Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai.Com

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311279
ทั่วไป:13260468
ทั้งหมด:13571747
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - เรื่องจากประวัติศาสตร์ : สะพานพระราม ๖
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

เรื่องจากประวัติศาสตร์ : สะพานพระราม ๖
Goto page 1, 2, 3, 4, 5  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงสร้างทางวิศวกรรมที่เกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 11/02/2008 9:28 am    Post subject: เรื่องจากประวัติศาสตร์ : สะพานพระราม ๖ Reply with quote

สวัสดีครับ.....

ช่วงนี้ ผมติดภาระย้ายที่ทำการแขวงครับ ใช้เวลาตั้งเดือนหนึ่งแล้ว ยังไม่เข้าที่เข้าทางสักเท่าใดนัก คงทำได้แต่หาของแห้งของดองมาเล่าสู่กันฟังไปพลางๆ ก่อนนะครับ Laughing คงไม่ถึงกับมีรสชาติจืดชืด แห้งแล้ง ไร้สีสันแต่ประการใด ถ้าหากนึกถึงช่วงบรรยากาศในวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๙ ( ปีใหม่ของไทยในขณะนั้นตรงกับวันที่ ๑ เมษายน ของทุกปี ) ซึ่งองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้ทรงประกอบพระราชพิธีเปิดใช้สะพานรถไฟที่นับว่าเป็นสะพานรถไฟขนาดใหญ่ สวยงามจนเป็นภาพพิมพ์ลงในโปสการ์ด และมีความยาวที่สุดในประเทศสยามขณะนั้น

ใช่แล้วครับ “ สะพานพระราม ๖ ” นั่นเอง

สำหรับสำหรับเรื่องราวเกี่ยวกับสะพานพระราม ๖ ที่จะนำเสนอในครั้งนี้ คัดมาจากเอกสารประวัติศาสตร์ของกรมรถไฟหลวง เมื่อครบรอบ ๕๐ ปี ซึ่งขุดมาโดย คุณวิศรุต ( Witsarut ) ที่ไปหมกมุ่น ค้นคว้า ขุดคุ้ยจนกระทั่งสำนวนการเขียนลงในกระทู้ต่างๆ กลายเป็นภาษารุ่นคุณปู่ คุณทวดไปหมดแล้ว Laughing และได้นำสำเนามาเก็บไว้ที่ คุณบอมบ์ ( Civil Spices ) ให้ผมมาเล่าต่ออีกครั้งหนึ่ง ก็ขอขอบคุณทั้งสองท่านในฐานะเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญในประวัติศาสตร์รถไฟไทยมา ณ โอกาสนี้

สำหรับถ้อยคำสำนวนที่นำมาเล่าสู่กันฟังนั้น คงปล่อยไว้ตามต้นฉบับเดิม จากการบอกเล่าของ หม่อมราชวงศ์กาจกำยำ สวัสดิกุล สำนักงานเลขานุการกรม ฝ่ายธุรการ กรมรถไฟ ครั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐ และเอกสารอื่นๆ เพิ่มเติม ตามหมายเหตุระบุไว้ท้ายเรื่อง ขอเชิญติดตามได้เลยครับ

............................................

การสร้างสะพานพระราม ๖
หม่อมราชวงศ์กาจกำยำ สวัสดิกุล
สำนักงานเลขานุการกรม ฝ่ายธุรการ


Click on the image for full size

ราชอาณาจักรไทยตั้งอยู่ในบริเวณเขตต์มรสุมซึ่งพัดผ่านเข้ามาจากคาบมหาสมุทรอินเดียและทะเลจีนเหนือจึงเป็นเหตุให้มีฝนตกมาก ปริมาตรของน้ำฝนที่ตกสู่พื้นธรณีตามภูมิภาคต่างๆ เท่าที่สามารถวัดได้ในปีหนึ่งๆ มีจำนวนประมาณ ๔๐ – ๑๐๐ นิ้ว แล้วแต่ท้องถิ่น เมื่อเป็นเช่นนี้ ในพื้นที่ภูมิภาคทั่วๆ ไป จึงมีลำธาร คลอง และแม่น้ำเกิดขึ้นหลายสาย เพื่อระบายน้ำให้ไหลลงไปสู่ทะเล การวางแนวทางและการก่อสร้างทางรถไฟให้ผ่านไปตามพื้นที่ภูมิประเทศที่มีฝนตกมากเป็นที่ลุ่มกระแสน้ำไหลเชี่ยวก็จำเป็นต้องฝังท่อระบายน้ำไว้ภายใต้ หรือสร้างสะพานไว้ที่นั่นเพื่อให้ขบวนรถข้ามไปยังถิ่นที่ประสงค์ได้โดยสะดวก

ฉะนั้น เมื่อโดยสารรถไฟออกจากกรุงเทพฯ ไปยังภาคเหนือ ภาคอิสาน ภาคตะวันออก และภาคใต้ หรือจากภูมิภาคต่างๆ เข้ามาสู่กรุงเทพฯ ตามระยะทางที่ขบวนรถผ่านไปมาตลอดทุกสายนั้น จะเห็นสะพานชนิดและขนาดต่างๆ กันมีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งได้จัดสร้างไว้ให้มีปริมาณพอเพียงแก่ความจำเป็น ในบรรดาสะพานรถไฟเหล่านั้น มีสะพานรถไฟแห่งหนึ่ง ซึ่งนับได้ว่าเป็นสะพานรถไฟที่สำคัญที่สุด เพราะมีขนาดใหญ่และยาวกว่าแห่งอื่นๆ ที่ได้สร้างขึ้นในราชอาณาจักรไทย สะพานรถไฟที่กล่าวถึงนี้ คือ “ สะพานพระราม ๖ ” ปรากฎการเกี่ยวกับความสำเร็จในการก่อสร้างสะพานรถไฟที่เป็นสง่างามแก่กรุงเทพฯ อันเป็นนครหลวงแห่งนี้อาจกล่าวได้ว่า มีรากฐานแห่งการงานใหญ่เกี่ยวกับการส่งเสริมและฟื้นฟูการคมนาคมในราชอาณาจักรซึ่งเป็นชิ้นสำคัญยิ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชชกาลที่ ๖ ) ผู้ทรงโปรดเริ่มริสร้างไว้เป็นสาธารณประโยชน์แก่อาณาประชาราษฎร และยังเป็นนิมิตรแสดงให้ประจักษ์ความก้าวหน้าแห่งกิจการสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่กรมรถไฟได้อนุวรรตน์และจัดให้บริการมาแล้วในอดีตสมัย

การสถาปนาสะพานพระราม ๖ นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์ว่า ทางรถไฟหลวงในสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยา มีขนาดกว้างของทางผิดกัน ทั้งรูปส่วนของรถจักรและล้อเลื่อนที่มีใช้อยู่ก็ไม่เหมือนกัน เป็นเหตุทำให้ต้องสะสมเครื่องอะไหล่สำรองไว้หลายสิ่งหลายอย่างมากนัก เป็นการสิ้นเปลืองเงินแผ่นดินปีละหลายล้านบาท จึงเพื่อดำเนินพระราโชบายให้สำเร็จ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟจัดการแก้ไขทางรถไฟหลวงฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นทางขนาด ๑.๔๓๕ เมตร เปลี่ยนเป็นทางขนาด ๑.๐๐ เมตร เช่นเดียวกับทางรถไฟฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาทั่วราชอาณาเขตต์ และจัดการเชื่อมทางรถไฟหลวงทั้ง ๒ ฟากให้ติดต่อกันโดยวิธีสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้ขบวนรถไฟและยวดยานพาหนะอื่นๆ ได้สัญจรติดต่อถึงกันได้สะดวก เป็นประโยชน์แก่อาณาประชาราษฎร ที่จะเดินทางไปมาและบรรทุกส่งสินค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นทางเชื่อมการคมนาคมกับประเทศใกล้เคียงให้ได้รับความสะดวกดียิ่งขึ้นอีกด้วย อาทิ เช่น จากสิงคโปร์ไปยังจังหวัดเชียงใหม่ สุดทางสายเหนือของราชอาณาจักรไทย ผู้โดยสารอาจเดินทางไปถึงได้ตลอดโดยมิต้องทำการถ่ายขบวนรถเลย เป็นต้น


Last edited by black_express on 11/02/2008 5:09 pm; edited 3 times in total
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 11/02/2008 9:54 am    Post subject: Reply with quote

Click on the image for full size

เมื่อการพิจารณาเลือกเฟ้นลักษณะภูมิประเทศที่เป็นจุดจะสร้างสะพานได้ตกลงแน่นอนแล้วว่า จะใช้ตำบลบางซ่อน ทางฟากตะวันออก ณ บริเวณวัดสร้อยทอง ในเขตต์จังหวัดพระนคร ตัดข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาตรงไปยังฟากตะวันตก ณ บริเวณเหนือวัดละมุด ในเขตต์จังหวัดธนบุรี แม่น้ำเจ้าพระยาตอนนี้กว้างประมาณ ๓๐๐ เมตร การจัดซื้อที่ดินตามประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์สร้างทางรถไฟต่อสายรถไฟหลวงฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา ลงวันที่ ๑๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๒ และการสร้างทางได้เริ่มกระทำพร้อมกัน ตั้งแต่วันที่ ๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๖๓ เป็นต้นมา การสร้างทางโดยพูนดินถมทางและวางรางนั้น วิศวกรรถไฟได้เริ่มกระทำแยกจากทางรถไฟหลวงสายเหนือที่ชุมทางบางซื่อ ( ก.ม.๘ จากสถานีกรุงเทพฯ ) ให้ไปบรรจบกับทางรถไฟสายใต้ตรง ก.ม.๖.๓๓๖ ( นับจากสถานีธนบุรี ) ระยะทางที่กระทำการสร้างรวมทั้งบนสะพานและทางติดต่อคำนวณได้ ๑๕ กิโลเมตร ส่วนการสร้างตัวสะพาน เมื่อออกประกาศเรียกประมูลโดยเฉพาะบริษัทแล้ว รัฐบาลได้ตกลงทำสัญญาจ้างบริษัท เล เอสตาบริสม้องต์ ไดย์เด แห่งกรุงปารีสเป็นผู้ดำเนินการสร้างโดยวิศวกรและเครื่องมืออันทันสมัย มีวิศวกรรถไฟไทยเป็นผู้ควบคุม ดูแลให้กิจการดำเนินไปโดยถูกต้องตามวิธีการสร้างและเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งระบุไว้ในสัญญาการก่อสร้าง

Click on the image for full size

บริษัทผู้รับเหมาได้เริ่มทำการก่อสร้างสะพานแห่งนี้ตั้งแต่เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๖๕ เป็นต้นมา ในขั้นแรกได้จัดการก่อรากสะพานโดยวิธีเครื่องอัดอากาศลงไปขุดดินจากพื้นแม่น้ำ แล้วสร้างตะม่อคอนกรีตไว้ ๖ แห่ง คือ ริมตลิ่งทั้ง ๒ ฟากๆ ละ ๑ แห่ง มีรากฐานต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ๑๕ เมตร และกลางแม่น้ำ ๔ แห่ง มีรากฐานต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ๒๗ เมตร เว้นระยะไว้ให้ห่างกันตามที่คำนวณไว้ เมื่อการทำตะม่อคอนกรีต ๖ แห่งเสร็จแล้ว ก็เริ่มวางจานรองมีลูกกลิ้งบนตะม่อคอนกรีตนั้นแห่งละ ๑ ชุด เพื่อประโยชน์ในการรับน้ำหนักสะพานที่วางพาดไป

Click on the image for full size

เมื่อการก่อสร้างส่วนล่างสำเร็จแล้ว จึงเริ่มไสโครงเหล็กสะพานส่วนบนที่ประกอบไว้พร้อมสรรพแล้ว ณ เบื้องหลังตะม่อคอนกรีตริมตลิ่งทั้งสองฟากให้เลื่อนเข้าที่ แล้วก็เริ่มประกอบโครงเหล็กบนปลายคานลอย ๓ แห่งให้บรรจบสนิทเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตั้งแต่เริ่มการก่อสร้างสะพานนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมนามาภิไธยเป็นนามสะพานไว้ว่า “ สะพานพระราม ๖ ” เพื่อเป็นอนุสสาวรีย์แห่งรัชชสมัยของพระองค์


Last edited by black_express on 11/02/2008 1:21 pm; edited 1 time in total
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 11/02/2008 9:56 am    Post subject: Reply with quote

Click on the image for full size

สะพานที่สร้างนี้ เป็นสะพานเหล็กชนิดคานลอย มีสัณฐานคล้ายรูปสมอแบ่งเป็น ๕ ช่อง ๆ กลางของสะพานยาว ๑๒๐ เมตร มีคานลอยทอดไป ๒ ข้างๆ ละ ๔๑.๕๐ เมตร มีโครงเหล็กยาว ๓๗ เมตร วางประสานในตอนกลาง ช่องใกล้ช่องช่องกลางทั้งสองด้านยาว ๘๔ เมตร และช่องสุดท้ายทั้งสองด้านยาว ๗๗.๐๔ เมตร แต่ละด้านมีคานลอยทอดไปข้างละ ๔๑.๕๐ เมตร และประกอบด้วยโครงเหล็กยาว ๓๕.๕๐ เมตรวางประสานไว้ รวมความยาวของสะพานคำนวณได้ ๔๔๒.๐๘ เมตร แบ่งเตรียมไว้ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะสำหรับทางหลวงกว้าง ๕ เมตร เพื่อให้ยวดยานทุกชนิดผ่านได้ อีกส่วนหนึ่งเป็นทางรถไฟ นอกจากนี้ยังมีทางเท้าไว้สองข้างสะพาน แต่ละข้างกว้าง ๑.๕๐ เมตร

Click on the image for full size

ภายใต้คานใหญ่ของสะพานวางไว้สูงกว่าระดับน้ำสูงสุดในแม่น้ำตอนนี้ ๘ เมตร เพื่อให้เรือขนาดต่างๆ แล่นลอดขึ้นล่องได้โดยสะดวก สะพานพระราม ๖ นี้ ใช้เวลาทำการก่อสร้าง ๔ ปี จึงสำเร็จเรียบร้อย ปริมาณคอนกรีตที่ใช้ในการนี้คำนวณได้ประมาณ ๑๗,๔๓๓ ม.ล.บ. และน้ำหนักโครงเหล็กสะพานประมาณ ๒๖.๓๑ ตัน ราคาค่าก่อสร้างทั้งสิ้นเป็นเงิน ๒,๗๘๔,๑๑๓ บาท

( โครงสะพานช่วงที่เว้นให้เป็นทางหลวงนั้น ยังไม่ได้สร้างส่วนที่เป็นสะพานรถยนต์ จนกระทั่งซ่อมสร้างสะพานใหม่ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ )


Last edited by black_express on 11/02/2008 1:28 pm; edited 3 times in total
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 11/02/2008 10:00 am    Post subject: Reply with quote

Click on the image for full size

เพื่อให้พศกนิกรชาวไทยระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางราชการจึงกำหนดให้ประกอบพระราชพิธีเปิดใช้สะพานพระราม ๖ ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๙ อันเป็นดิถีคล้ายวันพระราชสมภพ

จึงในวันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๙ เวลาบ่าย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชชกาลที่ ๗ ) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีเปิดใช้สะพานพระราม ๖ ที่เสร็จการก่อสร้างแล้วนี้ โดยเสด็จพระราชดำเนินจากพระราชสฐาน ไปประทับบนขบวนรถไฟพิเศษซึ่งกรมรถไฟได้จัดไว้เป็นรถพระที่นั่งถวายที่สถานีหลวงจิตรลดา ขบวนรถพระที่นั่งออกจากที่นั้นไปตามทางสายเหนือ ถึงบริเวณสะพานพระราม ๖ หยุดรถพระที่นั่ง แล้วเสด็จลงจากรถเข้าสู่พลับพลาซึ่งจัดไว้เป็นที่ประกอบพระราชพิธี ประทับบนราชอาสน์ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพร้อมกัน

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงคมนาคม และผู้บัญชาการรถไฟหลวง อ่านรายงานในการเปิดสะพานพระราม ๖ กราบบังคมทูลพระกรุณา

........................

คำกราบบังคมทูลรายงานในการเปิดสะพานพระราม ๖

ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

การคมนาคมในสยามประเทศนี้ แต่เดิมมาใช้แม่น้ำลำคลองในที่ราบ และทางต่างทางเกวียนในที่ภูเขา สมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรเห้นการล่วงหน้าว่า การคมนาคมสำหรับผู้โดยสารและการบรรทุกส่งสินค้า ถ้าได้รวดเร็วทันเวลาสินค้าราคาขึ้น ทั้งเมื่อได้ลดค่าระวางบรรทุกส่งน้อยลงแล้ว จะเปิดอกาสให้การค้าขายของพ่อค้าในประเทศเจริญยิ่งขึ้น จึงได้เริ่มประกาศรัฐประศาสโนบายตั้งแต่งเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล เริ่มก่อสร้างทางรถไฟหลวงตั้งแต่ปีพระพุทธศักราช ๒๔๓๔

ครั้นในรัฐสมัยแห่งสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเปลี่ยนกระทรวงโยธาธิการ เปนกระทรวงคมนาคม เมื่อปีพระพุทธศักราช ๒๔๕๕ ปลดเปลื้องกิจการโยธาอื่นๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในกระทรวงสอดส่องการคมนาคมโดยเฉพาะ พระราชอาณาจักรภาคใดที่การบรรทุกสินค้ายังแพงเกินอยู่ ก็ให้รีบรัดจัดให้ดำเนิรได้รวดเร็วและถูกเงินลง ครั้นต่อมาได้ทรงตั้งสภาเผยแผ่พาณิชย์ขึ้น ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีเจ้าหน้าที่คมนาคมประจำตำแหน่งเปนกรรมการในสภานั้นด้วย โดยที่ทรงตระหนักในพระราชหฤทัยว่า การคมนาคมเปนเครื่องมืออันใหญ่ของรัฐบาลที่เผยแผ่พาณิชย์ เปนพยานแห่งพระบรมราโชบายอันสุขุม ที่จะนำไปสู่ประโยชน์ของประเทศและประชาชนทั้งสิ้น

ในปลายรัชกาลที่ ๕ มีทางรถไฟหลวงที่เปิดให้ประชาชนใช้เดินทางและบรรทุกส่งสิ่งของไปมายาว ๙๓๒ กิโลเมตร์ และในระหว่างก่อสร้างอีก ๖๙๐ กิโลเมตร์ ในปลายรัชกาลที่ ๖ มีทางรถไฟที่เปิดให้ประชาชนใช้ถึง ๒๕๘๑ กิโลเมตร์ คือ เพิ่มจากรัชกาลก่อน ๑๖๔๙ กิโลเมตร์ และในระหว่างก่อสร้างอีก ๔๙๗ กิโลเมตร์ เพื่อให้กิจการสำเร็จไป ดั่งนี้ต้องเพิ่มทุนขึ้น ๑๐๑ ล้านบาท และเมื่อสมทบกับทุนเก่าที่มีอยู่ ๕๙ ล้านบาท จึ่งเปนเงินทุนค่าใช้จ่ายสร้างรถไฟ ๑๖๐ ล้านบาท เมื่อเทียบเงินทุนซึ่งเพิ่มขึ้นเปน ๑๗๑ เปอร์เซนต์จากทุนเดิม กับทางซึ่งเปิดเปนประโยชน์เพิ่มขึ้น ๑๗๗ เปอร์เซนต์ และเมื่อเทียบกับรายรับเมื่อต้นรัชกาลที่ ๖ เคยได้ ๔,๕๒๖,๗๖๕ บาท และปลายรัชกาลที่ ๖ ได้ ๑๖,๑๑๗,๒๐๓ บาท เพิ่มขึ้น ๒๕๖ เปอร์เซนต์ และรายรับเมื่อหักรายจ่ายแล้ว เพิ่มขึ้น ๗,๐๖๒,๗๒๒ บาท หรือ ๒๕๘ เปอร์เซนต์ ก็แลเห็นได้ว่า การที่เพิ่มทุนทำทางขึ้นนั้น นำมาซึ่งผลประโยชน์ให้แก่รัฐบาลและประชาชนที่ได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้นโดยไม่ต้องลงทุนแพงเกินส่วน และได้ผูกโยงแว่นแคว้นพระราชอาณาจักร์ทั่วทุกทิศให้ติดต่อกับพระมหานครกับผูกพันธ์ทางพระราชไมตรีกับประเทศใกล้เคียงเดินขบวนรถติดต่อกันโดยความสะดวก แผ่พระบารมีและพระมหากรุณาธิคุณไปนอกประเทศ

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้ทรงพระราชดำริห์ว่า ทางรถไฟในสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาขนาดกว้างของทางผิดกัน รูปส่วนของรถจักรและล้อเลื่อนซึ่งใช้บนทางผิดกันอยู่ทั้งสิ้น ทำให้จำเปนต้องสะสมเครื่องอะไหล่ไว้หลายสิ่งหลายอย่างมากนัก และการใช้เครื่องอะไหล่นี้ก็เปนเงินปีละหลายล้านบาท ถ้าแม้ได้ใช้รถจักรและล้อเลื่อนให้เปนขนาดเดียวกันแล้ว การสะสมเครื่องอะไหล่ก็จะน้อยลง และนอกจากนั้นโรงงานสำหรับซ่อมแก้ไขเครื่องใช้ก็จะตั้งอยู่ในศูนย์กลาง คือในกรุงเทพพระมหานครแห่งเดียว ไม่จำเปนต้องมีสองแห่งสำหรับรถ ๒ ชนิด ๒ ขนาด

แต่เพื่อดำเนิรพระบรมราโชบายให้สำเร็จ จำเปนที่จะต้องเชื่อมทางรถไฟในฝั่งตวันออกแห่งแม่น้ำเจ้าพระยากับรถไฟสายใต้ให้ติดต่อกันโดยวิธีที่สะดวกที่สุด

เจ้าหน้าที่ได้รับพระบรมราชโองการมาคำนวณถึงหนทางดำเนิรการต่างๆ ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาว่าการสร้างสะพานเปนถาวรและสะดวกที่สุด จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลบางซ่อนนี้ สะพานนี้มี ๕ ช่อง เรียงตามลำดับกันไป ช่องที่ ๑ ยาว ๗๗.๘๐ เมตร์ ช่องที่ ๒ ยาว ๘๔ เมตร์ ช่องที่ ๓ ยาว ๑๒๐ เมตร์ ช่องที่ ๓ ยาว ๘๔ เมตร์ ช่องที่ ๕ ยาว ๗๗.๘๐ เมตร์ รวมความยาวของสะพาน ๔๔๓.๖๐ เมตร์ ขนาดกว้างของสะพานนั้น ๑๐ เมตร์ ปันเตรียมไว้ส่วนหนึ่งสำหรับเปนทางหลวง ให้ยวดยานทุกชนิดผ่านได้กว้าง ๕ เมตร์ อีกส่วนหนึ่งเปนทางรถไฟ กับนอกจากนี้ มีทางคนเดินท้าวสองข้างสะพาน ข้างหนึ่งกว่าง ๑ เมตร์ครึ่ง รากสะพานก่อด้วยวิธีห้องอัดลมโดยลึกวัดจากระดับน้ำปรกติ ๒๙.๐๒ เมตร์ บริษัท Les Establissement Dayde’ ซึ่งตั้งอยู่ที่ปารีศ และโรงงานอยู่เครยล์ ในประเทศฝรั่งเศส ได้รับเหมาทำการก่อสร้างด้วยนายงานและเครื่องมืออันพิสดาร ได้เริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ แล้วเสร็จบริบูรณ์ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ ส่วนการดินถมทางเชื่อมต่อสายรถไฟทั้งสองนั้น เจ้าพนักงานในกรมรถไฟหลวงได้สร้างและวางรางตั้งแต่ชุมทางบางซื่อถึงชุมทางตลิ่งชัน เปนระยะทาง ๑๔ กิโลเมตร์ รวมทั้งสะพานและทางติดต่อ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมนามาภิธัยเปนนามสะพานนี้ไว้ตั้งแต่เริ่มการก่อสร้างว่า สะพานพระราม ๖ เพื่อเปนที่ระลึกแห่งรัชสมัย พระราชปรารภมุ่งหมายที่จะพระราชทานความสะดวกแก่อาณาประชาราษฎร์ในการคมนาคม

ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ได้ทรงพระราชดำริห์สอดคล้องกับพระราชดำริห์ของสมเด็จพระมหากษัตราธิราชทั้งสองพระองค์ในการบำรุงประชาราษฎร์ ได้เสด็จพระราชดำเนิรมาทอดพระเนตร์สะพานนี้ในเวลาก่อสร้าง ตั้งแต่ก่อนเสวยราชสมบัติตลอดจนเวลาที่ได้เสวยราชสมบัติแล้ว ก็ได้ทรงพระราชอุตสาหะเสด็จมาทอดพระเนตร์เวลาเคลื่อนเหล็กสะพานออกสู่ที่ แสดงให้เห็นว่าได้ทรงสอดส่องกิจการแผ่นดินและทรงมุ่งหวังถึงความเจริญมั่งคั่งผาสุกแห่งประชาชนเปนเบื้องต้น เปนที่หวังร่มเย็นแก่ชนชาวสยามและชาวต่างประเทศซึ่งมาอาศัยพระบรมโพธิสมภาร

วารนี้ คล้ายวันพระราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่เตรียมการและเสด็จพระราชดำเนิรมาถึงสะพานนี้ เพื่อเปิดให้เริ่มใช้ในราชการตั้งแต่บัดนี้ไป

ข้าพระพุทธเจ้าและเจ้าหน้าที่ทั้งหลาย มีความชื่นชมโสมนัสในเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งแสดงประจักษ์แก่ตาโลกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัสของชนชาวสยาม ได้ทรงสอดส่องสุขทุกข์ของราษฎร และความเจริญของแผ่นดิน โดยพระองค์เองมิได้ทรงย่อท้อที่จะดำเนิรกิจราชการไปเพื่อสันติสุขของประชาชน ด้วยผลานิสงส์แห่งพระราชหฤทัยอันมั่นคง ขอคุณพระศรีรัตนตรัยจงคุ้มครองรักษาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอให้สิ่งซึ่งเปนประธานในสกลโลก จลดลพระราชหฤทัยให้พระปรีชาญาณสอดส่องไปในทางซึ่งล้วนชอบด้วยทางการ เพื่อความสุขความสำราญแห่งสยามรัฐชนบท ราชกิจทั้งหมดจงเปนผลสำเร็จสมดังพระราชประสงค์ ขอจงทรงมีพระชนม์ยืนยาว ทรงพระสิริสวัสดิ์ยั่งยืนในราชสมบัติ ปราศจากอุปัทวันตรายทั้งปวง ราชศัตรูหมู่ดัษกรจงเกรงขามพ่ายแพ้พระบารมีทุกเมื่อ

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ


.........................

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระกระแสร์พระราชดำรัสตอบพอสมควร

.........................

พระราชดำรัสในการเปิดสะพานพระราม ๖

เรามีความยินดีเปนอันมากที่ได้มาในการพิธีเปิดสะพานพระราม ๖ ในวันนี้ ซึ่งนับว่าเปนวันสำคัญของบ้านเมืองวันหนึ่ง ตามที่เสนาบดี ผู้บัญชาการกรมรถไฟได้ทรงกล่าวว่า การคมนาคมนั้นเปนพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ที่ทรงทอดพระเนตร์เห็นการล่วงหน้าได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างทางรถไฟขึ้นเปนครั้งแรกในรัชชกาลของพระองค์ อันนับเปนปฐมแห่งการคมนาคมส่วนใหญ่ของกรุงสยาม และมีความเจริญขึ้นเปนลำดับมาจนถึงรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทวีการยิ่งขึ้นอีกจนได้ทางยาวกว่าเก่าหลายเท่า ทั้งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานพระราม ๖ นี้ขึ้น เพื่อเชื่อมต่อทางรถไฟสายเหนือสายใต้ทุกทางให้เดินติดต่อกันได้ทุกทิศนั้น เราเห็นเปนพระราชกรณีย์กิจ และพระราโชบายอันประเสริฐยิ่งของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมุ่งพระราชหฤทัยที่จะสถาปนาบ้านเมืองให้เจริญยิ่งขึ้นนั้นหลายอย่างหลายประการเหลือที่จะพรรณนา การสร้างสะพานพระราม ๖ ซึ่งพึ่งแล้วเสร็จลงและจะเปิดใช้ในวันนี้นั้นเปนแต่เพียงพยานอย่าง ๑ ในพระราชกรณีย์กิจของพระองค์เท่านั้น

อนึ่ง พระบรมราโชบายที่ให้กรมรถไฟจัดแก้ทางให้ได้ขนาดเดียวกันนั้น ก็เปนพระราชดำริห์อันเฉียบแหมลึกซึ้ง เหมาะกับประโยชน์ในทางประหยัดที่ทำให้ไม่ต้องสะสมเครื่องอะไหล่ไว้หลายอย่าง ไม่ต้องมีโรงงาน ๒ แห่ง และรถก็เดินถึงกันได้ตลอด เปนการยังความสะดวกทั่วไป ตลอดจนการบังคับบัญชาของกรมรถไฟทั้งเปนประโยชน์แก่ประชาชนที่จะเดินทางไปมาและส่งสินค้าได้รวดเร็วมากกว่าแต่ก่อน นอกจากนี้ยังเปนทางผูกพันการคมนาคมกับประเทศใกล้เคียงให้สะดวกดียิ่งขึ้นอีกด้วย

การสร้างสะพานพระราม ๖ นี้ ควรนับได้ว่าเปนการงานใหญ่อย่าง ๑ ที่มีเปนครั้งแรกในเมืองไทย และไม่เฉพาะแต่เชื่อมทางรถไฟเท่านั้น ยังได้มีทางสำหรับคนเดิน และสำหรับยวดยานพาหนะอย่างอื่นสัญจรไปมาเตรียมไว้ด้วย ต่อไปเมื่อสร้างถนนหนทางขึ้นแล้ว ยานพาหนะอื่นๆ ก็จะเดินติดต่อถึงกันได้สะดวกทั้งสองฟากลำน้ำระหว่างพระนครกับธนบุรี เมื่อได้รฤกถึงพระราโชบายอันเปนประโยชน์ต่ออาณาประชาราษฎร์ดังนี้แล้ว กระทำให้เปนที่เพิ่มพูนพระบารมีแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ผู้ทรงโปรดให้เริ่มริการสร้างสะพานนี้เปนอเนกประการ สะพานพระราม ๖ นี้ต้องนับว่าเปนสิ่ง ๑ ในงานอันสำคัญที่สุดแห่งรัชชกาลของพระองค์ จึงสมควรเปนพระราชอนุสสาวรีย์ที่รฤกถึงพระองค์ได้โดยแท้ เหตุฉะนั้นเราจึงมีกำหนดให้ทำพิธีเปิดใช้ในวันที่ ๑ มกราคม อันเปนวันตรงกับวันพระราชสมภพเพื่อให้พศกนิกรชาวสยามระฤกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และเพิ่มพูนความจงรักภักดีในพระองค์พระบาทสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชของเราในโอกาสนี้

อนึ่ง เราจะละเว้นมิได้ที่จะขอชมเชยเสนาบดีผู้บัญชาการกรมรถไฟและข้าราชการ กับนายช่างฝรั่งเศสที่ได้มีส่วนจัดสร้างสะพานนี้จนแล้วเสร็จสมกับพระราชประสงค์ทุกอย่าง นอกจากสาธารณประโยชน์ดังกล่าวมาแล้ว สะพานนี้ยังเปนสง่างามแก่พระนครอีกด้วย การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าได้ทรงพระดำริห์เลือกสรรผู้บัญชาการกรมรถไฟที่ทรงพระปรีชาสามารถอย่างยอดเยี่ยมพระองค์หนึ่ง และทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้ดำเนิรการตลอดมาจนได้ผลดีถึงปานนี้ ก็อาศัยเหตุที่ทรงเลือกใช้คนถูกกับงาน ทั้งนี้ย่อมเปนพยานแห่งพระปรีชาญาณอันสุขุมคัมภีรภาพของพระองค์ ที่ได้ทรงนำกรุงสยามและประชาชนไปสู่ความเจริญอันเราได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า เปนความมุ่งพระราชหฤทัยของพระองค์เปนนิจ เพราะฉะนั้น ขอท่านทั้งหลายผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดสร้างสะพานนี้จงได้รับความขอบใจของเราโดยทั่วกัน และขอให้ทุกคนระฤกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเปนเครื่องเตือนใจในเมื่อได้มาพบเห็นฤาผ่านสะพานนี้ทุกเมื่อ เราเชื่อว่าถ้าแม้พระองค์ได้ทรงทราบด้วยพระญาณวิถีทางใดว่า การสร้างสะพานนี้สำเร็จได้เปิดใช้เปนประโยชน์แก่บ้านเมือง และอาณาประชาราษฎร์สมตามพระราชประสงค์ของพระองค์แล้วเช่นนี้ คงจะพอพระราชหฤทัยหาน้อยไม่

เราขอเปิดสะพานนี้เปนฤกษ์ให้เริ่มใช้ตั้งแต่บัดนี้เปนต้นไป ด้วยเดชะอำนาจคุณพระรัตนตรัยประกอบกับพระบารมีแห่งสมเด็จพระมหาราชเจ้าที่ได้กล่าวพระนามมาแล้ว ขอให้สะพานพระราม ๖ นี้จงมั่นคงถาวรอยู่ตลอดกาล ผู้ใดอาศัยผ่านไปมา ขอจงประสพโชคดีทวีผลสมความมุ่งหมายทั่วกัน เทอญ.


............................

แล้วได้เวลาอันเป็นอุดมมงคลฤกษ์ จึงเสด็จประทับบนขบวนรถไฟอันเป็นราชพาหนะเสด็จพระราชดำเนินข้ามสะพานพระราม ๖ ไปยังฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นปฐมฤกษ์ ถึงชุมทางตลิ่งชันแล้วแล่นกลับไปยังสถานีธนบุรี เมื่อขบวนรถพระที่นั่งหยุดเทียบหน้าชานชาลาสถานีแล้วเสด็จลง และเสด็จพระราชดำเนินกลับสู่พระราชสฐาน

ในคืนวันนั้นเอง ขบวนรถด่วนสายใต้ ซึ่งเป็นรถโดยสารขบวนแรก ได้แล่นจากฟากธนบุรีผ่านสะพานพระราม ๖ มาตามทางเดียวกันจนถึงสถานีกรุงเทพฯ ( หัวลำโพง )

การก่อสร้างสะพานพระราม ๖ ซึ่งสำเร็จเรียบร้อย และเปิดให้สาธารณชนและขบวนรถไฟสัญจรไปมาได้โดยสะดวกเมื่อ ๒๐ ปีล่วงมาแล้วนี้ เป็นแต่เพียงสักขีพะยานประการหนึ่งในพระราชกรณียกิจและพระบรมราโชบายอันประเสริฐของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมุ่งพระราชหฤทัยที่จะสถาปนาบ้านเมืองให้เจริญรุ่งโรจน์ยิ่งขึ้นเท่านั้น.

...........................


Last edited by black_express on 11/02/2008 11:34 am; edited 3 times in total
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 11/02/2008 10:04 am    Post subject: Reply with quote

ในส่วนของ หม่อมราชวงศ์กาจกำยำ สวัสดิกุล เรียบเรียงเอาไว้ มีเพียงเท่านั้นครับ

แต่เรามาต่อเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสะพานพระราม ๖ กันอีกเล็กน้อยนะครับ


................................

เมื่อคราวราชอาณาจักรไทยได้ตกอยู่ในภาวะสงคราม ( ระหว่างวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ถึงวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๔๘๘ ) สะพานพระราม ๖ ได้รับความเสียหายจากภัยสงคราม จนเป็นเหตุให้การลำเลียงขนส่งโดยทางรถไฟระหว่างฟากตะวันออก และตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาต้องหยุดชะงักลง

Click on the image for full size

ครั้นการสงครามได้ผ่านพ้นไป ภาวะของประเทศกลับคืนเข้าสู่สันติภาพแล้ว คือนับตั้งแต่วันที่ ๑๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘ อันเป็นวันที่ได้มีพระบรมราชโองการประกาศสันติภาพเป็นต้นมา ฝ่ายสหประชาชาติได้ดำเนินการสร้างแพขนานยนตร์ขึ้นที่สะพานพระราม ๖ เพื่อใช้ทำการลำเลียงขนส่งข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยาแทนตัวสะพานจนเป็นผลสำเร็จ คำนวณค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นตกเป็นเงิน ๑,๓๖๐,๐๐๐ บาท ( ๓๔,๐๐๐ ปอนด์ ) ครั้นถึงวันที่ ๒๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๙ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย ( นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ) ได้ไปเป็นประธานในท่ามกลางข้าราชการไทย ( มีนายสะพรั่ง เทพหัสดิน ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ) และนายทหารฝ่ายสหประชาชาติ ( มี พันโท ดี.ซี.เมอรี่ อาร์.อี. เป็นประธาน ) เพื่อประกอบพิธีเปิดใช้แพขนานยนตร์ที่สะพานพระราม ๖ และรับมอบกิจการส่วนนี้จากฝ่ายสหประชาชาติ โดยนำรถจักรแมคอาเธอร์เลขที่ ๗๓๒ ซึ่งได้เปลี่ยนเป็นเลขที่ ๓๘๐ เพื่อให้เข้ามาตรฐานของกรมรถไฟ

Click on the image for full size

นับว่าเป็นรถจักรคันแรกในจำนวนรถจักร ๒๐ คัน ที่กรมรถไฟสั่งซื้อจากของเหลือใช้ในการสงครามของอเมริกาที่มีอยู่ในประเทศอินเดีย ลงบรรทุกในแพขนานยนตร์ให้ข้ามจากฟากตะวันตกมายังฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และลดคานที่เชื่อมหัวสะพานและแพขนานยนตร์ให้ติดต่อกันแล้ว ตัดสายแพที่หัวสะพานนำรถจักรคันนั้นขึ้นสู่รางบนบกเป็นปฐมฤกษ์ สืบแต่นั้นมาถึงวันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๘ เมื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยได้รับคำชี้แจงวิธีการปฏิบัติจนเป็นที่เข้าใจกันดี จนมีความสามารถปฏิบัติงานในหน้าที่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว กรมรถไฟจึงรับมอบแพขนานยนตร์ที่สะพานพระราม ๖ ไว้ดำเนินการต่อจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายสหประชาชาติตั้งแต่วันที่ ๑๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๙ การใช้เครื่องประจำแพขนานยนตร์ ได้ปฏิบัติโดยลำพังเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยตลอดมาจนถึงปัจจุบัน.

...........................


Last edited by black_express on 14/02/2008 8:32 am; edited 5 times in total
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 11/02/2008 10:08 am    Post subject: Reply with quote

และข้อเขียนในส่วนที่กล่าวถึงการซ่อมสร้างสะพานพระราม ๖ แทนสะพานเดิมที่ถูกทิ้งระเบิดจากเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตร ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ จนใช้การไม่ได้ครับ

...........................

Click on the image for full size

เมื่อภาวะสงครามได้สิ้นสุดลงแล้ว กรมรถไฟได้จัดส่งเจ้าหน้าที่สำรวจความเสียหายเพื่อพิจารณาบูรณะซ่อมสร้าง และการดำเนินการบูรณะซ่อมสร้างก็ได้จัดทำไป โดยสัญญาลงวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๓ กับ บริษัท คลีฟแลนด์ บริดจ์ แอนด์ เอ็นจิเนียริง จำกัด เป็นผู้รับเหมาและ บริษัท ดอร์แมนลอง แห่งประเทศอังกฤษ ร่วมกับ บริษัท คริสเตียนี แอนด์ นีลเสน (ไทย) จำกัด เป็นผู้รับเหมาช่วง การซ่อมสร้างได้ดำเนินการแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๙๖

Click on the image for full size

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชพิธีเปิดสะพานเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ ให้ขบวนรถไฟผ่านข้ามไปมาได้จนตราบเท่าทุกวันนี้

Click on the image for full size

สะพานพระราม ๖ ที่ซ่อมสร้างขึ้นใหม่นี้ ประกอบด้วยสะพานเหล็ก ๕ ช่วง ช่วงริมฝั่ง ๒ ช่วง และช่วงกลางน้ำ ๓ ช่วง มีความยาวแต่ละช่วงดังนี้ ช่วงที่ ๑ และ ๕ ( ช่วงริมฝั่ง ๒ ด้าน ) ยาวช่วงละ ๗๗.๒๗ เมตร ช่วงที่ ๒ และ ๔ ( ช่วงถัดมา ) ยาวช่วงละ ๘๓.๔๖ เมตร ช่วงที่ ๓ ( ช่วงกลาง ) ยาว ๑๒๐.๐๐ เมตร ประกอบด้วยช่วงยื่น ( Anchor arm ) ซึ่งติดต่อออกมาจากช่วงที่ ๒ และ ๔ ข้างละ ๒๑.๓๕ เมตร ออกมารับสะพานช่วงแขวน ( Suspended span ) ยาว ๗๗.๒๗ เมตร รวมความยาว ๔๔๑.๔๖ เมตร

บนสะพานมีรางรถไฟ ๑ ทาง และทางหลวงทำเป็นพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก ๑ สาย กว้าง ๖ เมตร มีทางเดินเท้าอยู่สองข้างสะพาน กว้างข้างละ ๑.๕๐ เมตร น้ำหนักเหล็กสะพานที่สร้างใหม่ ๒,๐๖๐ เมตริกตัน ได้คำนวณออกแบบให้รับน้ำหนักบรรทุกได้ ๑๐.๕ ตัน ต่อ ๑ เพลา

ตัวสะพานเหล็กได้จัดสร้างด้วยเหล็กพิเศษซึ่งมีแรงดึงสูง ( High tensile steel ) เพื่อช่วยลดน้ำหนักบนตัวสะพานให้น้อยลง เป็นการตัดปัญหาในเรื่องที่จะต้องพิจารณาขยายฐานตะม่อเดิมที่ยังเรียบร้อยดีอยู่ให้ใช้การต่อไปได้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ตะม่อของเดิมจึงทำแต่เพียงรื้อส่วนบนที่ชำรุดเนื่องจากถูกระเบิดออก แล้วสร้างตัวตะม่อขึ้นใหม่เป็นตะม่อคอนกรีตเสริมเหล็กบนฐานรากเดิม.

.............................

หมายเหตุ :

- หนังสือ " งานฉลองรถไฟหลวง ครบ ๕๐ ปี " , พิมพ์ที่โรงพิมพ์ กรมรถไฟฯ , มีนาคม ๒๔๙๐

- หนังสือ “ เพื่อระฤกถึงพระคุณ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน “ , โรงพิมพ์กรมรถไฟ , ๑๐.๗๙.

- หนังสือ " อนุสรณ์ครบรอบ ๗๒ ปี การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๓๙ - ๒๕๑๒ "
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42694
Location: NECTEC

PostPosted: 26/07/2013 11:49 am    Post subject: Reply with quote

นี่ครับหนังสือประวัติของสะพานพระรามหก ที่เป็นหนังสือหายากมีแบบ e-book ที่ หอสมุดกลางจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

http://www.car.chula.ac.th/rarebook/book2/clra53_0108
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42694
Location: NECTEC

PostPosted: 26/04/2014 10:23 pm    Post subject: Reply with quote

ตอนที่ นั่งค้นเอกสารก็เจอ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการ สร้าง via duct เพื่อแก้ปัญหาคอสะพานทรุด ทำให้ทราบว่า
๑) แต่ก่อนคอสะพานใช้ดินเหนียวผสมขี้เถ้าแกลบถมสลับกันเป็นชั้นๆ
๒) ตอนที่ สะพานพระราม ๖ โดนถล่มจนสะพานขาด จนต้องเลิกการเดินรถสายพระราม ๖ นั้นกองทัพญี่ปุ่น ได้ขุดเอาดินคอสะพานไปถมทำย่านขนถ่ายแพขนานยนต์ จนเกือบหมดคอสะพาน

๓) เมื่อเริ่มการซ่อมสะพานพระราม ๖ เมื่อปี ๒๔๙๔ ได้เอาดินกากหินจากกาญจนบุรี มาถมทำคอสะพานเสียใหม่ แทน ดินคอสะพานเดิมที่โดนขุดทำย่านขนถ่ายแพขนานยนต์ แต่ผลที่ตามมาหลังการเปิดสะพานพระราม ๖ เมื่อ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ พบว่า คอสะพานพังลงมาจนต้องงดเดินสายพระราม ๖ หลายครั้ง เช่น
๓.๑) ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ จนต้องให้รถด่วนสายใต้ เดินที่ ธนบุรีอีกคำรบหนึ่ง เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๙๗
๓.๒) ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๐
๓.๓) ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๕

๔) ฝ่ายการช่างโยธารายงานว่า ถึง เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ พบการเคลื่อนของตอม่อ ริมฝั่งกรุงเทพ ไปทางด้านแม่น้ำ ถึง ๑๘ เซนติเมตร ต้องแก้โดยการยกสะพานและจัดศูนย์กลางแผ่นรองรับทับเข้าแนวเดียวกันกับศูนย์กลางลูกกลิ้ง เสร็จ เมื่อ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ จากนั้นก็มีการวัดสอบการเคลื่อนตัวของตอม่อ เมื่อ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ ก็พบว่าตอม่อยังเคลื่อน ตัวอีก ๑.๑ เซนติเมตรรวมความแล้ว ตอม่อเคลื่อนไป ๑๙.๑ เซนติเมตร ตัวตอม่อ ยังคงตั้งในแนวดิ่ง โดยจะเคลื่อนตัวมากกว่าปกติ ในฤดูฝน

๕) ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ นำ้หนักของดินคอสะพาน มีมากเกินแรงต้านทานของดินรับรอง และ ดันออกไปข้างหน้า ทำให้ เกิด deep slide ขึ้นและดันตอม่อออกไปข้างหน้า เสาตับของสะพานทางรถยนต์ เคลื่อนตัวออกไปด้วย

๖) ฝ่ายการช่างโยธากำลังแก้ไขโดยการ ทำ blind Drain เพื่อระบายน้ำออกจากทาง แต่ ถ้ายังแก้ไม่ตก ก็ต้องสร้างสะพานหอสูง (via duct) ขึ้นมาแทน

๗) หลังจากที่ได้หารือกับกรมทางหลวง เมื่อ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๘ ต้องแก้การเลื่อนตัวของตอม่อสะพาน และ การทรุดตัวของดิน โดยการทำ Blanketting และปูด้วยแผ่นยางมะตอย (Asphalt sheet) และระบายน้ำออกจากทาง แต่ถ้าจะแก้ไขอย่างถาวรก็ต้องทำ elevated track แทนการถมดินสูง แต่การนี้ ต้องทำทางลอยฟ้า (elevated track) สูง ๓.๘๐ เมตร จึงจะเท่าระดับดินเดิม โดยทำทั้งฝั่งพระนครและธนบุรี ข้างละ ๑๖๐๐ เมตร รวม ๓๒๐๐ เมตร คิดเป็นค่าก่อสร้าง ๑๒๘ ล้านบาท แต่เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ จึง เอาเฉพาะ ส่วนดินตอม่อริมฝั่งทั้งสอง และสะพานทางหลวงออกไป ดังนั้นจึงต้องทำทางลอยฟ้า (elevated track) เพียงข้างละ ๕๐๐ เมตร รวม ๑๐๐๐ เมตร คิดเป็นค่าก่อสร้าง ๔๐ ล้านบาท นอกนั้นทำ Blanketting และปูด้วยแผ่นยางมะตอย (Asphalt sheet) และระบายน้ำออกจากทาง เนื่องจากดินส่วนดังกล่าวได้มีการถมมานานจนมีความอยู่ตัวเกือบร้อยละ ๘๐ ถ้าทำทางลอยฟ้า (elevated track) เต็มรูปแบบ จะต้องใช้งบมาก

ขณะนี้ ทำ Blanketting บริเวณคอสะพานเสียนก่อน ถ้าตอม่อเคลื่อนอีก ก็จะทำทางลอยฟ้า ต่อจากคอสะพานเป็นขั้นๆไป โดยมีรายละเอียดดังนี้

ปี ๒๕๐๗ ได้รับงบประมาณ ๕ แสนบาท
ปี ๒๕๐๘ ได้รับงบประมาณ ๕ แสนบาท
ปี ๒๕๐๙ ได้รับงบประมาณ ๕ แสนบาท

งบประมาณดังกลาวได้ใช้ในการป้องกันดินพังที่สะพานพระราม ๖ ดังนี้ ซึ่งต้องปิดทางช่วง บางซื่อ ถึงบางซ่อน โดยเริ่มทำเมื่อ รถขบวน ๔๖ หรือ ขบวนพิเศษ เที่ยวสุดท้ายที่ผ่านถึงบางซื่อหรือบางซ่อนแล้ว
๑) รื้อหินในทางและ ใต้หมอนออกไป เลื่อนไม้หมอน เพื่อขุดดินใต้ไม่หมอนได้สะดวก
๒) ขุดดินพื้นทางลึก ๖๐ เซนติเมตร กว้าง ๓.๕๐ เมตรออกไป แล้วใช้ Tamping machine บดอัดใส่ทรายเล้กน้อย เพื่อให้พื้นเรียบ
๓) ปูกระดาษบางยางชนิด ๓ Ply ตลอดความกว้างของส่วนที่ขุดออก โดยให้ริมทับกัน
๔) ใส่ทรายละเอียด หนา ๕๐ เซนติเมตร แล้วบดอัด
๕) ใส่หินสอง หนา ๑๐ เซนติเมตร และหินโรยทาง
๖) ขุดดินตามยาวของบ่าถนนให้ลึกประมาณ ๑.๕๐ เมตร กว้าง ประมาณ ๑.๕๐ เมตร แล้วใส่หินใหญ่เพื่อระบายน้ำตลอดความยาว
๗) ขุดลาดของทางทุกๆ ๔๕ เซนติเมตร เพื่อใส่หินใหญ่ หินสอง ทราย และ ท่อ
๘) วางท่อระบายน้ำ และบ่อพัก

ในแต่ละคืนทำได้เพียง คืนละประมาณ ๑๓.๐๐ เมตร และ สัปดาห์หนึ่งทำได้ ๓ คืน โดยในปี ๒๕๐๗ ทำแต่ช่วงกม. ๑๒ + ๖๓๒ ถึง กม. ๑๒ + ๘๕๗ ระยะทาง ๒๒๕ เมตร เริ่มงานเมื่อธันวาคม ๒๕๐๗
ทำได้ ร้อยละ ๗๐ เหลือแต่การทำทางระบายน้ำตามทางลาด ดังนั้นงานในปี ๒๕๐๘ ต้องมีการปรับปรุงแบบ ที่ออกไว้แล้วบางตอนเพื่อให้น้ำไหลได้สะดวก และได้ขอประกาศดินเสริมลาดแล้ว และจำดำเนินการต่ออีก ๒๒๕ เมตร
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42694
Location: NECTEC

PostPosted: 29/04/2020 11:42 pm    Post subject: Reply with quote

ภาพการก่อสร้างสะพานพระรามหก ปลายปี 2495 ตีพิมพ์ใน Thailand Illustrated Magazine (Decenmber 1952 - January 1953)
https://www.facebook.com/RetroCityStoryTelling/photos/a.112338837042951/133074324969402/?type=3&theater
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42694
Location: NECTEC

PostPosted: 07/09/2020 8:56 pm    Post subject: Reply with quote

ภาพหายาก ตอนสร้างสะพานพระรามหก ธันวาคม 2465 - ธันวาคม 2469

https://www.facebook.com/papboran/posts/947890922049336
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงสร้างทางวิศวกรรมที่เกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page 1, 2, 3, 4, 5  Next
Page 1 of 5

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©