Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Ads Service

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311287
ทั่วไป:13270230
ทั้งหมด:13581517
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - เรื่องจากอดีต : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

เรื่องจากอดีต : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
Goto page 1, 2, 3, 4  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> สัพเพเหระ
View previous topic :: View next topic  
Author Message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 29/02/2012 8:58 pm    Post subject: เรื่องจากอดีต : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ Reply with quote

สวัสดีครับ...

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จากหน้า facebook ผมเห็น ครูนน (narita_express) เล่าเรื่องของ มอ. หรือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อยู่หลายตอน ทำให้ผมนึกย้อนไปถึงเรื่องราวในอดีตเกี่ยวกับความเป็นมาของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ จากนิตยสาร "เสรีภาพ" ของสำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพฯ ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ราวช่วงปี 2510 (กระมัง?) เลยขอนำมาให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษากันดูนะครับ

หากเรื่องราวนี้มีประโยชน์ประการใดแล้ว คงขอยกให้กับ ครูนน (narita_express) แห่ง มอ.วิทยาเขตปัตตานี ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมขุดค้นเรื่องนี้ขึ้นมาสู่สายตาทุกท่านครับ Razz

.....................

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

จากนิตยสาร เสรีภาพ สำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพฯ

Click on the image for full size

“การศึกษา เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการสร้างความเจริญก้าวหน้า และความเข้าใจอันดีของประชาชน...” ฯพณฯ จอมพลถนอม กิตติขจร

ในปัจจุบัน อันเป็นสมัยพัฒนาการ รัฐบาลได้พิจารณาดำเนินการพัฒนาจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ สำหรับภาคใต้ ทางราชการได้ทำการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาจังหวัดภาคใต้ โดยมี ฯพณฯ พันเอกพิเศษ ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน ให้มีหน้าที่ดำเนินการพัฒนาในด้านการเศรษฐกิจ คมนาคม ศึกษา และสวัสดิการให้เจริญยิ่งขึ้น

ในด้านการพัฒนาการศึกษา รัฐบาลเห็นว่า การศึกษาเป็นมาตรการสำคัญที่จะชักจูงให้ประชาชนได้สำนึกถึงความเป็นไทยของคนไทยโดยแท้จริง และส่งเสริมความรู้ และความสามารถในการประกอบสัมมาอาชีวะ พร้อมกันก็เป็นการวางรากฐานในการพัฒนาในด้านบุคคล อันเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของประเทศต่อไปในอนาคต ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นได้ว่า รัฐบาลได้ใช้งบประมาณในการก่อสร้างบูรณะโรงเรียนมากกว่าที่อื่น โดยจัดทำหลักสูตรเป็นพิเศษให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งเพิ่มปริมาณโรงเรียน และปรับปรุงคุณภาพการสอนในระดับประถมศึกษาตอนต้น กับเร่งรัดการขยายการศึกษาภาคบังคับให้สอดคล้องกับนโยบายในด้านการปกครองในเขตจังหวัดชายแดนเป็นพิเศษ

รัฐบาลได้ตระหนักดีว่า การศึกษาเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่ง ในการสร้างความเจริญก้าวหน้า และความเข้าใจอันดีของประชาชน และเห็นว่า เยาวชนในภูมิภาคทางใต้นี้ยังไม่มีสถาบันการศึกษาชั้นสูง ต้องเดินทางเข้าไปศึกษายังประเทศใกล้เคียง เช่น ปีนัง สิงคโปร์ เป็นต้น ซึ่งทั้งสองกรณีนี้ นอกจากจะเป็นการสิ้นเปลืองเงินทองอย่างมากมายแล้ว ยังทำให้เยาวชนต้องจากครอบครัวของตนไปอยู่ในที่ห่างไกล ไม่อาจจะพบปะพ่อแม่พี่น้องของตนได้สะดวก เป็นการเหินห่างไปจากแหล่งกำเนิดและภูมิลำเนาของตน ฉะนั้น งานสำคัญที่คณะกรรมการพัฒนาภาคใต้ได้มองเห็นความสำคัญก็คือ โดยการจัดตั้งมหาวิทยาลัยภาคใต้

รัฐบาลเห็นพ้องกับข้อเสนอของคณะกรรมการพัฒนาภาคใต้ จึงได้มอบหมายให้ทางคณะกรรมการฯ ดำเนินการเร่งรัดงานด้านการจัดตั้งสถาบันการศึกษาขั้นอุดมศึกษานี้ และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานก่อตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๐๘ โดยมี ฯพณฯ พันเอกพิเศษ ถนัด คอมันตร์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาภาคใต้เป็นประธานดำเนินงานก่อตั้งมหาวิทยาลัย ประกอบด้วยผู้แทนจากส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ


Last edited by black_express on 29/02/2012 10:15 pm; edited 3 times in total
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 29/02/2012 9:01 pm    Post subject: Reply with quote

Click on the image for full size

เมื่อได้มีการริเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยภาคใต้ ปรากฏว่า ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายรวมทั้งประชาชนในภูมิภาคนี้เป็นอย่างดี จึงทำให้การดำเนินงานสำเร็จลุล่วงและก้าวหน้ามาเป็นลำดับ โดยได้กำหนดให้มหาวิทยาลัยภาคใต้ มีศูนย์ศึกษาของมหาวิทยาลัย ๒ แห่งคือ ศูนย์ศึกษาจังหวัดปัตตานี ตั้งอยู่ที่ชายทะเล ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมืองปัตตานี และศูนย์ศึกษาจังหวัดสงขลา ตั้งอยู่ที่ตำบลคอหงษ์ อำเภอหาดใหญ่

ในด้านประชาชนชาวภาคใต้ เมื่อได้ทราบความประสงค์และนโยบายของรัฐบาลในอันที่จะพัฒนาด้านการศึกษานี้ ต่างมีความกระตือรือร้น สนใจ ถึงกับแสดงความจำนง มอบที่ดินให้แก่ทางราชการเพื่อร่วมในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยโดยไม่คิดมูลค่า และยิ่งกว่านั้น ยังพร้อมที่จะออกเงินสมทบอีกจำนวนหนึ่งด้วย ที่จังหวัดสงขลา คุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร คหบดีจังหวัดพระนคร ได้บริจาคที่ดินโดยน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินมีเนื้อที่ ๖๙๐ ไร่ ๑ งาน ๗ วา ถ้าคิดเป็นมูลค่าแล้วประมาณ ๑๐ ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ตำบลคอหงษ์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อพระราชทานแก่มหาวิทยาลัยภาคใต้ ใช้สร้างเป็นศูนย์ศึกษาแห่งที่สองของมหาวิทยาลัยภาคใต้

Click on the image for full size

เมื่อได้กำหนดที่ตั้งของศูนย์ศึกษาของมหาวิทยาลัยแล้ว การก่อสร้างมหาวิทยาลัยภาคใต้ที่ศูนย์จังหวัดปัตตานีได้เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๙ และได้ดำเนินการก่อสร้างโดยไม่หยุดยั้งมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ อาคารต่างๆ ที่ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จไปเป็นส่วนใหญ่ รายการที่ได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย ได้แก่ตึกอำนวยการและหอประชุม อาคารเรียน หอพักนักศึกษา ตึกพักอาจารย์ โรงฝึกงาน หอถังประปา โรงกรองและเสาไฟฟ้าภายใน เสาธง ถมที่และปรับปรุงบริเวณพร้อมด้วยทำถนนเพิ่มเติม จากนั้นก็ได้กำหนดให้ศูนย์ศึกษาของมหาวิทยาลัยที่ปัตตานี เป็นที่ตั้งของคณะครุศาสตร์ ซึ่งมีโรงเรียนสาธิตรวมอยู่ด้วย

ความสำคัญของคณะวิชานี้ จะเป็นการช่วยผลิตครูระดับปริญญาในภาคใต้ และโรงเรียนสาธิตซึ่งขึ้นอยู่กับคณะครุศาสตร์นี้ จะมีส่วนช่วยในด้านการศึกษาของเยาวชนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงชั้นมัธยมศึกษา ๕ (ม.๘) ต่อไปนักเรียนในจังหวัดภาคใต้ จะสามารถไปศึกษาวิชาขั้น ม.ศ.๕ ที่ศูนย์ศึกษาของมหาวิทยาลัยที่จังหวัดปัตตานีได้โดยไม่ต้องเดินทางเข้ามาศึกษาในกรุงเทพฯ ส่วนศูนย์ศึกษาจังหวัดสงขลานั้น เป็นที่ตั้งของคณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และตามโครงการนี้จะเป็นที่ตั้งของคณะแพทยศาสตร์ และเกษตรกรรมศาสตร์ต่อไป
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 29/02/2012 9:02 pm    Post subject: Reply with quote

Click on the image for full size

เมื่อปีการศึกษา ๒๕๑๐ นี้เอง สภาการศึกษาแห่งชาติได้ดำเนินการสอบคัดเลือกและรับนักศึกษาเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยภาคใต้ไว้ได้ ๔๙ คน ซึ่งในขั้นแรกนี้ ได้เปิดสอนนักศึกษาที่จะเข้าเรียนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเครื่องกล และวิศวกรรมโยธา ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความจำเป็น และความต้องการโดยรีบด่วนที่จะต้องมีนายช่างและผู้ที่มีความรู้ทางวิศวกรรมสำหรับงานอุตสาหกรรมซึ่งกำลังจะทวีความสำคัญยิ่งขึ้นทั้งในภาคใต้และภาคอื่นๆ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เปิดรับเข้าเรียนไว้ทั้ง ๔๙ คนนั้น ทางมหาวิทยาลัยยังต้องฝากเรียนอยู่กับคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถนนศรีอยุธยา จังหวัดพระนคร ไปพลางก่อน เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างรอการก่อสร้างตึกต่างๆ ให้เสร็จ และติดตั้งเครื่องมือหนักของทั้งสามประเภทวิชาที่ศูนย์อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เนื่องจากวิชาที่สอนในชั้นปีที่ ๑ และ ๒ เป็นหลักสูตรเดียวกันทุกสาขาประเภทวิชา คือ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ภาษาอังกฤษ เศรษฐศาสตร์ อุตสาหการ กลศาสตร์ประยุกต์ กลศาสตร์ของไหล เทอรโมไดนามิคส์ วิชาโครงสร้าง วิชาไฟฟ้าประยุกต์ และวิชาพื้นฐานวิศวกรรม เขียนแบบ ช่างฝีมือ วัสดุวิศวกรรม และการสำรวจ เป็นต้น นักศึกษาทั้งสามประเภทวิชาจึงเรียนร่วมกันได้

ในปีการศึกษา ๒๕๑๑ นี้ จะเปิดสอนครุศาสตร์ ประเภทวิชาวิทยาศาสตร์และประเภทวิชาอักษรศาสตร์ หลักสูตรปริญญาตรี กำหนดเวลาเรียน ๔ ปีเช่นกัน โดยทางมหาวิทยาลัยเน้นหนักความสำคัญทางด้านวิชาการให้มากที่สุดเท่าๆ กับหลักสูตรการศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ และอักษรศาสตร์โดยตรง ดังนั้น นักศึกษาที่เรียนดีเด่นอาจได้รับการพิจารณาจากมหาวิทยาลัยให้เปลี่ยนมาเรียนทางคณะวิทยาศาสตร์ หรือคณะอักษรศาสตร์ที่จะจัดตั้งต่อไปได้เมื่อเจ้าตัวสมัครใจ ในทางกลับกัน ผู้ที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตร์หรืออักษรศาสตร์ปีที่ ๒ หรือ ๓ ก็อาจจะขอโอนมาเรียนคณะครุศาสตร์ก็ได้โดยความยินยอมของมหาวิทยาลัย

นอกจากนั้น ยังจัดให้มีทุนการศึกษาขึ้นสำหรับนักศึกษาที่เรียนดี มีความประพฤติเรียบร้อย แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ จำนวนประมาณ ๓๐ ทุน ทุนละ ๕,๐๐๐ บาทต่อปี
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 29/02/2012 9:04 pm    Post subject: Reply with quote

Click on the image for full size

ในด้านการจัดหาอาจารย์ของมหาวิทยาลัยภาคใต้นี้ นับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญไม่น้อยกว่าตัวสถานศึกษา แต่อย่างไรก็ดี ปรากฎว่า มหาวิทยาลัยภาคใต้ได้รับความร่วมมือจากอาจารย์ในด้านวิชาการต่างๆ ทั้งภายในประเทศและอาจารย์จากต่างประเทศที่สมัครใจไปสอนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น ได้อาจารย์จากต่างประเทศตามโครงการให้ความช่วยเหลือของประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป้นต้น การสร้างมหาวิทยาลัยภาคใต้นี้ นอกจากจะเป้นเรื่องที่รัฐบาลไทยดำเนินการโดยตรง และได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาลต่างประเทศแล้ว องค์กรธุรกิจในต่างประเทศ เช่น นายเจมส์ เอ. ไลเนน ประธานกรรมการบริษัทไทม์-ไล้ฟ์ แห่งสหรัฐอเมริกา ยังได้ช่วยเหลือจัดคณะผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐอเมริกาเดินทางมาสำรวจและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการตั้งมหาวิทยาลัยภาคใต้นี้ และยังได้ชักชวนบริษัทต่างๆ ในสหรัฐอีกเป็นจำนวนมาก ให้บริจาคเงินช่วยสนับสนุนด้วย และขณะนี้ ทางมหาวิทยาลัยกำลังติดต่อขอความช่วยเหลือจากองค์การเร่งรัดพัฒนาชนบท (AID) ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอยู่

เมื่อมหาวิทยาลัยภาคใต้นี้ได้จัดตั้งขึ้นแล้ว จากการที่ได้รับความร่วมมือร่วมใจและได้รับการสนับสนุนหลายฝ่ายทั้งรัฐและเอกชน จึงเป็นที่หวังได้ว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นสถาบันการศึกษาที่จะอำนวยประโยชน์แก่ปรชาชนชาวไทยในภูมิภาคนี้ ในด้านประสิทธิประสาทวิทยาการให้แก่กุลบุตรกุลธิดาของชาวไทยภาคใต้เท่านั้น แต่ยังจะช่วยส่งเสริมการศึกษาให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงอีกด้วย และยังจะทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีลักษณะเป็นสถาบันระหว่างประเทศอีกด้วย สิ่งที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่งก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อมหาวิทยาลัยภาคใต้นี้ว่า สงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นพระนามของสมเด็จพระราชบิดา ผู้ซึ่งได้ทรงบำเพ็ญกรณียกิจเป็นคุณประโยชน์ต่อบ้านเมืองมาแล้วอย่างมากมาย
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 29/02/2012 9:08 pm    Post subject: Reply with quote

Click on the image for full size

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มิได้เป็นมหาวิทยาลัยที่น้อยหน้ามหาวิทยาลัยใดๆ ในเมืองไทยเลย ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ กรรมการผู้ดำเนินงานก่อตั้งมหาวิทยาลัยภาคใต้แห่งนี้กล่าวกับเราในโอกาสที่เราได้ไปขอพบเพื่อขอทราบรายละเอียดเรื่องราวเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยภาคใต้เพื่อนำผลงานที่สำคัญนี้มาเผยแพร่ให้เป็นที่รู้แก่ประชาชนทั่วไป

“...คือเป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบ รับนิสิตนักศึกษาทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะแต่นักเรียนในภาคใต้เท่านั้น จากภาคไหนก็เข้าเรียนได้ ถ้าสอบผ่านเข้ามาได้ แต่นั่นแหละ เมื่อสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยอยู่ทางภาคใต้ ก็ย่อมเป็นการสะดวกสำหรับชาวใต้มากกว่าชาวภาคอื่นหน่อยเท่านั้นเอง นิสิตที่รับเมื่อปี ๒๕๑๐ ก็มาจากทุกภาคในประเทศไทย มาจากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้...”

“เมื่อวานนี้เอง” ดร.สตางค์หมายถึงวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ศกนี้ “สภานิติบัญญัติได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เสร็จแล้วและอนุมัติแล้ว เราจะได้เริ่มงานของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามแบบแผนและถูกต้องตามกฎหมายไปได้อย่างเต็มไม้เต็มมือทีเดียว”
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 29/02/2012 9:10 pm    Post subject: Reply with quote

Click on the image for full size

ในด้านนักศึกษาที่เข้าเรียนในปี ๒๕๑๐ จากการพบจากบุญฑริก ศิริสัมพันธ์ นิสิตปีที่ ๑ และเป็นผู้แทนของนิสิตทั้ง ๔๙ คน ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ที่คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ พญาไท กล่าวอย่างภูมิใจว่า “พวกผมนี่เป็นนิสิตรุ่นแรกของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ครับ เราเรียนที่นี่มาหนึ่งปีแล้ว ปีต่อไป พวกเราทั้งหมดก็ยังคงเรียนอยู่ที่กรุงเทพฯ นี่แหละครับ ปีที่ ๓ ก็อาจจะได้ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยของเรา” บุญฑริกหมายถึงมหาวิทยาลัยภาคใต้

“ผมเป็นคนกรุงเทพฯ นี่เอง ภูมิลำเนาขณะนี้ก็อยู่กรุงเทพฯ แต่พวกเรานิสิตรุ่นแรกนี่มาจากทุกภาค ภาคเหนือ ใต้ กลาง อีสาน ตะวันออกเฉียงใต้ พูดถึงภาคใต้ ผมกล้ากล่าวได้ว่า ความรู้สึกของนิสิตทุกคนในขณะนี้อยากจะได้ไปเรียนและใช้ชีวิตในภาคใต้ และรู้จักพี่น้องของเราที่อยู่ภาคใต้ให้ดีขึ้น”

“สำหรับผม การที่ต้องจากผู้ปกครองไปชั่วคราวไม่เป็นไรหรอกครับ ผมมีเพื่อนนิสิตชาวใต้อยู่เยอะแยะแล้วครับ” บุญฑริกว่า

“ผมก็เหมือนกัน” วรชัย เดชโยธิน นิสิตคนหนึ่งในคณะนี้เอ่ยขึ้นบ้าง “ผมอยู่ถึงร้อยเอ็ด แต่ก็รู้สึกยินดีมากที่ได้มาร่วมสำนักศึกษากับเพื่อนจากภาคต่างๆ ทำให้พวกเรามีความสัมพันธ์อันดีกันยิ่งขึ้นระหว่างภาคต่างๆ เหล่านั้นดีขึ้น และคิดว่า ถ้าผมเรียนจบไปแล้ว จะกลับไปทำงานทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วยพัฒนาอีสานไม่ให้น้อยหน้าใครเหมือนกัน”

สมโภช โภชน์จันทร์ นิสิตหนุ่มจากอุตรดิตถ์ จังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย ให้ความเห็นสั้นๆ ตามประสาของคนพูดน้อยว่า เหนือ หรือใต้ หรือภาคไหนของเมืองไทยของเราก็ตาม แม้จะเรียนจบแล้ว และต่างคนต่างก็แยกย้ายกันไปทำงานอยู่แห่งใด ก็ไม่มีอะไรจะมาแยกน้ำใจของพวกเราออกจากกันได้

“ภาคใต้เป็นภูมิลำเนาของผมก็จริง และเมื่อถึงเวลาที่เราย้ายไปเรียนกันที่ภาคใต้ ผมก็อาจจะได้เปรียบเพื่อนนิดหน่อยที่ได้อยู่ใกล้พ่อแม่พี่น้องมากกว่าเพื่อน แต่ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน มาจากท้องที่ใกล้ไกลเพียงใด ภูมิลำเนาต่างกันมิได้ทำให้ใจเราต่างกัน ดีเสียอีกที่พวกเรามาจากภาคต่างๆ กัน เพราะเมื่อเรียนจบแล้ว ผมจะได้มีเพื่อนอยู่ทุกภาคเลย และเชื่อว่าต่างคนต่างก็คงอยากจะกลับไปพัฒนาบ้านเมืองของตน ซึ่งสรุปแล้วก็เป็นการพัฒนาบ้านเมืองของเราทั้งหมดนั่นเอง” ปรีดี ณ สงขลา นิสิตจากภาคใต้เงยหน้าขึ้นจากงานทดลองเครื่องไฟฟ้าเอ่ยกับเรา “แต่ผมจะขอพัฒนาภาคใต้ให้เต็มมือหน่อย” วิศวกรไฟฟ้าในอนาคตกล่าวในที่สุด.

.........................
Back to top
View user's profile Send private message
kikoo
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 01/02/2010
Posts: 1667
Location: มอ.ตรัง และ สถานีตรัง

PostPosted: 01/03/2012 12:27 pm    Post subject: Reply with quote

ตอนผมเข้าเรียนปี1(ปี2551) มอ.อายุครบ40ปีพอดี...

แต่เห็นพี่black_expressนำเรื่องราวของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มาลงไว้

ผมเลยขอฝากเพลง"เขตรั้วสีบลู"นี้ไว้นะครับ



ในช่วงต้นของเนื้อเพลงจะมีคำว่า"รูสะมิแล"ซึ่งน่าจะหมายถึงตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(ผมขอเรียกว่าวิทยาเขตแรกก็แล้วกันนะครับ)ครับ

ส่วนคำว่า"คอหงส์"คงจะหมายถึงตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ครับ

/-------------------------------
เมื่อวานนี้สอบวันสุดท้าย และครั้งสุดท้ายใชีวิตนักศึกษา(ผมเรียนที่มอ.ตรัง) เหลือแค่รอใบวุฒิ รอเกรดออก และรอประกาศเรื่องขึ้นทะเบียนบัณฑิตจากทางมหาวิทยาลัย(อันคงรออีกหลายเดือน)ครับ

ปล. รอรับชมอยู่นะครับ
Very Happy
_________________
ความคืบหน้าโครงการปรับปรุงทางช่วงที่วัง-กันตัง
http://portal.rotfaithai.com/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=5618
Back to top
View user's profile Send private message Send e-mail
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44615
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 01/03/2012 12:49 pm    Post subject: Reply with quote

เพลงเขตรั้วสีบลู ที่คุณ kikoo นำมาให้ฟังนี้ เป็นเวอร์ชั่น original ของวงสุนทราภรณ์ ขับร้องโดยคุณบุษยา รังสีครับ
เท่าที่ทราบ ลิขสิทธิ์เพลงเป็นของวงสุนทราภรณ์ ทางมหาวิทยาลัยจึงไม่สามารถนำมา remaster หรือขับร้องบันทึกเสียงใหม่อย่างเป็นทางการได้ ใน MV ช่วงแรกก็มีส่วนที่ขาดหายไป (เหมือนฟิล์มหรือวิดีโอชำรุด) และเมื่อกลับมาใหม่ก็มีคุณภาพเสียงไม่เท่ากันครับ อาจจะต้องรอให้ครบ 50 ปี แล้วเพลงตกเป็นสมบัติของชาติ อาจจะนำมาบูรณะ บันทึกเสียงใหม่กันครับ

ผมเองไม่เคยเรียนระดับอุดมศึกษาที่ ม.สงขลานครินทร์ครับ แต่เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนสาธิต มอ.ปัตตานี รุ่นที่ 16 เข้า ม.1 ปีการศึกษา 2526 เรียน ม.1-ม.3 ครับ ไปอยู่หอพักเอกชนข้าง ๆ มอ.นั่นแหละครับ เวลากลับบ้านที่เทพาวันศุกร์และกลับไปปัตตานีวันอาทิตย์ ก็ต้องขึ้นรถไฟจากสถานีเทพา-โคกโพธิ์ 2 บาทตลอด (แล้วต่อรถประจำทางโคกโพธิ์-ปัตตานี)

วิดีโอ อัดจากโทรทัศน์ช่อง 10 หาดใหญ่ รายการข่าวท้องถิ่นช่วงค่ำ เมื่อคราวที่ผมไปสอบเอ็นทรานส์ ใช้สถานที่สอบที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ หาดใหญ่ เดือนเมษายน 2530 (25 ปีมาแล้ว) สภาพวิดีโอ VHS ชำรุด ภาพล้มเป็นระยะ ไม่มีเสียงแล้วครับ เป็นครั้งเดียวที่ได้ออกทีวี นาทีที่ 0:27 ครับ



ดีใจที่ได้เห็นภาพสีของหอประชุม มอ.ปัตตานี ในยุคก่อนผมเกิดครับ ขอบคุณพี่ตึ๋งมาก รอชมต่อครับ
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 01/03/2012 1:21 pm    Post subject: Reply with quote

เรื่องเกี่ยวกับ มอ.มีเพียงเท่านี้เองครับ อ.หม่อง แต่ยินดีที่มีศิษย์เก่าหลายท่าน มารวมกันอยู่ในเว็บไซต์เรา Laughing
Back to top
View user's profile Send private message
manutd_eak
3rd Class Pass
3rd Class Pass


Joined: 05/10/2009
Posts: 176
Location: ธำ - หใ

PostPosted: 01/03/2012 1:38 pm    Post subject: Reply with quote

ขอบคุณครับที่นำภาพหายากมาให้ชมกัน
ผมเรียนมา 3 ปีแล้วยังไม่เคยเห็นภาพเหล่านี้เลยครับ
Very Happy
_________________
INTANIA@PSU
Back to top
View user's profile Send private message Send e-mail MSN Messenger
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> สัพเพเหระ All times are GMT + 7 Hours
Goto page 1, 2, 3, 4  Next
Page 1 of 4

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©