RailServe.Com

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai.Com

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311232
ทั่วไป:13180007
ทั้งหมด:13491239
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าว รฟท จาก หนังสือพิมพ์
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ข่าว รฟท จาก หนังสือพิมพ์
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 436, 437, 438 ... 471, 472, 473  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 26/09/2022 12:46 pm    Post subject: Reply with quote

ตำรวจรถไฟรวบทันควัน ขนยาบ้า2แสนเม็ดซุกกระเป๋าเดินทาง
ในประเทศ
วันจันทร์ ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2565 เวลา 09.35 น.

ตำรวจรถไฟ รวบหนุ่มสาวอยุธยา ลอบขนยาบ้า ยึดของกลาง 2 แสนเม็ด ซุกกระเป๋าเดินทาง

26 ก.ย.2565 พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ ผบก.รฟ.สั่งการให้ พ.ต.ต.กิจจจา จันทาทับ สว.ส.รฟ.ศิลา นำกำลังจับกุม นายพีระพงษ์ อ่อนสุวรรณ์ อายุ 31 ปี และ น.ส.แสงเทียน ดวงรัตน์ อายุ 26 ปี ชาว จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมของกลางยาบ้า 200,000 เม็ด ได้ที่สถานีรถไฟเชียงใหม่ ต.วัดเกต อ.เมือง จ.เชียงใหม่



สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ชุดสกัดกั้นยาเสพติดเชียงใหม่ ตำรวจรถไฟศิลาอาสน์สืบทราบว่าจะมีการลักลอบขนลำเลียงยาเสพติดจากภาคเหนือเข้าสู่พื้นที่ภาคกลาง โดยการแฝงตัวมากับผู้โดยสารขบวนรถไฟที่ 52 เชียงใหม่-กรุงเทพฯ จึงกระจายกำลังเฝ้าสังเกตการณ์ตามจุดต่างๆ กระทั่งพบผู้ต้องหาทั้งสองรายนี้เดินลากกระเป๋าเดินทางมาขึ้นรถไฟขบวนดังกล่าวด้วยท่าทีมีพิรุธ จึงตัดสินใจเข้าทำการตรวจสอบก่อนพบยาบ้าของกลางซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋าดังกล่าว จึงควบคุมตัวมาสอบสวนที่สถานีตำรวจรถไฟศิลาอาสน์ กก.2 บก.รฟ. ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสืบสวนขยายผลต่อไป -009
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44323
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 03/10/2022 7:07 am    Post subject: Reply with quote

การรถไฟฯ เตรียมเสนอ คนร.ดันแผนฟื้นฟูกิจการฉบับใหม่
กรุงเทพธุรกิจ 03 ต.ค. 2565 เวลา 13:58 น.

บอร์ดรถไฟฯ ไฟเขียวปรับแผนฟื้นฟูกิจการ เตรียมเสนอ คนร.อนุมัติ เริ่มปีหน้าลุย 6 ยุทธศาสตร์ใหม่ ยกเครื่องหารายได้นอกเหนือการเดินรถ บริหารทรัพย์สินและที่ดิน มุ่งสู่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มระบบราง มั่นใจหนุนเป้า EBITDA เป็นบวกภายในปี 2576
นายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.เมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้พิจารณาอนุมัติแผนวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2566 – 2570 หรือแผนฟื้นฟูกิจการ ภายหลังจากแผนฉบับเดิมที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ทางการรถไฟฯ ได้นำมาดำเนินการเห็นผลสำเร็จแล้ว อาทิ การลงทุนแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ รวมไปถึงการจัดตั้งบริษัทลูกอย่าง บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) บริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินของการรถไฟฯ

สำหรับแผนฟื้นฟูกิจการฉบับใหม่นี้ จะมุ่งเน้นการวางแผนธุรกิจเพื่อหารายได้จากสินทรัพย์ที่มีอยู่ โดยเฉพาะการจัดใช้ระบบรางทางคู่ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งภายใต้แผนนี้ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ คือ

ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขัน อาทิ การจัดหารถจักรเพื่อทดแทนและขยายกำลังการขนส่ง รวมทั้งการลดต้นทุนสอมบำรุงรักษาระบบรางด้วยการจ้างเหมา (Outsource) เพิ่มสัดส่วน Outsource งานบำรุงทางของเอกชนให้มากขึ้น

ยุทธศาสตร์ที่ 2 พลิกฟื้นธุรกิจหลัก อาทิ ขยายการขนส่งสินค้าในอุสาหกรรมที่มีศักยภาพ, บริการจัดหาขบวนรถโดยสารเพื่อลดการขาดทุน, พัฒนาขบวนท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มรายได้ขยายฐานลูกค้าให้หลากหลายมากขึ้น, การขยายพันธมิตรการขนส่งหีบห่อวัตถุ เพิ่มลูกค้าในกลุ่มหีบห่อขนาดใหญ่และขยายพันธมิตรเอกชนให้มากขึ้น รองรับกับการขยายตัวของภาคขนส่ง, พัฒนาคุณภาพการบริการโดยสารและสินค้า รวมไปถึงบริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงและรถไฟความเร็วสูงอย่างมีประสิทธิภาพ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาและสร้างรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการขนส่งระบบราง โดยจะเร่งสร้างรายได้จากการบริหารสัญญาเช่า ทรัพย์สินและที่ดิน เร่งดำเนินการในแปลงศักยภาพของสัญญาขนาดใหญ่, สนับสนุนบริษัทลูกในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่และขยายธุรกิจใหม่เพื่อสร้างรายได้ และพัฒนารูปแบบการสร้างรายได้เสริม (Non - core) อาทิ บริการอาหารเครื่องดื่ม จำหน่ายสินค้า หรือจับมือพันธมิตรจัดทำแพ็คเกจท่องเที่ยว จำหน่ายพร้อมกับตั๋วรถไฟ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้โดยสารมากขึ้น เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ปรับรูปแบบธุรกิจสู่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มระบบราง โดยต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน ระบบทางคู่ที่ ร.ฟ.ท.ได้พัฒนาไปแล้วตามแผนฟื้นฟูกิจการฉบับแรก โดยโมเดลขณะนี้จะศึกษาเปิดให้เอกชนเข้ามาเช่าใช้ระบบราง เพื่อใช้งานโครงสร้างพื้นฐานนี้ให้มมีประสิทธิภาพ ในช่วงที่ ร.ฟ.ท.ยังอยู่ระหว่างการจัดหาหัวรถจักรเพิ่มเติม และยังเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับ พ.ร.บ.การขนส่งทางราง ที่จะเปิดกว้างให้เอกชนสามารถเข้ามาเช่าเดินรถในโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของภาครัฐได้

“ตอนนี้การรถไฟฯ ยังอยู่ในช่วงจัดหาและซ่อมบำรุงหัวรถจักร เพื่อนำมาให้บริการใช้ระบบรางให้เต็มประสิทธิภาพ แต่ตามแผนจะต้องดำเนินการจัดซื้อเพิ่มเติมกว่า 100 คัน ปัจจุบันได้รับอนุมัติจัดซื้อแล้ว 50 คัน ตรวจรับมอบแล้ว 20 คัน เหลือจะทยอยรับมอบอีก 30 คัน คาดแล้วเสร็จภายใน ก.พ.2566 โดยหากให้ประเมินการใช้ระบบรางอย่างเต็มศักยภาพ ส่วนตัวมองว่าจะต้องใช้หัวรถจักรมากถึงพันคัน ดังนั้นระบบรางของไทยยังมีศักยภาพรองรับการเดินรถได้อีกมาก”

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ปฏิรูปองค์กรให้สอดคล้องกับการฟื้นฟู โดยส่วนนี้การรถไฟฯ จะเพิ่มสานงานด้านการตลาดโดยตรงในส่วนธุรกิจโดยสารและสินค้า เพื่อวิเคราะห์ความต้องการของตลาดมากขึ้น นอกจากนี้จะปรับลดค่าใช้จ่ายบุคลากร ด้านค่าล่วงเวลา OT และค่าทำงานวันหยุด พร้อมทั้งพัฒนาระบบบัญชีให้สามารถจำแนกแสดงประสิทธิภาพให้แต่ละกลุ่มธุรกิจชัดเจนขึ้น

และยุทธศาสตร์ที่ 6 พัฒนาระบบรางด้วย BCG Model พัฒนาระบยรางด้วยนวัตกรรมสีเขียว ซึ่งเป็นกระแสที่ทั้งโลกกำลังให้ความสนใจ และผู้ประกอบการทุกภาคส่วนให้ความสำคัญในการผลักดันเรื่องนี้ โดยในส่วนของการรถไฟฯ มีเป้าหมายที่จะปรับการให้บริการรถไฟบางขบวนจากเชื้อเพลิงดีเซลสู่การใช้พลังงานสะอาด หรือระบบไฟฟ้า (EV)

นายอวิรุทธ์ กล่าวด้วยว่า หลังบอร์ดอนุมัติแผนฟื้นฟูฉบับใหม่นี้ การรถไฟฯ เตรียมรายงานไปยังกระทรวงคมนาคมในเร็วๆ นี้ หลังจากนั้นจะเสนอไปยัง คนร.เพื่อพิจารณา ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อเริ่มดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกำหนดในปี 2566 โดยเป้าหมายของแผนฟื้นฟูกิจการฉบับนี้ จะผลักดันให้การรถไฟฯ มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เป็นบวกภายในปี 2576

เริ่มแผนฟื้นฟูล้างหนี้2แสนล้าน
Source - เดลินิวส์
Monday, October 03, 2022 04:10

รฟท.เน้นธุรกิจหารายได้ ขอเวลา10ปี(76)มีกำไร

นายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติแผนวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย ปี 66-70 (แผนฟื้นฟู รฟท.) หลังจากนี้ รฟท. จะเสนอกระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป ภายในปี 65 เพื่อเริ่มดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯ ในปี 66 โดยมีเป้าหมายผลักดันให้ รฟท. มีผลดำเนินงานลดการขาดทุน และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เป็นบวกภายในปี 76

นายอวิรุทธ์ กล่าวต่อว่า แผนฟื้นฟูฯ ฉบับนี้เน้นวางแผนธุรกิจ เพื่อหารายได้เพิ่มขึ้นจากสินทรัพย์ที่มีอยู่ โดยเฉพาะการจัดใช้ระบบทางคู่ให้มีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.พัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขัน อาทิ จัดหารถจักรใหม่ 2.พลิกฟื้นธุรกิจหลัก อาทิ บริหารจัดการขบวนรถโดยสาร เพื่อลดขาดทุน, พัฒนาขบวนท่องเที่ยว, ขยายพันธมิตรการขนส่งหีบห่อวัตถุ และพัฒนาคุณภาพการบริการโดยสาร และสินค้า 3. พัฒนาและสร้างรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการขนส่งระบบราง โดยจะเร่งสร้างรายได้จากการบริหารสัญญาเช่าทรัพย์สินและที่ดิน เร่งดำเนินการในแปลงศักยภาพของสัญญาขนาดใหญ่, สนับสนุนบริษัทลูกในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ และขยายธุรกิจใหม่เพื่อสร้างรายได้

นอกจากนี้จะพัฒนารูปแบบการสร้างรายได้เสริม (Noncore) อาทิ ธุรกิจด้านอาหาร จัดขายตั๋วแบบมีแพ็กเกจ ผู้โดยสารสามารถสั่งอาหารล่วงหน้าได้ หรือจัดทำแพ็กเกจท่องเที่ยว จำหน่ายพร้อมตั๋วรถไฟ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้ผู้โดยสารมากขึ้น 4. ปรับรูปแบบธุรกิจสู่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มระบบราง ต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานระบบทางคู่โดยจะเปิดให้เอกชนเช่าใช้ระบบราง เพื่อใช้งานให้มีประสิทธิภาพในช่วงที่ รฟท. อยู่ระหว่างจัดหาหัวรถจักรเพิ่ม อย่างไรก็ตามขณะนี้ รฟท. อยู่ในช่วงจัดหาหัวรถจักร เพื่อนำมาให้บริการใช้ระบบรางให้เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งตามแผนต้องจัดหาเพิ่มเติมกว่า 100 คัน แต่ส่วนตัวมองว่าต้องใช้หัวรถจักรมากถึงพันคัน ดังนั้นระบบรางของไทยยังมีศักยภาพรองรับการเดินรถได้อีกมาก

5. ปฏิรูปองค์กรให้สอดคล้องกับการฟื้นฟู โดย รฟท. จะเพิ่มสายงานด้านการตลาดในส่วนธุรกิจโดยสารและสินค้า เพื่อวิเคราะห์ความต้องการของตลาดมากขึ้น รวมไปถึงจะปรับลดค่าใช้จ่ายบุคลากร ด้านค่าล่วงเวลา OT และค่าทำงานวันหยุด และ 6. พัฒนาระบบรางด้วยนวัตกรรมสีเขียว โดย รฟท. มีเป้าหมายปรับการให้บริการรถไฟบางขบวนจากเชื้อเพลิงดีเซลสู่การใช้ระบบไฟฟ้า (EV) ทั้งนี้ปัจจุบัน รฟท. มีภาระหนี้สินอยู่ประมาณ 2 แสนล้านบาท

นายอวิรุทธ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ที่ประชุมมีมติสั่งจ้างบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ตั้งแต่เดือน ต.ค.65-ก.ย.66 วงเงินประมาณ 476 ล้านบาท นอกจากเป็นเงินสำหรับค่าจ้างแล้ว ยังเป็นค่าบริหารจัดการ 8 ล้านบาท ซึ่งเดิมการสั่งจ้างจะมีแต่ค่าจ้างเท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาในเชิงบริหารแล้ว เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับบริษัทลูก รฟท. และกระตุ้นให้งานบริการมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ที่ประชุมบอร์ด รฟท. จึงมีมติเพิ่มค่าบริหารจัดการให้ด้วย.

ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 3 ต.ค. 2565

https://www.facebook.com/TransportDailynews/posts/647564976820740
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 03/10/2022 3:44 pm    Post subject: Reply with quote

Mongwin wrote:
การรถไฟฯ เตรียมเสนอ คนร.ดันแผนฟื้นฟูกิจการฉบับใหม่
กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เวลา 13:58 น.


เริ่มแผนฟื้นฟูล้างหนี้2แสนล้าน
Source - เดลินิวส์
Monday, October 03, 2022 04:10

รฟท.เน้นธุรกิจหารายได้ ขอเวลา10ปี(76)มีกำไร

ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 3 ต.ค. 2565

https://www.facebook.com/TransportDailynews/posts/647564976820740


ดูนี่ก็ได้ครับ
บอร์ด รฟท. ไฟเขียวแผนฟื้นฟูรถไฟ สางหนี้ 2 แสนล้าน ลุยหารายได้เพิ่ม
เศรษฐกิจ-ยานยนต์
วันจันทร์ ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เวลา 11:46 น.

บอร์ด รฟท. ไฟเขียวแผนฟื้นฟูรถไฟ ลุยสางหนี้ 2 แสนล้าน ตั้งธง EBITDA เป็นบวกปี 76 เตรียมชงคมนาคม-คนร.-ครม. อนุมัติจบปีนี้ เริ่มลุยปีหน้า เน้นแผนธุรกิจหารายได้เพิ่ม เล็งจัดแพ็กเกจขายตั๋วพร้อมอาหาร/ท่องเที่ยว ให้เอกชนเช่ารางรถไฟ เคาะสั่งจ้าง รฟฟท. เดินรถไฟฟ้าสายสีแดง 1 ปี 476 ล้าน พร้อมเพิ่มค่าบริหารจัดการ สร้างขวัญกำลังใจ
https://www.dailynews.co.th/news/1538101/

บอร์ด รฟท.ไฟเขียวแผนฟื้นฟูใหม่แก้หนี้ 2 แสนล้าน ลุยธุรกิจเดินรถและ Non-core พลิกฟื้นรายได้
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เผยแพร่: วันจันทร์ ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เวลา 09:01 น.
ปรับปรุง: วันจันทร์ ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เวลา 09:01 น.



บอร์ด รฟท.เห็นชอบแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ เปิด 6 กลยุทธ์ เพิ่มประสิทธิภาพ-รายได้ ลุยธุรกิจเดินรถและ Non-core เร่งจัดหารถจักรล้อเลื่อน พลิกฟื้นผลประกอบการ คาดชง ครม.ในปีนี้พร้อมเคาะจ้าง รฟฟท. 476 ล้านบาท เดินรถสายสีแดงปี 66

นายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการกลุ่มอำนวยการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ที่มี นายจิรุฒม์ วิศาลจิตร เป็นประธาน เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2565 มีมติเห็นชอบแผนวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย ปี 2566-2570 (แผนฟื้นฟูการรถไฟฯ) และแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ 2566 โดยหลังจากนี้ รฟท.จะนำเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในปี 2565

โดยแผนฟื้นฟู รฟท.ฉบับปรับปรุงใหม่ ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ดังนี้ 1. พัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขัน (Enhance Competitive Advantage) มี 3 กลยุทธ์ ได้แก่ การก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 และเส้นทางรถไฟสายใหม่, จัดหาและซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อนเพื่อทดแทนและขยายกำลังการขนส่ง ลดต้นทุนการแข่งขัน, เพิ่มสัดส่วน Outsource งานซ่อมบำรุงรักษาทางของเอกชนเพื่อลดต้นทุน

2. พลิกฟื้นธุรกิจหลัก (Core Business Turnaround) มี 6 กลยุทธ์ ได้แก่ ขยายการขนส่งสินค้าในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ, ปรับรูปแบบการเดินรถเพื่อลดการขาดทุน, พัฒนาขบวนรถท่องเที่ยว, ขยายพันธมิตรการขนส่งหีบห่อ (Parcel), พัฒนาคุณภาพบริการรถโดยสารและสินค้า, บริหารโครงการรถไฟสายสีแดงและรถไฟความเร็วสูงอย่างมีประสิทธิภาพ, บริหาร PSO ให้เหมาะสม

3. พัฒนาและสร้างรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการขนส่งระบบราง (Non-core Business Enhancement) มี 3 กลยุทธ์ ได้แก่ สร้างรายได้จากบริหารสัญญาเช่า ทรัพย์สินและที่ดิน, สนับสนุนบริษัทลูกพัฒนาโครงการขนาดใหญ่และขยายธุรกิจใหม่, พัฒนารูปแบบสร้างรายได้เสริมจากพื้นที่โฆษณาและเชิงพาณิชย์

4. ปรับรูปแบบธุรกิจสู่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มระบบราง (Become Platform Provider) ได้แก่ เตรียมพร้อมรองรับ พ.ร.บ.การขนส่งทางราง การให้เอกชนเข้ามาร่วมเดินรถ

5. ปฏิรูปองค์กรให้สอดคล้องกับการฟื้นฟู (Organizational Reform) มี 4 กลยุทธ์ ได้แก่ ปรับโครงสร้างองค์กร, เพิ่มสายงานการตลาดธุรกิจโดยสารและสินค้า, ปรับปรุงกระบวนการทำงานขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี, บริหารจัดการค่าใช้จ่ายบุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพ, พัฒนาระบบบัญชีแยกแต่ละกลุ่มธุรกิจ

6. พัฒนาระบบรางด้วย BCG Model (BCG Model Incorporation) ได้แก่ มุ่งสู่นวัตกรรมสีเขียว บริการด้วยรถไฟ EV

ทั้งนี้ แนวทางแผนฟื้นฟู รฟท.ฉบับใหม่จะปรับจากแผนเดิมก่อนหน้านี้เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เนื่องจากโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่กำลังจะแล้วเสร็จ ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้าและมีโอกาสชิฟโหมดจากถนนสู่รางได้มากขึ้นเพราะมีต้นทุนต่ำกว่าและมุ่งการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การใช้เชื้อเพลิงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญ เน้นรายได้จากธุรกิจ Non-core นอกเหนือจากค่าโดยสาร เช่น มีบริการอาหารบนรถ หรือหาพันธมิตรด้านท่องเที่ยวและขนส่งเชื่อมต่อเพื่อเสริมบริการผู้โดยสาร เป็นต้น

ปัจจุบัน รฟท.มีหนี้สินประมาณ 2 แสนล้านบาท แผนฟื้นฟู มีเป้าหมายให้ รฟท.มี EBITDA เป็นบวก ไม่เกินปี 2576 ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน เนื่องจากการบริหารของ รฟท.ใช้บุคลากรค่อนข้างมาก และเป็นบริการที่ใช้เงินในการลงทุนสูง ดังนั้นหากต้องการเพิ่มรายได้ทั้งด้านโดยสารและสินค้าและธุรกิจ Non-core ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะในเรื่องการจัดหารถจักรและล้อเลื่อนให้เป็นไปตามที่กำหนดในแผน

ในขณะที่ รฟท.เป็นรัฐวิสาหกิจ มีขั้นตอนและเวลาในการดำเนินการและกระทรวงการคลังต้องค้ำประกันเงินกู้ ดังนั้นเมื่อทุกฝ่ายเห็นด้วยกับแผนฟื้นฟู ว่ามีแนวทางในการแก้ปัญหาขาดทุนและสร้างรายได้ให้ รฟท.ในอนาคตอย่างยั่งยืน เชื่อว่าการเสนอแผนจัดหารถจักรล้อเลื่อนจะได้รับการสนับสนุนเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยมีแผนที่ต้องเร่งเดินหน้า เช่น การจัดหารถดีเซลราง 184 คัน รถดีเซลราง 216 คัน และรถบรรทุกคอนเทนเนอร์ 965 คัน เป็นต้น

X

อย่างไรก็ตาม ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาการดำเนินงานปัจจุบันของ รฟท.จะมีการตั้งบริษัทลูก 3 บริษัท ซึ่งได้ดำเนินการแล้วคือบริษัทลูกด้านบริหารทรัพย์สินคือ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) โดยอยู่ในขั้นตอนการโอนสัญญาและสิทธิ ส่วนที่เหลือ คือบริษัทลูกเดินรถ และซ่อมบำรุง ซึ่งจะดำเนินการหลังจากนี้ ซึ่งจะทำให้เกิดความคล่องตัวและเพิ่มรายได้ให้รฟท.



@เคาะงบปี 66 กว่า 476 ล้านบาทจ้าง รฟฟท.บริหารการเดินรถสายสีแดง

นอกจากนี้ บอร์ด รฟท.ยังเห็นชอบสั่งจ้างบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด (รฟฟท.) บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ประจำปีงบประมาณ 2566 ระยะเวลา 12 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 ถึงวันที่ 30 ก.ย. 2566 วงเงินไม่เกิน 476,812,470.60 บาท โดยถือตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงเป็นเกณฑ์ซึ่งให้ใช้เป็นค่าเงินเดือน ขณะที่การจัดซื้อจัดจ้างวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ จะต้องเสนอ รฟท.ซึ่งจะมีการจัดสรรงบประมาณเข้าไปดำเนินการ
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 05/10/2022 1:47 am    Post subject: Reply with quote

#จุดเช็คอินเมืองฅอน ของคนฅอน
บรรยากาศดีดีที่หลากหลายให้เราได้เก็บภาพประทับใจ นอกจากทะเล ภูเขา แล้ว แนวสตรีทก็มีให้ได้เก็บความทรงจำ

https://www.facebook.com/groups/NakhonCountry/posts/2820462181420056/
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 06/10/2022 1:26 pm    Post subject: Reply with quote

ครม.อนุมัติ การรถไฟฯ กู้อีก 15,200 ล้าน เสริมสภาพคล่อง
หุ้น-การเงิน
วันพุธ ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เวลา 15:15 น.

ครม.ไฟเขียวให้ รฟท. กู้เงินเสริมสภาพคล่อง 1.5 หมื่นล้าน
หน้าเศรษฐกิจ-ธุรกิจ
ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล |
วันพุธ ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เวลา 16:20 น.

ครม.ไฟเขียวให้ รฟท. กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องในปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 1.52 หมื่นล้าน และกู้ระยะสั้น 1.5 พันล้านบาทเพื่อจ่ายผู้รับเหมาในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ไม่เกิดปัญหากระทบต่อการดำเนินงาน

ครม.อนุมัติ การรถไฟฯ กู้เงิน 15,200 ล้านบาท เสริมสภาพคล่อง ลงทุน จ่ายบำเหน็จ-บำนาญ 8 ปี กู้แล้ว 88,905 ล้านบาท

วันที่ 5 ตุลาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กู้เงินเพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่องในปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 15,200 ล้านบาท และเงินกู้ระยะสั้นวงเงิน 1,500 ล้านบาท


โดยให้ดำเนินการคัดเลือกสถาบันการเงินด้วยวิธีการประมูลวงเงินกู้ระยะสั้นตามความเห็นของกระทรวงการคลัง โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน รวมทั้งพิจารณาวิธีการกู้เงิน เงื่อนไขและรายละเอียดตามความเหมาะสม

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า โดยรฟท.จะกู้เงินได้ภายหลังจากวงเงินกู้ได้รับการบรรจุไว้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว

โดยที่ผ่านมาครม.มีมติเห็นชอบให้รฟท.ดำเนินการกู้เงินเพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่องและเงินกู้ระยะสั้นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา รฟท.ได้ขอกู้เงินเพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่องรวมแล้วจำนวน 88,905 ล้านบาท

“กระทรวงคมนาคมรายงาน ว่า รฟท.ประสบปัญหาขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2566 รฟท.คาดการณ์ว่าจะมีเงินสดรับ 59,320 ล้านบาท และเงินสดจ่าย 74,620 ล้านบาท โดยมีเงินสดยกมาจากปี 2565 จำนวน 100 ล้านบาท

ส่งผลให้รฟท.ขาดเงินสดไว้ใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 15,200 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องกู้เงินจำนวนดังกล่าว เพื่อให้มีเงินสดหมุนเวียนในการใช้จ่ายดำเนินงาน การลงทุน การจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญ และการชำระหนี้เงินกู้ โดยคาดว่ารฟท.จะเริ่มขาดเงินในช่วงเดือนตุลาคม 2565” น.ส.ไตรศุลีกล่าว


น.ส.ไตรีศุลีกล่าวว่า สำหรับเงินวงเงินกู้ระยะสั้น 1,500 ล้านบาท จะเป็นวงเงินสำรองสำหรับกรณีที่ต้องมีการใช้จ่ายเร่งด่วน เนื่องจากปัจจุบัน ร.ฟ.ท. มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่หลายโครงการต้องบริหาร ขณะที่รายจ่ายด้านต่างๆ อาทิ การบำรุงรักษาทาง อาณัติสัญญาณ รถจักรล้อเลื่อนและการบริหารต่างๆ ยังคงเดิม แต่ ร.ฟ.ท. ยังมีภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่องและอาจประสบภาวะเงินสดขาดมือในบางช่วง


จึงจำเป็นต้องเปิดวงเงินกู้ระยะสั้นในกรอบ 1,500 ล้านบาทข้างต้น สำหรับการสำรองเงินให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย การดำเนินงานต้องกระทบกระเทือนหรือหยุดชะงัก
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42624
Location: NECTEC

PostPosted: 14/10/2022 5:18 am    Post subject: Reply with quote

การรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมพิธีทำบุญตักบาตร เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 13 ตุลาคม 2565
เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 13 ตุลาคม 2565 เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประโยชน์สุขแก่ปวงชนชาวไทยผ่านโครงการในพระราชดำริที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ และพระราชทานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางให้ประชาชนดำเนินชีวิตโดยใช้ความรู้และสติปัญญาเป็นภูมิคุ้มกัน โดยมีนายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง ผู้ช่วยผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ เป็นผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมพิธี ณ อาคาร 1 กระทรวงคมนาคม เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ
https://www.facebook.com/pr.railway/posts/477432524414744
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44323
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 14/10/2022 7:53 am    Post subject: Reply with quote

ไทยปั้น ”ไฮสปีด”แกนกลางเชื่อมระบบราง”จีน-อาเซียน” เร่งแก้คอขวด’หนองคาย-เวียงจันทน์’ สร้าง’ไทย-จีน’คืบแค่ 15.49%
เผยแพร่: 13 ต.ค. 2565 09:08
ปรับปรุง: 13 ต.ค. 2565 09:08
โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เมื่อวันที่ 6-7 ต.ค. 2565 “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ในนาม”ทีมไทยแลนด์” ซึ่งมีทั้งผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน หอการค้า ผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ไทย เดินทางไปประชุมเกี่ยวกับโครงการเชื่อมต่อทางรถไฟ ช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์ ร่วมกับนายเวียงสะหวัด สีพันดอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) หลังจากนั้นได้เข้าเยี่ยมชม การบริหารจัดการขนส่งสินค้า ของ โครงการเวียงจันทน์โลจิสติกส์ปาร์ก (Vientiane Logistics Park : VLP) ต่อด้วยการทดลองนั่งรถไฟ”ลาว-จีน” จากนครหลวงเวียงจันทน์ ไปยังเมืองหลวงพระบาง (ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง 5 นาที)

การเจรจาบนโต๊ะ บรรยากาศเป็นไปด้วยดี ใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากก่อนหน้านี้ คณะทำงานทั้ง 2 ฝ่ายได้ร่วมประชุมกันไปหลายรอบ ในขณะที่ข้อสรุป ก็ถือว่าแทบจะยังไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะฝั่งไทยทุกประเด็น ยังเป็นขั้นตอนศึกษา จะมีเพียงการใช้ประโยชน์ สะพานมิตรภาพที่ได้เริ่มการบริหารจัดการใช้ทางรถไฟข้ามแม่น้ำโขงเดิมระหว่างรอการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ ด้วยการเพิ่มขบวนรถไฟขาไป 7 ขบวน และขากลับ 7 ขบวน รวม 14 ขบวน รองรับขบวนละ 25 แคร่ ทำให้ขนส่งสินค้าได้เพิ่มขึ้นจากเดิม

@ไทยเร่งพัฒนาจุดเชื่อมโยงสินค้าและผู้โดยสาร
ประเด็นที่กำหนดไว้ เกี่ยวกับการเชื่อมโยงผู้โดยสารและสินค้าทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน สองฝ่ายได้ตกลงร่วมกันที่จะพัฒนาและปรับปรุงความร่วมมือด้านการคมนาคมทั้ง 4 มิติ เพื่อที่การเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมร่วมกันระหว่างสองประเทศจะมีความคืบหน้าและบรรลุเป้าหมายโดยมีประเด็นหลัก คือ

1. แนวทางการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟไทย – ลาว – จีน ซึ่งฝ่ายไทยนำเสนอ ความก้าวหน้า โครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กม. ว่าปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง ซึ่งงานโยธาก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา และจัดซื้อจัดจ้าง 3 สัญญา ส่วนงานระบบอยู่ระหว่างออกแบบ คาดว่าเปิดให้บริการปี 2569

ความก้าวหน้า โครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ระยะทาง 355 กม. มีจำนวน 5 สถานี ประกอบด้วย สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย ปัจจุบัน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงาน EIA คาดว่าเปิดให้บริการปี 2572
ความก้าวหน้า โครงการรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ระยะทาง 167 กม. คาดว่าจะสามารถนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในปี 2565 เปิดให้บริการปี 2569

Click on the image for full size

@ สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ไม่จบ! ลาวไม่ตอบรับ ”สะพานรถไฟใช้ร่วมรถยนต์” เหตุเกินความจำเป็น
สำหรับการขนส่งสินค้าทางรถไฟข้ามแดนนั้น นอกจากการเพิ่มการเดินรถไฟบนสะพานเดิมเป็น 14 ขบวนต่อวัน ไปแล้ว ประเด็นการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ได้ข้อสรุปตรงกันคือ ตำแหน่งสะพานใหม่ รองรับรถไฟขนาดมาตรฐาน (1.435 เมตร) จำนวน 2 ทาง (รองรับรถไฟความเร็วสูง) และขนาด 1 เมตร จำนวน 2 ทาง (รองรับรถไฟปัจจุบัน) โดยเมื่อก่อสร้างสะพานแห่งใหม่เสร็จ จะปรับสะพานเดิม รับเฉพาะรถยนต์ โดยฝ่ายไทยและฝ่ายลาวจะร่วมลงทุนค่าใช้จ่ายร่วมกันในอาณาเขตของแต่ละฝ่าย
ล่าสุด กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้กรมทางหลวง ออกแบบสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ให้สามารถรองรับการใช้งานของรถไฟ และรถยนต์ควบคู่กัน ซึ่งฝ่ายไทยรับที่จะออกค่าศึกษาออกแบบให้ โดยกรมทางหลวง ได้รับงบประมาณเหลือจ่ายปี 2565 วงเงิน 40 ล้านบาท จ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบสะพานมิตรภาพหนองคายแห่งที่ 2

ระยะที่ 1 การศึกษาความเหมาะสมของโครงการ (Feasibility Study : FS Study) และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination: IEE) ประมาณ 9 เดือน แล้วเสร็จปลายเดือนมิถุนายน 2566

ระยะที่ 2 งานออกแบบรายละเอียด (Detailed Design) และงานศึกษาทบทวนผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ระยะเวลา 12 เดือน
เบื้องต้นฝ่ายลาวไม่ขัดข้องที่ไทย จะรับผิดชอบการศึกษาออกแบบ แต่มีข้อเสนอว่าสะพานรถไฟและรถยนต์ควรแยกออกจากกัน และฝ่ายลาวเห็นว่าการเชื่อมต่อระหว่างไทยและลาว ควรเป็นการดาเนินการระหว่างฝ่ายไทยและฝ่ายลาว เหมือนกับสะพานมิตรภาพระหว่างไทย – ลาว ทั้ง 6 แห่งที่ผ่านมา

เท่ากับลาว...ยังยืนยันแนวคิด สะพานรถไฟแยกจากรถยนต์ ไม่ตรงกับข้อเสนอของไทยที่ขอโครงสร้างสะพานที่ใช้งานร่วมทั้งรถไฟและรถยนต์ ซึ่งคาดว่า น่าจะต้องหารือกันอีกหลายรอบ เหตุผลหลักของลาว คือ ไม่ควรสร้างเกินความจำเป็นและทำให้ค่าก่อสร้างแพงขึ้น

Click on the image for full size

@ รฟท.ศึกษา PPP พัฒนาย่านสถานีนาทา เสร็จปี 66

สำหรับ การพัฒนาย่านขนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้าสถานีนาทา เนื้อที่ประมาณ 268 ไร่ มีเป้าหมายเพื่อรองรับการขนส่งจากจีนและลาว และส่งออกไปยังลาว ปัจจุบัน รฟท. อนุมัติให้ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่ปรึกษาโครงการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้าเพื่อรองรับการขนส่งทางรางจังหวัดหนองคาย (อนุมัติเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ระยะเวลาสัญญา 16 มิถุนายน 2565 – 11 มีนาคม 2566 (210 วัน)


ในขณะที่ฝั่งลาวมี”โครงการเวียงจันทน์โลจิสติกส์”บริการด้านขนส่งสินค้าครบวงจร ซึ่งกว่า”ย่านสถานีนาทา”เปิดบริการ เชื่อว่าการขนส่งโลจิสติสก์ของลาวคงขยับหนีไปอีกไกล

ในระหว่างนี้ ไทยจึงมีแผนระยะเร่งด่วน คือ การพัฒนาย่านสถานีหนองคายเป็นพื้นที่เปลี่ยนถ่ายสินค้า เพื่อใช้รองรับเส้นทางรถไฟจีน - ลาว โดยการขนส่งผ่านสะพานเดิมไปก่อน ซึ่งบริเวณสถานีหนองคาย มีพื้นที่ประมาณ 80 ไร่ จะเป็นพื้นที่ตรวจปล่อยสินค้าระหว่างประเทศ และการเปลี่ยนถ่ายจากถนนสู่ราง โดย รฟท. ใช้งบ 4.22 ล้านบาทปรับปรุงพื้นที่บริเวณลานยกขนสินค้าเรียบร้อยแล้ว กรมศุลกากรดำเนินการขอออกประกาศใช้พื้นที่บริเวณสถานีหนองคายเป็นพื้นที่ตรวจปล่อย จำนวน 46,800 ตารางเมตร

ส่วนพื้นที่คงเหลือ รฟท. พิจารณาแบ่งออกเป็น 5 แปลง พื้นที่แปลงละ 11,200 ตารางเมตร โดยเพื่อออกประกาศเชิญชวน จำนวน 4 แปลง และกันไว้เป็นพื้นที่ส่วนกลาง 1 แปลง

Click on the image for full size

@ข้อจำกัดสะพานมิตรภาพ คอขวดขนส่งข้ามแดน อุปสรรคปริมาณคอนเทนเนอร์ทางรางไม่พุ่ง

จากข้อมูลปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางประเภทสินค้าคอนเทนเนอร์ เส้นทางหนองคาย – ท่านาแล้ง ในช่วงเดือนพ.ย. 2564 –ส.ค. 2565 มีจำนวน 25,387 ตัน โดยเฉพาะในเดือนส.ค. 2565 พบว่า มีปริมาณการขนส่งสินค้า ถึง 5,500 ตัน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือน ก.ค. 2565 ที่มี 3,121 ตัน เป็นการเพิ่มขึ้น ถึง 76 %

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางราง วิเคราะห์ว่า ปริมาณการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น เป็นผลจาก การบริหารจัดการการใช้ทางรถไฟและการใช้สะพานให้มีความเหมาะสม โดยเพิ่มความถี่การเดินรถไฟจากเดิม 4 เที่ยว ไป/กลับ และขนส่งสินค้าขบวนละ 12 แคร่ เป็น 14 เที่ยว ไป/กลับ และขนส่งสินค้าขบวนละ 25 แคร่ โดยใช้หัวลาก ขนาด 15 ตัน/เพลา ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกในการขนส่งสินค้าของผู้ประกอบการไปยังท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) อีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม พบว่า ยังมีอุปสรรคการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างไทย-ลาว เช่น ปัญหาการบริหารจัดการสินค้าระหว่างย่านสถานีเวียงจันทน์ใต้กับท่าบกท่านาแล้ง ,ข้อจำกัดของ สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 1 ทำให้การรับน้ำหนักบรรทุกไม่ได้เต็มประสิทธิภาพ ,ค่าบริการฝั่งสปป.ลาว ที่ยังสูงมาก เป็นต้น

Click on the image for full size
ไซด์ก่อสร้างรถไฟไทย-จีน

@เร่งไม่ขึ้น!รถไฟไทย-จีน ระยะแรก กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 3 สัญญา ติดหล่มไม่ขยับ

สำหรับการก่อสร้างงานโยธา”รถไฟความเร็วสูง” ไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ระยะทาง 250.77กม. จำนวน 14 สัญญา นั้นแล้วเสร็จไปเพียงสัญญาเดียวคือ 1-1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา โดย ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2565 ภาพรวมทั้งโครงการมีความคืบหน้า 15.49 % ขณะที่แผนงานวางไว้ที่ 37.33%

สัญญาที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา ประกอบด้วย
-สัญญา 2–1 ช่วงสีคิ้ว–กุดจิก ระยะทาง 11 กม. วงเงิน 3,114.98 ล้านบาท มี บจ.ซีวิลเอ็นจีเนียริง เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 94.44%

-สัญญา 3–2 อุโมงค์มวกเหล็กและลาตะคอง ระยะทาง 12.23 กม. วงเงิน 4,279 ล้านบาท มี บมจ.เนาวรัตน์ พัฒนาการ เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 4.16 %

-สัญญา 3–3 ช่วง บันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 26.10 กม. วงเงิน 9,838 ล้านบาท มี บจ.ไทย เอ็นยิเนียร์ และอุตสาหกรรมเป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 13.93 %

-สัญญา 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. วงเงิน 9,848 ล้านบาท มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 38.20 %

-สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม. วงเงิน 7,750 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า SPTK (นภาก่อสร้าง ร่วมกับรับเหมาประเทศมาเลเซีย) เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 2.36 %

- สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กม. วงเงิน 10,570 ล้านบาท มี บมจ.บริษัทยูนิค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 0.08%

- สัญญา 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. วงเงิน 11,525.35 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า CAN (บจ.เอ.เอสแอสโซศซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964), บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ และ บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 4.08 %

-สัญญา 4-4 งานศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย วงเงิน 6,573 ล้านบาท มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้ก่อสร้างนั้น ลงนามแล้ว แจ้ง NTP ให้เริ่มงานเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2565 อยู่ระหว่างจัดเตรียมพื้นที่

- สัญญา 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.60 กม. วงเงิน 9,429 ล้านบาท มี บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 0.13%

- สัญญา 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กม. วงเงิน 8,560 ล้านบาท มี บมจ.ซีวิลเอนจีเนียริง เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 127.92%

อีก 3 สัญญานั้นมี 2 สัญญาที่ประกวดราคาแล้วแต่ยังไม่สามารถลงนามได้ คือ สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. วงเงิน 9,913 ล้านบาท เนื่องจากสถานีอยุธยาติดมรดกโลก ล่าสุดรฟท.เตรียมลงนามจ้างผู้รับเหมาแบบมีเงื่อนไขในช่วงรอ EIA ฉบับปรับปรุง สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. วงเงิน 9,348 ล้านบาท ต้องรอคำสั่งศาลอย่างเดียว ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ เหลือ สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. ซึ่งเป็นช่วงโครงสร้างทับซ้อนกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ยังต้องรอข้อสรุปแก้สัญญาสัมปทานของ ซี.พี.
ส่วนงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟ และจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) อยู่ระหว่างออกแบบ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า รถไฟลาว-จีน เส้นทางนครหลวงเวียงจันทน์-บ่อเต็น ระยะทาง 414 กม. จีนวางแผนก่อสร้าง 4 ปี โดยเสร็จเร็วกว่ากำหนด 1 เดือน เพราะพยายามทำเส้นทางให้ตรง ผ่านภูเขาก็เจาะอุโมงค์ ผ่านเหวก็ทำสะพาน มองแล้วอาจจะเห็นว่าแพง แต่ในระยะยาวเป็นแนวทางที่ค่าใช้จ่ายต่ำกว่า เพราะเส้นทางสั้นและใช้เวลาเดินทางน้อยลง สำหรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-หนองคาย ของไทย ถือว่าไม่ได้ล่าช้าอะไร หากเปรียบเทียบ รถไฟลาวระยะทางกว่า 400 กม.เป็นทางเดี่ยว ก่อสร้าง 4 ปี รถไฟของไทยระยะทางกว่า 600 กม. เป็นระบบทางคู่ ซึ่งไทยกำหนดเสร็จเปิดบริการปี 2572 ผมว่าไม่ได้ล่าช้า “ปัญหาคือ ไทยเป็นทางคู่ ทางลาวเป็นทางเดี่ยว จะเกิดคอขวดขึ้นในอนาคต

“ลาวบอกว่าจะพัฒนาประเทศจาก Landlocked หรือประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล เป็น Land link เชื่อมโยงจากจีนลงด้านใต้ สู่อาเซียนต้องผ่านลาว ซึ่งประเทศไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทาง ดังนั้น ทั้งไทย ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ ดำเนินการในแนวทางเดียวกันเพื่อเชื่อมต่ออย่างสมบูรณ์และไม่เกิดคอขวดการขนส่งสามารถวิ่งทะลุและเช็คสินค้าที่ต้นทางและปลายทางเท่านั้น ไม่ต้องตรวจกันหลายครั้ง ซึ่งทำให้ลดต้นทุนได้อย่างแท้จริง”

ทั้งนี้ ตามแผนภายในปี 2565 จะพัฒนาสถานีรถไฟหนองคายและติดตั้ง โมบาย เอ็กซ์เรย์ สำหรับตรวจสินค้า ปี 2569 เปิด บริการรถไฟไทย-จีน ระยะ 1(กรุงเทพ-นครราชสีมา) ,เปิดบริการรถไฟทางคู่ ช่วง ขอนแก่น-หนองคาย ,ก่อสร้างสะพานแห่งใหม่เสร็จ ปี 2571 เปิดบริการรถไฟไทย-จีน ระยะ 2 (นครราชสีมา-หนองคาย) และเปิดบริการย่านสถานีนาทา”ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าทางราง “

ไทยเริ่มก่อสร้างถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เมื่อ ธ.ค. 2560 ปรับแผนล่าสุดกำหนดเปิดปี 2569 ปัจจุบันมีผลงานก่อสร้าง 15.49 % ใช้เวลาเกือบ 5 ปี ประเมินงานที่เหลือกับเวลาอีก 4 ปี เชื่อว่าคงต้องปรับแผนกันอีกหลายรอบ ตามสไตล์ไทยแลนด์!!!
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44323
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 14/10/2022 9:29 am    Post subject: Reply with quote

รถตู้เมืองกรุง! เผยยอดผู้โดยสารเริ่มกลับมาแล้วครึ่งหนึ่ง
เดลินิวส์ 14 ตุลาคม 2565 7:58 น.
เศรษฐกิจ-ยานยนต์

โควิดคลี่คลาย แต่ยอดใช้บริการรถตู้เมืองกรุงเทพฯ-ปริมณฑลกลับมาแค่ครึ่งหนึ่ง รายได้วันละ 1,200-1,500 บาทต่อคัน คาดประชาชนมีทางเลือกเดินทางเพิ่ม-แข่งขันสูง นิยมใช้รถไฟฟ้า-รถไฟชานเมือง-รถเมล์ไฟฟ้า สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย

นายปัญญา เลิศหงิม นายกสมาคมรถตู้โดยสารสาธารณะ กรุงเทพฯ ปริมณฑล เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้โดยสารใช้บริการถรถตู้โดยสารสาธารณะ หมวด 1 และ หมวด 4 เส้นทางกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่เป็นรถร่วมบริการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)  อยู่ที่ประมาณครึ่งหนึ่งหรือคิดเป็น 50%  ถ้าเทียบกับช่วงที่ไม่มีสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโควิด-19 เมื่อปี 62 ที่มีผู้โดยสารใช้บริการ 100% ผู้โดยสารที่ใช้บริการส่วนใหญ่ยังเป็นวัยทำงาน ส่วนมากหนาแน่นช่วงเร่งด่วนเช้า เวลา 06.00-09.00 น. และ เร่งด่วนเย็น 16.00-20.00 น. โดยช่วงเร่งด่วนผู้โดยสารจะใช้บริการเต็มเกือบทุกเที่ยว ในจำนวนรถตู้ที่มีจำนวน 13 ที่นั่งต่อคัน ส่วนนอกเวลาเร่งด่วนจะให้บริการตามความต้องการของผู้โดยสารและใช้บริการอยู่ที่ 4-5 คนต่อคันต่อเที่ยว

นายปัญญา กล่าวต่อว่า จากการให้บริการในขณะนี้พบว่า ผู้ประกอบการรถตู้มีรายได้อยู่ที่ 1,200-1,500 บาทต่อคันต่อวัน ในจำนวนนี้ยังไม่หักใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งถ้าหักค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเชื้อเพลิง แล้วเหลือประมาณไม่เกิน 500 บาท ซึ่งถือว่าไม่เพียงพอที่สามารถนำมาบริหารจัดการเดินรถได้ ทั้งนี้ยังพบว่า รถตู้ที่ให้บริการยังมีการเดินรถทับเส้นทางที่ให้บริการระบบขนส่งสาธารณะประเภทอื่นๆ เช่น รถไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้ รถไฟฟ้าสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ยังให้บริการฟรี รวมทั้งยังมีการเปิดให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง และ รถโดยสารพลังงงานไฟฟ้า (อีวี) ของเอกชน ซึ่งมีความใหม่ สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ทำให้กลุ่มผู้โดยสารมีทางเลือกและหันไปใช้รถไฟฟ้า รถไฟชานเมือง และรถเมล์ไฟฟ้ามากกว่าการใช้บริการรถตู้ ทำให้เกิดการแข่งขันสูง และได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง

นายปัญญา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้พบว่า กลุ่มผู้โดยสารที่หายไป 50% นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นผู้โดยสารใช้บริการประจำ โดยเฉพาะกลุ่มทำงาน แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ช่วงนี้แม้จะคลี่คลาย แต่ภาครัฐและเอกชนยังมีการสลับวันทำงานให้เข้ามาทำงานที่หน่วยงานและทำงานที่บ้าน (Work From Home) ประกอบการนักศึกษาเรียนผ่านออนไลน์ และพฤติกรรมการใช้ชีวิตและเดินทางเปลี่ยนไป เช่น เดิมทีนักศึกษาพักอาศัยอยู่ชานเมือง แต่ปัจจุบันนี้ย้ายมาอยู่ในเมือง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางมากขึ้น ขณะที่อีกส่วนยังสะดวกเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวซึ่งมีความปลอดภัย และไม่เสี่ยงต่อการติดโควิด-19 ในการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะด้วย

“ขณะนี้มีรถตู้ที่เป็นรถร่วม ขสมก. ให้บริการจำนวน 1,500 คัน จากเดิมที่มีประมาณ 2,000 กว่าคัน ส่วนที่หายไป 500 กว่าคัน เนื่องจากเจอผลกระทบโควิด-19 ทำให้ผู้โดยสารน้อย รายได้ลดลง ไม่มีกำลังเงินทุนที่จะเดินหน้ากิจการต่อ โดยเฉพาะการส่งค่างวดรถ เพราะรายได้ไม่พอรายจ่าย จึงจำเป็นต้องปล่อยให้รถโดนยึดจากบริษัทสินเชื่อหรือไฟแนนซ์ต่างๆ ถ้าอนาคตสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ผู้ประกอบการรถตู้คงทยอยหายไปเรื่อยๆ” นายปัญญากล่าว
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44323
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 14/10/2022 9:34 am    Post subject: Reply with quote

หยุดยาวชาวโคราชแห่ใช้บริการ รถไฟท้องถิ่น ขวัญใจคนจน
สยามรัฐออนไลน์ 13 ตุลาคม 2565 16:09 น. ภูมิภาค

เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 13 ตุลาคม ที่สถานีรถไฟชุมทางถนนจิระ อ.เมือง จ.นครราชสีมา พบประชาชนจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มผู้โดยสารใช้โอกาสช่วงวันหยุดยาวเดินทางไปศูนย์กลางคมนาคมเชื่อมต่อแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคตะวันตกและภาคใต้ได้ทยอยมาใช้บริการรถไฟขบวนท้องถิ่น 234 สุรินทร์-กรุงเทพมหานคร กันอย่างเนืองแน่น เจ้าหน้าที่ต้องคอยเป่านกหวีดเตือนผู้โดยสารไม่ให้ยืนรอใกล้รางรถไฟจนเกินไป เกรงเกิดอุบัติเหตุพลัดตกลงไปในรางรถไฟ

Click on the image for full size

ที่สถานีรถไฟนครราชสีมา พบประชาชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานและนักเรียน นักศึกษาได้มาใช้บริการขบวนที่ 419 กรุงเทพ–อุบลราชธานี เพื่อเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม แต่สถานีได้ประกาศตามเสียงตามสาย ขบวนรถต้นทางจากสถานีแก่งคอยเกิดขัดข้องด้านเครื่องยนต์ ต้องจัดสรรขบวนรถไฟทดแทนทำให้ช้ากว่ากำหนด 20 นาที แต่ผู้โดยสารก็ไม่ได้ปริปากบ่นหรือไม่พอใจแต่อย่างใด เนื่องจากส่วนใหญ่ชินชากับรถไฟไทยที่ล่าช้าเป็นประจำ

นายอำพล รัตนิยะ นายสถานีรถไฟนครราชสีมา เปิดเผยว่า ห้วงเทศกาลสำคัญหรือช่วงวันหยุดยาวจะมีประชาชนมาใช้บริการโดยสารรถไฟมากกว่าปติ เฉลี่ย 2-3 เท่าตัว หรือประมาณ 5 พันคนต่อวัน โดยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 ขบวนรถไฟท้องถิ่นถือเป็นขวัญใจของผู้ใช้แรงงานและผู้หาเช้ากินค่ำ เนื่องจากค่าโดยสารปรับขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2528 หรือกว่า 37 ปี ซึ่งค่อนข้างถูกมาก หากเปรียบเทียบกับอัตราค่าโดยสารกับรถชนิดอื่นๆ จึงได้รับความนิยมค่อนข้างมาก
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44323
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 15/10/2022 11:53 am    Post subject: Reply with quote

นักวิจัย มร.ลป. ร่วมจัดแสดงนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยและร่วมเสวนา “ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยฯ”
15 ต.ค. 2565

ผศ.ดร.ณัฐนันท์ ฐิติยาปราโมทย์ หัวหน้าแผนงานวิจัย พร้อมด้วย ดร.ปัณณทัต กัลยา นักวิจัย และอาจารย์ปิยะ วัตถพาณิชย์ นักวิจัย ร่วมจัดแสดงนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยและร่วมเสวนา “ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ด้วยงานวิจัยการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข-สกสว. กองทุนส่งเสริม ววน.” ณ ห้องกมลทิพย์ 1-2 ชั้น 2 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565

ผศ.ดร.ณัฐนันท์ ฐิติยาปราโมทย์ ได้เล่าถึงประสบการณ์การทำงานกับการรถไฟแห่งประเทศไทยในการบุกเบิกเส้นทางท่องเที่ยวโดยรถไฟสายประวัติศาสตร์ Lanna Modernization (เชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง) และกำลังต่อขยายมาถึงจังหวัดพิษณุโลก นับเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่สร้างรายได้สูงให้ประเทศ กระจายโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นด้วยการสนับสนุนสินค้าชุมชน พร้อมกันนี้ได้นำเสนอเส้นทางและกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์โดยรถไฟ VIP ตู้นอนจากหัวลำโพงมุ่งสู่เขลางค์นคร แวะชมทัศนียภาพเมืองลำปาง และไปสุดปลายทางนครเวียงพิงค์ โดยจะมีเชฟมืออาชีพรังสรรค์เมนูอาหารจาก 7 ลุ่มน้ำ บนตู้เสบียงร้อนเสริฟนักท่องเที่ยว ช่วงเดือนพฤศจิกายน และเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งมีการจำหน่ายตั๋วแล้วรับจำกัดเพียงขบวนละ 30 ที่นั่งเท่านั้น

นอกจากนี้ ได้วางแผนร่วมกับ รฟท. ขยายเส้นทางท่องเที่ยววัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ในเส้นทางชุมทางหาดใหญ่-ทุ่งสง-กันตัง โดยมีทีมมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาเป็นแม่งาน และทีมมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ร่วมเป็นทีมสนับสนุน

ข้อมูลข่าวและที่มา

ผู้สื่อข่าว : อัมฤทธิ์ จานุวี
ผู้เรียบเรียง : สุนทรี ทับมาโนช
แหล่งที่มา : สวท.ลำปาง
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 436, 437, 438 ... 471, 472, 473  Next
Page 437 of 473

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©