Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai Gallery in Facebook

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311283
ทั่วไป:13263682
ทั้งหมด:13574965
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าวแผนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ 2558-65
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ข่าวแผนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ 2558-65
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 13, 14, 15 ... 121, 122, 123  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42709
Location: NECTEC

PostPosted: 23/06/2014 8:53 am    Post subject: Reply with quote

เร่งสรุปลงทุน2.4ล้านล.เล็งชงคสช.สิ้นมิ.ย.เคาะ


โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 22 มิถุนายน 2557 19:57 น.


ASTVผู้จัดการรายวัน - “คลัง - คมนาคม” เร่งสรุปแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ ชี้แบ่งเป็น 3 ระยะวงเงินไม่เกิน 2.4 ล้านล้านบาท ฝ่ายเศรษฐกิจคสช.สั่งปี 58 ต้องเดินหน้าได้จริงทั้งรถไฟทางคู่ 2 เส้นทางและรถไฟฟ้าชานเมือง 3 สาย ส่วนเงินกู้เน้นกู้แบงก์แบบเทอมโลน 3 ปี

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) สำนักงบประมาณและกระทรวงคมนาคมเพื่อรายงานต่อพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก.ในฐานะรองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้นขณะนี้ข้อสรุปกว่า 90% แล้วโดยเป็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานจะแบ่งเป็น 3 ระยะ คือระยะเร่งด่วนปีงบประมาณ 2558 ระยะกลาง คือการลงทุนในปี 2559-2560 ละยะยาวตั้งแต่ปี 2561-2565 โดยส่วนของวงเงินจะไม่เกิน 2.4 ล้านล้านบาท เนื่องจากชะลอโครงการรถไฟความเร็วสูงออกไปก่อน

สำหรับการใช้เงินนั้นระยะแรกจะใช้เงินงบประมาณที่จัดสรรโดยสำนักงบประมาณเป็นหลัก ซึ่งทางคสช.ได้กำชับให้จัดสรรให้โครงการที่สามารถเริ่มก่อสร้างได้ทันที ไม่ใช่ให้โครงการที่ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือยังไม่เริ่มต้นดำเนินการใดๆ ซึ่งในส่วนของรถไฟฟ้าชานเมืองนั้นทางคสช.เห็นด้วยให้เดินหน้าทันทีทั้งสายสีส้ม ชมพูและเหลือง รวมทั้งโครงการขยายเส้นทางรถไฟทางคู่ ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยเสนอไป 5 เส้นทางแต่มีที่พร้อมดำเนินการได้จริงเพียง 2 เส้นทางเท่านั้น พร้อมทั้งกำชับว่าในปีแรกต้องมีความคืบหน้าของโครงการหลังจากที่ได้รับงบไปแล้วโดยจะมีคณะทำงานติดตามเป็นระยะๆ รวมทั้งขอให้ใช้งบอย่างโปร่งใสและเกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อลดปัญหาคอรัปชั่นลง

“ในปีงบประมาณ 2558 จะมีส่วนของงบลงทุนประมาณ 4 แสนกว่าล้านบาททางสำนักงบประมาณจึงต้องจัดสรรให้โครงการที่จำเป็นจริงๆ เพราะเป็นการลงทุนทั้งของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ดังนั้นโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จึงสามารถจัดสรรงบในปีแรกได้ไม่มากแต่สำนักงบฯ ยืนยันจะให้เป็นงบผูกพันไปในปี 2559-2560 เพราะนอกจากใช้งบประมาณแล้วเสต็ปต่อไปก็จะใช้เงินกู้และสุดท้ายก็จะเป็นการร่วมลงทุนกับภาคเอกชนหรือการทำพีพีพี” แหล่งข่าวกล่าวและว่า โครงการที่ยังไม่ได้ข้อยุติขณะนี้คือโครงการที่ไม่มีเจ้าภาพที่ชัดเจนและสำนักงบฯ ไม่สามารถจัดสรรงบให้ รวมทั้งหากใช้เงินกู้ก็จะมีความเสี่ยงเพราะเป็นโครงการที่มีวงเงินสูงจึงต้องเสนอให้หัวหน้าคสช.ตัดสินใจอีกครั้งหนึ่งคาดว่าจะเป็นภายในสิ้นเดือนมิ.ย.นี้

อย่างไรก็ตาม การกู้เงินนั้นทางคสช.ยังไม่ได้มอบหมายนโยบายอะไรมา ซึ่งทางสบน.คงดำเนินการกู้เงินตามปกติ และหากเป็นโครงการลงทุนใหญ่ก็จะใช้วิธีกู้แบบเทมอโลนระยะ 3 ปีเหมือนการกู้เงินมาใช้จำนำข้าวทั้งหมด เพราะมีความเสี่ยงด้านภาระต้นทุนน้อยที่สุด เนื่องจากจะเสียดอกเบี้ยต่อเมื่อมีการเบิกเงินจากสถาบันการเงินเท่านั้น ส่วนของการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณก็จะเป็นการออกพันธบัตรและตั๋วเงินคลังแทน

ทั้งนี้ การระดมเงินจากตลาดเงินในช่วงที่ คสช.บริหารประเทศก็อาจจะมีผลต่อการเสนอตัวให้กู้ของแบงก์ต่างชาติบางแห่งเช่นจากสหรัฐและยุโรปเพราะเป็นกฎระเบียบที่ห้ามให้กู้กับประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ก็ไม่น่าจะมีปัญหาเพราะสามารถระดมเงินจากแบงก์ไทยและแบงก์ญี่ปุ่นที่พร้อมเสนอตัวให้กู้กับกระทรวงการคลังอยู่แล้ว.
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44522
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 23/06/2014 3:51 pm    Post subject: Reply with quote

"ประจิน"สั่งก.คมนาคมสรุปความชัดเจนโครงสร้างพื้นฐานฯงบปี 58 ใน มิ.ย.นี้
ข่าวหุ้น วันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน 2557 เวลา 15:16:07 น.

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชการทหารอากาศ ในฐานะหัวหน้าเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า จากที่ได้หารือกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมวันนี้เกี่ยวกับการตั้งงบประมาณปี 58 โดยขอตั้งงบอยู่ที่ประมาณ 1.4-1.5 แสนล้านบาท จาก 8 หน่วยงาน 5 รัฐวิสาหกิจ จากปีก่อนวงเงินงบประมาณ 1.3 แสนล้านบาท โดยงบประมาณปี 58 จะกระจายใช้ในทุกด้านที่เป็นเรื่องเร่งด่วน

โครงการทั้งหมดได้แก่
โครงการทางราง ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งเป็นเรื่องที่จะดำเนินการต่อเนื่อง โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง (รังสิต-บางซื่อ)ที่อยู่ระหว่างการปรับแบบ และโครงการรถไฟทางคู่ และปรับปรุงซ่อมทางรถไฟ , ทางถนน ของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท อาทิเช่น แผนจะขยาย 2 เลนเป็น 4 เลน รวมปรับปรุงคุณภาพดีขึ้น และซ่อมแซมทางหลวง , โครงการมอเตอร์เวย์ พัทยา-มาบตาพุด ส่วนทางอากาศยังไม่นับรวมในนี้

ทั้งนี้ โครงการที่จัดทำในงบประมาณในปี 58 นับเป็นเฟสแรกของยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของไทย ในช่วงปี 58-65 หรือแผน 8 ปี โดยเฟสแรกนี้คิดเป็นงบลงทุนประมาณ 1.1 แสนล้านบาท หรือ 75% ของงบประมาณปี 58

โดยให้กระทรวงคมนาคมจะตั้งงบประมาณเสนอให้สำนักงบประมาณกำลังปรับปรุงอีกครั้งเพื่อให้เป็นไปตามกรอบที่วงเงินงบประมาณกำหนด จะได้ตัวเลขชัดเจนภายใน มิ.ย.และชี้แจงงบประมาณรายกระทรวงในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ส.ค.คงจะแล้วเสร็จในสัปดาห์แรกของเดือน ก.ย.

ขณะที่งบที่ใช้ในทางอากาศ ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ของบมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) จะทำคู๋ขนาน โดยคตร. จะตรวจสอบแผนงาน ขณะเดียวกัน ให้ทอท. ได้เตรียมแผนงานมานำเสนอให้คสช.ได้ทราบ ส่วนที่ตรวจสอบไปขึ้นอยูกับ คตร. รวมทั้งเรื่องการจัดซื้อเครื่องบินใหม่ของบมจ.การบินไทย (THAI) ก็จะทบทวนก่อน ส่วนที่ได้สั่งซื้อรอรับมอบก็ต้องดำเนินการต่อไป

ส่วนโครงการรถเมล์เอ็นจีวี กว่า 3 พันคันโดยระหว่างนี้ ให้ คตร. ตรวจสอบทีโออาร์ และตั้งบประมาณ อาจเสนอในงบปี 58 หรือ ปี 59 โดยเท่าที่ได้รับทราบความจำเป็นของโครงการนี้ เพราะสภาพรถเมล์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่ดีหากดำเนินโครงการจะรถสภาพที่ดีกว่า ทันสมัย ปลอดภัยมากขึ้น โดยโครงการนี้ก็จะใช้เงินกู้

สำหรับงบประมาณที่ใช้ในยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ระยะเวลา 8 ปี ขณะนี้ยังพิจารณาไม่เสร็จ แต่คาดว่าจะสรุปส่วนงบประมาณในเฟสที่ 1 หรืองบประมาณปี 58 ส่วนที่ 2 เป็นโครงร่างยุทธศสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม คาดนำเสนอที่ประชุม คสช.คาดว่า ร่างดังกล่าวจะสรุปได้ในเดือน ก.ค. จากนั้นแล้วแต่ คสช.จะมอบหมายให้คณะปฏิรูปประเทศที่จะดูในภาพรวมทุกด้าน หรือจะจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาใหม่ และเห็นว่าก่อนที่จะวาระปฎิรูปโครสร้างพื้นฐานของประเทศครั้งใหญ่ เรื่องนี้จะมีความชัดเจน

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม กำหนด 5 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่
1. ยุทธศาตร์รถไฟ
2.ยุทธศาสตร์ขนส่งสาธารณะในกรุงเทพและปริมณฑล
3.ยุทธศาสตร์ถนน
4. ยุทธศาสตร์ทางน้ำ และ
5. ยุทธศาสตร์ทางอากาศ
โดยงานส่วนใหญ่จะแบ่งเป็น 3 เฟส ๆละ 2-3 ปี

ส่วนงบลงทุนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมจะทำให้สอดคล้องกับความจำเป็น ภายใต้ความสะดวกสบาย ความปลอดภัย และมีมาตรฐานสูงขึ้น เช่น รถไฟทางคู่เมื่อแล้วเสร็จจะทำให้รถไฟวิ่งได้เร็วขึ้น เพราะไม่ต้องเสียเวลารอสับหลีกสถานี อีกทั้งมีความแข็งแรงตามมาตรฐานทางเส้นทาง และหัวรถจักร รวมโบกี้ก็มีความเหมาะสม สะดวกกับผู้โดยสารกับการบรรทุกสินค้า

ด้านนายสมชัย ศิริวัฒนโชค ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ทางสำนักงบประมาณได้เสนอกรอบวงเงินประมาณปี 58 ที่ 1.41 แสนล้านบาท แต่หลังจากหารือกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมแล้วความต้องการงบประมาณ 1.54 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม คาดว่าภายในสัปดาห์นี้น่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44522
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 30/06/2014 11:06 am    Post subject: Reply with quote

เปิดแหล่งเงินลงทุน "คมนาคม" ปี 2558 ตีกรอบ 1.02 แสนล้าน
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 30 มิ.ย. 2557 เวลา 10:20:07 น.

จากที่สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลังได้หารือกำหนดกรอบการจัดหาแหล่งเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งไว้ในเบื้องต้น โดยเฉพาะเม็ดเงินที่คาดว่าจะลงทุนได้อย่างแท้จริงภายในปี 2558 ซึ่งตามแผนการลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์คมนาคมและโลจิสติกส์ที่กระทรวงคมนาคมเสนอจะมีวงเงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 2.469 ล้านล้านบาท ระยะเวลา 8 ปี (2558-2566) ซึ่งในระยะที่ 1 กระทรวงคมนาคมเสนอว่ามีโครงการที่มีความพร้อมสามารถลงทุนได้มีวงเงินราว 7.3 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ในการพิจารณาจัดสรรเม็ดเงินลงทุนในปีงบประมาณ 2558 ซึ่งทางสำนักงบฯและกระทรวงการคลังหารือกันล่าสุดมีความเห็นว่า ในปี 2558 จะมีเม็ดเงินที่ลงทุนได้จริงราว 1.02 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 1) ส่วนของการใช้งบประมาณปี 2558 จะมีวงเงินที่เริ่มต้นโครงการราว 1.33 หมื่นล้านบาท และผูกพันไปในปีงบประมาณ 2559-2560 อีกประมาณ 4.65 หมื่นล้านบาท 2) เงินกู้ในปีงบประมาณ 2558 ราว 6.2-7 หมื่นล้านบาท

3) เงินรายได้ของรัฐวิสาหกิจ หรือรัฐวิสาหกิจกู้ลงทุนราว 1.9 หมื่นล้านบาท และ 4) การให้เอกชนร่วมลงทุนแบบ PPPs หรือระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรักเจอร์ฟันด์) ประมาณ 7,000 ล้านบาท

Click on the image for full size

ประเดิมพีพีพี โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง

โครงการที่สามารถลงทุนแบบ PPPs หรืออินฟราสตรักเจอร์ฟันด์ น่าจะเริ่มในปี 2558 ได้ เป็นโครงการด้านระบบรถไฟฟ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 2 โครงการ คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค

ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ จะใช้เงินกู้จากรัฐบาล ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จะใช้แหล่งเงินทั้งจากงบประมาณในการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และเงินกู้ในการก่อสร้าง สำหรับ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี, โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง จะมีการจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อจ้างที่ปรึกษา

ส่วนโครงการลงทุนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ทั้งรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต, สายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน รวมถึงการจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า City Line 7 ขบวน และโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ช่วงพญาไท-ดอนเมือง จะใช้เงินกู้เป็นหลัก

จัดงบฯปี"58 เดินหน้า "ทางคู่"

ขณะที่การลงทุน "รถไฟทางคู่" มีการพิจารณาแหล่งเงินสำหรับการลงทุน 12 เส้นทาง โดยมีการจัดสรรงบประมาณปี 2558 ไว้ราว 860 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะใช้งบประมาณจ้างที่ปรึกษา รวมถึงศึกษา สำรวจโครงการ ส่วนเส้นทางถนนจิระ-ขอนแก่น และประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร มีการหาแหล่งเงินกู้ไว้แล้วกว่า 4,000 ล้านบาท

กรมทางหลวง (ทล.) จะได้รับงบฯปี 2558 ประมาณ 1,380 ล้านบาท และผูกพันในปีงบประมาณ 2559-2560 อีกกว่า 1 หมื่นล้านบาท สำหรับโครงการบูรณะทางหลวงสายหลักระหว่างภาค และสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ, ขยาย 4 ช่องจราจร 27 โครงการ

ส่วนของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) จะได้รับจัดสรรประมาณ 7,700 ล้านบาท กับเงินกู้อีกราว 1,000 ล้านบาท และงบฯผูกพันปี 2559-2560 อีกกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเน้นเส้นทางที่สนับสนุนการเกษตร การท่องเที่ยว และการค้าการลงทุนเป็นหลัก

ขณะที่โครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ 3,183 คัน จะให้ ขสมก.ดำเนินการกู้จำนวนกว่า 8,000 ล้านบาท ด้านกรมเจ้าท่าจะได้รับงบประมาณกว่า 340 ล้านบาท และอีกประมาณกว่า 1,000 ล้านบาทจะเป็นงบฯผูกพัน

ด้านการลงทุนมอเตอร์เวย์นั้น จะจัดสรรงบประมาณปี 2558 ให้ 500 ล้านบาท สำหรับโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายพัทยา-มาบตาพุด เฉพาะค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและงบฯผูกพันปี 2559-2560 อีกกว่า 1,000 ล้านบาท ส่วนสายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี จะได้รับงบฯปี 2559-2560 รวมกันประมาณ 3,000 ล้านบาท

ส่วนกรมศุลกากรจะได้รับงบฯปี 2558 ราว 221 ล้านบาท และเงินกู้อีกกว่า 1,300 ล้านบาทเพื่อลงทุนเกี่ยวกับระบบโลจิสติกส์ รวมถึงจะได้งบฯผูกพันปี 2559-2560 อีกราว 1,800 ล้านบาท

เล็งดึงกองทุนมอเตอร์เวย์ 1.4 หมื่น ล.เวนคืนที่

ทั้งนี้ในการพิจารณาแหล่งเงินที่จะใช้สำหรับโครงการลงทุนด้านคมนาคม ซึ่งจะมีทั้งงบประมาณปี 2558 เงินกู้ การให้เอกชนร่วมลงทุนแบบ PPPs หรือระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรักเจอร์ฟันด์) แล้ว แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีการมองหาแหล่งเงินอื่นเพิ่มเติม เช่น กองทุนค่าธรรมเนียมผ่านทางของกรมทางหลวงสำหรับทางพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ที่มีเงินสะสมอยู่ประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท โดยมีการพิจารณาว่าจะสามารถขยายขอบเขตการใช้เงินได้แค่ไหน

"ปกติกองทุนมอเตอร์เวย์จะเก็บเงินสะสมไว้เพื่อนำไปลงทุนสร้างเส้นทางใหม่ ซึ่งจะมีกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่าจะใช้ทำอะไรได้บ้าง ก็กำลังดูว่าจะสามารถขยายขอบเขตของกองทุนได้ขนาดไหน ครอบคลุมถึงเรื่องค่าจัดกรรมสิทธิ์ ค่าจัดหาที่ดินได้หรือไม่ หากทำได้ก็จะช่วยลดภาระของรัฐบาลได้ โดยส่วนนี้กระทรวงคมนาคมที่เป็นต้นสังกัดต้องไปดู" แหล่งข่าวกล่าว

รอ "ประยุทธ์" เคาะต้นเดือน ก.ค.

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ต้องรอให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. อนุมัติแผนการลงทุนของกระทรวงคมนาคมอย่างชัดเจนก่อนในสัปดาห์นี้ และจะมีข้อสรุปเรื่องแหล่งเงินที่ชัดเจนในช่วงต้นเดือน ก.ค.นี้

นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า วงเงินที่ชัดเจนสำหรับงบฯลงทุนด้านคมนาคมที่จะได้รับการจัดสรรในปีงบประมาณ 2558 ต้องรอให้ได้รับอนุมัติจากหัวหน้า คสช.ก่อน จากนั้นสำนักงบประมาณและสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จึงจะมาพิจารณาร่วมกันว่า จะจัดสรรให้อยู่ในงบประมาณเท่าใด และเป็นเงินกู้เท่าใด ส่วนที่ทางกระทรวงคมนาคมได้สรุปตัวเลขออกมาที่ 1.4-1.5 แสนล้านบาทนั้น คิดว่าเป็นโครงการที่กระทรวงคมนาคมมองว่ามีความพร้อม อย่างไรก็ดี ต้องให้หัวหน้า คสช.เห็นชอบก่อน จากนั้นถึงจะขอจัดสรรงบประมาณปี 2558 หรือจะใช้เงินกู้เท่าไหร่

นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า โครงการที่จะได้รับจัดสรรเงินลงทุนในปี 2558 จะต้องจัดลำดับความสำคัญ โดยเน้นโครงการที่มีความพร้อม และสมควรที่จะเร่งดำเนินการจริง ๆ คือทำแล้วเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างชัดเจน อาทิ การซ่อมบำรุง

เส้นทางสายหลักที่ใช้มา 10-20 ปี หรือการตัดถนนเส้นทางใหม่ที่เชื่อมต่อกับประเทศในภูมิภาค เป็นต้น เนื่องจากแหล่งเงินแต่ละแหล่งก็จะมีข้อจำกัด ทำให้ไม่สามารถจัดสรรได้ทั้งหมดตามที่หน่วยงานเสนอ

"การจัดสรรเงินลงทุน ต้องแน่ใจว่าโครงการมีความพร้อมจะใช้เงินภายในปี 2558 เพราะอย่างรถไฟรางคู่ก็ไม่ใช่ว่าจะสร้างได้เสร็จในปีเดียว ก็ต้องดูว่าในปี 2558 จะทำได้เท่าไหร่ นอกจากนี้ ต้องเป็นโครงการที่มีประโยชน์ สอดคล้องกับนโยบายของ คสช. และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11" นางสาวจุฬารัตน์กล่าว
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44522
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 20/07/2014 7:55 pm    Post subject: Reply with quote

'ประจิน'เรียกถกยุทธศาสตร์คมนาคม
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 20 กรกฎาคม 2557 14:30

ประจิน" เรียกหารือโครงการยุทธศาสตร์คมนาคม ก่อนนำเข้าที่ประชุม คสช. 22 ก.ค.นี้

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ ได้เชิญ นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมหัวหน้าส่วนราชการและผู้แทนรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคมเข้าร่วมประชุมปรึกษาหารือเพื่อกำหนดข้อสรุปร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อเตรียมนำเสนอต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ทั้งนี้พล.อ.ท.มณฑล สัชฌุกร โฆษกกองทัพอากาศ ที่ปรึกษาหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เปิดเผยว่า ได้มีการหารือเกี่ยวกับประเด็นแผนงานโครงการในยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคม 5ด้าน หลังจากประชุมไปแล้ว 4 ครั้งเพื่อนำมาบูรณาการกับนโยบายของหัวหน้า คสช. ในเรื่องการเชื่อมต่อพื้นที่สำคัญภายในประเทศและระหว่างประเทศ ได้แก่ เมืองหลวง เมืองใหญ่ ชนบท เมืองท่า ด่านชายแดน และนิคมอุตสาหกรรม ในการเตรียมความพร้อมรองรับการเข้าสู่ประชมคมอาเซียน และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชื่อมโยงประเทศต่างๆ ในเอเชีย ทั้งนี้จะได้มีการนำเสนอร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติในโอกาสแรกต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.อ.ประจิน เตรียมที่จะนำร่างยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคม เสนอต่อ หัวหน้า คสช. เพื่อพิจารณา ในวันอังคาร ที่ 22 ก.ค. ในที่ประชุมคณะ คสช.
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44522
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 20/07/2014 8:13 pm    Post subject: Reply with quote

"พล.อ.อ.ประจิน”ประชุมสรุปโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เสนอคสช.สัปดาห์หน้า
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 20 ก.ค. 2557 เวลา 20:03:19 น.

ก.คมนาคม หารือแผนยุทธศาสตร์ “พล.อ.อ.ประจิน” เพื่อกำหนดข้อสรุปร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เตรียมนำเสนอ คสช.สัปดาห์หน้า

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ หารือนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมหัวหน้าส่วนราชการและผู้แทนรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมประชุมปรึกษาหารือ เพื่อกำหนดข้อสรุปร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เตรียมนำเสนอต่อหัวหน้า คสช.ในการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

สำหรับการประชุมวันนี้ได้มีการหารือเกี่ยวกับประเด็นแผนงาน โครงการ ในยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคม 5 ด้าน ที่ได้ประชุมไปแล้วรวม 4 ครั้ง เพื่อนำมาบูรณาการกับนโยบายของหัวหน้า คสช.ในเรื่องการเชื่อมต่อพื้นที่สำคัญภายในประเทศและระหว่างประเทศ ได้แก่ เมืองหลวง เมืองใหญ่ ชนบท เมืองท่า ด่านชายแดน และนิคมอุตสาหกรรม ในการเตรียมความพร้อมรองรับการเข้าสู่ ประชมคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชื่อมโยงประเทศต่างๆ ในเอเชีย ทั้งนี้ จะมีการนำเสนอร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวต่อที่ประชุม คสช.ในสัปดาห์หน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์หลักของกระทรวงคมนาคม แบ่งเป็น 5 ยุทธศาสตร์ คือ
1.ยุทธศาสตร์ระบบรถไฟ ที่จะมีการพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ เช่น รถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 5 เส้นทาง วงเงินรวม 116,000 ล้านบาท คือ
1.ลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม.วงเงิน 24,000 ล้านบาท
2.มาบกะเบา-นครราชสีมา (ถนนจิระ) ระยะทาง 132 กม. วงเงิน 29,000 ล้านบาท
3.ถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กม. วงเงิน 26,000 ล้านบาท
4.นครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กม. วงเงิน 20,000 ล้านบาท และ
5. ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 17,000 ล้านบาท

ส่วนโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ เป็นงานปรับปรุงทาง ราง หมอน สะพาน และติดตั้งรั้ว
2.โครงการติดตั้งเครื่องกั้นถนนเสมอระดับและปรับปรุงเครื่องกั้น
3.โครงการปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณไฟสีทั่วประเทศ และ
4.โครงการติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคม

โครงการก่อสร้างทางคู่ 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,364 กม. วงเงิน 140,000 ล้านบาท คือ
1.หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กม.
2.ชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 167 กม.
3.สุราษฎร์ธานี-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 339 กม.
4.ปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กม.
5.ขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 174 กม. และ
6. ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 309 กม. และ

โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 696 กม. วงเงิน 120,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ พ.ร.บ. 2 กู้เงิน คือ
1.เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 กม.
2. บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 347 กม. และ
3. ชุมทางบ้านภาชี-อ.นครหลวง ระยะทาง 15 กม.

ด้านยุทธศาสตร์ที่ 2 ขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น รถไฟฟ้า 10 สาย ถนนรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น

ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านถนน เช่น โครงการถนนเชื่อมภูมิภาค เชื่อมระหว่างจังหวัด แบ่งเป็น 3 ระดับ เชื่อมในระดับพื้นที่ ระดับเชื่อมเมืองหลัก และระดับเชื่อมต่างประเทศ โครงการขยายถนน 4 ช่องจราจร รวมถึงโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และโครงการทางพิเศษเชื่อมภูมิภาค 5 โครงการ เช่น โครงการทางพิเศษสายดาวคะนอง-พระราม 2 ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)

ขณะที่ยุทธศาสตร์ที่ 4 ทางน้ำ โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือ และเขื่อนป้องกันตลิ่ง โครงการขุดลอกร่องน้ำ การบำรุงรักษาร่องน้ำ

และยุทธศาสตร์ที่ 5 ทางอากาศ เช่น โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 โครงการขยายท่าอากาศยานดอนเมือง โครงการจัดจราจรทางอากาศ และการจัดซื้อเครื่องบินของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

โดยจะแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 เฟส โดย
เฟส 1 เป็นโครงการที่เริ่มดำเนินการในปี 2558 ทั้งในส่วนของการก่อสร้างหรือศึกษา วงเงินลงทุนรวมประมาณ 210,000 ล้านบาท
เฟส 2 เป็นโครงการที่เริ่มดำเนินการในปี 2559-2560 วงเงินลงทุนสำหรับโครงการใหม่ประมาณ 170,000 ล้านบาท และจะเป็นการลงทุนในส่วนของโครงการที่ ต่อเนื่องมาจากเฟสแรกอีกส่วนหนึ่ง
ส่วนเฟส 3 คือ โครงการที่เริ่มดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของวงเงินลงทุนรวมนั้น กระทรวงคมนาคมได้หารือกับ พล.อ.อ.ประจิน เพื่อให้ได้วงเงินรวมตามกรอบยุทธศาสตร์ ก่อนมีการนำเสนอข้อมูลให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.รับทราบก่อนสรุปเรื่องแผนและตัวเลขลงทุนที่ชัดเจนอีกครั้ง

ที่มา สำนักข่าวไทย
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44522
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 21/07/2014 9:18 pm    Post subject: Reply with quote

คมนาคมวางกรอบลงทุนปี′58 วงเงิน 1.46 แสนล้าน "ทางหลวง-ทางหลวงชนบท-การรถไฟอู้ฟู่
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 21 ก.ค. 2557 เวลา 20:03:35 น.

ปลัดคมนาคมจี้หน่วยงานราชการเบิกจ่ายงบค้างท่อปี’57 ยังเหลืออีกกว่า 6.9 หมื่นล้าน เผยปี’58 ได้รับงบฯ 1.46 แสนล้าน เพิ่มขึ้น 10.35% ทางหลวงนำโด่ง 6.1 หมื่นล้าน ทางหลวงชนบทกว่า 4 หมื่นล้าน การรถไฟฯไม่น้อยหน้าทะลุ 1.9 หมื่นล้าน เร่ง 3 หน่วยงาน”บขส.-ขสมก.”เคลียร์พื้นที่ย่านพหลโยธิน ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง”บางซื่อ-รังสิต”

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมาได้ประชุมติดตามงานในส่วนของหน่วยราชการ เพื่อถ่ายทอดแนวทางปฏิบัติตามนโยบาย คำสั่ง และประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) รวมทั้งติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณ ประจำปี 2557 วงเงิน 133,015.13 ล้านบาท ซึ่งมีผลการเบิกจ่าย ณ วันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา จำนวน 63,308.96 ล้านบาท หรือ47.60% โดยการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม จำนวน 8,366.17 ล้านบาท ซึ่งยังเหลืออีกกว่า 69,707 ล้านบาท และคาดว่าถึงสิ้นเดือนกันยายนี้จะเบิกจ่ายได้ถึงประมาณ 70-75% ใกล้เคียงกับเป้าหมายของรัฐบาล

สำหรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 นั้น ทางกระทรวงคมนาคมได้รับการจัดสรรจากสำนักงบประมาณ วงเงินรวม 146,781.4206 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 จำนวน 13,766.2880 ล้านบาท หรือ10.35% โดยแยกเป็น 1.งบประมาณสำหรับส่วนราชการ จำนวน 112,382 ล้านบาท แยกเป็นงบประจำ จำนวน 11,694 ล้านบาทและงบลงทุน จำนวน 100,687 ล้านบาท

โดยหน่วยงานที่ได้สูงสุดได้แก่ กรมทางหลวง(ทล.) จำนวน 61,378 ล้านบาท กรมทางหลวงชนบท (ทช.) จำนวน 40,596 ล้านบาท กรมเจ้าท่า(จท.) จำนวน 4,818 ล้านบาท กรมการขนส่งทางบก(ขบ.) จำนวน 2,911 ล้านบาท กรมการบินพลเรือน(บพ.) จำนวน 1,708 ล้านบาท สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) จำนวน 513 ล้านบาทและสำนักปลัดกระทรวงคมนาคม จำนวน 454 ล้านบาท

และ2.งบประมาณสำหรับรัฐวิสาหกิจได้รับจัดสรรอยู่ที่ 34,399 ล้านบาท แยกเป็นงบประจำ 26,240 ล้านบาทและงบลงทุน จำนวน 8,158 ล้านบาท โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)ได้รับจัดสรรสูงสุดอยู่ที่ จำนวน 19,298 ล้านบาท การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) จำนวน 9,664 ล้านบาท องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) จำนวน 3,500 ล้านบาท การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) จำนว 1,700 ล้านบาท

ปลัดกระทรวงคมนาคมกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังได้ติดตามการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ได้แก่ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดน ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานที่จะต้องพัฒนา เช่น ถนน รถไฟ เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาช่องทางเข้า–ออกประเทศในเรื่องการป้องกันโรคติดต่ออุบัติใหม่แบบบูรณาการร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข การดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการบริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารการพัฒนาท่าอากาศยาน ทั้ง 28 แห่งทั่วประเทศ ที่ยังล่าช้า

“จะต่อยอดการใช้ยางพารามาเป็นส่วนผสมของวัสดุก่อสร้างผิวทาง โดยประสานความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อแก้ไขปัญหาภาพรวมของอุตสาหกรรมยางพาราที่ล้นตลาด ตั้งแต่ปี 2558 นี้กรมทางหลวงจะนำมาขยายผลมาใช้งานมากขึ้น“

นางสร้อยทิพย์ กล่าวอีกว่า สำหรับการแก้ไขปัญหารถตู้โดยสารสาธารณะผิดกฎหมาย โดยกรมการขนส่งทางบก ได้เปิดพื้นที่สำนักงานขนส่ง เมื่อวันที่ 19 - 20 กรกฎาคม ที่ผานมา ให้บริการตรวจสอบรถตู้โดยสารที่ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือไว้ จำนวน 5,549 คัน เพื่อรับสติ๊กเกอร์อนุญาตให้บริการนั้น มีรถตู้ที่ลงทะเบียนมาตรวจสภาพเพื่อรับสติ๊กเกอร์ จำนวน 3,643 คัน มีผ่านเกณฑ์ จำนวน 2,609 คัน ซึ่งรถตู้ที่ผ่านเกณฑ์แล้วจะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบรายละเอียดความถูกต้องในการเดินรถต่อไป ส่วนรถตู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 1,034 คัน ให้กลับไปแก้ไขในส่วนที่ไม่ถูกต้องและมารับการตรวจสภาพใหม่อีกครั้งตามวันที่กำหนด

ในขณะเดียวกันปลัดกระทรวงคมนาคม ยังได้ติดตามปัญหาการจัดสรรพื้นที่บริเวณย่านพหลโยธินด้วย เพื่อนำพื้นที่ดังกล่าวมาใช้ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่จะใช้ที่ดินบริเวณดังกล่าวมาก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ โดยผลสรุปในที่ประชุมให้ 3 หน่วยงาน ได้แก่ การรถไฟฯ บริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) และขสมก. เร่งจัดทำแผนการย้ายสถานีขนส่งโดยสารที่หมอชิตใหม่ไปยังพื้นที่ใหม่

พร้อมกับ มอบหมายให้สนข. จัดทำแผนเตรียมความพร้อมสำหรับการจราจร โดยพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเพื่อมารองรับการเดินทางในบริเวณดังกล่าวด้วย หลังจากที่ได้มีการย้ายไปยังที่ใหม่แล้ว คาดว่าจะย้ายออกทั้งหมดภายในปี2560 พร้อมกับการเปิดใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง

ด้านนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ว่าจ้างที่ปรึกษาทำการศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่จะทำการก่อสร้างสถานีขนส่งแห่งใหม่ ประกอบด้วย บริเวณเมืองทองธานี ,บริเวณรังสิต และบริเวณดอนเมืองฝั่งซ้าย และฝั่งขวา จะใช้พื้นที่ก่อสร้างประมาณ 100 ไร่ขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอคสช.พิจารณา โดยจะใช้เงินลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท แยกเป็นค่าซื้อที่ดิน 1,500 ล้านบาท และค่าก่อสร้างสถานีประมาณ 2,500 ล้านบาท
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44522
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 21/07/2014 11:19 pm    Post subject: Reply with quote

คสช.เด้ง 2 อธิบดี 'เจ้าท่า-รง.อุตสาหกรรม' ดึง 'BOI' ขึ้นตรงนายกฯ
โดย ไทยรัฐออนไลน์ 21 ก.ค. 2557 21:31

คสช.ออกประกาศโอนย้าย BOI จากสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมไปขึ้นตรงกับนายกฯ พร้อมเด้งอธิบดีกรมเจ้าท่า-กรมโรงงานอุตสาหกรรมและตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้...

เมื่อเวลา 20.30 น. วันที่ 21 ก.ค. มีรายงานว่า คสช.ได้ประกาศคำสั่ง คสช.ฉบับต่างๆ ดังนี้

คสช.ออกคำสั่ง ฉบับที่ 96/2557 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 20 ราย โดยให้รอง ผบ.ทบ. เป็นประธาน

คสช.ออกคำสั่ง ฉบับที่ 97/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ

คสช.ออกคำสั่ง ฉบับที่ 98/2557 เรื่อง การกำหนดตำแหน่งเพิ่ม และการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง สาระสำคัญคือ ให้นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ พ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้นายพสุ โลหารชุน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้นายชาญชัย สุวิสุทธะกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม เป็นรองปลัดกระทรวงคมนาคม ให้นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ พ้นจากอธิบดีกรมเจ้าท่า เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ให้นายจุฬา สุขมานพ ผอ.สนข. เป็นอธิบดีกรมเจ้าท่า และให้นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รอง ผอ.สนข. เป็น ผอ.สนข.

คสช.ออกประกาศฉบับที่ 99/2557 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม

คสช.ออกประกาศ ฉบับที่ 100/2557 เรื่อง โอนย้ายคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จากกระทรวงอุตสาหกรรม ไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44522
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 22/07/2014 9:54 am    Post subject: Reply with quote

“คมนาคม” เผยงบปี 58 สรุปที่ 1.46 แสนล้าน กรมทางหลวง-รถไฟได้มากสุด
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 22 กรกฎาคม 2557 08:51 น.

คมนาคมเคาะงบปี 58 ที่ 1.46 แสนล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 10.35% โดยเป็นงบลงทุนถึง 1.08 แสนล้าน เตรียมชี้แจง คสช. 29 ก.ค.นี้ “สร้อยทิพย์” เผยการเบิกจ่ายงบปี 57 ล่าสุดได้ 75% เกณฑ์น่าพอใจ

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้ประชุมหัวหน้าหน่วยราชการในสังกัดกระทรวงคมนาคม โดยสรุปกรอบวงเงินงบประมาณประจำปี 2558 รวมทั้งสิ้น 146,781.42 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2557 ประมาณ 10.35% โดยแบ่งเป็นงบลงทุน 108,845.87 ล้านบาท (หน่วยงานราชการ 100,687.38 ล้านบาท หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 8,158.49 ล้านบาท) โดยจะประชุมร่วมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2557 และชี้แจงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 วาระ 1 วันที่ 1 สิงหาคม วาระ 2 วันที่ 1 สิงหาคม-5 กันยายน วาระ 3 วันที่ 9 กันยายน และทูลเกล้าฯ ถวายในวันที่ 15 กันยายน

ทั้งนี้ กรมทางหลวง (ทล.) ได้งบประมาณมากที่สุด 61,378.37 ล้านบาท รองลงมาคือ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้รับงบ 40,596.73 ล้านบาท ส่วนรัฐวิสาหกิจนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้รับ 19,298.21 ล้านบาท การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รับ 9,664.31 ล้านบาท องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้รับ 3,500.15 ล้านบาท

“ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานดำเนินงานให้สอดคล้องกับแผนบริหารงานของ คสช. ซึ่งมีประเด็นหลัก เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน โดยมอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) จัดทำโครงข่ายถนนที่เชื่อมต่อด่านชายแดนที่กระทรวงคมนาคมรับผิดชอบ ซึ่งจะเพิ่มจาก 18 ด่านในปัจจุบันเป็น 68 ด่านในปี 2558 ซึ่งจะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งจะนำเสนอแผนต่อ คสช.ต่อไป รวมถึงให้ความสำคัญต่อการป้องกันโรคต่างๆ ที่จะเข้ามาพร้อมกับการเปิด AEC ซึ่งต้องเข้มงวดในทุกขั้นตอน ทั้งตัวสถานี ยานพาหนะ และบุคคลที่ผ่านเข้าออก โดยประสานงานร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข” นางสร้อยทิพย์กล่าว

ส่วนงบประมาณปี 2557 ล่าสุดภาพรวมมีการเบิกจ่ายไปแล้วประมาณ 75% แม้จะต่ำกว่าเป้าหมายที่ 95% แต่ถือว่าอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2556 และค่อนข้างพอใจเนื่องจากปี 2556 ถึงปี 2557 ที่มีการชุมนุมต่อเนื่อง โดยในช่วงท้ายปีงบประมาณ 2557 นี้หน่วยงานยืนยันว่าจะเร่งรัดได้มาก เนื่องจากได้มีการเตรียมแผนการก่อสร้างไว้แล้วเมื่อได้รับอนุมัติสามารถดำเนินการได้ทันที พร้อมกันนี้จะเร่งผูกพันในส่วนของงบโครงการต่างๆ ด้วย
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44522
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 22/07/2014 12:06 pm    Post subject: Reply with quote

คสช.พิจารณาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม
ครอบครัวข่าว 3 วันที่ 22 กรกฎาคม 2557 เวลา 11:22:28 น.

การประชุม คสช.ชุดใหญ่ วันนี้ กระทรวงคมนาคม จะเสนอยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานชุดใหญ่ มูลค่า 2.4 ล้านล้านบาท ให้หัวหน้า คสช.พิจารณาอนุมัติ

พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช.ด้านเศรษฐกิจ จะเสนอร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ 5 ด้าน ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.พิจารณาอนุมัติ วงเงินมากถึง 2.4 ล้านล้านบาท โดยจะเริ่มก่อสร้างในปีงบประมาณ 2558-2559 วงเงินประมาณ 7 แสนล้านบาท แบ่งเป็น

1.ยุทธศาสตร์รถไฟ ส่วนใหญ่เป็นโครงการสร้างรถไฟรางคู่ ทั้งเส้นใหม่และเก่า รวม 8 เส้นทาง วงเงิน 2.3 แสนล้านบาท
2.ยุทธศาสตร์การขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เน้นก่อสร้างรถไฟฟ้า 10 สาย และถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา แอร์พอร์ตลิงค์ส่วนต่อขยาย
3.ยุทธศาสตร์ทางถนน ส่วนใหญ่เชื่อมภูมิภาคและเชื่อมระหว่างจังหวัด วงเงินรวม 2.7 หมื่นล้านบาท
4.ยุทธศาสตร์ทางน้ำ ส่วนใหญ่เป็นโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือ เขื่อนป้องกันตลิ่ง และขุดลอกร่องน้ำ
5.ยุทธศาสตร์ทางอากาศ เน้นโครงการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 และท่าอากาศยานดอนเมือง

ขณะที่กระทรวงการคลังก็จะเสนอ คสช. เปลี่ยนแปลงบอร์ดแบงก์รัฐทั้งหมดโดยจะมีผลตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป จากการเปิดเผยของนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ว่า จะเริ่มจากบอร์ดธนาคารออมสินก่อน โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งชุด โดยกระทรวงการคลังจะเสนอนายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากรเป็นประธานบอร์ด ต่อด้วยบอร์ดธนาคารเอสเอ็มอี. ซึ่งประธานบอร์ดจะเป็นบุคคลภายนอก
-ส่วนธนาคารอาคารสงเคราะห์ หลังกรรมการบางคนลาออกไปนั้น กระทรวงการคลังก็จะเสนอกรรมการชุดใหม่ให้ คสช.เห็นชอบ ตามด้วยกรรมการบอร์ดของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยด้วยเช่นกัน
-นอกจากนี้ยังจะมีการเสนอรายชื่อบอร์ดคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจอีกหลายแห่งให้ คสช.เห็นชอบแต่งตั้งในวันนี้ด้วย
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42709
Location: NECTEC

PostPosted: 22/07/2014 3:48 pm    Post subject: Reply with quote

รฟท.จ่อชงรถไฟรางคู่14สาย-3.6แสนล. วิพากษ์‘รถไฟความเร็วสูง’ทำคุ้ม-ไม่คุ้ม

โดยชุลีพร บุตรโคตร
ข่าวเจาะ : คมนาคม
ศูนย์ข่าว TCIJ 18 มิถุนายน 2557

ย้อนความเห็นนักวิชาการวิพากษ์รถไฟความเร็วสูง‘คุ้ม-ไม่คุ้ม’ ขณะที่คสช.เบรกโครงการเมกะโปรเจค ให้เดินหน้าแค่รถไฟรางคู่ใน14เส้นทางที่รฟท.เตรียมเสนอในสัปดาห์นี้ก่อน ด้วยงบประมาณ3.6แสนล้าน จาก3ล้านล้านบาท ตามแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ
ในการศึกษาประเด็นรถไฟฟ้าความเร็วสูง สร้างแล้วคุ้มหรือไม่ หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงก่อนหน้านี้ว่า อาจจะเดินหน้าโครงการต่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศหลังหยุดชะงักมาหลายปี

หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาเปิดเผยโร้คแม้ปทางเศรษฐกิจ ซึ่งหนึ่งในแนวทางเดินหน้าทางเศรษฐกิจครั้งนี้ระบุว่า จะมีการนำโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่รัฐบาลเดิมเคยริเริ่มไว้กลับมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ในนั้นคือโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ที่เคยมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในสังคมถึงความคุ้มค่าต่าง ๆ

กระทั่งล่าสุด เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมา นายสมชัย ศิริวัฒนโชค ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมนำเสนอแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ ต่อ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศวงเงิน 3 ล้านล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครง ระหว่างปี 2558-2565 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ แต่ขอให้ตัดโครงการรถไฟความเร็วสูงออกจากแผนไปก่อน

ทั้งนี้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมกลับไปหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาแหล่งเงินทุนที่จะนำใช้ในการดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า และนำกลับมาเสนอให้พล.อ.อ.ประจิน พิจารณาอีกครั้ง ก่อนวันที่ 19 มิถุนายนนี้ ซึ่งแผนการใช้เงินต้องมีการระบุรายละเอียดการใช้เงินแต่ละปีชัดเจน

“ที่ประชุมให้ตัดโครงการไฮสปีดเทรนออกไปก่อน เพราะเห็นว่าไม่ได้เป็นโครงการจำเป็นเร่งด่วน ไม่ต้องรีบทำ โดยหากในอนาคตกระทรวงจะนำเสนอเพิ่มเติมก็สามารถทำได้ ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าวงเงินโดยรวมมากกว่าวงเงินตาม พ.ร.บ.เงินกู้ของรัฐบาลที่แล้ว เนื่องจากพล.อ.อ.ประจินต้องการให้มีการนำเสนอแผนยุทธศาสตร์ในภาพรวมพร้อมกันทั้งหมด ทั้งทางรถไฟ ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ซึ่งตามพ.ร.บงเงินกู้เดิมไม่มีการลงทุนทางอากาศ ทำให้วงเงินน้อยกว่าแผนที่นำเสนอครั้งนี้” นายสมชัยกล่า;

สำหรับโครงการที่นำเสนอส่วนใหญ่เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่จำเป็น เช่น รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า 10 สาย การปรับปรุงทางหลวงแผ่นดิน ถนนลาดยางของกรมทางหลวงชนบท ท่าเทียบเรือและการขุดลอกร่องน้ำ

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ประเด็นความคุ้มค่าของไฮสปีดเทรน หรือรถไฟความเร็วสูง มีนักวิชาการที่เกี่ยวข้องเคยออกมาตั้งข้อสังเกต วิเคราะห์ เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินกับรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง ศูนย์ข่าว TCIJ จึงขอนำข้อมูลของนักวิชาการที่เคยกล่าวถึงประเด็นนี้มาให้อ่านเพื่อกันอีกครั้ง



ภาพประกอบ: TIK SAIFAPA

ทีดีอาร์ระบุสร้างรถไฟรางคู่คุ้มค่ากว่า

สำหรับหน่วยงานที่เสนอแนะและให้ความเห็นต่อประเด็นนี้มาโดยตลอด คือ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่จัดเสวนาระดมความคิดเห็นหลายครั้ง โดย ดร.สุเมธ องคกิตติกุล นักวิชาการอาวุโสทีดีอาร์ไอ ซึ่งถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ เคยให้ข้อมูลไว้หลายเวที โดยกล่าวถึงโครงการต่าง ๆ ในโครงการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มุ่งใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศว่า การขนส่งพบว่าเป็นการขนส่งทางรางเป็นหลัก นั่นคือการขนส่งทางรถไฟ ที่เชื่อว่าเป็นการขนส่งที่ประหยัดและขนส่งได้ครั้งละมาก ๆ น่าจะช่วยลดต้นทุนในการขนส่งของประเทศได้ในระดับหนึ่ง ในความเป็นจริงข้อจำกัดของระบบรางในบ้านเรา คือมีโครงข่ายระบบรางทั่วประเทศ ประมาณ 4,000 กิโลเมตร ขณะที่เมื่อเทียบกับระบบขนส่งทางถนน เรามีโครงการข่ายถนนมากกว่า 200,000 กิโลเมตร ระบบขนส่งทางรางจึงมีความทั่วถึงไม่มากนัก ด้านการลดต้นทุนคงลดได้บ้าง แต่จะลดลงอย่างเห็นได้ชัด หรือมีนัยสำคัญกับระบบเศรษฐกิจยังต้องดูกันต่อไป ขึ้นอยู่กับว่า ในพื้นที่ที่ทางรถไฟได้พัฒนาเส้นทางไปนั้นเป็นเส้นทางที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน

“การพัฒนาระบบการขนส่งเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบทางคู่ ซึ่งปัจจุบันเป็นระบบรถไฟทางเดี่ยววิ่งสวนกันไม่ได้ ถ้าเป็นทางคู่ก็จะทำให้วิ่งสวนกันได้ ก็จะสามารถขนส่งสินค้าและผู้โดยสารได้จำนวนมากและรวดเร็วยิ่งขึ้น จะสามารถช่วยลดต้นทุนได้ แต่โครงการลักษณะนี้มีสัดส่วนประมาณ 20-25 เปอร์เซนต์ ของเม็ดเงินในการลงทุนเท่านั้น ในขณะที่โครงการที่เกี่ยวข้องกับรถไฟความเร็วสูง เป็นเม็ดเงินค่อนข้างสูงมากประมาณกว่า 8 แสนล้านบาท หรือ 39 เปอร์เซนต์ของเม็ดเงินที่จะลงทุน 2 ล้านล้านบาท และในส่วนของรถไฟความเร็วสูง ยังมีความไม่ชัดเจนในหลายประการ เช่นจะช่วยเรื่องความเชื่อมโยงกับภูมิภาคได้อย่างไร อีกทั้งรถไฟความเร็วสูงก็ไม่เกี่ยวข้องกับการลดต้นทุนมากนัก เพราะเน้นรองรับการขนส่งคนเป็นหลัก เป็นทางเลือกใหม่ของการเดินทางที่มีต้นทุนสูง ซึ่งค่าโดยสารก็น่าจะแพงตามไปด้วย” ดร.สุเมธกล่าว



ภาพประกอบ: TIK SAIFAPA

รถไฟฟ้าความเร็วสูงไม่ได้ทำเศรษฐกิจดีขึ้นในพริบตา

ทั้งนี้หากจะพิจารณาประเด็นความคุ้มค่าในอนาคต ดร.สุเมธเห็นว่า จะต้องพิจารณาจากรายละเอียดโครงการ หากมีลักษณะอย่างเรื่องของระบบทางคู่ หรือรถไฟฟ้าที่ให้บริการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนนี้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ค่อนข้างดีระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันในเรื่องรถไฟความเร็วสูง ยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง ว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจจริงหรือไม่ ต้องรอดูกันต่อไป เพราะการหวังว่าการมีรถไฟความเร็วสูงแล้ว จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ดินไปตลอดแนวที่รถไฟความเร็วสูงพาดผ่านนั้น ความจริงแล้วกระบวนการพัฒนาที่ดิน พัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ในลักษณะอย่างนี้จำเป็นต้องใช้เวลามาก หลายครั้งที่เราได้ยินการยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหลังจากมีรถไฟความเร็วสูงแล้ว ทำให้เศรษฐกิจเขาเติบโตพัฒนา ตรงนี้ต้องเข้าใจภูมิศาสตร์ประเทศเขาด้วยว่า เป็นประเทศที่มีประชากรค่อนข้างหนาแน่น จึงมีปริมาณการใช้งานรถไฟความเร็วสูงค่อนข้างมาก และพื้นที่ก็มีการพัฒนามาเป็นเวลานาน เริ่มจากการพัฒนาตัวรถไฟระบบปกติก่อน เสร็จแล้วจึงมีการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงมาเป็นระยะ ๆ ทีละเส้นทาง



กราฟฟิก: ชนากานต์ อาทรประชาชิต

ค่าโดยสารแพง คนอาจใช้บริการน้อยกว่าที่คาดการณ์

ขณะที่ ผศ.ดร.พงษ์ชัย อธิคมรัตนกุล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวเมื่อครั้งมีการสอบถามความคิดเห็นต่อนโยบายนี้ว่า ไม่มีคำถามสำหรับรถไฟรางคู่ ทุกฝ่ายเห็นด้วย สามารถรองรับการขนส่งสินค้าและสามารถขนได้ด้วยความเร็วประมาณ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่กับรถไฟความเร็วสูงยังมีคำถามหลายข้อที่รัฐบาลยังตอบไม่ได้ในแง่ความคุ้มค่า ทั้งนี้หากพิจารณาในญี่ปุ่นมีประชากรประมาณ 130 ล้านคน ที่มีความหนาแน่นและกระจายตัว แต่ประเทศไทยเป็นเด็กหัวโต กระจุกอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่อยู่ที่หัวเมืองหลัก ๆ ตามภูมิภาคไม่มากและประชากรส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในย่านธุรกิจที่มีกำลังซื้อพอจะขึ้นรถไฟความเร็วสูง และหนึ่งขบวนในปีแรก ๆ ต้องมีผู้โดยสารประมาณล้านกว่าคนจึงจะคุ้มทุน ถ้าไม่ถึงหลักล้านก็ขาดทุนแน่นอน และจะกลายเป็นภาระของรัฐบาล

“ถ้ารัฐบาลจะลงทุนเกือบ 8 แสนล้าน แต่ยังไม่มีโมเดลทางธุรกิจดีพอ ว่าจะได้ผลตอบแทนเท่าไหร่ ซึ่งเป็นการลงทุนที่ใช้เวลานานมากที่จะคุ้มทุน เท่ากับเอาเงินไปจมไว้ สร้างแล้วไม่มีคนขึ้นเพราะมันแพง ถ้าอยากให้คนขึ้น รัฐก็ต้องอุดหนุนค่าตั๋ว”

ดร.พงษ์ชัยกล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายออกมาท้วงติงเกี่ยวกับความคุ้มค่าโดยระบุว่า จะต้องดูด้วยว่าการคิดความคุ้มค่าของผู้ที่ไม่เห็นด้วยนั้น ได้รวมเอาผลประโยชน์ในแง่การกระจายความเจริญและเม็ดเงินที่ตามมาด้วยหรือไม่ ซึ่งคุ้มไม่คุ้ม อยู่ที่มิติในการคิด ถ้าเอาทั้งสองฝั่งมาชั่ง วิธีการคิดจะอยู่กันบนคนละสมการ การมองของกลุ่มที่มองว่าไม่คุ้มเห็นว่า การลงทุนต้องคุ้มทุนด้วยตัวมันเอง แต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการไม่ได้มองในลักษณะนั้น แต่มองตัวคูณอื่น ๆ ที่จะได้ เช่น ถ้ามีรถไฟความเร็วสูงจะช่วยกระจายความเจริญไปสู่ต่างจังหวัด ไม่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ อีกต่อไป ทุก ๆ สถานีที่เป็นที่พักก็จะเกิดย่านธุรกิจ เกิดการจ้างงาน ซึ่งตรงนี้คิดว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยไม่ได้มองในสมการแบบเดียวกัน

“รัฐบาลอาจไม่ได้มองแค่มิติการเดินรถเพียงอย่างเดียว รถไฟความเร็วสูงจึงอยู่ในยุทธศาสตร์ข้อที่ 2 คำว่าคุ้มจึงคุ้มในสมการที่ต่างกัน ต้องย้อนถามว่า ทีดีอาร์ไอคิดไปถึงการเจริญเติบโตที่ได้มาด้วยหรือไม่ แต่ถ้าทีดีอาร์ไอคิดครบแล้ว ก็ต้องคล้อยตามว่าไม่คุ้ม ที่จะดำเนินการ แต่ถ้าคิดแค่เฉพาะว่าจะมีผู้โดยสารมากพอหรือไม่ ผมคิดว่านานเลยกว่าจะคุ้มทุน เพราะว่าบางเส้นไม่มีศักยภาพพอที่จะมีคนใช้ทุกวัน อย่าลืมว่าตารางเดินรถไฟจะมีคนหรือไม่มีคนก็ต้องวิ่งตลอดเวลา”



ใช้ขนสินค้าต้องเพิ่มต้นทุน รองรับน้ำหนักที่เพิ่ม

สำหรับประเด็นการขนส่งสินค้านั้น ดร.พงษ์ชัยกล่าวว่า เป็นไปได้ แต่ก็มีข้อจำกัด เพราะควรจะเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงและน้ำหนักเบา เพราะหาเป็นสินค้าที่มีน้ำหนักมาก จะยิ่งทำให้ต้นทุนการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเพิ่มสูงขึ้น เพื่อรองรับน้ำหนักได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ประเด็นการเชื่อมระบบรางกับจีน เพื่อให้เกิดการขยายเศรษฐกิจจากจีนมาไทยนั้น ดร.พงษ์ชัยระบุว่า ยังมีคำถามหลายข้อว่า เชื่อมกับจีนแล้วประเทศไทยจะได้อะไร เพราะการตั้งสมมติเพียงว่า จีนมีคนพันกว่าล้านคน ถ้าไทยมีระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมไปถึงจีนได้ คนจีนก็จะเดินทางมาไทย ซึ่งสิ่งที่ทำให้ไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและเจริญขึ้น คือการลงทุนกับการท่องเที่ยว คำถามคือรถไฟความเร็วสูงจะทำให้มีนักลงทุนกับนักท่องเที่ยวมาอย่างที่คิดหรือไม่

“เราพูดถึงคนจีนเป็นพันล้านคน แต่ที่เราเชื่อมคือเชื่อมไปคุนหมิง มีประชากรประมาณ 60-70 ล้านคน กวางสีก็เท่า ๆ กัน คำถามคือถ้าเราเชื่อมกับจีนแล้ว คนจีนมีพฤติกรรมเหมือนคนญี่ปุ่นที่มาเที่ยว มาลงทุนหรือไม่ แล้วคน 2 มณฑลนี้มีศักยภาพสูงเหมือนคนในเซิ่นเจิ้น กว่างโจว ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง หรือไม่ ไม่ ความเป็นจริงคือศักยภาพไม่ถึง โอกาสที่จะมีคนเยอะต้องคิดให้รอบคอบ เพราะสมมติฐานเป็นสมมติฐานที่มองในแง่ดีหมด แต่ในความเป็นจริงวันนี้เรามีตัวเลข เราเช็คได้ ว่ามีนักลงทุนที่มาจากคุนหมิง กวางสี เท่าไหร่”

ดร.พงษ์ชัยกล่าวด้วยว่า การที่แต่ละประเทศทำระบบรถไฟไว้ขนสินค้า ย่อมต้องมีนิคมอุตสาหกรรมหรือประตูการค้าชายแดน ถ้าเรามีรถไฟเป็นทางเลือก ราคาถูกกว่า สินค้าก็จะกระโดดขึ้นรถไฟรางคู่วิ่งมาตามนิคมอุตสาหกรรมหรือกรุงเทพฯ ดังนั้นก็ควรจะต้องมีย่านอุตสาหกรรมหรือต่อเชื่อมทางรถไฟไปที่ประตูการค้าจึงจะมีโอกาส

“รถไฟรางคู่เราเข้าใจง่ายครับ แต่รถไฟความเร็วสูงเข้าใจยากมาก มีคำถามเยอะ รถไฟรางคู่เส้นทางสายใต้ ตามแผนจะลากลงมา แล้วขยายรางตรงปาดังเบซาร์ ถามว่าเป็นประตูการค้าหรือไม่ ใช่เลยและตอบโจทย์ด้วย เพราะมันจะทำให้สินค้าจากภาคกลางลงไปภาคใต้ได้ประโยชน์ เส้นถัดไปที่จะเชื่อมไปทางตะวันออกก็ถือว่าตอบสนองประตูการส่งออกของไทย ไม่ว่าจะเป็นแหลมฉบังหรือมาบตาพุด เส้นบางเส้นที่รัฐบาลคิดสร้างต่อจากเด่นชัยไปถึงเชียงของ ก็ไปอยู่ตรงประตูอีกเช่นกัน รถไฟรางคู่ผมจึงเห็นด้วย ไม่มีคำถามอะไรเลยและน่าจะทำมานานแล้ว”

แนะแปรรูปการรถไฟฯ ก่อนเดินหน้าโครงการอื่น

ทว่าปัญหารถไฟของไทยไม่ได้อยู่ที่เฉพาะตัวโครงสร้างพื้นฐาน ปัญหาสำคัญที่ยังไม่มีการแก้ไขในมุมมองของ ดร.พงษ์ชัยคือการบริหารจัดการของการรถไฟแห่งประเทศไทย และแม้ว่าจะมีการพูดถึงการตั้งกรมรถไฟ แต่ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ด้านการบริหารจัดการ เพราะมุ่งหมายเพียงการดูแลผลประโยชน์ด้านที่ดินเท่านั้น

“วันนี้เราลงทุนเพื่ออัพเกรดโครงสร้างพื้นฐาน แต่เรายังไม่รู้เลยว่า จะบริหารอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ของไม่ถูกขโมย หรือสหภาพไม่ประท้วง ถ้าเป็นธุรกิจจะไม่เอาเงินสามสี่แสนล้านลงไปในลักษณะแบบนี้ การบริหารจัดการเราต้องพูดไปด้วยกัน เราเอาทรัพยากรใหม่ใส่ลงไป แต่การบริหารแบบเดิม ท้ายที่สุดก็จะขาดทุนเหมือนเดิม”

ดร.พงษ์ชัยกล่าวว่า ทางออกหนึ่งคือการแปรรูปการรถไฟฯ แต่ก็ขึ้นกับว่ารัฐบาลมีความกล้าหาญเพียงพอหรือไม่ เพราะทุกครั้งที่แตะเรื่องนี้ก็จะถูกกล่าวหาว่าเอาสมบัติของชาติไปขาย โดยไม่ได้พูดถึงเรื่องประสิทธิภาพ เขายกตัวอย่างว่า รัฐวิสาหกิจรถไฟในหลายประเทศถูกแปรรูปไปหมดแล้ว เจอาร์ไลน์ของญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นแห่งแรก พอแปรรูปแล้วก็แบ่งเส้นทางรถไฟแต่ละเส้นเป็นบริษัทแล้วบริหารจัดการ

ขณะที่แนวคิดของรัฐบาลในขณะนั้น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เคยอธิบายว่า รัฐบาลไม่ได้มองรถไฟความเร็วสูงเป็นแค่การขนส่งอย่างเดียว แต่มองเป็นเครื่องยนต์ที่ช่วยให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำ และทำให้สังคมใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ในยุโรป เมืองที่มีรถไฟความเร็วสูงไปถึง การเติบโตจะมากกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 2.7 มีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แล้วก็ไม่ได้มองรายได้จากค่าตั๋วเพียงอย่างเดียว แต่รายได้ส่วนหนึ่งยังมาจากการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ รัฐบาลมีคณะทำงานที่กำลังคิดหาวิธีเพิ่มมูลค่าจากรถไฟความเร็วสูง



อย่างไรก็ตาม ภายใต้กรอบวงเงิน 3 ล้านล้านบาท ตามที่คสช.มีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย เตรียมเสนอเพื่อดำเนินการรถไฟรางคู่ คือ

โครงการรถไฟรางคู่ 5 เส้นทาง วงเงิน 1.16 แสนล้านบาท ดังนี้
1.ลพบุรี-ปากน้ำโพ วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท
2.มาบกะเบา-นครราชสีมา (ถนนจิระ) วงเงิน 2.9 หมื่นล้านบาท
3.ถนนจิระ - ขอนแก่น วงเงิน 2.6 หมื่นล้านบาท
4.นครปฐม-หิวหิน วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท
5.ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร วงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีโครงการรถไฟรางคู่ 6 เส้นทางที่ยังรองบประมาณและศึกษารายละเอียด วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท ได้แก่
1.หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์
2.ชุมพร-สุราษฎร์ธานี
3.สุราษฎร์ธานี-ปาดังเบซาร์
4.ปากน้ำโพ-เด่นชัย
5.ขอนแก่น-หนองคาย
6.ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี

และยังมีโครงการรถไฟรางคู่สายใหม่อีก 3 เส้นทาง วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท ได้แก่
1.เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ
2.บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม และ 3.ชุมทางบ้านภาชี-อ.นครหลวง รวมทั้งหมด 3.6 แสนล้านบาท

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 13, 14, 15 ... 121, 122, 123  Next
Page 14 of 123

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©