Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Ads Service

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311238
ทั่วไป:13181511
ทั้งหมด:13492749
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าวแผนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ 2558-65
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ข่าวแผนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ 2558-65
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 30, 31, 32 ... 121, 122, 123  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42629
Location: NECTEC

PostPosted: 21/01/2015 8:09 pm    Post subject: Reply with quote

ไทยเตรียมหารือจีนตั้งคณะกรรมการร่วมโครงการรถไฟทางคู่
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
20 มกราคม 2558 19:33 น.

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ว่า การประชุมร่วมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ เป็นการประชุมเพื่อติดตามการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในประเด็นที่ยังล่าช้า ซึ่งจะเร่งรัดให้ รวมถึงชี้แจงการทำงานต่างๆ โดยที่ประชุมได้มีการรายงานความก้าวหน้าที่จะมีการหารือกับประเทศจีนเกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมการร่วมกันของโครงการรถไฟทางคู่ และจะหารือในรายละเอียดภายในเดือนนี้ เพื่อให้เกิดให้เร็วที่สุด หากมีการตกลงกันได้ทุกอย่างทั้งเงินทุน ระเบียบ การบริหารจัดการ คาดว่าภายในเดือนกันยายนนี้ จะมีการเริ่มต้นลงเสาเข็มได้
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า กำลังเตรียมการหารือกับประเทศญี่ปุ่น ในเรื่องความร่วมมือด้านรถไฟ ซึ่งขึ้นอยู่กับประเทศญี่ปุ่นว่าจะร่วมทุนอย่างไร เช่นเดียวกับการร่วมมือไทยกับจีน โดยเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมถึงการสร้างความเชื่อมโยงด้วย
ทั้งนี้ จะมีการดำเนินการทางรถไฟเพียง 1-2 เส้นทางก่อน ผู้ที่สนใจก็ให้มาแข่งขันประมูลกัน แต่จะต้องเร่งให้มีการเริ่มใน 1-2 เส้นทางแรกก่อน เพราะเรามีเงินจำกัด

//--------------

ผู้ว่าฯ ขอนแก่น เปิดประชุมรับฟังความเห็นโครงการรถไฟความเร็วสูง
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
21 มกราคม 2558 09:43 น.



นายศิวาโรจน์ มุงหมายผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็น โครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ภายใต้โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพมหานคร-หนองคาย ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ณ ห้องประชุมคอนเวนชั่นฮอลล์ โรงแรมเซ็นทารา คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ ขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

นายพีระพล ถาวรศุภเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น โครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ภายใต้โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพมหานคร-หนองคาย ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย จัดขึ้นเพื่อเป็นการแนะนำรายละเอียดของโครงการ การกำหนดขอบเขตการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ และกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยผู้แทนบริษัทที่ปรึกษา ขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินการ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานเอกชน ผู้นำทางความคิดและผู้มีส่วนเกี่ยวต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการศึกษาของโครงการให้มีความสอดคล้องและเหมาะสม เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม


https://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&x-yt-ts=1421782837&v=7vx1ZfTl-Fw&x-yt-cl=84359240
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42629
Location: NECTEC

PostPosted: 22/01/2015 1:55 pm    Post subject: Reply with quote

เล็งกู้ลงทุนรถไฟกรุงเทพ-หนองคาย จีทูจีไทย-จีน เคาะเลือกผู้รับเหมาโปร่งใส เร่งสร้างตามแผน


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
22 มกราคม 2558 18:40 น.
ยกจีนคุมก่อสร้างรถไฟทางคู่ คาดเดินหน้าช่วง1-2กันยายนนี้
มติชน
วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2558 เวลา 10:37:35 น.


เล็งกู้ลงทุนรถไฟกรุงเทพ-หนองคาย จีทูจีไทย-จีน เคาะเลือกผู้รับเหมาโปร่งใส เร่งสร้างตามแผน
รถไฟความไวสูงเชื่อมจีนแดง ท่าจะไปได้สวย


ลุ้นเคาะรูปแบบลงทุนรถไฟไทย-จีน เผยจีนพร้อมให้กู้ดอกเบี้ยพิเศษ ดันร่วมมือ จีทูจีเต็มรูปแบบ ลดขั้นตอนเร่งก่อสร้างต.ค. 58 ได้ตามแผน “ประจิน”ยันโปร่งใส เลือกผู้รับเหมาไทยรับช่วงงานเป็นธรรม ยึดประสบการณ์ทำงานระดับประเทศ พร้อมวางแผนพัฒนาระบบรางในประเทศ ยกระดับรถไฟดีเซลเป็นรถไฟฟ้าวิ่งบนราง 1 เมตรเชื่อมมาเลเซีย

พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยถึงผลการประชุมร่วมคณะทำงานไทย-จีนในความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟทางคู่ ขนาดรางมาตรฐาน (Standard gauge) 1.435 เมตร เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 734 กม. และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ 133 กม. ระหว่างวันที่ 21-22 มกราคม ว่า ได้ตกลงกรอบการทำงานร่วมกันแล้วโดยในประชุมครั้งที่ 2 วันที่ 11-13 กุมภาพันธ์ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน จะมีรายละเอียดรูปแบบการลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งในข้อตกลงร่วมบางเรื่องอาจจะต้องนำกลับมาเข้าสู่ขั้นตอนของไทยเช่น เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบก่อน ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่าจะดำเนินการตามขั้นตอนให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน เพื่อเริ่มต้นก่อสร้างให้ได้ภายใน 6-7 เดือน ขณะนี้การดำเนินงานยังคงสอดคล้องกัน รัฐบาลเห็นว่าโครงการนี้มีความสำคัญและเกิดประโยชน์ต่อภาคสังคมและเศรษฐกิจของไทย ดังนั้นเพื่อให้ดำเนินงานได้รวดเร็วจะเน้นเรื่องความโปร่งใสในความร่วมมือดังกล่าวแน่นอน

ส่วนการคัดเลือกบริษัทก่อสร้างนั้น เนื่องจากเป็นความร่วมมือแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จึงไม่ใช่การเปิดประกวดราคาโดย CRC ของจีน จะเป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้างหลัง และจะเลือกผู้มีประสบการณ์และผู้ที่ทางจีนให้การรับรอง เป็นผู้รับเหมาหลักซึ่งทางจีนจะเสนอรายชื่อในการประชุมที่ปักกิ่ง ส่วนผู้รับเหมาไทย นั้นจะเข้าร่วมเป็นผู้รับเหมาช่วง แต่การคัดเลือกนั้นค่อนข้างละเอียดอ่อนในการตัดสินใจ เพราะต้องเลือกรูปแบบการลงทุนก่อน เพราะหากเป็น PPP หรือร่วมลงทุน รูปแบบผู้รับเหมาจะเปลี่ยนไป โดยจะแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 สัญญาโดยมี 2 กลุ่มผู้รับจ้างก่อสร้าง

โดยหลังจากนั้นในเดือนมีนาคมจะเป็นการจัดทีมสำรวจทางการของจีนมาทำการสำรวจร่วมกับฝ่ายไทย โดยขั้นต้นบริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอร์ปอเรชั่น (CRC) ของจีนและเจ้าหน้าที่ ร.ฟ.ท.จะร่วมลงพื้นที่สำรวจร่วมกันอย่างไม่เป็นทางการ โดยฝ่ายไทยจะจัดเตรียมข้อมูลเบื้องต้น เช่น ผลการสำรวจที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2553 – 2557 เป็นแนวทางประกอบในการสำรวจ และจะสำรวจเป็นทางการในเดือนมีนาคม จากนั้นจะเป็นการเตรียมเส้นทางและพื้นที่เพื่อก่อสร้างสถานีและศูนย์กระจายสินค้า โดย

ช่วงที่ 1 กรุงเทพ-แก่งคอย ระยะทาง 133 กม. และ
ช่วงที่ 2. แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 246.5 กม. เริ่มก่อสร้างได้ไม่เกินเดือนตุลาคมปี 2558 ซึ่งฝ่ายจีนเห็นว่าจะสามารถก่อสร้างได้แล้วเสร็จภายใน 2.5 ปี
ส่วน ช่วงที่ 3. แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 138.5 กม.และ
ช่วงที่ 4. นครราชสีมา –หนองคาย ระยะทาง 355 กม. เริ่มก่อสร้างในธันวาคม 2558 อย่างช้าไม่เกินไตรมาสที่ 1 ปี 2559 ใช้เวลาประมาณ 3 ปีหรืออย่างช้าไม่เกิน 3.5 ปีเนื่องจากเส้นทางผ่านภูเขา พื้นที่อุทยานและบางช่วงมีชุมชนหนาแน่น

ทั้งนี้รถไฟทางคู่ ขนาดรางมาตรฐานของไทยความเร็วระดับกลาง 160-180 กม./ชม.ที่ใช้เทคโนโลยีของจีนนั้น จะเป็นต้นแบบสำหรับประเทศในอาเซียน โดยลาวจะเป็นประเทศแรกที่ก่อสร้างตามมา ซึ่งจะทำให้เส้นทางแรกเชื่อมต่อจากคุณหมิงของจีน ผ่านเวียงจันทน์ ของลาว มาเชื่อมกับไทยที่หนองคาย-โคราช-แก่งคอย-กรุงเทพ ในขณะที่ภายในประเทศไทยจะเน้นการพัฒนาปรับปรุงรางขนาด 1 เมตรที่มีอยู่เดิม ให้มีความมั่นคงแข็งแรง และยกระดับเทคโนโลยีจากรถดีเซลเป็นรถไฟฟ้า โดยเริ่มที่สายใต้เพื่อเชื่อมไปยังมาเลเซียที่มีรางขนาด 1 เมตรที่ใช้รถไฟฟ้าแล้ว พร้อมกันนี้ ไทยจะมีการวางแผนในการพัฒนารางขนาด 1 เมตร ในระยะ 5-10 ปี ต่อไปไว้ด้วย

พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า จากข้อมูลความร่วมมือรถไฟระหว่างจีนกับลาว ล่าสุด ทราบว่า ได้มีการลงนามเพื่อก่อสร้างทางรถไฟขนาดรางมาตรฐาน เชื่อมจีน-ลาว เมื่อ 4 ปีก่อน อยู่ระหว่างรอลงนามโดยอยู่ระหว่างรอกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งระหว่างวันที่ 1-3 กุมภาพันธ์นี้ กระทรวงคมนาคมไทยจะเดินทางไปหารือกับกระทรวงคมนาคมของสปป.ลาว เพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องโครงการดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของสองประเทศสอดคล้องกัน โดยมีการเชื่อมต่อเส้นทางจากคุณหมิง-เวียงจันทน์-กรุงเทพตามเป้าหมายชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเบื้องต้น ทางสปป.ลาวแข้งว่า คาดว่าจะลงนามสัญญากับจีนในปี 2558 และเริ่มก่อสร้างในปี 2559

***จีนเสนอ3 รูปแบบลงทุนให้ไทยเลือก

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการเงินและรูปแบบการลงทุนในโครงการการก่อสร้างรถไฟทางคู่ กรุงเทพ- แก่งคอย-โคราช-หนองคาย กล่าวว่า เบื้องต้นจีนนำเสนอการลงทุนด้านการเงินไว้ 3 รูปแบบ คือ

1. กู้เงินจากจีนลงทุน โดยมีอัตราดอกเบี้ยและระยะการผ่อนปรนมากพิเศษ
2. รัฐและเอกชนร่วมลงทุนหรือ PPP
3. การลงทุนร่วมกันรัฐบาลไทย-จีน ซึ่งจะเลือกรูปแบบใดนั้น ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะความเป็นไปได้ของโครงการ และอัตราผลตอบแทน โดยจีนนั้นยืนยันถึงประสบการณ์ในการเข้าไปช่วยเหลือพัฒนาเส้นทางรถไฟในประเทศต่างๆ ในทั้ง 3 รูปแบบ

1.EPC (Engineering Procurement Construction) ซึ่งรัฐบาลไทยเป็นเจ้าของโครงการ แต่จีนจะออกแบบ จัดหาระบบ และก่อสร้าง จะมี 2 ทางเลือก คือ EPC+F (Engineering Procurement Construction and Finance) จะออกแบบ จัดหาระบบ ก่อสร้างและจัดหาเงินกู้ และ EPC+F+O (Engineering Procurement Construction and Finance and Operation) จะออกแบบ จัดหาระบบ ก่อสร้าง จัดหาเงินกู้และบริหารโครงการในช่วงแรก 3-5 ปี ส่วนเงินกู้ทางจีนจะให้ทางธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าหรือไชน่าเอ็กซิมแบงก์เป็นผู้ให้กู้กับรัฐบาลไทยในอัตราดอกเบี้ยต่ำแต่รัฐบาลไทยจะต้องค้ำประกันเงินกู้

2.รัฐและเอกชนร่วมทุนรูปแบบ PPP เป็นรูปแบบ BOT (Build-Operate-Transfer Contract) โดยจ้างเอกชนคือ CRC ของจีนและบริษัทไทยมาลงทุนก่อสร้าง และบริหารโครงการเมื่อครบอายุสัมปทานก็จะโอนกรรมสิทธิ์ให้รัฐบาลไทย และ
3.ร่วมกันลงทุนแบบรัฐต่อรัฐตามสัดส่วนที่ตกลงกันโดยตั้งบริษัทร่วมไทย-จีนขึ้นมา

“กรณีกู้เงินแบบดอกเบี้ยต่ำและผ่อนปรนมากๆ นั้นจะเป็นการลงทุนแบบที่รัฐบาลรับผิดชอบ 100 % ทั้งการก่อสร้างและการเดินรถ ซึ่งอยู่ที่รัฐบาลไทยตัดสินใจว่าต้องการกู้เงินเท่าไร และเงื่อนไขทางจีนเป็นอย่างไร โดยจีนพร้อมเต็มที่เพราะถือเป็นความร่วมมือระดับรัฐบาล โดยให้กู้ผ่าน ธนาคารเพื่อการนำเข้าส่งออกแห่งประเทศจีน(เอ็กซิมแบงก์) แต่หากโครงการได้ผลตอบแทนคืนเร็ว อาจจะใช้รูปแบบ PPP แต่กรณีได้ผลตอบแทนในช่วงแรกต่ำ เพราะปริมาณผู้โดยสารและสินค้าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต จะใช้รูปแบบรัฐบาลร่วมมือตั้งบริษัทลงทุนร่วมกัน เมื่อผลตอบแทนเริ่มดีขึ้น รัฐบาลไทยอาจจะซื้อโครงการกลับมาได้ ซึ่งคณะอนุด้านการเงินฯจะพิจารณารูปแบบที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการพัฒนารถไฟเส้นทางนี้ โดยจะสรุปเบื้องต้นในการประชุมที่กรุงปักกิ่งวันที่11-13 กุมภาพันธ์”นายอาคมกล่าว

ทั้งนี้ยอมรับว่า รูปแบบการกู้เงินจะดำเนินงานได้รวดเร็วมากที่สุด แต่หากจะใช้ PPP จะต้องหาข้อตกลงกันว่า รัฐจะลงทุนส่วนไหน เอกชนลงทุนส่วนไหน ซึ่งไทยใช้รูปแบบ PPP ในโครงการรถไฟฟ้า โดยรัฐรับผิดชอบการก่อสร้างงานโยธา ส่วนเอกชนเข้ามาลงทุนเดินรถโดยพิจารณาผลตอบแทนในระดับหนึ่งที่เอกชนจะเข้ามาดำเนินการได้ ซึ่งหากจีนเห็นด้วย ไทยจะต้องปฎิบัติตามขั้นตอนพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 ต่อไปด้วย




มีประเด็นที่จะให้ไทยต้องทำเกี่ยวกะรถไฟความไวสูงเชื่อมจีนแดง
https://www.youtube.com/watch?x-yt-cl=84359240&v=ILhkbixBZ4A&feature=player_embedded&x-yt-ts=1421782837



จีนเสนอ 3 รูปแบบลงทุนรถไฟไทย-จีน "บิ๊กจิน" อุ๋บไต๋รอสรุป ก.พ.นี้ที่ปักกิ่ง
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
23 มกราคม 2558 เวลา 09:18:32 น.



NOW TV 26 เปิดประเด็นเรื่องรถไฟความไวสูงไทยจีน


จีนเสนอ 3 รูปแบบลงทุนรถไฟไทย-จีน "บิ๊กจิน" อุ๋บไต๋รอสรุป ก.พ.นี้ที่ปักกิ่ง ลั่นลงเข็มแน่ "กทม.-แก่งคอย-มาบตาพุด" ก.ย.นี้ได้นั่งปลายปี’60

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ผลการหารือพัฒนารถไฟทางคู่ทางมาตรฐาน 1.435 เมตร เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-มาบตาพุดและแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทาง 873 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้เงินลงทุนเกือบ 4 แสนล้านบาท ร่วมกับฝ่ายจีนหลังลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ไปเมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา ทางฝ่ายจีนเสนอรูปการลงทุนมา 3 รูปแบบ คือ

ทั้งนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปจะหารือร่วมกันครั้งต่อไปวันที่ 11-13 ก.พ.นี้ที่เมืองปักกิ่งประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ด้วยเงื่อนไขเรื่องเวลาที่ต้องเริ่มก่อสร้างช่วงแรกจากกรุงเทพฯ-แก่งคอย-มาบตาพุด ในเดือนกันยายนนี้และให้เสร็จเปิดใช้ปลายปี 2560 วิธีกู้เงินจากจีนน่าจะเป็นวิธีการที่เร็วที่สุด แต่ต้องดูเงื่อนไขของฝ่ายจีนด้วย ส่วนการก่อสร้างทางจีนโดยบริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอร์ปอเรชั่นหรือ CRC จะเป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกผู้รับเหมาจีนเพื่อมาร่วมกับรับเหมาไทยที่ฝ่ายไทยจะเป็นผู้คัดเลือก โดยอย่างน้อยฝ่ายละ 5 บริษัท และรับเหมาช่วงอีก 15 บริษัท จะมีการหารือในการประชุมครั้งที่ 2 นี้ด้วย

นอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนินการรวดเร็วและคล่องตัวในสำรวจพื้นที่จะเริ่มในเดือนมีนาคมนี้ ทั้ง 2 ฝ่าย คือ ไทยและจีนมีความเห็นร่วมกันจะแบ่งเส้นทางเป็น 4 ช่วง ได้แก่ 1.กรุงเทพฯ-แก่งคอย 133 กม. 2.แก่งคอย-มาบตาพุด 246.5 กม. 3.แก่งคอย-นครราชสีมา 138.5 กม. 4.นครราชสีมา-หนองคาย 355 กม. โดยการประมูลก่อสร้างแบ่งเป็น 2 สัญญา คือ จากกรุงเทพฯ-แก่งคอย-มาบตาพุด และจากแก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย โดยสัญญาที่ 2 คาว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ไม่เกินไตรมาสแรกของปี 2559 และใช้เวลาก่อสร้างนานกว่าสัญญาแรก โดยจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปีครึ่ง หรือประมาณปี 2562

https://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=BLFvtuM80lo&x-yt-ts=1421782837&x-yt-cl=84359240


Last edited by Wisarut on 23/01/2015 7:18 pm; edited 3 times in total
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42629
Location: NECTEC

PostPosted: 23/01/2015 9:45 am    Post subject: Reply with quote

สนข.รับฟังความเห็นรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
21 มกราคม 2558 10:51 น.

เมื่อเวลา 09.00 น. นายศิวาโรจน์ มุ่งหมายผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ภายใต้โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพ ฯ – หนองคาย ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ณ ห้องประชุมคอนเวนชั่นฮอลล์ โรงแรมเซ็นทารา คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ ขอนแก่น จ.ขอนแก่น
ขณะที่นายพีระพล ถาวรศุภเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการรดังกล่าว เพื่อเป็นการแนะนำรายละเอียดของโครงการ การกำหนดขอบเขตการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ และกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยผู้แทนบริษัทที่ปรึกษา ขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินการ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานเอกชน ผู้นำทางความคิดและผู้มีส่วนเกี่ยวต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการศึกษาของโครงการให้มีความสอดคล้องและเหมาะสม เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม


//-------------------------

อุดรฯ เสนอตั้งสถานีรถไฟความเร็วสูงที่ "หนองแด" มีพื้นที่รองรับกว่า 200 ไร่
มติชน
วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2558 เวลา 22:18:27 น.



ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 22 มกราคม ว่า ที่ห้องประชุมทุ่งศรีเมือง โรมแรมเซนทารา คอนเวนชั่น เซนเตอร์ อุดรธานี นายณรงค์ พลละเอียด รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธานเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการ "รถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย" ครั้งที่ 1 โดยมีหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาชน ในพื้นที่ จ.อุดรธานีเข้าร่วมราว 300 คน เพื่อให้ทราบถึงกรอบแนวทางการศึกษา ความเหมาะสม-งานออกแบบ-ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสังคม

นายไพบูลย์ โชคไพรสิน ผู้จัดการโครงการ นำวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญสิ่งแวดล้อม-สังคม ชี้แจงว่า รถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กม. มีความเร็วให้บริการ 180 กม./ชม. ขนานไปกับรถไฟทางคู่เดิม มีความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม. ผ่าน จ.นครราชสีมา-ขอนแก่น-อุดรธานี-หนองคาย สำรวจพบว่ามีจุดตัด 248 แห่ง แยกเป็นตัดผ่าน 179 แห่ง ทางต่างระดับ 14 แห่ง ทางลักผ่าน 67 แห่ง โดยผ่าน จ.อุดรธานี 189 กม. มีทางตัดผ่าน 58 แห่ง ลักผ่าน 9 แห่ง

"รถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน มีความเร็วกว่ารถไฟในปัจจุบัน มีความเสี่ยงจะเกิดอุบัติเหตุ จึงต้องปรับเปลี่ยนทางโค้งที่ จ.อุดรธานี 2 จุด คือก่อนเข้าสถานีห้วยเกิ้ง กับก่อนเข้าสถานีอุดรธานี และจะไม่มีทางพาดในระดับเดียวกัน จุดตัดทางรถไฟกับทางตัดผ่าน ทางลักผ่านทุกจุด จะทำการศึกษาความเหมาะสมว่าจะทำทางต่างระดับ, ทางลอด และกึ่งทางลอดและทางต่างระดับ โดยคณะผู้ศึกษาจะไปเก็บข้อมูล ทำเวทีย่อยในพื้นที่ ก่อนจะมีเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 อีกประมาณ 5 เดือน "

คณะที่ปรึกษา ระบุต่อว่า จะไม่มีสถานีรถไฟย่อยเหมือนที่ผ่านมา แต่จะมีสถานีรถไฟหลักของแต่ละจังหวัด คือนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ขณะในอนาคตอาจจะมีเพิ่ม 2 แห่ง คือชุมทางบัวใหญ่ และบ้านไผ่ โดยสถานีอุดรธานีจะตั้งอยู่ที่บริเวณสถานีรถไฟเดิมใจกลางเมืองอุดรธานี ซึ่งเป็นหัวใจของรถไฟความเร็วสูง คือให้ความสำคัญกับการขนผู้โดยสาร และเพื่อให้ผู้โดยสารจากสถานีย่อย เดินทางมากับรถไฟทางคู่ราง 1 เมตร มาขึ้นรถไฟรางคู่ทางมาตรฐาน ต่อไปยังสถานีเป้าหมายอื่นได้

นายณรงค์ พลละเอียด รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า เมื่อสร้างเสร็จรถไฟผ่านอุดรธานีจะมี 2 ส่วน ส่วนแรกคือรถไฟรางคู่รางกว้าง 1 เมตร หรือทางรถไฟเดิมมีความเร็วไม่มาก จะรับส่งผู้โดยสารและสินค้าตามสถานีย่อย ส่วนที่สองคือรถไฟทางคู่รางมาตรฐาน หรือทางรถไฟจากประเทศจีน มีความเร็วมากกว่าพร้อมพัฒนาเป็น "รถไฟความเร็วสูง" ซึ่งอุดรธานีได้ขอให้ที่ปรึกษา พิจารณาแผนการพัฒนา จ.อุดรธานี ที่ต้องการให้สถานีรถไฟไปอยู่ที่ "หนองแด" ริมถนนมิตรภาพ ห่างจากสถานีเดิมเพียง 4 กม. ซึ่งจะมีพื้นที่รองรับการพัฒนากว่า 200 ไร่

//-----------

หนองแดในที่นี่คือทุ่งหนองแด ใกล้ๆ สวนสาธารณะหนองแด ที่อยู่เหนือสถานีอุดรธานีไป 4 กิโลเมตรหงะ - เพราะมีแผนพัฒนาที่ดินตามข่าวนี้ เนรมิตทุ่งหนองแด
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42629
Location: NECTEC

PostPosted: 23/01/2015 2:47 pm    Post subject: Reply with quote

หนองคาย พร้อมรับรถไฟรางคู่ขนาน อนาคตเชื่อมต่อไปยังจีน
โดย ทีมข่าวภูมิภาค
ไทยรัฐ
23 มกราคม 2558 12:39
เปิดเวทีฟังความเห็นรถไฟทางคู่โคราช-หนองคายเพิ่มศักยภาพไทยเชื่อมลาว-จีน


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
23 มกราคม 2558 14:08 น.

พ่อเมืองหนองคาย เปิดเวทีฟังความคิดเห็นประชาชน โครงการรถไฟรางคู่ขนานทางมาตรฐานสาย นครราชสีมา-หนองคาย ชี้ อนาคตจะเชื่อมโยงไปยัง ลาว ก่อนเข้า 5 มณฑลของจีน พร้อมให้ความมั่นใจขีดความสามารถในการพัฒนาศักยภาพระบบโลจิสติกส์...

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 23 ม.ค. 58 ที่ห้องประชุมโรงแรมอัศวรรณ อ.เมืองหนองคาย นายสุชาติ นพวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการรถไฟทางคู่ขนานทางมาตรฐาน (Standard Gauge) เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ภายใต้โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรจัดขึ้น โดยโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทาง หนองคาย–นครราชสีมา–มาบตาพุด ระยะทาง 737 กิโลเมตร ซึ่งรัฐบาลไทยและจีน ได้ลงนามความตกลงบันทึกความเข้าใจ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 57 ในโครงการศึกษาแนวเส้นทางจะผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย

โดยเริ่มต้นแนวเส้นทางบริเวณสถานีรถไฟนครราชสีมา และสิ้นสุดโครงการที่สถานีรถไฟหนองคาย ระยะทาง 355 กิโลเมตร เบื้องต้นออกแบบให้เป็นแนวเส้นทางขนานไปกับเส้นทางรถไฟในปัจจุบัน ก่อสร้างเป็นทางอิสระอยู่ภายในเขตทางรถไฟเดิม และจะปรับแนวเส้นทางให้เป็นแนวตรงมากขึ้น โดยเพิ่มรัศมีโค้งในบางบริเวณ เพื่อลดผลกระทบด้านการเวนคืนที่ดิน และสามารถรองรับการเดินรถด้วยความเร็วสูงได้ เดิมรางรถไฟไทยขนาด 1 เมตร ความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนรถไฟทางคู่ขนานมาตรฐาน ขนาด 1.435 เมตร วางเป้าหมายความเร็ว 180-200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วที่เหมาะสมกับความต้องการ และกำลังทุนของไทยในปัจจุบัน สามารถปรับความเร็วเพิ่มขึ้นได้ตามปริมาณผู้โดยสารและสินค้าที่มากขึ้น โดยเปลี่ยนตัวรถไฟให้เป็นรถไฟความเร็วสูงที่มีความเร็วไม่น้อยกว่า 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยใช้ทางเดิมได้ เนื่องจากทางมาตรฐานที่จะพัฒนานี้ได้กำหนดเกณฑ์การออกแบบรางให้เหมาะสมกับการรองรับค่าความเร็วของรถไฟความเร็วสูงในอนาคตเอาไว้ด้วย

นายสุชาติ กล่าวว่า เมื่อมีก่อสร้างทางรถไฟขนาดทางมาตรฐานเกิดขึ้น จะทำให้จังหวัดหนองคาย ซึ่งวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดทั้งด้านการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว และพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง เป็นประตูสู่ประชาคมอาเซียน การขนส่งระบบรางจะสะดวกมากขึ้น สอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัด ประกอบกับการเข้ารับการพิจารณาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะแรกของจังหวัดหนองคาย จะช่วยผลักดันให้มีศักยภาพมากขึ้น เนื่องจากเมื่อรถไฟสายนี้สร้างเสร็จ จะเชื่อมโยงจากไทยเข้าลาว ที่มีประชากร 5 ล้านคน ผ่านทะลุไปถึง 5 มณฑลของจีน ที่มีประชากรประมาณ 250 ล้านคน การขนส่งสินค้าและการเคลื่อนย้ายคนจะสะดวก รวดเร็ว และจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในระดับประเทศ และภูมิภาคอาเซียนให้มีศักยภาพมากขึ้นด้วย.


Last edited by Wisarut on 24/01/2015 2:27 am; edited 1 time in total
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42629
Location: NECTEC

PostPosted: 23/01/2015 9:41 pm    Post subject: Reply with quote

ตั้งอนุสรณ์นั่งประธานทีมปรึกษาศึกษารถไฟไฮสปีด
แนวหน้า
วันพุธ ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2558, 06.00 น.
tags :

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการเงินและรูปแบบการลงทุนภายใต้ MOU ด้านรถไฟไทย-จีน ว่า ที่ประชุมได้หารือในเรื่องของวิธีการในการระดมทุนในการดำเนินการ ซึ่งขณะนี้ยังเป็นเพียงการให้ไปศึกษาข้อมูล โดยในการประชุมครั้งที่ 2 จะเป็นในส่วนของเทคนิคในการก่อสร้างและด้านการเงินในเบื้องต้น และในการประชุมครั้งที่ 3 ที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ จะมีข้อสรุปที่ชัดเจนในเรื่องของด้านการเงินและการลงทุนจะเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ทางคณะอนุกรรมการด้านการลงทุนได้มีการเสนอแต่งตั้งคณะทำงาน โดยคณะทำงานจะมี นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล เป็นประธานโดยคณะทำงานดังกล่าวจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมศึกษาและจัดทำ ข้อมูลในส่วนของด้านความเหมาะสม รวมถึงความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่งก็มีข้อมูลในเบื้องต้นแล้วส่วนหนึ่งที่ทาง สำนักนโยบายและแผนการขนส่ง และจราจร (สนข.) ได้จัดทำไว้ ซึ่งหลังจากที่มีการประชุมครั้งที่ 3 ร่วมกับทางจีนแล้ว จะต้องมีในส่วนการตั้งสำนักงานโครงการในพื้นที่ รวมถึงจะมีการลงพื้นที่ออกสำรวจและออกแบบ โดยข้อมูลที่ทาง สนข.ได้ทำการศึกษาไว้เป็นในเรื่องของความเป็นไปได้ของโครงการในเส้นทาง หนองคาย-กรุงเทพฯ และโครงการอื่นๆ

//----------------

ประจินถกลาวดันโครงการทางคู่เชื่อมจีน
แนวหน้า
วันศุกร์ ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2558, 06.00 น.

เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2558 ที่ผ่านมา พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม ได้ประชุมร่วม ไทย-จีน เพื่อความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทย ครั้งที่ 1 วันที่สอง

รมว.คมนาคม กล่าวว่า ภาพรวมหารือระหว่างไทย-จีน ตลอดทั้งสองวันที่ผ่านทั้งไทย-จีน มีความเห็นที่ชอบตรงกันในหลายประเด็น และแบ่งการทำงานออกเป็น 4 ช่วงตามเส้นทาง และมีมติร่วมกันในการที่จะยุบรวมการประชุมในครั้งที่ 2 และ 3 เข้าด้วยกันเป็นวันที่ 11-13 ก.พ. 2558 ณ กรุงปักกิ่ง

การประชุมในครั้งนี้ได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่างกันและมีการตั้งคณะกรรมการบริหารงานร่วมกัน 2 ฝ่าย ทั้งระดับนโยบายและระดับการบริหาร เพื่อความรวดเร็วในการทำงานและกำหนดแผนการทำงาน ซึ่งหลังจากมีการกำหนดแผนการแล้วเสร็จ ทางจีนจะจัดทีมสำรวจพื้นที่ร่วมกับทุกฝ่ายอย่างเป็นทางการในเดือน มี.ค. 2558

ทั้งนี้เชื่อว่าในระดับ คณะกรรมการบริหารจะสามารถมีข้อสรุปเกี่ยวกับการดำเนินงานต่างๆ ได้ ซึ่งส่วนบางประเด็นอาจจะมีการนำเสนอ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบ รวมถึงอาจจะมีเข้าสู่ สภานิติบัญญัติเเห่งชาติ(สนช.) พิจารณาด้วย โดยทั้งหมดจะพยายามให้แล้วเสร็จภายในกรอบเวลาที่กำหนดไว้ และขอให้มั่นใจว่าการทำงานระหว่างไทย-จีน จะดำเนินการไปอย่างโปร่งใส และเป็นธรรมมากที่สุด

นอกจากนี้ในวันที่ 1-3 ก.พ. 2558 จะเดินทางไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อรวมหารือถึงโครงการรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตรที่จะมีการเชื่อมต่อจากกรุงเทพฯ-เวียงจันทน์-คุนหมิง ในอนาคตให้มีความชัดเจนมากขึ้น ส่วนโครงการพัฒนารถไฟทางคู่ไปยังภาคใต้ ยืนยันว่าจะดำเนินการต่อไป นอกจากนี้รางที่มีอยู่ขนาด 1 เมตร ก็จะใช้งานอยู่ แต่จะปรับเปลี่ยนจากการใช้หัวรถจักรดีเซล ไปใช้ระบบไฟฟ้าแทนเพื่อให้สามารถเชื่อมกับมาเลเซียได้โดยตรง

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม กล่าวว่าทางจีนได้มีการเสนอรูปแบบการลงทุนในเบื้องต้น 3 รูปแบบ 1.จีนเสนอให้ไทยกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 2.รัฐและเอกชนร่วมลงทุนด้วยหรือ PPP และ 3.รัฐบาลลงทุนร่วมกัน ระหว่างไทย-จีน โดยการตั้งบริษัทร่วมทุน ซึ่งทั้ง 3 รูปแบบจะต้องมีการพิจารณาร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย โดยขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้และอัตราผลตอบแทนของการลงทุน

ก่อนหน้านี้ได้มีการประชุมสุดยอด ผู้นำกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 5 ไทย จีน พม่า กัมพูชา ลาว เวียดนาม ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ โดยไทย ได้เซ็นเอ็มโอยูกับจีน เพื่อสร้างรถไฟรางคู่มาตรฐาน 1,435 เมตรด้วย โดยมีเส้นทางจาก หนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทาง 734 กม. และช่วงแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทาง 133 กม. รวม 867 กม. โดยรถไฟรางคู่สายนี้มีความเร็วสูงสุด 180 กม.ต่อชั่วโมง เพื่อเชื่อมกับเส้นทางสายไหมของจีนที่หนองคาย ค่าก่อสร้างที่ประเมินไว้เบื้องต้นคือ 392,570 ล้านบาท
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42629
Location: NECTEC

PostPosted: 23/01/2015 11:01 pm    Post subject: Reply with quote

“ประจิน” ยันลุยพัฒนารถไฟสองระบบ “ราง 1 เมตร-ราง 1.435 เมตร” เชื่อมโยงอาเซียนจีน – ชี้อนาคตอาจเหลือแค่ระบบ 1.435 เมตร
Thai Publica
23 มกราคม 2015

พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ซ้าย), นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (กลาง), นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม (ขวา) แถลงผลการหารือกับคณะทำงานจากสาธารณรัฐประชาชนจีน หลักการประชุมเสร็จสิ้น
ความพยายามพัฒนา “ระบบขนส่งทางราง” ของประเทศไทย แม้จะมีข้อเท็จจริงชัดเจนว่าระบบทางรถไฟในอาเซียนเกือบทั้งหมดเป็นระบบราง 1 เมตร แต่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงเดินหน้าผลักดันการสร้างทางรถไฟสายใหม่ขนาด 1.435 เมตร เชื่อมไทย-จีนต่อไป สร้างความกังวลให้กับหลายฝ่ายถึงแนวทางพัฒนาดังกล่าว โดยเฉพาะชมรมวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมปฏิรูปประเทศไทย (วศ.รปปท.) ซึ่งได้เคยออกรายงานอย่างเป็นทางการ รวมทั้งตั้งข้อสังเกตต่างๆ ถึงความคุ้มค่าของโครงการ เนื่องจากแนวเส้นทางที่รัฐบาลปัจจุบันก่อสร้างนั้นเป็นการเชื่อมต่อเพียงประเทศจีนและประเทศเพื่อนบ้านบางส่วนเท่านั้น สืบเนื่องจากไทยไม่มีพรมแดนติดกับจีนโดยตรง ขณะที่ในปัจจุบันยังมีโครงข่ายเดิมระบบราง 1 เมตร ที่เชื่อมโยงภูมิภาคได้ครอบคลุมมากกว่า โดยขาดทางเชื่อมเพียงไม่กี่กิโลเมตรเท่านั้น

พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวหลังการประชุมร่วมไทย-จีน เพื่อความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทย ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2558 ว่าเบื้องต้นคาดว่าสามารถพัฒนาทั้ง 2 ระบบคู่ขนานกันได้ เพื่อการเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียนและจีนอย่างสมบูรณ์มากขึ้น โดยแบ่งเป็น 2 แนวเส้นทาง ได้แก่ เส้นทางคุนหมิง-สิงคโปร์ (The Singapore-Kunming Rail Link: SKRL) ซึ่งเป็นระบบราง 1 เมตร ที่มีโครงข่ายเดิมอยู่ ตามที่ วศ.รปปท. เสนอ ขณะที่อีกเส้นทางคือโครงการรถไฟความเร็วปานกลางขนาดราง 1.435 เมตร ซึ่งกำลังริเริ่มในปัจจุบัน โดยอาศัยความร่วมมือกับประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีหรือเงินลงทุน

สำหรับระบบราง 1 เมตรเดิมของไทยจำนวน 4,000 กว่ากิโลเมตร จะยังคงดำเนินการต่อไป เพื่อใช้เชื่อมโยงระหว่างไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เนื่องจากมีระบบราง 1 เมตร เหมือนกัน โดยจะต้องปรับปรุงเพิ่มเติมให้เกิดความปลอดภัยและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมทั้งย้ายระบบจากรถน้ำมันดีเซลเป็นระบบรถไฟฟ้าทั้งหมดด้วย ซึ่งจะเริ่มจากภาคใต้ เนื่องจากปัจจุบันในมาเลเซียใช้ระบบรถไฟฟ้าอยู่ก่อนแล้วและสามารถเชื่อมโยงได้ทันที

“ส่วนที่ถามว่าระบบราง 1 เมตรเดิมจะมีแผนเลิกใช้เมื่อไร จะพยายามศึกษาก่อนว่าใน 5-10 ปีข้างหน้าเราจะมีทิศทางไปอย่างไร ในส่วนของปัจจุบันเราจะพัฒนาระบบ 1 เมตร ไปอย่างเดิม จะเปลี่ยนเทคโนโลยีจากน้ำมันเป็นไฟฟ้า ประการต่อไป เมื่อเราวางรางมาตรฐานเสร็จแล้ว เราจะวางไปถึงปาดังเบซาร์ คิดว่าจะเป็นแผนงานในช่วงปี 2562-2563 คงจะมีความชัดเจนขึ้น ก็รอมาเลเซียมีความพร้อมและตัดสินใจว่าจะปรับหรือขยายเป็นรางมาตรฐานหรือไม่ ถ้าไม่ขยายเราก็ใช้ระบบ 1 เมตร เชื่อมโยงได้” พล.อ.อ. ประจินกล่าว

ส่วนความคืบหน้าของแผนงานเส้นทางคุนหมิง-สิงคโปร์ นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่ากำลังสร้างส่วนขาดหาย (missing link) ที่อยู่ในประเทศไทย คือช่วงอรัญประเทศ-คลองลึก-ปอยเปต โดยกำลังปรับปรุงทางช่วงฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ-คลองลึก และสร้างสะพานรถไฟต่อไปช่วงคลองลึก-ปอยเปต ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปีนี้ พร้อมเปิดเดินรถได้ ขณะที่ส่วนขาดหายภายนอกประเทศนั้น ยังขาดส่วนกัมพูชาเชื่อมต่อกับเวียดนาม ส่วนด้านฝั่งเมียนมาร์มีเพียงแนวเส้นทางแต่ยังไม่เริ่มพัฒนา เนื่องจากเมียนมาร์กำลังเร่งพัฒนาระบบรางภายในประเทศก่อน

ด้านระบบราง 1.435 เมตร พล.อ.อ. ประจินกล่าวต่อว่า รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะสร้างให้เป็นมาตรฐานในการเชื่อมโยง “โครงข่ายรถไฟความเร็วปานกลาง” ในประเทศไทยและอาจจะเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย ไม่ว่าจะเป็น สปป.ลาว, เวียดนาม, เมียนมาร์ และกัมพูชา ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการบุกเบิกจากประเทศไทยว่าโครงการที่กำลังดำเนินการจะมีความสำเร็จคืบหน้าในทางบวกมากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของการดำเนินการ การซ่อมบำรุง เป็นต้น

“เวลา 2 ปี 5เดือน จะมีความชัดเจน ว่าจะสร้างเป็นโครงข่ายรถไฟความเร็วปานกลางเชื่อมโยงทั้งอาเซียนหรือไม่ ในส่วนของไทยกับ สปป.ลาว แน่นอนแล้วว่าสร้างระบบเหมือนกัน โดยประมาณก่อนปีใหม่คณะของกระทรวงคมนาคมไทยได้พบกับกระทรวงคมนาคมของ สปป.ลาว อย่างไม่เป็นทางการ ได้รับข้อมูลว่าทาง สปป.ลาว กับจีบได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ตั้งแต่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ตอนนี้ร่างสัญญาก่อสร้างเสร็จแล้ว คาดว่าลงนามได้ปี 2558 และเริ่มก่อสร้างปี 2559 ทั้งนี้ วันที่ 1-3 กุมภาพันธ์นี้จะเดินทางไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอีกครั้ง” พล.อ.อ. ประจินกล่าว

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้ง 2 แนวทางอยู่ในกรอบการตกลงคนละกรอบและมีเป้าหมายการเชื่อมโยงต่างกัน โดยแนวเส้นทางคุนหมิง-สิงคโปร์ จะอยู่ในกรอบการเชื่อมโยงอาเซียน มีแนวเส้นทางจากสิงคโปร์-กัวลาลัมเปอร์ (มาเลเซีย)-ปาดังเบซาร์-กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ-ปอยเปต-พนมเปญ-นครโฮจิมินห์-ฮานอย-คุนหมิง ขณะที่แนวเส้นทางรถไฟความเร็วปานกลาง ราง 1.435 เมตร ที่กำลังจะสร้าง มีแนวเส้นทางจากกรุงเทพฯ-หนองคาย-หลวงพระบาง-คุนหมิง โดยมีเป้าหมายเชื่อมโยงประเทศไทย สปป.ลาว และจีน เข้าด้วยกัน เนื่องจากปริมาณการค้าขายและปริมาณการเดินทางระหว่าง 3 ประเทศ ที่เพิ่มขึ้นมาก จึงเป็นเส้นทางที่กระทรวงให้ความสำคัญและพยายามผลักดันให้เชื่อมโยงกัน

ทั้งนี้ พล.อ.อ. ประจินยังกล่าวย้ำถึงความจำเป็นของโครงการรถไฟความเร็วปานกลางอีกว่า “ถ้าโครงการรถไฟความเร็วปานกลางของไทยเกิด ก็จะกลายเป็นต้นแบบของการวางโครงข่ายรถไฟโดยใช้เทคโนโลยีของจีนเป็นจุดเริ่มต้นของโครงข่ายในการใช้เทคโนโลยีไปในประเทศไทยและอาเซียน”

รุปประจิน
พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต้อนรับการเยือนของนายหู จู่ฉาย รองผู้อำนวยการ สภาการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ ในการประชุมประชุมร่วมไทย-จีน ครั้งที่ 1 เพื่อร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ
ตั้งคณะทำงาน 2 ระดับ อีก 3 สัปดาห์เคาะสรุป แง้มกู้จีนเร็วสุด
สำหรับผลการประชุมร่วมไทย-จีน ช่วง 2 วันที่ผ่านมาได้ข้อสรุปเรื่องโครงสร้างการบริหารงาน แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับนโยบายและปฏิบัติการ โดยระดับนโยบายจะจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนร่วมกัน ซึ่งฝ่ายไทยจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ เป็นเลขาธิการ มีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ ส่วนฝ่ายจีนมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเช่นเดียวกัน มีผู้อำนวยการสภาการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ หรือเอ็นดีอาร์ซี (National development and Reform Council: NDRC) เป็นเลขาธิการ ทั้งนี้ จะจัดให้สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นส่วนประสานงานร่วมกับฝ่ายประสานงานของเอ็นดีอาร์ซี

ในระดับปฏิบัติการ จะจัดตั้งคณะกรรมการบริหาร โดยฝ่ายไทยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน มีสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ดูแลเรื่องเนื้องานและการเงิน ซึ่งแบ่งเป็นคณะอนุกรรมการอีก 2 คณะ ได้แก่ 1) คณะอนุกรรมการด้านการก่อสร้าง มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน มีผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นเลขาธิการ 2) คณะอนุกรรมการด้านการเงิน มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน มีผู้อำนวยการ สนข. เป็นเลขาธิการ โดยทั้งสองคณะจะทำงานร่วมกัน และใช้สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ประสานงานเช่นเดียวกับระดับนโยบาย ขณะที่ฝ่ายจีน ด้านการก่อสร้างจะให้บริษัทรถไฟจีน (China Railway Corporation: CRC) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจดูแล และให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีนดูแลเจรจาด้านการเงิน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ข้อสรุปในด้านก่อสร้างอีกว่าจะแบ่งเป็น 4 ช่วง 2 แผนงาน ได้แก่ แผนงานแรก ช่วงที่ 1 และ 2 เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 133 กิโลเมตร และแก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 246.5 กิโลเมตร และแผนงานสอง ช่วงที่ 3 และ 4 เส้นทางแก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 138.5 กิโลเมตร และนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กิโลเมตรมีแผนงานหรือโรดแมป ดังนี้

มีนาคม 2558 จัดตั้งทีมสำรวจร่วมไทย-จีน ออกแบบให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2558

กันยายน-ตุลาคม 2558 เริ่มก่อสร้างแผนงานแรก คาดว่าแล้วเสร็จปี 2561 ระยะเวลา 2 ปีครึ่ง

ธันวาคม 2558-ไตรมาสแรกปี 2559 เริ่มก่อสร้างแผนงานสอง คาดว่าแล้วเสร็จปี 2562 ระยะเวลา 3 ปี

“ในเรื่องของแผนงานแรก ทางจีนและไทยเห็นภาพเดียวกัน ว่าการสำรวจเส้นทางกับความยากง่ายอยู่ในเกณฑ์ที่เสร็จ 2 ปีครึ่ง ค่อนข้างจะแน่นอน ส่วนแผนงานสอง เป็นช่วงที่มีไหล่เขา อุทยานแห่งชาติ หรือเขตชุมชน อาจจะต้องใช้เวลามากขึ้น เดิมวางไว้ 3 ปี จีนบอกว่าอาจจะล่าช้านิดหน่อย แต่คงจะทำได้ตามที่เราคาดหวัง 3 ปีกว่าๆ ถือว่ารับได้” พล.อ.อ. ประจินกล่าว

ขณะที่ข้อสรุปอื่นด้านการเงิน นายอาคมกล่าวว่า จีนได้มีการเสนอรูปแบบการลงทุนเบื้องต้น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) จีนเสนอให้ไทยกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 2) รัฐและเอกชนร่วมลงทุนด้วย หรือพีพีพี (Public Private Partnership: PPP) 3) รัฐบาลลงทุนร่วมกันระหว่างไทย-จีน

“ถามว่ารูปแบบไหนเป็นไปได้มากที่สุด ต้องรอการหารือ ขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ของโครงการและผลตอบแทนต่างๆ แต่ถ้าจะให้เร็วที่สุดคงเป็นส่วนรัฐบาลรับภาระกู้ทั้งหมด ก็ต้องดูเงื่อนไขกับรูปแบบการกู้เงินกับจีน เพราะว่าเราเองไม่เคยกู้เงินจากจีนเลย ต้องเปรียบเทียบให้ดีที่สุด จีนเองรับปากมาว่าเป็นโครงการระดับประเทศและยินดีที่จะให้เงื่อนไขที่ดีที่สุด” นายอาคมกล่าว

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ลดจำนวนการประชุมจากที่เหลืออีก 2 ครั้ง ให้เหลือเพียงครั้งเดียว ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ในวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2558 เนื่องจากการประชุมครั้งแรกมีความคืบหน้าในหลายๆ ด้านมากกว่าที่ทั้งสองฝ่ายคาดการณ์ รวมถึงเพื่อเร่งรัดการตัดสินใจรูปแบบความร่วมมือและการลงทุนทางการเงิน เป็นกรอบแนวทางเลือกบริษัทเข้ามาลงทุนให้ได้เร็วที่สุด ส่งผลให้การประชุมครั้งหน้าในอีก 3 อาทิตย์ที่จะถึงนี้ต้องได้ข้อสรุปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างทั้ง 4 ช่วงอย่างเป็นทางการ, ความชัดเจนของบริษัทจีนที่จะเข้าร่วมโครงการ, งบประมาณการลงทุน, และรูปแบบการลงทุน ก่อนจะนำข้อตกลงส่วนที่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาดำเนินการ เมื่อผ่านความเห็นชอบทั้งหมดแล้วจะมีการลงนามความร่วมมือดังกล่าวโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมต่อไป

“อย่างที่เรียนให้ทราบว่าเราอยากให้เร็ว เราตั้งเป้าว่า 6-7 เดือนเราจะเริ่มโครงการ หรือคิกออฟ (kick-off) ให้ได้ ส่วนเรื่องที่ต้องผ่าน สนช. หรือ ครม. จะพยายามให้เร็วที่สุด อาจจะสองเดือนหลังการประชุมครั้งที่ 2 ขณะเดียวกันเราจะดำเนินเรื่องของการสำรวจ ออกแบบ ราคา เวนคืนที่ดิน พร้อมๆ กันด้วย” พล.อ.อ. ประจินกล่าว
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42629
Location: NECTEC

PostPosted: 26/01/2015 3:35 am    Post subject: Reply with quote

'โคราช' ขานรับรถไฟทางคู่ เกิดประโยชน์กับคน 20 จังหวัดภาคอีสาน
โดย ทีมข่าวภูมิภาค
ไทยรัฐ
24 มกราคม 2558 14:56

"โคราช" ขานรับรถไฟทางคู่ คาดเกิดประโยชน์กับคน 20 จังหวัดภาคอีสาน ในการเคลื่อนย้ายคน พืชผลทางการเกษตร และอุตสาหกรรม รอง ผวจ. ระบุปีนี้เห็นเป็นรูปธรรม มั่นใจจะช่วยขยายความเร็วสูงไปสู่ในอนาคตได้

วันนี้ (24 ม.ค.) นายบุญยืน คำหงส์ รอง ผวจ.นครราชสีมา เผยถึงระบบเศรษฐกิจระบบโครงข่ายทางรถไฟที่จะก่อสร้างขึ้น ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา โดยเฉพาะรถไฟทางคู่ กทม.-นครราชสีมา และ นครราชสีมา-ขอนแก่น-อุดรธานี-หนองคาย

สำหรับประโยชน์ที่ชาวโคราชจะได้รับจากระบบรถไฟทางคู่ คือ สามารถที่จะเคลื่อนย้ายคน พืชผลทางการเกษตร และอุตสาหกรรมได้ครั้งละมากๆ ในขณะที่ต้นทุนต่ำลง โดยเฉพาะ จ.นครราชสีมา ไม่มีการเดินทางด้วยเครื่องบินพาณิชย์ ไม่สามารถที่จะทำได้ในการต่อเชื่อมกับจังหวัดภูมิภาครอบด้านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและกรุงเทพฯ รวมทั้งต่อเชื่อมไปยังภาคเหนือและภาคใต้ได้เลย

ดังนั้น ตนคิดว่าการใช้ระบบรางคู่จะช่วยขยายความเร็วสูงไปสู่ในอนาคตได้ และจะเกิดประโยชน์กับชาวนครราชสีมาและพี่น้องชาวจังหวัดต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด

นายบุญยืน เผยอีกว่า การมีรถไฟทางคู่จะช่วยแก้ปัญหาการจราจรที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในหลายจังหวัด เช่น จ.นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี โดยเฉพาะถนนที่เป็นจุดตัดกับทางรถไฟ ซึ่งระบบทางคู่จะช่วยในการยกระดับของรถไฟในเขตเมือง และจะทำให้จุดตัดน้อยลง ขณะเดียวกัน ทางรถยนต์คงต้องพัฒนาระบบเส้นทางถนนวงแหวนรอบตัวเมือง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรที่ติดขัดในเขตเมือง และจะทำให้การจราจรสะดวกรวดเร็วขึ้น

"ส่วนปัญหามวลชนในพื้นที่ ที่ต้องมีการเวนคืนทางคู่และการทำความเข้าใจนั้น เรื่องนี้ทาง สนข. และจังหวัดก็ได้เปิดเวทีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้ได้รับผลกระทบ สามารถเสนอความคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะ เพื่อเป็นการทำความเข้าใจ สำหรับเวทีการรับฟังความคิดเห็น คงไม่ได้มีเพียงครั้งเดียวจบ แต่จะมีเวทีติดตามรอบต่อไปอีกในการเข้าสู่กลุ่มมวลชนและกลุ่มย่อย ที่คิดว่ายังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อไปอีก ซึ่งในปีนี้จะได้เห็นเป็นรูปธรรม ในการดำเนินการก่อสร้างระบบทางคู่ในภาคอีสานอีกด้วย" นายบุญยืน กล่าว
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42629
Location: NECTEC

PostPosted: 28/01/2015 10:29 am    Post subject: Reply with quote

"ไทย-ญี่ปุ่น"สรุปร่วมสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง เส้น"กาญจนบุรี-กัมพูชา"ลงนาม8-9ก.พ.นี้
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
27 มกราคม 2558 เวลา 17:32:59 น.

27 ม.ค. รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจระบุหลังหารือร่วมกับที่ปรึกษาพิเศษนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นสรุปร่วมกันในความร่วมมือก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเส้นทางจาก อ.พุน้ำร้อน –กาญนจบุรี-กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทราและอีกหลายเส้นทาง

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับ นายฮิโรโตะ อิซุมิ ที่ปรึกษาพิเศษนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ข้อสรุปร่วมกันในความร่วมมือก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง(ไฮสปีดเทรน) ในเส้นทางจาก อ.พุน้ำร้อน–กาญนจบุรี-กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-สระแก้ว-กัมพูชา เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางจากเมียนมาร์–ไทย-กัมพูชา ด้วยขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร หลังจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีเตรียมเดินทางไปลงนามความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น ในวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์นี้ โดยหลังจากนี้คณะทำงานจะหารือร่วมกันในการวางแผนการลงทุนก่อสร้าง วงเงินลงทุนทั้งหมดของโครงการ และสัดส่วนในการลงทุนของไทยและญี่ปุ่นเส้นทางดังกล่าว และการตกลงให้เป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางดังกล่าวเพราะเป็นเส้นทางราบ ไม่มีพื้นที่สูงชันจึงสามารถวิ่งบริการด้วยความเร็วสูงได้

และในวันที่ 30 ม.ค. นี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เตรียมเดินทางไปร่วมลงนามกับเมียนมาร์เกี่ยวกับความร่วมมือก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย ซึ่งทางรัฐบาลญี่ปุ่นเสนอให้ความร่วมมือก่อสร้างด้วยเช่นกัน จึงเตรียมหารือกับเจรจากับเมียนมาร์ เพื่อให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมเป็นประเทศที่ 3 เพราะเมื่อญี่ปุ่นร่วมก่อสร้างรถไฟฟ้าเชื่อมโยงมายังเมืองทวายแล้ว จึงต้องการร่วมลงทุนสร้างท่าเรือน้ำลึกด้วยเช่นกัน

ส่วนกรณีกระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขการส่งออกทั้งปี57ติดลบร้อยละ0.41หดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากที่ปี 2556 นั้น เมื่อตัดตัวเลขการส่งออกที่ลดลงของยางพารา น้ำมันดิบ ทองคำแท่งและทองรูปพรรณ ซึ่งเป็นสินค้าที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เพราะเป็นสินค้าที่มีความเชื่อมโยงกัน เมื่อตัดตัวเลขสินค้ากลุ่มดังกล่าวออกไป พบว่าการส่งออกสินค้าอื่นขยายตัวได้ร้อยละ 1.5 จึงเป็นระดับที่น่าพอใจ เพราะประเทศคู่ค้าหลักยังไม่ฟื้นตัว ทั้งยุโรป สหรัฐ ญี่ปุ่น

//------------------
ไทยเตรียมลงนามญี่ปุ่นสร้างรถไฟความเร็วสูง
เดลินิวส์
วันอังคาร 27 มกราคม 2558 เวลา 21:27 น.

นายกฯ เตรียมลงนามร่วมมือญี่ปุ่น สร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง หวังเชื่อมระเบียงตะวันออก-ตะวันตก หวังเชื่อมต่อการเดินทาง 3 ชาติ จาก "เมียนมาร์-ไทย-กัมพูชา"

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับนายฮิโรโตะ อิซุมิ ที่ปรึกษาพิเศษนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นว่า ได้ข้อสรุปร่วมกันในความร่วมมือก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ตามเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ได้แก่ เส้นทาง กทม.-กาญจนบุรี กทม.-อรัญประเทศ และ กทม.-แหลมฉบัง เพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง จากเมียนมาร์ –ไทย-กัมพูชา ด้วยขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร โดยจากนี้ในวันที่ 8-9 ก.พ.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ เพื่อร่วมลงนามความร่วมมือในโครงการดังกล่าว

“หลังจากนี้คณะทำงานจะหารือร่วมกันในการวางแผนการลงทุนก่อสร้าง วงเงินลงทุนทั้งหมดของโครงการ และสัดส่วนในการลงทุนของไทยและญี่ปุ่นเส้นทางดังกล่าวและการตกลงให้เป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางดังกล่าวเพราะเป็นเส้นทางราบ ไม่มีพื้นที่สูงชันจึงสามารถวิ่งบริการด้วยความเร็วสูงได้และในวันที่ 30 ม.ค.นี้ ยังเตรียมเดินทางไปร่วมลงนามกับเมียนมาร์เกี่ยวกับความร่วมมือก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย ซึ่งทางรัฐบาลญี่ปุ่นเสนอให้ความร่วมมือก่อสร้างด้วยเช่นกัน จึงเตรียมหารือกับเจรจากับเมียนมาร์ เพื่อให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมเป็นประเทศที่ 3เพราะเมื่อญี่ปุ่นร่วมก่อสร้างรถไฟฟ้าเชื่อมโยงมายังเมืองทวายแล้ว จึงต้องการร่วมลงทุนสร้างท่าเรือน้ำลึกด้วยเช่นกัน”

ส่วนกรณีกระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขการส่งออกทั้งปี 57 ติดลบ 0.41% หดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากที่ปี 56 นั้น เมื่อตัดตัวเลขการส่งออกที่ลดลงของยางพารา น้ำมันดิบ ทองคำแท่งและทองรูปพรรณ ซึ่งเป็นสินค้าที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เพราะเป็นสินค้าที่มีความเชื่อมโยงกัน เมื่อตัดตัวเลขสินค้ากลุ่มดังกล่าวออกไป พบว่าการส่งออกสินค้าอื่นขยายตัวได้ 1.5% จึงเป็นระดับที่น่าพอใจ เพราะประเทศคู่ค้าหลักยังไม่ฟื้นตัว ทั้งยุโรป สหรัฐ ญี่ปุ่น

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า เมื่อวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา นายกฯ ยังได้หารือกับนายฮิโรโตะ โดยไทยพร้อมให้ความร่วมมือญี่ปุ่นในทุกระดับ รวมทั้งโครงการทวาย เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน การส่งเสริมมูลค่า การค้าและการลงทุนระหว่างกันโดยเฉพาะในกรอบ ความตกลงเพื่อความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น (เจเทป้า) ซึ่งทั้งหมดจะหารือกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในระหว่างการเยือนญี่ปุ่น โดยในระหว่างการเยือนคาดว่า มีการลงนามความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม


Last edited by Wisarut on 28/01/2015 11:57 am; edited 1 time in total
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44333
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 28/01/2015 11:14 am    Post subject: Reply with quote

Wisarut wrote:
"ไทย-ญี่ปุ่น"สรุปร่วมสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง เส้น"กาญจนบุรี-กัมพูชา"ลงนาม8-9ก.พ.นี้
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
27 มกราคม 2558 เวลา 17:32:59 น.

ข่าวต่อเนื่องครับ

ที่ปรึกษาเศรษฐกิจญี่ปุ่นคารวะ "ประยุทธ์" ได้ข้อสรุปรถไฟความเร็วสูงสายเมืองกาญฯ-เขมร
วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2558 เวลา 23:52:10 น.

เมื่อวันที่ 27 มกราคม นายฮิโระโตะ อิซุมิ ที่ปรึกษาพิเศษด้านเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเข้าเยี่ยมคารวะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยสรุปสาระสำคัญการหารือคือทั้งสองฝ่ายย้ำความสัมพันธ์ไทยและญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ด้านการเมือง ความมั่นคงมาอย่างยาวนานและใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดพิเศษระหว่างราชวงศ์ ผู้นำมีการแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างต่อเนื่อง

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าได้หารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นแล้ว 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2557 ในห้วงการประชุมผู้นำ ASEM ครั้งที่ 10 ที่นครมิลาน และเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 ในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 25 ที่กรุงเนปิดอว์ โดยในการหารือทั้ง 2 ครั้ง นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นหวังที่จะส่งเสริมความร่วมมือกับไทยในทุกมิติ และญี่ปุ่นพร้อมที่จะต้อนรับการเยือนญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรีและภริยาในโอกาสแรก และเห็นว่าการเยือนในครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรีจะประสบความสำเร็จ และได้รับประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ความร่วมมือระบบรางระหว่างทั้งสองประเทศมีความสำคัญมาก และยินดีที่ประเด็นความร่วมมือและรายละเอียดต่างๆ มีความชัดเจนขึ้น อาทิ เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ได้แก่ เส้นทาง กรุงเทพฯ-กาญจนบุรี กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ และ กรุงเทพฯ-ระยอง ซึ่งกระทรวงคมนาคมของทั้งสองประเทศจะพิจารณาในรายละเอียดและความเป็นไปได้ต่อไป ส่วนด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไทยพร้อมให้ความร่วมมือญี่ปุ่นในทุกระดับ รวมถึงโครงการทวาย เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน การส่งเสริมมูลค่า การค้าและการลงทุนระหว่างกันโดยเฉพาะในกรอบ JTEPA (ความตกลงเพื่อความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น) ซึ่งทั้งหมดจะหารือกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในระหว่างการเยือนญี่ปุ่น โดยในระหว่างการเยือนหวังว่ามีการลงนามความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม ด้านการศึกษา

ที่ปรึกษาพิเศษฯ กล่าวว่าญี่ปุ่นได้ริเริ่มโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา และเชิญนักศึกษาไทยจำนวน 340 คน ไปศึกษาดูงานร่วมกับนักศึกษาญี่ปุ่น โดยโครงการนี้จะเชิญเยาวชนในภูมิภาคเอเชียเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ซึ่งจะช่วยกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียด้วย ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ญี่ปุ่นสนับสนุนทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาให้กับประเทศไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของคนไทยในด้านเทคโนโลยี

นอกจากนี้ ที่ปรึกษาพิเศษแสดงความชื่นชมนายกรัฐมนตรีที่มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาภายในประเทศ และนำประเทศไทยกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตย โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวให้ความมั่นใจว่า ไทยเดินหน้าปฏิรูปประเทศตามโรดแมป เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และให้เกิดประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน โดยรัฐบาลเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และดำเนินนโยบาย ที่เปิดกว้างและโปร่งใส

ขณะที่สำนักข่าวไทยรายงานว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับ นายฮิโรโตะ อิซุมิ ที่ปรึกษาพิเศษนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ข้อสรุปร่วมกันในความร่วมมือก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง(ไฮสปีดเทรน) ในเส้นทางจาก อ.พุน้ำร้อน–กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-สระแก้ว-กัมพูชา เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางจากเมียนมาร์–ไทย-กัมพูชา ด้วยขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร หลังจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี เตรียมเดินทางไปลงนามความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น ในวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์นี้ โดยหลังจากนี้คณะทำงานจะหารือร่วมกันในการวางแผนการลงทุนก่อสร้าง วงเงินลงทุนทั้งหมดของโครงการ และสัดส่วนในการลงทุนของไทยและญี่ปุ่นเส้นทางดังกล่าว และการตกลงให้เป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางดังกล่าวเพราะเป็นเส้นทางราบ ไม่มีพื้นที่สูงชันจึงสามารถวิ่งบริการด้วยความเร็วสูงได้
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42629
Location: NECTEC

PostPosted: 28/01/2015 11:41 am    Post subject: Reply with quote

เอกสารของรัฐสภา เรื่อง MOU รถไฟไทย - จีน
http://library2.parliament.go.th/giventake/content_nla2557/d120457-01.pdf

วิศวกรรมสถานฯ แนะรัฐจัดงบ R&D พัฒนาระบบราง
by Rachida Chuabunmee
Voice TV
28 มกราคม 2558 เวลา 11:55 น.


สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย แนะรัฐจัดสรรงบวิจัยและพัฒนาบุคลากรด้านการรถไฟ เพื่อพัฒนาระบบรางของประเทศ โดยไม่ต้องพึ่งพาต่างชาติ

สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย จัดสัมมนา "โอกาสและความท้าทายของวิศวกรไทยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของประเทศ "

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรด้านรถไฟ ทำให้รถไฟไทยขาดการพัฒนา จึงควรมีบุคลากรอย่างน้อย 3 หมื่นคน เช่น วิศกร 6 พันคน ช่างเทคนิค 1 หมื่น 2 พัน- 1 หมื่น 3 พันคน ช่างประจำสถานี 1 หมื่น 3 พันคน รองรับการพัฒนาระบบรางในอนาคต โดยเฉพาะรถไฟทางคู่ที่รัฐบาลกำลังผลักดัน

ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟรางคู่ไทย-จีน ยังอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้การใช้เทคโนโลยีก่อสร้าง แผนโครงการ และรูปแบบการลงทุน แต่หากมีความชัดเจน ยังต้องใช้เวลากว่าจะเริ่มดำเนินการ

ปัจจุบัน การพัฒนาและปรับปรุงรถไฟไทย ยังต้องนำเข้าอะไหล่และอาศัยเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ทำให้สูญเสียงบประมาณจำนวนมาก รัฐบาลจึงควรสนับสนุนงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนา(R&D) เพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในการพัฒนาระบบราง เพราะรถไฟไทย ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องปฏิรูป ทั้งภาระหนี้สิน และการบริหารสัญญาดูแลทรัพย์สิน

ทั้งนี้ การขนส่งทางรางในไทย มีระยะทางเพียง 4,300 กิโลเมตร หากเทียบกับพื้นที่จริงควรมีระยะทาง 3-4 หมื่นกิโลเมตร จึงจะครอบคลุมการให้บริการประชาชน
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 30, 31, 32 ... 121, 122, 123  Next
Page 31 of 123

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©