RailServe.Com

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai Gallery in Facebook

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311238
ทั่วไป:13181481
ทั้งหมด:13492719
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าวแผนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ 2558-65
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ข่าวแผนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ 2558-65
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 26, 27, 28 ... 121, 122, 123  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42629
Location: NECTEC

PostPosted: 03/12/2014 3:31 am    Post subject: Reply with quote

ชงร่าง MOU รถไฟไทย-จีน เสนอสนช.พิจารณา 4 ธ.ค.นี้ ดันตอกเข็มในปี 59


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
2 ธันวาคม 2557 22:42 น.




คมนาคมเสนอสนช. พิจารณาร่าง MOU รถไฟทางคู่ ไทย-จีน คาดบรรจุเป็นวาระประชุม 4 ธ.ค.นี้ โดยมีสาระสำคัญ 7 ข้อ ตั้งเป้าลงมือก่อสร้างให้ได้ภายในปี 2559 จีนหนุนก่อสร้างและการเงิน

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมแจ้งว่า เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในหนังสือส่งถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้พิจารณาบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทยในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 พร้อมทั้งแนบร่าง MOU ดังกล่าวนำส่งไปพร้อมกัน โดย สนช.ได้บรรจุเข้าเป็นวาระการประชุมในวันที่ 4 ธันวาคมนี้

สำหรับสาระสำคัญของร่าง MOU ดังกล่าวมี 7 ข้อ ประกอบด้วย

1.รัฐบาลไทยตกลงให้รัฐบาลจีนเข้ามีส่วนร่วมดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน (Standard Gauge) เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุดระยะทางประมาณ 734 กิโลเมตร และช่วงแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทางประมาณ 133 กิโลเมตรซึ่งเป็นโครงการทางคู่ขนาดมาตรฐานโครงการแรกของไทย โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะใช้ความร่วมมือในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล

2.ในการดำเนินการตามเนื้อหาข้างต้น ทั้ง 2 ฝ่ายมีความเห็นพ้องที่จะใช้หลักการดังนี้

2.1 ฝ่ายจีนจะรับผิดชอบก่อสร้างและพัฒนาระบบรถไฟเส้นทางดังกล่าว สำหรับการสนับสนุนเงินลงทุน และการชำระเงินลงทุนจะมีการหารือกันต่อไป

2.2 ฝ่ายไทยตกลงที่จะให้ฝ่ายจีนเข้ามามีส่วนร่วมในโอกาสแรกที่เป็นไปได้ ในขั้นตอนการเตรียมการของโครงการ รวมถึงการศึกษาความเป็นไปได้ และจะพยายามให้เริ่มการก่อสร้างได้ภายในปี 2559

2.3 ในการประเมินมูลค่าโครงการ ให้เป็นการหารือระหว่างไทยกับจีน รวมทั้งให้องค์กรที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของ 2 ฝ่ายเป็นผู้ประเมิน

2.4 ทั้ง 2 ฝ่ายจะพิจารณาอย่างรอบคอบเกี่ยวกับรูปแบบความร่วมมือของโครงการ โดยจะหารือกันต่อไปเกี่ยวกับรูปแบบดังกล่าว

3. ให้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารร่วมขึ้นใหม่ชุดหนึ่ง เพื่อกำกับดูแลการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ สำหรับไทยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานร่วม สำหรับจีน ให้ผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Council) เป็นประธานร่วม

4. ในการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่ใช้อยู่ในประเทศคู่ภาคี

5. ในกรณีที่สาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ขัดหรือแย้งกับบันทึกความเข้าใจใดๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านรถไฟที่ลงนามระหว่างปี 2554-2556 ให้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้มีผลเหนือกว่า

6. บันทึกความเข้าใจฉบับนี้อาจแก้ไขโดยความเห็นชอบร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษร

7. บันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ ณ วันที่ลงนาม และจะมีผลบังคับใช้ 5 ปี นอกจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร 6 เดือนล่วงหน้า ทั้งนี้หากไม่มีการบอกเลิก บันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะได้รับการต่ออายุโดยอัตโนมัติอีกครั้งละ 5 ปี

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เคยระบุว่า จะพยายามผลักดันให้บริษัทรับเหมาก่อสร้างของไทยมีส่วนในงานก่อสร้างรถไฟทางคู่ดังกล่าว แม้เบื้องต้นไทยจะต้องให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านงานก่อสร้างของจีนซึ่งมีอยู่ 5 หน่วยงาน เป็นผู้รับงานก็ตาม โดยในเดือนธันวาคมนี้คาดว่าไทย-จีน จะสามารถร่วมลงนามใน MOU ได้และเริ่มทำงานร่วมกันในเดือนมกราคม 2558 ด้วยการสำรวจแนวเส้นทาง ออกแบบ และประเมินราคาให้ชัดเจน จากกรอบที่ตั้งไว้เบื้องต้นคือ 4 แสนล้านบาท
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42629
Location: NECTEC

PostPosted: 04/12/2014 11:11 am    Post subject: Reply with quote

อดีตผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.หนุนโครงการรถไฟสาย ศก.ไทย-จีน ให้ สนช.ลงมติกันครหา-ออก กม.กันล่ม
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
3 ธันวาคม 2557 15:37 น.

ยุทธนา ทัพเจริญ รองโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (รองโฆษกวิป สนช.) เผยพรุ่งนี้ถกโครงการรถไฟ 2 เส้นทางสายเศรษฐกิจที่ไทยจับมือกับจีน รัฐให้สภาเห็นชอบก่อนกันครหา ชี้หากต้องการให้จีนดำเนินต้องออกกฎหมายรองรับกันโครงการล่ม ตัดปัญหาแบบที่ผ่านมาทั้งแท็บเล็ต-ข้าว ต้องพร้อมก่อนลงนาม รับชาติอื่นสนใจร่วมได้ พร้อมหนุนโครงการเต็มที่

วันนี้ (3 ธ.ค.) นายยุทธนา ทัพเจริญ รองโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) อดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย แถลงภายหลังการประชุมวิป สนช.ว่า ในการประชุม สนช.วันพรุ่งนี้ (4 ธ.ค.) จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทยในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 ซึ่งมี 2 เส้นทาง คือ โครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน (Standard Gauge) เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทางประมาณ 734 กิโลเมตร และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทางประมาณ 133 กิโลเมตร ทั้งสองเส้นทางเข้าเงื่อนไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 23 ที่ระบุว่าต้องผ่านความเห็นชอบจากสภากรณีที่มีการใช้ทรัพยากรบางส่วนมีผลกระทบเศรษฐกิจ สังคมโดยรวม แต่ก็มี สนช.บางคนแย้งว่าไม่เข้ามาตรา 23 แต่เข้ามาตรา 17 ขอหารือสภาโดยไม่ลงมติ ขณะเดียวกัน รัฐบาลมีความเห็นว่าควรให้สภาเห็นชอบเพื่อไม่เกิดปัญหาในอนาคต เพราะเรื่องนี้มีผลผูกพัน การก่อสร้างจะเริ่มปี 59 หากรัฐบาลใหม่มาก็จะมีปัญหาว่าทำไมไม่ผ่านสภา

นายยุทธนากล่าวว่า โครงการดังกล่าวประเทศจีนได้มีการศึกษาเส้นทางไว้แล้ว ส่วนวิธีการแม้จะเป็นรูปแบบจีทูจี หรือรัฐบาลกับรัฐบาล แต่หากจีนไม่ลงนามในสัญญาเองในอนาคตและให้เอกชนมาดำเนินการ สิ่งที่ตามมาคือกฎหมายหรือกฎระเบียบที่ใช้อยู่รองรับได้หรือไม่ และหากจะต้องมีการเปิดประมูล แต่ทางจีนจะต้องส่งมาเพียงรายเดียว เพราะหากส่งมากกว่า 1 รายก็อาจจะมีปัญหากับกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน แต่หากจีนไม่สามารถชนะการประมูลก็จะเป็นจุดอ่อน ดังนั้น หากต้องการให้จีนเข้ามาดำเนินการจะต้องออกกฎหมายหรือระเบียบมารองรับ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา

“ในอดีตมีการทำสัญญาจีทูจีกับจีน ทั้งการซื้อขายแท็บเล็ต หรือขายข้าว ก็ไม่มีการประมูล เมื่อรัฐบาลถูกร้อง ไม่สามารถดำเนินโครงการได้ เป็นการถ่วงเวลา โครงการไม่เกิด หรือรถดับเพลิง พอลงมือปฏิบัติจริงให้เอกชนมาทำ โดยจ้างเอกชนไทยก็เกิดปัญหาอีก เราเกรงว่าจะเกิดปัญหาลักษณะนี้อีก จึงควรออกกฎหมายหรือระเบียบมารองรับ หากรัฐบาลจีนทำไม่ได้ คนที่จะมาทำต่อก็ต้องเป็นคนของจีน ก็ต้องมีข้อยกเว้นมิเช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาความล่าช้า โครงการล้ม หรือถ่วงเวลา ดังนั้นหากรัฐบาลกับรัฐบาลลงนามด้วยกันจริง แต่เวลาทำจะให้เอกชนมาทำ แต่รัฐบาลจะไม่ค้ำประกันหากมีการเปลี่ยนไป ดังนั้นหากเราไม่ปิดกั้นหรือหาทางแก้ไขไว้ หากรัฐบาลชุดนี้ไปแล้วข้าราชการอาจโดนร้องได้”

นายยุทธนากล่าวว่า เมื่อร่างบันทึกความเข้าใจผ่านสภาแล้วยังไม่ได้ลงมือทำทันที จะต้องมีการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานโดยรัฐ เช่นการศึกษาความเป็นไปได้ หรือหัวรถจักร ดังนั้นต้องเตรียมการให้พร้อมก่อนที่จะมีการลงนาม จึงจำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากสภาตามมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ส่วนเรื่องจุดคุ้มทุนจะมีการพูดกันภายหลังจากได้ข้อตกลงว่าจะให้ใครเข้ามาทำ โดยทางจีนต้องการขอสำรวจก่อน หากเห็นว่าคุ้มจึงจะตกลงแต่ ถ้าตกลงไม่ได้ก็ต้องเลิกไป หากสภาให้ความเห็นชอบก็จะมีการลงนามในเดือนธันวาคม โดยจะต้องมีการออกกฎหมายหรือระเบียบมารองรับเพื่อให้โครงการนี้เกิดขึ้น ส่วนเหตุผลที่เลือกเส้นทางนี้เพราะเป็นเส้นทางที่ต่อจากจีน ไปลาว และเข้ามายังอ่าวไทย และในอนาคตจะไปออกทะเลอันดามัน หากประเทศอื่นๆสนใจก็สามารถมาทำได้เพราะยังมีหลายเส้นทาง เช่นประเทศญี่ปุ่นให้ความสนใจจะทำเส้นทางมุกดาหาร-เพชรบูรณ์-ตาก ซึ่งตนให้การสนับสนุนโครงการนี้เต็มที่

สำหรับร่างข้อตกลงบันทึกดังกล่าวถือเป็นโครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐานโครงการแรกของไทย โดยทั้งสองฝ่ายจะใช้ความร่วมมือแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล โดยทางฝ่ายจีนจะรับผิดชอบในการก่อสร้างและพัฒนาระบบรถไฟ ส่วนทางฝ่ายไทยจะมีการให้จีนเข้ามีส่วนร่วมในขั้นตอนของการเตรียมโครงการ รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและพยายามให้เริ่มมีการก่อสร้างในปี 2559 ในการ ประเมินมูลค่าโครงการให้เป็นการหารือระหว่างทั้งสองฝ่าย รวมทั้งให้องค์ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายเป็นผู้ประเมิน นอกจากนี้ให้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารร่วมขึ้นใหม่ชุดหนึ่ง เพื่อกำกับดูแลการดำเนินการตามข้อบันทึกความเข้าใจ สำหรับไทยให้ รมว.คมนาคมเป็นประธานร่วม ส่วนจีนให้ ผอ.คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติเป็นประธานร่วมในกรณีที่สาระสำคัญของบันทึก ขัดหรือแย้งกับบนทึกความเข้าใจใดๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ลงนามระหว่างปี 2554-2556 ให้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้มีผลเหนือกว่า โดยจะมีผลใช้บังคับในวันที่ลงนาม และมีผลบังคับใช้ 5 ปี
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42629
Location: NECTEC

PostPosted: 04/12/2014 3:43 pm    Post subject: Reply with quote

สนช.เห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือไทย-จีนพัฒนารถไฟรางคู่
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ที่มา สำนักข่าวไทย
4 ธันวาคม 2557 เวลา 14:42:59 น.
สนช.ผ่าน "เอ็มโอยู" ไทย-จีน พัฒนารถไฟทางคู่
เรื่องโดย Nation TV
วันที่ 4 ธันวาคม 2557 14:29 น.


4 ธ.ค. สนช.เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือไทย-จีนพัฒนาโครงการรถไฟรางคู่ โดยเห็นชอบให้จีนรับผิดชอบก่อสร้างและพัฒนาระบบ

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (4 ธ.ค.) มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทย ในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงว่า ไทยและจีนบรรลุข้อตกลงร่วมกันว่าจะให้รัฐบาลจีนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทาง 734 กิโลเมตร และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ 133 กิโลเมตร ซึ่งเป็นโครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐานโครงการแรกของไทย เพื่อประโยชน์ในระยะยาวของประชาชน รวมทั้งใช้ตำแหน่งที่ตั้งอันเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมของไทยในภูมิภาคในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมทางบกระหว่างจีนและประเทศสมาชิกอาเซียน

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ตามข้อตกลงเห็นพ้องให้จีนรับผิดชอบก่อสร้างและพัฒนาระบบโดยการสนับ สนุนเงินลงทุน และการชำระเงินจะมีการหารือกันต่อไป ซึ่งจีนจะเข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนการเตรียมการรวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ โดยจะพยายามให้เริ่มการก่อสร้างให้ได้ภายในปี 2559 และหากบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ขัดหรือแย้งกับบันทึกความเข้าใจใด ๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างนี้ระหว่างปี 2554-2556 ให้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้เหนือกว่า

ขณะที่ นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิก สนช. สนับสนุนร่างบันทึกความเข้าใจนี้ เพราะเป็นประโยชน์ของทั้งสองประเทศ และเป็นการลงทุนสู่อนาคต ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคม แต่ยอมรับว่าโครงการขนาดใหญ่ที่ผ่านมา ยังเป็นระบบที่ไม่ครอบคลุมประชาชนทุกชนชั้น จึงอยากให้รัฐบาลติดตามอย่างใกล้ชิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่สุดที่ประชุมมีมติเอกฉันท์เห็นชอบกับร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทยในกรอบยุทธศาสตร์การ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 ด้วยคะแนน 187 คะแนน งดออกเสียง 7 เสียง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาและลงมติให้ความเห็นชอบร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อความร่วมมือด้านภาษีอากรระหว่างประเทศและการดำเนินการตาม FATCA ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 158 เสียง ไม่เห็นด้วย 7 เสียง และงดออกเสียง 20 เสียง
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42629
Location: NECTEC

PostPosted: 05/12/2014 3:32 pm    Post subject: Reply with quote

กต. คาดเช็นเอ็มโอยูไทย-จีนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมระหว่าง 19 - 23 ธ.ค.นี้
โดย เมธา สกาวรัตน์
คอลัมน์ : ข่าวรายวัน -ข่าวในประเทศ
วันพฤหัสบดีที่ 04 ธันวาคม 2014 เวลา 19:52 น.

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การลงนามร่างบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทยในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของไทยกับประธานสภาเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของจีน คาดว่า จะมีขึ้นได้ในระหว่างวันที่ 19 - 23 ธ.ค.นี้ โดยขณะนี้อยู่ช่วงกำหนดวันที่ชัดเจนอยู่ หลังลงนามแล้วจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างไทย-จีนขึ้น ขณะที่ทางจีนจะส่งทีมเข้ามาเพื่อศึกษาถึงความเป็นไปได้ของโครงการ โดยทั้ง 2 ฝ่ายได้ตั้งเป้าร่วมกัน ว่า จะเริ่มการก่อสร้างได้ในปี 2559

//------------------------------------

เริ่มสร้างรถไฟทางคู่ ปี59 ! มติสนช.เห็นชอบทำเอ็มโอยู "ไทย-จีน"
มติชน
วันที่ 05 ธันวาคม พ.ศ. 2557 เวลา 08:58:19 น.


ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2557 เห็นชอบบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทยในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 โดยมีมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 187 เสียง และงดออกเสียง 7 เสียง และคาดว่าจะมีการลงนามระหว่างทั้ง 2 ประเทศในเร็วๆ นี้

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของไทยที่ขอให้ สนช.พิจารณาเห็นชอบมี 2 เส้นทาง

ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน (Standard Gauge) เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทางประมาณ 734 กิโลเมตร และเส้นทางแก่งคอยกรุงเทพฯ ระยะทางประมาณ 133 กิโลเมตร ซึ่งเมื่อผ่าน สนช.และมีการลงนามระหว่างทั้งสองประเทศแล้ว จะมีการตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อเป็นคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการ เชื่อว่าภายในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2558 จะสามารถลงพื้นที่สำรวจรวมถึงพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ ได้

"ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าวถือเป็นโครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐานโครงการแรกของไทย โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะใช้ความร่วมมือแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล ฝ่ายจีนจะรับผิดชอบในการก่อสร้างและพัฒนาระบบรถไฟ ส่วนฝ่ายไทยจะให้จีนเข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนของการเตรียมโครงการ รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและพยายามให้เริ่มมีการก่อสร้างในปี 2559" พล.อ.อ.ประจิน กล่าว

พล.อ.อ.ประจิน ชี้แจงด้วยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการเดินรถไฟมาช้านาน ทั้งเรื่องอายุของรถ ราง และระบบการเดินรถ ที่ทำให้มีความเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ 40-50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้การเดินทางใช้เวลามากเกินไป ดังนั้น โครงการนี้จะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องการขนส่งระบบราง ทั้งเรื่องระบบการบริการ ความปลอดภัย และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โครงการนี้จะเป็นหนึ่งในโครงการเชื่อมจีนกับอาเซียนซึ่งจะเกิดขึ้นแน่นอน ขอยืนยันว่าจะไม่มีการมอบสิทธิประโยชน์เรื่องที่ดินสองข้างทางรถไฟให้กับประเทศจีน เราจะดูแลโครงการนี้ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อลูกหลานในอนาคต
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42629
Location: NECTEC

PostPosted: 07/12/2014 9:30 pm    Post subject: Reply with quote

"บิ๊กจิน" เอาใจจีน-ญี่ปุ่น ลุยมินิไฮสปีดเทรนเชื่อมไทย-อาเซียน
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
7 ธันวาคม 2557 เวลา 11:55:35 น.


พลัน ที่ "สนช.-สภานิติบัญญัติฯ" ไฟเขียวร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาล จีน ในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) เพื่อร่วมพัฒนารถไฟทางคู่รางมาตรฐาน 1.435 เมตร เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทาง 734 กม. และแก่งคอย-บ้านภาชี-กรุงเทพฯ ระยะทาง 133 กม.

รถไฟทางคู่สายแรก ของไทยจะมีความเร็ว 180 กม.ต่อชั่วโมง ดูแลโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย 2558-2565 ซึ่งรัฐบาลประยุทธ์เร่งผลักดันหวัง "ยกเครื่อง"โครงสร้างพื้นฐานให้ทัดเทียมกับประเทศอาเซียน โดยเฉพาะ "ระบบราง" จะเป็นโปรเจ็กต์ไฮไลต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของไทยในอนาคต

"พล.อ.อ .ประจิน จั่นตอง" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะแม่ทัพได้ให้สัมภาษณ์ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงรายละเอียดเรื่องนี้ว่า การเจรจาในข้อตกลงระหว่าง "รัฐบาลไทย-จีน" นั้น จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อพิจารณาร่วมกันแล้วโรดแมปหลังจาก นี้ประมาณกลางเดือนธันวาคมจะมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงของ 2 ประเทศ จากนั้นช่วงกลางเดือนมกราคม 2558 จะเริ่มดำเนินการภายใต้กรอบร่างเอ็มโอยูทันที

"เอ็มโอยูฉบับล่าสุดร่างขึ้นภายใต้เงื่อนไขใหม่ หลังนายกรัฐมนตรีไปเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการและนายกรัฐมนตรีของจีน ทวงถามถึงข้อตกลงเดิมของ 2 รัฐบาลที่ผ่านมา (เมื่อปี 2553 และปี 2556) แต่เราไม่ได้นำมาใช้ทั้งหมด อันไหนที่เป็นประโยชน์ไม่ขัดกับข้อตกลงปัจจุบันก็จะคงไว้ แต่เป็นแค่กรอบกว้าง ๆ ต้องหารือร่วมกันอีกและใช้เวลาพอสมควร"

แต่ พล.อ.อ.ประจินบอกอย่างมั่นใจว่า ในปีหน้าจะเห็นเป็นรูปธรรมชัด หลังคณะทำงาน 2 ฝ่ายเดินหน้าแล้ว ทั้งรูปแบบโครงการ การลงทุนและวงเงินก่อสร้าง จากที่ประเมินไว้คาดว่าจะใช้เงินก่อสร้างประมาณ 392,570 ล้านบาท

"เป้าหมายรัฐบาลไทยอยากนำร่องสายแรกให้ได้ก่อน คือกรุงเทพฯ-โคราช ระยะทาง 250 กม. ซึ่งจะประมูลก่อสร้างในปี 2559 แล้วเสร็จในปี 2563-2564 โดยจะเริ่มพร้อมกับรถไฟความเร็วสูงของจีนที่ใช้ความเร็ว 160-180 กม.ต่อ ชม.ที่สร้างจากคุนหมิงมานครเวียงจันทน์ แล้วเชื่อมกับไทยที่หนองคาย"

สำหรับ รูปแบบการลงทุนนั้น เจ้ากระทรวงคมนาคมระบุว่า จะมี 3 แนวทาง แนวทางแรกเป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชนรูปแบบ PPP (Public-Private Partnership)ซึ่งเอกชนในที่นี้หมายถึงหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของจีนที่มีหน้า ที่รับผิดชอบงานก่อสร้าง ทราบว่ามีอยู่ 4-5 บริษัท ซึ่งไทยมีสิทธิ์จะคัดเลือกบริษัทต่าง ๆ เข้ามาร่วมลงทุนได้

แนวทาง ที่ 2 รูปแบบ BOT (Build-Operate-Transfer Contract) โดยจ้างเอกชนลงทุนก่อสร้าง พร้อมให้สัมปทานบริหารและเก็บค่าบริการ เมื่อครบอายุสัมปทานก็จะโอนกรรมสิทธิ์ให้รัฐบาลไทย

รูปแบบที่ 3 EPC&F (Engineering Procurement Construction and Finance) จีนจะดำเนินการให้ทุกอย่าง คล้ายกับวิธีการเทิร์นคีย์ แต่จะไม่เรียกว่าเทิร์นคีย์ ทั้งสำรวจ วางแผนโครงการ จัดหาเงินลงทุนดอกเบี้ยต่ำ ออกแบบและประมูลก่อสร้าง ส่วนการบริหารโครงการ รัฐบาลไทยจะดำเนินการพร้อมชำระหนี้คืนในระยะยาว

"ประเด็นนี้ยังไม่รู้ว่าจะกี่ปี 30 ปี หรือ 50 ปี เงื่อนไขอยู่ที่การเจรจา"

"รูป แบบสุดท้าย ผมว่าน่าสนใจ หากรัฐบาลจีนให้เครดิตเงินลงทุนดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานแก่เราได้ โดยรัฐบาลไทย-จีนจะตั้งบริษัทร่วมกันรูปแบบรัฐวิสาหกิจ ซึ่งไทยมีสิทธิ์จะเลือกรัฐวิสาหกิจของจีนทั้ง 5 รายมาร่วมลงทุน สัดส่วนการถือหุ้นยังไม่นิ่ง ฝ่ายไทยอาจจะถือ 80-85% ส่วนจีนอยู่ที่ 15-20%"

ประเด็นข้อกังวลเรื่องสิทธิ์การพัฒนาที่ดินตามเขตทางรถไฟนั้น พล.อ.อ.ประจินย้ำว่า "สิทธิ์นี้ยังเป็นของรัฐบาลไทย รวมถึงผู้รับ เหมาก่อสร้างก็ต้องเป็นรับเหมาไทยเช่นกัน ส่วนจีนจะได้สิทธิ์แค่การก่อสร้างและพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงการจัดหาแรงงานเฉพาะทางเท่านั้น"

พล.อ.อ.ประจินกล่าวยอมรับว่า หลังจากที่รัฐบาลประกาศชัดว่าจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางกว่า 1 ล้านล้านบาท นอกจากรัฐบาลจีนแล้วก็มีอีกหลายประเทศทั้งในเอเชียและยุโรปต่างแสดงความสนใจ อยากเข้ามาลงทุนในระบบราง

"พันธมิตรต่างชาติ เราทิ้งใครไม่ได้เลย ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และยุโรป เพราะเราจะทำทั้งรถไฟ สนามบิน ท่าเรือ น่าจะให้ทุกประเทศมีส่วนร่วม ซึ่งญี่ปุ่นสนใจรถไฟทางคู่1.435 เมตร และพร้อมปล่อยกู้ให้ไทยลงทุนสร้างสุวรรณภูมิเฟส 2 ส่วนเกาหลีใต้สนใจเรื่องการบริหารจัดการน้ำและรถเมล์เอ็นจีวี"

ทั้งนี้ คาดว่าในเร็ว ๆ นี้หลังนายกรัฐมนตรีเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการแล้ว จะเห็นความร่วมมือชัดเจน โดยเฉพาะการพัฒนาระบบรถไฟรางสายตะวันออก-ตะวันตก 2 เส้นทางได้แก่ สายตาก-พิษณุโลก-บ้านไผ่-มุกดาหาร ซึ่งไทยยังไม่มีรถไฟเชื่อมแนวตะวันออก-ตะวันตก อีกทั้งเป็นการรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.แม่สอดและ จ.มุกดาหาร
และสายกาญจนบุรี-มาบตาพุด ซึ่งจะเชื่อมท่าเรือน้ำลึกที่ทวายได้ โดยมีเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง เป็นส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์รวมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นโครงการเร่งด่วนที่รัฐบาลกำลังจะเร่งอยู่ เพื่อเสริมการท่องเที่ยวภาคตะวันออกและเชื่อมต่อกับสายหนองคาย-มาบตาพุด เพื่อให้เป็นโครงข่ายที่สมบูรณ์

ทั้งนี้ เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง จะต่อขยายจากแอร์พอร์ตลิงก์ วิ่งด้วยความเร็ว 160 กม.ต่อ ชม. ระยะทาง 193 กม. เบื้องต้นใช้เงินลงทุน 101,205 ล้านบาท แต่ยังไม่มีการหารือกับจีน ต้องขอศึกษาก่อนว่าจะไปรวมกับสายแก่งคอย-กรุงเทพฯ หรือไม่ เพราะนายกรัฐมนตรีจะหารือกับญี่ปุ่นในประเด็นนี้ด้วย
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44333
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 08/12/2014 11:05 am    Post subject: Reply with quote

ประจินชะลอถกญี่ปุ่น สร้างรถไฟกึ่งเร็วสูง

ประจิน ชะลอถกญี่ปุ่น ร่วมมือรถไฟกึ่งความเร็วสูง ตาก-มุกดาหาร หลังรัฐบาลยุ่นยุบสภา แต่พร้อมเดินหน้าลงนาม เอ็มโอยู ไทย-จีน เดือนธ.ค.นี้
เดลินิวส์ วันจันทร์ 8 ธันวาคม 2557 เวลา 02:21 น.

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งให้ชะลอการเจรจาความร่วมมือ โครงการทางรถไฟกึ่งความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น เส้นทางสายตาก-มุกดาหาร เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นมีการยุบสภาและอยู่ระหว่างการเลือกตั้งใหม่ จึงต้องรอให้มีการตั้งรัฐบาลญี่ปุ่นเสร็จก่อน ถึงจะมีการเจรจาร่วมกันระหว่างผู้นำทั้ง 2 ประเทศอีกครั้ง อย่างไรก็ตามระหว่างนี้จะให้มีการหารือกันในระดับเจ้าหน้าที่ไปก่อน

ส่วนความคืบหน้าความร่วมมือโครงการรถไฟทางคู่เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-มาบตาพุด 734 กม และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ 133 กม. ระหว่างไทย-จีน ภายในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ธ.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเดินทางไปลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างรัฐบาลไทยและจีนอย่างเป็นทางการ

“ตามขั้นตอนการร่างเอ็มโอยูไทย-จีน ต้องผ่านการพิจารณาของที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามมาตรา 24 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ก่อน จึงสามารถลงนามในเอ็มโอยูที่จะร่วมมือกันได้ จากนั้นผมได้รับมอบหมายจะเป็นหัวหน้าคณะในการเจรจารายละเอียดความร่วมมือของโครงการต่อไป”
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42629
Location: NECTEC

PostPosted: 08/12/2014 7:45 pm    Post subject: Reply with quote

เปิดปูมเอ็มโอยูรถไฟ"ไทย-จีน"

โดย : นครินทร์ ศรีเลิศ Bank_tennis@hotmail.com
การเมือง : ทัศนะวิจารณ์
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่ 8 ธันวาคม 2557 01:00


สภานิติบัญญัติแห่งชาติเพิ่งจะมีมติเห็นชอบ ร่างบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย กับรัฐบาลจีนภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทย ในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 - 2565 ตามที่ ครม.เสนอ

ที่ผ่านมาไทยกับจีนมีการหารือเรื่องความร่วมมือ ในการสร้างทางรถไฟมาแล้วหลายรัฐบาล ไล่เรียงตั้งแต่สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่จีนเริ่มมีนโยบายเชื่อมทางรถไฟจากเมืองคุนหมิงลงมายัง สปป.ลาว ต่อมาในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็มีการลงนามในเอ็มโอยูร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทย-จีน ได้แก่เอ็มโอยูว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟ และเอ็มโอยูว่าด้วยความร่วมมือรัฐบาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านรถไฟในประเทศไทยแลกเปลี่ยนกับสินค้าเกษตร ก่อนที่จะมีการยุบสภาฯไปเมื่อปลายปี 2556 ทำให้โครงการนี้หยุดชะงัก กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้หารือเรื่องนี้กับนาย หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ระหว่างการประชุม ASEM ณ นครมิลาน อิตาลี จึงมีการรื้อฟื้นความร่วมมือเรื่องรถไฟระหว่างสองประเทศขึ้นมาหารืออีกครั้ง

ต่อมาพล.อ.ประยุทธ์ได้มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา คสช. ไปหารือกับตัวแทนของรัฐบาลจีนระหว่างวันที่ 28 - 31 ต.ค. ในครั้งนั้นคณะของพล.อ.ประวิตรได้พบกับ พล.อ.ฉาง ว่านฉวน รมว.กลาโหมของจีน ซึ่งมีการหารือความร่วมมือระหว่างไทย -จีนหลายด้านและเป็นที่มาของการจัดทำร่างเอ็มโอยูฉบับนี้เพื่อเดินหน้าโครงการรถไฟทั้งสองโครงการ

รายละเอียดของเอ็มโอยูฉบับดังกล่าว เป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับจีน ในการสร้างรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร 2 เส้นทางได้แก่เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 734 กม. และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทาง 133 กม. ขณะที่พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคมบอกว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวมกันไม่ต่ำกว่า 3.5 แสนล้านบาทและคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2559

เอ็มโอยูฉบับนี้ยังระบุเงื่อนไขในดีลระหว่างรัฐบาลว่า “ในการชำระเงินลงทุนในโครงการดังกล่าวคืน ส่วนหนึ่งฝ่ายไทยจะชำระคืนด้วยข้าว และ/หรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่นๆในสัดส่วนที่เหมาะสมกับมูลค่าของโครงการฯตามที่จะตกลงกัน ส่วนที่เหลือจะชำระด้วยเงินสด จีนพร้อมที่จะลงนามในสัญญาซื้อสินค้าเกษตรของไทยเพิ่มเติม ได้แก่ข้าว (ข้าวใหม่)ของไทยอีก 1 ล้านตันและข้าวในสต็อกของรัฐบาลไทยอีก 1 ล้านตัน และจะเร่งรัดการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายข้าวที่ได้ลงนามกันไว้แล้วอีก 7 แสนตัน รวมทั้งจีนตกลงที่จะซื้อยางพาราจากไทยจำนวน 2 แสนตัน”

หากพิจารณาจากเงื่อนไขตรงนี้ดูเหมือนจะเป็นแบบ “Win - Win” ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ไทยได้เดินหน้าสร้างทางรถไฟสายใหม่และเป็นโครงการแรกที่ไทยจะสร้างรางขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร รวมทั้งได้ระบายสินค้าเกษตรในสต็อกทั้งข้าวและยางพารา ขณะที่จีนก็จะได้เชื่อมต่อทางรถไฟจากตอนใต้ลงมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปิดทางออกสู่ทะเลเพิ่มขึ้นตามแผนเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 ตามที่ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ได้ประกาศไว้ในเวที APEC ที่เพิ่งจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่งเมื่อเร็วๆนี้

ต้องจับตามองต่อไปว่าหลังจากการลงนามในเอ็มโอยู ระหว่างรัฐบาลไทยกับจีนในโครงการนี้จะมีการขับเคลื่อนโครงการไปสู่การปฏิบัติอย่างไร ? คงต้องฝากความหวังไว้ที่คณะกรรมการบริหารร่วมฯที่มี รมว.คมนาคมของไทยเป็นประธานร่วม กับผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (NDRC) ของจีนที่จะทำงานร่วมกันในการเดินหน้าโครงการนี้ ให้เป็นรูปธรรมด้วความโปร่งใส คุ้มค่าต่อการลงทุน ภายใต้เงื่อนไขที่ทั้งสองประเทศได้ประโยชน์ร่วมกัน ในการพัฒนาเศรษฐกิจระยะต่อไปอย่างแท้จริง
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42629
Location: NECTEC

PostPosted: 08/12/2014 11:31 pm    Post subject: Reply with quote

Mongwin wrote:
ประจินชะลอถกญี่ปุ่น สร้างรถไฟกึ่งเร็วสูง


เวอร์ชันประชาชาติธุรกิจจะเป็นแบบนี้

เลื่อนคุยญี่ปุ่นลงทุนรถไฟทางคู่ รอรัฐบาลใหม่ตั้งเสร็จก่อนเยือน เดินหน้าเอ็มโอยูจีนสัปดาห์หน้า
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
8 ธันวาคม 2557 เวลา 13:40:57 น.


"ประจิน" เผยรัฐบาลชะลอเดินทางเยือนญี่ปุ่นร่วมเจรจาพัฒนารถไฟทางคู่ เส้นทางตาก-มุกดาหาร จากเดิมกำหนดไว้กลางเดือนธันวาคมนี้ รอญี่ปุ่นตั้งรัฐบาลใหม่ให้เสร็จก่อน พร้อมเดินหน้าลงนามเอ็มโอยู รถไฟไทย-จีน สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนนี้ หลังผ่านความเห็นชอบจาก สนช.

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า รัฐบาลจะชะลอการเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นเพื่อเจรจาความร่วมมือพัฒนาโครงการทางรถไฟทางคู่รางมาตรฐาน (สแตนดาร์ด เกจ) 1.435 เมตร เส้นทางสายตาก-มุกดาหาร ที่เป็นระบบรถไฟฟ้าออกไปก่อน จากเดิมที่มีกำหนดการจะเดินทางไปในช่วงกลางเดือนธันวาคม และจะร่วมมือกันในลักษณะเดียวกับไทยและจีน เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในของญี่ปุ่น จึงต้องรอให้ญี่ปุ่นจัดตั้งรัฐบาลให้แล้วเสร็จก่อน

พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า สำหรับการเดินทางไปเยือนประเทศจีนเพื่อลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (เอ็มโอยู) ระหว่างรัฐบาลไทยและจีน ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่รางมาตรฐาน 1.435 เมตร เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 734 กิโลเมตร และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพ ระยะทาง 133 กิโลเมตรนั้น คาดว่าภายในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนธันวาคมนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปเยือนจีนและลงนามเอ็มโอยูดังกล่าว ส่วนร่างเอ็มโอยูที่ไทยจะลงนามร่วมกับจีนนั้น ได้ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว จึงสามารถลงนามในเอ็มโอยูที่จะร่วมมือกันได้เลย จากนั้นจึงจะเจรจารายละเอียดของโครงการร่วมกันต่อไป

พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ในส่วนของการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ที่จะดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2558 ยังกำหนดไว้ที่ 3 เส้นทาง คือ
1.สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง 190 กิโลเมตร
2.สายบางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร และ
3.สายพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กิโลเมตร

โดยเส้นทางที่ 3 ได้รับงบประมาณเวนคืนที่ดินแล้ว ส่วนค่าก่อสร้างจะใช้เงินค่าธรรมเนียมผ่านทางจากกองทุนมอเตอร์เวย์

"ใน 2 สายแรกคือ สายบางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี ตอนนี้มีหลายประเทศแสดงความสนใจและพร้อมสนับสนุนเงินกู้ เช่น เกาหลี จีน และญี่ปุ่น แต่จะดำเนินการในรูปแบบใดต้องหารือในรายละเอียดร่วมกับกระทรวงการคลังก่อน" พล.อ.อ.ประจินกล่าว

นายชูศักดิ์ เกวี อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อเสนอขอความเห็นชอบรูปแบบการลงทุน ซึ่งมี 4 รูปแบบคือ
1.กระทรวงการคลังกู้เงินภายในประเทศ
2.การให้เอกชนร่วมลงทุนแบบพีพีพี แต่ต้องใช้เวลาดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน
3.การให้เอกชนเข้ามารับสัมปทาน และ
4.การให้เอกชนเข้ามาลงทุนก่อสร้างพร้อมจัดหาแหล่งเงินกู้แบบเทิร์นคีย์ที่มีแบบรายละเอียดก่อสร้างแล้ว เพื่อควบคุมราคาก่อสร้างได้ เมื่อก่อสร้างเสร็จกรมทางหลวงจะชำระคืนหนี้เงินกู้ค่าก่อสร้าง เชื่อว่าแนวทางนี้มีความเหมาะสมที่สุด และศักยภาพของผู้รับเหมารายใหญ่ในไทยสามารถดำเนินการได้ ส่วนแนวทางที่เป็นไปได้รองลงมา คือ รัฐกู้เงินดอกเบี้ยต่ำมาดำเนินการ

//---------------


คมนาคมจะเร่งผลักดันโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าเข้า ครม.


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
8 ธันวาคม 2557 19:03 น.

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมมีแผนผลักดันโครงการรถไฟฟ้าที่ยังล่าช้า โดยภายในเดือนมกราคม 2558 จะนำโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงสถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ-สุวินทวงศ์ และช่วงสถานีบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ
ซึ่งขณะนี้รายละเอียดโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มถูกเสนอเรื่องมาที่กระทรวงคมนาคมเรียบร้อยแล้ว และจะเร่งรัดโครงการที่ค้างอยู่ต่อไป ประกอบด้วย รถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือช่วงหมอชิต -สะพานใหม่-คูคต ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการประมูลก่อนจะสรุปเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ ร.ฟ.ม. เพื่อกระทรวงคมนาคมจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
ส่วนสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-บางกะปิ -สำโรง และสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี คาดว่าจะสามารถเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติก่อสร้างได้ประมาณกลางปี 2558
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าทางคู่ ขนาดมาตรฐาน (Standard Gauge) เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทางประมาณ 734 กิโลเมตร และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทางประมาณ 133 กิโลเมตร ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน ที่เข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558 - 2565 ว่า หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบกรอบความลงตกแล้วนั้น คาดว่าจะมีการลงนามร่วมกันภายในปีนี้ อาจจะเป็นช่วงระหว่างการเดินทางเยือนประเทศไทยของนายกรัฐมตรีรัฐบาลจีน ประมาณวันที่ 25 ธันวาคมนี้ หรืออาจจะเป็นช่วงก่อนปีใหม่ที่นายกรัฐมนตรีไทยจะไปเยือนจีน
ทั้งนี้ หากการลงนามแล้วเสร็จ กระทรวงคมนาคมจะจัดตั้งคณะทำงานในส่วนของกระทรวงคมนาคมและหน่วยเกี่ยข้อง ให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม 2558
อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้ (9 ธ.ค.) กระทรวงคมนาคมได้เชิญคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. มาบรรยายสรุปเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดสำหรับโครงการของกระทรวงคมนาคม หากมีความเป็นไปได้ จะให้แต่ละหน่วยราชการ และรัฐวิสาหกิจไปศึกษาร่วมกับ ก.ล.ต.
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42629
Location: NECTEC

PostPosted: 09/12/2014 8:26 pm    Post subject: Reply with quote


สนทนาเกี่ยวกะ รถไฟความไวสูง กับ รมช. คมนาคม
https://www.youtube.com/watch?v=diqO2fhlCYk

//----------------------------

นายกฯ เผยร่วมลงนามข้อตกลงเอ็มโอยูรถไฟจีน 19-20 ธ.ค.นี้


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
10 ธันวาคม 2557 12:41 น.

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวว่า จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วปานกลาง กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ในช่วงที่มีการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 19-20 ธันวาคมนี้
ทั้งนี้ นายหลี เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน จะให้เกียรติมาเซ็นบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือเอ็มโอยู ซึ่งเป็นการร่วมกันพัฒนาในโครงการรถไฟความเร็วปานกลาง 160 - 180 ต่อชั่วโมง เป็นการเชื่อมโยงเพื่อพัฒนาประเทศไปสู่อนาคต และสร้างความเชื่อมโยงของอาเซียน โดยจีนให้ความช่วยเหลือในรูปเงินกู้

//-------------------------------

นายกฯ มีกำหนดเยือนจีน 22-23 ธ.ค.เซ็น MOU สร้างทางรถไฟ


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
9 ธันวาคม 2557 14:45 น.

ร.อ. น.พ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีกำหนดเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 22-23 ธันวาคม ตามคำเชิญของผู้นำจีน เพื่อร่วมลงนามร่างบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทย ในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย 2558-2565 ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของไทย กับประธานสภาเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของสาธารณประชาชนจีน

//-----------------

รบ.เตรียมลงนามMOUสร้างรถไฟเร็วปานกลาง
ข่าวภูมิภาค
INN News
วันอังคารที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2557 17:01น.

รัฐบาลไทยเตรียมลงนามร่างบันทึกความร่วมมือก่อสร้างรถไฟความเร็วปานกลางกับรัฐบาลจีน ในช่วงระหว่างวันที่ 19-20 ธ.ค.

ร้อยเอกนายแพทย์ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยรายละเอียดการลงนามร่างบันทึกความร่วมมือ หรือ เอ็มโอยู ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน เรื่องการก่อสร้างรถไฟความเร็วปานกลาง ซึ่งมีความเร็ว 160-180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ว่า จะมีการลงนามกันที่ประเทศไทยในช่วงระหว่างวันที่ 19-20 ธ.ค. ซึ่งจะมีการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในการประชุม ส่วนการดำเนินการก่อสร้างอย่างเร็วที่สุดน่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2559 เนื่องจากในปี 2558 จะเริ่มมีการศึกษาแผนการก่อสร้างต่าง ๆ ร่วมกัน

ส่วนการเดินทางของนายกรัฐมนตรีที่จะเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนในการเชื่อมสัมพันธ์ตามคำเชิญของรัฐบาลจีน ล่าสุด นายกรัฐมนตรี ตอบรับการเดินทางแล้ว ส่วนวันเวลาในการเดินทางทีมโฆษกจะเปิดเผยให้ทราบอีกครั้ง ขณะเดียวกันในวันพรุ่งนี้ นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปสาธารณรัฐเกาหลีเพื่อร่วมประชุมอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลีสมัยพิเศษ และพบปะนักธุรกิจชาวเกาหลีเพื่อกระชับสัมพันธ์ทางการค้า
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42629
Location: NECTEC

PostPosted: 15/12/2014 11:20 am    Post subject: Reply with quote

“ประยุทธ์” จ่อลงนามเอ็มโอยูจีน รถไฟความเร็วปานกลาง-ขายข้าว
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
14 ธันวาคม 2557 18:30 น.

นายกฯ ไทย-จีนเตรียมเซ็น MOU เส้นทางรถไฟ-ค้าข้าว
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
14 ธันวาคม 2557 19:04 น.

ไทย-จีน จ่อเซ็นเอ็มโอยูรถไฟ-ขายข้าว
เดลินิวส์
วันอาทิตย์ 14 ธันวาคม 2557 เวลา 16:31 น.

"บิ๊กตู่"เตรียมถกทวิภาคีนายกฯ จีน 19-20 ธ.ค.นี้ จ่อลงนามเอ็มโอยู 2 ฉบับ รถไฟความเร็วปานกลาง-ขายข้าว

ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 5 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 19-20 ธันวาคมนี้ จะมีผู้นำระดับนายกรัฐมนตรีของประเทศ ไทย จีน ลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า เข้าร่วม โดยที่ประชุมจะพิจารณาแผนงานโครงการความร่วมมือต่างๆ อาทิ การพัฒนาด้านเศรษฐกิจเพื่อมุ่งลดความเหลื่อมล้ำ การพัฒนากฎระเบียบให้เกิดความเชื่อมโยงในภูมิภาค เป็นต้น
โอกาสนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะหารือทวิภาคีร่วมกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน 2 ฉบับ ได้แก่ บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับเส้นทางรถไฟความเร็วปานกลางสองเส้นทาง คือ หนองคาย-แก่งคอย-มาบตาพุด และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพ และบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการซื้อขายข้าวระหว่างไทยกับจีน

//----------------------------------------
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 26, 27, 28 ... 121, 122, 123  Next
Page 27 of 123

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©