RailServe.Com

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai Gallery in Facebook

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311235
ทั่วไป:13181041
ทั้งหมด:13492276
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าวรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน)
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ข่าวรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน)
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 342, 343, 344 ... 542, 543, 544  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42625
Location: NECTEC

PostPosted: 08/10/2019 7:41 pm    Post subject: Reply with quote

เลื่อนอีกครั้ง! อีก10วัน ลงนามไฮสปีดเชื่อม3สนามบิน “ศักดิ์สยาม”ขีดเส้นตาย25ต.ค.62
วันที่ 8 ตุลาคม 2562

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 8 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (คค.) ระบุถึงโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) รวมระยะทาง 220 กิโลเมตร (กม.) มูลค่า 2.2 แสนล้านบาท โดยกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) เป็นผู้เสนอราคามาในอันดับ 1 ซึ่ง นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ขอให้รัฐบาลร่วมรับความเสี่ยงกับภาคเอกชนในการลงทุนด้วยนั้น ว่า เป็นสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของท่าน แต่รัฐบาลก็จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย และเงื่อนไขที่กำหนดในเอกสารคัดเลือกเอกชน (Request for Propasa : RFP) ซึ่งได้พูดถึงไว้ในข้อ 50.1 บอกว่า ผู้ยื่นเสนอจะต้องรับภาระความเสี่ยง แต่เรื่องนี้คงไม่ใช่ปัญหา

“ท่าน (ธนินท์) สามารถแสดงความคิดเห็นได้ อะไรที่รัฐบาลจะสามารถทำให้ผู้ประกวดราคา ดำเนินการได้ตามกฎหมาย และตาม RFP แล้ว เรายินดีจะทำ ไม่มีอะไรมากกว่านี้ ดังนั้น ต้องช่วยกันดูว่ามีอะไรที่รัฐบาลยังไม่ได้ทำ เช่น การส่งมอบพื้นที่ เป็นต้น โดยขณะนี้รัฐบาลได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว ซึ่งขณะนี้สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ประมาณร้อยละ 72 เหลือร้อยละ 28 ที่รอดูการย้ายสาธารณูปโภค และการบุกรุก”

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ทั้งนี้ ในวันที่ 10 ตุลาคมนี้ จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและตนเป็นรองประธาน รวมถึงปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ก็คงมีการดำเนินการ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะโครงการนี้ เนื่องจากในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) มีหลายโครงการย่อยอยู่ในนั้น เพื่อจะดูว่าจะทำอย่างไรให้ดำเนินการตามบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ ในพื้นที่ร้อยละ 72 นั้น ทางผู้ชนะการประกวดราคา ซึ่งเป็นคู่สัญญา คงต้องใช้เวลาในการเคลียร์เรื่องส่งมอบพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี

“ผมจึงคิดว่าทุกอย่างจะทันตามกรอบเวลา เนื่องจากหลังจากที่คณะอนุกรรมการมีการประชุม จะได้ดูว่าส่วนรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่มีสาธารณูปโภคอยู่ในโครงการ เขามีแผนการอย่างไร หากไม่สามารถดำเนินการได้ทัน จะเปิดให้มีการขยายเวลาได้อยู่แล้ว และไม่มีเบี้ยปรับ ถือเป็นหลักปกติในการปฏิบัติงาน”

เมื่อถามว่าประชาชนสามารถมั่นใจได้เต็มที่ว่าโครงการดังกล่าวจะเดินหน้า นายศักดิ์สยามกล่าวว่า โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีบัญชาว่าเรื่องนี้ต้องเดินหน้า เพราะจะเกิดประโยชน์แก่ประเทศไทย และต้องพูดเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา และโปร่งใส อะไรที่รัฐดำเนินการถูกต้องแล้วต้องทำต่อไป ส่วนอะไรที่ภาคเอกชนสงสัย เราจะอธิบายให้ฟัง และช่วยกันเพื่อให้โครงการนี้เดินหน้าได้

เมื่อถามว่าจะมีการขยายกำหนดการลงนามในวันที่ 15 ตุลาคมนี้หรือไม่ นายศักดิ์สยามกล่าวว่า เรื่องการลงนามนั้น คณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ก็บอกไปเรียบร้อยแล้ว ว่าเขาเจรจาตามกรอบ RFP ครบถ้วนแล้ว ขณะนี้จะต้องเลื่อนออกไปอีก 10 วัน เนื่องจากบอร์ดรถไฟ (รฟท.) ได้ลาออกทั้งคณะ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อไปดูในวาระการพิจารณา กลับพบว่าบอร์ด รฟท. ยังไม่ได้มีการประชุมเรื่องนี้ จึงไม่สามารถนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ จึงต้องมีการแต่งตั้งบอร์ดรฟท.ชุดใหม่ขึ้นมาก่อน ขณะเดียวกัน ได้เรียนให้นายกรัฐมนตรีทราบแล้ว พร้อมมีบัญชาให้รีบดำเนินการ ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) อยู่ระหว่างเสนอชื่อบอร์ด รฟท. ชุดใหม่ และจะส่งกลับไปกระทรวงคมนาคม พิจารณาภายในสัปดาห์นี้ ก่อนตนจะนำเข้าสู่ ครม.พิจารณาในวันที่ 15 ตุลาคมนี้

เมื่อถามอีกว่า การแต่งตั้งบอร์ดใหม่จะกระทบในการเดินหน้าโครงการหรือไม่นั้น นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ตนคิดว่าไม่ส่งกระทบ เพราะเป็นขั้นตอนตามกฎหมายที่ต้องดำเนินการตาม RFP ในข้อ 63 ระบุชัดเจนว่า กฎหมายที่ต้องดำเนินการ นอกจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก็ต้องมีกฎหมายไทยเองที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายรถไฟ ส่วนการยืดระยะเวลาลงนาม ออกไปอีก 10 วัน ยืนยันไม่ผลกระทบ เพราะการยื่นราคาของผู้เสนอราคา เปิดให้ยื่นเสนอราคาได้จนถึงวันที่ 7 พฤศจิกายน

“สำหรับการลาออกของบอร์ด รฟท. เป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดถึงว่าจะมีการลาออก เพราะคณะกรรมการคัดเลือก เพิ่งจะมีการประชุมเมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา และวันที่ 30 กันยายน ได้ออกหนังสือแจ้งการลงนามให้แก่ผู้ชนะประกวดราคา ต่อมาเวลา 11.00 น. วันที่ 1 ตุลาคม เมื่อผู้ชนะการประกวดราคามารับหนังสือ ปรากฎว่าบอร์ด รฟท.กลับลาออกในวันเดียวกัน เราจึงต้องดำเนินการต่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่หากไม่มีบอร์ด รฟท. เราก็ไม่สามารถนำเรื่องนี้ให้ ครม.รับทราบได้” นายศักดิ์สยามกล่าว

เมื่อถามถึงสาเหตุการลาออกของบอร์ด รฟท. ในช่วงที่จะมีการลงนามสัญญา นายศักดิ์สยามกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องถามบอร์ด เพราะตนพยายามยับยั้งแล้ว

เมื่อถามอีกว่าการขยายเวลา 10 วันนั้น แม้ตามสัญญาเดิมระบุให้ส่งมอบพื้นที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 แต่ล่าสุดทางภาคเอกชนที่ได้รับงานขอให้ส่งมอบพื้นที่ร้อยละ 100 นั้นก่อนการลงนาม นายศักดิ์สยามกล่าวว่า จะต้องไปดูในเงื่อนไข RFP ว่าระบุว่าอย่างไร ซึ่งคิดว่าคณะกรรมการคัดเลือก ได้ดูเรียบร้อยแล้วว่าการส่งมอบพื้นที่อยู่ในแผนอย่างไร ซึ่งทางคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษญกิจพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) ได้ตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อศึกษารายละเอียดไปพร้อมกัน ขอให้อย่ากังวล เรื่องนี้ต้องเร่งรัด เพราะสำคัญกับประเทศมาก

ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการคัดเลือกยังอยู่ระหว่างการจัดทำหนังสือไปแจ้งบริษัท ในการลงนามสัญญาใหม่อีกครั้ง เดิมกำหนดวันที่ 24 ตุลาคม แต่เนื่องจากเป็นวันสำคัญ จึงกำหนดให้เป็นวันที่ 25 ตุลาคมนี้

“คิดว่าการขยายเวลา กลับมีเวลาให้ทางภาคเอกชนได้ตรวจสอบเรื่องเอกสารให้เรียบร้อยครบถ้วน อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าการส่งมอบพื้นที่ร้อยละ 72 นั้น เรียนว่ามีความพร้อมในการส่งมอบพื้นที่อยู่แล้ว ไม่ใช่แค่พร้อม แต่ยังรวมถึงจะมีนำแผนที่การก่อสร้างทั้งหมดในร้อยละ 72 นั้นอยู่บริเวณใดบ้าง ในที่ประชุมคณะอนุกรรมการวันที่ 10 ตุลาคมนี้” นายศักดิ์สยาม กล่าวและว่า สำหรับโครงการดังกล่าว จะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี บวกเวลาในการมอบพื้นที่ รวมเป็น 6 ปี จึงมีเวลาพอ โดยคิดว่าจะบริหารเรื่องนี้ โดยจะใช้หลักเดิมที่กระทรวงคมนาคมเคยบริหารในการก่อสร้างโครงการมอเตอร์เวย์สายใต้ ซึ่งขณะนั้นได้รับเงินจากไจก้า ก็สามารถเอามิติปัญหา 7 เรื่องของตนมาดำเนินการ จึงคิดว่าน่าโครงการจะดำเนินการได้

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ในวันที่ 15 ตุลาคม จะมีการนำเรื่องโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน เข้าสู่ครม.ด้วยให้พิจารณาเห็นชอบงานสัญญา 2.3 (งานระบบ) มูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เพราะเรื่องนี้จะนำเข้าสู่ในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 อีกด้วย

อนุทิน หลังพิงฝา RFP โยนบอร์ดรฟท. เซ็นไม่ทัน 7 พ.ย. ต้องรับผิดชอบ โอด ถูกมองกลั่นแกล้ง
วันที่ 8 ตุลาคม 2562

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำกับกระทรวงคมนาคมกล่าวถึงการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ภายหลังเลื่อนการลงนามจากวันที่ 15 ต.ค. เป็นวันที่ 25 ต.ค. ว่า เนื่องจากคณะกรรมการการรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (บอร์ดรฟท.) ลาออกทั้งคณะ ทั้งที่รู้ว่าจะมีการเซ็นสัญญาโครงการฯ ในวันที่ 15 ต.ค.62 ซึ้งถ้าเกิดปัญหาบอร์ดรฟท.ต้องรับผิดชอบด้วย เพราะทุกอย่างต้องเกิดขึ้นวันที่ 7 พ.ย. ซึ่งเป็นกรอบเวลาการกำหนดวันยืนราคา ขณะนี้อยู่ระหว่างคัดเลือกบอร์ดรฟท.ชุดใหม่ โดยจะมีการเสนอนายกรัฐมนตรีตั้งบอร์ดรฟท.ชุดใหม่เห็นชอบ ซึ่งยังอยู่ในระยะเวลายืนราคาในวันที่ 7 พ.ย.62 ของผู้เสนอราคา

“ตราบใดที่สามารถลงนามได้ก่อนวันที่ 7 พ.ย. ไม่มีปัญหา แต่ถ้าพ้นจากวันที่ 7 พ.ย.จะเกิดความเสียหายและรับผิดชอบกันไม่ไหวนะ แต่ถ้าเกินวันที่ 7 พ.ย.ต้องแน่ใจว่า รัฐทำทุกอย่างที่สามารถทำได้แล้ว”

“ทุกอย่างเป็นไปตามเงื่อนไขการร่างข้อเสนอ (Request for Proposal : RFP) นี่เป็นศัพท์ใหม่นะ ผมเคยได้ยินแต่ TOR แต่มีคนมากระซิบว่าก็เหมือนกัน เป็นคุณสมบัติที่ทุกคนต้องรับทราบเมื่อตัดสินใจที่จะเข้ามาประมูลงานภาครัฐ”


นายอนุทินกล่าวว่า รัฐสามารถส่งมอบพื้นที่ได้ทันที 72 % เป็นไปไม่ได้ที่จะรอให้ส่งมอบพื้นที่ให้ครบก่อน 100 % ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่ไต้องสร้างกันพอดี

“เรื่องการรื้อสาธารณูปโภคพื้นฐานใน RFP ก็เขียนไว้อยู่ว่า ใครเป็นคนรับผิดชอบ ตอนนี้ไม่ต้องเจรจาอะไรเลยก็ได้ ให้ทุกฝ่ายยึด RFP เป็นที่ตั้งและปฏิบัติตามนั้นทุกประการก็ทำได้”

“ถ้าเกินกว่าวันที่ 7 พ.ย. ยังเซ็นสัญญาไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ถ้าเขาขยายก็ยึด (เงินประกัน 2,000 ล้านบาท) ไม่ได้ แต่ถ้า รฟท.พร้อม สัญญาครบหมดแล้ว แล้วไม่มีเซ็น เออ อย่างนี้สิถึงจะยึด เอางี้ ถ้าทุกคนทำตามเงื่อนไข RFP ก็จะไม่มีคำถามพวกนี้ สิ่งที่ดีที่สุดคือ อย่าหลุดจาก RFP”

นายอนุทินกล่าวว่า ความจริงวันนี้เอกชนไม่ควรขออะไรที่นอกเหนือจาก RFP เพราะวันนี้มีฝ่ายตรวจสอบ นี่เป็นรัฐบาลที่ถูกตรวจสอบได้ตลอดเวลา กระทำสิ่งใดให้เห็นใจฝั่งรัฐด้วยเพราะการทำอะไรที่นอกเหนือที่กำหนดไว้เสี่ยงต้องการกระทำผิดทั้งนั้น แล้วใครจะมาช่วยเมื่อถึงเวลานั้น”

“เราไม่ได้บีบบังคับใครให้มามาประมูล ทุกคนซื้อซองประมูลเสียเงินเป็นล้าน และมี RFP บอกว่านี่ คือ TOR นี่คือเงื่อนไขการประมูล คุณต้องทำอย่างนี้ 1 2 3 4 5 ต้องทำอย่างนี้ทั้งสิ้น ขาดก็ไม่ได้ เกิดก็ไม่ได้ ช่วยเหลือตามที่กฎหมายกำหนด”

“รัฐผิด RFP หรือเปล่า ทั้งสองฝ่ายยอมรับ ไม่ใช่เฉพาะออกชนอย่างเดียว รัฐก็ต้องทำตามด้วย คณะกรรมการคัดเลือกคุยกันมาโดยตลอด เซียนเหยียบเมฆทั้งนั้นอยู่ตรงนั้น ก็ไม่มีอะไรที่ขาด”

“ไม่ต้องกังวลว่าผมเข้ามากลั่นแกล้ง ทุกวันนี้ผมเร่งในส่วนของรัฐ ปกติเอกชนประมูลโครงการรัฐได้ มีแต่เอกชนจะวิ่งมาหารัฐ มาถามว่าเมื่อไหร่จะเซ็นสัญญา แต่นี่มีแต่ผมบอกว่า เซ็นสัญญาเถอะครับ แล้วผมกลั่นแกล้งตรงไหนและผมไม่ได้บีบให้บอร์ดรฟท.ออก”


“อนุทิน” ปัดบีบบอร์ดรฟท.ไขก๊อก เปรียบพระจะสึกห้ามไม่ได้
วันที่ 8 ตุลาคม 2562

วันที่ 8 ต.ค.62 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาลถึงการเลื่อนเซ็นสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินว่า สาเหตุที่เซ็นสัญญาไม่ได้เนื่องจากคณะกรรมการ (บอร์ด) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ลาออก ซึ่งเป็นการลาออกทั้งที่รู้ว่าจะมีการลงนามในรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งให้สัมภาษณ์มาโดยตลอดว่าผู้ที่จะกำหนดวันที่จะลงนามในสัญญาได้แน่นอนคือ รฟท. แต่เมื่อขณะนี้ไม่มีบอร์ด รฟท.เราก็ต้องตั้งบอร์ดก่อน โดยรายชื่อได้มีการส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

“การลาออกของบอร์ดรถไฟ ไม่ได้มีการกดดัน หรือบีบให้ลาออก มีแต่บีบให้อยู่ก่อน ซึ่งบางคนก็ให้เหตุผลว่าต้องภารกิจในด้านอื่นๆ เหมือนที่บอกนั่นแหละว่าพระจะสึก คนจะคลอด บอร์ดจะออก ห้ามกันไม่ได้”นายอนุทิน กล่าว


Last edited by Wisarut on 09/10/2019 11:35 am; edited 2 times in total
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44330
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 09/10/2019 10:16 am    Post subject: Reply with quote

รายงาน: ส่งมอบพื้นที่ 'ไฮสปีด' ก้างตำคอ รฟท.
ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2562

อนุวัฒน์ โพธิ์ทอง

เส้นตายเซ็นสัญญาโครง การรถไฟความ เร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วันที่ 15 ตุลาคม 2562 ระหว่าง กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร เป็นหมันอีกระลอก เมื่อนายศักดิ์ สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประกาศเลื่อนลงนาม ออกไปเป็นวันที่ 25 ตุลาคม 2562 โดยอ้างคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ดรฟท.) ลาออกทั้งคณะ จึงต้องแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมา

อย่างไรก็ตามการยื้อลงนาม นับครั้งไม่ถ้วนเกิดจากปัญหาส่งมอบพื้นที่ ที่ล่าสุดเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดหน้าชนภาครัฐ ในงานเปิดตัวหนังสือ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมาจับใจความได้ว่า "การทำพีพีพี ไฮสปีด รัฐต้องร่วมกับเอกชน ถ้าเสี่ยงต้องเสี่ยงด้วยกัน"

ขณะฝั่งของ รฟท. นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สินรักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย เผยว่า ได้วางกำหนดการส่งมอบที่ดิน 72% ภายใน 1 ปี หลังลงนามในสัญญาร่วมลงทุน เพื่อให้เอกชนเริ่มก่อสร้างโดยขณะนี้ คณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)เห็นชอบให้กระทรวงพลังงานเร่งรัดการรื้อย้ายท่อก๊าซยาว 12 กม. ยกเสาไฟฟ้าแรงสูง 16 จุด กระทรวงมหาดไทยเร่งรัดย้ายท่อประปาขนาดใหญ่ยาว 2 กม. และกระทรวงคมนาคมโดย รฟท.ใช้สิทธิ์เร่งรัดให้ย้ายท่อน้ำมันของบริษัทเอกชน ระยะทาง 44 กม.รวมทั้งเร่งรัด พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน

จากการบอกเล่าถึงความคืบหน้าดังกล่าวชี้ชัดได้ว่า หลากหลายกระทรวงเข้ามาช่วยกันผลักดันให้โครงการนี้เริ่มดำเนินการ เพราะนอกจากสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนโดยเฉพาะในมิติของการคมนาคมขนส่ง

แล้วอะไรคือสาเหตุหลักที่ทำให้กลุ่มซีพีไม่จดปากกา แรกเริ่มอาจคาดเดาในเรื่องของเงินทุน แต่ล่าสุดจากการสอบถามแหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า สิ่งที่กลุ่มซีพีมีความกังวลคือการส่งมอบที่ดิน เพราะมีอุปสรรคในเรื่องของการรื้อย้ายสาธารณูปโภคต่างๆ และการบุกรุกของประชาชน ทำให้ไม่สามารถเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ หรือถ้าก่อสร้างได้ ก็จะทำได้เป็นจุดๆ แล้วก็ต้องหยุดไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้อีกซึ่งจะทำให้กลุ่มซีพีต้องแบกรับดอกเบี้ยเงินกู้ซึ่งเป็นภาระด้านต้นทุนที่สูงอยู่แล้วเพิ่มมากขึ้น

สำหรับพื้นที่อุปสรรคที่ดูแล้วยังเป็นปัญหาหลากหลายประเด็น ยกตัวอย่างเช่น เสาตอม่อของโครงการโฮปเวลล์ สายส่งไฟฟ้าแรงสูง 230 KV ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) ท่อส่งน้ำมันใต้ดินขนาด 14 นิ้ว เพื่อใช้ส่งน้ำมันไปในสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ของบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (Fuel Pipeline Transportation Limited : FPT) ซึ่งจะต้องรื้อย้าย เพื่อให้กลุ่มซีพีเข้ามาทำการเปิดหน้าดินเพื่อสร้างอุโมงค์ วิ่งแบบคลองแห้ง เป็นต้น

คงเป็นหนังม้วนยาว ที่ต้อง จับตาว่าในที่สุดแล้ว ไฮสปีด เชื่อม 3 สนามบินจะจบอย่างไร

'สิ่งที่กลุ่มซีพีมีความกังวลคือการส่งมอบที่ดิน เพราะมีอุปสรรคในเรื่องของการรื้อย้ายสาธารณูปโภคต่างๆ และการบุกรุกของประชาชน
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42625
Location: NECTEC

PostPosted: 09/10/2019 11:45 am    Post subject: Reply with quote

สั่งเลื่อนเซ็นสัญญา “ไฮสปีดเทรน”
ข่าวเศรษฐกิจ
ไทยรัฐฉบับพิมพ์
พุธที่ 9 ตุลาคม 2562 เวลา 08:33 น.

“แบ๊ว” บอร์ดลาออก-เปิดโอกาส “ซีพี” แจงปัญหา

“ศักดิ์สยาม” เลื่อนลงนามสัญญาไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน เหตุบอร์ดรถไฟลาออกยกชุด เปิดโอกาส “ซีพี” แสดงความเห็น

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ว่าได้เลื่อนกำหนดการลงนามในสัญญาในโครงการระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับบริษัท กิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ผู้ชนะการประมูลจากเดิมที่กำหนดให้ลงนามไม่เกินวันที่ 15 ต.ค. ออกไปเป็นวันที่ 25 ต.ค. หรือเลื่อนออกไปจากเดิม 10 วัน โดยอยู่ระหว่างให้คณะกรรมการคัดเลือกโครงการจัดทำหนังสือไปแจ้งบริษัทในกำหนดการลงนามสัญญาใหม่อีกครั้ง

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า เหตุจากคณะกรรมการ (บอร์ด) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ลาออกทั้งคณะ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา เนื่องจากการลงนามในสัญญาต้องได้รับอนุมัติจากบอร์ด จึงต้องมีการตั้งบอร์ด รฟท. ชุดใหม่ก่อน ขณะเดียวกันก็ได้แจ้งให้นายกฯทราบแล้วและมีบัญชาให้รีบดำเนินการโดยเร็ว โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) อยู่ระหว่างเสนอชื่อบอร์ด รฟท.ชุดใหม่กลับมาให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาในสัปดาห์นี้ เพื่อเสนอ ครม. วันที่ 15 ต.ค.
“นายกรัฐมนตรี ได้มีบัญชาว่าเรื่องนี้ต้องเดินหน้า เพราะจะเกิดประโยชน์แก่ประเทศไทย และต้องพูดเรื่องนี้อย่างตรงไป ตรงมา และโปร่งใส อะไรที่รัฐดำเนินการถูกต้องแล้วต้องทำต่อไป ส่วนอะไรที่ภาคเอกชนสงสัย เราจะอธิบายให้ฟัง และช่วยกันเพื่อให้โครงการนี้เดินหน้าได้ และบอร์ดอีอีซีได้ตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อศึกษารายละเอียดไปพร้อมกันด้วย ขอให้อย่ากังวล เรื่องนี้ต้องเร่งรัด เพราะสำคัญกับประเทศมาก” นายศักดิ์สยามกล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า การลาออกของบอร์ด รฟท. เป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดถึง และหากไม่มีบอร์ด รฟท. เราก็ไม่สามารถนำเรื่องนี้ให้ ครม.รับทราบได้ และต้องถามบอร์ดว่า สาเหตุลาออกเพราะอะไรทั้งที่ตนก็ได้พยายามยับยั้งแล้ว ต่อกรณีที่นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ขอให้รัฐบาลร่วมรับความเสี่ยงกับภาคเอกชนในการลงทุนโครงการนี้ด้วย นายศักดิ์สยามกล่าวว่า เป็นสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของนายธนินท์ แต่รัฐบาลก็จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย และเงื่อนไขที่กำหนดในเอกสารคัดเลือกเอกชน RFP ซึ่งในข้อ 50.1 กำหนดว่า ผู้ยื่นเสนอจะต้องรับภาระความเสี่ยง

“เรื่องนี้คงไม่ใช่ปัญหา เพราะเขาสามารถแสดงความคิดเห็นได้ อะไรที่รัฐบาลจะสามารถทำให้ผู้ประกวดราคาดำเนินการได้ตามกฎหมาย และตาม RFP แล้ว เรายินดีจะทำ ไม่มีอะไรมากกว่านี้ ดังนั้นต้องช่วยกันดูว่ามีอะไรที่รัฐบาลยังไม่ได้ทำ เช่น การส่งมอบพื้นที่ ซึ่งขณะนี้สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ประมาณ 72% เหลือ 28% ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวแล้วเพื่อดูแลการย้ายสาธารณูปโภค และการบุกรุกพื้นที่” นายศักดิ์สยามกล่าว

ทั้งนี้ในวันที่ 10 ต.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการที่ดูแลเรื่องการรื้อย้ายสาธารณูปโภคที่อยู่ในเส้นทาง การก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่ง รมว.คลัง เป็นประธาน รมว.อุตสาหกรรม และตน เป็นรองประธาน รวมถึงปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ก็คงมีการดำเนินการ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะโครงการนี้ เนื่องจากในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) มีหลายโครงการย่อยอยู่ในนั้น ก็ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรให้ดำเนินการตามบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้.
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42625
Location: NECTEC

PostPosted: 09/10/2019 11:57 am    Post subject: Reply with quote

EEC ทำเป็นเล่นไปจะพังก็เพราะ “อนุทิน”! Conflict of Interest บี้ไฮสปีดเทรน เปลี่ยนนโยบายไป-มาเมกะโปรเจกต์ ทำลายความเชื่อถือประเทศ
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เผยแพร่: พุธที่ 9 ตุลาคม 2562 เวลา 05:00
ปรับปรุง: พุธที่ 9 ตุลาคม 2562 เวลา 10:11


ข่าวปนคน คนปนข่าว

**EEC ทำเป็นเล่นไปจะพังก็เพราะ “อนุทิน”! Conflict of Interest บี้ไฮสปีดเทรน เปลี่ยนนโยบายไป-มาเมกะโปรดจกต์ ทำลายความเชื่อถือประเทศ แถมยังดิสเครดิตผลงานสร้างมากับมือของ “ลุงตู่” ที่วาดหวังจะให้เป็น “หัวใจ” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจซะงั้น

“เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีสาธารณสุข ช่วงนี้ Top From หลายเรื่อง ทั้งกัญชา และ แบนสารพิษ แต่ในความเป็น “พ่อค้า” ที่มี “Conflict of Interest” ก็กำลังถูกพูดถึงไม่แพ้กัน

ความที่ว่า ภูมิใจไทย ได้เค้กมาคุมคมนาคม และ มีเมกะโปรเจกต์ในการดูแลเกือบสองล้านล้าน “เสี่ยหนู” จึงถูกจับตามองเป็นพิเศษ งานนี้จะผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ นโยบายนี้จะเพื่อ “ส่วนรวม” หรือ “ส่วนตัว” เวลานี้มันเริ่มมีคำถามมาเรื่อยๆ

จะไม่ให้ถูกตั้งคำถามได้อย่างไร อย่างเอกชนเขามีกฎกติกาเวลาประชุมบอร์ดบริหาร อะไรที่เกี่ยวข้องกับกรรมการยังต้องลุกออกจากห้อง แต่ อนุทิน กับ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลูกพรรคของอนุทิน นอกจากจะไม่ลุกแล้วยังยกมือขอ “อำนาจ” เพื่อจะเข้ามาเปลี่ยนแปลง ทบทวน จะขอมากำกับคู่แข่งเอง

อนุทิน ชาญวีรกูล
อนุทิน ชาญวีรกูล

ต้องไม่ลืมว่า อนุทิน และครอบครัวชาญวีรกูล นั้นเป็นเจ้าของ ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น บริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ เมื่อไปไล่บี้ “รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน” ที่กลุ่ม CPH ชนะประมูลแบบนู้นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ให้ คนก็เลยอดคิดไม่ได้ว่า นี่เป็น “สมการอำมหิต”ที่คิดจะกินรวบคนเดียวหรือไม่ ก็เพราะ CPH เป็นกิจการร่วมค้าที่มีทั้ง ช.การช่าง และ อิตาเลียนไทย

แบล็กลิสต์ 2 รายนี้ได้ ซิโน-ไทยและพันธมิตรก็ไร้คู่แข่ง เบาตัว รัฐบาลเปิดประมูลเมกะโปรเจกต์ไหนจะได้อีกหลายๆเด้ง เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกที่อนุทิน ก็พูดดังๆ ว่า ต้องทบทวน ไม่เอา PPP ทั้งที่มีกฎหมายรองรับ แต่ตั้งใจมาแล้วจะ “แยกสัญญา” ซอยงานออกมา บอกว่า PPP เป็นเรื่องของรัฐบาลคสช. เมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามา คมนาคม ต้องทบทวน และ พิจารณาใหม่ได้ เอาความเห็นส่วนตัวไปล้มล้างมติบอร์ดPPP ที่กลั่นกรองมาจากหลายชั้น หลายขั้นตอน

ที่ฟังแล้วทะแม่งๆ คือ เหตุผลที่ว่า เศรษฐกิจแบบนี้ต้องแยกสัญญา จะได้กระจายรายได้ ไปทั่วๆ เดี๋ยวคอยดูคงจะมีคนแซว เพื่ออะไร กระจายเข้ากระเป๋าใคร?

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

ทั้งเรื่อง ไฮสปีดเทรน และ รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก มีคนบอกว่า งานนี้ อนุทิน - ศักดิ์สยาม ทั้งสองคน ถ้าจะไม่ให้เกียรติ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่นั่งเป็นประธาน PPP แทน นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่เป็นไร แต่ควรตระหนัก ว่า การเปลี่ยนนโยบายรัฐ พลิกไปพลิกมา คือ การทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทย!

ทำไมถึงเป็นแบบนั้น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ถือ เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ไม่ต้องพูดถึง อีอีซี นั้นเป็นผลงานโบแดงที่จับต้องได้ของรัฐบาลคสช.ภายใต้การนำของ ลุงตู่

เครดิตนี้ต้องบอกว่า ทีมเศรษฐกิจที่มีรองนายกฯสมคิด ณ เวลานั้นปั้นขึ้นมาด้วยความยากลำบาก เพราะโจทย์ยาก ต้องดึงความเชื่อมั่น และ ความน่าเชื่อให้ประเทศกลับคืนมา เมื่อทำให้เกิดขึ้นได้ก็ต้องวาดหวังกันเอาไว้สูง

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

“ อีอีซี”พอมาถึงปัจจุบัน มีการลงทุนจากเอกชน โดยเฉพาะทุนที่หนีสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐมาใช้ไทยเป็นฐานที่มั่นเข้ามาจำนวนมาก ไม่นับรวม การพัฒนาเมืองสนามบินอู่ตะเภา โครงการท่าเรือ และ อื่นๆอีกมากที่จะเป็น “หัวใจ” ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ถ้าไฮสปีดเทรนมีปัญหา อนุทิน ทำออกมามีข้อครหาเตลือบแคลงสงสัยกันอย่างที่ว่ามา ย่อมกระทบไปถึงอีอีซีอย่างเลี่ยงไม่พ้น กระทบไปถึงความเชื่อมั่น และ ความน่าเชื่อถือของประเทศที่มี

ในสายตาของนักลงทุนตอนนี้เขาก็เริ่มมอง เริ่มคิดกันแล้วว่า โครงสร้างพื้นฐาน อีอีซี รถไฟความเร็วสูงเชื่อม3 สนามบินจะไปจบลงตรงไหน

การเมืองที่มัวแต่"เคาะกะลา" พยายามจับ"ยาพิษ" กรอกปากกลุ่มคู่แข่งอยู่ตอนนี้ อย่าทำเป็นเล่นไป ระวัง อีอีซี ทั้งหมดทั้งมวลจะพังลงก็เพราะอนุทิน!
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42625
Location: NECTEC

PostPosted: 09/10/2019 12:01 pm    Post subject: Reply with quote

จับตาล้มไฮสปีด-รื้อสายสีส้ม-ซิโน-ไทย กินสองเด้ง
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เผยแพร่: พุธที่ 9 ตุลาคม 2562 เวลา 05:41
ปรับปรุง: พุธที่ 9 ตุลาคม 2562 เวลา 11:47



“เสี่ยหนู” รับส่วนตัวอยากรื้อสัญญา “รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก” เป็น “โยธา-เดินรถ” วิจารณ์หึ่งเปลี่ยนแนวทาง “รบ.ประยุทธ์ 1” วาง “สมการอำมหิต” เข้าทาง “ซิโน-ไทย” ที่รอกิน “สองเด้ง” เสี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อน

“พระจะสึก คนจะคลอด บอร์ดลาออก มันห้ามกันไม่ได้ ทั้งนี้ ไม่ได้ลำบากใจ เพราะเมื่อลาออกก็ต้องตั้งใหม่ อย่างไรเสียโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินก็ต้องเกิด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความหวังกับเรื่องนี้มาก”

คำให้สัมภาษณ์ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลกระทรวงคมนาคม ต่อกรณีที่คณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ลาออกยกชุด จนมีผลต่อการลงนามในสัญญาสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง อู่ตะเภา สุวรรณภูมิ) ระยะทาง 220 กิโลเมตร (กม.) มูลค่าการลงทุนกว่า 2.24 แสนล้านบาท ระหว่าง ร.ฟ.ท.กับกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) เอกชนผู้ชนะประมูล

ส่งผลให้ต้องเลื่อนกำหนดเส้นตายการเซ็นสัญญาจากวันที่ 15 ต.ค. 62 ไปเป็นวันที่ 25 ต.ค. 62 โดยระบุว่าเพื่อให้มีบอร์ด ร.ฟ.ท.ชุดใหม่มาปฏิบัติหน้าที่แทนเสียก่อน

น่าสนใจถึงสาเหตุที่แท้จริงของการเลื่อนเส้นตายออกไปจากเดิม 10 วัน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทั้ง นายอนุทิน และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ในฐานะ รมว.คมนาคม ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า กลุ่ม CPH ต้องมาลงนามภายในวันที่ 15 ต.ค.นี้ มิเช่นนั้นจะถูกริบค่ามัดจำจำนวน 2 พันล้านบาท และจะขึ้นบัญชีดำ (Blacklist) บริษัทในกลุ่ม CPH ไม่ให้เข้าประมูลงานภาครัฐทั้งหมดด้วย

ก่อนหน้านี้เพียง 1 วัน นายศักดิ์สยามเองก็เพิ่งออกมากดดันกลุ่ม CPH อย่างหนัก และตอบโต้นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ที่ระบุในทำนองว่า โครงการไฮสปีด 3 สนามบินมีความเสี่ยงสูง แต่เชื่อว่ารัฐมีความเข้าใจจะทำให้โครงการผ่านไปได้ แต่ด้วยเงื่อนไขยังไม่เป็นไปตามบันทึกข้อตกลง (TOR) จึงเห็นว่าภาครัฐต้องมาร่วมรับความเสี่ยงด้วย

โดยนายศักดิ์สยามยืนยันว่า ภาครัฐไม่สามารถช่วยรับความเสี่ยงได้ เพราะอยู่นอกเหนือเงื่อนไขในเอกสารประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน (RFP) กำหนด โดยข้อที่ 50.1 ระบุว่าผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องรับภาระความเสี่ยง และมั่นใจว่าเอกชนจะต้องมีการอ่าน RFP อย่างรอบคอบแล้ว ก่อนมายื่นข้อเสนอโครงการระดับแสนล้านบาท

“ยืนยันว่าหากวันที่ 15 ต.ค. 62 ผู้รับงาน คือ กลุ่ม CPH ยังไม่มาลงนามในสัญญาก็จะต้องถูกริบหลักประกันซอง ซึ่งมีการกำหนดเงื่อนไขนี้ไว้ในข้อ 56.3 ของ RFP ส่วนจะมีการขึ้น Black list หากกลุ่ม CPH ไม่มาลงนามตามกำหนดได้หรือไม่นั้น ได้มอบหมายให้ นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในฐานะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ไปพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่อย่างไร” รมว.คมนาคม ว่าไว้

ชั่วข้ามคืน ท่าทีของนายศักดิ์สยามกลับดูอ่อนลง โดยยอมรับว่าต้องขยายระยะเวลาลงนามในสัญญาไปอีก 10 วัน เนื่องจากบอร์ด ร.ฟ.ท.ลาออกทั้งชุด

“การลงนามตามกำหนดการเดิมในวันที่ 15 ต.ค.นี้จะส่งผลให้สัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะทันที เนื่องจากหากไม่มีบอร์ด ร.ฟ.ท. สัญญาจะไม่มีผลผูกพันกับ ร.ฟ.ท.ทันที จากกรณีดังกล่าวจึงถือเป็นสิทธิที่ผู้ว่าจ้าง คือ ร.ฟ.ท.สามารถที่จะแจ้งเลื่อนวันเซ็นสัญญาได้ สาเหตุมาจากความจำเป็น และสั่งการให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ จัดทำหนังสือไปแจ้งกลุ่ม CPH ในกำหนดการลงนามสัญญาใหม่วันที่ 25 ต.ค.นี้อีกครั้งแล้ว”

ทั้งที่กรณีบอร์ด ร.ฟ.ท.ชุดที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้ยื่นหนังสือลาออกทั้งชุด และมีผลไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นายศักดิ์สยาม หรือกระทั่งนายอนุทิน ไม่ได้หยิบยกขึ้นมาพูดถึง และมีท่าทีสอดรับกันในการกดดันให้กลุ่ม CPH มาเซ็นสัญญาตามกำหนดมาโดยตลอด

เมื่อถอดรหัสคำให้สัมภาษณ์ล่าสุดของนายอนุทินที่มีการกล่าวอ้างถึงนายกฯ รวมทั้งนายศักดิ์สยามที่ว่า “ได้เรียนให้นายกรัฐมนตรีทราบแล้ว โดยนายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้รีบดำเนินการโดยเร็ว” ก็พออนุมานได้ว่า กรณีบอร์ด ร.ฟ.ท.ลาออกนั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ หากแต่บัญชาของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ให้ความสำคัญโปรเจกต์นี้เป็นพิเศษ มากกว่าที่ทำให้สองคู่หูจากค่ายภูมิใจไทยปรับท่าที

คล้ายว่า กระทรวงคมนาคมภายใต้กำกับของนายอนุทิน และนายศักดิ์สยาม จะ “ยอมถอยหนึ่งก้าว” เพื่อคลี่คลายภาวะตึงเครียด ผ่อนปรนเวลาการตัดสินใจเพิ่มอีก 10 วัน เพื่อให้กลุ่ม CPH ได้ตรึกตรอง แล้วโครงการเดินหน้าต่อได้

แต่อีกมุมก็ไม่ได้โอนอ่อนให้กับข้อเรียกร้องของกลุ่ม CPH โดยเฉพาะเรื่องการส่งมอบพื้นที่ และกำหนดการส่งมอบมอบพื้นที่ให้ครบทั้ง 100% แต่อย่างใด เพราะ “ในระหว่างบรรทัด” นายอนุทินเองก็ระบุว่า ที่ข้อเท็จจริงขณะนี้คือ ร.ฟ.ท.สามารถส่งมอบได้ 72% แล้ว ก่อนมาซื้อซองประมูล ฝ่ายเอกชนต้องเห็นเงื่อนไขแล้ว เรียกว่า RFP เท่ากับรับทราบเงื่อนไขทั้งหมด และเราไม่เคยขอให้ใครมาประมูล แต่เอกชนจ่ายเงินเป็นล้านบาทซื้อซองประมูลเอง ที่ผ่านมาไม่แค่เอกชนต้องทำตามเงื่อนไข แต่รัฐก็ต้องทำ มาถึงตอนนี้ รัฐก็ทำตาม RFP แล้ว รัฐได้คุยกับเอกชนมาตลอด และรัฐทำได้ไม่ขาดตกบกพร่อง แต่ถ้าเอกชนไม่เข้าใจก็ย้อนไปดู RFP แล้วทำตามนั้น และถ้า 25 ต.ค. เอกชนไม่มาก็มีขั้นตอนต่อไป ขอย้ำว่า ถ้าโครงการนี้ไม่เกิดจะกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยแน่นอน

ต้องยอมรับว่า นายอนุทินถือเป็นผู้ที่รู้รายละเอียดเงื่อนไขของโครงการนี้ดีที่สุดคนหนึ่ง ไม่เพียงแต่ในฐานะรองนายกฯ กำกับกระทรวงคมนาคม แต่เป็นในฐานะที่เป็นทายาทและอดีตผู้บริหารใหญ่ของบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ที่เรียกกันคุ้มปากว่า “ซิโน-ไทย” บริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ที่มีรายได้เป็น 1 ใน 3 ของประเทศ

สำคัญตรงที่ STEC หนึ่งในพันธมิตรกลุ่ม BSR ที่ประมูลแพ้กลุ่ม CPH ในโครงการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่เสนอราคาไปสูงกว่าถึง 5 หมื่นกว่าล้านบาท เมื่อสัปดาห์ก่อน นายอนุทินในฐานะรองนายกฯ กำกับกระทรวงคมนาคม ยังเคยหลุดให้สัมภาษณ์ว่า “รู้สึกยินดีมากที่ได้กลุ่ม CPH เข้ามาประมูลเพราะเสนอต่ำกว่าราคากลาง และต่ำว่าคู่แข่งถึงประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท ราคาแบบนี้หาไม่ได้อีกแล้ว”

ถ้าพูดในมุมของภาครัฐคงเป็นคำพูดแสดงความยินดีจริงๆ แต่ถ้าพูดในมุมของ “ทายาทซิโน-ไทย” ก็คงเป็นอีกเรื่อง

เชื่อว่าการขยายเวลาเส้นตาย แต่ยังยืนยันจุดเดิมเช่นเดิมของฝ่ายกระทรวงคมนาคม คงไม่ได้ส่งผลให้สถานการณ์ดีขึ้นแต่อย่างใด เพราะอย่างไรกลุ่ม CPH ก็จำเป็นต้องยืนยันข้อเรียกร้องในการส่งมอบพื้นที่และกำหนดการส่งมอบพื้นที่ทั้ง 100% เนื่องจากมีผลต่อการหาแหล่งเงินกู้เพื่อมาลงทุน ด้วยเป็นโครงการที่สถาบันการเงินประเมินว่ามีความเสี่ยงสูงอยู่แล้ว

มาถึงขั้นนี้แล้ว สภาพของกลุ่ม CPH ก็ไม่ต่างจาก “ซดยาพิษ” ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเดินหน้าเซ็นสัญญา หรือจะถอนตัวออกจากโครงการ ก็อาจไม่ได้ถอนพิษออกจากตัว

เป็นที่ทราบกันว่า หากกลุ่ม CPH ผู้ชนะประมูลเลือก “ยกธงขาว” ถอนตัวจากโปรเจกต์นี้ “ส้มหล่น” ไปที่กลุ่ม BSR ที่มี “ซิโน-ไทย” ร่วมอยู่ด้วยในการเข้ามาเจรจากับภาครัฐแทน โดยสามารถยืนราคาเดิมที่เคยยื่นประมูลไว้ ขณะที่ค่าใช้จ่ายส่วนต่างหากมีการดำเนินโครงการนั้น กลุ่ม CPH ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

แต่หากกลุ่ม CPH “กลืนเลือด” เซ็นสัญญาไป โดยที่ภาครัฐยืนยันจุดยืนเดิม ก็ทำให้ต้องแบกความเสี่ยงในเรื่องการส่งมอบพื้นที่ ที่ส่งผลให้ดอกเบี้ยในการกู้เงินเพิ่มสูงขึ้น เพดานเงินกู้หรือพอร์ตเงินกู้ ทก็จะสูงขึ้นจากที่เคยประเมิน ทำให้พันธมิตรในกลุ่ม CPH แบกรับภาระเงินกู้บวกดอกเบี้ยกันแบบ “เต็มกราฟ”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสมาชิกในกลุ่ม CPH มี บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD), บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (CK) สองบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ผู้รับสัมปทานบริหารทางด่วนและเดินรถไฟฟ้า กับกระทรวงคมนาคม รวมอยู่ด้วย

เมื่อพอร์ตเงินกู้มาจมอยู่กับโปรเจกต์นี้ การจะไปในโครงการเมกะโปรเจกต์อื่นๆของกระทรวงคมนาคม ที่มีอยู่ในแผนร่วม 2 แสนล้าน ก็อาจจะเป็นไปไม่ได้อีก หากไม่มีการเคลียร์ “พอร์ตเงินกู้” ที่ไปจมอยู่กับไฮสปีด 3 สนามบิน

ถือเป็นการตัดคู่แข่งในวงการรับเหมาไปได้หลายราย ย่อมทำให้คู่แข่งรายอื่นทางสะดวกมากขึ้นนในการแข่งขันประมูลโครงการต่อๆไป ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มี “STEC - ซิโน-ไทย” รวมอยู่ด้วย

บังเอิญหรือตั้งใจไม่ทราบได้ โครงการสำคัญอีกโครงการหนึ่งของกระทรวงคมนาคม ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในช่วงนี้พอดิบพอดี นั่นคือ การสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตก (บางขุนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) วงเงิน 1.3 แสนล้านบาท ที่เดิมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ “บอร์ด PPP” ที่ได้เห็นชอบในหลักการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track ในรูปแบบ PPP Net Cost ตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 62

เหลือเพียงขั้นตอน กระทรวงคมนาคมนำเสนอต่อ ครม.เท่านั้น แต่กระทรวงคมนาคมขอนำโครงการไปทบทวน โดยมีการให้เหตุผลว่า ในที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา มีข้อสังเกตจาก กระทรวงการคลัง ที่ว่าหากรัฐลงทุนก่อสร้างงานโยธาในโครงการนี้เองจะถูกกว่า


รับกับท่าทีของ 2 รัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย ทั้งนายอนุทิน และนายศักดิ์สยาม ที่ให้ความเห็นออกมาเป็นระยะๆ ว่า ต้องทบทวนรูปแบบการลงทุน เพื่อให้รูปแบบเหมาะสมมากที่สุด โดยมี 2 ทางเลือก คือ รัฐร่วมทุนกับเอกชนในการก่อสร้างและเดินรถ ซึ่งเป็นแนวทางที่บอร์ด PPP อนุมัติไว้ กับให้รัฐลงทุนงานก่อสร้างโยธา เอกชนลงทุนงานเดินรถ

ล่าสุด นายอนุทินก็เผยไต๋ออกมาว่า “ส่วนตัวเสนอให้แยกงานกัน เอกชนดูแลงานเดินรถ รัฐดูแลงานโยธา เพราะทำแบบนี้มาตลอด ซึ่งไม่เคยเห็นปัญหา ทั้งยังเป็นการกระจายความเสี่ยง และกระจายรายได้มากขึ้น ให้เม็ดเงินหมุนเวียนกว้างที่สุด”

เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันกระหึ่มวงการรับเหมา ว่าเหตุที่ต้อง “แบ่งเค้ก” หรือ “ซอยสัญญา” แยกเป็น “ก่อสร้าง” หนึ่งสัญญา และ “ประมูลเดินรถ” อีกหนึ่งสัญญา เพื่อเอื้อประโยชน์กับ “เอกชนบางราย”

เพราะมีเงื่อนไขว่าเอกชนรายดังกล่าว มีความถนัดในงานโยธา แต่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการเดินรถมาก่อน

ท่าทีของ 2 รัฐมนตรีภูมิใจไทยใน 2 โปรเจกต์ยักษ์ จาก “ไฮสปีด 3 สนามบิน” มาถึง “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” กลายเป็น “สมการอำมหิต” แบบ “คนละเรื่องเดียวกัน” และอาจทำให้ “ทุนใหญ่บางเจ้า” เข้าวิน “สองเด้ง” ทันที

ขยาย “สมการอำมหิต” ให้เห็นภาพ หากกลุ่ม CPH เซ็นสัญญาไฮสปีดฯ ก็จะส่งผลให้ 2 ยักษ์ใหญ่ “ช.การช่าง-อิตาเลียนไทย” อ่อนกำลังในการเข้าร่วมแข่งขันในโครงการสายสีส้มได้ โดยเฉพาะหากมีการแยกสัญญาโยธา-เดินรถออกจากกัน ในทางกลับกันหากกลุ่ม CPH ไม่ลงนามตามกำหนด ก็เท่ากับตัด “ช.การช่าง-อิตาเลียนไทย” ที่โดนบัญชีดำออกจากสารบบ และ “BEM” ก็ออกเข้าร่วมประมูลในสัญญาเดินรถด้วย

ตามสมการนี้ เอกชนผู้ที่เตรียมเข้าร่วมประมูลในโครงการสายสีส้มก็ยิ้มกริ่ม โดยก่อนหน้านี้มีรายงานว่า กลุ่ม BSR ที่ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTS), บริษัท ราชกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (STEC) ให้ความสนใจโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นพิเศษอยู่เป็นทุน หลังจากพ่ายแพ้ให้กับกลุ่ม CPH ในโครงการไฮสปีด 3 สนามบิน

ยิ่งหากมีการซอยสัญญา เป็น “ก่อสร้าง-เดินรถ” ตามแนวทางรองนายกฯและรัฐมนตรีที่กำกับดูแล ก็ยิ่ง “แบ่งเค้ก” กันง่าย เพราะในเรื่องเดินรถนั้น นอกจาก BTS แล้ว ก็เห็นจะมีเพียง BEM ที่พอสมน้ำสมเนื้อกัน ขณะที่ในแง่งานโยธา เมื่อไร้ “ช.การช่าง-อิตาเลียนไทย” คงพูดไม่เกินเลยว่าเป็นการปูพรมแดงให้กับ “ซิโน-ไท”

หากเป็นไปตาม “สมการอำมหิต” นี้ คำถามย่อมมีว่าการที่นายอนุทินในฐานะทายาทและอดีตผู้บริหารซิโน-ไท เข้ามาปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินของ พล.อ.ประยุทธ์ ใน 2 โครงการสำคัญ แล้วบังเอิญว่าเป็น “ซิโน-ไทย” ที่ได้ประโยชน์ไปเต็มๆ

แบบนี้เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ท่านนายกฯ ประยุทธ์
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42625
Location: NECTEC

PostPosted: 09/10/2019 1:13 pm    Post subject: Reply with quote

"กมธ.คมนาคม" ชงสอบ รถไฟเชื่อม3สนามบิน
วันที่ 8 ตุลาคม 2562

“กมธ.คมนาคม สภาฯ” ชงสอบ “รถไฟเชื่อม3สนามบิน” บี้เอาข้อมูล-สัญญา-ทีโออาร์ เร่งให้เสร็จก่อนลงนามสัญญาจ้าง “กลุ่มซีพี” ขู่ยื่นซักฟอกหากพบทุจริต


วันที่ 8 ตุลาคม 2562 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า กมธ.ฯ ได้นัดประชุมวันที่ 10 ตุลาคมนี้ โดยมีวาระที่จะตรวจสอบโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน คือ สนามบินดอนเมือง, สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา และโครงการพัฒนาพื้นทีเขตเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี)



ทั้งนี้จะหารือเพื่อเรียกผู้ที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว อาทิ รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง, รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อให้มาชี้แจงรายละเอียด รวมถึงจะขอดูสัญญา และทีโออาร์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ส่วนผลการตรวจสอบจะได้ข้อสรุปหรือรายละเอียดก่อนที่กระทรวงคมนาคมจะลงนามสัญญาจ้างกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งและพันธมิตร หรือไม่นั้นตนไม่ทราบ

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวด้วยว่าหากการตรวจสอบของกมธ.ฯ คมนาคมทำแล้วเสร็จไม่ทันเวลาที่ลงนามสัญญา ฝ่ายสภาฯ อาจพิจารณาในประเด็นที่สามารถตรวจสอบเรื่องดังกล่าวในลำดับต่อไป เช่น การตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี หรือ นายกรัฐมนตรี หากพบการทุจริตหรือรายละเอียดที่ไม่โปร่งใส รวมถึงการยื่นญัตติเพื่อขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล หรือ ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปคณะรัฐมนตรีโดยไม่ลงมติเป็นต้น ทั้งนี้ช่องทางดังกล่าวจะทำได้เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้เปิดประชุมตามสมัยการประชุมแล้ว
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42625
Location: NECTEC

PostPosted: 09/10/2019 4:00 pm    Post subject: Reply with quote

ฉีกแนวอาเซียน …PPP ฉบับไทยแลนด์ “ศักดิ์สยาม” ชี้เอกชนต้องรับความเสี่ยงเองทั้งหมด

วันที่ 8 ตุลาคม 2562

บรรยากาศความน่าลงทุน เป็นสิ่งที่ประเทศต่าง ๆ พยายามสร้างเพื่อให้ประเทศนั้น ๆ สามารถดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ เข้ามาทำธุรกิจได้ กฎระเบียบต่าง ๆ จึงถูกลด ละ เลิก เพื่อหวังว่าการลงทุนจะย้ายจากประเทศหนึ่งมายังอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งทุกประเทศเห็นกำลังของภาคเอกชน ในการนำความสามารถมาช่วยภาครัฐทำโครงการสำคัญ ๆ ของประเทศ แต่ดูเหมือนประเทศไทยจะอยู่ในอาการเกร็ง เพราะไม่มีใครกล้าใช้อำนาจในการผลักดันโครงการขนาดใหญ่ให้ทะลุท่อ ต่างจาก PPP ในประเทศอื่น ๆ ล่าสุด นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ออกมาประกาศชัดรื้อการเจรจาทั้งหมด กลับไปเริ่มต้นนับ 1ใหม่ อ้าง RFP พร้อมขู่แบล็คลิสต์เอกชน และยึดเงินประกัน สร้างเอกลักษณ์ให้ PPP ไทย ต่างจากต่างประเทศอย่างไร ลองไปดูกัน

สิงคโปร์ เน้นการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในรูปแบบ PPP มานานแล้ว โดยมี Public Private Partnership Handbook Version 2 (2012) ที่ให้ความสำคัญกับการยืดหยุ่นทางกฎหมายและข้อเสนอ ทำให้เอกชนได้ประโยชน์สูงสุด เพื่อดึงดูดการลงทุน แข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ที่แย่งเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศ รวมถึงข้อเสนอพิเศษที่เปิดโอกาสให้เอกชนในการเข้ามาลงทุน และการนำความรู้และความสามารถในการแข่งขันของเอกชนในประเทศสิงคโปร์ รวมทั้งการบริหารจัดการการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ มาใช้กับโครงการภาครัฐ โดยกระทรวงการคลัง (MOF) ได้ตั้ง PPP Advisory ให้เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ PPP กำหนดกรอบนโยบายในการดำเนินโครงการต่าง ๆ และประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการนั้น ๆ

ทั้งนี้ GPE6 ของหน่วยงานเจ้าของโครงการจะทำงานร่วมกับ PPP Advisory ในการดำเนินโครงการให้สอดคล้องกับแนวทางที่กำหนด และ GPE จะสามารถดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ ได้ อนุมัติเงื่อนไขต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ โดยไม่จำเป็นต้องขออนุมัติจากรัฐบาลสิงคโปร์ก่อน ตัวอย่างโครงการ PPP ได้แก่ โครงการ Singapore Sports Hub สนามกีฬาแห่งชาติของสิงคโปร์และพื้นที่โดยรอบ รวม 350,000 ตารางเมตร งบประมาณการก่อสร้างประมาณ 1.3 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 1.03 พันล้านเหรียญสหรัฐ) สัญญาระยะเวลา 25 ปี

อินโดนีเซีย เน้นการดึงดูดการลงทุนในระดับภูมิภาคเช่นเดียวกัน โดยมีกฎระเบียบ PPP โดยเฉพาะ สำหรับให้สิทธิประโยชน์ ผ่อนปรนระเบียบ คือ Presidential Regulations No.13 (2010), No. 56 (2011) และ No.66 (2013) เป็นระเบียบที่ออกมาปรับปรุง Presidential Regulations No.67 (2005) มีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบคือ กระทรวงการวางแผนพัฒนาแห่งชาติ โครงการที่ผ่านการพิจารณาและเริ่มกระบวนการจัดจ้างแล้ว 42 โครงการ โดยอินโดนีเซียมีโครงการ PPP ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา 27 โครงการ มูลค่าประมาณ 47,337.98 ล้านเหรียญสหรัฐ

มาเลเซีย ประกาศมุ่งเน้น PPP เช่นเดียวกัน แนวทางการดำเนินโครงการ คือ PPP Guideline (2009) โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประโยชน์สูงสุดกับเอกชนที่มาลงทุนในมาเลเซีย ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐาน ตัวอย่างโครงการ PPP เช่น โครงการ West Coast Expressway (WCE) เป็นทางด่วนที่เชื่อมต่อเมือง Banting รัฐ Selangor กับเมือง Taiping รัฐ Perak ระยะทางรวม 273 ก.ม. มูลค่าประมาณ 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี โดยมี Kumpulan Europlus Bhd เป็นผู้ได้รับสัญญาระยะเวลารวม 60 ปี (สัญญา 50 ปีและขยายได้ 10 ปี) ซึ่งดึงเอกชนจากต่างประเทศมาลงทุน

ลาว ยังไม่มีกฎระเบียบ PPP โดยเฉพาะ แต่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ Investment Promotion Law (2009) ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาว่าทำอย่างไรให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุด

เมียนมา ยังไม่มีกฎระเบียบ PPP โดยเฉพาะ แต่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ Foreign Investment Law (2012) ตัวอย่างโครงการ PPP ได้แก่ โครงการสร้างท่าอากาศยานนานาชาติหงสาวดี ซึ่งเป็นท่าอากาศยานนานาชาติแห่งที่ 3

ฟิลิปปินส์ มีกฎระเบียบ PPP โดยเฉพาะ คือ Republic Act No.7718 (1994) และ Implementing Rules & Regulations (IRR) (2012) มีหลักการที่ให้ความสำคัญกับบทบาทของภาคเอกชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และกำลังปรับปรุงเพื่อให้ประโยชน์ต่อภาคเอกชนเพียงพอที่จะดึงการลงทุนจากต่างประเทศ

ประเทศไทยเองก็กำลังลุ้นกับการประมูลรถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ในรูปแบบ PPP ที่กำลังรอลุ้นการเจรจาโค้งสุดท้าย แต่หากไทยยังติดกับคำว่า รัฐต้องได้ประโยชน์สูงสุด แทนที่จะเป็นการเสนอเงื่อนไขที่ดีที่สุดในภูมิภาค เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เห็นทีจะยากที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ล่าสุด
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42625
Location: NECTEC

PostPosted: 09/10/2019 4:04 pm    Post subject: Reply with quote

'ธีระชัย'แฉ ไฮสปีดอีอีซี ฮั้วประมูล-ส่อยกสมบัติชาติให้เจ้าสัวถึง 100 ปี
วันที่ 8 ตุลาคม 2562 เวลา 18:27

อดีตรมว.คลัง เตือนไฮสปีด 3 สนามบิน เสี่ยงซ้ำรอยค่าโง่โฮปเวลล์ พัวพันข้าราชการทุจริต ด้านพรรคฝ่ายค้านเตรียมจองกฐิน อภิปรายไม่ไว้วางใจ‘วันนอร์’เตือน 'ศักดิ์สยาม' เสี่ยงนอนคุกหากไม่ยับยั้งโครงการ

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินอีอีซี นั้นเป็นการโกหก
ประชาชนเพื่อนำเงินลงทุนมหาศาลไปยกผลประโยชน์ให้เอกชน ขณะที่การพัฒนาที่เหมาะสมคือรถไฟทางคู่ซึ่งมีต้นทุนถูกกว่าถึง 3 เท่า หรือเพียง 50,000 ล้านบาท อีกทั้งยังโกหกปิดบังเรื่องการเปิดช่องให้เอกชนเข้ามาเทคโอเวอร์สมบัติชาติคือพื้นที่มักกะสัน ซึ่งนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชี้แจงว่าเป็นการให้เช่าพื้นที่ 50 ปี แต่บอกไม่หมดว่าเอกชนสามารถบังคับขยายสัญญาเช่าออกไปอีก 49 ปี รวมเป็น 99 ปี นอกจากนี้โครงการดังกล่าวระบุว่าเป็นการเปิดกว้างแบบ International Bidding แต่กลับพบผู้ยื่นประมูลเพียง 2 ราย เท่านั้น

ดังนั้นจึงมองว่าเป็นการประเคนที่ดินให้กับผู้ชนะ เพราะผู้ประเมินคือนิด้า และศศินทร์ ซึ่งไม่ถูกขึ้นทะเบียนบริษัทที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)จึงไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอ อีกทั้งยังมีความไม่ชอบมาพากลในการประเมินราคาที่ดิน ด้วยราคาที่ต่ำ
กว่าความเป็นจริงไปมาก ทำให้มูลค่าที่ดิน เหลือเพียงตารางวาละ 2-3 แสนบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของมูลค่าที่แท้จริง

สำหรับปัญหาใหญ่ที่จะกลายเป็นค่าโง่นั้นคือการส่งมอบพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลมีการอ้างว่า สามารถทยอยส่งมอบพื้นที่ได้ ไม่ต้องส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดแต่มองว่า เมื่อลงนามสัญญา ต้องพิสูจน์ได้ว่าการส่งมอบพื้นที่เกิดขึ้นได้จริง แต่วันนี้เห็นว่ามีปัญหาในการส่งมอบพื้นที่ จากปัญหาจากการรื้อย้าย
ระบบสาธารณูปโภค เช่น ท่อส่งน้ำมันที่ใช้เวลาย้าย 6-12 เดือน ท่อระบายน้ำ และสายไฟฟ้ารวมถึงการขุดคลอง 17 เมตร ซึ่งมีพื้นที่ติดกับเขตพระราชฐาน จึงมองว่า ซึ่งการส่งมอบพื้นที่จะทำได้ ภายในเวลาที่กำหนด ดังนั้นทางออกของปัญหาเรื่องนี้คือต้องล้มประมูลโครงการแล้ว คืนเงินประกันให้เอกชนไปแบบไม่มีการติดแบล็คลิสต์

ด้านนายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการฮั้วประมูล ซึ่งน่าสังเกตุว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเป็นเรื่องของเบื้องบนที่สั่งการมาให้ รฟท.ดำเนินการเพราะก่อนหน้านี้ไม่เคยมีแผนศึกษาเส้นทางดังกล่าวมาก่อน เป็น
ธรรมชาติของทุกรัฐบาลที่เข้ามาผลักดันโครงการเอาหน้า แต่พอสุดท้ายไม่สำเร็จคนที่โดนด่าและมีความผิดคือ รฟท. เช่นเดียวกับกรณีของโครงการโฮปเวลล์ที่มีการผลักดันในรัฐบาลชุดเก่า แต่พอรัฐบาลชุดใหม่มามีการสั่งยกเลิกโครงการ ส่งผลให้ต้องนำเงินภาษีประชาชนมาจ่ายค่าฟ้อง
ร้องอีกทั้งประเทศไทยยังเสียเครดิตเรื่องของความน่าเชื่อถือทางการลงทุนกับรัฐบาลไทย จนทำให้ต่อสู้คดีทำนองนี้ในชั้นอนุญาโตตุลาการแล้วแพ้ทุกคดี ตัวอย่างเช่นเรื่องค่าโง่ทางด่วนเป็นต้น

อีกทั้งมองว่าโครงการนี้มีสิทธิ์ที่จะเป็นค่าโง่ครั้งใหญ่สูงมาก จากสาเหตุเรื่องการส่งมอบพื้นที่ไม่ได้ตามกรอบเวลาซ้ำรอบโครงการโฮปเวลล์ จึงเกิดคำถามว่าโครงการนี้ได้ประโยชน์กับประชาชนหรือใครกันแน่ เพราะเอกชนที่เข้ามาลงทุนไมได้มาเพื่อการกุศลต่างต้องการหวังผลประโยชน์
และกำไรมหาศาล

“ขณะเดียวกันมองว่าร่างสัญญาไม่เคยมีการเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณะทราบ มีการปิดเป็นความลับมาตลอดน่าเชื่อได้ว่าเป็นการเปิดโอกาสเกิดกรณีทุจริตข้าราชการ อีกทั้งรัฐบาลอาจร่วมรู้เห็นด้วยจากพฤติกรรมพยายามดึงให้รถไฟสามสนามบิน เกี่ยวข้องกับอีอีซี เพราะกฎหมายอีอีซี
เป็นกฎหมายพิเศษ และหากดูเงื่อนไขพิเศษ ในการใช้พื้นที่อีก49 ปี ไม่ใช่เพียงแค่ 50 ปี แต่รัฐบาลต้องรีบเซ็นเพราะกลัวการวิพากษ์วิจารณ์และไม่ให้ตั้งกรรมาธิการ” นายประภัสร์กล่าว

ด้านนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้โครงการไฮสปีดเดินหน้าต่อไป เพราะไม่โปร่งใสตั้งแต่แรก อีกทั้งเรื่องรถไฟไฮสปีดยังเป็นเพียงเรื่องบังหน้าที่จะเปิดช่องให้เอกชนเข้ามาลงทุนพื้นที่เชิงพาณิชย์มักกะสันโดยตลอดเวลา 50 ปี แต่รฟท.กลับได้เงินกลับมาแค่50,000 ล้านบาท ทั้งที่มูลค่าที่ดินนั้นในปัจจุบันอยู่ที่ 200,000 ล้านบาท และในอนาคตจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทางด้านสหภาพการรถไฟแห่งประเทศไทยคาดว่ามูลค่าจะเพิ่มถึง 800,000 ล้านบาท ในปีที่ 50 ซึ่งถือว่าเป็นผลประโยชน์จำนวนมหาศาลที่เอกชนจะได้ฝ่ายเดียวทั้งหมด

นอกจากนี้ยังสามารถขยายสัญญาออกไปได้อีกด้วยจึงเห็นได้ว่ารถไฟไฮสปีดเป็นแค่ส่วนประกอบเพราะเรื่องใหญ่คือการเข้ามาตักตวงผลประโยชน์บนที่ดินทำเลทองกลางใจเมือง อย่างไรก็ตามขอเตือนนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมไม่เกี่ยวข้องเรื่องนี้ตั้งแต่แรก ดังนั้นหากมีการลง
นามสัญญา แล้วเกิดอะไรขึ้นในอนาคตต้องเป็นผู้รับผิดชอบเพราะเป็นเบอร์ 1 ของกระทรวงคมนาคม ดังนั้นอย่าเอาชีวิตของคุณไปเกี่ยวข้องเรื่องนี้กับเขาเลย

ทั้งนี้กรรมาธิการคมนาคมจะเริ่มประชุม วันที่ 10 ต.ค.นี้ ตนกับฝ่ายค้านจะเสนอญัตติให้นำเสนอไฮสปีดและการพัฒนาพื้นที่ อีอีซีเข้าที่ประชุมเพื่อให้ตรวจสอบ หากตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้วจะเรียกผู้เกี่ยวข้อง อาทิ ผอ.อีอีซี และ รักษาการ ผู้ว่า รฟท. เข้ามาขี้แจง เพื่อขอดูสัญญาและทีโออาร์ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะทันวันที่จะลงนาม 25 ต.ค.นี้หรือไม่ ทั้งนี้หากไม่ทันจะมีแนวทางต้องทำหน้าที่ในสภาโดยฝ่ายค้านต้องยื่นการอภิปรายเป็นรายบุคคลหรืออภิปรายทั่วไปรัฐบาล รวมทั้งตั้งกระทู้เมื่อเปิดสภา ทั้ง รมว.คมนาคม หรือ นายกรัฐมนตรี ได้ หากโครงการนี้เกิดความไม่โปร่งใสตลอดจนอภิปรายไม่ไว้วางใจจากฝ่ายค้าน

ขณะที่นายสุวิช ศุมานนท์ ประธานสมาพันธ์คนงานรถไฟ(สพ.รฟ.) กล่าวว่า การพัฒนารถไฟความเร็วสูงเส้นทางดังกล่าวนั้น นอกจากจะยก ผลประโยชน์มหาศาลให้เอกชนแล้ว ยังทำให้ประเทศชาติเสียหาย เนื่องจากในสัญญามีระบุว่าห้าม รฟท.เดินรถแข่งขันในเส้นทางดังกล่าว ส่งผล
ให้ในอนาคตรัฐบาลจะไม่สามารถพัฒนาโครงข่ายรถไฟธรรมดาหรือรถไฟทางคู่สายตะวันออกได้เลย ตั้งแต่ จังหวัดกรุงเทพ-ชลบุรี-ระยอง-จันทบุรี-ตราด ถือว่ากระทบต่อแผนพัฒนาระบบรางในภาพรวมเพื่อเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาก ทำให้คนไทยมีมีทางเลือกอื่นในการเดินทางนอกจากการใช้รถไฟความเร็วสูง อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดค่าโง่แบบทางด่วนที่มีการสร้างทางด่วนทับซ้อนกับของเอกชน นำมาซึ่งการฟ้องร้องค่าโง่นับแสนล้านบาทเหมือนในปัจจุบัน
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42625
Location: NECTEC

PostPosted: 09/10/2019 4:05 pm    Post subject: Reply with quote

คลัง สั่งสคร.ตั้งบอร์ด ร.ฟ.ท.เดินหน้าไฮสปรีดเทรน
วันพุธที่ 9 ตุลาคม 2562 เวลา 15:38 น.


"อุตตม" สั่ง สคร.ตั้งบอร์ด ร.ฟ.ท. สางปัญหาไฮสปรีดเทรนไม่คืบ เผย ได้รายชื่อบอร์ดใหม่แล้ว พร้อมหนุนเต็มที่

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า คลังพร้อมสนับสนุนการก่อสร้างการลงทุนรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เร่งประสานกระทรวงคมนาคม เพื่อดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ให้เร็วที่สุด หลังจากคณะกรรมการชุดเก่าที่ลดออกไป เพื่อให้สามารถเดินหน้าลงนามสัญญาการก่อสร้างกับเอกชนได้ตามแผนที่กำหนดไว้

"คลังยืนยันสนับสนุนเต็มที่ แต่คลังไม่ใช้หน่วยงานหลักที่ดูแล คลังทำได้เพียงการเร่งให้ตั้งคณะกรรมการของ ร.ฟ.ท. ให้เสร็จโดยเร็วเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ได้รายชื่อบอร์ดครบหมดแล้ว มีตัวประธานแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้ แต่เชื่อว่าจะเดินหน้าได้หลังจากนี้" นายอุตตม กล่าว

สำหรับ กรณีที่ภาคเอกชนมีข้อเสนอให้ภาครัฐร่วมรับความเสี่ยงจากการลงทุนในไฮสปีดเทรนด้วยนั้น มองว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการประเมินการรับความเสี่ยงดังกล่าวอยู่แล้ว แต่ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กรอบเงื่อนไขการว่าจ้างการลงทุน(TOR) ที่ต้องดูแลเรื่องความโปร่งใสต่างๆ ซึ่งทุกอย่างจะไปดูว่าใน TOR กำหนดไว้ว่าอย่างไร ก็จะเดินหน้าตามระเบียบนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้มากที่สุด
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42625
Location: NECTEC

PostPosted: 09/10/2019 10:00 pm    Post subject: Reply with quote

"อนุทิน" แขวะCPH! โพสต์ใครกันแน่เอาเปรียบรัฐ ลั่นทำตามเงื่อนไขจบไม่ต้องวิ่งเต้น
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เผยแพร่: วันพุธที่ 9 ตุลาคม 2562 เวลา 17:23

"เสี่ยหนู" โพสต์เฟซบุ๊กแขวะลอยๆ ใครกันแน่ที่จะเอาเปรียบรัฐ ทำตามเงื่อนไขจบไม่ต้องวิ่งเต้น กล้าๆหน่อยเซ็นสัญญา คาดกรณีCPHเลื่อนเซ็นสัญญาก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หลายครั้ง

วันนี้ (9 ต.ค.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊ก Anutin Charnvirakul เป็นภาพขณะอ่านเอกสาร พร้อมระบุข้อความว่า

“ชีวิตดีแล้ว มั่นคงมาก ไม่จำเป็นต้องเอื้อธุรกิจของครอบครัวหรือของใคร ถ้าไม่เอื้อของตัวเองแล้วก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไปเอื้อใคร และจะใช้ความสามารถและประสบการณ์ทั้งหมดที่มีรักษาผลประโยชน์ให้บ้านเมือง รับมือกันให้อยู่ก็แล้วกัน

ใครกันแน่ที่จะเอาเปรียบรัฐ ใครกันแน่ที่พยายามเลี่ยงไม่ทำตามผลของการประมูล ใครกันแน่ที่พยายามขอให้รัฐผ่อนปรนเพิ่มประโยชน์ให้ตัวเอง ไม่ต้องไปบีบสื่อให้ออกข่าว

งานนี้ง่ายมาก ทำตามเงื่อนไขที่รัฐประกาศไว้ ไม่ต้องวิ่งเต้น ไม่ต้องจ่าย เอาปากกามาด้ามเดียวแล้วเซ็นสัญญา กล้าๆหน่อย พร้อมสนับสนุนทุกอย่างให้ทำงานโดยสะดวก ราบรื่น ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น ไม่พูดเยอะ เจ็บลิ้นไก่”

ขณะที่คอมเม้นท์ มีการโพสต์ให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก อาทิ “ขอบคุณครับที่รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติประชาชน”“นายทุนเอาไปมากแล้ว ไม่เคยคืนแก่บ้านเมืองเลย ขอบคุณที่ท่านมาช่วยทวง”

“ต้องอย่างนี้สิคับ มันถึงจะคุ้มค่ากับชุดกากีที่ใส่”

“ครั้งหนึ่งในชีวิต...ต้องทำสักเรื่องทที่ดีๆให้เป็นที่จดจำและบันทึกไว้..ให้คนทั้งประเทศได้ยกย่อง...ขอแค่เรื่องเดียว..เจ๋งๆนะท่าน..

#เอาให้โลกชื่นชมเลย....ผมเชียร์ท่านครับ...ท่านอย่ากลัวคนมีอำนาจไม่รักท่าน....ท่านจงกลัวประชาชนไม่รักดีกว่า…"


“ไม่ทำตามสัญญา ก็ต้องถูกจัดการ ท่านทำถูกแล้ว”

รายงานข่าวแจ้งว่า การโพสต์ดังกล่าว น่าจะหมายถึงกรณีความชักช้าในการเซ็นสัญญาก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง อู่ตะเภา สุวรรณภูมิ ซึ่งกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) เป็นผู้ชนะการประมูล ที่ถูกเลื่อนไปหลายครั้ง โดยมีกำหนดเซ็นดำเนินงานอีกครั้งวันที่ 25 ตุลาคมนี้

//------------------------------


"อนุทิน"ท้า "กล้าๆหน่อย" พกปากกาด้ามเดียวมาเซ็นสัญญา
หน้า Politics
เผยแพร่: วันพุธที่ 9 ตุลาคม 2562

เมื่อเวลา 16.00 น.เศษ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีสาธารณสุข ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก @AnutinC อย่างดุเดือด สื่อถึงโครงการใหญ่ภาครัฐโครงการหนึ่ง ที่กำลังเร่งรัดให้ผู้เสนอตัวลงนามทำสัญญากับภาครัฐ หลังจากยืดเยื้อมานาน และมีกระแสโต้กลับว่ามีความพยายามบีบให้ล่มเพื่อเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจ โดยข้อความตอนหนึ่งท้าทายว่า "ไม่ต้องวิ่งเต้น ไม่ต้องจ่าย เอาปากกามาด้ามเดียวแล้วเซ็นสัญญา กล้า ๆ หน่อย" มีข้อความโดยละเอียดว่า

...ชีวิตดีแล้ว มั่นคงมาก ไม่จำเป็นต้องเอื้อธุรกิจของครอบครัวหรือของใคร ถ้าไม่เอื้อของตัวเองแล้วก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไปเอื้อใคร และจะใช้ความสามารถและประสบการณ์ที่มีรักษาผลประโยชน์ให้บ้านเมือง รับมือให้อยู่ก็แล้วกัน ใครกันแน่ที่จะเอาเปรียบรัฐ ใครกันแน่ที่พยายามเลี่ยงไม่ทำตามผลของการประมูล ใครกันแน่ที่พยายามขอให้รัฐผ่อนปรนเพิ่มประโยชน์ให้ตัวเอง ไม่ต้องไปบีบสื่อให้ออกข่าว งานนี้ง่ายมาก ทำตามเงื่อนไขที่รัฐประกาศไว้ ไม่ต้องวิ่งเต้น ไม่ต้องจ่าย เอาปากกามาด้ามเดียวแล้วเซ็นสัญญา กล้า ๆ หน่อย พร้อมสนับสนุนทุกอย่างให้ทำงานโดยสะดวก ราบรื่น ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้นไม่พูดเยอะ เจ็บลิ้นไก่...

POLITICS: อนุทิน โพสต์เฟซบุ๊ก ถาม “ใครกันแน่ที่เอาเปรียบรัฐ เลี่ยงไม่ทำตามผลการประมูล”

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊ค Anutin Charnvirakul ซึ่งเป็นภาพขณะกำลังนั่งอ่านเอกสารในห้องประชุม พร้อมเขียนข้อความว่า

“ชีวิตดีแล้ว มั่นคงมาก ไม่จำเป็นต้องเอื้อธุรกิจของครอบครัวหรือของใคร ถ้าไม่เอื้อของตัวเองแล้วก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไปเอื้อใคร และจะใช้ความสามารถและประสบการณ์ทั้งหมดที่มีรักษาผลประโยชน์ให้บ้านเมือง รับมือกันให้อยู่ก็แล้วกัน

ใครกันแน่ที่จะเอาเปรียบรัฐ ใครกันแน่ที่พยายามเลี่ยงไม่ทำตามผลของการประมูล ใครกันแน่ที่พยายามขอให้รัฐผ่อนปรนเพิ่มประโยชน์ให้ตัวเอง ไม่ต้องไปบีบสื่อให้ออกข่าว

งานนี้ง่ายมาก ทำตามเงื่อนไขที่รัฐประกาศไว้ ไม่ต้องวิ่งเต้น ไม่ต้องจ่าย เอาปากกามาด้ามเดียวแล้วเซ็นสัญญา กล้าๆ หน่อย พร้อมสนับสนุนทุกอย่างให้ทำงานโดยสะดวก ราบรื่น ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ไม่พูดเยอะ เจ็บลิ้นไก่”

ทั้งนี้ คาดว่าการโพสต์ข้อความดังกล่าวน่าจะต้องการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกรณีความล่าช้าในการเซ็นสัญญาก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง อู่ตะเภา สุวรรณภูมิ ซึ่งกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) เป็นผู้ชนะการประมูล ที่ถูกเลื่อนไปหลายครั้ง ได้รับทราบ และรีบมาเซ็นดำเนินงานในวันที่ 25 ตุลาคมนี้
https://www.facebook.com/TheReportersTH/photos/a.2331150670468653/2425968767653509/?type=3&theater
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 342, 343, 344 ... 542, 543, 544  Next
Page 343 of 544

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©