เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 เวลา 14.30 น. นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคมในฐานะประธานกรรมการรถไฟฯ เป็นประธานและสักขีพยานระหว่างนายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการรถไฟฯ กับ ผู้แทนกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด (AEC) JANPAN INTERNATIONAL CONSULTANTS FOR TRANSPORTATION CO.,LTD (JIC) ORIENTAL CONSULTANTS CO.,LTD (OC) บริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด (ENRICH) บริษัท วิสิทธิ์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนส์ จำกัด (NE)
ในพิธีลงนามว่าจ้างงานบริการที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสม สำรวจ และออกแบบรายละเอียดโครงการระบบรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิส่วนต่อขยายจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ชลบุรี-พัทยา ไปถึงระยอง ณ ห้องประชุมปฏิบัติการ ชั้น 3 อาคารการรถไฟแห่งประเทศไทย แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ
นางนวลอนงค์ วงษ์จันทร์ หัวหน้ากองประชาสัมพันธ์ การรถไฟฯ กล่าวว่า การรถไฟฯมีโครงการที่จะศึกษาและพัฒนาขยายทางรถไฟต่อจากโครงการระบบรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไปยังจังหวัดชลบุรี พัทยา ไปถึงระยอง ซึ่งถือเป็นโครงการเร่งด่วน ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ใน กรอบวงเงินลงทุน 2 ล้านล้านบาท เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยมุ่งพัฒนาโครงข่ายรถไฟทั่วประเทศ และพัฒนาเชื่อมโยงฐานการผลิตในภูมิภาคและระหว่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาการให้บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกให้ได้มาตรฐาน เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย รวมทั้งลดต้นทุนการขนส่งที่มีแนวโน้มสูงขึ้น
งานบริการที่ปรึกษาเพื่อการศึกษาความเหมาะสม สำรวจ และออกแบบรายละเอียด โครงการระบบรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิส่วนต่อขยาย จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิชลบุรีพัทยา ไปถึงระยอง ถือเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก กรุงเทพฯ ระยอง โดยจะใช้แนวเส้นทางเขตทางรถไฟเดิม เพื่อเป็นการลดงบประมาณในการเวนคืน จัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และรูปแบบทางรถไฟส่วนใหญ่จะอยู่ระดับดิน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง โดยในเส้นทางดังกล่าวการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการศึกษาแผนรายละเอียดการก่อสร้าง รวมระยะทางทั้งสิ้น 221 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางเฉลี่ยประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที จากที่เคยใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ตามปกติประมาณ 3 ชั่วโมง วงเงิน 100,631 ล้านบาท
แนวเส้นทางโครงการเริ่มต้น ที่สถานีบางซื่อและวิ่งต่อไปยังสถานีพญาไท จอดรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีมักกะสัน ลาดกระบัง หรือสุวรรณภูมิ ตามความเหมาะสมจากผลการศึกษา ด้วยข้อกำหนดเดียวกับโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ปัจจุบันที่มีอยู่ จากนั้นจะเป็นส่วนต่อขยายช่วงลาดกระบัง/สุวรรณภูมิ ไปยังจังหวัดระยอง ซึ่งจะก่อสร้างด้วยข้อกำหนดการออกแบบของรถไฟความเร็วสูง ในเบื้องต้นกำหนดให้มีสถานีรายทาง 4 สถานี ได้แก่ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีพัทยา และสถานีปลายทางสถานีระยอง คาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารตลอดแนวเส้นทางมากกว่าสองหมื่นคนต่อวันในปีที่เปิดใช้บริการ
หัวหน้ากองประชาสัมพันธ์ฯ กล่าวว่า เส้นทางรถไฟสายตะวันออกเป็นเส้นทางที่มีความสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างกรุงเทพมหานครกับแหล่งงานในภาคอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลตะวันออก โดยเมืองหลักที่เป็นจุดจอดรถจะมีบทบาทและความสำคัญแตกต่างกัน ได้แก่
- ฉะเชิงเทรา เป็นย่านที่อยู่อาศัยที่มีคนทำงานเดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานคร ในลักษณะไปเช้า-กลับเย็น เป็นเมืองที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นเมืองบริวาร (Satellite Town) ของกรุงเทพมหานคร
- ชลบุรี เป็นจังหวัดที่มีประชากรหนาแน่น มีนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง มีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งและโลจิสติกส์
- พัทยา เป็นเมืองที่มีจำนวนประชากรสูงที่สุดในระดับอำเภอ ได้รับการประกาศให้เป็นเขตปกครองพิเศษทั้งพื้นที่ รวมทั้งมีความสำคัญในด้านการท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของประเทศไทย
- ระยอง เป็นจังหวัดที่มีอัตราการเพิ่มของประชากรในสัดส่วนที่สูงที่สุด มีแหล่งงานภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ได้แก่ นิคมอุตสาหรรมมาบตาพุด รวมทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของไทย
นอกจากนี้ โครงการนี้สามารถส่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ กรณีคิดเฉพาะผลประโยชน์ทางตรง ได้แก่ การประหยัดค่าใช้ยานพาหนะ การประหยัดเวลาในการเดินทาง การลดลงของการสูญเสียจากอุบัติเหตุ และมูลค่าการลดมลพิษ พบว่า EIRR = 13.28% ซึ่งจะมีค่าสูงกว่านี้ หากคิดรวมผลประโยชน์จากการเติบโตของเมือง (City Growth) และการเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางมาใช้รถไฟความเร็วสูง (Induced Passenger) เข้าไปด้วย เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการก่อสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาที่มี AEC เป็นบริษัทนำ โดยมี JIC, OC, ENRICH และ WE เป็นสมาชิกในกลุ่มยินดีจะศึกษาความเป็นไปได้ในการต่อขยายเส้นทางไปจนถึงจังหวัดตราด ในการศึกษาโครงการนี้อีกด้วย
ที่มา: กองประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย
วันที่: 01/07/2556