Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai Gallery in Facebook

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311279
ทั่วไป:13261280
ทั้งหมด:13572559
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าวแผนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ 2558-65
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ข่าวแผนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ 2558-65
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 40, 41, 42 ... 121, 122, 123  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44497
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 11/05/2015 6:27 pm    Post subject: Reply with quote

คค. เตรียมสร้างรถไฟไทย-จีน ช่วงปลายปี
INN News ข่าวเศรษฐกิจ วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2558 17:33น.

กระทรวงคมนาคม เตรียมก่อสร้าง รถไฟไทย-จีน ช่วง กรุงเทพฯ-แก่งคอย และ แก่งคอย-นครราชสีมา ปลายปี

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงการเดินทางไปประชุมโครงการความร่วมมือการพัฒนารถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 6 - 8 พฤษภาคม ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมของทั้ง 2 ฝ่าย ได้มีมติร่วมกันว่าจะพัฒนาโครงการรถไฟช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย และช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา โดยการก่อสร้างเส้นทางช่วงที่ 1 ยังเป็นไปตามแผนเดิมคือจะทำการสำรวจแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2558 และเริ่มก่อสร้างในเดือนตุลาคม 2558 และช่วงที่ 3 คาดว่าจะดำเนินการสำรวจพื้นที่เร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้เดิมเดือนธันวาคม 2558 เป็นเดือนกันยายน-ตุลาคม 2558 คาด 1 เดือนถัดไป จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ทันที

ส่วนช่วงที่ 2 แก่งคอย-มาบตาพุด ยังอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และช่วงที่ 4 นครราชสีมา-หนองคาย ได้เลื่อนระยะเวลาในการสำรวจไปเป็นในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2559 จากกำหนดการเดิมสิ้นปี 2558 โดยคาดว่า การก่อสร้างในทุกเส้นทางจะแล้วเสร็จไม่เกินปี 2562 อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 30 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม จะมีการประชุมความร่วมมือการพัฒนารถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 5 ที่ จังหวัดนครราชสีมา
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44497
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 11/05/2015 7:23 pm    Post subject: Reply with quote

คค.ชงครม.เซ็นร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่นพ.ค. ส่วนรถไฟไทย-จีน เริ่มก่อสร้าง 2 ตอน ในต.ค.นี้
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 พฤษภาคม 2558 18:19 น.

“คมนาคม”ชงครม.เห็นชอบร่างMOC พัฒนารถไฟไทย-ญี่ปุ่นในสัปดาห์หน้า ตั้งเป้า ลงนามร่วมญี่ปุ่น 26-27พ.ค. ที่โตเกียวเดินหน้าสำรวจออกแบบเสร็จใน 6 เดือน ตอกเข็มรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-เชียงใหม่ ต้นปี 59 ส่วนรถไฟไทย-จีน สำรวจออกแบบฉลุย เตรียมก่อสร้างกรุงเทพฯ-แก่งคอย,แก่งคอย-นครราชสีมาต.ค.นี้

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในการพัฒนาระบบรถไฟ ว่า จะสรุปร่าง บันทึกความร่วมมือ (MOC) ที่จะมีการลงนามร่วมระหว่างไทยและญี่ปุ่น เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า และจะมีการลงนามร่วมกันในวันที่ 26-27พ.ค.นี้ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยตนจะเดินทางไปลงนาม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือร่วมกันอีกครั้งว่าจะเป็นการยกร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) หรือจะเป็น บันทึกความร่วมมือ (MOC: Memorandum of Cooperation) เนื่องจากไทย-ญี่ปุ่นมีความร่วมมือในการศึกษาเส้นทางรถไฟมานานแล้ว สามารถลงนามในขั้นตอนปฏิบัติได้เลย โดยญี่ปุ่นพร้อมที่จะส่งเจ้าหน้าที่มาสำรวจเส้นทาง ศึกษาออกแบบในกลางเดือนมิ.ย.นี้ โดยจะเริ่มที่เส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่จะกำหนดแผนงานภายใน 6 เดือน และ เนื่องจากมีการศึกษาเดิมเมื่อปี 2555ทางญี่ปุ่นเข้ามาทบทวนปรับปรุงการศึกษา ซึ่งจะใช้เวลาไม่มากนัก โดยจะเริ่มก่อสร้างให้ได้ในต้นปี 2559

โดยความร่วมมือจะเป็น 2 กลุ่มโดยกลุ่มแรกเป็นความร่วมมือเร่งด่วนคือการพัฒนาเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ เป็นรถไฟความเร็วสูง และเส้นทางเส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพ-อรัญประเทศและท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนอีกกลุ่มจะเป็นการทำคู่ขนาน เช่น ศึกษาเส้นทาง อ.แม่สอด จ.ตาก-จ.มุกดาหาร , การศึกษาความเหมาะสมของเส้นทางในพื้นที่ภาคตะวันออกที่มีการทับซ้อนกันหลายโครงการและการพัฒนาด้านบุคลากร

“ที่ปรึกษาพิเศษนายกฯญี่ปุ่นได้มาพบพูดคุยกันมีความชัดเจนมากขึ้น และภายใน1-2 วันนี้ จะมีการหารือเพื่อปรับปรุงร่าง MOUและเป็นไปได้ที่จะยกเป็น MOC เนื่องจากญี่ปุ่นเห็นว่า ความร่วมมือของไทย-ญี่ปุ่นได้ก้าวข้าม MOU มาแล้ว สามารถนำไปปฏิบัติได้เลย และจะทำให้ระบบการบริหารคณะกรรมการของ 2 ฝ่ายสามารถต่อเชื่อมกันได้อย่างราบรื่น โดยจะสรุปเสนอรองนายกฯในวันที่ 14 พ.ค.นี้ เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมครม.ได้ในสัปดาห์หน้า ส่วนเส้นทางที่ทับซ้อนในพื้นที่ภาคตะวันออกนั้น กระทรวงคมนาคมและสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะประชุมหารือกับจีนและญี่ปุ่น เพื่อเลือกแนวทางที่ดีที่สุด “พล.อ.อ.ประจินกล่าว

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ญี่ปุ่นได้ยืนยันความประสงค์ในการพัฒนาระบบรถไฟไทยโดยให้ความสำคัญ 1. เส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ ระยะทาง 715 กม. โดยจะเริ่มสำรวจออกแบบช่วงครึ่งหลังปี 58และก่อสร้างในปี 59 โดยเน้นในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย 2. กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง และกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ ระยะทาง 574 กม.ซึ่งเป็นเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ไปถึงท่าเรือน้ำลึกทวาย 3. เส้นทางอ.แม่สอด-พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-ขอนแก่น-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร ระยะทาง 718 กม.หรือ East-West Corridor แต่เนื่องจากไม่มีการศึกษาเดิมทางญี่ปุ่นจะเข้ามาช่วยศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาซึ่งจะเป็นการพัฒนาในระยะยาว

นอกจากนี้จะมีความร่วมมือในการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ซึ่งญี่ปุ่นสนใจเข้ามาช่วยศึกษาเส้นทางรถไฟในพื้นที่ภาคตะวันออก จ.ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ที่มีรถไฟหลายระบบในแนวเดียวกันเช่น ความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ช่วงแก่งคอย-มาบตาพุด ,รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งก์ ส่วนต่อขยาย,รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-ระยอง และเส้นทางที่ญี่ปุ่นจะศึกษากรุงเทพ-แหลมฉบัง ทั้งนี้เพื่อออกแบบในการใช้เส้นทางร่วมกัน เนื่องจากเขตทางมีจำกัด

นายอาคมกล่าวว่า หลังลงนามใน MOC ญี่ปุ่นจะเข้านำผลศึกษาเส้นทางกรุงเทพ – เชียงใหม่ เดิมที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 55 มาทบทวนและสำรวจออกแบบ คาดว่าจะใช้เวลาเกิน 6 เดือน รวมถึงหากต้องมีการปรับแบบจะให้เสร็จภายในสิ้นปี 58 ส่วนรูปแบบการลงทุนและการเงิน นั้นจะทำการออกแบบคู่ขนานไปกับการสำรวจด้านโครงสร้าง ซึ่งหลักการจะให้ญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่การก่อสร้างและเดินรถตั้งแต่ต้น ซึ่งจะเป็นรูปแบบการร่วมทุนระหว่างไทย-ญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นจะมีสถาบันด้านการเงินที่พร้อมให้เงินกู้ในแบบเข้ามาร่วมทุนด้วย ทั้ง ไจก้า เจบิค

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ขอให้ทางญี่ปุ่นเร่งรัดบริษัทผู้ผลิตรถไฟฟ้า สายสีม่วง เพื่อเร่งส่งมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2559 ซึ่งได้รับรายงานว่าทางญี่ปุ่นจะส่งมอบรถไฟฟ้า 3 ขบวนแรก (9 ตู้) ในเดือนต.ค. 58 เพื่อทดสอบและจะนำมาทดลองวิ่งได้ในเดือนธ.ค. 58

ส่วนจะเป็นรูปแบบใดนั้นขึ้นกับผลศึกษาผลตอบแทนการลงทุนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งทางเจบิคจะนำรูปแบบการศึกษาการลงทุนรถไฟกัวลาลัมเปอร์

***รถไฟไทย-จีน สำรวจกรุงเทพฯ-แก่งคอย,แก่งคอย-นครราชสีมา ฉลุยเตรียมก่อสร้างต.ค.นี้

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟไทย-จีนว่า ผลการประชุมเมื่อวันที่ 6-8 พ.ค.ที่คุณหมิง ฝ่ายจีนโดย CRC ได้นำเสนอความก้าวหน้าการศึกษาเป็นไปได้ และสำรวจออกแบบ ทั้งความเร็ว ที่ตั้งสถานี ศูนย์ซ่อม แต่ยังมีเสร็จ 100 % ขณะที่ไทยแจ้งเรื่องความสะดวก การทำวีซ่า การประสานเพื่อนำอุปกรณ์เข้าประเทศและใช้งาน โดยขณะนี้มีทีมเข้ามาสำรวจแล้ว 80 คนและจะเข้ามาเพิ่มอีก 82 คนในปลายเดือนนี้เพื่อเร่งสำรวจออกแบบ และนำอุปกรณ์ ที่ทันสมัยเข้ามาช่วยดำเนินงาน

โดยการสำรวจ ออกแบบ ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 133 กม. จะเสร็จในเดือนก.ย. นี้ และเริ่มก่อสร้างได้ใน ต.ค. 58 ช่วงที่ 2 แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 246.5 กม. ล่าช้ากว่าแผนเนื่องจากติดพื้นที่ผ่านลุ่มน้ำ A1 ซึ่งเกี่ยวข้องกับรูปแบบก่ารก่อสร้าง ช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 138.5 กม. คาดว่าจะเสร็จในก.ย.-ต.ค.ซึ่งเร็วกว่าแผนงาน ทำให้จะเริ่มก่อสร้างได้ใน ต.ค.-พ.ย. 58 จากแผนที่จะก่อสร้างในม.ค 59 และช่วงที่ 4 นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กม. จะเริ่มสำรวจในม.ค.-ก.พ.59 ช้ากว่าแผน

ส่วนการเงินนั้นจะมีการพิจารณาจำนวนเงินกู้และเงื่อนไขจากธนาคารเพื่อนำเข้าและส่งออกของจีนและมีความชัดเจนในเดือนส.ค. 58 พร้อมกันนี้ได้หารือถึงการฝึกอบรมบุคคลากรของไทยให้สามารถดูแลการก่อสร้างได้ในชุดแรก ทั้งในส่วนเจ้าหน้าที่บริหารและเจ้าหน้าที่เทคนิค รวม 800 คนโดยแบ่งเป็น 6 หลักสูตร คือ หลักสูตร เดินรถ จัดหาหัวจักร ซ่อมบำรุง ซ่อมทางรถไฟ ระบบสื่อสารอาณัติสัญญาณ ระบบตัวรถและตัวจ่ายกำลังไฟฟ้า โดยให้ จีนพิจารณาอบรมให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงเจรจาในรายละเอียดเรื่องไฟเบอร์ออฟติคจะเชื่อมมาตามเส้นทางรถไฟด้วย เพื่อกำหนดจำนวนคอร์ รองรับทั้งรถไฟหลัก, สำรองและเชิงพาณิชย์

อย่างไรก็ตาม จะมีการประชุมในครั้งต่อไป วันที่ 30 มิ.ย. – 1ก.ค. ที่จ.นครราชสีมา อย่างไรก็ตาม ภาพรวมคือความต้องการที่จะให้มีเส้นทางรถไฟเชื่อมจากคุนหมิงของจีน-ลาว (เวียงจันทน์) –ไทย(หนองคาย) -กรุงเทพ-แก่งคอย-มาบตาพุด โดยขณะนี้เส้นทางในประเทศจีนก่อสร้างจากคุนหมิงได้ 50 % เหลือ ระยะทางประมาณ 250 กม.เป็นพื้นที่ภูเขาเกือบทั้งหมด จะถึงชายแดนวาวซึ่งอาจจะล่าช้าบ้าง โดยคาดว่าอีก 4-5 ปี หรือประมาณปี 62 -63 จะแล้วเสร็จ ส่วนเส้นทางในลาว เหลือการเจรจาขั้นตอนสุดท้ายก่อนลงนามสัญญา คาดใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี (59-62) ส่วนไทย จะเริ่มก่อสร้างในต.ค. 58 แล้วเสร็จใน 3 ปี หรือในปลายปี 61
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42702
Location: NECTEC

PostPosted: 11/05/2015 8:52 pm    Post subject: Reply with quote

Mongwin wrote:
คค.ชงครม.เซ็นร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่นพ.ค. ส่วนรถไฟไทย-จีน เริ่มก่อสร้าง 2 ตอน ในต.ค.นี้
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 พฤษภาคม 2558 18:19 น.


เวอร์ชันเดลินิวส์:
จ่อสร้างรถไฟเร็วสูง 3 เส้นทาง
เดลินิวส์
วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม 2558 เวลา 16:07 น.

"ประจิน"แจงรถไฟเร็วสูง 3 เส้นทาง จ่อตอกเสาเข็ม ไทย-ญี่ปุ่นลงนาม 2 เส้น พ.ค.นี้ เริ่มสร้างต้นปี

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยหลังนายฮิโระโตะ อิซุมิ ที่ปรึกษาพิเศษของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นว่า ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงจะมีการลงนามบันทึกความร่วมมือระบบราง 2 ฉบับ วันที่ 26-27 พ.ค.58 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยการลงนามฉบับแรก เป็นข้อตกลงในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น 2 เส้นทาง คือ กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง และกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ 574 กม. และ 2.กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 715 กม. ซึ่งเริ่มก่อสร้างได้ช่วงเดือนม.ค.ปีหน้า ขณะที่เส้นทาง ตาก-พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-ขอนแก่น-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร ระยะทาง 718 กม. จะเป็นแค่การศึกษาร่วมกันเท่านั้น ส่วนการลงนามฉบับที่ 2 จะเป็นความร่วมมือการพัฒนาระบบขนส่งทางรางร่วมกัน ในการวางโครงข่ายเส้นทางระบบรางภาคตะวันออกที่มีรถไฟหลายระบบ การพัฒนาการขนส่งสินค้า ตลอดจนแนวทางการพัฒนาบุคลากร

สำหรับจากการหารือร่วมกันรถไฟไทย-จีน ประเทศจีน มั่นใจว่าทั้ง 4 ช่วงจะก่อสร้างได้เสร็จในปี 61 และเชื่อมต่อเส้นทางกับรถไฟความเร็วสูงเส้นทาง คุณหมิง-เวียงจันทน์ ได้ในปี 62 แม้ขณะนี้จะเส้นทางบางช่วงที่ล่าช้าอยู่บ้าง โดยมีรายละเอียดดังนี้ ช่วงแรกเส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย จะสำรวจพื้นที่เสร็จ และก่อสร้างได้ตามกำหนดเดือน ต.ค.58 ส่วนช่วงแก่งคอย-มาบตาพุด อาจล่าช้ากว่าแผนเพราะรอการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมอยู่ ขณะที่ช่วงแก่งคอย-นครราชสีมา สำรวจได้เร็วกว่าแผน เสร็จเดือน ต.ค.58 ส่วนช่วงนครราชสีมา-หนองคาย สำรวจเสร็จเดือน ก.พ.59 ช้ากว่าแผนเล็กน้อย

รูปแบบการลงทุนและแหล่งเงินจากจีน ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยกระทรวงการคลังจะไปหารือร่วมกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของประเทศจีน ให้ได้ข้อสรุปในเดือนส.ค.นี้ โดยมีการลงทุนให้เลือก 3 แนวทาง คือ การแยกบริษัทเป็น 2 บริษัทเพื่อเดินรถ และซ่อมบำรุง หรือ ตั้งบริษัทเดียวแต่ทำหน้าที่ทั้งเดินรถและซ่อมบำรุง และการตั้งบริษัทร่วมทุนไทย-จีน เพื่อดูแลบริษัทย่อยอีกที และหลังจากนี้ทั้ง2 ฝ่ายจะนัดหารือร่วมกันในวันที่ 30 มิ.ย.-1 ก.ค.58 จ.นครราชสีมา

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม กล่าวว่า การก่อสร้างรถไฟทางคู่ไทย-ญี่ปุ่นทั้ง 2 เส้นทาง คาดว่าญี่ปุ่นจะส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ และกำหนดรูปแบบกับเส้นทางการก่อสร้างช่วงเดือนมิ.ย.58 โดยใช้เวลา 6 เดือน เพื่อให้เริ่มก่อสร้างได้เดือนม.ค.59 ขณะเดียวกันจะมีการหารือเรื่องรูปแบบการลงทุนและแหล่งเงินทุนควบคู่กันไปด้วย โดยทางญี่ปุ่นมีความพร้อมมาก เพราะมีแหล่งเงินกู้หลายแห่ง ทั้งองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(ไจก้า) ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น(เจบิค) และ การจัดทำความร่วมมือทวิภาคี

“เส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ มีการศึกษามาตั้งแต่ปี 55 ซึ่งนำผลศึกษาเดิมทบทวนใหม่ ขณะที่เส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง และกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ ทำเพื่อเสริมศักยภาพเขตเศรษฐกิจพิเศษจากทวาย-แหลมฉบัง โดยรูปแบบการลงทุนมีแนวทางเปิดให้ญี่ปุ่นเข้ามาร่วมลงทุน ด้านการก่อสร้างพื้นฐานและการเดินรถ ตลอดจนแหล่งเงินทุนอย่างเต็มที่”

//---------------

"ประยุทธ์" ลงนาม 3 ประเทศพัฒนาทวาย ก.ค.นี้
ข่าวค่ำ ตรงประเด็น
Now TV 26
วันที่ 11 พฤษภาคม 2558

วันนี้ (11 พ.ค.) นายฮิโระโตะ อิซุมิ ที่ปรึกษาพิเศษด้านเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เพื่อยืนยันการลงทุนรถไฟในไทย และการร่วมลงทุนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ประเทศเมียนมา
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ที่ปรึกษาพิเศษนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยืนยันที่จะเข้าร่วมในโครงการทวาย ซึ่งถือว่าเป็นความร่วมมือของทั้ง 3 ประเทศ ระหว่างไทย ญี่ปุ่น และเมียนมาร์ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปลงนามเซ็นสัญญาความร่วมมือในการพัฒนาโครงการทวายที่ญี่ปุ่นในเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งทางการญี่ปุ่นพร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ไทยและเมียนมาได้ตกลงก่อนหน้า ในเรื่องของถนนที่เชื่อมระหว่างไทยกับเมียนมาร์ และแผนเงินกู้ระยะยาวที่ไทยให้ความช่วยเหลือกับเมียนมาร์

นอกจากนี้ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ยืนยันพัฒนาระบบรางร่วม 2 เส้นทาง คือ รถไฟสายพุน้ำร้อน-กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง เป็นทางคู่ 1 เมตร เน้นขนส่งสินค้า และกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เป็นไฮสปีดเทรน รางมาตรฐาน 1.435 เมตร เน้นขนส่งผู้โดยสาร

ทั้งนี้รถไฟเส้นทางพุน้ำร้อน-แหลงฉบัง จะเป็นเส้นทางเชื่อม 2 ท่าเรือ คือ ท่าเรือทวายและท่าเรือแหลมฉบัง เป็นเส้นทางที่มีความคุ้มค่า โดย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะเสนอร่างบันทึกความร่วมมือให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในวันที่ 19 พ.ค.นี้ และจะไปญี่ปุ่นเพื่อลงนามกับกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น ในวันที่ 26-27 พ.ค.นี้

หลังการลงนาม เจ้าหน้าที่ของญี่ปุ่น จะลงพื้นที่สำรวจความพร้อมของเส้นทางสร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และเริ่มก่อสร้างในต้นปี 2559

นายกฯ“ญี่ปุ่น”ส่งที่ปรึกษายืนยันลงทุนรถไฟในไทย
“ประจิน”คาดรถไฟไทย-จีนเริ่มก่อสร้างล่าช้า
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ผลการประชุมคณะทำงานรถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 6-8 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้สรุปความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่รางมาตรฐาน 1.435 เมตร เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย จะสร้างได้ตามแผน 2 ระยะ คือ ช่วงกรุงเทพฯ-แก่งคอย และแก่งคอย-โคราช จะเริ่มสร้างเดือน ต.ค.ปีนี้ และเสร็จปี 2561
ส่วนช่วงแก่งคอย-มาบตาพุด และโคราช-หนองคาย อาจจะมีการก่อสร้างล่าช้า เนื่องจากข้อจำกัดในการสำรวจ และการออกแบบ เพราะมีบางช่วงต้องสร้างทำสะพานข้ามแม่น้ำ
ทั้งนี้ เส้นทางทั้งหมดจะรองรับการเดินทางเชื่อมต่อไปลาวและคุนหมิงที่จะแล้วเสร็จในปลายปี 2562 หรือ ต้นปี 2563
นอกจากนี้ ไทย-จีน จะประชุมติดตามความคืบหน้าครั้งต่อไปวันที่ 30 มิ.ย.-1 ก.ค.นี้

//---------------------
ไทย-ญี่ปุ่น เดินหน้าโครงการทวาย-รถไฟฟ้า
by Preeyarat Boonmee
Voice TV
11 พฤษภาคม 2558 เวลา 17:03 น.


รองนายกรัฐมนตรีดูแลด้านเศรษฐกิจ เตรียมลงนามในสัญญาความร่วมมือกับญี่ปุ่น เดินหน้าโครงการทวายเดือนกรกฏาคมนี้ ด้านกระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอ ครม.พิจารณาโครงการรถไฟฟ้าไทย-ญี่ปุ่น 3 เส้นทางในสัปดาห์หน้า คาดก่อสร้างได้ในปีหน้า

หม่อมราชวงศ์ ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้หารือร่วมกับนายฮิโระ โตะ อิซุมิ ที่ปรึกษาพิเศษนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โดยทางการญี่ปุ่น ยืนยันที่จะเข้าร่วมในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งถือว่าเป็นความร่วมมือของทั้ง 3 ประเทศ ระหว่างไทย ญี่ปุ่น และเมียนมา

ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปลงนาม สัญญาความร่วมมือ ในการพัฒนาโครงการทวาย ที่ญี่ปุ่นในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยทางการญี่ปุ่นพร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ไทยและเมียนมาได้ตกลงก่อนหน้านี้ ทั้งถนนเชื่อมต่อ ไทยกับเมียนมา และแผนเงินกู้ระยะยาวที่ไทยให้ความช่วยเหลือกับเมียนมา

พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รัฐบาลจะลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือ เอ็มโอซี กับรัฐบาลญี่ปุ่น ในโครงการรถไฟฟ้าไทย-ญี่ปุ่น วันที่ 26-27 พฤษภาคมนี้ ที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนารถไฟความเร็วสูง 3 เส้นทางหลัก หลังผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 19 พฤษภาคม นี้

โดยเส้นทางที่จะเริ่มได้คือเส้นทาง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 672 กิโลเมตร ความเร็ว 250 กิโลเมตรชั่วโมง โดยหลังจากเอ็มโอซีแล้ว จะมีทีมลงพื้นที่สำรวจและออกแบบ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ก่อนจะลงมือก่อสร้างในต้นปีหน้า (59)

ส่วนความคืบหน้าโครงการความร่วมมือการพัฒนารถไฟไทย-จีน แบ่งเป็นช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย ยังดำเนินการได้ตามแผน ช่วงที่ 2 แก่งคอย-มาบตาพุด อยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา คาดว่าจะสำรวจแล้วเสร็จภายในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม เร็วกว่ากำหนดเดิมในเดือนธันวาคม และช่วงที่ 4 นครราชสีมา-หนองคาย เลื่อนการสำรวจออกไปเป็นต้นปีหน้า คาดว่าการก่อสร้างในทุกเส้นทางจะแล้วเสร็จไม่เกินปี 2563

สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้ของการรถไฟแห่งประเทศไทย จะแยกการกำกับดูแลโดยให้การรถไฟฯ รับผิดชอบดูแลการซ่อมบำรุง ส่วนกรมการขนส่งทางราง รับผิดชอบดูแลการโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนการโอนสิทธิที่ดินให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแล จะเริ่มโครงการนำร่องที่มักกะสัน พื้นที่ 497 ไร่ ซึ่งจะมีพิพิธภัณฑ์การรถไฟฯ และกรมการขนส่งทางราง 30 ไร่ พื้นที่เลนจักรยาน และสวนสาธารณะ 150 ไร่ และพื้นที่พาณิชย์ 140 ไร่ ส่วนพื้นที่ที่เหลือจะมีการพิจารณาหลังเดือนมิถุนายนนี้
https://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=HK6DI-ADMm0

//-------------------------------


ญี่ปุ่นจองเชียงใหม่จีนได้แค่หนองคาย
หน้าธุรกิจ-ตลาด
โพสต์ทูเดย์
เมื่อ : 12 พ.ค. 2558, 07:20 น.
หมวดหมู่ : ธุรกิจ-ตลาด
ญี่ปุ่น ส่อซิวรถไฟ 2 สาย ได้กทม.-เชียงใหม่แน่ จีนลุยกรุงเทพฯ-หนองคาย

ญี่ปุ่นจองเชียงใหม่จีนได้แค่หนองคาย

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม กล่าวภายหลังนายฮิโระโตะ อิซุมิ ที่ปรึกษาพิเศษของนายก รัฐมนตรีญี่ปุ่นเข้าพบว่า จะลงนามบันทึกความร่วมมือระบบราง 2 ฉบับ ในวันที่ 26-27 พ.ค.นี้ ที่กรุงโตเกียว ฉบับแรกเป็นข้อตกลงสร้างรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง คือ เส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทราแหลมฉบัง และกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทราอรัญประเทศ 574 กม. และรถไฟสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 715 กม.

ขณะที่ฉบับที่ 2 จะร่วมศึกษารถไฟในเส้นทาง ตาก-พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-ขอนแก่น-ร้อยเอ็ดมุกดาหาร 718 กม.

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาล ญี่ปุ่นสนใจจะลงทุนรถไฟในเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นรถไฟความเร็วสูง ซึ่งใช้เงินลงทุนสูง จึงขอให้ญี่ปุ่นไปจัดทำแผนการลงทุนมาเสนอเพื่อดูว่าควรลงทุนหรือไม่

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า จีนจะลงทุนรถไฟกรุงเทพฯ-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด ช่วงที่สร้างทันทีคือ กรุงเทพฯ-แก่งคอย และช่วงแก่งคอย-มาบตาพุด ช่วงแก่งคอย-นครราชสีมา สร้างต้นปี 2559 ส่วนนครราชสีมา-หนองคาย เริ่มก่อสร้างในเดือน ก.พ. 2559


Last edited by Wisarut on 12/05/2015 9:23 pm; edited 1 time in total
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42702
Location: NECTEC

PostPosted: 12/05/2015 3:39 pm    Post subject: Reply with quote

′สามารถ ราชพลสิทธิ์′ชง3ข้อรัฐบาลต่อรองญี่ปุ่น พัฒนาไฮสปีดเทรน′กทม.-เชียงใหม่′
มติชน
วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 เวลา 12:34:02 น.

นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ วันที่้ 12 พฤษภาคมว่า

ไฮสปีดกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ญี่ปุ่นเอาจริง?

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2558 นายฮิโระโตะ อิซุมิ ที่ปรึกษาพิเศษด้านเศรษฐกิจของ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เข้าเยี่ยม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.



พร้อมกับได้แจ้งความคืบหน้าประเด็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่าง ไทย-ญี่ปุ่น ในเรื่องของรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ซึ่งญี่ปุ่นให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยจะนำประสบการณ์และเทคโนโลยีของญี่ปุ่นมาใช้ในการพัฒนา



ผมได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูงมาเป็นระยะๆ โดยผมไม่ได้คัดค้านการพัฒนารถไฟความเร็วสูง เพียงแต่บอกว่าเราควรก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางสำคัญต่างๆ ให้ครบก่อน เพราะเรามีเงินจำกัด ถ้าเราทุ่มเงินไปกับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงก็จะทำให้เราสูญเสียโอกาสที่จะก่อสร้างรถไฟทางคู่ซึ่งเป็นระบบขนส่งที่คนส่วนใหญ่ของประเทศสามารถใช้บริการได้



แต่อย่างไรก็ตาม หากญี่ปุ่นให้ความสำคัญในการพัฒนารถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ จริง ผมก็ดีใจและขอเสนอให้รัฐบาลเจรจาต่อรองกับญี่ปุ่นดังนี้



1. ญี่ปุ่นจะต้องร่วมลงทุนด้วย ไม่ใช่ให้เงินกู้แก่ไทยเท่านั้น โดยญี่ปุ่นจะต้องลงทุนในสัดส่วนที่เหมาะสมที่จะทำให้โครงการประสบผลสำเร็จได้



2. จำนวนเงินในสัดส่วนที่ไทยจะลงทุนนั้น ญี่ปุ่นจะต้องให้กู้โดยมีเงื่อนไขเงินกู้ที่ผ่อนปรน เช่น มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ ระยะเวลาปลอดหนี้และระยะเวลาชำระหนี้ยาว เป็นต้น



3. ญี่ปุ่นจะต้องร่วมรับผิดชอบการบริหารจัดการเดินรถไฟความเร็วสูงด้วย นั่นหมายความว่าในกรณีที่รถไฟความเร็วสูงขาดทุน ญี่ปุ่นจะต้องแบกรับภาระการขาดทุนด้วย



หากทำได้เช่นนี้จะทำให้ญี่ปุ่นพยายามใช้ประสบการณ์จากความสำเร็จในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่นหรือชินคันเซ็นมาใช้กับการพัฒนารถไฟความเร็วสูงของไทย อาทิเช่น การพัฒนาเมืองใหม่ และการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟ ซึ่งจะส่งผลให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น มีการซื้อขายมากขึ้น และมีจำนวนผู้โดยสารรถไฟความเร็วสูงเพิ่มมากขึ้นด้วย รวมทั้งจะมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นอีกด้วย



ถ้าเป็นไปได้เช่นนี้ ประชาชนในจังหวัดที่มีรถไฟความเร็วสูงเส้นทางนี้วิ่งผ่านไม่ว่าจะเป็นอยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ แพร่ ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ รวมทั้งประชาชนในจังหวัดใกล้เคียงเตรียมเฮได้เลย
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42702
Location: NECTEC

PostPosted: 12/05/2015 4:15 pm    Post subject: Reply with quote

332กม.เชื่อมรถไฟแหลมฉบัง-ทวาย พาไทยศูนย์กลางเศรษฐกิจ
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่ 09 พฤษภาคม 2558, 10:46

บทสรุปชัดเจนการรถไฟแห่งประเทศไทย จะส่งเรื่องถึงกระทรวงคมนาคม เพื่อให้รัฐบาลพิจาณา ความเป็นไปได้ที่จะเชื่อมทางรถไฟ ระหว่างท่าเรือน้ำลึกทวาย

ระยะเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่ต.ค. 2557 ถึงสิ้นเม.ย. ที่ผ่านมา คือการให้บทสรุปถึงความชัดเจนที่การรถไฟแห่งประเทศไทย จะส่งเรื่องต่อถึงกระทรวง คมนาคม เพื่อให้รัฐบาลพิจาณา ความเป็นไปได้ที่จะเชื่อมทางรถไฟ ระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง (ชลบุรี ) ในฝั่งไทย เข้ากับท่าเรือน้ำลึกทวาย ทางฝั่งพม่า ซึ่งการศึกษาเสร็จสิ้นลง และพบว่าโครงการนี้มีความเป็นได้ ทั้งนี้กระทรวงคมนาคม มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ไปดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่าง ท่าเรือแหลมฉบัง กับท่าเรือน้ำลึกทวาย เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา ที่จะช่วยยกระดับการขนส่งทางราง ที่สำคัญคือการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ไทย สู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมในภูมิภาค

ผลการศึกษา ที่ดำเนินการโดยบริษัทที่ปรึกษา ให้ข้อสรุปว่าการเชื่อมระบบขนส่งทางรางระหว่างประเทศเข้าด้วยกัน คือ การย่นระยะทางในการขนส่งสินค้าข้ามคาบสมุทร ซึ่งเดิมการขนส่งทางเรือจะต้องไปอ้อมที่ช่องแคบมะละกา แต่เมื่อมาใช้เส้นทางนี้ได้ เท่ากับว่าทำให้เกิดการลดต้นทุนและควบคุมระยะเวลาการขนส่ง เพราะเป็นการเส้นทางการขนส่งเป็นแนวตรง ที่สำคัญการเชื่อมต่อโครงการโลจิสติกส์ในแนวเศรษฐกิจด้านใต้ จากท่าเรือแหลมฉบัง-ท่าเรือน้ำลึกทวาย จะนำไปสู่ความแข็งแกร่งทางด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคร่วมกัน

สำหรับกรอบการศึกษา ต่อการจัดทำเส้นทางเริ่มตั้งแต่ ตัวท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ไปจนถึงท่าเรือน้ำลึกทวาย ผ่านทาง จ.กาญจนบุรี รวมระยะทาง 440 กิโลเมตร แบ่งเป็น ช่วงสถานีรถไฟบางซื่อถึงสถานีรถไฟแหลมฉบัง ระยะทาง 140 กิโลเมตร,จากสถานีรถไฟบางซื่อ ถึงสถานีรถไฟบ้านเก่า ระยะทาง160 กิโลเมตร ,จากสถานีรถไฟบ้านเก่าถึงสถานีรถไฟบ้านน้ำพุร้อน ระยะทาง 30 กิโลเมตร และจากสถานีรถไฟบ้านน้ำพุร้อนถึงสถานีรถไฟทวาย ระยะทาง 110 กิโลเมตร และบริษัทที่ปรึกษาโครงการได้วางเป็นเส้นทาง ที่สามารถทำทางรถไฟเชื่อมต่อกันรวม 5 เส้นทาง
ประกอบด้วย

1. เส้นทางที่ 1 สถานีแดนบ้านพุน้ำร้อน - สถานีชุมทางหนองปลาดุก - สถานีบางซื่อ - สถานีชุมทางฉะเชิงเทรา - ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะทาง 342 กิโลเมตร
ผ่านพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา และชลบุรี

ลักษณะเด่น คือเป็นเส้นทางที่เชื่อมระบบโครงข่ายเส้นทางรถไฟ จากฝั่งตะวันตกสู่ฝั่งตะวันออกโดยต้องตัดผ่านใจกลางกรุงเทพฯ ส่วนข้อจำกัดคือ มีการเวนคืนพื้นที่เพิ่มเติมจากแนวเส้นทางเดิม และมีมูลค่าทางการลงทุนที่สูง การก่อสร้างมีความยุ่งยากมาก

2. เส้นทางที่ 2 สถานีแดนบ้านพุน้ำร้อน - สถานีชุมทางหนองปลาดุก - สถานีหนองฟัก - สถานีองครักษ์ - สถานีชุมทางฉะเชิงเทรา - ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะทาง 401 กิโลเมตร
ผ่านพื้นที่ 9 จังหวัด คือ กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครนายก ฉะเชิงเทรา และชลบุรี

ลักษณะเด่น คือการเป็นเส้นทางที่เชื่อมระบบโครงข่ายเส้นทางรถไฟ จากฝั่งตะวันตกสู่ฝั่งตะวันออกโดยไม่ต้องตัดผ่านกรุงเทพฯ ถือเป็นการเปิดแนวเส้นทางใหม่ ส่วนการเวนคืน จะเกิดขึ้นในพื้นที่นครปฐม นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนครนายก

3. เส้นทางที่ 3 สถานีแดนบ้านพุน้ำร้อน - สถานีชุมทางหนองปลาดุก - สถานีหนองผักชี - สถานีมาบพระจันทร์ - สถานีชุมทางแก่งคอย - สถานีชุมทางฉะเชิงเทรา - ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะทาง 447 กิโลเมตร
ผ่านพื้นที่ 9 จังหวัด คือ กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครนายก ฉะเชิงเทรา และชลบุรี
ความโดดเด่นของเส้นทางนี้ คือ เชื่อมโครงข่ายเส้นทางรถไฟจากฝั่งตะวันตกสู่ฝั่งตะวันออกโดยไม่ต้องตัดผ่าน กรุงเทพฯ มีการเวนคืนพื้นที่ก่อสร้างแนวเส้นทางน้อย กว่าแนวเส้นทางที่ 2 แต่ปัจจัยด้านลบ คือมีระยะทางที่อ้อมมากที่สุด

4. เส้นทางที่ 4 สถานีแดนบ้านพุน้ำร้อน - สถานีชุมทางหนองปลาดุก - สถานีหนองฟัก - สถานีองครักษ์ - สถานีชุมทางฉะเชิงเทรา - ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะทาง 322 กิโลเมตร
ผ่านพื้นที่ 8 จังหวัด คือ กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี
จุดเด่นก็คือ เป็นแนวเส้นทางที่สั้นที่สุดสำหรับการเดินทางจากฝั่ง ตะวันตกสู่ท่าเรือแหลมฉบังโดยไม่ต้องตัดผ่าน กรุงเทพฯ และสามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายทางรถไฟ สายใต้ตามแนวเส้นทางสถานีปากท่อ-สถานีวงเวียนใหญ่ ได้

5. เส้นทางที่ 5 สถานีแดนบ้านพุน้ำร้อน - สถานีชุมทางหนองปลาดุก - สถานีนครชัยศรี - สถานีองครักษ์ - สถานีชุมทางฉะเชิงเทรา - ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะทาง 404 กิโลเมตร
ผ่านพื้นที่ 9 จังหวัด คือ กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครนายก ฉะเชิงเทรา และชลบุรี ถือเป็นแนวเส้นทางที่สั้นที่สุดสำหรับการเดินทางจากฝั่ง ตะวันตกสู่ฝั่งตะวันออก ไม่ผ่านกรุงเทพฯ ถือเป็นการเปิดแนวเส้นทางใหม่ จะมีการเวนคืนพื้นที่ในเขต นครปฐม นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนครนายก

นายกิตติชัย บุญจันทร์ วิศวกร บริษัททีมคอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์แมนเนจเม้นท์ จำกัด หนึ่งในคณะที่ศึกษาโครงการ เปิดเผยว่า ทางเลือกที่ศึกษามาทั้ง 5 เส้นทางพบว่า เส้นทางที่ 4 ระยะทาง 322 กิโลเมตร ผ่านพื้นที่ 8 จังหวัด ถือว่ามีความคุ้มค่าต่อการลงทุนมากที่สุด เพราะหากประเมินผลการศึกษาถึงความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม สิ่งแวดล้อม และแนวทางการลงทุนที่เหมาะสม เส้นทางที่ 4 มีน้ำหนักทางการลงทุนที่สอดคล้องมากที่สุด โดยมูลค่าการลงทุนในโครงการนี้ คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนในโครงการนี้ไม่ต่ำกว่า 90,000 ล้านบาท ขณะที่การลงทุนในเขตของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียร์มาร์ ด้วยการพัฒนาเส้นทางรถไฟไปจนถึงท่าเทียบเรือน้ำลึกทวาย คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 70,000 บาท

"การจัดทำทางรถไฟเชื่อมท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือน้ำลึกทวาย ไม่ต่างไปจากการพัฒนาให้เกิดสะพานเศรษฐกิจ โดยมีการเชื่อมต่อด้วยขนส่งทางรางไปยังปลายทางซึ่งมีท่าเรือน้ำลึกรองรับ โครงการนี้จะมีความสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อ ทั้ง 2 ฝ่าย เชื่อมระบบรางเข้าด้วยกัน หากฝ่ายไทยพัฒนาระบบราง แต่เพื่อนบ้าน ไม่ได้มีการพัฒนารองรับ ใช้การขนส่งในลักษณะทางรถไฟในเขตไทย ไปถึงชายแดนเมียนมาร์แล้วใช้การขนส่งทางถนน เพื่อไปยังท่าเรือน้ำลึกทวาย หากเป็นเช่นนั้น ก็ไม่ถือวาคุ้มค่าและเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบ เพราะหัวใจที่สำคัญคือการลดพึ่งการขนส่งทางถนน ใช้ระบบรางไปจนถึงท่าเรือ"นายกิตติชัย กล่าว

นายวิโรจน์ รมเยศ นายกสมาคมขนส่งภาคตะวันออก กล่าวว่า ความท้าทายของโครงการนี้ มีอยู่ 2 ส่วนด้วยกัน คือ งบประมาณที่จะนำมาใช้เพื่อการลงทุน ในส่วนของไทยนอกจากจะต้องจัดหางบประมาณเองแล้ว อาจจะต้องเข้าไปสนับสนุนประเทศเพื่อนบ้าน ในการประสานหาแหล่งทุนที่จะเข้ามา ดำเนินการด้วย ส่วนปัจจัยอีกด้านก็คือ ทั้งท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง และท่าเรือน้ำลึกทวาย ต่างก็เป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมอยู่แล้ว ดังนั้นจึงสร้างความมั่นใจ ถึงการใช้งานโครงการได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะมีแหล่งที่จะระบายสินค้าเพื่อส่งออกผ่านท่าเรือน้ำลึกของทั้ง 2 ฝ่าย ขณะเดียวกันจะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมา ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน ได้พัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ดังนั้นการเชื่อมทางรถไฟและท่าเรือน้ำลึกเข้าด้วยกัน ก็จะเป็นการผลักดันให้ไทย มีบทบาทมากยิ่งขึ้นในเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก อย่างเต็มรูปแบบ

"เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย กำลังจะเป็นพื้นที่แหล่งการลงทุนอุตสาหกรรม จะเห็นได้ว่าแม้ว่าที่ผ่านมาโครงการนี้จะล่าช้า แต่ล่าสุดจาการที่รัฐบาลญี่ปุ่นแสดงท่าทีที่พร้อมจะสนับสนุนโครงการทวาย ก็จะทำให้โครงการนี้กลับมามีบทบาทสำคัญในภูมิภาคเกิดการเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งในระดับอาเซียน ที่จะมีบทบาทในการเป็นประตูสู่การค้า ในอุตสาหกรรมพาณิชย์นาวี เป็นการเปิดทางเลือกในการขนส่งสินค้าให้กับอินเดีย จีน ตะวันออกกลาง ยุโรปและแอฟริกา"นายวิโรจน์ กล่าว
นายวันชัย โอสุคนธ์ทิพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า โครงการนี้หากเกิดขึ้นได้ จะพัฒนาให้กับภาคโลจิสติกส์ เพราะเป็นการเปิดประตู
การขนส่งสินค้าจากฝั่งตะวันตกในเขตเพื่อนบ้าน มาสู่ไทย ที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยไม่ต้องผ่านกรุงเทพฯ ทั้งยังเชื่อมต่อกับโครงข่ายรถไฟสายใต้ตามแนวเส้นทาง สถานีปากท่อ-สถานีวงเวียนใหญ่ได้ เท่าที่ติดตามในส่วนของนครปฐม การเวนคืนที่ดินค่อนข้างเบาบาง เนื่องจากแนวเส้นทางไม่ได้ตัดผ่านในบริเวณย่านชุมชนที่อยู่อาศัยหนาแน่น
"หากพัฒนาเส้นทางรถไฟโครงการนี้ให้เกิดขึ้นได้ แน่นอนว่าจะช่วยลดระยะทาง ควบคุมเวลาในการขนส่งสินค้าข้ามคาบสมุทรซึ่งจากเดิมการขนส่งจะต้องไปอ้อมที่ช่องแคบมะละกา ประเทศมาเลเซีย ก็เปลี่ยนมาใช้เส้นทางตรงได้เลย โครงการนี้จะนำไปสู่ความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนร่วมกัน ทั้งนี้ในอนาคตเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย จะเป็นพื้นที่แหล่งการลงทุนอุตสาหกรรมและเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งที่สำคัญแห่งใหม่ในระดับภูมิภาคอาเซียน ทำหน้าที่เป็นประตูการค้าทางทะเลแห่งใหม่ และประโยชน์ต่อการพัฒนาก็จะมาถึงกาญจนบุรีด้วยในฐานะที่เป็นเส้นทางผ่าน"นายวันชัย กล่าว
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44497
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 13/05/2015 3:38 pm    Post subject: Reply with quote

"รถไฟไทย-ญี่ปุ่น" เชื่อมการค้าทวายสู่ยุโรป คมนาคมถกเขมรปลดล็อกแลนด์ลิงก์บูมเขต ศก.พิเศษสระแก้ว
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 12 พ.ค. 2558 เวลา 23:59:18 น.

คมนาคมเร่งเครื่องโครงข่ายถนน-รถไฟ จุดพลุเขตเศรษฐกิจสระแก้ว แจ้งเกิดรถไฟไทย-ญี่ปุ่น "บ้านพุน้ำร้อน-กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ-แหลมฉบัง" เชื่อมการค้า ลงทุน ท่องเที่ยว3 ประเทศเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ "ไทย-เขมร-เวียดนาม" ข้ามทวีปทะลุอเมริกา-ยุโรป

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภายในเดือนพฤษภาคมนี้คาดว่าจะลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อร่วมกันศึกษาพัฒนาระบบราง 2 เส้นทาง หลังจากผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ประกอบด้วย 1.กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 672 กิโลเมตร ก่อสร้างเป็นรถไฟความเร็วสูงความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง 2.เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกตอนล่าง มี 3 ช่วง คือ กรุงเทพฯ-กาญจนบุรี, กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง และกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ ระยะทางรวม 574 กิโลเมตร เป็นรถไฟทางคู่ราง 1 เมตร

ญี่ปุ่นสนลงทุนแนว ศก.ตอนใต้

"ญี่ปุ่นสนใจรถไฟสายชายแดนบ้านพุน้ำร้อน-ด่านชายแดนอรัญประเทศ กับท่าเรือแหลมฉบัง เพราะต้องการเข้าไปลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมทวาย อีกทั้งเส้นนี้จะเชื่อมโยงการค้า การลงทุน และท่องเที่ยวแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ จากทวายผ่านเส้นทางรถไฟไปยังท่าเรือแหลมฉบังและด่านชายแดนไทย-กัมพูชาที่อรัญประเทศ-ปอยเปต โครงข่ายจะไปทั้งทางรถไฟและถนน ทะลุไปยังท่าเรือพนมเปญ กับท่าเรือ Cat Lai ท่าเรือ Cai Mep ที่เมืองโฮจิมินห์ของเวียดนามได้"

Click on the image for full size

อย่างไรก็ตาม เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ระบบโครงสร้างพื้นฐานยังไม่สมบูรณ์มากนัก ระบบรางยังขาดการเชื่อมต่อทางรถไฟอยู่เป็นช่วง ๆ ได้แก่ บริเวณสะพานคลองลึกไปยังด่านปอยเปต ฝั่งประเทศกัมพูชา ระยะทาง 6 กิโลเมตร อยู่ในความรับผิดชอบกัมพูชา ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับญี่ปุ่นสนใจลงทุนให้หรือไม่ เพื่อมาเชื่อมกับรถไฟไทย-ญี่ปุ่นที่จะพัฒนาร่วมกันในอนาคต

เชื่อมการค้า 3 เมืองใหญ่

ผอ.สนข.กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังขาดช่วงจากพนมเปญ-โฮจิมินห์อีก 257 กิโลเมตร ก่อนหน้านี้ในปี 2551 จีนได้ศึกษาโครงการให้ ตามแผนใช้เงินก่อสร้างประมาณ 33,000 ล้านบาท หากดำเนินการแล้วเสร็จจะทำให้เส้นทางรถไฟสายคุนหมิง-สิงคโปร์ครบสมบูรณ์ เชื่อมการเดินทางและการค้ากลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ได้แก่ เมียนมาร์ ไทย ลาว จีน กัมพูชา และเวียดนาม

"การที่ญี่ปุ่นสนใจลงทุน เพราะหากสำเร็จจะเชื่อมเศรษฐกิจเมืองใหญ่ 3 เมือง 3 ประเทศ คือ กรุงเทพฯ พนมเปญ และโฮจิมินห์ ประกอบกับท่าเรือ Cai Mep ในจังหวัดหวุงเต่าของเวียดนาม เป็นท่าเรือน้ำลึกรองรับเรือ 1 หมื่นตู้คอนเทนเนอร์ เป็นเรือแม่ที่สามารถขนส่งออกไปยังประเทศที่ 3 เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง อเมริกา และยุโรป ขณะที่ไทยสามารถขนส่งสินค้าจากภาคอีสานมาใช้ท่าเรือนี้ได้เช่นกัน นอกเหนือจากใช้ท่าเรือแหลมฉบัง ช่วยลดเวลาการเดินทาง ลดต้นทุนโลจิสติกส์เพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างประเทศในอาเซียนด้วยกันได้"

รถไฟถนนลิงก์ไทย-เขมร

สำหรับฝั่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างปรับปรุงรางรถไฟช่วงคลอง 19-แก่งคอย-อรัญประเทศ-สุดสะพานคลองลึก 170 กิโลเมตร ให้เป็นราง 100 ปอนด์ วงเงิน 2,808 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จเดือนกุมภาพันธ์ 2559

ด้านโครงข่ายถนนทางฝั่งประเทศไทยค่อนข้างสมบูรณ์ แต่จะต้องก่อสร้างใหม่หรือขยายถนนเดิมเพิ่มเติม 3 เส้นทาง วงเงิน 1,500 ล้านบาท เชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจป่าไร่ ได้แก่ 1.ปรับปรุงถนนเดิมสาย 3397 วงเงิน 45 ล้านบาท 2.ตัดถนนใหม่เชื่อมชายแดนไทย-กัมพูชา 15 กิโลเมตร 1,000 ล้านบาท เพื่อเชื่อมด่านป่าไร่กับถนนเลี่ยงเมือง และ 3.ขยายถนนเลียบชายแดนหรือถนนศรีเพ็ญเป็น 4 ช่องจราจร วงเงิน 500 ล้านบาท เตรียมเสนอคณะอนุกรรมการโครงสร้างพื้นฐาน 18 พฤษภาคมนี้ เพื่อเดินหน้าโครงการให้ทันปี 2558-2559

"บริเวณป่าไร่จะก่อสร้างเป็นด่านถาวรสำหรับขนส่งสินค้า เชื่อมกับเขตเศรษฐกิจโอเนียง-ปอยเปต กัมพูชา ส่วนด่านคลองลึกรองรับเฉพาะนักท่องเที่ยว" ผอ.สนข.กล่าวและว่า ทั้งนี้ ในประเทศกัมพูชาอยู่ระหว่างก่อสร้างปรับปรุงให้เป็นถนน 2-4 ช่องจราจร กำหนดแล้วเสร็จปลายปี 2559-2560 ช่วงจากด่านคลองลึกไปศรีโสภณ-เสียมเรียบ เป็นถนน 2 ช่องจราจรสภาพค่อนข้างดีกับโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างช่วงกัมปงธม-กัมปงจาม 60 กิโลเมตร ส่วนจากกัมปงจาม-พนมเปญ เป็นถนน 4 ช่องจราจรและอยู่ในภาพที่ดี

เร่งเดินรถระหว่างประเทศ

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การเตรียมพร้อมของประเทศไทยเชื่อมกัมพูชาและเวียดนามคือ พัฒนาเขตเศรษฐกิจ จ.สระแก้ว มีโครงข่ายถนนมารองรับลดความแออัด จุดพักรถขนส่งสินค้าข้ามแดน เนื่องจากกัมพูชายังเน้นขนส่งทางถนนเป็นหลัก และเร่งเชื่อมรถไฟไทย-กัมพูชาที่ยังขาด 6 กิโลเมตรโดยเร็วเพื่อไม่ให้เสียโอกาส ซึ่งรถไฟสายนี้หยุดการให้บริการมา 40 ปีที่แล้ว หากเชื่อมโยงกันสำเร็จจะทำให้ผู้ประกอบการหันมาใช้การขนส่งทางรางมากขึ้น

สำหรับประเทศเวียดนามมีพื้นที่ชายฝั่งทะเลกว่า 4 หมื่นกิโลเมตรและลึกตลอดแนว จะเน้นสร้างท่าเรือและพัฒนาเขตเศรษฐกิจมารองรับ ปัจจุบันมีสัดส่วนขนส่งทางน้ำ 85% ทางรถ 15% ขณะที่ทางรถไฟยังไม่เน้นมาก โดยมีเส้นทางรถไฟแนวเหนือ-ใต้กว่า 3 พันกิโลเมตรเพื่อการโดยสารเป็นหลัก

"การเชื่อมโยงระหว่างกัน เส้นทางถนนของไทยค่อนข้างดี แต่ถ้าเข้าแต่ละประเทศทางถนนจะยากและใช้เวลา ในกัมพูชาเส้นทางกำลังปรับปรุงทำให้วิ่งเร็วไม่ได้ ส่วนเวียดนามถนนดีมีมอเตอร์เวย์เชื่อมกับท่าเรือ แต่เข้มงวดวินัยการจราจร และจำกัดความเร็ว 70 กิโลเมตร/ชั่วโมงต่อไปจะต้องมาคุยกันถึงข้อตกลงการเดินรถระหว่างประเทศด้วยเพราะใกล้จะเปิดเออีซีแล้ว จำเป็นต้องมีกฎระเบียบเพื่อให้เชื่อมกันได้มากขึ้น" ปลัดคมนาคมกล่าว
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42702
Location: NECTEC

PostPosted: 13/05/2015 9:47 pm    Post subject: Reply with quote

Mongwin wrote:
"รถไฟไทย-ญี่ปุ่น" เชื่อมการค้าทวายสู่ยุโรป คมนาคมถกเขมรปลดล็อกแลนด์ลิงก์บูมเขต ศก.พิเศษสระแก้ว
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 12 พ.ค. 2558 เวลา 23:59:18 น.



ดูข่าวเดียวกันที่ช่องไทยรัฐทีวี ครับ
https://www.youtube.com/watch?v=vviq3HEQJCQ


จะลงนามกะญี่ปุ่น ปลายเดือนพฤษภาคมศกนี้
https://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=rLkL2Ix9lV8


Last edited by Wisarut on 14/05/2015 10:05 pm; edited 1 time in total
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42702
Location: NECTEC

PostPosted: 14/05/2015 9:43 pm    Post subject: Reply with quote

นับถอยหลัง 4 เดือน รถไฟไทย-จีน "บิ๊กจิน" เร่งปิดจุดเสี่ยงโครงการ
ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 14 พฤษภาคม 2558

คืบหน้าทีละนิด สำหรับมินิไฮสปีดเทรนหรือ "รถไฟไทย-จีน" เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-มาบตาพุด และแก่งคอย-กรุงเทพฯ รวม 873 กิโลเมตร

จีนยังไม่เซ็น MOC

ล่าสุด ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-จีน ครั้งที่ 4 ณ เมืองคุนหมิง ประเทศจีน เมื่อ 6-8 พฤษภาคมที่ผ่านมา ยังคงไม่มีข้อสรุปเรื่องต่าง ๆ ที่ี่จะนำไปสู่การลงนาม MOC-บันทึกความร่วมมือ อย่างที่ "บิ๊กจิน-พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง" เจ้ากระทรวงคมนาคมตั้งความหวังแต่อย่างน้อยก็ได้สรุปแผนงานการฝึกอบรมบุคลากร รองรับโครงการ 3 หลักสูตรติดมือกลับมา ระยะสั้นจะเริ่มเดือนสิงหาคมนี้ ระยะกลางตุลาคม 2558 และระยะยาวเริ่มกลางปี 2559

มิ.ย.ประชุมครั้งที่ 5

ดังนั้น จะต้องประชุมหารือต่อครั้งที่ 5 ที่ จ.นครราชสีมา ในต้นเดือนมิถุนายนนี้ และยังต้องติดตามเมื่อบางอย่าง "จีน" มีความเห็นต่างจากไทยเช่น ถ้าโครงการไม่สามารถเดินหน้าต่อ ให้ต่างฝ่ายรับผิดชอบค่าใช้จ่ายโดยไม่เรียกร้องใดๆ ซึ่งจีนไม่เห็นด้วย

อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างจะต้องจบเดือนสิงหาคมนี้ ให้ทันตอกเสาเข็มตุลาคม ตามที่ "บิ๊กจิน" เดดไลน์ไว้

ดอกเบี้ยยังไม่สรุป

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากการประชุมยังต้องรอผลศึกษาความเป็นไปได้ และงานออกแบบรายละเอียด ที่จะเสร็จเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อทราบว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งหมดเท่าไหร่ จึงระบุได้ว่าจะใช้สัดส่วนระหว่างเงินกู้จีน เงินกู้ในประเทศ และเงินงบประมาณอย่างละเท่าไหร่ รวมถึงข้อสรุปอัตราดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงขอให้จีนจัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยไม่เกิน 2% 25-30 ปี ปลอดหนี้ 6-7 ปี แต่ที่สำคัญคือกฎหมายเงินกู้ 2 ประเทศไม่สอดคล้องกัน

เร่งจีนสำรวจออกแบบให้จบ

"ฝ่ายไทยเร่งให้จีนศึกษาและออกแบบรายละเอียดให้เสร็จโดยเร็วทั้งเส้นทางและจุดที่ตั้งสถานีเพื่อออกพ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน โดยยังคงกำหนดเริ่มก่อสร้างเดือนตุลาคมนี้"

แหล่งข่าวกล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกัน จะปรับแนวเส้นทาง จากเดิมจะก่อสร้างช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 133 กิโลเมตร และช่วงที่ 2 แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 246.5 กิโลเมตรก่อนในเดือนตุลาคมนี้ และช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 138.5 กิโลเมตร และช่วงที่ 4 นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กิโลเมตร ก่อสร้างเดือนธันวาคม 2558 หรือต้นปี 2559

ปรับแนวเฟสแรก กทม.-โคร"ชŽ

โดยจะปรับช่วงแรก ก่อสร้างจากกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา รวม 271.5 กิโลเมตรก่อนเป็นลำดับแรก เนื่องจากก่อสร้างง่าย และมีผลศึกษารถไฟความเร็วสูงสายอีสานเฟสแรกจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา สามารถปรับปรุงรายละเอียดใช้ร่วมกันได้

แต่จีนจะต้องดูเรื่องความเร็วรถ จะออกแบบให้วิ่งได้ 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือออกแบบเผื่อไว้ถึง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รวมถึงประเภทสินค้าที่จะใช้ขนส่ง

เปิดโมเดลร่วมทุนเดินรถ

ส่วนบริษัทร่วมทุนที่จะเดินรถและซ่อมบำรุง จะใช้เงินลงทุน 1 ใน 3 ของมูลค่าโครงการ ก็เป็นสิ่งที่น่าติดตาม เมื่อ "รัฐบาลไทย" ต้องการให้จีนรับความเสี่ยงร่วมกัน

"หม่อมอุ๋ย-ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล" รองนายกฯด้านเศรษฐกิจ ตั้งข้อสังเกตในที่ประชุม "ครม.-คณะรัฐมนตรี" และให้แนวทาง 3 โมเดล ก่อนเปิดประชุมครั้งที่ 4

สุดท้าย "บิ๊กจิน" เคาะโมเดลที่ 3 โดย "ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย" ลงทุนค่างานโยธาและก่อสร้าง วงเงิน 2 ใน 3 ของมูลค่าโครงการ ส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งจีนร่วมทุนกับไทย จะลงทุนค่ารถ ระบบอาณัติสัญญาณ บริหารการเดินรถ และมีรายได้จากการเดินรถ

โดยทางนิติบุคคลที่เดินรถจะมีกำไร เนื่องจากลงทุนเพียง 1 ใน 3 ของมูลค่าโครงการ และแบ่งรายได้ให้ ร.ฟ.ท. จะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1.แบ่งจากรายรับค่าโดยสาร และรายรับบริหารจัดการทรัพย์สินไม่ต่ำกว่า 5% และ 2.แบ่งจากกำไรหลังหักค่าใช้จ่าย ควรแบ่งให้ไม่ต่ำกว่า 50% ซึ่งจะต้องกำหนดเวลาที่จะให้นิติบุคคลบริหารการเดินรถด้วย เช่น 20 ปี หลังจากนั้นโอนเป็นกรรมสิทธิ์ของ ร.ฟ.ท. และบริหารเดินรถ จัดเก็บรายได้ เพื่อชดเชยการลงทุนในงานโยธาและรางต่อไป

ทั้งนี้จากโมเดลของ "หม่อมอุ๋ย" ตรงกับแนวคิด "บิ๊กจิน" ที่ให้ "ไทย-จีน" ร่วมกันเดินรถและซ่อมบำรุง

โดยจีนเป็นผู้รับผิดชอบหลักช่วง 3 ปีแรก ปีที่ 4-7 สองฝ่ายร่วมกันรับผิดชอบในสัดส่วนใกล้เคียงกัน หลังปีที่ 7 ฝ่ายไทยจะเป็นผู้รับผิดชอบการเดินรถเอง โดยมีจีนเป็นที่ปรึกษา

จีนขอชั่งใจ

การประชุมครั้งที่ 4 ที่ผ่านมา ฝ่ายไทยได้ทำรูปแบบการถือหุ้นเป็นตุ๊กตาเบื้องต้นให้ฝ่ายจีนพิจารณา ปีที่ 1-3 ไทยถือสัดส่วน 51% จีน 49% ปีที่ 4-7 ไทยถือ 70% จีน 30% และหลังปีที่ 7 ไทยถือ 100% มีจีนเป็นที่ปรึกษาโครงการ

"ฝ่ายจีนยังไม่เห็นด้วยขอพิจารณาก่อน แต่ไทยยืนยันตามเดิม" แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งหมดเป็นความก้าวหน้าที่ดูเหมือนจะคืบ แต่ยังไม่ฉลุย แต่ถ้า "บิ๊กจิน" ยอมขยับเดดไลน์เป็นปีหน้า น่าจะไปได้ฉลุยกว่านี้
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42702
Location: NECTEC

PostPosted: 17/05/2015 3:06 am    Post subject: Reply with quote

‘ประจิน’เล็งปั้นไทยศูนย์ซ่อม โครงการรถไฟไทย-จีน-ญี่ปุ่น
โดย กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ อสังหา REAL ESTATE -
คอลัมน์ : อสังหาฯ-คมนาคม
ออนไลน์เมื่อวันอังคารที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 เวลา 09:32 น.
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,052 วันที่ 14 - 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ไทยปั้นศูนย์กลางซ่อมบำรุง/เดินรถ เร่งหารือไทย-จีน-ญี่ปุ่น ทำฝันให้เป็นจริง "ประจิน-อาคม" เผยผลหารือร่วมญี่ปุ่นเคาะเส้นทางกทม.-เชียงใหม่สร้างไฮสปีดเทรนต้นปี 59 พร้อมเส้นกาญจนบุรี-สระแก้ว-อรัญประเทศและกทม.-แหลมฉบัง มิ.ย.นี้เซ็นเอ็มโอยูที่โตเกียว ด้านจีน ขอก่อสร้างตอน 1 และตอน 3 ต.ค.นี้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยความคืบหน้าผลการหารือความร่วมมือพัฒนาโครงการรถไฟไทย-จีนและไทย-ญี่ปุ่นว่า กรณีไทย-ญี่ปุ่น มีความสนใจจะก่อสร้างเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ในรูปแบบรถไฟความเร็วสูงหรือไฮสปีดเทรน ส่วนเส้นทางกาญจนบุรี-สระแก้ว-อรัญประเทศ และกรุงเทพฯ-แหลมฉบังก็พร้อมดำเนินการ ขณะที่เส้นทางแม่สอด-มุกดาหารที่ญี่ปุ่นพร้อมให้ความร่วมมือด้านการศึกษาออกแบบ
ทั้งนี้ไทย-ญี่ปุ่นได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบรางของทั้งไทย 3 เส้นทางคือ 1.กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 2.กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-สระแก้ว-อรัญประเทศ และบางที่มีความสำคัญในลำดับ 1 คือกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ที่มีผลการศึกษามาตั้งแต่ปี 2555 โดยช่วงครึ่งปีหลัง 2558 นี้ญี่ปุ่นจะส่งทีมเข้ามาร่วมสำรวจพื้นที่อย่ากรุงเทพฯ-แหลมฉบัง และ 3.แม่สอด-มุกดาหาร การหารือครั้งนี้ญี่ปุ่นยืนยันว่าเส้นทางเป็นทางการ ตามผลการศึกษาที่ไทยดำเนินการไว้แล้วเพื่อนำไปสู่การออกแบบก่อสร้างต่อไปในปี 2559 โดยสนใจที่จะพัฒนาไปสู่ระบบรถไฟความเร็วสูง เช่นเดียวกับเส้นที่ 2 ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ที่เชื่อมจากกาญจนบุรี-อรัญประเทศและแหลมฉบังกับท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายที่ไทยและญี่ปุ่นพร้อมเข้าไปให้ความช่วยเหลือเมียนมาร์ ส่วนเส้นทางแม่สอด-มุกดาหารนั้นญี่ปุ่นพร้อมสนับสนุนการศึกษาความเหมาะสมเนื่องจากยังไม่มีผลการศึกษามาก่อน
"กระทรวงคมนาคมจะเร่งยกร่างความร่วมมือ 2 เส้นทางให้แล้วเสร็จในปลายเดือนพฤษภาคมนี้ก่อนที่จะเซ็นเอ็มโอยูร่วมไทย-ญี่ปุ่นที่โตเกียวในเดือนมิถุนายน 2558 และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2559 โดยญี่ปุ่นจะส่งทีมสำรวจและทบทวนผลการศึกษาตามที่ไทยได้ดำเนินการศึกษาออกแบบอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะ 2 เส้นทางคือ 1.กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 2. เส้นทางตามแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ ที่เชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกทวาย"
ด้านพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงและเดินรถรองรับการพัฒนาระบบรางในภูมิภาคนี้ โดยความร่วมมือจากจีนและญี่ปุ่น สำหรับผลการหารือไทย-จีนเมื่อวันที่ 6-8 พฤษภาคม 2558 ที่คุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีนขอดำเนินการใน 2 ช่วงก่อนคือช่วงที่ 1 กทม.-แก่งคอย(จะสำรวจแล้วเสร็จในเดือนกันยายนนี้) และช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา(จะสำรวจแล้วเสร็จตุลาคมนี้) โดยขณะนี้ผลการสำรวจยังไม่ครบ 100% แต่ฝ่ายจีนเข้ามาปฏิบัติงานในไทยแล้ว 80 คนและจะเข้ามาเพิ่มอีก 82 คนในปลายเดือนนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2562
"ส่วนงบประมาณการดำเนินงานยังคงกำหนดไว้ประมาณเดือนสิงหาคมนี้ เมื่อการศึกษาออกแบบแล้วเสร็จแล้วจึงจะกำหนดแผนการใช้งบประมาณออกเป็นแต่ละส่วน โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการยื่นกู้ เบื้องต้นจีนเสนอ 2 รูปแบบ คือ
1.การเดินรถรูปแบบคอนแทร็กต์เอาต์(ตั้งบริษัทเดินรถร่วมกัน) และซ่อมบำรุง และ
2.แยกออกจากกันระหว่างการซ่อมบำรุงและการเดินรถ โดย 3 ปีแรกจีนจะเป็นฝ่ายเดินรถทั้งหมด และปีที่ 8 ฝ่ายไทยจะเดินรถเองทั้งหมด"
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42702
Location: NECTEC

PostPosted: 18/05/2015 3:22 pm    Post subject: Reply with quote

คค.เตรียมลงนามรถไฟไทย-ญี่ปุ่น 26-27พ.ค.นี้
ข่าวเศรษฐกิจ
INN News
วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2558 7:48น.

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เตรียมเดินทางลงนาม MOC รถไฟไทย-ญี่ปุ่น 26-27 พ.ค.นี้ พร้อมหาร่อรูปแบบการลงทุน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวถึงการพัฒนาโครงการความร่วมมือระบบรถไฟไทยร่วมกับประเทศญี่ปุ่นว่า แม้จะกำหนดวันเดินทางในการไปลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือ MOC เส้นทางรถไฟทั้ง 3 เส้นทางกับประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 26-27 พฤษภาคม 2558 นี้ ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ เส้นทางที่ 2 กาญจนบุรี-กรุงเทพ-อรัญประเทศ-แหลมฉบัง และเส้นทางแม่สอด-มุกดาหาร แต่ยังไม่ได้มีการพูดถึงรูปแบบในการลงทุน ซึ่งในอดีตที่ผ่านมารูปแบบการลงทุนจะเป็นในส่วนของภาครัฐบาลไทยดำเนินการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบราง และให้ภาคเอกชนมาบริหารจัดการเรื่องระบบการเดินรถ หรือระบบอาณัติสัญญาณ แต่ในเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ที่จะมีการออกแบบให้เป็นรถไฟความเร็วสูง เป็นเรื่องของระบบความปลอดภัยที่จะต้องมีความรัดกุม ดังนั้น จึงให้มีความรอบคอบตั้งแต่เริ่มกระบวนการออกแบบ

อย่างไรก็ตาม อยากเห็นการลงทุนรัฐบาลญี่ปุ่นกับไทยด้วยการร่วมการลงทุนและก่อสร้างตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ จึงเตรียมที่จะดำเนินการเจรจาเงื่อนไขนี้กับญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน เพื่อให้การก่อสร้างสามารถเริ่มได้ในปี 2559 ตามที่คาดไว้

//---------------------------------------

รมว.คค.เตรียมบินญี่ปุ่นเซ็น MOC สร้างเส้นทางรถไฟ 26-27 พ.ค.นี้


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
18 พฤษภาคม 2558 12:57 น.

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เดินทางไปลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือ MOC เส้นทางรถไฟทั้ง 3 เส้นทางกับประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 26-27 พฤษภาคมนี้ ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ เส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพ-อรัญประเทศ-แหลมฉบัง และเส้นทางแม่สอด-มุกดาหาร เตรียมหารือรูปแบบในการลงทุน เพื่อให้การก่อสร้างสามารถเริ่มได้ในปี 2559
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 40, 41, 42 ... 121, 122, 123  Next
Page 41 of 123

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©