Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Ads Service

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311232
ทั่วไป:13179897
ทั้งหมด:13491129
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าวรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม(บางซื่อ-รังสิต และ บางซื่อ-หัวลำโพง)
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ข่าวรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม(บางซื่อ-รังสิต และ บางซื่อ-หัวลำโพง)
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 73, 74, 75 ... 147, 148, 149  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคต
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 04/11/2019 1:43 pm    Post subject: Reply with quote

สายสีแดงบูม 3 เมืองใหม่ บางซื่อพลิกโฉมค้าปลีกอาเซียน
พร็อพเพอร์ตี้
วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2562 เวลา 12:00 น.


สายสีแดงบูมเมืองใหม่เชื่อม “ศาลายา-ทุ่งสองห้อง-รังสิต” การรถไฟฯเร่งหาเอกชนรับสัมปทานพื้นที่สถานีบางซื่อ 2.6 แสน ตร.ม. ใหญ่สุดในอาเซียน หวังพัฒนารีเทล ศูนย์อาหารพ่วง 10 สถานี ประมูลอีก 32 ไร่ 1.1 หมื่นล้าน จับตายักษ์ค้าปลีกรุมชิงเค้ก ไอทีสแควร์สร้างสกายวอล์กถึงสถานีหลักสี่ “ธรรมศาสตร์” ปัดฝุ่นที่ดิน สร้างเมืองใหม่ ผุดฟีดเดอร์เชื่อมสถานี “มหิดล” เล็งพัฒนาเชิงพาณิชย์ “ศิริราช” ลงทุน 2 พันล้านเปิดศูนย์แพทย์รับจุดตัดสายสีแดง-สีส้ม

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังรับรถไฟฟ้าชุดแรก 2 ขบวน ซึ่งสั่งซื้อจากบริษัท ฮิตาชิ วงเงิน 32,399 ล้านบาท ประเทศญี่ปุ่น เพื่อใช้ในระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ภายในเดือน มี.ค. 2563 รถจะมาครบ 25 ขบวน เริ่มทดสอบระบบช่วงกลางปี ทดลองการเดินรถฟรีในปีหน้าช่วงไตรมาส 4 และเปิดบริการเต็มรูปแบบเก็บค่าโดยสารในเดือน ม.ค. 2564 ในอัตรา 15-50 บาท คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการ 80,000-100,000 เที่ยวคนต่อวัน
advertisement

สัมปทานพื้นที่สถานีบางซื่อ

“การเดินรถต้องรอคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้บริษัท รถไฟ ร.ฟ.ท. จำกัด ซึ่งบริษัทลูกเป็นผู้ดำเนินการ เก็บค่าโดยสาร เดินรถ บริหารพื้นที่ 10 สถานี ยกเว้นสถานีบางซื่อ ดอนเมือง และรังสิต ที่ ร.ฟ.ท.จะบริหารจัดการเอง ค่าโดยสารช่วงแรกอาจจัดโปรโมชั่นลดราคาจูงใจคนมาใช้บริการ ซึ่งสายสีแดงถือเป็นรถไฟฟ้าสายหลักที่เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างชานเมืองเข้าสู่ใจกลางเมือง มีสถานีกลางบางซื่อเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางระบบรางแห่งใหม่ ไปยังสายสีน้ำเงิน และรถไฟความเร็วสูง”

ปัจจุบันสถานีกลางบางซื่อก่อสร้างคืบหน้ากว่า 91.11% จะแล้วเสร็จเดือน ก.พ. 2563 เปิดบริการ 2564 พร้อมสายสีแดงจะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางรางที่ใหญ่ และทันสมัยที่สุดในอาเซียน มีพื้นที่ใช้สอยรวม 264,862 ตร.ม. ที่จอดรถ 1,700 คัน มี 24 ชานชาลา สำหรับรถไฟชานเมือง รถไฟทางไกล รถไฟความเร็วสูง และแอร์พอร์ตลิงก์ รับผู้โดยสารได้ถึง 3 แสนคน/วัน

นายวรวุฒิกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำทีโออาร์เปิดประมูลหาเอกชนมาบริหารจัดการพื้นที่ ซึ่งมีขนาดใหญ่ใกล้เคียงสนามบินสุวรรณภูมิ เช่น พื้นที่เชิงพาณิชย์และศูนย์อาหาร อยู่บริเวณชั้นลอยของสถานี และกระจายตามจุดต่าง ๆ โดยรอบสถานี จะประมูลให้เอกชนรายเดียวรับบริหารจัดการ พื้นที่ป้ายโฆษณาภายในและภายนอกสถานี เป็นต้น ส่วนพื้นที่สินค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ร.ฟ.ท.ไม่ได้กำหนดไว้ แต่หากเอกชนเห็นว่าพื้นที่มีศักยภาพก็เสนอเพิ่มได้

นอกจากนี้ จะเร่งประมูล PPP net cost 30 ปี พื้นที่เชิงพาณิชย์แปลง A เนื้อที่ 32 ไร่ มูลค่า 11,721ล้านบาท ใกล้กับสถานีกลางบางซื่อควบคู่ไปด้วย ให้เกิดกิจกรรมรองรับการเดินทางของประชาชน เพราะสถานีกลางบางซื่อพื้นที่เชิงพาณิชย์มีน้อย แต่ต้องรอสำนักงานคณะกรรมนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ยืนยันว่า ร.ฟ.ท.ต้องดำเนินการประมูลตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน ปี 2556 หรือปี 2562 เพื่อเปิดประมูลอีกครั้งต้นปีหน้า หลังรอบแรกไม่มีเอกชนยื่นประมูล

บิ๊กค้าปลีกปิ๊ง พท.รีเทล

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าวว่า การบริหารพื้นที่สถานีกลางบางซื่อจะแบ่งประมูล 4 ส่วน ได้แก่ 1.พื้นที่เชิงพาณิชย์และศูนย์อาหาร 13,208 ตร.ม. ระยะเวลา 10 ปี มีผู้ประกอบการค้าปลีกสนใจหลายราย อาทิ เซ็นทรัล เดอะมอลล์ 2.พื้นที่โฆษณา 2,300 ตร.ม. ระยะเวลา 10 ปี 3.จ้างเหมาบริหารพื้นที่กลาง และซ่อมบำรุง เช่น แม่บ้านทำความสะอาด รปภ. ระยะเวลา 5 ปี ค่าจ้างขั้นต่ำ 600 ล้านบาท และ 4.จ้างบริหารพื้นที่ลานจอดรถและแท็กซี่ ระยะเวลา 5 ปี วงเงิน 90 กว่าล้านบาท จะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.พิจารณาปลายปีนี้ และเปิดประมูลต้นปี คาดว่าจะได้เอกชนกลางปีหน้า

ส่วนพื้นที่สถานี 10 แห่งในแนวสายสีแดง ได้แก่ ตลิ่งชัน บางบำหรุ บางซ่อน จตุจักร วัดเสมียนนารี บางเขน ทุ่งสองห้อง หลักสี่ การเคหะ หลักหก ระหว่างรอ ครม.อนุมัติบริษัทลูกให้เดินรถ ทาง ร.ฟ.ท.จะเสนอบอร์ดอนุมัติให้เปิดประมูลหาเอกชนมาบริหารไปก่อน มี 3 สัญญา สัมปทาน 10 ปี คือ พื้นที่รีเทล ป้ายโฆษณา และที่จอดรถ จากนั้นจะโอนสัญญาให้บริษัทลูกรับบริหารต่อไป

ทุ่งสองห้อง-หลักสี่คึก

ส่วนการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นใหม่ในแนวสายสีแดงเริ่มคึกคักขึ้น มีเอกชนสนใจจะก่อสร้างทางเดินเชื่อมกับสถานี เช่น สถานีหลักสี่ ห้างไอทีสแควร์สร้างสกายวอล์กมาเชื่อม

สำหรับความคืบหน้าส่วนต่อขยายสายสีแดง 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 27.94 กม. วงเงินลงทุนรวม 23,417.61 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,570.40 ล้านบาท 2.ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา 14.8 กม. วงเงิน 10,202.18 ล้านบาท และ 3.ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 4.3 กม. วงเงิน 6,645.03 ล้านบาท นายวรวุฒิกล่าวว่า หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเมื่อต้นปี 2562 ล่าสุด ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างเตรียมการเปิดประมูล ตั้งเป้าเปิดขายเอกสารประมูลเดือน ธ.ค.นี้ หรืออย่างช้าต้นปี 2563 จะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี กำหนดแล้วเสร็จเปิดบริการปี 2565

“ส่วนต่อขยายใหม่จะมาเติมเต็มโครงข่ายของสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ทำให้การเดินทางเชื่อมต่อใจกลางกรุงเทพฯกับชานเมืองไปยัง จ.ปทุมธานี และนครปฐม สะดวกรวดเร็วขึ้น”

นอกจากนี้จะก่อสร้างสถานีใหม่เพิ่มให้การเดินทางครอบคลุมมากขึ้น ได้แก่ สถานีพระราม 6 สถานีบางกรวย-การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ของเส้นทางช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จากเดิมมี 3 สถานี คือ บางซ่อน บางบำหรุ และตลิ่งชัน และเพิ่ม 1 สถานีของช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ที่สถานีบ้านฉิมพลี เป็น 4 สถานี ได้แก่ ฉิมพลี กาญจนาภิเษก ศาลาธรรมสพน์ และศาลายา ส่วนช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ มีสถานี ม.กรุงเทพ เพิ่มเป็น 4 สถานี ได้แก่ คลองหนึ่ง เชียงรากน้อย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ปีแรกช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ จะมีผู้โดยสาร 28,150 เที่ยวคน/วัน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา 47,570 เที่ยวคน/วัน และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช อยู่ที่ 55,200 เที่ยวคน/วัน” นายวรวุฒิกล่าว

ธรรมศาสตร์ผุดฟีดเดอร์รับ

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กำลังศึกษารูปแบบระบบขนส่งสายรองเพื่อเป็นระบบฟีดเดอร์เชื่อมต่อกับสถานี ม.ธรรมศาสตร์ ของสายสีแดงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เบื้องต้นกำหนดโครงสร้างแบบยกระดับ ใช้ระบบขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และลดการใช้พลังงาน เช่น รถไฟฟ้า (EV) ส่วนจะเป็นรูปแบบรถไฟฟ้ารางเบา (light rail) หรือระบบอื่นไม่ยังสรุป

แต่กำหนดแนวเส้นทางไว้แล้วจะก่อสร้างจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)-สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)-สถานี ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 2-2.5 กม. อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมรูปแบบการลงทุน มี 2 ทางเลือก คือ มหาวิทยาลัยลงทุนเอง กับเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP

สร้างเมืองใหม่ในมหา’ลัย

ปัจจุบัน มธ.กำลังปรับปรุงและก่อสร้างอาคารใหม่ ประกอบด้วย 1.ก่อสร้างอาคารกิติยาคาร วงเงิน 498 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลและ มธ.ออกงบประมาณคนละ 50% เป็นการปรับปรุงอาคารยิมเนเซียม 2 เดิม พัฒนาเป็นหอประชุมขนาด 3,500 ที่นั่ง จัดการประชุมสัมมนา กำลังปรับปรุงภูมิทัศน์ จะแล้วเสร็จเดือน ก.ค. 2563

2.อาคารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี พื้นที่ 92 ไร่ วงเงิน 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็น พื้นที่อาคารอุทยานการเรียนรู้ 
4 ชั้น พื้นที่ 12 ไร่ จะเปิดใช้วันที่ 10 ธ.ค.นี้ กับสวนป๋วยพื้นที่ 80 ไร่ ออกแบบเรียบร้อยแล้ว จะทำสัญญาจ้างเดือน พ.ย.นี้ จะพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียว มีทั้งพื้นที่ปลูกผักสวนครัว แปลงนาข้าว สวนสาธารณะ และลานกิจกรรมสำหรับให้คนทุกวัยมาใช้ออกกำลังกาย 3.แผนขยายโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติจาก 750 เตียง เป็น 900 เตียง และได้วางแผนพัฒนาโรงพยาบาลระดับพรีเมี่ยมเหมือนโรงพยาบาลศิริราช
ปิยมหาราชการุณย์ด้วย

แหล่งข่าวจาก มธ.กล่าวเสริมว่า การก่อสร้างสวนป๋วยจะต้องระดมทุนให้ได้ 150 ล้านบาท ปัจจุบันระดมทุนได้แล้ว 90 ล้านบาท อาจจะนำเงินดังกล่าวลงทุนไปก่อน โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ระดมทุนให้ครบ ส่วนรายละเอียดภายในอาคารอุทยานการเรียนรู้ขนาด 4 ชั้น แบ่งเป็นคอนเสิร์ตฮอลล์ครึ่งหนึ่งขนาด 630 ที่นั่ง 
อีกครึ่งหนึ่งจะมีห้องจัดนิทรรศการชั่วคราว-ถาวรของมหาวิทยาลัย, ห้องสมุดสำหรับบริการประชาชน และหอจดหมายเหตุ ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งเมื่อมีการเปิดใช้ในวันที่ 10 ธ.ค.นี้ จะเปิดใช้ทุกพื้นที่ ยกเว้นหอจดหมายเหตุ

ศาลายาติดล็อกที่ดิน-ผังเมือง

ด้าน ผศ.ดร.วศพร เตชะพีรพานิช รองหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของสถานีศาลายา สถานีปลายทางสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา 
ตามที่ได้วางแผนไว้ยังมีข้อจำกัด เพราะที่ดินโดยรอบส่วนมากเป็นของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ประมาณ 180 ไร่ จึงต้องหารือกับสำนักงานทรัพย์สินฯก่อน

และยังต้องรอเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งบริเวณนี้ตามกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร 2556 กำหนดให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัย ต้องปรับ
แก้เป็นสีแดงพาณิชยกรรม ก่อน จึงจะนำ
พื้นที่มาพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ อยู่ระหว่างขอปรับแก้กับคณะอนุกรรมการผังเมือง

ศิริราชโมเดลเชื่อมล้อ-ราง-เรือ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ “โรงพยาบาลศิริราช” จะลงทุนรับจุดเชื่อมต่อสายสีแดงและสายสีส้มที่สถานีศิริราชได้ MOU กับคมนาคม ก่อสร้างสถานีศิริราช และอาคารรักษาพยาบาล 15 ชั้นอยู่บนสถานี ซึ่งสถานีจะอยู่ใต้ดิน ชั้น 1-2 ทางโรงพยาบาลศิริราชจะสร้างอาคาร 2,000 ล้านบาท ชั้นที่ 3-15 ชั้น 3-4 เป็นคลินิกผู้ป่วยนอก ชั้น 5 พื้นที่โรงพยาบาล ชั้น 6 อาคารสำนักงาน ชั้น 7 หอผู้ป่วยไอซียู ชั้น 7-M พื้นที่วิศวกรรมงานระบบและส่วนขยาย ชั้น 8-15 หอผู้ป่วย126 เตียง ที่จอดรถ 95 คัน รับผู้ป่วยได้สูงสุด 10,000 คนต่อวัน
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 04/11/2019 5:58 pm    Post subject: Reply with quote

รฟท.เปิดตัวขบวนรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง
ศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2562


รฟท.เปิดตัวขบวนรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงลอตแรก เปิดมิติใหม่การคมนาคมทางรางของไทย มุ่งสู่การเป็นผู้นำระบบรางของอาเซียน

วันนี้ (1 พ.ย. 62) เวลา 16.00 น. ณ อาคารปฏิบัติการหลัก ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟชานเมือง โครงการระบบรถไฟชนเมือง (สายสีแดง) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีต้อนรับรถไฟฟ้าชุดแรก โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ - รังสิต และช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน โดยมี นายชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และ นางคัทซึระ มิยาซากิ ผู้อำนวยการ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และคณะผู้บริหารกิจการค้าร่วม เอ็มเอชเอสซี (MHSC) และผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย และสื่อมวลชน ร่วมงาน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้มุ่งเน้นการลงทุนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ก่อให้เกิดการพัฒนาระบบรางที่มีศักยภาพ การต้อนรับขบวนรถรถไฟฟ้าชุดแรก โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต และช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน ในวันนี้ จึงถือเป็นการต่อยอดการพัฒนาระบบรางของประเทศ ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย โดยต้องมีการขยายบริบทจากเพียงการมุ่งจัดหาขนส่งระบบรางมาใช้เพื่อการแก้ไขปัญหาจราจรภายในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างเมือง ไปสู่การใช้ระบบรางให้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือที่เราสามารถใช้เป็นกลไกในการพัฒนาประเทศ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ตลอดจนการพัฒนาบุคคลากร เพื่อสนองนโยบายการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และลดต้นทุนค่าขนส่ง และโลจิสติกส์ ซึ่งจะส่งผลให้ระบบขนส่งทางรางของไทยมีความเจริญก้าวหน้าและพัฒนาอย่างยั่งยืนได้

โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ - รังสิต และสถานีกลางบางซื่อ มีขอบเขตการดำเนินงานและความก้าวหน้าของงานก่อสร้างทั้งหมด ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2562 ได้แก่ สัญญาที่ 1 งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง มีความก้าวหน้าร้อยละ 91.11 สัญญาที่ 2 งานโยธาสำหรับทางรถไฟ ช่วงบางซื่อ-รังสิต ดำเนินการแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย และสัญญาที่ 3 งานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล รวมจัดหาตู้รถไฟฟ้า สำหรับช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน มีความก้าวหน้าร้อยละ 62.40 โดยขบวนรถไฟที่นำเข้ามานี้อยู่ในสัญญาที่ 3 เป็นของกลุ่มกิจการร่วมค้า MHSC ร่วมกับ ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น บริษัท มิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรี่ส์ จำกัด และ บริษัท ฮิตาชิ จำกัด ประกอบไปด้วยขบวนรถไฟ 2 รูปแบบ คือ รถไฟฟ้าชนิด 6 ตู้ต่อขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,710 คนต่อเที่ยว และรถไฟฟ้าชนิด 4 ตู้ต่อขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,120 คนต่อเที่ยว มีความเร็วสูงสุดในการออกแบบที่ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วัสดุขบวนรถเป็น Aluminum Double Skin ด้านการออกแบบรถไฟฟ้าสำหรับโครงการรถไฟสายสีแดงนั้นมีการคำนึงถึงสภาพอากาศของประเทศไทย ดังนั้น ภายในขบวนรถจึงมีเครื่องปรับอากาศตู้ละ 2 เครื่อง และใช้ "กระจกสี" สำหรับทำหน้าต่างรถไฟ เพื่อลดปริมาณแสงแดดที่จะส่องผ่านเข้ามาภายในตู้รถ นับเป็นหนึ่งในแนวคิดการออกแบบที่ช่วยลดความร้อนภายในตู้ ยิ่งไปกว่านั้น ยังออกแบบให้ตู้รถแต่ละข้างมีสามประตู และเพิ่มจำนวนที่นั่ง เพื่อให้ผู้โดยสารนั่งได้สบายขึ้น รวมทั้งมีหน้าต่างขนาดใหญ่ให้ผู้โดยสารมองเห็นทัศนียภาพภายนอกจากมุมสูงได้มากขึ้น

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่ง ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การรถไฟฯ ได้รับมอบรถไฟฟ้า จำนวน 10 ตู้ ซึ่งเป็นขบวนรถโดยสารชุดแรกจากทั้งหมด 25 ขบวน โดยในส่วนของขบวนรถไฟฟ้าที่เหลือจะทยอยเดินทางมาจนครบทั้งหมดภายในกลางปี 2563 หลังจากนั้นจะดำเนินการทดสอบขบวนรถให้แล้วเสร็จ เพื่อให้พร้อมที่จะดำเนินการทดสอบ System Integration Testing และทดสอบการวิ่งให้บริการเสมือนจริง (Trial Running) ให้เสร็จสมบูรณ์ ก่อนที่จะเปิดเดินรถเชิงพาณิชย์ ภายในต้นปี 2564 สามารถเชื่อมโยงกับแผนกลยุทธ์ในการขนส่งอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม พัฒนาบริการขนส่งโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานสากล
เมื่อโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต เปิดให้บริการ จะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารจากรังสิตสู่บางซื่อไม่น้อยกว่า 306,608 คน/วัน ในปีที่เปิดดำเนินการ และช่วยเชื่อมต่อการเดินทางกับโครงข่ายคมนาคมรูปแบบอื่นๆ ของประเทศ ให้มีความสะดวก รวดเร็วและคล่องตัว ถือเป็นการเปิดมิติใหม่ของการคมนาคมทางราง ที่สำคัญยังเป็นส่วนสำคัญที่จะยกระดับระบบรางของไทยให้ก้าวสู่การเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนในอนาคตด้วย
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 07/11/2019 2:19 pm    Post subject: Reply with quote

สายสีแดงเริ่มทดสอบจ่ายไฟจริง และ เปิดหน้าจอ แสดงผลภายในรถ
โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure
7 พฤศจิกายน 2562

จากที่หลายคน สงสัยว่าหน้าจอแสดงผลเส้นทางภายในรถมันออกมาเป็นยังไง วันนี้ก็มีคำตอบแล้วนะครับ หลังจากการเริ่มจ่ายไฟฟ้าจริงเข้าตัวรถไฟฟ้า เพื่อทำ Static Test

เรามาดูรายละเอียดในจอกันหน่อยดีกว่า

จอนี้จะถูกติดตั้งอยู่บริเวณด้านบนของประตู ด้านข้างของแผนที่ให้บริการของรถไฟฟ้า

ภายในจอ จะแสดงผล 3 อย่างคือ

1. แผนที่การเดินรถและสถานีต่อไป
2. Vdo ประชาสัมพันธ์ต่างๆ (อาจจะเป็นโฆษณา)
3. แถบตัวอักษรประชาสัมพันธ์ของระบบรถไฟฟ้า

อันนี้เป็นตัวจริงในเบื้องต้น แต่ก็เป็นไปได้ที่จะแก้ไขอีกครั้งก่อนจะเปิดให้บริการนะครับ

ปล.ส่วนตัวผมว่า ตรงรายชื่อสถานีถัดไปด้านขวามันเล็กไปครับ กลัวว่ามองยากจัง
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 07/11/2019 5:03 pm    Post subject: Reply with quote

การรถไฟฯ ขอ 3 พันล้านพิสูจน์ฝีมือบริหาร "สายสีแดง" ดัน "บริษัทลูก" เดินรถ ม.ค.64
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=2630567403656855&set=a.1878620525518217&type=3&theater
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 09/11/2019 12:22 am    Post subject: Reply with quote

รถไฟฟ้าสายสีส้มชุด 3 มาแล้ว
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=2529233443832529&id=100002376940735
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 12/11/2019 11:23 pm    Post subject: Reply with quote

“โฮปเวลล์” ยื่นข้อเสนอพิเศษปิดมหากาพย์ “ค่าโง่” 2.47หมื่นล้าน
พร็อพเพอร์ตี้ - ข่าวอสังหาฯ

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 - 18:20 น.

คณะทำงานเจรจาลดหนี้ ลุ้นหนักศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์รื้อ”ค่าโง่โฮปเวลล์” “พิศักดิ์”อุบ”โฮปเวลล์”ยื่นข้อเสนอพิเศษ ผงะหนี้ท่วม 2.47 หมื่นล้าน แจงขอทุเลาบังคับคดีแล้วแต่ดอกรายวัน 2.4 ล้านยังเดินปกติ เปิด 2 แนวทางเคลียร์ค่าโง่หมื่นล้าน
พิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคมในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อลดผลกระทบต่อภาครัฐอันเนื่องมาจากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดกรณีคดีโฮปเวลล์ เปิดเผยว่า บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ยื่นข้อเสนอพิเศษในประเด็นวงเงินที่ต้องชำระตามคำพิพากษามาที่คณะทำงานแล้ว อยู่ระหว่างพิจารณา แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เนื่องจากเป็นเงื่อนไขที่โฮปเวลล์ขอไว้ห้ามขยายความกับสื่อ

และข้อเสนอพิเศษนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการถอดคำฟ้องกรณีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และกระทรวงจะใช้ประกาศคำสั่งคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 (ปว. 281) เป็นหลักฐานฟ้องทางแพ่งกลุ่มโฮปเวลล์แต่อย่างใด และคณะทำงานชุดนี้ไม่มีการหยิบคำสั่งปว.281 มาเจรจาด้วย คุยกันเฉพาะการชดเชยตามคำพิพากษา

@ลุ้นศาลพิจารณารับอุทธรณ์

แต่จะมีการปรึกษากับอัยการสูงสุดว่าจะทำตามข้อเสนอของโฮปเวลล์ได้หรือไม่ ทั้งนี้ จะต้องรอคำวินิจฉัยจากศาลปกครองสูงสุด กรณีที่กระทรวงคมนาคมมอบอัยการสูงสุดยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลปกครองกลางที่ไม่รับพิจารณาคดีใหม่ก่อนว่า ศาลปกครองสูงสุดจะรับอุทธรณ์หรือไม่ จึงจะดำเนินการขั้นตอนต่อไปได้ ทั้งนี้ กระทรวงได้ขอทุเลาการบังคับคดีกับกรมบังคับคดีเรียบร้อยแล้ว แต่ถึงได้รับการทุเลา ดอกเบี้ย 7.5% คิดเป็นวันละ 2,434,931.51 บาท

@รัฐขอปลอดดอก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบัน ณ วันที่ 19 ต.ค.2562 วงเงินที่กระทรวงคมนาคมและร.ฟ.ท.ในฐานะจำเลยจะต้องชำระตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดทั้งหมด มีมูลค่ารวมดอกเบี้ย 7.5% อยู่ที่ 24,798 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้น 11,888 ล้านบาท และดอกเบี้ย 12,910 ล้านบาท ซึ่งจะต้องชำระเงินให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด คือวันที่ 19 ต.ค.2562 ที่ผ่านมา

โดยก่อนหน้านี้ คณะทำงานเจรจาพยายามต่อรองกับโฮปเวลล์ขอให้ลดดอกเบี้ยเงินต้นเหลือ 0% และขอให้ขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไปก่อน แต่โฮปเวลล์ไม่ยินยอม อ้างว่าภาครัฐได้ขอพิจารณาคดีใหม่ต่อศาลปกครอง

@ชง2แนวทางชำระหนี้

คณะทำงานจึงสรุปแนวทางได้ 2 แบบ แบบที่ 1 ให้รัฐบาลเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยจัดสรรเงินงบประมาณให้กระทรวง นำไปชำระหนี้ตามคำพิพากษา แหล่งเงินอาจมาจากงบประมาณและ/หรือเงินกู้ วิธีนี้มีข้อดีคือ ไม่มีต้นทุนทางการเงิน แต่มีข้อเสียคือหากจัดทำงบประมาณขาดดุลหรือใช้แหล่งเงินกู้ ก็จะเกิดต้นทุนทางการเงิน

กับแบบที่ 2 ให้รัฐบาลเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นร่วมกับ ร.ฟ.ท. โดยร.ฟ.ท.รับภาระค่าค่าตอบแทนโครงการ 2,580 ล้านบาท เนื่องจาก ร.ฟ.ท.ได้รับจากโฮปเวลล์โดยตรง อาจใช้เงินกู้เพื่อใช้ในการดำเนินงาน ปี 2562 และหรือปี 2563 ซึ่งต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน

ส่วนรัฐบาลรับภาระหนี้ส่วนที่เหลือทั้งจำนวน 21,948 ล้านบาท รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการขยายระยะเวลาชำระหนี้ด้วย โดยให้จัดสรรงบประมาณให้กระทรวง นำไปจ่าย แหล่งเงินอาจมาจากเงินงบประมาณและหรือเงินกู้ ข้อดีคือ ร.ฟ.ท.สามารถใช้เงินกู้ที่ได้รับในแต่ละปีมาจ่ายได้เลย แต่ข้อเสียคือ ต้นทุนทางการเงินของ ร.ฟ.ท.จะสูงกว่ารัฐบาล

//-------------------------------






หมดตัว! ค่าโง่โฮปเวลล์ 'เจรจา=จ่าย' 2.4หมื่นล้าน รมต.ศักดิ์สยามจ๋า... นายทำได้ไง!
โดย...พรานบุญ
คอลัมน์ข่าวห้ามเขียน
ออนไลน์เมื่อ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2562
ตีพิมพ์ใน ฐานเศรษฐกิจ
ฉบับ 3522 หน้า 20
ระหว่างวันที่ 14-16 พฤศจิกายน 2562


ประชาชน...ได้ยินบ่ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐมนตรี ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เจ้ากระทรวงคมนาคม-การรถไฟแห่งประเทศไทย กลับลำกลางทาง ยอมจ่ายเงินค่าโง่ชดเชยให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วม 2.4 หมื่นล้านบาท โดยไม่ออกหมัดสู้...ช่างหดหู่ใจประชาชีเหลือเกิน

นังชะนี ลิงกังตัวใหญ่ ค่าง นังบ่าง ต่างพากันส่งเสียงร้องโหวกเหวกบนกิ่งใบม่วงที่หนาดก ตามประสาคนขี้หู ขี้ตาแตกตื่น จนพรานฯ ต้องลุกขึ้นมาจุดไต้ขึ้นมาตำตอในพงไพร

สืบสาวราวเรื่องได้ความว่า คำประกาศก้องของรัฐมนตรีคมนาคม “เสี่ยโอ๋-ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ที่เคยลั่นวาจาเอาไว้ให้ปวงประชาปลาบปลื้มประโลมใจ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 ว่า “พบหลักฐานใหม่ที่จะทำให้ รฟท.นำมาสู้คดีโฮปเวลล์ได้ และขอยํ้านโยบายการบริหารงานว่า จะไม่มีค่าโง่ในรัฐบาลนี้ และได้มอบหมายให้ทนายความไปยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายก่อนจะเริ่มบังคับคดี แต่กลับสั่งให้ “ทนายนกเขา” ที่เดินทางไปศาลเดินทางกลับ และสั่งยกเลิกการฟ้อง เพราะเอกชนขอให้มีการเจรจากันได้”

ไม่มีแมลงหวี่แมลงวันตัวใดรายงานว่า เจ้าของตัวจริงเสียงจริงของโฮปเวลล์ ที่เปิดทางให้เจรจาค่าโง่กัน 2.4 หมื่นล้านบาทนั้น ใช่ “กอร์ดอน วู” หรือ “เจ้าสัวอนุศักดิ์ อินทรภูวศักดิ์” เจ้าของเอเอเอส ออโต้ เซอร์วิส ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ปอร์เช่ และ จากัวร์ แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย หรือ เป็นอดีตรัฐมนตรี!!!

แต่ข้าราชการในกระทรวงหูกวางบอกพรานฯว่า งานนี้มี “Behind the Scene” โดยผู้ใหญ่ตัวจริงเสียงจริงเขาตกลงกันแล้ว ดังนั้นไม่ใครก็ใคร ถูกต้มจนสุก!

“ต้มจนสุกหม้อแรก” คือการที่รัฐมนตรีศักดิ์สยาม ประกาศว่าจะสู้คดีค่าโง่ที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ จนเสียงปรบมือดังอื้ออึงกับความเอาจริงเอาจังของนักการเมือง นักกีฬาเลือดนักสู้แห่งบุรีรัมย์ผู้นี้ แต่ที่ไหนได้โยนผ้ายอมแพ้ในนาทีสุดท้ายเอาดื้อๆ ชนิดที่อึ้งอ้าปากค้างกันทั้งบาง...

ไม่รู้อะไรดลใจให้รัฐมนตรีคนดีกลับลำชนิด ขึ้นต้นเป็นบ้องไม้ไผ่...พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา...

ถามอดีตรัฐมนตรีคมนาคมผู้เคยผูกเสี่ยวกับโฮปเวลล์รายหนึ่ง...ได้คำตอบว่า เป็นคำถามที่ไม่อาจตอบได้...

“ต้มสุกจนเปื่อยหม้อที่ 2” คือในทางกฎหมายนั้น ศาลปกครองสูงสุดสั่งจ่ายค่าโง่แก่โฮปเวลล์ 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ซึ่งกระทรวงคมนาคมบอกว่า จะฟ้องขอทุเลาบังคับคดี แต่จนบัดนี้ยังไม่รู้หัวรู้ก้อย คำประกาศว่า มีข้อมูลใหม่ในเรื่องการถือครองหุ้นของบริษัทต่างด้าวที่เคยเป็นพระแสงง้าวที่ถูกเงื้อมาให้ดีเอสไอ ศาลแพ่ง ฟาดฟันคู่สัญญา ถูกใครก็ไม่รู้สั่งเก็บอาวุธไปซ่อนไว้หน้าตาเฉย

ซักถามข้าราชการกระทรวงคมนาคมรูดซิปปากกันไปหมด...ใครถามก็เอานิ้วชี้ขยับที่คอลากจากซ้ายไปขวาทันที

สัญญาณแบบนี้หมาเฝ้าบ้านอย่างพรานฯ ที่บุกป่าฝ่าดงมายาวนานรับรู้ทันทีว่า “มีอะไรในกอไผ่ อาจมีกรวด มีหิน มีทราย ไม่ได้มีแต่ต้นไม้ แต่มันต้องมี ไก่ กุ๊กๆ”

ในเรื่องค่าโง่โฮปเวลล์ เมื่อรัฐมนตรีฝ่ายนโยบายสั่งให้เจรจากับเอกชน ก็เท่ากับว่ารัฐมนตรีคมนาคมที่กำกับดูแลการรถไฟฯ ยอมรับเงื่อนตายว่า “เจรจา-ไม่สู้คดี=จ่ายค่าโง่” แล้วทำไมรัฐมนตรีจึงสั่งหยุดสู้...ใครรู้ช่วยบอกที

พรานฯ ย่องเบาไปสอบถามหนึ่งในคณะทำงานคดีโฮปเวลล์ที่มี “พิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน” รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นหัวหน้าทีม ได้ความว่า “จนบัดนี้ยังหาข้อสรุปไม่ได้ แต่ยอมรับว่าเจรจากันอยู่ ดอกเบี้ยค้างจ่ายหนี้ช้าเดินทุกวันวันละ 2.4 ล้านบาท โดยข้อเจรจาลดความเสียหายที่มีการยื่นหมู ยื่นแมวกันมีหลายทางมาก...”

ทางแรก ขอให้โฮปเวลล์ลดดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายตามคำสั่งศาล 7.5% รวมทั้งก้อนจะมากกว่าเงินต้นไปแล้วคือ 12,900 ล้านบาท แต่คำตอบจากโฮปเวลล์คือ “No Way” แปลว่า ไม่มีทาง

ทางที่ 2 ลดดอกเบี้ยลงมาเหลือ 1,000 ล้านบาท ได้หรือไม่ ส่วนเงินก้อนนั้นจะตั้งงบประมาณมาทยอยจ่ายให้รายปี คำตอบที่ ได้ตอนนี้คือ No Way…อีกแล้ว

ทางที่ 3 ลดดอกเบี้ยลงมา 50-60% ได้มั้ย ส่วนเงินต้นต้องจ่ายตามคำสั่งศาล รัฐมนตรีจะได้มีผลงานโบแดง โฮปเวลล์ก็ได้เงิน คนสั่งการได้หน้า มาบอกกับประชาชนว่าลดความเสียหายอื้อซ่า อะแฮ่ม! เงียบครับเงียบ

แต่เริ่มมีสัญญาณบวกในหน้าตา ท่าทีของผู้ใหญ่ในโฮปเวลล์ งานนี้รัฐมนตรีอาจมีเฮ...เพราะลดดอกเบี้ยขนาดนั้นหมายถึง 6,500 ล้านบาทเชียวพี่น้องเอ๋ย…

ลดดอกเบี้ยลงมาขนาดนั้นโฮปเวลล์ก็มีเฮ สรวลเสด้วยรอยยิ้ม เพราะได้เงินเพิ่มจากเงินต้น 11,800 ล้านบาท กลับเข้าไปอีก 6,500 ล้านบาท สิริรวมแล้ว 18,300 ล้านบาทเชียวพ่อคุณเอ๋ย...แถมจบเกมได้อย่างสวยหรู ปิดฉากคดีอัปยศอดสู

คนทำงาน ล้วนได้รับการยอมรับว่า ฝีมือดี คนเสียคือการรถไฟฯ กับเงินรัฐบาลที่ต้องตั้งงบมาชดใช้ค่าโง่โฮปเวลล์ที่รัฐมนตรีศักดิ์สยามกับรัฐบาลลุงตู่ไม่ได้ทำ

ถ้าสรุปแบบนี้ มีแต่ได้กับได้ และจะมีการประกาศเป็นข่าวดีรับปีใหม่ 2563 ด้วย หุหุ

นี่คือเรื่องราวในป่าใหญ่ ที่พรานฯ ได้ยินมาจากปากข้าราชการกระทรวงหูกวาง ขอรับนายท่าน!
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 13/11/2019 5:20 pm    Post subject: Reply with quote

'คมนาคม' เร่งถก 'โฮปเวลล์' ขอลดดอกเบี้ย-ยืดชำระหนี้
12 พฤศจิกายน 2562

"คมนาคม" ลุ้นผลอุทธรณ์ฟื้นคดีโฮปเวลล์ รอคำตอบ "ดีเอสไอ" บรรจุเป็นคดีพิเศษ พร้อมเดินหน้าเจรจาขอปรับลดดอกเบี้ยลง เตรียม 2 แนวทาง รัฐบาล-ร.ฟ.ท.ร่วมจ่ายค่าโง่ 2.4 หมื่นล้านบาท เผยค่าปรับดอกเบี้ยวันละ 2.4 ล้านบาท


โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร หรือโครงการโฮปเวลล์ เป็นโครงการที่มีข้อขัดแย้งระหว่างกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่เป็นคู่สัญญากับบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด มาตลอดตั้งแต่ลงนามเมื่อวันที่ 9 พ.ย.2533 จนนำมาสู่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) บอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2540

ข้อพิพาทดังกล่าวได้ข้อสรุปเมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา ให้กระทรวงคมนาคม ร.ฟ.ท.ดำเนินการตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยจ่ายเงินชดเชยให้บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ภายใน 180 วัน

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้ประกาศว่าพบหลักฐานใหม่ที่จะทำให้ ร.ฟ.ท.นำมาสู้คดีได้ โดยย้ำนโยบายการบริหารงานที่จะไม่มีค่าโง่ในรัฐบาลนี้ กระทรวงคมนาคมมอบหมายให้อัยการยื่นเรื่องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา

แต่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา ไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าคดีมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่ศาลปกครองสูงสุดจะพิจารณาพิพากษาคดีได้ และเพื่อประโยชน์แก่การพิจารณาพิพากษาคดี จึงไม่ถือว่ามีข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม ซึ่งต่อมากระทรวงคมนาคมได้ยื่นอุทธรณ์คำขอให้ฟื้นคดีดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุดและอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

'คมนาคม' ดิ้นสู้คดีทุกทาง

กระทรวงคมนาคมยังมีความพยายามที่จะต่อสู้คดีทั้งทางแพ่งและอาญา โดยก่อนที่จะครบกำหนดการเริ่มบังคับคดีในวันที่ 19 ต.ค.2562 ได้มอบหมายให้ ร.ฟ.ท.เดินหน้าทางกฎหมายในคดีให้ถึงที่สุด เพราะถ้าต้องจ่ายเงินชดเชยจะต้องให้กระทรวงการคลังตั้งวงเงินงบประมาณ

สำหรับประเด็นที่ใช้ต่อสู้ 12 ประเด็น เช่น 1.การตรวจสอบพบว่าการทำสัญญาลงทุนโครงการนี้ ไม่ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากก่อนหน้าของการเจรจาทำสัญญา ร.ฟ.ท.และกระทรวงคมนาคม จะต้องทำสัญญากับบริษัทโฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด ตามมติ ครม.ที่เห็นชอบเมื่อวันที่ 12 ก.ย.2532 แต่เมื่อถึงวันลงนามกลับลงนามกับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งอาจเป็นการทำสัญญาที่ไม่ได้มีมติเห็นชอบจาก ครม.

2.การจัดตั้งบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ขัดต่อกฎหมาย ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และขัดต่อระเบียบสำนักงานทะเบียน หุ้นส่วนบริษัท ว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท เพราะการทำธุรกิจของคนต่างด้าวในขณะนั้น จะต้องได้รับการเห็นชอบออกเป็นพระราชฤษฎีกา แต่บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ไม่ได้มีการออกพระราชฤษฎีกา ทำให้บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ขาดคุณสมบัติที่เข้าทำสัญญาสัมปทาน

ในขณะที่วันที่ 22 ต.ค.2562 กระทรวงคมนาคมได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดในการขอทุเลาการบังคับผลของคดีที่มีคำสั่งให้กระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท.ชำระค่าชดเชยให้บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งนำมาสู่การเจรจาระหว่างกระทรวงคมนาคม ร.ฟ.ท.และบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นประธานคณะทำงานคดีโฮปเวลล์ ได้เจรจาร่วมกับตัวแทนบริษัทโฮปเวลล์

เจรจาขอลดวงเงินค่าโง่

นายพิศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างรอศาลปกครองสูงสุดรับคำร้องที่กระทรวงคมนาคมได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลปกครองกลางที่ไม่รับพิจารณาคดีใหม่ ไปเมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งในขณะนี้คำอุทธรณ์ดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

ส่วนประเด็นของการเจรจากับบริษัทโฮปเวลล์ ที่ผ่านมายอมรับว่าทางบริษัทโฮปเวลล์เข้ามาเจรจากับคณะทำงานบ้างแล้ว โดยเป็นการเจรจาในส่วนของข้อเสนอกรอบวงเงินที่ต้องชำระ แต่ยังไม่สามารถให้ข้อมูลอย่างละเอียดได้ เนื่องจากกระทรวงคมนาคมไม่ได้รับอนุญาตจากบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้เปิดเผยรายละเอียดส่วนนี้ ประกอบกับยังถือเป็นการเจรจาที่ยังไม่สิ้นสุด และคณะทำงานจะต้องนำเรื่องดังกล่าวหารือกับทางอัยการช่วยพิจารณาด้วย

ADVERTISEMENT

"เรื่องที่เจรจากันไปก็เป็นเรื่องข้อเสนอวงเงินที่รัฐต้องชำระตามศาลตัดสิน เป็นการเจรจาเพื่อชำระหนี้ คุยเฉพาะเรื่องวงเงินอย่างเดียว ส่วนเรื่อง ปว.281 ยังไม่มีการหารือในเรื่องนี้ ซึ่งแนวทางการเจรจาก็เพื่อปรับวงเงินลดลง ขณะที่เรื่องกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่กระทรวงคมนาคมขอให้บรรจุคดีนี้เป็นคดีพิเศษ ตอนนี้ก็ยังไม่ได้รับการตอบกลับมา การดำเนินการคดีโฮปเวลล์ตอนนี้ จึงถือว่าอยู่ในขั้นตอนที่กระทรวงฯ ขอทุเลาบังคับคดี ยืดอายุการจ่ายเงินชดเชยออกไป แต่ดอกเบี้ยก็ยังวิ่งอยู่"

ยอดหนี้ค่าโง่ 2.4 หมื่นล้าน

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูน ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสรุปความคืบหน้าการแก้ปัญหาโฮปเวลล์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อชี้แจงต่อสื่อมวลชน โดยมีการสรุปยอดหนี้ที่ต้องชำระให้บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ณ วันที่ 19 ต.ค.2562 วงเงิน 24,798 ล้านบาท ครอบคลุมเงินค่าก่อสร้างโครงการ เงินค่าตอบแทนที่บริษัทชำระไว้ และค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกัน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.เงินต้น 11,888 ล้านบาท 2.ดอกเบี้ย 12,910 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงการคมนาคมเจรจาบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ลดดอกเบี้ยลงเป็น 0% และขอขยายเวลาการชำระหนี้จากที่ศาลกำหนดไว้เพียง 180 วัน แต่ผลการเจรจาไม่มีการลดหนี้และไม่มีข้อสรุปเรื่องการขยายระยะเวลาการชำระหนี้

รวมทั้งมีการคำนวณกรณีกระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท.ไม่สามารถชำระเงินตามคำพิพากษาได้ภายใน 19 ต.ค.2562 จะต้องมีภาระค่าปรับดอกเบี้ยในอัตราวันละ 2.43 ล้านบาท เป็นอัตราที่คำนวณถึงวันที่ 31 ธ.ค.2562

เตรียม 2 แนวทางจ่ายค่าโง่

นอกจากนี้ คณะทำงานคดีโฮปเวลล์ได้สรุปแนวทางการการชำระหนี้ตามคำพิพากษา 2 แนวทาง คือ 1.รัฐบาลเป็นผู้รับภาระทั้งหมด 24,798 ล้านบาท โดยจัดสรรงบประมาณให้กระทรวงคมนาคมเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากงบประมาณหรือเงินกู้ ซึ่งแนวทางนี้มีข้อดีที่การใช้งบประมาณจะไม่มีต้นทุนทางการเงิน แต่มีข้อเสีย คือ หากจัดทำงบประมาณขาดดุลหรือใช้แหล่งเงินกู้จะเกิดต้นทุนทางการเงิน

2.รัฐบาลรับภาระร่วมกับ ร.ฟ.ท. โดยกรณีแรกให้ ร.ฟ.ท.รับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนที่เป็นค่าตอบแทน 2,850 ล้านบาท เนื่องจาก ร.ฟ.ท.ได้รับจากบริษัทโดยตรง และอาจพิจารณาโดยใช้จ่ายจากเงินกู้เพื่อใช้ในการดำเนินงานปี 2562 หรือ 2563

กรณีที่สอง รัฐบาลรับภาระหนี้ส่วนที่เหลือทั้งจำนวน 21,948 ล้านบาท รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการขยายระยะเวลาชำระหนี้แก่บริษัท โดยจัดสรรงบประมาณให้กระทรวงคมนาคม เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากแหล่งงบประมาณหรือเงินกู้ ซึ่งข้อดี คือ สามารถจ่ายชำระหนี้ในส่วนที่เป็นค่าตอบแทนได้ทันทีโดยใช้แหล่งเงินกู้ แต่ข้อเสีย คือ ต้นทุนทางการเงินของ ร.ฟ.ท.สูงกว่ารัฐบาล
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 22/11/2019 4:27 pm    Post subject: Reply with quote

หมดยุครัฐทุ่มเงินจ่ายค่าโง ! “ศักดิ์สยาม” ระดมทีมนักกฎหมายเคลียร์คดีโฮปเวล
โดย Newsringside -
21 พฤศจิกายน 2562


ที่กระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานโฮปเวลล์ว่า ที่ประชุมได้หารือแนวทางการแก้ไขปัญหาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร(โฮปเวลล์) โดยเน้นย้ำให้คณะทำงานพิจารณาแก้ปัญหาโฮปเวลล์ของกระทรวงคมนาคม ที่มีนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ไปเร่งเจราจรกับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเร็วที่สุด

ขณะเดียวกันยังได้แต่งตั้งทนายความในส่วนของกระทรวงคมนาคมเพิ่มอีก 2 คน ได้แก่ นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย และนายชนินทร์ แก่นหิรัญ รองเลขาธิการฝ่ายกฏหมาย สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อให้ช่วยพิจารณาดำเนินการในส่วนของกระทรวงคมนาคมให้เกิดความรัดกุมและรอบคอบที่สุด เนื่องจากทั้ง 2 คนเป็นผู้มีประสบการณ์และมีความรู้ความสามารถด้านกฎหมายโดยตรง

ด้านนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าว่า ตนจะไปยื่นหนังสือ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง สำนักงานประมาณ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้ตรวจสอบรายละเอียดในสัญญาร่วมทุนโครงการ โฮปเวลล์ ทั้งที่มาของสัญญา การอนุญาตร่วมทุนโครงการ และรายละเอียดของการบอกเลิกสัญญา โดยจะแจ้งให้ทราบว่าขณะนี้กระทรวงคมนาคมดำเนินการอยู่ในขั้นตอนไหน และมีข้อสงสัยอะไรที่เป็นความผิดปกติ เนื่องจากกระทรวงคมนาคมไม่ใช่เจ้าของโครงการ แต่เจ้าของโครงการดังกล่าวคือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดังนั้นถ้าหากมีการบังคับคดี กระทรวงการคลังก็จะต้องรับทราบว่าควรต้องทำอะไรบ้างในนามของภาครัฐ

นายนิติธร กล่าวต่อว่า เบื้องต้นจากการตรวจสอบข้อมูลเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับโครงการพบว่า มีความผิดปกติในสัญญา เนื่องจาก ครม.มีมติให้บริษัทโฮปเวลล์ โฮลดิงส์ (ฮ่องกง) เป็นผู้ลงนามร่วมทุน แต่เมื่อมีการลงนามจริงเป็นบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) รวมทั้ง ครม.มีมติให้กระทรวงคมนาคมเป็นตัวแทนรัฐบาลในการลงนามสัญญา ไม่ใช่ รฟท. จึงถือเป็นการลงนามผิดฝาผิดตัว ทำให้สัญญาที่เกิดขึ้นเป็นหลักฐานได้ว่า หลายกระบวนการไม่น่าถูกต้องด้วยกฎหมาย ซึ่งสามารถนำไปสู่การฟ้องร้องได้ และจะส่งผลให้การลงนามสัญญาที่ผ่านมาเป็นโมฆะ

ส่วนจะมีการฟ้องศาลปกครองหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละหน่วยงานที่จะดำเนินการในฐานะรัฐบาล แต่หากไม่มีการดำเนินการอะไรก็อาจเข้าข่ายผิดตามมาตรา 157 เรื่องการเอาผิดเจ้าพนักงานที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวเห็นว่าถ้าพบข้อเท็จจริงว่าเป็นสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตนจะไม่จ่ายค่าเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะทุกอย่างมีข้อมูลและหลักฐานเอกสารครบถ้วน ทั้งนี้การตรวจสอบดังกล่าวต้องดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับการเจราจรของคณะทำงานฯ ส่วนจะมีการยื่นฟ้องต่อศาลเพิ่มหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับการเจรจาและข้อตกลง หากผลการเจรจาไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมก็อาจยื่นฟ้องศาลปกครองได้ เนื่องจากเป็นสัญญาสัมปทาน
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 22/11/2019 4:39 pm    Post subject: Reply with quote

The Red Line Mass Transit System Project is a planned commuter rail system to serve the Bangkok Metropolitan Region. C.1 & C.3 Trackwork
https://www.facebook.com/TNG.NDT.INSPECTION/posts/1133133510223379

3rd Fl. : High Speed Platform Bang Sue Grand Station - Designed by Design Concept Co., Ltd.
https://www.facebook.com/DesignConceptArchitect/photos/a.222991655003655/476174049685413/
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 23/11/2019 10:48 pm    Post subject: Reply with quote

Wisarut wrote:
หมดยุครัฐทุ่มเงินจ่ายค่าโง ! “ศักดิ์สยาม” ระดมทีมนักกฎหมายเคลียร์คดีโฮปเวล
โดย Newsringside -
21 พฤศจิกายน 2562

'คมนาคม'ตั้ง2ทนายตัวแทนที่ปรึกษากฎหมายพิจารณาสู้คดีโฮปเวลล์

วันพุธ ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562, 20.23 น.


เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยเกี่ยวกับความคืบหน้าของกรณีคดีโฮปเวลล์ ว่าทางกระทรวงคมนาคมได้มีการแต่งตั้งทนายความ 2 ท่าน เพื่อมาดำเนินการสู้คดีดังกล่าวคือ นายศุภชัย ใจสมุทร และนายชนินทร์ แก่นหิรัญ ในฐานะตัวแทนทนายของกระทรวงคมนาคม โดยกล่าวถึงเหตุผลที่เลือกทนายทั้ง 2 ท่านนี้ เนื่องจากเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ และเพื่อให้เข้ามาช่วยเป็นที่ปรึกษาทางด้านกฎหมาย และพิจารณาให้รอบคอบรัดกุมมากยิ่งขึ้น



ด้าน นายนิติธร ลํ้าเหลือ ในฐานะทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในคดีโฮปเวลล์ เปิดเผยภายหลังประชุมคณะทำงานฯ โดยมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานว่า ในวันที่ 21 พ.ย.นี้ จะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อ 4 หน่วยงานได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกรมบัญชีการ ถึงการปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบต่อคดีดังกล่าวนั้นจะต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย โดยกระทรวงการคลังจะต้องเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง เนื่องจากการพิจารณาเอกสาร พบว่า กระบวนการไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทางการรถไฟฯไม่มีอำนาจในสัญญาดังกล่าว ขณะที่การเจรจาระหว่างการรถไฟฯและเอกชนนั้น ยังดำเนินการควบคู่ไปกับการตรวจสอบรายละเอียดด้วย


ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวทางกระทรวงการคลังต้องมาช่วยพิจารณาด้วยเพราะเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลเช่นเดียวกับคดีรับจำนำข้าว ที่การดำเนินการฟ้องรัฐจะต้องฟ้องมายังกระทรวงการคลัง และมองว่าคดีนี้ประชาชนทั่วไปเพียงแค่เห็นเอกสารก็รู้แล้วว่าไม่ถูกต้อง และเท่าที่ตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว เห็นว่าไม่มีการอนุญาตให้กับบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) มีแต่โฮปเวลล์ (ฮ่องกง) จึงสงสัยว่าโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) เป็นคนมาลงนามในสัญญาได้ไง และมาฟ้องคดีได้ยังไง ซึ่งเรื่องนี้ แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งถ้าไม่ทำ ก็ถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียด จากพยานทางเอกสาร เนื่องจากเป็นการดำเนินการที่ไม่ตรงกับมติ ครม.และไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติและต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงว่าเป็นธรรมและถูกต้องหรือไม่ ทั้งนี้ คดีดังกล่าวนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสัญญาสัมปทาน ซึ่งศาลปกครองจะเป็นผู้พิจารณาตัดสินต่อไป แต่โดยส่วนตัวมองว่าหากเป็นตนเองจะไม่ยอมจ่ายค่าเสียหายดังกล่าว

"ถ้าถามความเห็นส่วนตัวของผมนะ ไม่เกี่ยวข้องกับคณะทำงาน และคณะรัฐมนตรี เรื่องนี้เป็นเรื่องของเอกสาร ไม่ใช่เรื่องบุคคล และผมจะไม่ยอมจ่ายค่าเสียหาย เพราะข้อมูลที่เรามี เห็นว่าหลายกระบวนการไม่เป็นไปตามกฎหมาย และสัญญาไม่น่าจะมีผลบังคับใช้" นายนิติธร กล่าว

__________________
‘นิติธร’ขู่จ่ายค่าโง่โฮปเวลล์ เจอฟ้องแน่
ออนไลน์เมื่อ 18 พฤศจิกายน 2562
ตีพิมพ์ใน หน้า 2
ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3523 วันที่ 17-20 พฤศจิกายน 2562


คดีค่าโง่โฮปเวลล์ อาจพลิกกลับมาเป็นบวก เมื่อนายนิติธร ลํ้าเหลือ ทนายความ ผู้ได้รับมอบอำนาจจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกระทรวงคมนาคมพบ ประเด็นใหม่ กรณี นายกอร์ดอน วู ประธานบอร์ดบริหารบริษัท โฮปเวล โฮลดิ้งส์ฯ หนึ่งในบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ที่สุดของฮ่องกง เจ้าของผู้รับสัมปทานโฮปเวลล์ ยื่นจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในประเทศไทย

โดยไม่มีพระราชกฤษฎีการองรับ ซึ่งขัดต่อประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 (ปว.281) เนื่องจากเป็นบริษัทต่างด้าว ทำให้การจัดตั้งบริษัทดังกล่าวถือเป็นโมฆะมาตั้งแต่ต้น ส่งผลให้สามารถใช้จุดนี้ต่อสู้คดีโดยที่รัฐไม่ต้องเสียเงินแม้แต่บาทเดียว

ทั้งนี้ ความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินคดี นายนิติธร เปิดเผยว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังยืนยันที่จะต่อสู้และเดินหน้าเต็มที่ในเรื่องนี้ ส่วนกรณีที่มีหนังสือร้องถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั้นนายนิติธร ชี้แจงเรื่องนี้ว่า ตนเองนั้นอยู่เบื้องหลังของการทำคดีนี้ ซึ่งมีระยะเวลาที่สั้น ครบกำหนดวันบังคับคดีเมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อให้การทำคดีมีประสิทธิภาพต้องนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมตรี(ครม.) จึงได้สรุปปัญหาต่างๆรวม 12 ประเด็นให้กับนายศักดิ์สยาม นำไปขอความเห็นเพื่อมีมติจากครม. ตั้งคณะทำงาน แต่กลับไม่มีมติครม.ออกมาในวันนั้น แต่มีบันทึกของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาให้ดำเนินการใน 2 ส่วน คือ

1.ให้เจรจากับโฮปเวลล์ ซึ่งแนวทางนี้มีโอกาสสูงที่รัฐบาลจะต้องจ่ายตามคำพิพากษาของศาลและ

2. ให้ตั้งคณะทำงานเพื่อถามความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ รฟท. กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.)

โดยให้คำนึงว่า ถ้าจะสู้คดีมีทางที่จะชนะหรือไม่ และต้องคำนึงถึงดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายวันละ 2.4 ล้านบาทตลอดระยะเวลา 3 เดือน (ตั้งแต่เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน) ก่อนที่จะครบกำหนดด้วย

อย่างไรก็ดี ในหนังสือไม่ได้ระบุชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการตั้งทีมทำงาน แต่ชัดเจนว่าให้เจรจา เรื่องที่ให้รวบรวมข้อเท็จจริงคือ หากรวบรวมได้แล้วจะดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้นไม่ได้ให้อำนาจเอาไว้ ดังนั้นสิ่งที่รัฐมนตรีจะทำได้ก็คือ การรวบรวมข้อเท็จจริง และการเจรจา จึงไม่ได้หมายความว่า กระทรวงคมนาคมจะอยู่เฉยกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนก็ได้มีการประชุมร่วมกันส่วนกรณีกระแสข่าวที่ว่า เมื่อไปถึงศาลแล้วมีการถอนฟ้องนั้น

ก่อนหน้าถึงวันครบกำหนดเพียง 2 วัน หลังจากที่เห็นเอกสารในมือทั้งหมดแล้วเห็นว่า มี 2-3 เรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ ต้องฟ้องเพิกถอนการรับจดทะเบียน บริษัท โฮปเวลล์ ประเทศไทย ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ เป็นบริษัทต่างด้าว และไม่ดำเนินการตาม ปว. 281

ซึ่งจะประกอบธุรกิจตาม ปว.281 ได้นั้นจะต้องมีพระราชกฤษฎีกาออกมาก่อน“เป็นโมฆะตั้งแต่ตั้งบริษัท บริษัทนี้จดทะเบียนในประเทศนี้ไม่ได้ และจะมาประกอบธุรกิจนี้ไม่ได้”ที่สำคัญมติครม.กำหนดไว้ชัดเจนว่า ให้สัมปทานนี้กับบริษัทโฮปเวลล์ ฮ่องกง ไม่ใช่โฮปเวลล์ (ประเทศไทย)

ซึ่งถ้าโฮปเวลล์(ประเทศไทย)จะเป็นผู้ดำเนินการได้นั้นต้องนำเข้าที่ประชุมครม.เพื่อขอถอนมติ ครม.เดิม และออกมติ ครม.ใหม่ส่วนกรณีที่ผลักดันให้รัฐบาลเข้ามาเป็นโต้โผฟ้องคดีนี้เองนั้น เนื่องจากเป็นคดีต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ
ผู้ตรวจการแผ่นดิน และกรมบัญชีกลาง

ดังนั้นถ้าให้กระทรวงคมนาคม รับเป็นเจ้าภาพดำเนินการจะไม่ราบรื่น และเกิดความล่าช้า และโครงการนี้เป็นโครงการของรัฐบาล กระทรวงคมนาคมแค่ทำหน้าที่ในการลงชื่อแทนเท่านั้นทั้งนี้

ล่าสุดได้ทำหนังสือให้ไปยื่นถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพดำเนินการเรื่องนี้ ถ้าไม่ทำแล้วจ่าย ยืนยันว่าจะดำเนินคดีเอาผิดให้ถึงที่สุด พร้อมทั้งเตรียมยื่นหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อื่นๆให้ดำเนินการเรื่องนี้ด้วย อาทิ รฟท. กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมบัญชีกลาง และบีโอไอ เป็นต้น
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคต All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 73, 74, 75 ... 147, 148, 149  Next
Page 74 of 149

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©