Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai.Com

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311283
ทั่วไป:13264867
ทั้งหมด:13576150
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - รวมข่าวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคตตามนโยบายรัฐบาล
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

รวมข่าวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคตตามนโยบายรัฐบาล
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 109, 110, 111 ... 278, 279, 280  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคต
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44541
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 27/02/2015 2:24 pm    Post subject: Reply with quote

“ประจิน” ห่วงสร้างรถไฟสะดุด
บ้านเมือง วันศุกร์ ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558, 05.35 น.

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ มีมติให้กระทรวงคมนาคมเปลี่ยนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ร่วมทุน ที่จะนำมาใช้ในการพิจารณางานเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย บางซื่อ-ท่าพระ กับหัวลำโพง-บางแค จากเดิมการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ใช้ พ.ร.บ.เข้าร่วมงานหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 มาเป็นพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 เนื่องจากขณะนี้ รฟม.ได้เดินหน้าการพิจารณาตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2535 จนเกือบได้ข้อยุติแล้ว หากต้องเปลี่ยนมาใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2556 ก็อาจต้องเริ่มต้นกระบวนการทำงานใหม่ทั้งหมด

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เร่งหารือกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ว่าควรดำเนินการอย่างไรในประเด็นการเปลี่ยน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เพื่อเตรียมนำเสนอที่ประชุม ครม. ในวันที่ 3 มีนาคมนี้

“ในการประชุม ครม.เศรษฐกิจ ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมมิได้นำเสนอประเด็นการเปลี่ยน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ โดยได้เสนอแค่ 2 เรื่อง คือ

1.ขอยกเลิกมติ ครม.ปี 2553 ที่อนุมัติให้ใช้รูปแบบ PPP แบบ Gross Cost คือ รัฐลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และจัดเก็บค่าโดยสาร ส่วนเอกชนลงทุนระบบรถไฟฟ้าทำหน้าที่เดินรถแล้วจ่ายเป็นเงินค่าจ้างแบบกำหนดราคาคงที่ เช่น เดียวกับสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) โดยเปลี่ยนเป็นการจ้างงานแบบ PPP แบบ Net Cost Concession (NC) คือ รัฐบาล เป็นผู้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนเอกชนจะได้รับสิทธิในการรับสัมปทาน เก็บค่าโดยสารและแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ เช่นเดียวกับสัญญาสัมปทานเดินรถสายเฉลิมรัชมงคล เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกัน

2.เสนอให้เจรจากับเอกชนรายเดิมที่ให้บริการสายเฉลิมรัชมงคลปัจจุบัน โดยไม่ต้องเปิดประกวดราคา เพื่อให้เกิดการเดินรถต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประชาชนมากกว่า ขณะที่รัฐก็ได้ประโยชน์ ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบ ที่กระทรวงคมนาคมเสนอทั้งหมด”
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42709
Location: NECTEC

PostPosted: 01/03/2015 7:48 pm    Post subject: Reply with quote

เร่งผลักดันเมกะโปรเจ็กต์ชุดใหญ่
ออนไลน์เมื่อวันอังคารที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 12:46 น.
โดย กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ อสังหา REAL ESTATE -
คอลัมน์ : อสังหาฯ REAL ESTATE
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,028 วันที่ 19 - 21 กุมถาพันธ์ พ.ศ. 2558

คมนาคมดันเมกะโปรเจ็กต์ต่อเนื่องอีกชุดใหญ่ ตั้งแท่นให้"ประจิน"นำเข้าครม. มีโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ส่วนต่อขยาย ช่วงพญาไท-บางซื่อ รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน สายสีชมพูและสายสีเหลือง พร้อมกับเร่งสรุปรูปแบบการลงทุนมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-นครราชสีมาและบางใหญ่-กาญจนบุรี ในสัปดาห์นี้
alt นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมที่พร้อมจะเสนอ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ส่วนต่อขยาย ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง รถไฟสายสีแดงอ่อน ช่วงมิสซิ่งลิงค์(บางซื่อ-พญาไท-หัวหมาก)และสายสีแดงเข้ม(บางซื่อ-หัวลำโพง) รถไฟฟ้าสายสีชมพู เส้นทางปากเกร็ด-มีนบุรี และสายสีเหลือง เส้นทางลาดพร้าว-สำโรง
โดยเฉพาะเส้นทางส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงค์นั้นควรจะสร้างไปพร้อมกับสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิตในปัจจุบันให้ต่อเนื่องกันไป เนื่องจากอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เช่นเดียวกับสายสีแดง(มิสซิ่งลิงค์)ก็ควรจะสร้างให้แล้วเสร็จและเปิดบริการต่อเนื่องกันไปเพื่อความสะดวกการก่อสร้างและการปิดเส้นทางจราจรช่วงระหว่างก่อสร้างนั่นเอง ปัจจุบันสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิตอยู่ระหว่างการปรับแบบก่อสร้างจาก 3 แทร็กเป็น 4 แทร็กเพื่อให้การเดินรถสะดวกรวดเร็วขึ้น
"ขณะนี้รถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองมีความพร้อมนำเสนอครม.ให้ดำเนินการมากที่สุด ส่วนกระบวนการก่อสร้างจะเป็นอย่างไรนั้น รฟม.จะดำเนินการต่อหลังจากที่ครม.อนุมัติให้ดำเนินการแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบก่อสร้างที่จะต้องกำหนดเทคโนโลยีให้สอดคล้องกันเนื่องจากเป็นระบบโมโนเรล ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเฉพาะหน้าที่จะดำเนินการในภาคปฏิบัติหน้างานต่อไป"
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันออก(ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) เดิมกำหนดว่าเริ่มจากศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นสถานีรฟม.ที่ตั้งอยู่ด้านหน้ารฟม.แทนเพื่อเลี่ยงแนวการผ่านพื้นที่ชุมชนประชาสงเคราะห์ ดินแดงที่ต่อต้านอย่างหนักจนต้องปรับแนวใหม่เป็นผ่านพื้นที่โบสถ์แม่พระ-แยกพระราม 9 มุ่งสู่สถานีรฟม.ซึ่งจะต้องนำเสนอครม.เห็นชอบให้เปิดประมูลในเร็วๆนี้อีกเช่นกัน
ในส่วนความคืบหน้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่นั้นปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณารายละเอียดของผู้ที่ชนะการประกวดราคาเพื่อต่อรองราคาให้สอดคล้องกับราคากลางที่ปรับปรุงใหม่เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับลดลงอย่างมากในขณะนี้ โดยทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)ยืนยันว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมนี้
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42709
Location: NECTEC

PostPosted: 07/03/2015 1:25 am    Post subject: Reply with quote

อดีตรองผู้ว่ากทม.โพสต์เปรียบเทียบสร้างทางด่วนชั้นที่ 3 กับโมโนเรล
มติชน
วันที่ 06 มีนาคม พ.ศ. 2558 เวลา 14:51:14 น.


นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและอดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ วันที่ 6 มีนาคมว่า



ทางด่วนขั้นที่ 3 “แพงกว่า-มีผลเสียมากกว่า” โมโนเรล



รัฐบาลกำลังจะเดินหน้าก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ เพื่อรองรับกระแสการจราจรระหว่างบางใหญ่กับถนนกรุงเทพฯ-ชลบุรีสาย ใหม่ โดยจะก่อสร้างบนถนนรัตนาธิเบศร์ ถนนงามวงศ์วาน ถนนประเสริฐมนูกิจ ถนนนวมินทร์ ถนนเสรีไทย และถนนรามคำแหง



ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ผมได้เสนอให้เปลี่ยนจากการก่อสร้างทางด่วนเป็นโมโนเรลหรือรถไฟฟ้ารางเดี่ยวเพราะใช้เงินลงทุนถูกกว่าแต่ก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าดังที่ผมได้เปรียบเทียบไว้ในตารางและอธิบายได้ดังนี้



1. ค่าก่อสร้าง (รวมค่าเวนคืน และค่าใช้จ่ายอื่น)



ในกรณีทางด่วนขั้นที่ 3 ใช้ค่าก่อสร้างเฉลี่ย 2,562 ล้านบาท/กิโลเมตร ในขณะที่รถไฟฟ้ารางเดี่ยวใช้ค่าก่อสร้างเฉลี่ย 1,643 ล้านบาท/กิโลเมตร (ข้อมูลจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู) นั่นคือค่าก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 แพงกว่าค่าก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเดี่ยวถึง 56%







2. ความกว้างของเขตทาง



โดยทั่วไปทางด่วนขนาด 6 ช่องจราจร จะต้องใช้เขตทางประมาณ 30 เมตร ในขณะที่รถไฟฟ้ารางเดี่ยวใช้เขตทางแคบๆ ประมาณ 6-7 เมตร เท่านั้น เป็นผลให้แทบไม่ต้องเวนคืนที่ดิน หรือเวนคืนน้อยมาก



3. ความจุหรือขีดความสามารถในการขนรถหรือผู้โดยสาร



ทางด่วนสามารถรองรับรถได้ 6,000 คัน/ชั่วโมง/ทิศทาง จำนวนรถในที่นี้ได้แปลงรถทุกชนิดเป็นรถเก๋ง ซึ่งจากข้อมูลที่มีการสำรวจในกรุงเทพฯ พบว่า รถเก๋ง 1 คัน มีคนนั่งเฉลี่ย 1.2 คน ดังนั้น ความสามารถในการขนคนของทางด่วนเท่ากับ 7,200 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง ในขณะที่รถไฟฟ้ารางเดี่ยวสามารถขนผู้โดยสารได้ถึง 15,000-40,000 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของตู้รถไฟ จำนวนตู้รถไฟในขบวน และความถี่ในการปล่อยขบวนรถไฟ



4. ผลกระทบด้านการเวนคืน



เนื่องจากเขตทางของทางด่วนกว้างประมาณ 30 เมตร ดังนั้นการก่อสร้างทางด่วนจะต้องเวนคืนที่ดินและทรัพย์สินจำนวนมากในหลายพื้นที่ ทำให้ประชาชนจำนวนมากได้รับเดือดร้อน ในกรณีของทางด่วนขั้นที่ 3 การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จะต้องจ่ายค่าเวนคืนถึง 44,133 ล้านบาท หรือคิดเป็น 40.2% ของมูลค่าโครงการ ในขณะที่การก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเดี่ยวแทบไม่ต้องเวนคืนที่ดิน เนื่องจากใช้เขตทางแคบ



5. ผลกระทบด้านเสียงและการสั่นสะเทือน



ผู้ที่พักอาศัยอยู่ใกล้ทางด่วนคงรู้ดีถึงความเดือดร้อนจากเสียงดังและการสั่นสะเทือนซึ่งต่างจากผู้ที่อยู่ใกล้รถไฟฟ้ารางเดี่ยวเนื่องจากจะมีผลกระทบด้านเสียงและการสั่นสะเทือนน้อยมาก



6. ผลกระทบด้านมลภาวะ



การก่อสร้างทางด่วนจะทำให้มีการใช้รถเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มีการปล่อยอากาศเสียและฝุ่นละอองเพิ่มขึ้นอีกมาก พื้นที่ที่น่าเป็นห่วงอย่างมากก็คือบริเวณที่มีรถไฟฟ้าสายสีม่วง เนื่องจากจะทำให้อากาศเสียจากรถที่วิ่งใต้ทางด่วนลอยขึ้นสู่ข้างบนได้ยาก เพราะมีทั้งรถไฟฟ้าและทางด่วนปิดทับอยู่ เป็นผลให้ผู้ที่อยู่ใกล้ทางด่วนจำเป็นต้องสูดอากาศเสียอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน สุขภาพของคนเหล่านั้นจะเป็นเช่นไร



ได้รับทราบข้อมูลเปรียบเทียบเหล่านี้แล้ว คงไม่สายที่รัฐบาลจะเปลี่ยนใจหันไปก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเดี่ยวหรือโมโนเรลแทนทางด่วนขั้นที่ 3 นะครับ
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42709
Location: NECTEC

PostPosted: 10/03/2015 7:14 pm    Post subject: Reply with quote

เดินหน้าใช้ตั๋วร่วมได้ปี 59

วันอังคาร 10 มีนาคม 2558 เวลา 15:49 น.

คมนาคม ชง ครม.ขอตั้งคณะกรรมการระดับชาติ–บริษัทร่วมทุน คุมตั๋วร่วม คาด ส.ค. 59 นำร่อง บีทีเอส –ทางด่วน สายสีม่วง

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อทำหน้าที่กำกับการบริหารจัดการตั๋วร่วม จัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน รับผิดชอบดูแลระบบตั๋วร่วมและศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง ซึ่งสนข.จะเสนอรายละเอียดทั้งหมดยังกระทรวงคมนาคม ภายในสัปดาห์หน้า จากนั้นเสนอขออนุมัติจากครม.ต่อไป

ทั้งนี้ การจัดทำบัตรตั๋วร่วม เพื่อรองรับการใช้งานโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ๆในอนาคต ให้เชื่อมต่อใช้กับตั๋วร่วมได้ทันที เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบาง-บางซื่อ กำหนดให้บริการปี 59 และรถไฟฟ้าสายอื่นๆ รวมถึงเรือด่วนเจ้าพระยา รถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) หากมีความพร้อมจะใช้งานได้

การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชนนั้น จะอยู่ในรูปของบริษัทจำกัด ภายใต้กระทรวงคมนาคม ซึ่งมีภาครัฐถือหุ้นใหญ่ไม่เกิน 50% ขณะที่ขั้นตอนการจัดตั้งบริษัทจำกัดคาดใช้เวลา 1 ปี ส่วนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการให้บริการจะแบ่งเป็น กลุ่มรถเมล์ที่มีต้นทุนต่ำที่สุดอยู่คิด 1.4% ส่วนรถไฟฟ้าคิดอัตรา 1.5% ทางด่วนคิด 1.8% ส่วนร้านค้าที่ร่วมด้วยไม่เกิน 1.5%

นายเผด็จ ประดิษฐ์เพชร ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลางว่า ใน 6 เดือนแรก ตั้งแต่เดือน ก.พ.-ก.ค.58 จะเป็นการออกแบบระบบ อีก 6 เดือนต่อมาเดือนส.ค.58 -ก.พ.59 จะใช้ติดตั้งระบบ และช่วงเดือนมี.ค.–ส.ค.59 เป็นช่วงการทดสอบระบบ ดังนั้นตั้งแต่เดือน ส.ค.59 เป็นต้นไป จะนำร่องใช้กับรถไฟฟ้าบีทีเอส และทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จากนั้นจะขยายเพื่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าใต้ดินและรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์)

ส่วนของรูปแบบของบัตรตั๋วร่วมที่จะนำมาให้บริการมี3 ประเภท คือ บัตรที่ไม่มีการลงทะเบียน เมื่อเติมเงินและบัตรหายจะไม่สามารถขอคืนวงเงินในบัตรได้ บัตรที่มีการลงทะเบียน เมื่อบัตรหายสามารถขอคืนวงเงินส่วนที่เหลือในบัตรได้ และบัตรที่ระบุขื่อบุคคล สามารถเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลสวัสดิการภาครัฐหรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งบริษัทเอกชนจะมีสิทธิประโยชน์ให้กับพนักงานก็สามารถกำหนดได้

//-------------------------

ชงตั้งคณะกก.คุมตั๋วร่วมระดับชาติ สัปดาห์หน้าผ่านคค.เสนอครม.ต่อ รัฐถือ 50% ที่เหลือเปิดทางเอกชน
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
วันพุธ 11 มีนาคม 2558 เวลา 13:00:28 น.


มติคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เสนอตั้งคณะกรรมการระดับชาติดูแลบริหารตั๋วร่วม เปิดโอกาสให้เอกชนในและต่างชาติเข้าตั้งบริษัทร่วมทุน รัฐถือหุ้นไม่เกิน 50% เสนอคมนาคมเห็นชอบก่อนเสนอ ครม.อนุมัติสัปดาห์หน้า กำหนดเสร็จใน 1 ปี

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมว่า ที่ประชุมเห็นชอบการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ทำหน้าที่ในการกำกับการบริหารจัดการตั๋วร่วม และการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน เพื่อมารับผิดชอบดูแลระบบตั๋วร่วมและศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง โดยรายละเอียดทั้งหมดสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในสัปดาห์หน้า จากนั้นจะเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

นางสร้อยทิพย์กล่าวว่า คณะกรรมการระดับชาติจะมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ส่วนการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน จะอยู่ในรูปของบริษัทจำกัดภายใต้กระทรวงคมนาคม เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน ซึ่งจะมาจาก 3 ส่วนคือ

1.ภาครัฐถือหุ้นใหญ่ไม่เกินร้อยละ 50
2.ผู้เชี่ยวชาญระบบจากต่างประเทศที่จะเข้ามาดำเนินการและบำรุงรักษาระบบ โดยจะใช้วิธีเปิดประมูล และ
3. เจรจากับเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการรถไฟฟ้า

ซึ่งขั้นตอนการจัดตั้งบริษัทจำกัด คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี

สำหรับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการให้บริการ จะแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ รถเมล์จะมีต้นทุนต่ำที่สุดคิดอัตราร้อยละ 1.4 รถไฟฟ้าคิดอัตราร้อยละ 1.5 ทางด่วนคิดอัตราร้อยละ 1.8 ส่วนร้านค้าที่เข้าร่วมไม่เกินร้อยละ 1.5

นายเผด็จ ประดิษฐ์เพชร ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สนข. กล่าวว่า ความคืบหน้าการจัดทำระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง กลุ่มบีเอสวี ซึ่งชนะการประมูลเป็นผู้ดำเนินการ โดยขั้นตอนช่วง 18 เดือนแรกจะเตรียมการและดำเนินการ ดังนั้น 6 เดือนแรกคือ ตั้งแต่กุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2558 จะเป็นการออกแบบระบบ อีก 6 เดือนต่อมาคือ สิงหาคม 2558 -กุมภาพันธ์ 2559 เป็นการติดตั้งระบบ และช่วงมีนาคม-สิงหาคม 2559 เป็นช่วงการทดสอบระบบ ดังนั้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 เป็นต้นไป จะนำร่องใช้ระบบตั๋วร่วมกับรถไฟฟ้าบีทีเอสและทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จากนั้นจะขยายเพื่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าใต้ดินและรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เป็นต้น

นายเผด็จกล่าวว่า รูปแบบของบัตรตั๋วร่วมที่จะนำมาให้บริการมี 3 ประเภท คือ
1.บัตรที่ไม่มีการลงทะเบียน เมื่อเติมเงินแล้วบัตรหายจะไม่สามารถนำเงินที่เหลือกลับมาใช้ได้

2.บัตรที่มีการลงทะเบียน เมื่อบัตรหายสามารถนำเงินที่เหลืออยู่ในบัตรกลับมาใช้ได้เหมือนเดิม และ

3.บัตรที่ระบุชื่อบุคคล สามารถเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลสวัสดิการภาครัฐหรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้ ซึ่งบัตรประเภทนี้บริษัทเอกชนสามารถให้สิทธิประโยชน์กับพนักงานที่ใช้บัตรได้ด้วย


//---------------------
ชง ครม.ตั้งกรรมการระดับชาติ ฝัน“ตั๋วร่วม”ขยับใกล้ความจริง
โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์
วันพุธ 11 มีนาคม 2558 05:30

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ โดยมี รมว.คมนาคม เป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่กำกับการบริหารจัดการตั๋วร่วม จัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน รวมถึงรับผิดชอบดูแลระบบตั๋วร่วมและศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง ซึ่งรายละเอียดของการจัดตั้งทั้งหมด สนข.จะเสนอเรื่องมายังกระทรวงคมนาคมภายในสัปดาห์หน้า จากนั้นเสนอขออนุมัติจาก ครม.ต่อไป

ทั้งนี้ การจัดทำบัตรตั๋วร่วม มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการใช้งานโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ๆในอนาคต ให้เชื่อมต่อใช้กับตั๋วร่วมได้ทันที เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ กำหนดให้บริการปี 59 และรถไฟฟ้าสายอื่นๆ รวมถึงเรือด่วนเจ้าพระยา รถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) หากพร้อมจะสามารถใช้งานได้

ด้านนายเผด็จ ประดิษฐ์เพชร ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สนข. กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลางว่า จะใช้เวลาการออกแบบระบบ อีก 6 เดือน ใช้ติดตั้งระบบ ต่อจากนั้นเป็นการทดสอบระบบ โดยตั้งแต่เดือน ส.ค.59 เป็นต้นไป จะนำร่องใช้กับรถไฟฟ้าบีทีเอส และทางด่วน จากนั้นจะขยายเพื่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าใต้ดินและรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์).

//------------------
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42709
Location: NECTEC

PostPosted: 12/03/2015 5:42 pm    Post subject: Reply with quote

คมนาคมเดินหน้าจัดทำระบบตั๋วร่วมนำร่องต้นปี 59
Written by: กอง บก.ข่าวเศรษฐกิจ
สำนักข่าวไทย
12 มีนาคม 2558 12:06 PM

ก.คมนาคม 12 มี.ค. – กระทรวงคมนาคมเดินหน้าจัดทำระบบตั๋วร่วม ระบบขนส่ง เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลอีก 2 สัปดาห์ พร้อมนำร่องใช้ระบบตั๋วร่วมต้นปี 59

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานงานแถลงเปิดเดินหน้าระบบตั๋วร่วมและมาตรฐานบัตร โดยมีผู้บริหารสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ผู้บริหารบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส และบริษัทที่ปรึกษาเข้าร่วม

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้าจะมีการเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการกำกับนโยบายตั๋วร่วม เพื่อให้การผลักดันระบบตั๋วร่วมมีความสำคัญระดับชาติและเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว โดยคณะกรรมการดังกล่าวเสนอให้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน นอกจากนี้ จะมีการเร่งเดินหน้าจัดตั้งบริษัทจำกัด เพื่อจัดการระบบตั๋วหรือ CTC เพื่อให้การบริหารจัดเก็บรายได้ด้วยเคลียร์ริ่งเฮ้าส์มีประสิทธิภาพ เบื้องต้นเชื่อว่าจะสามารถนำระบบตั๋วร่วมเริ่มใช้ได้ต้นปี 2559 ซึ่งจะมีระบบขนส่งต่าง ๆ เข้าร่วม ทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ ระบบรถเมล์โดยสารเอ็นจีวี ระบบเรือโดยสาร และอาจจะมีระบบทางด่วนต่าง ๆ เข้าร่วมด้วย ส่วนระบบขนส่งมวลชนเส้นทางใหม่ ๆ เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วงก็สามารถร่วมกับระบบได้ทันที หลังการก่อสร้างเสร็จและเปิดเดินรถ

//-------------

คนกรุงเฮ!ปี59พกตั๋วเดียวใช้ได้ทุกระบบ
TNN24 News
12 มีนาคม 2558 , 14.22 น.



คนกรุงเตรียมเฮ! คมนาคมเปิดเเผนระบบตั๋วร่วม นำร่องปี59พกตั๋วร่วมบัตรเดียวใช้ได้ทุกการเดินทาง

วันนี้ (12มี.ค.58) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรได้มีการลงนามในสัญญาจ้างโครงการจัดทำระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลางกับกลุ่มบีเอสวี เพื่อออกแบบและพัฒนาระบบตั๋วร่วม ที่รองรับการใช้งานในภาคการขนส่งสาธารณะทุกรูปแบบและนอกภาคขนส่ง ให้ครอบคลุมการใช้งานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นในส่วนค้าปลีกและเชิงพาณิชย์ต่างๆเช่น ร้านสะดวกซื้อ 7-11 ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนต์ ที่ในปัจจุบันได้มีการเริ่มดำเนินโครงการออกแบบและพัฒนาระบบต้นแบบสำหรับขนส่งมวลชน โดยภายในสิ้นปี 2559 ตั๋วเฟสแรกจะสามารถใช้เชื่อมต่อได้กับระบบ BTS/MRT/แอร์พอร์ตลิงก์ ก่อนขยายเข้าสู่เครือข่ายอื่นๆ ในปี 2560-2561 ทั้งมอเตอร์เวย์ ทางด่วน และระบบรถไฟฟ้าทุกเส้นทางจะเข้าสู่ระบบตั๋วร่วม ส่งผลดีให้ผู้ประกอบการได้ลดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าบริหารจัดการลงจากปัจจุบัน 3% เเต่เมื่อเข้าระบบตั๋วร่วมแล้วค่าบริหารจัดการจะเหลือเพียงแค่ 1% เท่านั้น

สำหรับในปัจจุบันที่มีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสวันละกว่า7 แสนคน และทางด่วนอีกกว่า 1 แสนคน จึงทำให้คาดการณ์ว่าเมื่อระบบนี้สามารถใช้บริการได้แล้ว จะมียอดผู้ใช้งานกว่าล้านคน

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าระบบตั๋วร่วมเป็นโครงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญและต้องการให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเดินทาง อีกทั้งเพื่อพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในประเทศไทย และการคมนาคมด้านอื่น ๆ ให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับต่างประเทศผ่านระบบตั๋วร่วม ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อภาครัฐ ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะประชาชนผู้ใช้บริการทำให้ประหยัดเวลาในการเดินทาง และค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม แผนเดินหน้าระบบตั๋วร่วมถือเป็นก้าวที่สำคัญของระบบตั๋วร่วม รวมทั้งการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และกลุ่มบริษัท บีเอส วี ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดทำศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง ที่จะร่วมขับเคลื่อนระบบตั๋วร่วมให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างสมบูรณ์แบบ ภายใต้กรอบการดำเนินงานและระยะเวลาที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)ได้กำหนดไว้

สำหรับการจัดตั้งบริษัทจำกัดนั้น จะเป็นลักษณะเอกชนที่มีภาครัฐถือหุ้นร้อยละ 40 และใช้ทุนเริ่มต้นประมาณ 600 ล้านบาท ซึ่งจำนวนดังกล่าวจะใช้เป็นเงินปรับปรุงระบบร่วมที่จะอำนวยความสะดวกในการเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าต่าง ๆ ปัจจุบัน วงเงินทั้งสิ้น 244 ล้านบาท ส่วนประโยชน์ที่จะได้รับหลังมีระบบตั๋วร่วม ประชาชนจะมีการเชื่อมต่อระบบขนส่งได้อย่างคล่องตัวและคณะกรรมการกำกับนโยบายตั๋วร่วมที่มี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน จะมีการกำหนดอัตราค่าโดยสารต่าง ๆ เชื่อว่าจะช่วยให้ค่าโดยสารถูกลงจากการที่สามารถลดค่าแรกเข้าระบบรถต่าง ๆ ลงได้ โดยในส่วนค่าแรกเข้าลดได้อย่างน้อยร้อยละ 10-20.-
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42709
Location: NECTEC

PostPosted: 13/03/2015 3:17 am    Post subject: Reply with quote

“ประจิน” สั่งขยับแผนนำร่องใช้ตั๋วร่วม ม.ค. 59 บีบลดค่าโดยสารขนส่งทุกโหมด
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
12 มีนาคม 2558 15:56 น. (แก้ไขล่าสุด 12 มีนาคม 2558 17:14 น.)


“ประจิน” สั่งเร่งเปิดทดสอบระบบตั๋วร่วม ม.ค.-ก.พ. 59 นำร่องรถไฟฟ้า 3 สาย และทางด่วน และใช้กับระบบขนส่งทุกประเภทในปี 60-61 และเตรียมตั้งบริษัทร่วมทุน (CTC) เพื่อบริหารจัดการรายได้กลาง ยันค่าโดยสารขนส่งสาธารณะต้องลดลง เหตุระบบตั๋วร่วมทำให้ค่าใช้จ่ายผู้ประกอบการด้านบุคลากรและจัดเก็บค่าโดยสารลดลงจาก 3% เหลือ1% ด้าน BTS ยันไม่มีปัญหาถ้าต้นทุนลดลงจริง

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดแผนเดินหน้าระบบตั๋วร่วมและมาตรฐานบัตร วันนี้ (12 มี.ค.) ว่า ได้เร่งรัดแผนการออกแบบติดตั้งและทดสอบให้แล้วเสร็จและสามารถใช้ระบบตั๋วร่วมนำร่องในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2559 โดยมีโครงการนำร่องคือ รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT, รถไฟฟ้าบีทีเอส, ทางด่วน 1 เส้นทาง และรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) รวมถึงรถเมล์ NGV ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และ BRTของกรุงเทพมหานคร (กทม.) และจะสามารถใช้บัตรใบเดียวเดินทางได้กับรถไฟฟ้าทุกสายและขนส่งทุกระบบ รวมถึงร้านค้าสะดวกซื้อและธนาคารต่างๆ ในปี 2560 -2561

ทั้งนี้ ระบบตั๋วร่วมจะทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกในการใช้บริการ ในขณะเดียวกันจะทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการขนส่งแต่ละรายลดลง โดยตามแผนจะมีการตั้งคณะกรรมการระดับนโยบายที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ทำหน้าที่กำหนดนโยบายด้านการขนส่งและกำหนดมาตรการและบทบาทของหน่วยงานระบบขนส่งและพิจารณากรอบอัตราค่าโดยสารร่วม ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อจัดตั้ง โดยเมื่อระบบขนส่งทุกประเภทใช้ระบบตั๋วร่วมหมดแล้ว บัตรมาตรฐานนี้จะมีโครงสร้างที่สามารถรองรับการจัดทำเที่ยวโดยสารร่วม (CTP-Common Trip Pass) รองรับการกำหนดค่าโดยสารพิเศษสำหรับกลุ่มเป้าหมายเช่น เด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุได้

“เบื้องต้นได้เร่งรัดให้ปรับแผนการดำเนินงานจากเดิมที่จะมีการวางและพัฒนาระบบ 18 เดือน หรือประมาณเดือนสิงหาคม 2559 จึงจะทดสอบระบบได้ เป็นภายใน 10 เดือนหรือเริ่มทดสอบในเดือนมกราคม 2559 ซึ่งประชาชนใน กทม.มีหลายล้านคนประเมินว่าจะมีผู้ถือตั๋วร่วมจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งช่วงเริ่มต้นจะมีผู้โดยสาร BTS วันละ กว่า 7 แสนคน ผู้ใช้ทางด่วนอีกวันละแสนคน” พล.อ.อ.ประจินกล่าว

ด้านนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ผู้บริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม (CTC) นั้นหลักการจะจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัด รัฐถือหุ้นไม่เกิน 50% เพื่อไม่ให้เป็นรัฐวิสาหกิจ โดยใช้วิธีลงทุนแบบรัฐร่วมทุนเอกชน (Public private Partnership : PPP) โดยร่วมทุน 3 ฝ่าย คือ 1. ภาครัฐ ถือหุ้นประมาณ 40% 2. ภาคเอกชนที่ให้บริการเดินรถไฟฟ้า เช่น บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS, บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL สัดส่วนประมาณ 20% 3. ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการระบบ ซึ่งเป็นบริษัทจากต่างประเทศ สัดส่วนประมาณ 40% โดยใช้วิธีเปิดประกวดราคานานาชาติ (International Bidding) ซึ่งสัดส่วนหุ้นดังกล่าวยังไม่สรุป อยู่ระหว่างประเมินความเหมาะสม โดยในช่วงนี้ได้มีการตั้งหน่วยธุรกิจ (BU) ตั๋วร่วม ภายใต้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อให้ทำหน้าที่บริหารการให้บริการตั๋วร่วมก่อน

โดย CTC จะเป็นผู้ดำเนินการปรับปรุงระบบตั๋วร่วมให้ และคิดค่าบริการในการบริหาร บำรุงรักษาและจัดเก็บรายได้กลาง หรือค่าธรรมเนียมการใช้ (Transaction Fee) จากผู้ประกอบการขนส่งแต่ละรายประมาณ 1% ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนบุคลากรและค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บค่าโดยสารของผู้ประกอบการแต่ละรายในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่กว่า 3% ของค่าใช้จ่ายรวม ดังนั้น เมื่อผู้ประกอบการขนส่งประหยัดค่าใช้จ่ายลงจะสามารถลดค่าโดยสารลงได้ โดยเฉพาะค่าแรกเข้าประมาณ 15 บาท จะต้องมีการพิจารณาว่าจะปรับลดลงได้อย่างไร นอกจากนี้ CTC จะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมในการใช้งานร่วมกับร้านค้าซึ่งจะเจรจากันในรูปแบบธุรกิจ โดยค่าธรรมเนียมสูงกว่าของระบบขนส่ง

ทั้งนี้ คาดว่า CTC จะมีวงเงินลงทุนประมาณ 600 ล้านบาท โดยจะเป็นค่าปรับปรุงระบบรวม 244 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าปรับปรุงระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT 80 ล้านบาท, ระบบ BTS 60 ล้านบาท รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ 60 ล้านบาท ที่เหลือจะเป็นเงินทุนหมุนเวียน และค่าบริหารจัดการอีกกว่า 160 ล้านบาทต่อปี และค่าจัดตั้งสำนักงาน เป็นต้น

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS กล่าวว่า การลดค่าโดยสารลงหลังใช้ระบบตั๋วร่วมนั้นจะต้องหารือกันและดูข้อเท็จจริงในหลายองค์ประกอบ เช่น ค่าใช้จ่ายของบริษัทลดลงจริงหรือไม่ ถ้าลดก็มีโอกาสที่จะลดค่าโดยสารลง ซึ่งตามสัญญาสัมปทานนั้นมีการกำหนดโครงสร้างค่าโดยสารไว้ แต่การปรับลดลงเป็นเรื่องการบริหารจัดการ ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้ลดค่าโดยสารครึ่งราคาให้แก่ผู้สูงอายุ ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีระบุในสัญญา

โดย สนข.ได้ลงนามสัญญาโครงการจัดทำระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House : CCH) ระบบตั๋วร่วม วงเงิน 338 ล้านบาท กับกลุ่มบีเอสวี (BSV) ประกอบด้วย BTS, บริษัท สมาร์ททราฟฟิค จำกัด และบริษัท วิกซ์ โมบิลิตี้ จำกัด เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 และเริ่มงานเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ทำการออกแบบ ติดตั้ง และทดสอบระบบ 18 เดือน จากนั้นจะเป็นการบำรุงรักษา 24 เดือน รวม สัญญา 42 เดือน
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42709
Location: NECTEC

PostPosted: 13/03/2015 5:29 pm    Post subject: Reply with quote

หน้าตาตั๋วร่วมแบบแรกจะเป็นแบบนี้:

ข่าวดีกับชาวกรุงที่ต้องเดินทางด้วยรถสาธารณะในเมืองหลวงแล้วต้องพกบัตรโดยสารหลายๆใบหรือถ้าไม่มีหรือลืมเอามาก็ต้องเสียเวลาต่อคิว โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วนคนจะเยอะมาก ซึ่งหลายคนคาดหวังว่าเมื่อไรจะมีนโยบายให้ใช้บัตรโดยสารเพียงเดียวแล้วสามารถเดินทางด้วยรถสาธาณะทุกรูปแบบก็ได้เสียที เหมือนที่หลายประเทศเค้ามีใช้งานกันมานานแล้ว ดูเหมือนความฝันนั้นจะใกล้ความจริงแล้ว

โดยล่าสุดกระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีจัดตั้งคณะกรรมการกำกับนโยบายตั๋วร่วมใช้ทุนเริ่มต้น 600 ล้านบาทซึ่งจะใช้ปรับปรุงระบบร่วมในการ เข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าต่างๆ คาดว่าจะสามารถเริ่มใช้ระบบตั๋วร่วม ต้นปี 2559 โดยเริ่มจาก รถไฟฟ้าสายสีม่วง หลังการก่อสร้างเสร็จและเปิดเดินรถ รวมทั้งระบบขนส่งอื่นๆ ทั้งรถไฟฟ้า BTS ,รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ,แอร์พอร์ตเรลลิงค์ ,รถโดยสาร NGV, เรือโดยสาร และระบบทางด่วน รวมถึงยังใช้ชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆได้


โดยหลังจากมีระบบตั๋วร่วมแล้วจะมีการกำหนดอัตราค่าโดยสารต่างๆเชื่อว่าจะช่วยค่าโดยสารถูกลงอย่างน้อย 10%-20% จากปัจจุบัน โดยระบบที่จะใช้ตั๋วร่วมก่อนคือทางด่วนและรถไฟฟ้าอย่างน้อย 1 สายทาง คือ รถไฟฟ้า BTS รถไฟฟ้า MRT และ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์
http://www.flashfly.net/wp/?p=115126

เพจ สำนักงานบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (สตร.)
http://www.thaicommonticket.com/index.php/th/
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42709
Location: NECTEC

PostPosted: 16/03/2015 6:48 pm    Post subject: Reply with quote

รฟม.เปลี่ยนใช้ PPP เดินรถสีชมพู-เหลือง ลดความเสี่ยงหวั่นทำเองไม่คล่องตัว


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
16 มีนาคม 2558 09:05 น. (แก้ไขล่าสุด 16 มีนาคม 2558 10:22 น.)



รฟม.กลับลำปรับรูปแบบเดินรถสายสีชมพูและสีเหลืองใช้วิธีร่วมทุนเอกชน (PPP) แทนให้ รฟม.เดินรถเอง หรือ PSC อ้างเหตุเอกชนเดินรถคล่องตัวกว่า มีประสบการณ์มากกว่า และต้องการลดความเสี่ยงรัฐ ชี้แนวคิดตั้งกรมราง และให้ รฟม.เดินรถอย่างเดียวยังไม่ชัด ส่วนเดินรถสีเขียวรอ กทม.ตอบกลับเงื่อนไขใช้คืนค่าก่อสร้าง ไม่สำเร็จจ่อเจรจาตรง BTS แทน

พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าอีก 3 สายที่อยู่ในขั้นตอนการเตรียมเสนอขออนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ขณะนี้ รฟม.อยู่ระหว่างปรับแผนการเดินรถสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) หลังจากที่กระทรวงคมนาคมได้ส่งเรื่องกลับมายัง รฟม.เพื่อให้ปรับรูปแบบงานเดินรถใหม่ จากเดิมที่ รฟม.จะเดินรถเอง หรือ PSC เป็นรูปแบบการร่วมทุนกับเอกชน หรือ PPP เนื่องจากเห็นว่าจะช่วยลดความเสี่ยงและลดภาระของ รฟม.ลง นอกจากนี้ เอกชนยังมีความคล่องตัวและมีประสบการณ์ในการทำงานมากกว่าภาครัฐที่มีระเบียบและขั้นตอนมาก โดยคาดว่าจะสรุปรายละเอียดและเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมได้ภายใน 2 สัปดาห์เพื่อเสนอ ครม.ต่อไป

ทั้งนี้ แนวทางที่ต้องการให้ รฟม.เดินรถเองในเส้นทางใหม่นั้นเพื่อรองรับอนาคตและเป็นการเตรียมบุคลากรสำหรับอนาคตที่จะมีการจัดตั้งกรมรางขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ กำกับดูแลและรับผิดชอบก่อสร้างระบบราง ส่วน รฟม.จะทำหน้าที่เรื่องการเดินรถเท่านั้น ซึ่ง พล.อ.ยอดยุทธกล่าวว่า ตอนนี้นโยบายให้เอกชนรับเดินรถเพื่อลดความเสี่ยงของภาครัฐอีกทั้งการจัดตั้งกรมรางยังไม่ชัดเจนอีกด้วย

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันออก (พระราม 9-มีนบุรี) นั้น รฟม.ได้ส่งรายละเอียดโครงการก่อสร้างไปยังกระทรวงคมนาคมแล้ว หลังจากที่ได้ดำเนินการปรับแนวเส้นทางใหม่เพื่อลดผลกระทบการเวนคืน

สำหรับการเดินรถสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) นั้น พล.อ.ยอดยุทธกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่ง กทม.จะต้องรับหนี้ค่าก่อสร้างงานโยธาแทน รฟม. และหาข้อยุติเรื่องอำนาจการเดินรถนอกเขต กทม. ซึ่งหาก รฟม.สามารถเจรจากับ กทม.ได้ข้อยุติจะเสนอกระทรวงคมนาคมตามขั้นตอน แต่หากตกลงกันไม่ได้ รฟม.จะบริหารจัดการเดินรถเอง โดยอาจจะเจรจาตรงกับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS หรือบริษัทอื่นให้เดินรถได้ โดยจะพยายามให้เสร็จทัน และเปิดเดินรถได้ทันตามแผนปี 2561 ทั้งนี้ รฟม.พยายามเร่งรัดแผนการดำเนินงานเพื่อให้สามารถเปิดเดินรถไฟฟ้าได้ตามแผน
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44541
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 17/03/2015 6:56 am    Post subject: Reply with quote

รถไฟฟ้าสีเขียวมาแน่
โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 17 มี.ค. 2558 05:45

นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ในปี 58 นี้โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 18.2 กิโลเมตร (กม.) จะมีการก่อสร้างแน่นอน โดยจะลงนามกับบริษัทที่ชนะประกวดราคาในเดือน เม.ย.58 นี้ และเริ่มก่อสร้างทันที ส่วนสายสีส้ม ระยะแรก ช่วงพระราม 9-มีนบุรี ได้ปรับแบบใหม่ เพื่อลดผลกระทบจากการเวนคืนที่ดิน ระยะทาง 21.2 กม.นั้น ได้ส่งให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเมื่อเดือน ก.พ.58 และจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ และเมื่อ ครม.อนุมัติแล้วก็เช่นกัน โดยย่านประตูน้ำปรับลดเหลือ 1 สถานี จาก 2 สถานี ซึ่งช่วยลดค่าก่อสร้างได้ คาดจะเสนอ ครม.อนุมัติได้ปีนี้ และเริ่มก่อสร้างได้กลางปี 59 และเมื่อรวมทั้ง 2 ระยะ รถไฟฟ้าสายสีส้ม จะมีความยาวประมาณ 35.4 กม.

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม.และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-บางกะปิ-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) นั้น ได้ส่งรายละเอียดให้กระทรวงคมนาคมแล้ว แต่ต้องจัดทำรายละเอียดการจัดซื้อขบวนรถก่อนที่จะก่อสร้าง เพื่อให้รถไฟฟ้าทั้ง 2 สายนี้ใช้ขบวนรถเหมือนกัน นอกจากนี้ รฟม.ยังได้ศึกษาออกแบบส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงคูคต-ลำลูกกา ระยะทาง 6.5 กม.เสร็จแล้ว และรอเสนอ ครม.ต่อไป อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าในปีนี้จะไม่เกิดปัญหาแรงงานขาด วัสดุอุปกรณ์ขาดแคลน เนื่องจากจะเป็นการทยอยก่อสร้างไม่ได้เริ่มดำเนินการพร้อมกันทั้งหมด.
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42709
Location: NECTEC

PostPosted: 18/03/2015 10:24 pm    Post subject: Reply with quote

รฟม.เบิกฤกษ์เดินรถไฟสายสีม่วงกลางปีหน้า ปี63 เปิดครบทุกสาย
PPTV
18 มีนาคม 2558 เวลา 20:17น.

รฟม.เตรียมเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงบางใหญ่-บางซื่อ ในกลางปีหน้า ส่วนสายต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะเริ่มทยอยเดินรถได้ทั้งหมดในปี 2563

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการฝ่ายบริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ในความรับผิดชอบของ รฟม. 6 สาย ว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ – บางซื่อ ระยะทางประมาณ 23 กม. ที่ขณะนี้ก่อสร้างงานโยธาส่วนใหญ่แล้วเสร็จและอยู่ระหว่างการดำเนินการงานระบบไฟฟ้า คาดว่าจะสามารถเปิดเดินรถได้ ประมาณกลางปีหน้า

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายระยะทาง 27 กม. ในส่วนงานโยธามีความก้าวหน้าประมาณร้อยละ 60 ส่วนการเดินรถ อยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน โดยคาดว่าจะทยอยเปิดการเดินรถตั้งแต่ประมาณกลางปี 2561 ถึงกลางปี 2562

ขณะที่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งเป็นเส้นทางต่อขยายจากโครงการของบีทีเอสของ กทม. แบ่งเป็นส่วนใต้ ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ มีความก้าวหน้าประมาณร้อยละ 51 คาดว่าเมื่อได้ข้อสรุปรูปแบบการเดินรถแล้วจะเปิดเดินรถได้ประมาณต้นปี 2563 และสายสีเขียวส่วนเหนือ ช่วงต่อจากรถไฟฟ้าหมอชิตไปยังสะพานใหม่-คูคต ได้ดำเนินการประกวดราคาแล้วเสร็จ คาดลงนามสัญญาว่าจ้างดำเนินการก่อสร้างในเดือนหน้า และเริ่มก่อสร้างได้ประมาณเดือน มิ.ย. คาดเปิดเดินรถได้ต้นปี 2563 เช่นกัน

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกจากพระราม 9 - มีนบุรี ระยะทาง 21 กม. โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง อยู่ระหว่างการเสนอขออนุมัติเพื่อประกวดราคา ซึ่งจะเริ่มการก่อสร้างปี 2559 - 2560 และเปิดการเดินรถได้ประมาณกลางปี 2563
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคต All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 109, 110, 111 ... 278, 279, 280  Next
Page 110 of 280

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©