Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai Gallery in Facebook

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311283
ทั่วไป:13264711
ทั้งหมด:13575994
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าวรถไฟแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ข่าวรถไฟแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 46, 47, 48 ... 50, 51, 52  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44538
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 31/07/2015 7:31 am    Post subject: Reply with quote

พื้นที่ค้าน‘สุดฤทธิ์’ขวาง‘ปากบารา’
วันพุธที่ 29 กรกฏาคม 2015 เวลา 12:49 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ

พื้นที่ค้าน‘สุดฤทธิ์’ขวาง ‘ปากบารา’ ลุยคู่เขตศก.พิเศษ

"บิ๊กตู่" เอาแน่ลุยท่าเรือน้ำลึกปากบารา ควัก 50ล้านงบกลางปี57 ให้สนข.จ้างที่ปรึกษาศึกษา5ด้าน เน้นสังคม-สวล.-มั่นคง-ลงทุน-เทคโนโลยีภาคใต้ ใช้ที่อุทยานหมู่เกาะเภตรา 1,400 ไร่คู่ขนาน"สงขลา2" ลากรถไฟทางคู่กทม. –แหลมฉบังเชื่อมพื้นที่ เสริมภาคการผลิต-ส่งออกเขตศก.พิเศษถึงมือประเทศแถบยุโรปฉลุย ไม่ต้องอ้อมช่องแคบมะละกา คาดลงพื้นที่ ก.ย.นี้ ด้านเอ็นจีโอ-แกนนำชาวบ้านนับหมื่นเตรียมต้านสุดฤทธิ์

ดร.พีระพล ถาวรสุภเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ" ว่าขณะนี้รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณกลางปี 2557 ที่เหลือค้างจากโครงการต่างๆวงเงิน 50ล้านบาท จ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา บริเวณอุทยานหมู่เกาะเภตรา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล โดยใช้เวลาศึกษา 1ปีนับจากนี้ ซึ่งวางกรอบการศึกษา 5ด้านหลักๆได้แก่ ด้าน สังคม, เทคโนโลยี, ความมั่นคง ,สิ่งแวดล้อม และแหล่งงานโครงการ เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่มีผลกระทบทั้งดีและเสียจากในพื้นที่เบื้องต้นภาพรวมวิเคราะห์ว่าจะเกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เกิดแหล่งงาน และการจ้างงานรวมถึง มีกิจกรรมต่อเนื่องเกิดขึ้นในพื้นที่หากมีการพัฒนาท่าเรือดังกล่าว คาดว่า ในเบื้องต้นบริษัทที่ปรึกษาจะลงพื้นที่ได้ราวเดือนกันยายน 2558นี้

ขณะเดียวกันกรมเจ้าท่าอยู่ระหว่างจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ อีเอชไอเอ โครงการท่าเรือสงขลา2 ตั้งอยู่ ที่ตำบลนาทับอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสะพานเศรษฐกิจ สงขลา-สูตล หรือ แลนด์บริดจ์สงขลา-สูตล ซึ่งจะเป็นสองท่าเรือ เชื่อมต่อหัว-ท้ายจากฝั่งทะเลอ่าวไทย-ฝั่งอันดามัน อย่างไรก็ดี เพราะหากไม่มี ท่าเรือน้ำลึกปากบาราสงขลา 2ก็ไม่สามารถเกิดได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ที่ลากจากท่าเรือแหลมฉบัง มาเชื่อมต่อกับท่าเรือทั้ง 2 แห่งดังกล่าว เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขนส่งสินค้าทางภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีท่าเรือในโซนดังกล่าวและต้องพึ่งพาท่าเรือของประเทศเพื่อนบ้าน หรือ ท่าเรือแหลมฉบัง ที่ต้องเดินทางอ้อมช่องแคมมะละกา ต้องใช้เวลานาน หากมีท่าเรือปากบาราและท่าเรือสงขลา จะช่วยร่นระยะเวลาการขนส่งสินค้าได้เร็วขึ้นนับเดือน โดยฝั่งท่าเรือปากบาราจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางการค้าการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา อินเดีย แอฟริกา ประเทศในแถบตะวันออกกลาง ได้เร็วขึ้นขณะที่ท่าเรือสงขลา 2 จะส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น เกาหลี จีนฯลฯ เพิ่มมูลค่าทางการจากเดิมต้องใช้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นหลัก และต้องอ้อมเส้นทางดังกล่าว

ที่สำคัญสามารถนำภาคการผลิตจากโรงงานที่อยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ขนถ่ายเชื่อมโยงด้วยรถไฟทางคู่ ลงสู่ท่าเรือสงขลา2 และปากบาราได้ เพื่อจะส่งออกไปยังประเทศในแถบยุโรปดังกล่าว ซึ่งจะทำให้การค้าการส่งออกไม่อยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน แต่สามารถกระจายสินค้าออกไปยังประเทศไกลๆได้ด้วย

ส่วนเสียงคัดค้านของคนในพื้นที่นั้น ดร.พีระพลกล่าวว่า จริงๆแล้วโครงการท่าเรือดังกล่าวไม่ได้สร้างผลกระทบให้กับคนในพื้นที่แต่อย่างใด ในทางกลับกันยังช่วยเพิ่มศักยภาพการลงทุนสร้างแรงจูงใจจากการสร้างงานในพื้นที่ ส่วนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมนั้นมองว่า มีน้อยมากซึ่งบริษัทที่ปรึกษาจะศึกษาอย่างละเอียดรอบด้านและคำนึงถึงความมั่นคงในพื้นที่ด้วย

ที่สำคัญ พื้นที่ที่ใช้พัฒนาจะเป็นพื้นที่อุทยานหมู่เกาะเภตรา 1,400 ไร่ ที่ได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เรียบร้อยแล้ว และ พื้นที่ที่สร้างตัวท่าเรือจะใช้เพียง 400 ไร่ที่อยู่ติดกับชายฝั่งและจะมีการสร้างเขื่อนกันคลื่นกันทรายและมีการขุดลอกร่องน้ำให้ลึกขึ้นเพื่อเรือจะเข้าเทียบท่าได้ ซึ่งจะใช้พื้นที่ไม่มากแต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จะต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้านมากขึ้นเพราะเขาอยู่ในพื้นที่ ที่สำคัญคนในพื้นที่มองว่า การทำท่าเรือปากบารา จะพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมหนักหรือโรงงานปิโตรเคมีเหมือนท่าเรือมาบตาพุด แต่ตามข้อเท็จจริง ไม่ได้เน้นการพัฒนารูปแบบท่าเรือมาบตาพุด แต่ จะเน้นให้ท่าเรือปากบาราเป็นเหมือนท่าเรือแหลมฉบังที่ใช้เฉพาะตู้คอนเทนเนอร์เพื่อขนส่งสินค้า และรถยนต์เท่านั้น โดยจะไม่มีการตั้งนิคมอุตสาหกรรมโรงงานปิโตรเคมีแต่อย่างใด ส่วนมูลค่าทางการค้าและคนในพื้นที่จะได้อะไรบ้าง รวมทั้งรายได้ที่จะเข้าประเทศ จะต้องรอผลการศึกษาจากบริษัทที่ปรึกษา

ขณะที่นายบรรจง นะเส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยมาตั้งแต่ต้น ที่ จะมีการลงทุนก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ซึ่งผลของการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม อีไอเอ และการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ไม่ผ่านความเห็นชอบ และอยู่ในพื้นที่อุทยานและจะมีผลกระทบจากการท่องเที่ยวและสัตว์น้ำทางทะเลโดยเฉพาะหากมีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นจะกระทบต่อวิถีชาวบ้านอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น สมาคมและชาวบ้านส่วนใหญ่ยังยืนยันที่จะคัดค้านโครงการดังกล่าวมาตลอด

ด้านนายกำราบ พานทอง ผู้ประสานงานสภาทรัพยากรพันธุ์กรรมพื้นบ้านภาคใต้และสภาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา กล่าวว่า ขณะนี้มีคนอยู่2กลุ่ม ที่ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา กลุ่มที่เห็นด้วยจะเป็น กลุ่มข้าราชการ กลุ่มนักการเมือง ผู้รับเหมา หอการค้า เพราะมองว่าน่าจะได้ผลประโยชน์จากโครงการดังกล่าว แต่กลุ่มของธุรกิจท่องเที่ยว ประมง จะคัดค้านเพราะธุรกิจเขาจะกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะ เมื่อมีท่าเรือขนาดใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ ก็จะต้องมีโรงงาน มีนิคมอุตสาหกรรม เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ท่าเรือก็ไม่มีความหมาย ซึ่งการลงทุนพัฒนาท่าเรือ ของภาครัฐ จะมุ่งเน้นที่จะสร้างกิจกรรมพัฒนาพื้นที่ให้คุ้มค่าต่อการลงทุน โดยเฉพาะโรงงาน และภาคการผลิตที่อยู่บริเวณท่าเรือ และไม่เชื่อว่า จะเป็นท่าเรือเฉพาะขนถ่ายตู่คอนเทนเนอร์เท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาได้ตรวจสอบจากผลการศึกษา ก็พบว่าจะพัฒนานิคมอุตสาหกรรมบริเวณท่าเทียบเรือดังกล่าว

ผลที่ตามมาอาจกระทบกับระบบนิเวศทางทะเลและสภาพสิ่งแวดล้อมซึ่งอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ในเขตอุทยาน กระทบต่อวิถีชุมชน โดยเฉพาะการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จะขัดแย้งกับคำขวัญของจังหวัดสูตล "สงบ-สะอาด-ธรรมชาติบริสุทธิ์ " และคนในพื้นที่สูตล ยืนยันว่าไม่เอาท่าเรือน้ำลึกปากบารา ทั้งนี้ ประเมินว่าจะมารวมตัวกันคัดค้านกว่า 10,000คน แต่หากเป็นแค่ เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจก็จะมีชาวบ้านรวมตัวกันเฉลี่ย 100 คนขึ้นไป ประเด็นใหญ่ไม่เห็นด้วยคือท่าเรือน้ำลึกไม่ใช่สิ่งที่เป็นการพัฒนาที่แท้จริงและคนในพื้นที่ต้องการอยู่แบบเรียบง่ายสงบสุข

"เราจะเชื่อเขาไม่ได้เพราะหน่วยงานลงมาทำเองมี นักวิชาการวิเคราะห์ข้อดีของท่าเรือ มีเพียงเอกสารและแผนพัฒนาภาคใต้มาให้ชาวบ้านดูว่าจะพัฒนาเชื่อมโยงกันอย่างไรและเห็นชัดในแผนผังว่า จะทำนิคมอุตสาหกรรม ตั้งโรงไฟฟ้า ถ้าไม่มีจะไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน และนี่คือสิ่งสะท้อนว่า เขาไม่จริงใจเพราะแผนสภาพัฒน์เขียนชัดว่า มีนิคมอุตสาหกรรม ขณะที่ อีไอเอ ทำพอเป็นพิธีว่าเป็นกระบวนการทางกฎหมาย ท้ายที่สุดก็ต้องผ่าน ที่สำคัญหมู่เกาะเภตรา เป็นสิ่งที่คนสตูลรักและหวงแหนไม่ยกให้ใครไปทำลายได้ง่ายๆแน่"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,074
วันที่ 30 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม พ.ศ. 2558
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44538
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 17/12/2015 7:26 pm    Post subject: Reply with quote

ญี่ปุ่น รื้อพิมพ์เขียว "ทวาย" ลงหุ้นถนน-ท่าเรือ-รถไฟ 4 แสนล้าน
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 17 ธ.ค. 2558 เวลา 18:20:14 น.

ขณะที่ "บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์" กำลังเร่งพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจทวายระยะแรก เนื้อที่ 27 ตร.กม. ที่ได้รับสัมปทานระยะเวลา 75 ปีจาก "รัฐบาลเมียนมา" จะต้องดำเนินการทุกอย่างให้แล้วเสร็จภายใน 210 วัน นับจากวันเซ็นสัญญาสัมปทาน เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2558 โดยดำเนินการ 7 กิจกรรมหลัก (ดูตาราง) ซึ่งใช้เม็ดเงินลงทุนไปกว่า 5 หมื่นล้านบาท เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขและกฎระเบียบของรัฐบาลเมียนมา

ความคืบหน้าของการสานต่อภารกิจของ 2 รัฐบาล คือ "ไทย-เมียนมา" หลังร่วมกันจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) หรือบริษัท Dewai SEZ Development โดยลงหุ้นในสัดส่วน 50 : 50 ล่าสุด "รัฐบาลญี่ปุ่น" ตกลงร่วมลงนามเข้าร่วมทุนใน SPV อย่างเป็นทางการอีกรายหนึ่ง เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2558 หลังการประชุมคณะกรรมการร่วมระดับสูง (JHC) ครั้งที่ 5 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่าง 13-14 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย ติดตามความก้าวหน้าโครงการนี้

นับเป็นความคืบหน้าในรอบ 6 เดือน หลัง "ญี่ปุ่น" ได้ลงนามบันทึกแสดงเจตจำนง (MOI) 3 ฝ่ายระหว่าง "ไทย-เมียนมา-ญี่ปุ่น" ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2558 ที่ผ่านมา

Click on the image for full size

ญี่ปุ่นโอเคถือหุ้น 33.33%

นายสมคิดกล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมฯ จัดขึ้นเพื่อติดตามความคืบหน้าเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และยังเป็นการลงนามความร่วมมือของญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ในการเข้ามาร่วมจัดตั้งบริษัท Dewai SEZ Development ขึ้นในสัดส่วนหุ้น 33.33% เท่ากัน 3 ฝ่าย โดยขั้นแรกจะให้ลงทุนประเทศละ 6 ล้านบาท รวมเป็นทุนจดทะเบียนรวม 18 ล้านบาท เพื่อนำมาดำเนินการต่าง ๆ อีกทั้งจัดตั้งคณะกรรมการประเทศละ 3 คน ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการในพื้นที่ฟูลเฟส เนื้อที่ 196 ตร.กม. ต่อยอดจากโครงการเฟสแรก

ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบถึงความคืบหน้าการพัฒนาโครงการทวายระยะแรกของกลุ่มบริษัทผู้พัฒนา ประกอบด้วย บมจ.อิตาเลียนไทยฯ, บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ และบริษัท LNG Plus International จำกัด ที่อยู่ระหว่างการปฏิบัติตามเงื่อนไขตามสัญญาสัมปทานโครงการให้แล้วเสร็จใน 7 เดือน ภาพรวมการดำเนินการมีความก้าวหน้าตามกำหนด เช่น การเจรจาข้อสรุปข้อตกลงสัมปทานสถานีรับ LNG ซึ่งมีความสำคัญในการผลิตไฟฟ้า เป็นต้น

"แผนพัฒนาโครงการเต็มเฟส ทางญี่ปุ่นอยู่ระหว่างศึกษาใหม่ หลังตัดสินใจร่วมลงทุนด้วย เพื่อให้ตอบโจทย์นักลงทุนที่จะเข้ามาพัฒนาพื้นที่ สำหรับโครงการทวายทางรัฐบาลเมียนมาให้ความสำคัญมาก เพราะเป็นประโยชน์ต่อหลายประเทศ รวมทั้งไทยด้วย เพราะจะเชื่อมการขนส่งสินค้าจากท่าเรือทวายไปยังแหลมฉบัง ก่อนหน้านี้ทางรัฐบาลเมียนมากังวลว่าญี่ปุ่นจะเข้าร่วมพัฒนาหรือไม่ จึงได้ลงทุนพัฒนาโครงการขนาดเล็กในระยะแรก เช่น ถนน ท่าเรือ โรงไฟฟ้า แต่เมื่อญี่ปุ่นเข้าร่วมแล้ว จะเร่งการพัฒนาเต็มเฟสเร็วขึ้น"

นายสมคิดกล่าวว่า นอกจากนี้การหารือยังเห็นชอบร่วมกันใช้สกุลเงินบาทไทยและเงินจ๊าตเมียนมาในการค้าและการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษรวมถึงความเป็นไปได้ในการให้บริษัทประกันต่างชาติสามารถให้บริการทางการเงินเพื่อสนับสนุนโครงการ จะสรุปเดือน ก.พ. 2559

ลงทุน SPV 7 โครงการ

ด้านนายอาคมชี้แจงเพิ่มเติมว่า ฝ่ายญี่ปุ่นร่วมลงทุนใน SPV โดยธนาคารเพื่อความร่วมมือแห่งประเทศญี่ปุ่น (JBIC) จะรับผิดชอบการร่วมลงทุนในส่วนของญี่ปุ่น ส่วนบทบาทสำคัญของบริษัท SPV จะบริหารโครงการ และลงทุนใน 7 โครงการ ที่จะลงทุนพัฒนา เช่น ถนน รถไฟ โรงไฟฟ้า ท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรมเต็มเฟส ระบบโทรคมนาคม เป็นต้น ซึ่งบริษัทสามารถเข้าไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหรือลงทุนในด้านนิคมอุตสาหกรรมได้ตามสัดส่วนที่ 3 ประเทศถือหุ้นอยู่ หรือให้ทางเอกชนลงทุนทั้งหมด 100% ขึ้นอยู่กับนโยบายที่กำหนดไว้

ส่วนการวางแผนแม่บทการพัฒนาโครงการเต็มเฟส ทางบริษัทที่ปรึกษา คือ บจ.โรแรล เบเกอร์ จากประเทศเยอรมนี ได้ทำแผนแม่บทเสร็จเรียบร้อยแล้ว ประเมินเบื้องต้นจะใช้เงินลงทุน 4 แสนล้านบาท แต่เมื่อญี่ปุ่นมาลงทุนด้วยก็ขอเข้ามาดูแผนแม่บทใหม่ด้วย ให้ตอบโจทย์บริษัทเอกชนญี่ปุ่นที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นส่วนสำคัญของโครงการ ไม่ว่าถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ พลังงาน ซึ่งต้องมาทบทวนแผนพัฒนาใหม่ โดยญี่ปุ่นจะส่งผลการศึกษาใหม่ในเดือน ม.ค. 2559

รีวิวแผนแม่บทใหม่

"แผนแม่บทที่ญี่ปุ่นรีวิวใหม่ ต้องปรับกรอบเวลาการพัฒนา จากเดิม 10-20 ปี ให้เร็วขึ้น เป็น 5 ปี 10 ปี 15 ปี อาจจะมีการปรับเปลี่ยนหลังจากคณะสำรวจเมียนมา ไทย ญี่ปุ่น ลงพื้นที่เมื่อ ต.ค.ที่ผ่านมา ฝ่ายญี่ปุ่นมีความเห็นเบื้องต้นว่า ถนนขนาด 2 ช่องจราจรที่ได้ออกแบบไว้ เดิมมีข้อจำกัดเรื่องความลาดชันถึง 7 ตอน และมี 4 ตอน เป็นส่วนมีความลาดชันสูงมาก อาจต้องปรับแนวสายทางหรือก่อสร้างอุโมงค์ลอดภูเขาแทน เพื่อให้รถขนส่งสินค้าวิ่งได้เร็วขึ้น ส่วนเงินลงทุนจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ ยังไม่สามารถตอบได้ แต่จะไม่ให้เกิน 4 แสนล้านบาท"

นายอาคมกล่าวต่อว่า นอกจากนี้มีข้อเสนอที่ต้องการให้ทางญี่ปุ่นศึกษาเพิ่มเติม คือ ให้มีการศึกษาในเรื่องของรถไฟต่อจากเส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง ซึ่งฝั่งไทยจะขยายต่อจากช่วงกาญจนบุรี-บ้านพุน้ำร้อน ระยะทาง 50-60 กม. ให้สามารถเชื่อมไปถึงท่าเรือทวายและศึกษาจากท่าเรือทวาย-ชายแดนระยะทาง 138 กม. ควบคู่กับโครงข่ายถนนขนาด 4 ช่องจราจรในคราวเดียวกัน ส่วนจะลงทุนโครงการไหนก่อนหรือสร้างไปพร้อมกันทั้งถนนและรถไฟอยู่ที่การศึกษา

"หากศึกษาเส้นทางนี้ไปด้วยจะก่อให้เกิดประโยชน์ด้านการขนส่งเป็นอย่างมาก เพราะมีทั้งถนนและรถไฟ นอกจากนี้ฝั่งไทยยังมีแผนก่อสร้างมอเตอร์เวย์เส้นทางกาญจนบุรี-บ้านพุน้ำร้อน อยู่ระหว่างการศึกษา จะสรุปรายละเอียดโครงการเร็ว ๆ นี้ โดยจะต่อเชื่อมมอเตอร์เวย์จากบางใหญ่-กาญจนบุรีมาถึงชายแดนไทย มาเชื่อมถนนฝั่งเมียนมาเข้าทวาย"

ทั้งนี้แผนแม่บทฉบับเดิมที่อิตาเลียนไทยฯออกแบบไว้ มีทั้งโครงการรถไฟและถนนอยู่แล้ว แต่เนื่องจากเป็นการลงทุนของเอกชนทั้งหมด และต้องการให้เกิดเร็วขึ้น จึงนำโครงการถนนออกมาพัฒนาก่อน เป็นถนนขนาด 2 ช่องจราจร และตัดโครงการรถไฟออกไป เมื่อญี่ปุ่นเข้ามาแล้ว ต้องการมองภาพรวมโครงการทั้งหมด ไม่ตัดพัฒนาทีละส่วน

78 บริษัทสนลงทุนเฟสแรก

สำหรับความคืบหน้าโครงการระยะแรก นายอาคมกล่าวว่า ทางกลุ่มอิตาเลียนไทยฯรายงานว่า มีผู้มาซื้อพื้นที่นิคมแล้ว 78 บริษัท เป็นทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศ แต่อยู่ระหว่างรอการอนุมัติสัญญาเช่าจากรัฐบาลเมียนมาอีกครั้ง เช่น อัตราค่าเช่า จะต้องดำเนินการให้เสร็จภายในเดือน ก.พ. 2559 นี้ เพื่อเริ่มการพัฒนาก่อสร้างโครงการ "ฟูลเฟสที่จะเกิดขึ้น จะเป็นการลงทุนใหญ่กว่าเฟสแรกหลายเท่า มีญี่ปุ่นเป็นกลไกสำคัญในการร่วมกันขับเคลื่อนโครงการ จะมีการหารือในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมครั้งต่อไปประมาณเดือน ก.พ.ปีหน้า"

เป็นความคืบหน้าของโครงการทวาย ณ เวลานี้ ภายใต้การขับเคลื่อนของ "รัฐบาล คสช." ส่วนการพัฒนาเต็มเฟสจะพัฒนาได้เร็วขึ้นอย่างที่หวังหรือไม่ คงต้องรอดูนับจากนี้ไป
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42709
Location: NECTEC

PostPosted: 21/07/2016 3:09 pm    Post subject: Reply with quote

คกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ชี้ชะตา โครงการแลนด์บริดจ์ปากบารา 1 ส.ค.นี้
Thai PBS
20 กรกฎาคม 2559 08:57

คชก.เห็นชอบ "อีไอเอ" โครงการแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล เสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมพิจารณา 1 ส.ค.นี้

วานนี้ (19 ก.ค.2559) สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม Greennews รายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาติดตามผลการศึกษาความเหมาะสมในโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา อ.ละงู จ.สตูล เมื่อวันที่ 15 ก.ค.2559 ได้รับทราบความคืบหน้าโครงการทางรถไฟเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน (แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล) ซึ่งเป็นส่วนเชื่อมต่อระหว่างท่าเรือน้ำลึกปากบารา และท่าเรือสงขลา 2 ด้วยเส้นทางรถไฟความยาวประมาณ 142 กิโลเมตร โดยพบว่าสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคมได้จัดส่งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว

นายสุโข อุบลทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สผ. กล่าวว่า รายงานอีไอเอแลนด์บริดจ์ได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการชำนาญการ (คชก.) แล้วตั้งแต่เดือน ก.พ.2559 ขณะนี้ สนข.อยู่ระหว่างทำรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อเสนอสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในวันที่ 1 ส.ค.นี้

นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้า กล่าวว่า โครงการท่าเรือปากบาราและท่าเรือสงขลาเป็นท่าเรือน้ำลึกประเภทเดียวกัน เดิมกระทรวงคมนาคมมองว่าท่าเรือปากบาราจะเชื่อมไปยังประเทศตะวันตก ส่วนท่าเรือสงขลา 2 เป็นการขยายประสิทธิภาพของท่าเรือสงขลาเดิม แต่หากการเชื่อมโยงระหว่าง 2 ท่าเรือนี้ สามารถเพิ่มศักยภาพของการขนส่ง ก็จะเป็นประโยชน์มากขึ้น

นายสมบูรณ์ คำแหง ตัวแทนเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล กล่าวว่า โครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราไม่ได้เป็นโครงการเดี่ยว แต่จะเกี่ยวข้องกับโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ที่มีเส้นทางรถไฟเชื่อมท่าเรือสองฝั่งเข้าหากัน ซึ่งหลายคนยังเข้าใจผิดว่าเป็นคนละโครงการกัน จึงต้องทำให้ข้อมูลภาพรวมของโครงการทั้งหมดเปิดเผยสู่สาธารณะมากกว่านี้

นายภูมินทร์ หะรินสุต ประธานสมาคมเจ้าของเรือไทย กล่าวว่า แม้ผู้ประกอบการจะอยากมีประตูออกสู่อันดามัน แต่ความคุ้มค่าไม่ได้อยู่ที่สามารถร่นระยะเวลาเดินเรือมากน้อยเพียงใด เงื่อนไขที่ผู้ประกอบการจะใช้พิจารณาว่าจะใช้ท่าเรือเพื่อขนส่งสินค้าหรือไม่จึงอยู่ที่ราคาสินค้าเหมาะสมหรือไม่ ฉะนั้นหากจะก่อสร้างเพื่อเก็บค่าเทียบเรือ เก็บค่าผ่านสินค้า คงจะเป็นไปไม่ได้

“ตัวอย่างเช่นการขนส่งยางพาราไปจีน ทำไมออกจากท่าเรือสงขลาจึงแพงกว่าออกจากท่าเรือปีนัง ทั้งที่ปีนังวิ่งไกลกว่าอีก 5 วัน นั่นเพราะค่าระวางเรือจากสงขลาไปจีนนั้นแพงกว่า ดังนั้นเราต้องคิดว่าถ้าจะก่อสร้างจริงจะสามารถแข่งขันกับท่าเรืออื่นอย่างไร มีจุดเด่นที่จะขายอย่างไร”นายภูมินทร์ กล่าว

พล.ร.อ.ยุทธนา ฟักผลงาม ประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านการคมนาคมทางน้ำและการพาณิชยนาวี กล่าวว่า โครงการแลนด์บริดจ์เป็นเพียงส่วนย่อยของยุทธศาสตร์ใหญ่คือการเป็นจุดศูนย์กลางแหล่งกระจายสินค้าทั้งภายในประเทศและระหว่างอาเซียน และท่าเรือปากบาราก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งสินค้าที่มีความสำคัญของประเทศ ไม่ใช่เฉพาะ จ.สตูล เท่านั้น
สำหรับการดำเนินการ ขณะนี้มีการเชื่อมเส้นทางรถไฟกับประเทศกัมพูชา ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ย.นี้ ส่วนประเทศลาวก็กำลังสร้างโกดังสินค้าซึ่งจะมีเส้นทางรถไฟเชื่อมไทยให้เป็นประตูสู่ทะเล ทางด้านประเทศพม่าก็อยู่ระหว่างเจรจาทั้งเส้นทางรถไฟและรถยนต์ นอกจากนี้ยังรวมถึงการขนส่งระหว่างทวีปอื่นๆ ด้วย

นายภัทรพนธ์ รัตนพิเชฏฐชัย ผวจ.สตูล กล่าวว่า จ.สตูล เป็นจังหวัดหนึ่งในราชอาณาจักรไทย ดังนั้นผลประโยชน์ของชาติไทยต้องมาก่อน ผลประโยชน์ของภาคหรือจังหวัดต้องรองลงมา และผลประโยชน์ของชุมชนก็ต่ำกว่านั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะละเลยความเดือดร้อน

“การรับฟังความคิดเห็นก็ได้มีมาแล้วมากมาย แต่หลายครั้งก็ไม่สำเร็จเพราะมีการคัดค้านต่อต้าน จึงอยากขอให้ทุกฝ่ายไม่ว่าราชการ ท้องถิ่น ผู้สนับสนุน ผู้คัดค้าน นักวิชาการ หรือเอ็นจีโอ มาร่วมลงนามเอ็มโอยูกันดีกว่า ตกลงกันว่าเราจะผลักดันให้เกิดการศึกษาให้สำเร็จ ไม่เช่นนั้นก็จะพูดไปคนละทิศละทาง”นายภัทรพนธ์ กล่าว
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42709
Location: NECTEC

PostPosted: 21/07/2016 4:42 pm    Post subject: Reply with quote

คนสงขลา-สตูล ยื่นคัดค้าน EIA หมกเม็ดรถไฟรางคู่แลนด์บริจด์ ชง กสม.สอบเหตุไม่เปิดให้ ปชช.มีส่วนร่วม
โดย MGR Online
21 กรกฎาคม 2559 12:23 น. (แก้ไขล่าสุด 21 กรกฎาคม 2559 12:28 น.)


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสงขลา สตูล ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ตรวจสอบรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโครงการรถไฟรางคู่สงขลา-สตูล พร้อมยื่นขอสำเนารายงานฯ และคัดค้านการจัดทำรายงาน เนื่องจากประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำ

วันนี้ (21 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายรุ่งเรือง ระหมันยะ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสงขลา สตูล พร้อมตัวแทนเครือข่ายฯ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรื่องขอให้ตรวจสอบรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโครงการรถไฟรางคู่สงขลา-สตูล โดยเนื้อหาในหนังสือระบุว่า


ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจรทางบก หรือ สนข. ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโครงการรถไฟรางคู่สงขลา-สตูล มาแล้วนั้น บัดนี้โครงการดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาในขั้นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม และได้เตรียมนำเสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ดำเนินการพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป ทางเครือข่ายประชาชนปกป้องฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสงขลา สตูล มีความเห็นว่า รายงานการศึกษาดังกล่าวไม่ถูกต้องครบถ้วน ด้วยเหตุผลดังนี้

1.แท้จริงแล้วการศึกษาโครงการรถไฟรางคู่สงขลา-สตูล คือ ยุทธศาสตร์ที่ต้องการเชื่อมเส้นทางคมนาคมระหว่างสองฝั่งทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ที่มีองค์ประกอบของโครงการมากกว่าหนึ่งโครงการ ดังนั้น จึงไม่ควรศึกษาแบบแยกส่วนรายโครงการ ทั้งยังต้องคำนึงถึงผลกระทบโดยรวมของประชาชนในพื้นที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการอื่นๆ ในภาพรวมด้วย 2.โครงการนี้ได้มีเสียงคัดค้านของประชาชนหลายพื้นที่ตลอดเส้นทางโครงการตั้งแต่ต้น ด้วยเหตุผลของความไม่ชัดเจนในเรื่องวัตถุประสงค์ของโครงการที่อยู่ระหว่างการขนส่งสินค้า หรือการขนส่งมวลชน และทั้งสองแนวทางก็ไม่ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ หรือความคุ้มทุนในการใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง

3.ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในพื้นที่ก่อสร้างทางรถไฟ ทั้งยังไม่ได้รับทราบข้อมูล ข่าวสารที่จะทำให้รู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อตนในเรื่องทรัพย์สิน อาสิน ตลอดถึงความมั่นใจในการอยู่อาศัย หรือผลกระทบอื่นๆ ที่จะตามมาในอนาคต 4.โครงการดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างหนักต่อทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ทั้งต้นทาง และปลายทาง ด้วยสถานีต้นทางอยูที่ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ซึ่งอยู่กลางทะเลห่างจากฝั่ง 4.2 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ซึ่งจะต้องถอนสภาพความเป็นอุทยานแห่งชาติฯอย่างน้อย 4,734 ไร่ และอาจจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต และที่สำคัญคือบริเวณดังกล่าวที่เรียกว่าอ่าวปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของคนจังหวัดสตูล และสถานีปลายทางบ้านสวนกง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ถือเป็นพื้นที่อันทรงคุณค่าทางทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างประเมินค่าไม่ได้ ซึ่งประชาชนในพื้นที่กำลังดำเนินการเพื่อเสนอให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติแห่งใหม่ของจังหวัดสงขลา และของประเทศ


การจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการรถไฟรางคู่ สงขลา-สตูล ถือเป็นกระบวนการศึกษาที่ไม่เคารพสิทธิความเห็นของประชาชนในพื้นที่ และไม่เชื่อมโยงข้อมูล และข้อเท็จจริงที่จะเกิดขึ้นต่อพื้นที่อย่างตรงไปตรงมาตามข้อสังเกตที่ได้นำเรียนไว้แล้วเบื้องต้น เครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสงขลา สตูล จึงขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ดำเนินการตรวจสอบกระบวนการในการจัดทำรายงานดังกล่าวว่า ได้ดำเนินไปด้วยความถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ อย่างไร



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ ทางเครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสงขลา สตูล ได้นำหนังสือเนื้อหาฉบับเดียวกันเดินทางไปยื่นต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขอให้หยุดพิจารณาผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโครงการรถไฟรางคู่สงขลา-สตูล พร้อมยื่นหนังสือต่อสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจรทางบก (สนข.) เพื่อขอเอกสารรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการรถไฟรางคู่สงขลา-สตูล

โดยระบุว่า ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจรทางบก หรือ สนข. ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโครงการรถไฟรางคู่สงขลา-สตูล มาแล้วนั้น บัดนี้โครงการดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาในขั้นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม และกำลังเตรียมนำเสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ดำเนินการพิจารณาตามขั้นตอนต่อไปนั้น


ทางเครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสงขลา สตูล ได้เห็นความสำคัญของการศึกษาเรียนรู้ และการรับรู้ข้อมูลข่าวสารดังกล่าว เพื่อเป็นเครื่องมือในการพิจารณา และเตรียมการเกิดขึ้นของโครงการในอนาคต จึงขอความอนุเคราะห์ให้ทางหน่วยงานของท่านจัดทำสำเนาเอกสารทั้งหมดให้แก่เครือข่ายประชาชนฯ จำนวน 1 ชุด
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44538
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 26/07/2016 8:30 pm    Post subject: Reply with quote

สนช.เร่งสรุปท่าเรือปากบารา ลุ้นไฟเขียวอีไอเอสร้างรถไฟเชื่อมสตูล – สงขลา
โดย ฐานเศรษฐกิจ - 26 July 255933

กมธ.คมนาคมสนช.รับเป็นตัวกลางเคลียร์ปมปัญหาโครงการก่อสร้างท่าเรือนํ้าลึกปากบาราให้เป็นแลนด์บริดจ์เชื่อมสงขลา-สตูล หลังโดนต่อต้านมานาน “จเรศักณิ์” ไม่หวั่นมวลชนต้านเตรียมนำทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่หาข้อเท็จจริงก่อนสรุปผลรายงานรัฐบาลพิจารณา ด้านแกนนำเอ็นจีโอเสนอภาครัฐเผยข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน ล่าสุดมีลุ้นโครงการรถไฟเชื่อมสตูล-สงขลาเตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไฟเขียว 1 ส.ค.นี้

พล.ท.จเรศักณิ์ อานุภาพ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)การคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าได้เชิญกรมเจ้าท่า(จท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดจนผู้ที่ได้รับผลกระทบและต่อต้านโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราที่จังหวัดสตูลและสงขลา มานำเสนอข้อเท็จจริงของการพัฒนาโครงการดังกล่าวซึ่งแนวโน้มของการหารือและสอบถามข้อมูลทั้งสองฝ่ายในครั้งนี้เป็นไปในแนวทางที่ดี

โดยแกนนำของผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการดังกล่าวของรัฐบาลยืนยันว่าประชาชนไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจน ดังนั้นภาครัฐโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องส่งข้อมูลที่ชัดเจนให้ประชาชนในพื้นที่ให้รับรู้รับทราบอย่างทั่วถึงจริงๆ โดยเฉพาะประเด็นที่ได้รับการสอบถามมายังหน่วยงานต่างๆไม่มีคำตอบให้ประชาชนได้ทราบข้อเท็จจริง

นอกจากนั้นที่ปรึกษาโครงการยังจะได้ความเห็นที่ชัดเจนจากหลายฝ่ายนำไปปรับปรุงข้อมูลผลการศึกษาให้ตรงตามความต้องการของทุกฝ่ายเพื่อนำไปชี้แจงในภาพรวมให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบต่อไป

“เบื้องต้นขณะนี้ได้ความชัดเจนแล้วว่า กมธ.คมนาคม ของสนช. จะเป็นตัวกลางประสานความร่วมมือของทุกฝ่ายเพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป ส่วนโครงการจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่หรือไม่อย่างไรนั้นยังต้องมีกระบวนการดำเนินงานอีกหลายขั้นตอนที่จะพิจารณา โดยโครงการนี้ถือว่าเป็นเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาลในการเชื่อมฝั่งทะเลตะวันตกกับฝั่งทะเลตะวันออกของจังหวัดสงขลากับจังหวัดสตูล หลังจากนี้กรรมาธิการจะต้องตรวจสอบในรายละเอียดเชิงลึกมากขึ้นทั้งการลงพื้นที่และพบปะชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการนี้ เพราะที่ผ่านมาได้รับรายงานว่าเมื่อที่ปรึกษาลงพื้นที่พบว่าได้รับการต่อต้านจากกลุ่มเอ็นจีโอ ดังนั้นเมื่อสรุปความเห็นของทุกฝ่ายชัดเจนแล้วคงจะพอเห็นแนวทางต่อการพัฒนาโครงการดังกล่าวในเร็วนี้”

ปัจจุบันกรมเจ้าท่าอยู่ระหว่างการจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) และการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์(SEA) สำหรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้วงเงิน 115 ล้านบาทเป็นระยะเวลา 20 เดือนโดยการรับฟังความเห็นครั้งที่ 3จะจัดในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 เมื่อผลการศึกษาแล้วเสร็จคงพอมองเห็นความเป็นไปได้ของโครงการเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอรัฐบาลพิจารณาต่อไป

ด้านนายสมบูรณ์ คำแหง แกนนำชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการนี้ กล่าวว่า ได้นำเสนอกรรมาธิการคมนาคมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงทั้งหมดว่าจะก่อสร้างโครงการอะไรบ้าง จะก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก แล้วก่อสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงเท่านั้น หรือมีโครงการอื่นๆ ด้วย

“เรื่องนี้ในการชี้แจงต่อ กมธ.คมนาคม ผู้แทนจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.)ยืนยันว่าจะได้นำเรื่องเส้นทางรถไฟเข้าพิจารณาการประชุมของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.) พิจารณาอนุมัติในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ กรณีนี้นับเป็นยุทธศาสตร์ของการเชื่อม 2 ฝั่งทะเลนั่นเองโดยได้นำเสนอไปยังหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องว่าให้เปิดเผยข้อเท็จจริงทั้งหมดให้ชาวบ้านรู้จริงและทั่วถึง จะมาบอกว่าไม่ต้องกังวลมากจะก่อสร้างท่าเรือขนาดเล็ก จะขนตู้คอนเทนเนอร์กันด้วยรถไฟ โครงการจะเกี่ยวเนื่องกันอย่างไรบ้าง

โดยในการชี้แจงครั้งนี้แม้กระทั่งแกนนำฝ่ายสนับสนุนยังไม่ทราบเลยว่าจะมีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงทั้ง 2 ท่าเรือ ประการสำคัญ สผ. จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ กรณีผลการศึกษาอีไอเอ(EIA) หรืออีเอชไอเอ(EHIA) ซึ่งใช้งบราว 120 ล้านบาทไปดำเนินการกมธ.คมนาคม บางท่านยังได้ตั้งข้อสังเกตว่าหากจะมีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงจะต้องมีการศึกษา EHIA อีกรูปแบบหนึ่งด้วย”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,177 วันที่ 24 – 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44538
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 01/08/2016 7:14 am    Post subject: Reply with quote

สวล.พิจารณาพรุ่งนี้ อีไอเอท่าเรือน้ำลึกสงขลา-รถไฟรางคู่สตูล คนในพื้นที่ยังงง
ไทยพีบีเอส 20:00 | 31 กรกฎาคม 2559

วันนี้ (31 ก.ค.) เวลา 14.30 น. คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ลงพื้นที่บ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อรับฟังปัญหาและข้อห่วงกังวลของชุมชน จากโครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา-สตูล และทางรถไฟรางคู่ขนส่งสินค้า สงขลา-สตูล ตามแผนโครงการสะพานเศรษฐกิจสงขลา-สตูล ขณะที่ ในวันที่ 1 ส.ค. นี้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จะพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

นายรุ่งเรือง ระหมันยะ นายกสมาคมคนรักษ์ทะเลจะนะ กล่าวว่า โครงการที่จะเกิดขึ้นคนในชุมชนไม่ทราบเลยว่าจะเกิดขึ้นตรงไหนอย่างไร ไม่มีการจัดเวทีรับฟังข้อมูลและความคิดเห็นของประชาชน เราทราบเมื่อ 2 สัปดาห์ จากเครือข่ายว่า จะมีการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในวันที่ 1 ส.ค. แล้ว เขาทำกันช่วงไหนอย่างไร ทำไมคนในพื้นที่ไม่ทราบเลย สิ่งที่เรากังวลที่สุดคือมีท่าเรือ มีรถไฟรางคู่ และก็จะเกิดนิคมอุตสาหรรมหนักในพื้นที่ แล้วเราจะไปอยู่ที่ไหน

นายไกรวุฒิ ชูสกุล ชาวบ้าน ตำบลปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล กล่าวว่า เรามีข้อห่วงกังวลว่า โครงการที่เกิดขึ้นออกจากกันทั้งสองข้างทางรถไฟ จะมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในชุมชน และจะมีอุตสาหกรรมตามมาอีกมากมาย สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดคือโครงการนี้รัฐยังตอบไม่ได้ว่าสร้างแล้วคุ้มทุนหรือไม่ เป็นโจทย์ที่รัฐไม่ควรจะเร่งรีบ

ด้าน น.ส.โชติรส ศรีระสันต์ ชาวบ้านตำบลควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวว่า ชาวบ้านทราบข่าวแบบไม่ชัดเจน ว่าจะมีโครงการเกิดขึ้นในพื้นที่ พอทราบอีกที ก็จะมีการพิจารณารายงาน EIA สิ่งที่จะกระทบกับคนควนลังจากโครงการนี้คือจะต้องสูญเสียพื้นที่นา เพราะดูจากแผนที่นาจะถูกแบ่งเป็น 2 ฝั่ง ผ่านสายน้ำสายสำคัญ จะส่งผลในการทำนาของคนควนลัง รวมทั้งจะเกิดปัญหาเรื่องน้ำ เพราะต้นน้ำคือทุ่งตำเสาก็จะมีโครงการรถไฟรางคู่เกิดขึ้น เช่นกัน
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42709
Location: NECTEC

PostPosted: 01/08/2016 2:50 pm    Post subject: Reply with quote

“กกวล.” ยกธงขาว! เลื่อนพิจารณา EIA รถไฟแลนด์บริดจ์ใต้จนกว่า สนข.เจรจาฝ่ายค้านสำเร็จ
โดย MGR Online
1 สิงหาคม 2559 13:32 น.

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เผย “คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ” ยอมฟังเสียงประชาชน! มีมติให้เลื่อนพิจารณา EIA โครงการ “รถไฟแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล” ออกไปจนกว่า สนข.จะตกลงกับประชาชนที่ไม่เห็นด้วยสำเร็จ ชี้เป็นผลจากเครือข่าย ปชช.และศิลปินตามไปจัดกิจกรรมค้านถึงทำเนียบ หลังหลบไปซุกใช้เป็นที่จัดประชุม

ผู้สื่อข่าวรายงานจากบริเวณหน้าประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล หรือบริเวณสำนักงานข้าราชการพลเรือน (กพ.) ตั้งแต่ช่วงเช้าวันนี้ (1 ส.ค.) ได้มีเครือข่ายประชาชนปกป้องอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา-ตะรุเตา จ.สตูล และเครือข่ายศิลปินอิสระรวมตัวกันกว่า 10 คน ร่วมกันแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ และอ่านแถลงการณ์คัดค้านการพิจารณารายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กรณีเส้นทางรถไฟสายอุตสาหกรรมเชื่อมการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือน้ำลึกปากบารา อ.ละงู จ.สตูล และท่าเรือสงขลา 2 อ.จะนะ จ.สงขลา อันเป็นส่วนประกอบหลักของโครงการสะพานเศรษฐกิจ หรือแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ซึ่งในทำเนียบรัฐบาลกำลังมีการประชุมของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กกวล.) เพื่อพิจารณาอนุมัติอีไอเอของโครงการเส้นทางรถไฟสายอุตสาหกรรมดังกล่าว


นายสมยศ โต๊ะหลัง ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปกป้องอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา-ตะรุเตา จ.สตูล ได้นำอ่านแถลงการณ์เรื่อง “เดินหน้าปกป้องอุทยานแห่งชาติ จากโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา และโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล” ว่า การพัฒนาประเทศที่จะนำความผาสุกมาสู่ประชาชนในชาติ เป็นสิ่งที่เรายอมรับได้ หากแต่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลและความเหมาะสมของสภาพพื้นที่นั้นๆ และจะต้องน้อมรับเสียงทักท้วงของคนในพื้นที่ด้วยเช่นกัน มิเช่นนั้นแล้วการพัฒนาประเทศที่อ้างว่าจะนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนนั้น ก็จะกลายเป็นเพียงวาทะกรรมสวยหรู แต่กลับไม่มีความหมายสำคัญที่จะทำให้เกิดการยอมรับได้อย่างแท้จริง

โครงท่าเรือน้ำลึกปากบารา อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสะพานเชื่อมเศรษฐกิจสองฝั่งทะเล อันดามันและอ่าวไทย หรือที่เรียกว่า แลนด์บริดจ์สงขลา - สตูลนั้น เป็นโครงการที่ต้องการเชื่อมโครงข่ายคมนาคม 2 ฝั่งทะเล ที่ถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ระดับประเทศ หรือระดับภูมิภาคอาเซียน หากแต่ได้สร้างความขัดแย้งในพื้นที่การก่อสร้างโครงการระหว่างชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ กับกลุ่มสนับสนุนที่อยากเห็นการพัฒนาไปตามเสียงโฆษณาชวนของภาครัฐเพียงด้านเดียว แม้จะมีเสียงทักท้วงอย่างมากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อให้มีการทบทวนโครงการก็ตาม

“แต่กลับได้รับท่าทีที่เพิกเฉยของรัฐบาลที่มา และรวมถึงรัฐบาลปัจจุบัน” ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุและเสริมว่า

เหตุผลมากมายที่เสนอให้มีการทบทวนโครงการ และหนึ่งในนั้นคือ เหตุผลในการใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราจำนวน 4,734 ไร่ ใช้เป็นที่ตั้งโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา และรวมถึงช่องทางเดินเรือที่จะต้องผ่านเส้นทางท่องเที่ยวทางทะเลของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา อันเป็นแหล่งที่มีปะการังอ่อน 7 สีที่สวยงาม ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญเป็นที่เชิดหน้าชูตาของคนสตูล และเป็นสมบัติล้ำค่าของคนไทยทั้งประเทศ

ถึงจะมีเสียงเอ่ยอ้างของฝ่ายสนับสนุน หรือจากหน่วยงานภาครัฐผู้เป็นเจ้าของโครงการที่ว่า พื้นที่เหล่านี้นั้นเป็นเพียงส่วนน้อยของพื้นที่อุทยานฯ ทั้งหมด จึงอยากให้คนสตูลยอมรับและเสียสละบ้าง จึงถือเป็นเหตุผลที่รับฟังไม่ได้ ด้วยพื้นที่ดังกล่าวแม้จะเพียงน้อยนิด แต่ถือได้ว่าเป็นบริเวณสำคัญเสมือนพื้นที่ไข่แดงของ จ.สตูล ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลที่มีความหมาย และมีความสำคัญของคนสตูล และยังรวมถึงพื้นที่เสี่ยงจากการเดินเรือที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตาด้วยเช่นกัน

เครือข่ายประชาชนปกป้องอุทยานแห่งชาติเภตรา-ตะรุเตา จึงขอคัดค้านการถอนสภาพพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อสังเวยให้กับโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา และโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างประเมินค่าไม่ได้กับอุทยานแห่งชาติทั้ง 2 แห่งนี้ ทั้งนี้เพื่อปกป้องและเก็บรักษาไว้ซึ่งสมบัติของคนไทยทั้งประเทศ และเพื่อให้คงอยู่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนยาวนานตลอดไป

“พร้อมกันนี้เราขอประกาศว่า เราจะเดินหน้าสร้างปฏิบัติการเพื่อปกป้องอุทยานแห่งชาติเภตรา-ตะรุเตาอย่างถึงที่สุด เพื่อให้คนไทยทั้งประเทศได้รับรู้ถึงการสูญเสียดังกล่าวอย่างทั่วถึงกัน” แถลงการณ์ระบุ



อย่างไรก็ตาม นายสมยศ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมด้วยว่า ไม่ว่าผลการพิจารณาจาก คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กกวล.) จะออกมาเป็นอย่างไร เครือข่ายฯ ยังยืนยันว่าทะเลไทยไม่เหมาะแก่การทำโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติและมีคุณค่าเชิงการท่องเที่ยวอย่างหมู่เกาะเภตรา-ตะรุเตา ซึ่งสร้างชื่อเสียงทางการท่องเที่ยวและเป็นเหมือนครัวขนาดใหญ่ของชุมชนโดยรอบ ซึ่งพึ่งพาอาศัยทะเลไทยมาแสนนาน

ภายหลังการอ่านแถลงการณ์แล้วเสร็จ กลุ่มศิลปินอิสระนำโดย นายวสันต์ สิทธิเขตต์ ศิลปินนักเคลื่อนไหวด้านสังคม ได้อ่านบทกวีคัดค้านการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก แลนด์บริดจ์ และโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เพิ่มเติม ต่อด้วยการแสดงสดชองศิลปินกลุ่ม Zebra Project ต้านคอรัปชั่น นำโดยนายจุมพล อภิสุข และนางจิตติมา ผลเสวก ได้ร่วมกันสวมชุดม้าลายและเขียนป้ายข้อความ “ทะเลเป็นเลือด คนเดือดร้อน” ลงผ้าใบขนาดใหญ่ พร้อมติดกระดาษข้อความเล็กๆ ที่สื่อถึงสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และข้อความต้านโกงในโครงการขนาดใหญ่ เช่น หยุดโกงโลก หยุดโกงทะเล หยุดคอรัปชั่นทะเล ฯลฯ และปิดท้ายด้วยการมอบป้ายข้อความดังกล่าวให้ตัวแทนศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ฯ สำนักนายกรัฐมนตรี

นายวสันต์กล่าวว่า การต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรในประเทศไทยเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน และกลุ่มของตนในนามศิลปินเองก็ไม่อาจนิ่งเฉย เพราะการโกงการคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ปัจจุบันนี้ก็มาจากการคิดและดำเนินการโครงการขนาดใหญ่เสมอ ท่าเรือที่รัฐบาลจะสร้างในภาคใต้ก็ต้องใช้งบประมาณประเทศมหาศาล ประชาชนย่อมมีสิทธิสงสัยและตั้งคำถามบางคนออกมาประท้วง บางคนออกมาเดินเท้า ฯลฯ

“และศิลปะก็เป็นวิธีการหนึ่งในการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ เพื่อบอกสังคมให้รับทราบว่า เราศิลปินไทยไม่อยากเห็นคนไทยต้องสูญเสียทะเลไปกับโครงการใหญ่ ที่เสี่ยงต่อการเกิดขึ้นของขบวนการคอรัปชั่นของกลุ่มการเมือง จึงได้มาร่วมกับเครือข่ายปกป้องอุทยานฯ เพื่อทำกิจกรรมครั้งนี้”


เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีรายงานข่าวแจ้งว่า ระหว่างที่กลุ่มค้านจัดกิจกรรมอยู่ด้านนอก ในที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กกวล.) ซึ่งกำลังประชุมอยู่ภายในทำเนียบรัฐบาล ปรากฏว่าที่ประชุมได้มีมติให้ถอนวาระการพิจารณาอีไอเอโครงการรถไฟสายอุตสาหกรรมแลนด์บริดจ์ดังกล่าวออกไปก่อน โดยในระหว่างนี้ให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ไปเจรจากับประชาชนในพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจเพิ่มเติม แล้วค่อยเสนอกลับมาใหม่
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42709
Location: NECTEC

PostPosted: 06/09/2016 10:26 am    Post subject: Reply with quote

เปิดแผนพัฒนาภาคใต้ระยะ 10 ปี ท่องเที่ยวโต-ชาวบ้านยังต้าน ลุ้น “ปากบารา-แลนด์บริดจ์” เกิด-ไม่เกิด
โดย MGR Online
6 กันยายน 2559 09:43 น. (แก้ไขล่าสุด 6 กันยายน 2559 10:04 น.)


สนข.เผยผลศึกษา SEA พัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ไม่เอาโครงการใหญ่-อุตสาหกรรมหนัก พบ 10 ปีแรก (60-69) ท่องเที่ยวยังเติบโตสูง เป้าหมายรายได้เพิ่ม 80% อีก 20% มาจากเกษตรแปรรูป ประมง ขณะที่มีความเสี่ยงสูงหากราคาตกต่ำ แนะรัฐเร่งลงทุนพัฒนา “สนามบิน ถนน รถไฟ” รองรับ ส่วนอีก 10 ปีต่อไปท่องเที่ยวมีแนวโน้มลดลงเหลือ 50% ดังนั้นจำเป็นต้องมีกิจกรรมใหม่ๆ โดยเน้นไปที่อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า จะสรุปผลการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environment Assessment : SEA) สำหรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ในเดือน ก.ย. 2559 และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ผลการศึกษาจะสะท้อนให้เห็นภาพ กรอบแนวทาง และวิธีการในการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ที่ชัดเจน เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ นำไปใช้เป็นคู่มือประกอบในการพัฒนาโครงการต่างๆ ทั้งท่าเรือ โรงไฟฟ้า แลนด์บริดจ์ ซึ่งจะทราบว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ ซึ่งจะทำให้การพัฒนาโครงการมีความสอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ เกิดเป็นรูปธรรมและประเทศได้ประโยชน์ในภาพรวม

“ที่ผ่านมาการดำเนินโครงการของรัฐอาจขาดการบูรณาการร่วมกัน ไม่มีความเชื่อมโยง ขาดการสื่อสารการทำงานร่วมกัน และส่งผลกระทบต่อชุมชนในพื้นที่ การลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อมูลความต้องการจากประชาชน พร้อมกับบอกถึงประโยชน์และผลกระทบ ที่จะได้รับจากโครงการของรัฐ และทำให้เห็นศักยภาพที่แท้จริงของภาคใต้อีกด้วย”

***ผลศึกษาชี้ ไม่เอาอุตฯ หนัก-10 ปีแรกเน้นเพิ่มรายได้ท่องเที่ยว

นายนครินทร์ สัทธรรมนุวงศ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า การศึกษานี้จะเน้นในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปว่าจะพัฒนาอย่างไร ที่ผ่านมามีการต่อต้านโครงการของรัฐบาลมาก ซึ่งขอบเขตดำเนินการจะศึกษาด้านเศรษฐกิจ (ความคุ้มค่า), สังคม (การยอมรับของชาวบ้าน), สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี และนำเสนอโครงการทางเลือกที่เหมาะสม พร้อมแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

โดยผลจากการลงพื้นที่ พบว่าจังหวัดสตูลต้องการพัฒนาบนพื้นฐานของทรัพยากรที่มีอยู่ ทั้งการท่องเที่ยว ประมง เกษตรแปรรูป ไม่รับอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษ โดยอุตสาหกรรมที่รับได้ เช่น ปลาป่น ยาง และอยากได้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมที่พัฒนา ไม่ใช่ให้ประโยชน์แก่นายทุนฝ่ายเดียว

จังหวัดสงขลา เป็นเมืองการค้า จึงไม่เหมือน จ.สตูล ที่มีการคัดค้านท่าเรือปากบาราแต่ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา จะคัดค้านน้อยกว่า เนื่องจากสงขลาต้องการท่าเรือเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและเป็นศูนย์กลางการค้าของจังหวัด และมองว่าถ้ามีโครงการเข้ามาจะมีผลกระทบต่อประชาชน ต้องมีการเยียวยา เช่น การเวนคืน ต้องหาพื้นที่รองรับอย่างไร และไม่รับอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรง

จังหวัดนครศรีธรรมราช ต้องการให้มีการท่องเที่ยว และปรับปรุงเส้นทางหมายเลข 44 ให้ใช้ประโยชน์มากกว่านี้ มีการส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชน มีหมู่บ้านคีรีวงเป็นต้นแบบที่ควรขยายไปที่หมู่บ้านอื่นๆ ในรูปแบบเดียวกัน พัฒนาท่องเที่ยวโดยชุมชนเข้มข้น และไม่ต้องการอุตสาหกรรม

จังหวัดชุมพร ต้องการระบบคมนาคม โดยเฉพาะการเชื่อมท่าเรือชุมพร กับท่าเรือระนอง ควรปรับปรุงถนนให้มีสภาพดีขึ้น และมองไปถึงจุดคลองคอดกระ เชื่อมเลย โดยไม่ต้องการอุตสาหกรรมหนัก

จังหวัดระนอง ทำยางพารามาก จึงต้องการเป็นศูนย์กลางการเกษตร การค้าที่สามารถเชื่อมต่อไปพม่า ศรีลังกา อินเดีย และต้องการใช้ประโยชน์จากท่าเรือระนองให้มากขึ้น

ส่วนจังหวัดกระบี่ เน้นเรื่องท่องเที่ยว ไม่ต้องการอุตสาหกรรมหนัก

โดยภาพรวมทุกจังหวัดไม่ต้องการอุตสาหกรรม ดังนั้น จึงสรุปนำเสนอทางเลือกการพัฒนาศักยภาพพื้นที่สูงสุด สร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ให้เม็ดเงินเกิดขึ้นจากท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นประมาณ 80% จากเดิมที่มีท่องเที่ยว 30% เกษตร 60% อื่นๆ 10% ต้องปรับใหม่ เพราะด้านการเกษตรขยายพื้นที่ปลูกยางพาราไม่ได้ ประมงมีปัญหา IUU

แบ่งระยะที่ 1 (10 ปีแรก) ปี 2560-2569 เป้าหมายรายได้จากสาขาการท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น 80% ที่เหลือ 20% จะมาจากเศรษฐกิจด้านอื่น ทั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องจากการเกษตรแปรรูป ผลผลิตทางการประมง และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ระยะที่ 2 (10 ปีต่อมา) ระหว่างปี 2570-2579 ประเมินว่ารายได้จากการท่องเที่ยวมีแนวโน้มจะลดลงเหลือเพียง 50% ดังนั้นจำเป็นต้องมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ๆ โดยเน้นไปที่อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน

อย่างไรก็ตาม เมื่อการท่องเที่ยวเติบโตมาก ขณะที่กระบี่ ภูเก็ต ซึ่งเป็นจุดขาย มีความหนาแน่นทั้งโรงแรม สนามบิน รวมถึงประเด็นปริมาณขยะล้นเมือง ขณะที่การกำจัด กลบ ฝัง เผา มีความสามารถดำเนินการได้น้อยกว่าปริมาณขยะที่มี ดังนั้นต้องหาทางออก เช่น ต้องทำการคัดแยกขยะจริงจังมากขึ้น หรือหากระบวนการกำจัดขยะให้ได้จำนวนมากขึ้น ไม่เช่นนั้นจะเกิดการตกค้างริมทาง ป่า แหล่งท่องเที่ยว

***เร่งแผนลงทุนระบบคมนาคม “สนามบิน ถนน รถไฟ” รองรับ

สำหรับโครงการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งภาคใต้ 2558-2565 ที่รัฐบาลควรจะลงทุน1. ขนส่งทางบก โครงการทางพิเศษสายกระทู้-ป่าตอง (ภูเก็ต) ระยะทาง 5 กม. วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท, โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายสงขลา-ชายแดนไทย/มาเลเซีย (ด่านสะเดา) ระยะทาง 83 กิโลเมตร(กม.) วงเงิน 2.39 หมื่นล้านบาท

2. ขนส่งทางน้ำ เช่น โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญ (ครุยส์) ทั้งสองฝั่ง คือที่ จ.กระบี่ และเกาะสมุย วงเงินแห่งละ 2-3 พันล้านบาท, ท่าเรือน้ำลึกสงขลา แห่งที่ 2 อ.จะนะ วงเงิน 1.39 หมื่นล้านบาท, ท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล วงเงิน 1.77 หมื่นล้านบาท

3. ขนส่งทางอากาศ เช่น การพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต วงเงิน 1.29 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะแล้วเสร็จปีนี้ ต่อไปก็ต้องขยายศักยภาพที่ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช และหาดใหญ่

4. ขนส่งทางราง เช่น รถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ครม.อนุมัติแล้ววงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท, ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี, ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา, ช่วงสงขลา-สตูล และช่วงสุราษฎร์ธานี-ท่านุ่น

“สำหรับโครงการท่าเรือปากบารา ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้ยังต่อต้านนั้นจะต้องนำผลการศึกษานี้ไปประกอบการพิจารณาและดำเนินโครงการต่อไป ในขณะที่ นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า ระบุว่า ท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล ออกแบบให้เป็นท่าเรือเพื่อการขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์เท่านั้น และรองรับการขนส่งสินค้าที่เป็นผลผลิตทางภาคใต้ ซึ่งจะเป็นช่องทางที่สนับสนุนให้ปากบาราเป็นตลาดกลางยางพารา ศูนย์การส่งออกผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพารา อาหารทะเลของไทยไปตะวันตก ทั้งอินเดีย ตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกา ช่วยส่งเสริมอาชีพ เกิดการสร้างงาน

ลุ้น...“สุดท้ายรัฐบาลจะตัดสินใจแจ้งเกิด ปากบารา/แลนด์บริดจ์” หรือไม่
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42709
Location: NECTEC

PostPosted: 21/09/2016 7:29 pm    Post subject: Reply with quote

ผลศึกษาพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ แนะ “ปากบารา-แลนด์บริดจ์” ต้องทยอยลงทุน
โดย MGR Online
19 กันยายน 2559 18:42 น.

“คมนาคม” ชง ครม.ตุลาฯ นี้ เคาะแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ก่อนขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ “ปากบารา-แลนด์บริดจ์” แบ่งเฟสทยอยลงทุน หนุนนำเข้า-ส่งออก ชะลออุตฯ หนัก ลดแรงต้นในพื้นที่ ขณะที่ผลศึกษาชี้ 5-10 ปี ต้องเน้นอุตฯ ท่องเที่ยวและอุตฯ เกษตรแปรรูป ระบุท่องเที่ยวสัดส่วนรายได้ถึง 80%

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจหารพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาครั้งที่ 2 เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ การศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environment Assessment : SEA) สำหรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่11 โดยในส่วนของกระทรวงมีแผนพัฒนา เช่น โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ท่าเรือสงขลา 2 โครงการแลนด์บริดจ์ (สะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลอันดามัน และอ่าวไทย) เป็นต้น แต่ไม่สามารถดำเนินงานได้แผนเนื่องจากประชาชนในพื้นที่ไม่ยอมรับ เพราะขาดการบูรณาการ ขาดกระบวนการเรียนรู้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับข้อมูลการพัฒนาไม่ชัดเจน ซึ่งการศึกษา SEA จะประเมินผลกระทบในภาพรวม รับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนในทุกมิติ เพื่อร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนา

“รายงาน SEA ฉบับสมบูรณ์จะเป็นแผนแม่บทแนวทางในการพัฒนาโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ส่วนกรณีท่าเรือปากบารา ขณะนี้กรมเจ้าท่ากำลังศึกษาการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ (EHIA) จะแล้วเสร็จปี 2560 ส่วนแลนด์บริดจ์ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) แล้ว แต่เนื่องจากยังมีข้อกังวลเรื่องอุตสาหกรรมหนัก ทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จึงได้ให้กระทรวงคมนาคมทำความเข้าใจในพื้นที่เพิ่มเติม ซึ่งแผนพัฒนาแลนด์บริดจ์ ในส่วนของทางรถไฟระยะแรก จะเป็นทางเดี่ยวเพื่อเชื่อมปากบารา-หาดใหญ่ ซึ่งการพัฒนาเกษตรแปรรูปในพื้นที่ภาคใต้จะต้องอาศัย ท่าเรือและระบบการขนส่งเพื่อสนับสนุนการนำเข้า-ส่งออก”

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ผลศึกษาพบว่า แนวทางที่เหมาะสม คือ การพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่ภาคใต้ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เต็มที่ โดยเน้นด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่และเพิ่มรายจ่ายต่อหัว, พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และการพัฒนาทศักยภาพด้านอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล อุตสาหกรรมไฮเทค 4.0 และการพัฒนาคมนาคมขนส่งและลอจิสติกส์พลังงานทดแทน ภายใต้การพัฒนาตามแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ พ.ศ. 2560-2579 โดยจะแบ่งการดำเนินงานช่วงละ 5 ปี คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของภาคใต้ได้ประมาณ 3.5-5% ของ GDP

การศึกษา SEA พัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ครอบคลุมพื้นที่ทะเลฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ครอบคลุม 6 จังหวัด คือ ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช กระบี่ สงขลา และสตูล โดยจะสรุปร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ เสนอกระทรวงคมสรคา และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือนตุลาคมนี้

สำหรับข้อคิดเห็นจากวงสัมมนา จากโดย ดร.บรรจง ไวทยเมธา รองผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักงานปัตตานี) ระบุว่า ควรให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ซึ่งปัจจุบันตลาดมีมูลค่าถึง 3.2 ล้านล้านบาท และอัตราเติบโตของรายได้ของประชากรประเทศมุสลิมอยู่ที่ 2.5% เทียบกับรายได้ประชาชนยุโรป ที่ 1.9% ญี่ปุ่น 1.3 % ตลาดใหญ่ของอาหารฮาลาลคือ ตะวันออกกลาง และยุโรป ขณะที่ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 10 ของโลกโดยรัฐบาลมีเป้าหมายให้เป็นอันดับ5 ในปี 2563

ด้าน รศ.ดร.สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านคมนาคมขนส่งและลอจิสติกส์ กล่าวว่า การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งและลอจิสติกส์จะต้องออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีการค้าการท่องเที่ยว การพัฒนาด้านสังคมในพื้นที่ เพื่อให้ระบบขนส่งสนับสนุนวิถีการทำมาหากินเช่นจะพัฒนาท่องเที่ยวชุมชน หรือการเกษตรแปรรูป

ต้องมีถนนสายรองที่พร้อมรองรับ เพราะที่ผ่านมาภาครัฐจะเน้นถนนสายหลัก และทำถนนไปก่อนโดยยังไม่มีธุรกิจหรือ Business Model ในพื้นที่เลย หลังจากนี้จะต้องปรับแนวคิดใหม่เพราะที่ผ่านมา เปรียบเหมือนซื้อรถบรรทุกก่อนทั้งที่ยังไม่รู้จะขนส่งอะไร
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42709
Location: NECTEC

PostPosted: 24/11/2016 10:38 am    Post subject: Reply with quote

แกนนำชุมชนร่วมหารือลั่น “ปฏิญญาเนินพิจิตร” คัดค้านโครงการยักษ์แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล
โดย MGR Online
23 พฤศจิกายน 2559 17:02 น. (แก้ไขล่าสุด 23 พฤศจิกายน 2559 17:15 น.)


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - แกนนำชุมชนร่วมประชุมหารือ ก่อนประกาศเจตนารมณ์ “ปฏิญญาเนินพิจิตร” คัดค้านโครงการอภิมหึมาแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ที่เตรียมสร้างทั้งท่าเรือน้ำลึกปากบารา ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 และรถไฟรางคู่เชื่อมต่อ 2 ท่าเรือ ระบุเป็นโครงการที่สร้างได้ไม่คุ้มเสีย

วันนี้ (23 พ.ย.) แกนนำชุมชนได้มีการนัดประชุม เพื่อหารืออันเกี่ยวเนื่องต่อโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ซึ่งจะเชื่อมท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ที่บ้านสวนกง อ.จะนะ จ.สงขลา กับท่าเรือน้ำลึกปากบารา อ.ละงู จ.สตูล เข้าด้วยกัน อันสืบเนื่องมาจากการที่กรมเจ้าท่า จะจัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 สำหรับโครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ที่บ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคม 2559 ที่โรงแรมบีพีสมิหลา สงขลา

โดยจากการหารือได้มีแกนนำชุมชนจากทุกพื้นที่ของท่าเรือทั้ง 2 แห่ง และชุมชนตามแนวรถไฟรางคู่เชื่อมต่อ 2 ท่าเรือมาประชุม ได้แก่ แกนนำจากตำบลปากน้ำ และปากบารา อ.ละงู จ.สตูล แกนนำจากอำเภอควนกาหลง จ.สตูล ในส่วนของ จ.สงขลา ได้แก่ แกนนำจากตำบลเขาพระ อ.รัตภูมิ ต.ทุ่งตำเสา อ.หาดใหญ่ ต.พิจิตร อ.นาหม่อม และแกนนำบ้านสวนกง อ.จะนะ จ.สงขลา


ทั้งนี้ แกนนำชุมชนตลอดแนวแลนด์บริดจ์ และท่าเรือหัวท้าย ต่างมีความเห็นร่วมกันว่า โครงการท่าเรือทั้ง 2 แห่ง และรถไฟรางคู่นี้จะได้ไม่คุ้มเสีย เพราะเป็นโครงการคมนาคมข้ามคาบสมุทร ที่บริษัทลอจิสติกส์ก็ยังไม่เห็นด้วย เพราะการที่เรือจะมาเทียบท่าที่ปากบารา เรือแต่ละลำมีตู้สินค้า 4,000 ตู้ และต้องมีการยกตู้สินค้าทีละตู้มาวางกองที่ท่าเรือ โดยจะใช้เวลาเป็นวัน แถมยังต้องยกจากท่าเรือขึ้นไปวางบนรถไฟ ก่อนที่รถไฟวิ่งมาถึง อ.จะนะ ก็ต้องยกตู้ลงจากรถไฟมาวางกองที่ท่าเรือ แล้วยกจากท่าเรือขึ้นเรืออีกครั้ง ซึ่งสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากกว่าการวิ่งอ้อมช่องแคบมะละกาเสียอีก

ส่วนเวลาที่ใช้ในการยกขึ้นยกลงก็ใช้เวลานานกว่าอีกด้วย โครงการดังกล่าวก็จะเป็นโครงการท่าเรือที่สร้างมาใช้ไม่คุ้มค่า ไม่คุ้มต่อความเสียหายของทะเล และชายฝั่ง สิ่งแวดล้อมที่เสียหาย ความเสียหายของเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ความมั่นคงทางอาหาร รถไฟรางคู่ที่วิ่งผ่านชุมชนก็จะทำให้เกิดการรบกวนวิถีชุมชน การเกษตรเสียหาย เกิดน้ำท่วมน้ำขัง สร้างความแตกแยกในพื้นที่ ซึ่งก็เป็นการได้ไม่คุ้มเสียอีกเช่นเดียวกัน


อีกทั้งโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล นี้ ยังมีความสับสนทางนโยบายอย่างมาก เพราะในปัจจุบัน ทางรัฐบาลก็สนับสนุนให้มีการศึกษา ทำงานประชาสัมพันธ์ และงานมวลชน เพื่อเตรียมการขุดคลองไท เชื่อมสองมหาสมุทร รัฐบาลควรมีการทำการศึกษาเบื้องต้นอย่างมีส่วนร่วมให้ชัดเจนก่อนว่า จะสร้างอะไรกันแน่ เพราะทั้ง 2 อย่างนี้ต่างก็มีเป้าหมายเดียวกัน จะมาสร้างแย่งลูกค้ากันเองทำไม อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 โครงการล้วนเป็นโครงการที่ไม่เหมาะสม ภาคใต้มีความอุดมสมบูรณ์มากเกินกว่าที่จะทำลาย และเอาอุตสาหกรรมมลพิษเฉกเช่นมาบตาพุด มาแทนที่

ทั้งนี้ แกนนำชุมชนที่มาร่วมกันหารือได้พร้อมใจประกาศเจตนารมณ์ “ปฏิญญาเนินพิจิตร” ที่จะต่อสู้คัดค้านการพัฒนาภาคใต้ตอนล่างให้เป็นอุตสาหกรรมมลพิษ โดยยืนยันจะคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล และท่าเรือหัวท้ายทั้งที่ปากบารา และสวนกง ให้ถึงที่สุด รวมทั้งคัดค้านการพัฒนาอุตสาหกรรมมลพิษ ที่เป็นอุตสาหกรรมที่แปลกแยกจากฐานชีวิตของคนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย เพื่อร่วมกันสร้างภาคใต้ที่น่าอยู่ สะอาด ปราศจากมลพิษจากการพัฒนาแบบฉาบฉวย ที่เอาเงิน และกำไรเป็นตัวตั้ง โดยไม่ใส่ใจต่อความยั่งยืนของชุมชน และฐานทรัพยากรธรรมชาติ
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 46, 47, 48 ... 50, 51, 52  Next
Page 47 of 52

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©