยู่เหนือความสามารถจำเป็นจะต้องนำเข้า เช่น ระบบอาณัติสัญาณ เป็นต้น

4. การเลือกผู้รับเหมา

ต้องเป็นมืออาชีพ เข้าใจในสัญญาก่อสร้าง การเจรจาต่อรองช่วยได้บ้าง การทำงานของผู้รับเหมา (contractor performance) มีผลกระทบโดยตรงต่อราคาตลอดระยะเวลาของโครงการ การคุมงานของเจ้าของโครงการที่เข้าใจงานและใกล้ชิดจะสามารถควบคุมราคาได้ระดับหนึ่ง ความเข้าใจของผู้คุมงานจะต้องลึก ถึงความปลอดภัย คุณภาพ ความก้าวหน้าของงาน และราคา การเลือกผู้รับเหมามีประสบการณ์ที่เชื่อถือได้เป็นการช่วยลดภาระความกังวลและคุ้มค่า (cost effective) ผู้รับเหมาที่มีเครดิตดีอาจจะหาแหล่งเงินกู้และหาอุปกรณ์และวัสดุก่อสร้างได้สะดวกและรวดเร็วกว่าผู้รับเหมาที่อ่อนประสบการณ์และด้อยเครดิต

การวิเคราะห์คัดเลือกผู้รับเหมานี้ ต้องทำให้โปร่งใส มีเหตุผล เพื่อลดความเสี่ยงและเพื่อให้ได้งานที่มีคุณภาพตามต้องการ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะจบลงกับผู้รับเหมาเจ้าเก่าที่มีประสบการณ์ เคยทำและ มีผลงานที่พิสูจน์แล้วว่าได้คุณภาพตามที่ต้องการ


Last edited by Wisarut on 03/09/2009 12:41 pm; edited 1 time in total
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42631
Location: NECTEC

PostPosted: 22/04/2007 10:58 pm    Post subject: Reply with quote

คำรบลักขิ์” จี้รัฐบาลล้วงลูกโครงการรถไฟฟ้า

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 22 เมษายน 2550 13:54 น.


“คำรบลักขิ์” กระทุ้งรัฐบาลตั้งผู้บริหารระดับรองนายกรัฐมนตรี เข้ามาขับเคลื่อนโครงการรถไฟฟ้า 5 สายทาง หลังจากที่ไม่มีความคืบหน้าขณะนี้ และขาดเจ้าภาพผลักดันโครงการที่แท้จริงในระดับนโยบาย ชี้ ความล่าช้าที่เกิดขึ้นทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศ และความสามารถในการแข่งขันมหาศาล

นายคำรบลักขิ์ สุรัสวดี อดีตรองปลัดกระทรวงคมนาคม และกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.กล่าวว่า การขาดเจ้าภาพที่แท้จริงในระดับนโยบายรัฐ หรือผู้กำกับดูแลในระดับรองนายกรัฐมนตรีลงมาเป็นผู้ขับเคลื่อน และประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความล่าช้าในการผลักดันโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 5 สายทาง ที่อยู่ในการกำกับดูแลของ รฟม.และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ทั้งในเรื่องของขั้นตอนการดำเนินโครงการ และการจัดหาแหล่งเงินทุน

“การผลักดันโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการรถไฟฟ้าทั้ง 5 สายทางนี้ จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่กำกับดูแล เช่น กระทรวงคมนาคม หรือหน่วยงานที่จัดหาแหล่งเงินทุน เช่นกระทรวงการคลัง และหน่วยงานในสังกัดทั้ง 2 หน่วยงานไม่ได้ ต้องมีศูนย์กลางประสานงานและติดตามความคืบหน้า โดยต้องเป็นบุคคลกำกับนโยบายระดับรองนายกรัฐมนตรี หรือดำเนินการในรูปคณะกรรมการ เช่น คณะกรรมการจัดระบบการจราจร (คจร.) ในอดีต ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โครงการจึงจะเดินหน้าต่อไปได้” นายคำรบลักขิ์ กล่าว

ทั้งนี้ ในการแก้ปัญหาความล่าช้านั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องลงมาจับเข่าคุยกัน โดยเฉพาะใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.กรอบเวลาในการดำเนินโครงการ ซึ่งทุกหน่วยงานต้องมีกรอบเวลาตรงกัน 2.วิธีการเปิดประมูลจะเป็นวิธีใด ใช้การก่อสร้างแบบใด เพราะแต่ละวิธีจะมีความล่าช้าแตกต่างกัน ตั้งแต่ 3-6 เดือน 3.เรื่องของที่มาของแหล่งเงินลงทุน ซึ่งเคยมีข่าวว่าจะใช้เงินกู้ของธนาคารเพื่อความร่วมมือแห่งประเทศญี่ปุ่น (เจบิก) แหล่งเงินทุนจากจีน แหล่งเงินทุนในประเทศ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะมีเม็ดเงินและความพร้อมเท่าใด ซึ่งผู้กำกับนโยบายต้องมาทำความเข้าใจให้ตรงกัน

นอกจากการพูดคุยเรื่องรายละเอียดของรถไฟฟ้าแล้ว การกำกับดูแลในระดับนโยบาย ต้องครอบคลุมทั้งการกำหนดสายทางในอนาคต การจัดระบบรถขนส่งมวลชนอื่นๆ เช่น รถเมล์โดยสาร ให้สอดคล้องกับแผนรถไฟฟ้า การจัดผังเมืองและการขยายตัวของเมือง ซึ่งต้องเติบโตไปในทิศทางเดียวกัน

สำหรับความสูญเสียที่เกิดขึ้น สำหรับโครงการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้านี้ เป็นความสูญเสียที่ทราบกันมานานและรับรู้กันทั่วโลก ถือเป็นประสบการณ์ในระดับโลกที่ทราบกันดีว่า ท่ามกลางการเติบโตของเมืองและเศรษฐกิจของมหานครขนาดใหญ่ ปัญหาการจราจร และภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลก การลงทุนในโครงการรถไฟฟ้า จะมีผลคุ้มค่าตอบแทนทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมภาพรวม มากกว่าเงินลงทุนแน่นอน การล่าช้าจึงทำให้ประเทศสูญเสียทั้งโอกาส และความสามารถในการแข่งขัน
__________________
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42631
Location: NECTEC

PostPosted: 22/04/2007 11:01 pm    Post subject: Reply with quote

ญี่ปุ่นหักหลังขิงแก่ “เจบิค” จ้องล้มปล่อยกู้รถไฟฟ้า-อ้างไม่เชื่อมั่นรัฐบาลรัฐประหาร

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 19 เมษายน 2550 20:33 น.



รฟม.ยอมรับ “เจบิค” ลังเลปล่อยกู้โครงการการก่อสร้างรถไฟฟ้า 5 สาย อ้างไม่มั่นใจรัฐบาลรัฐประหาร แม้นายกรัฐมนตรีของไทย จะยิมยอมบินไปลงนาม “เอฟทีเอ” ให้แล้วก็ตาม “ประภัสร์” ชี้โครงการรถไฟฟ้าเวียดนามจะแซงหน้าไทยภายใน 5-6 ปี

วันนี้(19 เม.ย.) นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ( รฟม.) เปิดเผยว่า การกู้เงินกับเจบิคเริ่มมีปัญหา เพราะเจบิคขอดูความมั่นคงทางการเมืองก่อน ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่าเจบิคอาจกำลังลังเลที่จะให้กู้เงิน ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะส่งผลต่อการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า แต่อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการจัดหาเงินลงทุน อาจจะมีทางออกอื่นด้วย

ทั้งนี้เห็นว่าการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าของไทยยังล่าช้ามาก และบางโครงการที่เริ่มไปแล้วก็มีความคืบหน้าน้อย ทั้งที่ไทยมีแผนพัฒนาระบบรถไฟฟ้าก่อนหลายประเทศในภูมิภาค สาเหตุมาจากหลายประการ เช่น การปรับเปลี่ยนเส้นทางและรายละเอียดโครงการ หลายครั้ง ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลนโยบายก็เปลี่ยน และบางครั้งการเจรจากู้เงินมีการกำหนดเงื่อนไขในรายละเอียดการขอกู้มากเกินไป

ความล่าช้าที่เกิดขึ้นยังส่งผลให้หลายประเทศที่เคยล้าหลังกว่าไทยอย่าง เวียดนาม มีโอกาสที่จะแซงหน้า ล่าสุดมีข่าวว่าเตรียมลงทุนพัฒนาระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงเส้นทางฮานอย-โฮจิมินห์ โดยใช้งบลงทุนกว่า 33,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีรายงานว่าเจบิคจะสนับสนุนเงินกู้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าระบบขนส่งมวลชนของเวียดนามกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด และเชื่อว่าอีกไม่เกิน 5-6 ปีจะแซงหน้าไทย ส่วนการจัดซื้อระบบอาณัติสัญญาณ ยืนยันว่าจะทำให้ระบบมีการเปิดกว้างที่สุดโดยเฉพาะของรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่อยู่ระหว่างดำเนินโครงการ ซึ่งจะไม่ยึดติดกับผู้ผลิตรายใดรายหนึ่ง แม้ว่าปัจจุบันรถไฟฟ้าของ รฟม.สายบางซื่อ-หัวลำโพง จะใช้ระบบอาณัติสัญญาณของซีเมนส์และรถไฟฟ้าของซีเมนส์ก็ตาม และแม้ว่ายังไม่มีระบบอาณัติสัญญาณที่ของบริษัทใดที่เป็นระบบเปิดอย่างเต็มที่

โดยก่อนหน้านี้(3 เม.ย.) พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ได้เดินทางไปลงนามเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น หรือความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น (JTEPA) ด้วยตัวเอง โดยได้รับความชื่นชมและตอบรับจากทั้งรัฐบาลและนักลงทุนญี่ปุ่นอย่างอบอุ่น มีการประกาศฉลองกันอย่างชื่นมื่นด้วย

ทั้งนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ ได้แถลงว่า ญี่ปุ่นมีความมั่นใจไทย ซึ่งการไปเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ ไทยได้ให้ความมั่นใจกับทางภาคเอกชนของญี่ปุ่น และแสดงให้เห็นว่าการลงนาม JTEPA ทำให้เห็นเจตนาของไทยในการที่จะรักษาบรรยากาศในการลงทุน และแสดงออกถึงการที่เราจะยังคงเป็นประเทศที่ยึดมั่นในระบบเศรษฐกิจการตลาดอยู่ สิ่งที่ภาคเอกชนญี่ปุ่นกังวลก็คงเป็นเรื่องเล็กน้อย คือ การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ที่เราได้รับข้อเสนอแนะเพื่อไปปรับแก้ไข

// -----------------------------------------------------------------------------

งานนี้มีมหกรรมเงินกู้มี ข้อผูกพันให้ใช้รถของฮิตาชิ - คาวาซากิ - อัลสตอม และ ให้เอา ช. การช่างที่มี Connection กะผู้รับเหมาญี่ปุ่น และ จ้างผู้รับเหมาญี่ปุ่น มารับงานชิ้นี้ด้วย Rolling Eyes
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42631
Location: NECTEC

PostPosted: 24/04/2007 12:13 pm    Post subject: Reply with quote

"สมหมาย" ฉุน ผู้ว่าฯ รฟม.ปูดข่าว "เจบิค" งดปล่อยกู้โครงการรถไฟฟ้า

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 24 เมษายน 2550 08:53 น.


บิ๊กกระทรวงการคลังออกโรงจวก ผู้ว่าฯ รฟม.ปากเสีย มั่วข้อมูลปล่อยกู้รถไฟฟ้า ลั่นการหาเงินกู้เป็นหน้าที่คลัง ไม่ใช่หน้าที่ รฟม.เข้ามายุ่ง พร้อมยืนยัน "เจบิค" ปล่อยเงินกู้ให้ไทย แน่นอน

กรณีมีกระแสข่าวว่าธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) จะไม่ปล่อยเงินกู้ให้กับโครงการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าของไทย เนื่องจากกังวลสถานการณ์ทางการเมืองนั้น วานนี้ (23 เม.ย.) นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่นยินดีให้เงินกู้สำหรับก่อสร้างรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทย หลังจากที่ นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้เดินทางไปเจรจาด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ สาเหตุในฐานะกระทรวงการคลังในฐานะผู้จัดหาแหล่งเงินกู้ เลือกกู้เงินจากเจบิก เนื่องจากเป็นแหล่งเงินกู้ที่ให้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดขณะที่ระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน อย่างไรก็ตาม รมว.กระทรวงการคลัง กล่าวว่า แม้รถไฟฟ้าบางสายจะสามารถประมูลได้ภายในปีนี้ แต่ต้องยอมรับว่าเป็นเม็ดเงินจำนวนไม่มาก จึงไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในปีนี้ อย่างไรก็ตามการดำเนินการเมกะโปรเจ็กต์จะต้องมีการวิเคราะห์และมีระบบถ่วงดุลอย่างโปร่งใส

ด้านนายสมหมายกล่าวว่า เรื่องเจบิกไม่ให้กู้ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด และไม่แน่ใจว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ปล่อยข่าวดังกล่าวออกมาได้อย่างไร เนื่องจากเมื่อครั้งที่ได้เดินทางไปหารือกับเจบิกก่อนหน้านี้ ทางเจบิกก็มีท่าทีที่พร้อมจะสนับสนุนเงินกู้ให้แก่โครงการรถไฟฟ้าของไทย

"ที่ผ่านมาได้ติดต่อกับเจบิกมาโดยตลอด และยืนยันว่าเจบิกพร้อมจะปล่อยกู้ให้กับประเทศไทยเพื่อใช้ลงทุนในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า เพียงแต่เจบิกจะต้องพิจารณาความมั่นคงของประเทศก่อนเท่านั้น จึงจะตัดสินใจได้ว่าจะปล่อยให้กู้หรือไม่" นายสมหมายกล่าวและเพิ่มเติมว่า

กระทรวงคลังที่เป็นฝ่ายหารือกับเจบิกโดยตรงยังไม่มีใครรู้เรื่องเลย แล้วนายประภัสร์ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลแผนการดำเนินโครงการ เอาที่ไหนมาพูsoด ไม่ใช่หน้าที่ที่จะมาพูด เพราะเจบิกไม่ได้มีหน้าที่จะต้องไปแจ้ง รฟม. ต้องมาแจ้งกระทรวงคลัง ท่านฉลองภพก็ยังต่อว่านายประภัสร์ ที่พูดอะไรที่ไม่เป็นเรื่อง

นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักเงินกู้ตลาดเงินทุนต่างประเทศ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า เจบิกจะปล่อยกู้ให้กับโครงการรถไฟฟ้าของไทย เนื่องจากทางทีมงานของญี่ปุ่นได้ส่งเจ้าหน้าที่ศึกษาข้อมูลภายในประเทศไทย และมีการรายงานแบบเป็นขั้นตอนให้ทราบ โดยในเดือนพฤษภาคมนี้ ทีมงานของญี่ปุ่นจะเข้ามาตรวจสอบความพร้อมในการดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าของไทยเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนนำเสนอต่อสภาญี่ปุ่นพิจารณาต่อไป
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42631
Location: NECTEC

PostPosted: 28/05/2007 7:37 pm    Post subject: Reply with quote

เร่งรถไฟฟ้า

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ
วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 17 ฉบับที่ 6024


รัฐบาลอนุมัติให้ดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าเส้นทางบางซื่อ-ตลิ่งชัน มูลค่าการลงทุนประมาณ 13,000 ล้านบาทไปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

และกำหนดเอาไว้ด้วยว่าจะดำเนินการประกวดราคาในช่วงประมาณปลายเดือนมิถุนายน หรือต้นเดือนกรกฎาคมนี้

นอกจากนั้นยังอนุมัติให้กำเนินการจัดสร้างรถไฟฟ้าเส้นทางบางซื่อ-รังสิต มูลค่าประมาณ 52,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดหาแหล่งทุน ปรับโครงการและรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะต้องเสนอให้ครม.พิจารณาอีกครั้ง

การตัดสินใจอนุมัติโครงการดังกล่าวย่อมเป็นข่าวดีโดยมิต้องสงสัย โดยเฉพาะในแง่ของการกระตุ้นความคึกคักทางเศรษฐกิจ ทั้งด้วยการลงทุนของภาครัฐเอง หรือการปลุกชีพอสังหาริมทรัพย์รายทาง

อันเป็นสิ่งที่รัฐบาลปัจจุบัน "อ่อนแอ" อย่างยิ่ง



นอกจากนั้นแล้วผลดีของการเร่งดำเนินการก่อสร้างรถไฟ้ฟ้า อันเป็นระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะแก่ "มหานคร" ก็คือการประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ไปในการจราจร

เพราะมีผลวิจัยว่า ในปีหนึ่งๆ สังคมไทยต้องจ่ายเงินค่าสูญเปล่าไปกับปัญหารถติด ไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท

การประหยัดน้ำมันนอกจากจะประหยัดเงินตราต่างประเทศและลดปัญหาดุลการค้าไปได้บางส่วนแล้ว ยังส่งผลดีในแง่ของการลดปัญหามลภาวะ

อันเนื่องจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง รวมไปถึงการช่วยลดปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สร้างภาวะเรือนกระจก อันเป็นตัวการของปัญหาโลกร้อนในปัจจุบันด้วย

ระบบขนส่งมวลชนที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า ใช้พลังงานน้อยกว่า จึงเหมาะสมอย่างยิ่งกับสังคมไทย

รวมทั้งจะต้องเร่งดำเนินการให้เกิดขึ้นต่อเนื่องไปโดยเร็วและครบกระบวนการ



ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ก็อยู่ตรงที่ "เร่งรัดดำเนินการ" นี่เอง เพราะกิตติศัพท์ของรัฐบาลปัจจุบันในความรับรู้ของคนทั่วไป ก็คือเป็นรัฐบาลที่ "เชื่องช้า" ในการตัดสินใจ ไม่กระฉับกระเฉงฉับไวในการออกมาตรการหรือโครงการต่างๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการด้านเศรษฐกิจทั้งหลาย ซึ่งเป็นรูปธรรมและเป็นเรื่องใกล้ตัวจับต้องได้สำหรับประชาชนทั่วไป

ฉะนั้น แม้การอนุมัติโครงการจะผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไปแล้ว ก็ใช่ว่าภาระของรัฐบาลจะสิ้นสุดลง ตรงกันข้ามกลับยิ่งต้องติดตามเอาใจใส่และเร่งรัดให้การดำเนินการในรายละเอียดเดินหน้าไปอย่างราบรื่นไม่ติดขัด

รัฐบาลจะอยู่ในสภาพ "เกียร์ว่าง" อย่างที่มีผู้ค่อนขอดเอาไว้หรือไม่ ต้องอาศัยการกระทำเป็นเครื่องพิสูจน์ เพราะงานและสภาพความเป็นจริงนั้น ไม่เคยเลือกหน้าว่าจะเป็นใคร

ไม่เคยเลือกว่าจะมาในสมัยรัฐบาลเฉพาะกิจหรือรัฐบาลถาวร
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42631
Location: NECTEC

PostPosted: 09/08/2007 11:59 am    Post subject: Reply with quote

http://www.siamrath.co.th/Economic.asp?ReviewID=179048

สัมภาษณ์พิเศษอนาคตรถไฟฟ้าไทย - 7/8/2550

สัมภาษณ์พิเศษอนาคตรถไฟฟ้าไทย
ฝันที่ใกล้จะเป็นจริงหรือ!?!

รฟม.เดินหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง และสายสีน้ำเงิน ตั้งเป้าผ่านครม.ชุดนี้ เงินกู้เจบิคเริ่มสดใส มีการขอรายละเอียดโครงการเพิ่มเติมแล้ว คาดอีก 2-3 เดือนรู้ผลจะแห้วหรือสมหวัง มั่นใจกลางปีหน้าเริ่มสร้างสายสีม่วง ส่วนสายสีน้ำเงินต้องรออีก 2 ปี

เริ่มมีความกระจ่างชัดขึ้นมาเรื่อยๆ สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) และสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) ไม่ว่าจะเป็น แผนการก่อสร้าง หรือกำหนดการดำเนินงาน ซึ่งความคืบหน้าในเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรคงไม่มีใครสามารถที่จะให้รายละเอียดได้ดีเท่ากับ “ประภัสร์ จงสงวน” ผู้ว่าการการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. โดยได้ให้สัมภาษณ์ไว้อย่างน่าสนใจว่า

ขณะนี้โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย อยู่ระหว่างการพิจารณาของธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือเจบิค โดยล่าสุดได้มีการติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ 2 เส้นทางดังกล่าว และเส้นทางสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ที่ไทยได้เสนอขอเงินกู้มาลงทุนแล้ว ซึ่งประกอบด้วย รายละเอียดข้อมูลการศึกษาโครงการที่บริษัทที่ปรึกษาดำเนินการ, แบบก่อสร้าง และผลการศึกษาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ซึ่งคาดว่าเจบิคจะใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 2-3 เดือน

“เท่าที่คุยกันระหว่างกระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม หากพบว่าเงินกู้เจบิคมีปัญหา ทางกระทรวงการคลังก็จะไปดำเนินการจัดหาแหล่งเงินทุนให้กับ รฟม. เพื่อใช้ในการดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในเดือนเมษายน 2551 แต่กว่าจะได้ทำงานจริงก็ยังมีเวลาที่กระทรวงการคลังจะหาเงิน ดังนั้นในเรื่องนี้ผมไม่เป็นห่วง เพราะผมเชื่อมั่นว่ากระทรวงการคลังมีทางออกสำหรับเรื่องนี้แล้วว่าจะทำอย่างไรต่อไป และประเทศไทยเองก็มีเครดิตดีอยู่แล้วโดยเงินก้อนแรกที่กระทรวงการคลังต้องจัดหาคือ 10% ของวงเงินค่าก่อสร้าง 29,160 ล้านบาท ซึ่งมั่นใจว่าเม็ดเงินในประเทศมีเพียงพอต่อการลงทุนแน่นอน เพราะงานก่อสร้างจะทยอยจ่ายประมาณ 3 ปี”

ประภัสร์ กล่าวว่า เราต้องการให้โครงการดังกล่าวอนุมัติให้เสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งเมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติก็จะส่งผลให้กระบวนการอื่นเป็นไปตามขั้นตอน ดังนั้นโอกาสที่จะพลิกกลับ เปลี่ยนแปลง หรือชะลอก็จะยากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ รฟม. อยากให้มีความชัดเจนมากที่สุดในสายตาของต่างประเทศ และนักลงทุน โดยขณะนี้เราก็พยายามทำให้เกิดขึ้น เพราะจะทำให้เอกชนมั่นใจว่าโครงการนี้เกิดขึ้น และเดินหน้าแน่นอน และอีกไม่นานทุกคนก็จะได้เข้ามามีส่วนร่วม ทั้งเรื่องการประกวดราคางานก่อสร้าง หรือการให้สัมปทาน

ทั้งนี้ตามแผนงานของ รฟม. คาดว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง จะสามารถไปรอเข้า ครม.ได้ในต้นเดือนสิงหาคม 2550 และจะนำเข้าพิจารณาอย่างเร่งด่วนประมาณกลางเดือน หรือปลายเดือนสิงหาคม 2550 จากนั้นเมื่อ ครม.มีมติ ภายในเดือนกันยายน 2550 จะสามารถจัดจ้างผู้รับเหมางานโยธาได้ และคาดว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ประมาณเดือนเมษายน หรือเดือนพฤษภาคม 2551

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียด คาดว่าจะเสร็จสิ้นประมาณเดือนตุลาคม 2550 จากนั้นก็จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ซึ่งก็ยังยืนว่าเราจะพยายามให้ ครม.ชุดนี้อนุมัติโครงการให้แล้วเสร็จ คาดว่าจะจัดจ้างผู้รับเหมางานโยธาได้ในเดือนมีนาคม 2551 และดำเนินการก่อสร้างในเดือนมีนาคม 2552 อย่างไรก็ตามถึงแม้การก่อสร้างโครงการจะเสร็จในรัฐบาลชุดหน้าก็ไม่เป็นไร แต่เป้าหมายของเราคือต้องการให้ ครม.ชุดนี้เห็นชอบทั้ง 2 โครงการภายในปีนี้

ประภัสร์ ยังกล่าวด้วยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ รฟม.ได้ร่วมกับ การไฟฟ้านครหลวง ดำเนินการก่อสร้างบ่อพัก และท่อร้อยสายไฟฟ้าแรงสูงใต้ดิน ตามแนวเส้นทางการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายดังกล่าว ซึ่งโดยปกติการก่อสร้างโครงการนั้น จำเป็นต้องรื้อย้ายแนวสายไฟฟ้าของกฟน. ที่กีดขวางการก่อสร้างของรฟม.ให้อยู่ลงดินในบริเวณที่มีการก่อสร้างสถานี ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวนอกจากสายไฟจะไม่กีดขวางทางก่อสร้างแล้ว ยังเป็นการลดผลกระทบจากโครงการต่อประชาชนด้วย โดยการไม่ขุดถนน และก่อสร้างถึง 2 ครั้ง

อย่างไรก็หลังจากนี้ยังมีโครงการรถไฟฟ้าอีกหลายสายที่ต้องเร่งดำเนินการเช่นกัน โดยสายที่ต้องเร่งทำมากที่สุดคือ สายสีส้ม (บางกะปิ-บางบำหรุ) ซึ่งถือว่าเป็นสายที่จำเป็นมาก แต่ในช่วงแรกไม่จำเป็นต้องทำถึงบางบำหรุ อาจจะทำเพียงแค่บางกะปิเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินศูนย์วัฒนธรรรมก่อน เพื่อทำให้ประชาชนสามารถเดินทางเข้าในกลางเมืองได้อย่างสะดวก เพราะขณะนี้ระบบขนส่งผู้โดยสารแบบรางทางตะวันออกก็ยังไม่มี ดังนั้นเมื่อรัฐบาลชุดใหม่มาก็จะเร่งผลักดันเรื่องนี้ รวมทั้งสายสีเหลืองที่จะเชื่อมต่อระหว่างบางกะปิ กับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลาดพร้าวด้วย

“ผมเชื่อว่าทุกรัฐบาลที่เข้ามาต้องการแก้ไขปัญหาของกรุงเทพฯ เพียงแต่ว่าวิธีการคิดแตกต่างกันแต่ผมก็ขอฝากไว้ว่าไม่ว่าใครที่เข้ามาเป็นรัฐบาล ขอให้มองภาพที่กว้างๆ และโตๆ อย่ามองเพียงแค่เรื่องของการเงิน เพราะถ้ามองแต่เรื่องพวกนี้โครงการเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้แน่ และถ้ามองในแง่เศรษฐกิจ เรื่องการลดการนำเข้าน้ำมัน ก็จะยิ่งเป็นเหตุผลให้รัฐบาลทำจุดนี้ ส่วนที่เริ่มทำในกรุงเทพฯ ก่อนนั้นก็ต้องเข้าใจว่ากรุงเทพฯ เป็นหัวใจของประเทศ ถ้าหยุดก็ตายหมด”

สำหรับปริมาณน้ำมันที่ใช้ในประเทศนั้น ประมาณ 45% เป็นการใช้ในเขตกรุงเทพฯ หากเราไม่ดูแลจนทำให้เกิดปัญหาการจราจร การเดินทางไม่สะดวก คนที่จะมาลงทุนก็ไปประเทศอื่นหมด วันนี้ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ได้ทำระบบขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่แล้ว ดังนั้นถ้าเราไม่รีบดำเนินการก็จะสูญเสียโอกาสทุกอย่างซึ่งจะย้ายไปอยู่เวียดนามแทน และประเทศไทยก็จะหยุดคงที่

อย่างไรก็ตามอยากเชิญชวนให้ประชาชนหันมาใช้รถไฟฟ้ากันให้มากๆ แต่ทั้งนี้รัฐบาลก็ต้องมีนโยบายอื่นเข้ามาเสริมด้วย เช่น การจัดระบบรถเมล์ให้เป็นโครงข่ายจริงๆ ส่งเสริมการใช้ตั๋วร่วม การกำหนดการจอดรถ การนำรถเข้ามาใช้ในบริเวณชุมชนควรกำหนดค่าธรรมเนียม การขับรถคนเดียวต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่ม เป็นต้น หรืออาจจะใช้มาตรการเดียวกับประเทศญี่ปุ่น ที่จัดสวัสดิการให้พนักงานโดยการซื้อตั๋วรถไฟฟ้าให้กับพนักงาน และสามารถนำไปหักภาษีได้ ทำให้มีผู้มาใช้รถไฟฟ้าสูงถึง 7 ล้านคนต่อวัน ซึ่งเชื่อว่าหากนำมาใช้ในประเทศไทยก็น่าจะมีคนสนใจมาใช้บริการรถไฟฟ้าในจำนวนที่มากขึ้น
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42631
Location: NECTEC

PostPosted: 28/09/2007 10:14 pm    Post subject: Reply with quote

อนาถารถไฟฟ้ารัฐบาลดีแต่ปากหานายทุนไม่เจอ

สยามธุรกิจ [ ฉบับที่ 828 ประจำวันที่ 15-9-2007 ถึง 18-9-2007]


เอกชนเซ็ง “ปาหี่” รมว.กระทรวงพลังงาน ไม่เชื่อนโยบายใช้เงินกองทุนน้ำมันสร้างรถ ไฟฟ้าได้ แนะเอาไปใช้สร้างความเข้าใจเรื่องนิวเคลียร์ดีกว่า ติงหากน้ำมันในตลาดโลกขึ้นจะรักษาระดับราคาได้อย่างไร

สืบเนื่องจากกรณีที่ นาย ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดกรณีการนำเงินกองทุนน้ำมันไปปล่อยกู้เพื่อการก่อสร้างรถ ไฟฟ้า หรือรถไฟรางคู่

ความคืบหน้าล่าสุด นาย จำรูญ ชินธรรมมิตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำ ตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “สยามธุรกิจ” ว่าไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐมนตรีว่า การกระทรวงพลังงาน จะนำเงินกองทุนน้ำมันไปใช้ก่อสร้าง รถไฟฟ้า และในทางปฏิบัติไม่คิดว่าจะทำได้ เนื่องจากกองทุน น้ำมันจัดตั้งขึ้นเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันไม่ให้มีราคาแพงเกินไป ถ้าเอาเงินส่วนนี้ไปใช้แล้วถ้าราคาน้ำมันในตลาดโลกขึ้น เราจะรักษาระดับราคาได้อย่างไร

“โดยความเป็นจริงถ้าเงินกองทุนเหลือกระทรวงฯน่าจะนำเงินไปใช้ให้ความรู้เกี่ยวกับพลังงานดีกว่า เช่นให้สร้างความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องการสร้างโรงงานนิวเคลียร์หรือโรงงานถ่านหิน ไม่ใช่เอาไปให้กระทรวงอื่นซึ่งเป็นคนละเรื่อง ขนาดวันนี้มีเงินกองทุนน้ำมันราคาน้ำยังน้ำมันยังขึ้นทุกวัน แล้วถ้าเงินกองทุนถูกนำไปใช้อย่างอื่นคิดหรือว่าจะตรึงราคาน้ำมันไว้ได้ แล้วระยะเวลาการทำงานของรัฐบาลชุดนี้เหลืออีกแค่ไม่กี่เดือนจะมีใครกล้าเซ็นต์อนุมัตินโยบายดังกล่าว” นายจำรญ กล่าว

ขณะที่ ดร.อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการรผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลี่ยม จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “สยามธุรกิจ” ว่าไม่แน่ใจว่า พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันสามารถนำไปใช้ในการลงทุนด้านเมกะโปรเจ็กต์ทได้หรือเปล่า แต่ถ้าคณะกรรมการนโยบายพลังงานเห็นว่าใช้ได้ก็น่าจะทำได้

“โดยส่วนตัวผมมองว่าถ้านำไปใช้ได้ก็เป็นเรื่องดีที่ เนื่องจากเป็นการนำเงินไปทำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม อาจจะไม่มากพอเมื่อเทียบกับเม็ดเงินที่จะใช้ในโครงการขนาดใหญ่เช่นโครงการสร้างรถไฟฟ้า แต่ก็ยังดีที่ช่วยได้บางส่วน กระบวนการปฏิบัติคงไม่มีปัญหาเพราะรัฐบาลมีความชัดเจนว่าจะนำไปลงทุนในเรื่องใด ถือเป็นการคืนประโยชน์กลับสู่สังคม”

ด้านนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รมว.พลังงาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า ที่ประชุม กบง.ได้เห็นชอบ 2 ทางเลือก เกี่ยวกับการบริหารรายได้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหลังชำระหนี้น้ำมันหมดในสิ้นปีนี้ คือ 1. ลดเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันเบนซินเข้ากองทุนฯ 1 บาทต่อลิตร 2. ให้กันเงิน 1 บาทต่อลิตร ที่จะลดลงดังกล่าวซึ่งจะมีวงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อเดือนหรือปีละ 12,000 ล้านบาท ไว้สำหรับการลงทุนรถไฟฟ้าหรือระบบรถไฟรางคู่ ซึ่งจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 28 ก.ย. นี้

“ในที่สุดรัฐบาลต้องตัดสินใจว่า จะเลือกทางใด โดยทางแรก จะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันลดลงทันที 1 บาทต่อลิตร และมีผลในปลายปี โดยไม่ต้องรอให้รัฐบาลชุดใหม่มาดำเนินการ แต่ยังมีรายละเอียดย่อยของการลดว่าจะลดการเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ในส่วนของแก๊สโซฮอล์ด้วยหรือไม่ ซึ่งหากไม่ลดลงส่วนต่างของเบนซินและแก๊สโซฮอล์จากเดิม 3.50 บาทต่อลิตรก็จะเหลือประมาณ 2.50 บาทต่อลิตร ซึ่งอาจจะกันส่วนต่าง 50 สตางค์ต่อลิตรดังกล่าวสะสมไว้เผื่อกรณีฉุกเฉินเมื่อราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่หากลดเหมือนกันส่วนต่างก็ยังเท่าเดิมอยู่ ส่วนกรณีไปลงทุนรถไฟฟ้าจะเสียดอกเบี้ยหรือไม่ ต้องดูอีกครั้ง”

นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า คณะกรรมการ สศช. (บอร์ด สศช.) ได้พิจารณาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ ระยะทาง 23 กิโลเมตร ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 โดยมีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณา รูปแบบการดำเนินโครงการ เนื่องจากกระทรวงคมนาคมเสนอมา 2 รูปแบบ แต่ไม่ชี้ชัดว่าเลือกแบบใด โดยให้เวลา 30 วัน เพื่อนำเข้าบอร์ด สศช.วันที่ 15 ต.ค.

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รองเลขาธิการ สศช. กล่าวว่า รูปแบบการลงทุนที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เสนอมา คือ 1. เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาลกับเอกชน โดยรัฐบาลลงทุนงานโยธา โครงสร้างพื้นฐาน เอกชนลงทุนระบบรถไฟฟ้า จัดหาขบวนรถ 2. รัฐลงทุนทั้งหมด เอกชนเป็นผู้บริหาร จัดการเดินรถและซ่อมบำรุง สำหรับมูลค่าโครงการนี้ ณ เดือน ก.ย.2547 มีมูลค่า 49,221 ล้านบาทแต่จากการเสนอล่าสุด เพิ่มเป็น 55,957 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6,736 ล้านบาท มาจากค่าที่ปรึกษา 2,223 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่เพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 4,513 ล้านบาท ทำให้ค่าเวนคืนของโครงการนี้เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 5,300 ล้านบาท เป็นประมาณ 9,300 ล้านบาท.

สำหรับความเป็นมาของการจัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเกิดขึ้นในปี 2520 เมื่อโอเปคประกาศขึ้นราคาน้ำมันดิบ แต่รัฐบาลได้ขึ้นราคาขายปลีกในสัดส่วนที่น้อยกว่าราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลสมัยนายกรัฐมนตรีธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้ใช้มาตรการลดอัตราภาษีผลิตภัณฑ์น้ำมันลงตามส่วนของต้นทุนน้ำมันดิบ แต่ในกรณีน้ำมันเตาการลดอัตราภาษีไม่พอเพียงกับต้นทุนราคาน้ำมันดิบ รัฐบาลจึงได้ใช้วิธีลดภาษีที่เก็บจากน้ำมันเบนซินมากกว่าต้นทุนที่เพิ่ม และกันเงินส่วนนี้ไว้ในกองทุน โดยได้อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 178/2520 ลงวันที่ 19 กันยายน 2520 เรื่อง การกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันส่งเงินเข้ากองทุนรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและการจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ค้าน้ำมัน เพื่อจัดตั้งกองทุนรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยให้โรงกลั่นน้ำมัน และผู้นำเข้าส่งเงินเข้ากองทุน และเงินกองทุนนี้นำไปชดเชยให้ผู้ค้าน้ำมันเตา

ในปี 2521 รัฐบาลสมัยนายกรัฐมนตรีพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ได้ประกาศเพิ่มค่าเงินบาท ร้อยละ 1 ทำให้ผู้นำเข้าได้กำไรเนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว รัฐบาลเห็นว่ากำไรส่วนนี้มิได้เกิดจากการดำเนินการ จึงได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 206/2521 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2521 จัดตั้งกองทุนรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (เงินตราต่างประเทศ) และกำหนดให้ผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงส่งกำไรที่เกิดจากการเพิ่มค่าเงินบาทเข้ากองทุนดังกล่าว เพื่อเก็บไว้ใช้ทดแทนเมื่อราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น

ในปี 2522 ประเทศผู้ส่งออกปิโตรเลียมได้ประกาศขึ้นราคาน้ำมันดิบถึง 4 ครั้ง รัฐบาลสมัยนั้นซึ่งมีพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงเห็นควรให้หาวิธีการที่จะตรึงราคาขายปลีกของน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศ โดยไม่ต้องปรับตามราคาน้ำมันดิบที่เปลี่ยนไปทุกครั้ง และอีกประการหนึ่งต้องการจะรวมกองทุนต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นเข้าเป็นกองทุนเดียวกัน จึงได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ สร. 0201/9 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2522 จัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งได้รวมกองทุนรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งตั้งตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 178/2520 ลงวันที่ 19 กันยายน 2520 กับกองทุนรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (เงินตราต่างประเทศ) ซึ่งจัดตั้งตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 206/2521 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2521 เข้าด้วยกันกำหนดกฎเกณฑ์การกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ และชดเชยจากกองทุนฯ รวมทั้งการปฏิบัติในการส่งเงินเข้ากองทุนฯ และขอรับเงินชดเชยจากกองทุนฯ และกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบในส่วนต่างๆ

ล้อมกรอบ

การบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 2/2546 ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ทำหน้าที่ในการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีหน้าที่ ดังนี้

1. กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการคำนวณราคา และกำหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในราชอาณาจักร

2. กำหนดค่าการตลาดสำหรับการซื้อขายน้ำมันเชื้อเพลิง

3. กำหนดค่าขนส่งไปยังคลังก๊าซและค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาก๊าซ ณ คลังก๊าซ ตลอดจนกำหนดราคาขายก๊าซ ณ คลังก๊าซเป็นราคาเดียวกันทุกแห่งทั่วราชอาณาจักร

4. กำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนหรืออัตราเงินชดเชยสำหรับก๊าซที่ซื้อหรือได้มาจากผู้รับสัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม ซึ่งเป็นผู้ผลิตได้จากการแยกก๊าซธรรมชาติในราชอาณาจักร น้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร น้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในราชอาณาจักรน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ส่งออก น้ำมันเชื้อเพลิงที่จำหน่ายให้แก่เรือเพื่อใช้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร และก๊าซหุงต้มที่จำหน่ายให้แก่ประชาชน

5. กำหนดชนิดของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุน หรือไม่ให้ได้รับเงินชดเชย

6. กำหนดราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นและคำนวณราคาขายปลีก

7. พิจารณากำหนดอัตราภาษีให้อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่าอัตราภาษีต่ำสุดและไม่สูงกว่าอัตราภาษีสูงสุด

8. กำหนดให้โรงกลั่นแจ้งราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นต่อคณะกรรมการ

9. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามคำสั่งนี้

10. ปฏิบัติหน้าที่ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

โดยปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นผู้จัดการกองทุนฯ มีอำนาจหน้าที่จ่ายเงินกองทุนตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 2/2546 โดยได้มีการออกระเบียบกระทรวงพลังงาน ว่าด้วยการฝากและการเบิกจ่ายเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2546
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42631
Location: NECTEC

PostPosted: 29/09/2007 3:03 pm    Post subject: Reply with quote

เศรษฐกิจ
กพช.ลดน้ำมันใส่เงินลุยรถไฟฟ้า


Thaipost 29 กันยายน 2550 กองบรรณาธิการ

กพช.ไฟเขียว ลดราคาน้ำมันให้ผู้ใช้รถ 50 สต.ต่อลิตร อีก 50 สตางค์โอนเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงานใช้ลงทุนรถไฟฟ้า ฉลุยแผนอนุรักษ์พลังงานเฟส 3 คาดสิ้นปี 2554 เซฟเงิน 4.6 แสนล้าน


คมนาคมขอ 2 สัปดาห์ให้ขึ้นค่ารถเมล์

นายวีระพล จีรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบแนวทางการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงภายหลังการใช้หนี้หมดแล้ว

โดยจะจัดสรรอัตราการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.ลดราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับประชาชน 50 สตางค์ต่อลิตร 2.โอนอัตราการเก็บเงินสำหรับน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซล 50 สตางค์ต่อลิตร เข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อใช้ในการลงทุนพัฒนาระบบขนส่ง เช่น โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต รถไฟทางคู่สายฝั่งทะเลตะวันออก เป็นต้น

และ 3.ส่วนที่เหลือเก็บเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อสะสมไว้เป็นค่าใช้จ่ายในภาวะฉุกเฉินที่อาจจำเป็นต้องรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศในช่วงสั้นๆ และใช้สนับสนุนการดำเนินการตามแผนอนุรักษ์พลังงานและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบกรอบแผนอนุรักษ์พลังงานระยะที่ 3 ช่วงปี 2551-2554 โดยจากแผนทั้งหมด จะสามารถประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้ 14,829 ล้านลิตร และประหยัดไฟฟ้าได้ 45,165 ล้านหน่วย คิดเป็นมูลค่า 467,000 ล้านบาทต่อปี

นายศิลปชัย จารุเกษมรัตนะ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 ก.ย. คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ได้พิจารณาเรื่องที่ผู้ประกอบการเดินรถขอปรับขึ้นค่าโดยสาร เนื่องจากราคาน้ำมันสูงขึ้น โดยที่ประชุมเห็นควรให้ปรับขึ้นค่าโดยสารตั้งแต่ 50 สตางค์ถึง 1 บาท ขึ้นอยู่กับประเภทของรถ แต่ต้องรอประเมินสถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลอีก 2 สัปดาห์.
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 29/09/2007 8:03 pm    Post subject: Reply with quote

แล้วรถไฟล่ะ ? Cool
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42631
Location: NECTEC

PostPosted: 02/10/2007 7:12 pm    Post subject: Reply with quote

วิชัน "ประชัย เลี่ยวไพรัตน์"ออกบอนด์ 5 แสนล้านผุดรถไฟฟ้า 10 สายใน 10 ปี

โดย ผู้จัดการรายวัน 30 กันยายน 2550 17:29 น.


ถึงชั่วโมงนี้เครื่องยนต์ของพรรคประชาราช ได้เดินเครื่องวิ่งบนถนนสายการเมืองอย่างเต็มสูบ เพื่อลุยศึกเลือกตั้งครั้งใหม่ในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 นี้ โดยล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 28 กันยายน 2550 พรรคประชาราชได้เปิดกว้างให้นักวิชาการอิสระที่มีดีกรีระดับดอกเตอร์จากสถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วไปจำนวน 40 คน ซึ่งบรรดานักวิชาการอิสระดับอาจารย์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย ได้ระดมความคิดชนิด "ชำแหละ" นโยบายพรรคออกมาเป็นชิ้น ๆ ผ่านเวที "วิพากษ์สาธารณะ นโยบายพรรคประชาราชกับความคาดหวังของประชาชน" ที่เพิ่งคลอดออกมาสด ๆ ร้อน ๆ จำนวน 39 ข้อ
โดยภาพรวมนักวิชาการอิสระระดับด็อกเตอร์ มีความเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกันเกี่ยวกับประเด็นของนโยบายพรรคประชาราช ถือว่าเป็นนโยบายที่ "โดนใจของประชาชน" โดยเฉพาะนโยบายที่จะช่วยปัดเป่าความทุกข์ยากของประชาชนทั่วแผ่นดินให้เกิดความอยู่ดีมีสุข แต่มีบางนโยบายบางข้อที่ต้องนำไปปรับปรุงและแก้ไขให้ "ตกผลึก" เพื่อให้เปิดประโยชน์สูงสุดต่อการนำนโยบายไปปฎิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ

"ป๋าเหนาะ"เร่งปัดเป่า..
ความทุกข์ยากประชาชน

"เสนาะ เทียนทอง" ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาราชและเจ้าของฉายา "ผู้ปั้นนายกรัฐมนตรีถึงสามคน" เปิดอกให้เห็นกันจะจะว่า พรรคประชาราชแจ้งเกิดขึ้นมาท่ามกลางวิกฤติปัญหาของบ้านเมือง จึงตระหนักดีว่า การนำพาประเทศเดินหน้าไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น ถือว่าเป็น"ปณิธานสูงสุด" ตามที่พรรคตั้งความหวังเอาไว้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันนโยบายสำคัญ ๆ ของพรรคตาม "แผนปฎิบัติการตามนโยบายเร่งด่วนเฉพาะหน้าที่สำคัญ ทั้ง 38 ข้อ" เพื่อให้ถึงมือพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ทั้งนี้มีเป้าหมายให้พวกเขาอยู่ดีมีสุขและให้สามารถดำรงชีวิตให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
สิ่งสำคัญที่สุดของพรรคประชาราชที่จะดำเนินการทันที " ไม่ใช่การเขียนนโยบายให้สวยหรู ซึ่งในความจริงการเขียนนโยบายให้สวยหรูอย่างไรก็ได้ แต่หัวใจสำคัญของนโยบายพรรคประชาราช จะต้องนำไปปฎิบัติได้จริง เพื่อเป็นการปัดเป่าความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชน" จึงมีการเปิดกว้างให้นักวิชาการอิสระผู้มีทั้งคุณวุฒิระดับด็อกเตอร์และมีประสบการณ์อย่างหลากหลาย เพื่อรับฟังความจริงในการวิพากษ์สาธารณะนโยบายของพรรค ทั้งนี้เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข ก่อนที่จะนำไปปฏิบัติให้ถึงมือพี่น้องประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม
"ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งข้าวคุณภาพออกไปค้าขายในต่างประเทศมากที่สุดในโลก แต่คนไทยส่วนใหญ่ที่เป็นเกษตรกรหรือชาวนา กลับจนที่สุดในประเทศไทย ดังนั้นพรรคประชาราชจึงจะเข้าไปดำเนินการแก้ปัญหาในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนเป็นอันดับแรกสุด เพื่อแก้ปัญหาความยากชนของชาวนาไทย" หัวหน้าพรรคประชาราชกล่าวทิ้งท้ายด้วยความมั่นใจ

"ประชัย"ใช้ประสบการณ์แสนล้าน
เดินหน้าพลิกวิกฤติชีวิตใหม่คนไทย

ถึงวินาทีนี้ "ประชัย เลี่ยวไพรัตน์" นักธุรกิจระดับแสนล้านและในฐานะประธานคณะผู้บริหารพรรค กล้าเปิดอกและยอมรับว่า มีความพร้อมในการเดินหน้าผลักดันนโยบายสำคัญ ๆ ของพรรคประชาราชตาม "แผนปฎิบัติการตามนโยบายเร่งด่วนเฉพาะหน้าที่สำคัญ" รวมทั้งหมด 38 ข้อ เนื่องจากพรรคมีบุคลากรที่มีประสบการณ์ในการบริหารงาน ทั้งทางด้านการเงิน การคลังและการปกครองประเทศชนิด "คับแก้ว" ทุกคน
"สิ่งสำคัญในการเปิดวิพากษ์สาธารณะนโยบายพรรคในวันนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่ทั้งหัวหน้าพรรคและนักวิชาการอิสระที่มีคุณวุฒิทางการศึกษาระดับด็อกเตอร์กว่า 40 ท่านและมีประสบการณ์อันหลากลาย มาช่วยเป็น "กระจกส่องเงา"ของพวกเรา และยังเป็นการร่วมกันใช้สติปัญญาและความชำนาญจากประสบการณ์ในการทดแทนบุญคุณของแผ่นดิน" ประธานผู้บริหารพรรคประชาราชเปิดฉากเรียกน้ำย่อย
ก่อนจะฉายวิชันในการพลิกวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยจะใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมในแวดวงธุรกิจระดับแสนล้านและยาวนานกว่า 40 ปี เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการบริหารชาติบ้านเมือง โดยออกตัวก่อนว่า "ถ้าผมไม่เล่นการเมืองชีวิตผมก็สบายอยู่แล้ว แต่วันนี้ได้รับคำเชิญจากท่านหัวหน้าพรรค(เสนาะ เทียนทอง)ให้มาร่วมงานทางการเมือง เพื่อผลักดันนโยบายของพรรคประชาราชให้ถึงมือคนไทยอย่างแท้จริง โดยยึดหลักการสำคัญที่ว่า "จะปกครองคนไทย เพื่อคนไทย ไม่ใช่ปกครองคนไทยเพื่อประเทศใดประเทศหนึ่ง" ทั้งนี้เพื่อนำพาคนไทยทั้งชาติหลุดพ้นความยากจนให้ได้
สิ่งที่พรรคจะเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วนก็คือ จะเน้นให้ "ประชาชน รวยกระจายไปทั่วประเทศ" ให้ประชาชนมีรายได้ดีขึ้นอย่างทั่วถึง ซึ่งต่างจากนโยบายของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ที่เน้นนโยบาย "รวยกระจุก แต่จนกระจายไปทั่วประเทศ" หรือเข้าทำนอง มีการผูกขาดความมั่งคั่งและร่ำรวยของกลุ่มคนเพียงกลุ่มเดียวหรือคนเพียงตระกูลเดียว ซึ่งไม่ใช่นโยบายของพรรคประชาราชแน่นอน
"ผมจะใช้ประสบการณ์จากการทำธุรกิจระดับแสนล้านมายาวนานกว่า 40 ปี เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ให้แก่พี่น้องประชาชนทั่วประเทศให้มากที่สุด โดยนโยบายทางเศรษฐกิจสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการก็คือ การปรับรายได้ของประชาชนจากประมาณ 100,000 บาทต่อคนต่อปีเป็นจำนวน 180,000 บาทต่อคนต่อปี และจะเร่งปรับผลิตภัณฑ์มวลรวมรายได้ของประเทศ(GDP)จาก 7-8 แสนล้านบาทเป็น 12 ล้านบาท" นักธุรกิจชั้นนำอย่าง "ประชัย" กล่าวอย่างมั่นใจ
พร้อมระบุว่า "ผมมีความเชื่อมั่นว่า ถ้าในประเทศมีคนยากจน ย่อมส่งผลให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยไม่ยั่งยืน ตรงกันข้ามหากประเทศไหนมีคนร่ำรวย ประชาธิปไตยจะยั่งยืนแน่นอน เห็นได้จากประเทศที่ร่ำรวยและพัฒนาแล้ว ประชาธิปไตยของประเทศนั้นจะยั่งยืน"

ออกบอนด์ 5 แสนล้าน
ผุดรถไฟฟ้า 10 สายทางใน 10 ปี

สำหรับนโยบายที่เป็น "หัวใจสำคัญ" นโยบายหนึ่งของพรรคประชาราช ที่กำลังมีการเร่งผลักดันให้เดินหน้าไปสู่ความจริงให้เร็วที่สุดนั้น เป็นนโยบาย "สร้างรถไฟฟ้า 10 สายทาง ภายใน 10 ปี เก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย" ซึ่งมีระยะทางทั้งระบบบนดินและใต้ดินรวมกันกว่า 300 กิโลเมตร โดยครอบคลุมพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลว่ากันว่า "เดินไปทางซ้าย-ขวา-เดินหน้า-ถอยหลัง ในระยะทาง 100-150 เมตร จะเจอสถานีรถฟ้าทันที" ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเดินทางของประชาชนอย่างสะดวกสบายและช่วยประหยัดการนำเข้าน้ำมันต่างประเทศได้อย่างดี
"ประชัย" ฟันธงในมุมของนักธุรกิจว่า นโยบายการก่อสร้างรถไฟฟ้า 10 สายทางของพรรคประชาราช จะผลักดันให้เกิดเป็นจริงในระยะเวลา 10 ปี และเก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย ทั้งนี้สิ่งสำคัญก็คือ เงินลงทุนจำนวนกว่า 500,000 ล้านบาทนั้น ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีศักยภาพในการลงทุนอยู่แล้ว แต่รัฐบาลชุดที่ผ่านมาหรือธนาคารแห่งประเทศไทย(แบงก์ชาติ)ไม่ได้ดำเนินการหรือคิดไม่ถึงหรือเข้าทำนอง "เส้นผมบังภูเขา" เท่านั้นเอง
โครงการลงทุนรถไฟฟ้า 10 สายทาง หากก่อสร้างทั้งบนดินและใต้ดินควบคู่กันไป โดยเฉพาะการก่อสร้างบนดิน จะทำให้ต้นทุนก่อสร้างถูกกว่าสร้างบนดิน 3-4 เท่าตัว ดังนั้น จะใช้เงินก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้งหมดเพียง 300,000 ล้านบาท โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากการให้รัฐบาลออกพันธบัตรรัฐบาลหรือบอนด์ ในวงเงินประมาณ 500,000-600,000 ล้านบาท ระยะเวลา 40 ปี อัตราดอกเบี้ย 5-6 %
ซึ่งวิธีการหาแหล่งเงินทุนโดยการออกบอน์ดของรัฐบาลไทยดังกล่าว ถือว่าเป็นการปรับแนวคิดใหม่ โดยนำเงินทุนสำรองของไทยกว่า 74,500 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯหรือกว่า 2.5 ล้าน ๆ บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินมหาศาล ที่ผู้ว่าแบงก์ชาตินำไปฝากไว้ที่ธนาคารที่อเมริกาหรือซื้อพันธบัตรของอเมริกา ทำให้รัฐบาลอเมริกานำเงินคนไทยไปพัฒนาประเทศเขาให้เจริญรุ่งเรือง
"ดังนั้น ต้องปรับแนววิธีการใหม่ โดยรัฐบาลต้องออกพันธบัตรหรือบอนด์ แล้วให้แบงก์ชาติซื้อไป เพื่อนำเม็ดเงินจำนวนมหาศาลมาพัฒนาประเทศไทย ไม่ใช่นำเงินคนไทยไปฝากไว้ธนาคารหรือซื้อพันธบัตรของอเมริกาอย่างที่ทำกันอยู่ อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผมจะทำในลักษณะดังกล่าว เราไม่ได้ต่อต้านอเมริกา เพราะผมเรียนจบจากระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเบร์คเลย์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของอเมริกา และเวลาทำธุรกิจผมก็คิดอย่างอเมริกา แต่ว่าจิตใจของผมเป็นคนไทย และจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ของคนไทยมาก่อนเป็นอันดับแรก"ประชัยกล่าว
นอกจากนี้ ธนาคารต่าง ๆ ก็พร้อมจะซื้อบอนด์ของรัฐบาลอยู่แล้ว ทั้งนี้เพื่อนำเงินคนไทยมาพัฒนาประเทศไทย ซึ่งหากดำเนินการดังกล่าว ระยะเวลาเพียง 30 ปีรัฐบาลก็สามารถคืนทุนจากการ
ออกบอนด์ได้แล้ว ส่วนเวลาที่เหลืออีก 10 ปีที่เหลือได้กำไรและประชาชนคนไทยก็ได้ประโยชน์จากการใช้ระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าในการเดินทางได้อย่างประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเป็นการแก้ปัญหาสภาพการจราจรที่คับคั่งในกรุงเทพฯและปริมณฑลอย่างได้ผล" ประธานคณะผู้บริหารพรรคประชาราชฉายวิชันทิ้งท้าย
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคต All times are GMT + 7 Hours
Goto page 1, 2  Next
Page 1 of 2

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©