รชค.ชัจจ์ ลั่นระฆังเปิดใช้ทางรถไฟทางคู่ช่วงฉะเชิงเทรา - แหลมฉบัง
วัน Thursday 12 Jan 12@ 16:00:00 +07
หัวข้อ: ข่าวจาก รฟท.


     วันนี้ (วันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕) เวลา ๐๙.๒๙ น. พลตำรวจโท ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงคมนาคม ได้เดินทางไปที่สถานีรถไฟฉะเชิงเทรา เพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดใช้ทางรถไฟ ทางคู่สายตะวันออกช่วงสถานีชุมทางฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง พร้อมเปิดตัวรถโบกี้ต้นแบบสำหรับผู้โดยสารที่ ใช้รถ Wheelchair เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก ให้กับผู้โดยสารผู้พิการที่ต้องการเดินทางไปกับขบวนรถไฟ

     นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการรถไฟฯ เปิดเผยว่า การรถไฟฯ ได้รับเกียรติจากพลตำรวจโท ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เดินทางมาเป็นประธาน ในพิธีเปิดใช้ทางรถไฟทางคู่สายตะวันออก ช่วงสถานีชุมทางฉะเชิงเทรา - แหลมฉบัง เพื่อรองรับการขนส่งคอนเทนเนอร์ ซึ่งเป็นโครงการที่การรถไฟฯ ได้เสนอขออนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างทางคู่ตอนฉะเชิงเทรา - ศรีราช า- แหลมฉบัง ระยะทาง ๗๘ กิโลเมตร และได้รับความเห็นชอบ จากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ให้ดำเนินโครงการดังกล่าวได้ ต่อมาได้รับอนุมัติให้ปรับปรุงวงเงินลงทุนโครงการ เป็นวงเงิน ๕,๘๕๐ ล้านบาท เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๐ และได้รับการบรรจุไว้ในแผนแม่บท การพัฒนาระบบโลจีสติกส์ของประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๐-๒๕๕๔ โดยมีขอบเขตงานก่อสร้าง จากสถานีชุมทางฉะเชิงเทรา ผ่านสถานีสำคัญ ได้แก่ ชลบุรี บางพระ ชุมทางศรีราชา สิ้นสุดที่ สถานีแหลมฉบัง ครอบคลุมพื้นที่ ๒ จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี

     การก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง เมื่อสร้างเสร็จ และเปิดใช้ทางอย่างเป็นทางการในวันที่ ๑๒ มกราคมนี้ ซึ่งจะสามารถพัฒนาระบบรางของประเทศไทย เพิ่มประสิทธิภาพ และศักยภาพ ของการขนส่งทางรถไฟในพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก เนื่องจากมีความจุของทางเพิ่มขึ้น ซึ่งจะให้สามารถรองรับขบวนรถไฟได้เพิ่มขึ้น ลดระยะเวลาการรอหลีก ทำให้สามารถทำขบวนได้เร็วขึ้น สามารถส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายคมนาคมขนส่ง เพิ่มสมรรถนะทางเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถใน การแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะช่วยรองรั บการขยายตัวของท่าเรือแหลมฉบัง และปริมาณการขนส่งในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งจะเป็นการเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรถไฟ, สนับสนุนการดำเนินงานของสถานี ICD ที่ลาดกระบัง ซึ่งมีเป้าหมาย ที่จะขยายขีดความสามารถ ให้รองรับตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ได้มากกว่า ๑ ล้าน TEU รองรับการขนส่งสินค้าอุตสาหกรรม จากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เพื่อกระจายไปยังภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ รวมทั้งการขนส่งสินค้าอุตสาหกรรมจากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประเทศลาว ผ่านสะพานมิตรภาพไทย – ลาวที่หนองคาย, หากมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ จากรถบรรทุกมาใช้รถไฟในปริมาณ ๕๐๐,๐๐๐ TEU ต่อปี หรือเท่ากับขนส่งทางรถไฟ ๒๒ ขบวนต่อวัน (๖๐ TEU ต่อขบวน) จะสามารถประหยัดน้ำมัน ได้อย่างน้อยปีละ ๒๐๐ ล้านบาท รวมถึง ลดความแออัดของการขนส่งทางถนน ก่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างประสิทธิภาพ ลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ และลดอุบัติเหตุทางถนนลงได้อีกทางหนึ่งด้วย

ที่มา : กองประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย
วันที่ : 12/01/2555



     นอกจากการเปิดใช้ทางคู่ในวันนี้แล้ว การรถไฟฯ ยังได้ถือโอกาสเปิดตัว รถโบกี้ต้นแบบสำหรับผู้โดยสารที่ใช้รถ Wheelchair เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก ให้กับผู้โดยสารผู้พิการที่ต้องการเดินทาง ไปกับขบวนรถไฟอีกด้วย เพื่อสนองนโยบาย และส่งเสริมการเข้าถึง และใช้ประโยชน์รถไฟของคนพิการ เพื่อให้คนพิการดำเนินชีวิตอยู่ได้ โดยอิสระ และมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในทุกด้าน ของการดำเนินชีวิต ซึ่งได้ใช้บังคับกับอาคาร ถนน การขนส่ง และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอก โดยการรถไฟฯ ได้นำรถโบกี้สัมภาระ หมายเลข ๑๐๑๕ นำมาดัดแปลง เพื่อเป็นรถโบกี้ให้บริการสำหรับคนพิการ จำนวน ๑ คัน โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ เช่นที่สำหรับรถ wheel chair จำนวน ๘ ที่ ห้องน้ำ-ห้องสุขา ลิฟท์สำหรับยกรถผู้พิการ นอกจากนี้ มีการดัดแปลงประตูขึ้นลงให้สอดคล้องกับรถ wheel chair อีกด้วย

     ซึ่งดำเนินการดัดแปลงรถโบกี้สำหรับผู้พิการ โดยศูนย์ซ่อมรถโดยสาร โรงงานมักกะสัน โดยจะดัดแปลงโบกี้รถโดยสาร บชส.ป. JR-WEST จำนวน ๘ คัน เพื่อรองรับผู้โดยสารที่ใช้รถ Wheelchair ให้สามารถใช้บริการได้ในทุกเส้นทาง คือ สายเหนือ สายใต้ และสายตะวันออกเฉียงเหนือ รวม ๓ สาย โดยจะเริ่มทดลองเดินรถโบกี้สำหรับคนพิการ ในช่วงเดือนเมษายน ๕๕ ซึ่งจะวิ่งในสายตะวันออกเฉียงเหนือ เส้นทาง กรุงเทพ-หนองคาย โดยในช่วงแรกของการให้บริการรถโบกี้คนพิการ อาจจะเป็นรถพัดลมก่อน หลังจากนั้น การรถไฟฯ จะเริ่มทยอยปรับเปลี่ยนเป็นรถปรับอากาศ การจัดทำเบาะที่นั่ง ปรับให้มีความสะดวกสบายเหมาะกับการเดินทางไกล

     ในปี ๒๕๕๕ การรถไฟฯ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ “มุ่งสู่ความเป็นเลิศในการให้บริการระบบรางที่ สะดวก ตรงต่อเวลา และปลอดภัย” ถือเป็นพันธะสัญญากับประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟ ว่าการรถไฟฯ จะพัฒนากิจการรถไฟในทศวรรษใหม่นี้ ให้เกิดความพึงพอใจ ต่อจากผู้ใช้บริการและเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ มุ่งเน้นการบริการที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการ เพื่อสร้างรายได้และผลกำไรให้แก่องค์กร รวมถึงการพัฒนาประสิทธิภาพ ในการให้บริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นทางเลือกในการขนส่ง ที่มีประสิทธิภาพ ตอบสนองนโยบาย ของรัฐบาลในการพัฒนา ขยายและเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า







บทความนี้มาจาก Rotfaithai.Com
http://portal.rotfaithai.com

URL สำหรับเรื่องนี้คือ:
http://portal.rotfaithai.com/modules.php?name=News&file=article&sid=312