Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Ads Service

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311232
ทั่วไป:13180103
ทั้งหมด:13491335
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าวแผนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ 2558-65
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ข่าวแผนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ 2558-65
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 118, 119, 120, 121, 122, 123  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44324
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 04/11/2021 8:23 pm    Post subject: Reply with quote

คมนาคมรุกเปิดรับฟังคนอีสาน ดันแผนแม่บทโครงข่ายมอเตอร์เวย์-ระบบราง เผย 4 แนวเส้นทางผ่านอีสานใต้
เผยแพร่: 4 พ.ย. 2564 20:01 ปรับปรุง: 4 พ.ย. 2564 20:01 โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- ก.คมนาคม รุกเปิดรับฟังความเห็นชาวอีสาน จัดทำแผนแม่บทการพัฒนา“โครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง” ตามแนวคิดบูรณาการพัฒนาและใช้ประโยชน์ร่วมกัน ชี้เป็นการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน เผย 4 เส้นทางมอเตอร์เวย์-ระบบราง ผ่านพื้นที่อีสานใต้ตอนล่าง

วันนี้ ( 4 พ.ย. ) ที่โรงแรมแคนทารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายภูมิสิทธิ์ วังคีรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังประชุมทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Cloud Meetings) พื้นที่ภาตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และพื้นที่ภาคตะวันออก กลุ่มที่ 1 โดยมี นายนิรันดร์ สุขรักขินสุขิณี วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ สำนักงานทางหลวงที่ 10 นครราชสีมา พร้อม ดร.ชุมโชค นันทวิชิต ผู้จัดการโครงการงานศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนา “โครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-MAP)” นำเสนอข้อมูลงานศึกษา

Click on the image for full size

ทั้งนี้เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายรับทราบการพัฒนาโครงข่ายทางถนนที่ยังขาดการบูรณาการร่วมกับการพัฒนาโครงข่ายทางราง ทำให้เกิดปัญหาการเวนคืนพื้นที่ การแบ่งแยกชุมชนและขาดการยอมรับของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งการพัฒนาโครงข่ายทางถนนและโครงข่ายทางรางที่เน้นการพัฒนาไปในพื้นที่ชุมชนที่มีความเจริญอยู่แล้ว ทำให้จำกัดการพัฒนาเมือง ไม่มีการกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ใหม่

ดร.ชุมโชค นันทวิชิต ผู้จัดการโครงการงานศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนา “โครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-MAP)” กล่าวว่าตามที่ กองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กรมทางหลวง ได้ว่า จ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งประกอบด้วย บริษัท พีเอสเค คอนซัลแทนส์ จำกัด บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด และบริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาโครงการงานศึกษาจัดทำแผนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และระบบราง (MR-MAP) พร้อมการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Pre-Feasibility Study) รวมทั้งศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นของเส้นทางในโครงข่าย MR-MAP

ในการดำเนินโครงการกรมทางหลวงได้เล็งเห็นความสำคัญของกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตลอดจนส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงจัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ครั้งที่ 1) ในวันนี้ทั้งนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการสร้างความรับรู้ รวมทั้งรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะและความต้องการจากทุกภาคส่วน มาประกอบการพิจารณาในการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง และการออกแบบแนวเส้นทางที่เหมาะสมต่อไป

สำหรับเส้นทาง MR-MAP ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และพื้นที่ภาคตะวันออก กลุ่มที่ 1การศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เบื้องต้น (Pre-Feasibility Study) ของโครงการจะดำเนินการศึกษาให้ครอบคลุมในทุกเส้นทางตามแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และ ระบบราง (MR-MAP) ทั้งนี้ระหว่างการดำเนินการศึกษาความเหมาะสมฯ เบื้องต้น จะต้องดำเนินการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของการศึกษาความเหมาะสมของแนวเส้นทาง การออกแบบเบื้องต้น และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อพื้นที่ที่โครงการพาดผ่าน เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับรู้และเข้าใจ รวมทั้งสามารถแสดงความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เพื่อโครงการสามารถนำไปเป็นข้อมูลในการพิจารณาปรับปรุงการศึกษาความเหมาะสมฯ ของโครงการให้มีความสอดคล้องกับสภาพพื้นที่และความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด

ดังนั้น การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ ได้เลือกแนวเส้นทางในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และพื้นที่ภาคตะวันออก มานำเสนอต่อประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย

1.เส้นทาง MR2 กรุงเทพฯ/ชลบุรี(แหลมฉบัง)-หนองคาย (ด่านหนองคาย) ช่วงชลบุรี(แหลมฉบัง)-นครราชสีมา

2. เส้นทาง MR2 กรุงเทพฯ/ชลบุรี(แหลมฉบัง)-หนองคาย (ด่านหนองคาย) ช่วงนครราชสีมา-ขอนแก่น

3. เส้นทาง MR5 กาญจนบุรี(ด่านเจดีย์สามองค์)-อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6) ช่วงนครราชสีมา-อุบลราชธานี

4.เส้นทาง MR5 กาญจนบุรี(ด่านเจดีย์สามองค์)-อุบลราชธานี(สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6) ช่วง นครสวรรค์-ชัยภูมิ-นครราชสีมา

5. เส้นทาง MR6 กาญจนบุรี(ด่านพุน้ำร้อน)-สระแก้ว (อรัญประเทศ) ช่วงปราจีนบุรี-สระแก้ว (อรัญประเทศ)

Click on the image for full size

ทั้งนี้ เส้นทาง MR2 กรุงเทพฯ/ชลบุรี(แหลมฉบัง)-หนองคาย (ด่านหนองคาย) ช่วงชลบุรี(แหลมฉบัง)-นครราชสีมา จุดเริ่มต้นโครงการที่ ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ต.บางละมุง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี จุดสิ้นสุดโครงการที่ บริเวณ ต.ด่านจาก อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ระยะทางรวม 297 กิโลเมตรโดยแนวเส้นทางผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด 17 อำเภอ ได้แก่ จ.ชลบุรี: อ.เกาะจันทร์ อ.บ่อทอง อ.บ้านบึง อ.หนองใหญ่ และ อ.ศรีราชา , จ.ฉะเชิงเทรา : อ.สนามชัยเขต และ อ.แปลงยาว , จ.ปราจีนบุรี: อ.นาดี อ.กบินทร์บุรี และ อ.ศรีมหาโพธิ และ จ.นครราชสีมา : อ.โนนไทย อ.โนนสูง อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.เมืองนครราชสีมา อ.โชคชัย อ.ปักธงชัย และ อ.วังน้ำเขียว

การพัฒนาแนวเส้นทาง ช่วงชลบุรี (แหลมฉบัง)-ปราจีนบุรี พัฒนาเป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง โดยใช้แนวเส้นทางตามการออกแบบของโครงการมอเตอร์เวย์ ตอนชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง)-ปราจีนบุรี (ทล.359) และ ช่วงปราจีนบุรี-นครราชสีมา พัฒนาเป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับระบบราง โดยเป็นแนวใหม่ทั้งคู่ แนวเส้นทาง MR2 ช่วงชลบุรี (แหลมฉบัง)-นครราชสีมา

แนวเส้นทาง MR2 ช่วงชลบุรี(แหลมฉบัง)-นครราชสีมา จะมีช่วงที่ผ่านพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติทับลาน มีการออกแบบให้เป็นอุโมงค์รถยนต์ จำนวน 2 แห่ง และอุโมงค์รถไฟ จำนวน 2 แห่ง

Click on the image for full size

ดร.ชุมโชค กล่าวอีกว่า โครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-MAP) ถือเป็นการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยกระทรวงคมนาคมมีแนวคิด การบูรณาการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงและโครงข่ายทางรถไฟที่ใช้เขตทางพร้อมกัน 10 เส้นทาง ได้แก่ แนวเหนือ-ใต้ 3 เส้นทาง แนวตะวันออก-ตะวันตก 6 เส้นทาง และ แนวทางเส้นทางเชื่อมต่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 1 เส้นทาง ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทความต้องการเดินทางและขนส่งของประเทศ ตลอดจนสร้างการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานด้านคมนาคมขนส่ง จะทำให้การดำเนินงานตามแผนแม่บทโครงข่ายถนนและระบบราง มีประสิทธิภาพและเป็นระบบมากขึ้น

Click on the image for full size

Click on the image for full size
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44324
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 10/11/2021 12:59 pm    Post subject: Reply with quote

การท่าเรือฯ คาดลงนาม GPC เดินหน้าแหลมฉบัง 3 ภายใน ธ.ค.นี้
กรุงเทพธุรกิจ 10 พ.ย. 2564 เวลา 12:56 น.

Click on the image for full size

กทท.เร่งลงนามท่าเรือแหลมฉบัง 3 คาดไม่เกินต้น ธ.ค.นี้ เผยเอกชนจ่ายผลตอบแทน 2.9 หมื่นล้าน ค่าผันแปรและเงินสมทบเข้ากองทุนเยียวยา

เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้ดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F หลังสำนักงานอัยการสูงสุดเห็นชอบร่างสัญญาร่วมทุนโครงการฯ กับกิจการร่วมค้า GPC เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งปัจจุบันผ่านการพิจารณาอนุมัติของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการฯ ซึ่งหลังจากผ่านการอนุมัติจาก ครม. แล้ว จะลงนามในสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT TANK) บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เบื้องต้นคาดว่าจะลงนามสัญญาได้ภายในเดือน พ.ย.นี้ หรืออย่างช้าต้น ธ.ค.2564

อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวการท่าเรือฯ ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำเป็นค่าสัมปทานคงที่เท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ที่ 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อที.อี.ยู. และกิจการร่วมค้า GPC จะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนเยียวยาความเสียหายฯ ในอัตรา 5,000 บาท/ไร่/ปี นับตั้งแต่เริ่มประกอบการ

สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มูลค่าโครงการรวมประมาณ 1.1 แสนล้านบาท(แบ่งเป็น กทท. ลงทุนประมาณ 50,000 ล้านบาท และเอกชนลงทุนประมาณ 60,000 ล้านบาท ในส่วนของเอกชนแบ่งเป็นเงินลงทุนในท่าเทียบเรือ F ประมาณ 30,000 ล้านบาท โดย กทท. จะเริ่มดำเนินการในส่วนของท่าเทียบเรือ F ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี

อีกทั้งขณะนี้ กทท. ได้ดำเนินการจัดทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ส่วนที่ 1) งานก่อสร้างงานทางทะเลกับกิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี วงเงินรวม 21,320 ล้านบาท เพื่อรองรับงานก่อสร้างท่าเทียบเรือและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือตู้สินค้า ท่าเรืออเนกประสงค์ ท่าเรือชายฝั่ง ท่าเรือบริการ งานระบบรางและย่านรถไฟ ซึ่งจะดำเนินการต่อไปในอนาคต และ กทท. ได้มีหนังสือแจ้งให้กิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี ได้เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างขออนุญาตก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำและการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ คาดว่าจะดำเนินการขออนุญาตแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ และหลังจากได้รับการอนุญาตแล้วจะเริ่มดำเนินการงานทางทะเลทันที พร้อมกันนี้ กทท. ได้ว่าจ้าง บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่งคอลซัลแตนส์ จำกัด และบริษัท โชติจินดา คอลซัลแตนส์ จำกัด เพื่อควบคุมงานก่อสร้าง โครงการฯ วงเงิน 898 ล้านบาท โดยเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว กทท. รับผิดชอบในวงเงินงบประมาณในส่วนงานโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งหมด รวมทั้งระบบสาธารณูปโภค การก่อสร้างถนน สร้างระบบทางรถไฟ และท่าเทียบเรือชายฝั่ง ทั้งนี้ การท่าเรือฯ จะออกหนังสือเริ่มงาน NTP (Notice to Proceed) ให้กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC เริ่มงานเกี่ยวกับอาคาร สิ่งปลูกสร้าง ลานวางตู้สินค้า ติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องจักรทั้งหมด เช่น ปั้นจั่นหน้าท่า ฯลฯ ได้ประมาณ ปลายปี 2566 เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการในปี 2568 เพื่อให้ทันการรองรับการขยายตัว ทางเศรษฐกิจและการค้าของประเทศ สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกทางหนึ่ง

สำหรับผลการดำเนินงานในรอบปีงบประมาณ 2564 การท่าเรือฯ มีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่า ณ ท่าเรือแหลมฉบัง 9.8 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.18 และปริมาณเรือเทียบท่ารวม 11,041 เที่ยว ลดลงร้อยละ -0.46 มีกำไรสุทธิในภาพรวมของ กทท. ประมาณ 6,023 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.99% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44324
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 10/11/2021 3:00 pm    Post subject: Reply with quote

ครม.อนุมัติเอกสารอาเซียน พัฒนา'ไฮสปีด-แหลมฉบัง3'
Source - กรุงเทพธุรกิจ
Wednesday, November 10, 2021 04:14

กรุงเทพธุรกิจ ครม.ไฟเขียวร่างเอกสารด้านการขนส่งอาเซียน-จีนเชื่อมโยงไฮสปีด- แหลมฉบังเฟส 3 พร้อมรับรองเปิดตลาดคาร์โก้ 7 สนามบินภายใต้ก.ม.ต่างด้าว

รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติเห็นชอบร่างเอกสารที่จะมีการรับรองและลงนามระหว่างการประชุม รัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 27 และการประชุม อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ร่างแผนปฏิบัติการ ปี 2564-2568 ของแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านการขนส่งอาเซียน-จีนมีโครงการความร่วมมือสำคัญระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับจีน

แบ่งออกเป็น 5 หัวข้อหลัก ได้แก่
1.โครงการความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐาน
2.โครงการความร่วมมือด้านการขนส่งทางน้ำ
3.โครงการความร่วมมือด้านการอำนวยความสะดวกในการขนส่ง
4.โครงการ ความร่วมมือด้านฐานข้อมูล และ
5.โครงการความร่วมมือทางวิชาการ
โดยมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ได้แก่ โครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน โครงการก่อสร้างท่าเรือแหลงฉบัง เฟส 3 (ท่าเรือ F) และโครงการความร่วมมือ การเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขง

ร่างพิธีสารเพื่ออนุวัติข้อผูกพันชุดที่ 12 ของบริการขนส่งทางอากาศ ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน(การลงนาม ในลักษณะเวียน (ad-referendum) ภายหลังการประชุม) เป็นเอกสารเพื่อยื่น เปิดตลาดการให้บริการคลังสินค้า ใน ท่าอากาศยาน 7 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ระยอง-พัทยา ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ท่าอากาศยาน อุดรธานี ท่าอากาศยานอุบลราชธานี ท่าอากาศยาน สุราษฎร์ธานี และท่าอากาศยานแม่สอด แบบมีเงื่อนไขว่าอนุญาตให้บุคคลสัญชาติอาเซียนถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% อำนาจบริหาร กิจการเป็นของบุคคลสัญชาติไทย ตามพ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 และต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของหรือ ผู้ดำเนินการสนามบินอนุญาต

ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไข เอกสารที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงคมนาคม (คค.) ดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้อง ขอความเห็นชอบจากครม.เมื่อลงนามแล้วให้ส่งเอกสารดังกล่าวให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนแสดงเจตนาการ มีผลผูกพันของเอกสารต่อไป

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 10 พ.ย. 2564
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 17/11/2021 12:35 pm    Post subject: Reply with quote

“คมนาคม” อัดลงทุนภาคใต้กว่า 2.1 แสนล้าน พัฒนารถไฟทางคู่ 10 เส้นทาง-ยกระดับสนามบิน
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เผยแพร่: วันพุธ ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เวลา 08:32 น.
ปรับปรุง: วันพุธ ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เวลา 08:32 น.



คมนาคมอัดลงทุนกว่า 2.1 แสนล้านยกระดับระบบขนส่งภาคใต้ สร้างรถไฟทางคู่ 10 เส้นทาง ขยายสนามบินระนองรองรับแลนด์บริดจ์ พร้อมเร่งโอนกระบี่ให้ ทอท.บริหาร

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยถึงแผนพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่ในพื้นที่ภาคใต้ว่า ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กำลังดำเนินการก่อสร้างโครงการในระยะเร่งด่วนจำนวน 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 422 กม. วงเงินลงทุน 45,358 ล้านบาท ตามแผนจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2566 ได้แก่

1. นครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กม. วงเงิน 19,270 ล้านบาท โดย
สัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม-หนองปลาไหล ณ เดือน ต.ค. 2564 คืบหน้า 93.950% เร็วกว่าแผน 1.978%
สัญญาที่ 2 ช่วงหนองปลาไหล-หัวหิน คืบหน้า 89.622% เร็วกว่าแผน 0.024%

2. หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กม. วงเงิน 9,853 ล้านบาท คืบหน้า 97.54% ล้าช้ากว่าแผน 2.46%

3. ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 16,235 ล้านบาท
สัญญา 1 ช่วงประจวบคีรีขันธ์-บางสะพานน้อย คืบหน้า 81.963% ช้ากว่าแผน 8.918%

สำหรับแผนระยะกลางปี 2565-2569 มีจำนวน 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 554 กม. วงเงินลงทุน 83,050 ล้านบาท ได้แก่
1. ชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 23,285 ล้านบาท
2. สุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 339 กม. วงเงิน 51,823 ล้านบาท อยู่ในขั้นตอนพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และเตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)
3. หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ รายงาน EIA อนุมัติแล้ว เตรียมเสนอ ครม.

แผนระยะยาวปี 2570-2579 เป็นการลงทุนก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ จำนวน 4 เส้นทาง ระยะทางรวม 419 กม. วงเงินลงทุน 98,676 ล้านบาท ได้แก่
1. ชุมพร-ระนอง ระยะทาง 109 กม. วงเงิน 29,223 ล้านบาท เตรียมออกแบบแนวใหม่ให้สอดคล้องกับโครงการแลนด์บริดจ์
2. สุราษฎร์ธานี-พังงา-ท่านุ่น ระยะทาง 163 กม. วงเงิน 36,128 ล้านบาท
3. สุราษฎร์ธานี-ดอนสัก ระยะทาง 79 กม. วงเงิน 18,102 ล้านบาท ออกแบบเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงาน EIA ตามความเห็นของ คชก.
4. ทับปุด-กระบี่ ระยะทาง 68 กม. วงเงิน 15,223 ล้านบาท ออกแบบเบื้องต้นเสร็จแล้ว

@อัดงบ 3.5 พันล้านพัฒนาสนามบินระนอง หนุนแลนด์บริดจ์

สำหรับสนามบินในพื้นที่ภาคใต้มีจำนวน 11 แห่ง โดยมีแผนพัฒนาขยายขีดความสามารถจำนวน 8 แห่ง ได้แก่ สนามบินสุราษฎร์ธานี สนามบินภูเก็ต สนามบินพังงา (ภูเก็ตแห่งที่ 2) สนามบินกระบี่ สนามบินตรัง สนามบินเบตง สนามบินชุมพร สนามบินระนอง โดยได้รับงบประมาณปี 2565

สนามบินระนอง มีเป้าหมายในการพัฒนาเพื่อสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์ โดยเพิ่มศักยภาพให้เป็น International Airport สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าที่จะเพิ่มขึ้น โดยระยะที่ 1 ปี 2566-2568 งบประมาณรวม 2,280 ล้านบาท ได้แก่ ขยายความยาวทางวิ่ง จากขนาด 45x2,000 เมตร เป็นขนาด 45x2,400 เมตร สามารถรองรับอากาศยานขนาด 230 ที่นั่ง ก่อสร้างทางขับขนานใหม่ ให้สามารถรองรับเที่ยวบินจากเดิม 6 เที่ยวบิน/ชั่วโมง เป็น 10 เที่ยวบิน/ชั่วโมง ขยายลานจอดเครื่องบิน จากเดิม 3 ลำ เป็น 10 ลำ ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ (Domestic/International) รองรับได้ 2.8 ล้านคน/ปี (1,000 คน/ชั่วโมง) จากเดิม 8 แสนคน/ปี (300 คน/ชั่วโมง) ก่อสร้างลานจอดรถยนต์ รองรับได้ 500 คัน จากเดิม 250 คัน

ส่วนแผนการพัฒนาท่าอากาศยานระนอง ระยะที่ 2 ปี 2568-2571 จะดำเนินการขยายความยาวทางวิ่งจากเดิม 2,400 เมตร เป็น 2,990 เมตร ก่อสร้างทางขับขนานใหม่ และก่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยปลายทางวิ่ง หัวทางวิ่ง ใช้งบประมาณ 1,250 ล้านบาท

@ลงทุนกว่า 2.9 พันล้านขยายกระบี่รับ 8 ล้านคน พร้อมเร่งโอนให้ ทอท.บริหาร

สำหรับสนามบินกระบี่ มีแผนพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 1,500 คนต่อชั่วโมง เพิ่มเป็น 3,000 คนต่อชั่วโมง หรือจาก 4 ล้านคนต่อปี เป็น 8 ล้านคนต่อปี วงเงินลงทุน 2,923 ล้านบาท โดยมีการก่อสร้างลานจอดเครื่องบินพร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน แล้วเสร็จเมื่อ 26 มกราคม 2564 งานก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 1 และ 2 พร้อมอาคารจอดรถยนต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2565 งานก่อสร้างทางขับทางขนาน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2566 และมีแผนการพัฒนาเพื่อขยายความยาวทางวิ่งเพิ่มขึ้น โดยการเวนคืนที่ดิน และการติดตั้งไฟนำร่อง Approach Light CAT I


และกรมท่าอากาศยาน (ทย.) อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อการส่งมอบให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เข้ามาบริหารจัดการแทนตามนโยบายกระทรวงคมนาคม
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44324
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 22/11/2021 8:18 pm    Post subject: Reply with quote

“ศักดิ์สยาม”สั่งลุย”MR–Map”นำร่อง 4 เส้นทางลดเวนคืน กทพ.ปรับแบบด่วน”ฉลองรัฐ”ใช้พื้นที่ร่วมวงแหวนรอบ
เผยแพร่: 22 พ.ย. 2564 19:34 ปรับปรุง: 22 พ.ย. 2564 19:34 โดย: ผู้จัดการออนไลน์

“ศักดิ์สยาม”เผยเสียงหนุนพัฒนาโครงข่าย MR–Map “มอเตอร์เวย์-รถไฟทางคู่” สั่งเร่ง 4 เส้นทางนำร่อง ด้านกทพ.-ทล.ประสานแบบเชื่อมโครงข่ายทางด่วนฉลองรัช-นครนายก เฟสแรก 17 กม.กับวงแหวนรอบที่ 3 ใช้พื้นที่ร่วมลดเวนคืน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมขับเคลื่อนการศึกษาแผนพัฒนาโครงข่าย MR-Map ว่า ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าผลการดำเนินงานศึกษาจัดทำแผนการพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR–Map) โดยกรมทางหลวง (ทล.) ได้รายงานถึงการประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการนำร่อง จำนวน 4 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทาง MR2 กรุงเทพฯ/ชลบุรี (แหลมฉบัง)-หนองคาย (ด่านหนองคาย) ช่วงนครราชสีมา – แหลมฉบัง เส้นทาง MR5 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์)-อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) ช่วงนครราชสีมา – อุบลราชธานี เส้นทาง MR8 ชุมพร-ระนอง และเส้นทาง MR10 เชื่อมต่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระหว่างวันที่ 4-19 พฤศจิกายน 2564 ว่า มีเสียงเห็นด้วยและสนับสนุนให้เร่งดำเนินการพัฒนาโครงข่ายและการเวนคืนพื้นที่เพื่อพัฒนามอเตอร์เวย์ และรถไฟทางคู่ไปพร้อมกัน แต่ไม่จำเป็นต้องก่อสร้างพร้อมกัน โดยขึ้นอยู่กับแผนปฏิบัติการของหน่วยงาน

ส่วนการบูรณาการโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และถนนวงแหวนรอบที่ 3 (MR10) ของทล.นั้น กทพ.ได้ออกแบบรายละเอียด โดยบูรณาการร่วมกับ MR-Map ตามนโยบาย ซึ่งกทพ.จะดำเนินโครงการทางด่วนสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ระยะแรก ช่วงจตุโชติ-วงแหวนรอบที่ 3 ระยะทาง 17 กิโลเมตร ซึ่งจะเชื่อมกับ MR10 (โครงการถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3) ของ ทล.

โดยปรับรูปแบบจากเดิมทั้ง 2 โครงการจะมีทางขึ้น-ลงแยกกันคนละตำแหน่ง เป็นก่อสร้างทางขึ้น-ลง บริเวณเดียวกันและใช้ทางแยกต่างระดับร่วมกัน (Combine Interchange) เพื่อลดผลกระทบของประชาชนจากการเวนคืนพื้นที่ และลดความสับสนในการเดินทางของผู้ใช้ทาง อีกทั้งทางแยกต่างระดับบริเวณดังกล่าว สามารถเชื่อมต่อกับแนวสายทางของโครงข่าย MR3 ของ ทล. ได้ในอนาคต

ปัจจุบัน อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียดของงานช่วงดังกล่าว และทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study) และทบทวนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดย กทพ. จะเร่งรัดการดำเนินงานในส่วนดังกล่าวให้แล้วเสร็จตามแผนงานต่อไป

Click on the image for full size

สำหรับ ร่างแผนแม่บทการพัฒนา MR-Map จำนวน 10 เส้นทาง รวมระยะทางประมาณ 6,980 กิโลเมตร เป็นการพัฒนามอเตอร์เวย์ร่วมกับระบบรางมีระยะทางทั้งหมด 4,760 กิโลเมตร แบ่งเป็นแนวเหนือ-ใต้ 3 เส้นทาง แนวตะวันออก-ตะวันตก 6 เส้นทาง และแนวเส้นทางเชื่อมต่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 1 เส้นทาง ได้แก่

1.เส้นทาง MR1 เชียงราย-นราธิวาส ระยะทาง 2,125 กิโลเมตร

2.เส้นทาง MR2 กรุงเทพฯ/ชลบุรี (แหลมฉบัง)-หนองคาย (ด่านหนองคาย) ระยะทาง 886 กิโลเมตร โดยเป็นมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 196 กิโลเมตร และเส้นทางในแผนอนาคต 690 กิโลเมตร

3.เส้นทาง MR3 บึงกาฬ (ด่านบึงกาฬ)-สุรินทร์ (ด่านช่องจอม) ระยะทาง 470 กิโลเมตร

4.เส้นทาง MR4 ตาก (ด่านแม่สอด)-นครพนม (ด่านนครพนม) ระยะทาง 840 กิโลเมตร

5.เส้นทาง MR5 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์)-อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) ระยะทาง 832 กิโลเมตร

6.เส้นทาง MR6 กาญจนบุรี (ด่านพุน้ำร้อน)-สระแก้ว (ด่านอรัญประเทศ) ระยะทาง 390 กิโลเมตร โดยเป็นเส้นทางมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 96 กิโลเมตร และเส้นทางในแผนอนาคต 294 กิโลเมตร

7.เส้นทาง MR7 กรุงเทพฯ-ระยอง (มาบตาพุด)/ตราด (ด่านคลองใหญ่) ระยะทาง 467 กิโลเมตร โดยเป็นมอเตอร์เวย์ สายกรุงเทพฯ-พัทยา-มาบตาพุด ที่เปิดให้บริการแล้ว 181 กิโลเมตร และเส้นทางในแผนอนาคต 286 กิโลเมตร

8.เส้นทาง MR8 ชุมพร-ระนอง ระยะทาง 94 กิโลเมตร

9. MR9 สุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต ระยะทาง 185 กิโลเมตร

10.เส้นทาง MR10 เชื่อมต่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะทาง 648 กิโลเมตร แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 2 (ถนนกาญจนาภิเษก) เปิดให้บริการแล้ว 168 กิโลเมตร
ส่วนที่ 2 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (แผนในอนาคต) 455 กิโลเมตร และ
ส่วนที่ 3 เส้นทางเชื่อมต่อวงแหวนรอบ ที่ 2 และ 3 ได้แก่ ช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 25 กิโลเมตร) ช่วงบ้านแพ้ว-ปากท่อ 54 กิโลเมตร และ ช่วงบางปะอิน-สุพรรณบุรี 55 กิโลเมตร

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมทางหลวง จัดทำแผนการขับเคลื่อนโครงการและ Action Plan ให้ชัดเจน เพื่อให้สาธารณชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ได้รับทราบข้อมูลและแผนการดำเนินการของกระทรวงคมนาคมในด้านต่างๆ อย่างถูกต้องและต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังได้กำชับประเด็นการเชื่อมโยงกับ สปป.ลาวผ่านทางจังหวัดหนองคายตามเส้นทาง MR2

โดยให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)เร่งพัฒนาโครงการรถไฟช่วงขอนแก่น-หนองคายให้สามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟลาว-จีนได้อย่างต่อเนื่อง และเน้นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ รวมถึงให้พิจารณาเส้นทาง MR8 (ชุมพร-ระนอง) เพื่อสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์ให้มีเส้นทางที่สั้นที่สุดโดยพิจารณาแนวทางที่เป็นไปได้ เช่น การพิจารณาเทคนิคทางวิศวกรรม เพื่อลดข้อจำกัดด้านกายภาพในการก่อสร้างท่าเรือ พร้อมทั้งเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียในทางเลือกต่าง ๆ และในประเด็นการพัฒนาแผนแม่บท MR-Map ขอให้พิจารณากฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นกับโครงการต่อไป
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44324
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 23/11/2021 12:11 pm    Post subject: Reply with quote

สนข. ลุยศึกษาสำรวจการเดินทางในเขต กทม.-ปริมณฑล อัปเดตฐานข้อมูลขนส่ง ‘คน-สินค้า’ สร้างโมเดลก่อนผุดโปรเจ็กต์คมนาคม
นสพ. ทรานสปอร์ต เจอร์นัล Last updated พ.ย. 23, 2021

สนข. เทงบ 39 ล้าน ลุยศึกษาสำรวจการเดินทางในเขต กทม.-ปริมณฑล 7 หมื่นครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัด โฟกัสโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย & M-MAP พ่วงสุ่มตัวอย่างกลุ่มรถบรรทุก อัปเดตฐานข้อมูลการขนส่ง “คน–สินค้า” สู่แบบจำลองประกอบการตัดสินใจก่อสร้างโปรเจ็กต์คมนาคม คาดสำรวจแล้วเสร็จภายใน มี.ค. 65

นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาสำรวจการเดินทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (Bangkok Travel Demand Survey) วันนี้ (23 พ.ย. 2564) ว่า สนข. ได้จัดทำโครงการศึกษาสำรวจการเดินทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (Bangkok Travel Demand Survey)

Click on the image for full size

ทั้งนี้ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลในแบบจำลองด้านการขนส่งและจราจรระดับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (eBUM) โดยใช้งบประมาณ 39 กว่าล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 16 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 ก.ค. 2564-31 ต.ค. 2565 อย่างไรก็ตามคาดว่า จะสำรวจแล้วเสร็จช่วง ก.พ.-มี.ค. 2565 ก่อนที่จะวิเคราะห์แบบจำลอง และสรุปผล เพื่อจัดทำฐานข้อมูลต่อไป

โดยโครงการศึกษาดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสำรวจความต้องการการเดินทางและพฤติกรรมการเดินทางของคนและการขนส่งสินค้า พัฒนาแบบจำลองด้านการขนส่งและจราจรระดับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการเดินทางที่เปลี่ยนแปลงไป และศึกษาวิเคราะห์ความต้องการการเดินทางและพฤติกรรมการเดินทางของคนและการขนส่งสินค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการศึกษาในครั้งนี้ ได้ดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบการจราจรจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เปรียบเทียบกับสภาวะก่อนการแพร่ระบาดฯ ด้วย

อีกทั้ง วิเคราะห์สภาพการจราจรบนโครงข่ายการเดินทางของคนและการขนส่งสินค้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและพื้นที่ที่มีอิทธิพลต่อพื้นที่ศึกษาในปัจจุบันและอนาคต พร้อมทั้งเสนอโครงการ หรือมาตรการด้านการขนส่งและจราจรที่ควรพัฒนา รวมทั้งเพื่อจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศการขนส่งและจราจรเพื่อการวางแผนการพัฒนาระบบการขนส่งและจราจร

Click on the image for full size

นางวิไลรัตน์ กล่าวต่อว่า การศึกษาโครงการดังกล่าว ได้กำหนดพื้นที่ศึกษาของแบบจำลองในเบื้องต้นจะครอบคลุมพื้นที่เขตเมืองของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งครอบคลุมพื้นที่ศึกษาให้มีความเจาะจงเฉพาะพื้นที่เขตเมืองและครอบคลุมโครงข่ายรถไฟฟ้าตามแผน (M-MAP) และรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยายในอนาคต ประกอบด้วย 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา และฉะเชิงเทรา ครอบคลุม 77 อำเภอ 489 ตำบล รวมพื้นที่ประมาณ 6,630 ตารางกิโลเมตร

ทั้งนี้ การสำรวจ วิเคราะห์ความต้องการการเดินทาง และพฤติกรรมการเดินทางของคนและการขนส่งสินค้านั้นประกอบด้วย การเสนอแนวคิดการสำรวจการเดินทาง (Travel Demand Survey) และการเลือกรูปแบบการเดินทางเพื่อการพัฒนาแบบจำลองด้านการขนส่งและจราจรระดับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยกำหนดจำนวนตัวอย่างสุ่มสำรวจข้อมูลครัวเรือน ในเบื้องต้นไม่น้อยกว่า 70,000 ครัวเรือน และพิจารณาการนำข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ เข้ามาประกอบและเพิ่มประสิทธิภาพการสำรวจเพื่อให้เป็นไปตามหลักวิชาการ

นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจวิเคราะห์ความต้องการเดินทาง และการเลือกรูปแบบการเดินทางในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และวิเคราะห์ความต้องการเดินทาง และสำรวจ วิเคราะห์ข้อมูลการเดินทางของรถบรรทุกขนส่งสินค้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยกำหนดกลุ่มตัวอย่างสุ่มสำรวจไม่น้อยกว่า 10,000 ตัวอย่าง ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้า เช่น ศูนย์หรือสถานีขนส่งสินค้า รวมถึงท่าเรือ จำนวน 6 แห่ง, จุดสำรวจบริเวณด่านชั่งน้ำหนัก จำนวน 10 จุด เป็นต้น

นางวิไลรัตน์ กล่าวต่ออีกว่า การวางแผนและเสนอแนะนโยบายด้านการขนส่งและจราจร เพื่อสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการ และพฤติกรรมการเดินทางของคน การขนส่งรถบรรทุกสินค้า (Travel Demand Survey) และนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาแบบจำลองด้านการขนส่งและจราจรให้สอดคล้องกับความต้องการและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป สามารถวิเคราะห์สภาพการจราจรบนโครงข่ายการเดินทางในปัจจุบันและอนาคต

นอกจากนี้ ยังเพื่อใช้วางแผนการพัฒนาระบบการขนส่งและจราจร และเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศต่อสาธารณะ รวมถึงการเสนอแนะนโยบายด้านการขนส่งและจราจร การนำแบบจำลองไปใช้ในการวิเคราะห์โครงการต่างๆ และใช้ประโยชน์โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อการพัฒนาโครงการ สามารถใช้ฐานข้อมูลระบบขนส่งและจราจรที่เป็นฐานข้อมูลเดียวกันในการวางแผนการพัฒนาได้อย่างเหมาะสม ลดความซ้ำซ้อน ส่งผลให้การดำเนินโครงการลงทุนของภาครัฐมีประสิทธิภาพ
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 23/11/2021 7:43 pm    Post subject: Reply with quote

Mongwin wrote:
สนข. ลุยศึกษาสำรวจการเดินทางในเขต กทม.-ปริมณฑล อัปเดตฐานข้อมูลขนส่ง ‘คน-สินค้า’ สร้างโมเดลก่อนผุดโปรเจ็กต์คมนาคม
นสพ. ทรานสปอร์ต เจอร์นัล Last updated พ.ย. 23, 2021


“สนข.” ผุดสำรวจการเดินทางกรุงเทพฯ-ปริมณฑล สร้างฐานข้อมูลขนส่งคน-สินค้า
เศรษฐกิจ-ยานยนต์.
23 พฤศจิกายน 2564
13:21 น.
สนข. ลุยศึกษาสำรวจการเดินทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไม่น้อยกว่า 70,000 ครัวเรือน พ่วงสุ่มเก็บข้อมูลรถบรรทุกขนส่งสินค้าไม่น้อยกว่า 10,000 ตัวอย่าง ครอบคลุมพื้นที่เขตเมือง-โครงข่ายรถไฟฟ้า 8 จังหวัด ปั้นฐานข้อมูลแบบจำลองขนส่ง-จราจรเดียวกันสู่โครงการลงทุนภาครัฐมีประสิทธิภาพ

https://www.dailynews.co.th/news/504205/
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 25/11/2021 9:44 am    Post subject: Reply with quote

“ศักดิ์สยาม” ดัน 'แลนด์บริดจ์' เทียบชั้นท่าเรือฮ่องกง คาดมีสินค้ากว่า 20 ล้านทีอียู เร่งออกแบบจูงใจสายเรือ
โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เผยแพร่: 24 พฤศจิกายน 2564 เวลา 17:51
ปรับปรุง: 24 พฤศจิกายน 2564 เวลา 17:51


“ศักดิ์สยาม” เผยศึกษา “แลนด์บริดจ์” คาดปริมาณสินค้ามากกว่า 20 ล้านทีอียู เทียบเท่าท่าเรือฮ่องกง ท่าเรืออันดับ 8 ของโลก กำชับออกแบบการเชื่อมต่อเส้นทางสั้น ลดระยะเวลา ลดต้นทุน หวังดึงดูดผู้ประกอบการทั่วโลกหันมาใช้เป็นเส้นทางหลักขนส่งสินค้าเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานประชุมติดตามความก้าวหน้า โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน หรือแลนด์บริดจ์ (Land Bridge) ว่า ผลการศึกษามีการคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณสินค้าเข้ามาใน Landbridge มากถึงกว่า 20 ล้าน TEUs ซึ่งจะเทียบเท่ากับท่าเรือฮ่องกงที่มีตู้สินค้าผ่านท่าเรือมากเป็นอันดับที่ 8 ของโลก และได้เน้นย้ำให้มีการออกแบบการเชื่อมต่อการขนส่งเพื่อลดระยะเวลาและลดต้นทุนในการขนส่งให้น้อยลงเมื่อเทียบกับท่าเรืออื่นในอาเซียน ถือเป็นความท้าทายในการออกแบบของ Landbridge ที่จะดึงดูดให้ผู้ประกอบการจากทั่วโลกหันมาใช้เส้นทาง Landbridge เป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก

ทั้งนี้ ได้มีนโยบายหลักในการพัฒนาเชิงธุรกิจต่อยอดในอนาคต ไม่ใช่เฉพาะการเป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องคำนึงถึงการพัฒนาในการที่จะเป็นผู้ลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งจะทำให้โครงการมีความน่าสนใจสามารถดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาลงทุน และที่สำคัญจะต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ของโครงการฯ และการปรับปรุงข้อกฎหมาย และสิทธิประโยชน์อื่นๆ ประกอบด้วย

นอกจากนี้ การพัฒนาท่าเรือจะมีการพิจารณาการนำระบบเทคโนโลยี Automated Container Terminal มาช่วยในการบริหารจัดการท่าเรืออัจฉริยะ เพื่อรองรับปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ที่จะเกิดจากกิจกรรมภายในท่าเรือ และทำให้การขนส่งระหว่างท่าเรือทั้งสองฝั่งเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ ลดปัญหาการเสียเวลาที่เกิดจากการบริหารจัดการด้วยคน รวมไปถึงให้มีการศึกษากฎหมายและสิทธิประโยชน์ของนักลงทุนในต่างประเทศ เพื่อนำมาปรับใช้ให้เข้ากับกฎหมายและบริบทของประเทศไทย ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาลงทุนใน Landbridge เพื่อยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำของภูมิภาคอาเซียน

นอกจากนี้ได้ให้พิจารณาถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการให้ครอบคลุมทุกกลุ่มต่างๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และเร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์ข้อมูลโครงการฯ เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชนในแต่ละเรื่องของโครงการฯ อย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ ทั้งนี้ เมื่อมีข้อสงสัยหรือข้อร้องเรียนให้มีการชี้แจงประเด็นข้อสงสัยของประชาชนอย่างทันท่วงที เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องกับโครงการ
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44324
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 26/11/2021 7:18 am    Post subject: Reply with quote

'แหลมฉบังเฟส3'เปลี่ยนโลกขนส่ง
Source - เดลินิวส์
Friday, November 26, 2021 05:10

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. ที่โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีกล่าวตอนหนึ่งในการ เป็นประธานพิธีลงนามร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะ (เฟส) ที่ 3 ในส่วนท่าเทียบเรือ F ระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และกลุ่มกิจการค้า จีพีซี มีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม ร่วมเป็นสักขีพยานว่า เป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักของอีอีซีที่จะช่วยเสริมความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจไทย

ด้านเรือโทยุทธนา โมกขาว รักษาการ ผอ.กทท.กล่าว ว่า โครงการพัฒนา ทลฉ. เฟสที่ 3 มูลค่ารวม 1.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น กทท. ลงทุน 5 หมื่นล้านบาท และเอกชนลงทุน 6 หมื่นล้านบาท ในส่วนเอกชนแบ่งเป็นเงินลงทุนท่าเทียบเรือ F 3 หมื่นล้านบาท ท่าเทียบเรือ E 2.5 หมื่นล้านบาท และท่าเทียบเรือ E0 ประมาณ 5พันล้านบาท โดยจะพัฒนาท่าเทียบเรือ F ลำดับแรก สัมปทาน 35 ปี ทั้งนี้ กทท. จะเป็นผู้ก่อสร้างงานทางทะเล รองรับการก่อสร้างท่าเทียบเรือและโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือชายฝั่ง งานระบบรางและย่านรถไฟ

ในส่วนของงานระบบรางนั้น กทท. ลงทุน 700 ล้านบาท เส้นทางจากหลังท่าเรือไปยังสถานีรถไฟแหลมฉบัง ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร (กม.) โดยต้องถมทะเลเพื่อให้รถไฟเดินรถเข้าถึงหลังท่าเรือ บรรทุกตู้คอนเทเนอร์ลงจากเรือได้ทันทีแบบไร้รอยต่อคาดว่าจะสามารถให้บริการได้ทันในปี 68 นอกจากนี้มีแผนจะสร้างท่าเรือบก (DryPort) ด้วย

เรือโทยุทธนา กล่าวต่อว่า ขณะที่จีพีซี จะออกแบบก่อสร้าง ให้บริการ และซ่อมบำรุงรักษาท่าเทียบเรือ F1 และ F2 รองรับการขนถ่ายตู้สินค้าด้วยระบบจัดการตู้สินค้าแบบอัตโนมัติรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าได้อย่างน้อย 4 ล้านทีอียู.ต่อปี จีพีซี จะได้รับรายได้จากการประกอบกิจการท่าเรือ ขณะที่ กทท.จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำรวมทั้งโครงการประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท รองรับเรือบรรทุกสินค้าใหญ่ที่สุดในโลกได้บริหารจัดการสินค้าด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยด้วยระบบอัตโนมัติ พร้อมโครงข่ายเชื่อมโยงหลังท่าเรือทั้งทางบก ทางราง และทางเรือชายฝั่ง อย่างมีประสิทธิภาพ ผสมผสานให้เป็นท่าเรือสีเขียวคำนึงถึงคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ คำนึงถึงสุขภาพของประชาชนใกล้เคียงอันจะนำไปสู่ท่าเรือชั้นนำระดับมาตรฐานโลกต่อไป

ขณะที่นายรัฐพล ชื่นสมจิตต์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ตัวแทน จีพีซี กล่าวว่า จะเริ่มงานออกแบบควบคู่กับเตรียมทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) ส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเดินหน้าโครงการและพร้อมร่วมมือกับภาครัฐผลักดันให้เกิดท่าเรือศูนย์กลางยุทธศาสตร์สำคัญทางโลจิสติกส์ของภูมิภาค จะเริ่มก่อสร้างติดตั้งอุปกรณ์ยกตู้ คอนเทเนอร์ปี 66 และเปิดบริการเชิงพาณิชย์เฟสแรกปี 68 และ เฟส 2 ปี 72

นายรัฐพล กล่าวต่อว่า ท่าเทียบเรือ F เป็นท่าเรือใหญ่มี ความลึก 18.5 เมตร รองรับเรือขนาดใหญ่ ที่เรียกว่าเรือแม่ได้โดย มีความยาวหน้าท่า 2 กม. จะนำเทคโนโลยีเครื่องมือทันสมัยที่สุด และระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ (Fully Automation) ใช้แคร่ และหุ่นยนต์มาดำเนินงาน โดยไม่ต้องใช้บุคลากร ปัจจุบันมีประมาณ 20 ท่าเรือทั่วโลกที่ใช้ระบบนี้ ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 จะช่วย ส่งเสริมการขนส่งแบบไร้รอยต่อโดยเฉพาะระบบรางขนส่งสินค้า เพิ่มขึ้นเป็น 30% จาก 7% คาดว่าในปี 68-72 จะสร้างรายได้ 4 พันล้านบาทต่อปีและหลังปี 72 จะสร้างรายได้ประมาณ 8 พันล้าน บาทต่อปี.

ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 26 พ.ย. 2564
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44324
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 26/11/2021 2:18 pm    Post subject: Reply with quote

ส่อง!! อนาคต 'คมนาคม' สู่ HUB ขนส่ง ขับเคลื่อน 4 มิติ 'บก-น้ำ-อากาศ-ราง'
Source - ทรานสปอร์ต เจอร์นัล
Friday, November 26, 2021 11:50

"ศักดิ์สยาม" สรุปผลงานปี 2564 พร้อมกางแผนงานลงทุน ขับเคลื่อนโครงการปี 2565 เดินหน้าพัฒนาโครงข่ายคมนาคม เชิงรุกทั่วไทย ครอบคลุม "บก-น้ำ-ราง-อากาศ" รวม 76 นโยบาย มุ่งเน้นประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม หวังยกระดับการคมนาคม สอดรับสโลแกน "สะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา ราคาสมเหตุสมผล"

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในการแถลง สรุปผลงานปี 2564 และขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ปี 2565 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2564 ว่า รัฐบาลภายใต้ การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มุ่งมั่นพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่ง ทั่วทั้งประเทศอย่างบูรณาการ ทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างความอยู่ดีกินดีให้กับพี่น้องประชาชนมาโดยตลอด

ทั้งนี้ ในปี 2565 กระทรวงคมนาคม จะเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคม ในเชิงรุก โดยมุ่งเน้นการบูรณาการการพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานระบบคมนาคมระหว่างรูปแบบการขนส่ง และการกำกับดูแลการพัฒนาระบบคมนาคมให้มีความสะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา และราคาสมเหตุสมผล เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน สนับสนุนการพัฒนา ประเทศอย่างยั่งยืน ด้วยการสานต่อนโยบายเดิมจากปี 2564 และการขับเคลื่อนนโยบายเพิ่มเติมปี 2565 รวมทั้งสิ้น 76 นโยบาย

โดยแบ่งเป็นมิติพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางถนน 14 นโยบาย เช่น กำหนดความเร็วสูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ปี 2564 ประกาศใช้แล้วเป็นระยะทางกว่า 178 กิโลเมตร และปี 2565 จะเพิ่มเติมอีก 9 เส้นทาง ระยะทาง 138 กิโลเมตร รวมถึงการพัฒนาระบบผ่านทางด่วน ทางพิเศษแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) ปี 2564 กรมทางหลวง (ทล.) ทดสอบระบบบนมอเตอร์เวย์สาย 9 จำนวน 4 ด่าน และปี 2565 เปิดให้บริการแบบเต็มรูปแบบ จำนวน 7 ด่าน

นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำแผนแม่บท MR-MAP ปี 2564 ศึกษาแผนแม่บทโครงข่าย MR-MAPเสร็จ และ คจร. เห็นชอบแล้ว โดยได้เริ่มการศึกษาออกแบบเบื้องต้นโครงการนำร่อง 4 โครงการ ได้แก่ MR2 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์)-อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) ช่วงนครราชสีมา-อุบลราชธานี ระยะทาง 440 กิโลเมตร, MR5 ชุมพร-ระนอง ระยะทาง 108 กิโลเมตร ตามแนวการเชื่อมต่อโครงการ Landbridge, MR8 หนองคาย (ด่านหนองคาย)-แหลมฉบัง ช่วงนครราชสีมา-แหลมฉบัง ระยะทาง 288 กิโลเมตร, MR10 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครรอบที่ 3 ระยะทางรวม 319 กิโลเมตร และปี 2565 ศึกษาความเหมาะสมเส้นทางที่เหลืออยู่ให้ครบทั้ง 10 เส้นทาง

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ในส่วนของมิติการขนส่งทางบก จำนวน 19 นโยบาย เช่น จัดระเบียบ รถรับจ้างผ่านแอปพลิเคชัน (รถยนต์) ในปี 2564 กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้ประกาศจัดระเบียบ รถรับจ้างผ่านแอปพลิเคชั่นแล้ว โดยในปี 2565 ผู้ประกอบการจะทยอยเข้ามาจดทะเบียนจนครบ ทุกราย ผลักดันเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสำหรับ รถขนส่งสาธารณะ (EV) โดยปี 2564 ได้เปิดบริการ EV Bus เส้นทางนำร่องแล้ว และจะขยายเพิ่มเติมในปี 2565 รวมถึง ขบ. จะเพิ่มมาตรการลดภาษี ยานยนต์ ไฟฟ้าในปี 2565 ด้วย, จัดระเบียบรถรับจ้างผ่าน แอปพลิเคชัน (รถมอเตอร์ไซด์) ในปี 2565 นี้ ขบ. จะได้ ยกร่าง พ.ร.บ. จัดระเบียบฯ เพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐสภา ตามขั้นตอนของกฎหมาย ฯลฯ

ขณะที่มิติการขนส่งทางราง 23 นโยบาย เช่น ขับเคลื่อนหลักการ Thai First ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน ปี 2564 ครม. รับทราบแนวทาง การพัฒนาระบบราง และปี 2565 ผลักดันให้ใช้ ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู เหลือง ส้ม และทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง และจัดหารถแคร่ 965 คัน, เร่งรัดเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงและสถานีกลางบางซื่อ ในปลายปี 2564 จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ, การพัฒนารถไฟทางคู่ ปี 2564 เปิดบริการ 2 เส้นทาง และเร่งรัดก่อสร้าง 5 เส้นทาง และ ปี 2565 ก่อสร้างแล้วเสร็จ 4 เส้นทาง และเริ่มก่อสร้างสายใหม่ 2 เส้นทาง รวมถึงอนุมัติระยะที่ 2 จำนวน 7 โครงการ 1,483 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 241,822 ล้านบาท ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีมิติการขนส่งทางน้ำ 15 นโยบาย เช่น การเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากภาคตะวันออก สู่ภาคใต้ ปลายปี 2564 Market Sounding และ ปี 2565 เปิดให้บริการเส้นทางสัตหีบ-สงขลา, การผลักดัน เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสำหรับเรือโดยสารสาธารณะ ปี 2564 มีเรือให้บริการ 24 ลำ และปี 2565 จะเพิ่มอีก 28 ลำ และสร้างมาตรฐานเรือ EV ให้เกิดขึ้นด้วย กฎหมายการขนส่งทางน้ำ ต้องทันสมัย ปี 2565 ทบทวน/รวบรวมกฎหมายที่ต้องปรับปรุง และปี 2566 เสนอกฎหมายที่ปรับปรุงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา

อีกทั้ง มิติการขนส่งทางอากาศ 9 นโยบาย เช่น การเร่งรัดพัฒนาท่าอากาศยานเป็นศูนย์กลางรวบรวม กระจายสินค้าเกษตร ปี 2565 โดย กรมท่าอากาศยาน (ทย.) จะเปิดให้บริการศูนย์กลางรวบรวม กระจายสินค้าเกษตร 22 แห่ง และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. จะเปิดให้บริการ 1 แห่ง, การจัดตั้งศูนย์จัดจำหน่ายและกระจายสินค้า OTOP ปี 2565 ทย. จะเปิดให้บริการศูนย์จัดจำหน่ายและกระจายสินค้า OTOP 20 แห่ง และ ทอท. เปิดให้บริการ 6 แห่ง, การให้สิทธิ ทอท. บริหารจัดการท่าอากาศยานของ ทย. จำนวน 3 แห่ง โดยปี 2565 จะทำการโอนสิทธิ์การบริหารให้ ทอท., การเตรียมการรองรับนักท่องเที่ยวตามนโยบายเปิดประเทศ ปี 2564 มีความพร้อมการให้บริการตามมาตรฐานสาธารณสุขแล้ว พร้อมเปิดประเทศตามนโยบายรัฐบาล ฯลฯ

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า สำหรับในปี 2565 การขับเคลื่อนนโยบายเพื่อนำไปสู่การปฏิบัตินั้น กระทรวงคมนาคมมีแผนลงทุนวงเงินรวมประมาณ 1.49 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนโครงการตามนโยบายปี 2564 สานต่อปี 2565 วงเงินลงทุน รวม ทั้งสิ้น 5.16 แสนล้านบาท เช่น โครงการมอเตอร์เวย์ M82 สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงมหาชัยบ้านแพ้ว วงเงิน 3.22 หมื่นล้านบาท, โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย วงเงิน 2.86 พันล้านบาท, โครงการรถไฟทางคู่ เส้นทาง ลพบุรี-ปากน้ำโพ วงเงิน 2.06 หมื่นล้านบาท, โครงการพัฒนาท่าอากาศยานขอนแก่น วงเงิน 2 พันล้านบาท, โครงการพัฒนาท่าอากาศยานบุรีรัมย์ วงเงิน 619 ล้านบาท ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีการลงทุนโครงการใหม่ตามนโยบาย ปี 2565 วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 9.74 แสนล้านบาท เช่น โครงการมอเตอร์เวย์ M9 วงแหวนตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง วงเงิน 5.60 หมื่นล้านบาท, โครงการมอเตอร์เวย์ M5 ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน วงเงิน 2.78 หมื่นล้านบาท, โครงการทางพิเศษ ขั้นที่ 3 สายเหนือ N1 และ N2 วงเงิน 3.78 หมื่นล้านบาท, โครงการทางพิเศษกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต วงเงิน 1.44 หมื่นล้านบาท, โครงการศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม วงเงิน 1.36 พันล้านบาท, โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทาง เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงิน 8.53 หมื่นล้านบาท, โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 2.24 แสนล้านบาท, โครงการพื้นฟูชายหาด วงเงิน 1.44 พันล้านบาท, โครงการพัฒนาท่าอากาศยาน ดอนเมือง ระยะที่ 3 วงเงิน 3.68 หมื่นล้านบาท ฯลฯ

"ทั้งหมดนี้ คือ นโยบายที่กระทรวงคมนาคมจะผลักดันในปี 2565 เพื่อพัฒนาระบบคมนาคม ที่ยั่งยืน เป็นการวางรากฐานการเชื่อมโยงโครงข่ายและบริการด้านคมนาคมอย่างบูรณาการ มุ่งเน้นประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศต่อไป" นายศักดิ์สยาม กล่าว

ที่มา: นสพ.ทรานสปอร์ต เจอร์นัล ฉบับวันที่ 16 - 31 ต.ค. 2564
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 118, 119, 120, 121, 122, 123  Next
Page 119 of 123

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©