RailServe.Com

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai.Com

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311232
ทั่วไป:13179606
ทั้งหมด:13490838
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - [แก้หัวข้อ] ข่าวเกี่ยวกับรถไฟไปทิเบต
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

[แก้หัวข้อ] ข่าวเกี่ยวกับรถไฟไปทิเบต
Goto page Previous  1, 2, 3, 4 ... 15, 16, 17  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> เกี่ยวกับรถไฟต่างประเทศ
View previous topic :: View next topic  
Author Message
aonpakorn
3rd Class Pass
3rd Class Pass


Joined: 06/07/2006
Posts: 153

PostPosted: 11/07/2006 10:22 pm    Post subject: Reply with quote

อยากมีโอกาสไปโดยสารรถขบวนนี้
ที่นั่งชั้น 3 ดูสบายกว่าของบ้านเรา แต่กับการเดินทาง 48 ชั่วโมงก็คงเส้นตึงได้เหมือนกัน
สิ่งสำคัญคือระบบออกซิเจน คงไม่เกิดปัญหาขึ้น เช่นกรณีเครื่องบินตกในต่างประเทศ สาเหตุคาดว่าขาดอากาศหายใจกัน
Back to top
View user's profile Send private message Send e-mail
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42621
Location: NECTEC

PostPosted: 20/07/2006 1:54 pm    Post subject: ติดตามบิกเสือไปธิเบตด้วยรถไฟพิเศษ Reply with quote

รถไฟไปทิเบต

โดย วรศักดิ์ มหัทธโนบล 19 กรกฎาคม 2549 16:44 น.

ใครที่ติดตามข่าวสารการเคลื่อนไหวของจีนในตอนนี้ จะเห็นว่าไม่มีเรื่องใดจะน่าสนใจไปกว่าข่าวการเปิดเส้นทางรถไฟจากปักกิ่งไปทิเบตอีกแล้ว การเปิดเส้นทางสายนี้มีขึ้นในวันที่ 1 กรกฎาคม 2006 ซึ่งตรงกับวันก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน และผู้ที่ทำพิธีเปิดก็คือ หูจิ่นเทา เลขาธิการพรรคและประธานาธิบดีจีน

ดูจากวันเวลาที่เปิดแล้ว จะเห็นได้ว่า ทางการจีนให้ความสำคัญกับเส้นทางสายนี้ค่อนข้างมาก และเมื่อพิจารณาเหตุผลให้ลึกซึ้งแล้วก็จะเข้าใจได้ เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าทิเบตเป็นดินแดนหนึ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนพยายามพิชิตมาโดยตลอด ในฐานที่จีนเชื่อว่าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตน แต่คนทิเบตไม่เชื่อเช่นนั้น

ดังนั้น นับแต่ที่จีนเป็นคอมมิวนิสต์เรื่อยมา แม้จีนจะสามารถพิชิตทิเบตให้อยู่ใต้ร่มเงาของตนเอาไว้ได้ก็ตาม แต่จีนก็รู้ดีว่าในใจของชาวทิเบตนั้นไม่ได้ถูก “พิชิต” ไปด้วยทั้งหมด ดังที่เราจะเห็นข่าวคราวความกระด้างกระเดื่องของชาวทิเบตต่อจีนที่แว่วดังมาเป็นระยะอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ ทางการจีนจึงมักจะหาวิธีการต่างๆ ออกมาเพื่อ “พิชิต” ทิเบตให้ได้จริงๆ

การสร้างทางรถไฟเพื่อมุ่งไปทิเบตจะว่าเป็นอีกวิธีการหนึ่งของจีนก็ไม่ผิดนัก เพราะทางการจีนได้มีโครงการสร้างทางรถไฟสายนี้มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1958 แล้ว แต่ด้วยเหตุผลของความยากลำบากทางภูมิศาสตร์และความวุ่นวายทางการเมืองภายหลังปีนั้น เส้นทางสายนี้ในระยะที่หนึ่งจึงมาแล้วเสร็จเอาในปี ค.ศ.1984 คือเสร็จจากเมืองซีหนิงมาบรรจบที่เมืองเกอเอ่อร์มู่ด้วยระยะทางกว่า 800 กิโลเมตร

ส่วนระยะที่สองคือระยะที่เป็นข่าวอยู่นี้เป็นระยะที่สร้างต่อจากเมืองเกอเอ่อร์มู่ แล้วมาบรรจบที่เมืองลาซาของทิเบต รวมระยะทางยาวกว่า 1,100 กิโลเมตร ในระยะที่สองนี้เริ่มสร้างเมื่อปี ค.ศ. 2001 มาแล้วเสร็จเอาในปี ค.ศ. 2006 คือปีนี้

จากรายงานของทางการจีน ทำให้เรารู้ว่า เส้นทางรถไฟสายนี้จะวิ่งผ่านภูมิทัศน์ที่หาดูได้ยากถ้าหากจะเดินทางด้วยรถยนตร์ เพราะหลายช่วงหลายตอนมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ยากลำบากอยู่ไม่น้อย แต่ก็ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ก็ทำให้เราเข้าใจได้ว่า เหตุใดทางการจีนจึงใช้เวลาหลายปีในการสร้างเส้นทางสายนี้

เกี่ยวกับภูมิทัศน์ที่ว่าหมายถึงสภาพธรรมชาติสองข้างทางที่สวยสดงดงามยิ่งกว่าภาพวาด ภาพที่ว่ามีตั้งแต่ทุ่งหญ้าที่เขียวขจีสุดลูกหูลูกตา ลำธารไส ทิวเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะ สิงสาราสัตว์กลางทุ่งโล่ง ท้องฟ้าเลื่อมสลับสีกับพยัพเมฆ ภูมิอากาศและความกดอากาศที่แปรเปลี่ยนไปตามความสูงชันจากหลังคาโลกขึ้นไปเรื่อยๆ ฯลฯ จนกล่าวได้ว่า ภาพที่ว่านี้มีเสน่ห์ยั่วยวนให้ได้ไปยลจริงๆ

การรายงานข่าวเส้นทางรถไฟและสภาพภูมิศาสตร์สองข้างทางดังกล่าวจะเน้นในเชิงกายภาพ ซึ่งถ้าใครที่เป็นนักท่องเที่ยวที่มีใจอนุรักษ์และเข้าใจสิ่งแวดล้อมกับธรรมชาติเป็นอย่างดี ข้อมูลจากข่าวที่ว่าย่อมเป็นประโยชน์ไม่น้อย และถ้าหากได้มาเปิดหูเปิดตาด้วยการท่องเที่ยวกับเส้นทางดังกล่าว ก็ย่อมถือเป็นการเปิดโลกทัศน์และประสบการณ์ชีวิตที่ดีไม่น้อย ตัวอย่างเช่น แค่การต้องปรับตัวให้เข้ากับอุณหภูมิและความกดอากาศที่แปรเปลี่ยนไปตามระดับความสูงเหนือน้ำทะเลที่รถไฟขบวนนี้จะพาขึ้นไปนั้น ก็สามารถทำให้เราได้เรียนรู้โลกของภูมิศาสตร์ด้วยการได้สัมผัสโดยตรงขึ้นมาอีกก้าวหนึ่งแล้ว เป็นต้น

แต่ถ้ากล่าวสำหรับชาวจีนเองแล้วกลับเป็นประเด็นที่มีความลึกซึ้งอยู่ไม่น้อย ประการแรกสุด เป็นที่วิตกกันว่า ภายหลังจากที่รถไฟสายนี้เปิดใช้แล้ว ชาวจีนที่จะเดินทางไปทิเบตได้มากขึ้นและง่ายขึ้นนั้นจะสร้างผลกระทบอะไรให้กับทิเบตหรือไม่?

ปัญหาก็คือว่า ทิเบตจะรองรับจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน? เพราะชั้นแต่ในขณะที่ทางรถไฟยังสร้างไม่เสร็จ ก็ปรากฏมีชาวจีนไปตั้งหลักปักฐานอยู่ที่ทิเบตแล้วจำนวนไม่น้อย และชาวจีนเหล่านี้เองที่ได้ทำให้ทิเบตเปลี่ยนแปลงไปจนเอกลักษณ์เดิมได้รับผลกระทบ

เพราะไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่ชาวจีนได้นำเข้าไปในทิเบตนั้นไม่ใช่สิ่งที่อยู่วัฒนธรรมของทิเบต คือหากไม่เป็นวัฒนธรรมจีนก็จะเป็นวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งแตกต่างไปจากวัฒนธรรมทิเบตอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ และในเมื่อวัฒนธรรมที่ชาวจีนนำเข้าไปเป็นวัฒนธรรมที่ผูกติดกับธุรกิจการค้า ผลกระทบที่เห็นได้ชัดจึงตกอยู่กับวัฒนธรรมทิเบตไปด้วย

ยกตัวอย่างเช่น แต่ไหนแต่ไรมาเมื่อชาวทิเบตได้เข้าใกล้หรือได้เห็นพระราชวังโปตาลา ชาวทิเบตจะคุกเข่าหมอบกรานลงโดยให้ร่างกายแนบกับพื้นและยื่นแขนสองข้างไปข้างหน้าไปข้างหน้า การคุกเข่าหมอบกรานดังกล่าวเป็นวิธีการแสดงความเคารพสักการะของชาวทิเบต และเป็นการแสดงออกที่อยู่ภายใต้แวดล้อมสัญลักษณ์ทางศาสนา หรือไม่ก็วัตถุธรรมที่สอดประสานไปกับสัญลักษณ์ที่ว่า

แต่บัดนี้ การเคารพสักการะดังกล่าวของชาวทิเบตบางทีบางครั้งก็มีภาพของหญิงบริการนุ่งน้อยห่มน้อยนั่งไขว่ห้างต้อนรับแขกอยู่หน้าสถานบันเทิงของตนเป็นฉากหลัง โดยเป็นที่รู้กันว่าหญิงคนนั้นก็คือโสเภณี และสถานบันเทิงนั้นก็ให้บริการในสิ่งที่เป็นอบายมุขทั้งหลาย และทั้งหมดนี้ต่างถูกอธิบายว่าคือความเจริญที่ทางการจีนมอบให้แก่ชาวทิเบต

เหตุฉะนั้น เมื่อมีเส้นทางรถไฟวิ่งมาถึงทิเบตเช่นนี้ การอพยพของชาวจีนก็อาจจะง่ายขึ้นตามไปด้วยโดยที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าจะมีจำนวนมากน้อยเพียงใด และถัดจากชาวจีนที่ตั้งใจลงหลักปักฐานก็คือชาวจีนที่เป็นนักท่องเที่ยว ซึ่งก็เป็นที่รู้กันดีอีกเช่นกันว่าเป็นกลุ่มคนที่ยังขาดการเรียนรู้การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อยู่อีกมาก (ซึ่งนักท่องเที่ยวไทยอาจจะดีกว่าไม่กี่มากน้อย) เมื่อเป็นเช่นนี้ทิเบตก็อาจจะถูกกระทบไปอีกแบบหนึ่งได้ไม่ยากเช่นกัน

ในประการต่อมา การเกิดเส้นทางสายนี้ขึ้นนั้น เอาเข้าจริงแล้วก็คือ การบรรลุยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญของทางการจีนเอง เพราะเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะดึงให้ทิเบตออกมาสู่โลกภายนอก

ที่น่าสนใจก็คือ การดึงนี้ไม่ใช่ดึงแบบนำเอาทิเบตออกไปให้โลกภายนอกได้รู้จัก แต่เป็นการดึงด้วยนำเอาคนภายนอกเข้าไปทิเบตเพื่อให้รู้จักทิเบตได้มากขึ้นและง่ายขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า ส่วนใหญ่ของคนภายนอกเหล่านี้ก็คือชาวจีนนั่นเอง ดังนั้น หากเวลาผ่านไปนานๆ เข้า ชาวทิเบตกับชาวจีนก็จะถูกทำให้กลมกลืนกันไปในที่สุด จนแยกไม่ออกว่าใครคือทิเบตใครคือจีน วิธีการเช่นนี้ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับสังคมจีน เพราะในอดีตที่ผ่านมานับพันปี ชนชั้นนำของจีนก็ใช้วิธีเดียวกันนี้ในการกลืนเอาชนชาติพันธุ์อื่นในแผ่นดินจีนเข้ามาเป็นชนชาติฮั่นเช่นกัน หาไม่แล้วก็ยากที่จะมีเอกภาพและเป็นปึกแผ่นขึ้นมาได้

กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การกลืนชนชาติพันธุ์เยว่ที่เป็นชนพื้นเมืองเดิมของมณฑลกวางตุ้ง จนปัจจุบันนี้แยกความเป็นชนชาติพันธุ์เดิมไม่ออก ในกรณีทิเบตหากเป็นเช่นนั้นจริง ต่อไปเราก็อาจไม่ได้เห็นวัฒนธรรมของชาวทิเบตที่เป็นธรรมชาติและมีชีวิตชีวา แต่อาจเห็นในฐานะที่เป็นชนชาติพันธุ์หนึ่งที่มีชุมชนเล็กๆ เป็นของตนเอง ไม่ได้ใหญ่โตอย่างที่เห็นในปัจจุบันอีกต่อไปก็เป็นได้

จากที่กล่าวมานี้ เมื่อย้อนกลับไปที่รายงานข่าวที่ว่า หูจิ่นเทา เป็นผู้ทำพิธีเปิดแล้ว ก็มีประเด็นที่พึงกล่าวด้วยว่า การเปิดครั้งนี้ของ หู จะว่าเป็นเหตุบังเอิญทางประวัติศาสตร์ก็คงไม่ผิดนัก เพราะนอกจากฐานะเลขาธิการพรรคและประธานาธิบดีจีนที่ควรมาเป็นเกียรติด้วยการเป็นประธานในพิธีเปิดนี้แล้ว ตัวของ หู เองก็เคยมีประวัติว่าเคยเป็นเลขาธิการพรรคประจำทิเบตในระหว่างปี ค.ศ.1988-1992 อีกด้วย

ผลงานที่โดดเด่นของ หู ในเวลานั้นก็คือ การที่สามารถปราบปรามขบวนการเรียกร้องอิสรภาพของชาวทิเบตได้เป็นผลสำเร็จในช่วงต้นปี ค.ศ.1989 คือทำได้สำเร็จก่อนเกิดเหตุการณ์นองเลือดที่เทียนอันเหมินไม่กี่เดือน นอกจากนี้ หู ยังเป็นผู้ริเริ่มนโยบายให้ชาวจีนได้เข้ามาสร้าง “ความเจริญ” ให้ทิเบตอีกด้วย จนทิเบตเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาจนทุกวันนี้

ผลงานทั้งสองเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างน้อย (โดยเฉพาะเรื่องแรก) ของ หู เป็นที่เข้าตาผู้นำอาวุโสอย่าง เติ้งเสี่ยวผิง ในเวลานั้น และกลายเป็นเส้นทางที่เปิดให้แก่การเติบโตทางการเมืองให้แก่ หู มาจนทุกวันนี้ ดังนั้น การเป็นประธานในพิธีเปิดเส้นทางรถไฟสายนี้ของ หู จึงมีความหมายทั้งสำหรับตัวเขาและพรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่น้อย

จะอย่างไรก็ตาม แม้ทุกวันนี้ทิเบตจะเปลี่ยนไปไม่น้อยก็จริง แต่ก็ยังไม่ถึงกับถูกเปลี่ยนในขั้นรากฐานเสียเลยทีเดียว ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะชาวทิเบตเองมีวัฒนธรรมที่เข้มแข็งของตนคอยต้านทานเอาไว้ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการแนะนำกันว่า หากใครสามารถไปเที่ยวทิเบตในตอนนี้ได้ก็ให้รีบไปเสีย เพราะยังไม่นับว่าสาย และยิ่งไปเส้นทางรถไฟสายที่ว่านี้ด้วยก็ยิ่งดี

แต่ถ้ากะรอไปในอีกหลายปีข้างหน้าแล้วละก็ไม่แน่ เพราะถึงตอนนั้นรถไฟสายที่ว่าคงจะทะลุทะลวงพรหมจรรย์ของทิเบตจนไม่เหลือดีให้ดูอีกก็เป็นได้
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42621
Location: NECTEC

PostPosted: 20/07/2006 9:51 pm    Post subject: Reply with quote

ทางรถไฟสายทิเบต / วินิจ รังผึ้ง

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 18 กรกฎาคม 2549 17:20 น.

กลางปี 2547 ผมมีโอกาสเดินทางไปสัมผัสดินแดนในฝัน " ทิเบต " ดินแดนหลังคาโลกที่ใฝ่ฝันมานานว่าจะได้มีโอกาสเดินทางไปเห็นสักครั้งในชีวิต การเดินทางไปครั้งนั้น คณะของเราซึ่งมีนักเขียน นักเดินทาง ร่วมเดินทางกันไปด้วยรถยนต์ 5 คัน จากเมืองคุนมิง มณฑลยูนนานตอนใต้ของจีน

โดยมีคุณปองพล อดิเรกสาร และคุณดวงดาว สุวรรณรังษี เป็นผู้นำคณะการเดินทาง เราต้องใช้เวลากว่าวัน กว่าจะถึงจุดหมายปลายทางที่กรุงลาซา นครหลวงของทิเบต ต้องผ่านเส้นทางทุรกันดารบนเทือกเขาสูงชัน ผ่านอุปสรรคปัญหาในระหว่างเส้นทางมากมาย

แต่สุดท้าย ก็สามารถจะฝ่าฟันจนบรรลุจุดหมายปลายทางได้สำเร็จ แม้นจะเป็นการเดินทางที่ยากลำบาก แต่สิ่งที่ได้รับก็แสนจะคุ้มค่า เพราะวิวทิวทัศน์ของทุ่งหญ้าเขียวขจี ทุ่งดอกไม้กว้างไกลสุดสายตา ภูเขาหิมะอันหนาวเหน็บยาวไกล และภาพวิถีชีวิตชาวทิเบตใต้ร่มเงา และความศรัทธาในพระพุทธศาสนาริมสองข้างทาง ช่างสร้างสีสันให้กับการเดินทางยิ่งนัก เป็นการเดินทางที่คุ้มค่ายิ่งครั้งหนึ่งในชีวิต

หลังกลับจากทิเบตเที่ยวนั้น ผมก็ได้ทราบข่าวการก่อสร้างทางรถไฟสายชิงไห่ - ทิเบต ที่รัฐบาลจีนทุ่มงบประมาณ และเทคโนโลยีการก่อสร้างมากมาย สร้างทางรถไฟสายที่สูงที่สุดของโลก เพื่อเชื่อมต่อกับการเดินทางภายในมณฑลต่างๆ ของจีน เข้าไปสู่กรุงลาซา ของทิเบต ข่าวดังกล่าวมีความคืบหน้ามาเป็นระยะๆ และในที่สุด ทางรถไฟสายนี้ก็แล้วเสร็จ

วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ทำพิธีเปิดการเดินรถไฟขบวนปฐมฤกษ์ " ชิง 1 " จากเมืองโกลหมุด มลฑลชิงไห่ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน มีผู้โดยสารราว 600 คนร่วมเดินทางกับรถไฟเที่ยวประวัติศาสตร์นี้

รถไฟขบวนนี้ ใช้เวลาเดินทางราว 13 ชั่วโมงเศษ ผ่านเทือกเขาสูงชัน ทุ่งหญ้ากว้าง ทุ่งปศุสัตว์ และชุมชนของชาวทิเบต ผ่านจุดสูงที่สุดบนเส้นทางที่มีความสูงถึง 5,072 เมตรจากระดับน้ำทะเล โดยมีระยะทางตลอดสายรวมทั้งสิ้น 1,956 กิโลเมตร และมีระยะทางราว 960 กิโลเมตรที่รถไฟจะวิ่งอยู่บนเทือกเขาสูงกว่า 4,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล

นับเป็นเส้นทางรถไฟสายที่สูงที่สุดในโลก และหากจะเชื่อมต่อการเดินทางด้วยทางรถไฟสายที่มีอยู่จากนครปักกิ่ง - กรุงลาซา ซึ่งมีระยะทางราว 4,561 กิโลเมตร ก็จะใช้เวลาบนรถไฟราว 2 วัน ค่าโดยสารจะตกอยู่ราวเที่ยวละ 50 - 160 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือราว 1,900 - 6,000 บาท ขึ้นอยู่กับที่นั่ง หรือชั้นตู้นอน ตู้นอนพิเศษ ตามระดับความหรูหรา และความสะดวกสบาย

ซึ่งรัฐบาลจีนได้ทุ่มงบประมาณก่อสร้างทางรถไฟสายชิงไห่ - ทิเบตนี้ สูงถึงราว 1.6 แสนล้านบาท แม้นจะเป็นงบประมาณที่มากมายมหาศาล แต่รัฐบาลจีนนั้น ก็ดีดลูกคิดรางแก้วไว้เรียบร้อยแล้วว่า จะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวจีน และชาวต่างประเทศ เดินทางเข้าไปถึงทิเบต เพิ่มขึ้นมากมาย

จนคาดว่า จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวในทิเบตสูงถึงปีละราว 29,000 ล้านบาทเลยทีเดียว นอกจากนี้ ทางการจีนยังมีโครงการก่อสร้างทางรถไฟอีก 3 สาย เพื่อเป็นโครงข่ายมุ่งสูงทิเบตอีกในอนาคต

ดินแดนที่ราบสูงทิเบต มีพื้นที่ราว 2.5 ล้านตารางกิโลเมตร คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 8 ของพื้นที่ประเทศจีน มีประชากรที่เป็นชาวทิเบต ภายในเขตปกครองตนเองทิเบต ราว 2.44 ล้านคน และมีชาวทิเบตอยู่ในมณฑลชิงไห่ เสฉวน และกวางสี ของจีนอีกราว 2.5 ล้านคน ในขณะที่มีชาวจีน หรือชาวฮั่น อพยพหลั่งไหลเข้าไปอยู่ในทิเบตแล้วราว 7.5 ล้านคน

จึงไม่แปลกเลย ที่ผมจะรู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งเมื่อแรกเห็นกรุงลาซา นครศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นศูนย์กลางของทิเบต เพราะนครลาซาในฝัน ในความรู้สึก และภาพที่ได้เคยพบเคยเห็น หรือเคยอ่านในเรื่องราวเกี่ยวกับทิเบตในอดีตนั้น มันมีแต่ภาพความงดงามของวัดวาอาราม พระลามะ และผู้คนที่เต็มไปด้วยศรัทธาความยึดมั่นในพระพุทธศาสนา

เมืองในฝันที่มีแต่ผู้คนสวดมนต์กราบพระ เดินภาวนาหมุนวงล้อมนต์ เพื่อมุ่งสู่ความสุขแห่งพระนิพพานในภายภาคหน้า แต่สิ่งที่ได้พบเห็น เมื่อขบวนรถเคลื่อนเข้าสู่นครลาซา สิ่งที่พบคือ ตึกรามร้านค้า อาคารพาณิชย์อันเบียดเสียดยัดเยียด ไม่ต่างอะไรกับเมืองใหญ่อื่นๆ ของจีน

ผู้คนที่พบเห็นทั่วไปบนท้องถนนหนทางร้านค้า กลับเป็นชาวจีน ที่แต่งกายเหมือนชาวจีนเมืองใหญ่อื่นๆ มีชาวทิเบตที่แต่งกายแบบดั้งเดิมปะปนอยู่บ้าง แต่ก็น้อยมาก จะมีบรรยากาศให้ชื่นใจได้เห็นความเป็นทิเบต เช่นในความคิดฝันได้บ้าง ก็เฉพาะบริเวณพระราชวังโปตาลา

และตามวัดวาอารามที่สำคัญต่างๆ เช่นที่ วัดโจคัง วัดเดรปุง เท่านั้น จนหลายคนต่างลงความเห็นว่า หากต้องการจะพบเห็น และสัมผัสภาพของความเป็นทิเบตที่แท้จริงในวันนี้ อาจจะต้องเดินทางออกนอกนครลาซาเสียแล้ว

นั่นเป็นภาพที่ผมเองยังรู้สึกได้ เมื่อไปถึงลาซา เมื่อปี 2547 ซึ่งผมไม่อยากนึกภาพเลยว่าเมื่อทางรถไฟสายปักกิ่ง - ชิงไห่ - ทิเบต เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบแล้ว นครลาซา และวิถีชีวิตของชาวทิเบตจะเป็นเช่นใด ชาวทิเบตที่อยู่ในส่วนต่างๆ ของที่ราบสูงทิเบต ที่มีความเชื่อความศรัทธาสืบต่อกันมาว่า

ครั้งหนึ่งในชีวิต จะต้องเดินทางแสวงบุญมุ่งสู่นครลาซา ที่เป็นศูนย์รวมแห่งพระพุทธศาสนาศูนย์รวมแห่งจิตใจของพวกเขา โดยการเดินทางแสวงบุญที่เชื่อว่าจะได้บุญมากที่สุดนั้น ชาวทิเบตจะใช้วิธีเดินภาวนาก้าวไปข้างหน้า 3 ก้าว แล้วก้มลงกราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์

หรือกราบแบบนอนราบไปกับพื้น ชูมือขึ้นวางราบเหนือศีรษะ ลุกขึ้น แล้วก้าวเดินต่อไปอีก 3 ก้าว แล้วนอนราบทำอัษฎาคประดิษฐ์ เป็นเช่นนั้นไปเรื่อยๆ จากบ้านเกิด ไปจนถึงนครลาซา ซึ่งอาจมีระยะทางหลายร้อย หรือนับพันกิโลเมตร เลยทีเดียว

ซึ่งชาวทิเบตคนหนึ่ง อาจเดินทางแสวงบุญได้เพียงครั้งเดียว หรือบางคน ก็อาจจะต้องเดินทางแสวงบุญเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิต ด้วยไม่อาจจะทนทานต่อความสุดแสนทุรกันดาร ความเหน็บหนาวของเส้นทางที่จะต้องตัดผ่านเทือกเขาสูงชัน ทุ่งหิมะ ภูเขาหิมะที่หนาวเหน็บ อาจใช้เวลานับเดือน นับปี กว่าจะเดินทางแสวงบุญถึงจุดหมายปลายทาง

แต่หากเมื่อเดินทางมาถึงลาซาแล้ว กลับต้องพบเห็นภาพนครอันศักดิ์สิทธิ์ดินแดนในฝัน ดินแดนแห่งศรัทธาของพวกเขา มีอันต้องเปลี่ยนแปลงไปจนแทบจะไม่เหลือร่องรอยแห่งอดีตที่รุ่งเรืองงดงามไว้แล้ว พวกเขาจะมีความรู้สึกโศกเศร้า และสูญเสียเพียงใด

บางทีชาวทิเบตอาจจะต้องสวดมนต์ภาวนา อธิษฐานถึงขบวนรถไฟที่จะแล่นพาพวกเขาย้อนเวลาหวนคืนอดีต สู่ลาซา นครอันศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขาอีกครั้ง โดยมิต้องการบัตรโดยสารเที่ยวกลับอีกเลยก็เป็นได้.
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 21/07/2006 11:09 am    Post subject: Reply with quote

ก็เป็นเรื่องปกติของงานพัฒนาล่ะครับ มีได้ก็ต้องมีเสียบางสิ่งเป็นการแลกเปลี่ยน นำความสะดวกสบายเข้าไป แต่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงด้านวัตถุ วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปจากเดิม

ขึ้นอยู่ตรงที่ว่า จะยินยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยเพียงใด ดังเช่น ประเทศภูฏานที่จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปีไม่เกิน 20,000 คน เพื่อมิให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพสิ่งแวดล้อม และสังคมมากจนเกินไป
Back to top
View user's profile Send private message
Cummins
2nd Class Pass
2nd Class Pass


Joined: 28/03/2006
Posts: 719
Location: มหาวิทยาลัยราชมงคลอิสาน วิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา

PostPosted: 21/07/2006 1:37 pm    Post subject: เรื่องเครื่องยนต์ Reply with quote

ถ้าเป็นรถ GE ก็คงเป็นเครื่องของ GE เองน่ะครับเพราะถ้าเป็น Universal model GE ก็จะใส่เครื่องตระกูล 7FDL ให้ ถ้า 3800 แรงม้าก็น่าจะเป็น 7FDL16 ดีเซล 4 จังหวะ 16 กระบอกสูบน่ะครับ เพราะเป็นเครื่องที่ออกแบบให้ใช้ได้ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนสูงกว่าระดับน้ำทะเลเกิน 10,000 ฟุตได้ครับ โดยอกกแบบให้อัตราส่วนการอัดของเครื่องยนต์ต่ำ แต่อาศัยพลังของเทอร์โบแบบสมรรถนะสูงมาช่วย ทำให้ไม่เกิดปัญหาเมื่อนำมาใช้งานที่ระดับน้ำทะเลเหมือนกรณีของเทอร์โบแบบอัด 2 ชั้นของคัมมินส์
_________________
อดีตโชเฟอร์ล้อเหล็ก
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42621
Location: NECTEC

PostPosted: 22/07/2006 10:03 pm    Post subject: Reply with quote

จีนกับเขตปกครองพิเศษทิเบต

ฐานเศรษฐกิจ 23 - 26 กรกฎาคม 2549

รัฐบาลจีนทุ่มทุน 40,000 ล้านหยวน ในการสร้างทางรถไฟเชื่อมมลฑลชิ่งไห่ - เขตปกครองพิเศษทิเบต การลงทุนครั้งนี้ ไม่น่าจะใช่เพื่อการท่องเที่ยวโดยตรงแน่ เพราะลำพังค่าตั๋วโดยสารรถไฟ คงไม่พอที่จะคืนทุนได้ง่ายๆ แม้วันหนึ่งๆ เส้นทางรถไฟสายนี้ จะนำคนเข้าสู่ลาซา เมืองหลวงทิเบตประมาณ 4,000 คนก็ตาม

ทางรถไฟสายมหัศจรรย์ " ชิ่งไห่ - ทิเบต " ตัดผ่านที่ราบสูงทิเบต ขุนเขา และลอดอุโมงค์ ระยะทางพันกิโลเมตรเศษ เปิดใช้บริการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2549 เป็นเส้นทางขนคนโดยสาร และสินค้าจากพื้นที่ด้านล่าง สู่ดินแดนแห่งหลังคาโลก ก่อนหน้านี้นั้น การขนส่งสินค้าทางบกด้วยรถยนต์ จะผ่านเฉินตู มลฑลเสฉวน ตัดขึ้นไปตามเขา หรือไม่ก็อาศัยเส้นทางจากเฉินตู ไปเมืองโกล์มุด มลฑลชิ่งไห่ ที่อยู่ทิศเหนือถัดขึ้นไป แล้วเข้าตามเส้นทาง " ชิงไห่ไฮเวย์ " จุดหมายปลายทางที่กรุงลาซา

รถบรรทุกขนสินค้าจากเมืองโกล์มุด - ลาซา ใช้ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 17 - 19 ชั่วโมง แต่ก็รับรู้เป็นการทั่วไปว่า โอกาสที่จะถึงจุดหมายปลายทางตามเวลา มีโอกาสเพียง 70 เปอร์เซ็นต์ เพราะรถมักจะมีปัญหาในระหว่างการเดินทาง เนื่องจากไต่ระดับสูงนั่นเอง

เฉินตูเมืองหลวงของ มลฑลเสฉวน เป็นศูนย์กระจายสินค้ามาแต่ไหนแต่ไร ปัจจุบัน ยังรับหน้าที่เป็นเมืองหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจในเขตพื้นที่ 5 มลฑลฝั่งตะวันตกของจีน เฉินตู อยู่ในพื้นที่ราบลุ่ม ส่วนเมืองโกล์มุด สูง 2,830 เมตรจากระดับน้ำทะเล รถบรรทุกต้องไต่ระดับถึง 5,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ข้ามเขาคุนลุนก่อนจะลดระดับลง 3,650 เมตร ณ กรุงลาซา นั่นคือสภาพปัญหาในการคมนาคมขนส่งในอดีต ส่วนจะอาศัยเครื่องบิน ก็เสียค่าใช้จ่ายสูง จะว่าไปแล้วทางเข้ากรุงลาซาทางบก มีอีกหลายทาง อาทิ เข้าทางเมืองเคอะสือ หรือคาสการ์ มลฑลซินเจียง พรมแดนตะวันตกของจีน หรือผ่านกรุงกัตมัณฑุ เมืองหลวงของประเทศเนปาล ซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ของทิเบต แต่นั่น ไม่ใช่เส้นทางขนส่งเป็นล่ำเป็นสัน

จีนถูกประณามว่าเป็นผู้รุกรานประเทศทิเบต ซึ่งทุกวันนี้ องค์ดาไล ลามะ องค์ที่ 14 ประทับลี้ภัยที่ " ธรรมศาลา " ทิศเหนือประเทศอินเดีย ส่วนจีนถือว่า ทิเบตเป็นเขตปกครองพิเศษ และมาระยะหลัง ให้ความสำคัญ และพัฒนาในหลายๆ ด้าน พร้อมกับอนุรักษ์วัฒนธรรมอันเก่าแก่ของชาวทิเบตไว้

เมื่อ ค.ศ.1987 จีนเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศ เข้าชมดินแดนหลังคาโลกแห่งนี้ ปัจจุบันมีโรงแรมเพิ่มมากขึ้น ถนนหนทางกว้างขวาง บ้านเมืองสะอาดสะอ้าน โครงสร้างพื้นฐานทำได้ดีเลยทีเดียว

ชาวจีนอยู่อาศัยในเขตปกครองทิเบตประมาณ 7.5 ล้านคน ประชากรชาวทิเบตเองมีราว 2.5 ล้านคน และอีก 2.5 ล้านคนกระจายอยู่อาศัยในจีน และต่างประเทศ แต่เกือบทั้งหมด จะอยู่อาศัยในมณฑลเสฉวน ที่มีเขตแดนติดกัน

ปี ค.ศ.1904 อังกฤษบุกยึดครองทิเบต ภายหลังรัสเซียเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย ทำให้อังกฤษ และรัสเซีย มีข้อตกลงร่วมกันที่จะไม่แทรกแซงกิจการภายในทิเบต และมีอนุสัญญายอมให้จีนมีอิทธิพลเหนือทิเบต, ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1945 จีนคอมมิวนิสต์ประกาศปลดปล่อยทิเบต และปีถัดมา ยกกองทัพเข้ายึดครองพื้นที่ และเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1951 จีน - ทิเบต ทำข้อตกลงร่วมกัน โดยทิเบตยอมรับอธิปไตยของคอมมิวนิสต์จีน และจีนให้สัญญาแก่ทิเบตในการปกครองตนเอง พร้อมยอมรับการนับถือพุทธศาสนา และดาไล ลามะ ซึ่งเป็นประมุขแห่งทิเบต มีสถานะเป็นผู้นำทางศาสนาด้วย จีนควบคุมด้านการต่างประเทศ และกลาโหม

จีนมีปัญหาด้านประชากรเพิ่มจำนวนมากขึ้น เพราะการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร เท่ากับเพิ่มปัญหาให้กับจีนในอนาคตด้วยเช่นกัน รัฐบาลจีนจึงพยายามพัฒนาในทุกๆ พื้นที่ เพื่อรองรับ หรือส่งเสริมให้คนอพยพไปสู่เขตพัฒนาใหม่ การสร้างทางรถไฟสายใหม่ " ชิงไห่ - ทิเบต " ก็เพื่อสร้างโอกาสกระจายคนเข้าไปอยู่อาศัย และใช้สอยทรัพยากร คือ ที่ดินได้อย่างเต็มที่ สมัยก่อน ชาวทิเบตไม่ปลูกผัก ปัจจุบันเรียนรู้จากจีนอพยพ ทำให้เห็นพื้นที่หลายแห่ง ทำการเพาะปลูกพืชผัก แทนที่จะติดยึดอยู่กับอุปนิสัยดั่งเดิม คือ การเลี้ยงแกะ เลี้ยงม้า และจามรี ( สายพันธุ์ควาย ) ตามทุ่ง

ขณะเดียวกัน ก็พยายามอย่างเต็มกำลัง ที่จะช่วยพัฒนาเขตปกครองพิเศษทิเบต จะว่าไปแล้ว " โกล์มุด " ต้นทางรถไฟสายใหม่ ก็คือ โครงการพัฒนาตัวอย่าง เพราะเมืองนี้เพิ่งสร้างขึ้นมาได้เพียง 20 กว่าปีเท่านั้น พัฒนาโดยอาศัยแหล่งน้ำแหล่งเล็กกลางทะเลทรายเป็นเชื้อ เท่าที่เห็นเริ่มเขียวขึ้นมาบ้างแล้ว ต้นไม้ใหญ่ก็มี และตึกรามบ้านช่องก็ผุดขึ้นราวดอกเห็ด
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42621
Location: NECTEC

PostPosted: 24/07/2006 5:12 pm    Post subject: Reply with quote

จีนเตรียมขยายเส้นทางรถไฟ เชื่อมทิเบต - กว่างโจว

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 24 กรกฎาคม 2549 15:30 น.

สำนักข่าวซินหัว ของทางการจีน รายงานว่า เมืองกว่างโจว ( เมือง กวางเจา มณฑลกวางตุ้ง ) ทางตอนใต้ของจีน จะเริ่มให้บริการรถไฟไปยัง กรุงลาซา เมืองหลวงของทิเบต หลังจากที่เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา มีการเปิดเส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ โดยเมืองกว่างโจว จะร่วมกับเมืองอื่นๆ เช่น ปักกิ่ง เฉิงตู หลันโจว และซีหนิง ให้บริการรถไฟสายตรงไปยังทิเบต บริการรถไฟจากเมืองกว่างโจว เมืองเอกของมณฑลกวางตุ้ง จะเริ่มขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ อันเป็นวันชาติของจีน และคาดว่าการเดินทางจะใช้เวลา 3 วันกับ 2 คืน
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42621
Location: NECTEC

PostPosted: 29/07/2006 5:41 pm    Post subject: Reply with quote

พบทางม้าเหล็กชิงไห่ - ทิเบตร้าว - จมน้ำ

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 28 กรกฎาคม 2549 18:00 น.

เอเอฟพี 28/07/06 - ทางรถไฟชิงไห่ - ทีเบต ซึ่งเริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา และประโคมข่าวอย่างครึกโครม ล่าสุด พบโครงสร้างคอนกรีตบางส่วนเริ่มร้าว ขณะที่ฐานรางรถไฟ ซึ่งเป็นพื้นดินที่เป็นน้ำแข็งตลอดปี กำลังจม และมีรอยแตก

เป่ยจิง นิวส์ รายงานอ้างคำบอกเล่าของโฆษกกระทรวงรถไฟ หวังหย่งผิง กล่าวว่า “ แผ่นน้ำแข็งที่เป็นฐานรางรถไฟสายชิงไห่ - ทิเบตบางส่วน กำลังจม และมีรอยร้าว ขณะที่คอนกรีตบางส่วนของโครงสร้างทางรถไฟ และสะพาน ก็เริ่มร้าวเช่นกัน ซึ่งนับเป็นภัยซ้อนเร้นของทางรถไฟสายนี้ ”

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีหูจิ่นเทา ได้เริ่มเปิดให้ใช้ทางรถไฟมูลค่า 4,200 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา วิ่งระยะทาง 1,142 กิโลเมตรจากมณฑลชิงไห่ สู่เมืองหลวงลาซา ของทิเบต ซึ่งเป็นดินแดนที่สูงที่สุดในโลก

รถไฟสายนี้ ไต่ระดับความสูง 5,072 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ไปตามที่ราบลุ่มทิเบต โดยทางรถไฟดังกล่าว ใช้เทคนิคเฉพาะเพื่อประกันว่า ฐานน้ำแข็งจะยังคงแข็งตัวตลอด แต่หวังก็ชี้ว่า พายุทรายในเขตดังกล่าว เป็นมหันตภัยร้าย ที่สร้างความเสียหายแก่ทางรถไฟมากกว่าที่คาดไว้ ขณะที่กลุ่มวิศวกร ยังไม่สามารถหาทางป้องกันฝูงจามรี ออกจากเส้นทางได้ ซึ่งปัญหาข้างต้นล้วนส่งผลกระทบร้ายแรงแก่ผู้โดยสารรถไฟขบวนนี้

นักกาลวิทยา ซึ่งได้สำรวจสภาวะร้อนขึ้นของโลกเมื่อปีที่แล้วกล่าวว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้น จะทำให้ฐานน้ำแข็งของทางรถไฟละลาย แต่ไม่ได้กล่าวเกี่ยวกับการจมตัว และร้าวของฐานน้ำแข็ง

แต่ไชน่าเดลี่ อ้างความคิดเห็นของนักกาลวิทยาคนหนึ่ง ที่กล่าวในที่ประชุมปักกิ่ง เมื่อปีที่แล้วว่า ภายในปี 2050 ระบบความปลอดภัยของทางรถไฟชิงไห่ - ทิเบต จะได้รับผลกระทบหากอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม หวังไม่ได้ชี้แจงว่า กลุ่มวิศวกรจะจัดการกับปัญหาตรงนี้อย่างไร

ทั้งนี้ รัฐบาลมองทางรถไฟสายนี้ ในฐานะเครื่องมือสำคัญที่จะพัฒนา และปรับทิเบตไปสู่ความทันสมัย แต่ชาวทิเบตมองว่า มันจะเป็นเส้นทางนำชาวฮั่นไหลทะลักเข้าสู่ดินแดนหลังคาโลก และทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิมของท้องถิ่น
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42621
Location: NECTEC

PostPosted: 10/08/2006 12:03 am    Post subject: Reply with quote

เกาะรถไฟไปหลังคาโลก ( 1 )

ฐานเศรษฐกิจ 10 - 12 สิงหาคม 2549


ข่าวโทรทัศน์ในไทย รายงานข่าวภาคค่ำ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2549 ว่า " วันนี้ ประธานาธิบดี หู จินเทา ของจีน ได้เปิดเส้นทางการเดินรถไฟสายใหม่ " ชิงไห่ - ทิเบต " โดยลองโดยสาร และแวะพักชมสถานีรถไฟหลายแห่ง รวมทั้งที่พักคนงานก่อสร้างทางรถไฟ ที่เมืองโกล์มุดด้วย…."

นั่นเป็นข่าวเปิดเส้นทางเดินรถไฟสายประวัติศาสตร์สายใหม่เอี่ยมของจีน คนจีนตื่นเต้นกันทั้งประเทศ และทางรถไฟสายนี้ หู จินเทา ประธานาธิบดีขนานนามให้ว่า " ทางรถไฟมหัศจรรย์ " คิดว่า ที่จีนเลือกเปิดการเดินรถไฟสายใหม่ในวันนี้ ก็เพราะวันที่ 1 กรกฎคม เป็นวันครบรอบก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั่นเอง

จีนเปิดเดินรถไฟสายมหัศจรรย์ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2549 เรากลุ่มคนไทยคณะแรก จำนวน 31 คน โดย พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรี และอดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะ ได้เดินทางบนเส้นทางสายนี้ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2549

คณะวางแผน จะออกเดินทางจากกรุงเทพมหานคร วันที่ 9 กรกฎาคม 2549 โดยบินจากกรุงเทพมหานคร ไปลงที่เมืองเฉินตู เมืองหลวงของมณฑลเสฉวน จากนั้น บินต่อไปยังเมืองโกล์มุด ขึ้นกับมณฑลชิงไห่ จะค้างคืนที่นั่นหนึ่งคืน เพื่อให้ร่างกายปรับสภาพกับภูมิอากาศดินแดนแผ่นดินสูง เพราะเมืองโกล์มุด อยู่สูงกว่ายอดดอยอินทนนท์ที่สูงที่สุดในประเทศไทยอีกประมาณ 300 เมตร ยอดดอยอินทนนท์สูงประมาณ 2,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล รุ่งเช้า ค่อยจับรถไฟไปเมืองลาซา เมืองหลวงเขตปกครองพิเศษทิเบต ส่วนขากลับ จะขึ้นเครื่องบินมาลงที่เฉินตู แล้วต่อเครื่องบินเข้าเข้ากรุงเทพมหานคร วันที่ 14 กรกฎาคม 2549

การเดินทางเป็นไปตามแผน คือ บินไปลงที่เฉินตู ค้าง 1 คืน และเช้าแวะเที่ยวที่เฉินตู ก่อนจะบินไปยังเมืองโกล์มุด มณฑลชิ่งไห่ ในช่วงบ่าย ไปโกล์มุดใช้เวลาบินกว่า 3 ชั่วโมง เพราะแวะส่ง และรับคนโดยสารกลางทางที่ ซิหนิง เมืองหลวงของมณฑลชิ่งไห่ สนามบินที่ซิหนิง ยังดูใหม่เอี่ยมสวยแบบทันสมัย ส่วนสนามบินที่โกล์มุด ก็ใหม่เหมือนกัน แต่ออกแบบธรรมดาๆ ไม่เน้นหรูหรา

โกล์มุดเป็นเมืองใหม่อายุแค่ 20 ปีเศษๆ เดิมเป็นที่ตั้งค่ายทหาร ดูอะไรเป็นระเบียบเรียบร้อยไปหมด ถนนหนทางกว้างขวาง ผู้คนน้อยประมาณ 260,000 คน อากาศแห้งแล้ง ปีหนึ่งฝนตกไม่เกิน 7 หน รถราไม่ค่อยจะมีสักเท่าไหร่ ยกเว้นรถบรรทุกดูจะหนาตา เพราะเมืองนี้ เป็นเหมือนจุดสุดท้ายของพื้นที่ราบ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการปีนป่ายเขาขึ้นที่ราบสูงสู่ดินแดนทิเบต ถนนหลวง " ชิ่งไห่ไฮเวย์ " มีจุดเริ่มต้นที่นี่ ปลายทางอยู่ที่กรุงลาซา เมืองหลวงของเขตปกครองพิเศษทิเบต

รัฐบาลจีนกำหนดให้โกล์มุด เป็นฐานเดินรถไฟเชื่อมแผ่นดินใหญ่ กับที่เขตปกครองทิเบต จึงสร้างสถานีรถไฟใหญ่โตมโหฬาร แลดูโอ่อ่า ภูมิฐาน เดิม สถานีรถไฟโกล์มุด เป็นสถานีปลายทางเหมือนอยู่ท้ายซอย ส่วนชุมทางหลักในย่านนี้ จะอยู่ที่เมืองหลานโจว มณฑลเดียวกัน เดี๋ยวนี้โกล์มุด กลายเป็นเมืองใหม่ที่มีอนาคตไกล เพราะเป็นสามารถเชื่อมโยงกับทิเบต โดยทางรถยนต์ และรถไฟ กลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางย่อมๆ กระจายนักท่องเที่ยวไปทิเบต ไปยังเมืองตุ้นหวง มณทลชิงไห่ และแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงในมลฑลซินเจียง

คณะเราค้างคืนแบบหลับๆ ตื่นๆ ที่โกล์มุด เพราะเสียงหวูดรถไฟเจ้ากรรมที่อยู่ติดกับโรงแรม และต้องตื่นตอนตีสี่ เพื่อรับประทานอาหารเช้าเวลาตี่ห้า ให้เวลารับประทานอาหารประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนจะไปเช็คอินที่สถานีรถไฟ เวลา 06.20 น. เพราะเคาน์เตอร์เช็คอิน เปิดเวลา 06.30 น. ทั้งนี้ ตามกำหนดการเดินรถ รถไฟจะเข้าสถานีเวลา 07.02 น. เคลื่อนออกจากสถานีเวลา 07.22 น.

อากาศยามเช้าไม่เย็นเท่าไหร่ เรียกว่ากำลังดี แต่ตอนกลางคืนเย็นพอสมควร ต้องมีเสื้อหนาสวมทับ ซึ่งเดือนกรกฎาคม พระอาทิตย์ตกดินเวลาประมาณ 21 นาฬิกา 30 นาที เราเป็นกลุ่มแรกที่ไปรอคิวขึ้นรถไฟ รอไม่นาน เจ้าหน้าที่ก็เปิดประตูให้เข้าไปในอาคาร สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ตรวจเอ็กซ์เรย์กระเป๋าเดินทาง คนก็ต้องผ่านช่องตรวจเหมือนขึ้นเครื่องบินไม่มีผิด แถมถามหาหนังสือเดินทางด้วย หลังผ่านด่านตรวจไปแล้ว คณะเราก็มุ่งหน้าสู่ชานชาลา เพราะกำหนดการเดินรถ จะเดินทางออกจากสถานีแห่งนี้ เวลา 07:22 น. เรามีเวลาเหลือไม่มากเท่าไหร่ ทุกอย่างต้องเร่งรีบ เนื่องจากรถไฟจะจอดรับคนโดยสารโดยให้เวลาขึ้นรถเพียง 20 นาที สิ่งของสัมภาระของแต่ละคนล้วนแต่กระเป๋าใบใหญ่ทั้งนั้น มากันก็หลายคน ถ้าไม่ตระเตรียมให้ดีๆ อาจจะเสียการได้

แต่แล้วทุกอย่างก็ไม่ได้เป็นไปตามแผน เพราะรถไฟมาช้ากว่ากำหนด และไม่รู้ว่าจะมาถึงเมื่อไหร่ด้วย เจ้าหน้าที่ไม่ได้ปล่อยให้ขึ้นไปเดินเล่นที่ชานชาลา เขากักบริเวณไว้ในอุโมงค์ทางเดิน เราถูกกักอยู่นานถึงชั่วโมงครึ่ง ถึงจะได้ขึ้นชานชลา ทัวร์จีนที่เข้ามาทีหลังหลายกลุ่ม ก็โดนกักบริเวณเหมือนกัน

ความจริงเขาก็มีเหตุผลที่ไม่ปล่อยให้ขึ้นไปบนชานชาลา เหตุผลที่ว่าก็คือ ไม่ต้องการให้ผู้โดยสารไปอยู่ปะปนกัน เพราะสถานีแห่งนี้ไม่ใช่แค่ส่งคนขึ้นไปทิเบตเท่านั้น เขาก็มีรถไฟไปหลันโจว ไปปักกิ่งด้วย เรื่องก็มีอยู่เท่านี้

หลักปฏิบัติการขึ้นรถไฟของที่นี่ เขาจะเปิดให้เช็คอิน ก่อนเวลารถไฟออก 40 นาที ซึ่งเวลาขนาดนี้ รับรองว่าทันถมเถ ตั้งแต่ตรวจเช็คกระเป๋า ไปจนถึงหิ้วกระเป๋าขึ้นรถไฟ ไปก่อนก็ต้องรอให้ประตูเปิด ไปหลังก็อาจจะพลาด แต่ก็มีปัญหาว่า ถ้ามากันเป็นกลุ่ม 20 - 30 คน เวลาเท่านี้จะพอจริงหรือ คิดว่าอีกไม่นานเขาคงจะปรับปรุง เพราะถ้ามารุมกันขึ้นที่นี่หลายร้อยคนพร้อมๆ กัน แล้วจะเช็คอิน ทันเสียที่ไหน

เอาหล่ะ ! รถไฟจะมาแล้ว เขาปล่อยให้เดินขึ้นไปรอที่ชานชาลาได้ ที่บอกเดินขึ้นไป ก็เนื่องมาจากตัวสถานีหลัก เขาจะยกระดับสูง ที่เรามาโถงรถไฟของจริงยังทำไม่เรียบร้อย เลยให้มาใช้ " ทางออก " เป็นทางเข้าสถานีเป็นการชั่วคราว ดีใจที่หลุดพ้นออกมาจากอุโมงค์ได้เสียที โดนกักอยู่ราวชั่วโมงครึ่ง พอออกมารับอากาศสบายๆ แสงแดดอ่อนๆ คลุกด้วยเสียงเพลงจีนจากปากลำโพงแตร กระตุ้นให้ชีวิตที่เหนื่อยหน่ายตื่นตัวขึ้นมาอีกครั้ง แต่ก็ยืนรอรถไฟอยู่พักใหญ่ รถไฟถึงจะมาเทียบชานชาลา คราวนี้ตื่นเต้น และโกลาหลทั้งไทย - จีน เชื่อไหม แค่ชั่วพริบตา ลานชานชาลาเตียนโล่งคนเป็นร้อย เพราะคน และสัมภาระ ถูกดูดเข้ารถไฟไปจนหมดเกลี้ยง

ในตั๋วรถไฟ เขาระบุชัดอยู่แล้วว่า ตั๋วที่นั่งเบอร์นั้น เบอร์นี้ ต้องขึ้นโบกี้ หรือตู้รถไฟ เลขที่เท่าไหร่ ไปยืนรอให้ถูกช่อง จะได้ไม่เสียเวลา แต่ดูเหมือนว่า คนที่ไหนก็เหมือนกันทั้งโลก ต้องมีพวกไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ปะปนมาเสมอ คณะเรารอขึ้นรถถูกล็อคถูกตู้ แต่ต้องติดกันเป็นแถว เพื่อหลบให้พวกหลงตู้เดินสวนทาง กว่าจะลงตัว รถไฟก็เคลื่อนขบวนไปไกลจากสถานีแล้ว เสียงหวูดรถไฟดังแหวกอากาศ รถไฟเคลื่อนตัวด้วยหัวจักรดีเซล เสียงเอกลักษณ์ของรถไฟยังไม่เปลี่ยนแปลง ดังกึงกักงๆ เป็นระยะ อัตราความเร็วไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับทางลาดชันแค่ไหน ส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 60 - 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตอนนี้กำลังเก็บข้อมูล เดิมปักกิ่ง - ลาซา คาดว่าใช้เวลาเดินทาง 47 ชั่วโมง เอาเข้าจริงๆ 57 ชั่วโมง และนี่ก็ยังไม่แน่นอน ตลอดเส้นทางมีจอดแช่สับหลีกเป็นบางครั้ง

ระยะทางจากโกล์มุด - ลาซา ประมาณ 1,142 กิโลเมตร จุดสูงสุดของทางรถไฟอยู่ที่ระดับ 5,072 เมตร ลอดอุโมงค์ที่อยู่ระดับสูงยาวที่สุดในโลก คือ อุโมงค์คุนลุน ยาว 1,686 เมตร ทางรถไฟช่วงที่มีโอกาสถูกหิมะปกคลุม ใช้รางเหล็กจากเยอรมนีป้องกันรางยืดหด ในช่วงเดือน - สองเดือนแรก จะเดินรถวันละเที่ยว และหลังจากมีข้อมูลการเดินรถที่ชัดเจนแล้ว จะเดินรถวันละ 3 เที่ยวเป็นอย่างน้อย สามารถนำผู้โดยสารขึ้นไปลาซาได้วันละ 4,000 คน สถานีต้นทางมาจากปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว เฉินตู ฉงชิ่ง หลานโจว ซิหนิง และนั่งสั้นสุดก็ที่โกล์มุด เงินลงทุนประมาณ 2 แสนล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี

เปิดให้จองตั๋วไม่ถึง 2 สัปดาห์ ห้องจำหน่ายตั๋วที่ซิหนิงพัง เพราะคนจองตั๋วไม่ได้อาละวาด ! เขาให้จองอย่างน้อยกลุ่มละ 4 ใบหรือเดินทาง 4 คน แต่ต่อไป คงขายตั๋วเดี่ยวด้วย ตอนนี้คงจองยาก เพราะตั๋วเต็มยันสิ้นปีแล้ว ถ้า " เจาะ " ดีๆ เอเย่นต์ทัวร์จีนคงจะพอหาตั๋วให้ได้ หวังว่าอย่างนั้น !!

โปรดติดตามอ่านต่อฉบับหน้า
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42621
Location: NECTEC

PostPosted: 12/08/2006 7:50 pm    Post subject: Reply with quote

China to extend Tibetan rail link
BBC News -

Click on the image for full size

The railway, which opened in July 1, 2006, is the world's highest China's government plans to extend its new Tibetan rail link to reach the region's second-biggest city, Xigaze, according to China's state news agency. The existing track opened in July, and connects Tibet's capital Lhasa to Qinghai, and from there to Beijing.

It has already caused controversy. The government says it will help the region but critics fear increased control.

They also say the railway line threatens both the delicate Himalayan environment and Tibetan culture.

' Great opportunities '

The line to Xigaze will extend the railway by some 270km (170 miles) and should be completed within three years, the state news agency Xinhua reports.

"The railway will offer great opportunities for the social and economic development of Xigaze," local official Yu Yungui told Xinhua.

The announcement of an extension to the line comes just a month after the completion of the 1,140km (710 mile) line from Golmud, in Qinghai province, to Lhasa.

This line - the world's highest - boasts high-tech engineering to stabilise tracks over permafrost, and sealed cabins to protect passengers from the high altitude.

Xigaze lies near the Indian border, and is the traditional seat of the Panchen Lama, a key spiritual leader.

In July, China and India reopened a once-important trade route over the Himalayas at the Nathu La pass.

Officials said the improved infrastructure links would lift trade between the two countries, and develop Tibet's local economy.
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> เกี่ยวกับรถไฟต่างประเทศ All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3, 4 ... 15, 16, 17  Next
Page 3 of 17

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©