RailServe.Com

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai.Com

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311234
ทั่วไป:13180531
ทั้งหมด:13491765
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - รถไฟสายบางบัวทอง
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

รถไฟสายบางบัวทอง
Goto page Previous  1, 2, 3 ... , 24, 25, 26  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> สาระความรู้วิชาการรถไฟและประวัติศาสตร์รถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44325
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 25/07/2015 8:54 am    Post subject: Reply with quote

ภาพบางบัวทองในอดีตครับ บางภาพคงไม่ใช่รถไฟสายบางบัวทอง ตามที่เคยวิเคราะห์กัน
Arrow https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=528480683984404&id=100004674305268
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44325
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 14/03/2016 4:40 pm    Post subject: Reply with quote

เปิดตำนานรถไฟของกรุงเทพฯ สายวัดลิงขบ - สายปากน้ำ ทิ้งร่องรอยเป็นทางรถยนต์!!!
โดย โรม บุนนาค 14 มีนาคม 2559 10:31 น.

Click on the image for full size
สถานีต้นทางของรถไฟสายปากน้ำ

สถานีต้นทางของรถไฟที่ออกจากกรุงเทพฯ ไม่ได้มีแต่ที่สถานีหัวลำโพงขณะนี้ หรือสถานีบางกอกน้อยเท่านั้น ที่วงเวียนใหญ่ก็ยังมีสถานีต้นทางของรถไฟสายโดดเดี่ยว วิ่งไปแม่กลองไม่เชื่อมต่อกับสายไหน ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ทุกวันนี้ก็ยังวิ่งอยู่ แต่ก่อนสถานีต้นทางอยู่ริมแม่น้ำที่ปากคลองสาน ถูกตัดสั้นเหลือแค่วงเวียนใหญ่ และยังมีอีก ๒ สายที่เหลือเป็นตำนาน ทิ้งร่องรอยที่เป็นถนนให้รถยนต์วิ่งแทนอยู่ในขณะนี้

สายหนึ่งเป็นสายแรกสุดของเมืองไทย แต่ทางการถือกันว่ารถไฟสายแรกของไทย คือสายกรุงเทพฯ-อยุธยา ซึ่งเป็นส่วนแรกของรถไฟหลวงสายเหนือ เริ่มเปิดเดินรถเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๔๓๙ และถือเอาวันนี้เป็นวันสถาปนากิจการรถไฟไทยด้วยนั้น แต่ในวันนั้นประเทศไทยมีรถไฟสายหนึ่งเปิดให้บริการมาแล้ว ๓ ปี ออกจากสถานีต้นทางที่หัวลำโพงเหมือนกัน สถานีอยู่ฝั่งตรงข้ามสถานีหัวลำโพงในปัจจุบัน ริมถนนพระราม ๔ ซึ่งตอนนั้นมีชื่อว่า “ถนนตรง” และยังมีคลองขนานไปตลอด เรียกว่า “คลองถนนตรง” เหมือนกัน เป็นรถไฟของบริษัทเอกชน

ในปี ๒๔๒๙ รัฐบาลสยามได้ให้สัมปทาน ๕๐ ปีแก่บริษัทของชาวเดนมาร์ค คือนาย เอ.ดูเปล ริเดธิเชอเลียว ซึ่งรับราชการเป็นกัปตันเรือพระที่นั่งเวสาตรี กับพวก สร้างทางรถไฟสายปากน้ำ จากกรุงเทพฯไปสมุทรปราการ เป็นระยะทาง ๒๑ กิโลเมตร และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำพิธีเริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๔๓๔ ทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำพิธีเปิดเดินรถในวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๔๓๖ พระราชดำรัสในครั้งนั้นมีความตอนหนึ่งว่า

“...เรามีความยินดีที่ได้รับหน้าที่อันเป็นที่พึงใจ คือจะได้เป็นผู้เปิดรถไฟสายนี้ ซึ่งเป็นที่ชอบใจและปรารถนามาช้านานแล้วนั้น ได้สำเร็จสมดังประสงค์ลงในครั้งนี้ เพราะเหตุว่าเป็นรถไฟสายแรกที่จะได้เปิดในบ้านเมืองเรา แล้วยังจะมีสายอื่นต่อๆไปอีกเป็นจำนวนมากในเร็วๆนี้ เราหวังใจว่าจะเป็นการเจริญแก่ราชการและการค้าขายในบ้านเมืองเรายิ่งนัก...”

รถไฟสายปากน้ำมี ๑๒ สถานี คือ บางกอก ศาลาแดง คลองเตย บ้านกล้วย พระโขนง บางจาก บางนา สำโรง จรเข้ บางนางเกรง มหาวง และสถานีปากน้ำที่อยู่ตรงท่าเรือข้ามฟากไปฝั่งพระสมุทรเจดีย์ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงปลายทางของรถไฟสายนี้อยู่ตรงนั้น

กิจการรถไฟสายกรุงเทพฯ-ปากน้ำประสบกับการขาดทุน ทางราชการจึงได้ให้กู้ยืมเพื่อให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ให้บริษัทต่างชาติกู้เงิน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้รถไฟสายแรกของไทยต้องล้มเหลวแล้ว ทางรถไฟสายนี้ยังถือเป็นสายยุทธศาสตร์ป้องกันปากน้ำเจ้าพระยาด้วย ในคราวที่ฝรั่งเศสส่งเรือรบ ๒ ลำฝ่าการป้องกันของป้อมพระจุลจอมเกล้าเข้ามาเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๓๖ ที่เรียกว่า “เหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒” ซึ่งรถไฟขบวนสุดท้ายในคืนนั้น ถูกลูกหลงไม่ทราบว่าของฝ่ายไหน มีผู้โดยสารเสียชีวิตหนึ่งราย บาดเจ็บหนึ่งราย และแม่เฒ่าตกใจตายไปอีกหนึ่งราย นาย เอ.ดูเปล ริเดธิเชอเลียว ซึ่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พล.ร.ต.พระยาชลยุทธโยธิน ผู้อำนวยการป้องกันปากแม่น้ำ ซึ่งใช้ปืนป้อมพระจุลฯยิงเรือนำล่องของฝรั่งเศสจมแล้ว ยังได้ขึ้นรถไฟสายนี้ตามเรือรบฝรั่งเศสที่ฝ่าด่านเข้ามาได้ หวังจะเอาเรือพระที่นั่งมหาจักรีพุ่งชน แต่ทางการไทยไม่ต้องการจะก่อปัญหากับฝรั่งเศสอีก จึงใช้วิธีเจรจาแทน

ต่อมารถไฟสายกรุงเทพฯ-ปากน้ำ ได้เลิกใช้หัวรถจักรไอน้ำ เปลี่ยนมาเป็นรถไฟฟ้า เช่นเดียวกับรถรางในกรุงเทพฯ ซึ่งนาย เอ.ดูเปล ริเดธิเชอเลียวกับพวกได้รับสัมปทานเช่นกัน

หลังสิ้นสุดสัมปทานรถไฟสายปากน้ำ กรมรถไฟได้ดำเนินกิจการต่อ จนกระทั่งเลิกไปเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๓ ในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และรื้อทางรถไฟ ถมคลอง ขยายเป็นถนนพระราม ๔ ร่องรอยของเส้นทางรถไฟสายนี้ที่ยังเหลืออยู่ ก็คือเส้นทางรถยนต์ที่เรียกว่า “ถนนทางรถไฟสายเก่า” นั่นเอง

อีกสายที่จะเปิดตำนานมาเล่ากันในวันนี้ คนทุกวันนี้รู้จักกันน้อยเต็มที เพราะเลิกกิจการไปหลายปีจนลืมกันไปหมดแล้ว ทิ้งไว้แต่ร่องรอยที่เคยเป็นเส้นทางให้รถยนต์ได้ใช้แทนเหมือนกัน

รถไฟสายนี้มีชื่อเป็นทางการว่า “รถไฟสายบางบัวทอง” สถานีต้นทางอยู่ที่ท่าน้ำวัดลิงขบ หรือวัดบวรมงคล ฝั่งธนบุรี ตรงข้ามท่าเรือเทเวศร์ ไปสุดทางที่บางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี หรือเรียกกันว่า “รถไฟสายเจ้าคุณวรพงศ์ฯ” เพราะเจ้าของคือ เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา) คนที่ชอบเรื่องเครื่องยนต์กลไกและงานช่าง ตอนที่เข้ารับราชการในสมัยรัชกาลที่ ๕ เงินเดือน ๑๒ บาท พอขึ้นไปเป็น ๓๐ บาท ท่านเก็บหอมรอมริบไปซื้อรถเมล์เก่าๆมาได้ ๒ คัน ซ่อมออกรับผู้โดยสาร จนเกิดติดใจธุรกิจประเภทนี้ที่ขนเงินเข้าบ้านทุกวัน สิบสลึงบ้าง สามบาทบ้าง บ้านเมืองก็เจริญขึ้นมากจนคนเดินกันไม่ทันใจแล้ว

เรื่องนี้อาจจะเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดรถไฟสายบางบัวทองขึ้น

เหตุที่ท่านไปเลือกทำรถไฟไปบางบัวทอง ก็เพราะในสมัยนั้นมีงานก่อสร้างมาก ทั้งวังและคฤหาสน์ขุนนาง ท่านจึงไปเช่าเตาเผาอิฐที่บางบัวทองผลิตอิฐชั้นดีมาใช้ในการก่อสร้าง และเห็นว่าบางบัวทองกำลังเจริญ มีธุรกิจคึกคัก

การวางรางรถไฟสายนี้มีปัญหายุ่งยากมาก เพราะตอนนั้นยังไม่มีพระราชบัญญัติคุ้มครองการสร้างทางรถไฟ ต้องให้กำนันผู้ใหญ่บ้านไปอ้อนวอนขอแบ่งที่ชาวบ้านให้ บางรายก็ไม่ยอมแบ่ง ให้ซื้อยกแปลง บางรายก็ไม่ยอมขาย เลยต้องย้ายแนวหลบ ทำให้ทางรถไฟสายนี้คดไปคดมา

รถไฟสายบางบัวทอง-วัดลิงขบ ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ก่อตั้ง “บริษัท รถไฟบางบัวทอง จำกัดสินใช้” เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๑ และเริ่มวางรางในปี ๒๔๕๒ เปิดเดินรถได้ในปี ๒๔๕๘ ด้วยขนาดรางกว้าง ๗๕ เซนติเมตร

ต่อมาในปี ๒๔๗๓ ได้ขยายเส้นทางจากบางบัวทองไปถึงทุ่งระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว ตอนนี้มีพระราชบัญญัติคุ้มครองการสร้างทางรถไฟออกมาแล้ว ทางช่วงนี้จึงสร้างได้ตรง พร้อมกับได้ย้ายรางที่แยกไปลงท่าน้ำวัดเฉลิมพระเกียรติ ไปสร้างลงท่าน้ำแห่งใหม่ ที่เรียกว่า “ท่าน้ำนนทบุรี”ในปัจจุบัน ตามศาลากลางจังหวัดนนทบุรี ที่ย้ายจากตลาดขวัญ ตรงข้ามวัดเฉลิมพระเกียรติ ไปอยู่ที่บางขวาง ตรงข้ามท่าน้ำนั้น

ในตอนแรกที่เริ่มเดินรถ ใช้หัวรถจักรไอน้ำ แต่ต่อมาฟืนหายากขึ้น เลยหันมาใช้หัวรถจักรดีเซล ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงประสบปัญหาน้ำมันขาดแคลน ทั้งยังมีเรือของบริษัทฝรั่งที่เรียกกันว่า “มอเตอร์โบ๊ท” มาเปิดรับผู้โดยสารระหว่างบางบัวทองกับท่าเขียวไข่กา บางกระบือ ทำให้รายได้รถไฟลดลง จึงประกาศเลิกกิจการในวันที่ ๑๖ กรกฎาตม ๒๔๘๕ และเริ่มรื้อถอนรางในเดือนกันยายน ขายให้บริษัทน้ำตาลวังกะพี้ที่อุตรดิตถ์ ใช้ขนอ้อยจากไร่เข้าโรงงาน และใช้มาจนถึงปี ๒๕๒๐ จึงเอาหัวรถจักรมาตั้งเป็นที่ระลึกไว้ที่หน้าโรงงาน

ร่องรอยของเส้นทางรถไฟสายเจ้าคุณวรพงษ์ฯที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบันก็คือ “ซอยจรัญสนิทวงศ์ ๔๖” และ “ถนนบางกรวย-ไทรน้อย” ซึ่งบางแห่งยังมีตอม่อคอนกรีตของสะพานข้ามคูหลงเหลืออยู่

ผู้เขียนมีโอกาสได้นั่งรถไฟสายนี้ครั้งหนึ่งในชีวิต ข้ามเรือจ้างจากท่าเทเวศร์ไปท่าวัดลิงขบ แล้วขึ้นรถไฟสายเจ้าคุณวรพงษ์ฯไปลงที่สถานีวัดรวก บางบำหรุ ยังจำบรรยากาศในการเดินทางได้ เหมือนนั่งเรือฝ่าคลื่น ส่ายและกระเทือนไปตลอดทาง แต่บรรยากาศสองข้างทางติดตรึงใจ ผ่านสวนทุเรียนที่มีลูกห้อยระย้าไปตลอด

นี่ก็เป็นตำนานรถไฟของกรุงเทพฯ ที่พ่ายแพ้ต่อความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ถูกรถยนต์ยึดเส้นทางไปใช้ในปัจจุบัน

Click on the image for full size
สถานีบางจากของสายปากน้ำ

Click on the image for full size
รถไฟสายปากน้ำเมื่อเปลี่ยนมาใช้ระบบไฟฟ้า

Click on the image for full size
เส้นทางวิบากของทางรถไฟสายวัดลิงขบ

Click on the image for full size
สะพานแห่งหนึ่งบนเส้นทางไปบางบัวทอง

Click on the image for full size
รถตู้โดยสารของรถไฟสายเจ้าคุณวรพงศ์ฯ

Click on the image for full size
รถจักร์ไอน้ำของรถไฟสายบางบัวทองที่หน้าโรงน้ำตาลวังกะพี้เป็นที่ระลึก
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 24/03/2016 3:37 pm    Post subject: Reply with quote

มีหลายคนเขาเหมาว่ารถจักรไอน้ำตามภาพคือรถจักรไอน้ำ "สำโรง" ที่เคยใช้งานกับทางรถไฟสายปากน้ำครับ
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44325
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 30/07/2017 6:31 pm    Post subject: Reply with quote

คอลัมน์: กา@ครั้งหนึ่ง: 100 ปีที่แล้ว 'บางใหญ่-บางบัวทอง' ก็มีรถไฟ
ข่าวทั่วไป หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ -- อาทิตย์ที่ 30 กรกฎาคม 2560 00:00:53 น.

ชาวชานเมืองย่านบางบัวทอง บางใหญ่ กำลังระทึกกับการนับถอยหลังการเชื่อมต่อรถไฟฟาสายสีม่วงกับสีน้ำเงินที่สถานีเตาปูน

วันที่ 11 สิงหาคมนี้ การเดินทางเข้าเมืองของประชาชนย่านดังกล่าวจะง่ายขึ้น ไม่ต้องขึ้นรถไฟฟ้าต่อรถเมล์แล้วลงใต้ดินเหมือนเช่นที่เป็นอยู่ในวันนี้ แต่นี่ไม่ใช่รถไฟสายแรกที่ประชาชนย่านบางบัวทองใช้บริการเดินทางเข้าเมือง ในอดีตเคยมีรถไฟสายบางบัวทองมาแล้ว

ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2452 ทางรถไฟสายบางบัวทอง บางใหญ่ เดินรถระหว่างอำเภอบางพลัด จังหวัดธนบุรี กับอำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ระยะทางประมาณ 68 กิโลเมตร ดำเนินการโดยบริษัทรถไฟสายบางบัวทอง จำกัดสินใช้ ของเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ ซึ่งถือเป็นการเดินรถไฟโดยเอกชน ด้วยรถจักรไอน้ำ ใช้รางขนาดเล็ก กว้าง 0.75 เมตร ต่อมาได้ขยายเส้นทางรถไฟไปสิ้นสุดที่ตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี เมื่อ พ.ศ.2469 โดยมีสถานีต้นทางอยู่บริเวณซอยรถไฟพระยาวรพงษ์ ปัจจุบันคือซอยจรัญสนิทวงศ์ 46 ใกล้วัดลิงขบ ตรงข้ามกับปากคลองผดุงกรุงเกษม

รถไฟสายนี้ ตัดขวางกับทางรถไฟสายใต้ที่สถานีรถไฟบางบำหรุ ผ่านอำเภอตลาดขวัญ และอำเภอบางแม่นาง ไปสิ้นสุดที่อำเภอบางบัวทอง โดยมีเส้นทางแยกออกจากทางหลักที่ตำบลบางสีทองไปยังท่าน้ำบางศรีเมือง ฝั่งตรงข้ามศาลากลางจังหวัดนนทบุรีหลังเก่า และที่ตำบลบางเลนไปยังคลองบางกอกน้อย ฝั่งตรงข้ามที่ว่าการอำเภอบางแม่นาง

ปัจจุบันแนวทางรถไฟกลายเป็นซอยจรัญสนิทวงศ์ 46 แยก 19, ซอยจรัญสนิทวงศ์ 46 (พระยาวรพงษ์), ซอยจรัญสนิทวงศ์ 57 (วัดรวก), ถนนเทอดพระเกียรติ, ถนนบางกรวยไทรน้อย (ช่วงทางแยกเทอดพระเกียรติถึงโค้งสามวัง และช่วงทางแยกการไฟฟ้าบางใหญ่ถึงคลองบางกอกน้อย), ถนนเทศบาลบางศรีเมือง ถนนบางศรีเมือง (ช่วงทางแยกบางศรีเมืองถึงท่าน้ำบางศรีเมือง), ถนนบางศรีเมือง-วัดโบสถ์ดอนพรหม (ช่วงต้น) ซอยบางเลน ซอย 21 (วัดบางเลนเจริญ) และถนนเทศบาล 14 (สามวัง) ส่วนระยะทางที่เหลือตั้งแต่ตัวอำเภอบางบัวทองไปจนถึงตัวอำเภอลาดหลุมแก้วยังเหลือร่องรอยคันทางเก่าตัดผ่านท้องนาให้เห็นอยู่บ้าง

เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิสระเสนา ณ อยุธยา) เจ้าของบ้านพระอาทิตย์ ริเริ่มซื้อที่ดินตามขนัดสวน ตั้งแต่วัดลิงขบ (วัดบวรมงคล) ไปถึงบางบัวทองพร้อมส่วนแยกไปแถววัดเฉลิมพระเกียรติ (ตรงข้ามศาลากลางจังหวัดนนทบุรีเก่า แถวตลาดขวัญ) และแยกไปคลองบางใหญ่

เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ต้องไปอ้อนวอนซื้อที่ชาวบ้าน เมื่อไม่ได้ก็ต้องไปขอบารมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน บางรายไม่ขายก็ต้องย้ายแนวหลบ ทางรถไฟสายนี้จึงคดเคี้ยวเหมือนงูเลื้อย การถมทางใช้อิฐหักจากโรงเผาอิฐของท่านเองถมทาง โดยเริ่มแต่ปี พ.ศ.2454 กว่าจะเสร็จเปิดใช้งานได้ก็ปี พ.ศ.2458 ที่ล่าช้าก็เพราะคนงานโดนโรคอหิวาต์ระบาด

ต่อมาปี พ.ศ.2465 ก็ทำสัญญากับกรมรถไฟหลวง เพื่อเตรียมขยายเส้นทาง แต่ด้วยความเข้าใจผิดพลาดว่าจะขยายเส้นทางไปที่ตรงข้ามศาลากลางจังหวัดปทุมธานีหลังเก่า ที่สุดต้องแก้ไขสัญญาเมื่อปี พ.ศ.2473 ให้ไปที่วัดระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว

ประชาชนสมัยนั้นมักจะเรียกรถไฟสายนี้ว่า รถไฟสายเจ้าคุณวรพงศ์ ค่าโดยสารจากบางบัวทองเข้ากรุงเทพฯ ในตอนนั้นจะอยู่ที่ 2 สตางค์ต่อเที่ยว ในช่วงสงครามโลกครั้ง ที่ 2 คนกรุงเทพฯ ใช้เป็นพาหนะหนีระเบิดมาอยู่บางบัวทองกันจำนวนมาก

รถไฟสายนี้กำหนดให้วิ่งได้ไม่เกิน 20 กม/ชม. ตอนแรกใช้หัวรถจักรไอน้ำ ใช้รางขนาดเล็กกว้าง 75 เซนติเมตร และไม่มีระบบห่วงตราทางสะดวก เคยได้เกิดอุบัติเหตุรถไฟเที่ยวขึ้นและเที่ยวล่องชนกัน ทำให้คนขับรถไฟเสียชีวิต

จากบันทึกที่ปรากฏเล่าว่า เกิดจากการที่ขบวนรถที่ต้องรอหลีกกันแล้วขบวนใดขบวนหนึ่งเกิดเสียเวลานาน ทำให้ขบวนที่มารอหลีกรอนานเกินไป อาจมีกรณีที่เรียกว่า ลักหลีก คือจะออกรถไปก่อนแล้วเร่งเครื่องเต็มฝีจักรเพื่อจะชิงไปเข้าหลีกถัดไป โดยมีหลักที่รู้กันว่าขบวนที่ลักหลีกมา เมื่อแล่นมาถึงจุดที่เป็นทางคดโค้งแคบๆ ประกอบกับเป็นสวน ทำให้มีต้นไม้บังแน่นทึบ ก็จะชักแตรและจอดรอก่อนถึงทางโค้งแล้วให้คนวิ่งไปดูข้างหน้า ถ้าปลอดภัยก็ให้สัญญาณบอก พขร.อีกที

ส่วนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นครั้งนั้น เกิดที่โค้งบางกร่าง เกิดจาก พขร.ขบวนที่ลักหลีกมา ชักแตรแต่ไม่มีการชลอรถ ขบวนรถที่สวนมาไม่ทันได้ยินเสียงก็ใช้ความเร็วเต็มฝีจักรเช่นกัน ทำให้ประสานงากัน พขร.ที่เสียชีวิตยังมาเดินดูความเสียหาย แต่พอ กลับขึ้นไปบนรถได้เกิดอาการแน่น หายใจไม่ออกและช้ำในสิ้นใจอยู่บนรถนั่นเอง

ต่อมาฟืนหายาก ประมาณปี พ.ศ.2470 ได้ปรับปรุงจากรถกำลังไอน้ำ พลังงานฟืน มาเป็นรถราง 4 ล้อเครื่องเบนซิน และในปี พ.ศ.2477 แก้ไขรถราง 4 ล้อให้มาใช้น้ำมันดีเซลแทนเพื่อลดค่าใช้จ่าย เครื่องได้มีการประกอบรถจักรดีเซลใช้เอง โดยซื้อเครื่องจากเชียงกงมาประกอบ อย่างไรก็ตาม รถไฟสายบางบัวทองนี้ กรมรถไฟหลวงไม่แนะนำให้ฝรั่งขึ้น เพราะไม่ค่อยตรงต่อเวลา

ช่วงแรกๆ ทำกำไรดี ตอนหลังพิษเศรษฐกิจตกต่ำ ต้องลดค่าโดยสารกับค่าขนสินค้า และยังเกิดกรณีพิพาทเรื่องการแข่งกับเรือแดงของบริษัทฝรั่ง ทำให้ขาดทุนหนัก เมื่อสิ้นบุญเจ้าพระยา วรพงศ์พิพัฒน์ ทายาทไม่บริหารต่อ จึงต้องขายกิจการให้บริษัทส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจคุมโรงงานน้ำตาลวังกะพี้ และกุมภวาปี

พ.ศ.2495 กิจการเดินรถไฟสายบางบัวทองได้ยุติลง ทำให้เส้นทางรถไฟที่ทอดยาวกว่า 68 กิโลเมตร จากสถานีต้นวัดบวรมงคล กรุงเทพมหานคร ถึงสถานีระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี เป็นเพียงตำนานที่เล่าขานต่อกันมาของชาวบางบัวทองว่า ครั้งหนึ่งบางบัวทองก็มีรถไฟ.
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44325
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 14/09/2017 9:46 am    Post subject: Reply with quote

เรื่องราวเกี่ยวกับคลองพระพิมลราชา ที่บางบัวทองครับ
Arrow https://www.facebook.com/groups/491238984333148/permalink/565705596886486/

Quote:
สืบเนื่องจากโพสต์ที่แล้วเรื่องชื่อคลองที่ไหลคู่ขนานไปกับแนวตลาดน้ำไทรน้อยนี้ ทำให้หลายคนไม่แน่ใจว่า ชื่อเรียกที่ถูกต้องคือชื่ออะไรกันแน่ เพราะได้ยินคำบอกมีทั้ง คลองพระพิมลราชา คลองพระราชาพิมล และคลองพระพิมล แต่หากอ่านโดยละเอียดจะเข้าใจว่าเพราะเหตุใด ถึงได้มีชื่อเรียกหลากหลาย จนเกิดการสับสน
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือได้ว่าเป็นยุคที่มีการขุดคลองมากที่สุดยุคหนึ่ง พระองค์ทรงส่งเสริมให้หน่วยราชการ และเอกชนขุดคลองขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งขุดคลองใหม่ และขุดลอกคลองเก่า เพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกและเส้นทางคมนาคมระหว่างกรุงเทพฯ กับจังหวัดข้างเคียงซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญ และเพื่อใช้เป็นเส้นทางลำเลียงข้าวออกสู่ตลาดต่างประเทศ ดังพระราชดำริที่กล่าวไว้ในประกาศเรื่องอนุญาตขุดคลองว่า "การขุดคลอง เพื่อที่จะให้เป็นที่มหาชนทั้งปวงได้ไปมาอาศัย แลเป็นทางที่จะให้สินค้าได้บรรทุกไปมาโดยสะดวก ซึ่งให้ผลแก่การเรือกสวนไร่นา ซึ่งจะได้เกิดทวีขึ้นในพระราชอาณาจักร เป็นการอุดหนุนการเพาะปลูกในบ้านเมืองให้วัฒนาเจริญยิ่งขึ้น"
คลองพระราชาพิมล จึงเป็นหนึ่งในคลองหลายๆ คลองที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ทำการขุด โดยพระราชาภิมณฑ์ (เพ็ง) เป็นผู้ขอพระบรมราชานุญาต โดยมีวัตถุประสงค์ของการขุดคือ เพื่อเปิดพื้นที่เพาะปลูก โดยผู้เข้าหุ้นขุดคลองหวังจะขายที่ดินริมฝั่งคลอง ให้ได้กำไรเช่นเดียวกับบริษัทขุดคลองแลคูนาสยามและเพื่อเป็นเส้นทางคมนาคม
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้พระราชาภิมณฑ์ (เพ็ง) ขุดคลองตามที่ขออนุญาตได้ ด้วยทรงเห็นว่าการขุดคลองให้เกิดขึ้นหลายสายในพระราชอาณาเขตจะทำให้การเพาะปลูก การทำนา การทำไร่ เจริญยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้การบรรทุกสินค้าไปมาสะดวก และเป็นประโยชน์แก่มหาชนที่ได้อาศัยไปมาในลำคลอง แต่มีข้อกำหนดและเงื่อนไขของการขุดคลองพระพิมล ที่พระราชาภิมณฑ์ได้ทำสัญญาไว้กับกระทรวงเกษตราธิการคือ
- การถือครองที่ดินสองฝั่งคลองที่ขุด ถ้าเป็นที่ดินที่ไม่มีผู้ใดจับจอง ผู้ขุดต้องเว้นที่ดินจากริมคลองด้านละ 20 วา ให้เป็นที่ดินของหลวง ผู้เข้าจับจองที่ดินที่อยู่ต่อจากที่ดินที่เว้นไว้จากริมคลอง 20 วา ถ้าการขุดคลองต้องเข้าไปในที่ดินที่มีผู้จับจองไว้ก่อนแล้ว ผู้ขุดคลองต้องตกลงค่าเสียหายกับผู้จับจองที่ดินที่ได้จับจองไว้ก่อนแล้วนั้น และขุดเป็นคลองได้กว้างเพียงเท่าที่ขออนุญาตไว้ คือ ขุดได้กว้างไม่เกิน 2 วา
- ระยะเวลาดำเนินการ ให้เริ่มขุดคลองในเดือนมีนาคม พ.ศ.2433 และให้เสร็จสิ้นใน พ.ศ.2435 ซึ่งการขุดคลองได้เริ่มดำเนินการในเดือนมีนาคม พ.ศ.2433 โดยบริษัทขุดคลอง ที่พระราชาภิมณฑ์ร่วมลงทุนกับพรรคพวกด้วยเงินทุน 32,000 บาท และจ้างชาวจีนมาทำการขุด แต่การขุดคลองมิได้เป็นไปตามข้อกำหนดที่ได้รับพระบรมราชานุญาต ดังนี้
- ความกว้างและความลึกของคลอง ต้องมีขนาดของคลองความยาว 800 เส้น กว้าง 2 วา ลึก 4 ศอก แต่ได้มีการเปลี่ยนความกว้างและความลึกของคลอง เนื่องจากเมื่อทำการขุดคลองให้กว้าง 2 วา ลึก 4 ศอก ตามที่ได้รับพระบรมราชานุญาตแล้วพบว่าความกว้างและความลึกของคลองน้อยไป พระราชาภิมณฑ์จึงได้ของพระบรมราชานุญาตขยายความกว้างและความลึกของคลองเป็นกว้าง 3 วา ลึก 5 ศอก และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชานุญาตให้ขยายความกว้างและความลึกของคลองตามที่ขอเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2435
- แนวเส้นทางคลอง ให้ทำการขุดคลองตั้งแต่ทุ่งบางบัวทอง
แขวงเมืองนนทบุรี ไปออกบ้านบางปลา (อำเภอบางเลน) บางภาษี แขวงเมืองนครชัยศรี (จังหวัดนครปฐม) ได้มีการเปลี่ยนแนวเส้นทางของคลอง ตามแผนการขุดคลองที่ได้ขอพระบรมราชานุญาตไว้คือ เมื่อขุดไปทางทิศตะวันตกเข้าไปในป่ากระทุ่มมืดแล้ว จะขุดต่อไปบรรจบแม่น้ำท่าจีน ที่บ้านบางปลา แต่เนื่องจากพระราชาภิมณฑ์เห็นว่ากระแสน้ำของแม่น้ำท่าจีนที่บางปลาไม่แรงเท่าที่ควร ควรเปลี่ยนแนวคลองที่จะขุดเชื่อมกับแม่น้ำท่าจีน เป็นที่บางไผ่นาทแทน เพราะกระแสน้ำจากแม่น้ำท่าจีน ที่ไหลมาบริเวณนี้จะแรงกว่า และจะไหลเข้าสู่คลองขุดใหม่นี้ดีกว่าแนวเดิม พระราชาภิมณฑ์จึงทำหนังสือกราบบังคมทูลของพระบรมราชานุญาตเปลี่ยนแนวเส้นทางการขุดคลองใหม่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชานุญาตตามที่ขอ
ซึ่งในพ.ศ.2440 พระราชาภิมณฑ์ได้ถึงแก่กรรม แต่การขุดคลองยังคงดำเนินการต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งในระหว่างนั้น นายเลื่อน บุตรของพระราชาภิมณฑ์ ได้ขอพระบรมราชานุญาตขุดคลองต่อจากบิดา แต่ยังไม่ได้รับพระบรมราชานุญาต การขุดคลองก็ได้ยุติไปก่อนในปีพ.ศ.2442 ซึ่งในเวลานั้น การขุดคลองได้ขุดไปถึงตำบลขุนศรี อำเภอบางปลา (อำเภอบางเลน) จังหวัดนครปฐม ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดยอดพระพิมล ตำบลขุนศรี อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี เดิมนามวัดคือ วัดคลองตัน เนื่องจากการขุดคลองมาสิ้นสุดตรงบริเวณนี้
คลองพระราชาพิมลได้ถูกขุดผ่านผ่ากลางท้องทุ่ง ทำให้เกิดนาดีทั้ง 2 ฝั่งคลอง เกิดตลาด และบ้านเรือนต่างๆ เป็นอันมากจนหลวงโยธีพิทักษ์ กล่าวว่า “ ...คลองพระพิมล (ตัวสะกดชื่อคลองใน พ.ศ.2477) เป็นหัวใจของชาวนา เป็นดาราประจำชีวิตของชาวนาบางบัวทอง ถ้าน้ำในคลองพระราชาพิมลแห้งขอดขุ่นข้นชาวนาพ่อค้าพาณิชย์ก็มีหน้าอันกร้านทุกข์ร้อน ถ้าน้ำในคลองพระราชาพิมลท่วมท้นให้ผลดีแก่ข้าว ต้องตามความประสงค์ของการทำนาขณะนั้นชาวนาบางบัวทองก็ปลื้ม พ่อค้าชาวนาก็กระหยิ่มยิ้มย่อง.. ” และเมื่อมีการขุดคลองพระราชาพิมลแล้ว ก็มีการขุดคลองเล็กคลองซอยไปตามคลองพระราชาพิมล กระจายไปทั่วทุกท้องที่ ทำให้มีผู้คนจากที่อื่นๆ พากันอพยพมาตั้งรกรากลงทุนทำมาหากินในท้องที่บางบัวทองกันมากขึ้น ทำให้บางบัวทองมีผู้คนหลายเชื้อสายและเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็วหลวงโยธีพิทักษ์ (โปร่ง สาทิศกุล) นายอำเภอบางบัวทอง กล่าวถึงความสำคัญของคลองพระราชาพิมล ไว้ในสมุดที่ระลึกอำเภอบางบัวทอง ตอนหนึ่งว่า “แม่น้ำเจ้าพระยามีคุณประโยชน์แก่ประเทศสยามอย่างมากมายเพียงใด คลองพระพิมลก็มีประโยชน์อย่างเดียวกัน”
จากหนังสือ “สมุดที่ระลึกอำเภอบางบัวทอง” พ.ศ.2477
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 03/10/2017 5:01 pm    Post subject: Reply with quote

เอกสารชุดรถไฟบางบัวทองดูได้ที่นี่
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=715645761907953&id=508693749269823
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 01/06/2018 12:15 pm    Post subject: Reply with quote

เห็นบทความนี้น่าสนใจก็เลยคัดมาลงไว้ ณ ที่นี้
บุญครอง คันธฐากูร wrote:
รถไฟสายลาดหลุมแก้ว
.......ทางรถไฟสายบางบัวทอง เป็นทางรถไฟราษฎร์ที่เดินรถระหว่างอำเภอบางพลัด จังหวัดธนบุรี กับอำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ตั้งแต่ พ.ศ. 2452 ถึง พ.ศ. 2485 ดำเนินการโดยบริษัทรถไฟสายบางบัวทอง จำกัดสินใช้ ของเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ เดินรถด้วยรถจักรไอน้ำ ใช้รางขนาดเล็ก กว้าง 0.75 เมตร ต่อมาได้ขยายเส้นทางรถไฟไปสิ้นสุดที่ตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี เมื่อ พ.ศ. 2469
.........สถานีต้นทางอยู่บริเวณซอยรถไฟพระยาวรพงษ์ (ปัจจุบันคือซอยจรัญสนิทวงศ์ 46) ใกล้วัดลิงขบ ตรงข้ามกับปากคลองผดุงกรุงเกษม ตัดขวางกับทางรถไฟสายใต้ที่สถานีรถไฟบางบำหรุ อำเภอบางใหญ่ (บางกรวยปัจจุบัน) จังหวัดนนทบุรี ผ่านอำเภอตลาดขวัญและอำเภอบางแม่นาง ไปสิ้นสุดที่อำเภอบางบัวทอง โดยมีเส้นทางแยกออกจากทางหลักที่ตำบลบางสีทองไปยังท่าน้ำบางศรีเมือง ฝั่งตรงข้ามศาลากลางจังหวัดนนทบุรี (หลังเก่า) และที่ตำบลบางเลนไปยังคลองบางกอกน้อย ฝั่งตรงข้ามที่ว่าการอำเภอบางแม่นาง
.......ปัจจุบันแนวทางรถไฟกลายเป็นซอยจรัญสนิทวงศ์ 46 แยก 19, ซอยจรัญสนิทวงศ์ 46 (พระยาวรพงษ์), ซอยจรัญสนิทวงศ์ 57 (วัดรวก), ถนนเทอดพระเกียรติ, ถนนบางกรวย-ไทรน้อย (ช่วงทางแยกเทอดพระเกียรติถึงโค้งสามวังและช่วงทางแยกการไฟฟ้าบางใหญ่ถึงคลองบางกอกน้อย), ถนนเทศบาลบางศรีเมือง ถนนบางศรีเมือง (ช่วงทางแยกบางศรีเมืองถึงท่าน้ำบางศรีเมือง), ถนนบางศรีเมือง-วัดโบสถ์ดอนพรหม (ช่วงต้น), ซอยบางเลน ซอย 21 (วัดบางเลนเจริญ) และถนนเทศบาล 14 (สามวัง) ส่วนระยะทางที่เหลือตั้งแต่ตัวอำเภอบางบัวทองไปจนถึงตัวอำเภอลาดหลุมแก้วยังเหลือร่องรอยคันทางเก่าตัดผ่านท้องนาให้เห็นอยู่บ้าง
***ภาพ รถไฟสายบางบัวทองจริงๆเป็นอย่างนี้ ภาพนี้เลิกกิจการแล้วขายหัวรถจักรให้โรงงานน้ำตาล

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1690071967750375&set=gm.1946028375709184&type=3&theater&ifg=1
**ความเป็นมา**
พ.ศ. 2451 ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ก่อตั้งบริษัทรถไฟสายบางบัวทอง จำกัดสินใช้ โดยสร้างทางรถไฟสายบางบัวทองลงทุนด้วยเงินยืม
พ.ศ. 2458 เริ่มเดินรถไฟสายบางบัวทอง ใช้รถจักรไอน้ำรางกว้างขนาด 75 เซนติเมตร เป็นรถจักรไอน้ำขนาดเล็ก
8 มกราคม พ.ศ. 2465 ได้ทำสัญญากับกรมรถไฟหลวงเพื่อขยายเส้นทางรถไฟ (หลักฐานสัญญาเก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
พ.ศ. 2468 จดทะเบียนตั้งบริษัทรถไฟสายบางบัวทอง จำกัดสินใช้
พ.ศ. 2469 เริ่มการขยายเส้นทางไปวัดระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี
พ.ศ. 2470 ต่อมาปรับปรุงจากรถกำลังไอน้ำ พลังงานฟืน มาเป็นรถราง 4 ล้อ เครื่องเบนซิน โดยใช้น้ำมันตราหอยจากบริษัทอีสต์เอเชียติก ปิโตรเลียม จำกัด ซึ่งปัจจุบันคือน้ำมันเชลล์จากบริษัทเชลล์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) แต่ต่อมาซื้อน้ำมันจากโซโกนี่ (เปลี่ยนชื่อเป็นสแตนดาร์ดแวคัมออยล์ เมื่อปี พ.ศ. 2477) ซึ่งปัจจุบันคือบริษัทเอสโซสแตนดาร์ด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
5 เมษายน พ.ศ. 2473 แก้ไขสัญญาเดินรถไฟบางบัวทองกับกรมรถไฟหลวงเพื่อถอนรางที่อยู่วัดเฉลิมพระเกียรติ ตำบลบางศรีเมือง (ตรงข้ามศาลากลางจังหวัดนนทบุรีเดิมที่ตลาดขวัญ) ให้เดินรถไฟตรงไปที่ท่าน้ำบางศรีเมือง ฝั่งตรงข้ามศาลากลางจังหวัดนนทบุรีแห่งใหม่ที่บางขวาง พร้อมยืดระยะรถไฟจากบางบัวทองไปที่วัดระแหง (หลักฐานสัญญาเก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเช่นกัน)
พ.ศ. 2477 ปรับปรุงรถราง 4 ล้อให้มาใช้น้ำมันดีเซลแทนเพื่อลดค่าใช้จ่าย
19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 เกิดอุบัติเหตุรถราง 4 ล้อรถไฟบางบัวทองชนกัน คนขับช้ำในเสียชีวิตที่โรงพยาบาลกลาง
พ.ศ. 2483 เมื่อบริษัทอีสต์เอเชียติก ปิโตรเลียม จำกัด และสแตนดาร์ดแวคัมออยล์เลิกการจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทย บริษัทรถไฟสายบางบัวทอง จำกัดสินใช้ ต้องซื้อน้ำมันดีเซลจากกรมเชื้อเพลิง กระทรวงกลาโหม (น้ำมันสามทหาร) แทน
16 กรกฎาคม พ.ศ. 2485 ประกาศเลิกกิจการรถไฟบางบัวทอง แล้วดำเนินการถอนรางและรถจักรไปขายบริษัทส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย จำกัด เจ้าของโรงงานน้ำตาลวังกะพี้
กันยายน พ.ศ. 2485 เริ่มการถอนรางและไม้หมอนไปกองรวมกันที่สถานีรถไฟบางบำหรุ
2 มกราคม พ.ศ. 2486 เลิกกิจการรถไฟบางบัวทองอย่างเป็นทางการ
http://www.tri.chula.ac.th/triresearch/bangbuathong/bangbuathong.html
https://www.facebook.com/pichet.chamneam/posts/2370483409632377
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 18/03/2020 11:23 am    Post subject: Reply with quote

แผนที่รถไฟบางบัวทองสมัย ก่อนการย้ายรางจากข้างวัดเฉลิมพระเกียรติ ไปที่ท่าน้ำบ่างศรีทอง เมื่อปี 2473 ได้จากแผนที่กรุงเทพ ที่กรมแผนที่หารจัดพิมพ์ เมื่อปี 2474 และ ได้มีการจัดพิมพ์อีกหนเมื่อปี 2530
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=219680181507236&set=a.104123819729540&type=3&theater
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 02/03/2021 2:55 pm    Post subject: Reply with quote

Click on the image for full size
นี่ครับแผนที่แนบท้ายสัญญา เมื่อ 5 เมษายน พ.ศ. 2473
http://2bangkok.com/2bangkok-srt-srt-history.html

Wisarut wrote:
เห็นบทความนี้น่าสนใจก็เลยคัดมาลงไว้ ณ ที่นี้
บุญครอง คันธฐากูร wrote:
รถไฟสายลาดหลุมแก้ว
.......ทางรถไฟสายบางบัวทอง เป็นทางรถไฟราษฎร์ที่เดินรถระหว่างอำเภอบางพลัด จังหวัดธนบุรี กับอำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ตั้งแต่ พ.ศ. 2452 ถึง พ.ศ. 2485 ดำเนินการโดยบริษัทรถไฟสายบางบัวทอง
5 เมษายน พ.ศ. 2473 แก้ไขสัญญาเดินรถไฟบางบัวทองกับกรมรถไฟหลวงเพื่อถอนรางที่อยู่วัดเฉลิมพระเกียรติ ตำบลบางศรีเมือง (ตรงข้ามศาลากลางจังหวัดนนทบุรีเดิมที่ตลาดขวัญ) ให้เดินรถไฟตรงไปที่ท่าน้ำบางศรีเมือง ฝั่งตรงข้ามศาลากลางจังหวัดนนทบุรีแห่งใหม่ที่บางขวาง พร้อมยืดระยะรถไฟจากบางบัวทองไปที่วัดระแหง (หลักฐานสัญญาเก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเช่นกัน)

http://www.tri.chula.ac.th/triresearch/bangbuathong/bangbuathong.html
https://www.facebook.com/pichet.chamneam/posts/2370483409632377
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 24/01/2022 1:03 am    Post subject: Reply with quote

ตอม่อเก่าของสะพานข้ามคลองลำรี ทางรถไฟสายบางบัวทอง(ช่วงปี พ.ศ. 2458–2486) อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี
https://www.facebook.com/groups/429224380754014/posts/1675818539427919/
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> สาระความรู้วิชาการรถไฟและประวัติศาสตร์รถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... , 24, 25, 26  Next
Page 25 of 26

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©