Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai Gallery in Facebook

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311238
ทั่วไป:13181522
ทั้งหมด:13492760
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - รวมข่าวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคตตามนโยบายรัฐบาล
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

รวมข่าวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคตตามนโยบายรัฐบาล
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 188, 189, 190 ... 277, 278, 279  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคต
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42629
Location: NECTEC

PostPosted: 02/11/2018 12:49 pm    Post subject: Reply with quote

รถไฟฟ้าสายสี “ชมพู-เหลือง-ส้ม” คืบหน้าเกินแผน! งัดสารพัดไอเดียทะลวงรถติด
ไฮไลท์ประชาชาติ
วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2561 เวลา 10:59 น.


นายสราวุธ​ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะทำงานติดตามผลการบูรณาการ​ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา​จราจร​ในเขตกรุงเทพฯ​และ​ปริมณฑล​ ครั้งที่ 9/2561 มีการติดตามความคืบหน้าในหลายส่วน

ในส่วนของปัญหาจราจรที่มาจากการก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 สาย ได้แก่
1.สายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์​วัฒนธรรม​ฯ-มีนบุรี ระยะทาง 22.57 กม.
2.สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. และ
3.สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว​-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม.

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน​แห่ง​ประเทศไทย​ (รฟม.)​ รายงานความคืบหน้าในที่ประชุมว่า ณ สิ้นเดือน ต.ค.2561 สายสีส้มมีความคืบหน้าของโครงการอยู่ที่ 20.53% จากแผน 18.92% สายสีชมพู มีความคืบหน้าของโครงการ 9.3% จากแผน 2.5% และสายสีเหลือง มีความคืบหน้าโครงการ 9.76% จากแผน 2.50% ถือว่าเกินกว่าแผนทั้งหมด

ที่ประชุมจึงให้ รฟม.และผู้รับเหมาไปสรุปแผนการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้งหมดในกรุงเทพและปริมณฑล​มาแสดงว่า จะต้องใช้ถนนเส้นใดในการก่อสร้างบ้าง จากนั้นจะต้องแจ้งให้ประชาชนรับทราบอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อให้เวลาประชาชนเตรียมความพร้อม เพราะจากปัญหาจราจรติดขัดจากการสร้างรถไฟฟ้าทั้ง 3 สาย บริเวณถ.ลาดพร้าวและรามคำแหง พบว่ามีการแจ้งเตือนให้ประชาชนเตรียมความพร้อมน้อยเกินไป นอกจากนี้ ให้ปรับปรุงป้ายเตือน “ขออภัยในความสะดวก” ใหม่ โดยให้เพิ่มเติมรายละเอียดการก่อสร้างลงไปด้วยว่า กำลังก่อสร้างอะไรในส่วนงานไหน และจะใช้เวลาเท่าไหร่ เพราะบางครั้งประชาชนเห็นว่ามีการกั้นพื้นที่และมีป้ายเตือน แต่ไม่พบว่าบริเวณที่แจ้งเตือนมีการก่อสร้างอะไร ทำให้หลายครั้งเกิดความไม่เข้าใจและต่อว่าเจ้าหน้าที่ได้

นายสราวุธกล่าวต่อว่า ที่ประชุมมีการรายงานความคืบหน้ามาตรการจราจรต่างๆ สำหรับมาตรการปาดทางเท้าเพื่อให้รถเมล์เข้าไปจอดถนนด้านใน บริเวณ ถ.ลาดพร้าวนั้น พบว่ามีการปาดครบทุกจุดแล้ว แต่มีบางจุดที่ปาดออกแล้วแต่รถเมล์ไม่สามารถเข้าได้ จึงให้ไปเพิ่มจากปาดยาว 12 เมตร เป็น 20 เมตร เพื่อให้รถเมล์เข้าไปได้และท้ายรถไม่โผล่ออกมาบริเวณถนนหลัก ขณะเดียวกันก็พบปัญหาพื้นผิวถนนชำรุดบริเวณ ถ.ศรีนครินทร์ และ ถ.รามคำแหงหลายแห่ง ประมาณ 10 จุด เนื่องมาจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่ใช้เครื่องจักรและรถขนาดใหญ่เข้าพื้นที่ก่อสร้าง จึงมอบให้ รฟม.ประสานผู้รับเหมาซ่อมแซมพื้นผิวจราจรโดยเร็ว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบการบริหารสัญญาณไฟจราจรและการกั้นเครื่องกั้นรถไฟตามจุดตัดรถไฟ 34 จุดในกรุงเทพฯ โดยมี 14 จุดที่อยู่บริเวณสี่แยกใหญ่ ได้แก่ 1.ยมราช 2.ศรีอยุธยา 3.ราชวิถี 4.นครไชยศรี 5.เศรษฐศิริ 6.ประชานิเวศน์ 7.งามวงศ์วาน 8.แจ้งวัฒนะ 9.พญาไท 10.ราชปรารภ 11.เพชรบุรีตัดใหม่ 12.สุขุมวิท และ 13.พระรามที่ 4

ที่ประชุมให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), กรุงเทพมหานคร (กทม.) และตำรวจร่วมกันหารือในการบริหารสัญญาณไฟจราจรให้สอดคล้องกับเครื่องกั้นรถไฟ เพราะบางทีกั้นแล้วแต่สัญญาณไฟยังเป็นสีเขียวอยู่ ก็ให้ไปปรับให้ตรงกัน และให้ กทม.ตีเส้นกำหนดเขตกั้นรถไฟให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการเคลียร์รถบริเวณทางรถไฟ เพราะบางครั้งเอาเครื่องกั้นมากั้นไม่ได้ เพราะรถยังผ่านอยู่ ซึ่งเสี่ยงต่ออุบัติเหตุและไม้กั้นอาจไปกระทบกับรถยนต์จนเกิดความเสียหายได้
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42629
Location: NECTEC

PostPosted: 05/11/2018 10:31 pm    Post subject: Reply with quote

คมนาคมชงครม.อนุมัติรถไฟฟ้าอีก2โครงการ 4 เส้นทาง
เศรษฐกิจ
วันที่ 05 พฤศจิกายน 2561 เวลา 19:21 น.

รมว.คมนาคมเผยเตรียมเสนอครม.อนุมัติรถไฟฟ้าอีก 2 โครงการรวม 4 เส้นทาง ด้านสายสีเขียวหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เปิดบริการปี63

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า รัฐบาลได้เร่งรัดการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าตามแผนแม่บท และจะเร่งเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ขออนุมัติ รถไฟฟ้าอีก 2 โครงการ คือ โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) 3เส้นทาง ได้แก่

สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มธ.รังสิต ระยะทาง 8.9 กม. วงเงิน 6,570.40 ล้านบาท และ
สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 6 กม. ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 19.7 กม. วงเงิน 17,671.61 ล้านบาท

และรถไฟฟ้าสายสีส้มด้านตะวันตก ช่วง ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ คาดว่าจะเสนอได้ภายในรัฐบาลชุดนี้

ทั้งนี้จะทำให้สามารถผลักดันรถไฟฟ้าได้ครบ10 สายตามแผนแม่บท ยกเว้นสายสีแดง ด้านใต้ จากหัวลำโพง -วงเวียนใหญ่-มหาชัย ที่อยู่ระหว่างการทบทวนการศึกษา ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

สำหรับการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ปัจจุบัน (ณ วันที่ 31ต.ค.61) มีความก้าวหน้ารวมร้อยละ 82.49โดยโครงการฯ มีกำหนดก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จภายในปี 2562และ กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะเป็นผู้ดำเนินการติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ภายในปี 2563
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44333
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 06/11/2018 9:06 am    Post subject: Reply with quote

เดินหน้ารถไฟฟ้า2แสนล้านเร่งตอกเสาเข็มระบบแทรมปี'62
โพสต์ทูเดย์ วันที่ 06 พ.ย. 2561 เวลา 08:39 น.

รฟม.ยันรถไฟฟ้า 2.4 แสนล้าน ไม่สะดุด แม้ประมูลไม่ทันเลือกตั้ง เร่งชงแทรม 1 แสนล้าน เข้า ครม. เตรียมตอกเสาเข็มปีหน้า

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า โครงการรถไฟฟ้าเมืองหลวงสองเส้นทาง ได้แก่ โครงการรถไฟสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 1.01 แสนล้านบาทนั้น แม้ว่าจะมีความล่าช้าไปบ้างในขั้นตอนการเสนอโครงการเพื่อเปิดประกวดราคา แต่ขอให้มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามแผน ไม่มีล้มเลิกโครงการแน่นอน แม้จะเปิดประมูลไม่ทันก่อนการเลือกหรือในช่วงเดือน มี.ค. 2562 แต่หากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแล้ว ถือว่าเป็นอันเสร็จสิ้น

"แม้จะเปิดประมูลไม่ทันก่อนการเลือกตั้ง ก็ไม่เป็นผล สามารถเดินหน้าต่อไปได้เลยทั้งเปิดประมูลและลงนามสัญญาระหว่างช่วงเลือกตั้งไปจนถึงการได้รัฐบาลใหม่ โดยร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ของรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกนั้นจะเสนอ ครม.ในเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อขอความเห็นชอบก่อนแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมทุนมาตรา 35 เข้ามาพิจารณาเห็นชอบให้ทันภายในเดือน ก.พ. 2562 เช่นเดียวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ก่อนเปิดประมูลต่อไป" นายภคพงศ์ กล่าว

สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) จ.เชียงใหม่ วงเงิน 8 หมื่นล้านบาท และแทรม จ.นครราชสีมา วงเงิน 3.26 หมื่นล้านบาทนั้น จะได้ตัวบริษัทที่จะเข้ามาศึกษาแนวทางร่วมทุนภายในเดือนนี้ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาศึกษาประมาณ 6 เดือนก่อนเสนอโครงการให้ ครม.ของรัฐบาลชุดใหม่อนุมัติภายในเดือน มิ.ย.ปีหน้า เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการประมูลและก่อสร้างต่อไปในปี 2562

อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 จะมีการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค ในเดือน ก.ย. 2562 ก่อนเปิดเดินรถช่วงบางซื่อ-ท่าพระ-บางแค ในช่วงกลางปี 2563 คาดว่าเมื่อเปิดครบลูปแล้วจะมีผู้โดยสารถึง 5 แสนคน/วัน จากปัจจุบัน 3.5 แสนคน/วัน ทั้งนี้ยืนยันว่าราคาค่าโดยสารจะคงเก็บในอัตราเดิม 14-42 บาทตลอดสาย แม้จะมีการเพิ่มส่วนต่อขยายแต่ราคาไม่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า มีแผนจะเปิดเดินรถสายสีเขียวเหนือ 1 สถานี ภายในเดือน ส.ค. 2562 ช่วงสถานีหมอชิต-สถานี ห้าแยกลาดพร้าว เพื่อแบ่งเบาความแออัดและปัญหาจราจรบริเวณแยกดังกล่าว ซึ่งขณะนี้สถานีห้าแยกลาดพร้าวการก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 90%

ด้านความคืบหน้าการก่อสร้างสะพานข้ามแยก 3 จุด ตามแนวรถไฟฟ้าสาย สีเขียวนั้น เริ่มจากสะพานข้ามแยกเกษตรจะเปิดให้บริการภายในเดือน ธ.ค.นี้ เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางช่วงปีใหม่ ส่วนสะพานข้ามแยกเสนาและแยกรัชโยธินนั้น คาดว่าจะเปิดใช้งานได้ทันภายในเดือน ก.พ. 2562
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42629
Location: NECTEC

PostPosted: 06/11/2018 12:23 pm    Post subject: Reply with quote

อัพเดตล่าสุด รถไฟฟ้าทุกสายใกล้บ้านคุณ เดือนหน้าได้ใช้ หลายสายใกล้เสร็จ!
โดย ไทยรัฐออนไลน์
จันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2561 เวลา 17:22 น.

คนกรุงตั้งหน้าตั้งตารอ รถไฟฟ้าสายในดวงใจผ่านหน้าบ้าน ผ่านที่ทำงาน ผ่านบ้านแฟน รอแล้วรอเล่า เมื่อไหร่จะได้ใช้เสียที ทีมข่าวเจาะประเด็น อัพเดตคืบหน้าล่าสุด รถไฟฟ้าทุกสายที่คุณอยากรู้ ใครรอสายไหน แล้วเสร็จเมื่อไหร่ เช็กที่นี่!


สายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต
สำหรับการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ปัจจุบัน (ณ วันที่ 31 ต.ค.61) มีความก้าวหน้ารวมร้อยละ 82.49 โดยโครงการฯ มีกำหนดก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จครบ 100% ในเดือน ก.พ. 62 และกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะเป็นผู้ดำเนินการติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ภายในปี 2563

ส่วนสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต รฟม. จะเร่งรัดเพื่อให้เปิดเดินรถ 1 สถานีแรก จากหมอชิต-ห้าแยกลาดพร้าว ในเดือนส.ค.62 เพื่อบรรเทาความแออัดที่ สถานีหมอชิต ของรถไฟฟ้าบีทีเอส และทำให้มีการเชื่อมต่อกับสายสีน้ำเงินที่สถานีพหลโยธินได้สะดวก ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนจากสายสีเขียวมายังสายสีน้ำเงินได้สะดวก


สายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ
สายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในพิธีเปิดทดลองการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ในวันพฤหัสบดีที่ 6 ธ.ค. 2561 ซึ่งจะให้ประชาชนทดลองนั่งฟรีเป็นเวลา 4 เดือน โดยยังไม่มีการเก็บค่าโดยสาร เนื่องจากเป็นช่วงทดสอบการเดินรถ ซึ่งขณะนี้ กทม. ได้มีการสั่งรถไฟฟ้าเข้ามาเพิ่ม จะเป็นการทดสอบการเดินรถให้เข้ากับระบบซึ่งการทดสอบดังกล่าวจะมีการกำหนดเวลาการเดินรถอีกครั้ง



ทั้งนี้ รถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร มีแนวเส้นทางเชื่อมต่อจากสถานีรถไฟฟ้า BTS ที่สถานีแบริ่ง บริเวณซอยสุขุมวิท 107 ไปตามแนวเกาะกลางของถนนสุขุมวิท ผ่านคลองสำโรง ผ่านแยกเทพารักษ์ แยกปู่เจ้าสมิงพราย เมื่อถึงบริเวณจุดตัดกับโครงการถนนวงแหวนรอบนอกด้านใต้ แนวจะเบี่ยงจากเกาะกลางไปทางด้านทิศตะวันตกของถนนสุขุมวิท เพื่อข้ามทางต่างระดับสุขุมวิท จากนั้น จึงเบี่ยงกลับมาอยู่ในแนวเกาะกลางถนนสุขุมวิท ผ่านแยกศาลากลาง แยกการไฟฟ้า แยกแพรกษา แยกสายลวด จนถึงจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณหน้าสถานีไฟฟ้าย่อยบางปิ้ง

โดยมีสถานียกระดับ 9 สถานี ดังนี้ 1. สถานีสำโรง 2. สถานีปู่เจ้า 3. สถานีช้างเอราวัณ 4. สถานีโรงเรียนนายเรือ 5. สถานีปากน้ำ 6. สถานีศรีนครินทร์ 7. สถานีแพรกษา 8. สถานีสายลวด 9. สถานีเคหะฯ มีลานจอดรถ (Park & Ride) ตั้งอยู่บริเวณสถานีเคหะฯ ริมถนนสุขุมวิท พื้นที่ประมาณ 18 ไร่ รองรับรถได้ประมาณ 700 คัน และมีศูนย์ซ่อมบำรุงฯ ตั้งอยู่บริเวณหลังสถานีไฟฟ้าย่อยบางปิ้ง ประกอบด้วย อาคารบริหารและศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการเดินรถ อาคารซ่อมบำรุงหลัก อาคารจอดรถไฟฟ้า รางทดสอบ และอาคารประกอบอื่นๆ รวมพื้นที่ประมาณ 123 ไร่


สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช
สายสีแดงอ่อน ตลิ่งชัน-ศาลายา
คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ บอร์ด สศช. ได้มีมติเห็นชอบโครงการระบบรถไฟชานเมือง หรือ รถไฟฟ้าสายสีแดง 3 เส้นทาง ได้แก่ สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.9 กม. วงเงิน 6,570.40 ล้านบาท และสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 6 กม. ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 19.7 กม. วงเงิน 17,671.61 ล้านบาท

โดยขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนที่กระทรวงคมนาคมประมวลเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาอนุมัติโครงการ ซึ่งตามแผนงาน คาดว่าจะเปิดประมูลได้ราวเดือนมกราคม ถึง มีนาคม 2562


สายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี
สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี
สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รายงานความคืบหน้าว่า ณ สิ้นเดือน ต.ค.2561
สายสีส้มมีความคืบหน้าของโครงการอยู่ที่ 20.53% จากแผน 18.92%
สายสีชมพู มีความคืบหน้าของโครงการ 9.3% จากแผน 2.5%
สายสีเหลือง มีความคืบหน้าโครงการ 9.76% จากแผน 2.50% ถือว่าเกินกว่าแผนทั้งหมด

สายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค
สายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค จะเปิดให้บริการในเดือนกันยายนปี 2562 โดยจะเก็บค่าโดยสารอัตราเท่ากันกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-เตาปูน ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน คือ สูงสุดไม่เกิน 42 บาทตลอดเส้นทาง.
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42629
Location: NECTEC

PostPosted: 12/11/2018 1:05 pm    Post subject: Reply with quote

เคาะเดปโป้สายสีน้ำตาล
จันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2561 เวลา 12.34 น.

เปิดผลการศึกษารถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล เดปโป้อยู่ปลายทางลำสาลี (บึงกุ่ม) 30-40 ไร่ แนะปักเสาตอม่อในรั้ว ม.เกษตรฯ ไม่กระทบทางเท้า คาดเสนอกระทรวงคมนาคม พ.ย. นี้ ก่อนชง คจร.ปลาย ธ.ค.61


นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมา ได้ประชุมคณะกรรมการกำกับการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ระยะทาง 22กม. พิจารณา 2 เรื่องหลัก คือ

1.ที่ตั้งศูนย์ซ่อมบำรุง (เด็ปโป้) และจุดจอดแล้วจร โดยเลือกที่ตั้งอยู่ปลายสถานีบึงกุ่ม(ลำสาลี) เพราะขนาดเหมาะสม พื้นที่ 30-40 ไร่ แต่ต้องเวนคืนที่ดินเอกชนจากที่บริษัทที่ปรึกษาเสนอมา5 จุด และ
2.แนวเส้นทางสายสีน้ำตาลผ่านถนนงามวงศ์วาน บริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ที่ปรึกษาเสนอ2 แนวทาง คือ

1.ขอใช้พื้นที่ปักเสาตอม่อในรั้ว ม.เกษตรฯ ข้างละ 500 เมตร

2.ขอใช้พื้นที่ปักตอม่อบนถนนและทางเท้า นอกรั้วม.เกษตรฯ บริเวณหัวมุมทั้ง2ด้านเพราะติดอุโมงค์ทางลอดแยกเกษตร และถนนวิภาวดี-รังสิตไม่สามารถวางตอม่อรถไฟฟ้ากลางถนนงามวงศ์วานได้ ต้องเบี่ยงเข้าพื้นที่ ม.เกษตรฯโดยที่ปรึกษาเสนอแนวทางที่1 ปักตอม่อใน ม.เกษตรฯ เหมาะสมกว่าแนวทางที่ 2 ปักตอม่อนอกรั้ว ม.เกษตรฯ เพราะกระทบประชาชนเดินเท้า ทั้งนี้จะมีสะพานลอยคนเดิน หรือสกายวอร์ค รองรับประชาชนสะดวกเพิ่มขึ้นโดยเชื่อมกับรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิตด้วย ซึ่ง ม.เกษตรฯได้ประโยชน์เต็มๆ เบื้องต้นได้เจรจากับม.เกษตรฯแล้ว ทั้งนี้จะสรุปผลการศึกษาเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาเดือนพ.ย.นี้ ก่อนเสนอที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เห็นชอบปลายธ.ค.61 เพื่อบรรจุในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลระยะที่1 (M-MAP 1) และมอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไปพิจารณารูปแบบการลงทุนต่อไป
  .
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42629
Location: NECTEC

PostPosted: 13/11/2018 11:44 am    Post subject: Reply with quote

รถไฟฟ้าไอคอนสยาม เส้นไม่ใหญ่จริง ทำไม่ได้
โดย: นพ นรนารถ
เผยแพร่: 10 ธันวาคม 2560 22:38



รถไฟฟ้าสายสีทองมีความยาวเพียง 1.8 กิโลเมตร วิ่งจากบริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสเชิงสะพานตากสินมาที่ถนนเจริญนคร สุดทางตรงหน้าโรงพยาบาลตากสิน ประกอบด้วย 3 สถานี คือ สถานีกรุงธนบุรี สถานีเจริญนคร และสถานีคลองสาน

บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ชนะการประมูลก่อสร้างในวงเงิน 1,070 ล้านบาท วันที่ 15 ธันวาคมนี้ จะมีการเซ็นสัญญากับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด รัฐวิสาหกิจ ของ กทม.เจ้าของโครงการ และจะเริ่มก่อสร้างต้นปีหน้า มีกำหนดเสร็จภายใน 24 เดือน ซึ่งจะต้องมีการปิดการจราจรบางส่วนบนถนนกรุงธนบุรี ถนนเจริญนคร และถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน

รถไฟฟ้าสายนี้เป็นความต้องการของไอคอนสยาม ซึ่งเป็นโครงการศูนย์การค้า โรงแรม คอนโดมิเนียมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์บริเวณคลองสาน ถนนเจริญนคร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าของโครงการที่จะมาเที่ยว มาพักในโรงแรม หรือมาซื้อห้องชุดในโครงการ เพราะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอสได้

ประโยชนส่วนรวมที่จะได้จากรถไฟฟ้าสายสีทอง ในเรื่องการเดินทางที่สะดวกสบายขึ้น เป็นเพียงผลพลอยได้เล็กๆ น้อยๆ เทียบไม่ได้กับผลประโยชน์ที่ไอคอนสยามจะได้ ส่วนธุรกิจห้องแถวซึ่งมีอยู่มากมายในบริเวณนั้น ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งระหว่างก่อสร้าง และเมื่อสร้างเสร็จแล้ว

ไอคอนสยาม ผลักดันให้ กทม.สร้างรถไฟฟ้าสายสีทอง โดยจะออกค่าก่อสร้างทั้งหมดประมาณ 2 พันล้านบาทให้ เพราะตัวเองเป็นผู้ได้รับประโยชน์ กทม.จึงใช้เป็นข้ออ้างในการก่อสร้างว่า เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน

แต่รถไฟฟ้าสายสีทองนี้ ไม่ใช่ของฟรีที่ไอคอนสยามสร้างให้อย่างที่ กทม.บอก เพราะไอคอนสยาม ขอสิทธิสัมปทานใช้พื้นที่สถานีขบวนรถทั้งหมดของรถไฟฟ้าสายนี้ สำหรับการโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็นเวลานาน 20 ปี ซึ่งมูลค่าการใช้ประโยชน์พื้นที่โฆษณานี้อาจจะเท่ากันหรือมากกว่าค่าก่อสร้างที่ไอคอนสยามออกให้ก็ได้

รถไฟฟ้าสายสีทอง จึงไม่ใช่ของฟรีที่ไอคอนสยามออกเงินสร้างให้ แต่เป็นรถไฟฟ้าที่ไอคอนสยามออกเงินสร้างให้ก่อนแล้วให้ กทม.ผ่อนชำระคืน 20 ปี ในรูปของ ค่าเช่าพื้นที่โฆษณาที่ควรจะเป็นรายได้ของ กทม.

โครงการรถไฟฟ้าสายสีทองนี้ ถ้าไม่ใช่เป็นความต้องการของไอคอนสยาม ไม่มีทางได้เกิด เพราะมีระยะทางสั้นๆ ไม่ถึง 2 กิโลเมตรในพื้นที่ที่เป็นย่านที่อยู่อาศัยที่ไม่หนาแน่น ศูนย์การค้าขนาดเล็ก วัด และโรงพยาบาลรัฐ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีระบบขนส่งมวลชน

นอกจากเชื่อมต่อขนผู้โดยสารจากรถไฟฟ้าบีทีเอสมายังไอคอนสยามแล้ว รถไฟฟ้าสายสีทองนี้ ไม่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆ แม้ กทม.และบริษัท กรุงเทพธนาคม จะบอกกับสาธารณะว่า รถไฟฟ้าสายสีทองนี้ จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดงในอนาคต สายหัวลำโพง บางบอน มหาชัย และจะมีการขยายรถไฟฟ้าสายสีทองให้ยาวต่อไปอีก 1 กิโลเมตร บนถนนสมเด็จเจ้าพระยาไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยายเส้นทางบางซื่อ-ราษฎร์บูรณะ

เมื่อพิจารณาข้อมูลทางกายภาพที่ตั้งของรถไฟฟ้าสายสีทองกับรถไฟฟ้าสายสีแดง และสายสีม่วง พบว่า ไม่มีทางเชื่อมต่อกันได้เลย รถไฟฟ้าสายสีแดงหัวลำโพง มหาชัยอยู่ทางทิศตะวันออกตามแนวทางรถไฟ รถไฟฟ้าสายสีทองอยู่ทางทิศตะวันตกริมแม่น้ำเจ้าพระยาห่างกันเกือบหรือมากกว่า 10 กิโลเมตร

รถไฟฟ้าสายสีม่วงจากบางซื่อไปยังเขตราษฎร์บูรณะ เป็นรถไฟฟ้าใต้ดินจะโผล่ขึ้นมาเป็นรางยกระดับบริเวณดาวคะนองห่างจากรถไฟฟ้าสายสีทอง ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าลอยฟ้าราวๆ 4-5 กิโลเมตร นึกไม่ออกว่า จะเชื่อมต่อกันได้อย่างไร

กรุงเทพมหานครก็รู้ว่ารถไฟฟ้าสายสีทองไม่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ยกเว้นรถไฟฟ้าบีทีเอส แต่จำเป็นต้องให้ข้อมูลว่า เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดงกับสายสีม่วง เพื่อให้โครงการมีความสมเหตุสมผลในการก่อสร้างเท่านั้นเอง

ถ้าไม่ใช่เพราะเป็นรถไฟฟ้าที่ไอคอนสยามต้องการให้สร้าง โครงการรถไฟฟ้าสายสีทองไม่มีทางได้เกิด เพราะไม่อยู่ในแผนแม่บทขนส่งมวลชนระบบราง หรือแผนแม่บทรถไฟฟ้าของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข.เลย เป็นโครงการที่ กทม.ทำเองตามความต้องการของไอคอนสยาม

โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ยังเป็นโครงการที่ผิดกฎหมาย เพราะขัดกับมติ คณะรัฐมนตรี วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 ที่มีมติกำหนดให้โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ต้องสร้างเป็นระบบใต้ดินในบริเวณพื้นที่ส่วนกลางภายในบริเวณ 25 ตารางกิโลเมตร และควรเป็นระบบใต้ดินในพื้นที่ 87 ตารางกิโลเมตร แต่เพราะเป็นรถไฟฟ้าที่ไอคอนสยามต้องการ ครม. คสช.จึงทำให้ถูกกฎหมายเสีย โดยมีมติเมื่อวันที่ 7 มีนาคมปีนี้ ตามข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทยซึ่งกำกับดูแล กทม.ยกเว้นรถไฟฟ้าสายสีทองไม่ต้องปฏิบัติตามมติ ครม.เมื่อ พ.ศ. 2537 ให้สร้างเป็นรถไฟฟ้ายกระดับได้

โครงการรถไฟฟ้าสายสีทองหรือรถไฟฟ้าสายไอคอนสยาม จึงสะท้อนถึงความยิ่งใหญ่ อิทธิพล บารมี ของเจ้าของโครงการได้อย่างชัดเจน
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42629
Location: NECTEC

PostPosted: 20/11/2018 5:06 pm    Post subject: Reply with quote

คมนาคมเร่ง รฟม.อัปเกรดตั๋วร่วม 4.0 ด้านบีทีเอสยันรอลงทุนรวดเดียวปลายปี 62
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เผยแพร่: จันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2561 เวลา 19:19
ปรับปรุง: อังคารที่ 20 พฤศจิกายน 2561 เวลา 10:47


คมนาคมเร่ง รฟม.จ้างอัปเกรดระบบตั๋วร่วมจาก 2.5 เป็น 4.0 เป้าใช้ได้ ธ.ค. 62 ส่วนแมงมุม และบัตรคนจนเวอร์ชัน 2.5 ยัน เม.ย. 62 ต้องแตะบัตรขึ้นรถ ขสมก.ได้ ด้านบีทีเอสยันคำเดิม ขอลงทุนครั้งเดียวเวอร์ชัน 4.0

นายเผด็จ ประดิษฐเพชร ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ที่มี นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ได้รับทราบแผนงานและกรอบเวลาในการดำเนินการเปิดใช้บัตรแมงมุมในภาคขนส่ง ซึ่งล่าสุดได้ให้บริการบัตรแมงมุม เวอร์ชัน 2.5 ซึ่งเป็นระบบปิด (Closed Loop) และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถใช้ได้ในระบบรถไฟฟ้า MRT 2 สาย แล้ว รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เฉลิมมหานคร (ช่วงหัวลำโพง-เตาปูน) และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ฉลองรัชธรรม (ช่วงเตาปูน-บางใหญ่)

ในระยะต่อไป กำหนดให้เปิดใช้บัตรแมงมุม 2.5 กับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในระบบรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ภายในเดือน เม.ย. 2562 ส่วนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ใช้ได้ภายในวันที่ 1 พ.ค. 2562 และในระบบเรือโดยสารและแท็กซี่ในบางกลุ่ม เช่น แท็กซี่โอเค ในวันที่ 1 พ.ค. 2562 ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะต้องเจรจากับผู้เกี่ยวข้องในการปรับปรุงระบบ โดยเบื้องต้นเรือด่วนเจ้าพระยายืนยันว่าสามารถใช้ได้ในวันที่ 1 พ.ค. 2562

สำหรับรถไฟฟ้าบีทีเอสนั้น ยืนยันที่จะปรับปรุงระบบเพื่อรองรับในส่วนของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก่อนภายในเดือน มี.ค. 2562 ส่วนบัตรแมงมุมนั้น บีทีเอสจะยังไม่เข้าร่วมบัตรแมงมุมในเวอร์ชัน 2.5 โดยจะรอปรับไปที่แมงมุม 4.0 ซึ่งเป็นระบบเปิด (Open Loop) ก่อนจึงจะเข้าร่วมเพราะไม่ต้องการลงทุนซ้ำซ้อนหลายครั้ง

นายเผด็จกล่าวว่า ขณะนี้ในส่วนของแมงมุมเวอร์ชัน 2.5 มีความชัดเจนแล้ว โดย ขสมก., แอร์พอร์ตลิงก์ และบีทีเอส ต้องการให้ รฟม.เร่งดำเนินการในเรื่องสเปกให้ชัดเจน และต้องหารือในรายละเอียดของข้อกำหนดในการดำเนินงาน (Business Rules) ของระบบตั๋วร่วม ซึ่ง รฟม.อยู่ระหว่างการร่างสัญญากับผู้ประกอบการ ซึ่งจะเป็นข้อตกลงในการเข้าร่วม และตกลงในเรื่องค่าเชื่อมต่อระบบ (Transaction)

สำหรับแผนงานของระบบแมงมุม 4.0 ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบตั๋วร่วมให้เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้งานผ่านบัตร EMV (Euro/ MasterCard และ Visa) นั้น กระทรวงคมนาคมกำหนดเป้าหมายให้เปิดใช้ในเดือน ธ.ค. 2562 โดยในส่วนของผู้ประกอบการแต่ละรายจะต้องปรับระบบจาก 2.5 ให้รองรับระบบ 4.0 ซึ่งขณะนี้ รฟม.ยังไม่สามารถจัดจ้างหาผู้ที่เข้ามาทำระบบ 4.0 ได้ ซึ่งที่ประชุมให้ รฟม.เร่งกลับไปพิจารณาว่าจะใช้เวลาในการดำเนินงานอย่างไร จะยืนยันตามแผนเดิมหรือไม่ หากไม่ทันต้องปรับตารางแผนงานกันใหม่ รฟม.ต้องไปพิจารณาและนำเสนอกระทรวงคมนาคมอีกครั้ง

ทั้งนี้ ตามแผนเดิมต้องจ้างคนวางระบบ 4.0 ภายในเดือน ธ.ค. 2561 เพื่อให้สามารถเปิดใช้ได้ในเดือน ธ.ค. 2562 ซึ่งถ้าจะให้ทัน รฟม.จะต้องส่งระบบ 4.0 ให้ผู้ประกอบการแต่ละรายภายในเดือน ก.พ. 2562 เพื่อมีเวลาในการปรับปรุงระบบได้ทัน
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42629
Location: NECTEC

PostPosted: 27/11/2018 12:31 pm    Post subject: Reply with quote

ชาวคลองเตยเตรียมตัว!! การท่าเรือเตรียมสร้างโมโนเรลแล้ว
จันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เวลา 09.00 น.
กทท.เล็งเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ท่าเรือคลองเตย 5.4 พันล้านบาท สร้างโมโนเรลคลองเตยเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

นายกมลศักดิ์ พรหมประยูร รองผู้อำนวยการสายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ การท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.)เปิดเผยว่า กทท.อยู่ระหว่างประกวดราคาว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาแนวทางการก่อตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สิน ตามนโยบายนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีที่เร่งรัดให้กทท.เร่งพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในท่าเรือคลองเตยเพื่อเพิ่มรายได้ให้องค์กรในระยะยาว แต่มีเอกชนยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียวจากที่เชิญชวนไปถึง8 ราย ต้องตรวจสอบคุณสมบัติอย่างรอบคอบว่าผ่านเกณฑ์หรือไม่หากได้รับอนุมัติจะลงนามสัญญาต้นปี 62 เริ่มศึกษาทันที 6 เดือนคาดว่าจะเห็นรูปแบบการจัดตั้งบริษัทลูกและความชัดเจนการแบ่งพื้นที่เปิดประมูลภายในปลายปี 62 ปัจจุบันพื้นที่เชิงพาณิชย์ของท่าเรือคลองเตยมีทั้งหมด2,300 ไร่ เป็นพื้นที่แปลงงามติดแม่น้ำราว 400 ไร่ โดย 17 ไร่ อยู่ติดอาคารสำนักงานของ กทท.ที่เริ่มเปิดประมูลได้ก่อนในปีหน้าไม่ต้องรอบริษัทลูกวงเงินลงทุน5.4 พันล้านบาท จะพัฒนาเป็นศูนย์การขนส่งทางน้ำและคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ ได้เสนอคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(บอร์ด พีพีพี) พิจารณาแล้วอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเสนอกลับไปอีกครั้ง เชื่อว่าการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือคลองเตยให้กลายเป็นแลนมาร์คใหม่ของเมืองและเป็นท่าเรือระดับโลกได้ในเวลาไม่นานเนื่องจากไม่ติดปัญหาเวนคืนที่ดินเพราะเวนคืนไว้ทั้งหมดแล้วตั้งแต่ปี 2480

นายกมลศักดิ์กล่าวต่อว่า การพัฒนาที่ดินแปลงงามริมน้ำจะเน้นห้างสรรพสินค้าโรงแรม ร้านค้าปลีก อาคารพาณิชย์ริมน้ำ และร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) จะประกาศเขิญเอกชนเข้าลงทุนรวมถึงอาคารขนาดใหญ่สูงถึง 30 ชั้นและท่าเรือครุยส์ส่งเสริมการท่องเที่ยว พร้อมระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับทุกความต้องการกทท.จึงมีแผนลงทุนเชื่อมต่อระบบขนส่งรถไฟฟ้ารางเบาแบบโมโนเรลจากสถานีคลองเตย รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน(หัวลำโพง-บางซื่อ) ตามแนวถนนพระราม 4 ผ่านถนนโรงฟอกหนังไปบรรจบเส้นทางบริเวณถนนกล้วยน้ำไทควบคู่กับการจัดทำผังเมืองภายในใหม่และย้ายชุมชนคลองเตย ทั้งนี้ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กทท.ทำรายได้เชิงพาณิชย์รวม1.7 พันล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 30% หรือที่ 1.3 พันล้านบาทหลังจากนี้มั่นใจว่ารายได้ดังกล่าวจะเติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 5-8%โดยเฉพาะเมื่อพัฒนาแลนด์มาร์คคอลงเตยแล้วเสร็จจะสร้างรายได้เชิงพาณิชย์นับพันล้านบาทต่อปี

นายกมลศักดิ์ กล่าวต่อว่า อยู่ระหว่างเจรจาทำความเข้าใจเรื่องการรื้อย้ายชุมชนคลองเตยกับผู้นำชุมชนทั้ง12 แห่ง รวมบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบราว12,000 ครัวเรือนและชุมชนใต้ทางด่วนอีกกว่า 400 ครัวเรือน เดือน ม.ค. 62 นี้ นายสมคิดจะมาเป็นประธานเปิดตัวโครงการสมาร์ทคอมมูนิตี้( Smart Community ) เป็นการก่อสร้างคอนโดมิเนียมที่พักอาศัยบนพื้นที่58 ไร่ บริเวณถนนโรงฟอกหนัง ในชุมชนริมทางรถไฟสายเก่า คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 5-6ปี สำหรับชุมชนแห่งใหม่ควรประกอบด้วย โรงเรียน สนามเด็กเล่นสนามกีฬาและพื้นที่ประกอบอาชีพให้ชาวบ้านเพื่อสร้างความมั่นใจและโน้มน้าวใจชุมชนคลองเคยให้ตัดสินใจย้ายไปอยู่ในคอนโดมิเนียมที่ก่อสร้างไว้ให้ ...
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42629
Location: NECTEC

PostPosted: 29/11/2018 1:15 pm    Post subject: Reply with quote

ลึกทันใจ : รู้ยัง! อีก 5 ปี กรุงเทพฯ จะเป็นมหานครระบบรางอันดับ 3 ของโลก!!

ทีมข่าว ลึกทันใจ รายงาน
โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เผยแพร่: 28 พฤศจิกายน 2561 เวลา 18:21


รายงานพิเศษ ลึกทันใจ ตอน รู้ยัง! อีก 5 ปี กรุงเทพฯ จะเป็นมหานครระบบรางอันดับ 3 ของโลก!! ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม NEWS1 วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน 2561


ปัญหาการจราจรติดขัดได้อยู่คู่กับชาวกรุงเทพฯมานานจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนกรุงฯไปแล้ว หลายรัฐบาลที่ผ่านมาก็พยายามแก้ไขกันอย่างเต็มที่ จนในที่สุดระบบการขนส่งด้วยระบบรางจึงเข้ามาตอบโจทย์ต่อปัญหานี้ ทำให้คุณภาพชีวิตของคนเมืองหลวงดีขึ้นมาได้ในระดับหนึ่ง และขณะนี้ก็ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ อีกมากมาย ซึ่งก็ไม่นานเกินรอ นับจากนี้อีก 5 ปี ระบบรางทั้งหมดจะสามารถเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯกับชานเมืองเข้าด้วยกันได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้กรุงเทพฯกลายเป็นมหานครแห่งระบบรางที่จะพลิกโฉมการคมนาคมและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เฟื่องฟูไม่แพ้เมืองใหญ่ ๆ อื่น ๆ ในโลก และเชื่อหรือไม่ว่า หากโครงการทั้งหมดแล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ ก็จะทำให้กรุงเทพฯก้าวขึ้นแท่นของการเป็นเมืองที่มีโครงข่ายรถไฟฟ้ายาวเป็นอันดับ 3 ของโลกเลยทีเดียว จะเป็นรองก็เพียงเซี่ยงไฮ้ของจีนและกรุงโซลของเกาหลีใต้เท่านั้น!!

ด้านดร.รัฐภูมิ ปริชาตปรีชา ประธานวิศวกรรมระบบราง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เห็นว่าที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมก็ได้เร่งพัฒนาระบบรางเพื่อขยายโครงข่ายเส้นทางให้เชื่อมโยงครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยช่วง 4 ปีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อนุมัติโครงการระบบราง 13 โครงการ วงเงินรวม 916,779 ล้านบาทวางเป้าหมายภายในปี 2566 หรือในอีก 5 ปีข้างหน้า จะพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าตามแผนแม่บทระยะที่ 1 ให้สำเร็จ ซึ่งจะส่งผลให้มีเส้นทางรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีความยาวรวมกันถึง 464 กิโลเมตร ขึ้นแท่นเป็นเมืองที่มีโครงข่ายรถไฟฟ้ายาวเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากเซี่ยงไฮ้ ที่มีเส้นทางยาวอันดับ 1 คือ 588 กิโลเมตร และกรุงโซล ที่มีเส้นทางยาวเป็นอันดับ 2 คือ 508 กิโลเมตร

มีการคาดกันว่าในปี 2566 เมื่อเปิดให้บริการรถไฟฟ้าครบทุกเส้นทาง ประชาชนจะหันมาใช้บริการระบบรางมากขึ้น สัดส่วนผู้ใช้รถไฟฟ้าจะเพิ่มจากปัจจุบันประมาณ 1 ล้านคน/วัน เป็น 5 ล้านคน/วัน ซึ่งจะช่วยให้ปัญหาการจราจรแออัดลดลง ปัญหามลพิษทางอากาศก็จะลดลงตามไปด้วย คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่สิ่งที่เกิดตามมาก็คือประชาชนจะต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูงขึ้น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้ประชาชนต้องแบกรับภาระมากเกินไป

ตัวอย่างหนึ่งที่จะพลิกโฉมกรุงเทพฯในอีก 5 ปีข้างหน้าก็คือที่ “สถานีกลางบางซื่อ” จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางด้วยระบบรางยุคใหม่ ที่เชื่อมต่อการเดินทางได้กับรถไฟฟ้า 5 เส้นทาง เชื่อมโยงการเดินทางจากในกรุงเทพฯ ไปต่างจังหวัด รวมถึงโครงข่ายกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย พร้อมกับจะมีการพัฒนาพื้นที่โดยรอบเป็น Smart City ซึ่งจะกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจใหม่ รวมถึงพัฒนาพื้นที่มักกะสัน ขนาด 150 ไร่ ควบคู่ไปกับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางการเชื่อมโยงการเดินทางไปยังระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ รวมถึงเชื่อมโยงการเดินทางไปยังเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อน่ากังวลอยู่ว่า ระบบรางที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่กลับไม่มีหน่วยงานที่จะรับผิดชอบการดำเนินโครงการ ดูแลการเดินรถ การซ่อมแซมระบบราง และการพัฒนาพื้นที่รอบโครงการโดยตรง ดังนั้นรัฐบาล ควรต้องรีบจัดตั้ง “กรมราง” ขึ้นมาดูแลรับผิดชอบภารกิจนี้ และควรจัดสรรงบประมาณมาใช้ในการก่อสร้างและซ่อมแซมระบบราง แทนที่จะให้เอกชนแบกรับภาระฝ่ายเดียว เพราะหากเป็นเช่นนั้นจะส่งผลให้ค่าโดยสารมีอัตราที่สูงเกินไป ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่ใช้บริการเดือดร้อน และงบประมาณตรงนี้ ก็ควรมาจากการเก็บภาษีจากเจ้าของที่ดินและเจ้าของอาคารที่ได้รับประโยชน์จากมูลค่าทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้า ที่คาดว่าจะทำให้ราคาที่ดินโดยรอบเพิ่มขึ้นถึง 5-10 เท่าตัว ซึ่งส่วนใหญ่โครงการเหล่านี้มักเข้าไปกว้านซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไรในการทำธุรกิจ จึงควรแบ่งสรรรายได้ส่วนหนึ่งจ่ายเป็นภาษีเพื่อรัฐจะได้นำไปใช้ในเพื่อการพัฒนาต่อไป ก็จะ win-win กันทุกฝ่าย
https://www.youtube.com/watch?v=OGVq_UqHdFg
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42629
Location: NECTEC

PostPosted: 19/12/2018 6:47 pm    Post subject: Reply with quote

รื้อผังเมืองปากน้ำรับรถไฟฟ้า 3 สาย โคลนนิ่งกทม.บูมรอบสถานี-เพิ่มนิคมอุตฯเอี่ยวอีอีซี
พร็อพเพอร์ตี้
วันพุธ ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2561- 10:38 น.

โตก้าวกระโดด - สภาพพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปมาก รับรถไฟฟ้าสายสีเขียวเปิดบริการ ล่าสุดกรมโยธาฯเตรียมจะปรับปรุงผังเมืองใหม่รองรับ
สภาพเมืองเปลี่ยน โตก้าวกระโดด โยธาฯรื้อใหญ่ผังเมืองสมุทรปราการ โคลนนิ่งโมเดล กทม.เป็นต้นแบบ มี FAR OSR ระบบโบนัส เปิดพื้นที่เอื้อต่อการลงทุนโครงการใหญ่รอบสถานีรับรถไฟฟ้า 3 สาย 3 สี เขียว-ม่วง-เหลือง สนามบินสุวรรณภูมิ เมกะโปรเจ็กต์อีอีซี ขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมรับไทยแลนด์ 4.0 ศูนย์ข้อมูล ธอส.เผยอสังหาฯเหลือขาย 2.1 หมื่นหน่วย คาดใช้เวลาระบาย 24 เดือน



นายขจรศักดิ์ สถาวรจันทร์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเก็บข้อมูลเพื่อปรับปรุงผังเมืองรวมจังหวัดสมุทรปราการใหม่ เนื่องจากสภาพพื้นที่การพัฒนาโดยรวมเปลี่ยนแปลงไปมาก ทางกรมและรัฐบาลมีนโยบายให้ทางจังหวัดปรับปรุงผังเมืองรวมให้สอดรับและให้เอื้อต่อการพัฒนามากขึ้น ให้สอดรับกับสภาพพื้นที่ เศรษฐกิจและสังคม หลังจังหวัดสมุทรปราการมีโครงการระบบขนส่งมวลชนที่เชื่อมการเดินทางไปยังกรุงเทพฯได้สะดวกมากขึ้น

รื้อใหญ่รับเมืองขยายตัว

โดยเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา เปิดใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 13 กม. มี 9 สถานี ได้แก่ สถานีสำโรง สถานีปู่เจ้าสมิงพราย สถานีช้างเอราวัณ สถานีโรงเรียนนายเรือ สถานีปากน้ำ สถานีศรีนครินทร์ สถานีแพรกษา สถานีสายลวด และสถานีเคหะสมุทรปราการ

ในอนาคตจะมีรถไฟฟ้าสายใหม่เปิดบริการเพิ่มอีก 2 สายทางที่จะเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯกับพื้นที่สมุทรปราการ คือ สายสีม่วงส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ และสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง

“ผังเมืองรวมจังหวัดสมุทรปราการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2547 เพื่อปรับปรุงเป็นผังเมืองที่ประกาศใช้เมื่อปี 2556 จนถึงปัจจุบัน ขณะที่การพัฒนาและลงทุนในพื้นที่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด ไม่ต่างจากกรุงเทพฯ หลังมีรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีการลงทุนด้านอสังหาฯขยายตัวมายังสมุทรปราการมากขึ้น”

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่จะนำมาเป็นข้อมูลปรับปรุงผังใหม่ นอกจากรถไฟฟ้า 3 สายทาง มีสนามบินสุวรรณภูมิ โครงการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี คาดว่าจะใช้เวลาเก็บข้อมูล 1 ปี จากนั้นยกร่างผังใหม่ และเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ โดยรวมคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี ในการดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเปิดให้เจ้าของที่ดินสามารถขอปรับแก้ไขการใช้ประโยชน์เป็นรายแปลงได้อยู่แล้ว

“ที่ผ่านมาก็มีผู้ประกอบการด้านศูนย์ประชุมขอปรับปรุงข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณถนนบางนา-ตราด ให้สร้างอาคารขนาดใหญ่ได้ นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมกำลังจะขอขยายพื้นที่เขตนิคมเพิ่มขึ้น มีที่นิคมบางปูประมาณ 1,000 ไร่ กับนิคมเอเชียที่อำเภอบางเสาธงประมาณ 2,000-3,000 ไร่ ซึ่งเอกชนอยู่ระหว่างจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่” นายขจรศักดิ์กล่าวและว่า

ใช้ กทม.เป็นโมเดลต้นแบบ

สำหรับแนวทางการปรับปรุงผังเมืองใหม่ จะใช้โมเดลเดียวกับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร เนื่องจากกรมโยธาธิการและผังเมืองมีนโยบายให้จังหวัดปริมณฑลจัดทำผังเมืองรวมร่วมกับกรุงเทพฯในรูปแบบไร้รอยต่อ โดยในร่างผังเมืองรวมฉบับใหม่ จะมีกำหนดพื้นที่ FAR (floor area ratio) หรืออัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน และ OSR (open space ratio) หรืออัตราส่วนพื้นที่ว่างต่อพื้นที่อาคารมาบังคับใช้ด้วย

นอกจากนี้ จะมีการให้โบนัสพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าด้วย หากเอกชนมีการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เช่น เว้นระยะถอยร่นริมถนน เป็นต้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ให้ได้มากขึ้น จากปัจจุบันในบางพื้นที่มีติดข้อบัญญัติการคุมความสูง หรือไม่สามารถสร้างอาคารขนาดใหญ่ได้ ต่อไปจะเปิดให้สามารถพัฒนาได้มากขึ้น

ไม่ลดพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม

ส่วนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในผังเมืองรวมใหม่ อาจจะไม่มีการปรับลดพื้นที่ลง เนื่องจากสมุทรปราการโดยพื้นฐานแล้วเป็นแหล่งนิคมอุตสาหกรรมแต่จะให้ขยายนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อสอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เช่นเดียวกับพื้นที่ฟลัดเวย์รับน้ำก็ยังต้องคงไว้เหมือนเดิม เนื่องจากต่อไปจะมีการสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมมาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาลงมายังฝั่งอ่าวไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับขนาดพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยอยู่ตอนปลายสุดของแม่น้ำเจ้าพระยาและเหนืออ่าวไทย มีเนื้อที่ประมาณ 1,004.092 ตร.กม. หรือประมาณ 627,557.50 ไร่ ห่างจากกรุงเทพฯประมาณ 30 กม. มีทั้งหมด 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอบางบ่อ อำเภอบางพลี อำเภอพระประแดง อำเภอพระสมุทรเจดีย์ และอำเภอบางเสาธง

อสังหาฯเหลือขาย 2 หมื่นหน่วย

ทั้งนี้ จากข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เก็บข้อมูลในปี 2561 ช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่าจังหวัดสมุทรปราการมีโครงการบ้านเดี่ยว บ้านแฝด อาคารชุด ทาวน์เฮาส์ อาคารพาณิชย์และที่ดินเปล่าในหน่วยผังโครงการรวมทั้งหมด 63,228 หน่วย แบ่งเป็นอาคารชุด 24,394 หน่วย บ้านเดี่ยว 8,613 หน่วย บ้านแฝด 5,121 หน่วย ทาวน์เฮาส์ 23,389 หน่วย อาคารพาณิชย์ 1,470 หน่วย ที่ดินเปล่า 241 หน่วย

โดยมีหน่วยขายอาคารชุด 17,198 หน่วย เหลือขาย 7,196 หน่วย บ้านเดี่ยว 4,900 หน่วย เหลือขาย 3,713 หน่วย บ้านแฝด 3,693 หน่วย เหลือขาย 1,428 หน่วย ทาวน์เฮาส์ 14,444 หน่วย เหลือขาย 8,945 หน่วย อาคารพาณิชย์ 949 หน่วย เหลือขาย 521 หน่วย ที่ดินเปล่า 145 หน่วย เหลือขาย 96 หน่วย โดยสรุปมีหน่วยสะสมเหลือขาย 21,899 หน่วย ขณะที่มีอัตราดูดซับอยู่ที่ 4.1% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 เพิ่มขึ้น 0.5% คาดว่าจะใช้เวลาระบายซัพพลาย 24 เดือน
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคต All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 188, 189, 190 ... 277, 278, 279  Next
Page 189 of 279

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©