RailServe.Com

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai Gallery in Facebook

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311287
ทั่วไป:13268837
ทั้งหมด:13580124
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าวรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน)
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ข่าวรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน)
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 187, 188, 189 ... 547, 548, 549  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44606
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 26/02/2015 2:10 pm    Post subject: Reply with quote

เทียบฟอร์ม "จีน-ญี่ปุ่น" เกมชิงไหวชิงพริบ รถไฟ คสช.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 26 ก.พ. 2558 เวลา 09:55:03 น.

กำลังเป็นที่จับจ้องสำหรับ "ปฏิกิริยา-แผนปฏิบัติการของ 2 ขั้วพันธมิตร "จีน-ญี่ปุ่น" ยักษ์ใหญ่แห่งวงการรถไฟที่กำลังจะแผ่ขยายอิทธิพลมายังประเทศไทย ภายใต้บทบาทที่ชูไทยให้เป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การขนส่งของภูมิภาคเอเชีย

ไทยศูนย์กลางอาเซียน

ถึงแม้ไทยมีทำเลที่ตั้งเป็นต้นทุนที่ได้เปรียบ แต่ "ระบบโครงสร้างพื้นฐาน" ยังขาดการลงทุนมานานนับปี จึงเป็นที่มาทำไม "รัฐบาลไทย" ยุค "คสช.-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" ต้องเซ็น MOU กับรัฐบาลจีน พัฒนารถไฟทางคู่ราง 1.435 เมตร เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-มาบตาพุด และแก่งคอย-กรุงเทพฯ 873 กม.

และเซ็น MOI กับรัฐบาลญี่ปุ่น สำรวจความเป็นไปได้ระบบรถไฟราง 1 เมตรเดิม และ 1.435 เมตร ทั้งรถไฟความเร็วสูง และรถไฟทั่วไปใน 3 เส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ด้านบนและล่าง ได้แก่ แม่สอด-พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-บ้านไผ่-มุกดาหาร, พุน้ำร้อน-กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ และกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง

กับแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้จากกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เริ่ม มี.ค.นี้และภายในสิ้นปี "ญี่ปุ่น" ต้องเลือก 1 เส้นทางศึกษารายละเอียดเหมือน "รถไฟไทย-จีน" โดยเส้นทางตะวันออก-ตะวันตกด้านล่างน่าจะเป็นไปได้มากสุด เพราะเชื่อมการขนส่ง 2 ท่าเรือ จาก "ทวาย-แหลมฉบัง" ที่ญี่ปุ่นใช้เป็นฐานส่งออกจากไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพราะประหยัดต้นทุนโลจิสติกส์

นอกจากนี้ "ญี่ปุ่น" ยังสนใจพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล หลังซัพพลายเออร์ญี่ปุ่นมาปักธงสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) และสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) หมุดต่อไปเล็งไปยังสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระ, หัวลำโพง-บางแค)

รวมถึงร่วมกับ "ไทย-เมียนมาร์" พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และดึงนักลงทุนอุตสาหกรรมซัพพลายเชนมาลงทุนเขตเศรษฐกิจชายแดน 6 แห่งนำร่อง ได้แก่ ตาก มุกดาหาร ตราด สระแก้ว สงขลา และหนองคาย จึงเป็นเหตุผลทำให้ "ญี่ปุ่น" สนใจสำรวจเส้นทางรถไฟแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกเป็นพิเศษ เพื่อเชื่อมเศรษฐกิจชายแดนไทยกับ 4 ประเทศ "เมียนมาร์-ลาว-กัมพูชา-เวียดนาม"

เชื่อมการค้าทะเล-เพื่อนบ้าน

กล่าวสำหรับประเทศไทยหากประสบความสำเร็จเท่ากับช่วยหนุนยุทธศาสตร์การค้า "จีน-ญี่ปุ่น" ทะลุไปเมียนมาร์ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา โดย "จีน" มียุทธศาสตร์ฟื้นเส้นทางสายไหมการขนส่งทางบกและทะเล โดยลากเส้นทางจากคุนหมิง เวียงจันทน์ ไทย ท่าเรือมาบตาพุด และกรุงเทพฯ เพื่อขนส่งสินค้าจากจีน-ลาวส่งออกทางทะเล ขณะเดียวกันรับนักท่องเที่ยวจีนจากมณฑลยูนนานมาไทย

ส่วน "ญี่ปุ่น" มียุทธศาสตร์สร้างฐานผลิตชายแดนและการค้าแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ด้านบน "แม่สอด-มุกดาหาร" จะเชื่อมการค้ากับเมียนมาร์ที่เมาะละแหม่ง ผ่านไทยที่แม่สอดมาลาว และดานัง เมืองท่าของเวียดนาม

ส่วนด้านล่างจะเชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของเมียนมาร์ ผ่านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี กรุงเทพฯ ไปชายแดนอรัญประเทศ กัมพูชา และโฮจิมินห์ เมืองหลวงของเวียดนาม โดยจะเชื่อมโยง "รถไฟไทย-จีน" ที่กรุงเทพฯ ชุมทางบ้านภาชีและฉะเชิงเทรา

จับตาจีน-ญี่ปุ่นกินรวบรถไฟ

จากจุดเชื่อมโยง ขณะนี้ "จีน-ญี่ปุ่น" กำลังหยั่งเชิงกันเรื่องวางระบบ "อาณัติสัญญาณ" ที่ว่ากันว่าเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาระบบราง เนื่องจากประเทศใดได้ปักธงสร้างรถไฟเป็นสายแรก เท่ากับจะผูกขาดงานระบบรางและซื้อขบวนรถในอนาคต

และตรงนี้คือเป้าหมายสูงสุดที่ "จีน-ญี่ปุ่น" อยากมาเปิดตลาดรถไฟที่ประเทศไทย

"เส้นทางรถไฟจีนและญี่ปุ่น มีจุดตัดของระบบ 2 ประเทศ ก็ถกกันมากว่าจะเลือกใช้ระบบ ETCS หรือระบบอาณัติสัญญาณของใคร ระหว่างระบบจีนที่ได้ไลเซนส์จากยุโรปและอเมริกา หรือระบบญี่ปุ่น ซึ่งไทยต้องกำหนดให้ชัดเพื่อเป็นมาตรฐานกลางจะได้ไม่ผูกขาด" แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ"

เดิมพันครั้งนี้มีตัวอย่างจากรถไฟฟ้าบีทีเอสที่ใช้ซีเมนส์ทั้งรถและระบบ จะซื้อรถยี่ห้ออื่นมาวิ่งก็ไม่ได้ จนบีทีเอสรื้อระบบใหม่ และซื้อรถจากจีนแทน เพราะราคาถูกกว่า


ดังนั้นเพื่อให้ได้จุดลงตัวรัฐบาลไทยจึงมีข้อตกลงดึง "ญี่ปุ่น" มาศึกษาให้ เพราะเป็นประเทศเดียวที่ใช้หลายระบบ

ลุ้นโซ่ข้อกลางรถไฟจีน-ลาว

ขณะเดียวกันโอกาสของ"รถไฟไทย-จีน" จะสร้างได้หรือไม่ ต้องเหลือบมอง "รถไฟจีน-ลาว" มูลค่า 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มาประกอบด้วย ล่าสุดแม้จะบรรลุแผนร่วมทุนจีน/ลาว สัดส่วน 70/30 แต่ "รัฐบาลลาว" ยังรอคำตอบดอกเบี้ยเงินกู้จากจีน

ดังนั้นแม้จะตั้งแท่นมา 4 ปีเต็ม และถึงแม้ "รัฐบาลลาว" จะย้ำชัดเตรียมเซ็นสัญญาปีนี้ สร้างปี 2559 เสร็จใน 5 ปี แต่สถานะยังไม่ได้ฤกษ์ตอกเสาเข็ม

จากปฏิบัติการที่ "บิ๊กจิน-พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง" รมว.คมนาคม บินไปลาว ทางหนึ่งเพื่อเกาะติดข้อมูลมาเป็นข้อต่อรองจีน มีอีกกระแสระบุว่า "บิ๊กจิน" กำลังใช้การทูตจูงใจให้ "ลาว" ยอมเปิดทางให้จีนสร้างผ่านมายังไทย

ประเด็นคือหาก "รถไฟจีน-ลาว" ไม่ได้ตอกเข็ม แล้ว "รถไฟไทย-จีน" จะได้ปักหมุดไหม ในเมื่อสร้างไปก็ไปไม่ถึง ต้นทาง "คุนหมิง" อยู่ดี ขณะที่กับดักอีกตัวคือ "วงเงิน" ที่เป็นจุดเสี่ยงโครงการเพราะจะถูกบีบเรื่องเพดานหนี้สาธารณะ

แหล่งข่าววงในวิเคราะห์ว่า จากปัจจัยภายนอก-ภายใน มีแนวโน้มรถไฟไทย-จีนคงได้แค่ลงนาม MOC (ความร่วมมือ)ศึกษาและหาเงินเวนคืน-ก่อสร้าง ส่วนรถไฟไทย-ญี่ปุ่นมีลุ้นเต็มที่คือลงทุนไฮสปีดเทรนกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ที่ศึกษาความเหมาะสมไว้เสร็จสรรพแล้ว

แต่การเคาะประมูลก่อสร้างซึ่งเป็นเค้กก้อนใหญ่น่าจะไม่ทันรัฐบาลชุดนี้
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44606
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 01/03/2015 6:30 pm    Post subject: Reply with quote

'สศช.' คาดรถไฟความเร็วสูงเริ่มสร้างปี 59
NOW26 ข่าวค่ำ ตรงประเด็น วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558

นายปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า รัฐบาลมีแผนที่จะผลักดันรถไฟฟ้าความเร็วสูง มีหลายประเทศที่สนใจ โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่สนใจรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่างภาคตะวันออกและภาคตะวันตกของไทย ซึ่งรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ ได้ลงนามศึกษาโครงการร่วมกันไปแล้ว และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2559

ญี่ปุ่นสนใจร่วมผลักดันเส้นทางรถไฟเส้นทางกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง โดยจะมีช่วงที่แยกจากฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ ซึ่งเส้นทางนี้จะเชื่อมไปกัมพูชาและเวียดนามได้ด้วย

ญี่ปุ่นจะร่วมพัฒนาและสนับสนุนทั้งด้านการเงิน และบุคลากร เพราะญี่ปุ่นต้องการเข้ามาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอาเซียนเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) โดยธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JBIC) อาจให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับไทย

นอกจากนี้ มีเส้นทางกรุงเทพฯ-กาญจนบุรี ที่ญี่ปุ่นสนใจ ที่จะเชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายมาที่ภาคตะวันออกของไทย
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42724
Location: NECTEC

PostPosted: 02/03/2015 10:18 pm    Post subject: Reply with quote

"บิ๊กจิน" สั่งปัดฝุ่นไฮสปีดฯเชื่อมกรุงเทพฯ"หัวหิน-พัทยา" ดึงเอกชนไทย-ญี่ปุ่นลงทุน
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
2 มีนาคม 2558 เวลา 14:58:10 น.


"บิ๊กจิน" สั่งปัดฝุ่นไฮสปีดเทรนเชื่อมกรุงเทพฯกับเมืองท่องเที่ยว "หัวหิน-พัทยา" ดึงเอกชนไทย-ญี่ปุ่นร่วมลงทุน 2.5 แสนล้าน คาดสิ้นปีนี้เคาะรูปแบบลงทุน PPP หรือสัมปทาน

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สั่งการให้ นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางเชื่อมกรุงเทพฯกับเมืองท่องเที่ยวจำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่ สายกรุงเทพฯ-หัวหิน และ กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีนโยบายให้ดำเนินการ คาดว่าจะให้ได้ข้อสรุปรูปการลงทุนภายในปีนี้ว่าจะเป็นรูปแบบให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนรูปแบบ PPP หรือจะเป็นรูปแบบให้เอกชนมารับสัมปทาน รวมถึงจะเชิญทางรัฐบาลญี่ปุ่นมาหารือด้วย

"จะเชิญเอกชนมาหารือร่วมด้วย เหมือนกับที่หารือร่วมกับรัฐบาลจีน จะมีข้อตกลงในหลัการเป็นแบบไหน และมีหลักการสร้างเส้นทางไหน จะร่วมมือกันยังไง หลักการจะคล้ายกับรถไฟไทย-จีน แต่คงจะเร่งรัดเร็วมากไม่ได้ ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎกติกา"

พล.อ.อ.ประจินกล่าวอีกว่า สำหรับผลการศึกษาโครงการมีหมดแล้ว แต่ให้หน่วยงานกลับไปทบทวนดูใหม่ เนื่องจากโครงการเดิมจะมีเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจและสังคม ขณะที่นโยบายใหม่จะมีเรื่องการท่องเที่ยวเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ทั้งนี้สำหรับระบบรถไฟความเร็วสูงนี้จะแยกเป็นคนละระบบกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ส่วนต่อขยายจากสนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา ที่รัฐบาลมีเป้าหมายจะลงทุนเพื่อเชื่อมระหว่าง 3 สนามบิน คือ ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา หลังจากที่จะนำมาพัฒนาเป็นสนามบินเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบแห่งที่ 3 รวมถึงจะเป็นคนละระบบกับรถไฟทางคู่ราง 1.435 เมตรหรือรถไฟไทย-จีน เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-มาบตาพุดและแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทาง 873 กิโลเมตร

"การพัฒนารถไฟสายตะวันออกนี้ จะมีหลายระบบมีทั้งรถไฟ 1 เมตร รถไฟทางคู่รางมาตรฐาน รถไฟแอร์พอร์ตลิงก์และรถไฟความเร็วสูง เพราะวัตถุประสงค์ต่างกัน รถไฟไทย-จีนจะขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทั่วไปจากหนองคายมาที่มาบตาพุด ส่วนแอร์พอร์ตลิงก์จะเชื่อมการเดินทางจากในเมืองกับระหว่างสนามบิน ด้านรถไฟควมเร็วสูงจะรองรับนักท่องเที่ยวเป็นหลัก"

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ได้ศึกษาเสร็จแล้ว มีระยะทาง 211 กิโลเมตร เงินลงทุน 98,399 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอรายลานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ส่วนเส้นทางกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เพิ่งทำผลการศึกษาแล้วเสร็จ มีระยะทาง 196 กิโลเมตร เงินลงทุนโครงการ 152,000 ล้านบาท

ด้านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติว่า แนวคิดเส้นทางความเร็วสูง มีข้อเสนอจากเอกชนไทย อยากจะให้ประเทศมีความทันสมัย และเพื่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนเมือง การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่เป็นธรรม ตลอดเส้นทางการเดินรถ ให้พิจารณาหาข้อสรุปให้ได้ว่าจะดำเนินการให้ได้อย่างไร

ทั้งเส้นทางระยะสั้นและ เส้นทางที่มีประชาชนเดินทางคมนาคมเป็นจำนวนมาก เช่น กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง-อู่ตะเภา หรือ กรุงเทพฯ-หัวหิน จะต้องพิจารณาความคุ้มค่าในการดำเนินการ โดยแนวทางนั้น อาจจะเป็นในรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุน ที่เรียกว่า PPP หรือการลงทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infra-Fund) รัฐก็จะเร่งพิจารณาให้เห็นผลชัดเจนในปีนี้

"มีความกังกลว่าราคาแพงเกินไปหรือไม่ ผมได้ดูตัวอย่างจากญี่ปุ่นในช่วงแรก อาจจะราคาสูง คนยังใช้บริการไม่เต็มที่ เขาใช้รายได้ที่ได้มาจากการค้าขายหรือสัมปทานในตลอด 2 เส้นทาง ในการที่จะจัดทำศูนย์การค้าทำตลาด แต่ทั้งนี้เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐกับเอกชน คงไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งรับไป เพราะว่าอาจจะทำให้เกิดประโยชน์กับชาติไม่ได้เท่าที่ควร และอาจจะสร้างความไม่ไว้วางใจกับสังคมกับประชาชนโดยรวมด้วย"

นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่านอกจากศูนย์การค้าแล้ว อาจจะต้องให้ลงทุนในเรื่องของการจัดตั้งอาคารที่อยู่อาศัย ให้กับคนที่มีรายได้น้อย สร้างตลาด สร้างอะไรต่างๆ ให้เขามีรายได้ แล้วจะได้ขยับขยายชุมชนเมืองที่แออัดอยู่ในขณะนี้ และมีพื้นที่สำหรับการค้าขายให้กับประชาชน ซึ่งจำเป็นต้องจัดระเบียบในขณะนี้ด้วย

"การลงทุนต้องสูงแน่นอน แต่ถ้าเรามีภาคเอกชนมาร่วมด้วย ผมคิดว่าขณะนี้หลายบริษัท หรือหลายกลุ่ม นักธุรกิจขนาดใหญ่ก็ให้ความสนใจ และพร้อมจะร่วมมือกับรัฐบาล ก็จะต้องดูข้อตกลงกันให้ชัดเจนขึ้นต่อไป" นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำ

//-------------------
“ประจิน” เร่งเข็นไฮสปีดเทรน
โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์
3 มีนาคม 2558 เวลา 06:01

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อพิจารณาโครงการลงทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เพิ่มเติม 2 สาย คือ เส้นทางกรุงเทพฯ-พัทยา และกรุงเทพฯ-หัวหิน หลังพิจารณาเบื้องต้นพบว่า สามารถดำเนินการได้จริง เพราะมีประโยชน์ในหลายด้าน ทั้งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวใน 2 พื้นที่ จึงน่าจะมีผู้ใช้บริการมากเพียงพอ ตั้งเป้าใช้เวลาศึกษาและกำหนดรูปแบบความร่วมมือให้ได้ภายในปีนี้

“คณะทำงานชุดนี้ต้องเชิญผู้ประกอบการเข้ามาหารือ เพื่อพิจารณารูปแบบความร่วมมือด้วย ว่าในการดำเนินโครงการจะเป็นรูปแบบไหน เป็นความร่วมมือแบบรัฐและเอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี) การให้สัมปทาน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในพีพีพี หรือเป็นความร่วมมือรัฐบาลกับรัฐบาล (จีทูจี) แบบเดียวกับที่ไทยทำร่วมกับจีน ในการก่อสร้างรถไฟทางคู่รางมาตรฐาน 1.435 เมตร เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-มาบตาพุด และแก่งคอย-กรุงเทพฯ ซึ่งต้องให้มีความชัดเจน”.

//---------------

ไอเดียบรรเจิดทำไฮสปรีดเพิ่มอีก2สาย
เดลินิวส์
วันจันทร์ 2 มีนาคม 2558 เวลา 22:12 น.
"ประจิน" คิดทำไฮสปีดเทรนเพิ่มอีก 2 สาย กทม.-พัทยา, กทม.-หัวหิน ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ ยันจบปีนี้ กำหนดรูปแบบลงทุนชัด


พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา1 ชุด เพื่อพิจารณาโครงการลงทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีดเทรน) เพิ่มเติม 2สาย คือ เส้นทางกรุงเทพฯ-พัทยา และกรุงเทพฯ-หัวหิน หลังจากพิจารณาเบื้องต้นพบว่าสามารถดำเนินการได้จริงเพราะมีประโยชน์ในหลายด้าน ทั้งการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม รวมถึงเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวใน2 พื้นที่ จึงน่าจะมีผู้ใช้บริการเพียงพอ โดยตั้งเป้าหมายจะใช้เวลาศึกษาและกำหนดรูปแบบความร่วมมือให้ได้ภายในปีนี้

ทั้งนี้คณะทำงานชุดนี้จะต้องเชิญผู้ประกอบการเข้ามาหารือเพื่อพิจารณารูปแบบความร่วมมือว่าในการดำเนินโครงการว่าจะเป็นรูปแบบไหนจะเป็นการร่วมมือแบบรัฐและเอกชนร่วมลงทุน(พีพีพี) การให้สัมปทานซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในพีพีพี หรืออาจเป็นความร่วมมือรัฐบาลกับรัฐบาล (จีทูจี) แบบเดียวกับที่ไทยทำร่วมกับจีนในการก่อสร้างรถไฟทางคู่รางมาตรฐาน1.435 เมตร ในเส้นทางหนองคาย-นคราชสีมา-แก่งคอย-มาบตาพุดและแก่งคอย-กรุงเทพฯก็ต้องให้ชัดเจน

พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-พัทยาจะเป็นคนละโครงการกับส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปยังท่าอากาศยานอู่ตะเภาเพราะรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมท่าอากาศยานทั้ง 3แห่งเข้าด้วยกัน คือ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารที่เข้าใช้บริการได้มากขึ้น

“การก่อสร้างรถไฟหลายสายในเส้นทางแหลมฉบังและมาบตาพุด จะไม่ซ้ำซ้อนกันเพราะกรณีรถไฟไทย-จีน ช่วงแก่งคอยไปแหลมฉบัง-มาบตาพุดก็จะเน้นการขนส่งผู้โดยสารทั่วไป ขณะที่รถไฟธรรมดาที่เป็นทางคู่ขนาด 1 เมตรก็ใช้ขนส่งสินค้า ส่วนรถไฟความเร็วสูงก็เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว”

รายงานข่าวแจ้งเพิ่มในรัฐบาลชุดก่อนกระทรวงคมนาคมได้มีการศึกษารถไฟความเร็วสูงทั้ง 2 เส้นทางไว้แล้วโดยเส้นทางกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง รวมระยะทาง 221 กม. ใช้ความเร็ว 250 กม.ต่อชั่วโมงเบื้องต้นกำหนดไว้ 4 สถานี คือ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีพัทยาและสถานีระยอง ใช้เวลาเดินทาง 1.15 ชั่วโมง ส่วนเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง206 กม.ใช้ความเร็ว 250 กม.ต่อชั่วโมง เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง มี 4 สถานี คือสถานีนครปฐม สถานีราชบุรี สถานีเพชรบุรี และสถานีหัวหินกำหนดอัตราค่าโดยสารเบื้องต้นเฉลี่ย 2.5–3 บาทต่อกิโลเมตร
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44606
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 19/03/2015 3:54 pm    Post subject: Reply with quote

เปิดโรดแมป "รถไฟ คสช." ปรับสปีด "ทางคู่" สู่ "ไฮสปีดเทรน"
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 19 มี.ค. 2558 เวลา 11:00:14 น.

ในที่สุด "รัฐบาล คสช." ก็ยอมจำนนหยิบโปรเจ็กต์รถไฟความเร็วสูงหรือไฮสปีดเทรน 2 เส้นทาง จาก กรุงเทพฯ-พัทยาและกรุงเทพฯ-หัวหิน ของรัฐบาลเพื่อไทยมาบรรจุในแผนยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งไทย 8 ปี (2558-2565)

Click on the image for full size

รื้อ-เร่ง-ประมูลก่อนเลือกตั้ง

นับเป็นการปรับตัว-ปรับแผนของ "บิ๊กจิน-พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง" รมว.คมนาคมที่รับลูกต่อจาก "บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา"นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.

"ยุทธศาสตร์เดิมไม่มีรถไฟความเร็วสูง เพิ่งจัดทำโครงการขึ้นมา บรรจุเสริมในแผน 8 ปีจะเริ่มปี 2559 แนวคิดมาจากท่านนายกรัฐมนตรีเกิดความคิดว่าญี่ปุ่นมีความเจริญเติบโตจากการสร้างรถไฟความเร็วสูง มีการพัฒนาเมืองไปยังชนบทและเกิดเมืองใหม่ เป็นเมืองท่องเที่ยว อุตสาหกรรม ทำให้ทุกอย่างพัฒนาควบคู่กันไป ลดความแออัดของเมือง ท่านก็มาถามว่ามีตรงไหนที่เข้าคอนเซ็ปต์นี้ ก็พบว่ามี 2 แห่งคือ พัทยาและหัวหิน" คำชี้แจงจากบิ๊กจิน

ขั้นตอนจากนี้จะมีการนำข้อมูลผลศึกษาเดิมที่ทำไว้มาเพิ่มเติมเรื่องเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ภายในเดือนพฤษภาคมนี้จะนำแผนงานโครงการและรูปแบบลงทุนที่ได้ข้อสรุปจากเอกชนที่สนใจ เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เพื่อให้ทันเปิดประมูลภายในรัฐบาลชุดนี้

เดินหน้ารถไฟฟ้าเมืองกรุง

ประมวลภาพระบบรางประเทศไทยภายใต้รัฐบาล คสช. นับจากนี้ เจ้ากระทรวงคมนาคมระบุว่า นอกจากรถไฟฟ้า 10 เส้นทางที่เดินหน้าไปตามแผนงาน ซึ่งเร่งรัดการก่อสร้าง 4 เส้นทาง 89 กม.ให้เปิดบริการได้ตามกำหนด


ไล่จากสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) 23 กม. เร่งเปิดบริการธันวาคม 2558-มีนาคม 2559 สีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค) 27 กม. เร่งจัดหาเอกชนมาเดินรถ ตั้งเป้าเปิดบริการไตรมาส 3/2561 สีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ) 13 กม. และสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) 26 กม. คาดว่าเปิดบริการปี 2561

ส่วนสายอื่น ๆ จะทยอยเสนอ ครม.พิจารณาทั้งสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) สีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) สีแดง (Missing Link) บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์ (พญาไท-ดอนเมือง)

ทางคู่-มินิ-ไฮสปีดมาครบ

ส่วนระบบอื่นมีอีก 3 ระบบ คือ "รถไฟทางคู่" ราง 1 เมตร เดิมแผนออกแบบไว้ 4,000 กม. จะบวกเพิ่มให้อีก 2,500 กม. รวมเป็น 6,500 กม.ทั่วประเทศ ในอนาคตรถโดยสารวิ่งความเร็วเฉลี่ย 50 กม./ชม. เพิ่มเป็น 80 กม./ชม. หรือถ้าปรับปรุงใหม่อาจถึง 100 กม./ชม. ส่วนรถสินค้าเมื่อพัฒนาแล้วความเร็วจะเพิ่มจาก 38 กม./ชม. เป็น 60 กม./ชม. รวมทั้งทำให้ตรงต่อเวลามากขึ้น

ขณะเดียวกัน สิ่งที่จะเห็นตั้งแต่ปลายปี 2558 เป็นต้นไปคือเริ่มลงมือสร้าง "รถไฟมาตรฐาน" ราง 1.435 เมตร ความเร็วปานกลาง 180 กม./ชม. ซึ่ง "บิ๊กจิน" ระบุว่าลงทุน 3,000 กม.ทั่วประเทศ นำร่องเส้นทางแรก หนองคาย-ขอนแก่น-โคราช-แก่งคอย-มาบตาพุด และแก่งคอย-กรุงเทพฯ 873 กม. โดยร่วมพัฒนากับรัฐบาลจีนในรูปแบบจีทูจี

เส้นทางที่ 2 กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 700-800 กม. เส้นทางที่ 3 กรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ 970 กม. อีก 2 เส้นทางเป็นแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ด้านบนเส้นทางแม่สอด-พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-มุกดาหาร เชื่อมพม่าฝั่งอันดามันไปยังลาวและจีนใต้ ระยะทาง 770 กม.


กับด้านล่างเชื่อมบ้านพุน้ำร้อน-กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ ต่อลงมาท่าเรือแหลมฉบัง เชื่อมท่าเรือทวาย-ท่าเรือแหลมฉบัง และต่อเชื่อมไปยังอรัญประเทศทะลุกัมพูชา-เวียดนาม

อีสต์-เวสต์คอร์ริดอร์ก็แจม

สุดท้ายแผนอยู่ระหว่างศึกษาคือ เส้นทางตะวันออก-ตะวันตกตอนใต้ เชื่อมท่าเรือปากบารา จ.สตูล มาท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 ระยะทาง 150 กม. เป็นแลนด์บริดจ์ข้ามมายังอ่าวไทยตอนบนไปออกจีนตอนใต้ได้ ย่นเวลาอย่างน้อย 2 วันสำหรับการค้าในช่องแคบมะละกา

เป็นโรดแมปที่ "รัฐบาล คสช." พยายามสับเกียร์เร่งให้เกิดโดยเร็ว หลังจากมีแรงหนุนจากเจ้าสัวและพันธมิตรต่างแดนทั้ง "จีน-ญี่ปุ่น"

ทั้งหมดนี้เป็นตารางทำงานแข่งกับเวลา ก่อนเสียงระฆังเลือกตั้งจะดังขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2559
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42724
Location: NECTEC

PostPosted: 21/03/2015 7:21 pm    Post subject: Reply with quote

ชาวสวรรคโลกไม่เอารถไฟความเร็วสูง บอกเสียมากกว่าได้ - ราคาเวนคืนแสนถูก


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
20 มีนาคม 2558 13:50 น. (แก้ไขล่าสุด 20 มีนาคม 2558 15:35 น.)

ชาวสวรรคโลกไม่เอารถไฟความเร็วสูง บอกเสียมากกว่าได้ - ราคาเวนคืนแสนถูก

สุโขทัย - ชาวบ้านเขตสวรรคโลกไม่เอาโครงการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงพาดผ่านที่นาที่ไร่ ทำสูญเสียที่ทำกินที่ตกทอดมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย แถมจ่ายค่าเวนคืนถูกกว่าราคาท้องตลาดครึ่งต่อครึ่ง เผยประชาพิจารณ์ 3 รอบผู้ได้รับผลกระทบไม่รู้เรื่อง

วันนี้ (20 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ผดุง ยิ่งไพบูลย์สุข ผบ.กองกำลังรักษาความสงบ จทบ.พิษณุโลก พร้อมด้วย พ.ท.ดร.รุ่งคุณ มหาปัญญาวงค์ หัวหน้าศูนย์ข่าว อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย และคณะอาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ร่วมกันจัดเวทีอภิปรายสาธารณะ รับฟังเสียงสะท้อนของชาวบ้าน ต.ย่านยาว ต.นาทุ่ง ต.ท่าทอง ต.คลองกระจง ต.ป่ากุมเกาะ และ ต.วังไม้ขอน อ.สวรรคโลก ที่ได้รับผลกระทบจากเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ณ ศาลาการเปรียญวัดคุ้งวารี ต.ย่านยาว

หลังชาวบ้านร้องเรียนไปยังกองทัพภาคที่ 3 ว่า การทำประชาคม 3 ครั้งที่ผ่านมา ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงไม่ทราบเรื่อง ไม่ได้รับเชิญให้แสดงความคิดเห็น และไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างละเอียด รวมทั้งไม่ได้ลงมติให้สร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง

ชาวบ้านระบุว่า ที่ไม่เห็นด้วยเพราะที่นาที่ไร่ซึ่งจะถูกเวนคืนนั้นเป็นมรดกตกทอดจากปู่ย่าให้กับลูกหลาน ถ้าเสียที่ดินทำกินไปแล้วก็ไม่เหลืออะไรเลย ประกอบกับค่าชดเชยที่จ่ายให้ก็ถูกกว่าการซื้อขายที่ดินทั่วไปถึงครึ่งต่อครึ่ง และชาวบ้านไม่ได้รับประโยชน์เพราะเป็นแค่ทางผ่าน รวมทั้งทางรถไฟก็จะไปขวางทางน้ำ ทำให้น้ำท่วมขังไร่นาของชาวบ้านอีก จึงต้องการให้เปลี่ยนเส้นทางเดินรถไฟความเร็วสูงด้วย

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จะได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดเสนอให้ทางกองทัพภาคที่ 3 พิจารณาแก้ปัญหาต่อไป
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42724
Location: NECTEC

PostPosted: 26/03/2015 6:11 pm    Post subject: Reply with quote

BTSผุดคอนโดบิ๊กไซซ์ผนึกจีนลุยไฮสปีด
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
26 มีนาคม 2558

เกมใหม่บีทีเอสลุยธุรกิจแสนล้าน ผนึกแสนสิริงัดที่ดินแนวรถไฟฟ้าขึ้นคอนโดฯ ปีนี้ 2-3 โครงการ 1.1 หมื่นล้านผุดห้องชุดไซซ์ใหญ่ 100 ตร.ม. เท่าบ้านเดี่ยวหลังเล็กทำเลส่วนต่อขยายชานเมือง ทุ่ม 2 พันล้าน ซื้อรถใหม่ 7 ขบวน ดันอินฟราฯฟันด์ 3 หมื่นล้าน ประมูลเดินรถสายสีเขียว-ชมพู ดึงจีนประมูลรถไฟทางคู่ ไฮสปีดเทรน

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปีนี้จะกลับมารุกหนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น โดยพัฒนาโครงการภายใต้โมเดลใหม่กับพันธมิตรใหม่ในแนวรถไฟฟ้าทั้งพื้นที่เขตกรุงเทพฯและปริมณฑล อีกทั้งจะลงทุนเพิ่มในธุรกิจระบบขนส่งมวลชนทุกรูปแบบให้ครอบคลุมมากขึ้น รองรับการขยายตัวของธุรกิจขนส่งมวลชนในอนาคตที่จะเติบโตขึ้นมาก

ร่วมทุนบุกอสังหาฯรอบใหม่

สำหรับธุรกิจอสังหาฯ ปีนี้จะเริ่มต้นรุกตลาดที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้า ภายใต้การร่วมทุนกับ บมจ.แสนสิริและ บมจ. แนเชอรัล พาร์ค เต็มตัว หลังประกาศแผนร่วมทุนเมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยการร่วมทุนกับแสนสิริจะพัฒนาอสังหาฯเพื่อขาย ส่วนการเข้าถือหุ้นในเอ็นพาร์คจะพัฒนาอสังหาฯรูปแบบอื่น ๆ ที่ยังไม่มีในตลาด

"สมัยก่อนเราเคยทำอสังหาฯ แต่เว้นช่วงไปนาน จากปัญหาการเงินและวิกฤตเศรษฐกิจ พอกลับมาทำใหม่ยอมรับว่าไม่สามารถทำหลาย ๆ ธุรกิจได้พร้อมกัน เพราะเรื่องเงินทุนไม่พร้อม ยังไม่อันตรายเท่าคนไม่พร้อม"

การร่วมทุนกับแสนสิริ เบื้องต้นปีนี้จะมีโครงการใหม่อย่างน้อย 2-3 โครงการ จะตั้งบริษัทร่วมทุน 1 บริษัทต่อ 1 โครงการ ถือหุ้นฝั่งละ 50:50 และสามารถซื้อที่ดินทั้งจากบีทีเอส แสนสิริ หรือเป็นที่ดินแปลงใหม่เข้ามาพัฒนา โดยไม่มีการปิดกั้นรูปแบบ

งบฯซื้อที่ดินปีนี้ไม่ได้ตั้งไว้ชัดเจน แต่ถึงปัจจุบันซื้อที่ดินเข้ามาแล้วหลายแปลง ทั้งแนวรถไฟฟ้าที่เปิดบริการแล้ว และส่วนต่อขยายที่ยังไม่ได้สร้าง จะพัฒนาทั้งคอนโดมิเนียมและโครงการแนวราบ หรืออสังหาฯรูปแบบเมืองใหม่ขนาดใหญ่ ที่ดินอยู่ในข่ายจะนำมาพัฒนาโครงการปีนี้ 3 แปลง ได้แก่ 1) แปลงพหลโยธิน 21 ไร่ จะเริ่มทำคอนโดฯ LINE ที่ร่วมทุนกับแสนสิริ
2) ที่ดินในธนาซิตี้เหลืออีกกว่า 300 ไร่ อยู่ในแนวรถไฟโมโนเรล สายบางนา-สุวรรณภูมิ และ
3) ที่ดินติดบีทีเอส พญาไท 7 ไร่

รุกคอนโดฯชานเมืองไซซ์ใหญ่

รูปแบบการพัฒนาคอนโดฯแนวรถไฟฟ้าจะปรับเปลี่ยนสไตล์ใหม่ จากสมัยก่อนวิกฤตฟองสบู่นิยมห้องขนาด 100-200 ตร.ม. ปัจจุบันเล็กลงเหลือกว่า 20-40 ตร.ม. แต่เมื่อรถไฟฟ้าต่อขยายไปถึงรอบนอกกรุงเทพฯ บริษัทเห็นโอกาสการพัฒนาโครงการตามแนวรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย จะดีไซน์ห้องให้ใหญ่ขึ้น น่าจะ 100 ตร.ม. เพื่ออยู่อาศัยได้จริง มีหลังเดียวก็เพียงพอ ไม่ต้องซื้อเป็นบ้านหลังที่ 2 ซึ่งราคาจะทำให้ได้ต่ำกว่า ตร.ม.ละ 1 แสนบาท นอกจากนี้ยังมีแนวคิด จะพัฒนาโครงการในรูปแบบเมืองใหม่บนที่ดินตั้งแต่ 100 ไร่ขึ้นไป มีทั้งที่อยู่อาศัย โรงเรียน ตลาด สถานพยาบาล ขณะนี้บริษัทมีที่ดินอยู่ในมือแล้ว

"การร่วมทุนกับแสนสิริจะแข็งแรงขึ้น ก่อนหน้านี้เราคุยกับบริษัทอสังหาฯ ใหญ่ ๆ หลายราย แต่เลือกแสนสิริเพราะ วิสัยทัศน์ตรงกัน"

นายวันจักร์ บุรณศิริ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บมจ.แสนสิริ เปิดเผยว่า แสนสิริเตรียมเปิดตัวโครงการคอนโดฯ THE LINE ใกล้บีทีเอสจตุจักร มูลค่าโครงการ 5,600 ล้านบาท ที่ร่วมทุนกับบีทีเอส และมีโครงการแนวรถไฟฟ้าที่กำลังศึกษา คาดว่าจะเปิดตัวปีนี้อีก 2 โครงการ เบ็ดเสร็จมีมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท

ตุน 3 หมื่นล.ลุยธุรกิจรถไฟฟ้า

สำหรับธุรกิจรถไฟฟ้านายคีรีกล่าวว่า มีเงินทุนพร้อมจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางรางบีทีเอส โกรท (อินฟราฟันด์) 30,000 ล้านบาท จะนำมาลงทุนทั้งรถไฟฟ้าต่อขยายบีทีเอส เดิม เช่น การเดินรถสายสีเขียวช่วงหมอชิตคูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ รวมถึงสายใหม่คือสีชมพู (แคราย-มีนบุรี)

"ธุรกิจเดินรถในประเทศไทยมีแค่บีทีเอส และบีเอ็มซีแอล เมื่อต่อขยายเส้นทางเดิม รัฐบาลควรจะให้เจ้าเก่าทำ มี 2 เหตุผล คือ รถวิ่งเชื่อมกันได้ ที่สำคัญมากคือทั้ง 2 บริษัทเหนื่อยมานานแล้ว บีทีเอสวันนี้ที่หายเหนื่อยมาจากการปรับโครงสร้างหนี้ และบีเอ็มซีแอลถึงวันนี้ยังตึงตัวอยู่ ถ้าจะให้ 2 บริษัทเชื่อมคนละสี ผิดตรงไหน ผมไม่อยากให้ต่างคนต่างทำ"

อีกทั้งบริษัทยังสนใจโครงการรถไฟความเร็วสูงที่รัฐบาลจะดึงเอกชนมาลงทุน 2 เส้นทาง คือกรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-พัทยา และรถไฟไทย-จีน ความเร็ว 180 กม./ชม. ที่รัฐบาลไทยร่วมกับรัฐบาลจีน และรถไฟโมโนเรล

"อินฟราฟันด์ที่ออกมาเพื่อธุรกิจรถไฟฟ้าที่เป็นอาชีพหลักเรา ตอนนี้เงินก้อนนี้ก็ยังเตรียมรอไว้อยู่ อย่างสายสีเขียวเราลงทุนแน่ เพราะต่อขยายเส้นเดิม สีอื่นแล้วแต่นโยบายรัฐบาล จะประมูลแบบไหน หรือจะให้เราทำก็พร้อม ทุกอย่างที่เกี่ยวกับรถไฟฟ้าหรือการเดินราง เราต้องพยายามเต็มที่ที่จะเข้าไปลงทุน"

เชียร์รัฐบาลลงทุนไฮสปีดเทรน

ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูง นายคีรีมองว่าเป็นจังหวะเหมาะที่ประเทศไทยจะเริ่มพัฒนา เพื่อให้เกิดการกระจายตัวด้านเศรษฐกิจ และพัฒนาเมืองให้ออกไปสู่ชานเมืองและต่างจังหวัด แก้ปัญหาการกระจุกตัวในกรุงเทพฯ อยู่ที่การบริหารของรัฐบาลจะลงทุนรูปแบบไหน ระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อให้โครงการได้เริ่มต้น

"ส่วนรถไฟไทย-จีน บริษัทมีพันธมิตรจีนอยู่แล้ว เพราะซื้อรถไฟฟ้าจากจีน และร่วมกันประมูลรถไฟฟ้าที่ปักกิ่ง รอความชัดเจนจากรัฐบาลเท่านั้น เพราะรัฐบาลไทยและจีนยังคุยกันแค่ระดับข้อตกลง ยังไม่มีรายละเอียดในรูปของสัญญา แต่บริษัทสนใจแน่นอน"

ซื้อรถใหม่รับผู้โดยสารพุ่ง 8 แสน

สำหรับการลงทุนของบีทีเอส ปีนี้จะลงทุน 1,000-2,000 ล้านบาท ซื้อรถใหม่อีก 7 ขบวน (ขบวนละ 4 ตู้) รองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ล่าสุด บางวันมีผู้โดยสารเกิน 8 แสนเที่ยวคน/วัน แต่ยังไม่เต็มความจุที่รับได้ 1.2 ล้านเที่ยวคน/วัน ขณะที่รายได้โตขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 8% ปัจจุบันมีรายได้ค่าโดยสารอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท

"ตอนนี้ผู้โดยสารบ่นว่าแน่นมาก เราก็เห็นใจ แต่ไม่ได้เป็นตลอดเวลา เพราะพื้นที่ตรงกลางยังมีที่ว่างอีกเยอะ เพราะรถไฟฟ้าเวลาคนเข้าไปจะไม่ยอมขยับไปข้างใน จะเพิ่มขบวนรถ แต่ติดปัญหาคอขวดที่สถานีสะพานตากสินที่เป็นรางเดี่ยว ถึงซื้อรถเพิ่มเป็น 10 ขบวนก็แก้ปัญหาไม่ได้"

รอบอร์ดเคาะขึ้นค่าโดยสารใหม่

นายคีรียังกล่าวถึงการขึ้นค่าโดยสารว่า ยังไม่ได้ขอปรับขึ้นค่าโดยสารกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพราะยังไม่ถึงเวลาพิจารณา แต่ตามสัญญาสามารถขอขึ้นได้ ถ้ามีค่าใช้จ่ายเพิ่ม เพราะราคาสูงสุดปัจจุบันยังไม่เต็มเพดาน ต้องรอการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัทที่จะประชุมเดือน เม.ย.นี้

ส่วนธุรกิจโฆษณาเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ยอดใช้งบฯโฆษณาชะลอตัว ปีที่ผ่านมา บมจ.วีจีไอฯ มีรายได้โตต่ำกว่าเป้า ขณะที่ธุรกิจบัตรแรบบิทการ์ด ปัจจุบันมีสมาชิก 3.5 ล้านใบ เพิ่มขึ้นปีละ 1 ล้านใบ อีก 2 ปีนี้จะเป็นบริษัทที่แข็งแรงขึ้น อีกมาก หลังรัฐบาลมีนโยบายใช้ระบบ ตั๋วร่วม

ทั้งนี้ บีทีเอสกรุ๊ปแบ่งโครงสร้างธุรกิจเป็น 3 กลุ่ม คือ
1) ธุรกิจระบบขนส่งมวลชนภายใต้ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือบีทีเอสซี มีมูลค่าตามราคาตลาดหุ้น 140,000 ล้านบาท
2) ธุรกิจอสังหาฯ มีมูลค่าสินทรัพย์ 20,000 ล้านบาท
3) ธุรกิจ สื่อโฆษณาภายใต้ บมจ.วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย มูลค่าตามราคาตลาดหุ้น 40,000 ล้านบาท และ
4) ธุรกิจบริการบัตรแรบบิท การ์ดภายใต้ บจ.บางกอก สมาร์ท การ์ด ซิสเทม
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42724
Location: NECTEC

PostPosted: 04/04/2015 12:20 am    Post subject: Reply with quote

ประจิน"เดินหน้าระบบคมนาคม ดึงนักท่องเที่ยวเข้าเหนือ ชัดเจนลุยไฮสปีดเทรนกทม.-เชียงใหม่
3 เมษายน 2558 เวลา 17:42:07 น.


"ประจิน"เดินหน้าปรับปรุงระบบคมนาคม ดึงนักท่องเที่ยวเข้าภาคเหนือ ลุยระบบรางแน่ภายในปี 58 เผยญี่ปุ่นชัดเจนลุยไฮสปีดเทรน กทม.-เชียงใหม่ เชื่อเส้นทางมีศักยภาพสุดคุ้ม เล็งขยายสนามบินเชียงใหม่-เพิ่มลานจอดรถ เพิ่มผู้โดยสารกระตุ้นท่องเที่ยวเหนือ เสนอส่วนกลาง-ท้องถิ่น-พิงคนคร จับมือสร้างขนส่งมวลชน รับการขยายเมืองเชียงใหม่-แก้ปัญหาจราจร



วันที่ 3 เมษายน ผู้สื่อข่าว ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานจากงานสัมมนา "เที่ยววิถีไทย เศรษฐกิจก้าวหน้า ล้านนายั่งยืน" ที่ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ทั้งนี้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ "ระบบคมนาคมขนส่งที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบนเพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน" โดยระบุถึงเป้าหมายหลักในการท่องเที่ยว เริ่มจากเปรียบเทียบ 3 จังหวัดที่มีปริมาณนักท่องเที่ยวมาก คือ กรุงเทพฯ ภูเก็ต และเชียงใหม่

โดยกรุงเทพฯ มีทุกอย่าง มีวัฒนธรรม ในเกาะรัตนโกสินทร์ มีพระราชวัง สิ่งศักดิ์สิทธิ์หลากหลาย มีคนประมาณ12 ล้านคน ทั้งจดทะเบียนและไม่จดทะเบียน โดยนักท่องเที่ยวที่เข้ามาปีละ 25-26 ล้านคนส่วนใหญ่จะเข้าไปที่กรุงเทพฯ 80% หรือ 22 ล้านคน สนามบินหลักคือสุวรรณภูมิ ขณะที่ภูเก็ต ยังขาดการบริหารจัดการ ซึ่งสาธารณูปโภค น้ำไฟ ยังมีจำกัด ประชากรภูเก็ตมีประมาณ 5 แสนคน รวมกับคนไปทำงาน กับนักท่องเที่ยวไม่เกิน 10 ล้านคน ทำให้แต่ละปี ภูก็ตรับภาระคนที่เข้า-ออกจังหวัดปีละประมาณ 11 ล้านคน

@"ประจิน"เดินหน้าปรับปรุงระบบคมนาคม ดึงนักท่องเที่ยวเข้าภาคเหนือ

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวต่อว่า สำหรับ เชียงใหม่ เป็นเมืองใหญ่ ประชากรน่าจะไม่ต่ำกว่า 1.7 ล้านคน และเชื่อว่ามากกว่านี้ คือไม่น้อยกว่า 2 ล้านคน นักท่องเทียวอย่างน้อย 8 ล้านคนต่อปี โดยเชียงใหม่มีพื้นที่คาบเกี่ยว ทั้งแม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา จึงมีลักษณะที่ขยายเมืองได้ ติดอยู่ที่เราต้องรักษาทรัพยากร สิ่งแวดล้อมให้ได้เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว กล่าวคือ สิ่งที่เป็นจุดเด่นของเชียงใหม่ให้รักษาไว้ สิงที่เป็นภัยคุกคาม ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิด

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวด้วยว่า สิ่งที่กระทรวงคมนาคมจะสนับสนุนเพื่อรองรับพื้นที่ท่องเที่ยวภาคเหนือตอนบนมีแน่นอน โดยทางบกไม่ว่าจะเส้นทางหลัก เส้นทางหลวง ถนนชนบท ท้องที่ของจังหวัด ตำบล เทศบาล มีโครงข่ายเข้าถึงค่อนข้างจะสมบูรณ์ แต่ยังขาดประสิทธิภาพ เช่น ผิวจราจายังขรุขระ เส้นสีการจราจรอาจจะไม่ปลอดภัย เห็นไม่ชัดในเวลากลางคืน จุดตัดรถไฟที่ต้องเร่งกระบวนการสร้างเพื่อให้เกิดความปลอดภัย

รมว.คมนาคม ได้กล่าวเปรียบเทียบเส้นทางระบบราง (รถไฟ) ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นรถไฟรางเดี่ยวแบบเดิมอีกทั้งสภาพที่ใช้มาานานของไม้หมอนยึดรางเหล็ก ทำให้รถไฟวิ่งเร็วไม่ได้ รวมทั้งการใช้หัวรถจักรไอน้ำ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้วิ่งเร็วไม่ได้เช่นกัน ความเร็วเฉลี่ยจะลดลงเรื่อยๆ ต่ำกว่า 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเมื่อใช้ขนส่งสินค้ายิ่งใช้ความเร็วลดลงไปอีก เฉลี่ย 38 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แม้การขนส่งผ่านรถไฟจะต้นทุนต่ำ แต่เพราะความช้าทำให้ผู้ประกอบการหันไปใช้เส้นทางรถยนต์มากกว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาจิปาถะทั้งกรณีความเก่า ความไม่สะอาด เสียบ่อย จึงถึงเวลาแล้วที่รถไฟไทยต้องเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปจากรุ่นราง 1 เมตร เปลี่ยนจากหัวจักรไอน้ำมาเป็นดีเซล



"อนาคตจะมุ่งไปหัวจักรไฟฟ้า ความเร็วเฉลี่ยจะเพิ่มเป็น 80-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะทางกทม.-เชียงใหม่ จะเหลือ 10 ชั่วโมง นี่คือจะกลับไปยุคเก่า แต่ทำให้นัดหมายเที่ยงตรง รู้เวลาสวนทางได้ ไม่ต้องรอสับหลีก และสินค้าสามารถนัดหมายได้ว่าเมื่อรถบรรทุกขึ้นรถไฟ ส่งต่อไปถึงห้างร้านต่างๆ ได้"รมว.คมนาคม กล่าว และว่า จะให้เอกชนเข้ามาร่วมในการเช่าหัวรถจักร รถโดยสาร ขณะเดียวกันจะดำเนินการยึดหลัก โลว์คอสต์เทรด เพราะต้องการให้ไม่แพงเกินไปให้ทุกคนมาใช้ได้

@รมว.คมนาคมลั่นลุยระบบรางแน่ภายในปี 58 เผยญี่ปุ่นชัดเจนลุยไฮสปีดเทรน กทม.-เชียงใหม่ เชื่อเส้นทางมีศักยภาพสุดคุ้ม

รมว.คมนาคม กล่าวต่อว่า สำหรับระบบใหม่ กทม.-เชียงใหม่ ทางไทยกับญี่ปุ่น เจรจากันมายาวนาน ซึ่งญี่ปุ่นสนใจหลายเส้นทาง กระทั่งมีความชัดเจนและได้ลงนามเจตนาในการร่วมมือพัฒนาระบบรางของประเทศไทยซึ่งญี่ปุ่นเลือก 2 เส้นทาง คือ 1.พุน้ำร้อน-กาญจน์-สระแก้ว ต่อด้วยกรุงเทพฯ ไปแหลมฉบัง อีสต์-เวสต์คอร์ริดอร์ตอนล่าง ญี่ปุ่นได้ลงทุนพื้นที่นี้เป็นส่วนใหญ่ จึงเห็นประโยชน์ว่าเขาจะได้ประโยชน์ในการขนส่งสินค้าจากตะวันตกไปตะวันออก โดยในอนาคต เมื่อท่าเรือทวาย เขตพม่าสร้างเสร็จอีก 132 กิโลเมตร จากชายแดนพุน้ำร้อน ทางรถยนต์และรถไฟใช้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ คุณภาพชีวิตดีขึ้น ส่วนทวายจะใช้เวลา 5-10 ปีจากนี้ไป

เส้นทางที่ 2.กทม.-เชียงใหม่ แต่ญี่ปุ่นขอทำเป็นไฮสปีดเทรน เพราะเห็นว่าเส้นนี้มีศักยภาพ คนจำนวนมากตลอดเส้นทาง และมีแหล่งท่องเที่ยว แหล่งลงทุนเศษฐกิจต่างๆเยอะ จึงมั่นใจว่าลงทุนสายนี้จะตอบสนองความต้องการประชาชนในประเทศและต่างประเทศได้

"เรากำลังจะพิจารณาข้อเสนอนี้ของญี่ปุ่นค่อนข้างทางบวกว่าจะเป็นไฮสปีดเทรนค่อนข้างสูงในเส้นทางเชียงใหม่ เดิม 10 ชั่วโมง แต่เมื่อเป็นไฮสปีด บวกลบการชะลอ การเข้า-ออกสถานีจะเหลือ 5 ชั่วโมง ถือว่าอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ แต่ถ้าใช้ระยะความเร็ว 200-250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (แนวทางเมื่อปี 2557) จะใช้เวลา 3 ชั่วโมง"พล.อ.อ.ประจินกล่าว และว่า สิ่งเหล่านี้เกิดแน่นอนภายในรัฐบาลชุดนี้ ภายในปลายปี 58

รมว.คมนาคม กล่าวต่อว่า อีกเส้นทางที่จะเกิดแน่นอน คือสระบุรี-มาบตาพุด-ปาดังฯ จะพิจารณาเป็นรถไฟความเร็วปานกลาง 180-200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และรถไฟความเร็วสูง 200-250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยจะเป็นการขนส่งสินค้ามูลค่าสูง และมีวอลุ่ม(ปริมาณ)ไม่มากนัก ติดไปกับรถผู้โดยสาร ซึ่งในอนาคตจะสั่งสร้างตู้รถไฟฟ้าเร็วสูงที่ขนสินค้า ทำความเร็วได้ดีขึ้น 5 เท่า จึงเชื่อว่าการขนส่งสินค้า ลอจิสติกส์จะกลับมาใช้ทังระบบเดิมกับไฮสปีด โดยการพัฒนานี้จะควบคู่ไปกับการปรับปรุงสถานีใหม่ พัฒนาระบบบริการใหม่ มีศูนย์กระจายสินค้า ศูนย์รับส่งสินค้าใหม่ จะเกิดการเชื่อมโยงจากสถานีรถไฟ ออกจากศูนย์กระจายสินค้า ทำให้เกิดชุมชนเมืองใหม่ เกิดเศรษฐกิจครัวเรือน มีการกระจายความเจริญการอยู่อาศัยมาอยู่นอกเมืองมากขึ้น



@ขยายสนามบินเชียงใหม่-ลานจอด เพิ่มผู้โดยสารกระตุ้นท่องเที่ยวเหนือ

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวต่อว่า ทางด้านการขนส่งทางอากาศ ซึ่งไฮไลต์คือ สนามบินนานาชาติมีเชียงใหม่กับเชียงราย ซึ่งสนามบินเชียงใหม่รองรับคนได้ 5-8 ล้านคน ซึ่งจำเป็นต้องขยาย และปรับปรุงภายให้เกิดความคล่องตัวของผู้โดยสาร ซึ่งอนาคตจะพัฒนาลานจอดให้ได้ถึง 20 หลุมจอด ทำให้เครื่องเข้าจอดได้มากขึ้น บินได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะเพิ่มผู้โดยสารจาก 8 ล้านคน เป็น 12 ล้านคน ภายในปี 2562 นอกจากนี้จะต้องพัฒนาที่จอดรถภายในบริเวณสนามบินเพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารเข้าออกด้วยเช่นกัน โดยมีแนวทางที่ต้องพิจารณาว่าจะใช้รูปแบบใด 1.จะสร้างเป็นที่จอดรถใหม่สูง 7 ชั้น จอดรถได้ 2,000 คัน 2.สร้างเทอร์มินัลลอยฟ้า มาคร่อมด้านบนของพื้นที่ด้านบน ทำให้มีพื้นที่เชื่อมต่อของเทอร์มินัลเดิม กับเทอร์มินัลใหม่ และพื้นที่ลานจอดรถ 3.สร้างที่จอดรถใต้ดิน 500 คัน เชื่อมกับของปัจจุบัน ให้เข้าออกได้เลย

"อยากฝากเพียงว่า พื้นที่คูเมืองต้องรักษาไว้ แต่พื้นที่หลังจากนั้นน่าจะทำได้ อาจจะบนพื้นผิวหรือใต้ดินก็ได้ เชื่อมต่อมากับสนามบินจะเกิดประโยชน์สูงสุด"พล.อ.อ.ประจินกล่าว

สำหรับการแก้ปัญหาจราจรในเชียงใหม่พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า แนวทางที่จะแก้จะใช้โมเดลเดียวกับทั้งกรุงเทพฯ ภูเก็ต นครราชสีมา ขอนแก่น อาทิ การเพิ่มรถขนส่งมวลชนใต้ดิน รถราง แทนการใช้รถส่วนตัว แต่รูปแบบนี้ต้องใช้เวลา

@ส่วนกลาง-ท้องถิ่น-พิงคนคร จับมือสร้างขนส่งมวลชน รับการขยายเมืองเชียงใหม่-แก้ปัญหาจราจร

"กระทรวงคมนาคมพร้อมช่วยเหลือจังหวัด (เชียงใหม่) ถ้าจะทำแทรมป์ รถไฟฟ้าบนดิน ใต้ดิน ผมอยากสนับสนุนให้ท้องถิ่นคือจังหวัดเชียงใหม่ อาจจะมี สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน)เป็นกำลังหลัก โดยกระทรวงคมนาคมจะเข้ามาช่วยเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งตัวเชื่อมเมืองก็ต้องมี ทั้งวงแหวน วงกลาง วงนอก เพราะเมืองเจริญไปสุดถึงวงแหวนรอบนอกแล้ว อาจจะต้องมีวงแหวนอีกรอบหนึ่ง อาจจะใช้วิธีการให้การทางพิเศษฯ เข้ามาช่วย หรือทำทางด่วนเพิ่ม โดยส่วนกลางเข้ามาช่วยในพื้นที่ ซึ่งการจะดำเนินการอะไรจะต้องมีการปรึกษาและหารือร่วมกับจังหวัดใกล้เคียงทั้งหมด"รมว.คมนาคมกล่าว

พล.อ.อ.ประจินกล่าวสรุปว่า กระทรวงคมนาคมจะดำเนินการทุกทางเพื่อจะเชื่อมโยงการเดินทาง ไม่ว่าบก อากาศ ให้เชื่อมโยงกัน ขณะเดียวกัน กระทรวงไอซีทีจะสนับสนุนให้ไฟเบอร์ออพติก ฯลฯ มีการลงทุน ถ้าครบทั้งโครงข่ายถนน โทรคมนาคม พลังงาน น้ำ ไฟ ต่างๆ เชื่อว่าภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะเชียงใหม่จะมีความพร้อมรองรับประชากรอาศัยในพื้นที่ รองรับนักท่องเที่ยว คนต่างพื้นที่ได้

อย่างไรก็ตาม ด้านหนึ่งก็ต้องหารทางรักษาจุดเด่นของพื้นที่ท่องเที่ยวภาคเหนือไว้ให้ได้ ในเรื่องภูมิทัศน์ที่สวยงาม ความร่มรื่น วัฒนธรรมที่ต้องรักษาเอกลักษณ์ และปัญหาสภาพอากาศ เพือให้ภาคเหนือตอนบนยังเป็นพื้นที่สำคัญ โดยเฉพาะเชียงใหม่ที่เป็นจังหวัดสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยว
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42724
Location: NECTEC

PostPosted: 08/04/2015 7:14 pm    Post subject: Reply with quote

สามารถ ราชพลสิทธิ์ แนะ′ประจิน′เมินไฮสปีดเทรน′กทม.-หัวหิน′ลุยรถไฟทางคู่ดีกว่า
มติชน
วันที่ 08 เมษายน พ.ศ. 2558 เวลา 14:15:46 น.




นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์(ปชป.)และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ วันที่ 8 เมษายนว่า

ไฮสปีดเทรน กรุงเทพฯ-หัวหิน เกิดได้หรือ?

ดูเหมือนว่าหลังจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กลับจากเยือนประเทศญี่ปุ่นพร้อมกับได้มีโอกาสสัมผัสกับความทันสมัยของชินคันเซ็นหรือรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่นได้มีความพยายามที่จะผลักดันให้มีการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในไทยให้ได้

เส้นทางแรกที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นก็คือกรุงเทพฯ-หัวหินโดยมีการประโคมข่าวว่าเอกชนให้ความสนใจร่วมลงทุนด้วย
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า “เชื่อว่าเส้นทางรถไฟความเร็วสูงดังกล่าวจะมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก และทำให้โครงการมีความคุ้มทุน



แนวคิดของรัฐบาลเห็นว่าการลงทุนรถไฟความเร็วสูงยิ่งระยะทางยาว ยิ่งใช้เงินมาก และคืนทุนยาก เพราะเมื่อลงทุนสูงจะกำหนดค่าโดยสารสูง ผู้โดยสารจะน้อย” (ไทยรัฐออนไลน์ 9 มีนาคม 2558)

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมได้โพสต์เรื่อง “ไฮสปีดหัวหินจอดหลังผลาญ 137 ล้าน” ไว้วันที่ 3 สิงหาคม 2556 ว่า “เมื่อเร็วๆ นี้ ผอ.สนข. (สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร) ออกมายอมรับแล้วครับว่ารถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหินไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน

เพราะจะมีผู้โดยสารน้อยเป็นการยอมรับหลังจากจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้ทำการศึกษาเสียเงินไปแล้ว137 ล้านบาท เป็นการเสียเงินโดยไม่สมควรเสีย เพราะไม่ต้องศึกษาก็รู้ได้ทันทีว่ารถไฟความเร็วสูงระยะทางสั้นๆ จะสู้รถยนต์ไม่ได้ จะมีใครสักกี่คนที่จะเลือกใช้รถไฟความเร็วสูงไปหัวหิน”

ผมไม่เชื่อว่ารถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหินจะมีผู้โดยสารมาก และจะทำให้โครงการมีความคุ้มทุนดังเช่น รมว.คมนาคม เชื่อ และผมก็เข้าใจว่าเอกชนคงไม่สนใจที่จะร่วมลงทุนจริง

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอเสนอแนะ รมว.คมนาคม ดังนี้

1. อย่าเสียเวลาที่จะพยายามผลักดันรถไฟความเร็วสูงระยะทางสั้นๆ ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม โดยให้เอกชนร่วมลงทุนเลย เพราะเป็นไปไม่ได้

2. ใช้เวลาเร่งประมูลก่อสร้างรถไฟทางคู่ ขนาดราง 1 เมตร (สร้างเพิ่มขึ้น 1 ทาง จากที่มีอยู่แล้ว 1 ทาง) ซึ่งเวลานี้ยังประมูลไม่ได้สักเส้นทางเลย ทั้งๆ ที่ มีการออกแบบรายละเอียด และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสร็จแล้ว 6 เส้นทาง

ถ้าสามารถประมูลก่อสร้างรถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง วงเงิน 127,472 ล้านบาทได้ จะทำให้วงการก่อสร้างรวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องคึกคักขึ้นแน่

อย่าเสียเวลากับงานที่เป็นไปไม่ได้เลยครับ!
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42724
Location: NECTEC

PostPosted: 09/04/2015 10:10 am    Post subject: Reply with quote

กางยุทธศาสตร์ญี่ปุ่นลงทุนไฮสปีดเทรนในเอเซีย 10,000 กม.-นำร่องกรุงเทพฯ –เชียงใหม่
Posted by อาคม
9 เมษายน 2558, 09:20:32 น.

ก่อนหน้านี้ 2-3 ปีมีการประกาศเชิญชวนของรัฐบาลไทยในการลงทุนรถไฟความเร็วสูงก็ได้มีหลายประเทศแห่ให้ความสนใจและยื่นความจำนง ทั้งทางสหรัฐฯ ยุโรป จีน และญี่ปุ่น กระทั่งปัจจุบันภาพชัดเจนขึ้น และเกิดการดีลในระดับนโยบาย เขย่าการต่อรองอย่างค่อนข้างจะลงตัวและใกล้ความจริง

แน่นอนในเอเชียมีจีน และญี่ปุ่นที่พยายามขยายจำนวนความยาวของรถไฟความเร็วสูง เพื่อผูกพ่วงกับอำนาจทางเศรษฐกิจและระบบโลจิสติกส์ทางรางทั้งขนคนและขนของ ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศยาวไปจนถึงมาเลเซีย และสิงคโปร์ คือเวทีที่เป็นสมรภูมิภารถ่วงดุลอำนาจโดยใช้เครื่องมือรถไฟความเร็วสูงมาคานกัน และดูเหมือนไทยจะเก่งเรื่องสับราง

ล่าสุด พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องการลงทุนโครงการรถไฟทางคู่ กับประเทศญี่ปุ่นว่า ญี่ปุ่นให้ความสนใจที่ร่วมลงทุนโครงการรถไฟทางคู่ ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร จำนวน 2 เส้นทาง คือ
เส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพ-อรัญประเทศ-แหลมฉบัง ซึ่งจะเชื่อมกับโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย และ เส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังได้เสนอให้มีการสร้างรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรน ในเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 670-700 กิโลเมตร เพราะจากผลการศึกษาเดิมเส้นทางนี้เป็นไปได้มากที่สุด ซึ่งก็ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและงบประมาณที่สูงด้วยเช่นกัน ในส่วนนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มอบหมายให้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ไปเจรจากับทางญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 23 -27 เมษายนนี้ ก่อนนำข้อสรุปที่ได้มาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนเมษายนนี้ หากเรื่องดังกล่าวผ่านการพิจารณาของ ครม. ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (เอ็มโอยู) ต่อไป



พล.อ.อ. ประจิน กล่าวต่อว่า ในที่ประชุม ครม. กระทรวงคมนาคม ได้รายงานความก้าวหน้าโครงการความร่วมมือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟระหว่างไทยกับจีน และขอความเห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือ (Memorandum of Cooperation หรือ MOC) เพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายร่วมสำรวจพื้นที่และออกแบบ โดยฝ่ายจีน จะดูเรื่องการออกแบบและการก่อสร้างในส่วนของอุโมงค์ ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบไฟฟ้าและการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ



ขณะที่ฝ่ายไทยจะทำหน้าที่สนับสนุนด้านการจัดเตรียมเอกสารข้อมูล บุคลากร และประสานหน่วยงานต่าง ๆ อาทิเช่น ขอแผนที่หรือถ่ายภาพทางอากาศจากรมแผนที่ทหาร และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ขณะที่กระทรวงแรงงาน จะดูแลเรื่องการออกใบอนุญาตทำงานให้กับต่างชาติ ส่วนกระทรวงการคลังช่วยดูแลเรื่องการยกเว้นภาษีการนำเข้าเครื่องจักร เป็นต้น

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าจีนสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่นั้น พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ฝ่ายจีนเป็นผู้ที่แจ้งยกเลิกไม่สนใจเส้นทางนี้ก่อน หลังจากที่ไม่สามารถเจรจาเพื่อเชื่อมต่อเส้นทางจากคุนหมิงผ่านทางเชียงของ ของ สปป.ลาว เพื่อเข้าสู่ไทยทางตอนเหนือ ดังนั้น จึงทำให้เส้นทางนี้ต้องพับแผนไป แต่ทางญี่ปุ่นได้แสดงความสนใจชัดเจนและมีแนวโน้มที่ดีที่ญี่ปุ่นจะมีโอกาสเข้ามาดำเนินการได้ และขอให้รอหลังจากที่นายอาคมกลับจากหารือกับทางญี่ปุ่นก่อน เพราะจะมีความคืบหน้าที่ชัดเจนในเรื่องที่ญี่ปุ่นจะเข้ามาลงทุนในโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย



พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. กระทรวงคมนาคมได้รายงานความก้าวหน้าโครงการความร่วมมือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟระหว่างไทยกับจีน และขอความเห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือ หรือเอ็มโอยู เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมในการสำรวจพื้นที่และทำการออกแบบ โดยฝ่าย ไทยจะสนับสนุนด้านการจัดเตรียมเอกสารข้อมูล บุคลากร และประสานหน่วยงานต่างๆ ให้กระทรวงแรงงานดูแลเรื่องการออกใบอนุญาตทำงานให้กับต่างชาติ กระทรวงการคลังช่วยดูแลเรื่องการยกเว้นภาษีการนำเข้าเครื่องจักร เพื่อเข้ามาทำการสำรวจในไทย

หากกางดูแผนที่ยุทธศาสตร์รถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่นน่าสนใจที่วางแผนเข้าไปดำเนินการทั้งในอินเดีย เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และแน่นอนไทยคือแผนที่ญี่ปุ่นจะเข้ามาดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและเกาะติด กระแสที่ญี่ปุ่นจะเข้ามาลงทุนในเส้นทางกรุงเทพ เชียงใหม่ จึงเป็นกระแสบวกที่ให้ความมั่นใจในเรื่องมาตรฐาน ความปลอดภัย และที่สำคัญหลายคนเริ่มถอนหายใจว่าขอให้เกิดขึ้นเสียทีเถิด หลังฝันมานาน
http://www.oknation.net/blog/akom/2015/04/09/entry-1
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 09/04/2015 2:26 pm    Post subject: Reply with quote

เสียดายที่พี่น้องชาว อ.สวรรคโลก ไม่เอาด้วย

แต่เข้าใจนะครับว่าแนวพื้นที่ดังกล่าว มีประชากรหนาแน่นรวมทั้งที่ทำกินด้วย น้ำท่วมก็บ่อย จะขยับขยายโครงการแถวนั้นคงลำบาก

ถ้างั้นก็เลื่อนแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงค่อนไปทาง อ.ศรีนคร แล้วลัดออกเหนือ อ.สวรรคโลก ซึ่งมีประชากรและที่ทำกินน้อยกว่า แต่ไม่ควรเข้าไปใกล้กับเขตเมืองเก่าและอุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย เดี๋ยวก็มีปัญหาเรื่องแนวเขตอีก
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 187, 188, 189 ... 547, 548, 549  Next
Page 188 of 549

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©