Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Ads Service

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311283
ทั่วไป:13263885
ทั้งหมด:13575168
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - เรื่องจากอดีต : เขื่อนภูมิพล ช่วยพัฒนาประเทศ
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

เรื่องจากอดีต : เขื่อนภูมิพล ช่วยพัฒนาประเทศ

 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> สัพเพเหระ
View previous topic :: View next topic  
Author Message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 14/06/2006 1:14 pm    Post subject: เรื่องจากอดีต : เขื่อนภูมิพล ช่วยพัฒนาประเทศ Reply with quote

ค้นเรื่องเก่าๆ มาได้อีกเรื่องครับ

เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเขื่อน " ภูมิพล " เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2507 ในขณะนั้นเป็นเขื่อนคอนกรีตรูปโค้งที่ใหญ่ที่สุดในเอเซียอาคเนย์ และเป็นอันดับ 7 ของโลก ซึ่งนำลงในนิตยสาร " เสรีภาพ " ฉบับที่ 105 จัดพิมพ์โดย สำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพฯ ครับ

สำหรับตัวเลขข้อมูลและรายชื่อต่างๆ ที่ปรากฎในเนื้อหานั้น เป็นข้อมูลเมื่อปี พ.ศ.2507 ซึ่งผมกำลังอยู่ในวัยละอ่อน อยู่ชั้นประถมศึกษา นั่งเรียนตำราชุดสังคมศาสตร์ ของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ จัดพิมพ์โดยองค์การค้าคุรุสภาในสมัยนั้น มีภาพหุ่นจำลองของเขื่อนภูมิพลที่กำลังก่อสร้าง ที่ดำมืด ดูแทบไม่ออก พอได้มาเห็นสารคดีภาพชุดนี้จาก " เสรีภาพ " มีความรู้สึกเหมือนฟ้ากับเหว ยังไงงั้น

กว่าทางโรงพิมพ์คุรุสภา จะหันมาสนใจด้านภาพประกอบตำราเรียนกันอีกที โรงพิมพ์เอกชน เขาจัดพิมพ์ภาพสีสวยงาม ไปกันไกลลิบแล้ว พร้อมๆ กับผมเลิกเรียนพอดี

เลิกบ่นดีกว่า ไปดูเหตุการณ์สมัยนั้นด้วยกันนะครับ

Click on the image for full size

เขื่อนภูมิพล ช่วยพัฒนาประเทศ

เขื่อนภูมิพลอันเป็นเขื่อนเอนกประสงค์ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ จะช่วยอำนวยประโยชน์มหาศาลทั้งโดยเอกเทศ และตามโครงการลุ่มเจ้าพระยา

Click on the image for full size
ฯพณฯ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีกำลังอ่านคำกราบถวายบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเปิดเขื่อนภูมิพล ณ ปะรำพิธี ใน วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๐๗ สมเด็จฯ พระบรมราชินีนาถได้โดยเสด็จด้วย

Click on the image for full size
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จสู่ห้องเครื่องผลิตไฟฟ้าบนสันเขื่อนเพื่อทรงเดินเครื่องเป็นปฐมฤกษ์

Click on the image for full size
กลุ่มชาวต่างประเทศเป็นแขกในพิธีเปิดเขื่อน มีเอกอัครราชทูตสหรัฐ ( กลางหันหน้าออก ) รวมอยู่ด้วย

โดยที่น้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการเกษตร และน้ำจะอุดมสมบูรณ์ได้ทุกฤดูกาลต้องอาศัยการชลประทาน เพื่อให้การชลประทานเป็นไปด้วยดี รัฐบาลไทยได้ตกลงใจสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำปิงขึ้นที่เขาแก้ว อำเภอสามเงา จังหวัดตาก และ ได้ลงมือดำเนินงานชั้นต้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ ในชั้นเดิมเขื่อนนี้ได้เรียกขานกันโดยทั่วไปว่า “ เขื่อนยันฮี ” ต่อมาเมื่อ วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๐๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระปรมาภิไธยให้เป็นชื่อเขื่อน นี้ว่า “ เขื่อนภูมิพล ” และได้เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ในการสร้างเขื่อนเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๐๔ บัดนี้ การสร้างเขื่อนสำเร็จเรียบร้อย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเขื่อน และเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า ณ เขื่อนนั้นแล้วเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๐๗ นี้

Click on the image for full size
ส่วนหนึ่งของบริเวณเขื่อนภูมิพล มีโรงไฟฟ้าชั่วคราวสำหรับผลิตไฟฟ้าใช้ระหว่างงานก่อสร้าง ตั้งอยู่บนฝั่งขวา

Click on the image for full size
ทัศนียภาพด้านท้ายน้ำเขื่อนภูมิพลมองจากระยะไกล

โครงการเขื่อนภูมิพลเป็นโครงการเอนกประสงค์ ประกอบด้วยเขื่อนกักน้ำขนาดใหญ่ตั้งขวางอยู่บนแม่น้ำปิง เหนือจังหวัดตากไปตามลำน้ำประมาณ ๕๗ กิโลเมตร ทำเลที่ตั้งเป็นช่องเขาแคบประชิดเข้าหากัน มีเนื้อหินแน่นและแข็งแกร่งพอที่จะ รับแรงกดดันของน้ำและน้ำหนักของตัวเขื่อนได้ดี เบื้องหน้าเขื่อนสองฝั่งแม่น้ำมีเขาล้อมรอบ และจะกลายเป็นทะเลสาบ ใหญ่จุน้ำได้ ๑๒,๒๐๐ ล้านลูกบาตรเมตร ครอบคลุมพื้นที่ซึ่ึ่งเป็นป่าอยู่เดิมเป็นอาณาเขต ๓๐๐ ตารางกิโลเมตร และมี ความยาวไปตามลำแม่น้ำจากหน้าเขื่อนขึ้นไป ๒๐๗ กิโลเมตร จรดอำเภอฮอดในจังหวัดเชียงใหม่

Click on the image for full size
ที่ตั้งเขื่อนก่อนก่อสร้าง

Click on the image for full size
ตัวเขื่อนภูมิพลมองจากด้านเหนือน้ำ

เขื่อนภูมิพลเป็นเขื่อนรูปโค้ง มีขนาดใหญ่และสูงที่สุดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ตัวเขื่อนสร้างด้วยคอนกรีต ยาวตามโค้ง ๔๘๖ เมตร สูงจากฐานราก ๑๕๔ เมตร สันเขื่อนกว้าง ๖ เมตร ฐานเขื่อนกว้าง ๕๒.๒ เมตร เก็บกักน้ำได้ ๑๒,๒๐๐ ล้านลูกบาตรเมตร มีอุโมงค์ระบายน้ำล้นขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๑.๓ เมตร ๒ อุโมงค์ ซึ่งระบายน้ำได้ ๖,๐๐๐ ลูกบาศก์ เมตรต่อวินาที ที่เขื่อนติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดเครื่องละ ๗๐,๐๐๐ กิโลวัตต์ ได้ ๘ เครื่อง และมีสายส่งศักย์สูง ขนาด ๒๓๐,๐๐๐ โวลต์ ๓ ชุด ขึงขนานจากตัวเขื่อนถึงกรุงเทพฯ เป็นสายเอก ยาวสายละ ๔๔๕ กิโลเมตร กับสายส่งศักย์ รองขนาด ๑๑๕,๐๐๐ โวลต์ และ ๖๙,๑๐๐ โวลต์ อีก ๑๓ สาย รวมยาวทั้งสิ้นประมาณ ๒,๘๐๐ กิโลเมตร เพื่อรับกระแส ไฟฟ้าจากสายเอก ไปส่งให้ถึงที่ตั้งสถานีลดแรงไฟฟ้าของจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาค ตะวันตก รวม ๓๖ จังหวัด


Click on the image for full size
ทัศนียภาพรอบๆ ตัวเขื่อนมองจากที่สูงด้านเหนือน้ำเมื่อน้ำในทะเลสาปยังมีระดับน้ำต่ำ

เขื่อนภูมิพลจะช่วยการพัฒนาประเทศได้อย่างไร ?

ถ้าเราดูแผนที่ภาคเหนือของประเทศไทยจะเห็นว่า ต้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาประกอบด้วยแม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน ไหลลงมาบรรจบกันเป็นลำน้ำเจ้าพระยาแท้ ที่จังหวัดนครสวรรค์ เฉพาะแม่น้ำวังนั้น เป็นสาขาของแม่น้ำปิง ประกอบด้วย แคว ใหญ่น้อยไหลลงมารวมกับแม่น้ำปิงที่เหนือจังหวัดตาก แม่น้ำและแควต่างๆ เหล่านี้เป็นแหล่งน้ำที่ส่งน้ำหล่อเลี้ยง พืชผล ต้นข้าวในภาคเหนือตลอดลงมาถึงภาคกลาง ในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่น้ำในลำน้ำเหล่านี้ก็มาจากน้ำฝน เมื่อฝนเริ่มตก พื้นดินยังโศกอยู่ ฝนจะถูกดินดูดไว้เสียเกือบหมด ต่อไปเมื่อดินอิ่มน้ำขึ้น น้ำท่า คือน้ำในลำน้ำเหล่านั้น จึงค่อยๆ มีไหลในลำน้ำ และจะมีระดับสูงขึ้นหรือต่ำลงตามปริมาณฝน ในภาคเหนือ แผ่นดินมีความลาดเทมากแม่น้ำท่าจะขึ้นจนล้นฝั่ง ไม่กี่วันก็จะยุบลง การเสียหายแก่นาเพราะน้ำท่วมจึงเกือบไม่มี ครั้นน้ำนั้นไหลลงมาถึงพิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ อันเป็น แหล่งบรรจบของ แม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน น้ำจะมารวมกันมากมายทำให้ท่วมที่ดินในภาคนี้อย่างมากและนานวันทุกปี การที่น้ำเข้าไปนองในทุ่งของภาคนี้เท่ากับธรรมชาติเอาน้ำเข้าไปพักไว้ในอ่างชั่วคราว มิฉะนั้นแล้วน้ำจะไหลประดังลงมาและภาคกลางจะประสบแต่อุทกภัยทุกปี

Click on the image for full size
รถปั้นจั่นนำศิลาฤกษ์ลงสู่หลุมศิลาฤกษ์เขื่อนภูมิพลเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๐๔

จากนครสวรรค์ลงมา แม่น้ำเจ้าพระยารับน้ำถึงปริ่มตลิ่งได้ ๓,๕๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่พอถึงอ่างทอง ลำแม่น้ำเล็ก ลง รับน้ำได้เพียง ๒,๓๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที น้ำส่วนที่เหลือจึงต้องล้นฝั่ง โดยที่ทุ่งใต้อ่างทองราบกว้าง น้ำจึงแผ่กระจายออกไปได้ทั่วทุ่งในราวเดือน กันยายน – ตุลาคม จนมีคำกล่าวกันว่า เดือน ๑๑ น้ำนอง เดือน ๑๒ น้ำทรง น้ำที่ท้น ขึ้นท่วมทุ่งนี้ จะค่อยๆ ไหลลงสู่ปากอ่าว ทุ่งราบภาคกลางจึงมีน้ำเลี้ยงต้นข้าวอยู่ได้จนถึงเวลาข้าวออกรวงในปีที่เป็นปีน้ำงาม

อย่างไรก็ดี ก่อนที่น้ำจะท้นฝั่ง การทำนาต้องอาศัยฝน และเมื่อฝนตกล่าไปก็ได้ เร็วไปก็ได้ปริมาณก็ไม่สม่ำเสมอ บางทีก็มีทิ้งระยะ โดยเฉพาะในเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม ข้าวกล้าจึงมักจะตายไปเสียตอนหนึ่ง ครั้นแล้วถ้าลงกล้าใหม่ ข้าวยังไม่ทันแตกกอ น้ำนองมาเร็วข้าวก็จมน้ำตายอีก พอปลายฤดู ถ้านองมากเกินไปก็เป็นอุทกภัย ถ้านองอยู่ไม่นาน เพราะน้ำเหนือมีน้อย ระดับน้ำในแม่น้ำลดเร็ว น้ำในทุ่งก็ไหลกลับลงสู่แม่น้ำเสียก่อนข้าวสุก ผลก็คือเกิดการเสียหายอีก การเสียหายเพราะน้ำไม่พอเหมาะพอดีนี้เกิดขึ้นได้ตลอดทั้งฤดูกาล

Click on the image for full size
เขื่อนภูมิพลในระหว่างก่อสร้าง

เพื่อผลในการเกษตร รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประกอบโครงการชลประทาน และดำเนินการตามความ ต้องการของประเทศและกำลังเงินมาแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยลำดับ ถึงสมัยปัจจุบัน พัฒนาการเกี่ยวกับน้ำมีความเจริญยิ่งขึ้น นอกจากจะใช้น้ำเพื่อการชลประทานเฉพาะท้องที่เท่านั้น ยังต้องการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์ได้หลายอย่าง โดยวางโครงการพัฒนาให้ตลอดทั้งลุ่มน้ำและสาขา ในการพัฒนาลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้น กรมชลประทานได้จัดแยกประเภทใหญ่ๆ ออกเป็นสองประเภท คือ โครงการเขื่อนตุนน้ำ และโครงการทดและส่งน้ำ

Click on the image for full size
โครงเหล็กนั่งร้านในบริเวณก่อสร้าง

เขื่อนภูมิพลที่สร้างขึ้นนี้ อยู่ในโครงการเขื่อนตุนน้ำ เป็นเขื่อนแรกและเขื่อนสำคัญดุจแม่เขื่อนของเขื่อนอื่นๆ ที่จะสร้างขึ้น ในภาคเหนือบนแม่น้ำวัง ยม และน่าน ต่อไปอีก มีเขื่อนท่าปลาที่จะสร้างขึ้นปิดแม่น้ำน่านที่ อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นต้น เขื่อนภูมิพลและเขื่อนท่าปลานี้ จะช่วยทำให้ทุ่งสามเหลี่ยมบน คือ พื้นที่ระหว่างกำแพงเพชร สุโขทัย อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ พ้นจากน้ำท่วมเป็นการประจำปี ซึ่งจะทำให้ทุ่งสามเหลี่ยมบนนี้ เป็นที่ทำการเพาะปลูกได้อีกประมาณ ๕ ล้านไร่ สำหรับพลเมืองจากภาคอื่นๆ จะได้ย้ายภูมิลำเนาเข้าไปทำมาหากินเป็นจำนวนล้านๆ คน


Last edited by black_express on 09/10/2009 4:02 pm; edited 3 times in total
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 14/06/2006 2:13 pm    Post subject: Reply with quote

ประโยชน์ของการพัฒนาลุ่มน้ำเจ้าพระยา นั้น อาจกล่าวสรุปดังนี้

๑ ทำให้อุทกภัยบรรเทาลง โดยการที่สามารถระบายน้ำทิ้งไปด้วยคลองระบายน้ำเสียก่อนน้ำปีหลากได้ ถ้าปีใดน้ำมากก็อาจส่งน้ำไปตามคลอง แล้วแผ่กระจายไว้ในทุ่งได้เป็นจำนวนมาก
๒ เก็บตุนน้ำเอาไว้ใช้ตลอดปี เมื่อได้ทำการกักตุนน้ำ เช่นที่เขื่อนภูมิพล ซึ่งเก็บน้ำไว้ใช้งานได้ถึง ๘,๖๐๐ ล้านลูกบาศก์ เมตร และโครงการเขื่อนท่าปลาบนแม่น้ำน่าน ซึ่งจะเก็บน้ำปีของแม่น้ำน่านไว้ได้ถึง ๘,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ทุ่งสาม เหลี่ยมกำแพงเพชร สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ และพื้นที่บริเวณใต้ที่แม่น้ำทั้งสี่มาบรรจบกัน ก็ย่อมจะลดภัยจากน้ำท่วมเป็นประจำปีลงได้
๓ ทดและส่งน้ำไปใช้ให้ได้อย่างประหยัด และให้ได้อย่างสม่ำเสมอในเวลาเพาะปลูก และระบายน้ำทิ้งให้ได้ทันการเพื่อป้องกันมิให้ดินบูดเน่า ไม่ต้องอาศัยฝนแต่อย่างเดียว ผลผลิตเฉลี่ยเดิมไร่ละ ๑๐๐ – ๒๕๐ ก.ก. ก็จะเพิ่มเป็น ๓๓๐ ก.ก.สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีพื้นที่ราบ ๗ ล้านไร่

Click on the image for full size
ภายในอุโมงค์ระบายน้ำล้นระหว่างก่อสร้าง การตั้งแบบและผูกเหล็กเสริมอุโมงค์

Click on the image for full size
การดาดอุโมงค์ด้วยคอนกรีต

๔ ใช้น้ำผลิตไฟฟ้า เมื่อไขน้ำในอ่างกักตุนน้ำ เช่นที่เขื่อนภูมิพล โดยให้ผ่านท่อส่งน้ำเข้าเครื่องกังหัน ก็ยังจะผลิตไฟฟ้า ได้ถึง ๒,๒๐๐ ล้านยูนิตต่อปี ไฟฟ้าจำนวนนี้จะช่วยให้เกิดอุตสาหกรรมขึ้น
๕ ใช้ลำน้ำในการคมนาคม ในปัจจุบันนี้ มีสินค้าที่ไม่ได้บรรจุหีบห่อ ขนผ่านคลองชลประทานประมาณ ๔ ล้านตันต่อปีค่าขนส่งทางเรือ ทางรถไฟ และทางถนนถูกกว่ากันตามอัตราส่วนดังนี้ ทางเรือ – ๑ : ทางรถไฟ - ๒ ทางถนน – ๕
๖ ใช้น้ำในการอุตสาหกรรม
๗ จำนวนน้ำที่ไหลผ่านเครื่องกังหันน้ำที่เขื่อนภูมิพล เมื่อไหลลงมาถึงเขื่อนเจ้าพระยาที่ชัยนาท ก็จะทดเอาไปปลูกพืชหมุนเวียนในฤดูแล้งได้อีก ๒ ล้านไร่ เป็นมูลค่าปีละประมาณ ๘๐๐ ล้านบาท

Click on the image for full size
โรงไฟฟ้าระหว่างดำเนินการเทคอนกรีต

Click on the image for full size
และเมื่อเทคอนกรีตเรียบร้อยแล้ว

เฉพาะประโยชน์ที่จะได้จากเขื่อนภูมิพลโดยเอกเทศ จะเห็นได้ในด้านต่างๆ ดังนี้

ในด้านป้องกันน้ำท่วม ทะเลสาปสำหรับเก็บน้ำที่เขื่อนภูมิพล ซึ่งอาจจุน้ำได้ถึง ๑๒,๒๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตรนั้น เป็นอ่างตาย คือเก็บน้ำไว้เฉยๆ เสีย ๓,๖๐๐ ลูกบาศก์เมตร เพราะฉะนั้น ตอนที่เก็บน้ำไว้เพื่อใช้การจึงมีถึง ๘,๖๐๐ ลูกบาศก์เมตร ในตอนต้นฤดูฝน ทะเลสาปนี้จะไม่เก็บน้ำไว้จนเต็มอ่าง โดยจะเหลือที่ไว้สำหรับบรรจุน้ำจากน้ำฝนในเดือนกันยายน และตุลาคม ซึ่งเป็นเดือนที่ฝนตกชุกประจำปี เพื่อเติมให้เต็มอ่าง ถ้าบังเอิญในเดือนกันยายนมีน้ำบ่ามามาก แต่เดิมเมื่อไม่มีอ่าง ก็เกิดอุทกภัยบนพื้นที่เพาะปลูกด้านท้ายน้ำของเขื่อนได้ ตัวอย่างเช่น ในปี ๒๕๐๒ ทั้งๆ ที่มีการแผ่กระจายน้ำ ด้วยคลอง ส่งน้ำของโครงการเจ้าพระยาอยู่แล้ว แม่น้ำปิงยังหลากมาท่วมพื้นที่เพาะปลูก ตั้งแต่ท้ายเขื่อนลงมาจนถึงทุ่งราบภาคกลางบางส่วน น้ำที่หลากมานั้นมีจำนวนเพียง ๒,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร จึงเห็นได้ว่าปริมาตรของอ่างตอนที่เก็บน้ำไว้ใช้ประ โยชน์นั้น จะเก็บน้ำหลากที่กล่าวมานั้นไว้ได้หมด และอุทกภัยคล้ายในปี ๒๔๖๐ ก็จะบรรเทาลง

ในด้านการชลประทาน โครงการเขื่อนภูมิพลจะทำการชลประทานให้แก่พื้นที่ในจังหวัดตาก และกำแพงเพชร ได้ประมาณ ๑,๕๐๐,๐๐๐ ไร่ ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง พื้นที่เหล่านี้หากใช้ทำนาจะได้ข้าวเพิ่มขึ้นอีกปีละ ๓๙๐,๐๐๐ ตัน หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ ๕๐๐ ล้านบาท โดยคำนวณราคาข้าวตันละ ๑,๖๕๗ บาท

ในฤดูแล้ง น้ำซึ่งไหลผ่านเครื่องกังหันน้ำเขื่อนภูมิพล มีประมาณ ๖ เท่าของน้ำธรรมชาติ ปริมาณของน้ำนี้เมื่อใช้ในการชลประะทานให้แก่พื้นที่ในจังหวัดตากและกำแพงเพชร ๔๐๐,๐๐๐ ไร่แล้ว ก็ยังเหลือพอสำหรับทำการชลประทานให้แก่พื้นที่ในโครงการเจ้าพระยา ๒,๕๐๐,๐๐๐ ไร่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตพืชผลฤดูแล้งขึ้นอีกเป็นมูลค่าปีละประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านบาท

ในด้านการคมนาคมทางน้ำ ซึ่งเป็นหัวใจของการขนส่งภาคกลาง เมื่อสร้างเขื่อนภูมิพลเสร็จแล้ว เรือขนาดกินน้ำลึก ๒ เมตร จะขึ้นล่องได้ตลอดปีในระหว่างนครสวรรค์ ถึงยันฮี เมื่อได้ทำการบีบลำน้ำปิงบางตอนด้วยแล้ว และโดยการถ่ายเรือที่เขื่อนภูมิพล การขนส่งก็จะทำได้ถึงอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นระยะทางทั้งสิ้น ๔๐๐ กิโลเมตร

ในด้านผลิตกำลังไฟฟ้า เขื่อนภูมิพลสามารถผลิตกำลังไฟฟ้าได้ ๒,๒๓๐ ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี โดยไม่ต้องเสียเชื้อเพลิง ซึ่งเมื่อคำนวณราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะต้องใช้ในการผลิตไฟฟ้าตามปกติในปริมาณเท่านี้แล้ว เขื่อนภูมิพล จะช่วยประหยัดเงินค่าเชื้อเพลิงไว้ได้ถึงปีละ ๓๗๐ ล้านบาท กำลังไฟฟ้าจะส่งไปยัง ๓๖ จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดภาคกลาง และภาคเหนือ และบางจังหวัดในภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ

Click on the image for full size
แผงสวิทช์ในห้องควบคุมเขื่อนภูมิพล

Click on the image for full size
การปล่อยน้ำจากท่อกังหัน

ในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๐๗ ซึ่งเป็นวันทำพิธีเปิดเขื่อนภูมิพล จังหวัดภาคกลางและภาคเหนือ ๑๗ จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี พระนคร ธนบุรี และสมุทรปราการ ก็เริ่มใช้ไฟฟ้าจากเขื่อนภูมิพลได้พร้อมกันแล้ว โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระ ราชดำเนินไปทรงสับไกเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่เขื่อนนั้นเป็นปฐมฤกษ์ การที่เขื่อนภูมิพลสามารถผลิตกำลังไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นนี้ จะทำให้ค่ากระแสไฟฟ้าในเขตของโครงการเขื่อนภูมิพลลดลงอีกด้วย

ค่าก่อสร้างตัวเขื่อน โรงไฟฟ้า รวมทั้งค่าสร้างสายเอก สายรอง และสถานีปลายทางที่จังหวัดต่างๆ อันเป็นงานในระยะแรกนั้น เป็นเงินทั้งสิ้น ๒,๒๕๐ ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินกู้จากธนาคารโลก ๖๖ ล้านเหรียญอเมริกัน ในส่วนที่เป็นเงิน บาทนั้น เป็นค่าซื้อที่ดินและค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ๑๐๓ ล้านบาท เป็นค่าภาษี ๕๗ ล้านบาท ในส่วนที่เป็นเงินตราต่างประเทศ เป็นค่าดอกเบี้ยในระหว่างก่อสร้าง ๑๐ ล้านเหรียญอเมริกัน ถึงการสร้างเขื่อนภูมิพลจะต้องใช้เงินมากมาย ตามจำนวนดังกล่าวมา แต่เมื่อคำนึงถึงผลที่เขื่อนภูมิพลจะช่วยให้เกิดในการพัฒนาประเทศแล้ว จะเห็นว่าประโยชน์ที่จะได้ในภายหน้านั้น ท่วมท้นค่าก่อสร้างเหลือคณนาทีเดียว

( เก็บความจากคำกราบบังคมทูลของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเขื่อนภูมิพล ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๐๗ และหนังสือที่ระลึกเนื่องในวาระนั้นของกรมชลประทาน กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ )
Back to top
View user's profile Send private message
Rakpong
President
President


Joined: 29/03/2006
Posts: 1716
Location: แคว้นโบราณ ด่านเจดีย์ มณีเมืองกาญจน์ สะพานข้ามแม่น้ำแคว แหล่งแร่น้ำตก

PostPosted: 04/11/2011 7:28 pm    Post subject: Reply with quote

อืมม+ กระทู้นี้ ถูกดึงออกมาอีกครั้ง ขึ้นกระทู้แนะนำของ pantip.com เสียด้วย

http://www.pantip.com/cafe/wahkor/topic/X11287194/X11287194.html
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 04/11/2011 9:11 pm    Post subject: Reply with quote

หวังว่าคงไม่ใช่เรื่องปล่อยน้ำทิ้งจนท่วมบ้านท่วมเมืองในขณะนี้นะครับ คุณหมอ Razz
Back to top
View user's profile Send private message
CivilSpice
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 18/03/2006
Posts: 11192
Location: หนองวัวหนุ่มสเตชั่น

PostPosted: 04/11/2011 9:31 pm    Post subject: Reply with quote

พี่ตึ๋ง wrote:
หวังว่าคงไม่ใช่เรื่องปล่อยน้ำทิ้งจนท่วมบ้านท่วมเมืองในขณะนี้นะครับ คุณหมอ


กระแสกำลังแรงเลยครับช่วงนี้ หลายๆ คนก็เหมาว่าต้นเหตุของอุทกภัยหนักในเมืองกรุงครั้งนี้ ก็มาจากเขื่อนภูมิพล + เขื่อนสิริกิติ์ ที่ปล่อยน้ำจากระดับเก็บกักมามากเกินไป รวมถึงเอาไปโยงเป็นประเด็นการเมืองไปซะโน่น

Laughing
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
kikoo
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 01/02/2010
Posts: 1667
Location: มอ.ตรัง และ สถานีตรัง

PostPosted: 05/11/2011 9:14 am    Post subject: Reply with quote

^
เดี๋ยวนี้ห้องหว้ากอก็ไม่ต่างกับห้องราขดำเนินแล้วล่ะครับ Rolling Eyes
_________________
ความคืบหน้าโครงการปรับปรุงทางช่วงที่วัง-กันตัง
http://portal.rotfaithai.com/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=5618
Back to top
View user's profile Send private message Send e-mail
wiriya_aek
2nd Class Pass
2nd Class Pass


Joined: 02/11/2009
Posts: 527
Location: สายสงขลา

PostPosted: 05/11/2011 11:49 am    Post subject: Reply with quote

ขออนุญาต นำข้อความในกระทู้ไปเผยแพร่ต่อ ใน gimyong.com ครับ โดยลงเครดิต black_express Rotfaithai.com ครับ

ในเว็บก็มีคนกลุ่มหนึ่ง บ่นเรื่องน้ำจากเขื่อน แบบที่พี่บอมบ์กล่าวถึงอ่ะครับ เลยอยากนำเสนอเนื้อหาสาระของเขื่อนบ้าง
_________________
:: ร่วมปลุกเส้นทางสายสงขลาให้กลับมามีชีวิตชีวา ในโอกาสที่จะใกล้ครบ 100 ปี หลังจากหลับใหลไปในความทรงจำกว่า30 ปี :: http://www.facebook.com/songkhlastation
Back to top
View user's profile Send private message Send e-mail Visit poster's website MSN Messenger
mozart
3rd Class Pass
3rd Class Pass


Joined: 04/03/2010
Posts: 205
Location: คูคต ปทุมธานี

PostPosted: 07/11/2011 11:42 am    Post subject: Reply with quote

เข้ามาอ่านสาระครับ Very Happy
_________________
Click on the image for full size
Back to top
View user's profile Send private message Send e-mail Visit poster's website
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> สัพเพเหระ All times are GMT + 7 Hours
Page 1 of 1

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©