นายไพรัช โรจน์เจริญงาม ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ และบริการท่องเที่ยว ชี้แจงเพิ่มเติมกรณีที่การรถไฟฯ เปิดให้ประชาชนขึ้นโดยสารรถไฟชั้น 3 โดยรัฐบาล จ่ายชดเชยรายได้ให้แก่ การรถไฟฯว่า ยังเป็นเรื่อง ที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน จึงขอทำความเข้าใจ ดังนี้
- ขบวนรถที่การรถไฟฯ เปิดให้ประชาชนขึ้นโดยสารได้ คือ ขบวนรถบริการเชิงสังคม ประกอบด้วย ขบวนรถชานเมือง, ขบวนรถธรรมดา, ขบวนรถท้องถิ่น และขบวนรถรวม ซึ่งมีเดินบริการ ทั่วประเทศวันละ 164 ขบวน (เป็นขบวนรถที่พ่วงด้วยตู้โดยสารชั้น 3 ทั้งขบวน)
- ระยะเวลาเริ่มและสิ้นสุด คือ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2551 สิ้นสุดวันที่ 31 มกราคม 2552 เป็นเวลา 6 เดือน
- วิธีปฏิบัติก่อนขึ้นโดยสาร ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับการซื้อตั๋ว จากสถานีรถไฟตามปกติ เพียงแต่ไม่ต้องจ่ายเงินค่าตั๋ว (เพื่อให้เจ้าหน้าที่ออกตั๋วคุ้มครองการเดินทางให้)
- ผู้โดยสารที่ขึ้นโดยสาร ณ ที่หยุดรถและป้ายหยุดรถ ต้องขอให้เจ้าหน้าที่บนขบวนรถ ออกตั๋วคุ้มครองการเดินทางให้เช่นเดียวกัน
- สำหรับผู้ที่ซื้อตั๋วเดือนไว้ และมีอายุการใช้งานได้ถึง หลังวันที่ 1 สิงหาคม 2551 ไม่สามารถขอคืนเงินค่าโดยสารใดๆได้
- ขบวนรถที่ต้องเสียค่าโดยสารตามปกติ คือ ขบวนรถเชิงพาณิชย์ประกอบด้วย ขบวนรถด่วนพิเศษ, ขบวนรถด่วน และขบวนรถเร็ว ทั่วประเทศ ซึ่งมีวันละ 74 ขบวน (รวมถึงขบวนรถท่องเที่ยว)
อนึ่ง การรถไฟฯ ยังเปิดโอกาสให้ผู้โดยสาร ขึ้นโดยสารขบวนรถด่วน, รถเร็ว ที่มีตู้โดยสารชั้น 3 พ่วง ในช่วงกรุงเทพ-แก่งคอย, กรุงเทพ-ลพบุรี และกรุงเทพ-ราชบุรี หรือในทางกลับกันได้ โดยคิดค่าบริการพิเศษ (ค่าโดยสาร+ค่าธรรมเนียม) คนละ 20 50 บาท ตามระยะทาง และการรถไฟฯ ยังลดค่าธรรมเนียมรถเร็ว ให้แก่ผู้โดยสารทั่วประเทศ จากค่าธรรมเนียมปกติที่เก็บคนละ 110 บาท เป็นเก็บตามระยะทาง กล่าวคือระยะทางไม่เกิน 50 กิโลเมตรเก็บคนละ 20 บาท, ระยะทางตั้งแต่ 51-150 กิโลเมตรคนละ 30 บาท, ระยะทาง 151-300 กิโลเมตรคนละ 50 บาท และระยะทางตั้งแต่ 301 กิโลเมตรขึ้นไปเก็บตามปกติ ทั้งนี้ท่าน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์สายด่วน 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่มา : กองประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย
วันที่ : 16/07/2551