RailServe.Com

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai.Com

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311216
ทั่วไป:13151572
ทั้งหมด:13462788
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - รวมข่าวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคตตามนโยบายรัฐบาล
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

รวมข่าวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคตตามนโยบายรัฐบาล
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 61, 62, 63 ... 277, 278, 279  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคต
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44251
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 29/10/2012 9:29 am    Post subject: Reply with quote

'ชัชชาติ' ผงาดตัวจริง ปูวางคุมเมกะโปรเจกต์
โพสต์ทูเดย์ Monday, 29 October 2012 09:12
ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว สุภชาติ เล็บนาค

โดดเด่นใน ครม.ยิ่งลักษณ์ 3 ที่เพิ่งโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งวานนี้ เห็นจะเป็น "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" จาก รมช.คมนาคม ไม่ถึงปีก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดในตำแหน่ง รมว.คมนาคมอย่างรวดเร็ว กล่าวได้ว่า ชัชชาติ เป็นรัฐมนตรีที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ - พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไว้ใจและชอบเรียกใช้ การได้รับเลื่อนชั้นเป็น รมว.
คมนาคม ให้มาคุมอภิมหาโครงการมูลค่ามหาศาลในรัฐบาลชุดนี้

ชัชชาติ อดีตอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้อนอดีตให้ฟังหลังเข้ามาเล่นการเมือง โดยเริ่มแรกเข้ามาเป็นทีมงาน รมว.คมนาคมตั้งแต่สมัยที่ "เฮียเพ้ง" พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ยังเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ 1 กระทั่ง รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ที่มีสันติ พร้อมพัฒน์ เป็น รมว.คมนาคม หรือ

ในสมัยที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เป็นรัฐมนตรี ชัชชาติก็ยังถูกเรียกมาใช้งานอยู่เสมอทำให้ยิ่งลักษณ์ดึงมาเป็น รมช.คมนาคม เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ช่วยอธิการบดี และรองศาสตราจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผู้นี้ ต้องเปลี่ยนเส้นทางชีวิตเข้าสู่สนามการเมืองในที่สุด

หลังจากเป็นรัฐมนตรี ความเด่นของชัชชาติก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อยิ่งลักษณ์มอบหมายให้เขาดูโครงการสำคัญอย่างรถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้า การแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตลอดจนมอบให้เป็นโฆษกคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.)

การวางตัวชัชชาติให้มาเป็น รมว.คมนาคมสะท้อนว่า นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ต้องการขันนอตโปรเจกต์ต่างๆ ทั้งโครงการรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างหลายเส้นทาง โดยเฉพาะโครงการยักษ์ที่รัฐบาลเตรียมกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท มาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานตามแผนยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.)ครอบคลุมด้านการคมนาคมขนส่งทั้งทางบกทางอากาศ ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบ

ชัชชาติบอกกับโพสต์ทูเดย์ก่อนการปรับ ครม.จะมีขึ้นว่า นายกฯ เรียกใช้ทุกคน เพียงแต่เราเป็นวิศวกร จึงโดนเรียกใช้มากหน่อย และด้วยความเป็นนักวิชาการ ก็มีทฤษฎีและรู้วิธีการทำงานอยู่ เลยมีโอกาสได้เอาทฤษฎีไปใช้งานจริง

เวลาสั่งงาน คุยกับข้าราชการ เราลงรายละเอียดได้ เขาก็คงอุ่นใจเหมือนกันที่เรารู้รายละเอียด

นโยบายที่ชัชชาติดูแลอย่างการแก้ปัญหาจราจร เขาโชว์วิสัยทัศน์แบ่งเป็น 3 ระยะ โดย ระยะเร่งด่วน จะแก้ปัญหาในส่วนที่กระทรวงคมนาคมดูแล ด้วยการส่งอธิบดี รองอธิบดี ในกรมต่างๆ ของกระทรวงลงไปดูปัญหา และแก้ทันที เช่น รถเมล์ รถแท็กซี่จอดแช่นานเกิน ก็ให้เจ้าหน้าที่กระฉับกระเฉงมากขึ้น หรือรถลากเข้าสู่พื้นที่ช้า ก็เพิ่มความเร็วขึ้น ส่วนระยะกลาง 3 ปี ได้แก่ การแก้ปัญหาจุดคอขวด จุดกลับรถ 271 จุด รวมถึงจัดหารถเมล์ใหม่ทั้งหมด และระยะยาว 6 ปี หลังมีรถไฟฟ้า 460 กม. รวมถึงรถเมล์ครอบคลุมหมดแล้ว จะมีการเก็บภาษีคนใช้รถส่วนตัวในอัตราก้าวหน้า

ส่วนนโยบายรถไฟความเร็วสูงนั้น เขาบอกว่า ภายใน 5 ปี จะเห็นรถไฟสาย กทม.-พิษณุโลก กทม.-โคราช กทม.-หัวหิน และ กทม.-ระยองโดยรัฐบาลจะไม่สร้างมูลค่าจากราคาตั๋วอย่างเดียว แต่ต้องเพิ่มมูลค่าด้วยการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ริมเส้นทางรถไฟ หรือการจัดจำหน่ายสินค้าโอท็อปในแต่ละสถานีที่รถไฟผ่าน โดยขณะนี้เริ่มมีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค. ทำให้เริ่มเปิดประกวดราคาแบบนานาชาติได้ ภายในไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 ของปี 2556

นอกจากนี้ ชัชชาติยังวางแผนการบริหารบุคคล ด้วยการดึงเอาเด็กรุ่นใหม่ในกระทรวงคมนาคม เข้ามาเป็นทีมงานก่อร่างสร้างองค์กรเพื่อบริหารจัดการรถไฟความเร็วสูงโดยให้เหตุผลว่า ปัจจุบัน อนาคตของประเทศถูกฝากไว้กับคนรุ่นเก่ามากเกินไป และเด็กรุ่นใหม่นั้น สามารถปลูกฝังความคิดเรื่องบริหารจัดการได้ง่ายอีกทั้งยังไม่มีผลประโยชน์ ภายใต้ชื่อโครงการว่า"ฟิวเจอร์ทีม"

"นโยบายกระทรวงคมนาคมอาจจะไม่ซับซ้อนเหมือนนโยบายอื่น แต่ว่าเราไปถูกทางแล้ว เพราะพื้นฐานก็คือต้องลดต้นทุนให้ได้ ทั้งในแง่ของงบประมาณ สิ่งแวดล้อม และมลพิษเราทำรถไฟ หรือรถไฟฟ้าเพื่ออะไรก็เพื่อลดต้นทุนในแง่การเดินทาง ในแง่มลพิษ ส่งสินค้าก็ถูกลง ขณะเดียวกันคุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้นผมก็คิดว่ามาถูกทางแล้ว"

ส่วนในภาพใหญ่ ชัชชาติระบุว่าสิ่งที่นักลงทุนต่างชาติกังวล 5 เรื่องได้แก่ การเมืองไม่มั่นคงปัญหาการคอร์รัปชัน นโยบายรัฐไม่ต่อเนื่องภาคราชการไม่มีประสิทธิภาพ และขาดแรงงานฝีมือนั้น มีแนวโน้มที่ดีขึ้นในทุกเรื่องยกตัวอย่างเรื่องการเมืองก็เห็นได้ชัดว่า นายกฯ แก้ปัญหาด้วยการไม่ตอบโต้ และเลือกที่จะแก้ปัญหาด้วยการตอบคำถามเรื่องงานอย่างเดียวขณะที่การปราบคอร์รัปชัน ก็เอาจริงเอาจังมากขึ้น

ปัญหานโยบายรัฐไม่ต่อเนื่องนั้น ชัชชาติบอกว่า ในอนาคตหากจะกู้เงินทำโครงการใหญ่จะเลือกเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรก่อน เพื่อให้ฝ่ายค้านถกถึงข้อดีข้อเสีย หากฝ่ายค้านเข้ามาเป็นรัฐบาลก็เดินหน้าต่อได้ ส่วน 2 เรื่องที่เหลือ อย่างภาคราชการไม่มีประสิทธิภาพ หรือขาดแรงงานฝีมือนั้น รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาต่อเนื่อง

ก่อนหน้านี้ชัชชาติเป็นหนึ่งในแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทยที่จะเข้าสู่สนามผู้ว่าฯ กทม. คู่กับ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) แต่ในที่สุดก็ถูกดันให้ขึ้นเป็น รมว.คมนาคม แทนการลงสมัครผู้ว่าฯ วันนี้ ด้วยความที่เป็นจอมโปรเจกต์ คิดเร็ว และตัดสินใจเร็ว ทำให้เขาถูกขนานนามจากคนในพรรคบางคนว่าเขาเป็น "ทักษิณน้อย"

"หาเวรกรรมให้ผมอย่างนั้น ไม่มีอะไรหรอกเป็นเรื่องของไอเดียเราเรียนมาทางนี้ตลอด เลยพอเห็นแนวทางแก้ปัญหาเท่านั้น" ชัชชาติถ่อมตัว ก่อนจะบอกว่าวันนี้เขาได้รับมอบหมายจากนายกฯ ให้ดูแลทั้งในเรื่องของนโยบายและโครงการต่างๆ ในโซน 4 อันประกอบไปด้วย จ.นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ซึ่งพรรคเพื่อไทยมี สส.กว่า 20 คน โดยชัชชาติก็ยอมรับว่า เริ่มสนุกกับการทำงานการเมืองมากขึ้น และการเข้าพรรคทุกวันอังคารเพื่อประชุมพรรคและพบปะ สส. ก็เป็นกิจวัตรเขาอีกหนึ่งอย่าง ส่วนจะสวมเสื้อพรรคเพื่อไทยสมัคร สส.หรือไม่นั้นขอรอให้หมดเทอมก่อนค่อยตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง

อนาคตทางการเมืองที่กำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงสำหรับชัชชาติ พร้อมทำทุกงานที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ไว้ใจ เปรียบเหมือนเป็นแค่ผู้เล่น ไม่ใช่ผู้จัดการทีม เพราะฉะนั้นจะไปเมื่อไรก็ได้ แต่ถ้าวันหนึ่งหยุด ก็พร้อมที่จะกลับไปทำงานวิชาการอย่างเดิม

กราฟชีวิตทางการเมืองของชัชชาติวันนี้ กำลังทะยานอย่างหยุดไม่อยู่กับเก้าอี้ รมว.คมนาคม จากนี้อภิมหาโครงการต่างๆ ที่กระทรวงคมนาคมรับผิดชอบ จะเดินเครื่องได้เต็มที่ ซึ่งถ้ามีผลงานออก นั่นก็หมายถึงผลงานของพรรคเพื่อไทยที่จะใช้ต่อไปในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42556
Location: NECTEC

PostPosted: 29/10/2012 3:55 pm    Post subject: Reply with quote

วิชาญบี้ปรับแนวสายสีชมพู ขีดเส้นพ.ย.
โดย กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ
คอลัมน์ : อสังหาฯ REAL ESTATE
ออนไลน์เมื่อ วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม 2012 เวลา 10:55 น.
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 32 ฉบับที่ 2,787 วันที่ 28-31 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ส.ส.พรรคเพื่อไทย"วิชาญ มีนชัยนันท์" แนะให้เร่งศึกษาเชื่อมโยงลำลูกกา-หทัยราษฎร์-สุวินทวงศ์-หนองจอก กับรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ล่าสุดไล่บี้รฟม.เร่งหารือสนข.-กทม.ให้ปรับแบบแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู ยันกรรมาธิการเรียกสอบถามความชัดเจนแล้ว ขีดเส้นกลางพฤศจิกายนนี้ต้องได้คำตอบ

นายวิชาญ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการปกครองส่วนท้องถิ่น สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากการที่ได้มีการหารือกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี ประกอบด้วยที่บริษัทปรึกษาโครงการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ตลอดจนกรุงเทพมหานคร(กทม.)ที่มีการก่อสร้างสะพานช่วงแยกมีนบุรีตัดสุวินทวงศ์ เพื่อให้มีการปรับแนวเส้นทางตามที่กรรมาธิการได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่มีนบุรีนั้น

ขณะนี้กรรมาธิการต้องการให้รฟม.เป็นผู้ยื่นเรื่องการปรับแนวเส้นทางพร้อมกับให้ไปหารือกับสนข.และกทม.โดยการศึกษาและเปรียบเทียบแนวสายทางเดิมกับแนวสายทางใหม่ให้ละเอียดแล้วนำกลับมารายงานคณะกรรมาธิการในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้เพื่อหาข้อสรุปในการพัฒนาโครงการต่อไป โดยเฉพาะจุดก่อสร้างสะพานของกทม.แยกสุวินทวงศ์ที่น่าจะปรับเพื่อเลี่ยงการเวนคืนที่กระทบกับเจ้าของที่ดินและผู้ประกอบธุรกิจในบริเวณดังกล่าว

"กรรมาธิการเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบถามครบถ้วนแล้วพบว่าที่ปรึกษาได้ให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน แต่ล่าสุดสามารถตอบคำถามได้ในระดับหนึ่งแล้ว จึงให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการเปรียบเทียบแนวสายทางเดิมกับสายทางใหม่ ดูรายละเอียดให้ครอบคลุมทั้งเรื่องผังเมืองและการเชื่อมโยงแนวเส้นทาง แม้จะเข้าสู่พื้นที่แนวฟลัดเวย์แต่ช่วงเกิดอุทกภัยที่ผ่านมาจะพบว่าการเดินทางถูกตัดขาดไม่มีระบบขนส่งมวลชนให้บริการ ประกอบกับจุดมีนบุรี-แยกร่มเกล้าจะมีรถไฟฟ้าสายสีส้มผ่านในพื้นที่ใกล้เคียงกันอยู่แล้วจึงควรขยายการพัฒนาพื้นที่ออกไปโดยใช้ระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้าสายสีชมพูเข้าไปให้บริการเช่นพื้นที่หทัยราษฎร์-นิมิตใหม่-สุวินทวงศ์-อีกทั้งยังสามารถขยายเส้นทางไปถึงหนองจอกในอนาคตได้อีกด้วย"

นายวิชาญกล่าวอีกว่าคณะกรรมาธิการยังเสนอแนะให้บริษัทที่ปรึกษาคือทีมกรุ๊ปและรฟม.ไปหารือกันในการเชื่อมโยงเส้นทางจากย่านลำลูกกามาสู่ถนนหทัยราษฎร์-นิมิตใหม่-สุวินทวงศ์โดยจะเชื่อมโยงสายสีเขียวที่ผ่านลำลูกกามาสู่มีนบุรีได้อีกแนวทางหนึ่งได้ นอกจากนั้นยังต้องการให้ก่อสร้างสถานีขนส่งรองรับการเดินทางในพื้นที่สุวินทวงศ์-มีนบุรี-หนองจอกรองรับไปพร้อมๆกันตั้งแต่วันนี้ไว้ภายในจุดเดโป้รถไฟฟ้า

"ต้องมองไปถึงเรื่องที่ประเทศชาติและประชาชนได้ประโยชน์จริงๆไม่ว่าจะเป็นการกระจายเมือง การกระตุ้นเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยหากมีการสร้างเดโป้พร้อมก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยในพื้นที่ซึ่งอาจต้องเวนคืนประมาณ 200 ไร่ ก็สามารถนำพื้นที่มาเป็นที่จอดรถบขส.-ขสมก.ให้บริการประชาชนได้อีกด้วยเพื่อให้เป็นทางเลือกในการเดินทาง สิ่งสำคัญปัจจุบันราคาที่ดินในบางพื้นที่พบว่ามีมูลค่าเพิ่มราคากว่าไร่ละ 5 ล้านบาท เชื่อว่าหากมีการก่อสร้างและเปิดให้บริการรถไฟฟ้าราคาที่ดินจะมีมูลค่าเพิ่มมากกว่านี้อีกหลายเท่า"

แหล่งข่าวระดับสูงรฟม.กล่าวว่าข้อสรุปที่ชัดเจนเมื่อมีการปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ก็คงต้องให้บอร์ดรฟม.ตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร เนื่องจากแนวเส้นทางเดิมมีความพร้อมดำเนินการได้ทันทีแล้ว ส่วนแนวเส้นทางใหม่อาจจะต้องดำเนินการในระยะต่อไป ซึ่งสามารถต่อแนวเส้นทางไปถึงหนองจอกโดยเปรียบเทียบกับปริมาณผู้ใช้เส้นทางในช่วงแรกหากมีเพิ่มจนรองรับไม่ไหวแล้วก็ค่อยดำเนินการก็ยังมีเวลาอีกตั้งหลายปี

"กรณีดังกล่าวนี้คงต้องให้บอร์ดรฟม.พิจารณาในสัปดาห์หน้าอีกครั้ง ซึ่งคงเป็นรูปแบบเช่นเดียวกับการดำเนินงานรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ และช่วงบางไผ่-บางบัวทองที่จังหวัดนนทบุรีร้องขอขยายเส้นทางไปถึงไทรน้อยจึงต้องเพิ่มอีกประมาณ 4 สถานี แต่เนื่องจากจัดอยู่ในแนวสายสีม่วงทั้งหมดจึงให้บริษัทที่ปรึกษารับไปดำเนินการพร้อมๆกันทั้งหมดทีเดียวโดยไม่ต้องรอให้สายสีม่วงก่อสร้างแล้วเสร็จ"

ทั้งนี้รถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี) เป็นโครงการรถไฟฟ้าสายล่าสุดที่กำลังจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในเดือนพฤศจิกายนนี้ และคาดว่าจะมีการเปิดประมูลในช่วงต้นปี 2556 รูปแบบโครงการเป็นโมโนเรลหรือรถไฟฟ้ารางเดี่ยวโครงสร้างยกระดับตลอดเส้นทางไปตามเกาะกลางถนน ระยะทางรวม 34.5 กิโลเมตร จำนวน 30 สถานี ผ่านจุดสำคัญ ๆ อาทิ ศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี ศูนย์ราชการถนนแจ้งวัฒนะ เชื่อมย่านมีนบุรี รามอินทรา รองรับการเจริญเติบโตของเมืองทางด้านทิศเหนือของกรุงเทพฯ

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี) การก่อสร้างออกเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 ศูนย์วัฒนธรรม-บางกะปิ
ระยะที่ 2 บางกะปิ-มีนบุรี และ
ระยะที่ 3 ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์

ระยะทางประมาณ 37 กม. 27 สถานี ล่าสุดได้มีการปรับแนวเส้นทางช่วงพื้นที่ย่านประชาอุทิศ-ห้วยขวางให้ไปอยู่ในแนวถนนพระราม 9 มุ่งสู่ถนนรามคำแหง มีนบุรีแทน โดยผ่านสถานที่สำคัญ ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช สนามหลวง ประตูน้ำ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครแห่งที่ 2 บริเวณดินแดง ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยรามคำแหง สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถานหัวหมาก นิด้า และเอแบค

คาดว่าจะเปิดประกวดราคาประมาณเดือนมีนาคม 2556 เริ่มก่อสร้างเดือนเมษายน 2557 โดยตามแผนจะเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2560 รูปแบบการก่อสร้างจะเป็นการออกแบบพร้อมกับการก่อสร้าง (Design & Build) ซึ่งจะทำให้การดำเนินโครงการมีความรวดเร็วขึ้น
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44251
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 30/10/2012 8:47 pm    Post subject: Reply with quote

^^^
ไม่ได้ข่าวคืบหน้าอีกเลยครับ เรื่องขยายสายสีม่วงอีก 4 สถานีถึงไทรน้อย

---------

ประมูลรถไฟฟ้า 800 ตู้ 4 หมื่นล้าน "ประภัสร์”โวขอ 6 เดือนฟื้นรฟท.
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 30 ตุลาคม 2555 19:23 น.

ASTVผู้จัดการรายวัน-รฟม.เตรียมเสนอบอร์ดซื้อรถไฟฟ้ารวดเดียว 800 ตู้ วงเงิน 4 หมื่นลบ.รองรับรถไฟฟ้า 10 สาย กำหนดทีโออาร์ ให้ผู้ผลิตตั้งโรงงานประกอบในไทย ลดต้นทุน,สร้างแรงงานในประเทศและถ่ายทอดเทคโนโลยี เผยเอกชนเห็นด้วย คาดเกิดใน 3 ปี ด้าน”ประภัสร์”ว่าที่ผู้ว่าฯร.ฟ.ท.ลั่นพร้อมทำงาน ขอ 6 เดือนเห็นโฉมใหม่ ปลุกพนักงานร่วมมือ ค้านแยกบริหารรถไฟความเร็วสูง -แอร์พอร์ตลิงค์

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า จะเสนอแผนการประกวดราคาจัดหารถไฟฟ้า 800 ตู้ วงเงินประมาณ 40,000 ล้านบาทต่อที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ที่มีนางสาวรัชนี ตรีพิพัฒน์กุล เป็นประธานในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะแบ่งเป็นรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Heavy Rail) 500 ตู้ และรถไฟฟ้ารางเดียว (Monorail) 300 ตู้ โดยรฟม.จะกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมในทีโออาร์ ให้ผู้จัดหาตั้งโรงงานประกอบรถไฟฟ้าในประเทศไทย เนื่องจากมีความคุ้มค่ากว่าการสั่งซื้อขบวนรถและนำเข้ามาจากต่างประเทศแบบสำเร็จรูป โดยนอกจากลดต้นทุนการจัดหาแล้วยังเป็นการสร้างงานภายในประเทศและจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทผู้ผลิตรถไฟฟ้าด้วย โดยหากบอร์ดอนุมัติ รฟม.จะเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในสิ้นปีนี้

โดยจากที่ รฟม.ได้สอบถามไปยังผู้ผลิตรถไฟฟ้าหลายรายในกรณีการตั้งโรงงานประกอบในไทยนั้น ทั้ง บริษัท ซีเมนส์ , บริษัท ฮิตาชิ ,คาวาซากิ,อัลสตอม และบอมบาดิเย่ร์ ทุกรายมีความพร้อมที่จะมาดำเนินการ โดยบริษัท ซีเมนส์เห็นว่าหากมีการสั่งซื้อรถไฟฟ้า Heavy Rail มากกว่า 100 ตู้ขึ้นไป การลงทุนตั้งโรงงานประกอบในไทยจะคุ้มค่า ส่วนบริษัท ฮิตาชิ เห็นว่า การลงทุนคุ้มค่าเมื่อสั่งซื้อตั้งแต่ 500 ตู้ขึ้นไป โดยแนวคิดของการจัดหารถไฟฟ้าแบบ Heavy Rail อาจต้องมี 2 ราย และรถไฟฟ้า Monorail อีก 1 ราย รวมเป็น 3 ราย ซึ่งตามแผนจะพิจารณาตั้งโรงงานในพื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าแต่ละสายทาง โดยเลือกจากทั้งหมดที่มี 8 แห่ง

“การตั้งโรงงานประกอบรถไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งเป็นการสานต่อแนวคิดของนายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าฯรฟม.และว่าที่ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.). ที่เคยมีการศึกษาไว้ตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งรถไฟฟ้า 10 สาย ต้องใช้รถไฟฟ้าทั้งหมด 1,200 ตู้ แต่เบื้องต้นจะจัดหาก่อน 800 ตู้ วงเงิน 30,000-40,000 ล้านบาท คิดว่าภายใน 3 ปีาน่าจะได้เห็นโรงงานประกอบรถไฟฟ้าแห่งแรก ซึ่งอาจจะนำมาใช้ในสายสีม่วงบางใหญ่-บางซื่อ ไม่ทัน ดังนั้นอาจต้องจัดหาแบบเดิมก่อนประมาณ 60 ตู้”นายยงสิทธิ์ กล่าว

"ประภัสร์"ขอ 6 เดือน ปรับโฉมร.ฟ.ท.

นายประภัสร์ จงสงวน ว่าที่ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ภายหลังได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้เป็นผู้ว่าฯร.ฟ.ท.จะเร่งปรับปรุงแผนธุรกิจรถไฟที่มีแผนฟื้นฟูองค์กร การบริหารจัดการด้านบุคลากร เพราะหากดำเนินการได้ตามแผนจะทำให้รถไฟพ้นจากปัญหาขาดทุนได้ โดยสิ่งแรกที่จะต้องทำคือ พัฒนาบุคลากรให้มีความกระตือรือร้นในการทำงาน ซึ่งมั่นใจว่าพนักงานรถไฟทุกคนพร้อมที่จะทำให้รถไฟเปลี่ยนไปให้ทางที่ดีขึ้น และร.ฟ.ท.จะเกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน 6 เดือนหลังจากที่ได้เริ่มปฏิบัติงาน ส่วนแนวคิดในการแยกการบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ และรถไฟฟ้าความเร็วสูงออกจาก ร.ฟ.ท.นั้น ส่วนตัวยังเห็นว่า ร.ฟ.ท.ยังมีความสามารถในการบริหารทั้ง 2 โครงการได้

สำหรับปัญหาการบุกรุกที่ดินรถไฟ เป็นอีกปัญหาที่ต้องเข้าไปดูแล โดยอาจจะต้องมีการหารือร่วมกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตลอดริมทางรถไฟ รวมถึงหาแนวทางช่วยเหลือรองรับหรือที่อยู่อาศัยใหม่ เพื่อย้ายผู้บุกรุกออกจากพื้นที่
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44251
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 31/10/2012 9:15 am    Post subject: Reply with quote

รฟม.ชงบอร์ดเหมารถไฟฟ้า800ตู้ รับ10สายรวด/อ้างประหยัดงบ

มติชนรายวัน วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 09:07:31 น.

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังการจัดงานเสวนาวิชาการเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงว่า ขณะนี้ อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดการจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าเป็นจำนวนมากครั้งเดียว เพื่อนำมาให้บริการในโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 10 สาย ตามนโยบายของรัฐบาล หลังจากพิจารณาแล้วเห็นว่าการจัดซื้อในลักษณะดังกล่าวจะช่วยให้ รฟม.ประหยัดงบประมาณได้มาก ซึ่งจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทพิจารณาวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้

นายยงสิทธิ์กล่าวว่า เบื้องต้น รฟม.จะสั่งซื้อมาให้บริการเฉพาะในเส้นทางที่ รฟม.ดำเนินการอยู่ก่อน ด้วยงบประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท รวม 800 ตู้ แบ่งเป็นขบวนรถไฟฟ้าขนาดหนัก(เฮฟวี่เรล) ที่ให้บริการในปัจจุบันจำนวน 500 ตู้ และรถไฟฟ้าขนาดเบา(โมโนเรล) ซึ่งจะนำไปให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงมีนบุรี-แคราย และอื่นๆ อีกประมาณ 300 ตู้ เพราะหากจะให้ครบทั้ง 10 สาย ต้องรวมรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งต้องใช้ขบวนรถไฟฟ้าประมาณ 1,200 ตู้

นายยงสิทธิ์กล่าวว่า การจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งในการตั้งโรงงานประกอบรถไฟฟ้าขึ้นในประเทศไทย เพราะหากมีการจัดซื้อเป็นจำนวนมากก็สามารถกำหนดเงื่อนไขให้บริษัทที่ชนะการประกวดราคาต้องตั้งโรงงานประกอบขึ้นในไทยได้ เบื้องต้นมีบริษัทสนใจจะเข้าดำเนินการแล้ว ได้แก่ 1.บริษัท ฮิตาชิ 2.บริษัท ซีเมนส์ 3.บริษัท คาวาซากิ 4.บริษัท อัลสตอม และ 5.บริษัท บอมบาดีเยร์

"การตั้งโรงงานประกอบรถไฟฟ้า จะเป็นหน้าที่ของบริษัทเอกชนที่ได้งานเป็นผู้ดำเนินการเอง ส่วน รฟม.จะอำนวยความสะดวกในเรื่องของสถานที่ ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์ซ่อมบำรุงอยู่ 8 แห่ง ที่สามารถใช้เป็นโรงประกอบรถไฟฟ้าได้ จึงไม่มีปัญหาในเรื่องของสถานที่อย่างแน่นอน" นายยงสิทธิ์กล่าว

นายประภัสร์ จงสงวน ว่าที่ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า การตั้งโรงงานประกอบรถไฟฟ้าเคยพูดมาตั้งแต่ปี 2545 การที่ รฟม.สานต่อถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะส่งผลดีทั้งเรื่องของการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในเรื่องดังกล่าว ขณะเดียวกันยังสามารถนำวัสดุ อุปกรณ์ และชิ้นส่วนที่ผลิตขึ้นในประเทศไปใช้งานมากขึ้นด้วย

------------

บีแลนด์เจรจารฟม. ดึงรถไฟฟ้าเข้า'อิมแพ็ค'

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 31 ตุลาคม 2555 08:29

"บางกอกแลนด์"เจรจา รฟม.เสนอที่ดิน 20 ไร่ ทำลานจอดรถ-ศูนย์ซ่อม หวังดึงรถไฟฟ้าสายสีชมพูเข้าอิมแพ็ค

นายอนันต์ กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของและผู้ดำเนินโครงการเมืองทองธานี ถนนแจ้งวัฒนะ เปิดเผยว่า ได้เจรจาผู้บริหารของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อเปิดพื้นที่เชื่อมโยงเส้นทางรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของ รฟม.เส้นแจ้งวัฒนะ หรือสายสีชมพู โดยบางกอกแลนด์ เสนอ รฟม.ให้ใช้ที่ดิน 20 ไร่ ด้านหน้าโครงการซึ่งยังเป็นพื้นที่ว่างใช้เป็นที่จอดรถไฟฟ้า และเป็นศูนย์ซ่อมบำรุง (ดีโป้)

"ร่างแบบเบื้องต้นจะให้รถไฟฟ้าเข้ามาในเส้นทางใต้ดิน จากนั้นพื้นที่ชั้นบนจะสร้างเป็นช้อปปิ้งมอลล์เหนือแนวรถไฟฟ้าขึ้นไป ตามแบบการลงทุนนี้ได้หารือกับรัฐบาลระบุว่าต้องใช้เงินลงทุนกว่า 1,200 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลเสนอให้บางกอกแลนด์เป็นผู้รับผิดชอบลงทุนทั้งหมด แต่เราต้องการให้เป็นการลงทุนร่วมฝ่ายละ 600 ล้านบาท ซึ่งยังไม่มีข้อสรุป" นายอนันต์กล่าว

แม้ข้อเสนอนี้จะไม่ได้รับการพิจารณา และหาก รฟม.อาจสร้างเส้นทางรถสีชมพู โดยไม่เข้ามาใช้พื้นที่ของบางกอกแลนด์ บริษัทก็พร้อมลงทุนสร้างระบบรถไฟเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีชมพูเข้ามาในอิมแพ็คเอง โดยจะลงทุนระบบรถไฟแบบโมโนเรล มูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท

เม็ดเงินลงทุนจะมาจากกระแสเงินสด และการขายที่ดิน ปัจจุบันบางกอกแลนด์ มีที่ดินย่านถนนศรีนครินทร์ 1,350 ไร่ คาดว่าจะตัดขายออกไป 600-700 ไร่ มูลค่าที่ดินดังกล่าวในปัจจุบัน ราคาไร่ละ 1.2 ล้านบาท จะได้เงินประมาณ 720-840 ล้านบาท มากพอสำหรับการลงทุนดังกล่าว

นายอนันต์ กล่าวต่อถึงการซื้อคืนหุ้นบางกอกแลนด์ จากกองทุน South East Asia Opportunities ทำให้มีกำไรเข้าบางกอกแลนด์กว่า 100% ซึ่งการขายหุ้นออกไปเมื่อ 5 ปีก่อนนั้นได้เงินเข้ามา 7,000 ล้านบาท แต่เงินบาทแข็งค่าขึ้นในปัจจุบัน ทำให้บางกอกแลนด์ซื้อหุ้นดังกล่าวกลับมาได้ ในราคาเพียง 2,700 ล้านบาท เป็นผลกำไรที่ค่อนข้างมากรองรับแผนพัฒนาธุรกิจในอนาคต

ทั้งนี้ ได้เตรียมนำบริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ อิมแพ็ค เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี 2556 และมีแผนลงทุนอีก 300 ล้านบาท ก่อสร้างโรงแรมอีก 1 แห่ง ภายใต้แบรนด์ "ไอบิส" ขนาด 300 ห้อง รองรับความต้องการด้านห้องพักของผู้ใช้บริการศูนย์แสดงสินค้าอิมแพ็ค และชาเลนเจอร์ เริ่มลงทุนและเปิดบริการให้ทันในปีหน้า
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42556
Location: NECTEC

PostPosted: 31/10/2012 10:52 am    Post subject: Reply with quote

รัฐทาบ “บีแลนด์” สร้างส่วนต่อขยาย-สถานีจอดรถไฟฟ้าสายสีชมพูถึงอิมแพคฯ

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 30 ตุลาคม 2555 23:14 น.

จีบ “บีแลนด์” ผุดสถานีอิมแพ็ค

โดย ASTV ผู้จัดการออนไลน์ 31 ตุลาคม 2555 09:37 น.

"บีแลนด์"ถกเชื่อมรถไฟฟ้าสีชมพู ขนถ่ายผู้โดยสารอิมแพ็ค แต่เกี่ยงขอลงทุนแค่500ล้าน
มติชน
วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 10:43:22 น.

Click on the image for full size

ASTV ผู้จัดการรายวัน - รัฐฯ ทาบ “บางกอกแลนด์” สร้างส่วนต่อขยาย-สถานีจอดรถไฟฟ้าสายสีชมพูให้บริการผู้ใช้ถึงอิมแพคฯ เรียกเงิน 1,200 ล้าน ค่าก่อสร้างสถานี และส่วนต่อขยาย ด้านบางกอกแลนด์ เสนอ 2 ทางเลือก

1.สร้างเอง
2.ออกค่าก่อสร้าง 50%

แจงทุ่มเม็ดเงิน 2.7 พันล้านบาท ซื้อหุ้น “อิมแพค” 44.8% จาก SPA งวดแรกจ่ายแล้ว 600 ล้านบาท

นายอนันต์ กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือบีแลนด์ เปิดเผยว่า จากปริมาณการเดินทางเข้าชมนิทรรศการ และงานแสดงสินค้าในอิมแพค มารีน่า เมืองทองธานี ซึ่งมีการจัดงานนิทรรศการต่างๆ อย่างต่อเนื่องตลอดปี ทำให้มีผู้เดินทางเข้าชมงานต่อปีสูงกว่า 15 ล้านคน ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ทำหน้าที่ศึกษาและลงทุนพัฒนาโครงการรถไฟฟ้ามองเห็นถึงศักยภาพการใช้บริการระบบรถไฟฟ้าเดินทางเข้าสู่เมืองทองธานีในอนาคต

ล่าสุด บีแลนด์ ได้รับการทาบทามจากรัฐบาล ในการเสนอเรื่องการเพิ่มส่วนต่อขยายสถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพู เข้ามารับ - ส่งผู้เข้าชมงานนิทรรศการในเมืองทองธานี ซึ่งหากมีการขยายสถานีเข้ามารับ-ส่งผู้โดยสารถึงในเมืองทองธานีได้จะทำให้มีจำนวนผู้เข้าชมงานเพิ่มจำนวนสูงขึ้นอีก 10 ล้านคนต่อปี หรือมีจำนวนผู้ชมงานต่อปีสูงถึง 25 ล้านคนต่อปีได้

อย่างไรก็ตาม การทาบทามดังกล่าวจากรัฐบาลนั้น ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนออกมา โดยในส่วนของข้อเสนอจากรัฐบาลในการเพิ่มสถานีบริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูเข้ามาให้บริการในเมืองทองธานีนั้น เบื้องต้น รัฐบาลต้องการใช้พื้นที่จำนวน 20 ไร่ ในอิมแพค มารีน่า เมืองทองธานี ก่อสร้างสถานีจอดรถไฟฟ้า พร้อมกันนั้น ในการขยายสถานีเข้ามาในพื้นที่อิมแพคฯ บีแลนด์ ในฐานะที่ได้ประโยชน์จากการขยายสถานีรถไฟฟ้าเพิ่มเติมต้องออกเงินลงทุนในการขยายเส้นทาง และก่อสร้างสถานีจอดรถไฟฟ้าคิดเป็นเงิน 1,200 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากข้อเสนอดังกล่าว บีแลนด์ เห็นว่าในการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้า และขยายเส้นทางให้บริการเข้ามาในอิมแพคฯ นั้น วงเงินที่บริษัทต้องจ่ายให้รัฐบาลพร้อมกับที่ดินจำนวน 20 ไร่นั้น ในส่วนของที่ดินเห็นว่า บริษัทฯ ไม่สามารถยกให้เปล่าได้ แต่หากจะยกให้ก็จะขอพัฒนาพื้นที่ด้านบนเป้นมอลล์ขนาดใหญ่ ผสมผสานอาคารสูงจำนวนหนึ่ง ขณะที่สถานีจอดรถจะก่อสร้างอยู่ใต้พื้นดิน หรือใต้มอลล์ที่จะพัฒนาขึ้น ส่วนวงเงิน 1,200 ล้านบาท เบื้องต้น บริษัทฯ เห็นว่าควรเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างบริษัทฯ และรัฐบาลโดยการจ่ายเงินเพียง 50% หรือ 600 ล้านบาท ส่วนที่เหลือให้รัฐบาลเป็นผู้จ่าย

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลไม่เห็นด้วยในแนวทางแรก ก็อาจหยิบยกข้อเสนอที่ 2 ขึ้นมาพิจารณาคือ บีแลนด์ จะลงทุนพัฒนาก่อสร้างสถานีจอดรถไฟฟ้าเอง โดยคาดว่าจะพัฒนาเป็นรถไฟฟ้าโมโนเรลเชื่อมต่อจากสถานีรถไฟฟ้าแจ้งวัฒนะ ซึ่งคาดว่าจะใช้งบลงทุนก่อสร้างประมาณ 600 ล้านบาท ซึ่งล่าสุด บริษัทฯ ได้ว่าจ้างบริษัท เทศโก้ จำกัด ให้ออกแบบสถานีจอดรถไฟฟ้าโมโนเรลไว้แล้ว

นายอนันต์ กล่าวถึงแผนดำเนินงานของบริษัทในช่วงปลายปีนี้ว่า ที่ประชุมบริษัทฯได้มีมติอนุมัติให้ซื้อคืนหุ้นบริษัท อิมแพค เอ็กซิบิชั่น เมเนจเม้นท์ จำกัด (อิมแพค) จำนวน 44.8% ของหุ้นทั้งหมดที่ขายให้แก่บริษัท South Asia Opportunities Fund Limited หรือ SPAในช่วง 5 ปีก่อนหน้านี้ในวงเงิน 3,000 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทดังกล่าวครบกำหนดขายคืนหุ้นให้แก่เจ้าของเดิม สำหรับหุ้นจำนวนดังกล่าวที่ บีแลนด์ ขายให้แก่กองทุนเมือ 5 ปีก่อนหน้าในราคา 7,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ SPA แจ้งต่อบีแลนด์ ว่า ในการซื้อคืนหุ้นดังกล่าวหาก บีแลนด์ จ่ายเงินซื้อหุ้นทั้งหมดภายใน 90 วัน จะได้รับออปชันส่วนลดราคาขายหุ้นอีก 10% หรือจะทำให้บีแลนด์ ต้องจ่ายเงินซื้อคืนหุ้นรวม 2,700 ล้านบาทเท่านั้น โดยล่าสุด บริษัทฯ ได้จ่ายเงินงวดแรกให้แก่ SPA แล้ว จำนวน 600 ล้านบาท ส่วนเงินที่เหลืออีก 2,100 ล้านบาทนั้น คาดว่าจะใช้กระแสเงินสดของบริษัทฯ บางส่วน ส่วนที่เหลือจะใช้เงินจากการตัดขายที่ดินในย่านศรีนครินทร์ 70-80 ไร่ จากจำนวนที่ดินสะสมที่มีในพื้นที่ดังกล่าวรวม 1,350 ไร่

โดยในเบื้องต้น ราคาประเมินของที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ที่ 12 ล้านบาทต่อไร่ ซึ่งหากตีมูลค่ารวมการขายที่ดินทั้งหมด 1,350 ไร่ จะมีมูลค่ารวม 16,000 ล้านบาท
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44251
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 31/10/2012 10:06 pm    Post subject: Reply with quote

ชัชชาติรื้อบอร์ดอ้างเพิ่มคุณภาพ สั่งรฟม.ทบทวนแผนจัดหารถไฟฟ้า
ไทยโพสต์ 1 November 2555

"ชัชชาติ” สั่งรื้อบอร์ดทุกรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม อ้างต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เผยเตรียมเร่งผลักดันและแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้า ที่มีปัญหาทั้งสีแดง บางซื่อ-รังสิต และสีชมพู แคราย-มีนบุรี สั่ง รฟม.ทบทวนแผนการซื้อรถไฟฟ้า 800 ขบวน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า หลังจากเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ จะเร่งรัดการทำงานของกระทรวงคมนาคม โดยเฉพาะการผลักดันและแก้ไขปัญหาของโครงการถไฟฟ้าสายสีต่างๆ เช่น รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญาที่ 3 ต้องเซ็นสัญญาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว, สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ต้องชัดเจนเรื่องเส้นทาง ส่วนการพัฒนาระบบรางต้องเพิ่มโครงข่ายมากขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว มาเลเซีย เพื่อเปิดประตูการค้า ทั้งเพื่อการขนส่งผู้โดยสารหรือนักท่องเที่ยวเพื่อนบ้าน อีกทั้งเพื่อนำเข้าและส่งออกสินค้า

นอกจากนี้จะเดินหน้าพัฒนาระบบรางให้มีประสิทธิภาพ เน้นการทำงานกับต่างประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในการขยายตลาดได้มากขึ้น และยังมีแผนจะปรับปรุงคณะกรรมการ (บอร์ด) รัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ที่อยู่ในสังกัดของกระทรวงคมนาคม เพื่อให้บอร์ดมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยเน้นบุคคลที่เข้ามาทำงานนั้น จะต้องมีความรู้ความสามารถเพื่อมาเสริมทัพ

นายชัชชาติ กล่าวว่า ยังได้มอบหมายให้การรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กลับไปทบทวนแผนการจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าจำนวน 800 ตู้ วงเงิน 30,000-40,000 ล้านบาท รวมถึงการตั้งโรงงานประกอบรถไฟฟ้า ถึงข้อดี-ข้อเสียในหลายมิติ มีแผนที่ชัดเจน เพราะการดำเนินงานไม่ง่ายอย่างที่พูด

“สิ่งที่พูด ถ้าทำได้ก็ดี ต้องมีประโยชน์และสามารถปฏิบัติได้จริง ต้องมองให้รอบด้าน คิดรายละเอียดทุกขั้นตอน จุดประสงค์ในการซื้อขบวนรถจำนวน 800 ตู้ ซื้อเยอะจะได้ในราคาที่ถูก แต่ต้องคิดด้วยว่าในอนาคตหากเกิดปัญหาเงินเฟ้อจะทำยังไง หรืออีก 2 ปี อีกบริษัทมีราคาที่ถูกกว่า เรื่องเหล่านี้ต้องคิดด้วย ส่วนการตั้งโรงงานฯ ก็เช่นกัน ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ถือเป็นเรื่องใหญ่ แผนต้องชัดเจนต้องมีรายละเอียดของข้อดี-ข้อเสีย"

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ ว่า ขณะนี้การก่อสร้างส่วนของงานโยธาคืบหน้าเกิน 60% ในขณะเรื่องการบริหารเดินรถ อยู่ระหว่างต่อรองราคา เนื่องจากราคาค่อนข้างสูง โดยในเดือนพ.ย.นี้ จะเสนอเข้า ครม.เพื่อพิจารณา หากล่าช้ากว่านี้จะทำให้ได้รถช้า สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ บางใหญ่-บางซื่อ ระยะทาง 23 กิโลเมตร (กม.) และช่วงบางซื่อ-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 19.8 กม. มีสถานีให้บริการทั้งสิ้น 32 สถานี ใช้เงินลงทุนก่อสร้าง 126,620 ล้านบาท และเมื่อเริ่มเปิดให้บริการ มีการประมาณการว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ยต่อวัน 96,600 คน

นายวุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น รฟม., ร.ฟ.ท. เปิดการสอนหลักสูตรวิศวกรรมระบบราง เพื่อผลิตบัณฑิตตอบสนองความต้องการของประเทศ และรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยปีการศึกษา 2555 นี้ เป็นปีแรกที่ทางมหาวิทยาลัยจะเปิดสอน เป็นหลักสูตรกลางให้นิสิตชั้นปีที่ 4 ที่สนใจเลือกเรียน ซึ่งมีนิสิตที่สนใจเรียน 80 คน และในอนาคตมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นในอีก 3 ปีข้างหน้า มก.จะเปิดหลักสูตรวิศวกรรมระบบราง เป็นหนึ่งในภาควิชาของคณะ เพื่อผลิตบัณฑิตด้านนี้โดยเฉพาะ

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่า รฟม. กล่าวว่า การผลิตบุคลากรให้อุตสาหกรรมระบบรางต้องทำด้วยความรวดเร็ว ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการรองรับการขยายตัวของรถไฟฟ้าอีก 10 สาย ที่ทาง รฟม.จะดำเนินการสร้างและให้บริการได้ภายในช่วงระยะเวลา 16 ปีนี้
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44251
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 01/11/2012 10:49 am    Post subject: Reply with quote

'ชัชชาติ'เร่งหารือ2รมช.แบ่งเค้กคมนาคม
วันอังคารที่ 30 ตุลาคม 2012 เวลา 13:43 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ

ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์"ชัชชาติ" ฟิต เร่งมอบงาน 2 รมช.คมนาคมให้แล้วเสร็จในสัปดาห์นี้ แบไต๋ขอหารือพร้อมรับฟังความเห็นก่อนมอบหมายอย่างเป็นทางการ ยันไม่หวงงาน แต่ขอจองเมกะโปรเจ็กต์ที่เกี่ยวข้องด้านเทคนิคทั้งแก้จราจร รถไฟฟ้า

ไฮสปีดเทรนและโลจิสติกส์ เชื่อได้ 2 รัฐมนตรีมืออาชีพไม่หวั่นเป็นมือใหม่ทางการเมือง

ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม(คค.) เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่าเร่งหารือกับ 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมให้แล้วเสร็จ 1-2 วันนี้ก่อนที่จะมอบหมายงานอย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้เช่นกัน โดยจะขอรับฟังความเห็นจากทั้ง 2 ท่านก่อนมอบหมายงาน แต่ในภาพรวมคาดว่าไม่เป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการเพราะเป็นการกำกับและมอบนโยบายส่วนภาคปฏิบัติมีระดับหัวหน้าหน่วยงานทำหน้าที่แล้ว

"ไม่ได้คิดหวงงาน เพราะเป็นการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล แต่หากเป็นงานการแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล โครงการรถไฟฟ้า 10 สาย หรือรถไฟความเร็วสูง โครงการที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์จะขอรับดูแลเองเนื่องจากคิดว่าเป็นงานที่เกี่ยวข้องด้านเทคนิคซึ่งได้ติดตามงานมาอย่างต่อเนื่องจึงต้องการสานต่อให้แล้วเสร็จ

ส่วนงานอื่นๆที่จะมอบให้ 2 รัฐมนตรีรับไปดูแล และไม่หนักใจเพราะที่ผ่านมา หลายโครงการได้ผ่านการศึกษาความเหมาะสม การออกแบบรายละเอียดเกือบเสร็จเรียบร้อย รอเพียงการเปิดประมูลหรือรอชี้ชัดงบประมาณการลงทุนจากกระทรวงการคลังเท่านั้น ซึ่งสามารถสานต่อได้ทันที"


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวอีกว่าแม้จะเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมมาได้ไม่นาน และไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)มาก่อน เพราะการเมืองมีพรรคพวกก็ไม่ได้คิดหวั่นไหวใด ๆ เนื่องจากได้คลุกคลีงานด้านกระทรวงคมนาคมมานาน เมื่อได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจึงน่าจะสานต่อได้เร็วขึ้นไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้า 10 สาย ไฮสปีดเทรนที่ได้พบปะหารือกับผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่างๆเพื่อต้องการวางรากฐานรถไฟฟ้าในประเทศไทยให้คนรุ่นต่อๆไปได้สานต่อเช่นเดียวกับงานด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศขณะนี้กระทรวงคมนาคมก็ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามภาคต่างๆซึ่งจะนำข้อสรุปเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตามแผนต่อไป

โดย ดร.ชัชชาติ ย้ำว่า ถ้าต้องการพลิกโฉมประเทศไทยอย่างรวดเร็วก็อยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันเร่งผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูง ตลอดจนโครงการรถไฟฟ้าเส้นทางต่างๆ หรือรถไฟทางคู่เพิ่มโครงข่ายมากขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเปิดประตูการค้าทั้งเพื่อการขนส่งผู้โดยสารหรือนักท่องเที่ยวและนำเข้าและส่งออกสินค้าควบคู่ไปกับการขนส่งทางน้ำที่ประเทศไทยมี 5 ท่าเรือหลัก คือ แหลมฉบัง กรุงเทพฯ ระนอง เชียงแสน และเชียงของรองรับไว้พร้อมแล้วบวกกับความได้เปรียบในการเป็นศูนย์กลางภูมิภาคนี้ไทยจึงน่าจะได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ

"หากสามารถผลักดันให้มีการก่อสร้างรถไฟ รถไฟฟ้าเพิ่มโครงข่ายมากขึ้นเชื่อมโยงกับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบถนน สะพานหรือทางด่วนที่มีอยู่แล้วหรือมีแผนจะดำเนินการในอนาคตจะช่วยในการเชื่อมโยงระหว่างประเทศเกิดประโยชน์คุ้มค่าเพราะสามารถขนได้ทั้งผู้โดยสารและขนสินค้าไปพร้อมกันได้จึงต้องเร่งให้แต่ละโครงการเปิดการประกวดราคา หรือเร่งรัดการออกแบบรายละเอียดของบริษัทที่ปรึกษาเพื่อให้เริ่มงานก่อสร้างได้เร็วที่สุดต่อไป"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 32 ฉบับที่ 2,788 วันที่ 1-3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42556
Location: NECTEC

PostPosted: 01/11/2012 2:13 pm    Post subject: Reply with quote

Mongwin wrote:
ประมูลรถไฟฟ้า 800 ตู้ 4 หมื่นล้าน "ประภัสร์”โวขอ 6 เดือนฟื้นรฟท.
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 30 ตุลาคม 2555 19:23 น.


มีข่าวร้ายจะแจ้งว่า ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สั่งให้รฟม.ไปทบทวนแผนการนำเข้ารถไฟฟ้า 500 หลัง + รถโมโนเรล 300 หลัง เพื่อเป็นรากฐานในการตัึ้งโรงงานประกอบรถไฟฟ้าในประเทศ http://dip.mot.go.th/MOTC/News_Paper/public/News_Onepage.jsp?id=234257
Back to top
View user's profile Send private message
birdnakrub
3rd Class Pass
3rd Class Pass


Joined: 30/11/2011
Posts: 13

PostPosted: 01/11/2012 5:41 pm    Post subject: Reply with quote

ขอรอลุ้นคุณประภัสร ฟื้น รฟท. ของเราภายใน 6 เ้ดือนให้ได้สำเร็จด้วยครับ ผมเชื่อว่าถ้า รฟท. ถ้าได้พัฒนาศักยภาพให้กลับมามีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้ระบบรางของเราเข้ามา Support ระหว่างรอโปรเจคต่างๆได้เป็นรูปเป็นร่างได้อย่างสบายๆครับ
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44251
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 06/11/2012 7:01 am    Post subject: Reply with quote

ชัชชาติจี้เดินหน้ารถไฟฟ้า ขู่พบซื้อตำแหน่งฟันไม่เลี้ยง
ไทยโพสต์ 6 November 2555

“ชัชชาติ” เข้ม เร่งเดินหน้าระบบรางทั้งรถไฟฟ้า 10 สายทาง-ทางคู่และรถไฟความเร็วสูง จี้ ทอท.สร้างสุวรรณภูมิเฟส 2 ยึดหลักมอบนโยบายผู้บริหารกระทรวงคมนาคมต้องโปร่งใส ยุติธรรม รอบคอบ ห้ามมีการซื้อขายตำแหน่ง หากพบไม่ปล่อยไว้แน่

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ได้มอบนโยบายให้แก่ข้าราชการกระทรวงคมนาคมโดยเน้นพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบขนส่งทางราง เช่น รถไฟทางคู่เชื่อมชานเมืองและหัวเมืองหลัก, รถไฟความเร็วสูง และเร่งรัดโครงการรถไฟฟ้า 10 สายทาง รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน (เออีซี) โดยจะต้องยึดแนวคิดหลัก โปร่งใส ยุติธรรม รอบคอบ สั่งห้ามมีการซื้อขายตำแหน่งไม่ควรเกิดขึ้น หากพบไม่ปล่อยไว้แน่

นอกจากนี้ ให้ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) เร่งรัดการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะ 2 และศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามแผนการพัฒนาท่าอากาศยานระยะที่ 3 และ 4 เพื่อรองรับการเติบโต ขณะที่ท่าอากาศยานดอนเมืองจะต้องเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ 2 ภายในต้นปี 2556 และภายในปีหน้าจะประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ท่าอากาศยานดอนเมืองได้ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพพนักงานให้มากขึ้น และลดการจ้างแรงงานจากภายนอกลง
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคต All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 61, 62, 63 ... 277, 278, 279  Next
Page 62 of 279

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©