Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai Gallery in Facebook

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311283
ทั่วไป:13263991
ทั้งหมด:13575274
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าวแผนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ 2558-65
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ข่าวแผนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ 2558-65
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 50, 51, 52 ... 121, 122, 123  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42709
Location: NECTEC

PostPosted: 10/09/2015 10:03 pm    Post subject: Reply with quote

จับตารถไฟไทย-จีน บัญชา"บิ๊กตู่" "อาคม"คุมเกม ลุ้นเคาะเฟสแรก กทม.-โคราช 2.3แสนล้าน
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
9 กันยายน 2558 เวลา 23:40:57 น.


จับตาผลประชุมคณะกรรมการร่วมรถไฟไทย-จีนครั้งที่ 7 หลังจีนส่งผลศึกษาโครงการเฟสแรก "กรุงเทพฯ-โคราช" ใช้เม็ดเงินทุน 2.3 แสนล้าน เตรียมจ้างคนกลางประเมินมูลค่าโครงการ ก่อนเคาะครั้งสุดท้ายปลายปีนี้ "อาคม" แทงกั๊กตอกเข็มทัน-ไม่ทันกำหนดเดิม รอผลสรุปแบบและเงื่อนไขการกู้เงิน "บิ๊กตู่" ลั่นตอกเข็ม ธ.ค. 58 เผยจีนร่วมลงทุนแล้ว 40% ส่วนรถไฟความเร็วสูง "กรุงเทพฯ-เชียงใหม่" ญี่ปุ่นขอเวลาศึกษา 1 ปี และความชัดเจนพื้นที่ทับซ้อนรถไฟไทย-จีน คาดเสนอ ครม.อนุมัติกลางปี′59



นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันที่ 10-12 กันยายนนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-โคราช-หนองคายและแก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 873 กิโลเมตร ครั้งที่ 7 จะพิจารณาผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการร่วมกันหลังจีนได้ส่งรายงานผลการศึกษาโครงการเฟสแรกช่วงกรุงเทพฯ-แก่งคอย-โคราชระยะทาง271.5 กิโลเมตร ให้ฝ่ายไทยวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา จะใช้เงินลงทุนเท่าไหร่ จากทั้งโครงการประเมินคร่าว ๆ ใช้เงินลงทุนประมาณ 400,000 ล้านบาท จะต้องตรวจสอบร่วมกันต่อไป อีกทั้งข้อสรุปสัดส่วนการลงทุน ร่วมลงทุนงานระบบและเดินรถ วงเงินกู้ อัตราดอกเบี้ย สำหรับเนื้องานที่จะต้องใช้เงินกู้จากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีน ซึ่งฝ่ายจีนจะให้คำตอบในครั้งนี้

"รถไฟไทย-จีน เดิมจะมอบหมายให้ท่านรัฐมนตรีช่วย (ออมสิน ชีวะพฤกษ์) กำกับ ล่าสุดผมจะนำกลับมาดูเองทั้งรถไฟไทย-จีนและรถไฟไทย-ญี่ปุ่น เพื่อให้มีคนพูดคนเดียวกัน"

ยังไม่ฟันธงตอกเข็มปีนี้

นายอาคมกล่าวว่า ถึงจะเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่ โครงการรถไฟไทย-จีนยังคงมีการพิจารณาต่อไปในรายละเอียด และขณะนี้ยังยึดกำหนดการเดิม คือ จะเริ่มสร้างเฟสแรกวันที่ 23 ตุลาคมนี้หรืออย่างช้าเดือนธันวาคม 2558 ทั้งนี้ ต้องรอดูผลการศึกษาของจีนที่ส่งมอบให้ด้วยว่าสมบูรณ์และมีข้อสรุปจากการเจรจาครั้งที่ 7 มากน้อยแค่ไหน ถ้ารายงานการศึกษายังมีข้อปรับปรุงแก้ไข ก็ต้องมีการพิจารณากำหนดเวลากันอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนความคืบหน้ารถไฟไทย-ญี่ปุ่น เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 672 กิโลเมตร นายอาคมกล่าวว่า ผลจากการประชุมครั้งแรกร่วมกันวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ฝ่ายญี่ปุ่นได้กลุ่มที่ปรึกษามาศึกษาโครงการร่วมกับไทยแล้ว ประกอบด้วยบริษัท อีสต์เจแปน เรลเวย์ จำกัด (JR-East) ผู้ผลิตและเดินรถ, บริษัท อิตาชิ จำกัด เป็นผู้พัฒนาระบบรถไฟฟ้า และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) เป็นผู้สนับสนุนให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค

เร่งเครื่องรถไฟไทย-ญี่ปุ่น

ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาหาข้อสรุปถึงการใช้ระบบอาณัติสัญญาณช่วงกรุงเทพฯ-ภาชีที่ทับซ้อนกับรถไฟไทย-จีนจะเป็นลักษณะใช้ร่วมกันได้หรือไม่ซึ่งญี่ปุ่นขอแยกรางวิ่งต่างหาก เนื่องจากระบบที่ใช้เป็นระบบชินคันเซน จะต้องเวนคืนและรื้อท่อก๊าซ ปตท. ซึ่งหากใช้รางร่วมกันจะประหยัดต้นทุนก่อสร้างได้ ทางบริษัทที่ปรึกษาไทยและญี่ปุ่นจะลงสำรวจพื้นที่ต่อไป

"รถไฟไทย-ญี่ปุ่น จะใช้เวลาศึกษา 1 ปี แม้จะมีผลศึกษารถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ที่เราศึกษาไว้แล้ว เงินลงทุน 449,473 ล้านบาท เพราะญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับมาตรฐานและความปลอดภัย คาดว่ามิถุนายน-กรกฎาคมปี′59 จะขออนุมัติโครงการจากคณะรัฐมนตรีในหลักการที่ญี่ปุ่นศึกษาร่วมกับไทย เพื่อลงนามความร่วมมือหรือความเข้าใจรัฐต่อรัฐพัฒนาโครงการ หลังมีรายละเอียดและเงินลงทุนระดับหนึ่ง ส่วนรูปแบบลงทุนเราขอเป็นรูปแบบ PPP ตามแผนเริ่มเวนคืนปี"60 และก่อสร้างปี′61 การลงทุนจะให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต้องพัฒนาเมืองและพื้นที่เชิงพาณิชย์ ควบคู่ไปด้วย เช่น ย่านสถานี รวมถึงการท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกและย่านสำคัญอื่น ๆ ตลอดเส้นทาง" นายอาคมกล่าว

ผลศึกษาจีนเฟสแรก 2.3 แสน ล.

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ฝ่ายจีนส่งผลการศึกษารถไฟไทย-จีนเฟสแรกให้แล้ววันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา จะใช้เงินลงทุนก่อสร้างงานโยธาและงานระบบประมาณ 230,000 ล้านบาท ทั้ง 2 ฝ่ายจะจ้างคนกลางประเมินมูลค่าโครงการอีกครั้งหนึ่ง จากทั้งโครงการใช้เงินลงทุนประมาณ 400,000 ล้านบาท มีค่าเวนคืนที่ดิน 4,661 ล้านบาท ส่วนผลการศึกษาทั้งโครงการฝ่ายจีนจะส่งให้ปลายปีนี้

สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ฝ่ายจีนมีแนวโน้มจะคิดเป็นอัตราคงที่แบบพิเศษ โดยเป็นอัตราที่คิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว อาจจะอยู่ที่กว่า 3% จากเดิมเฉลี่ยอยู่ที่ 2-4% แต่ฝ่ายไทยขออัตราต่ำกว่านี้ โดยมีระยะเวลากู้รวม 30 ปี ปลอดหนี้ 5 ปี และชำระหนี้ 25 ปี ฝ่ายจีนรับข้อเสนอไปพิจารณาและจะรายงานความก้าวหน้าให้ทราบในการประชุมครั้งที่ 7 หลังจากตัดสินใจจะร่วมลงทุนกับฝ่ายไทยสำหรับงานระบบและเดินรถแล้ว

บิ๊กตู่Ž ลั่นสร้างธ.ค.นี้

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "คืนความสุขประเทศไทย" ถึงความคืบหน้ารถไฟไทย-จีนว่า เป็นรถไฟความเร็วปานกลาง 160-180 กิโลเมตร/ชั่วโมง ระยะทาง 873 กิโลเมตร แบ่งก่อสร้างเป็น 4 ช่วง คือ กรุงเทพฯ - แก่งคอย 133 กิโลเมตร, แก่งคอย-มาบตาพุด 246.5 กิโลเมตร, แก่งคอย-นครราชสีมา 138.5 กิโลเมตร และนครราชสีมา-หนองคาย 355 กิโลเมตร จะใช้เวลาสร้าง 3 ปีครึ่ง จะเริ่มสร้างช่วงกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา ภายในเดือนธันวาคม 2558

ไทย-จีนร่วมทุน 60:40

ส่วนการลงทุน เป็นการร่วมลงทุนของรัฐบาลทั้งสองฝ่าย ด้วยการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในลักษณะ SPV หรือ Special Purpose Vehicle ฝ่ายไทยถือหุ้น 60% ฝ่ายจีนถือหุ้น 40% มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในภาพรวมไม่น้อยกว่า 14.99% โดยงานก่อสร้างจะใช้สัญญาก่อสร้างแบบ EPC หรือ Engineering Procurement Construction ฝ่ายจีนรับผิดชอบด้านการสำรวจออกแบบก่อสร้าง ฝ่ายไทยเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบแบบ ราคาก่อสร้าง และความเหมาะสมของราคา ก่อนจะลงนามสัญญางานก่อสร้างทั้งหมด

สำหรับการลงทุนและงานโยธา ฝ่ายไทยจะเป็นผู้จัดหาแหล่งเงินทุนเอง ดำเนินการคัดเลือกผู้รับจ้างไทยก่อสร้างเองในงานชั้นฐานที่เป็นทางราบ อาคาร ส่วนงานเจาะอุโมงค์ งานก่อสร้างชั้นฐานทางไหล่เขาฝ่ายจีนจะเป็นผู้ดำเนินการงานระบบ งานอาณัติสัญญาณ งานจัดหาและติดตั้งตัวรถ ตลอดจนอุปกรณ์เดินรถและซ่อมบำรุง

ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 672 กิโลเมตร ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่น อยู่ในขั้นการศึกษา มีแผนการดำเนินการวางไว้แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่วมสำรวจและออกแบบ
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42709
Location: NECTEC

PostPosted: 11/09/2015 4:36 am    Post subject: Reply with quote

"JR-East" รุกคืบเมกะโปรเจ็กต์ไทย จากสายสีม่วงถึงไฮสปีดเทรน 4 แสนล้าน
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

10 กันยายน 2558 เวลา 21:45:57 น.

เอ่ยชื่อ "J-TREC-บริษัท เจแปน ทรานสปอร์ต เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด" สำหรับประเทศไทยอาจจะไม่คุ้นหูกันมากนัก แต่หากพูดถึง "JR-East-บริษัท อีสต์เจแปน เรลเวย์ จำกัด" น้อยคนที่ไม่รู้จัก ยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าของประเทศญี่ปุ่นหลากหลายระบบ ทั้งโครงข่ายรถไฟฟ้า รถไฟชานเมือง รถไฟระหว่างเมือง และรถไฟความเร็วสูงชินคันเซนมาร่วม 28 ปี



ปัจจุบันมีพนักงาน 70,000 คน และเมื่อปี 2555 ได้เข้าซื้อกิจการ "J-TREC" ผู้ผลิตรถไฟฟ้าของญี่ปุ่นที่มีประสบการณ์มายาวนาน 67 ปี

ส่วน "J-TREC" ก่อตั้งเมื่อปี 2491 เดิมชื่อ "บริษัท โตเกียว คาร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด" หรือ TCC เป็นผู้ผลิตรถไฟจากสเตนเลสรายแรก และเป็นผู้ผลิตระบบอาณัติสัญญาณและตู้บรรจุรางรถไฟ

รวมถึงออกแบบผลิตรถไฟได้หลากหลายตามความต้องการของลูกค้า อาทิ รถไฟชินคันเซน ผ่านการผลิตรถไฟมาแล้วกว่า 21,000 ตู้ พร้อมกับส่งออกขบวนรถไฟไปยังหลายประเทศตลอดระยะเวลา 67 ปีที่ผ่านมาซึ่งมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เป็นออร์เดอร์จาก "ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย" สั่งซื้อรถไฟดีเซลราง จำนวน 13 ตู้

ล่าสุดเพิ่งได้งานชิ้นใหญ่ผลิตรถไฟฟ้าสายสีม่วงให้ "บีเอ็มซีแอล" หรือบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และกำลังมองหาช่องทางขยายตลาดเพิ่ม ไปยังรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ที่ "รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย" กำลังก่อสร้างและจัดหาผู้เดินรถ

ที่กำลังอยู่ในความสนใจในขณะนี้ คือ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (บางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค) ระยะทาง 27 กิโลเมตร ที่ "บีเอ็มซีแอล" พันธมิตรเก่าของทั้ง "J-TREC" กับ "JR-East" กำลังลุ้นจะคว้าสัมปทานเดินรถสายนี้เมื่อไหร่ หลังรอคอยมาร่วมปี

ว่ากันว่า...หากรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่ส่งข้ามน้ำข้ามทะเลจากประเทศญี่ปุ่นมาถึงไทยวันที่ 16 กันยายนนี้ ทาง "J-TREC" ทำผลงานดีแบบไร้ที่ติ คงเป็นหนึ่งในบัญชีที่ได้รับการพิจารณา

นอกจากนี้อาจจะรวมถึง "รถไฟความเร็วสูง" โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น ที่ลงนามบันทึกแสดงเจตจำนง (MOI) ร่วมกันไปแล้ว ในเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 672 กิโลเมตร ที่ญี่ปุ่นเสนอเป็นระบบชินคันเซน คาดว่ามีเม็ดเงินลงทุน 449,473 ล้านบาท

เพราะโปรเจ็กต์นี้มีชื่อ "JR-East" บริษัทแม่ของ "J-TREC" ร่วมศึกษาความเหมาะสมของโครงการด้วย

ขณะที่ "J-TREC" ปัจจุบันผลิตรถไฟชินคันเซนรุ่นใหม่ "รุ่น E7" วิ่งด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชั่วโมงออกสู่ท้องตลาด ทั้งวิ่งให้บริการในประเทศญี่ปุ่นและส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ซึ่งในนี้อาจจะรวมถึงประเทศไทยด้วยก็เป็นได้ โดยมีข้อได้เปรียบสามารถให้บริการแบบเบ็ดเสร็จทั้งเดินรถและซ่อมบำรุง

ด้าน นายทาคาโอะ นิชิยามา กรรมการบริหารฝ่ายกิจการต่างประเทศ บริษัท อีสต์เจแปน เรลเวย์ จำกัด (JR-East) ผู้ประกอบการธุรกิจรถไฟประเทศญี่ปุ่น กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า มองว่าประเทศไทยถึงเวลาจะต้องมีการพัฒนาระบบรถไฟแบบใหม่ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เหมือนที่ประเทศญี่ปุ่นเคยได้ดำเนินการมา

สำหรับบริษัทให้ความสนใจที่จะลงทุนรถไฟความเร็วสูงของไทย ขณะนี้ได้ร่วมกับรัฐบาลญี่ปุ่นศึกษาความเหมาะสมและรูปแบบการลงทุนรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ด้วยซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น

ส่วนการลงทุนจะเป็นรูปแบบPPPอย่างที่รัฐบาลไทยต้องการจะดำเนินการหรือไม่ อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียด นอกจากนี้บริษัทยังสนใจลงทุนระบบรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ด้วย นอกเหนือจากสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) ที่บริษัทผลิตรถไฟฟ้าให้จำนวน 21 ขบวน 63 ตู้แล้ว ทั้งสายสีม่วงส่วนต่อขยาย (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย เป็นต้น

ด้านระบบรถไฟรางเดี่ยวหรือโมโนเรลนั้น ซึ่งรัฐบาลไทยจะนำมาใช้ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ขณะนี้ทางบริษัทอยู่ระหว่างเก็บข้อมูล

เป็นการรุกคืบของยักษ์ระบบรางจากแดนปลาดิบหลังสามารถตีตลาดประเทศไทยสำเร็จ
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44522
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 11/09/2015 12:15 pm    Post subject: Reply with quote

คมนาคมหารือจีนกรณีก่อสร้างรถไฟทางมาตรฐาน
สำนักข่าวไทย กอง บก.ข่าวเศรษฐกิจ 2015/09/11 12:04 PM

กรุงเทพฯ 11 ก.ย. – รมว.คมนาคมหารือรัฐบาลจีน ก่อสร้างรถไฟทางมาตรฐาน ล่าสุดยอมรับยังไม่สามารถกำหนดเวลาเริ่มงานก่อสร้างได้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมรถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 7 เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วปานกลาง เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 873 กิโลเมตร ความเร็ว 180 กิโลเมตรต่อชม. โดยระบุว่า ได้พูดคุยเกี่ยวกับรายการการศึกษาออกแบบเบื้องต้นในการก่อสร้างโครงการ ช่วงที่1 กรุงเทพ-แก่งคอย และช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 252 กม. ซึ่งจะมีการสรุปรายละเอียดร่วมกัน เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ โดยในที่ประชุมยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่างการออกแบบการก่อสร้าง แนวเส้นทาง และรูปแบบทางการเงิน ฉะนั้นจะต้องหาข้อสรุปในเรื่องเหล่านี้ให้ได้ก่อน

นอกจากนี้ในส่วนของมูลค่าการลงทุนในช่วงที่ 1 และ 3 ได้ ซึ่งไทยยืนยันว่าต้องการให้มีการตั้งที่ปรึกษาทางการเงินของฝ่ายไทยมาร่วมพิจารณา เพื่อให้สามารถวิเคราะห์มูลค่าโครงการได้อย่างเหมาะสม และได้ราคาค่าก่อสร้างที่เป็นจริง ซึ่งที่ผ่านมาไทยและจีนยังมีความเห็นแตกต่างกัน แต่ล่าสุดจีนได้ยืนยันจะใช้ดัชนีราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างในประเทศ ดังนั้นไทยจะต้องตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง

โดยรมว.คมนาคม ยอมรับว่า ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า จะเริ่มงานก่อสร้างได้เมื่อไร เนื่องจากการสำรวจในพื้นที่ของจีนเป็นการสำรวจในเบื้องต้น ขณะเดียวกันการสำรวจพื้นที่ โดยภาพถ่ายทางอากาศของแนวเส้นทางโครงการคืบหน้าเพียง 30% เท่านั้น ดังนั้นงานก่อสร้างจะเริ่มได้เมื่อใด ยังมีกระบวนการอีกหลายอย่างต้องพิจารณา

ทั้งนี้ในวันที่ 12 กันยายนนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และผู้แทนจีนจะลงนามรับรอบผลการประชุมครั้งนี้ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในที่ประชุม ทางฝ่ายไทยพิจารณารายละเอียดโครงการแล้ว คาดว่าอาจจะใช้เวลาในการพิจารณาโครงการถึง 8-9 เดือน จึงจะเริ่มงานก่อสร้างได้ เนื่องจากไทยต้องการความชัดเจนเกี่ยวกับรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA รูปแบบโครงการ การร่วมทุนต่างๆ ขณะที่จีนต้องเร่งให้เกิดการก่อสร้างได้ภายในปลายปีนี้

ทั้งนี้โครงการรถไฟความเร็วปานกลาง เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด คาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นไทยยังคงยืนยันหลักการเดิม ขอให้จีนจัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ระยะเวลา 25-30 ปี ปลอดหนี้ 6-7 ปี – สำนักข่าวไทย
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42709
Location: NECTEC

PostPosted: 11/09/2015 12:21 pm    Post subject: Reply with quote

รถไฟไทย-จีนคืบหน้า คาดภายในสิ้นปีได้รายละเอียดความเหมาะสมโครงการ
มติชน
วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2558 เวลา 11:45:36 น.

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมมือรถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 7 ว่า ได้หารือกันในเรื่องของรายงานผลการศึกษาเบื้องต้นที่ทางจีนได้จัดทำขึ้น โดยส่วนที่ได้สำรวจและออกแบบเสร็จสิ้นแล้ว ได้แก่ ตอนที่ 1 บางซื่อ-แก่งคอย และตอนที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ส่วนตอนที่ 2 ช่วงแก่งคอย-มาบตาพุด และนครราชสีมา- หนองคาย จะแล้วเสร็จช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ โดยจะมีการพิจารณารายละเอียดความเหมาะสม ต้นทุนของโครงการ

อย่างไรก็ตาม ยังเป็นเพียงการประมาณการเบื้องต้น ทางจีนจะต้องกลับไปคำนวณตัวเลขให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จะสามารถเริ่มก่อสร้างในเดือนตุลาคมนี้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าไทยและจีนเห็นชอบร่วมกันในผลการศึกษาหรือไม่ หากเห็นชอบร่วมกันก็จะมีการพิจารณาเรื่องการจัดหาที่ดินเพิ่มเติมต่อไป ขณะที่อีกส่วนที่ต้องนำมาพิจารณาร่วมด้วยคือการวิเคราะห์ผลการศึกษาภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งมีความคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 30 โดยต้องนำข้อมูลมาประมวลร่วมกันให้ครบถ้วนก่อน จึงจะสามารถกำหนดกรอบระยะเวลาได้

นายอาคม กล่าวถึงกรณีมีการวิจารณ์ถึงต้นทุนการก่อสร้าง ซึ่งระบุว่าทางจีนเสนอราคามาสูงเกินไป ว่า ฝ่ายไทยได้มีการตั้งคณะที่ปรึกษาฝ่ายการเงินที่จะเข้ามาดูแลความเหมาะสมของต้นทุน แต่จากการหารือในครั้งนี้ ทางจีนระบุว่าใช้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในประเทศไทยในการคำนวณ ซึ่งคงต้องมีการตรวจสอบต่อไป

//----------------------

ไทยขอจีนช่วยลดดอกเบี้ยเงินกู้สร้างรถไฟ! "ประวิตร"รับ จีนคิดแพง เกินจะรับไหว
มติชน
วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2558 เวลา 17:10:39 น.




“ประวิตร”เผยกำลังเจรจาขอจีนลดดอกเบี้ยสร้างรถไฟ ชี้ถ้าแพงก็รับไม่ไหว มอบคมนาคมเจรจา



เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 11 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนครั้งล่าสุดเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาและได้มีการเจรจาขอลดดอกเบี้ยในการก่อสร้างรถไฟกับรัฐบาลจีนจาก 4% ให้เหลือ 2% ว่า เรื่องรถไฟมีการตกลงกันว่าดอกเบี้ยยังแพง จึงมีการตกลงกัน ซึ่งขณะนี้กระทรวงคมนาคมของไทยและกระทรวงคมนาคมของจีนกำลังตกลงกันอยู่ เพราะเราต้องการให้ได้ดอกเบี้ยต่ำที่สุด เพราะไม่เช่นนั้นก็รับไม่ไหว และนอกจากนี้ต้องมาตกลงร่วมกันว่าผลประโยชน์ต่างๆจะต้องทำอย่างไร ซึ่งวันนี้กระทรวงคมนาคมของไทยและจีนกำลังคุยกันอยู่

เมื่อถามว่าดอกเบี้ยที่จีนระบุมาจำนวนเท่าไร พลเอกประวิตร กล่าวว่า ยังไม่ทราบ แต่ก็ลดลงมาเรื่อยๆ แต่ยังบอกไม่ได้ว่าสุดท้ายแล้วจะเหลือเท่าไร แต่เราต้องการให้ได้ดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุด เพราะว่าถ้าแพงก็ไม่ไหว

เมื่อถามว่าเรื่องรถไฟไทย-จีนต้องการให้เกิดความชัดเจนภายในปีนี้หรือไม่ พลเอกประวิตร กล่าวว่า อยากให้เรื่องนี้จบภายในปีนี้ แต่จะทันหรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่ทั้งสองประเทศต้องคุยกัน ทุกอย่างจะต้องร่วมมือกันเพื่อให้เกิดความชัดเจน

“เดิมทีวางแผนจะให้จบภายในปีนี้ ในเรื่องของการเริ่มดำเนินการก่อสร้าง แต่ต้องช้าเกี่ยวกับเรื่องสัญญาข้อตกลงความร่วมมือกันและหลายๆเรื่อง ซึ่งเรื่องพวกนี้ต้องตกลงให้ได้ทั้งสองประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียเปรียบได้เปรียบครับ”พลเอกประวิตร กล่าว

เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ว่าจะไปกู้เงินจากแหล่งอื่นมาดำเนินการถ้าดอกเบี้ยของจีนยังแพงอยู่ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ทราบ เรื่องนี้ต้องคุยกัน เพราะยังตกลงกันไม่ได้ว่าเราจะกู้เงินจากจีนหรือจากที่ไหน ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงคมนาคมดำเนินการ ตนก็ทราบแต่กว้างๆและไม่ได้ลงในรายละเอียด
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44522
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 12/09/2015 11:47 am    Post subject: Reply with quote

รถไฟไทย-จีนตามแผนลงนามวันนี้
บ้านเมือง นเสาร์ ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2558, 10.56 น.

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประชุมติดตามความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 7 ร่วมกับหัวหน้าคณะฝ่ายจีน ก่อนที่จะมีการรับรองบันทึกการประชุมและลงนามบันทึกการประชุมในวันที่12 ก.ย.นี้ สำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมรถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 7 เป็นการติดตามความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วปานกลาง ความเร็ว 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 873 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม จากการหารือกลุ่มย่อยวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา เบื้องต้นทางการจีนได้รายงานการศึกษาออกแบบเบื้องต้นในการก่อสร้างระยะที่ 1 ช่วงที่1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย และช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ซึ่งจะมีการสรุปรายละเอียดร่วมกันเพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ตามแผนที่คาดว่าจะเริ่มโครงการได้ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคมนี้

ขณะเดียวกันนายวุฒิชาติ กัลยามิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการ ว่า ขณะนี้โครงการมีการออกแบบเส้นทางเดินรถ และรายละเอียดจุดติดตั้งตัวสถานี โดยในที่ประชุมนอกรอบที่ผ่านมา ฝ่ายไทยได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมในหลายด้าน โดยเฉพาะราคาการก่อสร้างที่ฝ่ายจีนเสนอมา เมื่อเปรียบเทียบราคาในคุณสมบัติเดียวกันพบว่ามีความแตกต่าง นอกจากนี้ยังมีประเด็นเทคนิคด้านการออกแบบด้วย ซึ่งจะหารือรายละเอียดเพิ่มเติมในการประชุมครั้งนี้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่ายังสามารถเปิดประมูลและเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ตามกำหนดกรอบเวลาที่กำหนดไว้ ที่จะเริ่มประมูลได้ในเดือนตุลาคมปี 2558

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วปานกลาง เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด คาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาท เบื้องต้นไทยยังคงยืนยันหลักการเดิม ขอให้จีนจัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 ระยะเวลา 25-30 ปี ปลอดหนี้ 6-7 ปี แต่ติดปัญหาด้านกฎหมายเงินกู้ของ 2 ประเทศที่ไม่สอดคล้องกัน ทำให้ยังไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42709
Location: NECTEC

PostPosted: 13/09/2015 2:28 am    Post subject: Reply with quote

เลื่อนตอกเข็มรถไฟไทย-จีน ติดด่านหินเงินลงทุน-ดอกเบี้ยกดไม่ลง รอประชุมปักกิ่งปลายต.ค.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
11 กันยายน พ.ศ. 2558 เวลา 19:18:37 น.


นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย– จีน ครั้งที่ 7 ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้ติดตามรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมการออกแบบและการสำรวจเส้นทาง ตอนที่1 บางซื่อ-แก่งคอย และตอนที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทางรวม 271.8 กม. ที่จีนส่งผลการศึกษามาให้

โดยจีนระบุว่ายังเป็นการศึกษาเบื้องต้นมูลค่าลงทุรประมาณ2.3แสนล้านบาทยังไม่สามารถประเมินต้นทุนโครงการที่สมบูรณ์ได้ ซึ่งทางจีนจะต้องคำนวนตัวเลขให้ชัดเจนอีก คาดว่าจะทราบผลในเดือนตุลาคมนี้

ส่วนตอนที่ 2 แก่งคอย-มาบตาพุด และตอนที่4 นครราชสีมา-หนองคายนั้นคาดว่าจะศึกษาสำรวจออกแบบเสร็จในเดือนธันวาคม2558

"ตัวเลขมูลค่าโครงการยังไม่นิ่งทำให้ยังกำหนดการกู้เงินและสัดส่วนการลงทุนที่จะร่วมลงทุนกับจีนในรูปแบบSPV งานระบบและเดินรถ มูลค่ากว่า1แสนล้านบาท ครั้งนี้ไทยขอให้จีนร่วมลงทุน50:50จากเดิม60:40 ฝ่ายจีนขอกลับไปพิจารณา"

ส่วนอัตราดอกเบี้ยผลการหารือก็ยังไม่ได้ข้อสรุปเช่นกันเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่จีนเสนอมากว่า 3%ยังสูงกว่าเงินกู้ในประเทศของไทย ก็ต่อรองให้ปรับลดลงอีก

อย่างไรก็ตามคาดว่า จะเห็นความชัดเจนมากขึ้นในการประชุมครั้งที่8จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-29ตุลาคมนี้ที่ปักกิ่ง ประเทศจีน

นายอาคมกล่าวว่า จากการที่ยังต้องใช้เวลาสำหรับการพิจารณาผลศึกษาโครงการ ที่ต้องดูผลตอบแทนการเงิน เวนคืนที่ดินและอีไอเอ คาดว่าดารก่อสร้างระยะแรกจากกรุงเทพ-แก่งคอย-นครราชสีมาจะไม่ทันเดือนตุลาคมนี้ แต่จะพยายามเร่งให้ทันเดือนธันวาคมตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42709
Location: NECTEC

PostPosted: 13/09/2015 5:40 am    Post subject: Reply with quote

อัพเดทโครงสร้างพื้นฐาน 1.6 ล้านล. ฟื้นเชื่อมั่น‘ครม.บิ๊กตู่3’
ฐานเศรษฐกิจ HEADLINE, THAN INSIGHT
ออนไลน์เมื่อ ศุกร์ ที่ 11 กันยายน 2558
ตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3086 วันที่ 10-12 กันยายน พ.ศ. 2558

แม้จะดูเหมือนเปลี่ยนม้ากลางศึก “ครม.บิ๊กตู่ 3” ที่ดัน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ขึ้นไปนั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” จากรัฐมนตรีช่วยมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อมาเร่งสานต่อเมกะโปรเจ็กต์ที่คั่งค้าง ทั้งยังดึงคนนอกอย่าง “ออมสิน ชีวะพฤกษ์” อดีตประธานบอร์ด การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มาเป็นรัฐมนตรีช่วย ดูแลงานด้านระบบรางเสริมทัพอีกแรงหนึ่ง


การเปลี่ยนตัวบิ๊กกระทรวงคมนาคมครั้งนี้ จึงเป็นที่จับตาของทุกภาคส่วนที่คาดหวังว่าจะมีการอัดฉีดเม็ดเงินจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจนับตั้งแต่ปลายนี้เป็นต้นไป และยังเป็น 1 ใน 4 ยุทธศาสตร์ที่ “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” หัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนใหม่ที่ให้ความสำคัญมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเดิมงบประมาณการลงทุนภาครัฐคิดเป็น 40% แต่วันนี้เหลือ 20 % จึงจำเป็นต้องเร่งผลักดัน

งบ 4 หมื่นล้านจ่ายจริงกันยานี้

พลันที่นั่งหัวโต๊ะบิ๊กหูกวาง “อาคม” แถลงทันที (26 สิงหาคม) ว่ามีโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ส่วนใหญ่เป็นระบบรางและถนนที่ต้องเร่งดำเนินการอยู่ทั้งหมด 17 โครงการภายใต้งบประมาณ 1.6 ล้านล้านบาทที่ต้องดำเนินการช่วงปลายปีนี้ถึงปี 2559 และยังมีเม็ดเงินจากงบกระตุ้นเศรษฐกิจที่อนุมัติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์อีก 4 หมื่นล้านบาทเข้ามาขับเคลื่อน ส่วนใหญ่เป็นงบสร้างถนน เชื่อมชายแดน ขยายถนน อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง 2.5 หมื่นล้านบาทและกรมทางหลวงชนทบ 1.5 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายตั้งแต่เดือนกันยายนนี้คาบเกี่ยวไปจนถึงต้นปีหน้า
นอกจากนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคเอกชนเขายังได้มีการจัดประชุมร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันหรือกกร. ยืนยันถึงแผนการลงทุนเรียกความเชื่อมั่นภาคเอกชน และตั้งเป้าหมายจะจัดให้มีการประชุมร่วมกันทุก 2 เดือนเพื่อติดตามความคืบหน้าของแผนงาน โดยจะมีการหารือกลุ่มย่อยแบ่งตามการขนส่งทางบก น้ำ อากาศ และราง อย่างชัดเจนเพื่อติดตามงานด้านกฎ กติกาที่เป็นอุปสรรคต่างๆ อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบอีกด้วย

เข็นอีก 5 หมื่นล้านเซ็นสัญญาQ4

พร้อมทั้งให้ความมั่นใจว่า ในส่วนของเมกะโปรเจ็กต์หลายโครงการที่ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วจะเร่งเปิดประกวดราคาทันที ส่วนอีกหลายโครงการที่ยังไม่ผ่านก็จะเร่งรัดอย่างเต็มที่เพื่อผลักดันเม็ดเงินให้ออกมาในช่วงปลายปีนี้และปีหน้า (ดูตารางประกอบ) ซึ่งโครงการที่คาดว่าจะเซ็นสัญญาได้ในช่วง 3-4 เดือนที่เหลือนี้มี 3 โครงการ

จากการตรวจสอบทั้ง 3 โครงการพบว่าแบ่งเป็นงานโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 2 เส้นทาง คือ

1.รถไฟทางคู่สายฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย วงเงิน 1.05 หมื่นล้านบาท อยู่ในขั้นตอนการประมูลมีผู้สนใจเป็นจำนวนมากวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้จะเปิดให้เสนอราคาทางอี-อ็อกชั่น และ

2.รถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท ที่กำลังอยู่ระหว่างร่างทีโออาร์เตรียมเปิดประมูล

ส่วนอีกโครงการเป็นการก่อสร้างทางหลวง-พิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) สายพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 72 กิโลเมตรวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท กำลังอยู่ในขั้นตอนร่างทีโออาร์ เพื่อรอเปิดประมูล เพราะมีงบพร้อมอยู่แล้ว ซึ่งงบที่ก่อสร้างมาจากกองทุนค่าธรรมเนียมผ่านทางมาดำเนินการ กำลังเริ่มออกทีโออาร์เตรียมเปิดประมูล ซึ่งโครงการนี้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนและน่าจะลงนามได้ในเดือนธันวาคมนี้ ขณะที่มอเตอร์เวย์อีก 2 โครงการ กำลังทำเรื่องเสนอของบประมาณจากกระทรวงการคลัง

รถไฟฟ้า 4 สายจ่อเข้าครม.

นอกจากนี้ยังโครงการรถไฟฟ้าที่เริ่มมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นอีก 4 สายไม่ว่าจะเป็นสายสีส้มที่ขณะนี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (รฟม.) ได้เสนอเรื่องมายังกระทรวงแล้ว เตรียมนำเสนอ ครม.อีกส่วนหนี่ง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะวิเคราะห์โครงการไปพร้อมๆ กัน คาดว่าจะอนุมัติได้ในเดือนธันวาคมนี้ แบ่งการดำเนินการเป็น 2 ส่วนคือ งานก่อสร้างและ 2.การเดินรถและจัดหารถ โดยเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ ด้านสายสีชมพู และสายสีเหลือง เป็น โมโนเรล ทั้งสองโครงการนี้จะเปิดให้เอกชนลงทุน 100% ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2556

ทั้งสายสีส้ม สายสีเหลือง สายสีม่วงเป็นส่วนต่อขยาย จาก เตาปูนถึงราษฎร์บูรณะ มีการนำเสนอเรื่องมายังกระทรวงคมนาคมแล้วรอนำเข้าเสนอ ครม.อนุมัติ ยกเว้นส่วนสายสีชมพูที่ขณะนี้เรื่องอยู่ที่ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กำลังทำเรื่องสรุปเพื่อนำเสนอกระทรวงคมนาคมต่อไป ในขณะที่สายสีม่วง (เตาปูน-บางใหญ่) เปิดให้บริการแน่โดยจะเริ่มทดลองวิ่งในวันที่ 5 ธันวาคมนี้ โดยขณะนี้ขบวนรถกำลังนำเข้ามาญี่ปุ่นถึงประเทศไทยในเดือนกันยายนนี้ ใช้เวลาเซ็ตอัพระบบ ระยะหนึ่ง และคาดจะเริ่มให้ทดสอบในเดือนมีนาคมปี 2559

“ออมสิน”ดันรางคู่เต็มเหนี่ยว

อย่างไรก็ดี ทางด้านรมช.ออมสิน ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลงานระบบราง ของ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ออกมาตอกย้ำว่า จะเร่งรัดประกวดราคาโครงการรถไฟทางคู่ 6 เส้นทางให้ได้ภายในปีนี้ หลังขายเอกสารประกวดราคาเส้นทาง ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอยแล้วและจะเร่งขายเอกสารประกวดราคาเส้นทาง จิระ-ขอนแก่น หลังของอนุมัติบอร์ด ร.ฟ.ท. (วันที่ 8 กันยายน)

ส่วนเส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร และมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ได้รับการอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้ว คาดจะเร่งประกาศทีโออาร์ในเร็วๆ นี้ ส่วนเส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพและนครปฐม-หัวหิน กำลังเร่งรัดให้พิจารณา อีไอเอ เพื่อให้สามารถเปิดประกวดราคาได้ภายในปีนี้ ตามเป้าหมายรัฐบาล

รถไฟความเร็วสูงลุ้นปีหน้า

สำหรับโครงการความร่วมมือรถไฟจีน และญี่ปุ่น โดยในส่วนของรถไฟไทย-จีนเส้นทาง กทม.-หนองคาย หนองคาย-แหลมฉะบัง ซึ่งอยู่ในการดูแลของ รมว. อาคม ความคืบหน้าล่าสุดขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาผลการศึกษาความเป็นไปได้ที่จีนได้ส่งมาแล้ว และจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 11-12 กันยายนนี้ ซึ่งแผนเดิมคาดว่าจะเริ่มต้นก่อสร้างได้ในเดือนตุลาคมนี้ ส่วนรถไฟไทย-ญี่ปุ่น กทม.-เชียงใหม่ เป็นรถไฟความเร็วสูง ขณะนี้เริ่มทำการศึกษาทางด้านเทคนิค กลางปีหน้าน่าจะครม.อนุมัติในหลักการ เช่นเดียวกับรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง กทม.-พัทยา-ระยองและกทม.-หัวหิน จะเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุน คาดว่าปี 2559 น่าจะเสนอขออนุมัติเห็นชอบจาก ครม.

เมกะโปรเจ็กต์กระตุ้นการลงทุนครั้งใหญ่ 1.6 ล้านล้านบาทจะเป็นจริงแค่ไหนรอลุ้นกันอีกเฮือก !!
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42709
Location: NECTEC

PostPosted: 14/09/2015 4:18 am    Post subject: Reply with quote

รถไฟไทย-จีนส่อเลื่อนก่อสร้างเป็นธ.ค.58 หลังจีนเสนอราคาสร้างสูงกว่าไทย
มติชน
วันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2558 เวลา 19:11:54 น.


นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 7 ว่า ได้มีการหารือถึงผลการศึกษา สำรวจ ออกแบบและก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ขนาดรางมาตรฐาน ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 133 กม. และช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 138.5 กม. ที่จีนเสนอมาพบว่ามูลค่าโครงการที่จีนเสนอมาสูงกว่าราคาประเมินของไทยมากถึง 25-30% อีกทั้งประมาณการรายรับและรายจ่ายของโครงการที่เสนอยังไม่ครอบคลุมทั้งโครงการซึ่งมี 2 ระยะ ซึ่งจะรวมระยะที่ 2 ในเส้นทางช่วงที่ 2 แก่งคอย-มาบตาพุด และช่วงที่4 นคราชสีมา-หนองคายด้วย ขณะที่แบบก่อสร้างที่จีนเสนอมายังไม่ครบถ้วน

นายอาคม กล่าวว่า สำหรับรูปแบบการลงทุน จะใช้รูปแบบนิติบุคคลเฉพาะกิจ (เอสพีวี) โดยการตั้งบริษัทร่วมทุนร่วมกัน เบื้องต้นได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมากำหนดรายละเอียดสัดส่วนการร่วมทุนที่เหมาะสมคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเทอมการชำระเงินกู้ จีนรับว่าจะให้อัตราดอกเบี้ยที่ดีที่สุดแบบมิตรภาพ โดยขณะนี้กระทรวงการคลังและสำนักบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) ของไทยได้นำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับรูปแบบการกู้เงินของไทยให้ฝ่ายจีนรับทราบแล้ว

“ขณะนี้ การเจรจายังตกลงกันไม่ได้หลายเรื่อง ทำให้การเริ่มก่อสร้างอาจจะล่าช้าออกไปเป็นเดือนธันวาคมจากเดิมกำหนดไว้ในเดือนตุลาคมนี้ โดยหลังจากนี้ไทยจะจ้างที่ปรึกษาเข้ามาประเมินมูลค่าก่อสร้างที่แท้จริงใหม่คาดว่าจะใช้เวลา 1 เดือน ส่วนการปรับแบบก่อสร้างใหม่นั้นคาดว่าจีนจะสามารถนำกลับมาเสนอให้ไทยพิจารณาได้ในการประชุมครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 27-28 ตุลาคมนี้ ที่ประเทศจีน”

//---------------------

รถไฟไทย-จีนเฟสแรกค่าก่อสร้างบาน ผลตอบแทนต่ำ-ยึดตอกเข็มเป็นธ.ค.58


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
14 กันยายน 2558 08:21 น.



ยืดสรุปผลศึกษาออกแบบรถไฟไทย-จีนเฟสแรกกรุงเทพ-โคราชอีก 1 เดือน “อาคม”ขยับตอกเข็มไปใช้แผน 2 เดือน ธ.ค.นี้ ชี้จีนออกแบบ ทำค่าก่อสร้างแพง หวั่นกระทบต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้ติงประมาณการรายได้ยังต่ำ แนะคำนวณจำนวนผู้โดยสารและสินค้าจากจีน-ลาว-ไทย ตลอดแนว พร้อมส่งที่ปรึกษารีเช็คค่าก่อสร้างนัดประชุมครั้ง 8 ที่กรุงปักกิ่ง28-29 ต.ค. นี้เชื่อได้ข้อสรุปผลศึกษาเฟส 2 เล็งเสนอครม.ขออนุมัติในพ.ย.

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า จากการประชุมความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 7 ร่วมกับ Mr. Wang Xiaotao (นายหวัง เสียวเทา) รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ หัวหน้าคณะฝ่ายจีน เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2558 ในการศึกษาความเหมาะสมการออกแบบและการสำรวจเส้นทางโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย, แก่งคอย-มาบตาพุด, แก่งคอย-โคราช, โคราช-หนองคาย ระยะทาง 873 กม. ในเฟสแรก ตอนที่ 1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 133 กม. และตอนที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 138.5 กิโลเมตร โดยจีนได้นำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้น ซึ่งได้ออกแบบรายละเอียด (Detail & Design) ไปได้ประมาณ 30%

โดย พบว่ายังมีต้นทุนค่าก่อสร้างที่สูงกว่าผลการศึกษาเดิม เนื่องจากการก่อสร้างมีความยาก เพราะมีสะพานและอุโมงค์ ถึง 75% ของระยะทางแล้ว ทางจีนได้ออกแบบโครงสร้างสะพานที่ยาวมากขึ้นโดยทางจีนจะไปทำรายละเอียดและเหตุผลเพิ่มเติม นอกจากนี้ฝ่ายไทยยังตั้งข้อสังเกตในเรื่อง มูลค่าโครงการ ประมาณการต้นทุนประมาณการจำนวนผู้โดยสาร ประมาณการรายได้ ผลตอบแทนทางการเงิน เนื่องจากเห็นว่า การประเมินตัวเลขการลงทุนของตอนที่ 1,3 นั้นจะต้องนำประมาณการและการส่งต่อผู้โดยสารในตอนที่ 2,4 ที่รับมาจากลาวและจีน มาประกอบด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุน ประมาณการรายได้ของทั้งโครงการ โดยฝ่ายไทยได้ให้ที่ปรึกษาเข้าไปตรวจสอบความเหมาะสมที่ทางจีนศึกษาและประเมินไว้ โดยคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 1 เดือน

ส่วนเรื่องรูปแบบการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle : SPV) ระหว่างไทย-จีน เพื่อร่วมลงทุนงานระบบและงานเดินรถ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.2แสนล้านบาทนั้น เป็นไปตามข้อตกลงเดิม ส่วนสัดส่วนการถือหุ้นนั้นครั้งนี้ไทยเสนอ 50:50 จากเดิมที่ 60:40 ซึ่งจีนรับไปพิจารณา และใช้สัญญาก่อสร้างแบบ EPC หรือ Engineering Procurement Construction

นายอาคมกล่าวว่า ได้กำหนดประชุมร่วมครั้งที่ 8 ในวันที่ 28-29 ต.ค. นี้ ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน โดย คาดว่าจะมีรายละเอียดและมูลค่าการลงทุนในตอนที่ 1 และ 3 ส่วน ตอนที่ 2 และ 4 นั้น การศึกษาจะแล้วเสร็จเดือนธ.ค. แต่คาดว่าจะนำเสนอผลการศึกษาในเบื้องต้นได้ ซึ่งจะทำให้ทราบถึงมูลค่าโครงการทั้งหมด ผลตอบแทนและเป็นไปได้ที่จะสามารถนำผลศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ (Feasibility Study) ของทั้งโครงการ เสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อขออนุมัติโครงการได้ในเดือนพ.ย.2558 และจะสามารถตอกเข็มเพื่อเริ่มต้นการก่อสร้างตอนที่ 1,3 ได้ภายในเดือนธ.ค. 2558 ซึ่งอยู่ในแผนที่ 2 ที่กำหนดไว้ช่วงวันที่1-10ธ.ค. 2558 (วันแห่งการก้าวสู่เทคโนโลยีใหม่ในรัชกาลที่ 9) แทนแผน 1 ที่กำหนดไว้เดิมใน วันที่ 23 ต.ค. (วันปิยมหาราชบิดารถไฟไทย)

“การประชุมครั้งที่ 8 ที่จีน จะชัดเจนมากขึ้น ซึ่งยังตกลงที่จะเตรียมพร้อมในเรื่องของสัญญาร่วมทุน สัญญาการตั้ง SPVและเอ็มโอยูเรื่องสัญญาการถือหุ้น สัญญาก่อสร้าง รูปแบบการลงทุน ตอนนี้ตัวเลขยังไม่นิ่ง ซึ่งตราบใดที่ยังไม่รู้ว่าปริมาณงานในแต่ละส่วนจะไม่ทราบปริมาณการกู้ส่วนดอกเบี้ยจะสูงหรือต่ำต้องดูที่ผลตอบแทนที่มาจากการประมาณการรายได้ จากจำนวนผู้โดยสารและสินค้าซึ่งต้องดูตั้งแต่ต้นทางจากจีน ส่งต่อลาวมาไทย ต้องมองทั้งเส้นทาง และได้แจ้งจีนไปแล้วว่า การกู้เงินแบบนี้ จะต้องบวกเรื่องการสวอปอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งมีความเสี่ยงไปด้วย
ดูเฉพาะอัตราดอกเบี้ยที่เสนอมาให้อย่างเดียวไม่ได้ โดยจีนยังยืนยันว่าจะพิจารณาให้ดีที่สุด”นายอาคมกล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า รูปแบบการก่อสร้างช่วงกรุงเทพ-โคราชนั้น จะเป็นทางยกระดับแทบทั้งหมด ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้ค่าก่อสร้างค่อนข้างสูง ในขณะที่ จีน จะตั้งศูนย์ควบคุมการเดินรถ (OCC) ที่เชียงรากน้อย ซึ่งพื้นที่เขตทางและย่านสถานีรถไฟมีไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเวนคืนเพิ่มนอกจากนี้ยังมีบางสถานีที่จะต้องมีพื้นที่สำหรับเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงย่อย ซึ่งจะต้องเวนคืนเพิ่มเติมเช่นกัน ในขณะที่การเสนอขออนุมัติครม.นั้นจะต้องศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทั้งโครงการก่อน ซึ่งนายอาคม ยอมรับว่า โครงการทั้งหมดมี 4 ตอน ต้องมีการศึกษาทั้งหมด เพื่อเสนอขออนุมัติ จะมาขออนุมัติทีละตอนไม่ได้ ซึ่งทางธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกจากจีน (China EXIM Bank) เองต้องการเห็นผลศึกษาทั้งโครงการก่อสร้างก่อนเพราะจะรู้ต้นทุนทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ทุกคนที่เกี่ยวข้องเร่งทำงานอย่างเต็มที่ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเร่งรัดโครงการ
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44522
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 17/09/2015 8:19 am    Post subject: Reply with quote

ขอนแก่นเปิดเวทีสรุปผลการศึกษา รถไฟทางคู่กรุงเทพฯ–หนองคาย
หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- พฤหัสบดีที่ 17 กันยายน 2558 06:00:00 น.

นายกำธร ถาวรสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และนายชัยวัฒน์ ทองคูณรองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน (Standard Gauge) เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ภายใต้โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-หนองคายระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษาในพื้นที่ และภาคประชาชน ภายใน จ.นครราชสีมา รวมประมาณ 400 คน เข้าร่วมที่ห้องประชุม คอนเวนชั่น โรงแรมเซ็นทารา ขอนแก่น

โดยการสัมมนาครั้งนี้ได้นำเสนอสรุปผลการศึกษาโครงการ เกี่ยวกับแนวเส้นทางรูปแบบการเดินรถ ผลประโยชน์จากโครงการ และผลกระทบสิ่งแวดล้อม แนวเส้นทางโครงการมีจุดเริ่มต้นบริเวณสถานีรถไฟนครราชสีมา สิ้นสุดโครงการบริเวณสถานีรถไฟหนองคาย ผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย มีระยะทางประมาณ 355 กิโลเมตร

โดยแนวเส้นทางจะเป็นทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร วางขนานไปกับแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ขนาด 1 เมตร ก่อสร้างเป็นทางอิสระอยู่ภายในเขตทางรถไฟปัจจุบันให้มากที่สุด เพื่อลดผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินรูปแบบการเดินรถขนาดทางมาตรฐานมี 2 ทางเลือก ประกอบด้วย 1.การเดินรถร่วมกันระหว่างรถไฟโดยสารกับขบวนรถสินค้า (Mixed Traffic) ออกแบบให้รองรับรถไฟความเร็วสูงสุด 200 กม/ชม. และขบวนรถสินค้าความเร็วสูงสุด 120 กม./ ชม. ใช้ระยะเวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ-หนองคาย รวม4 ชั่วโมง มูลค่าโครงการประมาณ 239,285ล้านบาท และ 2.การเดินเฉพาะรถไฟความเร็วสูง ออกแบบให้รองรับรถไฟความเร็วสูงสุด 300 กม.ต่อชม. โดยไม่มีขบวนรถสินค้าวิ่งร่วมด้วย ใช้ระยะเวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ-หนองคาย รวม 3 ชั่วโมง มูลค่าโครงการประมาณ235,325 ล้านบาท

ทั้งนี้ จะเป็นสถานียกระดับทั้งหมดกรณีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและการเงิน เมื่อรวมผลประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจในเชิงกว้างแล้ว กรณีพัฒนาโครงการแบบเดินรถร่วมกัน และมีโครงข่ายทางรถไฟจากจีนมาเชื่อมโยงจะมีความคุ้มค่าและมีความเหมาะสมทางเศรษฐกิจมากที่สุด
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44522
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 17/09/2015 12:34 pm    Post subject: Reply with quote

รถไฟไทย-จีนลุ้นเฮือกที่ 8 สร้างทันปีนี้หรือเลื่อนตอกเข็มไปปี59
พฤหัสบดี ที่ 17 กันยายน 2558 ฐานเศรษฐกิจ HEADLINE

ต้องลุ้นกันว่าท้ายที่สุดแล้วโครงการรถไฟไทย-จีนจะแจ้งเกิดได้หรือไม่ และความร่วมมือกันแบบจีทูจีจะสำเร็จหรือไม่ ขณะที่การประชุมร่วม 2 ฝ่ายผ่านไปแล้วถึง 7 ครั้ง ผลลัพธ์ที่ปรากฏมีเพียงผลการศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น แต่ใช่ว่าจะสิ้นสุดแบบสรุปเสร็จเพียงเท่านี้ เนื่องจากยังจะมีการประชุมครั้งที่ 8 ที่กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 27-28 ตุลาคมนี้ ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน

Click on the image for full size

ประการสำคัญหลายฝ่ายยังเชื่อกันว่าน่าจะมีการประชุมร่วมกันถึง 10 ครั้ง กว่าที่จะสรุปความชัดเจนให้เปิดประมูลเพื่อหาผู้รับเหมาตอกเข็มก่อสร้าง โดยเฉพาะเรื่องแบบการก่อสร้าง งบประมาณ การเดินรถและการบริหารจัดการ

ลุ้นตอกเสาเข็มเฟสแรกปลายปีนี้

แผนเดิมโครงการรถไฟไทย-จีนกำหนดตอกเสาเข็มเดือนตุลาคมนี้ ก็มีอันต้องเลื่อนออกไปเป็นปลายปีนี้ จากคำยืนยันของนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ได้กล่าวกับสื่อมวลชนที่ไปเฝ้าติดตามผลการประชุมครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 11-12 กันยายนที่ผ่านมา ว่างานที่ฝ่ายจีนรับดำเนินการ ซึ่งต้องใช้เทคนิคพิเศษ อาทิ งานด้านอุโมงค์อาจจะต้องดำเนินการก่อน และงานที่ผู้รับเหมาไทยรับไปดำเนินการต้องผ่านกระบวนการต่างๆของไทยให้ครบถ้วนก่อน

ทั้งนี้ มีข่าวเล็ดลอดออกมาจากวงประชุมว่าฝ่ายไทยขอขยายเวลาออกไปอีกประมาณ 8-9 เดือน เพราะอยากให้กระบวนการขั้นตอนต่างๆเสร็จสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอขอความเห็นชอบจากหน่วยงานต่างๆ การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้โครงการ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ สื่อมวลชนและประชาชนทั่วประเทศรับทราบในทิศทางเดียวกัน ตลอดจนการรับรองผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ซึ่งเป็นไปได้ว่าหากผลการศึกษาอีไอเอของโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่นำเสนอไปยังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ได้รับอนุมัติเร็วๆนี้ และปลายปีนี้ก็คงจะมีลุ้นว่าคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น

ด้านผลการศึกษาเบื้องต้นที่ฝ่ายจีนนำเสนอมานั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาของไทย ยืนยันว่าจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 3 เดือน เพื่อตรวจสอบรายละเอียดให้รอบคอบ ฉะนั้น เมื่อผลการศึกษายังไม่สรุป คงยังไม่ต้องพูดถึงจำนวนเงินและแหล่งงบประมาณที่จะนำไปใช้ดำเนินการว่าท้ายที่สุดแล้วจะกู้จากฝ่ายจีนจำนวนมากน้อยเพียงใด จะกู้จากสถาบันการเงินในประเทศจำนวนเท่าใด อีกทั้งจะได้อัตราดอกเบี้ยอย่างไร เพราะความช่วยเหลือทางการเงินครั้งนี้ฝ่ายจีนได้เสนอวงเงินกู้อัตราดอกเบี้ยพิเศษให้กับฝ่ายไทย เนื่องจากความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นการก่อสร้างโครงการมิตรภาพที่แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีร่วมกัน การเสนอวงเงินกู้ต้องเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับได้นั่นเอง

เฟสแรกจีนเสนอค่าก่อสร้างสูงกว่า 30%

ผลการประชุมครั้งที่ 7 พบว่างานด้านการก่อสร้างเฟสแรกช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ- แก่งคอย ระยะทาง 133 กิโลเมตร และช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 138.5 กิโลเมตร ซึ่งมีเป้าหมายจะดำเนินการตอกเข็มก่อนนั้นดูจะไม่หมูอย่างที่คิดเสียแล้ว เมื่อฝ่ายจีนประเมินการลงทุนแพงกว่าที่คาดการณ์ถึง 30% ทั้งที่ในการเจรจาต่อกันได้เห็นชอบในการเตรียมรูปแบบการลงทุนเป็นรูปแบบนิติบุคคลเฉพาะกิจ(เอสพีวี)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงมอบหมายให้ร.ฟ.ท. ร่วมหารือกับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาโครงการเส้นทางนี้ เร่งประเมินผลพร้อมหาข้อสรุปเพื่อให้ทันตอกเสาเข็มก่อสร้างในเดือนธันวาคม 2558

ทั้งนี้นายประเสริฐ อัตตะนันทน์ รองผู้ว่าการร.ฟ.ท. ยังชี้ให้เห็นอีกว่าผลการศึกษาที่ฝ่ายจีนส่งมานั้นมีเป็นจำนวนมาก ฝ่ายไทยต้องใช้เวลาศึกษาให้รอบคอบก่อน เบื้องต้นยังพบอีกว่าการประเมินเรื่องรายรับ- รายจ่ายไม่มีความชัดเจน เพราะฝ่ายไทยต้องการให้รับรู้ถึงช่วงที่ 2 แก่งคอย-มาบตาพุด และช่วงที่ 4 นครราชสีมา-หนองคาย เพื่อประเมินให้ครบทั้งโครงการ

อย่างไรก็ตามมติที่ประชุมได้เร่งรัดให้ฝ่ายจีนส่งผลศึกษา การสำรวจออกแบบ รายละเอียดเฟส 2 ให้ได้ภายในเดือนตุลาคมนี้ จากกำหนดการเดิมเดือนพฤศจิกายน เพื่อให้ทันนำเข้าพิจารณาการประชุมครั้งที่ 8 ก็จะได้เห็นภาพรวมทั้งโครงการ ก่อนที่จะนำเสนอครม.อนุมัติให้ดำเนินการโดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี
ดังนั้นแนวโน้มจึงเป็นไปได้ยากในการปฏิบัติ เพราะผลการศึกษาเฟสแรกที่ฝ่ายจีนนำเสนอเป็นเพียงเบื้องต้นเท่านั้น ร.ฟ.ท.และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาของไทยขอใช้เวลาประมาณ 3 เดือนตรวจสอบให้รอบคอบ อีกทั้งยังต้องมีเฟสที่ 2 ที่รอให้ฝ่ายจีนนำเสนอพิจารณาในเดือนตุลาคมนี้อีกด้วย

คงต้องลุ้นว่าเฮือกที่ 8 ของการประชุมที่จีนจะสำเร็จหรือไม่ และจะประมูลปลายปีนี้หรือปีหน้าสำหรับรถไฟไทย-จีนเส้นทางประวัติศาสตร์ของความร่วมมือ เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางการคมนาคมขนส่งของไทยและจีนให้ได้รับความสะดวกยิ่งขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3088 วันที่ 17-19 กันยายน พ.ศ. 2558
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 50, 51, 52 ... 121, 122, 123  Next
Page 51 of 123

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©