Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai.Com

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311280
ทั่วไป:13262543
ทั้งหมด:13573823
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าวแผนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ 2558-65
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ข่าวแผนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ 2558-65
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 47, 48, 49 ... 121, 122, 123  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42702
Location: NECTEC

PostPosted: 29/07/2015 3:37 pm    Post subject: Reply with quote

รถไฟฟ้าชินคันเซนมาแล้ว
หมวดหมู่ : ธุรกิจ-ตลาด
โพสต์ทูเดย์
29 กรกฎาคม 2558 , 06:52 น.


รถไฟญี่ปุ่นมาแล้วส่งทีมสำรวจ ส.ค.นี้ เสนอร่วมทุนรถไฟชินคันเซนวิ่ง กทม.-เชียงใหม่
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคมเปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการความร่วมมือรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น เส้นทางกรุงเทพฯเชียงใหม่ ระยะทาง 672 กม. มีความคืบหน้าไปมาก โดยในเดือน ส.ค.นี้ ทางญี่ปุ่นจะต้องส่งทีมงานเข้ามาลงพื้นที่สำรวจแนวเส้นทางรถไฟร่วมกับฝ่ายไทย โดยในเดือน มิ.ย. 2559 จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบในการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลสองประเทศ จากนั้นอีก 6 เดือนจะเสนอ ครม.อีกครั้งเพื่อขออนุมัติดำเนินโครงการเพื่อเริ่มก่อสร้างในปี2560
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42702
Location: NECTEC

PostPosted: 30/07/2015 1:21 am    Post subject: Reply with quote

เร่งสรุปเส้นรถไฟไทย-จีนก่อนบินไปเจรจา
ไทยโพสต์
30 กรกฎาคม 2558 - 00:07
คมนาคมเร่งหารือข้อสรุปเส้นทางรถไฟไทย-จีน ก่อนบินไปเจรจาที่เฉิงตู หลังข้อมูลไม่ลงตัว เตรียมเสนอจีนใช้เส้นทางที่ สนข.สำรวจและออกแบบ เพื่อให้โครงการเดินหน้าตามกรอบเวลา

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการรถไฟไทย-จีน ได้มีการหารือเพื่อเตรียมข้อมูลก่อนเดินทางไปประชุมที่เฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 6-8 ส.ค.2558 ซึ่งขณะนี้ทางจีนได้ลงพื้นที่สำรวจออกแบบรายละเอียดได้เพียง 50% เท่านั้น โดยเฉพาะในเส้นทางช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย และช่วง 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ทำให้ข้อมูลที่ได้ยังไม่ครบ

ประกอบกับทางจีนได้สำรวจออกแบบไม่ตรงกับที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) สำรวจไว้ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะจุดใหม่ๆ เช่น เชียงรากน้อย แก่งคอย สระบุรี นครราชสีมา อุดรธานี และหนองคาย เป็นต้น ซึ่งจะต้องมีการหารือกัน เนื่องจากหากมีการเปลี่ยนแปลงแนวเส้นทางจะส่งผลกระทบต่อการเวนคืนที่ดินและส่งผลกระทบต่อการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต

“ฝ่ายไทยและฝ่ายจีนที่สำรวจออกแบบ จะต้องหารือให้ได้ข้อยุติก่อนจะไปประชุมร่วมกันที่เฉิงตู ประเทศจีน โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแนวเส้นทางรถไฟไทย-จีน โครงสร้างระบบราง สถานี หากฝ่ายจีนไม่ปรับแนวเส้นทาง อาจกระทบต่อโครงสร้างและแผนงานทั้งหมด ซึ่งฝ่ายไทยได้ส่งข้อมูลให้ฝ่ายจีนรับทราบอย่างต่อเนื่อง ฝ่ายจีนก็ยอมรับได้ และจะปรับแนวเส้นทางให้อยู่ในแนวเส้นทางที่ไทยได้ศึกษาไว้” พล.อ.อ.ประจินกล่าว

สำหรับรูปแบบการลงทุนนั้น ฝ่ายไทยจะยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมเพื่อให้มีการร่วมลงทุนในส่วนต่างๆ ให้มากที่สุด สำหรับกรอบการลงทุนยังไม่มีความชัดเจน จำเป็นจะต้องรอการสำรวจออกแบบให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะมีตัวเลขที่ชัดเจนว่าโครงการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-มาบตาพุด และเส้นทางแก่งคอยกรุงเทพฯ ระยะทาง 873 กิโลเมตร (กม.) ความเร็ว 180 กม./ชั่วโมง จะต้องใช้เงินลงทุนทั้งหมดเท่าไร.
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44517
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 03/08/2015 8:25 pm    Post subject: Reply with quote

Wisarut wrote:
เร่งสรุปเส้นรถไฟไทย-จีนก่อนบินไปเจรจา
ไทยโพสต์ 30 กรกฎาคม 2558 - 00:07

"บิ๊กจิน"เตรียมเยือนจีนเจรจาความร่วมมือด้านรถไฟ คาดเริ่มโครงการ ต.ค.นี้
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 3 สิงหาคม 2558 19:23 น.

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเตรียมการสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ก่อนเดินทางไปประชุมที่เมืองเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน วันที่ 6-8 สิงหาคมนี้ ว่า ขณะนี้โครงการมีความคืบหน้า โดยจีนได้ลงพื้นที่สำรวจออกแบบรายละเอียดแล้วร้อยละ 50 โดยเฉพาะในเส้นทางช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ - แก่งคอย และช่วง 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้ว ส่วนตอนที่ 2 และตอนที่ 4 จะหารือร่วมกันอีกครั้ง ซึ่งการหารือร่วมกับทางจีนครั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่าจะสรุปเรื่องเส้นทาง สถานี และความคืบหน้าการเจรจารูปแบบความร่วมมือการจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จ (EPC) รวมถึงอัตราดอกเบี้ย และเดือนสิงหาคมนี้ จะฝึกอบรมด้านบุคลากร รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 เดือนตุลาคมนี้

อย่างไรก็ตาม ช่วงวันที่ 29 สิงหาคมนี้ จีนจะเดินทางมาเพื่อหารือขอร่างสัญญารายละเอียดความร่วมมือระหว่างกันทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ซึ่งจะเริ่มโครงการช่วงตุลาคม –ธันวาคมนี้ หากสัญญาแล้วเสร็จ สามารถเริ่มได้ภายในวันที่ 23 ตุลาคมนี้ แต่หากเกิดความล่าช้า จะไม่ให้เกินต้นเดือนธันวาคมนี้ และจะเริ่มดำเนินโครงการ ตอนที่ 1 ที่เชียงรากน้อย และตอนที่ 3 จังหวัดนครราชสีมา
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42702
Location: NECTEC

PostPosted: 05/08/2015 12:48 am    Post subject: Reply with quote

“ประจิน” มั่นใจเทคโนโลยีจีนได้มาตรฐาน เตรียมข้อมูลถกแนวรถไฟไทย-จีน


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
3 สิงหาคม 2558 18:21 น. (แก้ไขล่าสุด 3 สิงหาคม 2558 18:33 น.)


“ประจิน” เตรียมพร้อมข้อมูลหารือรถไฟไทย-จีนครั้งที่ 6 ตั้งเป้าเริ่มโครงการตอนที่ 1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย และตอนที่ 3 แก่งคอย-โคราช เล็งวางศิลาฤกษ์ ต.ค.-ธ.ค. 58 เล็งปรับแนวเส้นทางที่จีนออกแบบให้ตรงกับ สนข.เพื่อไม่ให้กระทบการเวนคืนและการศึกษา EIA พร้อมมั่นใจรถไฟจีนเป็นเทคโนโลยีที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเตรียมการสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 6-8 ส.ค. 2558 ที่เมืองเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน ว่า ได้ติดตามความก้าวหน้าการสำรวจออกแบบ การกำหนดเส้นทางและกำหนดจำนวนสถานีซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก โดยจะดำเนินการตอนที่ 1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 133 กิโลเมตร และตอนที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 138.5 กิโลเมตรก่อน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2558 พร้อมกันนี้จะหารือถึงรูปแบบความร่วมมือและรูปแบบทางการเงินให้มีความชัดเจนด้วย

ทั้งนี้ ในการสำรวจออกแบบรายละเอียดนั้น ทางฝ่ายจีนได้ลงพื้นที่และมีความคืบหน้าประมาณ 50% ซึ่งยอมรับว่าข้อมูลยังไม่ครบถ้วน ซึ่งส่วนหนึ่งเนื่องจากที่จีนสำรวจออกแบบนั้นยังไม่ตรงกับที่ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้สำรวจไว้ก่อนหน้านี้ เช่น เชียงรากน้อย แก่งคอย สระบุรี นครราชสีมา อุดรธานี และหนองคาย เป็นต้น ซึ่งจะต้องมีการหารือกันอีก เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงแนวเส้นทางจะส่งผลกระทบในเรื่องการเวนคืนที่ดินและการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วย

“การหารือร่วมกับทางจีนในวันที่ 6-8 ส.ค.นี้จะสรุปเรื่องของเส้นทาง สถานี รวมจะได้ความคืบหน้าเรื่องของรูปแบบ EPC และเรื่องดอกเบี้ยอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ในช่วงวันที่ 29 ส.ค.นี้ทางจีนจะเดินทางมาหารือเรื่องร่างสัญญารายละเอียดความร่วมมือระหว่างกันทั้งสองฝ่าย หากสัญญาแล้วเสร็จก็จะสามารถเริ่มได้ภายในวันที่ 23 ต.ค.นี้ หากเกิดความล่าช้าในบางอย่างก็จะไม่ให้เกินเดือน ธ.ค. โดยตามแผนต้องมีการเปิดปฐมฤกษ์โครงการตอนที่ 1 ที่เชียงรากน้อย และตอนที่ 3 ปากช่องอย่างแน่นอน” พล.อ.อ.ประจินกล่าว

สำหรับกรณีข้อกังวลเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของรถไฟและเทคโนโลยีจีนนั้น พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า จะต้องตรวจสอบและพิจารณาในภาพรวม ไม่ได้มองแค่จุดใดจุดหนึ่ง โดยต้องดูว่าข้อข้องใจในเรื่องมาตรฐานนั้นเป็นประเด็นใด และทางจีนได้มีมาตรการแก้ไขหรือรองรับปัญหาอย่างไร ต้องให้ทางจีนได้พิสูจน์ก่อนเพื่อให้เกิดความมั่นใจ ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องได้ไปศึกษาดูงานระบบรถไฟจีนมากพอสมควรหลายครั้ง และได้ทดสอบการให้บริการรถไฟของจีนในความเร็วระดับต่างๆ แล้ว มีความมั่นใจในเทคโนโลยีของจีนและการให้บริการว่าได้มาตรฐานความปลอดภัย

//------------

เตรียมถกรถไฟไทย-จีนอีกรอบ
บ้านเมือง
วันอังคาร ที่ 04 สิงหาคม พ.ศ. 2558, 08.06 น.


พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน การประชุมเตรียมการสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ว่าในวันที่ 6-8 สิงหาคม 2558 จะเดินทางร่วมการประชุมโครงการดังกล่าวที่เมืองเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวมีการสรุปความคืบหน้าสำรวจและออกแบบเส้นทางโดยเฉพาะในเส้นทางตอนที่ 1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย และตอนที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ซึ่งได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้ว ส่วนตอนที่ 2 และตอนที่ 4 จะมีการหารือร่วมกันอีกในครั้งต่อไป ส่วนความคืบหน้าการฝึกอบรมก็ได้ข้อสรุปโดยมีการปรับเปลี่ยนล่าสุดในการปรับรายชื่อโดยจะสรุปว่า รุ่นที่ 1ในเดือนสิงหาคมนี้ โดยจะมีการอบรมหลักสูตรใดบ้าง มีจำนวนเท่าไหร่ และรุ่นที่ 2 เดือนตุลาคมนี้ ซึ่งจะมีการสรุปรายละเอียดทั้งหมดให้ทางจีนในครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ สำหรับการเจรจารูปแบบความร่วมมือการจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จ หรือ EPCนั้น ว่าในส่วนของไทยนั้นมีแนวความคิดอย่างไร และส่วนจีนมีแนวความคิดอย่างไร ซึ่งจะต้องมีการเจรจาก่อนเพิ่มเติม รวมถึงเงื่อนไขของดอกเบี้ยก็จะสรุปเรื่องของสัดส่วนอีกครั้ง

“ส่วนการจัดเตรียมแผนโรดแม็พ ว่าในส่วนของการทำ EIA การเวนคืนที่ดิน ในส่วนของการออกแบบเส้นทาง สถานีรถไฟ เรื่องของการเตรียมที่จะเชิญผู้ประกอบการเข้าร่วมนั้น ทั้งหมดจะกลับมาดำเนินการหลังวันที่ 8 สิงหาคมนี้ ซึ่งในการหารือร่วมกับทางจีนในวันที่ 6-8 สิงหาคมนี้ จะได้สรุปเรื่องของเส้นทาง สถานี รวมจะได้ความคืบหน้าเรื่องของ EPC และเรื่องดอกเบี้ยอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ในช่วงวันที่ 29 สิงหาคมนี้ ทางจีนจะเดินทางมาเพื่อหารือเรื่องขอร่างสัญญารายละเอียดความร่วมมือระหว่างกันทั้ง 2 ฝ่าย เนื่องจากเรามีแผนเริ่มโครงการในช่วงตุลาคม-ธันวาคม 2558 หากสัญญาแล้วเสร็จก็จะสามารถเริ่มได้ภายในวันที่ 23 ตุลาคมนี้ หากเกิดความล่าช้าในบางอย่างก็จะไม่ให้เกินธันวาคมนี้ จะต้องมีการเปิดปฐมฤกษ์โครงการตอนที่ 1 ที่เชียงรากน้อย และตอนที่ 3 ปากช่องอย่างแน่นอน ” พล.อ.อ.ประจิน กล่าว

ส่วนความคืบหน้าโครงการขณะนี้ทางจีนได้ลงพื้นที่สำรวจออกแบบรายละเอียดได้ 50% เท่านั้น ทำให้ข้อมูลที่ได้ยังไม่ครบประกอบกับทางจีนได้ สำรวจออกแบบไม่ตรงกับที่ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) สำรวจไว้ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะจุดใหม่ๆ เช่น เชียงรากน้อย แก่งคอย สระบุรี นครราชสีมา อุดรธานี และหนองคาย เป็นต้น ซึ่งจะต้องมีการหารือกัน เนื่องจากหากมีการเปลี่ยนแปลงแนวเส้นทางจะส่งผลกระทบต่อการเวนคืนที่ดิน และส่งผลกระทบต่อการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42702
Location: NECTEC

PostPosted: 11/08/2015 7:28 pm    Post subject: Reply with quote

ประจินโวก.ย.เคาะแผนรถไฟทางคู่ คลังจ้างทื่ปรึกษาพัฒนามักกะสัน
ไทยโพสต์
11 สิงหาคม 2558

"คมนาคม" คาดสำรวจเส้นทางรถไฟไทย-จีนแล้วเสร็จสิ้น ส.ค.นี้ ชี้ตัวเลขเงินกู้และแนวทางการร่วมลงทุนยังไม่ชัด มั่นใจประชุมครั้งหน้า 10-12 ก.ย.สรุปแน่ ด้านธนารักษ์จ้างเอกชนเร่งศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในพื้นที่รถไฟมักกะสัน

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟไทย-จีน หรือรถไฟทางคู่ขนาด 1.435 เมตร ความเร็วปานกลาง ว่า ภายในเดือน ส.ค.58 จะสรุปผลการสำรวจออกแบบในเส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย และช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ส่วนช่วงที่ 2 แก่งคอย-มาบตาพุด และช่วงที่ 4 นครราชสีมา-หนองคาย จะแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.นี้ ส่วนกรอบในด้านวงเงินลงทุน ตัวเลขเงินกู้และแนวทางร่วมทุนคาดว่าจะสรุปได้ในการประชุมครั้งหน้าระหว่างวันที่ 10-12 ก.ย.2558

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม กล่าวว่า รูปแบบการลงทุนโครงการรถไฟทางคู่ไทย-จีน ได้มีการเสนอรูปแบบร่วมทุน แบบเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจ หรือ SPV โดยจะมี 2ส่วน คือ การเดินรถและการติดตั้งระบบรวมทั้งการจัดหาขบวนรถ ในส่วนการร่างสัญญาการก่อสร้างไทยจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งยังมีปัญหาติดขัดด้านข้อกฎหมายที่ไม่ตรงกัน กรณีเกิดผิดสัญญาหรือเบี้ยวหนี้จะแก้ไขอย่างไร ซึ่งต้องพิจารณาให้ครอบคลุมทุกประเด็น

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า กรมได้ขอเงินกองทุนศึกษาความเป็นไปได้การร่วมทุนภาครัฐและเอกชน จากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อจ้างเอกชนมาศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการลงทุนในพื้นที่รถไฟมักกะสัน รวมถึงรูปแบบลงทุน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า และผลกระทบสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะใช้เวลาแล้ว 4 เดือนจึงแล้วเสร็จ

ขณะเดียวกัน กรมธนารักษ์ได้แจ้งกับทาง ร.ฟ.ท.ให้เร่งส่งมอบพื้นที่ให้กับกรมธนารักษ์ไว้ จากเดิมส่วนแรก 140 ไร่ จะโอนได้ภายใน 2 ปี ก็ให้โอนภายใน 1 ปีครึ่ง และส่วนที่สอง 170 ไร่ จากเดิมจะโอนภายใน 5 ปี ก็ให้โอนภายใน 2-3 ปี เพื่อจะได้นำที่มาให้เอกชนเช่าลงทุนได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างแก้ไขสัญญาที่เกี่ยวกับการเช่าที่ราชพัสดุ กรณีของภาครัฐเช่ากันเองให้ได้นาน 99 ปี และกรณีรัฐให้เอกชนมาเช่าที่ของรัฐก็จะให้ได้ 50 ปี จากเดิมได้ 30 ปี ซึ่งจะทำให้เอกชนสนใจมาลงทุนในที่มักกะสันมากขึ้น.
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44517
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 12/08/2015 11:07 am    Post subject: Reply with quote

จีนรับหลักการตั้งSPV ร่วมลงทุนรถไฟไทย-จีน
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 สิงหาคม 2558 20:15 น.

ยันสำรวจออกแบบรถไฟไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-แก่งคอย และ แก่งคอย-โคราช เสร็จ18 ส.ค.นี้ เร่งสรุปวงเงินลุยก่อสร้าง เผยจีนรับหลักการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) บริหารและเดินรถ

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการหารือความร่วมมือไทย-จีน ในการก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาด รางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) เส้นทางกรุงเทพ- แก่งคอย ,แก่งคอย-มาบตาพุด ,แก่งคอย –โคราช, โคราช-หนองคาย ระยะทาง 873 กม. ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 6-8 ส.ค. ที่เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีนพบว่าการสำรวจออกแบบเส้นทางช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 133 กม. และช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 138.5 กม. จะแล้วเสร็จในวันที่ 18 ส.ค.นี้ โดยขณะนี้ มีความคืบหน้าประมาณ 80% แล้ว และจะสามารถประเมินมูลค่างานก่อสร้างในช่วงที่ 1 และ 3 ได้ ภายในปลายเดือน ส.ค. นี้ ส่วนช่วงที่ 2 แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 246.5 กม. และ ช่วงที่4.นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กม. การสำรวจและออกแบบจะแล้วเสร็จภายในเดือนธ.ค. 2558

ส่วนกรอบการทำงานร่วมกัน (Framework Agreement) ยังไม่สามารถตกลงได้ โดยมีเงื่อนไขบางประการที่ต้องหารือเพิ่มเติม ซึ่งจะหารือกันอีกครั้ง ในการประชุมครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 10-12 ก.ย. 2558 ที่กรุงเทพมหานคร และหากตกลงในรายละเอียดแล้วจะนำส่งร่าง Framework Agreement ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา
โดยคาดว่าจะสามารถลงนามร่วมกับจีนได้ภายในเดือนก.ย.นี้

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เรื่องรูปแบบการลงทุนรถไฟไทย-จีนนั้น ฝ่ายไทยได้เสนอให้จีนร่วมทุน โดยจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle : SPV) เพื่อบริหารจัดการงานระบบ จัดหารถไฟฟ้า และเดินรถ โดยรัฐบาลจีนถือหุ้นผ่านบริษัทเอกชนจีน ส่วนฝ่ายไทยจะลงทุนโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)กองทุน และเอกชน ซึ่งเบื้องต้นจีนยอมรับในหลักการแล้ว ส่วนรายละเอียดการกู้เงินนั้น ยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากต้องรอการประเมินมูลค่าโครงการปลายเดือนส.ค.นี้ก่อน โดยจีนยังยืนยันอัตราดอกเบี้ยแบบพิเศษเหมือนเดิม
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42702
Location: NECTEC

PostPosted: 12/08/2015 10:14 pm    Post subject: Reply with quote

Mongwin wrote:
จีนรับหลักการตั้งSPV ร่วมลงทุนรถไฟไทย-จีน
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 สิงหาคม 2558 20:15 น.



"บิ๊กจิน"ยัน ออกแบบรถไฟไทย-จีน "กรุงเทพฯ-แก่งคอย-โคราช" เสร็จ18ส.ค.นี้
วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เวลา 10:39:56 น.


พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในงานแถลงข่าวพบปะสื่อมวลชนว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมรถไฟไทย-จีน ที่เมืองเฉิงตู ประเทศจีน เมื่อวันที่ 6-7 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้นำข้อมูลการสำรวจออกแบบเส้นทางเสนอให้ที่ประชุมทราบ โดยขณะนี้มีความก้าวหน้าการสำรวจออกแบบตอนที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-แก่งคอย และตอนที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา เกิน 80% แล้ว โดยมีกำหนดภายในวันที่ 18 สิงหาคม จะครบทั้ง 100%

ส่วนตอนที่ 2 แก่งคอย-มาบตาพุด และตอนที่ 4 นครราชสีมา-หนองคาย จะดำเนินการให้เสร็จโดยเร็วที่สุด ซึ่งเป้าหมายเดิมกำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ ก็จะพยายามทำให้ได้ แต่หากล่าช้าก็จำไม่เป็นปัญหา เพราะตามกำหนดจะก่อสร้างของ 2 ตอนนี้ ในช่วงต้นปี 2559 ซึ่งยังมีเวลาเพียงพอที่จะศึกษารายละเอียดให้เรียบร้อย

สำหรับการประเมินมูลค่าโครงการนั้น ตกลงกันว่าหากสามารถศึกษาและออกแบบเสร็จใน 31 สิงหาคม ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อประเมินมูลค่าโครงการ ซึ่งประมาณกลางเดือนสิงหาคมนี้จะเริ่มจ้างที่ปรึกษา โดยภายใน 30 กันยายน 2558 จะมีความชัดเจนเรื่องราคา ระหว่างนี้จะตกลงกันในเรื่องของการร่วมทุน โดยการก่อสร้างตั้งแต่ตั้งแต่รางรถไฟ ไม้หมอน ถึงดินและใต้ดิน ไทยจะเป็นผู้จัดหาแหล่งเงินทุนรวมถึงการก่อสร้าง ส่วนระบบสัญญาณ เกี่ยวกับการควบคุม ไฟฟ้า ตัวรถ หัวรถจักรต่างๆ จะเป็นการร่วมลงทุน

โดยฝ่ายจีนจะรวมกันทั้งรัฐและเอกชน เป็น 1 องค์กร ส่วนไทย จะมี ร.ฟ.ท. และเอกชน รวมกันเป็น 2 องค์กร โดยจะร่วมตั้งเป็นกิจการ่วมค้าด้วย ขณะที่สัดส่วนการลงทุนยังไม่กำหนด จึงให้การบ้านไปพิจารณาว่า ถ้าไทยถือ 51 จีน 49 จะเป็นอย่างไร หรือหากไทย 60 จีน 40 หักเกณฑ์ต่างๆจะเป็นไง เพื่อให้นำเสนอในการประชุมครั้ง

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า สำหรับในส่วนของที่ไทยหาแหล่งเงินทุนนั้น ไทยจะมีสิทธิ์หาแหล่งเงินกู้ได้ทุกแหล่ง คือ 1.เงินตามงบประมาณแผ่นดิน 2.เงินจากรัฐวิสาหกิจ 3.เงินกู้ในประเทศและต่างประเทศก็ได้ และ4.ยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานด้วย ส่วนที่เป็นระบบและต่างๆยังต้องรอดูดอกเบี้ยจากจีนว่าจะเป็นเท่าไหร่ จากนั้นจึงจะกำหนดว่าจะกู้เท่าไหร่ โดยทางจีนแจ้งว่าจะแจ้งให้ทราบก่อนการประชุมในครั้งหน้าในไทย ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 10-12 กันยายนนี้

“ในการประชุมที่กรุงเทพฯจะพิจารณาเรื่องกำหนดวันเซ็นสัญญา ห้วงเวลาเวนคืนต่างๆ ห้วงเวลาที่จะเปิดโครงการ โดยจะมีความชัดเจนในวันที่ 12 กันยายนนี้ เบื้องต้นกำหนดเปิดโครงการก่อสร้างวันที่ 23 ตุลาคม โอกาสสำคัญในการลำลึกถึงรัชกาลที่ 5 หรือหากไม่ทันก็จะเป็นวันที่ 1-10 ธันวาคม ซึ่งจะเป็นการก้าวสู่เทคโนโลยีใหม่ในรัชกาลที่ 9 โดยเงินลงทุนในส่วนของไทยในโครงการนี้จะอยู่ที่ประมาณ 2 ใน 5 ของมูลค่าโครงการทั้งหมดประมาณ 4 แสนล้านบาท”พล.อ.อ.ประจิน กล่าว

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า สำหรับหลักสูตรฝึกอบรม จะมีการฝึกอบรม ระยะสั้นมี 2 หลักสูตร สำหรับเจ้าหน้าที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) จำนวน 30 คน ใน 40 วัน โดยหลักสูตรแรกจะเริ่ม 11 สิงหาคม -9 ตุลาคาม 2558 เป็นต้น โดยหลักสูตรนี้จะเป็นการศึกษาดูงาน ความเป็นมา ศัพท์ทางเทคนิครถไฟสแตนดาร์ดเกจ การออกแบบ และระบบต่างๆ เป็นต้น
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42702
Location: NECTEC

PostPosted: 12/08/2015 11:45 pm    Post subject: Reply with quote

รถไฟไทย-จีนเกิด! "ประจิน"ลุยต.ค.นี้ประมูล2สัญญา
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
12 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เวลา 21:10:27 น.


รัฐโล่ง "รถไฟไทย-จีน" เจรจาสำเร็จ ผลประชุมร่วมสองฝ่ายที่เฉิงตูได้ข้อสรุปชัด จีนลงขัน 40% รับทำระบบเดินรถ-ซ่อมบำรุงมูลค่า 1 แสนล้าน ไทยลงทุนงานโยธา เตรียมตั้งบริษัทร่วมทุนบริหารจัดการ "ประจิน" สั่งลุยเฟสแรก "กรุงเทพฯ-แก่งคอย-โคราช" เปิดประมูล 2 สัญญา ดีเดย์ตอกเข็ม 23 ต.ค.นี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมรถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 6 ที่เมืองเฉิงตู ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 6-8 สิงหาคม 2558 เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วปานกลาง เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 873 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาท ได้ข้อสรุปเรื่องวงเงินก่อสร้าง รูปแบบการลงทุน แผนงานก่อสร้าง ตลอดจนแนวทางร่วมทุนระหว่างไทยกับจีนชัดเจนแล้ว ตามแผนที่วางไว้จะเปิดประมูลก่อสร้าง 2 สัญญาแรกภายในเดือน ต.ค.นี้ หรืออย่างช้าเดือน ธ.ค. 2558

รูปแบบลงทุนลงตัว-จีนร่วมเดินรถ

ล่าสุด รูปแบบการลงทุนของโครงการได้ข้อสรุปแล้ว โดยฝ่ายไทยจะลงทุนก่อสร้างโครงสร้างงานโยธา โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นผู้ดำเนินการ จะใช้เงินกู้ในประเทศก่อสร้าง คาดว่าโครงการนี้ใช้เงินก่อสร้างกว่า 2 แสนล้านบาท ส่วนนี้ต้องรอผลศึกษารายละเอียดโครงการซึ่งแล้วเสร็จในเดือน ส.ค.นี้

ส่วน งานระบบเดินรถและซ่อมบำรุงซึ่งคาดว่าจะใช้วงเงินลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท ฝ่ายจีนตกลงจะร่วมลงทุนด้วย เบื้องต้นจีนร่วมทุนโดยใส่เม็ดเงินเข้ามาประมาณ 40% หรือ 4 หมื่นล้านบาท โดยใช้เงินกู้จากธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกของจีน (Eximbank) และฝ่ายไทยลงทุน 60% หรือประมาณ 6 หมื่นล้านบาท โดยตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาบริหารโครงการร่วมกัน

ตั้งแต่เริ่มติดตั้ง ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบไฟฟ้า จัดซื้อขบวนรถ บริหารจัดการเดินรถและซ่อมบำรุง และใช้สถานีเชียงรากน้อยเป็นศูนย์ควบคุมการเดินรถ (OCC) ส่วนนี้จีนเสนอขอให้ไทยยกเว้นหรือผ่อนปรนการจัดเก็บภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่า เพิ่ม (แวต) เพื่อช่วยลดภาระโครงการที่อาจจะขาดทุนจากการเดินรถในช่วง 10 ปีแรก

"ผลสรุปเรื่องนี้อย่างเป็นทางการจะต้องรอการประชุมครั้งที่ 7 ที่จะจัดประชุมที่พัทยาวันที่ 3-5 ก.ย. 2558 เนื่องจากผลการศึกษาความเหมาะสมทั้งโครงการที่จีนดำเนินการให้จะแล้วเสร็จ ทั้งหมด"

อัตราดอกเบี้ยยังไม่สรุป

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้หากใช้เงินกู้จากจีนขณะนี้ยังไม่ได้ข้อ สรุปว่าจะคิดอัตราดอกเบี้ยเท่าใด เบื้องต้นไทยยังคงยืนยันหลักการเดิม ขอให้จีนจัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ระยะเวลา 25-30 ปี ปลอดหนี้ 6-7 ปี แต่ติดปัญหาด้านกฎหมายเงินกู้ของ 2 ประเทศที่ไม่สอดคล้องกัน ทำให้ยังไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้

ส่วนการก่อสร้าง ทั้งฝ่ายไทยและจีนมีความเห็นร่วมกันว่าจะเริ่มก่อสร้างช่วง กรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 271.5 กิโลเมตรเป็นลำดับแรก โดยตั้งเป้าเริ่มประมูลและก่อสร้างวันที่ 23 ต.ค.นี้ หรืออย่างช้าวันที่ 5 ธ.ค. 2558 โดยจะเริ่มต้นที่แก่งคอยเป็นพื้นที่แรก จากนั้นจะก่อสร้างไล่มาจนถึงกรุงเทพฯ และก่อสร้างไป จ.นครราชสีมา

รื้อแนว 40 กม.หนีท่อก๊าซ ปตท.

ทั้ง นี้ หลังจากที่จีนได้ลงพื้นที่สำรวจโครงการแล้ว พบว่ามีแนวท่อก๊าซของ บมจ.ปตท.อยู่ในแนวเส้นทางรถไฟเป็นระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร จากรังสิต-ชุมทางบ้านภาชี ดังนั้นจะต้องปรับแนวเส้นทางเล็กน้อยเพื่อหลีกเลี่ยงท่อก๊าซ โดยจะขยับแนวรถไฟไทย-จีน ห่างออกไปจากท่อก๊าซอีกประมาณ 3 เมตร แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อค่าก่อสร้างแต่อย่างใด

นอกจากนี้จะเพิ่ม สถานีเพื่อเป็นทางรอหลีกสำหรับขบวนรถขนสินค้าและขบวนรถโดยสาร จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ สถานีชุมทางบ้านภาชี สถานีแก่งคอย สถานีปางอโศก และสถานีโคกสะอาด เนื่องจากรถขบวนสินค้าจะวิ่งช้าใช้ความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขณะที่รถขบวนผู้โดยสารรถไฟไทย-จีนจะวิ่งด้วยความเร็ว 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยมากขึ้น

ในส่วนของสถานีขณะ นี้ยึดตามจุดที่ตั้งของรถไฟความเร็วสูงสายอีสาน จากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มี 5 สถานี สร้างอยู่บนพื้นที่สถานีรถไฟเดิมและเปิดพื้นที่ใหม่ ได้แก่ 1.สถานีกลางบางซื่อ จะสร้างอยู่ที่เดิม สถานีอยุธยา จะสร้างในพื้นที่เดิม สถานีสระบุรี สร้างบนพื้นที่แห่งใหม่บริเวณคลองเพียว สถานีปากช่อง สร้างบนพื้นที่ใหม่บนแปลงที่ดินราชพัสดุบริเวณหนองสาหร่าย และสถานีโคราช สร้างอยู่ในพื้นที่เดิม

เวนคืนที่ดินจิ๊บ ๆ 10%

แหล่ง ข่าวกล่าวต่อว่า สำหรับการเวนคืนที่ดิน คาดว่าทั้งโครงการจะมีการเวนคืนประมาณกว่า 10% ของที่ดินทั้งหมดของโครงการ เนื่องจากก่อสร้างอยู่ในแนวรถไฟเดิมจึงเวนคืนไม่มาก ส่วนใหญ่จะเป็น

ผู้บุกรุก ซึ่งทางการรถไฟฯจะเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด ทั้งนี้ในส่วนของพื้นที่ก่อสร้างที่ทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ช่วงกรุงเทพฯ-บ้านภาชี ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับญี่ปุ่นนั้น ยังไม่สรุปจะใช้ระบบอาณัติสัญญาณของประเทศจีนหรือญี่ปุ่น แต่ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ต้องการให้ทั้ง 2 โครงการใช้ระบบของยุโรปที่เป็นมาตรฐานกลาง โดยจะมีการหารือกับญี่ปุ่นกลางเดือน ส.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เตรียมแผนสำรองไว้ กรณีทางญี่ปุ่นไม่ยินยอม จะใช้วิธีปรับจุดเริ่มต้นโครงการรถไฟไทย-จีนใหม่ จากสถานีกลางซื่อเป็นเริ่มต้นที่สถานีเชียงรากน้อย แล้ววิ่งไปตามแนวเส้นทางโครงการผ่านแก่งคอย สระบุรี และนครราชสีมา ส่วนรถไฟไทย-ญี่ปุ่นจะเริ่มต้นจากสถานีกลางบางซื่อและไปตามแนวรถไฟสายเหนือ จนถึงเชียงใหม่ ระยะทาง 672 กิโลเมตร

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม วงเงินลงทุนตามผลการศึกษาของจีนเมื่อปี 2553 ซึ่งศึกษาโครงการเป็นรถไฟความเร็วสูง จากกรุงเทพฯ-หนองคาย ใช้เงินลงทุนประมาณ 330,000 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้าง 220,000 ล้านบาท และค่างานระบบเดินรถและซ่อมบำรุง 110,000 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนโครงการรถไฟไทย-จีน น่าจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน

23 ต.ค.ปักหมุดแก่งคอย

ก่อน หน้านี้ พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ตั้งเป้าจะให้สถานีแก่งคอยเป็นจุดเริ่มต้นโครงการก่อสร้างระยะแรกช่วง กรุงเทพฯ-แก่งคอย-โคราช และเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงใหญ่ของโครงการ ส่วนศูนย์ควบคุมการเดินรถอยู่ที่เชียงรากน้อย คาดว่า เดือน ก.ย.นี้จะเปิดประมูลทันทีหลังได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเตรียมจะเสนอที่ประชุม ครม.พิจารณาวันที่ 10 ก.ย. 2558

การ ประมูลจะใช้วิธีพิเศษ ให้ผู้รับเหมาไทยที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วมาร่วมงานก่อสร้างโครงสร้างทางหลัก สัดส่วนประมาณ 70% ด้านผู้รับเหมาจีนจะก่อสร้างงานที่ใช้เทคโนโลยีสูง เช่น อุโมงค์และสะพาน สัดส่วนประมาณ 30% ในระยะแรกจะแบ่งเป็น 2 สัญญา คือ กรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 133 กิโลเมตร และแก่งคอย-โคราช ระยะทาง 138.5 กิโลเมตร วางแผนเซ็นสัญญาก่อสร้างวันที่ 20 ต.ค.นี้ เริ่มก่อสร้างวันที่ 23 ต.ค.หรืออย่างช้าเดือน ธ.ค. 2558โดยได้กำหนดตารางการประชุมไว้ในครั้งที่ 7 จะต้องสรุปเงื่อนไขและข้อตกลงด้านการเงิน รูปแบบการลงทุน

งานสำรวจ ช่วงแรกที่จะสร้าง การเวนคืนที่ดิน และการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จากนั้นจะลงนามใน Framework Agreement (กรอบทำงาน) วันที่ 10 ก.ย. ร่างสัญญาก่อสร้างวันที่ 11 ก.ย.-19 ต.ค. เซ็นสัญญาก่อสร้าง 20 ต.ค. 2558 และทำพิธีเปิดโครงการก่อสร้างซึ่งจะเริ่มสร้างที่สถานีแก่งคอย จ.สระบุรี เป็นจุดแรก ในวันที่ 23 ต.ค.นี้ แต่ถ้าไม่ทันจะเป็นเดือน ธ.ค. 2558 ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปีครึ่ง กำหนดแล้วเสร็จปี 2561

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ทั้งฝ่ายไทยและจีนมีข้อตกลงร่วมกันเรื่องความร่วมมือว่า ช่วงกรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 133 กิโลเมตร มีกลุ่ม CRC + CRCC หรือบริษัท การก่อสร้างทางรถไฟแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน จำกัด จะก่อสร้างร่วมกับผู้รับเหมาไทย และเส้นทางแก่งคอย-โคราช ระยะทาง 138.5 กิโลเมตร กลุ่ม CRC + CREC หรือบริษัท วิศวกรรมทางรถไฟแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน จำกัด กับผู้รับเหมาไทยจะร่วมกันดำเนินโครงการ
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42702
Location: NECTEC

PostPosted: 13/08/2015 12:10 pm    Post subject: Reply with quote

เล็งใช้วิธีพิเศษคัดผู้รับเหมา เร่งงานก่อสร้างรถไฟไทย-จีน


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
13 สิงหาคม 2558 07:28 น. (แก้ไขล่าสุด 13 สิงหาคม 2558 09:41 น.)




“คมนาคม” เล็งใช้วิธีพิเศษเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างรถไฟทางคู่ ไทย-จีน “ประจิน” เผยต้องเร่งงานก่อสร้าง และอาจจะต้องแบ่งซอยงานก่อสร้างช่วงละ 30-40 กม. สั่ง ร.ฟ.ท.ทำทีโออาร์เพื่อเร่งสรุปเสนอ ครม.อนุมัติ ยอมรับหนักใจการเวนคืนและ EIA ส่อทำวางศิลาฤกษ์ไม่ทัน 23 ต.ค.นี้

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย, แก่งคอย-มาบตาพุด, แก่งคอย-โคราช, โคราช-หนองคาย ระยะทาง 873 กม. ว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ร่างทีโออาร์ในการก่อสร้างงานโยธา (Civil Work) เพื่อแบ่งช่วงการก่อสร้างในแต่ละตอนให้เหมาะสมและสอดคล้องกับระยะเวลา ซึ่งจะแบ่งใน

ตอนที่ 1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 133 กม. และ
ตอนที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 138.5 กม.ก่อน

พร้อมกันนี้ จะพิจารณาว่าจะสามารถใช้วิธีพิเศษในการคัดเลือกผู้รับเหมาได้หรือไม่ เนื่องจากขณะนี่ผู้รับเหมารายใหญ่ที่จะสามารถก่อสร้างทางรถไฟระยะทางยาวๆ ได้มีประมาณ 8-9 บริษัทเท่านั้น ขณะที่รายเล็กลงไปมีอีกหลายสิบบริษัท ดังนั้นจะต้องดูเนื้องานก่อนว่าเป็นอย่างไรเพื่อเลือกวิธีที่เหมาะสม หากเลือกวิธีพิเศษจะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป โดยวิธีพิเศษจะเป็นการเชิญผู้รับเหมาที่มีขีดความสามารถที่ 2-3 รายมาเสนอราคาแข่งขัน ซึ่งจะรวดเร็ว แต่จะต้องอยู่ภายใต้กฎกติกา ขั้นตอนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ต้องหาวิธีที่เหมาะสมและทำให้การก่อสร้างรวดเร็วที่สุด

“อาจแบ่งก่อสร้างช่วงละ 30-40 กม. หรือตอนที่ 1 จะแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 5 ช่วง เป็นต้น ดังนั้น วิธีพิเศษคือแต่ละช่วงจะเรียกผู้รับเหมา 2-3 รายมายื่นราคาแข่งกัน ตอนนี้ต้องรอให้ ร.ฟ.ท.แบ่งช่วงการก่อสร้างออกมาก่อน ซึ่งหลักจะแบ่งตามระยะทาง ซึ่งการแบ่งซอยช่วงก่อสร้างจะมากหรือน้อยมีทั้งข้อดี ข้อเสีย เช่น แบ่งซอยมากจะมีบริษัทหลายรายเข้ามาก่อสร้างได้พร้อมๆ กัน แต่ในการกำกับการก่อสร้างจะต้องมีจำนวนบุคลากรที่มากพอ และอาจจะมีปัญหาในการเปรียบเทียบคุณภาพงานช่วงรอยต่อที่เป็นเส้นทางเดียวกัน ดังนั้นต้องพิจารณาให้รอบด้านก่อนตัดสินใจ” รมว.คมนาคมกล่าว

สำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 10-12 ก.ย. ที่กรุงเทพฯ นั้น จะมีความชัดเจนเรื่องการร่วมทุนรวมไปถึงมูลค่าโครงการ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เหมาะสม แนวคิดในความร่วมมือต่างๆ ส่วนการเซ็นสัญญากรอบการทำงานร่วมกัน (Framework Agreement) หรือจะเป็นการลงนามสัญญาเพื่อลงมือก่อสร้าง ได้มอบหมายให้ ร.ฟ.ท.และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดทำข้อมูลใน Framework Agreement หากเนื้อหาไม่ต่างจากสัญญาจะเลือกลงนามสัญญาไปเลยเพื่อความรวดเร็ว โดยจะนำรายละเอียดสัญญาการร่วมมือแบบจีทูจี และเสนอเข้ากระบวนการพิจารณา เช่น กฤษฎีกา และ ครม.

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ากรอบการทำงานในการออกแบบ การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อขออนุมัติจาก สผ. การออกกฎหมายเวนคืนที่ดินที่มีขั้นตอนพิจารณามาก จะเป็นปัญหาอุปสรรคที่อาจทำให้เป้าหมายที่กำหนดวางศิลาฤกษ์ หรือเริ่มต้นโครงการในวันที่ 23 ต.ค. (วันปิยมหาราช) ซึ่งเป็นพระบิดารถไฟไทย อาจไม่ทัน และจะต้องขยับไปเป็นวันที่ 1-10 ธ.ค. 2558 (จะเป็นวันแห่งการก้าวสู่เทคโนโลยีใหม่ในรัชกาลที่ 9) แทน

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟไทย-จีนนั้นมีมูลค่าประมาณ 4 แสนล้านบาท โดยมีค่าก่อสร้างงานโยธา 2 ใน 5 หรือประมาณ 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งไทยจะจัดหาแหล่งเงินเอง โดยมีการหารือกับสถาบันการเงินในประเทศบ้างแล้ว ที่เหลืออีก 3 ใน 5 หรือประมาณ 2.4 แสนล้านบาทเป็นงานระบบรถ อาณัติสัญญาณ การซ่อมบำรุง ซึ่งจะเป็นการร่วมทุนระหว่างไทย-จีน ซึ่งจะตั้ง SPV ขึ้นมา โดยกำลังพิจารณาอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากจีนและสัดส่วนการร่วมทุนที่เหมาะสม
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42702
Location: NECTEC

PostPosted: 14/08/2015 8:41 pm    Post subject: Reply with quote

ด็อกเตอร์โกร่งพูดถึง รถไฟไทย - จีนดั่งนี้:


รถไฟไทย-จีน
โดย วีรพงษ์ รามางกูร
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
13 สิงหาคม 2558 เวลา 16:50:31 น.


ได้อ่านบทความ "ไทยกำลังตกเป็นเหยื่อจีน" ของคุณลมเปลี่ยนทิศ จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม 2558 แล้วก็เกิดความรู้สึกร่วมกับคุณลมเปลี่ยนทิศขึ้นมาทันทีว่า เรากำลังจะยกผลประโยชน์ของชาติประมาณ 400,000 ล้านบาทให้กับจีน โดยจะให้จีนก่อสร้างทางรถไฟคู่ขนานมาตรฐาน 1.435 เมตร เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-มาบตาพุด มาบตาพุด-แก่งคอย และแก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 867 กิโลเมตร ตกกิโลเมตรละประมาณ 46 ล้านบาท

การร่วมทุน การกู้เงิน อยู่ระหว่างการเจรจา อัตราดอกเบี้ยพิเศษสำหรับรัฐบาล 2 เปอร์เซ็นต์ สำหรับอัตราดอกเบี้ยลักษณะเชิงพาณิชย์ 4 เปอร์เซ็นต์ อ่านดูแล้วก็ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าประเด็นที่กำลังเจรจากันคืออะไร

โครงการรถไฟไทย-จีน วงเงิน 400,000 ล้านบาท ต้องถือว่าเป็นโครงการใหญ่สำหรับประเทศไทย แม้ว่าอาจจะไม่ใช่โครงการใหญ่ของจีนก็ตาม มีประเด็นหลายประเด็นที่ต้องการคำตอบ

รัฐบาลกำลังเดินหน้าก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ขนาด 1 เมตรให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โครงการดำเนินการอยู่แล้วกว่า 10 ปี แต่ก็ยังไปไม่ถึงไหน เข้าใจว่าคงจะมีธุรกิจไม่เพียงพอโครงการจึงเดินได้ช้า ความต้องการน้อยเกินไปหรือไม่ ถ้าความต้องการใช้มีมาก กลไกตลาดก็จะผลักดันให้โครงการรถไฟรางคู่เดิมคงจะเดินหน้าได้เร็วกว่านี้ เพราะเสียงเรียกร้องที่จะมีมากขึ้น การไม่มีเสียงเรียกร้องแสดงว่าความจำเป็นยังไม่มี

รางรถไฟขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร เดิมคิดว่าจะเป็นโครงการรองรับผู้โดยสารควบคู่กับการเดินทางโดยเครื่องบิน โดยมีราคาค่าโดยสารถูกกว่าเครื่องบินและรถไฟสามารถเข้าถึงสถานีในเมืองได้ เพื่อลดความแออัดของการจราจรบนถนนในเมือง บัดนี้กลายเป็นโครงการภายในประเทศคือ จากกรุงเทพฯหรือมาบตาพุดไปนครราชสีมา แล้วก็ไปจบที่หนองคาย ส่วนจะต่อไปเวียงจันทน์แล้วขึ้นเหนือไปจีนนั่นยังไม่ได้พูดกัน เพราะไม่ได้ยินข่าวว่าลาวจะลงทุนสร้างทางรถไฟขนาดมาตรฐานเชื่อมต่อจากหนองคายไปหลวงน้ำทาและจีน แต่ทางฝั่งไทยมีข่าวคึกคักว่ากำลังเจรจากับจีนสำหรับโครงการทางรถไฟ

ถ้าโครงการจบแค่การก่อสร้างทางรถไฟขนาดมาตรฐาน กรุงเทพฯ-มาบตาพุด-หนองคาย ก็ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะคงไม่มีธุรกิจพอจะรองรับ ทางรถไฟเดิมขนาด 1 เมตรที่จะพัฒนาให้เป็นรางคู่ก็น่าจะเพียงพอแล้ว เพราะบัดนี้ก็มีรางข้ามสะพานไปถึงเวียงจันทน์ แต่มีการใช้น้อยมาก ตั้งแต่มีสะพานมิตรภาพการขนส่งทางรถยนต์สะดวกมากกว่า รถไฟที่ข้ามสะพานมิตรภาพมีการใช้น้อยมาก

ถ้าหากเป็นรถไฟรางคู่ขนาดมาตรฐาน เพื่อรองรับรถไฟจีนที่จะขนสินค้ามาลงท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด หรือมากรุงเทพฯก็ต้องมีสะพานข้ามแม่น้ำโขงผ่านเวียงจันทน์ขึ้นหลวงน้ำทาไปจีน ไทยเราเคยคุยกับลาวหรือยังว่าลาวจะมีโครงการลาว-จีนหรือไม่ ถ้ามีแล้วเงื่อนไขระหว่างจีนกับลาวเป็นอย่างไร ลาวจะยอมให้จีนมาลงทุน โดยลาวเป็นผู้ชำระหนี้หรือไม่ ดอกเบี้ยเท่าไหร่ เจ้าหนี้อื่นๆ ของลาวจะว่าอย่างไร

ถ้าโครงการในลาวไม่ประสบความสำเร็จแต่ไทยตัดสินใจไปแล้ว ถ้ารายได้จากการใช้ทางไม่คุ้มกับดอกเบี้ยและเงินต้นรวมค่าบำรุงรักษา จะผูกจะพันกันไปแค่ไหน รัฐสภาไทยจะให้ทั้งงบประมาณใช้หนี้ให้การรถไฟ ชำระหนี้ให้รัฐบาลจีนหรือไม่ เพราะเป็นเงินจำนวนมาก ทุกวันนี้การขาดทุนของการรถไฟก็เป็นปัญหาหนักอยู่แล้ว

เคยคุยกับผู้ใหญ่ทางลาว คำตอบก็ยังไม่ชัดเจนว่าลาวจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง ถ้าจะก่อสร้างลาวก็จะเป็นผู้ลงทุนเอง ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ใช่ประเด็น ประเด็นสำคัญคือการเจรจาไม่ควรเป็นการเจรจาระหว่างไทยกับจีนเท่านั้น ควรจะเป็นไทย ลาวกับจีน เพราะผู้ใช้จะเป็นจีนเสียส่วนใหญ่ ผ่านลาวกับไทย เงื่อนไขกับไทยและกับลาวควรจะเหมือนกันหรือใกล้เคียงกัน ไม่ใช่เงื่อนไขของไทยแย่กว่าเงื่อนไขของลาว

ความจริงแล้ว ถ้าจีนอยากได้โครงการนี้จริงๆ จีนก็ควรเป็นผู้ก่อสร้างทั้งหมดให้เสร็จ แล้วก็ยกให้ประเทศไทย

รถไฟรางคู่ขนาดมาตรฐานเป็นคนละเรื่องกับรถไฟความเร็วสูงที่ต้องการขนคนเป็นหลัก ที่คิดว่าสถานีต่างๆ จะก่อให้เกิดชุมชนใหม่ๆ เกิดการสร้างเมืองใหม่แบบเดียวกับญี่ปุ่น แต่ถ้าเป็นรถขนสินค้าก็ไม่หวังว่าจะสร้างเมืองใหม่รอบๆ สถานี

ถ้ามองในแง่เศรษฐศาสตร์แล้ว การก่อสร้างทางรถไฟเพื่อขนสินค้าจีนมาลงเรือที่มาบตาพุด ไม่น่าจะเป็นการย่นระยะทางสำหรับจีนที่มีท่าเรือมากมาย ตามชายทะเลของจีนตั้งแต่มณฑลกวางสี มณฑลกวางตุ้งและมณฑลฮกเกี้ยน แต่ถ้าจะมีทางรถไฟวิ่งไปใช้ท่าเรือย่างกุ้งหรือท่าเรือจิตตะกองของบังกลาเทศ เพื่อขนสินค้าไปตะวันออกกลาง ไปแอฟริกาและยุโรปยังน่าจะมีเหตุผลกว่า การที่จีนต้องการสร้างทางรถไฟจากจีนผ่านลาวมาออกที่ไทย ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือกรุงเทพฯหรือท่าเรือมาบตาพุด ไม่น่าจะมีเหตุผลทางเศรษฐกิจ น่าจะมีเหตุผลทางการเมืองมากกว่า ถ้าอยากจะเชื่อมต่อไปมาเลเซียและสิงคโปร์ก็ยิ่งไม่น่าจะมีเหตุผล

ถ้าเราเองอยากจะมีรถไฟความเร็วสูง เพื่อขนคนผู้โดยสารเป็นหลักและขนสินค้าราคาแพงเพื่อส่งออก เราก็ควรจะลงทุนด้วยเงินกู้ภายในประเทศเอง โดยการออกพันธบัตรเป็นเงินบาท ดอกเบี้ยตอนนี้ก็ต่ำ เงินออมภายในประเทศก็มีมากเพราะไม่ได้ใช้เท่าที่ควรมากว่า 17-18 ปีแล้ว ก็ควรจะเปิดประมูลระหว่างประเทศ โดยการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการร่วมทุนรัฐ-เอกชน แทนที่จะไปให้อภิสิทธิ์กับประเทศใดประเทศหนึ่งเสียตั้งแต่แรกโดยไม่มีการเปิดประมูล

แต่ถ้าเรื่องนี้เป็นเรื่องการตอบแทนกันทางการเมืองระหว่างประเทศ เพราะเหตุที่ไม่พอใจตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา ที่ต่อต้านรัฐบาลทหารที่ไม่ได้มาจากกระบวนการประชาธิปไตย ก็ยิ่งเป็นการกระทำที่ไม่ได้ยึดถือผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง แต่ใช้เหตุผลและผลประโยชน์ทางการเมืองของรัฐบาลเป็นที่ตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง

รัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหารหรือรัฐบาลพลเรือนที่ทหารแต่งตั้ง หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่มาแล้วก็ไป ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนที่ยังอยู่ต่อไป มูลค่าโครงการหรือต้นทุนขนาด 400,000 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยและค่าบำรุงรักษาตลอดไปในอนาคตเป็นเรื่องใหญ่ การจะเอาไปมอบให้ประเทศใดประเทศหนึ่งด้วยเหตุผลการเมืองระยะสั้นของรัฐบาล เป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง

สําหรับประเทศจีน แม้จะเป็นประเทศใหญ่มีเงินมากมาย ยิ่งไม่ควรฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบประเทศเล็กๆ ในยามที่ประชาชนไม่มีสิทธิมีเสียง ควรจะคำนึงถึงจิตใจของประชาชนคนไทยด้วยว่าในอนาคตคนไทยจะรู้สึกอย่างไร ถ้าโครงการขนาดใหญ่เช่นว่าไม่ประสบความสำเร็จ แต่จะสร้างภาระให้กับประชาชนคนไทยอย่างไม่คุ้มค่า โดยการฉวยโอกาสอย่างที่กำลังจะทำอยู่ จากประสบการณ์ที่รับรู้กันมาว่าของจีนนั้นอาจจะราคาถูก แต่เสียง่าย คุณภาพไม่ได้อย่างที่ตกลงกัน เมื่อเกิดเสียหายแล้วการซ่อมบำรุง อะไหล่ การบริการหลังการขายไม่ดีพอ ในระยะยาวก็กลายเป็นของที่แพงกว่าของประเทศอื่น เกิดความสูญเสียทางโอกาสตามมาอีกมากมาย การจัดซื้อจัดจ้างโครงการที่ใช้เงินภาษีของราษฎรไม่ควรเอาไปแลกกับผลประโยชน์ในทางการเมือง ยิ่งเป็นการเมืองระหว่างประเทศยิ่งไม่ควรทำ ควรจะมองแต่เรื่องผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องดูทั้งเรื่องคุณภาพ เรื่องความเชื่อถือในวันข้างหน้า ไม่ใช่ดูราคาอย่างเดียว

ถ้าการเจรจาเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องจริงจัง เป็นการสร้างภาพเพื่อแสดงความไม่พอใจตะวันตกว่า เรายังมีเพื่อนมหาอำนาจอื่นที่สนับสนุน ก็ยิ่งเป็นการคิดผิด เพราะผลประโยชน์ของเราที่ผูกพันอยู่กับตะวันตกกับญี่ปุ่นกับอาเซียนมีมากมายมหาศาล ถ้าจะละเลยเอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งก็เสียหายทั้งนั้น การปกครองแบบเผด็จการทหารที่ไม่ต้องฟังเสียงใคร ไม่ว่าในหรือต่างประเทศนั้น อาจจะเป็นอันตรายกว่าที่เราคิดก็ได้ เรื่องการเมืองไม่ใช่เรื่องจีรัง เป็นไปตามสภาพกาล เปลี่ยนไปมาได้เสมอ ไม่ควรเอาใจประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป

หวังว่าคงทำกันเล่นๆ แค่ยั่วอเมริกากับยุโรปเท่านั้น คงไม่คิดทำโครงการกับจีนจริงๆ เพราะตรรกะก็ไม่ใช่ วิธีการก็ไม่เป็นไปตามกฎหมาย นอกจากจะใช้มาตรา 44

ขอให้นอนหลับและฝันดี
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 47, 48, 49 ... 121, 122, 123  Next
Page 48 of 123

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©